Wednesday 15 April 2020

ศิลปะประดับความตายในตะวันตก 1 - รูปแบบและความหมายของไม้กางเขน

รำพึงรำพัน
             วัยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน  สังคมที่ล้อมรอบตัวเราที่มีสมาชิกผู้สูงวัยลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และสภาพร่างกายของตัวเราเองในวัยหกสิบกว่าปีนั้น เป็นเสียงกระซิบถึงความไม่แน่นอนของชีวิตที่ทอดอยู่เบื้องหน้า  หลายคนมุ่งไปในการทำบุญทำทาน  หาความสุขจากบุคคลและสัตว์เลี้ยงรอบข้าง  หลายคนทำกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินผ่อนคลายหลังจากที่ได้เครียดในวัยทำงานกันมามากแล้ว  หลายคนไปเข้าค่ายฝึกสมาธิ  อีกหลายคนมุ่งไปในการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องและเอาจริงเอาจัง  ทั้งหมดอาจมีความหวังซ่อนเร้นว่า ชีวิตนี้อาจยืนยาวไปอีกในความสุขสบาย ในขณะเดียวกันก็พยายามปรับจิตสำนึกของตนเองเพื่อเตรียมพร้อมกับความตายที่จะมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง 
            การที่ข้าพเจ้าเอาประเด็นเรื่องความตายมาศึกษา ก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อเตือนตนเองว่า ชีวิตนี้น้อยนัก และควรจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไร  โชคมหันต์ที่วัฒนธรรมตะวันตกที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยพอสมควร มีเนื้อหาเรื่องนี้ให้ศึกษา  การทุ่มแรงทุ่มเวลาเพื่อหาความรู้จากหลายมุมมอง จากขนบธรรมเนียมประเพณี จากบทวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา เชิงสังคมวิทยาและเชิงวิทยาศาสตร์  ในที่สุดเห็นว่า มุมมองหนึ่งที่น่าจะสะดวกและผ่อนคลายได้ดี  คือการมองความตายผ่านศิลปะตะวันตก ผ่านสุสานศิลป์
            ความตั้งใจในการศึกษาตามด้วยความมุ่งมั่นในการเรียบเรียงและสรุปให้เป็นหนังสือที่มีคุณประโยชน์เพื่อเป็นคู่มือสำหรับผู้รักศิลปะและผู้ปรารถนาจะเข้าใจตะวันตกมากขึ้น  ในที่สุดได้ปลูกฝังมรณานุสติแก่ข้าพเจ้าทีละเล็กทีละน้อย  ข้าพเจ้าอยากจะคิดว่า กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวทั้งหมดได้กลายเป็นการปฏิบัติธรรมรูปแบบหนึ่ง เป็นแบบส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง  การปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้า อาจมิได้นำข้าพเจ้าให้บรรลุอะไรที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าอุดมการณ์ชีวิตปกติของข้าพเจ้า  อย่างน้อยก็ได้ลดความกลัวตายในธรรมชาติวิสัยของสิ่งมีชีวิต ให้เป็นการยอมรับสัจธรรมและรับความจริงนั้นมาเป็นเพื่อนคู่คิด  ในแง่นี้ ข้าพเจ้าจึงพอใจมากที่ได้ปฏิบัติตามวิถีของข้าพเจ้า
           เนื้อหาที่นำมาลงในบล็อกชุดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าของข้าพเจ้า  เป็นส่วนที่เข้าใจง่าย มีภาพประกอบมากพร้อมคำอธิบาย  การมองผ่านศิลปะเพื่อความตาย ผ่านสุสานศิลป์ หรือมรณศิลป์ เป็นทางที่อ่อนโยนที่สุดก็ว่าได้  ศิลปะช่วยเราเสมอมา ลดความน่าเกลียดน่ากลัวในสรรพสิ่ง และเสริมสร้างพลังจิตของเราในทุกขั้นตอนของชีวิต   ข้าพเจ้าจึงหวังว่า ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน จักได้พบความสบายใจเบื้องหลังข้อมูลเชิงศิลปะทั้งหลายบนเส้นทางปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้า 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

             ในตะวันตก ศิลปะเพื่อความทรงจำของบุคคลที่จากไป โดยปริยายเกี่ยวข้องกับการฝังศพมากกว่าการปลงศพวิธีอื่นๆ  เพราะการฝังศพนั้นมีพื้นที่ ส่วนวิธีการปลงศพวิธีอื่นเช่น การเผาหรือลอยศพในทะเลหรือแม่น้ำ  การฝังในอากาศเช่นการมัดร่างผู้ตายกับต้นไม้ใหญ่หรือไปตั้งบนผาสูง ทิ้งเป็นอาหารของนกแร้ง  ส่วนการเผาศพนั้นเนื่องจากไม่เหลือ “กาย” ให้เก็บรักษา จึงไม่มีปัญหาเรื่อง “พื้นที่” ที่ต้องจัดการดูแล  อาจมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อผู้ตายโดยที่อนุสาวรีย์นั้นมิได้บรรจุอัฐิหรืออังคารของผู้ตาย  อาจมีการเก็บอังคารไว้ในกระปุก โถหรือโกศขนาดเล็ก ซึ่งในกรณีนี้ก็มักเป็นแบบเรียบง่าย  ชาวตะวันตกไม่นิยมเก็บอังคารของผู้ตายไว้ในบ้าน จึงมักฝากไว้ที่วัดหรือที่สุสาน  เพราะฉะนั้นสุสานศิลป์จึงเกี่ยวข้องกับการฝังศพมากกว่า เพราะมีพื้นที่สำหรับการฝัง แม้จะน้อยนิดเพียงใดก็เป็นที่สำแดงศิลป์ได้ 
               ในที่นี้เราจึงจะกล่าวถึงสิ่งที่เนรมิตขึ้นเพื่อประดับเหนือหลุมฝังศพเท่านั้น และไม่โยงไปถึงการเนรมิตสรรพสิ่งที่ประดับรอบ ข้างศพ ผู้ตาย หรือมัมมีของผู้ตาย ในโลงศพ หรือภายในสุสานใต้ดินดังที่ปรากฏในอารยธรรมโบราณเช่นในอารยธรรมจีน หรืออีจิปต์เป็นต้น  โดยทั่วไปโลงศพทำขนาดเพื่อรองรับร่างผู้ตายในลักษณะนอนราบ[1] ด้านศีรษะกว้างกว่าด้านเท้านิดหน่อย  เมื่อนำลงฝังในหลุม จะวางด้านศีรษะหันไปในทิศตะวันตกและเท้าชี้ไปทางทิศตะวันออกตามคติในคริสต์ศาสนาที่ว่า ทุกวิญญาณจะฟื้นคืนชีวิตในอาณาจักรแห่งแสงสว่างนิรันดร์ แสงสว่างที่คนบนโลกเห็นคือจากทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น เมื่อกลบดินปิดเต็มแน่นทั้งหลุมและมีแผ่นหินหนาหนักวางทับปิดสนิททุกด้านบนระดับเดียวกับพื้นที่นั้นแล้ว  ศิลปะจึงเข้าไปประดับพื้นที่เหนือหลุมศพนั้นในแบบต่างๆ
ไม้กางเขน
รูปกากบาท หรือ เครื่องหมายกางเขน เป็นภาพลักษณ์ของรูปร่างคนเมื่อกางมือออกสองข้าง  ของนกเมื่อกางปีกโผบิน  ของเรือใบพร้อมเสากระโดง  ของเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับงานขุดดินไถนา  ของเกวียน  ของสมอเรือ เป็นต้น  รูปลักษณ์กางเขนมีมาแล้วแต่โบราณกาลก่อนพระเยซูเกิดในอารยธรรมโบราณอื่นๆ  ที่น่าสนใจคือจากโบราณกาลเรื่อยมา คนกราบไหว้บูชาสัญลักษณ์แบบนี้  ชนหลายเผ่าพันธุ์ได้เพิ่มมิติของความศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในรูปลักษณ์กากบาท   ไม้กางเขนจึงมิได้เกิดขึ้นกับคริสต์ศาสนาและมิได้โยงแบบอัตโนมัติไปถึงคริสต์ศาสนาเท่านั้น  แต่ดูเหมือนว่า คำ ไม้กางเขน ในภาษาไทยเจาะจงหมายถึงคริสต์ศาสนาเป็นสำคัญ        
               แต่คริสต์ศาสนาได้ใช้เครื่องหมายกางเขนในความหมายที่กว้างครอบจักรวาลมากกว่ากระแสความคิดความเชื่ออื่นใด  เช่นใช้เป็นสัญลักษณ์ที่รวมประวัติศาสตร์มนุษยชาติและแก่นแท้ของคริสต์ธรรมคัมภีร์  ด้วยการโยงไปถึงไม้จากต้นไม้แห่งชีวิตในสวนอีเด็น  และโยงเป็นตำนานต่อมาว่าเป็นไม้ที่โนเอใช้สร้างเรืออาร์ค  เป็นไม้เท้าคู่มือของโมเสสที่เมื่อฟาดลงบนหินผา ทำให้น้ำไหลพุ่งออกมาให้ชาวยิวได้ดื่มได้ใช้  เป็นไม้เกาะของงูทองสัมฤทธิ์ที่โมเสสสร้างขึ้นเพื่อช่วยชีวิตของชาวยิวที่ถูกงูกัดโดยให้จ้องที่งูสัมฤทธิ์นั้น (le serpent d’airain ในคัมภีร์เก่าตอน Nombres 21, 6-9)  หรือเมื่ออาดัมตาย เซ็ท(Seth ลูกชายคนที่สามของอาดัมกับอีฟ) ได้นำกิ่งต้นไม้นี้ ปลูกไว้ข้างหลุมศพของอาดัม  ต้นไม้ได้เจริญและแพร่พันธุ์ไปทั่วพื้นโลก และได้เนรมิตปาฏิหาริย์หลายครั้งหลายครา  นักบุญบอนาเวนตูรา (San Bonaventura, 1221-1274 ชาวอิตาเลียน เป็นปราชญ์ของศาสนา) กล่าวว่า ไม้กางเขนคือต้นไม้แห่งชีวิต  เป็นต้นไม้แห่งความงาม ที่กลายเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เพราะได้รองรับร่างและเลือดของพระเยซูคริสต์ และเป็นต้นไม้ที่เพียบด้วยผลไม้หอมน่ากิน[2]  
               ตั้งแต่ต้นคริสตกาล เล่ากันมาว่า ไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์เคยกู้ชีวิตของคนตายกลับฟื้นคืนชีวิตได้   ไม้กางเขนได้กลับมาปรากฏอีกในวันพิพากษาสุดท้าย ดังปรากฏในประติมากรรมจำหลักประดับบนหน้าบันเหนือประตูทางเข้าที่เป็นประตูใหญ่ของวัดโบสถ์หรือมหาวิหารในยุโรป  เพื่อยืนยันว่า พระเยซูคริสต์บนสวรรค์คือคนเดียวกับพระเยซูผู้ถูกตรึงในโลกมนุษย์  ไม้กางเขนจึงเป็นหลักฐานของชีวิตมนุษย์ของพระองค์บนโลก  และในเมื่อพระองค์ตายและฟื้นคืนชีวิตได้  ไม้กางเขนจึงเหมือนของขลังของวิเศษที่ปลุกกำลังใจให้คนสู้กับการกลัว  ให้ความอบอุ่นใจที่รู้ว่ามีพระเจ้าคอยรับดวงวิญญาณของพวกเขาอยู่  ที่จะคุ้มครองเขาตลอดเส้นทางผ่านพิภพ  และแม้ว่าชาวตะวันตกสมัยปัจจุบันจะมีจิตสำนึกเกี่ยวกับพระเจ้าน้อยลงไปมากก็ตาม  แต่เมื่อยามจากโลกนี้ไป ก็ไม่มีอะไรอื่นที่จะปลอบใจผู้ตายได้ดีไปกว่าไม้กางเขน   สุสานทุกแห่งในตะวันตกจึงมีไม้กางเขนเด่นเหนือหลุมศพทั้งหลาย  และเป็นสิ่งประดับสิ่งแรกเหนือหลุมศพของชาวคริสต์ผู้มอบร่างและวิญญาณให้อยู่ในความเมตตาของพระเจ้า  
               ตามตำนานเล่าว่านักบุญเฮเลน(Saint Helen) มารดาของจักรพรรดิโรมันคอนสแตนตินที่หนึ่ง (Constantin, 272-337)[3] ได้เดินทางจาริกแสวงบุญ(ในปี 326)ไปยังเขาโกลก๊อตธา (Golgotha) ที่พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนจนเสียชีวิต  นางได้ค้นพบซากเหลือของไม้กางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซู  เรื่องนี้ได้โดนใจจักรพรรดิคอนสแตนตินให้สร้างรูปอนุสาวรีย์เป็นไม้กางเขนทองคำขนาดใหญ่ ตั้งไว้เหนือเนินเขาโกลก๊อตธา  
               เครื่องหมายกางเขนแบบแรกที่ทำขึ้นเป็นไม้กางเขนแห่งชัยชนะ คือไม่มีรูปพระเยซูประกอบ  ในยุคนั้น การเสนอภาพพระเยซูถูกตรึงเป็นสิ่งทำร้ายจิตใจและจิตสำนึกของชาวคริสต์อย่างมาก   นักบวชชาวไอริชในศตวรรษที่7 เป็นหมู่แรกที่สร้างไม้กางเขนให้เป็นอนุสาวรีย์อย่างแท้จริงแบบหนึ่ง โดยทำเป็นหินตั้งจำหลัก ต่อมามีไม้กางเขนแบบกรีกภายในวงกลมในศตวรรษที่ 8   และในศตวรรษที่ 9 เริ่มมีไม้กางเขนพร้อมพระเยซูถูกตรึงที่พัฒนาขึ้น  และตั้งแต่ปี 1095 เป็นต้นมารูปแบบของเครื่องหมายกางเขนพัฒนาควบคู่กันไปกับศิลปะโรมันเนสก์ (Romanesque)  รูปลักษณ์กากบาทเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายและบรรลุความงามสูงสุดในศตวรรษที่ 16
การประกอบเครื่องหมายกางเขนทำได้สี่แบบหลักๆดังนี้
A)  แบบตัวอักษร T  แกนนอนวางราบบนแกนตั้ง(ในตะวันตกเรียกเครื่องหมายแบบนี้ว่า Croix en Tau หรือ Croix de Saint-Antoine) กางเขนไม้ทีแบบนี้หมายถึงการเสียสละ การยอมตายเพื่อสังเวยความเชื่อ  ชาวคริสต์อาจโยงไปถึงงูสัมฤทธิ์ของโมเสสที่ช่วยคนที่มีใจศรัทธาให้พ้นจากพิษงู หรือนึกไปถึงไม้ฟืนของอีซัคที่เขาแบกขึ้นไปบนเขาตามหลังบิดา ผู้จะฆ่าเขาตามคำสั่งของยาเว แต่เทวทูตมายึดแขนของอับราฮัมไว้ บอกว่าพระเจ้าเชื่อใจเขาแล้ว 
B)  แบบที่มีแกนนอนหนึ่งแกนวางขวางบนแกนตั้ง  มีแขนสี่แขน เป็นแบบไม้กางเขนละติน แกนนอนสองข้างเท่ากัน ส่วนแกนตั้งมีส่วนยอดสั้นกว่าส่วนล่าง  ตามลักษณะรูปร่างของคนที่ยืนกางแขนออกสองข้างในระดับเดียวกับไหล่  ส่วนไม้กางเขนกรีก มีสี่แขนเท่ากันทั้งหมด  แขนทั้งสี่ของเครื่องหมายกางเขนเตือนให้นึกถึงธาตุสี่ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์  สี่ยังเป็นคุณธรรมคริสต์สี่ประการ[4]  กางเขนแบบกรีกสร้างตามอุดมการณ์แห่งความงาม ส่วนแบบละตินสร้างตามความเป็นจริง   สถาปัตยกรรมวัด อาราม วิหารหรือโบสถ์ มักมีแบบแปลนของไม้กางเขนกรีกในตะวันออกกลางเช่นกรีซ  ตุรกี ซีเรีย  ส่วนในตะวันตก สถาปัตยกรรมวัดโบสถ์เลียนแบบไม้กางเขนละตินมากกว่า (แต่มีข้อยกเว้นหลายแห่งในยุโรป ที่วัดวิหารสร้างตามแบบไม้กางเขนกรีก เช่นวิหารที่เมืองอาเคิน - Aachen ประเทศเยอรมนี) 
C)  แบบที่มีแกนนอนสองแกนตั้งขวางราบบนแกนตั้ง แกนนอนแกนแรกสั้นกว่าและอยู่เหนือแกนที่สอง  โดยมีแกนแรกอยู่ระดับศีรษะ และแกนที่สองอยู่ระดับเดียวกับไหล่  เรียกว่าไม้กางเขนแบบลอแรน  (Croix lorraine) ในความเป็นจริง ไม้กางเขนแบบนี้พบมากในประเทศกรีซมากกว่าประเทศอื่นใด มากกว่าในถิ่นลอแรน มณฑลอัลซาสในประเทศฝรั่งเศส (Lorraine, Alsace, France)     
D)  แบบที่มีแกนนอนสามแกน ขวางราบไปบนแกนตั้ง  ไม้กางเขนแบบนี้บอกระดับยศฐาบันดาศักดิ์ในองค์การศาสนา  รูปแบบสอดคล้องกับหมวกประจำตำแหน่งของสันตะปาปาที่มีสามชั้น(ที่เรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า la tiare)  หรือหมวกปีกกว้างประจำตำแหน่งของการ์ดินัล หรือหมวกสูงรูปโคนคว่ำ(la mitre)ประจำตำแหน่งของเจ้าอาวาสหรือหัวหน้าบาทหลวง
               นอกจากทั้งสี่แบบ การไขว้ของแกนสองแกน อาจเป็นแบบอักษร X (ที่เรียก Croix de Saint-André) หรือแบบที่มีวงกลมซ้อนอยู่ด้านหลังบริเวณที่แกนมาตัดกันโดยที่มีส่วนปลายของแกนทั้งสี่เลยออกนอกกรอบของวงกลม เช่นไม้กางเขนแบบเคลติก (Croix celtique) หรือแบบสวัสดิกะ เป็นต้น  นอกจากนี้ยังอาจมีรูปไม้กางเขนขนาดย่อส่วนประดับเพิ่มหรือซ้อนเข้าไปในไม้กางเขนขนาดใหญ่  ส่วนที่ตัดหรือไขว้กันของเครื่องหมายไม้กางเขนขนาดใหญ่ๆ  จะอยู่ตอนบนของแกนตั้งซึ่งจะต่อด้วยด้ามยาวสำหรับถือ รวมความยาวทั้งหมดยาวกว่าส่วนสูงเฉลี่ยของชาวตะวันตก(เช่นประมาณสองเมตร) เนื่องจากใช้ในพิธีกรรมศาสนา  ผู้นำพิธี(สันตะปาปา, สังฆราชหรือเจ้าอาวาส) เป็นผู้ถือนำขบวนคณะสงฆ์  จึงต้องสูงเพียงพอให้ทุกคนในขบวนเห็นได้ 
            เครื่องหมายกางเขนใหญ่ๆบางทีมีรูปปั้นพระเยซูเข้าไปติดประดับบนไม้กางเขนด้วย  เครื่องหมายกางเขนยังถูกใช้เป็นองค์ประกอบของตราประจำตระกูลขุนนาง  และบางทีก็ยังนำตราประจำตระกูลประดับเพิ่มเข้าไปบนไม้กางเขนเพื่อใช้เฉพาะสำหรับตระกูลนั้น   นอกจากนี้เครื่องหมายกางเขนยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ประดับธงชาติของหลายชาติด้วยเช่นกัน  ในที่สุดรูปแบบของเครื่องหมายกางเขนได้วิวัฒน์ขึ้นหลากหลายมาก[5]
            ไม้กางเขนเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในพิธีกรรมศาสนา  ขนาดของไม้กางเขนจึงสอดคล้องกับการใช้ในแต่ละสถานที่แต่ละโอกาส  การประดิษฐ์ไม้กางเขนจึงคำนึงถึงการนำไปใช้ที่ใดเพื่ออะไร  เช่นนี้จึงมีไม้กางเขนสำหรับขบวนพิธีศาสนา  ไม้กางเขนสำหรับตั้งตรงทางสี่แพ่ง  ไม้กางเขนบนยอดเขาสูง  ไม้กางเขนเพื่อสู้โรคระบาด(ที่ผู้ป่วยชาวบ้านเข้าไปถูไถด้วยความหวังว่าโรคภัยเช่นกลากเกลื้อนจากโรคเรื้อน จะจางหมดไป  จึงทำให้ไม้กางเขนนั้นกลายเป็นพาหะนำเชื้อไปในที่สุด)  ไม้กางเขนของผู้เดินทางจาริกแสวงบุญ  ไม้กางเขนที่ปักข้างทางบอกทิศทางหรืออาณาเขตเช่นทางเข้าออกของหมู่บ้าน  ไม้กางเขนประจำสุสาน ไม้กางเขนแก้บนที่ปักไว้ตรงจุดที่เกิดนิมิต จุดที่เกิดอุบัติเหตุเป็นต้น  ไม่ว่าแบบใด ไม้กางเขนที่ตั้งไว้บนพื้นที่ใด เน้นนัยยะของความศรัทธาของชุมชนในพื้นที่นั้นเป็นสำคัญ และบอกให้รู้ว่า พื้นที่นั้นเป็นของชุมชนชาวคริสต์แคทอลิก  มิใช่ชุมชนโปรเตสแตนต์  
           นอกจากใช้ไม้ หินแกรนิต หินอ่อน ต่อมาใช้โลหะเช่นทองสัมฤทธิ์  เหล็กหล่อหรือเหล็กหลอม เหล็กดัดหรือซีเม็นต์  ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและศิลปะพื้นบ้านของแต่ละชุมชนที่อยู่ในระดับสูงทีเดียว  ในสมัยหลังๆมาไม้กางเขนที่ทำจากไม้ ส่วนใหญ่จะนำไปประดับภายในอาคาร ในวัดมากกว่าในที่โล่งกลางแจ้ง เพราะปัญหาดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ  ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นไม้กางเขนขนาดใหญ่ๆเพื่อให้เห็นได้จากที่ไกล  ยังมีไม้กางเขนที่ประดับเหนือหลุมศพซึ่งมีขนาดเล็กลง และไม้กางเขนสำหรับใช้ส่วนตัว ตั้งแต่ที่ติดไว้เหนือที่นอนหรือที่เก็บติดตัว ขนาดตามความเหมาะสมกับแต่ละกรณี 
           การเสนอรูปปั้นขนาดเล็กของพระเยซูบนไม้กางเขน  เป็นแบบเหยียดตรงทั้งร่าง หรือแบบห่อตัว เข่างอยื่นออกมา  ส่วนหัวของรูปปั้นตกลง มากหรือน้อยเป็นต้น  จินตนาการที่อยากเห็นรูปพระเยซูในแบบอื่นๆ ก็ทำได้ด้วยการเพิ่มสิ่งประดับบนแขนขาของไม้กางเขน หรือที่นิยมกันเป็นพิเศษในประเทศสเปนที่ดูเหมือนหลงใหลการนำเสนอให้ใกล้ความจริงมากที่สุด ด้วยการเพิ่มผมคนจริงๆเข้าไปบนรูปปั้นของพระเยซู  ลักษณะผมยาวที่ตกลงปกคลุมใบหน้า ยิ่งสะเทือนอารมณ์คนดู  ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อเน้นความสมจริงและกระตุ้นความเศร้าสลดที่พระเยซูได้เสียชีวิตไปบนไม้กางเขนโดยไม่มีความผิดใดๆเป็นสองเท่าทวี   นอกจากนี้ยังนิยมแต่งรูปปั้นพระเยซู พระแม่มารีและพระเยซูองค์น้อย ด้วยเสื้อผ้าจริงๆ ที่มีการปักตกแต่งอย่างวิจิตรหรูหราสุดฝีมือ  เสริมความอบอุ่นใจแก่ชาวสเปนว่าพระเจ้ามีความเป็นคน  เข้าใจพวกเขาได้เป็นอย่างดี และจักช่วยปลดทุกข์สารพัดแบบในชีวิตของพวกเขาบนดินนี้ด้วย
ไม้กางเขนหินแกรนิตแบบเคลติก บนเกาะแซ็งต์กาโดเหนือแม่น้ำเอเต็ล (Saint-Cado ในแม่น้ำ la Ria d’Étel)  บนฝั่งน้ำนี้มีที่ตั้งของวัดเล็กๆแบบโรมันเนสก์  ตำนานเล่าว่า ชาวบ้านอยากสร้างสะพานเชื่อมเกาะเล็กๆนี้กับฝั่งที่ตั้งหมู่บ้าน แต่ขาดทุนทรัพย์  ซาตานมาปรากฏตัวแก่นักบุญกาโด อาสาจะสร้างสะพานให้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องได้วิญญาณจากชีวิตแรกที่เดินข้ามสะพานนี้  นักบุญตกลง  ซาตานสร้างสะพานหินให้แล้วเสร็จเพียงชั่วข้ามคืน  วันรุ่งขึ้นเมื่อเห็นสะพานเสร็จแล้ว นักบุญปล่อยแมวตัวหนึ่งให้เดินไปบนสะพาน  ในศตวรรษที่11-12 นักบวชในถิ่นนั้นช่วยกันสร้างวัดแซ็งต์กาโด ที่เป็นที่ฝังศพของนักบุญ  อยู่ในจังหวัด มอรบีย็อง (Morbihan ในมณฑลเบรอ-ตาญตอนใต้ ประเทศฝรั่งเศส)  (ภาพของ Rundvald ถ่ายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2006 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
ไม้กางเขนข้างทางบนเส้นทางสู่ภูเขาเชอเกลอะแบร์ก (Tschögglberg)  อยู่ในเขตเมืองเวอรัน (Vöran) ประเทศออสเตรีย  ทำด้วยไม้ มีรูปปั้นพระเยซูประดับ และตกแต่งด้วยกิ่งต้นสน ทั้งยังทำรั้วกั้นไว้อย่างเรียบร้อย แสดงความตั้งใจและศรัทธาของชุมชนนั้น  (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  เป็นภาพถ่ายของ Naclador เมื่อวันที่ 18 février 2009)
ไม้กางเขนจากเหล็กดัดรูปแบบสวยงาม ที่ วิยอลส์-เลอ-ฟอรต์ (Viols-le-fort) ในเมือง เอโรต์ (Héraut)  (ภาพถ่ายของ Stéphane Batigne เมื่อเดือนกรกฎาคม 2009 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
           ตัวอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจคือการตั้งไม้กางเขนบนยอดเขา  การสำรวจเส้นทางในเทือกเขาแอลป์เริ่มด้วยทางเท้าเป็นสำคัญ เป็นความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายมาก  กว่าที่แต่ละประเทศจะพบเส้นทางสะดวกปลอดภัยสำหรับการก่อสร้างสถานีบนยอดเขาลูกใด  มีคนเสียชีวิตไปจำนวนมาก  แต่ความพยายามของคนก็ไม่มีที่สิ้นสุด ความกล้าหาญของบุคคลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง พวกเขาเป็นวีรชนอย่างแท้จริงเพราะสิ่งที่เขาทำได้อำนวยความสะดวก ให้โอกาสแก่ชาวโลกจำนวนมากได้ขึ้นไปชมทัศนียภาพ ให้นักวิจัยได้ไปศึกษา(ชีว)ธรณีของเทือกเขา   มีสักกี่คนที่นึกถึงก้าวแต่ละก้าวของนักสำรวจและคนงานที่สร้างเส้นทางบนเขาเหล่านั้น   เมื่อการสำรวจสำเร็จลุล่วงลง  นักสำรวจนักปีนเขาเหล่านั้น ยังมีความถ่อมตนเพียงพอและคุกเข่าลงคารวะ พระผู้สร้าง หรือ ธรรมชาติ จากก้นบึ้งของจิตวิญญาณ  เครื่องหมายกางเขนดูเหมือนเป็นสัญลักษณ์เดียวในโลกตะวันตก ที่มีความหมายยิ่งใหญ่ครอบคลุมความเป็นมนุษย์ ความเป็นจักรวาลและธรรมชาติอันไพศาล  (ธงชาติไม่อาจให้ความหมายและความรู้สึกแบบเดียวกันได้ ทั้งยังเป็นการเน้นความภาคภูมิใจอันฉาบฉวยชั่วครู่ชั่วยาม)   จิตสำนึกแบบนี้แพร่หลายไปในประเทศโดยรอบเทือกเขาแอลป์ และเริ่มตั้งแต่กลางศตวรรษที่19 ถึงกลางศตวรรษที่20   ไม้กางเขนเหนือยอดเขาใดมีขนาดใหญ่มากและมองเห็นได้จากที่ไกลๆ เช่นที่ซุกสปิดส์ (Zugspitz) ยอดเขาแอลป์ที่สูงที่สุดในเยอรมัน (สูง 2,962 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  ดูรายละเอียดเกี่ยวกับยอดเขานี้ได้ที่ www.zugspitze.de)
ยอดเขาซุกสปิดส์ (Zugspitze) ในประเทศเยอรมนีตอนใต้  เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาแอลป์ตั้งอยู่บนพรมแดนของประเทศเยอรมนี และทอดต่อเข้าไปในพรมแดนออสเตรียด้วย  บนลานสูงของหอคอยที่นั่น มีเส้นแบ่งพรมแดนเยอรมนีและออสเตรียให้เห็นด้วยอย่างชัดเจน  ที่เราเพียงเดินก้าวข้ามไป  คนไปเที่ยวยังอาจขึ้นไปจากด้านเยอรมนีและไปลงด้านออสเตรียได้  เครื่องหมายกางเขนเป็นแบบกรีกตั้งเหนือลูกกลมที่อาจโยงไปถึงโลก  จากจุดตัดตรงกลางของไม้กางเขน มีเส้นขีดเป็นแฉกกระจายออกสี่ทิศที่ทำให้คิดถึงแสงรังสีของดวงอาทิตย์  การเลือกรูปลักษณ์ดังกล่าวทำให้เข้าใจจิตสำนึกของผู้ออกแบบที่เข้าถึงจิตวิญญาณของนักสำรวจเขา (ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 เวลา 13:15 น.)

ภาพแห่งความพยายามและผลจากความพยายามของคน สองภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2010 เวลา 11:25 น.และ 14:51 น.ตามลำดับ
ไม้กางเขนประจำสุสาน บางทีเรียกว่า ไม้กางเขนโฮซันนา (croix hosannière) มาจากขนบการปลุกเสกไม้กางเขนประจำสุสานด้วยการร้องเพลงสวดโฮซันนา ซึ่งมีคำ โฮซันนา - Hosanna ในเพลงสวดนั้น  ไม้กางเขนที่นำมาเป็นจุดรวมจิตวิญญาณของสุสานนั้น บางทีนำไม้กางเขนที่เคยตั้งข้างทางกลับมาใช้อีก โดยเฉพาะในสุสานชนบท  ในสมัยก่อนๆนั้น มักนำมาตั้งบนพื้นเหนือหลุมศพรวมของชาวบ้านหรือที่เก็บกระดูกใต้พื้น
ภาพจากสุสานที่หมู่บ้านอัปเป็นเซล (Appenzell ในสวิสเซอแลนด์) ไม้กางเขนใหญ่ตั้งตรงกลางทางเข้า ทำจากไม้ มีหลังคา เป็นไม้กางเขนแบบที่นิยมในประเทศโดยรอบเทือกเขาแอลป์  (ภาพของผู้เขียนเองถ่ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2014 เวลา 14:25น.)
ภาพจากมนแซรรัต (Montserrat ในภาษากะตะลัน-Catalan นอกเมืองบาร์เซโลนา-Barcelona) ประเทศสเปน เป็นเทือกเขาหินสูงและโล้น โขดหินผาสูงมองดูตระหง่าน  เป็นที่ตั้งของอารามเบเนดิคตินชื่อ ซันตา มาเรีย เด มนแซรรัต (Santa Maria de Montserrat) ที่นั่นเป็นที่ตั้งของพระแม่มารีองค์ดำที่เป็นที่เคารพสักการะมานานหลายศตวรรษ ชาวสเปนถือว่าที่นั่นเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่ง  ตำนานเล่าว่า ณตรงนั้นมีผู้ค้นพบ ถ้วยเหล้า(the Holy Grail) ที่พระเยซูเคยใช้ในมื้ออาหารสุดท้ายและถูกนำมารองรับโลหิตที่หลั่งไหลจากบาดแผลทั้งห้าบนตัวพระเยซูเมื่อถูกตรึงบนไม้กางเขน  เพราะเหตุนั้น ชาวคริสต์จากทุกมุมโลกจึงเดินทางจาริกไปที่นั่น  ถ้วยเหล้านั้นอยู่ที่ไหนไม่มีข้อมูลระบุไว้   ไม้กางเขนหินที่ตั้งเด่นบนลานอารามที่เห็นในภาพนี้  จำหลักอย่างสวยงามและละเอียดทุกด้าน ตอนบนด้านหนึ่งของไม้กางเขน จำหลักเป็นรูปพระแม่มารีอุ้มพระเยซูองค์น้อย และอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระเยซูบนไม้กางเขน  เสาตะเกียงที่เห็น(และเสาอื่นๆในบริเวณอารามก็เป็นแบบนี้) มีเครื่องหมายกางเขนบนยอด บอกว่าเป็นพื้นที่แคทอลิก (ภาพถ่ายของผู้เขียน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2010 เวลา 16:50 น.)
         ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในภาคเหนือด้านตะวันตกของฝรั่งเศสโดยเฉพาะ(มณฑล เบรอ-ตาญ- Bretagne) และในบางถิ่นของประเทศเบลเยี่ยม  มีการเนรมิตอนุสาวรีย์ไม้กางเขนขนาดใหญ่ เรียกว่า กัลแวร์ หรือ (calvaire)  อนุสาวรีย์กัลแวร์   เป็นกลุ่มประติมากรรมขนาดใหญ่หลายระดับ  ประกอบด้วยรูปพระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน ที่ตั้งสูงเด่นเหนือฐานสูงอันมั่นคง  มีรูปปั้นพระแม่มารีและอัครสาวกจอห์นขนาบสองข้างไม้กางเขน และรูปปั้นอื่นๆที่ประกอบกันเป็นฉากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่พระเยซูถูกตรึง ประดับอยู่โดยรอบ กับรูปปั้นขนาดเล็กอื่นๆที่นำมาประกอบกันเป็นฉากในชีวิตพระเยซูและพระแม่มารี  ประดับต่ำลงไป เช่นฉากอาหารมื้อสุดท้ายเป็นต้น   กัลแวร์ใหญ่ๆของมณฑลเบรอ-ตาญ ที่สำคัญๆมีเจ็ดแห่ง เป็นมรดกวัฒนธรรมที่พิเศษสุดของมณฑลนี้   กัลแวร์ขนาดใหญ่แต่ละแห่งประดับด้วยรูปปั้นใหญ่เล็กมากกว่า 200 รูป    อนุสาวรีย์กัลแวร์ นี้ได้กลายเป็นจุดรวมชุมชนในโอกาสเฉลิมฉลองเทศกาลศาสนาต่างๆ  หรือเมื่อมีการรวมกำลังชุมชนเพื่อสวดขอพรจากพระเจ้าอย่างเฉพาะเจาะจงเช่นในยามที่เกิดโรคระบาด สงคราม เพลิงไหม้ หรือเกิดความแห้งแล้งผิดปกติเป็นต้น
           กัลแวร์เป็นองค์ประกอบหนึ่งบนพื้นที่วัดในหมู่บ้าน ที่นอกจากจะมีวัดพร้อมสุสานติดวัดแล้ว ยังมีอาคารที่เก็บอัฐิและอังคารของผู้ตาย เนื่องจากสุสานมีพื้นที่จำกัดและไม่เพียงพอสำหรับชุมชนรุ่นต่างๆ  ดังนั้นจึงจำต้องขุดย้ายอัฐิและอังคารจากหลุมศพเก่าๆขึ้นมาเพื่อจัดที่สำหรับผู้ตายรุ่นหลังๆ   อาคารเก็บอัฐิอังคารนี้อาจเป็นอาคารโดดตั้งติดกำแพงของสุสาน(หรือไม่ก็ได้) หรือเป็นอาคารที่สร้างเพิ่มเข้าไปติดกำแพงวัดเลย  บางแห่งอาคารเก็บอัฐิเป็นที่ประกอบพิธีฌาปนกิจด้วย
           ในภาคเหนือของยุโรป ยังนิยมสร้างกัลแวร์ขนาดเล็กไปตั้งตรงทางสี่แยก บอกเส้นทางในขณะเดียวกันก็แสดงศรัทธาของชุนชนถิ่นนั้น  ไม่ผิดไปจากการจัดตั้งหินบนพื้นที่หนึ่งในโลกยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แปลงภูมิทัศน์ธรรมชาติให้เป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรม  ในปัจจุบัน กัลแวร์ ยังคงมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของชาวเบรอ-ตง (Bretons คือผู้ที่อาศัยอยู่ในมณฑลเบรอ-ตาญในฝรั่งเศส) ที่ยังยึดประเพณีพื้นบ้านของการจาริกไปยังถิ่นที่ตายของนักบุญคนสำคัญๆ ที่เริ่มมาในราวศตวรรษที่5 กับกลุ่มนักบวชชาวเคลต์  เรียกกันในภาษาถิ่นว่า ปาร์ดง (Pardon) ที่จารึกไว้ในปฏิทินนักบุญของคริสต์ศาสนา  เทศกาลปาร์ดง ในเบรอ-ตาญ รวมชาวเมืองทั้งหมดทั้งในพิธีศาสนาและในงานเฉลิมฉลองรื่นเริงของหมู่บ้าน โดยมีกัลแวร์เป็นศูนย์กลาง  กัลแวร์ทำหน้าที่เป็นฉากในพิธีศาสนาเช่นเป็นเหมือนแท่นบูชา หรือเป็นที่เทศน์ เป็นต้น  เทศกาลปาร์ดงในฝรั่งเศส  อาจโยงไปได้ถึงขนบการจัดขบวนพาเหรดในวันนักบุญแพ็ตทริก (Saint Patrick) ที่ประเทศไอรแลนด์ หรือที่กรุงนิวยอร์คและอีกหลายเมืองในแคนาดา
           กัลแวร์บางแห่งถูกย้ายไปเป็นอนุสรณ์สถานแก่ผู้เสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง   กัลแวร์ที่เมืองลูร์ด (Lourdes ในภาคใต้ของฝรั่งเศส) เป็นกัลแวร์แบบของเบรอ-ตาญ ที่สร้างขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาตามคติแคทอลิกของถิ่นเบรอ-ตาญอย่างเฉพาะเจาะจงและนำไปตั้งในภาคใต้ของฝรั่งเศส     ในยุโรปภาคกลาง กัลแวร์มีความหมายกว้างออกไปครอบคลุมวัดเล็กๆต่างๆที่ตั้งอยู่บนเส้นทางของไม้กางเขนสิบเอ็ดจุด  การจัดตั้งไม้กางเขนเป็นระยะๆสิบเอ็ดจุดบนเส้นทางหนึ่งนั้น  คือการสร้างเลียนเส้นทางที่พระเยซูเดินแบกไม้กางเขนจากเมืองเยรูซาเล็มไปถึงเนินเขาโกลก็อตธา และพระองค์ได้หกล้มหกลุกและหยุดชั่วครู่สิบเอ็ดครั้ง  เส้นทางเดินนี้ มักจำลองไว้สองข้างลำตัวของวัดวิหารหรืออารามด้วย  ส่วนที่อยู่นอกอาณาบริเวณวัด ก็มักเลือกพื้นที่เป็นเนินเพื่อให้จุดที่สิบเอ็ดไปอยู่บนเนินสูง
ภาพกัลแวร์ แซ็งต์-ฌ็อง-โทร หลิ มง (Saint-Jean-Trolimon) อยู่ในเมือง ฟีนิสแตร์ (Finistère) มณฑลเบรอ-ตาญ(Bretagne) ประเทศฝรั่งเศส พื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นถิ่นฐานของชนเผ่าโกล(Gaulois) และชาวโรมัน  เป็นหมู่บ้านหนึ่งบนเส้นทางสายลมและแสงแดดในถิ่นบีกูแดน(le Pays Bigouden)  ได้ชื่อว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่เก่าที่สุดในหมู่กัลแวร์ในฝรั่งเศส สร้างขึ้นในระหว่างปี1450-1460 ลมและทรายยังผลให้รูปปั้นที่ประดับอยู่ผุกร่อนไปมาก   รูปปั้นทั้งหลายสลักจากหินแกรนิตและหินแกร์ซ็องตง(Kersanton) เป็นผลงานของโรงงานสลักหินหลายแห่งในปริมณฑลใกล้เคียง  ผู้ศึกษาสำรวจประติมากรรม กัลแวร์ ระบุว่า  กัลแวร์แซ็งต์-ฌ็อง-โทร หลิ มง  มีฉากเหตุการณ์ที่ประกอบขึ้นที่ไม่ปรากฏในกัลแวร์แห่งอื่นใด เช่น เทวทูตนำถ้วยมารองรับเลือดที่ไหลจากบาดแผลบนตัวของพระเยซู โดยมีเทวทูตองค์หนึ่งเสยผมของพระเยซูขึ้น  ฉากกำเนิดพระเยซู จำหลักให้เห็นหน้าอกเปลือยของพระแม่มารี ที่ไม่ใช่ภาพปกติของพระแม่มารีในงานศิลป์ไม่ว่ายุคใด  ฉากรับศีลจุ่มของพระเยซูองค์น้อย แสดงไว้ซ้ำสองครั้ง เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่งของกัลแวร์พลูกัสเต็ล (Calvaire Plougastel) ภาพนี้เป็นมุมมองด้านตะวันตก จากมณฑลเบรอ-ตาญประเทศฝรั่งเศส  ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุสานเล็กใกล้อารามเบเนดิคตินบนเกาะไรชเนา (Insel Reichenau ไม่ไกลจากเมืองค็อนสตันส์  - Konstanz)  อารามที่นั่นเป็นอารามเบเนดิคตินแห่งแรกในเยอรมนีที่สถาปนาขึ้นในปี 724   ในภาพเห็นหลุมศพแถวหน้ามีไม้กางเขนทำจากไม้พร้อมหลังคามุมแหลมเหนือไม้กางเขน เป็นแบบที่นิยมกันมากในสวิสเซอแลนด์ ออสเตรียและเยอรมนี โดยเฉพาะเมื่อจัดไปตั้งไว้บนฝั่งถนน  วิธีการจัดหลุมศพของชาวเยอรมันที่นั่นเป็นแบบเรียบง่าย ราคาไม่แพง ทั้งยังสวยงามเหมือนแปลงดอกไม้  ดอกไม้พุ่มไม้นำชีวิตมาเสริมแก่สุสาน  สุสานแถวหลังด้านใน เป็นหินตั้ง ขนาดไม่สูงมาก จำหลักไม้กางเขนและข้อความลงบนแผ่นหินเลย
สุสานบนเนินเขาที่ตั้งของอารามนักบวชซัน มีเนี่ยโตะ ที่เมืองฟลอเรนส์ (Monasterio di San Mianiato, Firenze) ที่นั่นมีไม้กางเขนสลักจากหินอ่อนจำนวนมาก  แผ่นหินที่ปิดเหนือหลุมศพก็เป็นแผ่นหินอ่อนเช่นกัน  ให้สังเกตว่าบนกำแพงด้านหลัง มีแผ่นสี่เหลี่ยมแขวนติดกำแพงเต็มไปหมด  แผ่นหินเหล่านั้นเป็นแผ่นจารึกชื่อและวันเดือนปีเกิดปีตาย ที่ญาตินำมาติดภายในบริเวณของวัดนี้  เพราะพื้นที่จัดเป็นหลุมศพใหม่ๆ หมดลงไปเรื่อยๆ
ภาพจากสุสานติดวัดเซนต์ปีเตอร์(Petersfriedhof) เป็นสุสานที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองซาลส์บูร์ก  ตั้งอยู่ปลายเนินที่เป็นที่ตั้งของป้อมเมือง (Festungsberg) บนเส้นทางนี้หากเดินเหนือขึ้นไปถึงหน้าผาสูง จะไปถึงปราสาทเมืองซาลส์บูร์ก (Hohensalzburg) หลักฐานเก่าที่สุดระบุว่านักบุญ รูเพิร์ต(Rupert)แห่งซาลสบูร์กได้สถาปนาสุสานนี้แล้วในปี 700 หลุมศพที่เก่าที่สุดที่พบที่นั่นจารึกปี 1288  สุสานนี้เป็นที่ฝังศพของพี่สาวของโมสาร์ทนักประพันธ์ดนตรีชื่อดังของโลก (ชื่อ  Maria Anna Mozart หรือที่คนเรียกทั่วไปว่านันนัล - Nannerl)  ในภาพ13นี้ เห็นไม้กางเขนที่ทำจากเหล็กดัดมีลวดลายสวยงามและดูเบาและอ่อนโยน  ดอกไม้ประดับหลุมศพทำให้บรรยากาศสดใสและสว่างขึ้น หลุมศพแต่ละหลุมจึงเหมือนแปลงดอกไม้
ที่สุสานติดวัดเซนต์ปีเตอร์(Petersfriedhof) ในเมืองซาลส์บูร์ก  ยังมีสุสานใต้ดิน (catacomb) และห้องเก็บกระดูก อัฐิของผู้ตาย (ossuary)  ดังที่เห็นในภาพ 14  อาคารที่ฝังติดลึกเข้าไปในผาหิน ที่มีหน้าต่างเล็กๆ นั้นคือบริเวณดังกล่าว
ไม้กางเขนที่เป็นสุดยอดของไม้กางเขนทั้งหมด คงต้องยกให้ไม้กางเขนที่ประดิษฐานบนยอดเขา Corcovado เหนือเมือง Rio de Janeiro [รีโอ เด จาเนอีโร]  เป็นรูปปั้นของพระเยซูยืนตัวตรง กางแขนออกในลักษณะไม้กางแขน  (ชาวบราซิลเรียกว่า Cristo Redentor หมายความว่า พระคริสต์ผู้ไถ่บาป) รูปปั้นด้านหน้าหันไปในทิศทางที่ตั้งของเมือง  มองเห็นทัศนียภาพของทั้งเมืองและภูมิทัศน์ที่กว้างไกล  จุดหนึ่งในโลกที่ตรึงใจและสะเทือนจิตสำนึกของคนดู ถือว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ (ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2007)  สร้างขึ้นในระหว่างปี 1922-1931 รูปปั้นสูง 38 เมตร น้ำหนัก 635 ตัน ต้องเดินขึ้นไป 220 ขั้นเพื่อไปดูใกล้ที่สุดตรงฐานรูปปั้น  มีวัดเล็กๆใต้รูปปั้นภายในฐานที่ใช้เป็นที่ประกอบพิธีศาสนาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2006  เป็นต้นมา

[1] คำว่า cemetery มาจากคำในภาษากรีก ที่แปลว่า การนอน เพราะฉะนั้น ความหมายดั้งเดิมของคำนี้ จึงแปลว่า สถานที่นอน  ในวัฒนธรรมตะวันตก พิธีฌาปนกิจทั้งหลายทำกันในสุสาน  สุสานขนาดใหญ่สมัยใหม่นี้ มักมีอาคารเผาศพ(เมรุเผาศพ) เรียกว่า crematorium ที่เพิ่มเข้าไป ส่วนใหญ่เมื่อไม่มีพื้นที่ฝังเหลือมากนักแล้ว จึงเสนอการปลงศพด้วยการเผา  หรืออาจมีวัดขนาดเล็ก
แยกออกต่างหากที่ใช้ประกอบพิธีศาสนาและเป็นที่สวดมนตร์ภาวนาสำหรับผู้ไปสุสาน  คำนี้ปกติจะหมายถึงพื้นที่ฝังศพที่ไม่ใช่พื้นที่ฝังศพที่ติดกับวัดและเป็นส่วนหนึ่งของวัด(churchyard)
[2] Cf. Gourmont Rémy de, Le Latin mystique. Les poètes de l’antiphonaire et la symbolique au Moyen-Âge, Paris, 1913. p.293.
[3] Constantin I ( 272-337) ขึ้นครองราชย์ในปี 306 เป็นจักรพรรดิโรมันคนแรกที่ได้เปลี่ยนใจมานับถือคริสต์ศาสนาในปี 327  ได้สั่งให้ยุติการฆ่าทำร้ายชาวคริสต์และได้ยกพระเจ้าขึ้นเหนือบทบาทของจักรพรรดิ และทำให้ลัทธิโซโรแอสเตรียนิซึม- Zoroastrianism สิ้นสุดลง)
[4] คุณธรรมหลักสี่ประการในคริสต์ศาสนาคือ พรูเด็นเซีย -Prudentia หมายถึง ความสุขุมรอบคอบ, จูสตีเซีย -Justitia หมายถึงความยุติธรรม, เท็มเปรันเซีย -Temperantia หมายถึง การรู้จักควบคุมตนเอง , และ ฟอร์ตีตูโด - Fortitudo หมายถึง พลังความกล้าหาญ
[5] ติดตามดูรายละเอียดได้ที่วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในหัวข้อ Croix - symbole  หรือที่ www.armorial.free.fr