Saturday, 8 September 2018

Terre des Hommes

เมืองแบร์น เมืองหมี
Berthold V de Zähringen สถาปนาเมืองแบร์นในปี 1191. เล่ากันมาตามตำนานว่า สัตว์ตัวแรกที่เขาพบในป่าแถบนี้ คือหมี จึงนำคำหมี ber ในภาษาเยอรมันยุคนั้น มาตั้งชื่อเมืองว่า Bern (เขียนเป็น Berne ภาษาฝรั่งเศส). หมีได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมือง และนำไปเป็นแบบประดับตราประจำเมือง. แบบดั้งเดิม มีหมีสีดำบนพื้นโล่สีขาว. แบบปัจจุบัน ยังคงเป็นหมีดำ(อาวุธสำคัญของหมี สีแดง) บนแถบสีเหลืองขนาบด้วยสีแดง.
ธงประจำเมืองแบร์นปัจจุบัน
ตั้งแต่สถานีรถไฟเมืองแบร์น ก็มีตู้กระจกแสดงเครื่องเขียน หนังสือ เอกสาร วีดีโอฯลฯประกอบการเรียนสำหรับเด็กๆ ที่นั่น. เขาใช้เม่นเป็นเด็กนักเรียน และหมีเป็นครูสอน. นี่เป็นจุดยืนของสวิสเอง ครูไม่ต้องเป็นนกฮูกเสมอไป.
     เอกสารของเมืองแบร์น เจาะจงว่า ปี 1513 ทางการได้ขุดหลุมใหญ่ของเมืองใต้หอคอยที่ใช้เป็นคุก (la tour des Prisons) เพื่อให้เป็นที่อยู่ของลูกหมีสองตัวที่กัปตัน Glado von May ได้มาเป็นรางวัลเมื่อชนะสงคราม (la bataille de Novarre, Piémont). ที่อยู่หมีแห่งแรกนี้ ตั้งตรงนั้นเรื่อยมาจนถึงปี 1764 และเรียกชื่อว่า Bärenplatz. หลังจากนั้นต้องย้ายหมีไปอยู่แถวประตูเมือง (Schanzengraben ใกล้ๆ Bollwerk) เพื่อเปิดพื้นที่ตามผังการพัฒนาเส้นทางสัญจรของเมือง. การย้ายหมีไปอยู่ที่ใหม่ครั้งนั้น เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวเพราะชาวเมืองพากันมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มที่.
     ช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส กองทหารฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองแบร์นในปี 1798. ต่อมาพวกทหารฝรั่งเศส ได้นำหมีใหญ่เจริญวัยสามตัวกลับไปฝรั่งเศส (คงไม่เหลือหมีไว้เลย) เหมือนของที่ระลึกจากแบร์น. ช่นนี้ที่อยู่หมีถูกทิ้งละเลยจนถึงปี 1810 เมืองแบร์นได้หมีคู่ใหม่มาจากแถบซาวัว (Savoie) ประเทศฝรั่งเศส. ปี 1825 ทางการสร้างที่อยู่แห่งใหม่ให้หมี ตรงหน้าหอคอย l'Aarbergertor ใต้แนวกำแพงเมือง. หมีลูกหลานของคู่นี้ ตายไปเมื่อวันที่ 19 มกราคมปี 1853. ปีนั้นเดือนพฤษภาคม สวนสัตว์ปารีสส่งหมีคู่หนึ่งมากำนัลเมืองแบร์น(เป็นการปลอบใจ). และตั้งแต่ปี 1857 ที่อยู่หมีถูกย้ายมาณตำแหน่งปัจจุบัน เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการก่อสร้างสถานีรถไฟ. ปี 1912 จักรพรรดิเยอรมัน Guillaume II (1859-1941 เป็นจักรพรรดิเยอรมันคนสุดท้ายและเป็นกษัตริย์ปรัสเซียองค์สุดท้าย) ได้เสด็จไปชมสวนหมีที่เมืองแบร์น. ที่อยู่พี่หมีของชาวเมืองแบร์นได้ปรับพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และขยายใหญ่ในปี 1924 กับบูรณะพัฒนาพื้นที่ระหว่างปี 1994-1996 เพื่อให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (ให้สมกับเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเมืองหลวงสวิส). ครั้งล่าสุด ในปี 2009 ทางการได้ขยายพื้นที่สวนหมี ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำ Aare ตรงข้ามเขตเมืองเก่า. ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของหมีพ่อแม่กับลูกสองตัว ที่รัสเซียมอบให้เป็นของขวัญแก่เมืองแบร์น.
(ข้อมูลของ Jean-Georges Mallet จากเว็ปเพจสวิสนี้
      ข้อมูลเกี่ยวกับสวนหมีข้างต้น ละให้คาดการณ์ได้ว่า สายพันธุ์หมีจะยังอยู่ต่อไปคู่เมืองแบร์น และสวิตเซอแลนด์น่าจะเป็นประเทศที่จักรณรงค์ช่วยหมีให้คงอยู่ในโลกมากกว่าผู้ใด (มิฉะนั้นอาจต้องเปลี่ยนชื่อเมือง). ในเมืองแบร์น มีรูปหมีปรากฏแทรกไว้ทั่วไป ยังไม่พบเอกสารเล่าไว้ที่ใดว่า หมีได้ทำอะไรให้เมือง ได้ช่วยปกป้องเมืองไหมเมื่อไร หรือมีการนำหมีออกไปในสนามรบเพื่อข่มขวัญศัตรู หรือได้อาศัยสัญลักษณ์หมี กระตุ้นความฮึกเหิมในใจทหารสวิส (ที่โดยธรรมชาตินิสัย น่าจะอ่อนโยนกว่าชาติเพื่อนบ้านรอบๆ เช่นเมื่อเปรียบกับคนอิตาเลียน คนเยอรมัน คนฝรั่งเศส). ติดตามหมีไปกับภาพข้างล่างนี้.
 ให้สังเกตด้วยว่าสระน้ำพุตั้งอยู่กลางถนน เป็นแหล่งน้ำบริโภคแก่ทุกคนกลางถนนยังมีโต๊ะเก้าอี้ยาว เป็นที่นั่งพักหรือที่กินชั่วครั้งชั่วคราว เปิดแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยวเป็นถนนคนเดินที่วิเศษ.
รูปปั้นประดับน้ำพุที่สำคัญที่สุดแห่งแรกของเมืองแบร์น กลางถนนสายสำคัญ Kramgasse (ชื่อน้ำพุว่า Zähringerbrunnen) ใจกลางของเมืองเก่า ทอดจากหอนาฬิกาเป็นเส้นทางยาว. น้ำพุนี้ มีรูปปั้นหมีทรงเครื่องนักรบชุดเหล็กถักทั้งตัวแบบอัศวินยุคกลาง. ลูกหมีก็ใจสู้ ยืนติดๆที่เท้าพ่อหมี. หมีถือธงมีสิงโตท่าผงาดข่มขวัญ. สัญลักษณ์บนธง บอกให้รู้ว่าคือธงประจำตระกูล Zähringen ที่เป็นชนชั้นสูงตระกูลผู้ดีเก่า ในเยอรมนี. สระน้ำพุกับเสาพร้อมรูปปั้นหมีที่ประดับสระนี้ สร้างขึ้นในปี 1535 เพื่อเป็นเกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่ Berthold V, Duke of Zähringen อย่างเฉพาะเจาะจง ในฐานะผู้สถาปนาเมืองแบร์น (และเมืองอื่นๆอีกเช่นเมืองฟรีบูร์ก ระหว่างปี 1186-1218 ที่ภายหลังต่อมา รวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐสวิตเซอแลนด์. (รูปปั้นหมีนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างแรกและอาจเป็นกรณีเดียวในยุโรป ที่ใช้สัตว์แทนคน แทนรัฐบุรุษ).

สัญลักษณ์หมี บนกำแพงโบสถ์ประจำเมืองแบร์น (Bern Münster)
บนเพดานเหนือซุ้มประตูใหญ่ของโบสถ์ เห็นหัวหมีด้านซ้ายของภาพ.
หมีดำประจำสี่มุม ปุ่มบนเพดานตรงนี้รวมภาพเกี่ยวกับศาสนาคริสต์
เป็นเพดานเหนือประตูใหญ่ของโบสถ์ หมีก็ยังได้เกียรติขึ้นไปประดับตรงนั้น
      หมีเป็นดาราเอกในเทศกาลคาร์นาวัลที่ฟื้นฟูขึ้นในเมืองแบร์นตั้งแต่ปี 1982. มีวงดุริยางค์หมีที่ขาดเสียมิได้ในเทศกาลคาร์นาวัลที่ Langenthal (อีกเมืองหนึ่งในจังหวัดแบร์น) รู้จักกันในนามว่า Bärenbande.
ภาพจากการฉลองร้อยปีการสถาปนามหาวิทยาลัยแบร์น ปี 1934. พาเรดร่วมกับ “หมี”ของเมืองเก่าแบร์น. ภาพนี้ลิขสิทธิ์ของ © Carl Jost/Archives de l'Etat de Berne จากหอสมุดจดหมายเหตุของรัฐแบร์น.
ภาพจากโพสต์การ์ดเก่า หมีรื่นเริงทั้งกินทั้งดื่มและเดินพาเรด.
ความนิยมที่กลายเป็นความรักและความผูกพันกับหมี ทำให้มีการตั้งชื่อร้านอาหาร“หมี”ทั่วไปในสวิส. หมีเป็นดาราในแผ่นโฆษณาประกันภัยของเมืองแบร์นในยุคก่อนๆ และการที่ทหารฝรั่งเศสนำหมีสามตัวไปจากเมืองแบร์นในปี 1798 (ช่วงวิกฤติของการต่อสู้ที่สืบเนื่องกับการปฏิวัติฝรั่งเศส) รวมทั้งขนสมบัติของชาติไป ชาวเมืองแบร์น มองเหตุการณ์ว่าเป็นการลบหลู่เหยียดหยามน้ำใจกันที่สุด.
หมีถูกนำไปใช้ในข่าวแจ้งกิจกรรมของชุมชนหรือองค์กรในเมืองแบร์นตัวอย่างโปสเตอร์นี้ เชิญชวนไปฟังเพลง ฟรี วันเสาร์ที่ 4, 11, 18 และ 25 สิหาคม(2018) ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ดนตรีสำหรับเด็ก.
หมีประดับที่เช็ดเท้า
(หน้าร้านนี้ วางขันใส่น้ำไว้ด้วย ไม่ใช่สำหรับพี่หมี สำหรับน้องหมา)
แวะไปเยี่ยมพี่หมีที่ Bärengraben (Bear Pit) ใกล้สะพาน Nydeggbrücke แต่ไม่เห็นแม้แต่เงา คงหลบร้อนเข้าไปในถ้ำ.
รูปปั้นพี่หมี เล่นกายกรรมกลางเวหา.
บนสะพาน นักท่องเที่ยวหยุดยืนชมสวนหมีและภูมิประเทศเลียบฝั่งแม่น้ำ Aare (ยาว 288 กิโลเมตร). เป็นแม่น้ำแขนงหนึ่งของแม่น้ำไรน์. โบสถ์เมืองแบร์นก็โดดเด่น มองเห็นได้จากทุกมุมเมือง เหนือหลังคาบ้านเรือน.
มีทางให้เดินเข้าใกล้ถึงจุดดอกจันบนภาพ ชะโงกดู อาจได้เห็นหมี
เส้นทางเดินที่เลียบฝั่งแม่น้ำ Aare เลียบพื้นที่สวนหมีด้วย ที่มีส่วนหนึ่งของแม่น้ำเป็นพรมแดนและเป็นที่เล่นน้ำของหมี. พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนขยายล่าสุดของสวนหมี (2009). ภาพลิขสิทธิ์ของ © Bern Tourismus
แม่น้ำ Aare  เป็นที่พายเรือของชาวเมือง และที่ว่ายน้ำด้วย(บางช่วงของแม่น้ำ). มีการจัดสรรค์พื้นที่ทำสระว่ายน้ำขนาดใหญ่เล็กหลายสระ ริมฝั่งแม่น้ำด้วยเช่นกัน. ริมฝั่งแม่น้ำนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง.
ทัศนียภาพพื้นที่บริเวณสวนหมี ภาพจากราวปี 1880. นำมาจาก http://de.wikipedia.org/wiki/B%C3%A4rengraben  

ภาพที่อยู่หมี (Bear Pit) ถ่ายในสมัยก่อนเทียบกับในสมัยปัจจุบัน

พื้นที่อีกส่วนหนึ่ง จัดใหม่ให้เป็นพื้นที่นิทรรศการ หรือพักผ่อน. หมีที่เห็นเป็นรูปปั้น.
ยังมีรูปปั้นหมีน้อยกับกระปุกหมูน้อย สำหรับรับเงินบริจาค
บนพื้นแถวนั้น หินที่ปูพื้นส่วนหนึ่งมีฃื่อจำหลักไว้ ไม่พบคำอธิบาย
เดาว่าคงเป็นชื่อผู้บริจาคช่วยการสร้าง บูรณะกับทำนุบำรุงสวนหมีตรงนั้น

หอนาฬิกาเมืองแบร์น
หอนาฬิกาที่เรียกกันนั้น (zytglogge [ซีต-กล๊อ-เกอะ]) เคยเป็นประตูหอคอยประตูแรก อยู่ทางทิศตะวันตก สร้างระหว่างปี 1191-1256. เป็นส่วนหนึ่งกำแพงป้องกันเมืองในยุคกลาง (ตอนนั้นยังไม่มีนาฬิกา). ต่อมา เมืองขยายออกไปทางทิศตะวันตกมากขึ้น ออกนอกประตูเมืองไปเรื่อยๆ. กำแพงเมืองตรงนั้นจึงหมดหน้าที่ป้องกันเมืองไปโดยปริยาย. ตลอดระยะเวลาในอดีต ทางการใช้หอคอยเป็นป้อมยามประจำการณ์ เป็นคุกก็เคย กลายมาเป็นหอนาฬิกาตั้งแต่ปี 1405 เมื่อเกิดไฟไหม้หอนั้น จึงสร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม. ตอนนั้นเองที่ได้ติดตั้งระฆังเหนือขึ้นไปบนหอคอย และติดตั้งนาฬิกาเดินด้วยเครื่องกล(คือนาฬิกาที่มีหน้าปัดใหญ่ใต้หอระฆัง) คนจึงเรียกว่าหอนาฬิกาตั้งแต่นั้นมา.
ด้านตะวันตกของหอนาฬิกา ภาพพิมพ์โลหะลงสี ผลงานของ Franz Schmid ปี1830 จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแบร์น. ลงใน  Wikimedia Commons [Public
 domain].
เมื่อเดินไปจากสถานีรถไฟ จะเห็นหอคอยด้านนี้ก่อน บนถนน Bim Zytglogge 3, 3011 Bern, Switzerland.

ภาพปัจจุบันปี 2018 เห็นสายระโยงระยางเต็มท้องฟ้า
เพราะเมืองแบร์นใช้รถรางเป็นวิถีสัญจร.
พื้นที่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ที่มีหน้าปัดนาฬิกา เป็นภาพวาดเฟรสโก้ทั้งหมด ประดับลงบนกำแพงเลย มีเข็มนาฬิกาเข็มจริงสองเข็มบอกชั่วโมงและนาที. บนเส้นรอบวงของหน้าปัด มีตัวเลขโรมัน I-XII.  เข็มบอกชั่วโมง ปลายหนึ่งเป็นใบหน้าดวงอาทิตย์ยิ้มเต็มที่ แผ่รังสีออกโดยรอบสว่างจ้า ติดอยู่เหนือมือ. นิ้วยืดตรงออกไปสามนิ้ว อีกสองนิ้ว งออยู่. มือในท่านี้ คือมือ(พระเจ้ากำลัง)ประทานพร ตามขนบคริสต์ศิลป์. ปลายเข็มอีกด้านหนึ่ง เป็นพระจันทร์เสี้ยว. ส่วนเข็มบอกนาทีนั้น สั้นกว่า เป็นลูกศร ดูเวลา/ตัวเลข ที่ปลายแหลมของลูกศร. มีดวงดาวสุกสว่าง ตรึงทั้งสองเข็มให้อยู่กับที่ แน่นอนอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์. ภาพเฟรสโก้อื่นๆ ยังพอเห็นได้ เนื้อหาดังนี้
ตอนบนเหนือหน้าปัดนาฬิกา ภาพโครงกระดูก มีผ้าคลุมสีแดงๆ มือทั้งสองยกเคียวขึ้นเหนือหัว. นี่คืออีกภาพหนึ่งของ“เวลา”ที่ไหลไปๆ เก็บเกี่ยวทุกเวลานาทีของสรรพชีวิต. มุมล่างซ้าย เทวทูตองค์หนึ่ง (ผู้ประจำการณ์รักษาประตูสวรรค์. บางตำราระบุว่า คืออัครเทวทูตยูรีเอ็ล-Uriel) มือขวาถือดาบปักลงที่พื้น ท่าข่มขู่. มือซ้ายยกขึ้นสูง ยืดสามนิ้วแรก ยกขึ้นในท่านี้ ยืนยันการปฏิบัติตามพระบัญชาจากพระเจ้าหรือการอ้างถึงพระเจ้า. มุมล่างขวา อาดัมกับอีฟเปลือย ถูกขับออกจากสวรรค์. อาดัมยังคุกเข่าข้างหนึ่งบนพื้น เหลือบขึ้นมองเบื้องบน ตระหนักถึงความผิดที่ได้ละเมิดคำสั่ง.
        นาฬิกาเครื่องนี้บอกเวลาแก่ชาวแบร์นมาจนถึงทุกวันนี้. เวลาของนาฬิกาเครื่องนี้ ถือเป็นเวลาอ้างอิงสำหรับทุกภาคส่วนในจังหวัดแบร์น. นั่นคือนาฬิกาเรือนอื่นๆทั้งหมด ตั้งเวลาตามนาฬิกาที่หอนาฬิกานี้. และประตูนี้เป็นจุดวัดระยะเวลาเดินทางจากจุดนี้ไปยังที่ต่างๆบนเส้นทางของจังหวัดมาแต่โบราณ เหมือนหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของไทย ที่บอกระยะทาง แต่ไม่บอกเวลา. (บอกคนไทยได้ที่ไหน รู้แล้วยิ่งซิ่งให้เร็วกว่า).
เดินผ่านจากทิศตะวันตกเข้าไป มองขึ้นดูกำแพงด้านตะวันออกของหอนาฬิกา.
หอนาฬิกาเมืองแบร์นปัจจุบัน (2018) ด้านทิศตะวันออก
บนยอดสูงสุดของหอระฆัง มีหุ่นไม้(จากไม้ต้น lime tree) เคลือบสีทองอร่ามตา ถือฆ้อนใหญ่ ตีระฆังทุกชั่วโมง (หุ่นที่ทำหน้าที่ตีระฆังเรียกว่า jacquemart หรือ bellstriker). ทำหน้าที่มาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 1405. ชาวเมืองแบร์นตั้งชื่อเล่นเรียกหุ่นคนตีระฆังว่า Hans von Thann หรือสั้นๆว่า Hans [ฮันสฺ].
หน้าปัดนาฬิกาเป็นภาพวงกลมวาดลงบนกำแพงเลย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร. บนเส้นรอบวงใหญ่ ประดับด้วยตัวเลขโรมัน I-XII.  ในวงกลมวงเล็ก แบ่งสิบสองชั่วโมงเป็นสี่ส่วน กำกับด้วยตัวเลขโรมัน I, II. III, และ IIII.  
ให้สังเกตว่า ตัวเลขสี่แบบโรมัน นิยมใช้ IIII แทน IV  ดูเหมือนว่าเพื่อให้มองดูสมดุล ให้มีขนาดไล่เลี่ยกันระหว่างตัวเลขบนหน้าปัดซีกขวากับตัวเลขบนซีกซ้าย. เมื่อใช้ตัวเลขโรมันบนนาฬิกา นิยมสืบต่อกันมาว่า เลขสี่โรมันให้เขียนป็น IIII.
ส่วนนาฬิกาดาราศาสตร์(หน้าปัดแบบเครื่องมือ astrolabe) ผลงานสร้างสรรค์ของ Caspar Brunner ในปี 1530 เป็นงานทำด้วยมือของเขาเองทั้งหมดและติดตั้งเข้าไปในปีนั้น. นาฬิกาดาราศาสตร์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เมตร. บนเส้นรอบวงเส้นนอกสุด มีตัวเลขโรมัน I-XII สองชุด เรียงต่อกันไปตามเข็มนาฬิกา. (12 ชั่วโมงกลางวัน 12 ชั่วโมงกลางคืน).  ใต้ตัวเลขโรมัน XII  ตรงขอบบน มีช่องเล็กๆเปิด เห็นชื่อวันในสัปดาห์ (Donstag ย่อจากคำ Donnerstag วันพฤหัสบดี). บนเส้นรอบวงสีแดงๆ มีรูปสี่เหลี่ยมสีขาวนวลใต้ตัวเลขโรมัน บอกครึ่งชั่วโมง. ยังมีตัวเลขแอเรอบิค 1-12 บางคนบอกว่า เป็นเวลาปัจจุบัน. บางคนระบุว่าใช้แทน). มีวงกลมสีชมพูวางซ้อนบนหน้าปัดใหญ่ แบ่งเส้นรอบวงสีชมพูนี้เป็น 366 ช่อง ตรงกับทุกวันในหนึ่งปี มีแถบชื่อเดือนกำกับแยกเส้นรอบวงสีชมพู ออกเป็นสิบสองเดือน. ภายในพื้นที่สีฟ้านั้น มีส่วนที่เป็นสีดำเป็นราตรีกาล สีฟ้าเทาๆเป็นอรุณรุ่ง และสีฟ้าอ่อนๆเป็นทิวากาล. มีเส้นโค้งสีขาวหลายเส้น แทนเส้นรุ้งและเส้นอื่นๆในดาราศาสตร์ยุคนั้น เช่นเส้นศูนย์สูตร, เส้นเมริเดียน เส้นวิษุวัตหรือequinox, เส้นขอบฟ้าเป็นต้น. เหนือขึ้นไป มีแป้นหรือหน้าปัดวงกลมสีฟ้าวางซ้อนอยู่ แบ่งช่องๆประดับด้วยสัญลักษณ์สิบสองราศี.
กลไกการเดินของนาฬิกาดาราศาสตร์นี้ สุดที่จะอธิบายได้ ต้องมีประสบการณ์โดยตรงกับเครื่องมือดาราศาสตร์เหล่านี้ จับต้องได้ หรือเห็นการหมุนของแต่ละส่วน เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงขอหยุดอยู่ตรงนี้. ทั้งหมดนี้แสดงอัจฉริยะของนักดาราศาสตร์ ที่ได้จับวิถีดวงดาวต่างๆ จนนำมากำหนดเวลา(สมมุติ)ของคนบนโลก. กว่าจะมาถึงจุดนี้ ผ่านการคิด ติดตาม วิเคราะห์ วิจักษ์ตลอดเวลาหลายสิบศตวรรษ ที่คนปัจจุบัน take for granted.
บนกำแพงเหนือหน้าปัดนาฬิกาดาราศาสตร์ มีภาพวาดเฟรสโก้ของเทพห้าองค์จากตำนาน มีดวงดาวติดบนตัวตอนล่าง. จากซ้ายไปขวา ดังนี้  Saturn (ถืออะไรเหมือนไม้กระบอง ปกติเป็นเคียวหรือค้อนที่ใช้ทุบ), Jupiter (มีสายฟ้าในมือ), Mars (ถือดาบและโล่พร้อมสู้), Venus (มีคิวปิดถือลูกศรในมือ ป้วนเปี้ยนอยู่เคียงข้างเสมอ มือหนึ่งของวีนัสยื่นหัวใจพร้อมให้ด้วยความรัก), และจบลงด้วย Mercury (มือถือคทา มีงูเลื้อย). นี่คือดวงดาวที่อยู่ใกล้โลกและมองเห็นชัดเจนบนโลกในยุคที่ยังไม่มียานอวกาศ. ดวงดาวทั้งห้าตามลำดับชื่อเทพ ก็คือวันเสาร์ วันพฤหัสบดี วันอังคาร วันศุกร์และวันพุธ. (จะคิดว่าการวาดและจัดตำแหน่งของเทพ ผิดไปไหม?)
ข้างๆหน้าปัดนาฬิกาดาราศาสตร์ มีชุดหุ่นกลอัตโนมัติที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับนาฬิกาทุกชั่วโมง. ตอนบนสุด เป็นหุ่นนั่ง มือสองข้างตรึงกับเส้น(โลหะ)ที่เชื่อมกับกลไกตีระฆังเล็กที่อยู่เหนือหุ่นสองข้าง (หุ่นตัวนี้แต่งตัวเป็นโจ๊กเกอร์). ใต้ลงมา คนแก่หนวดเครายาวนั่งอยู่บนบัลลังก์ มือซ้ายถือคทา(เครื่องหมายของอำนาจ) มือขวาถือนาฬิการทราย. นี่เป็นภาพลักษณ์ของเวลา (Chronos หรือ Father Time). ใต้ลงไปเป็นขบวนพาเรดของหมี บางตัวรัวกลอง บางตัวขี่ม้าถือหอก บางตัวถือไม้กระบอง บางตัวยืนขึ้นสองขาเป็นต้น. ด้านซ้ายของโครโนส มีสิงโตถือคทา โยงถึงราชตระกูล Zähringen ผู้สถาปนารัฐสวิส. ส่วนด้านขวา มีไก่แจ้.
       คำอธิบายภาคฝรั่งเศสแหล่งหนึ่งว่า สี่นาทีก่อนการตีระฆังบอกชั่วโมง ไก่ตีปีกและขัน. สองนาทีต่อมา หุ่นโจ๊กเกอร์ขยับมือตีระฆังเล็กข้างหนึ่งแล้วอีกข้างหนึ่ง. ในเวลาเดียวกับที่ โครโนสชี้คทาไปที่หมีอัศวินบนหลังม้า. หมีตัวนี้ผงกหัว ชี้ดาบลงพื้นให้สัญญาณ. ขบวนพาเรดหมีเริ่มขึ้น แต่ละตัว(ในท่าต่างๆ) หมุนมาผ่านหน้าที่นั่งโครโนส แล้วเดินวนเข้าไปด้านใน วนหลายรอบ. ไก่ขันขึ้นเป็นครั้งที่สอง เมื่อขบวนพาเรดสิ้นสุดลง. ระบบกลไกของคนตีระฆังเริ่มทันที นาฬิกาทรายก็ไหลสุดลงแล้ว โครโนสพลิกนาฬิกาขึ้นใหม่. ได้เวลานาฬิกาตีบอกชั่วโมง. ทุกครั้งที่ระฆังใหญ่บนยอดหอดังขึ้นและก้องไปทั่ว โครโนสชี้คทาลงและอ้าปากพูด. สิงโตที่เห็นทางขวาของภาพ หันหน้าไปยังโครโนสเท่าจำนวนครั้งที่ระฆังบอกกี่นาฬิกา. จบลงด้วยไก่ขันเป็นครั้งที่สาม. เป็นอันว่าจบกลไกของนาฬิกาในแต่ละชั่วโมง. ชมคลิปการตีระฆัง(พอสังเขป)ของหอนาฬิกาเมืองแบร์นได้ตามลิงค์นี้ (1:30 min)
ไม่พบคลิปอื่นใดในยูทู้ปที่ละเอียดตามที่อธิบายไว้.

ประติมากรรมเคลือบสี (polychrome sculpture)
เมืองแบร์น โดยเฉพาะเขตเมืองเก่า มีสระน้ำพุจำนวนมากกว่าสิบสองแห่ง กลางถนนบ้าง ตามมุมถนนบ้าง. น้ำพุนั้นดื่มได้ ใสเย็นชื่นใจ ไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำขวดเลย น้ำก๊อกก็เช่นกัน คือน้ำเดียวกันนี่แหละ. นอกเหนือจากเป็นแหล่งน้ำบริโภคสำหรับทุกชีวิต สระน้ำแต่ละแห่ง ยังเตือนความทรงจำเกี่ยวกับเมือง ขนบตำนานที่สืบทอดกันมา เพราะเสาคอลัมภ์ตรงกลางสระ ประดับด้วยรูปปั้นสีสดสวย. รูปปั้นแต่ละรูปที่ประดับสระน้ำพุนั้น มีเนื้อหาหลายประเภท. ตั้งแต่เป็นรูปหมีตัวแทนของ Berthold V de Zähringen ผู้สถาปนาเมืองแบร์น(ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น), รูปปั้นทหารผู้ได้ทำศึกปกป้องหรือขับไล่ศัตรูไปจากดินแดนสวิส. น่าสนใจที่ รูปปั้นมิได้ทำขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายพลคนหนึ่งคนใดอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นภาพลักษณ์ของสามัญชนที่มี“ความเป็นทหารกล้า”ผู้ปกป้องแผ่นดิน. นั่นเป็นจุดยืนที่“ผิดปกติ”ของผู้บริหารประเทศในยุคนั้น แม้แต่กษัตริย์ผู้ครองเช่น Berthold V ก็ยังไม่สร้างรูปเหมือนของเขา กลับใช้หมีแทนตัวเขา. จิตสำนึกดังกล่าวดูเหมือนจะสืบทอดต่อมาใน“ความเป็นชาติสวิส คนสวิส”.   

เช่นรูปปั้นนี้ มือขวาของทหาร ในเครื่องแบบทหารยุคศตวรรษที่ 16 ถือธงประจำหน่วยทแกล้วทหาร มือซ้ายถือดาบ ตรงเท้า มีลูกหมีถือปืนร่วมสู้ด้วย. สระนี้สร้างขึ้นในปี 1543.

หรือที่สระน้ำพุแห่งนี้ ทหารอีกคนหนึ่ง ในชุดเกราะเหล็ก ถือหอกด้ามยาว มีหมีเกาะขาอยู่ข้างๆ เหมือนอยากไปรบด้วย.
สระน้ำ พร้อมเสาคอลัมภ์สื่อเกียรติยศจากการสงครามด้วยกระมัง (ไม่มีข้อมูลระบุไว้ หรือมองไม่เห็นแผ่นป้ายที่อาจถูกบังอยู่แถวนั้น)

นอกจากเรื่องการศึกสงคราม รูปปั้นประดับเสาสูงบนคอลัมภ์ จากตำนานเช่น ตำนานของ Samson ตอนฆ่าสิงโต ด้วยพละกำลังของเขา สามารถฉีกปากสิงโต กระชากกรามสิงโตออกมาได้ (รูปนี้เจาะจงไว้ว่า ทำเสร็จในปี 1544). เป็นฉากเหตุการณ์หนึ่งที่ศิลปินชอบ ในบริบทศาสนาก็เช่นกัน มีทั้งในจิตรกรรมและประติมากรรม โดยใช้สื่ออำนาจของคุณธรรมเหนืออธรรม.

ใกล้ลานกว้างของโบสถ์เมืองแบร์น มีสระน้ำพุประดับด้วยรูปปั้นโมเสด มือถือแผ่นหินจำหลักบัญญัติสิบประการ ชี้ทางความประพฤติที่ดีแก่ชาวยิว.

สระน้ำพุกับรูปปั้นยักษ์จับเด็กกลืนกิน ตรงถนนที่ Kornhausplatz มีท่าทางจริงจัง กำลังเอาเด็กคนหนึ่งเข้าปาก. อีกหลายคนถูกจับมาแล้ว ทั้งในอ้อมแขนและในตะกร้าใบใหญ่ พร้อมเป็นอาหารอันโอชะของยักษ์ (fr.ogre). ใต้ลงมาตรงปลายเสา มีกลุ่มทหารหมีประดับรอบๆเสา. เรื่องยักษ์ที่ชอบกินเด็กๆนั้น แทรกอยู่ในนิทานของกริมม์ (Grimm), ของชาร์ลแปร์โรท์ (Charles Perrault) เช่นในเรื่อง Le Petit Poucet (Hop-o'-My-Thumb), Le Chat botté (Puss in Boots) เป็นต้น.

นอกจากสระน้ำพุ ยังมีรูปปั้นประดับบนกำแพงระหว่างหน้าต่าง เช่นรูปปั้นนี้ มือหนึ่งถือไม้ที (T) อีกมือถือขวานด้ามใหญ่พาดบนไหล่ (เดาไม่ออกว่าเกี่ยวกับยาอย่างไรหรือไม่ หรือเป็นช่างไม้?). ร้านขายยานี้ ตั้งอยู่กับใกล้ศาลาเทศบาล จึงตั้งชื่อว่า Rathaus Apotheke.
      กล่าวโดยรวม ศิลปะการทำสระน้ำพุส่วนใหญ่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 16 เป็นผลงานของ Hans Hiltbrand นายช่างแกะสลักผู้มีชื่อเสียงยุคนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสระน้ำพุโดยเฉพาะ จากเมืองฟรีบูร์ก (Fribourg) และเกือบทั้งหมดเป็นผลผลิตของโรงงานของ Hans Gieng.
      รูปปั้นสีสวยๆประดับสระน้ำพุในแบร์น ฟรีบูร์กและเมืองอื่นๆในประเทศสวิส ทางการเมืองหรือจังหวัด จัดกองทุนดูแลรูปปั้น ประติมากรรมทุกแบบ อนุสาวรีย์อย่างต่อเนื่องเสมอมา ให้ความสำคัญกับมรดกวัฒนธรรมของชาติ. รูปปั้นสีสวยๆที่ประดับสระน้ำพุนั้น เป็นพยานที่ชัดเจนของจุดยืนของการเมืองสวิส (ในขณะที่หลายประเทศ ไม่มีทุน และปล่อยให้เสื่อมไปตามชะตากรรม ตามกาลเวลาที่กัดกร่อนทุกสิ่ง).

      ตัวอย่างสุดยอด พยานของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของประเทศสวิตเซอแลนด์ น่าจะเป็นประติมากรรมประดับโบสถ์ที่เมืองแบร์น (Bern Münster / Swiss Reformed Cathedral  กรุงแบร์นได้เปลี่ยนรับศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ และตั้งแต่ปี 1528 เป็นศาสนาประจำเมืองและประจำจังหวัด).
ภาพโบสถ์เมืองแบร์นในราวปี 1800 ของ Gabriel Ludwig Lory (1763-1840) ลงใน Wikimedia Commons [Public domain]. อ้างอิงไปถึงภาพดั้งเดิมที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติของสวิส (Bibliothèque nationale suisse, GS-GUGE-PROV-21).
ด้านหน้าทิศตะวันตก แบ่งเป็นสามประตูใหญ่ ที่ตรงกับเส้นทางเดินสามเส้นภายในโบสถ์ ไม่มี transept ที่เป็นเหมือนแขนที่ยื่นออกจากใจกลางโบสถ์. คริสต์ศิลป์เทียบโบสถ์เป็นร่างกายคน เหมือนไม้กางเขนจำลองร่างกายของคน. ประตูด้านหน้าทิศตะวันตก เป็นฝ่าเท้า. ลำตัวคือความยาวของโบสถ์ จากตะวันตกสู่สุดหัวโบสถ์ในทิศตะวันออก. ส่วนของโบสถ์ที่ยื่นออกตามขวางจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ คือแขนของโบสถ์. โบสถ์นี้ไม่มีแขน. หอระฆังนั้น ก่อสูงขึ้นจากกึ่งลำตัวช่องซ้าย(ทิศเหนือ)ครอบลำตัวช่องกลางทั้งหมด.
ภาพปัจจุบัน หัวโบสถ์เมื่อมองจากถนน
ด้านทิศใต้ของโบสถ์ เป็นสนามหญ้าผืนใหญ่ พื้นที่โล่ง มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองแบร์น เป็นสวนสาธารณะของเมือง มีการจัดกิจกรรมแบบต่างๆเพื่อชุมชน เป็นที่พักผ่อนของครอบครัว ทุกเมื่อชั่วยาม มิได้เจาะจงเรื่องกิจกรรมศาสนาเท่านั้น จึงเท่ากับมิได้สร้างกรอบให้แก่ชาวเมือง เปิดเป็นพื้นที่อิสระเพื่อเสริมสร้างความสงบสบายใจแก่ทุกคน. หอคอยของโบสถ์ที่เห็นโดดเด่นเหนืออาคารบ้านเรือน สูงถึง 100 เมตร เป็นหอคอยที่สูงที่สุดในสวิส. โบสถ์นี้เริ่มสร้างในปี 1421 (บนพื้นที่ที่เคยมีวัดอยู่ตรงนั้นมาแล้วตั้งแต่ปี1224) บูรณะต่อเติมไปจนถึงปี 1575 และในปี 1889-1893 ได้ยกหอคอยขึ้นสูงอีก. จนบัดนี้ โบสถ์นี้เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ครบวงจรของศิลปะกอติครุ่นหลัง ในประเทศสวิตเซอแลนด์.
ประตูใหญ่ช่องกลางของด้านทิศตะวันตกของโบสถ์เมืองแบร์น (ภาพจากเน็ต)
หน้าบันของโบสถ์เมืองแบร์น (ดั้งเดิมเป็นวัดสอนนักบวช อุทิศให้นักบุญวินเซนต์ St. Vincent) เคลือบสีสวยงามตามที่เคยเป็นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้า (หน้าบันนี้รังสรรค์ขึ้นระหว่างปี 1460-1485 ผลงานของ Erhart Küng และทีมผู้ช่วย). มีการทำนุบำรุงเคลือบสีตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โบสถ์ใหญ่ๆในฝรั่งเศสที่เป็นต้นตำรับและต้นแบบของโบสถ์วิหารที่สร้างในประเทศยุโรปอื่นๆ ไม่เหลือโบสถ์ใดที่รักษารูปปั้นเคลือบสีที่เคยมีในยุคกลางไว้ได้เลย เหลือเป็นสีหินล้วนๆดังที่เห็นตั้งแต่ยุคใหม่. ส่วนวัดวิหารอารามในสวิส ยังเหลือให้เห็นต้นแบบของรูปปั้นและประติมากรรมที่เคยเป็นในยุคสมัยกลาง และอนุรักษ์ให้คงอยู่ตามต้นแบบเดิมให้ได้มากที่สุด มาจนทุกวันนี้ (ด้วยการซ่อมแซมเคลือบสีบ่อยๆ). เช่นเฉพาะประติมากรรมประดับบนหน้าบันนี้ ประกอบด้วยรูปปั้นไม้(และหิน)แกะสลักมากกว่าสองร้อยรูป. มากกว่า 170 รูป เป็นรูปปั้นดั้งเดิมที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 14-15. มีรูปปั้นที่ตั้งยืนเป็นเอกเทศจำนวน 47 รูป ที่เป็นรูปปั้นจำลองมาตั้งแทน (1991) ส่วนของจริงไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กรุงแบร์น. ความประณีตวิจิตรพิศดารของประติมากรรมตรงนี้ คงมีส่วนทำให้รอดพ้นเงื้อมมือของกระบวนการทำลายรูปเคารพ (iconoclasm) ที่อุบัติขึ้นภายหลังการปฏิรูปศาสนา (Reformation).
แนวโค้งตอนบนติดเพดาน เห็นพระคริสต์ตรงจุดกึ่งกลาง ขนาบซ้ายด้วยพระแม่มารี คุกเข่าสองมือยกขึ้นในท่าชื่มชมพระบารมี และด้านขวาคือจอห์นแบ็พทิซท์ คุกเข่าพนมมือ. เรียงลงไปสองข้างๆละหก คือเอกอัครสาวกของพระเยซู. ใต้ลงไปในแนวโค้งที่สอง มีรูปปั้นเล็กๆประดับด้วยม้วนกระดาษที่ทอดยาวลง ทำให้รู้ว่ารูปปั้นแถวนี้คือพระผู้เผยวัจนะหรือศาสดาพยากรณ์ในคัมภีร์เก่า. ส่วนวงในที่สุด มีเทวทูตห้าองค์เรียงไป แต่ละองค์ถือสิ่งที่ทำให้พระเยซูตาย เสาที่พระเยซูถูกมัด, แซ่หรือเชือกหนังที่ใช้โบย, ไม้กางเขน, หอกหรือหลาวที่ทหารโรมันขว้างไปปักหน้าอก, ตะปูที่ตอกลงบนมือและเท้า กับมงกุฎหนาม. ทั้งหมดที่นำมาจำหลักลงในฉากพิพากษาสุดท้ายนี้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระเยซูที่ตายเยี่ยงมนุษย์คือคนเดียวกับพระคริสต์บนบัลลังก์ผู้พิพากษา. ในฐานะที่พระองค์ได้ตายแทนมนุษย์ ได้บอกทางแห่งแสงสว่างให้ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะลงโทษผู้ที่พระองค์ได้พยายามช่วยไว้จนตายแทนให้ด้วย. นี่คือคำสอนและคำเตือนที่คริสต์ศาสนาต้องการเผยให้เข้าใจ เป็นทั้งการขู่ให้ละความชั่วและการปลอบว่า คนดี ตายดีไปสวรรค์แน่นอน และจะมีชีวิตชั่วนิรันดร์ในอาณาจักรของพระเจ้า.  
ยิ่งพิจารณาฉาก“วันพิพากษาสุดท้าย”อย่างใกล้ชิด ยิ่งเห็นความงามความประณีตของงานประติมากรรมที่ยิ่งใหญ่นี้ (ผู้สนใจรายละเอียด ตามไปอ่านได้ในวิกิพีเดีย ตอน Bern Minster)
วันพิพากษาสุดท้าย
1. อัครเทวทูตไมเคิล ชั่งน้ำหนักความดีความชั่วของคนตายแต่ละคน. ภาพคุ้นเคยจากโบสถ์มหาวิหารฝรั่งเศส ไมเคิลถือคันชั่งในมือซ้าย มือขวาถือดาบยกขึ้นสูง พร้อมจะฟาดฟันตัวมารที่มาขัดขวาง ที่ยังพยายามมาดึงวิญญาณผู้ตายให้ไปอยู่ฝ่ายตน. ที่นี่ คันชั่งติดตรึงกับเสา มือซ้ายของไมเคิลกำลังยึดและกระชากคางของพญามาร(ตัวสีเขียวๆ)ที่เข้าไปประชิดตัวไมเคิล หวังจะทำลายพิธี. ร่างพญามารบิดเบี้ยวมีตาตรงหัวเข่าด้วย มือถือกระบองใหญ่. อ้าปากแสดงความเจ็บปวดที่ถูกกระชาก
ใต้เสาที่ไมเคิลยืนอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของเสาหลักใหญ่และเสากลางที่สำคัญที่สุดของโบสถ์. เป็นเสากลางที่แบ่งทางเข้าเป็นสองประตู. เคยมีรูปปั้นพระแม่มารีตรงกลางเสา ในปี 1575 ได้เปลี่ยนเป็นรูปปั้นดังที่เห็น ที่เป็นภาพลักษณ์เชิงเปรียบของ“ความยุติธรรม” มือซ้ายถือคันชั่งและมือขวาถือดาบประกาศิต. สืบทอดความยุติธรรมของพระเจ้า จากภาพลักษณ์แบบฉบับของอัครเทวทูตไมเคิล. (มองดูใบหน้าของไมเคิล มีลักษณะของคนเอเชีย).
2. วิญญาณคนตายที่เป็นคนดี มีเทวทูตที่ยืนติดคันชั่ง อุ้มลงวางเป็นต่อคิวแถวคนดีที่จะได้ผ่านเข้าประตูสวรรค์(เลข4). แถวล่าง คนดีมีเสื้อคลุมสีขาวสวม เห็นทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก. แถวบน (เลข3) วิญญาณคนดี สวมเสื้อผ้าพร้อมหมวกหรือมงกุฎที่บอกตำแหน่งยศศักดิ์ของแต่ละคนเมื่อเขามีชีวิต มีนักบวชหลายสถานะทั้งสันตะปาปา คาร์ดินัล มีกษัตริย์ ขุนนางฯลฯ.
วิธีการแทรกแครื่องแต่งกายแบบสามัญหรือแบบหรูนั้น เพื่อสื่อว่าคนดีมาจากทุกชนชั้นทุกระดับทุกอาชีพเป็นสำคัญ (ตามหลักการ วิญญาณเสมอกันเบื้องหน้าพระเจ้า เกียรติยศเงินทองสูญสิ้นไปแล้วกับความตาย เหลือแต่ความดีที่ติดตัวเขาเท่านั้น).
4. ประตูทองแทนประตูสวรรค์ มีสันตะปาปาคนหนึ่ง เทวทูต (ปกติศิลปะกอติคในฝรั่งเศส มีนักบุญปีเตอร์ ผู้ถือกุญแจประตูสวรรค์ ยืนอยู่ตรงนี้).
5. เมื่อผ่านประตูเข้าไปแล้ว มีเทวทูตสวมมงกุฎแห่งคุณงามความดีให้. เห็นเทวทูตองค์หนึ่ง สองมือประคองมงกุฎสีทอง เตรียมรับคนดีจำนวนมาก.
6. เหนือแถบเมฆประดับดาว กลุ่มชาวสวรรค์มาชุมนุมต้อนรับสมาชิกใหม่ เห็นโมเสดกับแผ่นบัญญัติสิบประการ, กษัตริย์เดวิดถือพิณวิเศษในมือ, นักบุญต่างๆ แต่ละคนมีสัญลักษณ์ประจำตัวที่เจาะจงใครเป็นใครตามวิธีการศิลปะสมัยกลาง. เช่นนักบุญลอเรนส์ ถือตะแกง เขาตายด้วยการถูกย่างไฟ, นักบุญสตรีที่มีวงล้อหักไปส่วนหนึ่งตอนบน(ใกล้เทวทูตองค์หนึ่ง) คือนักบุญแคทเธอรีนแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (ศตวรรษที่สี่) ที่ถูกชาวโรมันตรึงให้ตะปูและซี่ล้อทิ่มแทงให้ตาย แต่เธอก็ไม่ตาย ในที่สุดถูกตัดศีรษะ.
7. เทวทูตองค์บน อุ้มเสาที่เคยใช้มัดตัวพระเยซู ตามคำสั่งของปีลาต. ให้ทหารโรมันเย้ยหรือถ่มน้ำลายใส่พระองค์. ส่วนเทวทูตองค์ข้างล่าง ถือแซ่และไม้หวดที่ทหารโรมันใช้เฆี่ยนโบยพระเยซู. ไม่เป็นผลอันใด จนปีลาตล้างมือ ปล่อยให้เป็นไปตามเสียงประชาชนที่ร้องให้ตรึงพระเยซู.
ฉากวันพิพากษาสุดท้ายด้านนี้จึงสรุปชีวิตของพระเยซูและผลแห่งกรรมดีของคนดีที่ได้ไปสวรรค์.
ฉากวันพิพากษาสุดท้าย ดังปรากฏจำหลักนูนสูงไว้บนหน้าบันด้านขวาของโบสถ์. เล่าความทุกข์ทรมานของวิญญาณคนไม่ดี. หลังจากที่อัครเทวทูต(เลข1) ชั่งน้ำหนักความดีความชั่วในชีวิตที่ผ่านมา พบว่ามีความชั่วมากเกิน ต้องปล่อยให้ฝูงมารนำตัวไปลงนรก. (2) แถวคนชั่วที่มารมาต้อนไป ตัวเปล่าเปลือยทั้งหญิงและชาย เบียดเสียดกันไป. (3) พื้นที่ส่วนที่สามก็เล่าสถานการณ์แบบเดียวกัน ตัวมารทั้งหลายสีเขียวคล้ำๆ บ้างแยกเขี้ยว บางยิ้มกริ่มพอใจที่มีพรรคพวกมากขึ้น ทั้งลากทั้งดึงไปลงเหวนรกที่เห็นไฟลุกโพลงไปจนสุดกำแพงด้านขวาบนหน้าบัน. ส่วนบุคคล(ในบริเวณ4) เป็นภาพนักบุญวิญญาณคนดีที่ได้ไปอยู่ในสวรรค์แล้ว (เป็นส่วนหนึ่งของภาพเลข 6 บนหน้าบันฝ่ายคนดี).

     ประติมากรรมที่น่าสนใจสองชุดตรงกำแพงสองข้างประตูใหญ่ที่โบสถ์เมืองแบร์นนี้ เทียบบุคคลสองชุด ชุดซ้ายมือ คือคนที่ยึดหลักธรรมของพระเจ้า และอีกชุดหนึ่งบนกำแพงด้านขวา คือคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า
วิธีการแสดงความเชื่อไม่เชื่อดังกล่าว ศิลปะกอติคมีแบบเฉพาะเจาะจง (เรียกชุดนี้ในคริสต์ศิลป์ว่า Vierges sages vs. Vierges Folles) คือให้ถือคบไฟหรือโคมไฟ(บางทีเหมือนถ้วยไวน์) ตั้งขึ้น ไฟลุกโพลง แทนพลังธรรมพลังไฟที่สว่างโชติช่วงในจิตใจของคนที่ถือ และเมื่อพิจารณาหน้าตาของคนถือห้าคนบนกำแพงด้านซ้าย เห็นใบหน้าสะอาด ยิ้มแย้ม แจ่มใส. มีดอกไม้เป็นมงกุฎสวมบนศีรษะ. รูปปั้นครึ่งตัวของสตรีคนหนึ่งกับบุรุษคนหนึ่ง ทั้งสองมีม้วนกระดาษประดับอยู่ใกล้ตัว. เขาสันนิษฐานและตกลงระบุว่า รูปปั้นครึ่งตัวคู่นี้คือพระราชินีชีบา (Queen of Sheba) กับกษัตริย์โซโลมอน (King Solomon).
การจัดรูปปั้นครึ่งตัวไว้ตรงฐานใต้รูปปั้นเต็มตัวของสตรีในยุคหลัง มีนัยสำคัญของการสืบทอดความคิดและศรัทธาจากยุคเก่าในคัมภีร์เก่า สู่ยุคใหม่ในลัทธิใหม่ (แคทอลิกหรือโปรเตสแตนต์).
ดูใกล้ๆใบหน้าสตรีครึ่งตัวแบบนี้ ทำให้นึกถึงใบหน้าสตรีชาวสวิสที่เคยเห็นและรู้จัก  หน้าอิ่ม อ่อนโยน. ส่วนสัตว์น้อย ใต้รูปปั้นสตรีผู้ดีสามคน น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงในวัง. ในศิลปะยุคกลางนั้น แม้รูปปั้นประดับหีบศพของกษัตริย์และชนชั้นสูง มักรวมรูปปั้นของสัตว์ตัวโปรดอยู่ด้วย (สัตว์นั้นอาจยังไม่ตาย และแน่นอนมิได้ตายตาม).
บนกำแพงด้านขวาของประตูใหญ่ของโบสถ์ มีรูปปั้นห้ารูป มีคบไฟในมือเช่นกัน แต่คบไฟว่างเปล่า ไฟดับไปแล้ว หรือไม่จุดไฟไว้เลย. บ้างหนีบไว้ใต้รักแร้ บ้างถือคว่ำลง. จึงสื่อนัยชัดเจนว่า คนเหล่านี้ เดินไปในความมืด ไม่มีแสงไฟแสงธรรมส่องนำทาง. ใบหน้าบึ้ง หงุดหงิด มองไม่งาม. ศิลปินจัดให้มีผู้ชายแทรกในหมู่คนกลุ่มนี้ด้วย(ผิดจากหลักการแคทอลิก) และยังแสดงให้เห็นว่า เป็นคนผิวคล้ำมีใบไม้คลุมศีรษะ(เหมือนมงกุฎใบไม้). อาจแนะให้คิดว่า คนยุคนั้นมีอคติต่อชาวผิวดำ เป็นยุคที่ยุโรปคิดจะไปเผยแผ่คริสต์ธรรมแก่ชาวพื้นเมืองในทวีปอเมริกาหรือแอฟริกา. ส่วนผู้หญิงที่เหลือมีหมวกสวมสวยงามตามแบบแฟชั่นยุคกลาง จึงมิได้มีพื้นเพชาวบ้านไร้วัฒนธรรมเลยทีเดียว แต่ยังหลงทางอยู่.
รูปปั้นครึ่งตัวบนกำแพงด้านนี้ (คนหนุ่มหนึ่งคน คนที่ไม่มีหนวดเครา และคนแก่หนึ่งคน) ไม่อาจเจาะจงแน่นอนได้ มีผู้คาดเดาว่า คนหนุ่มกว่าอาจคือ Zephaniah เป็นหนึ่งในสิบสองผู้เผยวัจนะ(minor prophets) กับ Isaiah (หนึ่งในศาสดาพยากรณ์คนสำคัญ prophets). การตีความว่าทำไมจึงเป็นสองคนนี้ จะยาวเกินบริบทของเนื้อหาตรงนี้ จึงขอหยุดแค่นี้.
*****  

ถนนสายที่ตั้งของหอนาฬิกา (Kramgasse) เป็นถนนคนเดิน สองฝั่งอาคารบ้านเรือน มีอาร์เขตทอดยาวต่อๆไป รวมทั้งหมดเป็นเส้นทางยาว 6 กิโลเมตร. นับเป็นช็อปปิ้งอาร์เขตที่ยาวที่สุดในยุโรป. กลางถนนตรงนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีโต๊ะม้านั่ง จัดวางไว้ให้ มีสระน้ำพุบริโภคได้ไม่มีพิษภัยแน่นอน และยังมีห้องน้ำ ตู้สีฟ้าๆที่เห็นในภาพข้างบนนี้.
สัปดาห์นั้น บนถนนจัดนิทรรศการของศิลปินร่วมสมัย จากศิลปินทุกรุ่นทุกวัย ทุกแขนง และมีกล่องรับเงินบริจาค เงินที่ได้เพื่อนำไปทำประโยชน์แก่ชุมชนอย่างไม่มีข้อกังขา. สวิสพัฒนาเศรษฐกิจมั่นคั่ง ไม่หวือหวาแต่มั่นคงสถาพร ไพร่ฟ้าหน้าใส เพราะไม่มีคอร์รับชั่น และเงินภาษีจากประชาชน กลับคืนสู่ประชาชนในทุกรูปแบบ.
อาร์เขตเป็นส่วนต่อของร้านอาหาร ร้านกาแฟในฤดูร้อน
ที่อาจอยู่ในอาร์เขตแล้วต่อไปบนถนนตรงนั้นด้วย
โต๊ะอาหาร นั่งกินนั่งดื่มตามอัธยาสัย สบายๆ ไม่รีบร้อน. ตรงนี้แหละ แบบนี้แหละ เป็นโอกาสลิ้มรสเบียร์สูตรดั้งเดิมเมืองแบร์นที่ชื่อว่า Felsenau (ผลิตภัณฑ์ของเมืองแบร์น เป็นเบียร์บริสุทธิ์ รสธรรมชาติแท้ ไม่มีการกลั่นหรือกรอง ไม่มีการทำพาสเจอไรส์ รสผลฮอพไม่รุนแรง. ขวดดั้งเดิมเป็นขวดแก้วมีจุกปิดเปิดพิเศษ ปัจจุบันเป็นจุกแค็ปก็มี หรือเป็นกระป๋องด้วย. ราคาตั้งแต่สองแฟร็งค์สวิสไปถึงราวยี่สิบสามแฟร็งค์ที่เป็นขวดเหมือนขวดแชมเปญ. (ขวดดั้งเดิมแบบนี้ เก็บมาใช้ประโยชน์อื่นได้สารพัด)
เบียร์ผลิตภัณฑ์ขนานแท้ของเมืองแบร์น


ให้สังเกตชั้นบนๆของตึกที่ทอดยาวไปตามถนน มีหลังคา(งอขึ้นเล็กน้อย ให้เป็นแอ่งรองรับน้ำได้)ยื่นออกมา(เหมือนกันสาด) ที่ติดตั้งต่อๆกันไปอย่างเรียบร้อย. ปกป้องกำแพงตึกด้านนอกนี้จากฝนหรือหิมะ ที่ไหลรวมกันในหลังคากันสาดดังกล่าว แล้วไหลลงตามท่ออย่างเรียบร้อยลงใต้พื้นเมือง. แทนการปล่อยให้ฝนและหิมะเทลงสาดลงปะทะกำแพงและหน้าต่าง. ดังที่รู้เห็นกัน(ในกทม.) นานๆเข้า น้ำทิ้งเป็นคราบ เป็นรอยสกปรก สีกำแพงหลุด กลายเป็นสีกระดำกระด่างไปทุกตึก. สถาปนิกไทยไม่เคยสนใจแก้ปัญหาแบบนี้.  
ดูการติดตั้งท่อระบายน้ำจากหลังคาลงมา แสนจะเรียบร้อย
เหนือระบบกันสาดขึ้นไป ยังมีหลังคาจริงของตึก รวมทั้งห้องใต้หลังคา ที่ก็เป็นที่อยู่ด้วย.
บนถนน Kramgasse ที่ทอดยาวจากหอนาฬิกา เลขที่ 49 คือพิพิธภัณฑ์บ้านไอสไตน (Einstein Haus) ชั้นที่สองเคยเป็นที่อยู่ของเขาในระหว่างปี 1903-1905. ที่นั่นเขาจัดบ้านของไอนสไตน ให้เห็นการกินอยู่ พร้อมเครื่องเรือนของยุคนั้น ในชีวิตจริงของเขาที่นั่น กับ Mileva ภรรยาและ Hans Albert บุตรชาย. และไม่ลืมระบุยืนยันว่า ระหว่างที่เขาอยู่ในบ้านนี้แหละ ที่ไอนสไตน์ได้คิดและเขียนทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (Theory of Relativity).

       เอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือการมีชั้นใต้พื้น ที่เปิดลงไปได้จากขอบถนน ดังภาพที่นำมาให้ดูเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้

ประตูเข้าออก มิได้ตั้งตรง. พื้นที่ชั้นใต้พื้นนี้ อาจเป็นพื้นที่ส่วนตัวของใคร.

หรือเป็นร้านขายของ
ที่ตรงนี้ เป็นร้านตัดผมอยู่ชั้นใต้ดิน.
สรุปยืนยันว่า ในเมืองแบร์น ไม่ว่าไปไหน มีทางขึ้นทางลงเสมอ เนื่องจากพื้นที่สูงต่างระดับกัน.

Rosengarten สวนกุหลาบของเมืองแบร์น เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือน ไม่ใช่ไปชมดอกกุหลาบ แต่เพราะสวนตั้งอยู่บนไหล่เขาสูง เป็นจุดชมวิวที่พลาดไม่ได้.
พื้นที่บางมุมในสวนกุหลาบ แปลงกุหลาบที่ขนาบสนามหญ้า
สระดอกบัว
Unseen lotus to them
สนามกว้างใหญ่ มุมนี้เป็นสนามเด็กเล่น ไม่ไกลกันนัก เป็นร้านอาหาร
ทางตรงไปสู่พื้นที่เทอเรส ที่เป็นระเบียงชมวิว ยาวไปตามพื้นที่สวนกุหลาบ
Unseen Bern to me
มองใกล้ด้านหนึ่ง
มองไกลไปอีกด้านหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าจะมีตึกรามบ้านช่องแน่นถึงเพียงนี้รอบๆโบสถ์
จากมุมนี้ หลังคาและปล่องไฟจำนวนเท่าที่เห็น ดูน่าทึ่งและสะอาดตาอย่างเหลือเชื่อ
มองจากใกล้ไปไกลโพ้น แนวแม่น้ำ Aare สายสำคัญ
กับแนวต้นไม้ใหญ่ใบเขียวหนาแน่น

แบร์นเมืองที่ไม่เหมือนเมืองใด
เหมือนพี่หมี ตระหง่าน ปกป้อง อบอุ่นใจ
เมืองหมี เมือง Man เมืองแมน

บันทึกเดินทางของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์.
๘ กันยายน ๒๕๖๑.

1 comment:

  1. บันทึกเดินทาง ภาค Terre des Hommes
    เมือง Bern เมือง Man เมืองแมน
    ภาพเยอะ เรื่องยาว

    ReplyDelete