Tuesday 28 August 2018

Meet the Ultramarine

บันทึกเดินทาง ภาคสมุทร 
ตั้งแต่ต้นปี นั่งรีเอดิตศัพท์สวนจนเสร็จ เล่นเอาปางตาย เพราะนั่งเป็นสิบชั่วโมงแต่ละวัน แทบจะต้องแซะก้นขึ้นจากเก้าอี้หน้าคอม. น้องชายและหลานๆ เลยชวนไปกินนอนบนเรือสักเจ็ดแปดวัน. ศัพท์ทำเสร็จก่อนเดินทาง คว้าเสื้อผ้าใส่กระเป๋า แล้วก็ไปตามนัด. แข้งขาแทบไม่มีแรงเดิน แค่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิก็หอบแฮ็กๆแล้ว. เครื่องบินเที่ยวดึก ขึ้นไปก็นอน สวมเสื้อผ้าสบายๆพร้อมนอน แต่ยังไม่ถึงกับถอดรองเท้าออก นอนทั้งรองเท้า ครั้งนี้มีที่ให้เหยียดขาได้เต็มที่. เขาเสริฟแชมเปญให้ด้วย ดื่มเกลี้ยงเลย เพื่อให้หลับสบาย กำลังจะหลับ เขาปลุกให้ตื่นกินมื้อเย็น ตอนตีหนึ่งกว่าตามเวลาบ้านเรา. ระบบเสริฟอาหารบนเครื่องบินนี่ ไม่เคยสอดคล้องกับท้องไส้ของคนเดินทางเลย.
      หลานคนโตเป็นผู้จองผู้วางแผนทุกอย่างสำหรับทริปนี้. เธอเป็นผู้นำทริป มั่นใจขนาดพาลูกเล็กสองคนไปด้วย (อายุสามขวบกว่ากับหนึ่งขวบนิดๆ). เธอเอารถเด็กไปให้ด้วยคนละคัน แต่ก็พยายามปล่อยให้เดินเอง นอกจากเวลาง่วงนอน. แม่หนูเพลียจนหลับคารถเข็น ผมเผ้าเปียกเหงื่อ. แต่ไม่มีการร้องไห้. แม่หนูประพฤติตัว ดีเกินความคาดหมาย. กลุ่มครอบครัวเราสิบคน อีกหนึ่งคนอายุสองเดือน แม่เขา(หลานสาวคนที่สอง) อุ้มอยู่ในท้อง.
สองสมาชิกจิ๋วที่จัตุรัส San Marco เมืองเวนิส.
หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการขึ้นๆลงๆสะพานที่เวนิส (ที่มีมากกว่า 400 สะพานที่ข้ามคลองเล็กคลองน้อย เหมือนซอยเล็กซอยน้อยในกทม.) ก็ได้เวลาไปลงเรือกินนอน เรือใหญ่ซะไม่รู้สึกความแตกต่างว่า มันจอดอยู่หรือมันแล่นไปในทะเล ถ้าไม่ออกไปชะโงกดูทะเล หรือมองเมฆล่องลมไปในท้องฟ้าสีเกือบเข้มเท่าสี “อุลตร้ามารีน” (fr.ultramarine).

เรือที่ไป มีสิบสองชั้น. ชั้นที่มีเรือเล็กที่เป็นเรือกู้ภัยห้อยอยู่นั้น คือชั้นที่สี่
จากระเบียงห้องนอนของเรา(ชั้นที่เจ็ด) ใกล้ไปทางหัวเรือ 
เห็นหอบัญชาการของทีมกัปตัน
ห้องอาหารหรู ใหญ่ เมนูเปลี่ยนทุกวัน หลานได้บุคโต๊ะประจำของครอบครัวเราเลยสำหรับมื้อเย็นทุกมื้อ. ยังมีห้องอาหารใหญ่มากอีกหนึ่งแห่ง เป็นอาหารบุฟเฟ บริการสามมื้อทุกวัน อาหารเพียบ ทุกชนิด ทุกแบบ จะเอาแบบไหน สเต๊ก แฮมเบอเกอร์ชั้นดี ป๊าสต้า ปาเอลยา, เนื้อ หมู ไก่ แกะ, ผักสารพัดชนิด, ซุปก็มีให้เลือกหลายประเภทในแต่ละวัน, ผลไม้ไม่ต่ำกว่าสิบชนิด. อาหารแต่ละมื้อ มีประเภทยืนพื้นและประเภทจร นอกจากนี้ยังมีมุมอาหารเบา อาหารขบเคี้ยว เครื่องดื่ม เป็นเรือกินนอนจริงๆ.
ชั้นที่เก้าและชั้นที่สิบ เป็นส่วนเปิดโล่ง. ที่ตั้งของ Fitness, Pools, Spa… Joggling lane.  
สองชั้นนี้คนเต็มตลอดเวลา พวกหนุ่มสาว นอนอาบแดดกัน สลับกับเล่นหรือว่ายน้ำในสระใหญ่. มีสระเล็กสำหรับเด็ก. มีสระ Jacuzzi และยังมีจอมหึมาสำหรับบันเทิงผู้โดยสารที่ไปเล่น ไปพักผ่อนในสองชั้นนี้. รายการบันเทิง ยังมีประเภทที่จัดในโรงละครของเรือลำนี้อีกด้วย. มีเวทีแสดงดนตรีเกือบตลอดเวลา. มีร้านขายของปลอดภาษี ห้องพยาบาล ห้องอะไรต่ออะไรอีกหลายห้องที่ไม่อยากรู้พอที่จะไปเดินสำรวจ.  ข้าพเจ้าจึงกิน (อึ) นอน สะดวกสบายตลอดเจ็ดแปดวัน  เหมาะกับความต้องการของร่างกายที่ย่ำแย่เพราะขาดการเคลื่อนไหวมาหลายเดือนติดต่อกัน.
ตอนกลางคืน ก็ออกไปยืนบนระเบียงนอกห้อง ให้ลมทะเลบริสุทธิ์ฟอกปอด หายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ มองชมดวงจันทร์ไปพลาง และไม่ลืมสวดนะโมไปด้วย รวมทั้งคาถาพญายูงทองฉบับย่อของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แม้จะเลยเวลาไปแล้ว (ตามชาดก ต้องสวดก่อนพระอาทิตย์ตกดิน)
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นโม วิมุตตานัง นโม วิตตุยา
ยืนทำสมาธิจนเคลิ้มๆ ลมทะเลเย็นกำลังสบาย สักพักใหญ่ก็ขึ้นเตียงนอน หลับสนิททุกคืน.
ตีห้ากว่าๆ ก็ตื่น ออกไประเบียง ยืนคารวะแสงตะวัน เป็นเวลาฟอกปอดอีก สวดมนตร์ โดยเฉพาะสวดคาถาพญายูงทอง

ระหว่างวัน บนเรือ หลานๆไปเล่นในห้องเด็ก ยายกลับเข้าห้อง 
ปล่อยจินตนาการไปกับเสียงคลื่น 
มองใกล้มองไกล ไร้จุดเริ่มต้น ไร้จุดจบ

ในสภาพแวดล้อมเบื้องหน้าทะเลแบบนี้ หากนิพพานเป็นเป้าหมายของชีวิต
เกิดมายาคติว่านิพพาน อาจอยู่ใกล้กว่าเส้นขอบฟ้า
และแล้วเส้นทางชีวิต เบนนำไปสัมผัสอีกวิถีหนึ่ง
มองไปที่เส้นขอบฟ้า จิตสำนึกเหมือนคนบนเรือแตก ร้องว่า Land!
นั่นไง แผ่นดินกรีซ อู่อารยธรรมของโลกตะวันตก
Land of Man, land of Civilization!
Shall I follow the footsteps of millions of people before me
And resign myself to the rise and the fall,
the incessant frenzy of mankind?
And the Acropolis still stands high.
The Parthenon still seems indomitable.
I still can hear within me, echos of the words of Athena, heard when I first came to Athens some eighteen years ago. It was during the sound and light spectacle under the Acroplis. She was proclaiming >>
(ไม่ว่าอีกกี่ปีข้างหน้า) ฉันจะยังเป็นบรรทัดฐานของระเบียบ ของกฎหมายและของความรักความเมตตา.
ฉันจะยังเป็นวิธีคิด วิธีรู้สึกและวิธีหาเหตุผล.
เสียงของฉันจะดังก้องประนามความอวดดีและความบ้าคลั่งของคน.
เมื่อเงยหน้ามองมาที่ฉัน มองมาที่สถาปัตยกรรมบนอะโครโปลิส
ราชญ์ต้องหยุดชั่งความคิดของตน ว่าถูกต้องครอบคลุมเพียงพอแล้วหรือไม่.
ายช่างฝีมือทั้งหลาย กระหายอยากสร้างวังของตนเอง ให้ยิ่งใหญ่แบบเดียวกัน.
เชิญขึ้นมาหาฉันบนอะโครโปลิสอันศักดิ์สิทธิ์นี้
ที่เคยเป็นพยานของความกล้าหาญ ของคุณธรรม ของความงาม.
ทั้งหมดนี้ ทำให้มนุษย์ตื่นตัว ตระหนักถึงจิตสำนึกแห่งตนและความรับผิดชอบชั่วดี
ต่อมนุษยชาติ.
ไม่ว่าในกี่ศตวรรษข้างหน้า ฉันจะยังเป็น อาเธนาปัลลัส (Athena Pallas)
ผู้มีชัยเหนือพลังมืด
ฉันนี่แหละจะปราบและสยบความชั่วทุกชนิด

เนินอะโครโปลิส มองจากวิหาร Olympieion 
(Temple of the Olympian Zeus)
ซากที่เหลือของวิหารอุทิศแด่เทพบดี Zeus ที่กรุงอาเธนส์
เนินอะโครโปลิส เห็นจากตลาดชุมชน (Agora)
ภาพวาดชีวิตชาวเมืองในตลาดชุมชน ที่เรียกว่า Agora [อะโก๊หระ] ในกรีซสมัยก่อนๆ

อาคารนีโอคลาซสิก บนถนนระหว่าง Panepistimiou Street กับ Akadimias Street  เป็นที่ตั้งของบัณฑิตยสภาแห่งอาเธนส์ - Academy of Athens (ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ปี 1926). สถาปนิกชาวเดนิช ผู้มีชื่อเสียงยุคนั้นคือ Theophil Hansen (1813-1891) เป็นผู้ออกแบบ. รูปแบบอาคารคลาซสิกกรีกนี้ หลายประเทศในยุโรป รับไปเป็นแบบอาคารรัฐสภา เช่นที่กรุงปารีส หรือกรุงเวียนนา.
ทำไมรูปปั้นอาเธนา (ทรงเครื่องนักรบกรีกโบราณ สวมหมวกเหล็กประดับพู่สูง มือถือเกราะและหอกพร้อมสู้) จึงประดับหน้าตึกรัฐสภาของเกือบทุกประเทศในยุโรป เหมือนจะยืนยันความตั้งใจว่า สมาชิกที่นั่งในสภา จักทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และสยบความชั่วร้ายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข ตามแบบอย่างของเทวีอาเธนาผู้ปราบและสถาปนาความยุติธรรมและสันติภาพในโลกของทวยเทพและมนุษย์. รูปปั้นอาเธนาบนเสาสูงไอโอนิคนี้ เจาะจงชื่อว่า Athena Promachos (เน้นความหมายของเทวีอาเธนาผู้ต่อสู้รับมือศัตรู อยู่แนวหน้า).
รูปปั้นโสเครติสตั้งประดับ ใกล้ๆกับคอลัมภ์เทวีอาเธนา. รูปปั้นทั้งสองนี้ได้เป็นแบบประดับให้ประเทศยุโรปอื่นๆ ที่จัดสร้างรัฐสภาและสร้างรูปปั้นทั้งของเทวีอาเธนากับโสเครติสไว้ด้านหน้าของอาคารรัฐสภา เช่นรัฐสภาฝรั่งเศสที่กรุงปารีส.
นอกจากนี้ยังมีเสาคอลัมภ์ไอออนิคประดับด้วยรูปปั้นของเทพอพอลโล มือถือพิณ และใกล้ๆกันมีรูปปั้นท่าครุ่นคิดของเปลโต. (บางคนบอกว่า รูปปั้นนี้คือโสเครติส แต่รูปปั้นโสเครติสที่อยู่ที่ปารีสและมีรายละเอียดยืนยันว่าคือรูปปั้นโสเครติส เหมือนรูปปั้นโสเครติสในภาพแรก. ในภาพที่สอง รูปปั้นจึงน่าจะเป็นเปลโตมากกว่า). ท่าทีของเปลโตเหมือนกำลังขบคิดหรือถกปัญหาว่า The Republic ควรจะเป็นอย่างไร
การเจาะจงเลือกเทพอพอลโลมาประดับบัณฑิตยสภาของอาเธนส์ มีส่วนเกี่ยวกับพันธสัญญาที่บัณฑิตยสภาตั้งไว้ว่า จักธำรงและส่งเสริมอักษรศาสตร์และศิลปะ, ธรรมชาติวิทยา จริยธรรมและรัฐศาสตร์. เทพอพอลโล มีความสามารถหลากหลายทั้งทางดนตรี กวีนิพนธ์ ศิลปะฯลฯ จึงเหมาะสมและคู่ควรกับเทวีอาเธนาผู้เป็นสัญลักษณ์ของ“ปัญญา”.
การประดับรูปปั้นเทวีอาเธนากับเทพอพอลโล และรูปปั้นสองนักปราชญ์ โสเครติสกับเปลโตนั้น จึงคือบทสรุปอุดมการณ์ของการเรียนการศึกษาการวิพากษณ์วิจารณ์ กับการดำเนินชีวิตในสังคม ที่ไม่ควรมีใครอยู่เหนือกฎหมาย. ศิลปะใช้ภาพลักษณ์ของนักปราชญ์โสเครติสกับเปลโต เป็นตัวแทนมนุษย์เดินดิน ผู้วางมาตรการรับช่วงและสืบทอดอุดมการณ์สูงส่งของเทวีอาเธนา และระบบคุณธรรมกับค่านิยมต่างๆที่เทพปกรณัมกรีกได้มอบแก่ชาวโลก.
(แต่จนแล้วจนรอด กี่ศตวรรษต่อมา ผู้ที่มีโอกาสเข้าไปนั่งในสภา ก็มิได้ทำหน้าที่ของอาเธนา. มีผู้ประชดว่า เพราะ“ปัญญา”ตั้งอยู่นอกสภา, ในสภา คนจึงคิดอะไรที่เป็นสาธารณประโยชน์ไม่เป็น รู้แต่กอบโกยประโยชน์แห่งตน. ส่วนรัฐสภาไทย ไม่มีรูปปั้นอาเธนาไม่ว่าด้านนอกหรือด้านใน. ระบอบประชาธิปไตยที่กรีซมอบให้ ล่องลอยหายไปในละอองอากาศเย็นสบายของแอร์ภายในรัฐสภาไทย มิได้ตกผลึกแต่อย่างใดเลย.)
เมื่อพิจารณาประติมากรรมบนหน้าบัน ภายในกรอบสามเหลี่ยม ก็เข้าใจว่า กรีซมิได้ละเลยหรือลดความสำคัญของเทพปกรณัมกรีกไปจากอารยธรรมของชาติเลย แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป. ทุกคนรู้ว่านั่นเป็นเพียงตำนาน แต่ทั้งหมดรวมกันเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่แฝงคุณธรรมคำสอนไว้ในทุกหลืบของตำนานแต่ละเรื่อง สะท้อนเหมือนกระจกคริสตัลชั้นดี จิตวิญญาณของคน อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวง ทั้งดีและเลวอย่างกระเทาะเปลือก.
Leonidas Drosis สถาปนิกกรีกผู้เนรมิตประติมากรรมในกรอบสามเหลี่ยนบนหน้าบัน และคอลัมภ์พร้อมรูปปั้นของเทวีอาเธนากับอพอลโล กับรูปปั้นของสองนักปราชญ์ดังกล่าว สรุปไว้ว่า ประติมากรรมชุดนี้ ถ่ายทอด การเกิดของเทวีอาเธนา. เขาใช้วิธีเล่าเนื้อหา ด้วยการเรียงเทพและเทวีที่เกี่ยวข้องกับอาเธนาไว้สองข้างเทพบดี Zeus ผู้เป็นเทพบิดาของอาเธนา. รู้กันดีว่าอาเธนาเกิดจากกลางกระหม่อมของเทพบดี Zeus. ภาพบนหน้าบัน ตรงกึ่งกลาง แน่นอนคือภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยของเทพบดี Zeus ผู้ยิ่งใหญ่. ถัดไปทางซ้ายของภาพคือเทวีอาเธนา ลูกสาวของ Zeus, ข้างๆคือ Hermes (เทพติดปีกผู้เก็บความลับและรู้เรื่องราวทุกอย่างของเหล่าทวยเทพ. เขาคิดหาทางช่วยให้อาเธนาหลุดออกจากกลางกระหม่อมของ Zeus ทำให้ Zeus หายปวดศีรษะได้), ตามด้วย Artemis กับ Apollo พี่น้องฝาแฝด ลูกของ Zeus, และจบลงด้วย Poseidon เจ้าสมุทร (พี่หรือน้องชายของ Zeus).  
ส่วนทางด้านขวาของภาพ มี Hesphaestus (เทพผู้สร้างที่อยู่ให้เหล่าทวยเทพในสวรรค์ เป็นผู้ตีผ่ากระโหลกศีรษะของ Zeus ออกเป็นสองซีก ทำให้เทวีอาเธนาได้เกิด โผล่ออกมาจากหัวของ Zeus. แน่นอน Zeus หัวกะโหลกกลับรวมกันในชั่วพริบตา. เพราะเกิดออกจากหัวของ Zeus เทวีอาเธนาจึงฉลาดรอบรู้เหนือผู้ใด), ถัดไปคือ Hera เทพเทวีภรรยาหลวงของ Zeus, ตามด้วยเทวี Aphrodite (คือวีนัส) เทวีแห่งความรัก ความงามและการสืบทอดสายพันธุ์ มี Eros (หรือคิวปิดลูกชายยืนเกาะอยู่ข้างๆเสมอ), ต่อไปคือ Ares เทพแห่งสงครามผู้ทำลายกวาดล้าง และจบตรงปลายแถว คือ Prometheus ผู้ขโมยไฟจาก Zeus ไปให้และสอนมนุษย์ให้รู้จักใช้ไฟ ทำให้เทพบดี Zeus โกรธจัดและลงโทษเขาอย่างรุนแรง จนเมื่อ Heracles (คือเฮอคิวลิส) มาช่วยไว้.
เหนือมุมบนปลายสุดของสามเหลี่ยมหน้าบัน นอกจากมีหัวสิงโตสัญลักษณ์ของอำนาจ ยังมีรูปปั้นของตัวสฟิงค์ติดปีก ยกเท้าขึ้นสูงข้างหนึ่ง ประดับมุมสุดสองข้างของหน้าบันสามเหลี่ยม. รู้กันดีว่า สฟิงค์เป็นสัญลักษณ์อีจิปต์โบราณ ของพละกำลังและปัญญา.
บนยอดสามเหลี่ยมที่เป็นหน้าบันนี้ ยังประดับด้วยในปาล์มลายอ่อนช้อยสวยงาม มีเทวดาขนาบสองข้าง.
ฝีมือประติมากรรมของ Leonidas Drosis เป็นที่ยอมรับทั่วยุโรป. เขาได้รับรางวัลที่หนึ่งใน Vienna Exhibition ปี 1873.
อาคารของบัณฑิตยสภานี้ ได้รับเลือกให้เป็นภาพตัวแทนของประเทศกรีซ ด้วยการเป็นแบบประดับเหรียญอนุสรณ์ยูโรสำหรับนักสะสม (เป็นเหรียญทอง ราคาหนึ่งร้อยยูโร ดูเหมือนว่าจะมีเหรียญเงินด้วย) เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนปี 2004 ที่จัดขึ้นที่กรุงอาเธนส์.
ภาพภายในบัณฑิตยสภา ห้องโถงใหญ่ที่ชุมนุม “หัวกะทิ” ของชาติ. ผนังกำแพงประดับด้วยจิตรกรรมขนาดใหญ่ ทั้งหมดแปดภาพ ผลงานของ Christian Griepenkerl (1839-1916). ทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับเทพปกรณัมกรีก การสร้างมนุษย์เดินดิน, การต่อสู้ระหว่างเทพกลุ่มไทเทิ่น (Titans) ที่ครองจักรวาลมาก่อน กับเทพกลุ่มโอลิมเปียน (Olympians) ที่เป็นเทพรุ่นใหม่, รวมถึงการขโมยไฟจากสวรรค์ไปให้มนุษย์ ฯลฯ.
ที่นั่งในสภา รูปโค้งยาวต่อกันไป มีสฟิงค์ฝีมือเยี่ยมประกบตรงหัวท้ายที่นั่งยาว
เตือนให้รู้จักใช้พลังทั้งทางกายและสมอง
ข้อมูลที่ติดไว้ที่นั่นระบุว่า << บัณฑิตยสภาแห่งกรุงอาเธนส์ ตั้งขึ้นในปี 387 BC เป็นสถาบันที่เปลโตสอนปรัชญา ตั้งอยู่ใกล้อนุสรณ์สถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่อุทิศแก่วีรบุรุษชื่อ Academos. หลังจากที่มีการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องมาเก้าศตวรรษ สถาบันถูกปิดลงในปีคศ. 529 ตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศสั่งห้ามสอนวิชาปรัชญา.  เกือบสิบศตวรรษผ่านไป ในยุคเรอแนสซ็องส์และหลังจากนั้น ชื่อเสียงของสถาบันการสอนของเปลโต ยังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จนมีการนำชื่อ Academy ไปใช้เรียกสถาบันการศึกษาชั้นสูงในประเทศยุโรปหลายประเทศ ยืนยันการธำรงบัณฑิตยสภาให้เป็นศูนย์รวมปัญญาและเป็นแสงสว่างนำชีวิต. ประเทศกรีซยุคใหม่ ได้พยายามฟื้นฟูการเรียนการสอน แต่ไม่เป็นผลนัก จนถึงปี 1926 ที่มีการสถาปนาบัณฑิตยสภาแห่งอาเธนส์ขึ้น ตามแบบอย่างของบัณฑิตยสภาอื่นๆในยุโรป  และตั้งแต่นั้นก็ทำหน้าที่ของสถานศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องมิได้หยุดชะงักอีกเลย…>>

ภาพนี้คืออาคารรัฐสภาปัจจุบันของกรีซ (The House Of Parliament) ตั้งอยู่ที่จัตุรัส Syntagma Square. เป็นอาคารสูงสามชั้น มีฐานสูง มีบันไดขึ้นลง สองข้างที่ตั้งหลุมศพของทหารนิรนาม ที่อยู่ตรงกลางพื้นที่ชั้นล่าง. (ภาพนี้จากเว็ปไซต์ เจ้าของภาพ คือ Kristiaan Van Ermengem จาก > http://www.aviewoncities.com/athens/parliament.htm)
ตรงฐานกำแพง กึ่งกลางด้านหน้าของอาคารรัฐสภา เป็นที่ตั้งหลุมศพของทหารนิรนาม. มีประติมากรรมจำหลักนูนต่ำบนกำแพง เป็นภาพทหารนอนตาย มีคำจารึกบนกำแพงหลายบท. หลุมศพนี้ บนฐานของอาคารรัฐสภา มีนัยสำคัญที่เน้นให้เข้าใจว่า รัฐสภาที่คงอยู่ได้และทำงานต่อไปได้ เฉกเช่นประเทศทั้งประเทศตั้งอยู่ได้ เพราะมีทแกล้วทหารของประเทศที่พร้อมสู้ตายเพื่อปกป้องแผ่นดิน. กรีซจึงให้ความสำคัญยิ่งยวด เพื่อให้เป็นไฟจุดสว่างในจิตสำนึกของชาวกรีกทุกคน. อนุสาวรีย์นี้เปิดตัวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปี 1932 ที่ตรงกับวันชาติของกรีซ ที่เป็นวันที่ชาวกรีกเฉลิมฉลองการประกาศสงครามกู้อิสรภาพกับชาวเติร์ก. มีกลุ่มทหารเกียรติยศ เป็นกองพันทหารราบ Evzones ในเครื่องแบบกรีกชุดพิเศษ ทำหน้าที่เฝ้าสุสานทหารนิรนามนี้ และมีการเปลี่ยนทหารเวรที่นั่นทุกต้นชั่วโมง. พิธีเปลี่ยนเวรของทหารกลุ่มนี้ ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาก ทั้งเครื่องแบบของทหารกลุ่ม Evzones ที่น่าดู แปลกตา สง่างาม และวิธีการเดินแถว การทำความเคารพเมื่อสับเปลี่ยนเวร. ส่วนระหว่างยืนประจำการ ก็นิ่ง ไม่ไหวติงใดๆ. ทั้งหมดน่าทึ่งทีเดียว ดังตัวอย่างคลิปวีดีโอที่ดีกว่าที่เราถ่ายมาเอง ที่พบลงในยูทูปข้างล่างนี้   
(ยาว 4:18 นาที)

การเดินจังหวะในพิธีเปลี่ยนเวรนี้ มีอะไรคล้ายๆกับม้าปัดเท้า เกือกม้ากระทบพื้น เหมือนม้ากำลังฮึก
ใต้พื้นรองเท้าของหน่วย Evzones ตอกเหล็กรูปเกือกม้าเต็มที่ไว้เลย.
เครื่องแบบของกองพันพิเศษ Evzones ทำขึ้นในปี 1837 ประกอบด้วยกระโปรงจับจีบพลีตยาวเหนือเข่า (ที่ใช้ในกรีซปัจจุบัน สั้นขึ้นมาก) ที่เรียกว่า fustanella ที่เป็นเครื่องนุ่งห่มชาย ของชนหลายเผ่าในแถบบอลข่าน และเป็นเครื่องแต่งกายแบบฉบับพื้นบ้านของพวกเขามาจนถึงปัจจุบัน. กองพันทหารราบของกรีซใช้เครื่องแต่งกายแบบนี้ แต่ความยาวของกระโรงพลีตสั้นกว่า. บางคนบอกว่าต้นแบบของกระโปรงพลีตทหารนี้ มาจากทูนิคสั้น (chiton) ของทหารกรีกโบราณ. ในฤดูหนาว กระโปรงพลีตที่เป็นผ้าวูลสีขาว ยิ่งมีจำนวนจีบมากขึ้นรอบๆตัว เพื่อให้ความอบอุ่นเพียงพอ. กระโปรง kilt ของชาวเคล(ชาวสก็อตต่อมา) ก็มีส่วนเป็นต้นแบบของ fustanella ของชาวกรีก. ทหารนักสู้จำนวนมาก สวมเครื่องแต่งกายแบบนี้ ในสงครามกู้อิสรภาพของกรีซ (จากชาวเติร์กอ็อตโตมันที่เข้ายึดครองกรีซระหว่างปี 1453-1821). ตอนแรกใช้ในหมู่ทหารราบหน่วยเล็กๆเท่านั้น แต่เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย จนในที่สุด ตั้งแต่ปี 1868 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นเครื่องแบบทางการของหน่วยกองพันทหารราบ Evzones  นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องแบบทางการของหน่วยทหารรักษาการณ์ของประธานาธิบดีกรีก. ปัจจุบันมีเครื่องแบบหลายสี และคงใช้ตามฤดูกาล เช่นฤดูร้อนเป็นผ้าฝ้ายสีกากีแทน ถุงน่องก็ไม่ใช่วูล.
ภาพเหมือนของกษัตริย์ Otto แห่งกรีซ ภาพฝีมือของ Gottlieb Bodmer จาก Wikimedia Commons [Public domain]. ฉลองพระองค์ในเครื่องแต่งกายแบบกรีกพร้อม Fustanella (Evzones’ uniform). พระองค์เป็นกษัตริย์กรีกองค์เดียวที่เป็นโรมันแคทอลิก (ชาวกรีกนับถือออร์ทอด็อกส์). เรียกกันสามัญว่า Otto of Greece. กษัตริย์อ็อตโต เป็นเจ้าชายจากแคว้นบาวาเรียในเยอรมนี เป็นพระโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าลุดวิกที่หนึ่ง (Ludwig I) แห่งบาวาเรีย ได้ไปเป็นกษัตริย์องค์แรกของกรีซยุคใหม่ ตั้งแต่ปี 1832-1862. การณ์ต่อมาถูกการเมือง ถอดออกจากตำแหน่งกษัตริย์และต้องลี้ภัยกลับไปเยอรมนี (ยุคนั้นเป็นเกมชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกรีซ เยอรมนีกับอังกฤษ). เล่ากันว่า พระองค์รักประเทศกรีซมาก คำพูดสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์คือ “กรีซของข้า”.
กษัตริย์อ็อตโตบนหลังม้า ไกลไปทางด้านขวาของภาพ เห็นอาคาร Parthenon เลือนลางบนเนินเขาอะโครโปลิส (Parthenon เป็นมหาวิหารกรีกตามแบบสถาปัตยกรรมดอริค สร้างขึ้นบนอะโครโปลิสเมื่อราวศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล). ภาพวาดผลงานของ Albrecht Adam.
ผู้สนใจติดตามอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องแบบพิเศษของกองพันทหารราบ Evzones ได้ตามลิงค์นี้.
สองภาพข้างล่างต่อไปนี้ มาจากเพ็จดังกล่าว เจ้าของภาพถ่ายระบุลิขสิทธิ์ไว้ © Dimitris Vlaikos.

Panathenaic Stadium (หรือ Kallimarmaro) สเตเดียมใหญ่กลางกรุงอาเธนส์ เป็นสเตเดียมแห่งเดียวในโลกที่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหมด. ดั้งเดิมเป็นสนามแข่งม้าตั้งแต่ราวปี 330 BC. สร้างใหม่ให้เป็นหินอ่อนทั้งหมดในปีคศ.144. เมื่อศาสนาคริสต์เข้าครอบงำกรีซ สเตเดียมนี้ถูกละเลยทิ้งให้รกร้างไปจนถึงปี 1869 เมื่อมีการจัดกีฬาที่เรียกว่า Zappas Olympics ในปี 1870, 1875. โอลิมปิคยุคใหม่ครั้งแรกปี 1896 ก็ใช้สเตเดียมนี้. สเตเดียมนี้เป็นจุดเส้นชัยของมาราธอนคลาซสิกของกรุงอาเธนส์. โอลิมปิคฤดูร้อนปี 2004 ก็จัดที่นั่นเช่นกัน.

ข้อมูลทางการที่ติดไว้ที่นั่น ระบุว่า << จุคนได้จำนวนหกหมื่นคน. มีพื้นที่ทั้งหมด 33.100 ตารางเมตร. ยาว 268.31 เมตร กว้าง 141 เมตร. เฉลี่ยความยาวของลู่(แข่ง) ประมาณ 400 เมตร, ขนาดของลู่แข่งคือ 191 เมตร กว้าง 34 เมตร. มีทั้งหมด 107 ขั้น แบ่งเป็นสองระดับ ระดับสูงมี 24 แถวแบ่งเป็นสามสิบบล็อก, ระดับล่างมี 23 ขั้น 36 บล็อก, รวมความยาวของพื้นที่นั่งบนอัฒจันทร์ 23.8 กิโลเมตร, แต่ละขั้นที่เป็นที่นั่งนั้นสูง 38 เซนติเมตร. แต่ละขั้นที่เป็นบันไดขึ้นลงสูง 32 เซนติเมตร. พื้นที่ทั้งหมดสำหรับผู้นั่งชมคือ 22.160 ตารางเมตร. ที่นั่งที่เว้าลึกที่สุดคือ 1 เมตร. หินอ่อนที่นำมาใช้เป็นปริมาตรคลุมพื้นที่ประมาณ 29,400 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็นน้ำหนัก 85.100 ตัน. สเตเดียมนี้เหมาะกับพื้นที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 83 เมตร >>.

ภาพนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ Jéssica Caiado (@psicanalisediaria) ลงในเว็ปเพจเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2018 ตามลิงค์นี้  https://www.imgrumweb.com/post/BiULjbunUED
ประติมากรรมสมัยใหม่ล่าสุด ตั้งประดับใกล้ที่ตั้งของสถาบันการศึกษาแห่งชาติ (Grande Ecole de la Nation), ใกล้หอศิลป์ (la Galerie Nationale), และโรงแรมฮิลตันในกรุงอาเธนส์. เป็นผลงานของ Costas Varotsos. เขาตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า นักวิ่ง. รังสรรค์ขึ้นด้วยแผ่นกระจกซ้อนๆกัน. เป็นภาพนักวิ่ง ตรึงไว้ฉับพลันในท่าที่กำลังวิ่งสุดกำลัง. เริ่มแรกในปี 1988 ประติมากรรมชิ้นนี้ ตั้งอยู่ที่จัตุรัส Omonia ต่อมาในปี 1994 จึงย้ายไปณตำแหน่งปัจจุบัน. แน่นอนว่า เมื่อแรกเห็น เป็นที่โจษจันกันทั่วไป เพราะวัสดุที่ใช้หนึ่งและเพราะแบบศิลปะที่แปลกตามาก.
มาคิดดู ออกจะสอดคล้องกับความเร็วของหนุ่มสาวยุคปัจจุบันในทุกๆเรื่อง,  สอดคล้องกับความต้องการเร่งด่วนของคนในยุคปัจจุบัน, และสอดคล้องกับวิธีการสู่ความสำเร็จด้วยกระมัง ที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันคน ให้วิ่งกระเสือกกระสนไปถึงเป้าหมายอย่างเอาเป็นเอาตาย, ให้วิ่งคว้าโอกาส, ให้ฉวยทุกอย่างมาไว้ในกำมือก่อนผู้ใด... แค่ดู หายใจหอบขึ้นมาในบัดดล.
หยุดคิดใหม่. เราควรจะวิ่งจากความหลง จากการพันธนาการของกิเลสตัณหา วิ่งหนีความโง่(ตามที่ท่านพุทธทาสเจาะจงสอนไว้) ที่ครอบงำให้ยึดติดกับสรรพสิ่งที่เสื่อมสลายไม่จีรัง หรือมิใช่?
วัยเรา วิ่งไม่ไหว ก็ให้หันหลัง เดินจากสิ่งเหล่านี้ไปช้าๆ อย่างสงบเยือกเย็น.
*****
เรือได้ไปแวะเมืองท่าหลายเมือง เนื่องจากขนาดของเรือ ทุกประเทศห้ามมิให้เข้าไปใกล้ชายฝั่งเกินไป จึงต้องจอดลอยลำในท่าเรือไกลออกไป แล้วลงเรือเล็กไปขึ้นฝั่ง มีเวลาเดินเล่นในเมืองนั้นสี่ ห้าหรือหกชั่วโมงอย่างมาก แล้วก็กลับขึ้นเรือ. บางท่าลงเรือไป แล้วไปต่อรถโค้ชที่เขาจัดให้ เดินทางเข้าเมือง. บางท่าที่ไม่ไกลนักและสะดวกพอ ก็ให้ลงเดินจากเรือเข้าเมืองไปได้เลย. ฝรั่งจำนวนมาก ลงเรือ หยิบผ้าขนหนูผืนใหญ่ของเรือติดตัวไป ไปลงเล่นน้ำชายฝั่งของแต่ละท่าที่เรือจอด. ทีมเราไปเดินเล่นดูเมือง บางแห่ง เราแวะชิมอาหารทะเลจากร้านท้องที่นั้นๆ. เมืองเล็กริมฝั่งทะเลแบบนี้ ชาวเมืองส่วนใหญ่ทำร้านอาหารหรือร้านขายของ. ร้านขายของ ไม่น่าจะขายอะไรได้ สงสารอยู่เหมือนกัน เราเองไม่สนใจอะไรเลย.

นอกฝั่งเมือง Kotor ประเทศ Montenegro เห็นสภาพแล้ว
นึกถึงคนไทยคนหนึ่งที่คิดไปซื้อประเทศนี้ เพื่อให้ได้ชื่อว่า ครองประเทศ… 
มองพื้นที่แล้ว > ไปเถอะ ไปเลย!


สามภาพนี้ เด่นที่สุดที่เห็นแล้วที่ Kotor. ถนนเป็นทางคนเดินเท้าเท่านั้น. 
ตรงไหนกว้างหน่อย ก็ตั้งโต๊ะสำหรับบริการอาหารหรือเครื่องดื่มแก่นักท่องเที่ยว.
ป้ายนี้สิแปลก อ่านไปแล้ว แต่ไม่ตามไป

เรือเทียบท่าชายฝั่งเมือง Corfu ในกรีซ. 
เป็นเมืองใหญ่หน่อย เดินเล่นกันพักหนึ่งในสวน แล้วเดินหาร้านนั่งหลบแดด


เรือเทียบท่าเมือง Mykonos ประเทศกรีซ. 
เมืองนี้ได้เดินหลายชั่วโมง ร่มรื่นขึ้นนิด(เดียว). เขามีรถโค้ช พาต่อเข้าไปกลางเมือง


บ้านเมืองทาสีขาว จึงทาสีหน้าต่างประตู สีสดๆตัดกันรุนแรง.
สีฟ้าสดของที่นั่นสวยมาก นิยมกันมากกว่าสีใด.
พื้นสีขาวของอาคารบ้านเรือนทำให้ถ่ายรูปคนเด่นชัด.
 ซอยเล็กซอยน้อย ร้านขายของกับร้านอาหาร
ทีมเราทานอาหารกลางวันที่เมืองนี้ ประเภทอาหารทะเลแบบอิตาเลียน
ปลาหมึกทอด จากทะเลแถวนั้น กินกันได้ทุกคน
กังหันลมตั้งเรียงกันในภูมิประเทศแบบนี้ 
เป็นเอกลักษณ์ของเมือง Mykonos. เมืองนี้ลมแรงจริง.
ดูเรือสำราญลำมหึมา ชื่อดังสมชื่อ Celebrity บริษัทนี้มีอภิสิทธิ์เหนือเรือลำใด (ไม่ใช่ลำที่ทีมเราไป ลำเราว่าใหญ่ ยังเตี้ยกว่าและเล็กกว่า) เอาเรือเข้าใกล้ชายฝั่งมาก ขนาดเรือ แน่นอนสูงกว่าอาคารบ้านเรือนของ Mykonos. บริษัทนี้มีเส้นทางเดินเรือไปทุกน่านน้ำในโลกเลย. เส้นทางเดียวกับเรือที่เราไป.
ริมฝั่ง มีวัดเล็กๆอุทิศแด่นักบุญ(เทียบได้กับ) นักบุญนิโคลัสของชาวกรีก.
วัดขนาดหนึ่งห้องเล็กๆ เราเข้าไปหลบแดดกัน 
เก้าอี้ไม่กี่ตัว ในร่มเงาของวัด มีคนจับจองหมด


เมื่อเรือเข้าเทียบท่าเมือง Agostoli เขาให้เดินไปเข้าเมืองเลย ไม่ไกลว่างั้น. ตอนนั้นสิบเอ็ดโมง แดดเปรี้ยงๆ. ข้าพเจ้าตัดสินใจอยู่นอนเล่นบนเรือ สมาชิกอื่นยังมีไฟออกไปสู้เพลิงสุริยะ เอารถเข็นหนูน้อยสองคน เข็นกันไปตามเส้นทาง. ข้าพเจ้ายืนมองจากระเบียงเรือชั้นที่ห้า. หลานวิวยังหันมาโบกมือให้ เผื่อเราจะเปลี่ยนใจ
ชั้นที่ห้า มีระเบียงกว้างและยาวตลอดลำเรือ พร้อมเก้าอี้นอนเรียงเป็นแถว. ไม่มีคนอื่น เห็นคนแก่นั่งรถเข็นอยู่มุมไกลไปโน่นได้โอกาสปลอดคน จึงนอนเหยียดขายืดยาว ชื่นชมทิวทัศน์ที่ปลายเท้า สวยไม่น้อยจากมุมมองนี้.
กำลังเคลิ้มๆ ได้ยินเสียงคนเดินภายในเรือ ลุกขึ้นดู มองไปที่เส้นทางที่ออกไปเข้าเมือง ปรากฏว่าเห็นคนเดินกลับกันเป็นแถวเลย. ทีมเรายังไม่กลับ ข้าพเจ้าลุกไปนั่งกินซุปสามชนิดที่มีบริการในห้องอาหารบุฟเฟวันนั้น แล้วกลับเข้าห้องเย็นๆ เพราะมีแอร์ นั่งดูโทรทัศน์. ไม่ถึงชั่วโมง ทีมเราก็พากันกลับมา บอกว่าข้าพเจ้าคิดถูกที่ไม่ออกไป ร้อนจนทนไม่ไหว เลี่ยงว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ

      การเทียบท่าที่ประทับใจที่สุด คือเมื่อเรือเดินทางกลับมาที่จุดเริ่มต้นของครุ้ยส์นี้ คือเวนิส. เรือเข้าสู่คุ้งทะเลเมืองเวนิส ค่อยๆแล่นเข้า Grand Canal ไปเรื่อยๆตั้งแต่ตีห้า. ตะวันเริ่มยอแสง. มองเมืองเวนิสยามนั้น จากที่สูงบนเรืออย่างนั้น ได้เห็นความสงบ ความน่าทึ่ง ความหาที่เปรียบมิได้ของเมืองเวนิส ที่เคยเป็นเมืองมหาอำนาจที่ร่ำรวยที่สุดในยุโรป คุมเส้นทางการค้าของเรือทุกลำที่จะผ่านเข้าสู่ยุโรป เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า เข้าสู่ภายในทวีปยุโรป จึงเป็นด่านเก็บภาษี เป็นคลังสินค้าจากตะวันออกไกล ตะวันออกกลางฯลฯ ที่ทำให้เมืองร่ำรวยเป็นอันดับหนึ่งของยุโรปติดต่อกันมาหลายศตวรรษ (อย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่เก้าถึงศตวรรษที่ 19) ที่ทำให้ศิลปะแบ่งบานหาที่ใดเทียบมิได้.

ชมภาพสุดท้ายของบันทึกเดินทาง(ภาคสมุทร) ข้างล่างนี้
Here you are, incomparable Venezia!
Land of Man, land of Civilization!
Millions of people came to your doorsteps, swayed in your gondolas.
Many dreamed of wealth; others were lured by faith, enchanted by music, or fascinated by your art and some came with unspeakable desire and love.
For me, it’s time to say goodbye…
Or perhaps  Arrivederci!  (Till we meet again).

From a high position on the ship, my eyes embraced the Basilica San Marco, the Campanile, the Doge’s Palace, on one column the Winged Lion and on another the Greek warrior Saint Theodore.
And I, too, sighed spotting the Bridge of Sighs next to the Doge’s Palace … 
How many more sighs shall I have to suppress during this earthly life?
Millions have endeavoured to make their life the best, the most profitable, the most beautiful, the happiest.


And the gondolas, covered by a deep-blue sheet, at this early hour, silently lay side by side and danced, rocked by small waves in the Grand Canal.
All this, has become, since so long ago, a part of my fond memory of Italy.
ภาพที่สองข้างบนจากเพ็จ en.venezia.net



ภาพนี้ คือบริเวณ Punta della Dogana [ปุ๊นต้ะ เดลล่ะ ด้อกาหนะ] อาคารตรงปลายแหลมของพื้นที่สามเหลี่ยมกลางทะเล เชื่อมคลองใหญ่ (Grand Canal) กับคลอง จิวเด้กกะ (Giudecca Canal). เคยเป็นที่ตั้งของด่านศุลกากร (Dogana da Mar สัญลักษณ์ของการพาณิชย์ทางทะเล). บนยอดหอคอยมีรูปปั้นสตรียืนขาเดียว เหมือนกำลังลุ้นสู้กับสายลม (อะไรเหมือนพู่สามแฉกบนหัวนั้น คือสายล่อฟ้า) ศิลปินสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของ Fortuna (โชคลาภ) ยืนเหนือลูกโลกเคลือบทอง รูปปั้นชายสองคนคุกเข่าประคองโลกทองนั้นไว้ (ท่ารูปปั้นประคองโลกแบบนี้ ในศิลปะเรียกว่า เป็นรูปปั้น Atlas ในที่นี้ ศิลปินสร้างแอ็ตล้าสเป็นคู่เลย).  สองมือของ Fortuna ยึดแผ่นโลหะ ที่หมุนไปตามทิศทางลม (weathervane). ประติมากรรมกลุ่มนี้ เป็นผลงานของ Bernardo Falcone สร้างขึ้นในปี 1667 เมื่อมีการบูรณะสร้างพื้นที่สุดแหลม Punta della Dogana.  
ปัจจุบันอาคารทั้งบริเวณนี้ เป็นหอศิลป์. โดมที่เห็นถัดไปด้านหลัง คือโบสถ์โรมันแคทอลิก Santa Maria della Salute [ซันตา มารี้อา เดลล่ะ สะลู้เตะ] (Salute ในความหมายของสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์) ที่เริ่มสร้างในปี 1631 เพื่อตอบแทนบุญคุณที่พระแม่มารีได้ช่วยยุติการแพร่ระบาดของโรคที่มีหนูเป็นพาหะนำเชื้อ และที่ทำให้คนตายไปเป็นจำนวนมากในปี 1630 (plague หรือที่เรียกกันว่า โรคดำมรณะ The Black Death). โบสถ์นี้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในท้องฟ้าเมืองเวนิส.
โบสถ์นี้ เคยเปิดให้คนขึ้นไปได้ถึงบนยอดโดมใหญ่ มีลิฟต์ขนาดเล็ก สำหรับสองสามคนเท่านั้น. สิบกว่าปีก่อน เช้าตรู่วันหนึ่งไปเยือนโบสถ์แต่เช้า ยังไม่มีใคร พบบาทหลวงท่านหนึ่ง คุยกัน. บาทหลวงพูดว่าคนไทยหรือ ยิ้มแย้มดี ท่านชำเลืองไปที่ผู้หญิงอินเดียคนหนึ่งที่หน้าโบสถ์ ยืนห่างออกไป หน้าบึ้งตึง(ท่านพูดเอง). ยิ้มไม่ต้องลงทุน แต่มีประโยชน์มากหลาย! วันนั้นเลยได้ขึ้นไปถึงยอดโดม ท่านใจดีพาขึ้นไป(ไม่ชวนผู้หญิงอินเดีย). จากบนนั้น มองเห็นทิวทัศน์เมืองเวนิสได้โดยรอบ. แต่ที่สำคัญที่สุด คือมองเห็นเรือที่เข้าออกเมืองเวนิสได้ชัดเจน. พื้นที่ตั้งของด่านศุลกากรทางน้ำ จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์เสมอมา. ทางการควบคุมการเข้าออกของเรือไม่ว่าใหญ่เล็กทุกลำ เท่ากับควบคุมสินค้า ควบคุมการเก็บภาษีทุกอย่างด้วย

ภาพข้างล่างต่อไปนี้ ถ่ายบนเส้นทางจากทะเลสู่ Grand Canal ไปถึงท่าเรือใหญ่ Marittima ชานเมืองเวนิส



 ร้านอาหารริมฝั่ง Grand Canal บางแห่งออกไปตั้งบนลานยกพื้นเหนือน้ำทะเล

Marittima เป็นท่าจอดเรือเดินสมุทรและเรือสำราญขนาดใหญ่  ไกลจากพื้นที่กลางเมืองเวนิส และเป็นจุดจบของการไปเรือกินนอนเที่ยวนี้.

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑.