Saturday 23 August 2014

เมืองเล็กแสนสบายคือ Romanshorn ในสวิสเซอแลนด์


ทะเลสาบที่เชื่อมสามประเทศในยุโรป - Bodensee

Bodensee [โบ๊เดิ่นซี] เป็นทะเสสาบน้ำจืดภายในแผ่นดิน ใหญ่เป็นอันดับสามของยุโรปตอนกลาง (ทะเลสาบ Balaton และทะเลสาบ Geneva ที่กว้างใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ)  เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ในยุคน้ำแข็ง  ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นๆจนกลายเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และฝั่งน้ำขยายออกไปเรื่อยๆตามกาลเวลา    Bodensee มีพื้นที่ประมาณ 571 ตารางกิโลเมตร (หรือ 220 ตารางไมล์)  อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 395 เมตร ยาวประมาณ 63 กิโลเมตรและส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 14 กิโลเมตร  ส่วนที่ลึกที่สุด อยู่ตรงกลางด้านทิศตะวันออก (แถบที่เรียกว่า Obersee [โอ๊บ่าซี]) คือราว 252 เมตร  แม่น้ำไรน์ไหลลงสู่ทะเลสาบนี้ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในบริเวณที่เรียกว่า Obersee ผ่านเมือง Konstanz [คอนสฺตั๊นซฺ] (หรือ Constance ในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส) และไหลออกจากทะเลสาบนี้ที่เมือง Stein-am-Rhein [ฉฺไตนฺอ่ำไรนฺ]  ทะเลสาบนี้ เป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญที่หล่อเลี้ยงเมืองหลายเมืองในภาคใต้ของประเทศเยอรมนี  (เมื่อเห็นภาพแสดงภูมิลักษณะของทะเลสาบนี้ จะเข้าใจทันทีว่า ภูมิทัศน์ที่นั่น มันมีทั้งที่ปลุกให้แกร่งและกล่อมให้คลาย)



Bodensee เป็นทะเลสาบอยู่เนินเทือกเขาแอลป์ด้านทิศเหนือ มีพรมแดนติดต่อกันสามประเทศคือเยอรมนี สวิสเซอแลนด์และออสเตรีย  แต่กฏหมายแบ่งแยกน่านน้ำนี้ เจาะจงพรมแดนเหนือน่านน้ำนี้ ยังตกลงกันไม่ได้ และคงจะตกลงกันยาก  สำหรับเราผู้ไปเยือนต้องยึดฝั่งทะเลว่าอยู่ในอาณาเขตของประเทศใด นั่นคือในเขตของประเทศเยอรมนี เป็นที่ตั้งของรัฐ Bavaria และ Baden-Württemberg  ในอาณาเขตของออสเตรียคือรัฐ Voralberg และในอาณาเขตของสวิสเซอแลนด์คือ เขตเมือง Thurgau, St. Gallen และ Schaffhausen  แม่น้ำไรนไหลลงสู่ทะเลสาบนี้จากทิศใต้ด้านพรมแดนออสเตรียสวิสฯ
           ชื่อ Bodensee เป็นชื่อเยอรมัน ในภาษาสากลอื่นที่เรียกทะเลสาบนี้ใช้ว่า Lake Constance มีบริษัทเดินเรือที่รับส่งผู้โดยสารตามเมืองต่างๆที่อยู่ริมฝั่งทะเลสาบนี้ที่มีมากกว่า 20 เมือง  มีเกาะสำคัญๆอีกสามเกาะ ทั้งสามเป็นของเยอรมนี และทั้งสามก็เป็นเกาะสวรรค์ที่ต่างกันทั้งเอกลักษณ์และความสำคัญทางวัฒนธรรม เกาะเหล่านี้ได้แก่ เกาะ Reichenau, เกาะ Mainau, และเกาะ Lindau  

แผนที่เส้นทางการคมนาคมบริเวณทะเลสาบ Bodensee นี้  เห็นได้ว่า มีเส้นทางรถไฟและเส้นทางเรือที่สะดวกเชื่อมโยงระหว่างเมืองต่างๆรอบทะเลสาบ หรือกับเมืองต่างๆที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินในอาณาเขตของสามประเทศ (เยอรมนี สวิสเซอแลนด์และออสเตรีย)  

ภาพนี้เจาะรายละเอียดที่ตั้งของเมือง (โอกาสหน้าจะนำเสนอ)  ที่ตั้งของ Lindau (เยอรมนี) และ Bregenz (ออสเตรีย) อยู่ปลายด้านขวาของภาพ  เมือง Romanshorn (สวิสฯ จุดกลมสีขาวบนแผนที่) อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมือง Friedrichshafen (เยอรมนี) สามเกาะสำคัญที่สุดในทะเลสาบนี้คือ เกาะ Reichenau [ไฮ้เช่เนา]  Blemeninsel Mainau [มั้ยเนา] และเกาะ Lindau [ลิ้นเดา]  เยอรมนีครอบครองพื้นที่ริมฝั่งทะเลสาบนี้กว้างไกลที่สุด ตามด้วยสวิสฯ แล้วจึงออสเตรียที่อยู่ทางขวาของภาพ   ส่วนสวิสฯ อยู่ฝั่งด้านล่างและเยื้องมาทางขวา  นอกนั้นขึ้นอยู่ในการปกครองของเยอรมนี  ทะเลสาบนี้เป็น “ทะเล” ของชาวเยอรมัน แม้จะไม่มีทางออกทางทะเลจากที่นี่  กลับดีเพราะไม่มีปัญหาคลื่นลมผันผวนหรือภัยของสึนามิ แต่ก็มีภัยจากน้ำล้นทะเลสาบ หากภูเขาน้ำแข็งละลายลงเรื่อยๆ ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อมวลน้ำทั้งหมดของโลกด้วย  ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นประเด็นที่ต้องพยายามยับยั้งไว้ให้ได้  เป็นความเป็นความตายของมนุษยชาติเลยทีเดียว
           สะดวกสุดคือเข้าไปเที่ยวทางเยอรมนี และโดยเฉพาะที่เมือง Konstanz (Constance) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในพื้นที่ทั้งแถบนี้ เฉพาะเมืองนี้ก็มีสิ่งเด่นๆให้ชมมากทั้งสถาปัตยกรรมและสวนจากเมืองนี้มีเรือพาไปเกาะ Reichenau และ Mainau และไม่เสียเวลามากเพราะอยู่ใกล้  ไม่นั่งเรือก็มีรถไฟเชื่อมกับเมืองอื่นๆ เป็นเครือข่ายไม่มีที่สุด   ถ้าไปจากฝั่งออสเตรียเช่นที่เมือง Bregenz  จะเสียเวลามาก เรือก็อาจมีเพียงไม่กี่เที่ยวต่อวัน และค่าเดินทางเรือก็แพงขึ้น  ยกตัวอย่างพอเคร่าๆ  เที่ยวนี้เดินทางไป Mainau จากเมือง Romanshorn ในสวิสฯ เสียค่าเดินทางไปกลับ 48 ยูโร และใช้เวลานานเกือบสามชั่วโมง ทำให้เมื่อไปถึงเกาะ Mainau มีเวลาที่นั่นไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องรีบจับเรือเที่ยวสุดท้ายกลับซึ่งคือตอนบ่ายสี่โมงเย็น  น่าเสียดายเพราะสองทุ่มก็ยังสว่างและเดินเที่ยวบนเกาะไปได้ทั้งเกาะ  หากพักที่เมือง Konstanz ก็อาจกลับเย็นๆได้เพราะมีเรือเดินเชื่อมกันทุกชั่วโมง  ยิ่งฤดูร้อน ยิ่งมีบริการหลายเที่ยว แต่จะกลับฝั่งสวิสฯหรือออสเตรียนั้น จะมีหนึ่งเที่ยวหรือไม่มีเลย อาจต้องไปต่อเรืออีกหลายต่อ ซึ่งอาจใช้เวลานานตรงคอยต่อเรือนี่แหละ  ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองต่างๆที่สนใจ เพียงแค่พิมพ์ชื่อเมืองก็จะมีขึ้นมาให้เห็นภาพและข้อมูลต่างๆหากสนใจจะไปจริงๆ  ไม่ยากเลย   

ในตอนนี้ จะเล่าเพียงการไปค้างที่เมือง Romanshorn [โร้มั่นสฺฮอน] ในสวิสฯ เพราะเป็นเมืองเล็กๆ เดินเล่นริมฝั่ง เป็นการพักผ่อนและพักฟื้นจริงๆ  โรงแรมที่จองได้นั้น ชื่อ Schlosshotel and Restaurant  เขาเจาะจงว่าเป็นห้องเดี่ยวเล็กๆใต้หลังคา แต่มีระเบียงมองเห็นวิวทะเลสาบ ให้เช่าห้องนี้เท่านั้น ราคา 100 CHF ต่อคืน  ห้องเล็กจริงเกือบจะขนาดเท่าห้องเดี่ยวเล็กๆตามเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น แต่ห้องน้ำใหญ่กว่าห้องเดี่ยวในญี่ปุ่นมาก  แล้วยังมีระเบียงส่วนตัวเปิดเห็นทิวทัศน์ 

และเมื่อมองจากหน้าต่าง หรือออกไปยืนดูทิวทัศน์บนระเบียงส่วนตัวของห้องนี้ ก็ยิ่งชอบใจมาก
มองลงจากห้อง เห็นเทอเรสของโรงแรม ที่ใช้เป็นที่จัดเลี้ยง หรือเป็นที่นั่งดื่มนั่งคุย ใต้เทอเรสลงไป เป็นแนวปลูกต้นองุ่น ทำให้นึกถึง พระราชวังไกลกังวลของเยอรมนี ที่ชื่อ Sanssouci เมือง Potsdam นอกกรุงแบร์ลินออกไป (โอกาสหน้าจะนำมาเสนอ เพราะอลังการมาก และเพราะเป็นพระราชวังแห่งเดียวในโลกที่ปลูกองุ่นบนเทอเรสเป็นขั้นๆลาดลงจากตัวพระตำหนักใหญ่ลงตามเนินเขาสู่พื้นล่าง แปลกและสวยอย่างมีระเบียบระบบทีเดียว  ลักษณะดังกล่าวเป็นแบบเดียวกับที่ตั้งของโรงแรมเล็กๆแห่งนี้ในขนาดจิ๋ว ในแง่นี้กระมัง โรงแรมนี้จึงใช้ชื่อเสียหรูว่า Schlosshotel  คำว่า schloss [ฉฺล้อซฺ] แปลว่า ปราสาท ดังที่เห็นห้องหับมิได้หรูหราเหมือนห้องในปราสาท เป็นแบบพอเพียง สะอาด มีวิวดี ที่ตั้งสุดยอด เท่านี้ก็พอใจแล้ว

มองจากห้องไปทางซ้ายเห็นเทอเรสของโรงแรมที่เป็นห้องอาหารนอกอาคารในยามอากาศดี  มีร่มขนาดยักษ์ปกป้อง กันแดดจ้าและสายฝน  ชาวยุโรปชอบนั่งทานอะไรนอกอาคารเสมอเมื่อมีโอกาส
จากเทอเรสมุมที่เห็นในภาพบน จัดเป็นที่จอดเรือส่วนตัวของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง Romanshorn ดูเหมือนว่า พวกเขาใช้เรือสัญจรไปมามากพอๆกับใช้รถยนต์
ภาพที่เห็นเมื่อมองตรงจากหน้าต่างห้องหมายเลขที่ 45 ที่เขาให้เช่า  เห็นไกลไปถึงแนวเทือกเขา รวมทั้งอ่าวที่เป็นท่าจอดเรือสำราญ ที่รับส่งผู้โดยสารข้ามฟาก หรือไปขึ้นตามเมืองต่างๆริมทะเลสาบBodensee  เดินลงจากเนินที่ตั้งของโรงแรม ไม่กี่นาทีก็ถึงฝั่งน้ำ 
บริเวณท่าเรือเข้าออก จะเห็นว่าฝั่งที่เห็นลิบๆนั้น เขียวชะอุ่มหนาแน่นด้วยป่าไม้ แม้สุดท่าเทียบเรือก็เป็นหย่อมสวนติดฝั่งทะเลสาบเลย เดินเล่นได้ตลอดไปจนสุดที่ต้นไม้ต้นสุดท้าย       
มองต่อไปทางขวามือ ยังเห็นฝั่งเทียบเรือและสถานีรถไฟ ซึ่งอยู่ถัดเข้าไป  แนวเขาทอดตัวไกลออกไป และอาคารบ้านเรือนที่สูงไม่เกินห้าหกชั้น  ดูจะเป็นเมืองพักอาศัยมากกว่าเมืองธุรกิจการค้า  นอกจากร้านค้าเพื่อความเป็นอยู่ตามปกติของชาวเมือง เช่นซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารเพื่อบริการผู้ไปเที่ยว
                       สรุปภาพทิวทัศน์ที่มองดูจากห้องใต้หลังคาของ Schlosshotel

เช้าขึ้นตื่นมา ก่อนอาหารเช้า เพราะยังไม่มีคน จึงถ่ายรูปห้องอาหารภายในโรงแรมที่เรียกว่าเล็กแห่งนี้ เขาจัดไว้อย่างดี ดูโล่ง ไม่แออัด ไม่เหมือนร้านอาหารทั่วไปในฝรั่งเศส ที่เพื่อให้มีที่นั่งมากที่สุด จัดโต๊ะใกล้กันมาก แบบข้อศอกแทบชนกันก็มี และทำให้เหมือนเข้าร่วมในการสนทนาของโต๊ะข้างเคียง  ยิ่งไปคนเดียว ยิ่งต้องฟังไปด้วยเพราะพูดอยู่ข้างหู  เผลอๆก็ตอบคำถามที่เขาคุยกันซะอีก แล้วยังถูกมองว่ากำลังกินอะไร จนบางครั้งเกือบถามไปว่า อยากชิมไหม  สภาพแบบนี้ กินอย่างไม่สงบ 

เทอเรสข้างนอกกว้างมาก จัดแบบต่างๆซึ่งปรับใช้สำหรับอากาศแบบต่างๆในฤดูร้อน

                                                          
 
ที่น่าสนใจคือ มีมุมสวนครัวดังที่เห็น ผักทั้งหลายหว่านไว้ก่อนหน้าร้อน   เขาใช้ปรุงอาหารของโรงแรมเลย สดๆสะอาด มีทุกชนิดที่จะใช้เป็นเครื่องปรุงได้  เจ้าของโรงแรมบอกว่า แรกเริ่มทำเฉพาะร้านอาหาร(ชื่อ Tribeca) ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เพราะคนภายนอกไปทานที่นั่นกัน  ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นทานกับเขาสี่มื้อ (ไม่นับอาหารเช้า ซึ่งก็ดีมาก)  คิดว่า นี่ระดับสองดาว Michelin ได้เลย เพราะทุกอย่างสด ทำเองจากครัว รสชาติดี การจัดปรุงและแต่งอาหารบนจานก็ไม่ผิดภาพจิตรกรรม Still Life  อร่อยด้วย ทำให้ไม่ต้องไปลองที่อื่น  ไปแสดงความยินดีกับเชฟ  คุยไปคุยมาเพราะเห็นมีรายการอาหารเช้ค (Czech) เลยถามดู ปรากฏว่า ทั้งทีมของโรงแรมและภัตตาคารแห่งนี้เป็นชาวเช้ค  เริ่มจากที่สามสหายร่วมมือกันลงทุนมาทำร้านอาหารที่เมืองนี้ จนมีชื่อเสียง มีลูกค้ามาจากที่ต่างๆ  มีการจัดงานปาร์ตี้ให้ด้วย งานแต่งงานก็ทำให้ได้   ฝีมือการทำอาหารก็สุดยอดเป็นที่ยอมรับโดยไม่ต้องคอยดาวจาก Michelin  ก็มีความสำเร็จ  ต่อมาจึงเห็นว่าเพราะมีห้องๆอยู่ เลยทำเป็นโรงแรมไปด้วย ซึ่งมีไม่เกินยี่สิบห้อง  เป็นห้องราคาชั้นกลาง ไม่มากไม่น้อย  แต่มีผู้สนับสนุนมาก พวกเขาจึงคิดจะปรับปรุง upgrade โรงแรมขึ้น ต่อไปคงแพงขึ้นแน่นอน


            เด็กสาวๆที่ทำงานเสริฟที่นั่น ก็เป็นชาวเช้ค หน้าตาสะอาดสะสวย อายุราว18-20 คงเข้ามาฝึกงานและเรียนไปด้วย  ความที่อยู่ในเมืองเล็ก ไม่ต้องต่อสู้แข่งขัน  เด็กสาวๆพวกนี้ยังมีแวว “บริสุทธิ์” อยู่มากในแง่ที่ทำงานหนักเอาเบาสู้  ซื่อตรง ไม่เอารัดเอาเปรียบ ใจเย็น ท่าทีสุภาพเรียบร้อย  เห็นชัดว่าใส่ใจทำงานและพอใจที่มีงานทำ  ทำให้นึกถึงสมัยไปเรียนหนังสือที่ Besançon ที่อยู่ใกล้พรมแดนสวิสฯ และปิดภาคเรียนทุกคนออกไปทำงาน  ตอนนั้นจับพลัดจับผลูได้ไปทำงานเสริฟในภัตตาคารแบบ chalet ที่เมือง Couvet ในสวิสฯ  เจ้าของขับรถมารับถึงเมือง Besançon เลย  ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากประสบการณ์นั้น เป็นคนเอเชียคนเดียวในชุมชนเล็กๆนั้น  ผู้คนใจดีกับข้าพเจ้ามาก รู้ว่าเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศสและต่อไปจะเป็นครู ชาวเมืองนั้นมาทานอาหารหรือดื่มอะไรที่ร้าน ก็มักให้ทิปข้าพเจ้ามากมายจนเกรงใจพวกเขามาก และทุกคนเมื่อให้ทิปก็บอกว่า ตั้งใจเรียนนะและเป็นครูที่ดี  เดินไปไหนในหมู่บ้าน ทุกคนถอดหมวกให้และบอกสวัสดี ไปตัดผมที่ร้าน เจ้าของร้านซึ่งก็เป็นลูกค้าคนหนึ่ง ก็จัดการตัดผมให้ฟรี ไปไปรษณีย์ส่งของ (เขาก็สอนให้ว่าจะมัดกล่องไปรษณีย์อย่างไรจึงจะแน่น เลยมีทักษะเกี่ยวกับการไปรษณีย์ติดตัวมาด้วย)  ตำรวจของชุมชนก็แวะเวียนมาดู(มาทานอะไรที่ร้านด้วย)  ว่ากินดีอยู่ดี ไม่ถูกเอาเปรียบ เพราะที่ไปทำงานนั้น ถูกต้องตามกฎหมาย  ทำงานอยู่หนึ่งเดือน เมื่อกลับไปฝรั่งเศส ยามคริสต์มาสก็ได้ช็อกโกแล็ตที่มีลูกค้าส่งไปให้  บางคนส่งผ้าเช็ดหน้าสวิสฯไปให้เพราะรู้ว่าข้าพเจ้าชอบ  ยังไม่ลืมความเอื้อเฟื้อของชาวสวิสฯที่ได้พบ และก็ได้กลับไปหาเมื่อทำงานแล้วที่เกาหลี ชาวบ้านยังจำข้าพเข้าได้ ได้พูดคุยกัน คนแก่หลายคนเสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งเจ้าของ chalet ที่ข้าพเจ้าไปทำงานด้วย  ภรรยาจึงขายที่และย้ายไปอยู่เมืองอื่น(ใกล้ครอบครัวลูก)  ชาวเมืองยังช่วยกันหาเบอร์โทรศัพท์ให้ และข้าพเจ้าก็ได้คุยทางโทรศัพท์  เพราะสิ่งดีๆที่ได้รับ ทำให้ข้าพเจ้าให้ทิปนักศึกษาที่ไปทำงานเสริฟอาหารในยามพักร้อนเสมอ  ที่โรงแรมนี้ก็เหมือนกัน เห็นว่าเด็กสาวๆยังไม่ถูกสังคมแปรนิสัยให้เห็นแก่ตัว ไม่มีกิริยาท่าทางแบบทำอย่างขอไปที แบบไม่มีใจรักงาน หรือ จึงเอ็นดูมาก   

เมื่อลงจากโรงแรม ดูสภาพแวดล้อมก็พอใจ เพราะมีสวนล้อมรอบ ดังที่เห็นในภาพข้างบน มีแนวต้นองุ่นปลูกไว้ สำหรับเป็นผลไม้ หรือนำไปปรุงแต่งอาหาร คุ๊กเขารู้จักคิดรู้จักทำ ผสมผักปรุงแต่งด้วยผลไม้แบบต่างๆ ทำให้กินแล้วสดชื่น  ความจริงนานแล้วตั้งแต่สามสิบปีก่อน เชฟในสวิสฯ มักแต่งอาหารข้างเคียงเนื้อสเต๊กชิ้นใหญ่ด้วยผักและผลไม้  แทนมันฝรั่งทอดซึ่งข้าพเจ้าเองกินได้ไม่กี่ชิ้น แต่ผักสลัดปนผลไม้แบบต่างๆ ทานกับเนื้อนั้น ชอบมากกว่า ไม่หนักท้องและช่วยย่อยได้อย่างดี

เดินไปทางด้านสวน มองขึ้นไป เห็นเทอเรสของโรงแรม สวนสาธารณะที่อยู่ข้างล่าง ติดกันจนเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมได้เลย  จึงเป็นที่ตั้งที่วิเศษมาก  อย่างนี้ไปอยู่ได้เป็นเดือน มีที่ให้เดินเล่น  มีอาหารฝีมือเยี่ยม  เอาคอมพิวเตอร์ไปนั่งเขียนหนังสือ คงมีความสุขมาก

               สวนก็สะอาดสวยงาม มีคนสวนคอยดูแล มีเก้าอี้ให้นั่งเป็นระยะ


                ยังมีข้อมูลความรู้บ่งบอกลักษณะของหินแบบต่างๆให้ดูให้ศึกษา

จากสวนเดินเลียบฝั่งไป เห็นไหมว่า เขาดูแลบ้านเมืองเขาได้อย่างไม่มีที่ติ เงินภาษีราษฎรนำไปใช้เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวเมือง ทุกชนชั้น

กลุ่มประติมากรรม เหมือนกำลังโอภาปราศัยกัน  จะไปไหนล่ะ?  ตามมาเถอะ ที่นี่ดี  




 
ด้านหน้าของอาคารโรงแรม มีวัดเล็กๆที่เหลือเพียงหอระฆัง แต่ความจริงข้างใน ยังจัดเป็นที่สำหรับสวดและปฏิบัติศาสนกิจตามครรลองของลัทธิโปรเตสแตนส์ ที่เน้นความเรียบง่ายเป็นประเด็นสำคัญที่สุด  วัดภายในจึงโล่ง ไม่มีสิ่งประดับตกแต่ง ที่เกินความจำเป็น  

 
ถัดไปทางด้านหลังของอาคารโรงแรม มีวัดคาทอลิก  นี่ยังเป็นวัดที่ชาวเมืองนี้ไปๆมาๆ และมีกิจกรรมศาสนาอย่างสม่ำเสมอ  มีรายละเอียดทั้งภายนอกและภายในน่าทึ่ง เมื่อคิดว่านี่เป็นเพียงเมืองเล็กๆที่มีพื้นที่ประมาณ 8.75 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอยู่ไม่ถึงหนึ่งหมื่นคน  เสียงหอระฆังของวัดนี้เป็นผู้บอกเวลาของคนทั้งชุมชน  ทุกสิบห้านาที จะส่งเสียงรัวๆนิดหน่อย และตีระฆังจำนวนครั้งตามชั่วโมง  เสียงนุ่มนวลหู ไม่ดังจนแสบแก้วหู ทั้งๆที่โรงแรมนี้อยู่ใกล้มาก  พลอยให้ความรู้สึกว่าข้าพเจ้าได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในหมู่บ้าน 

                          ภายนอกและภายในของวัดคาทอลิกของ Romanshorn


ความจริงได้ถ่ายภาพของวัดนี้ไว้จำนวนมาก แต่นำมาให้ดูพอให้เห็นว่า วัดนี้พิเศษไม่น้อยเลย
เมื่อเดินลงจากเนินสู่ฝั่งทะเลไปด้านท่าเรือ เห็นธงชาติไทยปลิวไสว  เป็นร้านอาหารจานด่วน ดูจากแผ่นป้ายที่ติดโฆษณาอยู่ข้างนอก เห็นมีอยู่ประมาณสิบอย่าง เช่นเปาะเปี๊ยะทอด ไก่ย่าง ข้างแกงเป็นต้น ขายอาหารกับเครื่องดื่มต่างๆที่ผู้ทานจะนั่งข้างนอกเพราะพื้นที่ไม่ใหญ่นัก  ไม่ได้มีโอกาสแวะไปทานอาหารในร้าน
เดินเลียบฝั่งมายังท่าเรือและสถานีรถไฟ  ประมาณไม่เกินสิบนาที (ดูหอระฆังของวัดคาทอลิก จะประมาณได้ว่าไม่ไกล)  เรือเข้าเทียบแบบขนานไปกับฝั่งเลย  ตรงนี้(หมายเลขสอง) เป็นที่ขึ้นลงไปยังเมือง Altnau, Kreuzlingen-Hafen, Unteruhldingen, Insel Mainau, Meersburg. นั่นคือเส้นทางที่ไปแวะสองเมืองแรก(เป็นพรมแดนสวิสฯ) และเมืองอื่นๆเป็นเมืองเยอรมันริมฝั่ง Bodensee ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก (มีโอกาสจะนำภาพมาลงให้ชมกัน)
มีแผนผังเส้นทางเดินเรือรอบทะเลสาบ Bodensee สำหรับผู้สนใจ เช้คเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bodensee-radweg.com/en/line-cruises-lake-constance-high-rhine
ภาพบนนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า รถไฟและท่าเรืออยู่ติดกัน  ตารางเดินเรือกับตารางรถไฟก็สอดคล้องกัน เพื่อนำผู้โดยสารจากที่อื่นมาต่อเรือที่นี่ได้สะดวก 

ที่ตั้งสุดวิเศษอย่างนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการไปพักผ่อนหรือพักฟื้น  (ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปอยู่สักปี รับรองสุขภาพดีแน่ๆ ไม่ต้องเสียเงินค่าหมอ ดูเหมือนว่าจะมีคนไปอยู่แบบนั้นนะ ชาวสวิสฯหรือชาวยุโรปที่เกษียญอายุแล้วและชอบอยู่ในที่เงียบธรรมชาติดี มีทั้งเขาและทะเลให้เห็น ผ่อนคลายอารมณ์ได้ดีที่สุด ทำให้อายุยืนแน่นอน) 
           Romanshorn เป็นเมืองเล็กสงบ กลางวันกลางคืนเงียบไม่มีเสียงรบกวน ข้าพเจ้าเปิดหน้าต่างไว้ตลอดเวลา เพราะอากาศดีมาก ไม่ร้อนไม่หนาว มีลมพัดสบายๆ  จึงได้ยินเสียงจากภัตตาคารของโรมแรมที่ผู้คนคุยกันเสียงทุ้มๆแบบระดับเสียงเยอรมัน ไม่หนวกหู และสามทุ่มเขาก็ไปกัน ที่นั่นคนนอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้า  คนที่พักในโรงแรมเดียวกัน ต่างมีรถจักรยานกันส่วนใหญ่ ดูเหมือนว่า เขาปิดซ่อมบูรณะเพื่อ upgrade ห้องว่างั้น  จึงมีผู้คนพักอยู่ไม่เกินห้าห้อง  หลายห้องที่มาเพื่อขี่จักรยานไปรอบทะเลสาบ Bodensee  ได้ยินกลุ่มผู้ชายสี่คนคุยกันเป้นภาษาฝรั่งเศส เลยได้สนทนาพาทีเพราะนานๆในสวิสฯจะเจอคนพูดฝรั่งเศส(นอกจากเมืองใหญ่เช่นโลซาน แบร์น เป็นต้น)  คุยกันเลยได้รู้ว่า พวกเขาไปพักที่นั่นสามสี่คืน เขาเอาจักรยานมากัน และกะจะขี่จักรยานไปรอบๆทะเลสาบ โดยหนึ่งวันไปทางตะวันออก เลียบฝั่งไปครึ่งทะเลสาบ ถึง Friedrichshafen ซึ่งอยู่ตรงข้าม Romanshorn ล้วนั่งเรือกลับมายัง Romanshorn ค้างคืน วันรุ่งขึ้น ขี่ไปในทิศทางตะวันตกจนถึง Friedrichshafen เช่นกันแล้วนั่งรถเรือกลับมาที่ Romanshorn (ดูแผนที่)  เช่นนี้ครบรอบตลอดฝั่ง Bodensee  พวกเขาอายุสักสี่สิบห้าสิบปี  คนสวิสฯขี่จักรยาน เดินเขากันเป็นประจำอยู่แล้ว  พวกเขาแข็งแรง หนุ่มสาวที่หากทำตามรุ่นพ่อแม่ ก็จะสมบุกสมบันและแข็งแรง และก็ไม่เบื่อหน่ายกับ “ความเงียบ ความสงบ ไร้เหตุการณ์” ของประเทศ  เคยพูดคุยกับหนุ่มสาวชาวสวิสฯเอง  บางคนเบื่อหน่าย อยากออกไปพบแสงสีเสียงก้องระทึกใจของชีวิตในเมืองใหญ่ๆตามกระแสคนรุ่นปัจจุบัน (เมื่อไม่เคยมีโอกาสเปรียบเทียบชีวิตที่สงบกับชีวิตที่ต้องปากกัดตีนถีบและต่อสู้ชิงดีชิงเด่นกันในสังคม  พวกเขาย่อมไม่รู้ว่า สภาพที่ตนมีนั้น มีค่าเพียงใด)   เคยแนะหญิงสาวชาวเยอรมันที่บอกว่ากำลังจะไปหางานทำในแฟร็งค์เฟริท  ว่าทำไมไม่ไปทำงานในสวิสฯ เงินเดือนก็ดี ประเทศสงบ เจริญเท่าเทียมเยอรมนีเพียงแต่ขนาดเล็กกว่าเท่านั้น  เธอตอบว่า มันเงียบเกินไป ไม่มี challenge อาจเป็นเพราะอย่างนี้ที่มีชาวยุโรปตะวันออก (รวมทั้งชาวอินเดีย ชาวจีนและชาวเกาหลี) เข้าไปตั้งรกราก ซื้อกิจการร้านอาหาร แล้วเปิดร้านอาหาร เปิดโรงแรมเตรียมรับนักเที่ยวต่างชาติ  ขนาดขึ้นไปเปิดร้านบนยอดเขา Jungfrau ได้  คิดดูแล้วกัน  ครั้งหลังสุดที่ไป ลงจากรถไฟที่พาขึ้นไปถึงชั้นบนๆของยอดเขานี้  เอ๊ะ เหมือนได้กลิ่นเครื่องแกงกะหรี่  เดินต่อไป พบข้อความที่ฝังเข้าไว้บนกำแพงธารน้ำแข็งว่า Welcome India   นี่ข้าพเจ้ามาถึงหิมาลัยหรืออย่างไร  หรือเมื่อเดินเข้าไปในภัตตาคารแบบ chalet Suisse ที่เมือง Grindelwald สั่ง fondu bourguignon มาทาน (เนื้อสดๆมากินตรงหน้า แบบจุ่มจิ้มในน้ำมันร้อนๆ ทานกับเครื่องเคียงที่เป็นผักสารพัดชนิด และมีซอสสำหรับจิ้มเนื้ออีกสามสี่ชนิดให้เลือก) และก็งงจนตาค้างเมื่อพนักงาน (หน้าตาเอเชีย ที่ต่อมารู้ว่าเป็นคนเกาหลี) ถามว่า จะเอาข้าวกับกิมจี่ไหม  แล้วนี่เขาเริ่มกิน fondu แบบนี้กับกิมจี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ !  นึกถึงอดีตเจ้าของร้าน ชาวสวิสฯแท้ๆ กินอยู่อย่างสวิสฯ เรียบง่าย ใจดีและยุติธรรม  พวกเขาย้ายไปอยู่ที่ไหนน้อ  หรือย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศเสียแล้ว หรือหนีนักท่องเที่ยวชาวเอเชียเข้าป่าหรือขึ้นดอยไปเป็นชาวเขากันหมดแล้ว  “ความเป็นสวิสฯ” ลดน้อยลงๆไปเรื่อยๆ  นั่นคือประเทศ สหชาติ อย่างแท้จริง  น่าจะเหมือนๆกับเมืองไทย ถ้ามัวปล่อยให้ชาวอาเซี่ยนเข้ามาขุดทองบ้านเรา  (ที่มีคนจีนซะส่วนใหญ่ที่ถือโอกาส เข้ามากว้านซื้อธุรกิจและลงทุนทำธุรกรรมสารพัดสารพันในประเทศไทย แบบเข้ามาแล้วไม่มีวันออกไปแน่นอน  นำครอบครัวทั้งหลายกี่รุ่นเข้ามาด้วย)  เราจะไม่เหลือทองให้ลูกหลานไทยเราเอง ตอนนี้ชักคิดว่า เราควรปิดประเทศเสียดีกว่า มาช่วยกันสร้างพัฒนาคนของเรา ยกระดับคุณภาพชีวิตของชนระดับล่าง พัฒนาฝีมือ พัฒนาความรู้ กระเทาะความขี้เกียจ ความไม่รู้ดำรู้แดงแบบอยู่ไปวันๆให้หมดลง ให้พวกเขาภูมิใจในงานที่ทำ เพราะไม่ว่างานเล็กงานน้อย มีส่วนช่วยสร้างประเทศ  คนไทยรวยๆทั้งหลาย ต้องหันมาลงทุนเพื่อพัฒนาชาติบ้าง อย่าคิดแต่ลงทุนเพื่อความร่ำรวยส่วนตัวอีกเลย

            Schlosshotel ที่ Romanshorn อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ  เดินเลียบฝั่งไปประมาณสิบนาที แต่ที่ลำบากสำหรับข้าพเจ้า คือมีกระเป๋าใบใหญ่ ก็กะจะอยู่ที่นั่นสัก 4-5 วัน  ที่สถานีรถไฟเห็นคุณป้าคนหนึ่งยืนคอยรถอยู่ตรงเสาที่ติดเบอร์โทรศัพท์แท็กซี่ไว้  ป้าบอกว่าได้โทรไปเรียกรถแล้ว นี่ก็คอยมาครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่มา ข้าพเจ้าเลยบอกว่า ดีแล้วเมื่อเขามา ก็จะบอกว่าข้าพเจ้าจะเช่ารถเขาต่อ  ยืนคุยกับป้าไป ป้าแกเป็นคนเมืองนั้น และจะกลับเข้าบ้านที่ไม่ได้อยู่ริมฝั่งแต่ลึกไกลเข้าไปในแผ่นดิน  ป้าแกโทรไปตามรถอีกที บอกว่าคอยอยู่นะ อีกราวห้านาที รถแท็กซี่มาถึง ถามเขาจึงได้รู้ว่า นั่นเป็นแท็กซี่คันเดียว(หรือหนึ่งในสองคัน)ของเมืองนี้ และที่ติดประกาศตรงนั้นก็มีแต่ชื่อเขาว่า Funk [ฟุ้งคฺ] มีเลขทะเบียนที่ TG 21907. (TG คืออักษรย่อของชื่อจังหวัด Thurgau เลขทะเบียนรถ ทะเบียนเรือ ใช้ TG ตามด้วยรหัสตัวเลข)  ป้าแกก็บอกว่าข้าพเจ้าจะไปโรงแรม ให้ไปส่งด้วย  นายคนขับบอกตกลง ให้ขึ้นไปนั่งแล้วยกกระเป๋าใส่ท้ายรถ เขาพาข้าพเจ้าไปส่งโรงแรมก่อน คิดค่ารถ 10 CHF คนขับบอกเท่าไหร่ก็เท่านั้น (เพราะหากลากกระเป๋ายี่สิบกิโลของข้าพเจ้าเดินไปถึงโรงแรม อาจต้องเสียค่าไปจัดกระดูกแพงมากกว่านี้นัก)  เลยไม่คิดมาก เมื่อต้องเสียก็เสียซะ แล้วเขาก็ขับต่อไปส่งป้าคนนั้น      

ขอจบการนำชมเมืองเล็กๆชื่อ Romanshorn [โร้มั่นสฺฮอน] ตรงนี้  ลาไปดื่มน้ำดอกไม้สีสวยค่ะ โรงแรมที่ไปพักแนะให้ชิมดู เป็นน้ำไวน์ดอกไม้ มีแอลกอฮอลนิดหน่อย ดอกไม้ที่ใช้คือดอกชบาพันธุ์หนึ่ง (Hibiscus) ไวน์ดอกไม้ก็ไม่พิเศษอะไรนักหรอก แต่ดอกไม้อร่อยเหมือนเชื่อมหน่อยๆ  บ้านเรามีดอกไม้กินได้หลากหลายชนิด  เอามาทำเชื่อมหวานน้อยๆ เป็นของแกล้ม ก็ได้เมนูที่มีคุณค่าอาหารด้วย  ในญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศส ดอกไม้ทั้งหลายนำมาชุบแป้งทอดเป็นส่วนใหญ่  ของทอดกินบ่อยๆก็ไม่ดีหรอกนะ  แม้ว่าที่ญี่ปุ่น อาหารทอดของเขา(ร้านญี่ปุ่นแท้ๆ ไม่ใช่ร้านคนชาติอื่นทำ) ไม่มีกลิ่นน้ำมัน เพราะเปลี่ยนน้ำมันทอดเสมอ ก็ยังไม่เคยเห็นในลักษณะของไวน์ดอกไม้  นอกจากนี้ ก็มักใส่ดอกไม้ปนลงในขนมประเภทวุ้น โดยเฉพาะดอกซากุระในวุ้นสีชมพูอ่อนๆ หรือนำมาสะกัดเป็นผงแป้งดอกซากุระ นำไปคลุกกับเส้นขนมจีน กลายเป็นเส้นขนมจีนสีชมพูๆของซากุระ ได้กินกันหน้าซากุระบาน  (เหมือนที่เคยเห็นข้าวดอกดอกอัญชัน คงเป็นแนวเดียวกัน)  พวกเราใครขยันและมีดอกไม้มากในสวน
ลองทำดู น่าจะดีนะ


บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
เมื่อไปพักที่นั่นระหว่างวันที่ วันที่ 13-16 กรกฎาคม 2014 
บันทึกนี้เขียนไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2014.