Saturday 18 October 2014

กำเนิดสวนอิตาเลียน - The Italian Garden

                                                                                                              
              แบบสวนเฉกเช่นแบบสถาปัตยกรรมหรือแบบศิลป์อื่นใดขึ้นอยู่กับกาลเวลาและสถานที่   การเนรมิตสวนสัมพันธ์กับการสร้างสรรค์ศิลปะแขนงอื่นๆร่วมยุค ทั้งจิตรกรรม  ประติมากรรม วรรณกรรมและโดยเฉพาะสถาปัตยกรรม รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่นำไปสู่เทคนิคใหม่ๆ  จากยุคหนึ่งถึงอีกยุคหนึ่ง อะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแบบสวน  เป็นการทิ้งแบบเดิมเลยหรือเป็นการเพิ่มรูปลักษณ์ใหม่บางอย่างเข้าไปในแบบเก่า  อุดมการณ์อะไรหรือการเมืองแบบไหนที่ผลักดันให้เกิดการเนรมิตแบบสวนแบบใหม่เป็นต้น  เราจึงต้องเข้าใจสภาพสังคมในแต่ละยุค  วิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญๆที่ทำให้เกิดแบบสวนแบบใหม่ขึ้น  ติดตามอ่านวรรณกรรมและประวัติบุคคลเด่นๆแต่ละยุคสมัยที่จารึกอุดมการณ์และรอยนิ้วมือไว้อย่างถาวรบนแผ่นดิน   สวนที่ตกทอดมาจากยุคต่างๆ เป็นข้อมูล  รวมความคิดและสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและความเจริญในแต่ละยุค 
              ในบทความนี้ เรากล่าวถึงแบบสวนอิตาเลียน [1] ที่เริ่มขึ้นในยุคเรอแนสซ็องส์  สวนอิตาเลียนที่สร้างขึ้นในยุคนั้น ยังคงมีอยู่ในอิตาลีแม้กาลเวลาได้ทำให้เสื่อมสึกกร่อนไปมากบ้างน้อยบ้าง  แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่เป็นพยานหลักฐาน ตัวอย่างและข้อมูลสำหรับการศึกษาวิวัฒนาการด้านสถาปัตยกรรม เทคนิคการก่อสร้าง และบริบทด้านสังคม  สวนอิตาเลียนยังคงเป็นแบบอ้างอิงสำหรับการเนรมิตสวนในยุคหลังๆมาจนถึงยุคปัจจุบัน  เพราะแม้ว่ากาลเวลาหมุนผ่านไป  สังคมเปลี่ยนไป  ค่านิยมเปลี่ยนไป  หลายคนยังคงคิดตรงกันว่าแบบสวนอิตาเลียน ยังคงเป็นแบบสวนที่ดีที่สุดในยุโรป และเป็นแบบสวนที่เหมาะที่สุดสำหรับเขตที่อยู่อาศัยของชาวเมือง  
สังคมในยุคเรอแนสซ็องส์
              โดยปกตินักประวัติศาสตร์กำหนดยุคเรอแนสซ็องส์ไว้ว่าคือสองร้อยปีระหว่างศตวรรษที่ 14-16  แต่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับยุคเรอแนสซ็องส์ไม่เห็นด้วยกับการเจาะจงดังกล่าว  บ้างแบ่งยุคนี้ออกเป็นสามสมัยอันมีสมัยต้น (ประมาณระหว่างปี 1300-1480)  สมัยสูงสุด (ระหว่างปี1480-1520) และสมัยของแมนเนอริซึม (mannerism, 1520-1580)  บางทีก็รวมสมัยบาร็อคเข้าเป็นสมัยสุดท้ายของยุคเรอแนสซ็องส์ด้วย  ในบริบทของวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ตั้งแต่ปี1500 เป็นต้นมา  คติเรอแนสซ็องส์แพร่หลายออกไปทั่วอิตาลีและประเทศอื่นๆ   กรุงโรมเป็นผู้นำกระแสเรอแนสซ็องส์   สันตะปาปาเป็นผู้อุปถัมภ์และผู้ถือท้ายของนาวาศิลปวิทยาทั้งหมด  เปลี่ยนจากขนบเดิมที่เจ้าชายของแต่ละเมืองแต่ละถิ่นเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลป์ 
              สรุปประเด็นหลักสองประการที่เป็นกระดานกระโดดของยุคเรอแนสซ็องส์ คือ
๑)   การนำรูปลักษณ์คลาซสิกจากอารยธรรมกรีกโรมันโบราณกลับมาปรับใช้ใหม่
๒)  ความกังวลหมกมุ่นในโลกียวิสัย  ความสนใจในมานุษยคติและการนำอุดมการณ์ดังกล่าวไปใช้ โดยเน้นความสำคัญของความเป็นเอกบุคคล 

              เมื่อพิจารณาสถาปัตยกรรมในยุคกลาง จะเห็นว่าทุกแบบมีรั้ว มีกำแพง หนาและมั่นคง  ที่อยู่อาศัยก็เช่นกัน  ทั้งนี้เพราะจนถึงศตวรรษที่14  ยุโรปมีการรบพุ่งกันมิได้ขาด  ความสงบเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวไม่ยั่งยืน   ผู้มีอำนาจบางคนไปสร้างปราสาทบนยอดเขา โดดเด่นและโดดเดี่ยวแม้จะมีปัญหาการขาดน้ำและการมีพื้นที่ราบน้อยก็ตาม   บ้างสร้างคฤหาสน์ภายในเมืองที่อยู่ในอาณัติของเขา  ชาวนาชาวไร่ย้ายไปอยู่ภายในกำแพงเมือง และออกไปทำนาทำไร่ทุกวันนอกกำแพงยามที่ไม่มีศึกสงคราม   สภาพการณ์แบบนี้ไม่อำนวยให้เกิดการสร้างสวน  อย่างไรก็ตามความฝันอยากมีสวนสวรรค์ยังคงเกาะติดอยู่ในหัวใจคน และถูกกระตุ้นให้ฮึกเหิมขึ้นอีกเมื่อได้อ่านวรรณกรรมเรื่องเดกาเมรน (Decameron แปลว่า งานที่ทำในสิบวัน หรือชื่อในฉบับภาษาไทยว่า  บันเทิงทศวาร) ของกวีอิตาเลียนปลายยุคกลางชื่อจีโอวันนี บ็อกกั๊กชีโย (Giovanni Boccaccio, 1313-1375)  หนังสือเล่มนี้รวมเรื่องสั้นไว้ร้อยเรื่องเสนอความจริงแบบต่างๆในชีวิตของชนชั้นกลางที่ถือกันว่าเป็นชนชั้นที่มีวัฒนธรรม และพรรณนาภาพลักษณ์ของสวนในสภาพแวดล้อมที่กลายเป็นความจูงใจและอุดมการณ์ของการสร้างสรรค์และการดำรงชีพในยุคเรอแนสซ็องส์  หนังสือเล่มนี้ได้ปูทางแก่นักมานุษยนิยมชาวอิตาเลียนในศตวรรษที่ 15  พวกเขามีมโนทัศน์อันวิจิตรเกี่ยวกับอดีต  ปรารถนาที่จะใช้อุดมการณ์แห่งความสุนทรีย์และภูมิปัญญาของโลกยุคโบราณ เป็นแสงสว่างนำการสร้างสรรค์สังคมที่ภูมิฐานกว่า   บ็อกกั๊กชีโยและปัญญาชนทั้งหลายได้เรียนรู้ว่า อิตาลีเคยเป็นประเทศที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่แต่ได้เสื่อมลงและเลือนหายไปในยุคมืด  พวกเขาหวังว่าจะมีทางขับไล่ความมืดนั้นและนำความรุ่งเรืองของกรุงโรมในอดีตกลับมา   ไม่นานหลังจากนั้น อิตาลีเริ่มรวบรวมสถาปนิกฝีมือเลิศ ไปเนรมิตสวนน่าทึ่งแบบต่างๆตามวิลลา  ความสุขสงบอย่างอิสะเสรีในธรรมชาติกับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มีส่วนกระตุ้นระดับจิตสำนึกของคนให้สูงขึ้นและดีขึ้น  
         ศตวรรษที่15 เป็นศตวรรษของการค้นพบ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ของค่านิยมต่างๆ เช่นการค้นพบอำนาจของกระสุนดินปืน  การตีพิมพ์  เข็มทิศ  การกำหนดทำแผนที่โลกทั้งสองซีกตะวันตกและตะวันออกเป็นครั้งแรก  นาฬิกา  หางเสือที่ช่วยการเดินเรือเป็นต้น  สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้คนยุคนั้นเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากผจญภัย อยากออกไปสำรวจดินแดนใหม่ๆ  กระหายสิ่งใหม่ๆ  วิถีชีวิตแนวใหม่  นอกจากนี้ การเข้าไปพัวพันกับอารยธรรมอาหรับที่สถาปนาและพัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดตั้งแต่ศตวรรษที่8  ที่ส่งอิทธิพลต่อยุโรปมากขึ้นอีกในยุคอ็อตโตมันตั้งแต่ศตวรรษที่15 เป็นต้นมานั้น  ทำให้ยุโรปตระหนักถึงความจำเป็นในการกระชับจิตสำนึกบนพื้นฐานของคริสต์ศาสนา  การได้รู้ได้เห็นความเจริญด้านวิทยาการของชาวอาหรับ(โดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่12 เมื่อเกิดสงครามครูเสด) กระตุ้นให้หันกลับไปพิจารณาศึกษาความรู้โบราณจากกรีซและโรมัน(ที่ชาวอาหรับเป็นผู้แปลเป็นภาษาอาหรับก่อนและถ่ายทอดมาถึงบาทหลวงชาวคริสต์ผู้แปลจากอาหรับเป็นภาษาละติน)  เปิดมุมมอง ความเห็น การตีความในแนวใหม่ๆ  
        โดยเฉพาะกระบวนการคิด วิธีคิด และการทำความเข้าใจ พุ่งขึ้นในสมองคนยุคนั้นเหมือนดั่งคบเพลิงแห่งวิญญาณขบถเมื่อนิกอลัย โกเปรนิก (Nicolaj Kopernik, 1473-1543) เสนอทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับระบบจักรวาล  ว่าโลกกลมและหมุนรอบดวงอาทิตย์ มิใช่ดวงอาทิตย์ที่หมุนรอบโลก  โกเปรนิกทำให้คนเริ่มคิดถึงความถูกต้องของความรู้ที่ตกทอดมาจากยุคโบราณและที่ยุโรปยึดถือเป็นกฎตายตัวหรือเป็นมาตรการพื้นฐานของการพัฒนาทุกรูปแบบตลอดสิบกว่าศตวรรษ  การศึกษาวิเคราะห์ในยุคต่อๆมาเป็นแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้นๆ  ใช้เหตุผลเป็นกุญแจค้นหาความจริง  ยึดประสบการณ์มากกว่าความเชื่อหรือความรู้สึก   ความเจริญก้าวหน้าหลั่งไหลกระจายออกไปทุกทิศทุกทาง เช่นความเจริญในการค้า  พ่อค้าคนเดินเรือมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสวนอิสลามในสเปน  ปัญญาชนชาวคริสต์ที่หนีผู้รุกรานชาวเตอร์กพากันออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล แบกความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมโบราณและอารยธรรมคลาซสิกติดตัวไปด้วย  ปัญญาชนยุคนั้นหวนย้อนไปศึกษาอารยธรรมต้นตอของพวกเขา  และพุ่งความสนใจอยากรู้อยากเห็นออกไปไกลกว่าอาณาจักรโรมันเดิม ไปสู่อารยธรรมกรีกที่รุ่งเรืองขึ้นก่อน ไปยังอาณาบริเวณแหล่งกำเนิดต้นตอของคริสต์ศาสนา  พวกเขาหลงใหลขนบวัฒนธรรมของคอนสแตนติโนเปิลที่เคยเป็นโรมันแต่พูดภาษากรีก   การกลับไปศึกษาอารยธรรมโบราณ ทำให้เกิดความสนใจใหม่เกี่ยวกับสวนในฐานะที่สวนเคยมีบทบาทสำคัญสำหรับนักปราชญ์และกวี สำหรับชนชั้นสูงและรัฐบุรุษ  เพราะสวนเคยเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ของคน และที่พัฒนาขึ้นเป็นสถาบันการเรียนการสอน  เป็นแหล่งอบรมบ่มนิสัย  สร้างความเพียรพยายาม และปูทางสู่ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ  และในฐานะที่สวนเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง เป็นสถานที่หรูหราเป็นต้น 
         ยุคเรอแนสซ็องส์ จึงเป็นยุคที่ศิลปวิทยามิได้จำกัดเฉพาะภายในกำแพงโบสถ์หรือวิหารเหมือนแต่ก่อน  วิชาความรู้ก็มิได้จำกัดอยู่ภายในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยและมิได้อยู่ในมือของชนชั้นสูงเท่านั้น  การพัฒนาการค้าขายทำให้เกิดชนชั้นใหม่  เป็นชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ  มีความรู้สูง  มีวัฒนธรรม  ผู้คนออกเดินทางไกลจากถิ่นฐานที่อยู่  มีประสบการณ์หลากหลาย  สิ่งก่อสร้างใหม่ๆเกิดขึ้นแทนวัดอารามหรือโบสถ์  เป็นคฤหาสน์ใหญ่โตหรูหราเพื่อสนองความต้องการของสังคมยุคใหม่  เป็นสังคมที่ต้องการยกระดับตนเอง จึงใฝ่หาทุกอย่างที่จะสร้างและเสริม “ความเป็นผู้ดี” แก่ตนเอง   ชนชั้นกลางผู้ร่ำรวยกลายเป็นผู้บริโภคสำคัญของสังคม และเป็นผู้ส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวิทยาแทนพวกนักบวช   ยุคนี้ผู้มีความรู้สูงพูดภาษาละติน  คนเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง  เป็นเครื่องวัดราคาและคุณค่าของทุกอย่าง   ก่อนหน้านั้นพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งและของจิตสำนึก  ยุคนี้ศิลปินหรือนายช่างไม่ใช่เป็นผู้รับใช้แล้ว เขามิได้เป็นเพียงนายช่างฝีมือผู้ผลิตงานศิลป์ดังที่เคยเป็นมาตลอดยุคกลาง  แต่เป็นดั่งเจ้านาย เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพ มีอัตลักษณ์เอกเทศเป็นครั้งแรกเสมอฐานะของนักเขียนหรือกวี   เขามีสิทธิ์เลือกงาน เนรมิตงานและประกาศคุณค่างานของเขาเองด้วยการประทับชื่อให้ชาวโลกรู้  พวกเขาหาทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับรูปลักษณ์และภาพทัศน์   หลายคนทุ่มความสนใจไปสู่การทดลองวิทยาศาสตร์  ทัศนมิติเชิงคณิตศาสตร์และแนวเส้นได้วิวัฒน์ขึ้นในบริบทนี้ อันเป็นระบบที่องค์ประกอบทั้งหลายในจิตรกรรมหรือในประติมากรรมนูนต่ำ เกี่ยวข้องกันอย่างสมเหตุสมผลและสมมาตรกันตามสัดส่วนคณิตศาสตร์  เพราะฉะนั้นพื้นที่สำหรับจิตรกรรมจึงถูกมองว่าเป็นหน้าต่างสู่โลกธรรมชาติ  และเป็นหน้าที่ของจิตรกรที่จะเสนอภาพของโลกนั้นอย่างมีศิลป์   เช่นนี้ จิตรกรเริ่มทุ่มความสนใจสู่การเสนอภาพทิวทัศน์  สำรวจธรรมชาติและโลกทุกแง่ทุกลักษณะ  ให้รายละเอียดของต้นไม้ ดอกไม้ พืชพรรณ  ภูเขาที่มองเห็นไกลๆ  ท้องฟ้าที่มีเมฆปกคลุมฯลฯ   ศิลปินเริ่มศึกษาผลกระทบของแสงสว่างในที่โล่งหรือจากมุมมองแบบต่างๆในธรรมชาติ และพัฒนาขึ้นเป็นระบบทัศนมิติที่รูปลักษณ์และสีสันของสรรพสิ่งชัดน้อยลงๆเมื่อสิ่งนั้นไกลออกไปจากสายตา    ศิลปินในภาคเหนือโดยเฉพาะศิลปินชาวแฟลนเดอร์(บนดินแดนที่เป็นประเทศเนเธอแลนด์และเบลเยี่ยมในปัจจุบัน) ก้าวหน้าขึ้นทัดเทียมกับชาวอิตาเลียนในจิตรกรรมภูมิทัศน์ ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มใช้สีน้ำมันเป็นวัสดุสื่อสารใหม่ในจิตรกรรมอีกด้วย  
วรรณกรรมและอัจฉริยบุคคลที่กระชับอุดมการณ์ของเรอแนสซ็องส์
          ปราชญ์ในยุคโบราณสองคนที่มีส่วนวางพื้นฐานของมโนสำนึกที่ล้ำยุคล้ำสมัย คือ มหากวีโฮเมอร์(Homer หรือ Homêros ในภาษากรีก)[2] และ โอวิด (Ovid หรือ Ovidius ในภาษาละติน)[3]  คนยุคกลางละเลยไม่สนใจปราชญ์ทั้งสองเพราะทั้งคู่มิได้เป็นชาวคริสต์   ปัญญาชนในยุคเรอแนสซ็องส์กลับหันมาศึกษาผลงานของทั้งสองอย่างจริงจัง   ตำนานเทพกรีกและโรมันที่เป็นตัวละครในงานเขียนทั้งหมดของปราชญ์ทั้งสอง กลายเป็นแหล่งบันดาลใจ เป็นขุมทรัพย์ที่จิตรกรและประติมากร ขุดไปเป็นเนื้อหาของงานสร้างสรรค์ของพวกเขา โดยเฉพาะประติมากรรมที่เนรมิตขึ้นเพื่อนำไปตั้งประดับสวน
              วรรณกรรมจากยุคกลางโดยเฉพาะเรื่อง โรม็อง เดอ ลา โรซ (Roman de la Rose)[4] และจากปลายยุคกลางเรื่องเดกาเมรน ดังกล่าวมาข้างต้น ให้ภาพของสวนยุคกลางและสวนเริงรมย์ต้นแบบของสวนเรอแนสซ็องส์  แต่บุคคลผู้วางแนวทางและพื้นฐานของสวนเรอแนสซ็องส์อย่างแท้จริงคือ เล-อน-บัตติ๊สตะ อัลแบร์ติ (Leon-Battista Alberti,1404-1472)[5]  อุดมการณ์ของเขาดังปรากฏในงานเขียนเรื่อง เด เร เอดีฟีกาตอเรีย (De re aedificatoria รวมหนังสือสิบเล่มที่ว่าด้วยเรื่องศิลปะการก่อสร้าง เขียนขึ้นในปี1452 และพิมพ์ในปี 1485)  มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมและสวนอย่างยิ่ง  แม้ว่าเนื้อหาดูจะยึดแนวของสถาปัตยกรรมกรีซโบราณที่ วีทรูวีอุซ (Vitruvius)[6] ได้ศึกษาวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียด แต่ในความเป็นจริง สถาปัตยกรรมตามแนวของอัลแบร์ติ  มิใช่ทั้งสถาปัตยกรรมโบราณหรือแบบอื่นใดร่วมยุคนั้น  อัลแบร์ตินำหลักปรัชญาธรรมชาติมาออกแบบวิลลา  แนะนำว่า เมื่อมองจากวิลลาและสวน  ควร มองเห็นภูมิทัศน์ของเมือง  เห็นบริเวณของพื้นที่ผืนนั้น  เห็นทะเลหรือท้องทุ่งผืนกว้างใหญ่ และเนินเขาที่คุ้นเคยต่างๆ   ประเทศอิตาลีมีภูมิประเทศแบบนี้มากซึ่งสวยงามน่าทึ่งอยู่แล้ว  การออกแบบสวนที่ผนวกภาพมุมมองธรรมชาติรอบข้างเข้าไปด้วยจึงเท่ากับการขยายมิติของสวนออกไปรอบทิศทาง นอกขอบเขตอันจำกัดของพื้นที่ และทำให้สวนกลายเป็นพื้นที่สนองรับศิลปะประเภทอื่นๆไปด้วย  โดยเฉพาะในยุคเรอแนสซ็องส์เมื่อสังคมสุขสงบ เอื้อต่อการออกไปท่องเที่ยวหรือไปอยู่ในชนบทนอกกำแพงเมือง   วิลลาแบบฉบับในชนบทจึง เป็นที่ที่คนสามารถหาความสุขสำราญจากธรรมชาติ  เป็นที่ที่เหมาะกับการตรึกตรองควบคู่กับการชื่นชมความงาม       
         แบบสวนที่อัลแบร์ติพูดถึง เป็นต้นแบบของสวนอิตาเลียนที่มีต้นบ็อกซ์ (box ในสกุล Buxus) ปลูกเต็มและมีต้นไม้ดัดเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ (topiary)  ในสวนมีเนินทำให้สามารถมองชื่นชมความงามของภูมิประเทศที่ไกลออกไปแม้จะยังมีกำแพงล้อมรอบสวนเช่นเคย    การเนรมิตสวนสมดุลกลมกลืนกับอาคารวิลลาและภูมิประเทศของถิ่นนั้น  เน้นความสำคัญของสถาปัตยกรรม  การปลูกพุ่มไม้และต้นไม้ตามแปลนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด  และการใช้พืชยืนต้นเป็นจำนวนมาก   หลักการของเขากลายเป็นอุดมการณ์สูงสุดของการสร้างสวนอิตาเลียนตั้งแต่นั้นจนถึงปลายศตวรรษที่18  
         การปลูกสวนแนวใหม่นี้เริ่มต้นที่เมืองฟลอเรนซ์  ในชนบทของกรุงโรมก็ได้เนรมิตสวนขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน  กระชับแนวการปลูกสวนดังกล่าวมาให้ถาวรและพัฒนาไปอย่างพิสดารที่สุดด้วย  เพราะตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 15  ชาวโรมนิยมออกไปพักผ่อนตามนอกเมือง(villeggiatura)  จึงมีส่วนทำให้วิลลาตามชนบทกลายเป็นศูนย์ชีวิตสังคมนอกเมืองหลวง  เช่นนี้ด้วยกระมังที่ทำให้สันตะปาปามารตินที่ห้า(Martin V)ตัดสินใจย้ายสำนักสันตะปาปาไปตั้งอยู่ที่เมืองอาวีญง(Avignon ในฝรั่งเศส)  ตามที่เล่ากันมาว่าเมื่อพระองค์เข้าไปกรุงโรมในวันที่ 30  กันยายน 1420  พบแต่ความว่างเปล่า เพราะชาวโรมออกไปสนุกสนานกันตามวิลลานอกเมือง   สถานการณ์สังคมที่กรุงโรมเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายสิบปี   กรุงโรมกลับฟื้นคืนสู่ความคึกคักและเป็นศูนย์ศิลปวิทยาอีกครั้งในยุคของสันตะปาปานิกอลัซที่ห้า (Nicolas V,1447-55)   สันตะปาปาผู้นี้มีวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรมสูง  ได้ไปประทับอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์หลายครั้ง จึงรู้เห็นและพบปะกับนักมานุษยนิยมที่นั่น   อิทธิพลความคิดอ่านของพวกเขาทำให้สันตะปาปาต้องจัดระบบสำนักศาสนาใหม่ ให้เป็นศูนย์รวมอัจฉริยบุคคลของชาติ และเป็นศูนย์ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิทยาการความรู้ของโลกโบราณ  สันตะปาปาองค์นี้ยังเป็นผู้สถาปนาหอสมุดของวาติกัน   ตั้งแต่นั้นมาสันตะปาปาและการ์ดินัลต่างเป็นผู้ส่งเสริมและให้พัฒนาศิลปวิทยาทุกแขนง   สันตะปาปาจูลส์ที่สอง (Jules II)  เป็นผู้สร้าง กรุงโรมคนหนึ่ง   สันตะปาปาอินโนเซ็นต์ที่แปด (Innocent VIII,1432-1492) เจาะจงให้สถาปนิกโดนาโต บรามันเต (Donato Bramante,1444-1514)  เป็นผู้สร้างวิลลาเบลเวเดเร (Belvedere) พร้อมลานกว้างใหญ่ภายในวาติกัน  วิลลานี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมรวมขนาดมหึมาของกรุงวาติกัน และที่ต่อมาเรียกสั้นๆว่าสวนวาติกัน   แบบสถาปัตยกรรมนี้ประหนึ่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติสถาปัตยกรรมสวน  วิลลามะดามา (Villa Madama) สร้างตามแปลนสถาปัตยกรรมของรัฟฟาเอลโล (Raffaello)  จีอูลีโย โรมาโน(Giulio Romano) และจีโอวันนี ดา อู๊ดีเน(Giovanni da Udine) ระหว่างปี 1516-20   เป็นวิลลาแห่งแรกที่สร้างขึ้นนอกกรุงโรมสำหรับการ์ดินัล จีอูลีโย เด เม้ดิชี (Giulio de Medici) เลียนแบบสถาปัตยกรรมของวิลลายุคจักรวรรดิโรมัน    การเนรมิตอาคารเจาะจงให้เป็นแบบที่เข้ากับความลาดเอียงของพื้นที่ตามไหล่เขา  สร้างทัศนมิติที่ทอดไกลออกไปโอบทิวทัศน์ของกรุงโรม ที่เริ่มตั้งแต่จุดที่ตั้งของสนามม้า (hippodrome  ที่เคยเป็นสนามแข่งม้าศึกในสมัยจักรวรรดิโรมัน)  สภาพธรรมชาติและภูมิประเทศทั้งหมดได้เข้าเป็นองค์ประกอบในโครงการเนรมิตวิลลา   วิลลามะดามาเป็นแบบบันดาลใจสำหรับงานสร้างสรรค์สวนและวิลลาแห่งต่อๆมา
              ครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญในเมืองฟลอเรนส์ ที่เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์สูงสุดของศตวรรษนี้ รวมทั้งเป็นผู้กำหนดแนวศิลปะแห่งยุคเรอแนสซ็องส์ด้วย คือตระกูลเมดีชี (Medici) [7] เป็นตระกูลใหญ่ในชนบททางเหนือของเมืองฟลอเรนส์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในธุรกิจการธนาคาร  ความร่ำรวยทำให้ผู้นำตระกูล จีโอวันนี(Giovanni,1360-1429) มีชื่อเสียงขึ้น  รสนิยมของเขาก็เด่นงามในความเรียบง่าย  ลูกชายชื่อ โกซีโม(Cosimo,1389-1464) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดแห่งยุค  เงินนำอำนาจทางการเมืองมาแก่ครอบครัวนี้   เมื่อโกซีโมถึงแก่กรรม  ลอเร็นโซ(Lorenzo) ผู้ขณะนั้นมีอายุ 20 ปี กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวในปี1469   เขาอุปถัมภ์ศิลปะทุกชนิด ทำให้ได้สมญานามว่า ลอเร็นโซ อิล มงี้ฟีโก(Lorenzo il Magnifico ในความหมายว่า ลอเร็นโซผู้ประเสริฐ)  สมาชิกในตระกูลนี้คนต่อๆมา ได้เป็นดยุ้ค สันตะปาปาและราชินี  จึงมีอิทธิพลเหนือศิลปะและวัฒนธรรมแห่งเมืองฟลอเรนส์ตลอดระยะเวลาสี่ร้อยปีจนเมื่อสิ้นสุดผู้สืบตระกูลในกลางศตวรรษที่สิบแปด  ตระกูลนี้เองเป็นผู้นำสวนแบบอิตาเลียนเข้าสู่ฝรั่งเศส  อิทธิพลของตระกูลนี้มิได้เกี่ยวกับการมีความรู้มีวัฒนธรรมสูงเท่านั้น ยังรวมถึงงานสร้างสรรค์ด้านวิจิตรศิลป์ทุกสาขา งานก่อสร้างและการปลูกสวน  ความสนใจในการทำสวนของตระกูลนี้ อาจมีส่วนมาจากพื้นเพเดิมที่ต้นตระกูลเป็นชาวชนบท  ในอิตาลีตระกูลนี้ได้ออกไปสร้างคฤหาสน์บนเนินเขาป่างามรอบๆเมืองฟลอเรนส์ เพื่อเป็นที่พักอาศัยส่วนตัว และเพื่อรับรองสังคมชนชั้นหรูหราที่ไปเยี่ยมเยียน ไปชื่นชมคลังสมบัติสะสมที่เป็นงานศิลป์และประติมากรรมรูปปั้นในสวน  วิลลาของตระกูลนี้จึงเป็นศูนย์รวมศิลปะ  ความรักการเรียนรู้  การใช้ชีวิตอย่างถูกสุขอนามัยและความรักธรรมชาติ เข้าไว้ในที่เดียวกัน 
              ในสมัยของโกซีโม เขารวบรวมกลุ่มปัญญาชนที่ไปชุมนุมกันในสวนบนเนินเขาที่กาเร็จจี(Careggi)เสมอ (อยู่ห่างจากกลางเมืองฟลอเรนส์ประมาณห้ากิโลเมตร)  ในหมู่นี้บุคคลผู้เป็นกลจักรผลักดันกระแสมานุษยนิยมออกไปคือ มารซีลีโย  ฟีชีโน(Marsilio Ficino,1433-1499) ผู้สถาปนาสถาบันเพลโตแห่งใหม่ขึ้น (The Platonic Academy)   เขาเป็นผู้แปลงานเขียนของเพลโตและของโปลตีโนซ (Plôtinos) ทั้งยังเป็นผู้แต่งหนังสืออธิบายเทวศาสตร์ของเพลโต(Theologica Platonica)   เพลโตผู้เป็นปรมาจารย์แห่งปรัชญาตะวันตก เริ่มโดดเด่นออกมาในฐานะปราชญ์ที่มีศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นอัจฉริยบุคคล หลังจากที่อยู่ในร่มเงาของโสเครติสตลอดเวลาที่ผ่านมา   ปรัชญาของเพลโตที่ว่า ศิลปะควรเลียนแบบธรรมชาติ  จึงฟื้นคืนชีวิตใหม่ (ความจริงหลักการนี้มิได้หายสาบสูญไปในยุคกลาง เพียงแต่มิได้ปรากฏเด่นชัดพอเท่านั้น)   ฟีชีโนเชื่อว่า วิญญาณสำนึกของคนสามารถเข้าถึงรูปลักษณ์ที่เป็นต้นแบบของจักรวาลที่แฝงอยู่เบื้องหลังสิ่งที่ตาเห็น และที่สามัญชนมองไปไม่ถึง(Platonic forms และ Platonic solids) ความสำนึกดังกล่าวประทับเป็นเงื่อนไขในตัวศิลปินและในงานที่เขารังสรรค์   การรับรู้ความงามต้องใช้ความคิดมากพอๆกับความสังเกต   สัตว์อาจมีความสังเกตมากกว่าคนก็ได้ แต่เพราะสัตว์ไม่สามารถ(คนเชื่อว่าเช่นนั้น) ชื่นชมศิลปะเพราะมันไม่สามารถชื่นชมรูปลักษณ์ด้วยเหตุผล  ศิลปิน-ปัญญาชนใช้เหตุผลพิจารณาวิจิตรศิลป์และทำให้เกิดหนังสือดีๆหลายเล่มในยุคนั้น  เช่นเลโอนารโดเขียนเกี่ยวกับจิตรกรรมและอื่นๆ  อัลแบรติเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม  ดูราร์(Dürer) เกี่ยวกับเรขาคณิต ทัศนมิติและสัดส่วนของมนุษย์  ทั้งหมดพิจารณาศิลปะด้วยสติปัญญา 
              นอกจากตระกูลเมดีชี บุคคลอีกผู้หนึ่งที่ควรกล่าวถึงในยุคกลางนี้คือ เรอเน ด็องจู (René d’Anjou,1409-1480) เมื่อยังทรงเป็นดยุ๊คแห่งเมืองอ็องจู (Anjou)ในฝรั่งเศสนั้น ประทับอยู่ที่ตำหนักเมืองอ็องเจส์ (Angers) ต่อมาทรงย้ายไปประทับที่เมือง เอ๊กซ-อ็อง-โพรว็องซ์ (Aix-en-Provence) ทรงเป็นผู้สนใจใฝ่รู้เรื่องปฐพีศาสตร์  การเพาะปลูกองุ่น และคลั่งไคล้สวนยิ่งกว่าสิ่งใด  ได้ปลูกสวนไปทั่วทั้งจังหวัด  ถึงกับนำกุหลาบจากภาคใต้ฝรั่งเศสมาเพาะเลี้ยงได้สำเร็จที่เมืองอ็องจู  ทำให้เมืองนี้ได้สมญานามว่า เป็น สวนของประเทศฝรั่งเศส (jardin de la France)  ในปี 1471 ทรงย้ายไปพำนักในมณฑลโพรว็องซ์ (Provence)  อันเป็นดินแดนที่อุดมพืชพรรณมากที่สุดในฝรั่งเศส   เมืองนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ใกล้ประเทศอิตาลี  ฝรั่งเศสและอิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการค้า มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและศิลปะ  ไม่ไกลจากเมืองโพรว็องซ์ มีเมืองอาวีญงที่เคยเป็นที่ตั้งของสำนักสันตะปาปาในศตวรรษก่อน  แม้ว่าเรอเน ด็องจูได้สร้างหนี้สินไว้มากในรัชสมัยของพระองค์  พระองค์ยังคงสร้างสรรค์สวน จัดงานเลี้ยง  เทศกาลประลองยุทธ์บนหลังม้า และทดลองปลูกพืชพรรณตลอดชีวิตของพระองค์   สวนที่พระองค์ทรงเนรมิตขึ้นหายสูญไปนานแล้ว  แต่ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ในฐานะของ กษัตริย์คนดี ยังไม่เลือนหายไป ทิ้งเป็นความทรงจำไว้ในนิทานพื้นบ้านที่นั่น  (ในนิทานพื้นบ้านมีบทพรรณนาสวน พรรณนาธรรมชาติ และภูมิประเทศป่าเขารวมอยู่ด้วยเสมอ)   เล่มที่รู้จักกันมากที่สุดคือ Le Livre du coeur d’amour épris (ที่แปลได้ว่า หนังสือจากใจที่มีความรักเข้าจับจิต) ที่เป็นบทเขียนเกี่ยวกับโลกียวัตรตามรสนิยมยุคนั้น  สื่อให้เห็นอย่างชัดเจนถึงอารมณ์ไหวอ่อนโยนของพระองค์ที่มีต่อธรรมชาติ  เป็นรสนิยมตามสมัยของพระองค์ก็จริง แต่มีจิตสำนึกและวิสัยทัศน์ไกลกว่าคนร่วมยุคมากนัก 
เอกลักษณ์ของแบบสวนอิตาเลียน
         สวนยุคกลางเคยเป็นงานของสตรี และของนักบวช ผู้ดูแลต้นไม้แต่ละต้นแต่ละชนิดอย่างดีเพราะคุณค่าทางยาและคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ในศาสนาของมัน   สวนเรอแนสซ็องส์เป็นความภาคภูมิใจของผู้ชาย  เป็นผลงานของศิลปะหลายแขนง  ของการศึกษาวิจัยที่รวมสถาปัตยกรรม ภูมิประเทศและสังคมเข้าเป็นองค์ประกอบ   ปัญญาชนยุคนั้นยกย่องศิลปะและปรัชญาของโลกโบราณในขณะเดียวกันก็เชื่อมการออกแบบสวนและสถาปัตยกรรมกับมานุษยคติ    ในยุคกลางศาสนาครอบงำปรัชญาและกำหนดควบคุมแบบสวนที่สร้างตามวัดอารามวิหาร   ปรัชญาเรอแนสซ็องส์ยึดเหตุผลเป็นเครื่องมือค้นหาความจริงแทนการเป็นสิ่งค้ำจุนศรัทธา    มานุษยนิยมพัฒนาขึ้นจากการยึดบุคลิกของมนุษย์ เห็นความสำคัญและคุณค่าของเอกบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ   พื้นฐานดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงของประวัติศาสตร์ในฐานะที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในสังคมซึ่งโดยปริยายเชื่อมกับความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคนิคทั้งหลาย  ในแง่นี้มานุษยนิยมเป็นระบบการเรียนการสอนแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อศิลปะทุกแขนงและความรู้ทุกประเภท
        จากสวนปิดล้อมที่มุ่งเข้าสู่ภายใน[8]สำหรับสตรีและเด็กในยุคกลาง  ชนชั้นสูงสร้างสวนในวัง ในคฤหาสน์ตามแบบสวนบรรพบุรุษชาวโรมัน  แบบสวนที่เปิดออกสู่นอกรั้วที่อัลแบร์ติเป็นผู้ริเริ่มขึ้น  ทำให้ปราสาทเก่าเช่น กาเร็จจี เปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นวิลลาที่ภูมิฐานน่าอภิรมย์  ในต้นยุคเรอแนสซ็องส์นี้สวนยังคงอยู่ใกล้ตัวเมือง  ต่อมาเมื่อสภาพการณ์บ้านเมืองสงบและปลอดภัยมากขึ้น  จึงเริ่มสร้างวิลลาตามป่าและเนินเขานอกเมือง  เอื้ออำนวยให้ชนชั้นมีเงินหลบความจำกัดภายในตัวเมืองที่จอแจหรือหนีภัยโรคระบาดไปอยู่ในที่สะอาดกว่า อากาศบริสุทธิ์กว่า เย็นสบายร่มรื่นกว่า  เช่นวิลลาของโกซีโมอีกแห่งหนึ่งที่กัซเต็ลโล (Castello) นอกเมืองฟลอเรนส์  จากเฉลียงที่นั่นมองเห็นทัศนียภาพของเมืองฟลอเรนส์ เช่นเห็นโดมของมหาวิหารได้ชัดเจนจนพูดได้ว่าโดมนั้นกลายเป็นสิ่งประดับสิ่งหนึ่งของสวน  แม้สวนจะยังคงมีรั้วล้อมรอบ แต่ทัศนียภาพนั้นเปิดกว้างออก  วิลลาแต่ละแห่งของตระกูลเมดีชีป็นต้นแบบของสวนเรอแนสซ็องส์   
         การออกแบบสวนในที่สุดเข้าเป็นแขนงหนึ่งในสถาปัตยศิลป์   ยุคนี้เช่นกันที่มีการสร้างที่อยู่อาศัยในแบบหมู่บ้านจัดสรร(estate)นอกกรุงโรม  สร้างสวนป่าล่าสัตว์  รูปปั้นของทวยเทพถูกนำกลับขึ้นไปตั้งบนแท่นอีกครั้งหนึ่ง   มีการขุดซากสวนโรมันเก่าๆและเข้าสำรวจอย่างละเอียดลออ  พืชพรรณสะสมเชื่อมความสนใจเชิงวิทยาศาสตร์กับเชิงศิลปะ   การใช้พื้นที่เฉลียงระเบียงและต้นไม้ดัดที่ปลีนี (Pliny,23-49) ชื่นชอบมาก ถูกนำกลับมาจัดทำจัดแสดงกันอีก   ความสนใจเกี่ยวกับสวนเกิดขึ้นพร้อมๆกับการพิมพ์หนังสือเรื่อง ความฝันของโปลีฟีลูซ (The Dream of Polyphilus  กลางศตวรรษที่15)  เชื่อกันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนของนักบวชคนหนึ่ง  แต่เนื้อหาเกี่ยวกับความลุ่มหลง ความรักใคร่ที่อยู่เบื้องหลังภาพลักษณ์ของสวนและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมนั้น ทำให้ไม่น่าจะเป็นไปได้   ในหนังสือยังมีแบบ สวนปม- knot garden[9] ที่เป็นเอกสารภาพที่เก่าที่สุด   สองร้อยปีต่อมา แบบสวนปมเป็นแนวนำไปสู่การสร้างสวนป่าศักดิ์สิทธิ์ในประเทศอังกฤษ [10]  
        คณิตศาสตร์ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานของการรับรู้และการแสดงออก(เป็นภาพ เป็นคำพูดฯลฯ)  เป็นพื้นฐานของทฤษฎีการสร้างทัศนมิติด้วยเส้นตรง  ทฤษฎีนี้เริ่มขึ้นในยุคเรอแนสซ็องส์ และเป็นทฤษฎีที่เชื่อมจิตรกรรมกับโครงการก่อสร้างต่างๆ    ธรรมชาติถูกมองว่าเป็นระบบตามแนวคณิตศาสตร์  พระเจ้าเองเป็นนักคณิตศาสตร์ (มีภาพวาดแสดงพระผู้เป็นเจ้าถือวงเวียนกำลังก้มๆเงยๆกับการกำหนดพื้นโลก)   ตั้งแต่ปี1415 ชาวอิตาเลียนย้อนกลับไปศึกษาค้นคิดและทำความเข้าใจใหม่กับผลงานของวีทรูวีอุซ  แปลงานของยูกลิด (Euclid นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก มีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษปีที่ 3 ก่อนคริสตกาล) จากภาษาอาระบิคเป็นภาษาละตินในปี 1482  ทำให้นักออกแบบเข้าใจเรขาคณิตที่ว่าด้วยการใช้วงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัส อัตราส่วนและรูปแบบเรขาคณิต(Golden Section) ตลอดจนการใช้หลักการของทัศนมิติเพื่อจัดวางตำแหน่งของอาคารและองค์ประกอบอื่นๆในสวน  การเข้าใจและเข้าถึงทฤษฎีเรขาคณิตของยูกลิด ทำให้สามารถนำศาสตร์นี้มาปรับใช้ในการสร้างสรรค์ทุกประเภท  ผังเมืองยุโรปที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดกำหนดขึ้นในยุคเรอแนสซ็องส์นี้ 
         ในอิตาลี ตั้งแต่สันตะปาปานิกอลัซที่ห้าเป็นต้นมา  คริสต์ศาสนาต้องการให้กรุงโรมเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะโรมต้องเหนือกว่าเมืองฟลอเรนส์   เมื่อจีอูลียาโนที่สอง (Giuliano II) ขึ้นเป็นสันตะปาปา (1503-1513) ได้มอบหมายให้บรามันเตออกแบบสร้างมหาวิหารเซ็นต์ปีเตอร์ขึ้นใหม่ (ชื่อในภาษาอิตาเลียนว่า ซัน ปิเยโตรฺ -San Pietro)  ให้มิเกลอันเจโลประดับจิตรกรรมเฟร้สโก้สบนเพดานของวัดซิสติน (Sistine Chapel)  และให้รัฟฟาเอลโลประดับห้องชุดส่วนตัวภายในสำนักวาติกัน   สันตะปาปาให้รวบรวมประติมากรรมโบราณมาประดับไว้ที่กรุงโรม  นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันสลายตัวลงเมื่อพันปีก่อนหน้านั้น   ประติมากรรมเทพกรีกทั้งหลายที่เคยเป็นรูปบูชาของพวกนอกรีต  ถูกคริสต์ศาสนานำมาใช้ใหม่โดยเปลี่ยนนัยความหมายดั้งเดิมของรูปปั้นเหล่านั้นให้เป็นภาพลักษณ์เชิงอุปมาอุปมัยของคุณธรรมที่คริสต์ศาสนาเชิดชูและต้องการปลูกฝังแทน เช่นเทพวีนัสมาเป็นตัวแทนของชีวิตที่ผูกพันอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียง  ที่ตรงข้ามกับชีวิตของจิตวิญญาณที่ใฝ่การสวดมนต์ภาวนาและการตรึกตรอง  ประติมากรรมรูปปั้นทั้งหมดดึงดูดให้ผู้คนไปยังกรุงโรม   บรามันเตออกแบบตำหนักเบลเวเดเร (Belvedere, ราวปี1505) เพื่อเป็นที่ตั้งประติมากรรมรูปปั้นกรีกโรมันทั้งหลายให้ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อกัน   แบบแปลนของที่นั่นเป็นแบบมาตรฐาน แบบอ้างอิงของการออกแบบสวนในยุโรปต่อมาอีกสองร้อยปี  นักประวัติศาสตร์ศิลป์แนะให้คิดว่า  แบบแปลนที่บรามันเตเนรมิตขึ้นนั้น มีลานสวนของตำหนักเบลเวเดเรทอดลงตามไหล่เขาไปเชื่อมกับตำหนักใหญ่ของพระราชวังวาติกัน  เลียนแบบแปลนของสวนป่าศักดิ์สิทธิ์ในยุคโบราณ  
          สถาปัตยกรรมถ้ำ เป็นมรดกจากอารยธรรมโบราณ ที่ผนึกความลึกลับและความมหัศจรรย์ของเทพตำนานไว้ภายใน   สถาปนิกสร้างถ้ำเลียนแบบถ้ำธรรมชาติเช่นถ้ำที่เคยใช้เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ในสวนกรีกโรมัน  อัลแบร์ติ แนะนำว่าควรมีถ้ำเป็นองค์ประกอบของสวนด้วยเพื่อแทรกบรรยากาศของ ความขรึม ความขลังและความลึกลับ เข้าไปในพื้นที่สวน   ถ้ำใหญ่อันลือชื่อ ลา กร็อตตา กรันเด(la Grotta Grande,1583-1593) ในอุทยานโบ๊โบลี (Boboli) ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประกอบด้วยถ้ำย่อยๆภายในสามถ้ำ  เส้นทางภายในนำไปสู่รูปปั้นของเทพวีนัสที่เป็นผลงานของ จีอัมโบลอญา(Giambologna) ส่วนด้านนอกมีรูปปั้นของทาสสี่คนฝีมือของมิเกลอันเจโลตั้งไว้เหมือนเป็นผู้เฝ้าถ้ำ
         สวนแบบอิตาลีเพิ่มมิติของความยิ่งใหญ่และความโอ่อ่ามากขึ้นๆ จนออกห่างไกลจากอุดมการณ์เริ่มต้นของอัลแบร์ติ ที่ต้องการเน้นความสุขสงบแบบเรียบง่ายในธรรมชาติมากกว่า  ว่า สวน เป็นที่พักผ่อน ที่คนสามารถหาความสุขสำราญตามลำพัง  อย่างไรก็ตาม  มีหย่อมสวนหนึ่งในบริเวณสวนเรอแนสซ็องส์ ที่เรียกกันว่า สวนลับ (il giardino segreto)  ที่อาจสื่อแง่คิดตามอุดมการณ์ของอัลแบร์ติได้บ้าง  สวนลับนี้เหมือนมรดกที่เหลือมาจากแบบสวนยุคกลาง ในแง่ที่เป็น มุมเขียว มุมสงบ  เป็นสวนที่มักกั้นและแยกออกต่างหาก แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กว้างใหญ่ของวิลลาแต่ละแห่ง   สวนลับแบบนี้อาจมีขนาดเล็กๆเช่นที่มีในอุทยานวิลลาลั้นเต (Lante)  หรือเป็นสวนลับสุดวิเศษที่มีป่าทึบกั้นแยกออกจากตำหนักภายในเช่นที่ วิลลาฟารเนเซ (Villa Farnese) ที่สถาปนิกชาวอิตาเลียนเจียโกโม วีญลา (Giacomo Vignola,1507-1573) เนรมิตไว้ (ระหว่างปี 1547-59  ที่ ปรารอลา(Caprarola) ใกล้เมืองวีแต๊ร์โบ(Viterbo)ในอิตาลี   เดิมตรงนั้นเป็นป้อมปราการทรงห้าเหลี่ยม  คฤหาสน์ใหญ่ของวิลลานี้ มีสวนฤดูหนาวและสวนฤดูร้อนขนาบคนละข้างของอาคารใหญ่ที่มีขนาดมหึมา และมี สวนลับ ที่งามเลิศที่สุดในยุโรปอยู่ไหล่เขาตอนล่าง มีป่าทึบปิดกั้นไว้จากบริเวณคฤหาสน์หลังใหญ่  เขาสร้างธารน้ำตกเป็นแนวยาวและให้ไหลลงเป็นแนวตั้งชันประดับสวน มีประติมากรรมรูปปั้นหินในท่ายกแจกันทูนหัวไว้ ประดับเรียงกันเป็นแนวตลอดสามด้านของสวน  ด้านที่เหลือคือด้านที่เปิดสู่ภูมิประเทศที่ทอดข้ามออกนอกพรมแดนสวน   วีญอลารู้จักนำทัศนมิติแบบเวทีละครกรีกโบราณมาใช้ในการเนรมิตแปลนสวน       
         การเนรมิต สวนวงกต ด้วยต้นไม้ (labyrinth)ก็เริ่มขึ้นในยุคเรอแนสซ็องส์ด้วยเช่นกัน  เป็นผลพลอยได้จากความเข้าใจผิดของอัลแบร์ติ ที่เชื่อว่าสวนโรมันในสมัยก่อนนั้นมีการประกอบสวนเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่วนไปวนมาเป็นวงกต    ความจริงการเนรมิตสวนวงกตนั้น สืบมาจากเทพตำนานกรีกโบราณ[11]  ชาวโรมันรับมาเป็นแบบประดับในการปูแผ่นกระเบื้องเคลือบ หรือในการเนรมิตโมเสค หรือเป็นแบบประดับจิตรกรรมเฟร้สโก้    ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 15  สวนอิตาเลียนต่างมีสวนวงกตแทรกเข้าเป็นส่วนหนึ่งด้วยเสมอ   ที่วิลลาเดซเต้ (Villa d’Este) มีไม่ต่ำกว่าสี่แห่ง (ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เปลี่ยนเป็นพื้นที่แบบเรียบง่าย)   ในศตวรรษที่16 นั้นต้นไม้ที่ปลูกเป็นรั้วเป็นกำแพงเพื่อทำสวนวงกตยังมีความสูงไม่มากนัก สูงขนาดแค่หัวเข่าเป็นส่วนใหญ่   ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ความสูงของแนวต้นไม้เพิ่มขึ้นมาก สูงกว่าความสูงเฉลี่ยของคน เช่นสวนวงกตที่เนรมิตขึ้นในราชอุทยานแวร์ซายส์ (1667)ในฝรั่งเศสตามแบบแปลนสวนของชาลส์ แปร์โรต์ (Charles Perrault) หรือที่เนรมิตขึ้นภายในราชอุทยานแฮมตันคอร์ต (Hampton Court,1699) ที่ประเทศอังกฤษ   เมื่อสวนวงกตมีแนวกำแพงต้นไม้ที่สูงขึ้นมาก  สวนกลายเป็นเวทีของการเริงรมย์เล่นรักระหว่างชายหญิงที่วิ่งไล่กันอย่างสนุกสนานและหลบเข้าอยู่ในสวนวงกตให้พ้นสายตาผู้อื่น  การเนรมิตสวนปม (knot garden)ในอังกฤษ ก็มาจากหลักการทำสวนวงกตนั่นเองเพียงแต่อยู่ระดับเรี่ยพื้นดิน  มีแนวพุ่มไม้เกี่ยวสอดไขว้ไปมาสลับกับพื้นสวน  ส่วนชาวคริสต์รับมาเป็นสัญลักษณ์ของความลำบากในการฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อบรรลุสู่สวนสวรรค์ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า   สถาปัตยกรรมโบสถ์ได้สร้างสรรค์เขาวงกตลงบนพื้นทางเดินตลอดลำตัวโบสถ์ (nave)  หรือที่ชาวอังกฤษในยุคกลางตัดเป็นลวดลายเขาวงกตลงบนพื้นสนามหญ้า   ไม่ว่าแบบใดในความหมายของศาสนา สื่อความยากลำบากในการเข้าสู่เมืองเยรูซาเล็มสวรรค์  หรือในแง่ความเป็นมนุษย์ คือความลำบากในต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการเพื่อการมีชีวิตที่ผาสุกเบิกบานใจ
         ในปลายศตวรรษที่15  สวนที่สร้างขึ้นในอิตาลีมีลักษณะสำคัญดังนี้คือ 
๑)  รั้วต้นไม้ที่ตัดเรียบเสมอกัน  ปลูกต้นไม้ใหญ่ๆจำนวนมาก  เอกลักษณ์เด่นของสวนคือความเขียวของสวนทั้งหมด  ไม่มีแปลงดอกไม้  ในยุคเรอแนสซ็องส์ดอกไม้มิได้เป็นองค์ประกอบของสวนอิตาเลียน (ในยุคหลังๆ คนเริ่มแทรกพันธุ์ไม้ดอกหลากสีสันโดยปลูกรอบสระน้ำเป็นต้น)
๒)  พื้นที่สี่เหลี่ยม เป็นสัดส่วนแบบเรขาคณิตที่สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมของตำหนัก จนกล่าวได้ว่าสวนเป็นตำหนักที่ยื่นออกนอกหลังคา  ใช้พุ่มไม้พันธุ์เขียวตลอดปีตัดเล็มเตี้ยๆเป็นแถวเป็นแนวหรือแบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆ   
๓)  มีเส้นทางสายใหญ่เป็นแกนกลางของพื้นที่   สวนและสถาปัตยกรรมเป็นองค์ประกอบของกันและกันอย่างสมบูรณ์   มีบันไดกว้างใหญ่เชื่อมลานระเบียงเทอเรสที่ต่างระดับกัน  มีโรงละครภายในสวน  มีการใช้รูปปั้นคลาซสิกจากยุคโบราณมาประดับ  มีมุมสระน้ำพุหรือบ่อน้ำ (ในอดีตที่ผ่านมาสระน้ำหรือบ่อน้ำพุเป็นจุดศูนย์กลางของสวน แต่ในยุคเรอแนสซ็องส์ ศูนย์กลางของสวน คือ ยอดโดมของมหาวิหารเซ็นต์ปีเตอร์แทน)
              น่าเสียดายว่าในศตวรรษที่สิบหก  สวนแบบนี้ตกเป็นเหยื่อของกระแสการปฏิรูปศาสนาข้างเคียง (the counter-reformation) เมื่อลัทธิโปรเตสแตนต์เข้ามาท้าทายลัทธิคาทอลิก  ทำให้ฝ่ายศาสนานิกายโรมันคาทอลิกตื่นตัวและกระชับความเข้มงวดของกฎระเบียบต่างๆ   วิญญาณเสรีของสาธารณรัฐโรมันในอดีตและวิญญาณเสรีในแบบของบ็อกกั๊กชีโอ ถูกกลบทิ้งในความมืด   การประดับสวนที่เหมือนดั่งการจัดฉากละครและการใช้รูปปั้นจากเทพตำนานทั้งหลายยุติลง  สันตะปาปาปีอุซที่ห้า(Pius V,1565) สั่งให้สร้างอาคารหอสมุดวาติกันภายในสวนเบลเวเดเร ทำลายแบบแปลนสวนที่บรามันเตสร้างไว้อย่างน่าเสียดาย   สวนอื่นๆที่สถาปนิกผู้นี้เป็นผู้ออกแบบก็ถูกทำลายไปเช่นกัน   ผลงานที่ยังสะท้อนให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบรามันเตนั้น ต้องออกไปดูที่วิลลา ดี กัซเตลโล(Villa di Castello)ชานเมืองฟลอเรนส์และที่วิลลาลั้นเต้(Lante ใกล้เมืองวีแตร์โบ-Viterbo ในจังหวัดบาญ้าเยีย-Bagnaia ทางเหนือของกรุงโรม) 
 Fontana dell'Ovato ที่ Villa d'Este หนึ่งในความสุดยอดของระบบกลไกน้ำตกน้ำพุ
 Fontana Trionfale ที่ Villa Lante สะท้อนความเป็นหนึ่งของสถาปัตยกรรมสวนอิตาเลียน
เป็นทั้งความมั่นคงและความบริสุทธิ์ของแบบแปลนที่สืบทอดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕
แบบแปลนสวนอิตาเลียนที่ครบทุกรูปแบบและรูปลักษณ์ของสวนอิตาเลียน
ที่เป็นโครงการอุทยานขนาดมหึมาของปราสาทที่ Heidelberg ประเทศเยอรมนี 
น่าเสียดายว่าหายสูญ เสื่อมสลายไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงบางส่วน บูรณะกันไม่ไหว
               การเนรมิตสวนมีต่อเนื่องกันมาในทุกยุคทุกสมัย เป็นพยานหลักฐานแห่งการแสวงหาความสุขของคน  และอุดมการณ์แห่งความสุขของชาวตะวันตก คือการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติอันเขียวชอุ่ม มีอาหาร ผลไม้ ดอกไม้ ต้นไม้ น้ำใสสะอาด อากาศดี ภูมิประเทศสวยงามแบบต่างๆ  ในที่สุดคือการได้อยู่ในสวนสวรรค์บนดิน  แบบสวนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยสื่อการค้นหาสวนสวรรค์ที่ดีกว่า ที่ดีที่สุด ที่มีความหมายมากที่สุดและที่ตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละยุคสมัยมากที่สุด  เพราะสิ่งเดียวที่ยืนหยัดในมโนสำนึกของคนคือ ความกระหายอยากมีความสุขในชีวิตบนโลกนี้ 

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำมาลงไว้ณวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๗.
-------------------------------------
[1] บทความนี้แก้ไขและตัดตอนย่อมาจากบทความชื่อ กำเนิดสวนอิตาเลียนในยุคเรอแนสซ็องส์ ที่ลงพิมพ์ในวารสารยุโรปศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน2453 หน้า 124-165 ที่พิมพ์ตกๆหล่นๆ และมีคำที่ถูกแก้ให้ผิดๆเพี้ยนๆไปจากต้นฉบับจำนวนมาก
[2]  โฮเมอร์(Homer) มหากวีกรีก มีชีวิตอยู่ในราวปีที่ 9 ก่อนคริสตกาล  เป็นผู้แต่งมหากาพย์ Iliad และ Odyssey ที่เล่าตำนานเทพโบราณ  ระบบการศึกษาในยุโรป จัดวรรณกรรมของโฮเมอร์เป็นหนังสือที่ต้องอ่าน  จนถึงยุคปัจจุบัน เนื้อหาและตำนานต่างๆที่เล่าไว้ ได้มาเป็นเนื้อหาของภาพยนตร์หลายเรื่อง  เพราะตำนานของทวยเทพ สะท้อนธรรมชาติเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์  เทพต่างๆ เป็นตัวแทนของธรรมชาติมนุษย์แบบต่างๆ  การต่อสู้  การเอาชนะสำนึกที่ใฝ่ต่ำ การกระชับคุณธรรม เป็นต้น
[3]  โอวิด(Ovid) กวีละตินผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 43 ก่อนคริสตกาลถึงปีคศ.17- 18  มีผลงานเขียนที่เขย่าสังคมโรมยุคนั้น เช่นศิลปะแห่งความรัก  การเยียวยาความรัก  บทละครโศกนาฏกรรม  กลอนโศก  กลอนรักเป็นต้น โดยมีตัวละครเป็นเทพต่างๆในตำนานกรีกโรมัน  หนังสือที่โด่งดังที่สุดของเขาคือเมตามอร์โฟซิส (Metamorphoses) ที่หมายถึงการปลอมแปลงตัว  เป็นหนังสือคำกลอนเล่าตำนานของทวยเทพ  รวมเป็นชุด 15 เล่ม  จนถึงยุคของโอวิด(ปราชญ์ละตินคนแรก) งานเขียนในยุคโบราณเป็นงานเขียนของปราชญ์ชาวกรีกโบราณทั้งหมด  งานเขียนของโอวิดเช่นเดียวกับงานเขียนของโฮเมอร์ เป็นวรรณกรรมอมตะมาจนถึงทุกวันนี้  
[4]  วรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง เลอ โรม็อง เดอ ลา โรซ (Le Roman de la Rose, c.1237)  มีเนื้อหาสานเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างศรัทธาในศาสนา  ความเป็นอัศวิน  สวนและอารมณ์รักใคร่  หนังสือเล่มนี้กระตุ้นจินตนาการเกี่ยวกับขุมทรัพย์ที่ปิดซ่อนอยู่ภายในกำแพงเมืองและภายในรั้วสวน   ผู้รู้จักอ่านได้รู้วิธีเกี้ยวพาราสีและวิธีครองใจสตรี ในสำนวน เด็ดดอกกุหลาบ-plucking the rose”ที่ใช้ในเรื่องนี้   ในยุคกลาง สัญลักษณ์ศาสนาสิงและอิงแอบอยู่ในรูปลักษณ์ที่สื่อความรักความใคร่   ศาสนาและอารมณ์รักใคร่ดูจะควบคู่กลมกลืนกันดี  เปรียบได้กับความงามของดอกไม้ที่เข้าจับจิตวิญญาณได้ลึกซึ้งกว่า   นักวิจารณ์ต่างเห็นตรงกันว่า หนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนสมัยนั้นอย่างมิมีอะไรเทียบได้เลย  ในยุคศตวรรษที่13 สภาพการณ์สังคมมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการสร้าง สวนรัก ดังกล่าว ซึ่งมักอยู่ใกล้ปราสาท ในเมือง หรือตามอารามนักบวช
[5]  อัลแบร์ติ(Alberti) เป็นสถาปนิกและนักมานุษยวิทยาชาวอิตาเลียน มีผลงานเขียนมากมายทั้งด้านศีลธรรม  ภาษา(เป็นผู้เขียนตำราไวยากรณ์อิตาเลียนเล่มแรก)  ฟิสิกส์  คณิตศาสตร์  วรรณกรรม  จิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม จนได้สมญาว่าเป็น “universal man” หรือปราชญ์ครอบจักรวาล   ด้านสถาปัตยกรรม เขากล่าวไว้ว่า สถาปัตยกรรมเป็นศิลปะสูงสุดของการวางผังเมือง  อนุสาวรีย์เป็นเสมือนมวลชีวภาพที่ทุกอณูกลมกลืนเข้ากับอณูอื่นๆเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเหมาะเจาะเหมือนโน๊ตดนตรีแต่ละตัวในบทซิมโฟนี
[6]  วีทรูวีอุซ(ชื่อเต็มว่า Marcus Vitruvius Pollio, มีชีวิตในราวศตวรรษที่1ก่อนคริสตกาล) เป็นสถาปนิกชาวโรมัน และเป็นวิศวกรประจำกองทัพของซีซาร์ ) งานเขียนของเขาเรื่อง De Architectura เป็นฐานความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมกรีกโบราณ ทั้งระบบสัดส่วน ความสมดุล การจำแนกประเภทและการแบ่งยุคของสิ่งก่อสร้างโบราณ  ทั้งยังเป็นเอกสารลายลักษณ์เกี่ยวกับทฤษฎีสถาปัตยกรรมโบราณเล่มเดียวที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้  ที่ยังคงเป็นเอกสารศึกษาอ้างอิงอย่างแพร่หลายในยุคเรอแนสซ็องส์   เขาสอนว่า เลขสี่ เป็นเลขของคน เพราะว่าหากคนยืนตัวตรงกางแขนยกขึ้นเสมอไหล่ และเหยียดตรงออกไปสองข้างลำตัว  ความยาวระหว่างปลายนิ้วมือขวาถึงปลายนิ้วมือซ้าย เท่ากับความสูงของร่างกายเขา   อัตราส่วนสัมพัทธ์จากร่างกายคนเป็นมาตรการวัดและขยายพื้นที่ในศิลปะการสร้างโบสถ์ และอาศัยรูปลักษณ์พื้นฐานทางเรขาคณิต คือ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม  แปดเหลี่ยมและวงกลม รวมกันเป็นมาตราวัดที่สมบูรณ์   
[7]  Medici (ชื่อนี้ออกเสียงในภาษาอิตาเลียนว่า [เม้ดิชี]  และออกเสียงในภาษาฝรั่งเศสว่า [เมดีซิส] และมีอักษร s เติมเข้าไปด้วยเพื่อเน้นโยงไปถึงบุคคลหลายๆคนในตระกูลนี้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ฝรั่งเศส)   ตระกูลนี้มีรกรากที่เมืองฟลอเรนซ์ และมีบทบาทสำคัญในการนำแบบสวนอิตาเลียนเข้าสู่ฝรั่งเศส เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่สองกษัตริย์ฝรั่งเศสเศกสมรสกับ Catherine de Médicis (1519-1589) พระนางให้เนรมิตสวนจาร์แด็ง เด ตุยเลอรีส์(Jardin des Tuileries) และบูรณะปรับปรุงสวนที่ฟงแตนโบฺล (Fontainebleau) และพระตำหนักที่ มงโซ(Monceau)  พระนางเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปวิทยาในฝรั่งเศส   ส่วนพระนาง Marie de Médicis (1573-1642) มเหสีของพระเจ้าเฮนรีที่สี่ ทรงคิดถึงพระราชวังปิตตี (Pitti) และอุทยานโบ๊โบลี (Boboli) ที่เมืองฟลอเรนซ์ จึงทรงให้ Salomon de Brosse  เนรมิตพระราชวังและสวน Luxembourg  กลางเมืองปารีส  พระนางเป็นผู้อุปถัมภ์จิตรกรรูเบินส์(Peter Paul Rubens, 1577-1640) ผู้เนรมิตจิตรกรรมขนาดใหญ่เต็มฝาผนัง เสนอภาพชีวิตของพระนางในแนวอุปมาอุปมัยรวมกันทั้งหมด 21 ภาพ (แล้วเสร็จในปี 1625)  ประดับพระตำหนัก Palais de Luxembourg กลางเมืองปารีส   Rubens ได้ชื่อว่าเป็นจิตรกรคนสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 17  ผลงานของเขาสื่อพลังอำนาจที่มาจากการประสานมิติด้านสติปัญญากับมิติด้านความรู้สึก และรวมมิติแนวคลาซสิกกับมิติแนวโรแมนติคให้เข้ากันได้อย่างมีศิลป์    ตลอดสองศตวรรษต่อมาผลงานของเขายังคงมีอิทธิพลต่อศิลปินเช่น ฌ็อง-อ็องตวน วาโต(Jean-Antoine Watteau) ในต้นศตวรรษที่18 และเออแจน เดอลาครัวส์(Eugène Delacroix)  กับ ปีแยร์ โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre Auguste Renoir) ในศตวรรษที่ 19   
[8] วนยุคกลางเป็นสวนแบบ hortus conclusus [ออรฺตุซ กงกลูซุส] มีกำแพงปิดล้อม สูงและแน่นหนา เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว แบบสวนยึดตัวอาคารบนพื้นที่เป็นจุดกลาง
[9] การทำสวนปม - knot garden ปรากฏเป็นครั้งแรกในศิลปะของซูเมเรีย  ในศิลปะอิสลามและในศิลปะการทอพรมและการทำสวนของอิสลาม (แม้จะไม่มีพรมอิสลามดังกล่าวเหลือมาให้เห็น) และถูกนำมาเป็นแบบประดับในศิลปะโรมัน   การทำสวนปมแพร่หลายกันแล้วในจักรวรรดิโรมันตอนปลาย  ศิลปะนี้คงได้ทำสืบกันตลอดมาในยุคกลางแม้จะไม่มีเอกสารหรือภาพใดๆยืนยันจนถึงศตวรรษที่15  เพราะไม่น่าเป็นไปได้ที่การปลูกสวนปมดังกล่าวจะหายไปหลังจากยุคโรมัน แล้วมาโผล่ขึ้นในยุคเรอแนสซ็องส์ข้ามช่องโหว่ของกาลเวลามา  ในศตวรรษที่17  คำว่า “knot garden” เป็นคำสามัญที่ใช้เรียกสวนสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีแนวต้นไม้เตี้ยๆตัดเรียบตรงเสมอกัน มีทราย กรวด (ต่อมาเพิ่มดอกไม้สีๆ) ประดับระหว่างช่องว่างของลวดลาย  สวนปมเป็นองค์ประกอบของสวนทั่วไปทั้งของวิลลาหรือของปราสาท   
[10]  วิลเลียม เค้นต์ (William Kent, 1685-1748) เป็นสถาปนิกสวนชาวอังกฤษ ผู้สร้างสรรค์แนวการปลูกสวนแบบ picturesque ในประเทศอังกฤษ เป็นแบบสวนที่มองสวยดั่งภาพจิตรกรรม ดั่งภาพทิวทัศน์ฝีมือของ โกล้ด ลอแร็ง(Claude Lorrain)  สวนแบบนี้ออกจากกรอบความสม่ำเสมอของสวนแบบฝรั่งเศส  เล่ากันว่าวิลเลียม เคนต(William Kent) มีสำเนาของหนังสือเรื่อง ความฝันของโปลีฟีลูซ หลายฉบับ 
[11]  เป็นตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์มีนอส(Minos) เล่าถึงมีโนตอร์(Minotaur) ว่า เกิดจากการร่วมรักระหว่างพระราชินีกับวัวกระทิงเผือกที่เทพเจ้าโปเซยดน (Poseidon)  ส่งไปกำนัลแก่มีนอส  มีโนตอร์ เกิดมามีร่างครึ่งคนครึ่งวัวกระทิง เป็นที่อับอายและขุ่นเคืองแก่แผ่นดิน  กษัตริย์จึงสั่งให้แดดาลุซ(Daedalus, ชื่อนี้มาเป็นคำ dédale ในภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึง labyrinth)  สถาปนิกของพระองค์เนรมิตที่อยู่ให้ลูกชายบนเกาะครีต (Crete) ให้อยู่ในดงสลับซับซ้อนยากแก่การหนีออกมา  เช่นนี้มีโนตอร์ก็ปลอดหูปลอดตาจากผู้คน  พระองค์จัดการส่งหนุ่มสาวชาวอาเธนส์เข้าไปให้เป็นอาหาร  ความสลับซับซ้อนของแปลนที่อยู่นี้ จึงเป็นที่มาของสถาปัตยกรรมเขาวงกต  การใช้คำ วงกต ในคำไทยเน้นความซับซ้อนของพื้นที่มากกว่า และที่เรียกต่อกันมาว่า labyrinth หรือ maze.