Thursday 29 October 2015

แทบเท้าเธอฟูจิซัง Mused by Fujisan (1)



แทบเท้าเธอฟูจิซัง (ตอนที่หนึ่ง)
          เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่น ชาวต่างชาติย่อมนึกเห็นดอกซากุระและภูเขาไฟฟูจิที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Fujisan [ฝื้อจิซัง] ที่มาจากคำ 富士  (คำแรกมีความหมายว่า อุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย  คำที่สองคือ ผู้มีวุฒิภาวะสูง เช่นปราชญ์ นักวิจัย หรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงในกองทัพ ในสังคม  และคำที่สามแปลว่า ภูเขา รวมกันเป็นอักษรจีนที่กำกับเป็นชื่อทางการของภูเขาไฟลูกนี้  (ส่วนดอก wisteria ที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า [ฟือจิ้] ฟังเหมือนพ้องเสียงกัน แต่ในความเป็นจริง การออกเสียงชื่อภูเขา เน้นที่พยางค์แรก ส่วนการอ่านชื่อดอกไม้เน้นพยางค์ที่สอง และที่สำคัญใช้คำจีนต่างกันชัดเจน ชื่อดอก wisteria มาจากคำๆเดียวคือ  บางทีเพื่อมิให้สับสนก็เติมคำ [หะนะ] ที่แปลว่าดอกไม้ต่อท้ายเข้าไปเป็น [ฟือจิ๊หะหนะ]  การเรียนภาษาญี่ปุ่น จะเอาแต่ท่องศัพท์ จำเสียงเท่านั้นไม่ได้ ต้องรู้ด้วยว่าเขียนอย่างไร ด้วยอักษรจีนตัวไหนอย่างเฉพาะเจาะจง )  สรุปแล้ว ซากุระกับภูเขาฟูจิ อย่างน้อยสองอย่างนี้ เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย  สำหรับผู้คุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่น ย่อมมีสิ่งประทับใจอื่นๆที่อาจเป็นชา อาหาร ของใช้ เครื่องเย็บปักถักร้อย บางคนนึกถึงภูมิทัศน์ที่เคยเห็นมาหรือที่เห็นในสื่อแบบต่างๆ  หลายคนนึกถึงประสบการณ์ด้านอื่นๆเช่นความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความปลอดภัย ความประณีตหรือความงามเป็นต้น  ญี่ปุ่นสำหรับผู้ที่ได้สัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงหลากหลายไปตามความสนใจ วิถีการครองชีวิตและธรรมชาตินิสัยส่วนตัวของแต่ละคน 
              สำหรับเราคนไทย(บางคน)  เมื่อไปญี่ปุ่น ก็อยากเห็น Fujisan [ฝื้อจิซัง] ไกลๆก็ยังดี เพราะการจะไปปีน Fujisan ต้องมีความพร้อมหลายอย่างที่ผู้สูงวัยคนไทยอย่างเราไม่มีพอ  ที่สำคัญต้องมีศรัทธาและความเคารพธรรมชาติในวิญญาณสำนึกด้วย.  การเดินทางดั้นบถเดินปี 2015 นี้เนื่องจากอยู่ในเดือนกันยายน-ตุลาคมที่นักท่องเที่ยวยังน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายนที่เป็นเดือนชมใบไม้เปลี่ยนสี (ที่เรียกกันว่า Momiji โมมิจิ ) ทีมเล็กๆของเราจึงมีโอกาสไปพักแถบทะเลสาบที่มี Fujisan สูงตระหง่านเหมือนอยู่ไม่ไกล เหนือทะเลสาบ ในวันท้องฟ้าแจ่มใส เห็น Fujisan ได้อย่างชัดเจน ยิ่งในระหว่างฤดูหนาว เมื่อหิมะปกคลุม ยิ่งเน้นแนวเส้นลาดเทของไหล่เขามากขึ้นอีก (โดยเฉพาะในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์)  ทะเลสาบแถบนี้มีห้าแห่งด้วยกัน ข้อมูลในภาษาอังกฤษจึงมักเรียกแถบนี้ว่า Fuji five lakes. ส่วนที่สะดวกแก่การสัญจรท่องเที่ยวไปมาที่สุดคือแถบ  河口Kawaguchiko คาวากุจิโกะ (คำแรกหมายถึง แม่น้ำ ธารน้ำ คำที่สองคือ ปาก คำที่สามคือ ทะเลสาบ)  แต่การไปที่นั่น ก็ไม่มีใครยืนยันเช่นกันว่าจะได้เห็น Fujisan [ฝื้อจิซัง]  ทุกอย่างขึ้นอยู่กับฟ้าดินนะคะ  

ภาพจาก Google map แสดงอาณาบริเวณ Fuji Five lakes รวมที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์และจุดท่องเที่ยว

           เหนือฟ้ามี Fujisan จะไปคอยจ้องมองหาตลอดเวลาก็ใช่ที่ เพราะแทบเท้าเธอ Fujisan มีสิ่งน่าสนใจอีกมาก ที่เสริมเอกลักษณ์อันโดดเด่น แปลกและน่าทึ่งแก่ดินแดนแถบนี้  เพราะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์น่าสนใจหลายแห่งสำหรับรสนิยมและกลุ่มอายุต่างๆ เช่น ป่าดนตรี (ที่เขาตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า Music Forest ชื่อญี่ปุ่นคือ  河口湖オルゴールの森  (ซึ่งก็คือการใช้คำทับเสียงภาษาอังกฤษต่อท้ายชื่อถิ่นเป็น คาวากุจิโกะ มูซิกเกอะ โหน่ โมหริ  คำ โน แปลว่า  of / ของ และ โมหริ แปลว่า ป่า ) เรียกเป็นสวนดนตรีก็ฟังดูดีเหมือนกัน(เพราะไม่เหมือนป่าตามความเข้าใจของคนไทย)  
           สวนดนตรีเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องเสียง แบบสมัยเก่าประเภทต่างๆที่ประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20.  เป็นเครื่องดนตรีที่จัดรวมๆเข้าในกลุ่ม automatophones เช่น phonograph, gramophone, organ แบบต่างๆ เช่น orgue de barbarie (barrel organ) ตั้งแต่แบบง่ายๆ ขนาดเล็กเหมาะมือ จนถึงขนาดมหึมาที่ตั้งตระหว่านเหมือนฉากใหญ่ตลอดความกว้าง ยาวและสูงของเวทีละคร  สวนดนตรีที่นั่นนอกจากจะเห็นวิวทะเลสาบและ Fujisan [ฝื้อจิซัง] (ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส)แล้ว ยังเป็นที่จัดแสดงดนตรีน้ำ  ดนตรีในสวนหรือในห้องโถงใหญ่  มีการเชิญนักร้องโอเปร่า มาแสดงประกอบเครื่องดนตรีสมัยเก่า และสาธิตหรืออธิบายเรื่องดนตรีแก่ประชาชนทั่วไป  เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีสากล เช่นนี้ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกับดนตรีตะวันตกมากกว่าคนไทยมากนักและตั้งแต่วัยเยาว์  ดนตรีเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในระบบการศึกษาของเด็กญี่ปุ่นจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย  ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเรียนในคณะต่างๆ 

สถาปัตยกรรมที่นั่น เลียนแบบตะวันตก ค่อนไปในรูปแบบของปราสาท และด้วยสัดส่วนที่เล็กลงมาก ทำให้มีความรู้สึกเหมือนปราสาทในเทพนิทานตะวันตก  เมื่อคิดไปมา ก็ดูเหมาะกับจุดประสงค์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ และเหมาะกับเครื่องเสียงต่างๆในนิทรรศการถาวรที่นั่น ที่นำเราย้อนยุคไปในอดีตเหมือนเข้าไปในแดนฝันสมัยเด็กๆ เมื่อได้เห็นกล่องดนตรี ขนาดเล็กขนาดใหญ่ พร้อมรูปลักษณ์คนขนาดย่อส่วน (แบบแรกๆของหุ่นยนต์หรือ automaton) ที่ขยับได้ตามเสียงเพลง 
 
 

มุมต่างๆภายในสวนดนตรี  ทุกชั่วโมงมีหุ่นออกมา ทำหน้าที่เหมือนวาทยากร (ตรงดอกจันบนหน้าต่างเหนือกำแพง) นำการแสดงดนตรีของสายน้ำในสระตรงหน้า ที่มีระบบท่อน้ำพุกระจายอยู่เต็มในสระน้ำ (ดูบริเวณดอกจันในสระน้ำ)

 กลางสวนมีต้นไม้ประดับด้วยคริสตัล ซึ่งคงต้องการให้เกิดแสงระยิบระยับในยามต้องแสงแดด 
วันที่ไป ฝนตกพรำๆแต่ก็ยังเดินเล่นได้ในแสงและบรรยากาศครึ้มๆ  มีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง


 เครื่องดนตรีง่ายๆบางชนิด ติดตั้งประดับสวนให้คนเล่นได้เลย 
เช่นแนวท่อทองแดงที่เรียงไล่ระดับกัน  ไปปัดๆดู ก็เกิดเสียงใสเพลิดเพลินใจดี

หากมองจากภายนอกสวนด้านทะเลสาบ จะเห็นว่า บริเวณสวนติดฝั่งทะเลสาบเลย เพียงแต่มีรั้วปิดเป็นแนว กำหนดบริเวณอย่างชัดเจนว่า ทางเข้านั้น เข้าจากทางเดินเลียบฝั่งทะเลสาบไม่ได้  เป็นกฎระเบียบของทุกสถานที่ เพื่อความปลอดภัยของสมบัติที่มีในพิพิธภัณฑ์และความถูกต้องในการใช้พื้นที่สวนเพราะแม้เปิดให้สาธารชน พื้นที่นั้นไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ต้องเสียค่าผ่านประตู.


อาคารพิพิธภัณฑ์ สร้างและตกแต่งภายในอย่างสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมบาร็อคตะวันตก สำหรับเป็นที่ตั้งของเครื่องดนตรีแบบกล่องเสียงประเภทต่างๆที่มีค่าสูง ที่ไปหาซื้อมาจากยุโรปแทบทั้งสิ้นในราคาแพงๆ.  ปี 2015 ที่ไปมา เห็นติดราคาเครื่องเสียงแต่ละชิ้นไว้ด้วย  อาจมีคนขอซื้อ (นับวันคนยุคใหม่ไม่เห็นคุณค่าของเครื่องเสียงแบบโบราณพวกนี้แล้ว นอกจากคนที่มีใจรักและมีความฝันแบบเด็กที่ยังหวงแหนไว้ในจิตวิญญาณ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปกับกาลเวลา) 
ตัวอย่างกล่องดนตรีแบบต่างๆ ซึ่งยังคงเล่นได้ แต่เขาไม่แสดงให้ดูทุกตัว บางวัน เลือกเปิดให้ฟังจากบางเครื่อง พอเป็นตัวอย่าง ผู้จะเล่นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความระมัดระวังสูง เสียไปคงหาทางแก้ไขลำบากมาก จึงเป็นธรรมดาที่เขาห้ามแตะต้องเครื่องดนตรีที่วางโชว์อยู่  แค่อนุญาตให้ถ่ายรูปก็ดีโขแล้ว



 บ้านแบบ chalet suisse ที่ทำเป็นกล่องดนตรี  

โต๊ะขนาดใหญ่ตัวหนึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทที่จำลองปราสาท Herrenchimsee หรือพระราชวังแวร์ซายส์ของเยอรมนีในแคว้น Bavaria  มีองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆมากทั้งข้างนอกและข้างใน  ภายในจัดเป็นห้องโถงยาวสำหรับงานเลี้ยง เต้นวอลส์กันตามประเพณีนิยมของยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนีและออสเตรีย  (ดูภาพข้างล่างนี้)  ตุ๊กตาที่มีข้างใน เคลื่อนไหวได้ คือเต้นวอลส์ได้ด้วย ตามจังหวะเพลงที่เปิด  ต้องคารวะคนประดิษฐ์ศิลปะชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านี้ด้วยความรักและความตั้งใจเต็มที่



กล่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของพิพิธภัณฑ์ ตั้งตระหง่านบนเวทีใหญ่เหมือนฉากขนาดมหึมา เขาเปิดแสดงให้ดูทุกวันๆละสองสามรอบ ตัวตุ๊กตาที่ประดับนั้น และทุกตัวบนกำแพงสองข้างในโรงละคร จะขยับทำท่าเล่นดนตรีที่ถืออยู่ในมือเช่นกลอง แตร ระฆัง ฉิ่งฉาบเป็นต้น สอดคล้องกับเสียงเพลงที่ได้ยิน เป็นงานประดิษฐ์สร้างสรรค์จากฝรั่งเศส (กำกับไว้เลยว่า Marc FOURNER et Fils, Seyssuel)
ตุ๊กตาทุกตัวในห้องละครนั้น ล้วนเคลื่อนไหวได้ทั้งสิ้นและดีดสีตีเป่าตามจังหวะด้วยดนตรีที่มีอยู่ในมือ  แต่ละตัวยังคงสดสวยในสีสันงดงาม หน้าตาดี  บนกำแพงคั่นตุ๊กตาดนตรีแต่ละตัว ยังมีจิตรกรรมบนแผ่นไม้ เสนอภาพสถานที่สำตัญๆในฝรั่งเศสและในยุโรป  ห้องแสดงดนตรีนี้บ่งบอกความรักความทุ่มเทของผู้ที่เป็นเจ้าของ  


อีกตัวอย่างหนึ่งของเครื่อง orgue de barbarie ขนาดเล็กลงก็คือเครื่องเสียงที่หมุนด้วยมือ ที่ยังคงเห็นได้ในประเทศเนเธอแลนด์และโดยเฉพาะที่กรุงอัมสเตอดัม 

พิพิธภัณฑ์ยังมีห้องแสดงดนตรี เวทีประดับด้วยเครื่องดนตรีแบบกล่องเสียงขนาดใหญ่ๆ ที่ยังใช้การได้จนทุกวันนี้  เจ้าหน้าที่เปิดให้ฟังด้วย พร้อมอธิบายดนตรีที่ให้ฟังซึ่งเป็นดนตรีคลาซสิกตะวันตกทั้งหมด  บางทีก็เชิญนักร้องโอเปร่ามาร้องประกอบพร้อมๆไปกับดนตรีจากเครื่องเสียงต่างๆที่เห็น มีเปียโนใหญ่สองหลัง  ห้องดนตรีนี้ คงใช้สำหรับการแสดงดนตรีในวาระเทศกาลต่างๆด้วย เพราะห้องจัดที่นั่งเป็นอัฒจันทร์สำหรับคนเข้าชม แม้จะจุคนได้ไม่เกินร้อยคนก็ตาม 

โปรดติดตามตอนสองต่อไปได้จากที่นี่


  
บันทึกเดินทางของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  นำลงบล็อกเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘.

แทบเท้าเธอฟูจิซัง Mused by Fujisan (2)

แทบเท้าเธอฟูจิซัง (ตอนที่สอง)
           อีกแห่งที่ไม่ควรพลาดคือ พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาจากหนึ่งในศิลปินผู้ประดิษฐ์ตุ๊กตาญี่ปุ่นที่ยอดเยี่ยมของชาติ เป็นผู้ชายชื่อ 与勇 Yūki Atae ยูกิ อาตาเอะ (1937-)  ชื่อพิพิธภัณฑ์คือ 河口湖ミューズ  Kawaguchiko Muse Museum  [คาวากุจิโกะมูเซอกั่น] (อักษรจีนคำสุดท้ายแปลว่า Hall หรือห้องโถงใหญ่ มักใช้กับพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การประชุมขนาดใหญ่เป็นต้น)  ที่นั่นมีนิทรรศการถาวรที่รวมผลงานสร้างสรรค์ของเขา. 
            รอบบริเวณพิพิธภัณฑ์เป็นสวนที่น่าจะเรียกว่าทุ่งลาเวนเดอขนาดย่อมได้ (ไม่ต้องไปถึงฮ็อกไกโด หรือแถบโพรว้องซ์ในฝรั่งเศสหรอก แถบคาวากุจิโกะนี่แหละก็น่าจะทำให้อิ่มเอมใจได้ไม่น้อย อาจดีกว่าอีก เพราะได้ใกล้ชิดกับพุ่มลาเวนเดอชนิดประชิดตัวเลย  กลิ่นหอมลาเวนเดอเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม จะเป็นเช่นใด ขอให้จินตนาการเอาว่า ขนาดต้นเดือนตุลาคมที่ต้นแห้งๆเกือบหมดแล้ว บรรยากาศรอบพิพิธภัณฑ์ยังอบอวลด้วยกลิ่นลาเวนเดออยู่   เราเดินเลียบไปตามทางเดินที่อยู่ระหว่างแปลงลาเวนเดอกับชายฝั่งทะเลสาบ  คิดดูแล้วกันเหมือนสวรรค์น้อยๆเลยทีเดียว  น้ำในทะเลสาบตะวันตก (西Saiko [เซ่ยโกะ] บนแดนทะเลสาบห้าแห่งของ Fujisan )  ใส สีฟ้าเหมือนท้องฟ้ายามไร้เมฆ และที่ส่องประกายของแก้วเจียระไนระยิบระยับในแสงสว่าง  ทำให้การไปที่นั่นเป็น a perfect day out ยิ่งได้ชิมไอศกรีมรสลาเวนเดอด้วยแล้ว ต้องบอกว่า ได้สัมผัสสวรรค์บนดินชั่วขณะนั้นเลย.  เนื่องจากเขาห้ามถ่ายรูปในพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา  จึงต้องไปนำภาพมาจากเน็ต Google แม้จะขนาดเล็กดูไม่เห็นรายละเอียดหรือความประณีตอย่างชัดเจน ก็พอจะเป็นฐานสำหรับจินตนาการใหญ่และลึกต่อไป  และขอส่งให้ไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ได้จากเพจต่อไปนี้ เปิดดูเถิด ไม่ผิดหวังแน่นอน  http://www.musekan.net/english.php )
 ด้านหน้าและด้านข้างพิพิธภัณฑ์ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Muse Museum  ดูเหมือนต้องการเน้นว่า แรงบันดาลใจ(เหมือนจากเทพธิดา -Muses ในเทพปกรณัมกรีก) นำไปสู่สิ่งประดิษฐ์งดงามที่ศิลปินทำสำเร็จด้วยความรักและตั้งใจ จึงย่อมตรึงใจคนดูได้ไม่รู้จบแม้วันเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด

  เหนือขึ้นไปในหมู่เมฆขาวๆ  Fujisan ยังมาปรากฎทักทาย
ตัวอย่างตุ๊กตาผลงานของ 与勇 Yūki Atae [ยูกิ อาตาเอะ]

ดูเหมือนว่า ผ้าที่นำมาใช้ทำทั้งหมด มาจากกิโมโนเก่าๆที่คนไม่ใช้แล้ว 
นำมาดัดแปลงตกแต่งกลับมีชีวิตขึ้นใหม่สดใสสดสวย   
วัสดุทุกอย่างจนถึงการจัดวางตุ๊กตาภายในพิพิธภัณฑ์ เป็นผลงาน จากมือ จากงานฝีมือของศิลปินคนเดียวแบบครบวงจรเลย  
หลับสบายไร้กังวล


เด็ก “ผู้ดี” กับเด็กชาวบ้าน
เต๊ะไปก็เท่านั้น !!!
 สู้กันแบบเอาเป็นเอาตายในวัยเด็ก เป็นเพื่อนซี้ในวัยโต
สบายจัง 
 เด็กผู้หญิงก็ต้องช่วยปัดกวาดบ้าน
 และรู้กิริยามารยาทในยาม “ออกแขก”
อบอุ่นเมื่อนั่งติดโต๊ะ(ทำและเก็บความร้อน) Kotatsu [โคตั๊ดสึ] ผ้าที่คลุม (อาจหนาหนักเหมือนผ้านวมเลย) ปิดทุกด้านทุกมุมอย่างมิดชิด เก็บความร้อนจากเครื่องทำความร้อนที่วางอยู่ภายใน  แบบสมัยใหม่เขาติดเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าใต้แผ่นกระดานบนของโต๊ะเลย ถ้าวางลงในพื้นที่ที่ขุดลงเป็นหลุมสี่เหลี่ยม  ก็นั่งหย่อนเท้าใต้โต๊ะได้  ความสำคัญคือเท้าต้องอบอุ่น และมือด้วย พอเย็นมือ ก็ยื่นเข้าไปใต้โต๊ะสักพัก ศิลปินเก็บรายละเอียดชีวิตชาวญี่ปุ่นไว้ครบ ….moreover romanticized the scene.
           ชีวิตและการทำงานของ 与勇 Yūki Atae [ยูกิ อาตาเอะ] ชี้ให้เห็นวิถีการคิด การมอง การเข้าถึงจิตวิญญาณของสามัญชน  เป็น วิถีญี่ปุ่น ที่เรายังมีโอกาสได้ดูและสัมผัส เจาะเข้าไปเห็นสมาธิ ความมุ่งมั่น และวิญญาณสำนึกที่สงบและอ่อนโยนของศิลปิน  ตุ๊กตาที่เนรมิตขึ้นแบบนี้ ในที่สุดมิใช่เป็นเพียงของเล่นของโชว์ฉาบฉวย  มันได้ผนึกชีวิตและวิญญาณของผู้ทำเข้าไปด้วยอย่างเต็มเปี่ยม  และยังก้าวข้ามจากการเป็นตัวแทนของวิญญาณสำนึกของศิลปิน ไปสู่การเป็นภาพสะท้อนของความเป็นมนุษย์ในแบบที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง.

ธรรมชาติข้างนอกพิพิธภัณฑ์ ก็เป็นจุดดีงดูดใจอย่างดี ดังภาพที่นำมาให้ชม


มีมุมประดับตกแต่งเป็นภูเขาดอกไม้ (ด้วยกระถางต้นไม้) ดูปั๊บก็ต้องนึกถึง Fujisan แน่นอน
 รูปปั้น elf เด็กๆ (จากเทพตำนานภาคเหนือยุโรป / Norse mythology)
จากแบบของ Yūki Atae
ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ยังอยู่ในบริเวณทุ่งลาเวนเดอ ที่กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของบริเวณนั้นไปด้วย โดยเฉพาะในยามที่ดอกลาเวนเดอบานในช่วงเดือนมิถุนา-กรกฎาคม หรือในยามซากุระบานในช่วงเดือนเมษายน หรือในยามใบไม้เปลี่ยนสีในเดือนพฤศจิกายน เพราะมีต้นซากุระปลูกเรียงรายริมฝั่งทะเลสาบตะวันตกนี้ (Saiko)  ธรรมชาติที่ดึงดูดใจแบบนี้ ยากสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องตัดใจเลือกเดือนที่จะไป หากไป
ไม่ได้ทุกฤดูกาล

ผลิตภัณฑ์ลาเวนเดอ ก็มีขายอยู่บ้างในพิพิธภัณฑ์ เชื่อได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์จากดินแดนนั้นเลย 
ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสกัดลาเวนเดอ หรือครีมหอม สบู่ ฯลฯ และแน่นอนไอศกรีมลาเวรเดอของที่นั่น
กระท่อมแบบญี่ปุ่นหลังน้อยๆในภาพนี้ ปกป้องเครื่องยนต์ที่คงเป็นมอเตอร์วิดน้ำอยู่ภายใน 
ภายนอกยังอุตส่าห์ทำกังหันน้ำเล็กๆประดับบ้านหลังน้อย 
เพื่อใช้งานจริง หรือเพื่อความงาม หรือเพื่อความเจริญตาเจริญใจของผู้เดินชม
ระหว่างทุ่งลาเวนเดอกับฝั่งทะเลสาบ มีแนวต้นซากุระปลูกเป็นม่านกันลมให้พื้นที่ไปด้วย   
ทางเดินจะยิ่งตระการตาเพียงใดในฤดูใบไม้ผลิ และในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี 


พื้นที่เดินเล่นแบบนี้ ใส สะอาด บริสุทธิ์เสียทุกอย่าง  อาจเป็นภาพลักษณ์ของสวรรค์สำหรับหลายๆคน

ลึกเข้ามาในแผ่นดิน ต้นไม้ใหญ่ๆทั้งหลายเริ่มเปลี่ยนสีบ้างแล้ว ปีนี้(2015)ในญี่ปุ่น(ยกเว้นที่เกาะฮ็อกไกโด ซึ่งมีพายุฝนรุนแรง) อากาศร้อนผิดปกติและยืดยาวนานเข้าสู่เดือนตุลาคม  จึงไม่มีโอกาสได้เห็นใบไม้ประชันสีสันกัน  แต่แสงครึ้มๆเพราะเมฆตามมาเดินเล่นตรงนั้นด้วย  ก็มีเสน่ห์ลึกล้ำดี 
เพื่อนร่วมทางสองคน หลบไปนั่งคุยกันในศาลา 
รับลมเย็นๆที่คงจะพลอยฟ้าๆไปกับน้ำในทะเลสาบ หรือสดชื่นฉ่ำใจในธรรมชาติงามเช่นนี้ 
 
บนถนนหนทางในแดนคาวากุจิโกะ Fujisan นั้น omnipresent ในรูปแบบต่างๆกัน 

          พิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่ก็เป็นสุดยอดวิถีญี่ปุ่นที่ยังหาใครเทียบเทียมมิได้ คือพิพิธภัณฑ์ 久保田一竹美術   Kubota Itchiki Museum  พิพิธภัณฑ์คือโบ้ตะ อิ้ตจิกิ.  久保田一竹 [คือโบ้ตะอิ้ตจิกิ] (1917-2003) เป็นผู้เนรมิตกิโมโนด้วยเทคนิคการย้อมสีผ้าไหมตามแบบโบราณ (เป็นเทคนิคที่เรียกว่า tsujigahana [สึจิกะฮะหนะ] หรืออาจแปลได้เป็น tie-dye process)  เขาใช้เวลาเกือบสี่สิบปีไปกับการทดลอง การค้นหากว่าจะเข้าถึงเทคนิคการย้อมผ้าไหม tsujigahana  และเมื่อแน่ใจแล้ว จึงเริ่มนำเทคนิคนี้มาใช้กับการย้อมผ้ากิโมโนตามรูปลักษณ์ของภาพที่เขาต้องการแสดงไว้บนกิโมโน  เขาใช้กิโมโนเหมือนจิตรกรใช้ผืนผ้าใบ  กิโมโนแต่ละตัวขนาดสูงประมาณ 7 ฟุตหรือ 213.36 เซนติเมตร ประดับเกือบตลอดความสูงและความยาวของผนังของห้องจัดแสดง  อีกทั้งภาพบนกิโมโนที่เขาเนรมิตขึ้นเป็นภาพภูมิทัศน์แบบต่างๆ ในฤดูต่างๆ ที่เชื่อมต่อกันไปจากกิโมโนหนึ่งไปอีกกิโมโนหนึ่ง  ให้ภาพยาวต่อเนื่องของภูมิทัศน์ รวมกันสร้างบรรยากาศของแสงสว่างที่สั่นเทิ้ม ผันแปร ไล่เรียงกันไปตามกาลเวลา อย่างสมดุลและกลมกลืนกันไปจากฤดูหนึ่งสู่อีกฤดูหนึ่ง  จนอาจสะท้อนให้นึกถึงจักรวาลในวิสัยทัศน์ของศิลปิน  (การจัดแสดงเช่นนี้ทำให้นึกถึงภาพจิตรกรรมที่ใหญ่และยาวชุดดอกบัวของโมเนท์  - Les Nymphéas. ดูได้จากคลิปนี้
         พิพิธภัณฑ์นี้ศิลปินเองเป็นเจ้าของ  เขาสร้างขึ้นตามแนวคิดและอุดมการณ์ของเขา เพื่อให้เป็นที่แสดงผลงานของเขาเอง ด้วยความปรารถนาที่จะให้ผู้เข้าชมได้เห็นผลงานของเขาอย่างใกล้ชิด โดยไม่มีกรอบหรือมีตู้กระจกใดๆมาขวางกั้นระหว่างผู้ชมกับงานของเขา (แต่ก็ห้ามแตะต้อง)  เฉพาะที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ เมื่อเดินไปหยุดอยู่หน้าประตูใหญ่ ก็ไม่ธรรมดาแล้ว เหมือนไปหยุดอยู่ณแดนที่ทั้งคุ้นเคยและเหลือเชื่อ จากภาพข้างล่างนี้คงพอทำให้เข้าใจว่าทำไม  สองข้างทางบนเนินที่นำไปสู่อาคาร ร่มรื่น ที่นี่ที่นั่นมีต้นไม้ ม้านั่งไม้แบบต่างๆที่สะดุดตา และเมื่อเห็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ก็นึกถึงส่วนหนึ่งของอุทยาน Parc Güell [ปั๊ก กู่เอ้ล] ที่กรุงบารเซโลนาในบัดดลนั้นเลย  ก็เขาสร้างเลียนแบบเสาและ viaduct ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมของ Antoni Gaudí (ผู้ออกแบบจัดวางสิ่งก่อสร้างที่นั่นในตอนต้นศตวรรษที่ 20 )  คงพอจะพูดได้ว่า  Kubota Itchiki เป็นตัวแทนของจิตสำนึกอันลุ่มลึกของญี่ปุ่นแท้ๆคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีจิตวิญญาณของญี่ปุ่นยุคใหม่ ที่เปิดตาเปิดใจดูโลกภายนอกกรอบของเขาด้วย  รวมกันในตัวคนๆหนึ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นสู่อุดมการณ์ความงามและความสุนทรีย์ในระดับสูง ในที่สุดเขาเป็นที่คารวะยกย่องทั้งในสังคมญี่ปุ่นและในสังคมโลก 
           กิโมโนของศิลปินผู้นี้ทั้งหมดสามสิบชิ้นได้รับเชิญให้ไปออกนิทรรศการที่กรุงนิวยอร์คในปี 1995 ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน  (Smithsonian Institution)  เป็นการจัดแสดงผลงานของศิลปิน ที่ยังมีชีวิตอยู่ ครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์  ดูรายละเอียดและฟังข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงบันดาลใจที่ผลักดันศิลปินตลอดชีวิตของเขาได้ในคลิปวิดีโอนี้ https://www.youtube.com/watch?v=wKUlnKReKFA 
และเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ได้จากที่นี่ http://www.itchiku-museum.com/itchiku/about.html 
เนื่องจากเขาห้ามถ่ายภาพใดๆภายในพิพิธภัณฑ์  จึงมีแต่ภาพภายนอกให้ชมเป็นตัวอย่าง อีกประการหนึ่ง เราเป็นผู้ชมคนสุดท้าย จะอ้อยอิ่งอยู่ในสวนนานๆเพื่อซึมซับบรรยากาศดีๆของที่นั่นก็ทำไม่ได้เช่นกัน

ประตูไม้หนาแกะสลักแบบนี้ คุ้นเคยกับเราชาวเอเชีย  อาจได้ไปจากอินโดนีเซีย
ลวดลายเหล็กดัดประดับและทำหน้าที่กั้นบริเวณ 
เคยเห็นแบบคล้ายๆกันในยุโรป สไตล์ art nouveau  [อารฺ นูโว] เจ้าของรู้จักจัดวางอย่างเหมะสม
 ท่อนไม้แกะสลักเสลาเป็นที่นั่ง ดูๆเหมือนใบไม้ขนาดใหญ่ที่ร่วงหล่นลงจากต้นไม้ข้างๆ
มุมมองที่เห็นจากทางเดินบนเนินไปสู่อาคารพิพิธภัณฑ์  ต้นไม้ใหญ่ๆร่มรื่นและช่วยชะลอความรุนแรงของสายฝนไว้ได้ด้วย  วันนั้นฝนตกพรำๆตลอดบ่ายถึงค่ำ


บานประคูทางเข้าสู่อาคารเป็นบานไม้หนาหนัก เลื่อนไปมาตามสไตล์ญี่ปุ่น   
ทำให้พื้นที่ตรงทางเข้ากว้างและไม่มีสิ่งขวางสายตาเมื่อประตูเลื่อนเปิดออก
เมื่อออกมาจากอาคาร เจ้าหน้าที่เตรียมปิด มองไปด้านข้างเห็นคานเสาใหญ่ที่ยันหลังคาในลักษณะเอียงลาด 45 องศา ที่ต่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสวนหินที่จัดไว้ตรงนั้นอย่างพอดิบพอดี


อาคารส่วนอื่นที่อยู่ข้างๆ เห็นชัดเจนว่า ตามแบบสไตล์การออกแบบให้เหมือนป่าหิน ที่มีแนวเสาเป็นเสมือนลำต้นสูง ที่ไร้กิ่งไร้ใบ (แบบเดียวกับต้น Sequoia)  ต้นแบบสถาปัตยกรรมล้ำยุคสมัยที่ Antoni Gaudí รวมไว้ในอุทยาน Parc Güell เมือง Barcelona ประเทศสเปน



        แดนคาวากูจิโกะยังมีพิพิธภัณฑ์อื่นๆอีกสำหรับผู้มีเวลาอยู่แถบนั้นมากกว่าหนึ่งคืนหนึ่งวัน (ตามสูตรของบริษัททัวร์)  สถานที่น่าไปสำหรับผู้ชอบ หินมีค่าต่างๆคือ Gem Museum (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ http://www.gemmuseum.jp/en/ 
หรือดูภาพหินมีค่าต่างๆจากเว็บเพจนี้ที่ผู้ถ่ายทำไปถ่ายมาได้อย่างงดงาม เลยขอยืมมาให้เพื่อนๆได้ชมกันหน่อย  https://angieisagirl.wordpress.com/2015/07/20/glittering-rocks-snazzy-geodes-yamanashi-gem-museum-kawaguchiko/ ) 
ส่วนผู้ที่ชอบไข่มุกนั้น ต้องตามไปชายฝั่งทะเลและโดยเฉพาะที่ลือเลี่ยงมานานกว่าใครหรือที่ใดในโลก คือที่เกาะ Mikimoto Pearl Island ใน 三重  Mie Prefecture จังหวัดมีเอะ ที่มีพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับมุก การเกิด การเลี้ยง การเก็บเกี่ยว การนำมาใช้เป็นต้น 
          สำหรับคนชอบเดินสูดอากาศ ฟอกปอด และบรรทึกบรรยากาศ รอบๆทะเลสาบคาวากุจิโกะโดยเฉพาะในยามซากุระบานหรือยามใบไม้เปลี่ยนสี เป็นเส้นทางวิเศษสุด หรือไปเดินต่อริมฝั่งทะเลสาบตะวันตก ( 西Saiko [เซ่ยโกะ] ) ก็เพลิดเพลินแสนสุขใจ ไกลจากตัวเมืองใหญ่ๆเช่นกรุงโตเกียว โอซากาเป็นต้น  อย่าพลาดไปแวะกินไอศกรีมลาเวนเดอที่พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาล่ะ  การจะมีที่พักบริเวณนั้น ต้องจองล่วงหน้ากันนานมากทีเดียว (ถ้าต้องการประหยัดค่าโรงแรมลงบ้าง) 
โปรดติดตามตอน 3 ได้จากที่นี่
บันทึกเดินทางของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  นำลงบล็อกเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘.