Monday 2 December 2019

Listen to colours


มองสีเป็นเสียง 
        นีล ฮาร์บิสสัน (Neil Harbisson) เกิดในปี 1984 เป็นชาวไอริช (เหนือ) โดยกำเนิด. ตาบอดสีตั้งแต่เกิดและเห็นทุกอย่างเป็นสีเทาๆดำๆเหมือนกันหมด (ศัพท์แพทย์ achromatopsia หมายถึงการมองไม่เห็นสีหนึ่งสีใดสีเดียว หรือมองเห็นทุกสีเป็นสีดำๆเทาๆ ซึ่งเท่ากับเป็นตาบอดสีอย่างสิ้นเชิง). เป็นกรณีหนึ่งในร้อยที่เกิดกับคน. ดังนั้น เขาจึงไม่เคยเห็นสีอะไรเลย ไม่มีประสบการณ์เรื่องสี ไม่รู้ว่าสีเป็นอย่างไร. ท้องฟ้าสีเทา ดอกไม้ทุกดอกสีเทาๆ ทีวีสีก็เป็นทีวีภาพขาวดำเสมอ. เขาอยู่มาในสภาวะเช่นนี้ และสำเร็จการศึกษาจาก Darlington College of Art (UK).
         เมื่ออายุ 21 ปี ได้ทำความรู้จักกับ Adam Montandon (cyberneticist) และต่อมากับ Peter Kese ทั้งสามได้คิดออกแบบอุปกรณ์ขนาดเบาสวมบนหัว และติดเครื่องเซนเซอร์ (sensor) ที่แปลงความถี่ของสี(สีคือคลื่นแสง)ให้เป็นความถี่เสียง. อุปกรณ์นี้ มีชิป (chip) ฝังเข้าไปในหัวด้านหลังตรงท้ายทอย ด้านนอกติดเสาอากาศที่พาดโค้งตามรูปหัวไปยังด้านหน้าถึงระดับของดวงตา เครื่องเซนเซอร์ติดอยู่ตรงปลายเสาอากาศ. เขาเรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้ของเขาว่า eyeborg. เสาอากาศนี้จับสี(คลื่นแสง) แล้วแปลงคลื่นแสงให้เป็นคลื่นเสียง. คลื่นความถี่ของเสียงผ่านไปตามตัวนำ(ระบบกระดูกในหัว) สู่หูชั้นในของเขา ทำให้นีล ได้ยินสี”.  ทุกคนรู้กันดีแล้วว่า สีต่างๆมีความยาวคลื่นไม่เท่ากัน  ดังนั้นในตอนแรก นีลต้องจดจำคลื่นความถี่ที่ได้ยิน เป็นโน้ตเสียงแบบไหนตรงกับสีอะไร. โน้ตที่เขาได้ยิน มีตั้งแต่โน้ตเสียงต่ำที่สุด ที่คือสีดำๆ ไปจนถึงโน้ตเสียงสูงๆที่ตรงกับสีม่วง. กล้องที่ติดกับเสาอากาศบนหัวเขานั้น ยังมีสมบัติรับคลื่นแสงที่ละเอียดกว่าสเป็กตรัมการมองเห็นของคนสายตาปกติ เช่นนี้ทำให้นีลรับรู้แสงอินฟราเรด (infrared) และแสง (ultraviolet) ได้ เกินกรอบสมรรถภาพของคนตาปกติ.  ตั้งแต่นั้น มองไปทางไหน เขาได้ยินสีต่างๆตลอดเวลา. เสียงของสีต่างๆท่วมท้นหูเขา (ถ้าเป็นเราๆ คงน่ารำคาญไม่น้อย หากเราปิดหูไม่ฟังไม่ได้. สำหรับนีล เขาต้องปิดตาแทน).  เช่นนี้ เขาสามารถรับรู้ความแตกต่างของสีทั้งหลายในโลก. ต่อมาในปี 2013 ด้วยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์หลายคน ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคกับเสาอากาศของนีล มีศักยภาพสูงขึ้นอีก นั่นคือการเป็นอินเตอเน็ตไร้สายในหัวของเขาเอง รวมทั้งการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรคมนาคม เช่นรับโทรศัพท์ได้ในหัวเขาเลย.


ความเคยชินกับการฟังเสียงจากสีต่างๆ ในที่สุด กลายเป็นทักษะอัตโนมัติของนีล เขาได้ยินเสียงของสีต่างๆตลอดเวลา และรู้ทันทีว่าคือสีอะไร. ประสบการณ์และทักษะ ยังทำให้เขารับรู้สีต่างๆจากที่ห่างไกลออกไปได้ และเมื่อเชื่อมต่อทางแซ็ตเตอไลท์ ทำให้เขาส่งสี(คลื่นแสง)ต่างๆไปในอวกาศได้. (Ref. TED talk)
         นีลเล่าว่า เขาเริ่มฝันเป็นสีๆ. เขารู้สึกว่าซอฟแวร์และสมองของเขา ได้ผนึกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำงานด้วยกัน, เพราะในความฝัน สมองเป็นผู้สร้างเสียงอิเล็กทรอนิค ไม่ใช่ซอฟแวร์แล้ว.  เขาไม่รู้สึกว่า เขาใช้หรือสวมอุปกรณ์เทคโนโลยี. และนั่นทำให้เขาตระหนักว่า เขากลายเป็นอุปกรณ์ไซบอร์กอย่างหนึ่งแล้ว เขาไม่ได้ใช้เพียงชิ้นส่วน เครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิค  มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเขาไปแล้ว  เป็นส่วนต่อขยายของประสาทสัมผัสของเขา และในที่สุด กลายเป็นอัตลักษณ์ เป็นตัวตนของเขาอย่างแท้จริง และตัวเขาเอง คือ เทคโนโลยี.
         ชีวิตของนีลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อเขามีศักยภาพในการสัมผัสรับรู้เสียงจากสี จากทุกอย่างรอบข้าง. การมอง การตอบโต้หรือตอบสนองสิ่งเร้ารอบตัวก็เปลี่ยนไป. เช่น วิธีการแต่งตัว เมื่อก่อนเขาเลือกสวมเสื้อผ้าเพื่อให้ตัวเองดูดี (look good) เดี๋ยวนี้เขาแต่งตัวเพื่อให้ฟังดี (sound good). เขาเลือกสวมเสื้อผ้าสีที่เป็นในระดับเสียงของ C major ที่เป็นคอร์ดเสียงที่เบิกบาน(เมื่อออกไปพบเพื่อนฝูง). ถ้าต้องไปร่วมงานศพ เขาเลือกสีที่อยู่ในระดับเสียง B minor ซึ่งเป็นพวกสีเทอก๊อยส์ สีม่วงหรือสีส้ม.
        ในด้านอาหารก็เช่นกัน เดี๋ยวนี้ เขาจัดวางอาหารบนถาด บนจาน จัดอาหารแต่ละสีแต่ละคลื่นเสียง ให้ประสมประสานกันเป็นดนตรีที่ถูกใจ. นี่เท่ากับเขาสร้างดนตรี (ภายในสำหรับเขาเอง) ด้วยอาหาร.  (แต่คนปกติอย่างเราๆ เมื่อไม่อาจได้ยินโน้ตดนตรีจากสีอาหาร เหมือนนีล ฮาร์บิสสัน คงต้องใช้อาศัยเครื่องเสียงจริงๆเพื่อสร้างบรรยากาศ.)
       ประสบการณ์ที่สำคัญยิ่งที่นีลเล่าต่อ คือ การไปหอศิลป์. จิตรกรรมของใครเป็นดนตรีประเภทใด. เช่นเมื่อไปยืนหน้าจิตรกรรมของปิกัสโซ เขาได้ยินดนตรีจากจิตรกรรมนั้น และเมื่อรวมการฟังจิตรกรรมชั้นครูที่มีในหอศิลป์ จึงเหมือนเขาไปฟังคอนเสิร์ต. 
       ประสบการณ์การสัมผัสความงามของเขาก็ไม่เหมือนใครอื่น เช่นเมื่อมองใคร เขาได้ยินเสียงโน้ต (หรือดนตรี) ของคนนั้น. บางคนมองดูสวย แต่ให้เสียงที่ไม่น่าอภิรมย์นัก หรือบางคนหน้าไม่สวย กลับให้เสียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน.  หรือในทางกลับกัน เสียงกริ่งโทรศัพท์ เขามองมันเป็นสีเขียว เพราะมันดังเหมือนสีเขียว(ว่างั้น). เสียงบี๊บๆของ BBC เขาว่าเป็นเสียงสีเทอก๊อยส์. และเมื่อฟังดนตรีโมสาร์ท เช่นดนตรีท่อน Queen of the Night (ในบทอุปรากร The Magic Flute) ที่มีความถี่แตกต่างกันมาก เขาบอกว่าเป็นประสบการณ์สีเหลืองที่ชัดเจนโดดเด่นที่สุด. 
        ประสบการณ์ส่วนตัวแบบนี้ ทำให้เขาเริ่มวาดภาพดนตรี วาดภาพสีของเสียงคน ตามที่เขาได้ยิน เพราะเสียงคนมีความถี่ต่างๆที่เชื่อมตัวเขากับสีต่างๆ.  นอกจากเสียงร้องเพลง คำปราศรัย เขาก็เปลี่ยนให้เป็นสีได้ เช่นคำปราศรัยที่ทุกคนรู้จักดีบทหนึ่ง คือ I have a dream ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง.  เช่นนี้ แทนการวาดใบหน้าของใคร แทนการเสนอภาพบุคลิกหรือรูปลักษณ์ เขาเพียงมองคนด้วยสายตา (ด้วยอุปกรณ์ eyeborg ของเขา) และเนรมิตภาพเหมือนของคนนั้นด้วยเสียง ภาพที่ได้ เป็น sound portrait ของคนนั้น. นีลชอบใจและมีความสุขกับงานศิลป์แบบนี้ของเขามาก. เขายกตัวอย่างว่าภาพเสียงเหมือนของ Nicole Kidman น่าฟัง และภาพเสียงเหมือนของเธอ มีอะไรคล้ายๆกับภาพเสียงเหมือนของเจ้าฟ้าชายชาร์ล.
       การเรียนรู้เรื่องสีเป็นไปตามครรลองนี้ จนในที่สุดนีลรับรู้หรือสัมผัสสีได้ 360 สี เท่ากับคนที่มีสายตาปกติ. แต่เขาคิดว่า ศักยภาพการมองเห็นของคน ยังไม่ดีพอ ยังมีสีอื่นๆอีกจำนวนมากรอบตัวเรา ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่ตาอิเล็กทรอนิคของเขาทำให้นีลเห็นและแยกแยะระดับสีได้ด้วย.  ประสบการณ์รับรู้เรื่องสีของนีล จึงขยายออกไปไกลกว่า และรวมสีอินฟราเรด กับสีอัลต้าไวโอเล็ตเข้าในแผนภูมิ « สีสู่เสียง » ของเขา.  ประสบการณ์ต่างๆของนีลในด้านสี แสง เสียง ได้แปลงความพิการจากตาบอดสี ให้กลายเป็นความชำนาญพิเศษเหนือสามัญชน.
      ในปี 2010 เขาและ Moon Ribas ร่วมกันสถาปนาองค์การนานาชาติ The Cyborg Foundation and the Transpecies Society โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้คนเป็นไซบอร์ก คุ้มครองสิทธิของไซบอร์ก และโปรโหมดระบบไซบอร์กให้เป็นกระแสความเคลื่อนไหวทั้งด้านสังคมและศิลปะ ตลอดจนเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ยืนยันตัวเองว่า ไม่ได้เป็นมนุษย์เต็มตัว (non-human).     
     ในปี 2018 เขาไปปรากฏตัวในการประชุม World Government Summit ที่เมืองดูไบ ปีนั้นมีหัวข้อสัมนาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI).  เขาประกาศเหมือนเรียกร้องสิทธิของการเป็นมนุษย์ไซบอร์ก ว่าตัวเขาเองเป็นคนแรกในอีกหลายๆคนที่จะตามมาอย่างแน่นอนในอนาคต. โลกต้องยอมรับคนที่มีส่วนต่อของร่างกายเป็นอุปกรณ์ประดิษฐ์ด้วยเทคโนโลยี ที่ไม่ใช่อวัยวะจากเลือดเนื้อ (cf. Mirror.co.uk). นีล ฮาร์บิสสัน หวังช่วยให้คนอื่นๆ กลายเป็นไซบอร์ก เพื่อให้ทุกคนขยายประสบการณ์การสัมผัส(โลก)ให้ไกลออกไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เป็นส่วนต่อส่วนหนึ่งของร่างกายคน. เขาย้ำว่า ทุกคนรู้แล้วมิใช่หรือ ว่าความรู้ทั้งหลายของคน มาจากประสาทสัมผัสของคน, หากคนขยายศักยภาพด้านนี้ออกไป เท่ากับขยายความรู้ออกไปด้วย. ถึงเวลาที่คนต้องหันมาสร้างสรรค์แอพพลีเคชั่นสำหรับใช้กับร่างกายคน แทนการหมกมุ่นอยู่กับการสร้างแอพพลีเคชั่นสำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ.  เขาแน่ใจว่านั่นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้.

            ประสบการณ์ของนีลในการรับรู้สีและโลกรอบข้าง เป็นสิ่งที่สามัญชนปกติเข้าไม่ถึง และจะตามไปพิสูจน์สิ่งที่เขาเล่าก็ไม่ได้  แต่จินตนาการอาจช่วยให้ติดตามวิธีมอง วิธีคิดของเขาไปได้บ้าง.          

            ชีวิตและประสบการณ์ของนีล ฮาร์บิสสัน ยิ่งย้ำว่ามนุษย์ที่เราเป็นวันนี้ ยังไม่ใช่แพ็ตเติ้นสุดท้าย ร่างกายคนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้แทบจะ made-to-order ตามความต้องการของคน. นับวัน มีอุปกรณ์อนินทรีย์หรือชิ้นส่วนจากโลหะธาตุ เข้าร่วมในการธำรงชีวิตของคนเรามากขึ้นๆ เช่นแขนขาเทียม ในไม่ช้าก็จะมีหัวใจเทียมทั้งดวง. คงไม่ยากนักที่เราจะอยู่กับมนุษย์ไซบอร์กแบบต่างๆ และเมื่อถึงเวลา ก็อยู่กับมนุษย์หุ่นยนต์ทุกประเภทได้ในที่สุด. ตอนนี้หวังเพียงว่าบริษัททำหุ่นยนต์ ต้องสร้างซอฟแวร์คุณธรรมแบบต่างๆ(จากทุกศาสนา)ลงไปให้หุ่นยนต์ด้วย.
แต่เราคงไม่อยู่รอเพื่อนหุ่นยนต์หรอก...

โชติรส รายงาน
๒ ธันวาคม ๒๕๖๒.
สนใจติดตามไปฟังเรื่องเล่าของ Neil Harbisson ได้ตามตัวอย่างสองลิงค์ข้างล่างนี้


ดูแผนภูมินี้ จะเข้าใจวิสัยทัศน์ของนีล ฮาร์บิสสัน จากสีเป็นแสงเป็นโน้ตดนตรี