Saturday 21 March 2015

ชีวิตครึ่งจริงครึ่งฝันในพันหนึ่งทิวา - The Arabian life and dreams


แนะนำพันหนึ่งทิวา - บ่อสร้างฝันของยุโรป [1]

       เมื่อเอ่ยถึงพันหนึ่งทิวา คนส่วนใหญ่นึกถึงนิทานแบบเหลือเชื่อ เพ้อฝันไปในแดนไกล เรื่องผจญภัยชนิดโม้สุดเหวี่ยง ฉากรักที่พรรณนาละเอียดเหมือนกำลังจดพฤติกรรมเชิงชีวเคมี   บางทีก็ละเมียดละไมด้วยเชิงเปรียบ หรือเป็นบทอัศจรรย์สั้นและกินความลึก ส่วนบทกระทบกระเทียบก็แสบทรวงเป็นต้น  สำหรับนักฝันไม่มีอะไรเป็นสิ่งกีดขวางเขาได้  เหมือนที่ท้องฟ้าไม่ใช่พรมแดนสำหรับนักดาราศาสตร์ที่กำลังจะไปอยู่บนดาวอังคาร หรือกำลังศึกษาใฝ่รู้ไปถึงกลุ่มสุริยจักรวาลอีกกลุ่มหนึ่ง  จินตนาการของคนอาหรับเคยเป็นเหมือนยานอวกาศเหาะพาผู้อ่านเหยียบเหนือน่านน้ำลิ่วโลดไปในจักรวาล   เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกจำนวนมากที่ทำให้ผู้อ่านระเบิดหัวเราะออกมา ได้ช่วยคลายเครียดอย่างวิเศษสุดในสังคมปัจจุบันที่วุ่นวายสับสนมิได้หยุด   กว่าสิบศตวรรษมาแล้วที่รวมนิทานชุดนี้เป็นเสมือนอนุสรณ์สถานของจินตวรรณกรรมอาหรับ  เป็นบุปผาชาติแบ่งบานส่งกลิ่นหอมระรวยปลอบใจและผดุงขวัญชาวมุสลิมทั้งหลายในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เมืองดามัส(Damas)ไปถึงเมืองไคโร(Cairo) จากเมืองแบกแดด (Bagdad)ไปถึงมอร็อคโค(Morocco) 

       นิทานพันหนึ่งทิวาที่เราเอามาวิเคราะห์ในบทความนี้ เจาะจงนำฉบับภาษาฝรั่งเศส ที่นายแพทย์ มาร์ดรู้ส[2] เป็นผู้แปล  ทั้งนี้เพราะเป็นฉบับที่ละเอียดลออใกล้ต้นฉบับเดิมในภาษาอีจิปต์มากที่สุด

ที่มาและเนื้อหาของนิทานอาหรับราตรี
       หนังสือนิทานอาหรับราตรีที่ชาวโลกรู้จักกันนั้น เริ่มมาจากรวมนิทานพื้นบ้านของชาวเปอร์เซียที่เล่าสืบทอดกันมาในระหว่างศตวรรษที่ 8-9 [3]  เนื้อหาของนิทานในฉบับเปอร์เซียต้องการให้เป็น กระจกส่องความประพฤติสำหรับเจ้าชาย  รวมตัวอย่างนิทานที่ใช้เป็นบทสอนครูพี่เลี้ยงที่ต้องวางแนวอบรมเจ้าชายทั้งหลายในราชตระกูล  ดั้งเดิมจึงมิได้เป็นหนังสืออ่านสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่เหมือนหนังสือนิทานเกี่ยวกับสัตว์ทั้งหลายที่ชาวบ้านอ่านให้ลูกหลานฟัง 

       นิทานทั้งหลายมาจากแหล่งใหญ่ๆสามแหล่งคือ

) จากแหล่งอินโด-เปอร์เซีย นั่นคือเนื้อหามีสีสันจากขนบและค่านิยมกรีกแทรกเข้าไปด้วย เป็นนิทานที่เล่ากันในระหว่างศตวรรษที่ 3-7 

) แหล่งเปอร์เซียในยุคที่กาลิฟ[4]แห่งเมืองแบกแดด[5]  มีอำนาจ ระหว่างศตวรรษที่ 9-11 และ

) แหล่งอีจิปต์ในระหว่างศตวรรษที่ 12-13 

       นิทานที่มาจากทั้งสามแหล่งรวมกันเป็นหนึ่งเดียว บางตอนบางเรื่องถูกตัดออก ปรับปรุง แต่งเติมเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 16   ต่อมามีการแปลเป็นภาษาอาหรับใช้ชื่อว่า Alf laylah wa laylah (ที่แปลว่า พันหนึ่งคืน)  รวมนิทานชุดนี้สืบทอดมาจากอีจิปต์สู่โลกตะวันตกและแพร่หลายไปในโลกด้วยการแปลเป็นภาษาต่างๆ   จากภาษาอาหรับแปลเป็นภาษาเปอร์เชีย ตุรกี ฮินดูสตานีและกระจายไปทั่วดินแดนมุสลิม กรอบของนิทานอยู่ที่เอเชียตะวันออกกลางบนดินแดนที่ในปัจจุบันเป็นประเทศอีจิปต์ ตุรกี อิหร่าน อิรัก อินเดียและยังออกนอกพรมแดนตะวันออกกลางไปในตะวันออกไกลเช่นจีนด้วย  ฉบับภาษาอาหรับที่พิมพ์ครั้งแรกอย่างสมบูรณ์มีสี่เล่ม  พิมพ์ที่กัลกัตตาระหว่างปี 1839-1842  แต่ฉบับที่เป็นแหล่งข้อมูลและกลายเป็นต้นฉบับของงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศอื่นๆนั้น เป็นฉบับภาษาอีจิปต์พิมพ์ที่เมืองไคโร(Cairo, สำนักพิมพ์แห่งชาติที่บูลักใกล้เมืองไคโร-Boulaq Edition)ในปี 1835[6]  ฉบับภาษาอาหรับเองก็มีหลายฉบับจากหลายสำนักพิมพ์ ต่างรวมเนื้อหาที่สมบูรณ์พอๆกัน  น่าแปลกที่ รวมนิทานชุดนี้มิเคยได้รับการจัดเข้าเป็นวรรณกรรมอาหรับอย่างเป็นทางการ 

       เนื้อหาในพันหนึ่งทิวา ลิตมันน์(Littmann)[7] นักเขียนและนักแปลชาวเยอรมันได้วิเคราะห์ไว้ว่า นิทานทั้งหมดอาจจัดรวมเป็นกลุ่มเด่นๆ หกกลุ่ม คือ

) เทพนิยาย (fairy tales) มีที่มาจากเทพนิยายดั้งเดิมของอินเดียเช่นเรื่องอะลีบาบากับตะเกียงวิเศษเป็นต้น(ดูรายละเอียดเนื้อหานิทานเรื่องนี้ข้างล่างนี้)

) นิยายวีรกรรมสมัยกลางและนวนิยาย(romance amd novels) เป็นกลุ่มใหญ่  ส่วนใหญ่รวมกันเป็นนิยายรักซึ่งมีเป็นจำนวนมากในพันหนึ่งทิวา  เรื่องจากชีวิตชาวอาหรับในยุคโบราณก่อนการสถาปนาอิสลาม  เรื่องรักๆใคร่ๆกับทาสสาวในวิถีชีวิตของชาวเมืองแบกแดดและเมืองบัรา(Basra)[8] หรือเรื่องรักในวังของกาลิฟ  และนวนิยายรักบางเรื่องจากอีจิปต์ที่ไร้สาระและยั่วยุกามารมณ์เกินไป  ในกลุ่มนี้ยังรวมนิทานเกี่ยวกับการคดโกงแบบต่างๆและนิทานผจญภัยของพวกกะลาสีเรือ เช่นนิทานชุดซินแบ็ดเป็นต้น (โปรดดูรายละเอียดข้างล่างนี้) 

) ตำนาน (legends) มีตำนานอาหรับโบราณเช่นตำนานเกี่ยวกับพวกอาหรับที่แผ่อิทธิพลไปถึงทวีปแอฟริกาภาคตะวันตกเฉียงเหนือ  ส่วนเรื่องอื่นๆนั้นเกี่ยวกับความเคร่งครัดศาสนาของทั้งชายและหญิง รวมทั้งของชาวอิสราเอล   ตำนานของเจ้าชายคนดีที่เป็นพระโอรสของกาลิฟฮะรุนอัลราชีด ผู้ต่อมาได้เข้าบวชและใช้ชีวิตในกลุ่มนักบวชเดอวิช(dervish)

) เรื่องสั่งสอนอบรมศีลธรรม(didactic stories) ในทำนองของ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...  มีทั้งนิทานและนิทานเปรียบเทียบ โดยมากเป็นสัตวนิยาย ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่มาจากนิทานอินเดีย  ส่วนสัตวนิยายนั้นก็มีการดัดแปลงเนื้อเรื่องให้เข้ากับโลกทัศน์ของชาวอาหรับ  บางเรื่องอาจได้แนวทางจากนิทานกรีกด้วย 

) นิทานตลก (humorous tales) เรื่องที่รู้จักกันดีคือเรื่องของอะบูฮัสซัน(ดูรายละเอียดเนื้อเรื่องข้างล่างนี้) นิทานตลกมีแทรกอยู่เป็นจำนวนมากในพันหนึ่งทิวา อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่อยู่ในนิสัยชาวอาหรับในสมัยก่อนๆ  ) เรื่องเล่าสั้นๆ (anecdotes) ในกลุ่มนี้รวมเรื่องทั้งหมดที่มิอาจจัดเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในห้ากลุ่มข้างต้น  กลุ่มนี้ยังอาจแบ่งเป็นสามกลุ่มย่อยๆ โดยมีกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งรวมเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับเจ้าผู้ครองและบุคคลในวงการ  เริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับอเล็กซานเดอร์มหาราชและจบลงด้วยเรื่องเล่าของสุลต่านราชวงศ์มัมลุก(Mamluk) เช่นเกี่ยวกับกษัตริย์เปอร์เซียน เรื่องเล่าจำนวนมากเกี่ยวกับกาลิฟราชวงศ์อับบซิด(Abbasid) และโดยเฉพาะเกี่ยวกับกาลิฟฮะรุนอัลราชีดผู้กลายเป็นเจ้าผู้ครองตัวอย่างในอุดมการณ์มุสลิมสมัยหลังๆ   เรื่องเล่าในกลุ่มนี้บางเรื่องก็มิได้มาจากเมืองแบกแดดแต่มาจากอีจิปต์  กลุ่มย่อยอีกกลุ่มรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนดีคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคม และกลุ่มสุดท้ายเป็นเรื่องเล่าจากชีวิตของสามัญชนซึ่งก็มีหลากหลายทั้งเรื่องของคนรวย คนจน คนหนุ่ม คนชรา เรื่องเล่าเกี่ยวกับความวิตถารทางเพศ เกี่ยวกับพวกขันทีเลวๆ(eunuch)  เกี่ยวกับผู้พิพากษาที่ไม่ยุติธรรมหรือที่ชาญฉลาด  เกี่ยวกับครูโง่ๆเป็นต้น

       มีบทกลอนแทรกอยู่ในพันหนึ่งทิวาฉบับพิมพ์ที่กัลกัตตาครั้งที่สองประมาณ 1420 บท ในจำนวนนี้มี 170 บทที่ซ้ำอยู่  เมื่อตัดบทที่ซ้ำๆออก จึงเหลือบทกลอน 1250 บท มีผู้พยายามสืบสาวที่มาของบทกลอนเหล่านั้น และเจาะจงได้ว่าน่าจะแต่งขึ้นในระหว่างศตวรรษที่ 12-14 ซึ่งเป็นยุคทองที่อีจิปต์โดดเด่นที่สุดในประวัติการรวมเนื้อหาที่กลายมาเป็นนิทานพันหนึ่งทิวา   กล่าวโดยทั่วไปแล้ว บทกลอนเหล่านี้อาจตัดออกได้โดยไม่ทำให้เรื่องเล่าขาดตกบกพร่อง  เช่นนี้นักแปลบางคนจึงนำเข้าไปแทรก และบางคนก็ตัดทิ้งไปเลย แต่บทกลอนเหล่านี้ให้อรรถรสพิเศษที่ระรื่นใจ เหมือนได้ลิ้มรสอาหารจานใหม่ที่เผยให้เห็นธรรมชาติพืชผักพื้นบ้านและค่านิยมของชาวบ้าน บทกลอนดูเหมือนจะมีความสำคัญและเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของสิ่งอำนวยความสุขความพอใจแก่ชาวอาหรับผู้มีอันจะกิน  เช่นเดียวกับไวน์ อาหาร และดนตรี โดยที่ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในการบริการของภรรยาหรือทาสสาว (II, 227)

      หลายคนเรียกพันหนึ่งทิวาว่า นิทานอาหรับราตรี (Arabian Nights)  เมื่อพิจารณาดูชื่อตัวละครสำคัญๆที่เป็นตัวยืนในเนื้อเรื่องที่เป็นแกนหลักของนิทานชุดนี้ เป็นชื่อเปอร์เซีย  แต่ชื่ออื่นๆเกือบทั้งหมดเป็นชื่ออาหรับ ทั้งนี้เพราะชื่อเฉพาะทั้งหลายถูกดัดแปลงเพื่อความสะดวกในการอ่านและออกเสียงของชนชาวอีจิปต์ก่อน  อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ลงความเห็นว่ารวมนิทานชุดนี้ควรจะเรียกว่าเป็นนิทานเปอร์เซียมากกว่า  เหตุผลหนึ่งคือปัจจุบันในประเทศอิหร่าน บิดามารดายังคงอ่านนิทานชุดนี้ให้เด็กๆฟังก่อนนอนแต่ประเทศอื่นๆในกลุ่มอาหรับไม่ทำกันแล้ว 

       เนื่องจากนิทานชุดนี้เล่าสืบทอดกันก่อนที่จะมีการรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มในศตวรรษที่ 19  จึงเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีชีวิตอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเกือบสิบศตวรรษ  สีสันของเนื้อหาย่อมเปลี่ยนไปตามเจตคติ รสนิยมและจินตนาการส่วนตัวของผู้เล่านิทานที่อาจเพิ่มเติมสอดแทรกคำสอนหรือข้อคิด คติจากศาสนาหรือเน้นพฤติกรรม ความคิดอ่านหรือแนวการดำรงชีวิต เพื่อตรึงความสนใจ ความตื่นเต้นของผู้ฟัง ทั้งนี้แล้วแต่ว่าใครเป็นผู้ฟัง เล่าที่ใด สภาพบ้านเมืองที่นั่นเป็นอย่างไร  ผู้เล่าแทรกมุกของตนเองเข้าไปให้สอดคล้องกับบริบท  เพราะฉะนั้นเรื่องที่ไปเล่าให้ชุมชนสองชุมชนฟัง  อาจไม่เหมือนกันในปลีกย่อยหรือไม่เหมือนกันเลยก็ได้  วิธีการเล่าหรือการเริ่มต้นหรือการดำเนินเรื่องก็อาจเปลี่ยนไปได้ตามอารมณ์และจุดยืนส่วนตัวของผู้เล่า  ในแง่นี้ศิลปะผู้เล่านิทาน(ด้วยภาษาพูด)กับวัจนะลีลา(ด้วยภาษาเขียน)จึงอาจเปรียบเทียบกันได้   ศิลปะการพูดการเล่าจึงมีศักดิ์ศรีในตัวเองที่มิควรมองข้าม  

       หลายเรื่องในพันหนึ่งทิวาเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุลต่านฮะรุนอัลราชีด(Haroun Al-Rachid, 766-809)[9] ผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์  เพิ่มเงาของความจริงเข้าไปได้บ้าง และทำให้คนฟังเคลิ้มไปกับเนื้อหา  จินตนาการบรรยากาศเมืองแบกแดดสมัยก่อนด้วยความคุ้นเคยมากขึ้นจากนิทานแต่ละเรื่อง   การค้นหาที่มาเพื่อเจาะจงให้ได้ว่านิทานเรื่องใดใครแต่ง เริ่มขึ้นเมื่อไรที่ไหนนั้นไม่น่าจะมีความหมายนัก  เพราะวรรณกรรมพันหนึ่งทิวาไม่ใช่งานสร้างสรรค์ที่เบ็ดเสร็จของนักเขียนคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวหรือสองคน แต่เป็นงานที่ก่อร่างรวมตัวขึ้นมาช้าๆจากแนวโน้มและจินตนาการที่หลากหลายที่สืบทอดกันมากว่าสิบศตวรรษ 

ตัวอย่างนิทาน
       พันหนึ่งทิวารวมนิทานที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะนิทานแต่ละเรื่องอาจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนิทานเรื่องอื่น  ในแบบนิทานในนิทานซ้อนกันอยู่เสมอ  ตัวละครในแต่ละเรื่องก็เช่นกันเหมือนภาพซ้อนไม่รู้จบในกระจกสองบานที่ตั้งคู่ขนานกันไป เช่นนี้จึงทำให้อ่านและวิเคราะห์นิทานชุดนี้ได้หลายระดับ  หรืออาจเทียบได้ว่าเป็นนิทานในแบบของ แม่ลูกดก ตุ๊กตารัสเซียที่เปิดออกเป็นตุ๊กตาอีกตัวขนาดเล็กลง และที่สามารถเปิดดูตุ๊กตาเล็กลงไปอีกเรื่อยๆจนถึงตุ๊กตาตัวสุดท้ายที่มีขนาดเท่าเล็บนิ้วก้อย  ในตุ๊กตาแม่ลูกดกชุดใหญ่อาจมีตั้งแต่ 10-20 ตัวที่ซ่อนอยู่ภายในตุ๊กตาตัวใหญ่สุด  แม่ลูกดกที่มีความหมายมากเป็นพิเศษสำหรับข้าพเจ้าคือแม่ลูกดกที่ศิลปินบรรจงวาดภาพเหตุการณ์เด่นๆในนวนิยายแต่ละเรื่องของพุชกิ้น(Alexandre Sergueievitch Pouchkine, 1799-1837) เพราะทำให้นึกถึงแนวการประพันธ์ของพันหนึ่งทิวา   พุชกิ้นเป็นกวีและนักเขียนชาวรัสเซียในยุคที่ยุโรปเริ่มอ่านพันหนึ่งทิวาด้วย[10]

       แกนหลักที่เป็นใจกลางถาวรมีนิทานย่อยกระจายออกไปราวสามสิบกว่าเรื่อง  เป็นเรื่องของ ชาห์ราซ้าด(Shahrazâd หรือ Schéhérazade [เชเฮราซ้าด]ในภาษาฝรั่งเศส) ลูกสาวของมหาอำมาตย์ของกาลิฟ ชาห์รียาร์(Shâhriyâr)  วันหนึ่งกาลิฟจับได้ว่าพระราชินีมีชู้  ได้สั่งตัดคอพระราชินี และเหล่าข้าทาสทั้งมวลทั้งหญิงและชาย  แต่เพื่อหลุดจากการถูกเหยียบย่ำพระเกียรติยศในแบบนั้นอีก  จึงสั่งให้มหาอำมาตย์เลือกหญิงสาวส่งเข้าถวายตัวเป็นพระราชินีหนึ่งคืนๆละคนและให้ประหารชีวิตพระราชินีแต่ละคนในเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นเช่นนี้ติดต่อกันไม่สิ้นสุดจนเป็นที่หวาดกลัวของชาวเมืองที่มีลูกสาว   มหาอำมาตย์ของกาลิฟมิรู้จะแก้ไขเหตุการณ์อย่างไร  ชาห์ราซ้าดลูกสาวจึงได้อาสาสมัครเข้าวังเป็นมเหสีของกาลิฟหนึ่งคืน  เหมือนผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว  ชาห์ราซ้าดคิดหาวิธีการที่จะให้กาลิฟยกเลิกความโหดร้ายต่อผู้หญิง  ในคืนที่นางเข้าไปรับใช้ ได้สั่งให้น้องสาวเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเข้าวังในคืนนั้นด้วย  เธอจะส่งคนมาตามไป  ชาห์ราซ้าดทูลขออนุญาตให้น้องสาวเข้าไปอยู่ด้วยในห้องบรรทม เพื่ออยู่กับน้องเป็นการร่ำลาก่อนตายในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  เพราะนางเคยนอนกับน้องสาวตั้งแต่เล็กจนโต  การทูลขอดังกล่าวทำให้กาลิฟเห็นใจในความรักที่เธอมีต่อน้องสาว  กาลิฟจึงส่งคนไปตามตัวน้องสาวเข้าวังในคืนนั้น และเข้าไปหมอบอยู่ข้างที่บรรทม  หลังจากที่กาลิฟได้ร่วมรักกับชาห์ราซ้าดแล้ว  ก่อนหลับน้องสาวได้อ้อนวอนให้พี่สาวเล่านิทานก่อนนอนให้ฟังดังที่พี่สาวเคยทำ พี่สาวตอบตกลงถ้ากาลิฟอนุญาต  กาลิฟยังไม่ง่วงนอนก็ยินยอมและอยากฟังด้วย  ชาห์ราซ้าดจึงเริ่มเล่านิทานให้น้องสาวฟังและกาลิฟเองก็ฟังอย่างตั้งใจ  ชาห์ราซ้าดเป็นนักเล่านิทานที่ช่ำชอง  เล่าแต่ละบทแต่ละตอนอย่างสนุกสนาน แต่เล่าไม่ถึงจุดจบของเรื่อง  ฟ้ารุ่งสางแล้ว  เพื่อติดตามฟังนิทานต่อด้วยความอยากรู้ กาลิฟเลื่อนการประหารไปยังวันถัดไป  เช่นนี้จากคืนหนึ่งไปยังอีกคืนหนึ่ง  จากนิทานเรื่องหนึ่งไปยังนิทานอีกเรื่องหนึ่ง  ผ่านไปแล้วพันหนึ่งคืนพันหนึ่งเรื่อง ชาห์ราซ้าดก็ยังไม่ถูกประหารและได้รับความไว้วางใจจากกาลิฟมากขึ้นๆ  กาลิฟได้ตระหนักว่าชาห์ราซ้าดได้ให้ลูกพระองค์แล้วสามคน  ในที่สุดจึงตัดสินใจยกเลิกคำสั่งประหารชีวิต และเป็นจุดจบของนิทานทั้งชุดนี้

       นิทานอาหรับราตรีที่คนไทยรู้จักกันเช่นเรื่อง อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ [11] อะลาดินเป็นชายหนุ่ม(บางฉบับเจาะจงด้วยว่าเป็นชาวจีน)ได้เข้ารับใช้นายคนหนึ่งผู้รู้เวทมนต์คาถา  เจ้านายพาเดินทางไปไหนต่อไหนด้วย ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน  เมื่อกลับถึงบ้าน เจ้านายสั่งให้ไปหาตะเกียงอันหนึ่งในถ้ำ ด้วยการมอบของขลังเล็กๆ(บางฉบับว่าเป็นแหวน)ให้หนึ่งชิ้น  อะลาดินทำตามแต่ด้วยความสงสัยและอยากรู้ ทำให้อะลาดินอยากเก็บตะเกียงไว้เอง  เจ้านายรู้จึงขังไว้ภายในถ้ำแล้วจากไป  ต่อมาอะลาดินค้นพบหลังจากที่ลูบคลำตะเกียงนั้น ว่าภายในตะเกียงนั้นเป็นที่อยู่ของปีศาจตนหนึ่ง และเข้าใจวิธีการควบคุมปีศาจตนนั้น  เช่นนี้ทำให้เขาออกจากถ้ำได้ กลายเป็นคนร่ำรวย มีอำนาจและได้แต่งงานกับเจ้าหญิงและอยู่ในปราสาทหลังใหญ่  เจ้านายรู้เข้าพยายามหาวิธีเอาตะเกียงวิเศษนั้น  ด้วยการไปหลอกล่อเจ้าหญิงจนได้ตะเกียงวิเศษไปเพราะนางไม่รู้คุณวิเศษของมัน  เจ้านายจึงสั่งให้ปีศาจบันดาลให้เจ้าหญิงและปราสาทหายวับจากจีนไปอยู่ในอีจิปต์  อะลาดินติดตามหาเจ้าหญิงจนพบ เพราะเขายังมีของขลังวิเศษที่เจ้านายเคยให้ไว้  ในที่สุดได้พบเจ้าหญิง  กำจัดเจ้านาย ได้ตะเกียงวิเศษคืนและกลับไปอยู่เมืองจีนด้วยความผาสุกเบิกบานใจไปชั่วกัลปาวสาน 

      อะลาดินได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชายหนุ่มผู้สมหวัง มองโลกในแง่ดีแม้จะผ่านประสบการณ์เลวร้ายต่างๆ   ประเด็นสำคัญของเรื่องคืออะลาดินต้องมาจากดินแดนไกลโพ้น เพื่อสื่อการเดินทาง การผ่านประสบการณ์แบบต่างๆ   ชาวอาหรับให้อะลาดินเป็นคนจีน ส่วนชาวยุโรปคิดว่าอะลาดินเป็นคนอาหรับ  ในความเป็นจริงอะลาดินอาจเป็นใครก็ได้ ทุกชาติหรือไม่เป็นคนชาติใดเลย  หรืออาจมองว่าเขาเป็นคนวิเศษที่สามารถทำให้สิ่งที่เขาปรารถนากลายเป็นความจริงขึ้นมา  สอดคล้องกับคำขวัญที่ว่า ความพยายามน้อยนิดเพียงใด ต้องให้ได้ผลสำเร็จมากที่สุด  นี่เป็นกฏของวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนเทคโนโลยี  อาจเป็นความสำนึกในทำนองนี้แหละที่ผลักดันให้อะลาดินหาประโยชน์เต็มที่จากทุกสถานการณ์  เป็นตัวอย่างของผู้ไม่ย่อท้อ   ความหวังความตั้งใจทำให้เขามีอิทธิฤทธิ์ดั่งเทพเจ้าที่อยู่พ้นกรอบจำกัดของเหตุผลหรือของกฎระเบียบใด  นักวิจารณ์เคยแจกแจงไว้ว่า  บนทางลึกลับซับซ้อนหากโชคลาภมาเยือนในยามหลับใหล เขาจะเห็นแสงสว่าง พบตะเกียงส่องทางวิเศษให้ และเป็นเจ้าของสมบัติทั้งมวล  รวมทั้งของขลังหรือแหวนวิเศษซึ่งมิใช่อื่นใดนอกจากศักยภาพในการจินตนาการความฝันเฟื่องต่างๆ ที่หากมีความพยายาม ก็อาจทำฝันให้กลายเป็นความจริงได้  ใครจะเป็นเจ้าของตะเกียงวิเศษโดยไม่ต่อสู้แย่งชิงมาด้วยความตั้งใจและความอดทนต่อความทุกข์ร้อนต่างๆนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้  และในที่สุดอะลาดินก็ได้เป็นเจ้าของตะเกียงวิเศษและใช้โชคลาภอย่างคุ้มค่าด้วยการแจกจ่ายแบ่งปันให้ผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ  ในแง่นี้อาจมองได้ว่านิทานเรื่องนี้สอนให้ใฝ่สูงและปลุกมโนสำนึกของคนให้มุ่งสู่สิ่งที่ดีกว่า แทนการยอมจำนนต่อชะตาชีวิตที่ตกอับ แทนการฝันเฟื่องแต่ไม่ไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุดของความฝัน  

       ในเรื่องนี้อะลาดินได้เหาะเหินเดินอากาศไปบนพรมไปถึงสุดขอบฟ้าเช่นจากอีจิปต์ไปจีน ด้วยความเร็วที่เหนือกว่าจรวดรุ่นล่าสุดของสหรัฐอเมริกาในยุคศตวรรษที่21นี้   พรมอาหรับจึงมีนัยความฝันในทำนองนี้ ที่ทอเป็นเกลียวแน่นเป็นเนื้อเดียวกับพรม  พรมทำให้อะลาดินหลุดออกไปจากกรอบของกาลเวลาและสถานที่   สำหรับชาวอาหรับ พรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย สำคัญต่อตนเอง ต่อครอบครัวและต่อชุมชนที่เขาอยู่ และให้ความรู้สึกว่าพรมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เป็นของขลังที่อาจคุ้มกันภัยให้พวกเขา  ลวดลายบนพรมมิได้เป็นเพียงลายสวยงามลายหนึ่ง แต่เป็นที่รวมของความคิด จิตสำนึก ความรู้สึกที่ชีวิตและวัฒนธรรมอาหรับได้สั่งสมมานานพันๆปี  ลายที่เห็นจึงมิได้เป็นเพียงลายขีดลายเส้นเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่สวยงามสมดุล  หรือเป็นลายอ่อนช้อยของดอกไม้พืชพรรณของสัตว์เท่านั้น แต่โยงไปถึงนัยลึกซึ้งกว่าสิ่งที่ตาเห็น  เช่นอูฐเป็นเสมือนภาพลักษณ์ของความร่ำรวย ของความสุข สุนัขขับไล่ผี แม่มดหรือโรคภัยไข้เจ็บไปจากครัวเรือน  นกยูงเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ทั้งในเปอร์เซียและในจีน  นกพิราบเป็นสัญลักษณ์ของความรักและสันติภาพ   ส่วนต้นไม้เช่นต้นไซเพรส (cypress ในสกุล Cupressus)  โยงไปถึงต้นไม้แห่งชีวิตนิรันดร หรือต้นทับทิมที่กำลังบานสะพรั่งเป็นภาพลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เป็นต้น  สีของพรมก็เช่นกันมีความหมายนัยลึกซึ้งของอำนาจ ของความอลังการ ของความบริสุทธิ์ ของความสุข เป็นต้น  บนพรมยังมีสัญลักษณ์ของผู้ทำทอไว้ด้วยซึ่งมิได้เป็นเพียงประกาศนียบัตรของคุณภาพแต่เป็นสัญลักษณ์ที่อาจโยงไปถึงบุคคลในศาสนาที่พวกเขานับถือ  นอกจากพรมที่ใช้ในบ้าน ยังมีพรมสำหรับสวดมนต์ ที่เป็นเหมือนวัดที่ชาวอาหรับแต่ละคนนำติดตัวไปทุกแห่ง เหมือนการค้ำประกันว่าเขาจะเข้าถึงและเข้าพบอัลลาห์ได้ทุกแห่งหนที่เขาไป  ในด้านความงาม พรมเป็นเสมือนสวน เป็นอุทยาน เป็นภาพจำลองของสวรรค์  พรมมิได้เป็นภาพของสวนส่วนตัวของผู้ใด แต่สื่อความยินดีปรีดาที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เช่นแม้ในยามอากาศหนาวเมื่อนั่งบนพรมเหมือนได้นั่งในสวนที่ดอกไม้กำลังบานสะพรั่ง  พรมจึงเป็นเหมือนภาพลักษณ์ของบ้านของไออุ่นในครอบครัวและของความปรารถนาความสุขในสวรรค์   ความผูกพันที่มีต่อพรมแบบนี้เอง ที่ทำให้ผู้หญิงชอบเปรียบตัวเองหรือหัวใจของเธอว่า เป็นพรมพร้อมที่จะรองรับคนรัก[12]   ค่านิยมของชาวอาหรับในสมัยก่อนและในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น  ที่บ้านพักอาศัยอาจมีเก้าอี้ใช้บ้างแต่ความเคยชินในชีวิตประจำวันที่ฝังแน่นมากับวิถีชีวิตที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทำให้ยังคงคุ้นเคยกับการนั่งบนพรมบนพื้น หรือเหนือตั่งหรือแท่นยาวเตี้ยๆที่ตั้งติดผนังหรือกำแพงห้อง  และแม้ในกระโจมกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง  ภายในกระโจมก็ยังปูพรมสำหรับนั่งหรือนอน[13]

       ความพิศวงของพรมทั้งในแง่รูปลักษณ์และในแง่ความหมายดังที่กล่าวมา ทำให้ชาวยุโรปหลงใหลอยากได้พรมมาเป็นสมบัติส่วนตัว  ดังที่รู้กันดีว่าพรมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวเติร์ก  การแผ่อำนาจของอ็อตโตมันจึงมีส่วนทำให้พรมแพร่เข้าสู่ยุโรป สู่สเปนที่ชาวอาหรับไปยึดครองหรือผ่านเมืองท่าค้าขายที่เวนิส[14]    พรมเป็นสินค้าราคาแพงที่ชาวยุโรปนำมาประดับเชิดหน้าชูตา นอกจากนำมาปูบนพื้นในห้องโถงใหญ่ เป็นผืนๆ ที่มุมนั้นบ้างมุมนี้บ้าง(โดยไม่จำเป็นต้องวางติดๆกัน)  หน้าหรือใต้โต๊ะทำงาน  บ้างติดบนผนังห้องหลังที่ตั้งของบัลลังก์  บ้างนำไปปูโต๊ะอาหาร บนเตียงนอนฯลฯ  ชาวยุโรปมิได้มีจิตสำนึกเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจขลังของพรม  การทำพรมในตะวันออกกลางจึงค่อยๆเบนไปสู่การค้าขายพรมแก่ชาวยุโรป  เนื้อหาก็เป็นไปตามค่านิยมและรสนิยมของยุโรป ประเทศผู้ส่งออกพรมสำคัญที่สุดคืออิหร่านและตุรกี   ดังกล่าวไว้ในเรื่องจิตรกรรมชีวิตนิ่ง พรมเป็นหนึ่งในสมบัติที่ชนชั้นมีเงินต้องมีไว้ติดบ้านและเป็นองค์ประกอบสำคัญในจิตรกรรมตั้งแต่ปลายยุคกลางเป็นต้นมา

 

       เรื่อง อะลีบาบากับโจรสี่สิบคน[15] คงเป็นนิทานที่ทุกคนจำได้ไม่ลืมเพราะสำนวนที่ติดปากมาจากเรื่องนี้ว่า “Open, Sesame!” หรือ same, ouvre-toi!” สำนวนที่เปิดไปสู่โลกของสมบัติเพชรนิลจินดาที่พร่างพรายตา  เรื่องย่อๆมีดังนี้  ในสมัยก่อนมีพี่น้องสองคนชื่อกาซิม(Kasim) กับอะลีบาบา(Ali Baba)  บิดาได้แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ทั้งสองเท่าเทียมกันก่อนสิ้นใจ  กาซิมต่อมาได้แต่งงานกับหญิงในตระกูลมั่งคั่งและกลายเป็นพ่อค้าผู้ร่ำรวย  ส่วนอะลีบาบาแต่งงานกับหญิงชาวบ้านที่ไม่มีฐานะหรือจนพอๆกับเขาเอง  อะลีหาเลี้ยงชีพด้วยการเข้าป่าไปตัดไม้มาขายโดยบรรทุกขึ้นหลังลาสามตัวที่เขามี  วันหนึ่งขณะอยู่ในป่า ได้แอบเห็นโจรกลุ่มหนึ่งไปยืนพูดที่ปากถ้ำ พูดสองสามคำ ปากถ้ำเปิดออกและปิดลงเอง  ไม่นานต่อมาประตูปากถ้ำเปิดออกอีก กลุ่มโจรทั้งกลุ่มออกมาจากถ้ำ แล้วปิดปากถ้ำ พวกเขาออกเดินทางไปทำโจรกรรมอื่นๆต่อ  อะลีบาบาแอบซุ่มตัวบนต้นไม้ใหญ่ในป่า จนแน่ใจว่าโจรขี่ม้าหายไปหมดแล้ว จึงลงจากต้นไม้ และตรงไปที่ปากถ้ำ พูดคำที่เขาได้ยิน ปากถ้ำก็เปิด เขาเข้าไปภายในถ้ำและก็แปลกใจที่เห็นกองสมบัติและเงินทองมากมาย  เขาเก็บใส่กระเป๋าและนำขึ้นหลังลาพร้อมกิ่งไม้ที่เขาตัดได้วันนั้นเพื่อพรางสายตาคน  เขาจำคำกล่าวเพื่อให้ประตูเปิดออกจากถ้ำได้  อะลีบาบาและภรรยาต่างยินดีว่าต่อไปนี้ไม่ขัดสนยากจนอีกแล้ว  แต่ภรรยาของพี่ชายและพี่ชายที่ชื่อกาซิมรู้จนได้ ในที่สุดอะลีบาบาบอกความลับแก่พี่ชายผู้ไม่รีรอและออกไปที่ถ้ำทันที  กาซิมหลงใหลเพลิดเพลินกับการโกยสมบัติใส่กระสอบ พอจะออกมาจากถ้ำกลับลืมคาถาศักดิ์สิทธิ์เสียแล้ว  ไม่นานกลุ่มโจรกลับมาและแปลกใจที่เห็นลาของกาซิมนอกถ้ำ และเมื่อเข้าไปก็เห็นกาซิมผู้พยายามหาโอกาสหนีออกจากถ้ำ ละทิ้งกระสอบสมบัติที่เก็บมา  แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นมือโจร จึงถูกฆ่าตาย ร่างถูกตัดแบ่งเป็นสี่ส่วนตรึงไว้ตรงทางเข้าภายในถ้ำนั้น  ฝ่ายภรรยาของกาซิมเห็นสามีหายไปนานไม่กลับ ก็ไปแจ้งแก่อะลีบาบา   อะลีบาบาต้องแอบไปที่ถ้ำอีก และเห็นร่างของพี่ชาย จึงนำร่างกลับมาให้พี่สะใภ้  ฝ่ายโจรเมื่อกลับไปที่ถ้ำ ก็รู้ว่ามีผู้รู้เรื่องขุมทรัพย์ของพวกเขา ได้ส่งคนออกไปสืบเสาะและเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน จนในที่สุดรู้จักบ้านของกาซิมที่ตกเป็นของอะลีบาบาแล้วตามธรรมเนียมอาหรับ  พวกโจรได้ทำอุบายเข้าไปอยู่ในบ้านของกาซิม โดยที่โจรซ่อนตัวในโอ่งใส่น้ำมัน  สาวใช้ของกาซิมชื่อ มาร์ยาเนห์(Marjaneh) เป็นคนฉลาดและทำงานคล่องแคล่ว ได้รับคำสั่งจากอะลีบาบาให้ทำอาหารเลี้ยงดูแขกที่มาขอพักซึ่งคือหัวหน้าโจร  เธอขาดน้ำมันสำหรับทำอาหารและจุดตะเกียง จึงไปเปิดถังน้ำมันและล่วงรู้นโยบาย จึงได้กำจัดโจรที่ซ่อนอยู่ในโอ่งนั้นตายหมด หัวหน้าโจรรู้สึกเอะใจที่ลูกน้องในโอ่งไม่มีปฏิกิริยาตามที่ตกลงกันไว้ว่าให้ออกจากโอ่งเมื่อเขาขว้างอิฐก้อนเล็กๆไปที่โอ่ง และพบว่าลูกน้องทั้งหมดตายแล้วจึงหนีเอาตัวรอด แต่ยังไม่วายคิดแก้แค้นอะลีบาบาอีกด้วยการปลอมแปลงตนเป็นพ่อค้าขายแพรไหม  อีกครั้งหนึ่งที่สาวใช้มาช่วยชีวิตอะลีบาบาไว้ได้  อะลีบาบาขอให้ลูกชายแต่งงานกับสาวใช้ ยกระดับเธอเป็นลูกสาว และใช้ชีวิตอย่างสุขสบายพร้อมกับมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนบ้านทั้งหลาย ได้กลับไปที่ถ้ำอีกและบอกความลับกับลูกชาย พร้อมทั้งสั่งสอนให้เป็นคนดีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ให้รู้จักใช้อย่างพอเพียงและรู้จักเก็บรักษาสมบัติ    

        นิทานเรื่องนี้เหมือนจะปลอบขวัญคนจนทั้งหลายว่าวันหนึ่งอัลลาห์จะโปรดและบันดาลให้เขาค้นพบเคล็ดลับหรือคาถาพิเศษสักอย่างที่เปิดทางให้เขาไปสู่ความสำเร็จหรือทรัพย์สินเงินทอง  อะลีบาบาเป็นตัวอย่างของผู้ที่มีโชคลาภ รู้จักใช้และรักษาโชคลาภนั้นให้คงอยู่   น่าคิดด้วยว่าทำไมจึงเลือกใช้เมล็ดงาซึ่งเล็กมาก?  ชื่อ sesame เป็นคำอาหรับ เป็นพืชพันธุ์หญ้าที่เก่าแก่ที่สุด คนปลูกเพื่อเอาเมล็ด มีโปรตีนสูง  ดั้งเดิมจากอินโดนีเซียและตะวันออกของแอฟริกา แล้วแพร่พันธุ์ไปยังดินแดนเมโสโปเตเมียในราวสหัสวรรษที่สองก่อนคริสตกาล  ชาวบาบีโลเนียนใช้เมล็ดงาทำขนม และปรุงรสไวน์กับแบร็นดี  หรือนำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้ในการประกอบอาหารและเพิ่มความหอมกรุ่น  ประมาณ1500 ปีก่อนคริสตกาล พบว่าชาวอีจิปต์ใช้น้ำมันงาเป็นยาชนิดหนึ่ง  ชนชาวโบราณในคัมภีร์เก่า(และใหม่) ใช้งาในการประกอบอาหาร  ชาวแอฟริกาและเอเชียเรียกเมล็ดงา แต่ในยุโรปและอเมริกา ใช้แต่น้ำมันงาจึงไม่มีการเรียกว่าเมล็ด แต่ปัจจุบันคนใช้เมล็ดงาปรุงแต่งในขนมปัง ขนมหวานและการเตรียมผักสลัดและน้ำสลัด   งามีประโยชน์ใช้สอยมากตั้งแต่นำมาทำน้ำหมึก  เป็นอาหารสัตว์  ทำเป็นแป้ง  งาเป็นเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้ในการทำขนมหลายชนิดในหมู่ชาวอาหรับ พวกเขาก็ใช้น้ำมันงาด้วย   งาจึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน  ขนาดเล็กกระจิดริดเหมือนสอนให้รู้ว่าค่าของสิ่งใดไม่อยู่ที่รูปร่างลักษณะภายนอก  การที่พวกโจรใช้คำ sesame เป็นคาถาเปิดขุมทรัพย์อาจเป็นเพราะความกระจิดริดของมันที่ทำให้คนมองข้ามมันไปเสมอ จึงเป็นคาถาที่น่าจะปลอดคนรู้ทัน ดีกว่าการใช้ชื่ออื่น  สิ่งเล็กน้อยนี่แหละที่นำไปสู่สิ่งมหัศจรรย์ต่างๆได้  อีกประการหนึ่งฝักงาตามธรรมชาติเมื่อสุกงอมเต็มที่ แตะนิดเดียวฝักก็แตกและเปิดออก  จึงโยงไปเป็นคาถาเปิดประตูถ้ำได้อย่างมีน้ำหนัก  

       นิทานเรื่องนี้ได้กลายเป็นแนวให้มีการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ชุด “Sesame Street” ให้เด็กทั่วโลกและมีการเสนอเป็นภาษาต่างประเทศแล้วยี่สิบสี่ภาษา  และที่น่าสรรเสริญคือรายการชุดนี้ไม่เน้นเรื่องเงินเรื่องสมบัติแต่มุ่งให้เห็นความเป็นไปได้  การทำให้ความคิดความฝันกลายเป็นความจริงขึ้นมา รวมทั้งการสร้างความรักสัตว์ การพูดคุยกับสัตว์ ความช่วยเหลือต่อกัน เดี๋ยวนี้ทุกคนยอมรับแล้วถึงบทบาทสำคัญของสัตว์และสัตว์เลี้ยงในชีวิตมนุษย์ และโดยเฉพาะในการอบรมเสริมทักษะการสื่อสารแก่เด็กๆ  นับเป็นรายการสร้างสรรค์ที่ดีรายการหนึ่ง  เด็กๆเหมือนเมล็ดงาเม็ดเล็กๆ ดูไร้ความหมาย แต่เด็กเป็นผู้กำอนาคตของมนุษยชาติไว้ ผู้ใหญ่ต้องไม่มองข้ามความสำคัญของพวกเขา และไม่ทำลายสิทธิของการเป็นเด็กด้วย

 

       เรื่อง การผจญภัยของซินแบ็ด[16] ปรากฏแทรกเป็นส่วนหนึ่งในนิทานพันหนึ่งทิวาที่ชาห์ราซ้าดเล่าในราวคืนที่ 536 ถวายกาลิฟ   ซินแบ็ดเป็นพ่อค้าร่ำรวยในยุคของกาลิฟฮะรุนอัลราชีดในศตวรรษที่ 11  เขามีชีวิตสุขสบาย แต่ดั่งคนรวยทั้งหลาย ยิ่งมีเงินก็ยิ่งอยากมีมากขึ้น นอกจากความอยากรวย เขายังชอบการผจญภัย กระหายอยากออกไปล่องเรือท่องโลก  อยากรู้จักดินแดนใหม่ชุมชนใหม่ เป็นความกระหายประสบการณ์ทั้งกายและใจ  เช่นนี้เขาจึงอยู่นิ่งเสพสุขธรรมดาๆในคฤหาสน์ได้ไม่นาน ก็ต้องรวมลูกเรือล่องออกไปในทะเล สู่โลกกว้างที่เหมือนไร้พรมแดน  นิทานการผจญภัยของซินแบ็ดยืนยันว่าทะเลมีอำนาจดึงดูดคนเสมอมาไม่ว่าเป็นชนชาติใดภาษาใด[17]  นิทานชุดนี้ยังทำให้เข้าใจว่า ชาวเปอร์เซียหรือชาวอาหรับ มีค่านิยมในการเดินทางเพื่อหนีออกจากถิ่นของตน หนีจากข้อผูกมัด จากความเป็นข้าทาส จากการขดขี่ข่มเหงเพื่อรักษาวิญญาณอันอิสระของตนไว้ ด้วยการเน้นว่าดินแดนของอัลลาห์กว้างไม่มีที่สิ้นสุด  จะหาที่อยู่ที่กินใหม่ได้เสมอแต่วิญญาณและจิตสำนึกของตนนั้นหากสูญเสียไปจะหามาแทนไม่ได้  แทนการยอมตนถูกผูกมัดอยู่กับดินแดนที่ตนอยู่  ให้ออกจากประเทศเสีย อาจมีโอกาสมุ่งสู่ที่สูงไปได้ดิบได้ดีที่อื่น  ดั่ง(คอ)สิงโตจะเติบใหญ่และล่ำสันได้ เมื่อมันเป็นอิสระในพงไพร (I, 57) 

       สรุปการผจญภัยของซินแบ็ดคือการล่องเรือไปในทะเลน่านน้ำฝั่งตะวันออกของแอฟริกาและในตอนใต้ของทวีปเอเชีย การผจญภัยทั้งหมดส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์การเดินเรือจริงของกลาสีผู้เคยไปถึงน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย และอีกส่วนหนึ่งได้มาจากเอกสาร ตำนานเปอร์เซียหรืออินเดีย และโดยเฉพาะจากวรรณกรรมกรีกเรื่องโอดิสซีของโฮเมอร์(Odyssey แต่งขึ้นในราวปลายศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ผลงานของ Homer) เพราะเรื่องราวบางตอนในการผจญภัยของซินแบ็ดทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในมหากาพย์โอดิสซี  แม้ว่านิทานชุดซินแบ็ด ด้อยกว่ามากทั้งในแง่ของวรรณศิลป์ และในแง่วิญญาณสำนึก ความลุ่มลึกของวีรกรรม  อุดมการณ์ของวีรบุรุษ ความเป็นมนุษย์ที่หวั่นไหวกับอารมณ์ความรู้สึกภายในของตนเอง หรือต่อสิ่งที่มากระทบรอบตัว ความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน คิดถึงบุคคลผู้เป็นที่รักที่จากมา  ความเหนื่อยล้าจากความผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดการเดินทาง  ตลอดจนการฟันฝ่าอุปสรรคหรือเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น ทั้งหมดนี้มหากวีโฮเมอร์ได้บรรจงแทรกไว้อย่างละเอียดลออในโอดิสซี   แต่ซินแบ็ดเป็นเพียงนักเดินเรือเพื่อค้าขายเพื่อแสวงหาความร่ำรวยเป็นสำคัญ ออกไปผจญภัยตามความใฝ่ฝัน มิได้มีจุดมุ่งหมาย สูง เกินกว่าความพอใจส่วนตัว  เขาเป็นเพียงปุถุชนธรรมดาเป็นมนุษย์ผู้รู้กลัว เคยทั้งร้องไห้และหมดหวัง แล้วกลับฮึกเหิมกล้าขึ้นใหม่  ความฉลาดแกมโกงทำให้เขาหาวิธี พบกลเม็ดเด็ดพรายใหม่ๆที่ช่วยให้เขาหลุดจากสถานการณ์อันเลวร้าย  การผจญภัยของซินแบ็ดมีส่วนเหมือนโอดิสซีในแง่ที่เป็นภาพสะท้อนของสังคมจริงในประวัติศาสตร์ของยุคนั้น  นิทานชุดการผจญภัยของซินแบ็ดได้จุดความกระหายอยากเดินทะเล อยากผจญภัยของใครต่อใครมามากในสังคมตะวันตก ที่รวมถึงการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องจากนิทานชุดนี้   

       คนอื่นรู้ได้อย่างไรว่าซินแบ็ดไปผจญภัยมาจากไหน  ตำนานหนึ่งเล่าว่า  วันหนึ่งชายคนหนึ่งชื่อ ฮินแบ็ด(Hindbad) ผู้ทำมาหากินด้วยการแบกหามขนส่งของ  ได้ไปนั่งพักเหนื่อยบนม้านั่งหน้าคฤหาสน์ของพ่อค้าผู้ร่ำรวยคนหนึ่ง  เขาอดพร่ำรำพันออกมาไม่ได้ว่า อัลลาห์ไม่ยุติธรรมกับเขาเลย ที่ปล่อยให้คนรวยใช้ชีวิตสุขสบายโดยไม่ต้องทำงานอะไร ในขณะที่เขาทำงานหนักทุกวันๆและยังคงยากจนอดมื้อกินมื้อ  เจ้าของคฤหาสน์บังเอิญได้ยินเข้า จึงให้เรียกตัวชายคนนั้นเข้าไปในบ้าน และเล่าให้เขาฟังว่า ที่เขาร่ำรวยขึ้นมาได้นั้น เขาต้องออกไปเผชิญอันตรายเจ็ดครั้งเจ็ดหนบนทะเลมหาสมุทร จากบ้านจากดินแดนไปล่องลอยในทะเล  เจ้าของบ้านซึ่งคือซินแบ็ดจึงเริ่มเล่าการจญภัยแต่ละครั้งให้เขาฟัง  เมื่อเล่าการผจญภัยแต่ละครั้งจบ เขามอบถุงเงินพร้อมเหรียญทองร้อยเหรียญแก่ฮินแบ็ดและบอกให้เขากลับไปฟังการจญภัยเรื่องที่สองในวันรุ่งขึ้น

       การผจญภัยของซินแบ็ดมีทั้งหมดเจ็ดครั้งดังกล่าว  แต่ละครั้งเรืออับปาง ตัวซินแบ็ดถูกซัดไปเกยฝั่งเกาะใดเกาะหนึ่ง  บางทีพลัดพรากจากลูกเรือ  บางทีถูกละทิ้งไว้บนเกาะ  เขาต้องเผชิญสิ่งแปลกใหม่ เหลือเชื่อ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมาก่อน เช่น เรือไปเกยตัวปลาวาฬขนาดมหึมา  เห็นงูยักษ์หรือร็อกห์(rokh)ที่เหมือนเหยี่ยวยักษ์  เห็นไข่ยักษ์ของร็อกห์(ที่ทำให้นึกไปถึงเรื่องราวในโอดิสซี บทที่ 12 ตอนพบไข่ของดวงอาทิตย์-les oeufs du Soleil) หรืออสูรซีโกล๊ป(cyclope ที่ทำให้นึกถึงเรื่องราวในโอดิสซี ตอน Polyphème บทที่ IX) นอกจากสัตว์แปลก อสูรหรือปีศาจ ซินแบ็ดยังได้ไปสถานที่น่าทึ่งต่างๆ เช่น ไปในหุบเขาที่ดารดาษด้วยเพชรนิลจินดา แม่น้ำอำพัน เมืองลิง สุสานงาช้างเป็นต้น  ได้ไปอยู่ในหมู่มนุษย์กินคนหรือในหมู่คนที่กลายเป็นนกหนึ่งวันในแต่ละเดือน  หรือถูกโยนเข้าไปในสุสานพร้อมภรรยาที่เสียชีวิต ตามประเพณีที่สามีภรรยาต้องถูกฝังทั้งเป็นถ้าคู่ชีวิตคนหนึ่งตายลง  การผจญภัยแต่ละครั้งจบลงด้วยดี ซินแบ็ดได้ทรัพย์สมบัติ เพชรนิลจินดาหรือสินค้าที่เขานำกลับไปขายได้ราคางาม  เช่นนี้แม้ได้ผ่านความลำเค็ญ ฝ่าอันตรายสารพัดแบบ ฆ่าคนฆ่าสัตว์ก็มากเพื่อความอยู่รอด  ทุกครั้งเขาก็กลับไปเมืองแบกแดดและร่ำรวยเงินทองขึ้นอีกตามที่เขาต้องการ  นิทานแบบนี้เองที่ตรึงความตั้งใจอยากรู้อยากเห็นของผู้ฟังในยุคนั้น

       ชื่อซินแบ็ดจึงเป็นชื่อที่ชาวยุโรปรู้จักดี  นักเขียนฝรั่งเศสอเล็กซ็องดร์ ดูมาส์(Alexandre Dumas, 1802-1870)ได้ใช้ชื่อซินแบ็ด(Sinbad le Marin [ซินบั๊ด เลอ มาแร็ง] หรือซินแบ็ดนักเดินเรือ ในภาษาฝรั่งเศส) ในงานเขียนเรื่อง ท่านเคาวน์แห่งมนเตคริสโต (Le Comte de Monte Cristo [เลอ ก๊งตฺ เดอ มงเต คริซโต]) โดยให้เป็นนามแฝงของพระเอกในเรื่อง(Edmond Dantès [เอ็ดมงดฺ ด็องแต๊ซ]) ที่ต้องการปกปิดตัวตนจริงของเขาในบริบทหนึ่ง  พระเอกเอ็ดมงด์คนนี้มีอะไรบางอย่างคล้ายๆซินแบ็ดเช่น ความไม่ย่อท้อในการเสี่ยงภัย  ความฉลาดพราวด้วยเล่ห์เหลี่ยมดั่งสุนัขจิ้งจอก  มีพละกำลังดั่งสิงโต รู้จักทะเลดั่งนักเดินเรือ และเขาพบขุมทรัพย์ที่เกาะมงเตคริสโต ที่ทำให้เขาร่ำรวย มีฐานันดรศักดิ์เป็นท่านเคาวน์และแก้แค้นผู้ที่เคยทำร้ายเขาและทำให้เขาต้องถูกจำคุกอยู่นานถึงสิบสี่ปีบนเกาะอีฟ(le château d’If) เรื่องมงเตคริสโตจึงมีฉากหลังหลายอย่างที่ทำให้นึกถึงการผจญภัยของซินแบ็ด

 

       ในนิทานเรื่อง นิทราชาคริต[18]  สุลต่านฮะรุนอัลราชีดและพระราชินีทรงเป็นตัวละครสำคัญของนิทานเรื่องนี้ด้วย  กาลิฟฮะรุนอัลราชีดชอบปลอมแปลงตนเป็นสามัญชนออกไปเดินเล่นยามโพล้เพล้จนค่ำคืน นอกจากเพื่อตรวจตราความเป็นอยู่ของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นความบันเทิงของกาลิฟผู้เบื่อชีวิตไร้เหตุการณ์ตื่นเต้นในวัง   วันหนึ่งกาลิฟในสภาพของพ่อค้าจากเมืองมูสซูล(Moussoul)ได้พบอะบูฮัสซันผู้ใจดีเชิญไปบ้านเลี้ยงดูปูเสื่อและให้ค้างคืนหนึ่งคืน  ทั้งสองกินไปดื่มไปและพูดคุยกันอย่างถูกคอ  อะบูฮัสซันได้พูดขึ้นว่าถ้าเขาเป็นกาลิฟเพียงยี่สิบสี่ชั่วโมง เขาจะจัดการกับอีมัมที่สุเหร่าในชุมชน ที่ดีแต่คอยสอดแนมและเข้าไปยุ่งในเรื่องส่วนตัวของชาวบ้าน จนเป็นที่รังเกียจของทุกคนแต่ไม่มีใครทำหรือพูดอะไรได้  อีมัมยังมีชายชราอีกสี่คนที่เป็นพวกลูกขุนพลอยพยัก  ซึ่งทั้งหมดควรได้รับการลงโทษให้เข็ดหลาบ ให้สำนึกว่า หน้าที่ของอีมัมคือการศึกษาอัลโกหร่านมิใช่การไปวุ่นวายในชีวิตของชาวบ้านทุกบ้าน  พ่อค้า-กาลิฟเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่ได้เล่นสนุกสำราญใจด้วยการให้อะบูฮัสซันเป็นกาลิฟฮะรุนอัลราชีดยี่สิบสี่ชั่วโมง  จึงแอบใส่ยานอนหลับในแก้วเหล้าของอะบูฮัสซัน เมื่อเขาตื่น พบตนเองในวัง สภาพห้องที่หรูหราอลังการ พร้อมเหล่าทาสสาวสวยจำนวนมากที่คอยรับใช้  เขาคิดว่าฝันไป แต่เมื่อทุกคนยืนยันและปฏิบัติต่อเขาเช่นเจ้าเหนือหัว ไม่ช้าเขาก็เชื่อสนิทว่าเขาเป็นกาลิฟฮะรุนอัลราชีด ได้ออกว่าราชการ จัดธุรกิจแผ่นดินได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งยังส่งหัวหน้าตำรวจไปจัดการเฆี่ยนโบยอีมัมกับชายชราทั้งสี่และนำขึ้นอูฐประจานไปทั่วทั้งชุมชน อะบูฮัสซัน-กาลิฟยังได้ให้เจ้าหน้าที่คลังหลวงนำถุงเงินพันชั่งไปมอบเป็นของขวัญแก่แม่ของอะบูฮัสซัน  กาลิฟองค์จริงแอบดูอยู่หลังหลืบห้องแต่ละห้องด้วยความพอใจและสนุกสนานยิ่ง  อะบูฮัสซันได้สนุกสนานกับเหล่าทาสสาวสวย จนถึงเวลาก็ถูกมอมหลับไปตามคำสั่งของกาลิฟองค์จริง และกลับไปตื่นที่บ้านของตนเอง  เขายังเชื่อมั่นว่าเป็นฮะรุนอัลราชีดและไม่ยอมรับว่าหญิงชราที่บ้านคือมารดาของเขาเองที่พร่ำเรียกเขาว่าอะบูฮัสซันลูกรัก  ด้วยความโมโหเขาทุบตีมารดาผู้ส่งเสียงร้อง ชาวบ้านวิ่งมาช่วย และในที่สุดอะบูฮัสซันถูกนำไปจองจำในโรงพยาบาลคนบ้า ทั้งยังถูกเฆี่ยนโบยทุกวันเพื่อให้เขากลับคืนมีสติเหมือนเดิม  เช่นนี้ผ่านไปหนึ่งเดือนเขาจึงยอมรับว่าเขาถูกปีศาจหลอกหลอนและขอขมามารดา  กาลิฟฮะรุนอัลราชีดได้ปลอมแปลงตนออกไปเดินตามตรอกซอยในเมืองอีก และพบอะบูฮัสซันผู้เพิ่งฟื้นจากเหตุการณ์ฝันร้ายที่ผ่านมา  กาลิฟรู้ว่าเขาได้ทนทุกข์ทรมานอย่างไรจากการที่ได้เป็นกาลิฟยี่สิบสี่ชั่วโมง จึงคิดจะช่วยอะบูฮัสซัน  ได้คะยั้นคะยอขอไปพักที่บ้านอะบูฮัสซันอีก ไปกินไปดื่มเช่นในครั้งแรกและใส่ยานอนหลับให้อะบูฮัสซันดื่มอีก   อะบูฮัสซันตื่นขึ้นจำได้ว่านั่นเป็นวัง เหล่าทาสสาวสวยก็เป็นคนที่เขาเคยเห็น  เขาร้องโวยวายขับไล่ปีศาจที่เข้าสิงตัวเขา  แต่ในที่สุดก็ลุกจากเตียงเพราะเสียงดนตรีขับร้องและการเริงระบำของเหล่าทาสสาวสวยทั้งหมด จึงถอดเสื้อเปลื้องผ้าเปลือยกายออกไปเริงระบำด้วย  ทำให้กาลิฟผู้แอบดูอยู่หัวเราะจนกลั้นไว้ไม่อยู่ และออกจากที่ซ่อน อะบูฮัสซันจึงเข้าใจว่าทั้งหมดที่ผ่านมาคือการเล่นตลกขององค์กาลิฟ  อะบูฮัสซันกลายเป็นพระสหายอยู่รับใช้ในวัง ได้แต่งงานกับทาสสาวสวยคนโปรดของพระราชินี[19] 

       นิทานเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันดีมากทั่วโลก  ได้ให้เนื้อหาและแนวทางที่ปัญญาชนยุโรปนำไปขบคิด ดัดแปลงและพัฒนาเป็นลีลาการประพันธ์แนวใหม่ และเป็นหัวข้อศึกษาวิเคราะห์ด้วยเหตุผลและวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับจิตวิทยา ความฝัน และสภาวะครึ่งๆกลางๆระหว่างความจริง ความฝัน การหลับและการตื่น   การไม่รู้สำนึกว่าเมื่อไรคือความฝัน  เมื่อไรคือความเป็นจริงนั้น หลายคนคงเคยมีประสบการณ์แล้ว  ส่วนเรื่องความฝันนั้นเป็นหัวข้อที่กวีและนักเขียนทุกชาติทุกภาษาได้พูดย้ำมาตลอดทุกยุคทุกสมัย  เช่นบทละครเรื่อง The Midsummer Night’s Dream (ความฝันในคืนกลางฤดูร้อน)[20] ของเช้คสเปียร์ที่แต่งขึ้นในระหว่างปี 1590-1596 หรือบทละครเรื่อง La vida es sueño (ชีวิตคือความฝัน) ของกัลเดร่น เด ลา บารกา (Calderón de la Barca ชาวสเปน ที่แต่งขึ้นในปี 1635) เป็นต้น  หัวข้อของความฝันยังคงเป็นหัวข้อที่ไม่มีวันตายอยู่จนถึงทุกวันนี้

       นิทานอาหรับราตรีหลายเรื่องเน้นว่า คนเราควรจะยึดสัญชาตญาณของตัวเองเหนือสิ่งอื่นใด  ความจริงหรือสิ่งที่เห็นในโลกของวัตถุนั้น มิใช่เป็นความจริงแท้ที่มั่นคงถาวรที่ไม่เปลี่ยนแปลง  แต่อาจถูกจัดถูกเปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย  การจัดฉากหลอกล่อสร้างความเหมือนจริงได้อย่างแนบเนียน แต่เมื่อยกฉากออกก็กลับยืนยันว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความฝันลมๆแล้งๆ ที่อาจเป็นเพราะเขาเสพฝิ่นหรือกินฮาชีชมากเกินไป (haschisch  หรือ hachisch สมุนไพรที่ชาวอาหรับสมัยก่อนนิยมเคี้ยวนานๆไว้ในปาก แบบเดียวกับที่คนไทยสมัยก่อนเคี้ยวหมาก) หรือเพราะถูกปีศาจเข้าสิงและหลอกหลอนเขา ตามความเชื่อของชาวอาหรับว่า บ้านใดไม่ปิดประตูบ้าน ปีศาจจะเข้าไปก่อกวนคนในบ้าน  ดังกรณีของอะบูฮัสซันเมื่อไม่สามารถแยกแยะว่าเหตุการณ์ที่เกิดกับเขาเป็นความจริงหรือความฝัน ในที่สุดเขาโทษว่าถูกปีศาจเข้าสิงจนเขาเสียสติ เพราะพ่อค้า-กาลิฟลืมปิดประตูเมื่อออกไปจากบ้านของเขาเป็นต้น  เพราะฉะนั้นความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่รวมทั้งสรรพสิ่งที่รวมอยู่ในฉากนั้น ก็มิได้เป็นสิ่งยืนยันและบ่งชี้ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา 


สำนวนและเกร็ดความรู้อื่นๆจากหนังสือ

       การขานเรียกอัลลาห์  ความเคยชินหรืออุปนิสัยของชาวอาหรับตามที่ปรากฏในพันหนึ่งทิวาอย่างสม่ำเสมอคือไม่ว่าในสถานการณ์ใด ก่อนตัดสินใจพูดหรือทำอะไรก็ตาม อาหรับจะพูดในทำนองนี้ว่า อัลลาห์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้กำพลังอำนาจแต่ผู้เดียว(เช่นที่ I, 298)  จิตสำนึกนี้ทำให้อาหรับเกิดความฮึกเหิม กล้าเผชิญเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าดีร้ายประการใด   เมื่อผู้หญิงขนานนามอัลลาห์ เธอขอให้อัลลาห์มาช่วยเธอ หรือขอให้อัลลาห์เป็นพยานของเธอเป็นต้น 

       การขนานนามเรียกอัลลาห์เจาะจงคุณสมบัติหรือความดีของอัลลาห์ด้วยเสมอ เช่น อัลลาห์ผู้มีจิตเมตตาสงสารอย่างไม่มีขอบเขต  ผู้เป็นเจ้าชีวิตคน  ผู้เป็นผู้พิพากษาสูงสุดในวันแจกรางวัลแก่ชาวมุสลิม  (อิสลามเน้นต่างไปจากคติวันพิพากษาสุดท้ายของชาวคริสต์ว่า เป็นวันรับรางวัลคุณงามความดีจากอัลลาห์ด้วยและหนึ่งในรางวัลคือสาวสวรรค์ฮูเรีย - houria) อัลลาห์เป็นผู้นำทางของชาวมุสลิม(ที่พระองค์ชอบพอ)ไปบนทางสายตรง และสำหรับผู้ที่พระองค์ไม่ทรงโปรด ก็จะปล่อยให้พวกเขาวกไปวนมาจนหลงทางเป็นต้น  เท่ากับว่าคนมีเคราะห์เพราะอัลลาห์ไม่โปรด เพราะคนนั้นไปทำอะไรไม่ดีไว้หรือมีเจตคติที่ไม่ดี  ในนิทานเรื่องคนหลังค่อมกับนายช่างเสื้อ(I, 162) มีบทกวีแทรกไว้น่าฟังว่า

       พระเจ้าเบื้องบนกำชะตาชีวิตของทุกคนในมือ  พระองค์จะบันดาลให้ใครหูหนวก ตาบอด หรือโง่เขลาได้ตามความความพอใจของพระองค์  จะกระตุกฉุดสติปัญญาคนให้ร่วงหลุดได้ง่ายเหมือนเราดึงเส้นผมทิ้ง หรือจะบันดาลให้ใครคิดทุกอย่างได้แจ่มกระจ่างก็ย่อมได้ เพื่อให้คนใช้สมองนั้นตรึกตรองและตระหนักถึงข้อบกพร่องต่างๆของตนเอง

       เมื่ออาหรับพบผู้ที่เขาชอบพอจะพูดก่อนว่า ขอความสุขสงบจงมีกับท่าน ในแง่ว่าอัลลาห์จะโปรดเขาและบันดาลให้เขามีความสุขความสงบในชีวิต  หลังจากนั้นจึงจะคุยกันถึงเรื่องอื่นๆต่อไป

       มีผู้รวบรวมการเรียกขนานนามอัลลาห์ไว้ทั้งหมด 99 ชื่อ[21]  การขนานนามอัลลาห์อย่างต่อเนื่องเหมือนการทำสมาธิ  เหมือนที่ลูกน้อยพร่ำเรียกแม่  เช่นนี้ทำให้การเรียกนามอัลลาห์กลายเป็นคาถาหรือมนต์ขลัง  ตามที่สถาบัน Islamic Path เจาะจงไว้ และได้จัดเรียงรายพระนามของอัลลาห์ทั้งเก้าสิบเก้าชื่อที่งามที่สุดของพระองค์(ในแง่ของเสียงและแง่ของความหมาย)  สถาบันฯแนะให้ชาวอิสลามท่องไว้หรือเรียกให้ครบ 100-1000 ครั้งต่อวัน จักนำโชคชัย ความสวัสดีต่อเขา หรือทำให้เขาฟื้นจากโรคภัยไข้เจ็บ
       นิยายประโลมโลก  พันหนึ่งทิวามีชื่อเสียงในแง่ของนิยายประโลมโลกด้วย โดยเฉพาะเมื่อชาวยุโรปหรือชาวอเมริกันนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ ชอบเน้นทางด้านนี้มากเป็นพิเศษเพียงด้านเดียวและสร้างทัศนคติที่ผิดๆว่าชาวอาหรับลุ่มหลงอยู่ในกามารมณ์   ฉบับภาษาอังกฤษที่ละเอียดแบบฉบับภาษาฝรั่งเศสของนายแพทย์มาร์ดรู้สนั้นก็ยังไม่มีในปัจจุบัน  งานแปลของมาร์ดรู้สจึงมีส่วนช่วยให้ชาวโลกเข้าใจจินตนาการของชาวอาหรับมากขึ้น  ดังกล่าวแล้วว่านายแพทย์มาร์ดรู้สแปลจริงแปลจังไว้ครบทุกถ้อยกระทงความโดยรักษาระดับภาษาทั้งภาษาปาก ภาษากันเอง ราชาศัพท์ ภาษาเขียน ภาษากวี ตรงตามต้นฉบับเดิมในภาษาอีจิปต์ทุกประการ  และบรรจงเรียบเรียงเป็นหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่เข้าใจง่าย แจ่มแจ้งชัดเจนแบบเร้าอารมณ์ แฝงความคมคายและไพเราะของบทกวีที่มีแทรกอยู่เต็มในฉบับอีจิปต์  เขาเก็บและรวมบทอุปมาอุปมัยตามโลกทัศน์ของชาวอาหรับไว้หมด  บทพรรณนาความงามทั้งหญิงและชาย  ความงามของเด็กหนุ่มรุ่นๆก็เป็นเนื้อหาของบทกวีในวรรณกรรมอาหรับ  ความรักก็รำพันเป็นกาพย์กลอนประกอบด้วยเสมอ

       เมื่อแสดงความคิดเห็นหรือให้เหตุผลก็เช่นกัน จะอ้างไปถึงคำพูดของปราชญ์หรือของกวี  ส่วนใหญ่ไม่มีการบ่งชื่อกวีอย่างเจาะจงแน่นอน  การเอ่ยอ้างนี้อาจเพื่อเสริมและเน้นทัศนคติของตน ในขณะเดียวกันก็เหมือนประกาศว่าตนเป็นผู้รู้ ผู้อ่านหนังสือมามาก และแม้ว่าบทกลอนที่แทรกไว้ในนิทานอาหรับราตรีฉบับอีจิปต์นั้น จะไม่งามเสมอความงามของกวีนิพนธ์คลาซสิกที่ดีเด่นของโลกตะวันตกหรือเท่าวรรณกรรมมหาภารตะของอินเดียและโดยเฉพาะภควัทคีตา หรือไม่งามจับใจเท่ากวีนิพนธ์ของรพินฐนาฏฐากูรในคีตัญชลีก็ตาม[22]  แต่บทกวีในพันหนึ่งทิวาก็อ่อนหวานชื่นใจ ที่ให้ ความหนาแก่เรื่องเล่าเรื่องเล่นเรื่องเพ้อเจ้อของชาวอาหรับ  และในมุมมองของสังคมศึกษาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกทัศน์ของชาวอาหรับได้เป็นอย่างดี  เอกสารหรือหนังสือของชาวฝรั่งเศสที่วิเคราะห์วรรณกรรมอาหรับ ให้ความรู้ว่าฉันทลักษณ์ของภาษาอาหรับมีการเล่นสัมผัสอักษรมากและใช้ถ้อยสำนวนเดียวกันซ้ำๆเหมือนบทสร้อยในท้ายประโยคแต่ละประโยค  การซ้ำแบบนี้ให้ความรู้สึกเหมือนจะย้ำและสะกดจิตผู้ฟังไปด้วย และเมื่อเทียบระหว่างเนื้อหากับ เสียงของบทกวี ความงามของ เสียงมักเด่นกว่าใจความ
       ความรัก ความรักเหมือนเกมกีฬา เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เพื่อความสมดุลของสุขภาพจิตของคนทุกยุคทุกสมัย  ความรักจึงเป็นเนื้อหาสำคัญในวรรณกรรมของทุกชาติ  จินตนาการร่วมสมัยเดียวกับนิทานอาหรับราตรีซึ่งคือยุคกลางนั้นวนเวียนอยู่ในเรื่องของความรักเป็นสำคัญ   ความแตกต่างอยู่ที่ว่าสร้างให้ความรักนำคนไปสู่มิติที่ดีกว่าไหมและอย่างไร  มาร์ดรู้สอธิบายว่าสำหรับชาวอาหรับสิ่งที่ธรรมชาติให้มาไม่ใช่สิ่งน่าอายและการกระทำที่เป็นไปตามสัญชาตญาณธรรมชาติจึงไม่ใช่เรื่องบัดสี   เขายืนยันว่าในจิตสำนึกของคนอาหรับไม่มีความคิดกักขฬะหรือสัปดนเกี่ยวกับความรักและเพศสัมพันธ์ และไม่มีพฤติกรรมที่วิตถารอนาจารในวรรณกรรมอาหรับ  สัญชาตญาณทางเพศของชาวอาหรับชี้อุปนิสัยขี้เล่นและอารมณ์ขัน  ทุกอย่างนำไปสู่ความรื่นเริงหรรษาเท่านั้น  แต่นั่นไม่ได้หมายความถึงการเล่นรักเป็นเรื่องสนุกสนานเสมอไป   เมื่ออาหรับหลงรักสตรีใดก็รักอย่างแน่นแฟ้น มีความรู้สึกรุนแรงเกินกว่าที่เขาเก็บกดไว้ภายในตัวเอง จึงต้องหาทางออก   เราคงยังจำภาพยนต์เรื่อง The English Patient ได้  เนื้อเรื่องถ่ายทอดความรู้สึกทั้งรักทั้งปราราถนาอันรุนแรงแบบอาหรับ เกินกว่าที่เหตุผลหรือความถูกต้องทางสังคมจะห้ามไว้ได้  วิธีการดำเนินเรื่องแบบเล่าย้อนหลังไปมาหรือการสืบต่อเหตุการณ์ในแต่ละฉากก็ทำให้นึกถึงจินตนาการที่เพ้อฝัน แฝงความเอาฬารในนิทานอาหรับราตรีไว้เช่นกัน   ความรักอันรุนแรงในโลกอาหรับมีกระบวนการพรรณนาอย่างตรงไปตรงมาในบางครั้ง  ในแง่นี้กระมังที่อาจไม่ต้องรสนิยมของบางคนที่ชื่นชมเนื้อหาแบบแนะให้คิดมากกว่าการแจกแจงโดยตรง  ในทำนองเดียวกับที่หลายคนคิดว่าผู้หญิงที่มีอาภรณ์ปกปิดร่างกายบ้าง น่าดึงดูดมากกว่าผู้หญิงเปลือย

       ผู้หญิงอาหรับ  สตรีในโลกอาหรับเหมือนหญิงงามเมืองในโลกอินเดียหรือเกอิชาในโลกญี่ปุ่น เป็นผู้มีรูปสมบัติมากพอๆกับคุณสมบัติทั้งในแง่ของศีลธรรมจรรยาและในแง่ของสติปัญญา   อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นนักดนตรีดีดสีตีเป่าได้   ผู้หญิงในโลกอาหรับเหมือนสมบัติล้ำค่าของผู้เป็นเจ้าของ  เธอไม่เพียงแต่จะสวย มีกิริยามารยาทนุ่มนวล ยังเฉลียวฉลาดและมีความรู้ความสามารถต่างๆที่จะช่วยเจ้านายเธอให้พ้นภัยได้ทุกครั้ง 

       บทพรรณนาความงามของสตรีทำให้เราเข้าใจว่าสุนทรีย์เกี่ยวกับความงามของสตรีในโลกอาหรับเป็นเช่นใด  สตรีงามเหมือนพระจันทร์ทรงกลดส่วนชายหนุ่มหล่อเหลามีราศีเหมือนพระอาทิตย์(I,153) บางทีราศีที่บรรเจิดเฉิดฉายบนใบหน้าสตรี(หรือของชายหนุ่มก็เช่นกัน) อาจทำให้ผู้มองเห็น ตาพร่าพรายเพราะมิอาจทานความงามนั้นได้” (I,875)  สะโพกอันกลมกลึงเหมือนดวงจันทร์สองเสี้ยวมาเรียงกัน(I,303) แขนขาอ่อนช้อย ลำคอขาวผ่องเป็นยองใย(I,304)  ริมฝีปากหวานปานน้ำผึ้ง(I,137) แก้มแดงเรื่อใสเหมือนกุหลาบตูม(I,666) เนื้อนิ่มทั่วทั้งร่าง สุขสัมผัสดั่งแพรไหม(I,63) ร่างตรงบอบบางเหมือนต้นไซเพรส(cypress) หรือเหมือนตัวอักษรฮีบรูอันอ่อนช้อยตัวแรกที่ชื่อว่าอาแลฟ-aleph”(I,667)  ตัวอักษรอาหรับที่มีลายเส้นสอดเกี่ยวไปมาก็มักใช้พรรณนาเปรียบเทียบร่างกายชายและหญิงที่สวมกอดกันบนที่นอน  สตรีร่างบอบบางมักให้ภาพลักษณ์ของเสื้อชุดป่านเนื้อบางเบาหรือเสื้อแพรไหมที่พลิ้วลม เสริมในบทพรรณนาเพื่อบอกว่าร่างที่เคยแต่ทานน้ำหนักเสื้อผ้าที่แสนเบาจะสามารถทานน้ำหนักความรักได้อย่างไร(I,98) หญิงงามเหมือนฮูเรีย-houria” สาวสวยบริสุทธิ์ที่อัลลาห์จะประทานเป็นรางวัลแก่ชาวมุสลิมในสรวงสวรรค์  ดวงตาและสายตาเป็นส่วนของร่างกายที่สำคัญที่สุดในโลกของชาวอาหรับ ขอให้นึกถึงผู้หญิงสาวชาวอาหรับที่มีเสื้อผ้าคลุมปิดตลอดร่างและมีผ้าคลุมศีรษะที่ปิดคลุมทั้งผมและหน้าเหลือเพียงนัยน์ตาดำขลับที่เป็นหน้าต่างสู่อาณาจักรใจของเธอ  สายตา แววตาของสตรีอาหรับขึ้นชื่อว่าสามารถสื่อความรู้สึกซ่อนเร้นต่างๆได้โดยไม่ต้องพูดใดๆทั้งสิ้น  หนังตาที่กระพริบก็สื่อความรู้สึก คิ้วของเธอก็เช่นกัน(ถ้าได้เห็น)  หรือสายตาคมกริบเหมือนใบมีด(I,772)  ความรักรู้ได้จากการสบตา แน่ชัดยิ่งกว่าคำพูดใดๆ(I,65) เป็นต้น
       ดังกล่าวแล้วว่าความงามของสตรีอาหรับยังไม่ใช่เป็นความภูมิใจสูงสุดของผู้เป็นนาย ความฉลาดเฉลียวของพวกเธอทำให้พวกเธอมีค่ายิ่งขึ้น  เพราะฉะนั้นในนิทานอาหรับมีเรื่องทดสอบความรู้ความเจนจัดของทาสสาว ความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์โกหร่าน กาพย์กลอน ดนตรี ศาสตร์วิชาต่างๆของยุคนั้น เช่นการอนามัย ดาราศาสตร์ เรขาคณิต เลขคณิต กฎหมายรวมทั้งการปกครอง เช่นให้ข้อคิดว่ารัฐบาลที่ดีควรจะเป็นอย่างไร(I,342)เป็นต้น นั่นคือคติคำสอนหรือศาสตร์ต่างๆที่ผู้แต่งแทรกเสริมในนิทานเหมือนจะให้ความรู้แก่ผู้ฟังนั้น ออกจากปากของผู้หญิงเป็นสำคัญ  ผู้หญิงเป็นผู้อธิบายแจกแจง หรือแสดงปาฐกถาต่อหน้าเหล่าองคมนตรีและเบื้องหน้าเจ้าเหนือหัวในท้องพระโรง ตัวอย่างสุดยอดของทาสสาวผู้เป็นยิ่งกว่าปราชญ์ในนิทาน เรื่องแม่สาวแซ็งปาตี (Histoire de la Docte Sympathie, I, pp.666-687 และอ่านวิชาต่างๆที่เธอเรียนรู้มา ที่หน้า 668) แซ็งปาตีมีวิชาความรู้กว้างและลึกซึ้ง เพื่อช่วยนายให้พ้นจากความยากไร้ เธอเสนอให้เขาพาเธอไปขายให้สุลต่านฮะรุนอัลราชีดเป็นจำนวนหมื่นเหรียญทอง  เมื่อมาอยู่เบื้องหน้าองค์สุลต่าน เธออธิบายคุณสมบัติของเธอเองว่า  นอกจากความรู้ในศาสตร์วิชาต่างๆแล้วเธอยังร้องเพลงได้ไพเราะจับใจคนและฟ้อนรำได้สวยน่าพิสมัย และพร้อมที่จะตอบคำถามทุกชนิดจากเหล่าเสนาบดีหรือองค์มนตรีของสุลต่าน ดังนั้นเหล่าเสนาบดีได้ตั้งคำถามแก่เธอซึ่งเธอตอบได้ทันทีอย่างชาญฉลาดและถูกต้อง  คำถามคำตอบในนิทานเรื่องนี้ทำให้เราสามารถจินตนาการขอบข่ายของศิลปวิทยาในโลกของชาวอาหรับ  กฎเกณฑ์ของอิสลาม  อาการป่วยแบบต่างๆ  การแบ่งแขนงในแพทย์ศาสตร์ อิทธิพลของดาวพระเคราะห์ ของดวงดาวต่อวันต่างๆในสัปดาห์ รวมทั้งปัญหาแบบ ปุจฉาวิปัสสนาอีกมาก  เราไม่ลืมว่า ชาห์ราซ้าด พระมเหสีผู้ใช้นโยบายการเล่านิทานที่ทิ้งค้างไว้สำหรับฟังต่อในโอกาสต่อไป ได้ช่วยเธอให้พ้นการถูกประหารได้นานถึงสามปี และในที่สุดกาลิฟได้ยกเลิกคำสั่งประหารยกเลิกความโหดร้ายต่อผู้หญิง  ถือว่าชาห์ราซ้าดเป็นยอดหญิงเหนือหญิงใดในเรื่อง 

       ผู้ชายอาหรับผู้มีอันจะกินเกือบทุกคนมีหญิงข้าทาสรับใช้ในบ้าน ไม่ได้มีเพียงคนเดียวอีกด้วย นอกจากผู้ที่โชคร้ายจริงๆเท่านั้น คือตกอับจนต้องขายทาสไปหมด เช่นเรื่องของแซ็งปาตีที่เล่ามาข้างบน  ผู้หญิงในโลกอาหรับตามค่านิยมนี้จึงเป็นสมบัติอันล้ำค่าของเจ้านาย  เจ้านายเมื่อนึกหรือเอ่ยถึงเธอ มักเรียกเธอว่า คนรักด้วยความยกย่อง  โคลงกลอนจำนวนมากที่มีในพันหนึ่งทิวา ยืนยันความรักของเจ้านายที่มีต่อทาสสาวของเขา  และเมื่อผู้ชายตัดพ้อคนรัก(ไม่ว่าผู้ชายคนนั้นจะเป็นเจ้าเหนือหัวหรือสามัญชน) ก็ถ่อมตนลงต่ำเหมือนไม่คู่ควรกับความรักของสตรีที่ตนหลงใหล  เช่นนี้นับว่าชาวอาหรับรู้จักคุณค่าของผู้หญิง รู้จักแสดงออกทางวาจาประกาศคุณงามความดีให้คนอื่นรับรู้ และคงรู้จักรักษาน้ำใจพวกเธออย่างดีด้วยจึงไม่ทำให้เกิดความอิจฉาริษยากันภายในบ้านหรือภายในฮาเร็ม  อาหรับมีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้สี่คน หากเขามีเงินเพียงพอที่จะชุบเลี้ยงได้สี่คน  หากมีมากกว่าสี่คน แต่ละคนก็มีคุณสมบัติพิเศษที่ผิดไปจากคนอื่น  การที่เจ้านายสามารถคุมผู้หญิงภายในบ้านของตนให้อยู่ด้วยกันได้ฉันท์มิตรโดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน นับว่าเป็นความดี เป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของผู้ชาย เพราะมิใช่เรื่องง่ายเลย  ตัวอย่างที่เล่าไว้ในนิทาน เรื่องเด็กสาวหกคน (Histoire des six adolescentes, I. p. 771-781) ว่า 

       อาลี เอล-ยามานี(Ali El-Yamani) มีเด็กสาวในฮาเร็มของเขาหกคน แต่ละคนมีความงามในแบบของตนเองและมีความเจนจัดในคัมภีร์โกหร่านเสมอกัน  เมื่อต้องตัดสินว่าใครสวยกว่า จึงให้แต่ละคนพรรณนาสรรพคุณของตนเอง หญิงผิวขาวคุยว่าเธอคือแสงสว่าง คือดวงจันทร์ที่โผล่ขึ้นเหนือเส้นขอบฟ้า หน้าผากเธอมีประกายสีเงิน สีของเธอเป็นสีของกลางวัน สีของดอกส้มและของดาวศุกร์  เธอผู้มีใบหน้าขาวจึงเป็นภาพพจน์ของความสะอาดไร้มลทิน เธอคือราชินีแห่งสีสัน เสื้อผ้าอาภรณ์สีใดก็ตามทำให้เธอเด่นสว่าง เป็นความงามที่จับใจทุกวิญญาณ(...)  หญิงผิวดำคุยว่าพระเจ้าเมื่อเนรมิตและตั้งชื่อโลกนั้นเริ่มด้วยการตั้งชื่อกลางคืนก่อนอื่น สีดำของผม ของขนบนตัวคน คือสัญลักษณ์ของวัยฉกรรจ์ในขณะที่สีขาวคือความแก่หง่อม  ตาดำขลับไม่ใช่หรือที่เป็นที่หลงใหลใฝ่หาของเพศตรงข้ามผู้อยากเป็นเจ้าของเธอ  เธอเป็นสีของราตรีกาล ทำให้เราสามารถมองเห็นความงามผ่องของดวงจันทร์ ซึ่งคือใบหน้าของราตรี  และสำหรับคนรักกันไม่มีความปรารถนาใดเหนือไปกว่าความไม่สิ้นสุดของราตรีเพราะกลางวันพรากคนรักไป(…)  หญิงคนอ้วนคุยว่าความสุขของชีวิตคือการกินเนื้อ นั่งบนเนื้อ(พาหนะสำหรับเดินทาง) และเอาเนื้อเข้าไปในเนื้อ(การร่วมรัก)   ร่างท้วมสมบูรณ์ของเธอเสมือนสวนที่มีผลไม้อันโอชะ  มีเพศสัมพันธ์กับคนผอมแห้งคือความทรมานเพราะไม่ว่าแตะต้องส่วนไหนของร่างกาย ก็เจอแต่กระดูก กระทบเหลี่ยมนั้นมุมนี้เสมอ ยามเมื่อทำบุญเซ่นอัลลาห์ ทุกคนเลือกแกะหรือลูกวัวตัวอ้วนไม่ใช่หรือ (…)  ส่วนหญิงคนผอมคุยว่าอัลลาห์สร้างให้เธอเรียวบางเหมือนกิ่งต้นป้อบปลา(poplar tree) ไหวพลิ้วเหมือนกิ่งต้นไซเพรส(cypress)  ไม่ว่าเธอจะลุกจะนั่ง เธอเบาอ่อนช้อยในขณะที่คนอ้วนหนักเหมือนช้างสาร มีหน้าท้องดั่งหนึ่งภูเขาสูง เดินเหมือนเป็ด หายใจดังเหมือนควาย(..)   หญิงผมทองคุยว่า สีของเธอทำให้ทองมีค่า ทำให้ดวงอาทิตย์มีพลังและดวงจันทร์งามเด่น  สีของเธอเป็นสีของความสุกงอม  สีของเธอจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์โดยมีความงามเป็นบรรทัดฐาน มีเสน่ห์เป็นจุดหมายปลายทาง(..)   หญิงผมสีน้ำตาลคุยว่า สีของเธอเป็นสีของน้ำผึ้ง  เธอขอบคุณอัลลาห์ที่ไม่ได้สร้างให้เธออ้วนไม่มีรูปร่างหรือผอมอมโรค ขาวซีดเหมือนปูนปลาสเตอร์ ดำเหมือนผงถ่าน หรือเหลืองเป็นน้ำหนองแต่สร้างให้เธอมีคุณสมบัติสมบูรณ์ที่สุด(..)  เจ้านายได้ฟังทั้งหกคนแล้วมิอาจตัดสินได้ว่าใครดีกว่าใคร และโอบอุ้มพวกเธอทุกคนไว้ด้วยความรักและภูมิใจ   สรุปสั้นๆจากเรื่องนี้ได้ว่า ในการชิงดีชิงเด่นนั้นวาทะศิลป์เป็นเครื่องมือสำคัญที่เอาชนะหัวใจของเจ้านายในนิทานอาหรับ  และแน่นอนไม่ใช่การตบตีกัน  
       ความทุกข์มหันต์สำหรับชาวอาหรับคือเมื่อจับได้ว่าภรรยามีชู้หรือเมื่อทาสสาวเอาใจออกห่าง  ในกรณีนี้ก็มีการกลั่นแกล้งแก้แค้นกัน สร้างเหตุการณ์ ต่อเรื่องราวออกไปอีก เหมือนเป็นเรื่องซ้อนเรื่อง แล้วคลายปมในตอนจบ  เราไม่ลืมว่าจุดเริ่มต้นของนิทานพันหนึ่งทิวา ก็มาจากการมีชู้และการแก้แค้นนั่นเอง  หรือตัวอย่างในนิทานคนล้างเครื่องใน (Le Nettoyeur des tripes, I. p. 865-869) เมื่อภรรยาจับได้ว่าสามีไปร่วมรักกับสาวใช้ที่ขี้ริ้วขี้เหร่ของตน ก็ออกไปเสาะหาผู้ชายที่มีสภาพสารเลวที่สุดมาเป็นชู้ เป็นการแก้แค้นกัน คงมีอาหรับเท่านั้นที่อุตริแบบนี้!  แต่ก็มีบางเรื่องที่จบลงดื้อๆโดยไม่เสียเหลี่ยมนักเพราะผู้เล่าถ่อมตนเบนความรับผิดชอบไปสู่อัลลาห์ผู้เป็นพหูสูตที่แท้จริงแต่ผู้เดียวและผู้จะบันดาลให้เป็นไปตามความเหมาะสมซึ่งคนเล่าเองไม่สามารถหยั่งรู้ได้เป็นต้น  ในแง่ของกระบวนการแต่ง แบบภาพสะท้อนที่สะท้อนต่อๆไปไม่รู้จบ  ดูเหมือนว่าชาวอาหรับชำนาญเป็นพิเศษในศิลปะนี้  ที่ทำให้นึกถึงห้องหับต่างๆมากมายภายในฮาเร็มที่มีผู้หญิงเข้าห้องนั้นออกห้องนี้ หรือคนหนึ่งเข้าไปแต่ออกมาเหมือนอีกคนหนึ่งเพราะปลอมแปลงตนแล้วเป็นต้น  เทคนิคนี้นำไปสู่กระบวนการแต่งเรื่องอาชญากรรมซ่อนเงื่อนและเรื่องสืบสวนสอบสวน

       ตัวละครและสถานที่ในวรรณกรรมเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นชื่ออาหรับ (มีชื่อเปอร์เซียปะปนอยู่ด้วยบ้าง) โดยเฉพาะชื่อตัวละครหากเขียนทับเสียงอ่านมาเท่านั้นเช่นชื่อเปอร์เซียในนิทาน มักไม่ทำให้เราเข้าใจ และคิดเพียงว่าเป็นชื่อเฉพาะ แต่ทุกชื่อน่าจะมีความหมายในภาษาเดิม โชคดีอนันต์ที่มาร์ดรู้สแปลชื่อตัวที่เป็นชื่ออาหรับของแต่ละคนแบบคำต่อคำ  ชื่อจึงดูยาวแต่ได้เก็บความหมายทุกคำของชื่อดั้งเดิมไว้  ให้อรรถรสแก่ผู้อ่าน ทั้งยังทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าใกล้ชิดผู้นั้นมากขึ้น  เหมือนให้โอกาสเข้าไปในห้องส่วนตัวที่เก็บความคิดความฝันของคนนั้น  ชื่อทาสสาวๆหรือทาสหนุ่มในนิทานเป็นชื่อแบบสมญานาม  ชื่อเหล่านี้จึงเป็นเหมือนบทกวีในตัวเอง และทำให้เรานึกจินตนาการคุณสมบัติของเจ้าของชื่อได้ดีกว่า หรือจินตนาการความคิดหวังของบิดามารดาผู้ตั้งชื่อให้ลูก  ชื่อไทยที่แปลไว้แบบคำต่อคำตามแนวที่มาร์ดรู้สได้แปลชื่ออาหรับเป็นชื่อในภาษาฝรั่งเศส ให้ไว้เป็นตัวอย่างณที่นี้  ชาวตะวันตกหลายคนคิดว่าความหมายของชื่อคนเอเชียนั้นเป็นเหมือนบทกวี เพิ่มเสน่ห์ให้เจ้าของชื่อ รวมทั้งแสดงบุคลิกเฉพาะของคนนั้น  อาจฟังดูเชยๆแต่มีความหมายดี เช่น Rose-dans-la-Calice (กุหลาบในแก้วเหล้า) Délices-du-Monde (มธุรสในปถพี) Fraîcheur-des-Yeux (ความสดชื่นของสายตา) Glaive-du-Christ(ดาบพระคริสต์,ชื่อผู้ชาย) Grain-de-Corail (เม็ดปะการัง) Douce-Amie (เพื่อนหญิงผู้อ่อนโยน) Canne-à-Sucre (อ้อย) Bouquet-de-Perles (ช่อไข่มุก) Coeur-de-Grenade (ใจทับทิม) Sourire-de-Lune(ยิ้มของดวงจันทร์) ส่วนชื่อหญิงคนทรามเช่น Mère-des-Calamités (แม่แห่งความหายนะ) หรือ la vieille reine Sauterelle (ตั๊กแตน-ราชินีแก่) เป็นต้น
       ความกตัญญูเป็นคุณธรรมหนึ่งที่ปรากฏสรรเสริญไว้ในนิทานพันหนึ่งทิวาด้วยเสมอ เช่นขุนวังต่อองค์สุลต่านสรรเสริญโดยการเปรียบคุณงามความดีของพระองค์ว่าเป็นดั่งสร้อยประดับคอ  ส่วนนิ้วของพระองค์ไม่ใช่นิ้วธรรมดาๆแต่คือกุญแจแห่งความดีงาม(I,112) อาหรับมักยืนยันว่าจะแซ่ซ้องสรรเสริญพระองค์ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และเมื่อตายไปแล้วกระดูกทุกชิ้นก็ยังสำนึกรู้คุณพระองค์ไปชั่วกัลปาวสาน(I,252)  ความรักความปรารถนาก็เช่นกันจะติดตามไปในหลุมศพด้วย เช่นที่กวีอิหร่าน(Hâfez de Shirâz ศต.14) กล่าวไว้อย่างจับจิตและเย็นเยือกหัวใจว่า ที่รัก เหมือนสายลมยามเจ้าผ่านมาเหนือสุสาน อยู่ในหลุมข้ากระสันอยากได้เจ้า จนฉีกทึ้งผ้าห่อศพ[23]

       อนิจจัง  ความสำนึกที่ว่าชีวิตเป็นอนิจจังก็มีรำพึงรำพันไว้พร้อมกับกระตุ้นให้คนพยายามหาความสุขจากชีวิตในแต่ละขณะแม้เป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม  และแนะให้คนเป็นดั่งอัศวินนักขี่ม้าผู้เดินทางไปทุกแดนดินไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เพราะพาหะของเขาคือกาลเวลา เช่นในนิทานกษัตริย์โอมาร์ อัล-เนมัน(Histoire du Roi Omar Al-Némân, I,331) มีบทกวีแทรกไว้ว่า จงหาความสุขจากโลกและจากชีวิต เพราะแม้โลกจะคงอยู่แต่ชีวิตนั้นไม่หยุดนิ่ง(วันเวลาเหมือนวัยที่ผ่านไปไม่หวนกลับ)  จงรักชีวิตและหาความสุขจากชีวิตเถิด แต่ด้วยจิตสำนึกว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  รีบกอบโกยความสุขจากชีวิตเถิด แม้เพียงชั่วขณะ และสำนึกไว้เสมอว่านอกจากความรักชีวิตแล้ว สิ่งอื่นใดทั้งหมดทั้งปวงคือความว่างเปล่า คือความเปล่าประโยชน์ โลกควรเป็นเพียงกระท่อมที่พักชั่วคราวของอัศวินนักเดินทาง  เพื่อนเอ่ย จงใช้ชีวิตเหมือนอัศวินผู้ท่องโลก นั่นคือไม่ผูกพันอยู่กับที่ใดหรืออยู่กับใครและไม่หยุดเดินทางเพราะม้าพาหะของอัศวินคือกาลเวลา  บางทีก็เน้นว่าเส้นทางชีวิตของแต่ละคนถูกกำหนดไว้แล้ว เราต้องเดินไปตามทางนั้น อย่าหลงระรื่นเกินไปในยามสุข หรือระทมเศร้าสาหัสในยามทุกข์ เพราะไม่มีอะไรยั่งยืน(I,56)  ค่านิยมแบบนี้จึงส่งเสริมให้อาหรับรักและรับผู้หญิงคนสวยที่พระเจ้าบันดาลให้มาปรากฏบนวิถีชีวิตเขา ให้หาความสุขจากนางโดยไม่รีรอเพราะโชคลาภไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน และเหมือนอิสตรีโชคลาภก็ผันแปรหันหวนได้เสมอ  นอกจากนี้ความตายก็คอยทุกคนอยู่ ไม่ว่าเป็นกษัตริย์หรือไพร่  เบื้องหน้าสายตาของพระผู้เป็นเจ้าไม่มีพื้นที่ดินสูงๆต่ำๆ โลกถูกเกลี่ยเป็นระดับเดียวเสมอกันทั้งหมด และไม่มีคนไหนต่ำต้อยน้อยหน้า ไม่มีใครสามารถผึ่งผายอวดดีเหนือกว่าคนอื่น(I,232)  ผู้ที่เคยยืนตัวตรง สง่าและองอาจ เคยเดินมุ่งหน้าสู้แสงอาทิตย์  จักมีวันหนึ่งเมื่อเขาหัวสั่นปากสั่นและหลังค่อม เพราะน้ำหนักของตัวเองกดทับ เพราะโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน  ชีวิตเหมือนถูกตรึงแน่นกับที่เมื่อหมดแรงเคลื่อนไหว (เพราะฉะนั้นอย่าได้เย่อหยิ่งนักในวัยฉกรรจ์)(I,225)
       คุณสมบัติหนึ่งที่ชาวอาหรับยกย่องคือการรักษาความลับของคนอื่น คนเก่งจริงเท่านั้นที่รู้จักเก็บความลับไว้ได้เพราะคนสามัญมักจะขายความลับเพื่อแลกผลประโยชน์  คนดีจริงๆเท่านั้นที่รู้จักรักษาคำพูด  ดังนั้นอาหรับคนไหนที่คุยว่ามีคุณสมบัตินี้เปรียบตนเองว่า เหมือนบ้านที่มีประตูปิดลั่นกุญแจลงกลอนอย่างแน่นหนาและกุญแจที่ใช้เปิดก็หายไปเสียแล้ว(tome I,45) 

       การทรยศหักหลังก็มีตัวอย่างในพันหนึ่งทิวาหลายเรื่อง เพราะความต้องการเงิน ต้องการอำนาจ  คนมีทรัพย์สินเหมือนต้นไม้ที่มีคนห้อมล้อมตราบใดที่ต้นไม้นั้นให้ผลไม้   หยุดให้ผลเมื่อไรผู้คนย่อมจากไปหาต้นไม้อื่นที่ดีกว่า นี่เป็นโรคระบาดในสังคมสมัยนี้ ยังไม่เคยเห็นใครรอดพ้นจากโรคร้ายนี้เลย เพราะฉะนั้นคนจนที่ต้องแบมือขอทาน ห่อเหี่ยวเหมือนอูฐที่ห่างตาน้ำมาห้าวัน และหากไม่มีเงิน ต่อให้เป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้เหนือคนอื่นหรือมีคุณธรรมแรงกล้ากว่าแสงอาทิตย์ ก็จะโชคร้ายตลอดไป(tome I,236)  ความท้อแท้ของคนดีที่ใฝ่หาโชคลาภแต่ไม่เคยพบเพราะผู้คนต่างยืนยันว่า โชคลาภได้ตายหายสาบสูญไปจากโลกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเหมือนกับว่าคนดีถูกโชคชะตาทอดทิ้งและบ้านเมืองก็ตกอยู่ในมือของคนโง่เขลาเบาปัญญา(tome I,21)  ปราชญ์อาหรับจึงสอนว่า ถ้าวันหนึ่งโชคลาภมาถึงประตูหน้าบ้านเจ้า จงอย่าได้รีรอ ให้ออกไปคว้ามาไว้  เจ้าจะเสพสุขจากโชคลาภได้ตามอำเภอใจและอย่าลืมเลี้ยงดูปูเสื่อเพื่อนฝูงเจ้าด้วย  ถ้าโชคลาภตัดสินใจอยู่บ้านเจ้าอย่างถาวรล่ะก็  เจ้าจงใช้อย่างใจกว้างและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะไม่ใช่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่จะทำให้เจ้าจนลง  ถ้าโชคลาภตัดสินใจจะทิ้งเจ้าไป ก็ไม่ใช่ความตระหนี่หรอกที่จะฉุดมันไว้อยู่ (tome I,235)  ความจริงเกี่ยวกับเงินนี้ ดูเหมือนว่าเป็น มรดกของมนุษยชาติมาแต่โบราณ ในทุกยุคทุกสมัย และทุกที่ในโลกมนุษย์
       บทสอนใจ  คติสอนใจมีแทรกไว้ด้วยเสมอในพันหนึ่งทิวา เช่นสอนให้เข้าสมาคมในหมู่ผู้ดี จากตระกูลดี กับคนที่มีพ่อแม่ดี และให้หลีกเลี่ยงการคบหาสมาคมกับคนต่ำๆ จากตระกูลต่ำ หรือมีพ่อที่ไม่ดีเป็นต้น(tome I,223) หรือเตือนให้เห็นว่าโลกนี้เต็มไปด้วยภัยหลากหลายรูปแบบ และคนก็ไม่อาจสู้รบรับมือภัยเหล่านี้ได้ทั้งหมด ดังที่แนะไว้ในบทนี้ บ่อยๆที่คนตาบอด ตาบอดตั้งแต่เกิด รู้จักหลบหลุมซึ่งคนตาดีตาใสจะตกลงไป  บ่อยๆที่คนโง่รู้จักหลีกเลี่ยงคำพูดที่เมื่อคนฉลาดหรือนักปราชญ์กล่าวแล้ว พาเขาไปสู่ความหายนะ  บ่อยๆที่คนใจบุญ คนเคร่งศาสนา ต้องจมอยู่ในทุกขเวทนา  ในขณะที่คนใจร้าย คนบ้า ต่างสุขสำราญเจริญใจ  มนุษย์เอ่ย จงรู้สำนึกถึงความอ่อนแอของเจ้า  มหันตภัยกำลังครองโลกอยู่ (I,154)  หรือสอนว่าอย่าสวดมนต์ต่ออัลลาห์เพื่อขอนั่นขอนี่  ว่า การสวดมนต์จะงามหรือศักดิ์สิทธิ์ก็ต่อเมื่อเป็นการยกระดับจิตใจขึ้นสูง(I,367)

       สุลต่านที่ดีนั้นเป็นผู้รักษาศรัทธาของประชาราษฎร์ ทำนุบำรุงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินและป้องกันสิทธิของข้าแผ่นดิน(I,342)  คำพูดตอนหนึ่งที่น่าประทับใจจากปากของสุลต่านคนหนึ่งในพันหนึ่งทิวา ผู้กล่าวกับบุคคลที่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุดสามคนว่า “(กับกาดี - kadi ผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีต่างๆทั้งด้านกฎหมาย การศาสนาและสังคมพลเรือนแทนองค์กาลิฟ)  ข้ามอบหมายอำนาจหน้าที่สูงสุดของผู้นำในการพิจารณาตัดสินความแก่เจ้า ขอให้เจ้าจงมีจิตสำนึกเยี่ยงขัตติยกษัตริย์  (กับพ่อครัว) ข้ามอบร่างกายของข้าให้เจ้าดูแล ต่อแต่นี้ไปร่างกายข้าขึ้นอยู่กับอาหารที่เจ้าทำ ขอให้เจ้ารู้จักทำนุบำรุงมันด้วยศิลปะที่ไร้ความรุนแรง (กับผู้จดพระราชโองการ) ข้ามอบหมายให้เจ้าเป็นผู้ถ่ายทอดความคิดและสติปัญญาของข้า ขอให้เจ้ารู้จักเก็บรู้จักจดไว้อย่างถูกต้องเพื่อถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นต่อๆไป(I, 365) 

       กาลิฟหรือสุลต่านในพันหนึ่งทิวา มักเป็นคนอยากรู้อยากเห็น อยากฟังเรื่องแปลกๆใหม่ๆที่เกิดขึ้น ที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาตินิสัยถาวรอย่างหนึ่งของชาวอาหรับ  กาลิฟมักให้สัญญาเสมอว่า จะไม่ลงโทษหรือโกรธคนเล่าไม่ว่าในกรณีใดๆ  บ่อยๆที่พระองค์ตกรางวัลให้คนเล่าด้วย เพราะอย่างน้อยก็ในฐานะที่ทำให้พระองค์ได้ฟังเรื่องผจญภัยสนุกๆแก้รำคาญไปได้อีกหนึ่งวันเป็นต้น  และหากยิ่งเรื่องสนุกมาก ก็สั่งให้ราชเลขาจดบันทึกไว้สำหรับเล่าต่อๆกันไป  บางทีก็ให้ความร่วมมือหรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาคลี่คลายเหตุการณ์ในนิทานเลย เช่นในเรื่องนิทราชาคริตเป็นต้น   สุลต่านฮะรุนอัลราชีดโดยเฉพาะ เป็นที่รู้จักกันดีว่าชอบปลอมแปลงพระองค์ออกไปเดินตามตรอกซอยในเมืองแบกแดดยามราตรี โดยมีอัครมหาเสนาบดีหนึ่งคน(vizier) และนายทหารส่วนพระองค์ผู้มีหน้าที่อัญเชิญดาบประกาศิตของสุลต่าน(le porte-glaive)  ทั้งสามปลอมแปลงตนด้วยและไปคอย หาเรื่องสนุกๆที่เชิงสะพานเมืองแบกแดด ที่ที่ผู้คนเข้าออกจากเมือง  และจะกระโดดเข้าร่วมวงกับชาวบ้าน พ่อค้าหรือคหบดีที่โอกาสอำนวยให้ผ่านไปบนสะพานนั้น[24]  เป็นการตรวจราชการดูแลทุกข์สุขของประชาราษฎร์ไปด้วยอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นความบันเทิงส่วนพระองค์ด้วยที่ได้พบเห็นพูดคุยกับคนแบบต่างๆ 

       เรื่องเล่าสั้นๆที่จบในตัวและไม่เกี่ยวกับเรื่องใดก็มีมากเช่นกัน เหมาะกับการอ่านให้เด็กฟังจบไปได้ทีละเรื่องเป็นนิทานก่อนนอนที่ดี  ดังตัวอย่างที่นำมาเล่าสั้นๆเรื่องนี้   เล่ากันว่ามีชายหนุ่มรูปงามผู้หนึ่งเกิดในตระกูลมั่งมี เป็นผู้ที่ใฝ่หาความรู้ หมั่นเพียรเรียนจนจบจากทุกสำนักในเมืองแล้วก็ยังกระหายอยากรู้อยากเสริมสติปัญญาของตนอยู่เสมอ วันหนึ่งมีคนเดินทางผ่านเข้าไปในเมืองนั้นและเล่าให้ฟังว่า เมืองอันไกลโพ้นมีนายช่างตีเหล็กที่คงแก่เรียนเปี่ยมด้วยปัญญาและเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม  ชายหนุ่มได้ฟังดังนั้นตัดสินใจลุกขึ้นเดี๋ยวนั้นเดินทางไปหาวิชาจากช่างตีเหล็ก  เขาเดินอยู่สี่สิบวันสี่สิบคืนจึงไปถึง พอเอ่ยปากถามถึงนายช่างตีเหล็ก ทุกคนก็ชี้ทางให้ทันที  เมื่อเข้าไปในโรงเหล็กเขาน้อมตัวลงจูบชายเสื้อของนายช่างและยืนสำรวมในท่าคารวะครู  ครูเฒ่าอายุมากแล้วแต่สีหน้าและแววตาอิ่มเอิบสมบูรณ์ทั้งภายในและภายนอก  ครูถามว่า ลูกเอ่ย ! เจ้าต้องการอะไรหรือ?  เขาตอบครูว่าเขาต้องการวิชาความรู้  ครูเฒ่ายื่นเชือกที่ผูกต่อกับที่เป่าลม(สำหรับเป่าลมเข้าเตาหลอมให้ไฟลุกโพลงเสมอ) บอกเพียงว่าจงดึงเชือก  ชายหนุ่มของเราฟังแล้วปฏิบัติทันทีไปจนถึงตะวันตกดิน และเป็นเช่นนี้อีกในวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆมาโดยที่ไม่มีใครในหมู่สานุศิษย์จำนวนมากของครูหรือแม้แต่ครูเองจะปริปากพูดอะไรกับเขาเลย  ห้าปีผ่านไป  ชายหนุ่มรวบรวมความกระดากอายไปยืนสำรวมเบื้องหน้าและเรียกครู  ครูหยุดชะงักจากงานที่กำลังทำ สานุศิษย์อื่นๆทั้งโรงงานก็เช่นกัน ต่างมองเขาด้วยความกระวนกระวายใจ  ในความเงียบสงัดครูถามเขาว่า เจ้าต้องการอะไรหรือเขาตอบว่า ศาสตร์วิชาครูพูดเพียงว่าจงดึงเชือกและไม่พูดอะไรอีกเลย เช่นนี้วันแล้ววันเล่าจากเช้ายันค่ำ สานุศิษย์ทั้งหมดต่างก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานที่ครูให้ทำในความเงียบ ไม่มีใครเคยพูดเคยบ่นใดๆทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตามถ้าศิษย์คนใดมีคำถาม เขาอาจเขียนลงกระดาษและมอบให้ครูในตอนเช้า เมื่อเข้าไปในโรงตีเหล็ก  ส่วนครูเมื่อรับแผ่นคำถามมักจะโยนลงเตาไฟไปเลยโดยไม่เปิดอ่านและทุกคนรู้ว่านั่นเพราะครูรู้ว่าเป็นคำถามที่ไร้ค่าไร้ความหมายใดๆ  หากครูเหน็บกระดาษคำถามไว้ในผ้าโพกผมล่ะก็ เย็นวันนั้นศิษย์ผู้ถามจะเห็นคำตอบของครู เขียนจารึกด้วยอักษรทองบนกำแพงในห้องของเขา  เช่นนี้ผ่านไปอีกห้าปี  เมื่อครบสิบปี ครูเดินมาหาชายหนุ่ม วางมือลงบนบ่าเขา  ชายหนุ่มคลายมือปล่อยเชือกตกลงเป็นครั้งแรก รู้สึกปลื้มปิติไปทั้งเรือนร่าง  ครูพูดว่า เจ้ากลับไปถิ่นฐานบ้านเมืองของเจ้าได้แล้ว พร้อมด้วยศาสตร์วิชาทั้งหมดเกี่ยวกับโลกและชีวิตในหัวใจเจ้า ทั้งหมดนี้เจ้าได้เรียนได้รู้ด้วยตนเองเมื่อเจ้าฝึกจนรู้จักคุณธรรมของความอดทน แล้วครูสวมกอดเขา ชายหนุ่มเดินทางกลับบ้าน เบิกบานแจ่มกระจ่างในจิตใจและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในหมู่มิตรสหาย  ตามองแจ้งและเห็นความจริงทุกอย่างในชีวิต

 

สภาพสังคมในยุคของพันหนึ่งทิวา

       ในประวัติศาสตร์ ศตวรรษที่10 เป็นศตวรรษที่วรรณกรรมและจิตสำนึกของอิสลามเจริญพัฒนาถึงจุดสูงสุด  เป็นยุคของแคว้นเล็กๆจำนวนมาก  ต่างปกครองเป็นอิสระต่อกัน  แคว้นเหล่านี้กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมด้วย  เพราะกาลิฟเจ้าผู้ครองแต่ละแคว้นชักจูงและเลี้ยงดูกวีและศิลปินจากทิศต่างๆไว้ในราชสำนัก   ค่านิยมและความภูมิใจของแต่ละแคว้นคือการได้ชื่อว่าเป็นศูนย์ศิลปะวิทยาของโลก  ในยุคนี้เหมือนกันที่โลกอิสลามมีนักปราชญ์นักวิทยาศาตร์ที่มีชื่อเสียงมากคือ อาวีแซน(Avicenne, 980-1037 เป็นชาวอิหร่าน ชื่อในภาษาอาหรับว่า Abu 'Ali Husayn Ibn Abdallah Ibn Sina)  เขาเป็นผู้แปลและผู้วิเคราะห์วรรณกรรมของอริสโตเติลและเปลโต  จึงเป็นผู้แนะนำปรัชญา อันเป็นศาสตร์แห่งความคิดด้วยเหตุผลแก่ชาวมุสลิม  นอกจากนี้ก็มีนักปราชญ์อาเวร์โรเอซ(Averroes ibn Rushd,1126-1198) เป็นชาวอาหรับเกิดในสเปนที่เมืองอรโดบา(Córdoba)  เป็นผู้คิดวิเคราะห์ วิจักษ์และสังเคราะห์บทเขียนต่างๆของอริสโตเติลด้วยหลักตรรกวิทยา  ปราชญ์อาหรับทั้งสองเป็นที่ทึ่งสนเท่ห์อย่างมากในหมู่ปัญญาชนยุโรปและได้รับการยกย่องอย่างสูง โดยเฉพาะเมื่อชาวตุรกีเปลี่ยนมานับถืออิสลามในศตวรรษนี้ ยิ่งทำให้โลกของอิสลามเป็นศูนย์มันสมองของศาสตร์วิชาต่างๆของมนุษย์  เมืองคอนสแตนติโนเปิล[25]ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูลในคริสต์ศตวรรษที่15 ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่สวยที่สุด ที่มหัศจรรย์ที่สุดในโลกยุคกลาง ทั้งในแง่ที่เป็นศูนย์ศิลปะ ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์ความรู้และวิทยาการแนวหน้า  ศิลปะวิทยาในหมู่มุสลิมด้วยกันนั้นไม่มีพรมแดนและกระจายถึงกันและกันตลอดเวลา   ปัญญาชนมุสลิมได้เรียนรู้จากอารยธรรมโบราณและเพิ่มพูนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยการคิดวิเคราะห์ของพวกเขาซึ่งต่อมาในศตวรรษที่ 12 เริ่มแพร่เข้าสู่ยุโรป   ด้านดาราศาสตร์อัลบีรูนี(Al-Birouni) ได้จัดทำสารานุกรมดาราศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11  ด้านคณิตศาสตร์ชาวมุสลิมได้วางพื้นฐานของศาสตร์เกี่ยวกับตัวเลข เลขศูนย์ พีชคณิต ลอการิทึมและแม้ว่าชาวมุสลิมจะไม่ได้เป็นผู้คิดประดิษฐ์ตัวเลขอาราบิค(ที่มาจากของอินเดีย) ที่ทุกชาติใช้กัน แต่ก็เป็นผู้นำเข้าเผยแพร่ในโลกตะวันตก  ด้านการแพทย์ หมอชาวมุสลิมซึ่งศึกษาจากแพทย์กรีกโบราณ จากผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์ ฮิปโปคราเตซและกัลแลนุซ (Hippokratês และGalênus) ทั้งสองมีอิทธิพลต่อการแพทย์ของยุโรปจนถึงศตวรรษที่ 17 และปราชญ์อาหรับได้เสริมทฤษฎีการรักษาโรคให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากประสบการณ์การรักษาคนไข้  หมออาหรับได้ชื่อว่าเป็นแพทย์ที่ดีเลิศ  พวกเขาถ่ายทอดความรู้ไว้ให้กับศูนย์ศึกษาแพทย์ที่เมืองซาแลร์โน(Salerno)ในอิตาลีตอนใต้(โดยเฉพาะในระหว่างศตวรรษที่ 11-12)   อาวีแซนได้เขียนหนังสือสารานุกรมแพทย์ที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงและคู่มือของหมอทั้งในตะวันออกกลางและในยุโรป  ด้านภูมิศาสตร์ก็เช่นกันชาวมุสลิมไม่ได้หยุดอยู่ที่การศึกษาภูมิประเทศ หากผนวกเอามิติด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมเข้าไปด้วย  จะเห็นว่าอิทธิของอารยธรรมอิสลามในด้านศิลปวิทยานั้นไม่น้อยเลยและยังมีอีกมากที่ไม่อาจนำมากล่าวในที่นี้ได้หมด  เกาะซิซิลี (Sicilia อ่านว่า ซิชี้เลียในภาษาอิตาเลียน) ในศตวรรษที่11-12 นั้นเป็นศูนย์พิเศษสุดที่ที่อารยธรรมตะวันตกพัฒนาเบิกบานโอบรับเอาวัฒนธรรมตะวันออก วัฒนธรรมไบแซนไทน์กับวัฒนธรรมมุสลิมเข้าไว้ได้อย่างลงตัว  จากที่นี่ทุกอย่างแพร่ออกไปทั่วคริสตจักร
      
ยุคเดียวกันนี้ในยุโรป ก็เป็นยุคที่จิตสำนึกเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาพุ่งขึ้นสูงสุดเช่นกันที่สืบต่อไปจนถึงศตวรรษที่13   มีสำนักนักบวชคติต่างๆเกิดขึ้น  ความเคร่งครัดในการครองตนของนักบวชสร้างศรัทธาและความเลื่อมใสแก่ชาวคริสต์และในที่สุดผลักดันให้พวกเขานึกถึงชีวิตหลังการตาย ถึงการจะได้เป็นอยู่ในสวรรค์ไหมอย่างไร  ศรัทธาและความมุ่งมั่นดังกล่าวทำให้มีการเดินทางจาริกทั้งส่วนบุคคลหรือไปเป็นกลุ่มสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์   เมืองเยรูซาเล็มได้ตกอยู่ในการควบคุมของชาวอาหรับเติร์กสายเซ็ลจูกิดส์(Seldjoukides) ตั้งแต่ปี 636 และตั้งแต่ปี 1078  แต่จนถึงปลายศตวรรษที่ 11 ไม่มีสันตะปาปาหรือพระราชาคณะคนใดที่คิดเรื่องการกู้ดินแดนศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมาสู่ชาวคริสต์   การตัดสินใจทำสงครามครูเสดตรงกับเวลาที่คริสต์จักรตระหนักถึงผลประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนและความจำเป็นในการรักษาเส้นทางเดินเรือค้าขาย รวมทั้งแฝงความหวังของการเผยแพร่และจรรโลงคริสต์ศาสนาให้กว้างไกลออกไปในตะวันออกกลางด้วย   การที่ชาวคริสต์ในยุโรปได้ไปถึงตะวันออกกลางเท่ากับมีโอกาสเห็นบ้านเมือง วิถีชีวิตและมีประสบการณ์โดยตรงในโลกของชาวมุสลิม  พวกครูเสดได้นำสินค้าแพรไหมและศิลปะวัตถุรูปแบบต่างๆที่แปลกใหม่กลับมายุโรป  สงครามครูเสดมีทั้งหมดเก้าครั้ง  ผลพลอยได้ทางวัฒนธรรมเห็นได้ชัดในสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ที่เริ่มขึ้นในยุโรป  ศิลปะของจิตรกรรมน้อยของอาหรับนำไปสู่การสร้างสรรค์ประติมากรรมรูปปั้นขนาดใหญ่  นอกจากนี้ยังทำให้ชนชั้นผู้ดีในยุโรปหันกลับไปนิยมวรรณกรรมอัศวินกับระบบศักดินา  ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับตะวันออกโดยเฉพาะที่เรียกว่าออริอ็องตาลิซึม(Orientalisme) ตั้งแต่นั้นมา แต่สถาบันภาษาตะวันออกศึกษา(L'Ecole des langues orientales) ตั้งขึ้นในปี 1795 เท่านั้นที่กรุงปารีส และทำให้ฝรั่งเศสมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตะวันออกทั้งตะวันออกกลางและเอเชียทั้งหมด  การแปลนิทานพันหนึ่งทิวาเป็นภาษาฝรั่งเศสก็เป็นไปตามแนวโน้มและความต้องการใหม่นี้

 

ความนิยมพันหนึ่งทิวาในยุโรป

       เมื่อหนังสือพันหนึ่งทิวาออกสู่ยุโรป  ได้แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความสำเร็จทันที   ในสถาบันภาษาตะวันออกศึกษาได้นำนิทานพันหนึ่งทิวาเป็นหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับการสืบทอดวรรณกรรมมุขปาฐะที่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางพ้นพรมแดนสู่ทั่วภาคพื้นเอเชียตะวันออกกลาง   นักเขียนฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ต่างหลงใหลอยากรู้เกี่ยวกับดินแดนตะวันออกกลาง  พันหนึ่งทิวาได้เป็นหนังสือวางไว้ข้างเตียงนอนของชาวยุโรปในแบบของหนังสือนิทานก่อนนอนสำหรับเด็กถึงผู้ใหญ่   เด็กได้ความสนุกตื่นเต้นกับการผจญภัยไปในที่ต่างๆ   ผู้ใหญ่อาจเสพความสุขจากนิยายรักๆใคร่ๆ    นักเขียนได้แนวการประพันธ์แนวใหม่เป็นต้น  เช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือพันหนึ่งทิวาติดอันดับหนังสือยอดนิยมที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์อาแช็ต(Hachette) ของฝรั่งเศส[26]   ดูเหมือนไม่มีผู้ใดใส่ใจว่า พันหนึ่งทิวามิได้เป็นวรรณกรรมที่ยอมรับอย่างเป็นทางการของชาติอาหรับชาติใด 

       มาร์เซลพรู้สต์ (Marcel Proust, 1871-1922 นักเขียนฝรั่งเศส)[27] หนึ่งในนักเขียนฝรั่งเศสในยุคที่ชาวยุโรปทุกคนติดนิทานพันหนึ่งทิวา ได้พูดถึงนิทานชุดนี้ในนวนิยายของเขาเรื่อง A la Recherche du temps perdu [อะ ลา เรอแชรฺชฺ ดู ต็อง แปรฺดู] (ค้นหาเวลาที่เสียไป) และเจาะจงฉบับที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสจากนักแปลสองคน  ฉบับแรกเป็นงานแปลของอ็องตวน กัลล็อง(Antoine Galland, 1646-1715)[28] ที่มีทั้งหมดสิบสองเล่ม และพิมพ์ที่ปารีสระหว่างปี 1704-1717  ฉบับที่สองเป็นผลงานแปลของนายแพทย์โจเซฟ ชาลส์ มาร์ดรู้ส (Dr.Joseph-Charles Mardrus, 1868-1949 ดูรายละเอียดที่เชิงอรรถ 2) พิมพ์ที่ปารีสระหว่างปี 1899-1904 พรู้สต์เขียนแนะให้คิดว่าเขาชอบงานแปลของกัลล็องมากกว่า (Proust II, 836-837) งานแปลของทั้งสองจากสองศตวรรษเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในวงวรรณกรรมยุคปลายศตวรรษที่19 ต้นศตวรรษที่20 และทำให้แบ่งผู้อ่านออกเป็นสองฝ่ายด้วย[29]
      
ฉบับของกัลล็องเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสที่ไพเราะสละสลวยและสุภาพ  ตัดฉากภายในเรือนเช่นฉากรักออกหมด  ฉบับนี้จึงเป็นหนังสือที่อ่านไปได้คล่องๆแบบนิทานก่อนนอน ไม่น่าเบื่อจากนิทานหนึ่งไปอีกนิทานหนึ่ง  กัลล็องใช้ฉบับในภาษาซีเรียนเป็นหลักและเพิ่มเรื่องเล่าจากแหล่งข้อมูลอื่นๆอีกในภายหลัง  มีนักวิจารณ์กล่าวว่างานแปลของกัลล็องเป็นตัวอย่างที่วิเศษที่สุดที่ชี้ให้เห็นว่าเนื้อเรื่องถูกดัดแปลงไปได้มากเพียงใดในหัวของปัญญาชนยุคพระเจ้าหลุยส์ที่14  เพราะมีการดัดแปลงงานแปลของเขาให้เหมาะกับการอ่านภายในราชสำนักในหมู่ข้าราชบริพาร   เนื้อเรื่องถูกกลั่นกรองจนไม่เหลืออรรถรสดั้งเดิมของนิทานอาหรับ  เนื้อหาก็ถูกตัดออกไปมากกว่าสามในสี่ส่วนของวรรณกรรมทั้งหมด  กาพย์กลอนที่แทรกเข้าจากกวีอาหรับต่างๆก็ไม่เหลือหลอ   ตัวละครในนิทานไม่ว่าสุลต่าน ขุนนางผู้ใหญ่หรือเหล่าสตรีอาหรับมีสำนวนคำพูดแบบในราชสำนักที่แวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์   พูดสั้นๆคือทั้งเนื้อหาและภาษาที่ใช้สุภาพ เหมาะสมและดีงามสำหรับสุภาพชนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง ชั้นกลางหรือสามัญชน  ในปีต่อๆมามีการพิมพ์งานแปลของกัลล็องอีกหลายครั้งก่อนที่งานแปลของมาร์ดรู้สจะออกสู่ตลาด   ฉบับของกัลล็องเป็นที่ยอมรับและยกย่องอย่างเป็นทางการ 
       ฉบับของนายแพทย์มาร์ดรู้ส นั้นแปลจากฉบับอีจิปต์ที่พิมพ์ที่บูลัก(Boulak)ใกล้กรุงไคโร มาร์ดรู้ส คิดว่าเป็นฉบับที่น่าสนใจที่สุดเพราะมีสำนวนโวหาร คำคม คำเปรียบเปรย บทเพลง  บทกลอนสอดแทรกอยู่เต็ม  ภาษาที่ใช้ก็มีใจความกระชับดีกว่าฉบับอื่น  มาร์ดรู้สยังได้ค้นหารายละเอียดปลีกย่อยเพื่อขยายข้อความบางตอนจากฉบับของแม็ก น็อกห์เท็น(Mac Noghten) ฉบับของเบร็สเลา(Breslau) หรือจากจารึกเก่าอื่นๆ  มาร์ดรู้สกล่าวถึงการแปลว่า วิธีแปลวิธีเดียวที่ซื่อตรงต่อความจริงของเนื้อหาและสมเหตุสมผลที่สุด คือการแปลเก็บความจากทุกคำ วิธีนี้เก็บข้อมูลที่ละเอียดและมีอำนาจปลุกความคิดกับกระตุ้นจินตนาการให้ไกลไปถึงแดนนิทานนั้นๆ  จึงทำให้งานแปลมีอำนาจ  นายแพทย์มาร์ดรู้สเป็นชาวอีจิปต์ก่อนมาใช้สัญชาติฝรั่งเศส  เขาได้เรียนรู้ คุ้นเคยและเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมและจิตสำนึกของชาวอาหรับตั้งแต่เกิด โดยส่วนตัวก็สามารถเข้าถึงเนื้อหานิทานตามสปิริตชาวอาหรับอยู่แล้วและคงจะชอบมากด้วย จึงแปลถ่ายทอดเป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งก็เอื้ออำนวยให้เจาะจงความหมายไปถึงรายละเอียดปลีกย่อย หรือขมวดกระชับใจความหรือเสริมแต่งพรรณนาเป็นบทกวีด้วยโวหารทุกรูปแบบ รักษาไว้ได้ครบทุกอรรถรสทั้งรสห่าม รสดิบ รสเปรี้ยว รสแสบของภาษา ต้นฉบับ ซึ่งยากที่ภาษาตะวันออกจะทำได้งามเท่า  งานแปลของมาร์ดรู้สจึงเก็บบรรยากาศแบบอาหรับไว้ได้ครบและยังสามารถสื่อภาพลักษณ์ที่อ่อนช้อยของภาษาอาหรับเหมือนการตระหวัดหางตัวอักษรในขณะที่เขียนหรือการลากเส้นให้ทอดตัวเลื้อยยาวออกไปเป็นต้น[30] แต่ก็มีกลุ่มผู้อ่านที่ประณามว่าเป็นฉบับที่เร้าอารมณ์รักอารมณ์ใคร่[31] นายแพทย์มาร์ดรู้สกล่าวว่า ชาวอาหรับ(ในสมัยก่อน)มองทุกอย่างด้วยอารมณ์ขัน  อะไรที่ชาวยุโรปเห็นว่าลามกอนาจารนั้น มิได้อยู่ในมโนสำนึกของชาวอาหรับ  เพราะทุกอย่างเป็นไปตามครรลองธรรมชาติ เพื่อความสุขความเคลิบเคลิ้มชั่วครั้งชั่วคราวดั่งในความฝัน ในเสียงหัวเราะ ฮา ที่ก้องกังวาน ทั้งแยบยล เป็นระลอกคลื่นหรือกระหึ่ม  ในยุคสมัยของพันหนึ่งทิวานั้น ชาวอาหรับใช้ชีวิตสอดคล้องกับสัณชาตญาณ  ส่วนชาวยุโรปใช้ชีวิตในกรอบที่สังคมกำหนดให้(และเก็บกดความรู้สึกต่างๆไว้) 

       มาร์เซลพรู้สต์คงได้อ่านทั้งสองฉบับที่กล่าวมา  ในนวนิยายเรื่อง A la Recherche du Temps Perdu  ตัวเอกของเรื่องอ่านนิทานอาหรับราตรีตั้งแต่เด็กและยังมีของเล่นที่เกี่ยวโยงกับนิทานบางเรื่อง เช่นตะเกียงที่คล้ายๆตะเกียงวิเศษของอะลาดินเป็นต้น เขาเล่าไว้ว่ามารดาได้ซื้อหนังสือพันหนึ่งทิวาของสองนักแปลเป็นของขวัญวันเกิดแก่เขา(Proust III, 230-231) และบอกด้วยว่ามารดาไม่ค่อยชอบฉบับแปลขอมาร์ดรู้ส แต่เชื่อในสติปัญญาอันชาญฉลาดของลูกว่ารู้จักอ่านและเลือกสรรข้อดีจากฉบับนั้น  นักวิจารณ์ต่างลงความเห็นว่า พรู้สต์ได้ใช้หนังสือพันหนึ่งทิวากับหนังสืออนุทินความทรงจำของแซ็งซีมง (Les Mémoires de Saint-Simon ที่แต่งขึ้นในระหว่างปี 1694-1755)[32] เป็นแบบในการสร้างสรรค์นวนิยายของเขา  แต่นวนิยายของพรู้สต์ มีเนื้อหาที่แตกต่างจากทั้งสองเรื่องมาก   สิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือผลงานของพรู้สต์ และของแซ็งซีมง เขียนขึ้นในยามราตรี เล่าหรือบันทึกไว้ในยามกลางคืน และนักเขียนทั้งสองเป็นโรคนอนไม่หลับทั้งคู่  พรู้สต์ บรรยายตัวเองว่า เป็นเด็กของความมืดและความเงียบสงัด(Proust III. 898)  ส่วนอิทธิพลจากหนังสือพันหนึ่งทิวานั้น  พรู้สต์ ได้ใช้แนวการดำเนินเรื่องมาปรับเป็นเทคนิคในงานสร้างสรรค์ของเขา ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ 

       นานแล้ว ข้าพเจ้าเข้านอนแต่หัวค่ำ  บางครั้งทันที่เทียนดับลง ตาของข้าพเจ้าก็ปิดสนิทเร็วจนข้าพเจ้าไม่มีเวลาแม้จะบอกกับตัวเองว่า จะหลับแล้วนะ  และครึ่งชั่วโมงผ่านไป ความคิดในมโนสำนึกที่แล่นขึ้นมาเตือนข้าพเจ้าว่าถึงเวลาที่ต้องนอนแล้วนะ ทำให้ข้าพเจ้ารู้ตัวตื่นขึ้น  ข้าพเจ้าคลำหาหนังสือที่ข้าพเจ้าเชื่อว่ากำลังถืออยู่ในมือเมื่อขึ้นเตียงนอนเพราะตาล้าแล้วและคิดจะดับเทียนหลับเสียที  แม้หลับตาบนเตียงแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังมิได้หยุดคิดทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่ข้าพเจ้าเพิ่งอ่านเมื่อสักครู่ก่อนดับเทียน แต่ความคิดเหล่านั้นประดังขึ้นในหัวอย่างแปลกๆ  เพราะทำให้ข้าพเจ้าเห็นตัวเองเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนั้นกำลังพูดถึง เป็นโบสถ์หลังหนึ่ง  เป็นบทดนตรีบทหนึ่ง เป็นคู่แข่งของกษัตริย์ฟร็องซัวเพรอมิเยร์และของกษัตริย์ชาร์เลอแก็งต์...(Proust I, 1)

       บทโหมโรงที่เปิดฉากนวนิยายของพรู้สต์ เหมือนบทโหมโรงของโอเปร่า  ชี้แนะลีลาของเรื่อง  ทำให้ผู้อ่านคาดเดาทิศทาง  ลีลาที่นวนิยายนี้จะนำไป  การนอน การฝัน ความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งที่เพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆ และการผันผ่านของกาลเวลาเป็นต้น จากบทโหมโรงนี้ยาวยืดต่อไปอีกสิบกว่าหน้า  ข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่องในนวนิยายครุ่นคิดถึงการนอน การหลับ การตื่นจากฝัน การกลับเข้าสู่ความสำนึกณนาทีปัจจุบัน เหมือนเขากำลังเดินทางผ่านกาลเวลา หรือกำลังนั่งบนพรมหรือในเก้าอี้วิเศษ  ที่ทำให้เขาหลุดออกจากกรอบของกาลเวลาและสถานที่ไปได้และทำให้เขาหาจุดยืนไม่ได้  และเขาต้องคลี่คลายความสับสนที่เกิดขึ้นเพื่อกลับมายืนอยู่ในนาทีปัจจุบันที่เขาลืมตาตื่นแล้วบนเตียง   

       ความจริงหรือความฝันที่พรู้สต์ กล่าวถึง มิได้มีบริบทสนุกสนานดั่งเช่นในเรื่องนิทราชาคริต  แต่เป็นการคิดวิเคราะห์สภาวะและขั้นตอนของการหลับอย่างละเอียด ตามกระบวนการของจิตวิเคราะห์แขนงหนึ่งของการแพทย์  ข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่องในนวนิยายยังได้เจาะจงว่าเป็นการดิ่งลึกลงสู่อาณาจักรของการหลับ สู่อาณาจักรของความฝัน  ในยุคเดียวกับพรู้สต์   ซิกมุนด์ฟรอยด็(Sigmund Freud, 1856-1939  แพทย์ทางประสาทวิทยาชาวออสเตรีย  เป็นบิดาของทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นต้น) ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาวะของจิตใต้สำนึกในแง่มุมต่างๆและการตีความความฝัน  เป็นที่โจษขานวิพากษณ์วิจารณ์กันมากในยุโรป[33]  ข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่องก็พยายามคิดหาวิธีที่จะตรึงความทรงจำในแต่ละสภาวะไว้มิให้หายสูญไป แต่ก็ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้   อะไรคือกุญแจ คือคาถาวิเศษ เหมือนคาถา งา”(Sesame) ในเรื่องอะลีบาบา กับขโมยสี่สิบคนที่จะเปิดออกสู่แสงสว่าง  เขาขบคิดอยู่มิวาย  อย่างไรก็ตามการเพ่งหาความทรงจำในอดีต มิใช่เป็นจุดหมายปลายทางของการค้นหาของพรู้สต์  หากแต่อยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมความทรงจำอันคลอนแคลนทั้งหลาย มาประกอบกันใหม่ให้เป็นความจริงที่ถาวร กระบวนการที่พรู้สต์ ใช้เพื่อรวบรวมความทรงจำต่างๆในชีวิตที่ผ่านมาที่เขาได้ลืมไปหมดแล้วตามอายุที่มากขึ้นๆ  มาประกอบกันเป็นความจริงในชีวิตของเขานั้น เป็นวิธีเดียวกับการทำจิตวิเคราะห์

       หลังจากบทโหมโรงที่ตามด้วยบทเสริมไปอีกสิบกว่าหน้า  ผู้อ่านยังเหมือนล่องลอยตามความฝันหรือความทรงจำของผู้เล่าไปในห้องนอนต่างๆที่เขาเคยอยู่เคยนอน จนตามผู้เล่าไปแวะหามารดา  มารดาเสนอทำชาสมุนไพร(tilleul หรือ lime-tea)ให้เขา พร้อมกับจุ่มขนมมัดเดอแลน(la madeleine คล้ายๆกับขนมมัฟฟิน-muffin แต่ชิ้นเล็กกว่าและทรงยาวรี)ในน้ำชาให้เขากินด้วยหนึ่งชิ้น  ปกติเขาไม่เคยดื่มชากับขนมอย่างนี้  แต่เขาตอบรับและยกถ้วยขึ้นดื่มพร้อมขนม ไม่ยินดียินร้ายอะไรนัก  แต่พอน้ำชาแตะเพดานปาก  เขารู้สึกจิตใจสั่นไหวและอิ่มเอิบมีความสุขขึ้นอย่างประหลาด ความปิติยินดีนี้มีมากจนเห็นเรื่องตายเป็นเรื่องเล็ก เห็นความอนิจจังเป็นเรื่องไกลตัว  เขาดื่มน้ำชานั้นอีกหลายคำ พยายามคิดหาว่าทำไมเขาจึงมีความรู้สึกปลาบปลื้มถึงขนาดนั้น  และแล้วรสน้ำชาผสมขนมมัดแลนนั้นจู่ๆได้พาเขากลับไปหวนระลึกถึงรสน้ำชาที่ป้าเลโอนีเคยทำให้เขาดื่มในวัยเด็กที่เมืองกงเบร่ย์ (Combray)   เหตุการณ์ในชีวิตวัยเด็กที่เมืองกงเบร่ย์ได้โหมกลับมาสู่สติปัญญา เหมือนของเล่นของชาวญี่ปุ่นที่เมื่อจุ่มลงในน้ำ กระดาศแผ่นเล็กแผ่นน้อยที่จนถึงขณะนั้นมองไม่รู้ว่าอะไรอย่างชัดเจน  เมื่อถูกน้ำ ได้เปิดคลี่ออก เต็มไปด้วยสีสัน กลายเป็นดอกไม้ เป็นบ้าน เป็นคนที่คุ้นเคย เป็นดอกไม้ในสวน ในปาร์ค ดอกบัวในลำธาร ชาวบ้านและที่อาศัยหลังเล็กหลังน้อยของพวกเขา วัดของหมู่บ้านและชนบทรอบๆเมืองกงเบร่ย์ ทั้งหมดมีรูปร่าง มีความหนาความแข็งแกร่ง ทุกสิ่งทั้งเมืองและสวน ออกมาจากน้ำชาถ้วยนั้น  (Proust I,15)  พรู้สต์ ตระหนักในยามนั้นเองว่า ความทรงจำเก่าๆในอดีตนั้นไม่เหลือร่องรอยใดๆเมื่อคนตายไป เมื่อสรรพสิ่งรอบข้างถูกทำลาย สิ่งเดียวที่ยังคงอยู่ คือ กลิ่นและรสชาติ ที่แม้จะเปราะบางเหลือเกินแต่คงทน ซื่อสัตย์ ยืนหยัดต่อไปได้อีกนาน  เหมือนดวงวิญญาณที่คอยอยู่ในสรรพสิ่ง  ในซากปรักหักพังอย่างไม่ท้อถอย ในหยดน้ำเล็กๆที่เกือบแตะต้องไม่ได้  คอยเตือน คอยหวังว่าวันหนึ่งจะมีผู้มาปลดปล่อยจากเปลือกนอกที่ขังวิญญาณนั้นอยู่   รสและกลิ่นกับความรู้สึกทั้งหลายที่เคยประทับบนประสาทสัมผัสของเรา รวมกันเป็นตึกระฟ้าแห่งความทรงจำ (Proust I, 15)

       การได้กลับไปรับรู้กลิ่นและรสชาติของน้ำชากับขนมอีก เหมือนการ ระลึกชาติได้ ทำให้รู้ว่า นั่นแหละคือชีวิตจริงที่ประกอบเป็นเนื้อหนังมังสาของคนนั้น   พรู้สต์ ได้เปิดม่านนวนิยายของเขาด้วยวิธีนี้  ที่เขาได้มาจากนิทานเกี่ยวกับเสนาบดีนูเร็ดดีน(Histoire du vizir Noureddine ฉบับของ Antoine Galland. Vol. 1, 292-355 หรือในฉบับมาร์ดรู้ส เล่มที่ I ,106-146)[34]   ในนิทานเรื่องนี้ มีตอนเกี่ยวกับขนมต้าร์ตไส้ครีม (la tarte à la crème) รสชาติของขนมทำให้แม่กินแล้วเป็นลมสลบลงเพราะความรู้สึกรุนแรงฉับพลัน เนื่องจากนางแน่ใจว่าผู้ที่สามารถทำขนมรสแบบเดียวกันนี้ได้มีคนเดียวในโลก คือผู้ที่นางสอนให้ทำเองและคนนั้นคือลูกชายของนางที่หายสาบสูญไปเป็นแรมปีและทั้งครอบครัวได้พยายามติดตามหาไปทั่วแดนอาหรับแต่ไม่พบ  รสขนมจึงเป็นสื่อให้ตามไปพบตัวลูกชายได้ในที่สุด  เช่นเดียวกับ ข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่องในนวนิยายของพรู้สต์ หลังจากได้ดื่มน้ำชากับขนมมัดเดอแลน เกิดความตระหนักขึ้นมาว่า อดีตที่ผ่านมาที่เขา รำลึก อรรถรสเก่าๆได้ คือความจริงของชีวิตที่ยังคอยอยู่ ไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของประสาทสัมผัส  ไม่เหมือนความทรงจำของสติปัญญาที่ถดถอยไปตามวัย  และความจริงนั่นแหละมีค่าเพียงพอสำหรับเป็นเนื้อหาของนวนิยายของเขา  เขาคิดตรึกตรองหาวิธีที่จะตรึงความจริงดังกล่าว  ศิลปะอาจช่วยเขาได้ไหมอย่างไร   

       เทคนิคการเล่า กระบวนการพูด การคิด การวิเคราะห์ภายในตัว ข้าพเจ้าตลอดทั้งเรื่อง ได้แปลงเนื้อหาผิวซึ่งคือสังคมฝรั่งเศสสมัยต้นศตวรรษที่20 เป็นคำถามว่าทำไมเขียน เขียนอะไร  ศิลปะคืออะไร วรรณศิลป์คืออะไร  ทำอย่างไรงานเขียนจึงเป็นวรรณศิลป์ได้เป็นต้น  มีผู้ศึกษาวิเคราะห์งานเขียนของพรู้สต์ จำนวนมากทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวต่างชาติ ที่เผยให้เข้าใจความแตกฉานในเรื่องศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม   ความลุ่มลึกในวิสัยทัศน์ ข้อปลีกย่อยในการพรรณนา ความอ่อนไหวต่อการเสพโลกที่เห็นรอบข้าง โลกของประสาทสัมผัสที่จารึกเป็นข้อมูลชีวิตในจิตใต้สำนึก  ทั้งหมดรวมกันเป็น ตึกระฟ้า ของความทรงจำ ของประสบการณ์แบบต่างๆของพรู้สต์   เนื้อหาและเทคนิคการเขียนของเขาได้เปิดศักราชใหม่ในวงการวรรณกรรมของโลก  เขาเป็นผู้วางฐานหินฐานใหม่ในวิถีแห่งวรรณศิลป์ของโลก   วิธีการใช้ ข้าพเจ้า เป็นผู้เล่าและเป็นตัวเอกของเรื่องตามแนวของวงจักรแห่งวัฏสงสาร  โดยมีตัว ข้าพเจ้า เป็นศูนย์กลางเชื่อมทุกเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน ข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่องในนวนิยาย กับ ข้าพเจ้าพรู้สต์ ผู้แต่งนวนิยาย ก็ได้เป็นหัวข้อศึกษาวิเคราะห์ในวงวรรณกรรมฝรั่งเศสและวรรณกรรมตะวันตก  ที่เป็นตัวอย่างของวิธีการดำเนินเรื่องวิธีใหม่ตั้งแต่นั้น

       พรู้สต์ ได้เปรียบวิธีการสร้างสรรค์นวนิยายของเขากับการก่อสร้างโบสถ์ที่หินทุกก้อน เสาทุกต้นมีความสำคัญที่ทำให้โบสถ์สำเร็จลุล่วงได้อย่างมั่นคง  เขาได้พบเคล็ดลับที่เป็นกุญแจเปิดเข้าสู่ถ้ำสมบัติอันเป็นเนื้อหาของนวนิยายของเขาที่ จีรังยั่งยืน ในโลกของวรรณศิลป์มาถึงทุกวันนี้   วรรณกรรมเรื่อง A la Recherche du Temps Perdu ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือนโบสถ์กอติคหลังงามที่เพียบด้วยรายละเอียดและโดยเฉพาะมีประติมากรรมทั้งใหญ่และเล็กจำหลักบนทุกพื้นที่ได้อย่างน่าทึ่ง   เป็นโบสถ์กอติคฝรั่งเศสจากยุคกลางที่ทั้งงามและมีมนต์ขลังเฉกเช่นโบสถ์น็อตเตรอดามเดอชาร์เตรอส์ (Notre-Dame de Chartres) หรือน็อตเตรอดามเดอปารีส์(Notre-Dame de Paris) หรือ น็อตเตรอดามดาเมียงส์ (Notre-Dame d-Amiens) ที่ยังคงเด่นตระหง่านข่มทุกสิ่งรอบข้างและดึงดูดผู้ไปเยือนจากทุกมุมโลกจนถึงทุกวันนี้[35]

       นอกจากประเด็นเด่นที่กล่าวมา พรู้สต์ ได้สร้างบทอุปมาอุปมัย หรือเปรียบเทียบสถานการณ์ในนวนิยายของเขากับนิทานเรื่องใดเรื่องหนึ่งในพันหนึ่งทิวาบ่อยๆ  เช่นเมื่อ ข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่องออกไปเดินตามตรอกซอกซอยในกรุงปารีสยามค่ำคืนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  เขาคิดว่าเขามีความรู้สึกเดียวกับกาลิฟฮะรุนอัลราชีดผู้กระหายเรื่องตื่นเต้นผจญภัย จึงปลอมแปลงองค์เป็นสามัญชนเดินท่อมๆตรวจตราดูวิถีชีวิตชาวบ้านในเมืองแบกแดด  แม้แต่แม่น้ำแซนที่ไหลผ่านใต้สะพานต่างๆในกรุงปารีสยามค่ำคืนที่สะท้อนแสงและเงาจากสองฝั่ง  ก็ทำให้เขานึกไปถึงแม่น้ำบอสฟอรัสที่ไหลผ่านเมืองอิสตันบูล(Proust IV, 387)  บรรยากาศของโลกอาหรับดูเหมือนจะฝังอยู่ในจินตนาการของพรู้สต์ ผู้แต่งตลอดเวลา  ปารีสในยามราตรีและโดยเฉพาะในยามสงครามนั้น เงียบสงัด มุมนั้นสว่างมุนนี้มืด แสงไฟจากที่นั่นบ้างที่นี่บ้างที่รอดพ้นประตูที่แง้มไว้ สร้างบรรยากาศลึกลับ เหมือนกำลังปกปิดอะไรบางอย่าง  ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากความลึกลับซับซ้อนแบบเรื่องซ้อนเรื่องที่ปรากฏในนิทานพันหนึ่งทิวาเสมอ  ผู้เล่าเรื่องก็ได้ค้นพบความลับที่ตัวละคนหลายคนปิดบังไว้จากการเดินเตร่ไปมาในยามค่ำคืนของกรุงปารีส และพรู้สต์ ผู้แต่งก็ได้อาศัยเทคนิคการดำเนินเรื่องจากพันหนึ่งทิวามาเสริม  เช่น ค้นพบว่า จูเปียง(ตัวละครตัวหนึ่ง) เป็นเจ้าของ บ้านบริการ และชาร์ลูซ(ตัวละครอีกตัวหนึ่ง)ไปที่นั่นบ่อยๆเพื่อให้เฆี่ยนโบย(sado-masochisme)  ผู้เล่าเปรียบเทียบว่าคงเหมือนในนิทานเรื่องหนึ่งที่พี่สาวเฆี่ยนโบยน้องสาวอีกสองคนที่กลายร่างเป็นหมา และที่พี่ต้องเฆี่ยนพวกเธอเพื่อให้พวกเธอกลับมีร่างเป็นคนเหมือนเดิม  หรือเหมือนอะบูฮัสซันที่ถูกเฆี่ยนโบยเพราะประกาศว่าตนคือกาลิฟฮะรุนอัลราชีด  การเฆี่ยนโบยในพันหนึ่งทิวามีจุดมุ่งหมายเพื่อการนำสติให้กลับคืนมา  ในกรณีของชาร์ลูซก็เช่นกัน เพราะเขามีนิสัยของผู้หญิงทั้งๆที่เป็นผู้ชายและมีฐานันดรศักดิ์สูงในสังคม  นอกจากนี้ผู้เล่ายังเคยแอบเห็นว่าจูเปียงกับชาร์ลูซมีความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศด้วย  การเขียนถึงรักร่วมเพศในนวนิยายของพรู้สต์ ในยุคนั้น นับเป็นความกล้าหาญสุดยอดของพรู้สต์ เพราะไม่เคยมีผู้ใดกล้าแตะต้องหัวข้อนี้  ยุคนั้นในอิตาลีการขุดซากเมืองปอมเปอีที่ถูกหินลาวาระเบิดกลบเมืองทั้งเมืองได้เผยให้เห็นชีวิตชาวเมืองปอมเปอี  ภาพแสดงความรักในท่าต่างๆ  การรักร่วมเพศอย่างเปิดเผย  หลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่นั่น ได้เปลี่ยนโลกทัศน์เกี่ยวกับยุคโบราณไปอย่างมาก 

       หลายโอกาสที่พรู้สต์ ใช้คำว่า “Sesame-งา เพื่อบอกเคล็ดลับหรือกุญแจไขความจริงต่างๆ (ซึ่งก็โยงไปถึงเรื่องคาถาวิเศษที่ใช้คำว่างาเพื่อเปิดถ้ำเข้าไปพบสมบัติที่โจรซ่อนไว้ในเรื่องอะลีบาบา   “Sesame” ยังปรากฏเป็นชื่อหนังสือ Sesame and Lilies (งากับดอกลิลลี) ของจอห์น รัสกิ้น(John Ruskin, 1819-1900 นักเขียน นักวิจารณ์และนักสุนทรียศาสตร์ชาวอังกฤษ)  และพรู้สต์ ได้แปลหนังสือเล่มนี้จากฉบับภาษาอังกฤษของเขาเป็นภาษาฝรั่งเศส (ชื่อว่า Sésame et les Lys) ในปี 1906 (พิมพ์ที่ปารีส สำนักพิมพ์ Mercure de France)   หนังสือเล่มนี้ ความจริงเป็นปาฐกถาของรัสกิ้นในปี 1868 ที่ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัRoyal College of Science  ที่เมืองดับลิน(Dublin)ประเทศไอรแลนด์  เดิมรวมปาฐกถาสองเรื่อง โดยที่เรื่องที่หนึ่งที่เรียกว่า Sesame” นั้น  เป็น Kings’ Treasuries (สมบัติของพระราชา) ที่มิได้เกี่ยวกับกษัตริย์องค์ใด เพราะชายหนุ่มแต่ละคนที่อ่านหนังสือ เหมือนกำลังสนทนากับพระราชาผู้เปิดโอกาสต่างๆให้เขาได้  เพราะหนังสือดี มีค่าและประโยชน์ เป็นสมบัติล้ำค่า  รัสกิ้นกระตุ้นให้อ่านหนังสือ อธิบายว่าควรอ่านอย่างไร และอ่านอะไร  และบอกให้เลือกอ่านหนังสือที่ดีที่สุด  หนังสือคือกษัตริย์ คือราชินี  การอ่านต้องให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  ให้ใช้พจนานุกรมบ่อยๆและติดตามวิวัฒนาการการใช้คำนั้น ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ของมัน  ให้อ่านหนังสือเหมือนกับกำลัง ผ่าตัดเนื้อหา ให้กระจ่างชัดทุกถ้อยกระทงความ   งา ที่รัสกิ้นใช้มีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงผู้ชายเท่านั้น  จึงเป็นเรื่องการอบรมผู้ชายผู้จะเป็นผู้นำครอบครัวต่อไปในอนาคต ให้เป็นนักอ่านที่ดี เป็นปัญญาชนที่ดีมีเหตุผล รู้คิดรู้วิจารณ์   เรื่องที่สองกล่าวถึงการศึกษาของหญิงสาวชาวอังกฤษ ผู้เป็น ดอกลิลลี ในสวนของพระราชินี  อธิบายต่อว่า ทำไมจึงต้องอ่านหนังสือ  และบอกให้ผู้ที่เกิดมารวย เกิดมาสูงหรือเกิดมาสวยนั้น หยุดหยิ่งผยองทะนงตัว  พวกเธอเหล่านั้นต้องเรียนรู้ความชำนาญของสามัญชนในการดูแลบ้าน การช่วยเหลือสังคม เพื่อให้คนจนในสังคมมีกิน มีเครื่องนุ่งห่มและมีที่อยู่  ในความเป็นจริงแล้วเนื้อเรื่องในปาฐกถาทั้งสอง ครอบการวิพากษณ์วิจารณ์สังคมไปเกือบทุกเรื่องด้วย  การสอนเป็นไปในแบบทั้งดุทั้งสอนและสั่งให้ทำ มีตัวอย่างประกอบในแต่ละจุดอีกมาก บางครั้งก็แทรกบทกลอนเข้าไปด้วย 

       การที่รัสกิ้นใช้ Sesameก็ให้ความหมายที่โยงไปได้ถึงค่านิยมของชาวอาหรับ  เมล็ดงาเม็ดเล็กแต่มีคุณประโยชน์มากหลายในชีวิตจริง และเหมือนคาถาวิเศษ เมล็ดงานี้แหละที่นำไปสู่เรื่องใหญ่ๆ สู่ความสำเร็จต่างๆได้  

 

       แม้ว่าหนังสือพันหนึ่งทิวาไม่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมเอกของโลก แต่ก็เป็นผลงานอมตะที่ได้จุดประกายความคิดความตั้งใจใหม่ๆแก่ปัญญาชนที่สนใจ และปูทางไปสู่การสร้างสรรค์วรรณกรรมแนวใหม่ได้ ดังกรณีของนักเขียนฝรั่งเศส มาร์เซลพรู้สต์ ที่กล่าวไว้ข้างต้น  ความคิดความเพ้อฝันของคนตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเป็นสิ่งเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคนและสังคมเสมอ 

 บรรณานุกรม
Les Milles et Une Nuits. Contes traduits par Joseph Charles Madrus. Tomes I et II.  Paris, Robert Laffont, Collection Bouquins. 1985.
Contes des  Milles et Une Nuits. Traduction de l’arabe par Antoine Galland. 1979. Paris, Les Editions Gallimard.
Marcel Proust. A la Recherche du Temps perdu. 7 Tomes. Paris, Gallimard. 1913-1927 or at Edition de la Pléiade. 3 Tomes.
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโลกอาหรับที่ www.muslimphilosophy.com

 

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์

บทความชื่อเดียวกัน ที่ปรากฏในรวมบทความของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  ชื่อ ยุโรป ในมุมมองวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปี ๒๕๕๕  หน้า ๑๕๑ – ๒๐๔ ในที่นี้เพิ่มภาพและข้อมูลย่อยอื่นๆเพื่อความบันเทิงทางจินตนาการ
นำลงบล็อกเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘.




[1] บทความนี้ได้นำบางตอนจากบทความชื่อ พันหนึ่งทิวาฉบับฝรั่งเศส  ที่ลงพิมพ์ในวารสารภาษาและหนังสือ ฉบับปีที่ 31ปี 2000 หน้า 46-65 และเขียนใหม่เพิ่มเติมเป็นฉบับที่เห็นที่นี่
[2] มาร์ดรู้ส (Joseph Charles Mardrus) เกิดที่อีจิปต์ปี1868 เมื่อทหารรัสเซียไปยึดดินแดนคอเคเซีย (Caucasia ดินแดนเทือกเขาสูงที่คั่นระหว่างยุโรปและเอเชีย อยู่ระหว่างทะเลแคสเปียนและทะเลดำ) ครอบครัวอพยพออกจากที่นั่นไปอยู่ประเทศเลบานอน  ครอบครัวเขาร่ำรวย เขาจึงได้รับการศึกษาชั้นเยี่ยมในโรงเรียนของนักบวชเยซูอิตที่เมืองเบรุต (Beirut เมืองหลวงของประเทศเลบานอน) เขาเรียนทั้งวรรณกรรมคลาซสิกและวรรณกรรมอาหรับ  ต่อมาเรียนแพทย์ที่นั่นอีกแล้วไปจบปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยปารีสในปี 1895 จึงเริ่มอาชีพหมอประจำเรือเดินสมุทร(Les Messageries Maritimes)ของฝรั่งเศสทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปแวะเมืองต่างๆในตะวันออกกลาง ในเอเชียาคเนย์และในจีน  ระหว่างนี้เขาเริ่มแปลพันหนึ่งทิวาแล้วและเป็นที่นิยมกันมากในวงวรรณกรรมฝรั่งเศส   ปี1899 เมื่อเขากลับมาเป็นหมอประจำอยู่ที่ปารีส แต่งงานและตั้งตัวเป็นหลักแหล่ง ได้ทำความรู้จักและในที่สุดคุ้นเคยเป็นเพื่อนกับนักเขียนฝรั่งเศสแนวหน้าคนอื่นๆเช่นอ็องเดรฺ จี้ด(André Gide) และปอล วาเลรี(Paul Valéry) งานแปลของ
มาร์ดรู้สมีส่วนหล่อหลอมงานเขียนของ André Gide อยู่พักหนึ่ง   มาร์ดรู้ส จึงเป็นชาวฝรั่งเศสอีจิปต์ที่มีสถานภาพสังคมสูงทั้งในวงแพทย์และในวงวรรณกรรม  แต่ในวงมหาวิทยาลัยเขาเป็นที่อิจฉาริษยา  ตอนนั้นบรรดาผู้จบมาจากสถาบันภาษาตะวันออกศึกษา(ที่รวมเอเชียและตะวันออกกลางด้วยทั้งหมด) ซึ่งตั้งขึ้นในปี1795 ต่างสงสัยว่างานแปลของมาร์ดรู้สนั้นถูกต้องแน่หรือ อย่างไรก็ตามมาร์ดรู้สมีผู้เป็นตัวตั้งตัวตีให้เขา คือผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาขั้นสูง(Ecole pratiques des hautes Etudes) และเป็นอาจารย์ภาษาอาหรับประจำสถาบันภาษาตะวันออกศึกษา อาจารย์ผู้นี้ประกาศยืนยันว่างานแปลของมาร์ดรู้สถูกต้องและเชื่อถือได้  ในฉบับเดิมของมาร์ดรู้สมีทั้งหมด 16 เล่มแต่ละเล่มอุทิศให้เพื่อนนักเขียนแห่งยุค จากรายชื่อทำให้เรารู้ว่าเขาเป็นที่รู้จักและยอมรับเพียงใดอย่างไร  รายชื่อมีดังนี้ Stéphane Mallarmé, Paul Valéry, Anatole France, José-Maria de Hérédia, André Gide, Lucie Delarue, Maurice Maeterlinck, Henri de Régnier, Pierre Louÿs, Hartwig-Derembourg, Dr.Lucien de Beurman, Pierre de Nolhac, Sylvain Lévi, Rémy de Gourmont, Sidi Robert de Montesquiou, Marcel Schwob, Félix Fénon.  ฉบับที่พิมพ์ในปัจจุบันรวมนิทานทั้งหมดเข้าเป็นสองเล่มจบ  ในชื่อว่า Les Mille et Une Nuits, contes traduits par Joseph Charles Mardrus. Edition Robert Laffont, coll. Bouquins  เป็นฉบับฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าอ้างถึงในบทเขียนนี้ และได้ระบุว่าตอนใดอยู่ในเล่ม I หรือ II สำหรับผู้จะไปอ่านเอารสชาติอาหรับ
[3] ตัวเลขที่ระบุปีและศตวรรษ เป็นปีคริสต์ศักราช และคริสต์ศตวรรษทั้งหมด  เพื่อความสะดวกจึงใช้เพียงสั้นๆ
[4] กาลิฟ -khalifa ที่แปลว่าหัวหน้านายกอง  ถือว่าเป็นผู้สืบศาสนาอิสลามต่อจากองค์พระมูฮัมเหม็ด(Muhammad)
[5] เมืองแบกแดก(Baghdad) อยู่ในประเทศอิรัค ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไทกริซ(Tigres)บนดินแดนเมโสโปตาเมีย  ตั้งแต่ปี750 อาบู อัล-อับบัส(Abu al-'Abbas) จากตระกูลอับบัสซิด(Abbassides) ผู้สืบเชื้อสายจากลุงคนหนึ่งของศาสดามูฮัมเหม็ด ได้รวมผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในอิรัและตั้งตนเป็นกาลิฟ  ต่อมาในปี 762 อัล-มันซูร์ (al-Mansur) น้องชายสืบวงศ์ต่อมาและสถาปนาเมืองแบกแดดเป็นเมืองหลวง  เมืองแบกแดดขยายอาณาเขตกว้างออกไปตามลำดับ  ในสมัยของกาลิฟฮะรุนอัลราชีดที่กล่าวถึงในพันหนึ่งทิวา  กรุงแบกแดดเป็นเมืองศูนย์กลางอารยธรรมและความเจริญทุกประเภทในโลกรอบๆทะเลเมดิเตอเรเนียน  เพราะพระองค์ส่งเสริมศิลปะวิทยาต่างๆและดึงตัวกวีและศิลปินจากทุกแห่งมารวมกันที่เมืองแบกแดด เขาเป็นผู้ยกระดับภาษาอาหรับขึ้นเป็นภาษาวัฒนธรรมนานาชาติ  นอกจากนี้ความงามตระการตาและวิถีชีวิตที่หรูหราของสุลต่านทำให้พระองค์เป็นเหมือนวีรบุรุษคนสำคัญในโลกจินตนาการของพันหนึ่งทิวาด้วย  
     นักประวัติศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ชาวอิสลามชื่อยากูบี(Ya'qubi เสียชีวิตในราวปี 891)ได้พรรณนากรุงแบบแดดในหนังสือชื่อกีตั๊บ อัล-บุลดัน(Kitab al-buldan ชื่อแปลว่า หนังสือของประเทศต่างๆว่า
แบกแดดเป็นเมืองยิ่งใหญ่ที่สุดที่ไม่อาจหาเมืองอื่นใดในตะวันออกหรือตะวันตกของโลกมาเทียบเคียงได้  ไม่ว่าในแง่ของพื้นที่ ความสำคัญ ความร่ำรวยหรือความอุดมสมบูรณ์ ในแง่ของการมีน้ำใช้น้ำดื่ม คุณภาพของดิน หรือภูมิอากาศ อากาศดีและบริสุทธิ์  ชาวต่างชาติมีเขตของตนเอง มีศูนย์การค้าขายติดต่อของตนเองแยกเป็นสัดเป็นส่วน... ชาวเมืองมีนิสัยดี สนุกรื่นเริง มีใบหน้าแจ่มใสและมีความคิดอ่านเปิดกว้าง พวกเขาเด่นเพราะความรู้ เพราะมีการศึกษาดี เพราะความเชี่ยวชาญ รู้จักแยกแยะ เพราะมีหัวในการค้าและมีความคล่องตัวในกิจการงานทุกแบบ ไม่มีใครที่รู้ดีไปกว่าปราชญ์ของพวกเขา  ไม่มีใครที่สงบเสงี่ยมเจียมตัวไปกว่าคนเคร่งศาสนาของพวกเขา  ไม่มีใครมีวาทศิลป์ดีกว่าหมอสอนศาสนาของพวกเขา ไม่มีใครเป็นศิลปินเหนือกว่ากวีของพวกเขา  และไม่มีใครน่าหลงใหลไปกว่าคนหลงรักชีวิตในหมู่เขา
[6] ฉบับภาษาอังกฤษที่รู้จักกันมากที่สุดคือฉบับของเซอร์ริชาร์ด เบอตัน(Sir Richard Burton)ใช้ชื่อว่า The Book of the Thousand Nights and a Night ทั้งหมด 16 เล่ม รวมบทอธิบายเพิ่มเติมและบทวิจารณ์ที่เป็นผลงานระหว่างปี 1885-1888  เซอร์ริชาร์ด เบอตันใช้ฉบับแปลของจอห์นเปญ (John Payne) เป็นหลักซึ่งมีทั้งหมด 13 เล่ม จอห์นเปญแปลไว้ในระหว่างปี 1882-1884 เล่มท้ายๆแปลระหว่างปี 1884-1889 แต่งานแปลของจอห์นเปญ
ไม่ค่อยมีคนรู้จัก 
[7] ลิตมันน์ (E.Littmann) นักเขียนและนักแปลชาวเยอรมัน ได้แปลนิทานพันหนึ่งทิวาเป็นภาษาเยอรมันในระหว่างปี 1921-1928 เป็นงานแปลที่นักวิจารณ์ทั้งต่างชาติและชาวอาหรับเองยกย่องว่าเป็นงานแปลที่ยอดเยี่ยม  ลิตมันน์ยังได้วิเคราะห์นิทานพันหนึ่งทิวาเป็นกลุ่มต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับและใช้เป็นบทอ้างอิงในวงวรรณกรรมอิสลามเอง  งานแปลของลิตมันน์พิมพ์ครั้งแรกที่เมืองไลปซิก (Leipzig) ทั้งหมด 6 เล่ม พิมพ์ครั้งที่สองที่เมืองวีซบาเด้น(Wiesbaden)ในปี 1953 และครั้งที่สามในปี 1954 ที่เมืองเดียวกันนี้
[8] บัสรา (Basra)อยู่ในตอนใต้ของอิรักปัจจุบัน ใกล้ประเทศคูเวต (Kuwait)และอิหร่าน (Iran) เมืองนี้สถาปนาขึ้นในราวปี 636 เชื่อกันว่า เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของซินแบ็ดนักเดินเรือในพันหนึ่งทิวา และอาจเป็นที่ตั้งของสวนสวรรค์อีเดนในคัมภีร์เก่า  เมืองนี้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม และเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่นเป็นอันดับสองในอิรัก รองจากเมืองแบกแดด
[9] เช่นในนิทานเรื่องนิทราชาคริต(II,203sq) เรื่องราวของตระกูลBarmakides ผู้รับใช้สุลต่านฮะรุนอัลราชีด(Haroun Al-Rachid, 766-809)ในตำแหน่งของอัครมหาเสนาบดี (II, 994-1005)เป็นต้น 
ฮะรุนอัลราชีด เป็นสุลต่านที่รู้จักกันมากที่สุดของราชวงศ์อับบะซิดเพราะได้แผ่อาณาจักรออกไปควบคุมพวกไบแซนไทน์ ที่รวมพวกโรมันตะวันออกตั้งแต่กรี ตุรกี ตอนบนของอีจิปต์ และตามประวัติศาสตร์ยุคนั้น ดูเหมือนว่าฮะรุนอัลราชีดได้ผูกพันธไมตรีกับจักรพรรดิ Carolus Magnus ที่ครอบครองและรวมดินแดนยุโรปไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 8   
[10] โดยเฉพาะเขาเป็นญาติห่างๆ(ทางมารดา)ของ Ibrahim Hannibal คนผิวดำที่จักรพรรดิ Peter the Great ของรัสเซีย(ชื่อในภาษารัสเซียว่า Piotr Alekseïevitch Romanov, 1672-1725) ได้ซื้อมาเป็นทาส  พุชกิ้นได้ชื่อว่าเป็นกวีและนักเขียนที่มีความสามารถในการประพันธ์หลายแบบหลายลักษณะ  ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่แท้จริงคนแรกขอวรรณกรรมรัสเซีย (cf. www.litteraturerusse.net)   ตุ๊กตาแม่ลูกดกรัสเซียที่ขายทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกไม้หรือหญิงสาวที่เหมือนกันโดยตลอดตั้งแต่ตัวแรกถึงตัวสุดท้าย  บางทีก็เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์จากประเทศจีนที่ส่ง
ออกขายนักท่องเที่ยว  ทำลายบทกวีและมโนสำนึกรัสเซียเสียหมด
[11] ชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Histoire d'Aladdin et de la lampe magique, tome II, p.324-392
เป็นที่มาของการสร้างภาพยนต์โทรทัศน์ชุด I dream of Genie ซึ่งยังคงเอากลับมาฉายอย่างต่อเนื่องในโทรทัศน์อเมริกันช่องหนึ่ง  รวมทั้งภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Aladdin เป็นอะลาดินยุคจรวดของวอลท์ดิสนีย์
[12] ตัวอย่างเช่นเรื่อง Histoire du portefaix avec les jeunes filles (เรื่องคนแบกหามกับสาวๆ ใน I, 63) เป็นต้น
[13] ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเมืองอิสตันบูล  มีนิทรรศการพรมและการใช้สอยพรมที่น่าสนใจยิ่ง  มีกระโจมของสุลต่านและของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าไปชมดูภายในได้  จะเห็นว่าภายในกว้างใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนห้องสบายๆห้องหนึ่ง  มีตั่งเตี้ยๆและยาวปูพรมสำหรับนั่งหรือนอน หรือหากไม่มีตั่งยาว ก็อาจนั่งนอนบนพื้นที่มีพรมปูหลายผืน น่าสบายทีเดียว  นอกจากนี้หากมีโอกาสไปตุรกีและไปเยี่ยมชมโรงงานพรม  เขาก็มีการสาธิตให้เห็นว่า พรมที่ทอจากไหมนั้นเบาเพียงใด  เขาจะจับพรมผืนขนาดพอเหมาะที่มุมหนึ่ง แกว่งไปมาในมือแล้วเหวี่ยงออกไปจากตัว  ภาพที่เห็นทำให้ตะลึงกันเพราะพรมทั้งผืนแผ่ออกว่อนไปในอากาศ  นี่เองที่ได้สร้างจินตนาการของการนั่งพรมเหาะไปตามความฝันของอะลาดิน
[14] ในต้นคริสตกาล มีหลักฐานว่าอีจิปต์ทำพรมแล้ว เมื่อสเปนตกอยู่ในใต้อำนาจของพวกมุสลิมตั้งแต่ปี 711 อิทธิพลอาหรับทำให้มีการทำพรมในสเปนตั้งแต่ตอนนั้นโดยมีแนวการออกแบบตามแนวอาหรับ  จนเมื่อสเปนคริสต์ขับไล่พวกมุสลิมออกจากคาบสมุทรไอบีเรีย พรมที่ทำในสเปนจึงออกจากกรอบรูปลักษณ์และสัญลักษณ์ของพวกอาหรับ  เนื่องจากพรมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวอาหรับและโดยเฉพาะชาวเติร์ก ที่ใดที่อำนาจอ็อตโตมันแผ่ไปถึง พรมก็ตามไปด้วย  พรมจึงถูกนำไปถึงยุโรปจากตอนกลางถึงยุโรปตะวันตก เมืองเวนิสศูนย์การค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตกก็นำเข้าพรมเป็นจำนวนมาก  ไม่นานชาวยุโรปกลายเป็นนักสะสมพรมโดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่14 เป็นต้นมา  พรมปรากฏในจิตรกรรมยุโรปโดยเฉพาะจิตรกรรมในยุโรปตอนบนเช่นฮอลแลนด์ ระหว่างศตวรรษที่ 14 และ 15  ต่อมาหลายประเทศในยุโรปจะสถาปนาโรงงานหลวงเพื่อผลิตพรม เช่นโรงงานหลวงก็อบเบอแล็งส์(Gobelins) ที่ปารีสในศตวรรษที่17 สร้างรูปลักษณ์แนวใหม่บนพรม ที่มีทั้งเนื้อหาในคัมภีร์ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เนื้อหาเชิงเปรียบหรือคุณธรรมที่ต้องการสื่อ ภาพทิวทัศน์และฤดูกาลเป็นต้น  ชาวยุโรปผลิตพรมผืนใหญ่ๆเพื่อประดับผนังกำแพงเต็มทั้งผนัง  แต่พรมเนื้อหาดังกล่าวมิใช่เพื่อสามัญชน เพราะเป็นสิ่งประดับล้ำค่าตามพระราชวังและคฤหาสน์ใหญ่ๆ  พรมจึงยังคงเป็นสมบัติเฉพาะของชนชั้นสูงเพราะราคาแพงมาก  ประชาชนทั่วไปจึงยังคงเลือกซื้อพรมจากตะวันออกกลางโดยเฉพาะจากอิหร่านและตุรกี ทั้งสองประเทศต่างก็พัฒนาการผลิตเพื่อการส่งออกโดยให้เนื้อหาพรมสอดคล้องกับรสนิยมของลูกค้าเป็นต้น
[15] ชื่อเรื่องในภาษาฝรั่งเศสว่า Ali Baba et les quarante voleurs  อยู่ในหนังสือฉบับของมาร์ดรู้สเล่มที่ II  หน้า 623-647
[16] ชื่อในภาษาฝรั่งเศสคือ Les Aventures de Sindbad le marin ในภาษาอังกฤษใช้ Sinbad the Sailor อ่านเนื้อหารายละเอียดในฉบับฝรั่งเศสของมาร์ดรู้สเล่มที่  II หน้า 693-743  นิทานชุดซินแบ็ดนี้เข้าใจว่านำเนื้อหามาจากหนังสือ The Wonders of India  ในส่วนที่เกี่ยวกับกะลาสีเรือนั้น กัปตันเรือชาวเปอร์เซียนผู้อาศัยอยู่เมืองบัสราผู้หนึ่งได้รวบรวมไว้ในศตวรรษที่ 10 (cf. muslimphilosophy.com)
[17] วรรณกรรมเกี่ยวกับทะเลเป็นที่ติดตามและนิยมกันเสมอในทุกชนชาติ เพราะทะเลดูเหมือนเป็นที่ทดสอบธรรมชาติมนุษย์ทุกแบบ  ในทะเลมนุษย์ต้องต่อสู้ ต้องมีศรัทธาแก่กล้าเป็นที่พึ่งในใจ ศรัทธานี้อาจเป็นความเชื่อในศาสนาก็ได้ หรือเป็นความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของผู้ไม่ยอมท้อถอยในชีวิต  ตั้งแต่การเดินเรือของพวกไวกิ้ง ของชาวโรมันที่ข้ามไปบุกรุกกรีซโบราณ เรื่อยลงมาถึงการค้นคว้าทางสมุทรศาสตร์ในปัจจุบัน รวมทั้งวิวัฒนาการและการพัฒนากีฬากระดานน้ำ(surf) ตั้งแต่วรรณกรรม Odyssey ของ Homer(ประมาณศตวรรษที่8 ก่อนคริสตกาล) หรือกวีนิพนธ์เรื่อง The Rime of the Ancient Mariner ของ Samuel Taylor Coleridge (1798) เรื่อง Moby Dick ของ Herman Melville(1851) หรือ The Old Man and the Sea ของ Hemingway(1952) หรือแม้เพลงพื้นบ้านเช่น Ol’ Man River ที่ขับร้องโดยนักแสดงผิวดำ Paul Robeson และที่โยงไปเปรียบกับแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ เป็นทำนองดนตรีของ Jerome Kern และเนื้อเพลงของ Oscar Hammerstein II ในหนังเพลง Showboat ปี 1927 นอกจากนี้ยังมีภาพยนต์สมัยใหม่เช่นเรื่องประเภท Atlantis, The White Quail หรือ The Abyss ล้วนให้ข้อคิดเกี่ยวกับมนุษย์ อำนาจของน้ำทะเลและเทคโนโลยีน้ำที่พัฒนาขึ้นและที่คนยังหยั่งรู้ไม่หมดและควบคุมไม่ได้
[18] ชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Histoire du Dormeur éveillé ในเล่ม II หน้า  202-236
[19] เรื่องยังไม่จบและอะบูฮัสซันในตอนหลังยังทำกลอุบายหลอกทั้งกาลิฟและพระราชินีอีกด้วย  ความจริงมีรายละเอียดในเรื่องนี้มาก ที่นักเขียนชาวยุโรปเก็บไปใช้ในงานประพันธ์ของพวกเขา ดังจะยกการประพันธ์ของมาร์เซลพรู้สต์ เป็นตัวอย่าง  โปรดอ่านที่ ความนิยมพันหนึ่งทิวาในยุโรป
[20] เนื้อหาหลักคือความรัก(เน้นด้านมืด) โดยมีประเด็นสำคัญๆ คือปัญหาเกี่ยวกับกาลเวลา  การสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวละคร  ความสับสนทางเพศ(หญิงหรือชาย)  และคตินิยมสิทธิสตรี
[21] ติดตามดูพระนามของอัลลาห์ทั้ง 99 ชื่อพร้อมความหมายในแต่ละชื่อได้ที่ www.islampath.org หรือที่ www.funwadi.com หรือที่ www.faizani.com
[22] นักเขียนผู้ได้รับรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศสชื่ออ็องเดรจี้ด(André Gide)ได้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เพราะพริ้งยิ่งนักและตั้งชื่อหนังสือว่า L'Offrande lyrique (ในความหมายว่า ร้อยกวีเป็นมาลัยบูชา  พิมพ์ที่ปารีส สำนักพิมพ์ NRF, Gallimard) วัฒนธรรมความคิดอ่านของอินเดียและเปอร์เซียมีอะไรคล้ายๆกันหลายอย่าง เราเคยเรียกชาวอาหรับว่าแขกขาว   ในสารานุกรมเจาะจงไว้ว่าภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาที่ใช้กันมาจนถึงในศต.ที่14 ในดินแดนอาหรับและใช้เป็นภาษาติดต่อระหว่างนานาประเทศในเอเชีย และเป็นภาษาทางการของอินเดียจนถึงปีคศ.1837
(cf.Universalis, X, Lyrisme, p.211)
[23] ในภาษาฝรั่งเศสแปลไว้ดังนี้
"Mon amour, comme le vent,
 quand tu passes sur ma tombe,
Dans ma fosse, de d
ésir, je déchire mon linceuil."
     (cf. Universalis, tome 10, Lyrisme, p.211)
[24] ตัวอย่างเรื่องสั้นๆเรื่องหนึ่งดังนี้   วันหนึ่งเมื่อสุลต่านฮะรุนฯเสด็จออกเดินเล่นกับมหาอำมาตย์จีอาฟาร์ (Giafar Al-Barmaki) กับราชองครักษ์ผู้มีหน้าที่บริการเครื่องดื่มชื่ออะบูอีชัค(Abou-Ishak)และกวีประจำราชสำนักชื่ออาบูโนวัส(Abou-Nowas) ทั้งสี่เดินไปบนถนนที่ทอดเชื่อมระหว่างเมืองแบกแดดและเมืองบัสรา(หรือบัสซอรา)  องค์สุลต่านเดินเม้มปากหน้าคว่ำตลอดเวลาเพราะความเบื่อหน่ายเข้าจับจิตใจพระองค์   เผอิญมีหัวหน้านักบวช-เชอีค (chaikh ในภาษาอาหรับ) นั่งลากำลังจะผ่านหน้าสี่คนนี้ไป  ฮะรุนฯบอกให้จีอาฟาร์มหาอำมาตย์ไปถามว่าเขาจะไปไหน  จีอาฟาร์ดีใจที่สบโอกาสเพราะตนกำลังกลุ้มใจว่าทำอย่างไรที่จะช่วยให้องค์สุลต่านหายเซ็งได้  เขาตั้งใจจะเล่นกับเชอีคคนนี้เพื่อบันเทิงบำเรอองค์สุลต่าน จึงรีบเข้าไปทักเชอีคและถามว่าจะไปไหนหรือ  เชอีคตอบว่าเขามาจากเมืองบัสซอรากำลังจะไปเมืองแบกแดด เพื่อขอยาทาตาจากหมอเนื่องจากตาเจ็บ  จีอาฟาร์บอกว่าไม่ต้องไปถึงเมืองแบกแดดหรอก เขาจะบอกสูตรยาทาตาให้ซึ่งรับรองผลว่าจะรักษาตาได้ภายในหนึ่งคืน  แต่เขาอยากรู้ก่อนว่าเชอีคจะให้อะไรเป็นการตอบแทน  เชอีคตอบว่าอัลลาห์เป็นผู้ประทานรางวัลตามความดีความชอบของแต่ละคนเสมอ  จีอาฟาร์ไม่ว่าอะไรและบอกเชอีคให้จดส่วนประกอบที่เขาต้องเอาไปผสมทำยาทาตา  คือเอาลมสามส่วนผสมกับแสงแดดสามส่วน แสงจันทร์อีกสามส่วนและแสงตะเกียงในปริมาณเท่ากัน  คลุกให้เข้ากันแล้วใส่ครกก้นรั่วป่นให้ละเอียด  ตั้งทิ้งไว้ในที่แจ้งสามเดือน หลังจากนั้นเทลงในถ้วยก้นรั่วเช่นกันและปล่อยให้รับสายลมแสงแดดต่อไปอีกสามเดือน  ครบกำหนดแล้วให้ใช้ยานั้นทาได้ โดยให้ทาบนตาในคืนแรกสามร้อยครั้งแล้วเข้านอน  รุ่งเช้าเชอีคจะหายเจ็บตาแน่นอน  เชอีคได้ฟังดังนั้นรีบน้อมตัวลงบนหลังลา ก้นโด่งขึ้นตามแบบฉบับการก้มไหว้อัลลาห์ของชาวมุสลิม และรับคำแนะนำด้วยความเคารพ เผอิญผายลมออกมาฟอดใหญ่ติดต่อกันสองครั้ง เชอีคบอกให้จีอาฟาร์รีบคว้าไว้โดยเร็ว ว่านั่นคือสิ่งตอบแทนบุญคุณหมอผู้ให้ตำรายาแก่เขา พร้อมกับย้ำว่าเมื่อเขากลับไปถึงัสรา จะส่งทาสที่มีบั้นท้ายห่อเหี่ยวไม่แพ้ริ้วรอยบนใบหน้ามาเป็นของขวัญ  เขาแน่ใจว่าคุณหมอจีอาฟาร์จะพอใจทาสคนนั้นแบบตายคาที่นอนและนางทาสก็จะเสียใจจนน้ำตาไหลรินพร้อมๆกับปัสสาวะที่ไหลตกลงรดใบหน้าจีอาฟาร์ด้วย  เชอีคพูดจบก็ลูบไล้ลาสั่งให้เดินต่อไป ในขณะที่องค์สุลต่านระเบิดหัวเราะออกมาทิ้งตัวลงก้นกระแทกเมื่อเห็นใบหน้าของจีอาฟาร์  อะบูอีชัคกวีที่ไปด้วย ก้มตัวลงโค้งให้จีอาฟาร์เหมือนจะบอกแสดงความยินดีที่จีอาฟาร์ทำให้องค์สุลต่านหัวเราะคลายเซ็งได้ในที่สุด (tome I, p. 842-3) เรื่องสั้นๆในทำนองนี้มีแทรกไว้เป็นจำนวนมากในนิทานพันหนึ่งทิวา อารมณ์ขันของอาหรับมักไม่ค่อยเหมือนใคร  
[25] เมืองอิสตันบูลเดิมชื่อคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวงของจักกรวรรดิไบแซนแทนระหว่างปี395-1453 จักรพรรดิ
โรมันชื่อคอนสแตนตินที่หนึ่ง(Constantin I the Great, 324-330)เป็นผู้สถาปนาเมืองนี้และสร้างสถาปัตยสถานใหญ่ๆเช่นวัง สนามม้า ฟอรัมเป็นต้น  ต่อมาในสมัยของจัสตีเนียน(Justinian, 482-565)ทรงให้สร้างมหาวิหารเซ็นต์โซเฟียบนที่ตั้งวิหารเก่าที่คอนสแตนตินที่หนึ่งทรงสร้างไว้ในปี 425และถูกไฟไหม้เสียหายไปในปี 582 ใช้เวลาสร้างระหว่างปี 532-537 อุทิศแด่ฮาเจีย โซเฟีย(Hagia Sophia หมายความว่า ปัญญาของพระเจ้า - the Divine Wisdom) ยุคของจักรพรรดิจัสติเนียนเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมากทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะการทำโมเสค  วิหารเซ็นต์โซเฟียที่อิสตันบูลและวิหารซันวิตาเลที่เมืองราเว็นนาในอิตาลี(San Vitale, Ravenna) เป็นตัวอย่างเลิศสุด  ความเจริญครอบเครือข่ายด้านอักษรศาสตร์ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์และที่สำคัญที่สุดคือด้านกฎหมาย
     เมืองอิสตันบูลตั้งอยู่ใต้สุดของช่องแคบบนฝั่งที่ต่อกับยุโรป ที่ตั้งทำให้เมืองนี้เป็นจัตุรัสระหว่างทะเลดำและทะเลมาร์มารา (Marmara) เป็นศูนย์กลางเชื่อมประเทศบนคาบสมุทรบัลข่านและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกกลาง ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สี่เป็นต้นมา เมืองคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวงของชาวคริสต์ในตะวันออก เป็นศูนย์ปัญญาชน มีมหาวิทยาลัยแล้วตั้งแต่ปี330 เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการค้า  สรุปได้ว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด สวยที่สุดและรวยที่สุดในยุคกลาง เมืองนี้จึงเป็นเหมือนขนมหวานที่ล่อใจชนทุกชาติ ถูกบุกรุกหลายครั้ง จากพวกเปอร์เซีย อาหรับหรือชนเผ่าสลาฟเป็นต้น ระหว่างศต.ที่ 6-10 ชาวเติร์กจากตอนกลางของเอเชียเริ่มแทรกซึมเข้าสู่จักรวรรดิไบแซนแทนตั้งแต่คศ.ที่9 และมีอำนาจแผ่เหนือดินแดนในเอเชียตะวันออกกลางมากขึ้นตามลำดับ เมื่อชาวเติร์กรับอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ราชวงศ์เซลจูกีดส์(Seljoukides)ได้เข้ายึดเมืองแบกแดดในปี1055 และประกาศตนเป็นสุลต่านเติร์กองค์แรกในปี1058  และตามด้วยราชวงศ์อ็อตโตมันที่เข้าครอบครองดินแดนอาหรับเกือบทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อคอนสแตนติโนเปิลในปี1453 เป็น
อิสตันบูล รวมทั้งเปลี่ยนวิหารเซ็นต์โซเฟียซึ่งเป็นวิหารคริสต์ให้กลายเป็นสุเหร่าด้วย  สุไลมาน (SolimanหรือSuleyman, 1520-1566) เป็นสุลต่านผู้มีชื่อเสียงที่สุดในราชวงศ์อ็อตโตมัน  เมืองอิสตันบูลได้เป็นเมืองหลวงของตุรกีต่อเนื่องมาจนถึงปี 1923 จึงมีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังการา (Ankara)  กวีชาวตุรกีคนหนึ่ง(Nabi)ได้เขียนพรรณนาเมืองอิสตันบูลไว้ในศตวรรษที่17 ว่า
ไม่มีที่ใดที่ศาสตร์วิชาความรู้และสติปัญญาคน ได้พบการต้อนรับที่อบอุ่นกว่าที่อิสตันบูล
ไม่มีเมืองใดที่ได้ลิ้มรสเลิศของผลไม้จากอุทยานแห่งศาสตร์และศิลป์ ที่ให้ความอิ่มเอิบใจเท่าเมืองอิสตันบูล ขอวิงวอนพระอัลลาห์เจ้าจงคุ้มครองความรุ่งเรืองของเมืองอิสตันบูลเถิด...
เพราะเธอคือหัวใจของเหตุการณ์สำคัญๆ  เธอคืออู่ข้าวกับสถานศึกษาของมหาบุรุษผู้มีชื่อเสียง เธอคือสถานเพาะพันธุ์ของนานาประเทศ ที่อิสตันบูล คนมีดีมีสมอง บรรลุความรุ่งโรจน์  ความงามสมบูรณ์บรรลุจุดสุดยอด  อัจฉริยะบรรลุเป้าหมาย
ที่อิสตันบูลเท่านั้น ที่ชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์อาจสืบสานเหมือนอาชีพหนึ่ง
ณที่แห่งอื่น มีแต่การบั่นทอนธาตุแท้ของชื่อเสียงและของเกียรติยศ
ลูกนัยน์ตาคนจะกวาดตะหวัดดูไปรอบๆโลก ก็ไม่มีวันเห็นเมืองใดเหมือนเมืองอิสตันบูล
ภาพเขียนกับภาพจิตรกรรม ศิลปะการเขียนกับศิลปะการปิดทอง บรรลุความงามขั้นสูงสุดที่เมืองอิสตันบูล
ศิลปะอันหลากหลายทุกประเภท  พบโคมระย้าที่คู่ควรกันที่สุดที่เมืองอิสตันบูล
เพราะความงามล้ำเลิศแบบนี้เป็นภาพที่หาดูได้ยาก ทะเลจึงโอบถนอมเมืองไว้ในอ้อมอก
[26]  อาแช็ต(Hachette) เป็นสำนักพิมพ์ฝรั่งเศสที่หลุยส์ อาแช็ต (Louis Hachette) ตั้งขึ้นในปี 1826 ให้เป็นร้านขายหนังสือและเป็นสำนักพิมพ์   สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 43 quai de Grenelle, 75905 Paris 15  ดูรายละเอียดเกี่ยวกับสำนักพิมพ์นี้ได้ที่  www.hachette.com
[27] มาร์เซลพรู้สต์(Marcel Proust) นักเขียนฝรั่งเศสผู้แต่งเรื่อง A la recherche du temps perdu  หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมดเจ็ดตอนพิมพ์ระหว่างปี 1913-1927 นวนิยายของพรู้สต์ที่เราอ้างถึงในที่นี้ เป็นฉบับพิมพ์สามเล่มจากสำนักพิมพ์ เดอลาเปลยาด (ed. de la Pléiade)   ชื่อเรื่องแปลตามตัวได้ว่า ค้นหาเวลาที่เสียไป  มีความหมายกว้างและครอบไปถึงแก่นความจริง ถึงความรู้สึกที่ถูกบีบกดภายใต้อนุสติจนเหมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้น  การค้นหาจึงหมายถึงการดึงความรู้สึกดังกล่าวออกมาสู่แสงสว่าง  วิธีเดียวที่สามารถกลับไปจับความจริงในอดีตเหมือนกลับไปมีความรู้สึกเก่าๆในเหตุการณ์เก่าคือการวิเคราะห์ ความรู้สึกกะทันหันที่เกิดขึ้น” (พรู้สต์เรียกว่าเป็น involuntary memory)
เช่นกลิ่นอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกชื่นใจหรือเสียใจขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล(โดยที่เราไม่รู้ว่าทำไมจึงรู้สึกอย่างนั้นในขณะนั้น) หรือรสอาหารที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาทันทีเหนือความสุขของการกินในขณะนั้น  ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมีความสำคัญและถ้าไม่ปล่อยให้ผ่านไป  มันอาจพาไปสู่อดีตที่ไกลออกไป ที่หายไปจากความทรงจำของสติปัญญาปกติ(ตัวอย่างเช่นเมื่อดูรูปสมัยเด็ก เรานึกชื่อเพื่อนเก่าของเราได้หรือลืมชื่อบางคนไปแล้ว นี่เป็นความทรงจำปกติของคน  ความทรงจำแบบนี้ไม่ได้เกิดจากความรู้สึก  ในขณะที่ความทรงจำแบบไม่ตั้งใจคิดให้ออกนั้น กลับทำให้เราเกิดความรู้สึกขึ้นอีกครั้งหนึ่งเหมือนดังที่เคยรู้สึกมาก่อนในอดีต  นี่เป็นความทรงจำของประสาทสัมผัสที่อาจพาเรากลับไปสู่เหตุการณ์ในอดีต เทียบได้ว่าเหมือนทำให้ระลึกชาติได้  พรู้สต์ใช้ประสบการณ์แบบนี้นำทางเขากลับไป ระลึกชาติปางก่อนๆ(ชาติในความหมายที่เราใช้กับ พรู้สต์ อาจเป็นอดีตในชีวิตปัจจุบันหรืออดีตในชีวิตปางก่อนๆ)  ทำให้เขาเข้าใจว่าแต่ละคนเป็นผลมวลรวมของความรู้สึกที่สะสมอยู่ในประสาทสัมผัสทั้งห้า และมาจากหลายชาติหลายปาง  การที่ประสาทสัมผัสสามารถ ระลึกชาติได้เท่ากับว่าขณะนั้นคนนั้นหลุดออกไปจากกรอบของภาวะกาล-สถานที่   ชีวิตจึงไม่ใช่เป็นความว่างเปล่า  พรู้สต์ถามตัวเองว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถคว้า ทุกสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในทุกๆชาติของชีวิตตนเอง?  จากจุดนี้ที่พรู้สต์คิดว่าบางที ศิลปะจะเป็นวิธีเดียว  เพราะศิลปินค้นพบศิลปะเหมือนค้นพบ ชาติต่างๆที่สุมอยู่ในอนุสติของเขา  ตามทัศนคตินี้ พรู้สต์สรุปถึงบทบาทของการใช้บทอุปมาอุปมัยอย่างละเอียด ที่เป็นกุญแจของวรรณศิลป์
[28] อ็องตวน กัลล็อง(Antoine Galland, 1646-1715)ชาวฝรั่งเศส   เขาไปศึกษาภาษาอาหรับ ภาษาตุรกีและภาษาเปอร์เซียที่เมืองอิสตันบูลระหว่างปี 1670-1675 และไปศึกษาต่ออีกในเอเชียตะวันออกกลางระหว่างปี 1676-1679   เมื่อกลับเข้าปารีสจึงมีโอกาสเข้าเป็นอาจารย์ที่คอลแลจ เดอ ฟร้องซ (Collège de France) ได้เขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งงานแปลที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเช่น Origine et progrès du café (1699 เกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของกาแฟ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแปลคัมภีร์โกหร่านและพันหนึ่งทิวา(Mille et Une Nuits) ระหว่างปี 1707-1717  กัลล็องได้รับแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตแขนงอักษรจารึกศึกษาในปี 1701 (Académie des inscriptions ราชบัณฑิตยสภาแขนงอักษรจารึก)
[29] พันหนึ่งทิวาฉบับภาษาฝรั่งเศส ยังมีอีกที่แปลและรวบรวมขึ้นในภายหลัง  เราเลือกฉบับของนักแปลสองคนนี้เพราะเป็นที่
รู้จักแพร่หลายที่สุดในศตวรรษที่ 17-19 และเป็นบ่อสร้างฝันและปูทางสู่วิธีการแต่งหนังสือแนวใหม่ๆ
[30] ศิลปะการเขียนตัวอักษรของชาวอาหรับกลายเป็นศิลปะรูปลักษณ์แบบหนึ่งในศิลปะอาหรับโดยรวม  อาคารสถาปัตยกรรมอาหรับมีตัวอักษรเขียนเป็นข้อความหรือบทเพลงสรรเสริญจากคัมภีร์โกหร่าน หรือรายนามที่ใช้เรียกอัลลาห์เก้าสิบเก้าชื่อ เขียนอย่างสวยงาม ประดับบนกำแพงโดยรอบเสมอ  ลวดลายตัวอักษรที่ประดับอาคารมุสลิมใดก็ตาม เป็นเสมือนตาของอัลลาห์ที่มองคุ้มครองพวกเขาอยู่
[31] พันหนึ่งทิวายังโดนใจให้นักวาดเขียนจำนวนมากสร้างภาพประกอบหนังสือ เช่น Gustave Doré หรือ Roger Blanchon เป็นต้น ชาวอิตาเลียนเช่น Emanuele Luzzati หรือชาวเยอรมันเช่น Morgan ชาวเบลเยียมเช่น Carl Norac หรือชาวเติร์ก Emre Orhun เป็นต้น
[32] ท่านดยุ้คแห่งแซ็งซีมง (Duc de Saint-Simon, 1675-1755) ได้นิพนธ์อนุทินเล่าเหตุการณ์ตอนปลายรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่  วิธีการเล่าใช้แนวการเสนอภาพเหมือนการสร้างสรรค์จิตรกรรมภาพคนเหมือนขนาดเท่าตัวจริง ด้วยภาษาสำนวนที่ชัดเจนและเด็ดขาดที่ตรงตามความรู้สึกส่วนตัวของเขา ทั้งนี้เพราะเขาเคยอยู่ใกล้ชิดในพระราชวังแวร์ซายส์มาก่อน ได้รู้เห็นความตื้นลึกหนาบางของทุกเหตุการณ์ ของเหล่าขุนนางในวังอย่างมิมีผู้ใดเทียบได้  ผลงานของเขาทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนร้อยแก้วที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส
[33]  ฟรอยด์ (Freud) มีผลงานออกมาหลายเรื่องเช่น The Theory of the Unconscious, The Interpretation of Dreams,  Psychopathology of Everyday Life, Neuroses and the Structure of the Mind เป็นต้น
[34] ตัวอย่างและรายละเอียดเกี่ยวกับเล่มและหน้าที่ให้ในบทความนี้ นอกจากเจาะจงเป็นอื่น อ้างไปถึงหนังสือพันหนึ่งทิวาฉบับแปลของนายแพทย์  Joseph- Charles Mardrus  ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือคือ Les Mille et Une Nuits. พิมพ์ที่ Paris สำนักพิมพ์ Robert Laffont, collection Bouquins
     พรู้สต์เจาะจงใช้ขนมต้าร์ตไส้ครีม-la tarte à la crème ตามฉบับของ Galland แทนขนมทับทิม-plat à la grenade ในฉบับของมาร์ดรู้ส อาจเป็นเพราะขนมต้าร์ตชาวฝรั่งเศสรู้จักและเคยกินกันทุกคน แต่ขนมทับทิมนั้นไม่น่าจะมีคนเคยเห็นในฝรั่งเศสยุคนั้น
[35] Cf. โบสถ์ในงานเขียนของพรู้สต์ ในวารสารสมาคมครูฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 41 ปีที่ 11 เล่มที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2531 หน้า 100-112
------- 


1) ภาพเจ้าชายผู้หนึ่ง (Prince Ardashir Mirza) วาดขึ้นในปี 1853 เข้าใจว่าเป็นผลงานของ Abou’l Fasan Ghaffari ปรากฏในเว็ปไซต์ persiancarpetguide.com เพื่อให้ผู้สนใจเห็นตัวอย่างของพรมเปอร์เซีย ทั้งที่ปูบนพื้นและที่ประดับบนผนังห้อง  จะเห็นว่าการนั่งบนเก้าอี้ ข้างโต๊ะที่มีแจกันดอกไม้ประดับ และข้างหน้าต่างที่มองเห็นทิวทัศน์นอกอาคาร น่าจะเป็นอิทธิพลของวิถีชีวิตแบบยุโรปมากกว่า เพราะยังมีหมอนใบใหญ่สองใบบนพื้นข้างหลังเก้าอี้ ที่ทำให้คิดว่า การนั่งให้วาดภาพนั้นเป็นเพียงชั่วขณะ  ในชีวิตประจำวันเจ้าชายคงนั่งบนพื้นมากกว่า  อีกประการหนึ่ง ระดับหน้าต่างที่เจาะในผนังกำแพงอยู่ต่ำเกือบถึงพื้น ซึ่งหมายความว่า เขานั่งพื้นชมวิว มากกว่ายืนชมวิวเหมือนชาวยุโรป  ภาพนี้เห็นรายละเอียดมากพอสมควรเกี่ยวกับพรมเปอร์เซียทั้งแบบธรรมดาๆบนพื้น และแบบลวดลายบนผนังห้อง
 

2) ภาพกษัตริย์มุสลิมคนหนึ่ง จากจิตรกรรมเปอร์เซียผลงานราวปี 1855 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์บรุ๊กลิน กรุงนิวยอร์ค(Brooklyn Museum, แผนก Arts of the Isalmic World collection, New York) เป็นข้อมูลช่วยจินตนาการเกี่ยวกับสุลต่าน กาลิฟ หรือกษัตริย์ในพันหนึ่งทิวาได้  กษัตริย์นั่งบนพรมลายดอกไม้ที่เด่นชัดเจนขึ้นจากพื้นสีมืดกว่า  มีหมอนใหญ่หนุนหลัง เครื่องแต่งกายเต็มยศ เสื้อคลุมตัวในเป็นผ้าไหมเนื้อนิ่มลายทอในตัว แขนยาวและบานลงกรอมเท้าสะดวกแก่การลุกการนั่งบนพื้น  เสื้อคลุมตัวนอกเป็นผ้าปักยกดอกลายดอกไม้  คอเสื้อเป็นขนสัตว์  มีกริชเสียบอยู่หลังเข็มขัด และดาบยาวโค้งๆตรึงกับเข็มขัดห้อยลงด้านหน้า  หัวเข็มขัดฝังเพชร  มีปิ่นเครื่องประดับส่วนบนของหมวกผ้าโพกผม  บนพรมมีหนังสือเล่มเล็กวางทับลงบนเล่มใหญ่ น่าจะเป็นคัมภีร์อัลกุรอ่าน มีถาดขนมหรือของแห้งสำหรับขบเคี้ยวเล่นๆ และจานผลพีชจานหนึ่งกับจานผลทับทิมอีกจานหนึ่ง    ทั้งหมดนี้ให้รายละเอียดที่ทำให้นึกถึงบทพรรณนาของอะบูฮัสซันในเรื่องนิทราชาคริตเมื่อเขาได้เป็นกาลิฟฮะรุนอัลราชีดหนึ่งวัน


3) ภาพจิตรกรรมน้อยจากเปอร์เซียภาพหนึ่งที่ใช้ประกอบหนังสือพันหนึ่งทิวา (แต่มิได้เจาะจงไว้ว่าเรื่องใด) เข้าใจว่าเป็นฝีมือวาดของ Sani ol-Molk ในช่วงปี 1849-1856 เขาได้วาดไว้หลายภาพเป็นชุดเกี่ยวกับพันหนึ่งทิวาโดยเฉพาะ ที่อาจแทรกเข้าไปในนิทานแต่ละเรื่อง  เมื่อนำเฉพาะภาพออกมาเผยแพร่ มิได้มีการเจาะจงไว้ว่าจากเรื่องใด ภาพนี้และภาพอื่นๆปรากฏลงใน Wikipedia Commons เราอาจดูเป็นตัวอย่างเช่น
ภาพเล็กบนสุด เสนอให้เห็นเหล่าทาสสาวสวยในวังกาลิฟ ผู้ร้องรำทำเพลงเพื่อบรรเทิงใจกาลิฟ  คุณสมบัติสำคัญของทาสสาวอย่างน้อยที่สุดคือการรู้จักร้องเพลงและเล่นดนตรี เพื่อขับกล่อมอารมณ์ของผู้เป็นเจ้านาย  ให้สังเกตความงามของพรมที่ปูเต็มห้อง ประตูที่เป็นหน้าต่างสูงนำแสงสว่างธรรมชาติและความอบอุ่นเข้าในห้อง 
ภาพกลางเห็นเป็นแนวห้องสองข้างห้องโถง  บนชั้นสองมีผู้คนนั่งอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆในห้องปีกซ้ายและปีกขวา  ทำให้คิดว่าอาจเป็นห้องพบสังสรรค์ในวังเป็นต้น  ให้สังเกตว่า มีตะเกียงและโคมไฟสว่าง เพราะการจัดเป็นห้องที่มีผนังปิดกั้นและเรียงเป็นแถว ทำให้บดบังแสงสว่างธรรมชาติจากนอกอาคาร 
ส่วนในภาพล่าง เป็นห้องส่วนตัวสำหรับกาลิฟกับพระราชินี หรือเจ้าชายเจ้าหญิงที่กำลังโอ้โลมกันอยู่  ตะเกียงตั้งอยู่สองข้างห้อง  พรมและหมอน และถาดเครื่องดื่ม  ทั้งหมดให้บรรยากาศตามจินตนาการที่ให้ไว้ในนิทานพันหนึ่งทิวา


4) ภาพจิตรกรรมน้อยประดับนิทานพันหนึ่งทิวา แสดงในเห็นภาพชีวิตผู้หญิงภายในฮาเร็ม ในสถานการณ์ต่างๆ 


5) ภาพจิตรกรรมน้อยประดับหนังสือพันหนึ่งทิวา  แสดงภาพการใช้ชีวิตของเหล่าผู้ชายอาหรับในยามตั้งแคมป์และในยามต่อสู้ 


6) ภาพบนสองคนสนทนากันในครัว  ภาพล่างในห้องอาบน้ำชำระร่างกายสำหรับผู้ชาย  มีคนช่วยนวดช่วยขัดถู


7) ภาพจิตรกรรมน้อยอีกภาพหนึ่ง ที่แสดงการอาบน้ำชำระร่างกายในหมู่ผู้ชายอาหรับ 
มีคนช่วยนวดช่วยดึงให้ผ่อนคลาย




 
8) 9) 10) 11) ภาพจิตรกรรมน้อยสี่ภาพนี้ แสดงให้เห็นความสนใจในการศึกษาดาราศาสตร์ของชาวเติร์กอาหรับ ความรู้ด้านนี้พวกเขาพัฒนาขึ้นต่อจากความรู้ที่ชาวกรีกโบราณได้วางไว้ (โดยเฉพาะจากปโตเลมี)  ชาวอาหรับมิได้เป็นเพียงผู้นำดาราศาสตร์มาจากกรีซ แต่ยังนำมาศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมทั้งยังสร้างเครื่องมือดูและคำนวณตำแหน่งของดวงดาว  การติดต่อกับชาวเติร์กทำให้ชาวยุโรปเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการแปลศาสตร์วิชาจากยุคโบราณ รวมทั้งที่ชาวเติร์กได้พัฒนาขึ้นและบันทึกไว้



12)และ13) ภาพตัวอย่างแสดงให้เห็นการใช้พรมอาหรับในภาพจิตรกรรมตะวันตก 
พรมเป็นสมบัติล้ำค่าและสิ่งสะสมในหมู่ชาวตะวันตก 



14) เป็นภาพพรมเปอร์เชียที่มักทอเป็นลวดลายไม้ดอกสีสันสวยงาม และยังจัดให้เหมือนอยู่ใต้โดมของอาคาร mihrab (หรือ praying niche) ซึ่งในระบบสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอิสลาม ชี้ไปยังทิศทางที่ตั้งของเมกกะ (Mecca)  และชาวมุสลิมจะหันหน้าไปทางโดมนั้นเมื่อนั่งสวดบนพรมส่วนตัวของตนเอง  ลวดลายบนพรมยังอาจมองไปได้ว่า เป็นต้นไม้แห่งชีวิต


15) ภาพแสดงวิธีการใช้ตัวอักษรอาหรับมาจัดเป็นภาพ  อักษรอาหรับ ข้อความและโดยเฉพาะชื่ออัลลาร์มักถูกนำมาเป็นแบบประดับอาคาร จำหลักลงบนหินประดับเป็นแนวยาวไปบนกำแพงภายในสุเหร่า วังหรือที่อยู่  บางแห่งยังจำหลักลงบนกำแพงบางส่วนภายนอกอาคารด้วย(เช่นที่ทัชมาฮาล)   การใช้อักษรอาหรับเริ่มจากคติของศาสนาอิสลามที่ห้ามการแสดงภาพเหมือนของสรรพชีวิต  ภาพนี้เป็นแนวการออกแบบสมัยใหม่    


16) ภาพวาดภาพนี้ ทำให้นึกถึงนกประหลาด นกวิเศษต่างๆในเรื่องเล่าการจญภัยของซินแบ็ด ในนิทานพันหนึ่งทิวา   ศิลปะภาพวาดและลายเส้นของอาหรับ (ทำให้เกิดคำ arabesque ใช้) มีเอกลักษณ์พิเศษตามแนวสุนทรีย์ของอาหรับ