Monday 2 December 2019

Listen to colours


มองสีเป็นเสียง 
        นีล ฮาร์บิสสัน (Neil Harbisson) เกิดในปี 1984 เป็นชาวไอริช (เหนือ) โดยกำเนิด. ตาบอดสีตั้งแต่เกิดและเห็นทุกอย่างเป็นสีเทาๆดำๆเหมือนกันหมด (ศัพท์แพทย์ achromatopsia หมายถึงการมองไม่เห็นสีหนึ่งสีใดสีเดียว หรือมองเห็นทุกสีเป็นสีดำๆเทาๆ ซึ่งเท่ากับเป็นตาบอดสีอย่างสิ้นเชิง). เป็นกรณีหนึ่งในร้อยที่เกิดกับคน. ดังนั้น เขาจึงไม่เคยเห็นสีอะไรเลย ไม่มีประสบการณ์เรื่องสี ไม่รู้ว่าสีเป็นอย่างไร. ท้องฟ้าสีเทา ดอกไม้ทุกดอกสีเทาๆ ทีวีสีก็เป็นทีวีภาพขาวดำเสมอ. เขาอยู่มาในสภาวะเช่นนี้ และสำเร็จการศึกษาจาก Darlington College of Art (UK).
         เมื่ออายุ 21 ปี ได้ทำความรู้จักกับ Adam Montandon (cyberneticist) และต่อมากับ Peter Kese ทั้งสามได้คิดออกแบบอุปกรณ์ขนาดเบาสวมบนหัว และติดเครื่องเซนเซอร์ (sensor) ที่แปลงความถี่ของสี(สีคือคลื่นแสง)ให้เป็นความถี่เสียง. อุปกรณ์นี้ มีชิป (chip) ฝังเข้าไปในหัวด้านหลังตรงท้ายทอย ด้านนอกติดเสาอากาศที่พาดโค้งตามรูปหัวไปยังด้านหน้าถึงระดับของดวงตา เครื่องเซนเซอร์ติดอยู่ตรงปลายเสาอากาศ. เขาเรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้ของเขาว่า eyeborg. เสาอากาศนี้จับสี(คลื่นแสง) แล้วแปลงคลื่นแสงให้เป็นคลื่นเสียง. คลื่นความถี่ของเสียงผ่านไปตามตัวนำ(ระบบกระดูกในหัว) สู่หูชั้นในของเขา ทำให้นีล ได้ยินสี”.  ทุกคนรู้กันดีแล้วว่า สีต่างๆมีความยาวคลื่นไม่เท่ากัน  ดังนั้นในตอนแรก นีลต้องจดจำคลื่นความถี่ที่ได้ยิน เป็นโน้ตเสียงแบบไหนตรงกับสีอะไร. โน้ตที่เขาได้ยิน มีตั้งแต่โน้ตเสียงต่ำที่สุด ที่คือสีดำๆ ไปจนถึงโน้ตเสียงสูงๆที่ตรงกับสีม่วง. กล้องที่ติดกับเสาอากาศบนหัวเขานั้น ยังมีสมบัติรับคลื่นแสงที่ละเอียดกว่าสเป็กตรัมการมองเห็นของคนสายตาปกติ เช่นนี้ทำให้นีลรับรู้แสงอินฟราเรด (infrared) และแสง (ultraviolet) ได้ เกินกรอบสมรรถภาพของคนตาปกติ.  ตั้งแต่นั้น มองไปทางไหน เขาได้ยินสีต่างๆตลอดเวลา. เสียงของสีต่างๆท่วมท้นหูเขา (ถ้าเป็นเราๆ คงน่ารำคาญไม่น้อย หากเราปิดหูไม่ฟังไม่ได้. สำหรับนีล เขาต้องปิดตาแทน).  เช่นนี้ เขาสามารถรับรู้ความแตกต่างของสีทั้งหลายในโลก. ต่อมาในปี 2013 ด้วยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์หลายคน ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคกับเสาอากาศของนีล มีศักยภาพสูงขึ้นอีก นั่นคือการเป็นอินเตอเน็ตไร้สายในหัวของเขาเอง รวมทั้งการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรคมนาคม เช่นรับโทรศัพท์ได้ในหัวเขาเลย.


ความเคยชินกับการฟังเสียงจากสีต่างๆ ในที่สุด กลายเป็นทักษะอัตโนมัติของนีล เขาได้ยินเสียงของสีต่างๆตลอดเวลา และรู้ทันทีว่าคือสีอะไร. ประสบการณ์และทักษะ ยังทำให้เขารับรู้สีต่างๆจากที่ห่างไกลออกไปได้ และเมื่อเชื่อมต่อทางแซ็ตเตอไลท์ ทำให้เขาส่งสี(คลื่นแสง)ต่างๆไปในอวกาศได้. (Ref. TED talk)
         นีลเล่าว่า เขาเริ่มฝันเป็นสีๆ. เขารู้สึกว่าซอฟแวร์และสมองของเขา ได้ผนึกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำงานด้วยกัน, เพราะในความฝัน สมองเป็นผู้สร้างเสียงอิเล็กทรอนิค ไม่ใช่ซอฟแวร์แล้ว.  เขาไม่รู้สึกว่า เขาใช้หรือสวมอุปกรณ์เทคโนโลยี. และนั่นทำให้เขาตระหนักว่า เขากลายเป็นอุปกรณ์ไซบอร์กอย่างหนึ่งแล้ว เขาไม่ได้ใช้เพียงชิ้นส่วน เครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิค  มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเขาไปแล้ว  เป็นส่วนต่อขยายของประสาทสัมผัสของเขา และในที่สุด กลายเป็นอัตลักษณ์ เป็นตัวตนของเขาอย่างแท้จริง และตัวเขาเอง คือ เทคโนโลยี.
         ชีวิตของนีลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อเขามีศักยภาพในการสัมผัสรับรู้เสียงจากสี จากทุกอย่างรอบข้าง. การมอง การตอบโต้หรือตอบสนองสิ่งเร้ารอบตัวก็เปลี่ยนไป. เช่น วิธีการแต่งตัว เมื่อก่อนเขาเลือกสวมเสื้อผ้าเพื่อให้ตัวเองดูดี (look good) เดี๋ยวนี้เขาแต่งตัวเพื่อให้ฟังดี (sound good). เขาเลือกสวมเสื้อผ้าสีที่เป็นในระดับเสียงของ C major ที่เป็นคอร์ดเสียงที่เบิกบาน(เมื่อออกไปพบเพื่อนฝูง). ถ้าต้องไปร่วมงานศพ เขาเลือกสีที่อยู่ในระดับเสียง B minor ซึ่งเป็นพวกสีเทอก๊อยส์ สีม่วงหรือสีส้ม.
        ในด้านอาหารก็เช่นกัน เดี๋ยวนี้ เขาจัดวางอาหารบนถาด บนจาน จัดอาหารแต่ละสีแต่ละคลื่นเสียง ให้ประสมประสานกันเป็นดนตรีที่ถูกใจ. นี่เท่ากับเขาสร้างดนตรี (ภายในสำหรับเขาเอง) ด้วยอาหาร.  (แต่คนปกติอย่างเราๆ เมื่อไม่อาจได้ยินโน้ตดนตรีจากสีอาหาร เหมือนนีล ฮาร์บิสสัน คงต้องใช้อาศัยเครื่องเสียงจริงๆเพื่อสร้างบรรยากาศ.)
       ประสบการณ์ที่สำคัญยิ่งที่นีลเล่าต่อ คือ การไปหอศิลป์. จิตรกรรมของใครเป็นดนตรีประเภทใด. เช่นเมื่อไปยืนหน้าจิตรกรรมของปิกัสโซ เขาได้ยินดนตรีจากจิตรกรรมนั้น และเมื่อรวมการฟังจิตรกรรมชั้นครูที่มีในหอศิลป์ จึงเหมือนเขาไปฟังคอนเสิร์ต. 
       ประสบการณ์การสัมผัสความงามของเขาก็ไม่เหมือนใครอื่น เช่นเมื่อมองใคร เขาได้ยินเสียงโน้ต (หรือดนตรี) ของคนนั้น. บางคนมองดูสวย แต่ให้เสียงที่ไม่น่าอภิรมย์นัก หรือบางคนหน้าไม่สวย กลับให้เสียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน.  หรือในทางกลับกัน เสียงกริ่งโทรศัพท์ เขามองมันเป็นสีเขียว เพราะมันดังเหมือนสีเขียว(ว่างั้น). เสียงบี๊บๆของ BBC เขาว่าเป็นเสียงสีเทอก๊อยส์. และเมื่อฟังดนตรีโมสาร์ท เช่นดนตรีท่อน Queen of the Night (ในบทอุปรากร The Magic Flute) ที่มีความถี่แตกต่างกันมาก เขาบอกว่าเป็นประสบการณ์สีเหลืองที่ชัดเจนโดดเด่นที่สุด. 
        ประสบการณ์ส่วนตัวแบบนี้ ทำให้เขาเริ่มวาดภาพดนตรี วาดภาพสีของเสียงคน ตามที่เขาได้ยิน เพราะเสียงคนมีความถี่ต่างๆที่เชื่อมตัวเขากับสีต่างๆ.  นอกจากเสียงร้องเพลง คำปราศรัย เขาก็เปลี่ยนให้เป็นสีได้ เช่นคำปราศรัยที่ทุกคนรู้จักดีบทหนึ่ง คือ I have a dream ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง.  เช่นนี้ แทนการวาดใบหน้าของใคร แทนการเสนอภาพบุคลิกหรือรูปลักษณ์ เขาเพียงมองคนด้วยสายตา (ด้วยอุปกรณ์ eyeborg ของเขา) และเนรมิตภาพเหมือนของคนนั้นด้วยเสียง ภาพที่ได้ เป็น sound portrait ของคนนั้น. นีลชอบใจและมีความสุขกับงานศิลป์แบบนี้ของเขามาก. เขายกตัวอย่างว่าภาพเสียงเหมือนของ Nicole Kidman น่าฟัง และภาพเสียงเหมือนของเธอ มีอะไรคล้ายๆกับภาพเสียงเหมือนของเจ้าฟ้าชายชาร์ล.
       การเรียนรู้เรื่องสีเป็นไปตามครรลองนี้ จนในที่สุดนีลรับรู้หรือสัมผัสสีได้ 360 สี เท่ากับคนที่มีสายตาปกติ. แต่เขาคิดว่า ศักยภาพการมองเห็นของคน ยังไม่ดีพอ ยังมีสีอื่นๆอีกจำนวนมากรอบตัวเรา ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่ตาอิเล็กทรอนิคของเขาทำให้นีลเห็นและแยกแยะระดับสีได้ด้วย.  ประสบการณ์รับรู้เรื่องสีของนีล จึงขยายออกไปไกลกว่า และรวมสีอินฟราเรด กับสีอัลต้าไวโอเล็ตเข้าในแผนภูมิ « สีสู่เสียง » ของเขา.  ประสบการณ์ต่างๆของนีลในด้านสี แสง เสียง ได้แปลงความพิการจากตาบอดสี ให้กลายเป็นความชำนาญพิเศษเหนือสามัญชน.
      ในปี 2010 เขาและ Moon Ribas ร่วมกันสถาปนาองค์การนานาชาติ The Cyborg Foundation and the Transpecies Society โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้คนเป็นไซบอร์ก คุ้มครองสิทธิของไซบอร์ก และโปรโหมดระบบไซบอร์กให้เป็นกระแสความเคลื่อนไหวทั้งด้านสังคมและศิลปะ ตลอดจนเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ยืนยันตัวเองว่า ไม่ได้เป็นมนุษย์เต็มตัว (non-human).     
     ในปี 2018 เขาไปปรากฏตัวในการประชุม World Government Summit ที่เมืองดูไบ ปีนั้นมีหัวข้อสัมนาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI).  เขาประกาศเหมือนเรียกร้องสิทธิของการเป็นมนุษย์ไซบอร์ก ว่าตัวเขาเองเป็นคนแรกในอีกหลายๆคนที่จะตามมาอย่างแน่นอนในอนาคต. โลกต้องยอมรับคนที่มีส่วนต่อของร่างกายเป็นอุปกรณ์ประดิษฐ์ด้วยเทคโนโลยี ที่ไม่ใช่อวัยวะจากเลือดเนื้อ (cf. Mirror.co.uk). นีล ฮาร์บิสสัน หวังช่วยให้คนอื่นๆ กลายเป็นไซบอร์ก เพื่อให้ทุกคนขยายประสบการณ์การสัมผัส(โลก)ให้ไกลออกไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เป็นส่วนต่อส่วนหนึ่งของร่างกายคน. เขาย้ำว่า ทุกคนรู้แล้วมิใช่หรือ ว่าความรู้ทั้งหลายของคน มาจากประสาทสัมผัสของคน, หากคนขยายศักยภาพด้านนี้ออกไป เท่ากับขยายความรู้ออกไปด้วย. ถึงเวลาที่คนต้องหันมาสร้างสรรค์แอพพลีเคชั่นสำหรับใช้กับร่างกายคน แทนการหมกมุ่นอยู่กับการสร้างแอพพลีเคชั่นสำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ.  เขาแน่ใจว่านั่นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้.

            ประสบการณ์ของนีลในการรับรู้สีและโลกรอบข้าง เป็นสิ่งที่สามัญชนปกติเข้าไม่ถึง และจะตามไปพิสูจน์สิ่งที่เขาเล่าก็ไม่ได้  แต่จินตนาการอาจช่วยให้ติดตามวิธีมอง วิธีคิดของเขาไปได้บ้าง.          

            ชีวิตและประสบการณ์ของนีล ฮาร์บิสสัน ยิ่งย้ำว่ามนุษย์ที่เราเป็นวันนี้ ยังไม่ใช่แพ็ตเติ้นสุดท้าย ร่างกายคนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้แทบจะ made-to-order ตามความต้องการของคน. นับวัน มีอุปกรณ์อนินทรีย์หรือชิ้นส่วนจากโลหะธาตุ เข้าร่วมในการธำรงชีวิตของคนเรามากขึ้นๆ เช่นแขนขาเทียม ในไม่ช้าก็จะมีหัวใจเทียมทั้งดวง. คงไม่ยากนักที่เราจะอยู่กับมนุษย์ไซบอร์กแบบต่างๆ และเมื่อถึงเวลา ก็อยู่กับมนุษย์หุ่นยนต์ทุกประเภทได้ในที่สุด. ตอนนี้หวังเพียงว่าบริษัททำหุ่นยนต์ ต้องสร้างซอฟแวร์คุณธรรมแบบต่างๆ(จากทุกศาสนา)ลงไปให้หุ่นยนต์ด้วย.
แต่เราคงไม่อยู่รอเพื่อนหุ่นยนต์หรอก...

โชติรส รายงาน
๒ ธันวาคม ๒๕๖๒.
สนใจติดตามไปฟังเรื่องเล่าของ Neil Harbisson ได้ตามตัวอย่างสองลิงค์ข้างล่างนี้


ดูแผนภูมินี้ จะเข้าใจวิสัยทัศน์ของนีล ฮาร์บิสสัน จากสีเป็นแสงเป็นโน้ตดนตรี

Saturday 30 November 2019

The triple man

มองคนทั้งไตรภาค
         ร่างกายคนเป็นของขวัญที่พิเศษสุด บางครั้งทำให้เราเจ็บ ปวด ทรมานได้ แต่ร่างกายก็เป็นบ่อเกิดของความสุข ความเบิกบานแบบต่างๆ. เหนือความรู้สึกทุกข์และสุข ร่างกายเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้โลกภายนอกตัวเรา. 
          ขนบประเพณีทางจิตวิญญาณที่ฝังรากหยั่งลึกมาแต่โบราณจนถึงยุคปัจจุบัน เข้าร่วมมือและประสมประสานกับการแพทย์แผนใหม่ เพื่อช่วยให้เราปรับและหลอมเข้าอย่างสมดุลในร่างกายของเราเอง.
        ความเข้าใจละเอียดเจาะลึกเกี่ยวกับคนในสามสถานะ(ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ) จักเปิดเส้นทางเป็นเครือข่าย ที่เผยให้เราตระหนักถึงรากเหง้าของคน และสำหรับผู้มีญาณวิเศษ(ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า) นำคนไปเชื่อมกับดวงดาวในจักรภพ.  
        ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เหมือนการกระโดดบนผ้าขึงตรึงด้วยสปริง (trampoline) มันกระตุ้นจิตสำนึกของเราเกี่ยวกับร่างกายและการทำงานของร่างกาย, ให้เราใช้ความเจ็บปวดนั้นสร้างปัญญา ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของเราเองให้ดีขึ้น, เพื่อให้เรารู้จักควบคุมสุขอนามัยของเรา การกินอยู่  การใช้ชีวิตของเรา, นำไปสู่การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นๆ, การบรรลุความสำเร็จในชีวิต และการอยู่อย่างมีความสุขในที่สุด.
         การวิเคราะห์วิจัยในการแพทย์แขนง metamedicine และ epigenetics เป็นประเด็นสำคัญ เป็นสนามวินิจฉัยโรคที่แพทย์และคนทั่วไปต้องนำไปคิดตรึกตรองให้เข้าใจถ่องแท้ชัดเจน.
Metamedicine (หรือที่บางคนใช้คำว่า Meta-Health). ปัจจุบันแพทย์ที่ดีที่เก่งน้อยคน จะหยุดอยู่ที่การพิจารณาวินัจฉัยความผิดปกติของร่างกาย จากสภาพทางกายของคนป่วยเท่านั้น (เช่นตัวร้อน วัดอุณหภูมิ สั่งจ่ายยาลดไข้). อย่างน้อยที่สุด เขาจะมองเชื่อมร่างกายกับจิตใจของคนป่วย. ส่วนแพทย์ที่เป็นคนเหนือคน ยังมองไกลกว่านั้น เขาวางตัวผู้ป่วยในสนามที่รวมข้อมูลจากความผิดปกติของร่างกาย(หรืออวัยวะหนึ่งใด), ข้อมูลจากสภาพจิตใจ, ข้อมูลจากสภาวะสมองและข้อมูลจากสภาพสังคมแวดล้อมของผู้ป่วย. วิทยาศาสตร์สมัยใหม่สอนให้รู้แล้วว่า พื้นที่ในสมองพื้นที่หนึ่ง ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง  เชื่อมโยงไปถึงสภาพจิตหรืออารมณ์แบบหนึ่ง และเป็นผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในวิถีชีวิตแบบหนึ่งด้วย. ความรู้ทั้งหมดดังกล่าวรวมกัน เป็นศาสตร์ที่เรียกกันว่า Metamedicine.
Meta จากคำในภาษากรีก แปลว่า «เหนือกว่านั้น เหนือขึ้นไป». ศาสตร์การแพทย์แขนงนี้ จึงจับประเด็นของจิตสำนึก(the conscient), จิตใต้สำนึก (the subconscient) และวิญญาณสำนึก (the inconscient) ด้วย.
(Meta ทำให้นึกถึงคำ metta เมตตา ในภาษาบาลี นัยความหมายของคำนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่นำการวินิจฉัยความผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะหากขาดความเมตตาหรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากไม่มีความปรารถนาเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ย่อมไม่มีการพัฒนาต่อยอดความคิดหรือวิธีการรักษา).

ส่วน Epigenetics เป็นชีววิทยาแขนงหนึ่งที่ศึกษากระบวนการธรรมชาติอะไรที่เข้าไปปรับเปลี่ยน ปิดกั้นหรือทำให้การแสดงออกของกระบวนการทำงานของดีเอ็นเอหยุดชะงัก เช่นทำให้โครโมโซมในดีเอ็นเอบางชุด ถูกปิดไปเป็นต้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างดีเอ็นเอ.
         การเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดโรค จำเป็นเพื่อจัดระบบการรักษา และต่อยอดการป้องกันมิให้โรคนั้นเกิดขึ้นอีก. พฤติกรรมของยีนในร่างกายของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับซีเคว้นดีเอ็นเอของเขา. ปัจจัยด้าน epigenetics ส่งผลต่อพฤติกรรมยีน.  เมื่อปัจจัยด้าน epigenetics เปลี่ยนไป อาจก่อให้เกิดโรคขึ้นได้.  สภาพภายนอกร่างกายก็ส่งผลกระทบต่อโรคได้ และผลกระทบเหล่านี้ อาจสืบทอดต่อไปเหมือนกรรมพันธุ์ได้ด้วย. การวิเคราะห์วิจัยบอกให้รู้ว่า วิถีชีวิตหลายแบบ อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแพ็ตเติ้นดีเอ็นเอได้ ตัวอย่าง การอดอาหาร ความอ้วนฉุ กิจกรรมทางกายภาค การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล มลพิษในสภาวะแวดล้อมที่อยู่ ความเครียด หรือการทำงานภาคดึก(อาชีพ). ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อเซลล์ในร่างกายมากพอๆกับต่อระบบดีเอ็นเอของคนนั้น. คู่แฝดที่มีเชื้อพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ แต่ระบบดีเอ็นเอ อาจวิวัฒน์หรือทำหน้าที่ต่างกัน หากคู่แฝดแยกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน. คนหนึ่งอาจเป็นโรคอ้วนฉุ อีกคนเป็นโรคผอมแห้ง หรือคนหนึ่งจิตปกติ อีกคนจิตฟั่นเฟือนเป็นต้น.  สภาพแวดล้อมประเภทต่างๆดังกล่าวมา กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของโมเลกุลในระบบดีเอ็นเอ.
        สรุปได้ว่า ปัจจัยทาง epigenetics บ่งบอกให้เห็นการตอบสนองทางชีวภาพต่อสิ่งกระตุ้นเชิงลบจากสภาพแวดล้อม. การตระหนักถึงปัจจัยด้านนี้ ได้เปลี่ยนวิธีคิดและการเข้าใจโครงสร้างดีเอ็นเอให้ชัดเจนถ่องแท้ขึ้น.


       ขนบโบราณ(เช่นจีน หรืออินเดีย) บอกให้รู้ว่า ร่างกายที่เราเห็นและจับต้องได้ ไม่ใช่เป็นร่างเดียวที่เราเป็นเจ้าของ. ยังมี “ร่าง” อื่นๆอีกที่พลังจักรวาลผ่านเข้าออก. พลังจักรวาล (หรืออาจเรียกเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ พลังจากพระเจ้า ไม่ว่าใช้ชื่อเรียกแบบใด) ลงสู่ตัวเราทางกะโหลกศีรษะและไหลไปตามแนวกระดูกสันหลังตลอดความยาวของร่างกาย (เส้นทางเดินของพลังงานที่เข้าสู่ร่าง ขนานไปกับแนวกระดูกสันหลัง) เหมือนกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นการทำงานของร่างกาย และกระจายพลังงานออกไปยังศูนย์รวมพลังสำคัญๆเจ็ดแห่งบนร่างกาย (จักระ, หรือ meridian channels) และผ่านไปยังเส้นโลหิตฝอยจำนวนพันๆเส้นในร่างกาย (สันสกฤตใช้คำ nadis หรือ nāḍī อ่านว่า นา-ฑี หมายถึง สาย, เส้น(เลือดหรือประสาท), สิ่งที่เป็นท่อในร่างกาย). ขนบพราหมณ์เชื่อว่า คนที่บรรลุจิตวิญญาณขั้นสูง ยิ่งสูงเท่าใด เส้นสาย nāḍī ของเขายิ่งกว้าง และร่างกายของเขาได้ซึมซับพลังงานเอาไว้มาก จนสร้างเป็นแสงเรืองรองแผ่ออกจากตัว (นึกถึงพระพุทธองค์) อันเป็นสภาพของผู้ที่ตื่นรู้ทุกอย่าง ของผู้ที่ได้บรรลุสภาวะสงบสันติพร้อมปัญญาญาณที่ลุ่มลึก.
      ภายในกรอบโครงสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ของทุกๆร่างนี้เอง ที่ทุกอย่างรวมตัวกัน ประกอบกัน ถูกจัดให้เข้าที่เข้าทาง ให้เป็นระบบ แล้วชีวิตอุบัติขึ้น. ทั้งหมดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เก็บความลับและปาฏิหาริย์ต่างๆไว้. หากเราเชื่อมต่อติดกับทุกร่างกับทุกส่วนทั้งภายในและภายนอกของร่างกายได้ เราย่อมเห็นธรรมชาติแท้จริงของสิ่งมีชีวิตที่คือตัวตนของเรา.
     ปัจจุบัน หลักการหรือมุมมองของแพทย์แผนตะวันตก รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี, ต้องกลับไปพิจารณาศาสตร์โบราณ. ความรู้ที่เคยคิดกันว่าล้าสมัย ไม่มีวิทยาศาสตร์รองรับนั้น พวกเขาเพิ่งตระหนักด้วยความพิศวงว่า หลักการใหม่ๆที่พวกเขาค้นพบด้วยการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์หรือในห้องแล็บนั้น ในที่สุดเป็นเพียงการยืนยันความรู้จากโลกโบราณที่พวกเขาไม่เคยรู้เป็นส่วนใหญ่ เท่านั้นเอง. เช่น อายุรเวทของอินเดีย ทำให้ปราชญ์ตะวันตก ตื่นทึ่งตะลึงงัน ว่าปราชญ์อินเดียรู้ได้อย่างไร และรู้มาแล้วหลายพันปีก่อน เช่น โครงสร้างพลังงานในร่างกายคน มีมากกว่าพลังทางกายภาพมากนัก.
       ในไทย มีการตั้งอายุรเวทวิทยาลัย และเปิดคลีนิคอายุรเวท ควบคู่กับการแพทย์แผนไทยตามโรงพยาบาลรัฐสำคัญๆกว่าสิบแห่งแล้ว.  หลายคนเบนออกไปสู่การดูแลรักษาสุขอนามัยและเยียวยาความเจ็บไข้ได้ป่วย ตามวิถีของอายุรเวทที่รวมถึงการฝึกโยคะ หรือตามวิถีของธรรมชาติบำบัด (เช่นวารีบำบัด สมุนไพรบำบัด แสง เสียงหรือสีบำบัด). ส่วนหลักการหรือปรัชญาพราหมณ์เกี่ยวกับโลกและชีวิต  คนสนใจน้อยกว่าและน้อยคนนำไปศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงความรู้หรือปรัชญา อาจเป็นเพราะการยึดมั่นอยู่ในพุทธศาสนา ก็เป็นได้. การฝึกสมาธิ การควบคุมลมหายใจ(ลมปราณ) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธรับมาจากวิถีพราหมรณ์ (จากปราณยามะ ใน ปัญจะโกษะ) เป็นต้น.
         โชคอนันต์สำหรับอินเดีย ปัญญาชนชั้นสูงชาวอินเดีย เขียนถ่ายทอดปรัชญาและความรู้ เป็นภาษาอังกฤษ  ความรู้ทั้งหลายจึงแผ่กระจายออกไปทั่วโลก มากกว่าจารึกโบราณของชนชาติโบราณอื่นๆ เช่นอีจิปต์. หนังสือเกี่ยวกับอินเดียในตะวันตก มีเป็นจำนวนมาก  มีคนอ่าน ติดตามรวมทั้งปฏิบัติโยคะเป็นจำนวนมาก มีศูนย์สอนและฝึกโยคะจำนวนมากในยุโรปและสหรัฐฯ  อีกทั้งมีผู้นำประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนตัว มาเขียนมาเล่า และด้วยภูมิหลังและวิสัยทัศน์ของชาวตะวันตกเอง ด้วยตรรกะของพวกเขา (ref. Descartes, cartesian) จึงยิ่งทำให้ข้อมูลและเนื้อหาน่าสนใจมากขึ้นอีก. เข้าใจง่ายกว่า ชัดเจนและรัดกุมกว่า การอ่านคัมภีร์พระเวทฉบับสันสกฤต.
        ในตะวันตก มีหนังสือ บทความ ที่โยงกลับไปยังจารึกโบราณของอินเดีย เป็นจำนวนมาก เช่น การอธิบายร่างกายตามหลักของ ปัญจะโกษะ (Panchakosha ห้ามิติของความเป็นคน) ในโยคะวิทยา, ได้เพิ่มพูนความรู้ นำการคิดวิเคราะห์ของนักคิดนักปรัชญาตะวันตก ก้าวข้ามพรมแดนของอคติ สู่การยอมรับ แล้วนำไปคิด วิเคราะห์และต่อยอดปัญญาที่ปราชญ์/พราหมณ์อินเดีย ได้เปิดเผยให้โลกรู้, โลกที่กว้างไกลลึกในทุกมิติ ทั้งโลกภายในและโลกภายนอกของคน, และในที่สุดยังโยงไปสะท้อนภาพของจักรวาล และมีส่วนนำตะวันตก ก้าวไปสู่คว็อนตัมฟิสิกส์.
ภาพนี้ จากเพจ sivanandayogafarm.org 
แสดงให้เห็นเปลือกห้าชั้นที่ห่อหุ้มคน.   
เปลือกในสุด เรียกว่า อันนมโกษะ เป็นกายภาพ เปลือกหรือกรอบกายภาพของคน ที่ประกอบด้วยเนื้อหนังมังสา อวัยวะทั้งหลาย (the physical sheath บางคนใช้คำ body แทนคำว่า sheath). เปลือกนี้เป็นผลของอาหารการกิน ของการใช้ชีวิตของแต่ละคน.
    ถัดออกมา เป็นเปลือกของลมหายใจ ลมปราณ เป็น ปราณมยโกษะ เป็นชั้นของพลังจักรวาลที่ห่อหุ้มกาย (the energetic sheath) ที่มีอิทธิพลต่อพลังลมปราณ (ปราณ prana หรือ ชี่ ของจีน) ภายในร่างกาย.
      เปลือกชั้น มโนมยโกษะ เปลือกที่รวมของจิตสำนึก อารมณ์ความรู้สึก ความหลง ความอยากไม่อยากของคน (the mental sheath) สิ่งที่รวมกันในเปลือกชั้นนี้ สร้าง “สีหน้า” และ “ออรา” ของแต่ละคน.
     ถัดออกมา เป็นเปลือก วิจนมยโกษะ รวมสติปัญญา การตระหนักรู้ สัญชาติญาณ วิญญาณสังหรณ์ ศักยภาพในการวินิจฉัยและสังเคราะห์. เป็นสภาวะของจิตวิญญาณในส่วนลึกของคน ที่เกิดจากการประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในอดีตชาติและในชาติปัจจุบัน  (the intellect sheath)
     ชั้นนอกสุดเรียกว่า อนันทมยโกษะ เป็นความปิติที่เกิดขึ้นเมื่อได้สัมผัสความดี ความงาม ความบริสุทธิ์ ความอิ่มเอิบใจในรูปแบบใด (the bliss sheath) เป็นเปลือกที่เชื่อมพลังทางกายกับพลังของจิตวิญญาณ.
        กล่าวโดยรวม หากใครเข้าใจสภาวะของเปลือกทั้งห้าชั้นอย่างเจาะลึก ก็เท่ากับเข้าใจธรรมชาติแท้จริงของตัวเอง หรือหากกระเทาะเปลือกทั้งห้าได้สำเร็จ (ในความหมายของการเจาะทะลุไปถึงแก่น) ก็จะเห็นตัวตนที่แท้จริง. หากเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเปลือกชั้นใด ก็ตามเข้าไปดูให้ถ่องแท้และแก้ไขที่เปลือกชั้นนั้น. เปลือกทั้งห้าชั้นที่ห่อหุ้มตัวคน จึงเป็นเหมือนแสงออราของคน. ชัดเจนมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่แต่ละคน เหมือนว่าแต่ละชั้นมีความหนาความเข้มไม่เท่ากัน.
         ผู้ที่สอนโยคะ มักเน้นให้ควบคุมธรรมชาติแต่ะละแบบ ด้วยการพัฒนาปัญญาหยั่งรู้(โพธิ)  ด้วยการตั้งใจฟังและรับรู้ประสบการณ์และความทรงจำของร่างกายทั้งห้าชั้น, ด้วยการอยู่กับความวิเวก เพื่อฝึกสมาธิ / ญาณและการเจริญสติเป็นต้น  ผนวกกับกระบวนการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่างๆ ที่เป็นการคลายปม แก้ขมวด คลายเครียด ณ จุดต่างๆของร่างกาย ที่ทำให้พลังปราณไหลหมุนเวียนไปได้อย่างทั่วถึงไม่ติดขัด.
        สำหรับชาวตะวันตก ผู้ยึดตรรกะ เหตุผล, วิถีโยคะ(โยคะบำบัด)ในที่สุดมิใช่การแก้ปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการพัฒนาตัวเองไปบนเส้นทางสู่ความสุข, ความสุขที่เขาพึงได้อย่างยุติธรรม ถูกต้องตามกฎแห่งธรรมชาติ, เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เป็นผลพวงธรรมชาติของการใช้ชีวิตตามวิถีของโยคะ. ความสุขดังกล่าว เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการมีชีวิต. วิถีของโยคะ จึงสอดคล้องกับโลกทัศน์เกี่ยวกับชีวิตนี้ชีวิตเดียวที่ตั้งอยู่นี้  ซึ่งคือการอยู่อย่างมีความสุข.
           การที่พระพุทธเจ้าทรงเกิดบนแผ่นดินพราหมณ์ ได้เริ่มด้วยการศึกษาคัมภีร์พราหมณ์เล่มต่างๆที่รวมกันเป็นพระเวทจากสำนักพราหมณ์ทั้งหลาย จึงน่าจะเป็นฐานสำคัญ ที่นำไปสู่การพัฒนาความรู้เหนือขั้นขึ้นไปอีก ก้าวต่อไปจากการบรรลุความสุขในชีวิตนี้ ไปสู่การสลาย อาตมัน ที่ลัทธิพราหมณ์ถือว่าเป็นแก่นแท้ถาวร และที่พระพุทธองค์สรุปเป็นบันทัดฐานว่า สุดท้ายทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.
         เมื่อพิจารณาจากเอกสารต่างๆที่ได้อ่านของชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส หรือคนไทยผู้ศึกษาด้านนี้ เห็นความแตกต่างกันในการตีความ หรือการเน้นบทบาทและขอบข่ายของเปลือกแต่ละชั้น. ข้าพเจ้าเลือกที่การจัดเปลือกห้าชั้นในแบบที่กล่าวมาข้างต้น (ที่สับสนน้อยที่สุด) เพื่อแบ่งแยกร่างกายคนเป็นสามมิติ ที่สอดคล้องในภาพรวม กับมุมมองของการแพทย์ปัจจุบัน ที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อไว้ว่า The triple man อันประกอบด้วย กายภาพหนึ่ง (the physical body) จิตสำนึกหนึ่ง (the astral body) และจิตวิญญาณอีกหนึ่ง (the causal body(หรือง่ายๆว่า body, mind, soul).
      คิดไปคิดมา ลักษณะไตรภาค สามลักษณะ หรือสามมิติ ปรากฏเป็นฐานของอุดมการณ์ ความเชื่อและลัทธิศาสนา เช่นสามภาคในศาสนาคริสต์ อาจมองได้ว่าพระบิดาเป็น causal body, พระจิต เป็น astral body และพระบุตรเป็น physical body. และเราอาจมองพระรัตนตรัย ว่า พระพุทธเป็น causal body, พระธรรม เป็น astral body และพระสงฆ์ เป็น physical body. เลขสามเป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ ในศาสตร์ของตัวเลข ที่เพียบด้วยนัยเปรียบที่คล้ายๆกันในหลายขนบโบราณ.
       จบการนำเสนอสั้นๆเท่านี้ แต่ละคน นำไปพิจารณา ต่อยอดตามความสนใจและจริตส่วนตัว.  พิจารณาจากเนื้อหาในสารบัญ หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะให้ข้อมูลทั้งด้านปรัชญาและด้านปฏิบัติได้ดีกว่าเล่มใดหรือบทความใด ชื่อหนังสือว่า คู่มือปฏิบัติเพื่อสุขภาพ ศาสตร์แห่งอายุรเวท ศาสตร์แห่งชีวิต ของ อัคชาร์ยะ บัลกฤษณะ (Acharya Balkishana).  หนังสือได้รางวัลดีเด่นสาขา Health : Alternative Medicine, 2015.

อินเดียของอายุรเวท อินเดียกำเนิดของศาสนาพุทธ... อินเดียแดนมหัศจรรย์
The wonder that was India!  
The incredible India!

โชติรส รายงาน
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒.