Thursday 12 April 2018

Siam-France in 17th century

ลำดับภาพข้อมูลจากฝรั่งเศส ตอนราชทูตสยามไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ในศตวรรษที่ 17.
ศตวรรษที่ 17 ในเอเชียอาคเนย์ มีชาวอังกฤษ โปรตุเกส ชาวดัตช์ มาตั้งโกดังกักตุนสินค้าที่ซื้อจากชาวพื้นเมือง เพื่อนำกลับไปยุโรปกับบริษัทเดินเรือค้าขายของแต่ละชาติ. Constantine Phaulkon (หรือ Constance Phaulkon ก็เรียก, ผู้ได้รับพระราชทานยศและตำแหน่งเป็น “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์”) แนะนำนโยบายถ่วงดุลการค้าขายกับทุกชาติให้เสมอหน้ากัน. พระนารายณ์เห็นว่าฝรั่งเศสน่าจะเป็นตัวถ่วงอำนาจได้ดี โดยเฉพาะฝรั่งเศสเป็นไม้เบื่อไม้เมากับบริษัทเดินเรือของชาวดัตช์ที่ตั้งตนเป็นจ้าวท่าค้าขายในสยาม. ดังนั้นสยามและฝรั่งเศสจักได้ประโยชน์ร่วมกัน. ปี1680 ฝรั่งเศสได้สิทธิจากสยามประเทศให้สามารถค้าขายเครื่องเทศแบบผูกขาดชาติเดียว.

   บุคคลสำคัญฝ่ายฝรั่งเศสที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างฝรั่งเศสกับสยามเป็นไปอย่างราบรื่นคือ บาทหลวง Bénigne Vachet [เบนีญ วาเช่] (1641-1720). เขาอยู่ในกลุ่มมิชชันต่างประเทศศูนย์ปารีส (Missions étrangères de Paris) เคยมาอยู่สยามตั้งแต่ปี 1669 จนถึงปี 1673 แล้วถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตที่อินโดจีน (ที่ฝรั่งเศสเรียกว่า Cochinchine [โกแช็งชีน] ในปี 1680) เขาทำหน้าที่ได้ดีมากจนคณะมิชชันนารีฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้ตั้งสอนคริสต์ศาสนาได้. 

    ในปี 1684 บาทหลวงวาเช่ถูกเจาะจงตัวให้เป็นล่ามติดตามราชทูตไทยสองคนไปยังฝรั่งเศส เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่พระราชวังแวร์ซายส์. บาทหลวงวาเช่แน่ใจว่าพระนารายณ์อาจเปลี่ยนใจหันมานับถือศาสนาคริสต์คาทอลิก. ตามคำของหัวหน้าหน่วยพิทักษ์มรดกของชาติ (Bertrand Rondot,  Conservateur en chef du Patrimoine) ทูตจากสยามคณะนี้ มิได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์โดยตรง. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ให้การต้อนรับ. ราชสำนักฝรั่งเศสไม่ประทับใจนักกับทูตสยามคณะนี้.

    ในปี 1685 พระเจ้าหลุยส์ที่14 ตัดสินใจส่งคณะทูตฝรั่งเศสมาสยาม โดยมี Alexandre de Chaumont เป็นผู้นำและมีบาทหลวงวาเช่, เจ้าอาวาสแห่งชัวซี (l’abbé de Choisy), และบาทหลวงเยซูอิต Guy Tachard [กี ตะชารฺ] และพาคณะทูตชาวสยามที่ไปฝรั่งเศสในปี 1684 กลับสยามด้วย. บาทหลวงวาเช่ ยังได้ติดตามคณะทูตสยามกับพระวิสุทธิสุนทร(โกษาปาน)ไปฝรั่งเศสในปี 1686.   

ภาพวาดของ Jean-Baptiste Nolin [Public domain], via Wikimedia Commons (ภาพนี้พิมพ์ลงในวารสาร Le Magasin pittoresque ฉบับปีที่ 1840 หน้า 33). เล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1685 เมื่อ Constantine Phaulkon นำคณะทูตฝรั่งเศสมี Alexandre de Chaumont [อเล็กซ็องเดรอะ เดอ โชมง] (Alexandre เป็นชื่อตัว.Chevalier เป็นยศหรือตำแหน่งขั้นต่ำสุดในตระกูลผู้ดีเก่าของฝรั่งเศส. Chaumont เป็นชื่อถิ่นในฝรั่งเศส ครอบครัวที่เป็นเจ้าของดินแดนถิ่นนั้น เมื่อเรียกชื่อก็จะเจาะจงว่า คนนั้นที่มาจากถิ่นนั้น ใช้คำ de [เดอ] + ชื่อถิ่น. คนไทยนำยศมาเรียก โดยตัดชื่อตัวออกเป็น Chevalier de Chaumont [เชอวาลิเย่ เดอ โชมง]) เป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ไปถวายพระนารายณ์. ภาพนี้ในท้องพระโรงศรีสรรเพชญ์ที่อยุธยา(sic.), Phaulkon หมอบที่พื้น ยกมือซ้ายขึ้นให้สัญญาณแก่ทูตฝรั่งเศสยกพานวางพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ขึ้นสูงๆถวายพระนารายณ์. พระนารายณ์เสด็จออกตรงหน้าต่าง ต้องทรงก้มพระองค์ลงไปหยิบพระราชสาส์นนั้น. บาทหลวงที่เห็นในภาพคือ François-Timoléon de Choisy [ฟร็องซัว-ตีโมเล-อง เดอ ชัวซี] และคนที่ยืนถัดไปข้างในคือ Louis Laneau [ลุย ลาโน่].

    Guy Tachard [กี ตะชารฺ](หรือ Père Tachard, 1651-1712. บาทหลวงเยซูอิตชาวฝรั่งเศส ผู้ได้ติดตามคณะทูตฝรั่งเศสเดินทางมาสยามสองครั้ง เขาเป็นนักดาราศาสตร์ด้วย) ได้บันทึกเหตุการณ์วันนั้นไว้ว่า << ทูตฝรั่งเศสแปลกใจมากเมื่อเข้าไปในท้องพระโรง เห็นว่าพระนารายณ์ประทับอยู่ในที่สูงเหนือตัวเขามาก และไม่มีใครบอกเขาล่วงหน้า. เมื่อเขากล่าวคำสดุดีพระนารายณ์จบลง เขาต้องเดินเข้าไปถวายพระราชสาส์น. เตรียมกันไว้ก่อนว่าเพื่อแสดงความเคารพสูงสุดต่อพระราชสาส์นนั้น ให้เจ้าอาวาสแห่งชัวซียืนข้างๆทูต และเป็นผู้ถือพานทองพระราชสาส์น พานที่มีขาต่อให้ยาวเป็นพิเศษ. แต่ในเหตุการณ์จริง Chevalier de Chaumont เป็นผู้ยกพานเอง และเพื่อให้เหมาะกับศักดิ์ศรีของพระราชสาส์นนั้น จึงประคองตรงฐานพาน ยกขึ้นสูงสู่ที่ประทับ เพียงครึ่งระยะทาง (มิได้ยื่นขึ้นสูงสุดแขน). พระนารายณ์ทรงเห็นเช่นนั้นและทรงเข้าใจความหมายของทูต ทรงลุกขึ้น พระพักตร์ยิ้ม ทรงก้มลงหยิบพระราชสาส์นนั้น (แบบพบกันครึ่งทาง) แล้วพระองค์ชูพระราชสาส์นนั้นขึ้นเหนือพระเศียร เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้เกียรติและความสำคัญแก่ผู้ที่ส่งสาส์นนั้นมาถึงพระองค์ >> 
ที่มาข้อมูล >> "Audience solennelle donnée par le Roy de Siam à Mr. le chevalier de Chaumont, Ambassadeur extraordinaire de Sa Majesté auprès de ce Roy...". Gallica.bnf.fr (in French). Paris: Bibliothèque Nationale de France.

หนังสือจารึกเดินทางของ Guy Tachard ฉบับสมบูรณ์ภาษาฝรั่งเศส พิมพ์ในปี 1687 ที่ Amsterdam : Chez PIERRE MORTIER ดังภาพปกข้างล่างนี้ เข้าไปอ่านได้ที่เพ็จของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (havard.edu) เป็นหนังสือที่แพร่หลายมากที่สุด เกี่ยวกับสยามประเทศ มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปีต่อมา.

     เมื่อคณะทูตฝรั่งเศสคณะนี้เดินทางกลับฝรั่งเศสในปี 1686 พระนารายณ์โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ออกพระวิสุทธิสุนทรเป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูตและออกขุนศรีวิศาลวาจาเป็นตรีทูต พร้อมด้วยผู้ติดตาม อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ โดยเดินทางไปกับเรือของฝรั่งเศส. บาทหลวงเยซูอิตชื่อ Guy Tachard ตามไปในคณะด้วย. 

   ทูตคณะนี้เดินทางไปขึ้นฝั่งที่เมืองแบร้สต์ประเทศฝรั่งเศสวันที่ 18 มิถุนายน 1686. การต้อนรับคณะทูตสยามตั้งแต่ที่ท่าเรือเมืองแบร้สต์ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ชาวเมืองแบร้สต์อย่างมาก และถูกจารึกไว้เป็นหน้าสำคัญหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเมือง.
   พิพิธภัณฑ์ป้อมต็องกีย์ (le Musée dela Tour de Tanguy) ที่เมืองแบร้สต์ มีประวัติความเป็นมายืดยาวในประวัติการก่อตั้งเมืองแบร้สต์ และตกทอดเป็นสมบัติของเมืองแบร้สต์ในปี 1954. เมื่อทางการเมืองแบร้สต์เห็นสมควรให้เปลี่ยนป้อมต็องกีย์ (la Tour de Tanguy) เป็นศูนย์ข้อมูลและการเรียนรู้ของทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกี่ยวกับเมืองแบร้สต์ ได้มอบหมายให้ Jim Sévellec [จิม เซเวอเล็ก] และ Pierre Péron [ปีแยร เป-รง] เข้าไปจัดการตกแต่งภายในป้อมและเปลี่ยนป้อมให้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับอดีตของเมืองแบร้สต์ ซึ่งเกือบไม่เหลือเค้าใดๆให้เห็นแล้วในสภาพเมืองแบร้สต์ปัจจุบัน.
สามภาพนี้ถ่ายเมื่อข้าพเจ้าไปเมืองแบร้สต์ครั้งที่สองในปี 2000
 อ่าวและท่าเรือ La Penfeld เห็นกำแพงปราสาทเมืองแบร้สต์ทางซ้าย

บนฝั่งตรงข้ามปราสาท มีป้อมกลมๆคือป้องต็องกีย์ (La Tour Tanguy)

M. Guy Racine เจ้าหน้าที่และภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ป้อมต็องกีย์

---------------------

   จิม เออแฌน เซเวอเล็ก (Jim Eugène Sévellec, 1897-1971 จิตรกรฝรั่งเศสคนสำคัญที่มีผลงานเกี่ยวกับภาคตะวันตกเฉียงเหนือหรือ La Bretagne ของฝรั่งเศส. เป็นจิตรกรบนเครื่องปั้นดินเผา, อาจารย์สอนวิจิตรศิลป์ที่เมืองแบร้สต์และนักวาดภาพการ์ตูนประกอบประวัติศาสตร์ของเมืองแบร้สต์-Brest, แก็งแปร์-Quimper เป็นต้น. เมืองแบร้สต์โดยเฉพาะนิยมชมชื่นเขามาก และได้นำชื่อของเขาเรียกถนนสายหนึ่งว่า Rue Jim Sévellec.

-----------------------

    Jim Sévellec กับ Pierre Péron เป็นผู้จัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตลอดหลายศตวรรษ เช่นสงครามกับอังกฤษ ประวัติสังคมชาวเมืองแบร้สต์ ตามด้วยสงครามโลก. นอกจากเอกสาร หนังสือ สิ่งตีพิมพ์และอุปกรณ์ของแต่ละยุคประกอบการเล่าประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีการจัดตู้โชว์เหตุการณ์หลักๆของแต่ละยุคด้วยหุ่นผ้าขนาดเล็ก ที่มีสีสันน่าสนใจเพื่อการเรียนรู้ของเยาวชนของเมืองด้วย. เมื่อข้าพเจ้าไปศึกษาที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1970 ได้แวะไปดูเมืองแบร้สต์ ไปเดินบนถนนสยามให้กระจ่างแก่ใจ. อดดีใจไม่ได้เมื่อเห็นตู้โชว์เหตุการณ์คณะทูตโกษาปานไปถึงเมืองแบร้สต์ เป็นตู้หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ป้อมต็องกีย์นั้นด้วย.

ภายในป้อมต็องกีย์ ตู้กระจกทั้งชั้นบนและชั้นล่าง
ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการประวัติศาสตร์เมืองแบร้สต์.

ตู้กระจกโชว์เหตุการณ์คณะทูตสยามกับพระวิสุทธิสุนทร(โกษาปาน)
ไปถึงเมืองแบร้สต์ปี 1686. 

    กลางศตวรรษที่ยี่สิบ Jim Sévellec จิม เซเวอเล็ก ได้วาดภาพเล่าเรื่องการไปถึงเมืองแบร้สต์ของคณะทูตสยามคณะนี้. เขาวาดภาพสเก็ตช์ตามข้อมูลที่ตกทอดมา. ภาพวาดของเขาลงพิมพ์ในวารสาร Brest Magazine และที่ข้าพเจ้านำมาลงข้างล่างนี้ ข้อความที่กำกับใต้ภาพก็เป็นข้อความดั้งเดิมของ จิม เซเวอเล็ก เอง (อีกชื่อที่ปรากฏในเอกสารนี้คือ Joël Sévellec โจแอ็ล เซเวอเล็กเป็นลูกชายของจิม). ในทศวรรษที่ 1980 เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ป้อมต็องกีย์ (M. Guy Racine) ได้ให้ข้าพเจ้ายืมภาพถ่ายจากหน้าหนังสือพิมพ์เมืองแบร้สต์ไปถ่ายเอกสาร ยุคนั้นการซีรอกส์เป็นสิ่งเดียวที่ทำได้. ข้าพเจ้าจึงนำมาลง เพื่อให้เห็นว่าชาวเมืองแบร้สต์พูดถึงชาวสยามกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร. ภาพถ่ายเอกสารไม่ชัดเจนนัก เพราะข้าพเจ้าเก็บมาสามสิบกว่าปีแล้ว.
พาดหัวข่าวนำเรื่องดังนี้ >> Brest 1686 … Rêve de Siam. Jim et Joël Sévellec, dans leur bande dessinée sur Brest, racontent la venue des ambassadeurs siamois. Nous n’avons pas résisté au plaisir de reproduire cette planche dans « Brest Magazine » !
ความว่า >> เมืองแบร้สต์ ปี 1686ฝันสยาม. ภาพวาดลายเส้นเกี่ยวกับเมืองแบร้สต์ ของจิมและโจเอล เซเวอเล็ก เล่าถึงการมาของคณะทูตจากสยามประเทศ. เราไม่อาจห้ามใจนำภาพวาดนั้นมาลงในวารสาร « Brest Magazine » อีก.
1. แนวถนนตรงกลางภาพที่เห็นนี้ Vauban [โวบ็อง] (นักวาดเขียนของเมืองแบร้สต์อีกผู้หนึ่ง) ได้วาดไว้เมื่อปี 1939 แสดงถนนย่าน Saint-Pierre ที่ขนานไปกับวังชื่อเดียวกัน สร้างขึ้นในปี 1632 (วังนี้ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว). วังนี้ต่อมาใช้เป็นที่ตั้งของกรมการเดินเรือทะเลจนถึงปี 1939. แต่ชาวเมืองเรียกถนนนี้ว่า ถนนสยาม ติดปากมาตั้งแต่ปี 1686.
2. นับเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่เหตุการณ์หนึ่งสำหรับเมืองแบร้สต์ เมื่อเรือเดินทะเลขนาดใหญ่สองลำชื่อ L’Oiseau [ลัวโซ่] กับเรือ La Maligne [ลา มาลี-ญ] พาเอกอัครราชทูตของพระเจ้าแผ่นดินสยามประเทศ ขุนนางผู้ใหญ่ 6 ท่าน ล่ามและผู้ติดตามอีกจำนวนมาก มาขึ้นฝั่งที่เมืองนี้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปี 1686.
3. ในบรรดาของกำนัลต่างๆที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงมอบถวายพระเจ้าหลุยส์ที่14 มีพระราชสารฉบับหนึ่ง บรรจุอยู่ในหีบสามชั้น (สามกล่องวางลงซ้อนๆกัน) ที่วิจิตรงดงามยิ่งนัก. หีบชั้นนอกทำด้วยไม้ลงรักจากประเทศญี่ปุ่น. หีบชั้นกลางทำด้วยเงินและแกะสลักงามสุดพิศดาร. หีบชั้นในสุด ทำด้วยทองคำล้วนและประดับตกแต่งงามสุดตระการตา.
4. หลังจากขึ้นฝั่งแล้ว คณะทูตฯได้ไปพำนักอยู่ที่วังแซ็งเปียร์. เล่ากันว่า ชาวเมืองแบร้สต์ตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับเจ้าชายจากตะวันออกเหล่านี้ ผู้สวมเสื้อผ้าอาภรณ์อันเฉิดฉาย คงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อพูดถึงถนนแซ็งเปียร์ ก็อดไม่ได้ที่ต้องพูดถึงเหตุการณ์เมื่อคณะทูตจากสยามเดินทางไปถึงเมืองแบร้สต์.
5. หลังการต้อนรับอย่างเอิกเกริก คณะทูตสันถวไมตรีจากสยาม ได้พักผ่อนอยู่ที่เมืองแบร้สต์ 3-4 วัน แล้วจึงลงเรือต่อไปยังเมือง ล็องเวอ็อค-ปูมิก (Lanvéoc-Poulmic) ซึ่งอยู่บนฝั่งด้านใต้ของแหลมเมืองแบร้สต์. ที่นั่นเจ้าหน้าที่จากราชสำนักฝรั่งเศสคอยต้อนรับอยู่ พร้อมด้วยราชรถใหญ่ที่มีตั่งหรูหราน่าสบายอยู่ภายใน เพื่อความสุขสบายของคณะทูตในการเดินทางต่อทางบก เข้าสู่นครหลวง. ตลอดเส้นทางเข้าสู่เมืองปารีส เมื่อผ่านเข้าไปในเมืองใด คณะทูตจากสยามได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง.
6. กองทหารฝรั่งเศส ซึ่งมีเครื่องแบบสีขาวสลับเทากับกางเกงสีฟ้าเข้ม มองดูสวยสง่าน่าภูมิฐาน ขณะยืนเรียงเป็นแถวยาว ต้อนรับการมาขึ้นฝั่งที่เมืองแบร้สต์ของคณะทูตสยามนั้น เป็นที่ชื่นชอบของคณะเอกอัครราชทูตยิ่งนัก. คณะทูตฯจึงได้พาทหารจากกองทหารประจำการของเมืองแบร้สต์จำนวน 600 คน กลับประเทศสยามด้วย. เท่ากับว่า ประเทศสยามรับรองความสำคัญของประเทศฝรั่งเศส ในค่ายทหารสยามทั้งสองแห่ง คือที่เมืองบางกอกและที่เมืองมะริด (Mergui ในพม่า)

*****

เมื่อออกจากเมืองแบร้สต์ บนเส้นทางบกมุ่งสู่พระราชวังแวร์ซายส์ มีผู้คนพากันมาห้อมล้อมด้วยความตื่นเต้นและอยากรู้อยากเห็น เป็นที่กล่าวขวัญกันตามราชสำนักและสังคมในยุโรป. เสื้อผ้าและกิริยามารยาทของคณะทูตทั้งหมด รวมถึงการก้มหมอบกราบถวายความเคารพเบื้องหน้าที่ประทับ และขบวนบุษบกที่อัญเชิญพระราชสาสน์ของพระนารายณ์ เป็นที่ฮือฮาอื้ออึงไปทั่วในสังคมชั้นสูง. วารสาร Mercure Galant ของฝรั่งเศส เขียนเจาะจงอีกว่า ท่านราชทูต(โกษาปาน) สนใจแผนที่ประเทศฝรั่งเศสและภาพจิตรกรรมต่างๆที่ได้เห็นมาก.

คณะทูตได้นำของกำนัลจำนวนมากมาถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รวมทั้งเครื่องทอง กระดองเต่า ผ้าแพรไหม พรม เครื่องลายครามเป็นจำนวนกว่า 1500 ชิ้น และเฟอนิเจอร์แล็คเกอร์. ยังถวายปืนใหญ่สยาม(หุ้มเงิน)สองกระบอกแด่พระเจ้าหลุยส์ (ปืนสองกระบอกนี้ต่อมาถูกคณะปฏิวัติฝรั่งเศสยึดไปในปี 1789 และนำไปใช้ถล่มป้อมบาซตีย์-La Bastille).
    คณะทูตสยามยังได้นำผ้าทอสยามสีสันต่างๆไปยังราชสำนักฝรั่งเศส (เป็นผ้าทอไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้าทอขิด ผ้าจก ผ้ายก เป็นต้น) ที่ชนชั้นสูงนำไปออกแบบและประดิษฐ์เสื้อผ้า เป็นที่รู้จักกันในนามว่า Toiles flammées หรือ Siamoises de Rouen. ดังตัวอย่างภาพวาดข้างล่างนี้ ข้อความกำกับไว้ว่า << สตรีสูงศักดิ์ในชุดลำลองตัดจากผ้าสยาม (มีขายที่ปารีส..) >>
ผลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส คณะปฏิวัติมีมติให้กำจัดหรือทำลายสิ่งหรูหราฟุ้งเฟ้อที่นำเข้าจากต่างแดน. ทำให้ต้องหันไปใช้ชื่อถิ่นฝรั่งเศสเรียกชื่อผ้าที่นำเข้าไปจากสยามเป็น Toiles des Charentes หรือ coton de Provence.

     สำหรับสิ่งของที่ซื้อจากฝรั่งเศสนั้น คณะทูตสยามได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆเป็นจำนวนมาก ให้ส่งทางเรือกลับไปยังราชสำนักสยาม อาทิได้ขอให้ Jean-Baptiste Colbert (รัฐมนตรีการคลังของพระเจ้าหลุยส์) ช่วยสั่งโรงงาน Saint Gobain ให้ผลิตกระจกบานใหญ่แบบที่ใช้ประดับท้องพระโรงห้องกระจก (La Galerie des Glaces) พระราชวังแวร์ซายส์, จำนวน 4,264 แผ่น เพื่อนำไปประดับพระราชวังของพระนารายณ์. ของที่สั่งซื้ออื่นๆเช่น ปืนใหญ่ฝรั่งเศสจำนวน 160 กระบอก กล้องส่องทางไกล เครื่องแก้ว นาฬิกา เครื่องกำมะหยี่และอุปกรณ์เครื่องตกแต่งอื่นๆที่ทำจากคริสตัล. และก็ไม่ลืมสั่งทำลูกโลกภูมิศาสตร์ จารึกเป็นภาษาไทยฝีมือของนายช่างฝรั่งเศสอีกสองลูก กับพรมอีกเจ็ดผืนจากแหล่งผลิตพรมของราชสำนักฝรั่งเศสที่กรุงปารีสชื่อ La Manufacture de la Savonnerie.

    ภาพที่สำคัญยิ่งภาพหนึ่งที่เกี่ยวกับคณะทูตสยามกับพระวิสุทธิสุนทร(โกษาปาน) เป็นภาพพิมพ์จากบันทึกพงศาวดารของฝรั่งเศสที่พิมพ์ออกในปีถัดมา ใน l’Almanac royal ฉบับปี 1687 MDCLXXXVII.
ภาพวาดเล่าเหตุการณ์ในบันทึกพงศาวดารของฝรั่งเศส(ปีหลังถัดมา) เกี่ยวกับคณะทูตจากสยามประเทศที่พระราชวังแวร์ซายส์. คณะทูตอัญเชิญพระราชสาส์นสมเด็จพระนารายณ์ไปในบุษบก(เห็นชัดเจนในภาพ) เป็นขบวนแห่ไปจนถึงที่ประทับในพระราชวังแวร์ซายส์.
ข้อความสองบันทัดตอนบนของภาพ(1)ระบุว่าเพื่อสถาปนาการค้ากับชนชาติตะวันออก.
ข้อความตรงกลางภาพที่เหมือนแผ่นกระดาษม้วน ข้อความท่อนบน(2)เขียนไว้ว่า Audience du Roy donnée aux ambassadeurs du Roy de Siam (กษัตริย์ฝรั่งเศสให้ทูตของกษัตริย์แห่งสยามเข้าเฝ้า). ใต้ลงไปเป็นภาพคณะทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์(ในท่ายืน เพื่อความสะดวกในการจัดภาพ).
ข้อความใต้มือทั้งสอง(3)เขียนระบุว่า Alliance de la France avec le Roy de Siam (สัมพันธไมตรีของฝรั่งเศสกับกษัตริย์แห่งสยาม).
ให้สังเกตว่า เอกอัครราชทูตพระวิสุทธิสุนทร(โกษาปาน)ทางขวาของภาพ ยื่นมือข้ามโต๊ะออกไปยาวเกินความยาวครึ่งหนึ่งของโต๊ะ เพื่อจับมือกับพระเจ้าหลุยส์ที่14 (เหมือนสะกิดให้สำนึกว่า สยามออกไปหาฝรั่งเศส และราชทูตไม่ใช่ระดับเดียวกับกษัตริย์).
ด้านหน้า“โต๊ะ”มีแผ่นปฏิทินสิบสองเดือนเป็นแบบปฏิทินนักบุญที่ใช้ในยุโรปตั้งแต่ยุคกลาง. คือแต่ละวันมีชื่อนักบุญกำกับต่างกันทั้ง 365 วัน ในทำนองนักบุญผู้อุปถัมภ์ประจำในแต่ละวัน. ในสมัยก่อนเด็กที่เกิดวันไหนของปี ตรงกับวันนักบุญคนใด มักได้ชื่อนักบุญประจำวันนั้นเป็นชื่อเด็กในพิธีรับศีลจุ่ม ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น แล้วแต่ความประสงค์ของผู้เป็นบิดามารดา. การติดปฏิทินไว้ในภาพด้วยนั้น เป็นการเจาะจงวันเวลาและสอดคล้องกับหน้าที่ของการจัดทำบันทึกพงศาวดารของประเทศฝรั่งเศส (L’Almanac royal).
ตอนบนของภาพนี้ อาคารที่เห็นคือด้านหน้าอาคารกลางของพระราชวังแวร์ซายส์. บนระเบียงชั้นบนเห็นคนยืนดูเหตุการณ์. ลานกว้างหน้าอาคารมีคนวิ่ง บ้างจูงเด็กเพื่อไปดูขบวนคณะทูตสยาม. ดอกจันนำให้ดูว่า มีเด็กขึ้นขี่คอผู้ใหญ่เพราะมองไม่เห็นขบวนดีนัก.
ภาพในวงหมายเลข 4 กำกับไว้ว่า (คณะทูต)เข้าพบมกุฎราชกุมาร (Louis de France, dit Monseigneur, 1661-1711).
ภาพในวงหมายเลข 5 กำกับไว้ว่า (คณะทูต)ชาวสยามหยุด(พัก)ที่เมืองแบร้สต์.
ภาพในวงหมายเลข 6 กำกับไว้ว่า (คณะทูต)ชาวสยาม(ไปถึง)กรุงปารีส.
ภาพในวงหมายเลข 7 กำกับไว้ว่า (คณะทูต)ชาวสยามไปยังฮอลแลนด์ ไปดูให้เห็นว่าฝรั่งเศสมีชัยเหนือประเทศฮอลแลนด์ (ในสมัยพระเจ้าหลุยส์, ระหว่างปี 1672-1678)
ภาพในวงหมายเลข 8 กำกับไว้ว่า (คณะทูต)ชาวสยามไปดูงานก่อสร้างและโดยเฉพาะการสร้างสะพานส่งน้ำ (Aqueduc de Maintenon) ที่อำเภอแม็งเตอ-นง เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำ Eure ไปใช้ที่แวร์ซายส์. (Maintenon [แม็งเตอ-นง] อยู่ห่าง 63.5 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส). โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 1686 แต่ถูกปิดไปในปี 1687 เมื่อเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ.
ภาพในวงหมายเลข 9 กำกับไว้ว่า (คณะทูต)ชาวสยามเข้าพบมกุฎราชกุมารี (Madame la Dauphine คือ Maria Anna Victoria of Bavaria พระมเหสีในมกุฎราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าหลุยส์ที่14).
ภาพในวงหมายเลข 10 กำกับไว้ว่า นำ(คณะทูต)ชาวสยามชมพระราชวังแวร์ซายส์.
ภาพในวงหมายเลข 11 กำกับไว้ว่า กลุ่มบัณฑิตย์ที่ราชอาณาจักรสยามส่งมา.
Isabelle Landry-Deron นักวิจัยฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้ให้คำอธิบายภาพว่า พวกเขากำลังจะลงเรือ. กลุ่มนี้คือคณะบาทหลวงเยซูอิตผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สื่อข่าวของสภาราชบัณฑิตย์แห่งวิทยาศาสตร์(ฝรั่งเศส). จนถึงปี 1760 พวกเขาได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนไว้เป็นจำนวนมาก. กลุ่มแรกที่ได้เข้าพบ(รายงาน)กับสภาราชบัณฑิตย์แห่งวิทยาศาสตร์(ฝรั่งเศส) คือเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1684.
Isabelle Landry-Deron ยังเจาะจงอีกว่า “ราชทูตผู้อาวุโสสูงสุดในหมู่ทูตสยาม รู้จักราชสำนักของจักรพรรดิจีน คังสี Kangxi (; 4 May 1654 – 20 December 1722, ราชวงศ์ชิง ) ดีและพระนารายณ์ทรงอยากรู้ว่า ราชสำนักแวร์ซายส์เป็นเช่นไรเพื่อเปรียบเทียบกัน”.
สรุปได้ว่าเขาให้รายละเอียดในภาพพิมพ์นี้มาก สมกับที่เป็นเอกสารสำคัญของชาติในจารึกพงศาวดารของประเทศฝรั่งเศส.
--------------------------
ใครคือ Isabelle Landry-Deron? ดูท้ายบทความ
-----------------------------------------
ส่วนภาพนี้เป็นภาพวาดของ Nicolas Larmessin เล่าเหตุการณ์เมื่อคณะทูตไทยนำโดยพระวิสุทธิสุนทร(โกษาปาน) ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1686. ท้องพระโรงที่เห็นในภาพข้างบนนี้ ยืนยันว่า พระเจ้าหลุยส์เสด็จออกรับคณะทูตสยามปี 1686 ในห้องกระจก (la Galerie des glaces). คนที่ยืนเยื้องๆพระวิสุทธิสุนทร(โกษาปาน)คือ เจ้าอาวาส Artus de Lionne [อารฺตุ๊ซ เดอ ลียอน] ผู้ทำหน้าที่ล่ามและแปลประจำคณะทูต. มีบันทึกเล่าว่า คณะทูตสยามหมอบกราบที่พื้น ไม่เงยหน้าขึ้นตามกฎมณเฑียรบาลสยาม. เจ้าอาวาสผู้เป็นล่ามอธิบายให้พระเจ้าหลุยส์เข้าใจกิริยาท่าทีของคณะทูต. พระเจ้าหลุยส์ตรัสบอกให้คณะทูตเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์ได้ “เขาเดินทางมาแสนไกล จะไม่ให้มองหน้าเรานั้น ก็กระไรอยู่”. ทูตสยามจึงเงยหน้าขึ้น และถวายพระราชสาส์นต่อหน้าพระพักตร์.
ภาพพิมพ์ที่สวยงามภาพนี้ก็เช่นกัน บันทึกการเข้าเฝ้าของคณะทูตสยามปี 1686 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ภายในท้องพระโรงห้องกระจก (la Galerie des glaces) (ภาพจากเพลทของ Sébastien-le-Clerc)
(เห็นรอยดินสอเขียนไว้ที่มุมภาพว่า 1684 นั้นไม่ถูกต้อง. คณะทูตคณะปี 1684 นั้น ไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ให้การต้อนรับแทน และไม่ใช่ในท้องพระโรงห้องกระจกที่แวร์ซายส์).
*****
https://www.youtube.com/watch?v=uyDBM8ftwzU
ราชทูตไทยในฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์มหาราช
คลิปวีดีโอนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “Visiteurs de Versailles 1682-1789” (ผู้มาเยือนแวร์ซายส์ ระหว่างปี1682-1789) ที่พระราชวังแวร์ซายส์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2017 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2018. Bertrand Rondot หัวหน้าผู้พิทักษ์มรดกของชาติ ได้สาธยายบรรยากาศในพิธีต้อนรับคณะทูตที่แวร์ซายส์ และบอกเล่าถึงความประทับใจในกิริยามารยาทอันประณีตเรียบร้อย เครื่องแต่งกายที่วิจิตรพิศดารของคณะทูตสยาม ให้คนยุคปัจจุบันได้รับรู้. สรุปเป็นใจความดังนี้ >>
<< คณะทูตสยามที่ไปในปี 1686 นั้นเป็นคณะทูตต่างชาติคณะแรก คณะพิเศษและคณะใหญ่ที่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่แวร์ซายส์ที่กลายเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1682 (พระเจ้าหลุยส์ที่14 ย้ายศูนย์บัญชาการปกครองจากกรุงปารีสไปอยู่ที่แวร์ซายส์). คณะทูตสยามได้เข้าเฝ้าในท้องพระโรงห้องกระจก(la Galerie de Glaces) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส และไม่ใช่ในท้องพระโรงห้องอโพลโล (le Salon d’Apollon) ตามที่ควรจะเป็น. เช่นนี้จึงเป็นการยืนยันความสำคัญของการผูกสัมพันธไมตรีใหม่กับราชอาณาจักรสยาม. สยามเคยส่งคณะทูตไปฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 1681 แต่เรืออับปางกลางทะเล. คณะทูตสยามคณะที่สองไปถึงฝรั่งเศสในปี 1684 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระเจ้าหลุยส์เป็นผู้ให้การต้อนรับ และไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์โดยตรง. การต้อนรับคณะทูตสยามปี 1686 นี้เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นที่พระราชวังแวร์ซายส์และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ในท้องพระโรงห้องกระจกดังกล่าว.
    บุษบกอัญเชิญพระราชสาส์นของพระนารายณ์ ที่จารึกลงบนแผ่นทองคำและบรรจุลงในกล่องทองคำ. กล่องนี้บรรจุลงในกล่องเงิน และกล่องเงินบรรจุอยู่ในกล่องแล็คเกอร์อีกชั้นหนึ่ง.
    หมวกลอมพอกที่คณะทูตสวมนั้น รูปแบบและขนาดที่แปลกตามาก ชาววังสนใจกันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวงกลมรอบๆตรงขอบหมวกที่เป็นลวดลายวิจิตรสีทองอร่าม มีดอกไม้ประดับด้วยทับทิม ความงามของหมวกแตกต่างกันไปตามฐานันดรศักดิ์ของทูตผู้สวม. ปรากฏว่า ระหว่างเดินทางมานั้น เครื่องประดับหมวกชำรุดไปบ้าง ช่างทองปารีสต้องช่วยซ่อมให้เรียบร้อยก่อนพิธีเข้าเฝ้า. ช่างทองจึงรู้ว่า หมวกลอมพอกนี้ เบามาก ดังนั้นทองที่ใช้ประดับมีปริมาณนิดหน่อยเท่านั้น ทำให้คิดต่อไปว่า สยามไม่น่าจะยิ่งใหญ่หรือสำคัญนัก ในเมื่อหมวกประดับทองของราชทูตเบาๆเท่านั้น. เสียงเล่าลือจากช่างทองได้ไปถึงหูของพระวิสุทธิสุนทร. Bertrand Rondot พรรณนาต่อว่า พระวิสุทธิสุนทร เป็นผู้ที่ชาญฉลาด มีความรู้ ความคิดและปฏิภานเป็นเลิศ ท่านเข้าใจทันทีถึงนัยแห่งคำพูดแบบนั้นว่า ส่งผลต่อการเชื่อมสัมพันธไมตรีทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม ท่านราชทูตตอบไปให้รู้กันว่า แน่นอนที่หมวกลอมพอกนั้นเบา เพราะประดิษฐ์ขึ้นให้คนสวม ไม่ใช่ให้ควายสวม หมวกต้องเบาพอ ไม่ให้หนักทับศีรษะผู้สวม.
   ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการแกะภาพ พิมพ์ภาพเก็บไว้ในพงศาวดารของแผ่นดิน (ดังที่นำมาลงข้างบนใน l’Almanac royal) และต่อมาเป็นภาพจิตรกรรมอื่นๆ. ยุคนั้น Charles le Brun [ชารฺเหลอะ เลอ เบริง] จิตรกรส่วนพระองค์ได้สเก็ตช์ภาพต่างๆหลายแบบหลายลักษณะจากขบวนทูตสยามเพื่อนำไปใช้ประกอบการนำเสนอในภาพจิตรกรรมการขนาดใหญ่ต่อไป. ในการนี้ได้เขียนภาพของพระวิสุทธิสุนทรไว้ด้วย >> ดังภาพที่เห็นข้างล่างนี้.
ภาพของพระวิสุทธิสุนทร ฝีมือของ Charles le Brun
(1619-1690, เป็นจิรกรนสำัญประจำราสำนักของพระเจ้าหลุส์ที่14)
การเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสยามนั้น เป็นความสำคัญยิ่งยวดสำหรับฝรั่งเศส เพื่อสถาปนาฐานการค้าที่มั่นคงในเอเชีย. ยุคนั้นประเทศญี่ปุ่นยังคงปิดประเทศ และชาวฮอลแลนด์ก็ไปตั้งเป็นจ้าวท่า บริษัทอีสต์อินเดียของฮอลแลนด์มีอำนาจมาก. สยามประเทศจึงเป็นฐานที่ดีสำหรับฝรั่งเศสในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นอกจากผลประโยชน์ทางการค้า ความปรารถนาของพระเจ้าหลุยส์คือการน้อมนำใจพระนารายณ์และคณะทูตให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก. พระวิสุทธิสุนทรได้ตอบว่า เขาชื่นชมอุดมการณ์ศาสนาคริสต์อยู่มาก แต่เขามิอาจตอบรับได้ในเวลาทันทีนั้น จึงยังไม่มีการเปลี่ยนศาสนาในหมู่คณะทูตที่ไป.
    สยามประเทศในยุคนั้นยังสนใจเรื่องดาราศาสตร์มากด้วย บาทหลวงเยซูอิตได้เข้าไปช่วยสอนและนำร่องการดูดาวในยุคพระนารายณ์. ความสัมพันธ์กับบาทหลวงเยซูอิต ทำให้ฝรั่งเศสคิดว่าอาจเป็นโอกาสให้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปด้วยได้. สรุประยะเวลาที่ทูตคณะนี้อยู่ที่ฝรั่งเศส คือระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน ปี 1686 ถึงเดือนมีนาคม 1687 และกลับถึงสยามวันที่ 9 ตุลาคม 1687.
    แม้ว่าคณะทูตสยามได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยม การทูตเป็นไปอย่างราบรื่น แต่น่าเสียดายว่าเมื่อคณะทูตสยามกลับไปถึงประเทศไม่นาน เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปกครองที่สยาม และพระนารายณ์เสด็จสวรรคตในปี 1689. พระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป และพระองค์ทรงสั่งให้ปิดประเทศ และปิดการติดต่อกับฝรั่งเศสด้วย. ความหวังของพระเจ้าหลุยส์จึงมิได้บรรลุผลแต่อย่างไร.
     ในโอกาสที่คณะทูตสยามไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ปี 1686 นี้ ทางการฝรั่งเศสได้จัดทำเหรียญที่ระลึกเหตุการณ์นี้ ดังภาพข้างล่างนี้  



สามสิบกว่าปีต่อมา Jacques Vigouroux Dupleissis (c.1680—1732) เสนอภาพวาดสีน้ำมันภาพนี้ เห็นพระวิสุทธิสุนทรเด่นชัด และเจ้าอาวาส Artus de Lionne [อารฺตุ๊ซ เดอ ลียอน] ผู้ทำหน้าที่ล่าม/แปลประจำคณะทูต.

พระนารายณ์ในมุมมองของผู้บันทึกชาวฝรั่งเศส (ไม่ทราบชื่อ) ข้อความที่กำกับข้างล่างภาพ เท่าที่ข้าพเจ้า(โชติรส)แกะออกมาได้ มีใจความดังนี้
<< เป็นที่รู้กันดีว่า เจ้าแผ่นดินสยามเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดและสง่าภาคภูมิที่สุดในหมู่ประเทศอินเดีย(เรียกประเทศทั้งหลายจากอินเดียเป็นต้นมาทางตะวันออก). เจ้าแผ่นดินสยามมีทองคำกว่าสิบห้าล้านเป็นรายได้(มิได้ระบุลักษณะนาม อาจเป็นเหรียญทองแบบยุโรป) และมีกองกำลังพลสามแสนคนในยามปกติในกองทัพ และช้างหมื่นเชือก. ทวยราษฎร์ปกติไม่ค่อยมีโอกาสเงยหน้านัก เพราะต้องนั่งหมอบอยู่บนพื้น หน้าก้มติดดิน. ทูตที่ไปเข้าเฝ้าเจ้าแผ่นดินสยาม ก็ต้องทำตัวแบบเดียวกัน. มียกเว้นเพียงราชทูตจากสันตะปาปาและเมอซีเออ เดอ เชอวาลิเย่ เดอ โชมง ราชทูตของกษัตริย์ฝรั่งเศสเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตยกเว้น จากกฎมณเฑียรบาลนี้. ราชทูตกษัตริย์ฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าในเดือนกันยายนปี1685 เป็นหัวหน้ากองกำลังหนึ่งแสนคนและขุนนางผู้ดีอีก12คนที่นั่งตลอดเวลาที่เข้าเฝ้า ในขณะที่ข้าราชสำนักชั้นผู้ใหญ่ รัฐมนตรีและผู้ใกล้ชิดองค์พระเจ้าอยู่หัวแห่งสยามทั้งหมดหมอบอยู่ที่พื้น หน้าผากจรดพื้น. >>.   

ภาพนี้กำกับไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัว(แห่งสยาม)ทรงช้างของพระองค์ จากหนังสือของ Guy Tachard [กี ตะชารฺ] บันทึกเดินทางไปสยามประเทศเมื่อปี 1685.

ภาพพิมพ์จากการแกะลงบนแผ่นโลหะหน้าเรียบ แสดงใบหน้าของคณะทูตสยามปี 1686 จากซ้ายไปขวา พระวิสุทธิสุนทรราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรีอุปทูต, และออกขุนศรีวิศาลวาจาตรีทูต.

ภาพพิมพ์ของคณะทูตสยามปี 1686 คนกลางคือพระวิสุทธิสุนทร. หนังสือและเอกสารฝรั่งเศสบางเล่มใช้คำว่า le prince (เจ้าชาย) เมื่อพูดถึงราชทูตพระวิสุทธิสุนทร. (ข้อความที่กำกับภาพนั้น เล็กเกินกว่าจะแกะได้)


ภาพวาดที่บันทึกเหตุการณ์จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปี 1688. ผู้วาดยืนยันว่าพระนารายณ์สนใจเรื่องดาราศาสตร์มาก และมีบาทหลวงเยซูอิตเป็นผู้ถวายความรู้และรายละเอียด. เข้าใจว่าบาทหลวง Guy Tachard (บาทหลวงนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส) ร่วมอยู่ด้วยคนหนึ่ง เขาบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ สภาพการณ์ สังคม ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไว้ละเอียดกว่าผู้ใด. ส่วนเรื่องความถูกต้องนั้น ต้องตามไปวิเคราะห์จากหนังสือต้นฉบับของเขา.

    สองร้อยกว่าปีต่อมา คณะทูตสยามที่ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้านโปเลียนที่สาม ในวาระนั้นจิตรกร Jean-Léon Gérome [ฌ็อง เล-อง เจโรม] (1824-1904) ได้จารึกภาพเหตุการณ์เป็นสีน้ำมันขนาดกว้าง 260 cm. x สูง 128 cm. ภาพแล้วเสร็จในปี 1864 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ปราสาทฟงแตนโบล (Musée national du Château de Fontainebleau).
ภาพนี้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้สั่งให้ทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เกี่ยวกับการที่คณะทูตสยามนำพระราชสาส์นจากพระจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัว ไปเข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่สามและพระนาง Eugénie [เออเจนี] ผู้เสด็จออกต้อนรับคณะทูตสยามในท้องพระโรงใหญ่ (la grande salle du Bal) ที่ปราสาทฟงแตนโบล เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนปี 1861. เป็นการเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใหม่หลังจากที่ได้หยุดชะงักไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17. คณะทูตปีนั้นไปเพื่อฉลองการลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสกับสยามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1856 และตามสนธิสัญญานี้ทั้งสองประเทศจักพิทักษ์สันติภาพระหว่างกัน, ประกันเสรีภาพการเผยแผ่ศาสนาให้กับคณะมิชชันนารีฝรั่งเศส, และอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนทางการค้า. ทูตคณะนี้(ปี1861) ได้รับการต้อนรับอย่างมเหาฬาร เป็นเสียงก้อง สะท้อนไปถึงชื่อเสียงของคณะทูตสยามปี 1686 ที่ได้เข้าเฝ้าเบื้องพระพักตร์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14.
    นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ความละเอียดบรรจงในการเสนอภาพบุคคลสำคัญๆที่ปรากฏตัวในพระราชพิธีวันนั้น ทำให้สามารถเจาะจงชื่อขุนนางข้าราชการในราชสำนักของพระเจ้านโปเลียนที่สามได้ถึง 80 คน. จิตรกรได้รับการยกย่องว่าบันทึกเหตุการณ์การพบกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออกไว้ได้อย่างถูกต้อง ทำให้หวังได้ว่าสัมพันธไมตรีจักแน่นแฟ้นต่อไปชั่วกาลนาน.

บันทึกรายงานตามข้อมูลจากฝรั่งเศส
มิได้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน (โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์)
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๑. 
--------------------------
ใครคือ Isabelle Landry-Deron?
Isabelle Landry-Deron เป็นนักวิจัยด้านวรรณกรรมจารึกของคณะบาทหลวงเยซูอิตในประเทศจีนในระหว่างศตวรรษที่ 17 และ 18, การค้นพบข้อมูลและการกระจายความรู้เกี่ยวกับจีน การทำดัชนีงานเขียนของคณะมิชชันนารีในต่างแดน. เธอมีผลงานที่พิมพ์เป็นหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประเทศจีน. ปัจจุบันยังเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับจีนศึกษายุคสมัยใหม่และสมัยปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาขั้นสูงด้านสังคมคมศาสตร์(กรุงปารีส) (Ecole des hautes études en sciences sociales หรือชื่อย่อๆว่า EHESS).
(ดูเหมือนเป็นผู้ที่เข้าถึงจารึกและหนังสือของบาทหลวงมิชชันนารีฝรั่งเศสในประเทศจีน. ไม่พบเอกสารยืนยันว่ามีความรู้เรื่องเกี่ยวกับสยามประเทศโดยตรง ยกเว้นจากบันทึกของบาทหลวงเยซูอิตที่ไปสยามเท่านั้น)
Isabelle Landry-Deron ได้อ้างถึงข้อความในบันทึกของบาทหลวงเกี่ยวกับประเทศจีนสมัยราชวงศ์หมิง, การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างจีนกับยุโรปในยุคของบาทหลวงเยซูอิตชาวอิตาเลียนชื่อ Matteo Ricci [หมัดเต๊โอ๊ หริดฉิ] (1552-1610) ผู้นำคำสอนไปเผยแผ่ในจักรวรรดิจีนในศตวรรษที่ 16. 
Matteo Ricci อาศัยอยู่ในประเทศจีนเกือบสามสิบปี เขาเป็นผู้ริเริ่มสานความเข้าใจอันดีระหว่างจีนกับตะวันตก. ท่าทีและจุดยืนของเขา เริ่มด้วยการยอมรับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศที่เขาไปอยู่ ทำให้เขามีโอกาสเข้าถึงพื้นที่ภายในของประเทศจีน ที่ปกติปิดสำหรับคนต่างชาติ (เปิดให้เข้าไปได้แค่บริเวณท่าเรือเพื่อการแลกเปลี่ยนค้าขายเท่านั้น). แต่เดิมมานั้น พวกมิชชั่นนารีที่ไปประเทศจีน พยายามเอาขนบธรรมเนียมตะวันตกไปใช้กับคนจีน อีกทั้งใช้ภาษาละตินในพิธีการศาสนา. การเปลี่ยนท่าทีดังกล่าวในหมู่นักบวชชาวคริสต์ผู้ประสงค์จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในจีน, การให้บาทหลวงเรียนภาษา วรรณกรรม และขนบธรรมเนียมของจีน, และการใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์ต่อชุมชนชาวจีน ทำให้เอาชนะจิตใจของคนจีนได้(แทนการเทศน์อะไรๆที่ชาวจีนไม่เข้าใจหรือให้เชื่อในสิ่งที่ตามองไม่เห็น). ด้วยวิธีการนี้เอง ชาวจีนจำนวนหนึ่งยอมรับคริสต์ศาสนา เกิดศรัทธาในใจและเปลี่ยนไปนับถือพระเจ้า(ถึงกับยอมตายแม้ถูกกดขี่บังคับจากทางการจีน).
----------------------------