Thursday 12 June 2014

กงล้อชีวิต กงล้อโชคลาภ - The wheel of fortune

บทส่งท้ายจากบัลเกเรีย >>> กงล้อชีวิต กงล้อโชคลาภ
อีกหัวข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับภาพเฟรสโก้ในบัลเกเรีย (ที่โรเมเนียไม่เห็นแบบนี้นะ) คือภาพกงจักรชีวิตดังภาพนี้ที่ Rila Monastery
         กงล้อชีวิตที่ Rila Monastery ประเทศบัลเกเรีย  (ขอแทรกตรงนี้ว่า เฟรสโก้ที่นั่น ดูสดสวยหลากสีสันเพราะเป็นผลงานบูรณะใหม่ในศตวรรษที่ 19 ในขณะที่วัดอารามที่เห็นในโรเมเนียนั้นเป็นเฟรสโก้เก่าตั้งแต่ยุคกลาง และไม่เกินยุคศตวรรษที่ 16) ตามปกติในศิลปะ กงล้อหมุนจากซ้ายไปขวาแบบทวนเข็มนาฬิกา ใจกลางภาพเป็นรูปผู้หญิง คือราชินีแห่งโชคลาภ เรียกกันว่า Queen of Fortune (Fortuna)  
รายละเอียดในภาพล่างนี้ เห็นชัดว่า มีเชือกติดกงล้อ ด้านซ้ายมีเทวทูตทำปีกเหมือนพัดให้เชือกม้วนตัวเข้าเป็นวง เห็นคนตัวเล็กบนกงล้อที่ปีนขึ้นไปตามล้อ มีเลข10กำกับอายุเหนือหัวคนที่สอง และเลข 20 กำกับคนที่สาม เมื่อขึ้นถึงจุดสูงสุดกึ่งกลางวงล้อ คนนั้นมีอายุกำกับไว้ว่า 30 แล้วก็คลานลงสู่อายุ 40  มีเทวทูตทำปีกปัดให้ล้อหมุนลง คนบนล้ออายุ 50 แล้ว  เชือกบนล้อตกลงเป็นขดๆลงไปข้างล่าง  เห็นร่างตัวดำๆเอาแท่งยาวๆจี้ไปที่ล้อให้หมุนต่อไป  คนบนล้อหัวทิ่มลง มีเลขกำกับไว้ว่า 60  กำลังลงสู่โลงเปล่าที่วางคอยอยู่.  
         วงกลมที่ล้อมรอบราชีนีแห่งโชคลาภแบ่งเป็นสี่ส่วน แสดงสี่ฤดู  ฤดูทั้งสี่จัดทวนเข็มนาฬิกา จากขวาไปซ้ายและจากบนไปล่าง  จึงต้องอ่านจากมุมบนขวาที่เป็นฤดูใบไม้ผลิ ภาพต้นไม้ใหญ่มีดอกไม้สีขาวๆแผ่เต็มทุกกิ่ง (ทำให้นึกถึงต้น acacia ที่มีมากในภูมิประเทศแถบนั้น)  ต่อไปทางซ้ายคือฤดูร้อน เห็นทุ่งนาข้าวสีทอง  ลงไปมุมซ้ายล่างเป็นฤดูใบไม้ร่วง คนสวมเสื้อคลุมตัวใหญ่มีหมวกปิดกันลม มือถือไม้ท่อนเล็กและยาว เห็นฝูงสัตว์อยู่ข้างหลัง มีม้าทางซ้ายหนึ่งตัว  นั่นคือภารกิจของชาวนาชาวไร่ยุคนั้น ที่ต้องต้อนฝูงสัตว์ออกไปหากินในป่าในทุ่งให้เต็มที่  เป็นฤดูที่ผลนัททั้งหลายร่วงหล่น เป็นอาหารอย่างดีของสัตว์   สัตว์จะกินจนอ้วน  ปลายฤดูก็จะถูกฆ่า(ไม่ทุกตัว) หมักเกลือ ตากแห้งเป็นอาหารตลอดฤดูหนาว (เช่นขาแฮม ขาแกะ)   ภาพทางขวาล่างคือภาพฤดูหนาว ภาพวาดไว้ชัดเจนว่าหิมะตกหนัก  คนหนึ่งนั่งสวมหมวกหนา มือยื่นไปข้างหน้ากองไฟเพื่อความอบอุ่น เป็นอันว่าจบวงจรชีวิตในหนึ่งปี คอยฤดูใบไม้ผลิปีถัดไป  เนื่องจากภาพนี้ติดขอบเพดานเลย ภาพคนบนกงล้อ นอนราบไปตามกงล้อ

ข้างล่างนี้เป็นภาพกงล้อชีวิตที่ได้เห็นมาอีกแห่งหนึ่ง  มีรายละเอียดมากกว่าภาพจาก Rila Monastery อยู่ที่วัด the church of the Presentation of Virgin Mary (ตั้งอยู่ในเขตชุมชนเก่าของหมู่บ้าน  Varosha ที่เมือง Blagoegrad ประเทศบัลเกเรีย)
ตอนบนของภาพ(ดูข้างล่างนี้)  มีรูปคนหนึ่งนั่งบนบัลลังก์ สวมมงกุฎ 
เพื่อบอกว่าชีวิตมาถึงจุดสูงสุดแล้ว มีทั้งอำนาจและเงินทอง 
ดวงอาทิตย์ประดับอยู่ในมุมซ้ายและดวงจันทร์อยู่ในมุมขวา
บนพื้นหลังสีฟ้า ที่สรุปนัยยะของจักรวาลหรือของโลกในมุมมองของคนบนดิน
ด้านซ้ายของกงล้อ มีคนคอยดึงเชือกเพื่อให้ล้อหมุนไป (ไม่มีเจาะจงไว้ทางด้านขวา)

ตรงกลางกงล้อคือภาพราชินีแห่งโชคลาภ  วงล้อมรอบแรกที่ใกล้ตัวเธอที่สุด เสนอภาพของฤดูทั้งสี่ ที่ต้องอ่านจากซ้ายไปขวา ในวงล้อมที่สองติดกันนั้น เสนอสัญลักษณ์ของดาวจักรราศี หรือกลุ่มดาวสิบสองนักษัตร คั่นด้วยนาฬิกาที่เข็มสั้นหยุดบอกชั่วโมง นอกจากสื่อการหมุนไปของเวลาในแต่ละวันแล้ว ยังสอดคล้องกับเวลาในช่วงชีวิตของคนๆหนึ่งด้วย ว่าวัยแรกเหมือนยามแรกของวันเช่นนี้ไปจนถึงวัยแก่ที่อยู่ในช่วงค่ำคืน ดูรายละเอียดให้เป็นตัวอย่างของการอ่านภาพในคริสต์ศิลป์ดังต่อไปนี้ 
(การอ่านภาพต้องอ่านจากซ้ายไปขวา)  ฤดูใบไม้ผลิ คือการเกิดใหม่ของสรรพชีวิต เข็มสั้นของนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข I  ชีวิตยามเริ่มต้นเหมือนธรรมชาติที่ผลิใหม่  เห็นสัญลักษณ์ของราศีเมษ (กลุ่มดาวแกะ Aries, เดือน 3-4) , ตามด้วยราศีพฤษภ  (กลุ่มดาววัว Taurus, เดือน 4-5) , และราศีมิถุน  (กลุ่มดาวคนคู่ Gemini, เดือน 5-6)  ถัดเข้าไปในวงรี คนหนึ่งนั่งเล่นเครื่องดนตรีประเภทสาย ใบหน้ายิ้มแย้ม มีความสุขที่ธรรมชาติผลิดอกและใบ อากาศดีอีกครั้งหนึ่ง
ฤดูร้อน เข็มสั้นนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข  VI  เห็นสัญลักษณ์ของราศีกรกฎ  (กลุ่มดาวปู Cancer, เดือน 6-7), สัญลักษณ์ของราศีสิงห์  (กลุ่มดาวสิงโต Leo, เดือน 7-8) , และสัญลักษณ์ของราศีกันย์  (กลุ่มดาวหญิงพรหมจารีย์ Virgo, เดือน 8-9)   ใต้ลงไปในวงรี ภาพในทุ่งนา มีผู้หญิง(โพกผม)อยู่ทางซ้ายของภาพ (ในท้องนา ผู้หญิงก็ช่วยงานด้วย และหาอาหารกับน้ำดื่มไว้บริการ)  ถือถ้วยในมือ   คนถัดไปรวบรวมรวงข้าวเป็นมัด  คนกลางเกี่ยวเคียวไว้ที่เอว หยุดพักดื่มน้ำ บอกให้รู้ว่าอากาศร้อน คนทางขวา ถือเคียวในมือทำหน้าที่เกี่ยวข้าวต่อไปให้เสร็จๆ 
ภาพฤดูใบไม้ร่วง  เข็มสั้นนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข  IX ในวงกลมรอบนอกมีสัญลักษณ์ของราศีตุล (กลุ่มดาวคันชั่ง Libra, เดือน 9-10) , สัญลักษณ์ของราศีพฤศจิก (กลุ่มดาวแมงป่อง Scorpio, เดือน 10-11) , และสัญลักษณ์ของราศีธนู (กลุ่มดาวคนถือธนู Sagittarius, เดือน 11-12)   เมื่อฤดูเกี่ยวข้าวสิ้นสุดลง เป็นฤดูเก็บผลไม้  ในวงรีทางซ้าย เห็นบันไดพาดบนต้นไม้ที่มีผลไม้เต็มต้น (น่าจะเป็นต้นแอปเปิล)  คนหนึ่งยืนอยู่บนบันได  อีกคนหนึ่งยืนอยู่ข้างตะกร้าที่มีผลไม้เต็มแล้ว เธอถือไม้ด้ามยาวในมือ อาจใช้เพื่อช่วยเกี่ยวผลไม้ให้หลุดจากกิ่ง
ฤดูหนาว เข็มสั้นนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข  XII ในวงกลมรอบนอกมีสัญลักษณ์ของราศีมกร  (กลุ่มดาวมังกร Capricorn, เดือน 12-1) , สัญลักษณ์ของราศีกุมภ์ (กลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำ Aquarius, เดือน 1-2) , และสัญลักษณ์ของราศีมีน (กลุ่มดาวปลา Pisces, เดือน 2-3).  ฤดูหนาวไม่มีกิจการงานในท้องทุ่งนา  อากาศหนาวจัด ต้องก่อกองไฟให้ความอบอุ่น  ชายสูงอายุ มีไม้เท้าคู่กาย นั่งเอามืออังไฟ  ผู้หญิงที่ดูยังสาวนั่งอยู่อีกข้างของกองไฟ  มือหนึ่งถือกงม้วนด้าย อีกมือหนึ่งถือกรอด้าย  เพื่อบอกว่า ฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาทำงานเย็บปักถักร้อย  กรอด้ายจากขนแกะ เพื่อนำมาถักเป็นเสื้อผ้าสำหรับทุกคนในครอบครัว  ตรงตามหน้าที่ที่พระเจ้าบอกว่าผู้หญิงจะต้องเลี้ยงลูกและทอผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย   ส่วนผู้ชายก็ต้องทำไร่ไถนาเพื่อหาเลี้ยงชีพ 
            วงจรชีวิตของชาวนาในแต่ละปี เป็นไปตามการหมุนเวียนของเดือนและตะวัน ของฤดูกาล และฤดูกาลก็หมุนไปตามการหมุนของโลก เห็นกลุ่มดาวต่างๆในท้องฟ้า  จากชั่วโมงเป็นวัน เป็นเดือน เป็นฤดู เป็นปี เป็นวงจรเช่นนี้ไปไม่สิ้นสุด  กงล้อวิถีชีวิตของคน รวมอยู่ภายในของกงล้อรอบใหญ่ที่กำหนดหนึ่งชั่วชีวิต เน้นการเติบโตจนถึงขีดสูงสุด แล้วก็ต้องเหี่ยวเฉาและตายลงไปในที่สุด  ภาพเฟรสโก้รูปนี้ จึงอาจมองต่อไปได้ในเชิงคริสต์ศาสนาว่า เพื่อที่คนจะเกิดใหม่อีก เฉกเช่นธรรมชาติพืชพรรณนั้น  คนอาจต้องมีศรัทธาในพระเจ้า เพื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว ก็อาจฟื้นคืนชีวิตใหม่ได้ในอาณาจักรของพระเจ้า  การปฏิบัติหน้าที่ของตนบนโลกด้วยความหมั่นเพียรไม่ท้อถอย  เป็นการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่ง เพื่อให้พระเจ้าพิจารณารับตนเข้าไปในสวรรค์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง
            สำหรับสามัญชน ไม่มีอะไรที่จะตรึงใจพวกเขาและปลุกจิตศรัทธาได้เท่ากับที่วัดเห็นความสำคัญของกิจการงานของพวกเขา ยกย่องเชิดชูขึ้นประดับบนกำแพงวัด อารามหรือโบสถ์  แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คริสต์สาสนาสรรเสริญการทำงาน การลงมือทำงานตามหน้าที่ของแต่ละคน  และสอนให้รู้จักเคารพในงานทุกชนิด ไม่ดูถูกเหยียดหยามชนชั้นแรงงานฯลฯ  ยุโรปพัฒนาประเทศขึ้นมาด้วยอุดมการณ์นี้ และประเทศเยอรมนีเป็นตัวอย่างสุดยอดของความสำเร็จ
            สิบกว่าปีมาแล้ว ครั้งหนึ่งเดินชมเมืองนิวยอร์ค ไปหยุดอยู่ที่แผ่นหิน อ่านข้อความที่จำหลักไว้ว่า
I believe in the supreme worth of the individual and in his right to life, liberty, and the pursuit of happiness.
I believe that every right implies a responsibility; every opportunity, an obligation; every possession, a duty.
I believe that the law was made for man and not man for the law; that government is the servant of the people and not their master.
I believe in the dignity of labor, whether with head or hand; that the world owes no man a living but that it owes every man an opportunity to make a living…etc
            อ่านไม่ทันจบ ต้องไปยืนสะอึกสะอื้นใต้ต้นไม้ เช็ดน้ำมูกน้ำตาแล้วก็กลับโรงแรม  วันรุ่งขึ้นออกไปที่ Rockefeller Center นั้นใหม่ และไปยืนจดทุกคำพูดมาจนครบ (จดเสร็จแล้วจึงรู้ภายหลังว่า ปีนั้นเขาพิมพ์คำพูดและข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับประติมากรรมด้านหน้าของศูนย์นี้ พร้อมแจกให้ทุกคนที่สนใจเลย)   รู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ได้ดลใจ John D. Rockefeller และปลูกฝังจิตสำนึกนี้ในตัวเขาที่มหาเศรษฐีทุกคนควรเอาเยี่ยงอย่าง
            ในบริบทของประเทศเรา คงไม่มีใครอีกแล้วที่จะถูกเหยียบย่ำ ถูกคดโกงเอารัดเอาเปรียบไปยิ่งกว่าชาวนา  แทนการสำนึกบุญคุณของคนที่ปลูกข้าวให้เรากิน ดังที่กวี จิตร ภูมิศักดิ์  เขียนไว้เมื่อปี 2508  ว่า “ เปิบข้าวทุกคราวคำ  จงสูจำเป็นอาจิณ  เหงื่อกูที่สูกิน  จึงก่อเกิดมาเป็นคน...”

            ภาพกงล้อชีวิตหรือกงล้อแห่งโชคลาภนั้น ที่แปลกไปจากแบบที่กล่าวมาข้างต้น เช่นแบบข้างล่างนี้ เป็นภาพวาดในหนังสือจารึกโบราณ รู้รายละเอียดเพียงว่าชื่อภาพ Fortuna  ไม่มีคนคลานบนกงล้อ นอกจากอัศวินคนหนึ่งพร้อมหอกยาวปลายแหลมในมือ อยู่เกือบสูงสุดบนกงล้อ  ความจริงมีรายละเอียดอธิบายคนแต่ละคนที่เรียงรายอยู่ข้างซ้ายและขวาของกงล้อ  แต่เนื่องจากภาพเล็ก มิอาจแกะข้อความที่เขียนกำกับไว้ได้  อีกทั้งเดาว่าเป็นภาษาละตินด้วย 
เมื่อพิจารณารูปคนทั้งหมด จึงคิดว่าน่าจะหมายถึงเจ็ดขั้นตอนของชีวิตคน จึงต้องโยงไปถึง Shakespeare ที่กล่าวถึง seven stages of a man’s life ในบทละครเรื่อง AsYou Like it (Act II Scene VII)  มหากวีเช็คสเปียร์เริ่มด้วยการเจาะจงว่า
“โลกทั้งโลกเป็นเพียงเวทีละคร ชายและหญิงทั้งหลายเป็นเพียงคนแสดง  พวกเขามีบทบาทเข้าๆออกๆ และในชั่วชีวิตของคนๆหนึ่ง เขาอาจต้องเล่นหลายบท  เป็นเจ็ดบทบาทของชีวิต”  
ชีวิตเจ็ดขั้นของคนที่เช้คสเปียร์กล่าวถึงนั้นมีดังนี้ ๑. วัยทารก (infant)  ๒. วัยนักเรียน (schoolboy)   ๓. วัยนักรัก (lover)  ๔. วัยทหาร (soldier)  ๕. วัยที่ใฝ่หาความยุติธรรม (justice) ๖. วัยร้ายและโง่ (pantaloon คำของเช้คสเปียร์เอง)  และ๗. วัยติดเตียงคอยความตาย (the old age facing imminent death)  ให้สังเกตว่า ใต้กงล้อเป็นเทวดากางปีกเหมือนเพิ่งบินลงมาจากเบื้องบน มือสองข้างถือม้วนกระดาษที่คลี่ออกมีคำจารึกไว้ เหมือนเตือนให้คนดูระลึกไว้  ภาพจากซ้ายของเทวดา เห็นทารกห่อหุ้มอย่างอบอุ่นนอนอยู่บนเตียง  ขึ้นไปเห็นเด็กมีสุนัขเต้นอยู่ข้างๆเหมือนอยากเล่นด้วย เด็กชี้นิ้วไปทางขวาเหมือนบอกทิศทางว่าต้องไปโรงเรียนแล้ว  เหนือขึ้นไปเป็นหนุ่มมีนกเกาะที่มือ อีกมือหนึ่งถืออะไรไว้  น่าจะสรุปได้ว่า เขียนจดหมายรักและจะให้นกนำสารรักไปส่ง  เหนือขึ้นไปอัศวินท่าแข็งขันพร้อมหอกด้ามยาวในท่าพร้อมที่จะโยนพุ่งไปยังศัตรู  ถัดมาในด้านขวาของภาพ ตอนบน คนนั่งบนโต๊ะหนังสือ เหมือนกำลังพิจารณาคดี  ใต้ลงไปคนหลังค่อมถือไม้เท้า ค่อยๆพยุงตัวเดินไป  ใต้ลงมาเห็นคนหนึ่งนอนแผ่อยู่บนเตียง ผ่ายผอมจนเห็นซี่โครง คอยวันตาย 
           กงล้อพร้อมวงจรชีวิตตามอายุ มีคนเป็นจุดใจกลางของกงล้อ  มิได้โยงไปถึงโชคลาภอะไรเป็นประเด็นเด่น  แม้ภาพนี้มีชื่อกำกับว่า Fortuna   แต่หากคิดอีกที โชคลาภของคนคงมิได้อยู่ที่การมียศฐาบันดาศักดิ์เท่านั้น  การผ่านชีวิตตามวัยต่างๆมาได้ น่าจะเป็นโชคเป็นลาภแบบหนึ่ง  ขึ้นอยู่ว่า ณจุดสุดท้ายของชีวิต แต่ละคนนึกถึงชีวิตที่ผ่านมา แล้วรู้สึกเห็นค่าของชีวิตที่ได้ใช้ไปไหม หรือยังคงไม่รู้อยู่นั่นแหละว่าเกิดมาทำไม  ยังคงเสียดายอะไรอีกไหม หรือเสียใจที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า  คิดตามแนวคริสต์หรือแนวพุทธ ชีวิตที่เกิดมาเป็นคน เป็นโชคมหันต์แล้ว  ชีวิตนี้สั้นนัก อย่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

            ภาพกงล้อแห่งโชคลาภเป็นหนึ่งในภาพยอดนิยมที่ประดับไพ่แทโร (Tarot) ซึ่งศิลปะร่วมสมัยได้ประดับไว้อย่างหลากหลายน่าสนใจดู แม้เนื้อหาจะไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย  คือความไม่แน่นอนคงเส้นคงวาของโชคลาภ  ยิ่งใช้ประดับไพ่ที่ทำนายทายทักอดีตและอนาคตอย่างไพ่แทโรนี้
ตัวอย่างภาพประดับไพ่แทโรจาก www.donfarrell.deviantart.com   กงล้อนี้มีดวงตาที่แฝงอยู่ด้านหลังกรอบวงกลมที่สวยเหมือนเหล็กดัด เป็นดวงตาดวงใหญ่สีฟ้า เหมือนแอบมองพฤติกรรมของทุกคนอยู่  มีผู้หญิงด้านซ้ายเป็นผู้หมุนกงล้อ ด้านขวามีมารทะเล เรือลำหนึ่งจมอยู่ก้นทะเลแล้ว อีกลำหนึ่งขนาดใหญ่กว่า ยังโลดแล่นไปบนน่านน้ำ  ดูแล้วทำให้เห็นชัดเจนว่า ชีวิตคนก็อาจเหมือนเรือที่อยู่กลางทะเล  ลมดีคลื่นสงบก็ไปได้ฉุย  แต่พายุเมฆฝนก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ตามที่คนเขาเตือนไว้ คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล  ในภาพนี้ เมฆดำแผ่ทะมึนตอนบนของภาพหลังฝั่งทะเลที่เห็นไกลออกไป  คงมาถึงตรงหน้าในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า  เรือจะไปถึงฝั่งก่อนไหม  ชีวิตคือการตัดสินใจในแต่ละนาที
            มาถึงจุดนี้ของบทความ ต้องย้อนกลับไปเอาเรื่อง “แผ่นดินกระเทือน อารมณ์สะเทือน” ที่อยู่ในบล็อกมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2014 ที่เป็นประสบการณ์ตรงและสดๆจากญี่ปุ่น  ในที่สุดนำมาผนวกไว้ต่อไปข้างล่างนี้ รวมกันไปเป็นเรื่องเดียวกันเลย

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็อกวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘..
แผ่นดินกระเทือน อารมณ์สะเทือน 

การคุ้นเคยกับอะไรๆตามวิถีญี่ปุ่น มีข้อดีที่ ช่วยให้รู้จักพอเพียงในสถานะของตัวเอง  การไปอยู่ในห้องคับแคบของโรงแรมในญี่ปุ่นเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ทำให้รู้ว่า จริงๆแล้วคนเราไม่จำต้องมีพื้นที่มากมายเพื่อดำรงชีวิตในแต่ละวัน  พื้นที่เล็กๆแคบๆ สอนให้รู้จักจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ ให้เข้ามุม เข้าใต้โต๊ะ อะไรจะไว้ตรงไหน อะไรใช้ไม่ใช้  อะไรควรเก็บ ไปญี่ปุ่นบ่อยๆ อาจ ช่วยให้ปล่อยวางอะไรต่ออะไรออกไปได้ง่ายขึ้นอีก โดยเฉพาะเมื่อมีประสบการณ์กับแผ่นดินไหวบ่อยเข้าๆ

 ครั้งนี้เช่นกัน  สองวันหลังจากที่ไปถึงโตเกียว ตกเย็นถอดเสื้อผ้าเตรียมตัวจะอาบน้ำ  แผ่นดินไหวขึ้นมา ตาเห็นชัดๆเลยว่า กำแพงห้องเอนออกไปขวาราวสิบองศา แล้วกลับมาหยุดณที่เดิม  เอาละสิ ทำอย่างไรดี  ข้าพเจ้ารีบแต่งตัว ใส่เสื้อผ้าก่อนอื่น มิใช่จะวิ่งหนีไปไหนหรอก คิดเพียงว่า ไม่อยากตายอนาจาร  มองดูโต๊ะหรือเตียง ไม่มีทางที่ข้าพเจ้าจะพับหรือขดตัวให้แบนเหมือนท่อน้ำของหน่วยอัคคีภัย ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะหรือใต้เตียงได้เลย  คิดดังนั้นเลยขึ้นเตียงนอนพนมมือสวดมนต์ซะ  คืนนั้นเป็นอันว่าไม่ต้องอาบน้ำ เพื่อเตรียมรับ aftershock ที่จะตามมา  ห้านาทีผ่านไป โทรทัศน์ที่เปิดทิ้งไว้ จึงขึ้นประโยครายงานแผ่นดินไหว และบอกว่าไม่มีอันตรายของสึนามิ   ญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์แผ่นดินไหวอย่างโชกโชนและต่อเนื่องมาตั้งแต่ไปตั้งบ้านเรือนบนหมู่เกาะญี่ปุ่น  เขายังมิอาจทำนายล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวคืนนั้น   เกิดขึ้นแล้ว จึงรายงานให้รู้  ไม่มีทางเลยที่ใครจะหนีแผ่นดินไหวไปได้หากอยู่ในจุดใจกลางของการสั่นสะเทือนของเปลือกโลก  ทำใจเสียเถิด หนีไม่พ้น  มีทางเดียวสงบอกสงบใจเตรียมตายเท่านั้น  นี่ถ้าเป็นกรุงเทพฯ กำแพงเอียงเบนไปอย่างนั้น ไม่ทันได้คิดตึกก็คงล้มทับเราเรียบร้อยไปแล้ว  

เมื่อข่าวจบลง รายการที่ปรากฏมาบนจอช่องที่ข้าพเจ้าเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่เดินเข้าไปในห้องโรงแรม  เป็นการถ่ายทอดการแสดงคอนเสริตของวงซิมโฟนีออเครสต้าของ NHK   ไม่รู้ว่าเขาจะแสดงดนตรีอะไร นั่งฟังขณะคอย aftershock บนเตียง  ทันใดนั้นดนตรีโหมโรงดังกระหึ่มขึ้น  ใจสั่นหัวใจเต้นถี่ขึ้นฉับพลันนั้นเลย   

เสียงประสานของนักร้องกลุ่มใหญ่และดนตรีที่กระหึ่มดังขึ้นพร้อมกับคำว่า O Fortuna!  แล้วค่อยๆเบาลงๆ เหมือนความลังเลใจ เหมือนกำลังคลำทาง เหมือนความหวังที่แอบซุกอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ  ความหวังในความสุข ในโชคลาภ และแล้วก็เหมือนความเอือมระอา ความเบื่อหน่ายในความซ้ำซาก ความละเหี่ยใจกับความไม่แน่นอนของชีวิต  แล้วดนตรีก็กระหึ่มขึ้นอีก ดังขึ้นไล่ติดต่อไม่ลดละ ยืนยันชัดเจนว่า ท่านเอ่ย อย่าประมาทไป อย่าทรนงไป  ความสุขสนุกนั้นมันจะจบลง ทุกอย่างจบลง เหมือนกงล้อที่หมุน มีขึ้นแล้วก็มีลง

จิตประหวัดไปถึงครั้งแรกที่ได้ยินดนตรีชุดนี้ที่ปารีส  ตอนนั้น(หรือตอนนี้)ยังไม่มีความรู้ใดๆเกี่ยวกับดนตรีคลาซสิก  ไปกับพี่คนหนึ่ง  ตั๋วนักเรียนที่เขาขายให้นั้น  อยู่แถวบนๆเกือบสุดท้าย ติดกำแพงโรงละคร  ที่นั่งเป็นอัฒจันทร์ใหญ่  นั่งมองดูฝูงคน  ยังไม่รู้หรอกว่า ดนตรีที่เขาจะแสดงมันเรื่องอะไร  พอนักร้องประสานเปล่งคำแรกพร้อมกันว่า O Fortuna! (โอ้โอ๋ โชคลาภ!) อย่างฉับพลันไม่มีปี่มีขลุ่ย ควบคู่ไปกับเสียงกระหึ่มของดนตรีที่รัวตามติดมา  ใจสั่นน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว  มันสะเทือนใจอย่างไรไม่รู้  ทั้งๆที่แน่นอนตอนนั้นจับเนื้อหาของคำร้องไม่ได้หรอก เขาร้องเป็นภาษาละตินด้วย   มันบอกไม่ถูกจริงๆ  ตั้งแต่นาทีนั้นข้าพเจ้านั่งนิ่งฟัง ตัวตั้งตรงไม่ขยับเลยไปจนจบ  ฉับพลันนั้นที่เกิดจิตสำนึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต  ตั้งแต่เกิดถึงอายุยี่สิบต้นๆ พวกเราส่วนใหญ่เบิกบานฝันหวานตามวัยสาว  ไม่มีเวลาหรือโอกาสที่จะคิดเรื่องอื่นใดนอกจากเรื่องเรียนและเรื่องสวย  วัยสาวหรือจะนึกถึงความตาย  นึกเพียงเรื่องแฟนเรื่องรัก  วันนั้นนับเป็นจุดผกผันจุดสำคัญในเส้นทางชีวิตภายในของข้าพเจ้า   เหมือนสังหรณ์ใจว่า เส้นทางชีวิตข้างหน้าจะเผชิญความขึ้นๆลงๆ  ตระหนักถึงหนทางที่ทอดอยู่ข้างหน้าบนถนนในปารีส เหนื่อย หอบกับการขึ้นลงรถไฟใต้ดิน กินไม่อร่อย ทำเองก็ไม่เป็น นึกว่าต้องอดทน ต้องพากเพียรเรียนให้สำเร็จ ต้องมิให้ความผันแปรในกระแสชีวิต เปลี่ยนความตั้งใจในการจะเป็นครูที่ดี  (ตอนนั้นรู้แต่ว่า จะกลับมาสอนฝรั่งเศสที่จุฬาฯ ตามที่ท่านอาจารย์จินตนา ยศสุนทรได้บอกเราไว้)   ตั้งแต่นั้นมา ดนตรีชุด Carmina Burana กลายเป็นสิ่งเตือนใจที่ดีที่สุด ที่ได้สื่อทั้งความตระหนก ความจำนน ความกล้า ความหยิ่งจนถึงการสังเวชตัวเอง   

ดนตรีที่ข้าพเจ้าพูดถึงนี้คือ Carmina Burana ของ Carl Orff  และประโยคแรกเริ่มต้นทันทีคือ O Fortuna!  บทโหมโรงเป็นบทส่งท้ายด้วย  ดนตรีม้วนตัวกลับตามกงล้อแห่งอนิจจา   What a coincident!  เพราะขณะที่ฟังดนตรี แผ่นดินยังไหวกระเทือน  ข้าพเจ้าอาจตายลงไปกับแผ่นดินที่กำลังโกรธกระทืบเท้าข่มขู่อยู่  ประสานเสียงฉาบเสียงกลองเสียงแตรที่ดังกระหึ่มระทึกใจทุกนาที  คืนนั้นหลับไปพร้อมจิตสำนึกในความหมายของคำที่พระท่านเคยสอนไว้ว่า  วันพรุ่งนี้หรือความตาย ใครจะมาถึงเราก่อน   

ฟังตัวอย่างบทโหมโรง โดยคลิ้กข้างล่างนี้  วาทยากรคือ André Rieuความยาว 5 นาที version นี้เน้น theatrical effect  http://www.youtube.com/watch?v=GD3VsesSBsw

เทียบกับวงดนตรีของญี่ปุ่น ที่มี Seiji Isawa เป็นวาทยากร เป็นดนตรีเต็มชุด  ให้ฟังอย่างน้อย 15 นาทีของบทโหมโรง http://www.youtube.com/watch?v=n-DgS75lfmw 

ส่วนลิงค์ข้างล่างนี้ มีเนื้อร้องให้เป็นภาษาละติน และบทแปลเป็นภาษาอังกฤษ  เป็นดนตรีเต็มชุดเช่นกัน  ไม่เห็นนักร้องนักดนตรี ฟังตอนต้นเบื่อก็ให้เร่งไปเปิดฟังตั้งแต่นาทีที่ 53 เป็นต้นไปจนจบ  สุดยอดของความรู้สึกต่างๆผนึกเข้าไว้ในนั้น  http://www.youtube.com/watch?v=AO8tZXvFF94

ลิงค์นี้รู้สึกน่าสนใจมาก การถ่ายทอดเนื้อหาเพลงไม่เหมือนกันเลยทีเดียว ถ้าฟังไปเรื่อยๆ นักร้องเดี่ยวๆเสียงผู้ชาย สุดยอดเลย ใส๊ใสเหมือนจะทะลุหัวจิตหัวใจถึงความคิดยอกย้อยที่ซ่อนอยู่  ถ้าเข้าใจถูก เป็นวงดนตรีของประเทศเบลเยี่ยม(ใช้ภาษา Flemish)  แสดงที่เมือง Antwerpen ในเบลเยี่ยม เปิดไปฟังตั้งแต่นาทีที่ 50 เป็นต้นไป  Outstanding!  http://www.youtube.com/watch?v=MPjy55Y6hWU 

เนื้อเพลงของบทโหมโรง O Fortuna! จาก Carmina Burana  
(ภาษาละตินและภาษาอังกฤษ)

O Fortuna
velut luna
statu variabilis,
semper crescis
aut decrescis;
vita detestabilis
nunc obdurat
et tunc curat
ludo mentis aciem, egestatem,
potestatem
dissolvit ut glaciem.  

Sors immanis
et inanis,
rota tu volubilis,
status malus,
vana salus
semper dissolubilis, obumbrata
et velata
michi quoque niteris; nunc per ludum
dorsum nudum
fero tui sceleris.

Sors salutis
et virtutis
michi nunc contraria, est affectus
et defectus
semper in angaria.
Hac in hora

sine mora
corde pulsum tangite; quod per sortem
sternit fortem,
mecum omnes plangite!

มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ดังนี้:-
O Fortune,
like the moon
you are changeable,
ever waxing
and waning;
hateful life
first oppresses
and then soothes
as the sharp mind takes it;
poverty
and power
it melts them like ice.

Fate – monstrous
and empty,
you whirling wheel,
you are malevolent,
well-being is vain
and always fades to nothing,
shadowed
and veiled
you plague me too;
now through the game
I bring my bare back
to your villainy.

Fate – in health
and virtue –
is against me,
driven on
and weighted down,
always enslaved.
So at this hour
without delay
pluck the vibrating strings;
since Fate
strikes down the strong man,
everyone weep with me! 
 


ที่มาและเนื้อหา

ชื่อ Carmina Burana ใช้เรียกจารึกบทกวี 254 บทกับบทละครที่แต่งขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 บางส่วนมาจากศตวรรษที่ 13 เนื้อหาของจารึกเล่มนี้ อาจแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มคร่าวๆ อันมี
๑.  บทกวีเชิงศีลธรรม เน้น human conditions และบทกวีเย้ยหยันเสียดสีความฉ้อฉลต่างๆที่เกิดขึ้นในวงการศาสนา (55 บท)
๒. บทกวีเกี่ยวกับความรัก และบทเพลงสดุดีฤดูใบไม้ผลิ (131 บท)
๓. บทเพลงชาวบ้านที่มักร้องกันในยามกิน ยามดื่มหรือยามพนัน (40 บท)
๔. บทละครเรื่องยาวเชิงจิตวิญญาณ (2 บท)
ที่สรุปรวมอยู่ในคำเด่นสองคำคือ ชะตากรรม และโชคลาภ 

บทกวีในจารึกเล่มนี้ แต่งขึ้นเพื่อใช้ร้อง และมีเครื่องหมายดนตรี(แบบสมัยกลาง)กำกับเจาะจงอยู่ด้วย  แต่ Carl Orff มิได้ใช้หรือยึดตาม  จารึกนี้ใช้ภาษาละตินเป็นภาษาหลัก มีคำเยอรมันแทรกบ้าง และมีคำประสมละตินเยอรมันหรือละตินฝรั่งเศสปนอยู่ด้วย  บทกวีทั้งหมดไม่ปรากฏนามผู้แต่ง  เนื้อหาโดยรวมยังสะท้อนให้เห็นลักษณะสังคมในยุคกลางที่ปัญญาชน(ผู้ที่อ่านและใช้ภาษาละติน) เดินทางไปทั่วยุโรป ไปเข้าศึกษาในสถาบัน ไปเข้าฟังวิชาที่เขาสนใจในมหาวิทยาลัยต่างถิ่นต่างแดน  กลุ่มปัญญาชนนี้มักไม่ค่อยลงรอยกับชาวท้องถิ่นนั้นๆ เพราะความสนใจที่ต่างกัน  ปัญญาชนต่างถิ่นทั้งหลายจึงมักรวมกัน  กลายเป็นกลุ่ม “นักศึกษาพเนจร” (Ordo Vagarum หรือ Wandering scholars) ชนกลุ่มนี้แหละที่เป็นผู้แต่ง ผู้ขับร้องบทกวีต่างๆ (ที่ต่อมารวมกันเป็นจารึก Carmina Burana) และเป็นผู้เผยแพร่เองเพราะการเดินทางไปตามสถาบันการเรียนการสอนต่างๆในยุโรป 

ยุคนั้นพวกเขายังมิได้ใฝ่หายศฐาบันดาศักดิ์ เพียงแต่สนุกกับการเล่นคำ เล่นลิ้น เรียนและเล่น กอบโกยประสบการณ์กับแง่คิด จากสังคม จากผู้คนที่พบเห็น โดยทำตัวตามสบาย ไม่เดินตามกฏตามธรรมเนียม  เห็นอะไร คิดอย่างไรก็แสดงออกเป็นบทกวี เป็นคำพูดที่ตรงไปตรงมา ตรงประเด็นทันท่วงที และถูกต้องตามจังหวะเพื่อใช้ร้องใช้แสดงด้วย  ถ่ายทอดทัศนวิสัย  การประชดแดกดันหรือการล้อเลียนคนหรือสถาบันที่พวกเขาไม่ชอบ  บทกวีเป็นภาษาละตินใช้คำกริยาในปัจจุบันกาลทั้งหมด ที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกตรงนั้นเดี๋ยวนั้นได้สมจริง   ภาษาละตินเป็นภาษาของการเรียนการสอน การอ่านการเขียนในยุคกลางนั้นปัญญาชนใช้ภาษาละตินเป็นภาษาหลัก

Carl Orff (1895-1982 นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมัน) ได้เลือกบทกวีจากจารึกเล่มนี้ 24 บท มา เชื่อมโยงเป็นเนื้อหาให้ต่อเนื่องกัน (เป็น libretto สำหรับใช้ร้อง โดยมีปกเป็นภาพกงล้อ ดูภาพข้างล่างนี้) แล้วประพันธ์ดนตรีประกอบ  ประพันธ์ขึ้นในระหว่างปี 1935-36   บทโหมโรงและบทส่งท้ายมีชื่อว่า Fortuna Imperatrix Mundi (แปลว่า เทพแห่งโชคลาภผู้เป็นจักรพรรดินีของโลก)  ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในทันที กลายเป็นหนึ่งในดนตรีคลาซสิกที่แพร่หลายที่สุดในโลกตะวันตก (มีสถิติระบุว่า เป็นดนตรีคลาซสิกที่ใช้บันเลงมากที่สุดตลอด 75 ปีที่ผ่านมาในสหราชอาณาจักร)  และถูกนำไปใช้แทรกเข้าในภาพยนต์จอใหญ่หรือจอเล็ก รวมทั้งใช้ประกอบภาพยนต์โฆษณาด้วย   การทำความรู้จักกับดนตรีชุดนี้ เป็นหนึ่งในความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านในยุโรป  ที่เปิดประตูอารมณ์รุนแรงต่างๆของคน ไปสู่การยอมตนต่อชะตากรรมในที่สุด   

บันทึกประสบการณ์ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณวันที่ 28 พฤษภาคม 2014.

Wednesday 11 June 2014

Beethoven Frieze ที่หอศิลป์ Secession กรุงเวียนนา

ภาพจิตรกรรม Beethoven Frieze ที่หอศิลป์ Secession กรุงเวียนนา
       สหพันธ์ศิลปินชาวออสเตรีย (Vereinigung Bildender Künstler Österreichs) ที่รู้จักกันในนามว่า Wiener Secession [วี้นหนะ เซะเซซีอน ]  หรือบางทีก็ใช้เพียงคำ Secession คำเดียวโดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในออสเตรีย  (คำ secession แปลว่า การแยกตัวออกจากกลุ่ม   เกิดขึ้นก่อนแล้วที่เมืองแบร์ลินและเมืองมิวนิคในเยอรมนี  แต่ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในออสเตรียสร้างความตื่นตัวอย่างยิ่งในวงการศิลปะของยุโรป)  ตั้งขึ้นในวันที่ 3 เมษายน 1897 โดยกลุ่มศิลปินเช่น Gustave Klimt [กุ้สตั๊ฟ คลิ้มตฺ],  Josef Hoffmann [โยเซ็ฟ ฮ้อฟมัน],  Joseph Maria Olbrich [โยเซ็ฟ มารีอา อ้อลบรีฮฺ],  Koloman Moser [โคโลมัน โม้สะ]  และ Carl Moll [คั้ล โมลฺ]) เป็นต้น  จุดยืนของศิลปินกลุ่มนี้คือ การต่อต้านขนบศิลป์และหลักสุนทรีย์ของ Künstlerhaus [กุ๊นสฺหละเฮ้าสฺ] (ซึ่งเทียบได้กับบัณฑิตยสภาแห่งศิลปะของประเทศออสเตรีย) ที่มุ่งเน้นประเด็นประวัติศาสตร์ของงานศิลป์  นั่นคือยึดอุดมการณ์ว่า ศิลปะควรเน้นเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ที่สื่ออำนาจและความยิ่งใหญ่ของประเทศ  ประวัติศาสตร์ถูกมองโดยตลอดว่าเป็นหัวข้อหรือเนื้อหา “สูงส่ง” ที่คู่ควรแก่การสร้างสรรค์ศิลปะ 

          จุดยืนของสหพันธ์ฯตามที่ประกาศออกมาคือ
๑) เปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้แสดงผลงานของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ
๒) เชิญชวนศิลปินดีเด่นชาวต่างประเทศมาสู่กรุงเวียนนา  เปิดโอกาสให้พวกเขามาร่วมในนิทรรศการของสหพันธ์ฯ และ 
๓) ออกวารสารของสหพันธ์ฯอย่างสม่ำเสมอ[1]  คือวารสาร Ver Sacrum [เบรฺ สาครุม]

          ศิลปินกลุ่ม Secession ประกอบด้วยจิตรกร ประติมากร สถาปนิก นักวาดลายเส้น นักออกแบบเครื่องเรือน สิ่งทอ หรือนักออกแบบสิ่งเรียงพิมพ์ (typography) และต่อมารวมทั้งนายช่างฝีมือแขนงต่างๆเป็นต้น  สมาชิกทั้งหมดต่างผละออกจากกรอบและกฎของบัณฑิตยสภาฯ   จิตรกร Gustav Klimt (1862-1918) ได้รับเลือกเป็นประธานของสหพันธ์คนแรก   Hermann Bahr [แฮรฺมัน บารฺ] (1863-1934 ชาวออสเตรีย เขาเป็นนักเขียน นักแต่งบทละคร ผู้กำกับการแสดง นักวิจารณ์ สมาชิกกลุ่ม Secession ถือว่าเขาเป็นเสมือนพ่อทูนหัวของสหพันธ์) ประกาศอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มศิลปิน Secession มิได้ตั้งตนเป็นคู่ปรับของศิลปินรุ่นเก่า  เพียงแต่ต้องการต่อสู้เพื่อยกคุณค่าของศิลปิน  ว่าศิลปินต้องไม่อยู่ในวงจำกัดที่เหล่าพ่อค้าศิลปะเป็นผู้กำหนด เพราะพวกเขาเหล่านั้นโดยเนื้อแท้สนใจเพียงการซื้อขายหากำไรจากศิลปะเท่านั้น  มิได้เป็นศิลปินหรือเข้าใจศิลปะอย่างถ่องแท้  ทั้งยังกีดกันมิให้ศิลปะแบบใหม่ๆเบิกบาน

 เมื่อสมาชิกสหพันธ์ฯมาพบกัน
          ศิลปินกลุ่ม Secession มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและการเผยแพร่ศิลปะสมัยใหม่ในแขนงจิตรกรรมและในศิลปะประยุกต์แบบต่างๆ  เป็นกระแสต้านศิลปะที่ยึดขนบแบบแผนเก่าและต้านกระแสอนุรักษ์นิยมของชนชั้นกลางในยุคนั้น  การปฏิวัติของกลุ่มศิลปิน Secession นี้มีผู้ติดตามและสนับสนุนอย่างล้นหลามทันที  กลายเป็น กระแสศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม   ศิลปินร่วมสมัยของ Klimt ต่างเชื่อและมั่นใจว่าศิลปะเท่านั้นที่อาจช่วยปวงชน  ศิลปะทุกแขนงทุกประเภทจึงต้องร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อบรรลุอุดมการณ์ของสหพันธ์ฯว่า ศิลปะทุกแขนงทุกประเภทมีคุณค่าเสมอกัน โดยที่ศิลปินแต่ละคนมีเสรีภาพเต็มที่ในการรังสรรค์งานของเขา ไม่มีหลักหรือข้อจำกัดใดๆ ไม่มีแบบศิลป์แบบหนึ่งแบบเดียวที่จำกัดศิลปิน   จุดยืนนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่รู้จักกันในนามว่า Secession style  
          สถาปัตยกรรมเป็นแขนงที่โดดเด่นมากที่สุด อาจเป็นเพราะขนาดและที่ตั้งของอาคารสถาปัตยกรรมแนวหน้านี้ ที่โผล่ขึ้นสะดุดตาในกรุงเวียนนา   การเคลื่อนไหวของกลุ่มศิลปิน Secession ได้เปิดโอกาสให้มีการสร้างอาคาร Secession เพื่อเป็นที่จัดนิทรรศการศิลป์   Joseph Maria Olbrich เป็นผู้ออกแบบอาคาร Secession ที่สร้างแล้วเสร็จภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ตั้งอยู่ใกล้จัตุรัสใหญ่ Karlsplatz [คั้ลสฺปลั้สฺ] กลางกรุงเวียนนา  ในวันที่ 12 พฤศจิกายนปี 1898  ห้องแกลลอรีใหม่ๆภายในอาคารก็พร้อมสำหรับจัดนิทรรศการ  สหพันธ์ฯตอนนั้นได้รับเงินสนับสนุนสำคัญจากเศรษฐีนักลงทุนหรือนักอุตสาหกรรมหลายท่าน (โดยเฉพาะจาก Karl Wittgenstein [คาลฺ วิดเกิ่นฉฺไตน])  ภายในอาคารจัดพื้นที่เป็นห้องโถงแบบเรียบง่ายที่อาจปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบของนิทรรศการประเภทต่างๆได้อย่างสะดวก  จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดนิทรรศการลงได้มาก[2]  ไม่ช้าชาวเวียนนาเรียกอาคารนี้ว่า die Sezession [ดี้ เซะเซซีอน](หรือที่เรียกกันทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า the Secession [สิเซะเฉิ่น])  สถาปัตยกรรมของอาคาร Secession ดูจะเป็นไอคอนที่เหมาะสมและสรุปจุดยืนของสหพันธ์ฯ  บนหน้าบันเหนือประตูใหญ่ จารึกคำพูด  Der Zeit ihre Kunst. Der Kunst ihre Freiheit. ในความหมายว่า  แต่ละยุคมีศิลปะเฉพาะของมัน  ศิลปะนั้นมีเสรีภาพในการแสดงออก


ด้านหน้าของอาคาร Secession ที่จะเป็นหอศิลป์ตั้งแต่นั้นมา  ลูกโลกบนหลังคาปกคลุมด้วยพืชพรรณที่ผลิบานครอบคลุมไปทั่วโลก ใต้ลงมาจารึกอุดมการณ์และจุดยืนของสพหันธ์ศิลปินชาวออสเตรีย เห็นลายดอกไม้ใบไม้สีทอง รับกับต้นไม้สีทองบนหลังคา  เหนือประตูทางเข้าเป็นภาพใบหน้าของหญิงสาวสามคนเหมือนสื่อเทพธิดาผู้ดลใจจิตรกร สถาปนิกและประติมากร  มีงูเลื้อยเชื่อมทั้งสามเข้าด้วยกัน (เน้นแบบลดเลี้ยวเป็นคลื่นเหมือนการเคลื่อนไหวของงู) มีคำจารึกว่า Malerei Architektur Plastik คือ จิตรกรรม สถาปัตยกรรม  ประติมากรรม เน้นความสำคัญของศิลปะสามแขนงนี้บนหน้าบัน (ซึ่งอาจหมายถึงการเป็นอาคารเพื่อนิทรรศการศิลปะสามแขนงนี้เป็นสำคัญ)   ทางซ้ายของภาพ เห็นจารึกชื่อวารสารของสหพันธ์ Ver Sacrum  ลายพืชพรรณยังคงปรากฏบนกำแพงรอบอาคาร Secession   หอศิลป์นี้จึงนี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของสถาปัตยกรรม Jugenstil (สถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ไฟแรง)  ปัจจุบันเป็นอนุสาวรีย์มรดกของประเทศออสเตรีย หมายเลข 30444
อาคาร Secession บนถนน Friedrichstrasse 12, A-1010 Wien

 รายละเอียดบางประการของกำแพงด้านนอกอาคาร Secession
แผ่นศิลาจำหลักปีและชื่อสถาปนิกผู้สร้างอาคาร Secession

ตัวอย่างภาพปกวารสาร Ver Sacrum ฉบับปีที่ 1 เดือนมกราคมปี 1898 ฝีมือของ Alfred Roller (1864-1935)  ต้นไม้ในกระถางเติบโตขยายตัว รากทอดออกจากกระถางที่ปลิออกและจักแผ่ออกทุกทิศทาง (ภาพจากวิกิพีเดีย ที่ http://eyeballin.org/1387824/VER-SACRUM  )

          สหพันธ์ฯ จัดนิทรรศการขึ้นครั้งแรกในปี 1898 ภายในหอศิลป์ Secession ที่สร้างแล้วเสร็จพอดี  หลังจากนั้นก็มีการจัดติดต่อตั้งแต่นั้นมา  โดยเฉลี่ยประมาณ 10 โครงการต่อปี   นิทรรศการแต่ละชุดเป็น “ total work of art หรือศิลปะครบวงจร”[3]  การเลือกรับโครงการใดนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของสหพันธ์ฯ   คณะกรรมการมาจากการเลือกตั้งภายในกลุ่มสมาชิก   กรรมการอยู่ในตำแหน่งสองปี แล้วเลือกตั้งคนใหม่เข้าไปแทน  ทั้งนี้เพื่อขจัดปัญหาที่กรรมการอาจมีแนวโน้มเน้นหรือคล้อยตามรสนิยมส่วนตัวของตนเองหากอยู่ในตำแหน่งนานเกินไป เพราะเท่ากับปล่อยให้กรรมการกุมอำนาจการตัดสินศิลปะนานหรือมากเกินไป  เพื่อจรรโลงความยุติธรรมและความเป็นกลางไว้ให้นานที่สุด กรรมการต้องยึด "ความเป็นศิลปะ" เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินผลงานศิลปะที่ส่งเข้าไป  ต้องยืนยันและปลูกฝังความใจกว้างที่พร้อมจะยอมรับขั้นตอนของการวิวัฒน์พัฒนาของศิลปิน

     นโยบายเช่นนี้จึงส่งเสริมการสร้างสรรค์ภายในประเทศ  ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ศิลปินชาวออสเตรียได้สื่อสารหรือโต้ตอบกับศิลปินนานาชาติ  นิทรรศการที่จัดขึ้นที่หอศิลป์ Secession เปิดกว้างต้อนรับผู้ชมจากทุกมุมโลก  สหพันธ์นี้ได้เปิดโอกาสให้ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ชาวฝรั่งเศสนำผลงานมาร่วมแสดงในนิทรรศการ  เป็นโอกาสให้ชาวออสเตรียได้เห็นผลงานศิลปะของชาวฝรั่งเศสด้วย 

          กรุงเวียนนาในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิออสโตรฮังการี (Austro-Hungary) เป็นกรุงเวียนนาของ Sigmund Freud [ซิกมุนดฺ ฟรอยดฺ][4]  Gustav Mahler [กุซตั๊ฟ มาหละ][5] Arnold Schönberg [อารฺน้อยดฺ เชินแบรฺก][6] หรือ Stefan Zweig [สเต๊ะฟาน สไว้กฺ][7]  เป็นกรุงเวียนนาที่อบอวลอยู่ในเพลงวอลส์ [8]   เป็นยุค “Belle Époque - แบลเลป๊อก”[9]   เป็นกรุงเวียนนาที่ชาวโลกหลงใหลในคุณภาพและความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรม  เป็นเมืองหลวงที่เฉิดฉายสง่างามที่สุดในยุโรป  กลายเป็นเมืองคู่แข่งสำคัญของกรุงลอนดอนและกรุงปารีส  ในกรุงเวียนนายังมีตัวอย่างอาคารสถาปัตยกรรมแนวหน้าที่ยังคงยืนเด่นสง่าเช่น Karlsplatz Stadtbahn Station [คั้ลสฺปลั้สฺ ฉตั๊ดทฺบาน สตะซีโอ๊น]  (สถานีรถไฟที่ Karlsplatz สร้างระหว่างปี 1904-1906)  หรืออาคาร Österreichische Postsparkasse [เอ้อะสฺตะไรฆีเฉ้อะ พ้อดสฺป่าคัดซะ] (อาคารที่ทำการไปรษณีย์ออมทรัพย์แห่งออสเตรีย ที่สร้างขึ้นในระหว่างปี 1904-1906) เป็นต้น

          ศิลปินหลายคนผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้น เช่น Max Klinger [มักซฺ คลิงเงอ], Eugène Grasset [เออแจน กรัสเส้], Charles Rennie Mackintosh [ชาลสฺ เร็นนี แม็กคินท็อฉฺ] และ Arnold Böcklin [อ้ารฺนอยดฺ เบิ้กกลิน].  ต่างมีผลงานแสดงที่หอศิลป์ Secession 

          วันเวลาผ่านไป วิญญาณทัศน์เกี่ยวกับศิลปะในหมู่สมาชิกของสหพันธ์ฯ เริ่มแปลกแยกแตกต่างกันจนมิอาจลงรอยกันโดยเฉพาะกับกลุ่มสมาชิกธรรมชาตินิยม  ความขัดแย้งกันในอุดมการณ์ทำให้ Josef Hoffmann และ Koloman Moser ถอนตัวออกไปตั้งสมาคมวิจิตรศิลป์ (Wiener Werkstätte [วีนหนะ แว้กสเต้ดเทอ]) ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิรูประบบศิลปะประยุกต์ที่ครอบคลุมศิลปะและงานช่างฝีมือ  สองปีต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 1905  Gustave Klimt และศิลปินอื่นๆ ลาออกจากการเป็นสมาชิกของ Wiener Secession

          อาคาร Secession กลายเป็นสัญลักษณ์ของ อารนูโว - Art Nouveau (ยุโรปเลือกใช้คำในภาษาฝรั่งเศส ที่มาจากคำ ศิลปะ + ใหม่  เพื่ออธิบายแนวใหม่ยุคใหม่ของศิลปะ)[10]  เป็นไอคอนของกระบวนการปฏิรูปศิลปะ  และแม้ว่ากระบวนการปฏิรูปศิลปะจะสลายลงไป  อาคาร Secession ยังคงเป็น "วิหารแห่งศิลปะ"  เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้   ปัจจุบันอาคาร Secession ที่กรุงเวียนนาเป็นหอศิลป์อิสระที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก (มีอายุ215ปี)  เป็นที่จัดแสดงศิลปะร่วมสมัย  รายได้ของหอศิลป์ในปัจจุบันมาจากประชาชนผู้เข้าชมที่ต้องเสียค่าผ่านประตู  นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งสมาคม “มิตรของเซะเซซีอน”  ที่รวมสมาชิกถาวรของหอศิลป์นี้ และเป็นผู้บริจาคเงินเป็นรายปีแก่สมาคมฯ  กลุ่มมิตรของหอศิลป์นอกจากศิลปิน ยังรวมนักธุรกิจ  ประชาชนทั่วไป  นักศึกษา เจ้าของแกลลอรีศิลป์ บริษัทห้างร้านและบุคคลแนวหน้าของประเทศ  ทั้งหมดมีความประสงค์เดียวกันอันคือธำรงศักดิ์ศรี  สถานะที่เป็นไทแก่ตัวและอุดมการณ์ของสมาคมฯในปัจจุบันให้สืบต่อไปในอนาคต   กลุ่มมิตรของหอศิลป์ยังช่วยหาทุนและบริการด้านการติดต่อสื่อสารกับนานาประเทศ  จึงเป็นสะพานเชื่อมศิลปะ ธุรกิจและสังคม   

               เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2004 ทางการออสเตรียได้ออกเหรียญที่ระลึก เป็นเหรียญทองราคา 100 ยูโร บนเหรียญประกอบด้วยภาพของหอศิลป์ Secession บนด้านหัว  อีกด้านหนึ่ง(ก้อย)เป็นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรม Beethoven Frieze  คือภาพของอัศวินสวมเกราะผู้เป็นตัวแทนของพลังที่มีอาวุธพร้อมสู้  มีภาพผู้หญิงบนพื้นหลังเป็นตัวแทนของความทะเยอทะยานที่ชูพวงหรีดของชัยชนะ และผู้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนของความเห็นอกเห็นใจ ศีรษะน้อมลงและกำมือ  บนเหรียญราคา 50 เซ็นต์ และเหรียญ 50 ยูโร มีด้านหัวเป็นภาพของอาคาร Secession ภายในวงกลม สัญลักษณ์ของกำเนิดของ อาร์นูโว – Art Nouveau ที่เป็นยุคแปลกแปวกแนวในออสเตรีย 

ประวัติความเป็นมาของภาพจิตรกรรมฝาผนัง Beethoven Frieze

            นิทรรศการที่เลื่องลือมากที่สุดคือนิทรรศการครั้งที่ 14 (1902)  ครั้งนั้น Josef Hoffmann [โยเซ็ฟ ฮ้อฟมัน] เป็นผู้ออกแบบและวางแผนนิทรรศการ  เขาจัดนิทรรศการครั้งนั้นให้เป็นเกียรติแก่นักประพันธ์ดนตรี Ludwig van Beethoven [ลู้ดวิฆฺ วัน เบ๊โทเฟิ่น] (1770-1827) และโดยเฉพาะบทซิมโฟนีหมายเลขเก้าของเขา ที่ Richard Wagner [ริฉาด ว้ากเหนอะ] (1813-1883) ได้บรรเลงไว้และที่ Gustave Klimt ได้ถ่ายทอดเนื้อหาและดนตรีเป็นจิตรกรรมฝาผนังตลอดความยาวบนกำแพงที่ล้อมรอบห้องโถงของอาคาร Secession   นอกจากจิตรกรรมแถบยาวดังกล่าว ประติมากร Max Klinger [มักซฺ คลิงเงอ] ยังได้เนรมิตรูปปั้นเหมือนของ Beethoven  ตั้งแสดงด้วย  พิเศษสุดอีกเช่นกันคือ ในพิธีเปิดนิทรรศการในปี 1902  Gustav Mahler วาทยากรที่โดดเด่นที่สุดของกรุงเวียนนายุคนั้น นำการบรรเลงเพลงซิมโฟนีหมายเลขเก้าของ Beethoven ด้วย  แน่นอนที่สมาชิกสหพันธ์ฯต่างถือว่า Beethoven เป็นตัวแทนของอัจฉริยะยุคใหม่ และทุกคนต่างหวังว่างานศิลป์ของพวกเขาจักเป็นสิ่งที่สามารถกอบกู้และเชิดชูศักดิ์ศรีของศิลปินและโดยปริยายความเป็นมนุษย์ไว้  

           ทำไมกลุ่มสหพันธ์ศิลปินชาวออสเตรีย ยกย่อง Beethoven ว่าเป็นเสมือนตัวแทนของศิลปินยุคใหม่  ทั้งนี้ก็เพราะงานประพันธ์ดนตรีของ Beethoven และโดยเฉพาะซิมโฟนีหมายเลขเก้าของเขา (แต่งในปี 1824 ตอนนั้น Beethoven หูเกือบหนวกสนิทแล้ว)  ผิดแปลกแหวกแนวการประพันธ์ดนตรีที่เป็นขนบยึดถือกันมาจนถึงตอนนั้น  เป็นบทประพันธ์ดนตรีชิ้นแรกที่ผนวกเสียงร้องเข้าไปในซิมโฟนี (เป็น choral symphony)[11]  บทร้องนี้อยู่ในช่วงสุดท้าย (Final Movement)  มีบทขับร้องเดี่ยวสี่เสียง (soloist) เป็นเสียงผู้หญิงสองเสียงและเสียงผู้ชายสองเสียง ทั้งสี่เสียงนี้บางช่วงร้องเดี่ยว บางช่วงร้องคู่ บางช่วงร้องพร้อมกันทั้งสี่เสียง และมีบทรับบทเสริมที่เป็นการขับร้องทั้งหมู่  บทร้องเดี่ยวและบทร้องประสานเสียงที่ก้องกังวาน ยิ่งเร้าความปลาบปลื้มเบิกบานใจจนถึงจุดสุดยอดของความรู้สึก สมเป็นจุด climax ของซิมโฟนีบทนี้  คำร้องที่นำมาใช้ มาจากบทกวีนิพนธ์ชื่อ An die Freude (Ode to Joy) ของ Friedrich Schiller [ฟรี้ดดริ้ก ฉิ้ลเหลอะ] (ชื่อเต็มว่า Johann Christoph Friedrich von Schiller, 1788-1805 ชาวเยอรมัน เป็นกวี ปราชญ์ นักประวัติศาสตร์และนักแต่งบทละคร) ที่แต่งขึ้นในปี 1785 และแก้ไขปรับปรุงใหม่ในปี 1803  Beethoven เองก็ได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงคำร้องด้วยเล็กน้อย[12]  เมื่อรู้เนื้อหาสาระสำคัญและบทจบของซิมโฟนี ทำให้ Gustav Klimt หาวิธีถ่ายทอดเป็นภาพจิตรกรรมดังจะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้  

Ludwig van Beethoven (1770-1827)

            Gustave Klimt รังสรรค์ Beethoven Frieze [เบ้โทเฟิ่น ฟรีซ] เพื่อประดับในห้องโถงอาคาร Secession   ตอนนั้นเป็นที่ตกลงและเข้าใจกันว่า เมื่อนิทรรศการสิ้นสุดลง ภาพนั้นจะถูกย้ายออกและทำลาย  โชคดีอนันต์ที่ภาพมิได้ถูกทำลาย เพราะเกิดข้อตกลงใหม่ในหมู่สมาชิกว่า นิทรรศการครั้งที่ 18 ปี 1903 จะเป็นการแสดงผลงานทั้งหมดของ Gustave Klimt  คณะกรรมการจึงตัดสินอนุมัติให้ปล่อยภาพจิตรกรรม Beetheven Frieze ณตำแหน่งที่ตั้งแสดงในนิทรรศการครั้งที่ 14 ปี1902 ต่อไปอีก 
Gustav Klimt (1862-1918)

            เมื่อนิทรรศการผลงานทั้งหมดของ Klimt สิ้นสุดลงในปี1903  Carl Reinighaus [คาลฺ ไรนิกเฮาสฺ] ผู้อุปถัมภ์ศิลปะและนักสะสม ขอซื้อภาพ Beethoven และให้ตัดภาพแบ่งออกเป็นเจ็ดแปดส่วนอย่างระมัดระวัง  เขานำไปเก็บไว้ในคลังสะสมของเขาในกรุงเวียนนา เก็บอยู่ 12 ปี ในที่สุดขายต่อให้นักอุตสาหกรรมชื่อ August Lederer [เอ้ากุ๊ซ ลี้เดอรา ] ผู้สนับสนุนคนสำคัญที่สุดของ Gustave Klimt และเป็นเจ้าของจิตรกรรมผลงานของ Klimt เป็นจำนวนมาก  เขาเป็นเจ้าของคลังสะสมจิตรกรรมส่วนตัวที่สำคัญที่สุดในยุคนั้น   จึงเป็นผู้ช่วยต่ออายุภาพ Beethoven Frieze ไว้  

            ในปี 1938 ครอบครัว Lederer ประสบเคราะห์กรรมเหมือนครอบครัวชาวยิวอีกจำนวนมากถูกยึดทรัพย์สมบัติ ภาพ Beethoven Frieze ตกอยู่ในมือของรัฐ  ทางการได้ส่งภาพคืนไปยังทายาทของตระกูล (Eric Lederer [เอ๊ริก ลี้เดอรา]) เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเท่านั้น  และได้ส่งภาพไปให้ตระกูลนี้ที่ได้ย้ายไปอาศัยที่เมืองเจนีวาประเทศสวิตเซอแลนด์  สภาพของ Beethoven Frieze ทรุดโทรมมาก ทายาทของตระกูลจึงตัดสินใจขายให้แก่รัฐบาลอสสเตรียในปี 1973 และเข้าเป็นสมบัติของชาติเก็บไว้ที่หอศิลป์ในพระราชวัง เบลเวอเดียร์ (Österreichische Galerie Belvedere)

           คณะกรรมาธิการผู้ดูแลปกป้องอนุสาวรีย์และสมบัติของชาติ ได้แต่งตั้งให้ Manfred Köller [มันฟรี้ด เค้อเหลอะ] ป็นหัวหน้าทีมทำการบูรณะภาพ Beethoven Frieze  ใช้เวลานานถึง 10 ปี  การบูรณะใช้เวลาถึง 10 ปี แล้วเสร็จลงในปี 1983  บูรณะไปเป็นแบบกึ่งจิตรกรรมกึ่งโมเสกโดยใช้วัสดุอื่นๆเข้าประกอบด้วยเช่นปูนขาว  กระจก  เปลือกมุกเป็นต้น. ในปี 1985 เมื่อต้องบูรณะอาคาร Secession  ได้สร้างห้องพิเศษขึ้นในชั้นใต้พื้น พร้อมระบบรักษาอุณหภูมิและความชื้นอย่างคงที่ เพื่อให้เป็นที่จัดแสดงภาพ Beethoven Frieze อย่างถาวรโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายภาพไปที่ใดอีกเมื่อมีนิทรรศการอื่นๆในอาคาร Secession.  ห้องนี้มีขนาดความยาวตามความยาวของภาพ Beethoven Frieze อย่างเฉพาะเจาะจง ไม่มีอะไรอื่นใดในห้อง. บนผนังกำแพงสามด้านของห้องนั้น ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงมีผนังยาวซ้ายและขวาของห้อง ประดับด้วยจิตรกรรมยาวด้านละ 13.92 เมตร และผนังที่แคบอยู่ตรงกลางด้านในที่ยาว 6.3 เมตร ตรงข้ามทางเข้า   ความสูงของจิตรกรรมอยู่ระหว่าง 2.15 ถึง 2 เมตร
ในหอศิลป์ Secession ห้องจัดแสดงภาพ Beethoven Frieze อย่างเฉพาะเจาะจง
และเป็นการถาวร อยู่ชั้นใต้พื้น
         การนำ Beethoven Frieze ไปแสดงที่อาคาร Secession นั้น เป็นการให้ยืมเท่านั้น  รัฐบาลออสเตรียเป็นเจ้าของภาพตั้งแต่ปี 1973 ดังกล่าวมาข้างต้น  ตั้งแต่ปี 1986 ห้องพิเศษนี้เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตามวันเวลาเปิดของหอศิลป์ Secession   ผู้ไปเที่ยวกรุงเวียนนาย่อมแวะไปดูอาคารและภาพ Beethoven Frieze ได้  เป็นจุดสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวผู้ไม่เร่งรีบ และชมนิทรรศการร่วมสมัยอื่นๆได้ในแต่ละวาระ.

วิธีการนำเสนอเนื้อหาใน Beethoven Frieze

           เนื้อหาของ Beethoven Frieze มาจากการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลขเก้าของ Richard Wagner [ริฉาด ว้ากเหนอะ] ที่ Gustav Klimt ถ่ายทอดออกมาเป็นจิตรกรรมแถบยาว (frieze) ถึง 34.14 เมตร รวมกันประดับกำแพงสามด้านในห้องโถงของอาคาร Secession  มีบทบรรยายประกอบสั้นๆที่พิมพ์ออกมาเป็นแคตตาล็อกในปี 1902 (และที่เราแทรกคำอธิบายเพิ่มเติม ให้รายละเอียดมากขึ้นเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้) ดังต่อไปนี้

           เริ่มด้วยกำแพงยาวทางซ้าย  ภาพแรกปรากฏภาพผู้หญิงในท่านอน ตาหลับพริ้มอยู่ ล่องลอยอยู่ในอากาศ  อยู่ติดขอบบนของภาพ  พื้นที่ส่วนใหญ่(มากกว่าครึ่งหนึ่งของความสูง) ของภาพแรกนี้ว่างเปล่าเพื่อบอกสภาพของอากาศและการลอยตัว   ภาพแรกนี้จิตรกรต้องการสื่อความใฝ่ฝันในความสุขของมนุษยชาติ (ใช้ผู้หญิงแทนมนุษยชาติ เพราะผู้หญิงมีนัยของความสามารถในการสืบทอดเผ่าพันธุ์)  ภาพผู้หญิงลอยตัวแบบนี้จะปรากฏสามครั้งในแถบจิตรกรรมอันยาวของ Klimt

ภาพถัดไป เป็นภาพที่ครอบพื้นที่ตั้งแต่ขอบบนถึงขอบล่าง ในแนวตั้งมากกว่าแนวกว้าง  ประกอบด้วย
(จากซ้ายไปขวา) หญิงคนหนึ่งยืนมือประสานกัน ชายหญิงคู่หนึ่งในท่าคุกเข่า ลำแขนเหยียดตรงไปข้างหน้าในทิศทางของอัศวินเกราะสีทอง มือประสานกันในท่าขอร้อง  มือซ้ายของอัศวินกำด้ามดาบขาววาววับ ปลายดาบชี้ลงจรดพื้น มือขวาทอดข้างตัว(เหมือนจับอะไรในมือ).  ด้านหลังของอัศวินเกราะสีทอง มีผู้หญิงยืนอยู่สองคน คนหนึ่งก้มศีรษะลง มือยกขึ้นประสานกันอยู่ใกล้แก้มในท่าฝันหวาน มีความอ่อนโยนในที.  อีกคนหนึ่งมือยกชูพวงหรีดใบรอเร็ลสีเขียวสด  หน้าตาสดใสเหมือนเห็นความหวังที่อยู่ใกล้เอื้อม. ทั้งหมดสื่อความหมายว่า สามคนทางซ้ายแทนมนุษยชาติผู้มีความทุกข์ผู้อ่อนแอ อ้อนวอนขอให้อัศวินช่วย. คนกลุ่มนี้เป็นแรงผลักดันจากภายนอก ในขณะที่ผู้หญิงสองคนเบื้องหลังอัศวิน แทนแรงผลักดันจากภายใน อาจเป็นมโนทัศน์ของอัศวินถึงคนสนิท คนรักหรือคนในครอบครัวที่ฝากความหวังในความสุขไว้ที่เขา  จึงเป็นแรงผลักดันให้อัศวินฮึกเหิมด้วยความเห็นอกเห็นใจและด้วยความทรนงตนในฐานะอัศวินที่จักต่อสู้เพื่อนำสันติสุขมาสู่มนุษยชาติ. ถัดจากภาพแนวตั้งนี้ ก็ยังคงเป็นภาพผู้หญิงในท่านอนหลับตาพริ้ม ล่องลอยอยู่ในอากาศ ใฝ่ฝันหาความสุขในชีวิต  สื่อยุคสมัยนั้นจึงเป็นพื้นหลังของจิตรกรรม. ให้สังเกตว่า Klimt เสนอผู้หญิงทั้งผมทองและผมดำ ที่ทำให้คิดถึงชาติพันธุ์ของประชาชนที่รวมกันภายในจักรวรรดิออสโตรฮังการีในยุคนั้น.

           บนกำแพงกลางที่เล็กลง (6.3 เมตร) มีภาพประดับเต็มตลอดความกว้างความยาวของกำแพง  แบ่งวิธีการอ่านภาพตามลำดับดังนี้
จากซ้ายไปขวา  ผู้หญิงสามคน ผมดำยาวเกือบถึงเอว มีงูเลื้อยอยู่ในทรงผม  คือ gorgons [กอรฺเกิ่น]อมนุษย์สามตนในเทพปกรณัมกรีกโบราณ (die drei Gorgonen ในภาษาเยอรมัน)[13] เป็นสัญลักษณ์ของความเจ็บป่วย ความบ้าคลั่ง และความตาย. เบื้องหลังและเหนือขึ้นข้างหลังของพวกเธอ มีผู้หญิง(ผี)น่าเกลียดน่ากลัวกางแขนเหมือนกำลังขย่มข่มขู่อยู่ ผมยาวรุงรัง. สองข้างเธอยังเห็นหัวหรือหน้ากากเหมือนผีหลายรูปอยู่มุมบนซ้ายสุดของภาพ และมีใบหน้าผู้หญิงอีกสองสามคนแทรกอยู่  เหมือนจะบอกว่า พวกเธอตกในอำนาจมืดแล้ว.

อมนุษย์สามตนนี้เป็นลูกสาวของยักษ์ Typhus [ ไท้เฟิส / ทู้ฟุส][14] (Gigant Typhoeus ในภาษาเยอรมัน)  Klimt เสนอในร่างของลิงกอริลล่าขนาดใหญ่  ที่สูงตระหง่านยืนถัดจากลูกสาวสามตน  เหนือหัวยักษ์ลิงตนนี้เป็นโคนปีกที่จะแผ่ออกกว้างและยาวไปเกือบสุดภาพทางขวา (เห็นเป็นปีกสีฟ้าๆ ตอนล่างยังมีเกล็ดๆของงูประกอบ).  Klimt ใช้มุกทำเป็นลูกตาของยักษ์(อาจเพื่อโยงนัยไปถึงการเป็นปีศาจทะเลด้วย). ทั้งหมดนี้สื่อภัยมืดและอำนาจของความเลวความชั่วที่จ้องทำร้ายและบั่นทอนมนุษยชาติ เป็นมหันตภัยที่แม้ทวยเทพก็มิอาจปราบให้สูญสิ้นได้. 

       ส่วนทางขวาติดประชิดยักษ์ลิง มีกลุ่มผู้หญิงอีกหนึ่งกลุ่ม เห็นรูปร่างอวบอ้วนลงพุง  ริมฝีปากเปิดแย้ม  หน้าตายิ้มๆ  คนทางซ้ายเห็นชัดว่า ยิ้มยั่วยวน เธอมีผมสีแดงๆ (ชาวยุโรปพูดกันว่า คนผมสีแดงแบบนี้เป็นคนที่ฝักใฝ่ทางกามารมณ์มากกว่าผู้หญิงผมสีอื่นๆ)
คนผมทองเอนหน้าบนฝ่ามือกำลังเคลิบเคลิ้ม  ส่วนคนหน้าที่พุงพลุ้ย ทรงผมมีเครื่องประดับหลากหลายแบบ ทั้งยังมีกำไลต้นแขนและจากข้อแขนถึงศอก อาจหมายถึงหญิงผู้ดีหรือคนร่ำรวย.  Klimt เสนอภาพของผู้หญิงกลุ่มนี้ด้วยสีสันสว่างสดใส สีทองเด่นชัด มีการประดับด้วยมุก ทองเหลือง ให้รายละเอียดมากด้วย. พวกเธอเป็นภาพลักษณ์ของกิเลสตัณหา ความมักมากในกามและความหลงมัวเมาไม่รู้พอ. ทั้งกลุ่มยังคงอยู่ในรัศมีปีกที่แผ่ออกกว้างของยักษ์ เห็นส่วนหนึ่งของปีกที่พาดไปบนสเกิร์ตยาวสีฟ้าสด ประดับลวดลายกลมๆและขีดๆ ที่ปิดท่อนล่างของหญิงพุงพลุ้ย  ให้นัยชัดเจนว่า ความสุขสนุกสนานของมนุษยชาติก็จะผ่านไป ไม่ยั่งยืน ทุกอย่างจะกลับไปเป็นดั่งภาพของผู้หญิงผอมแห้ง ร่างขาวๆดำๆ ใต้ปีกกว้างของยักษ์ มือพาดบนศีรษะที่ตกลงต่ำเหมือนสิ้นหวังท้อแท้.  

      บนกำแพงยาวด้านขวา  เริ่มด้วยภาพของผู้หญิงนอนหลับตาลอยอยู่ในอากาศอีก ย้ำความใฝ่ฝันที่ไม่ลืมเลือนของมนุษยชาติที่คอยสันติสุข. ตามด้วยภาพที่สูงตลอดความสูงของภาพ มีสีทองเป็นสีเด่น  เป็นภาพของผญิงสาวสวย สวมชุดสีทองกรอมเท้า  ผมยาวหยักศก ประดับด้วยที่คาดผมเห็นดอกไม้สีทองโดดเด่น ใบหน้ายิ้ม  กำลังดีดพิณ.
นางเป็นตัวแทนของดนตรี ของกวีศิลป์ ที่มาช่วยมนุษยชาติที่ตกอยู่ในความหลงแบบต่างๆ ที่ไม่มีวันพบความสุขเบิกบานใจอย่างแท้จริง,  ตอกย้ำนัยความหมายในซิมโฟนีหมายเลขเก้าของ Beethoven ว่า ศิลปะเป็นสิ่งเดียวที่อาจช่วยมนุษย์ให้ได้ลิ้มรสความเบิกบานใจอันบริสุทธิ์ พบความสุขและพบรักที่แท้จริง, ศิลปะเป็นความหวังเดียวของมนุษย์. ภาพที่คั่นตามต่อมา ยังคงเป็นภาพของผู้หญิงในท่านอน หลับตาพริ้ม ล่องลอยในอากาศ. (มีผู้บอกว่า ในนิทรรศการปี 1902 นั้น  บนกำแพงบริเวณนี้ เจาะเป็นช่องเปิดให้เห็นรูปปั้นเหมือนของ Beethoven ผลงานของ Max Klinger [มักซฺ คลิงเงอ] ในปีที่ข้าพเจ้าไปเยือนนั้น  ไม่มีรูปปั้นแล้ว  กำแพงปิดทึบตลอด ไม่มีข้อมูลว่า รูปปั้นถูกย้ายไปอยู่ที่ไหน  คงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของกรุงเวียนนากระมัง)    

           มาถึงจุดนี้ พวกเธออาจกำลังซึมซับความประณีตสุนทรีย์ของศิลปะที่มาขับกล่อมเธอ ก่อนที่พวกเธอจะตื่นขึ้นต้อนรับประสบการณ์ใหม่  ดังในภาพข้างล่างนี้ ด้านซ้าย ผู้หญิงห้าคน (เรียงกันขึ้นไปในแนวตั้งของภาพ) ที่แสดงกิริยาอาการของความลิงโลดใจ แขนของผู้หญิงสามคนบนทอดไปทางขวา  พวกเธอสามคนเป็นตัวแทนของความปิติ โชคลาภและความรัก
ถัดไปคือกลุ่มนักร้องเทพธิดาจากสวรรค์ ยืนเรียงรายอยู่เต็ม เห็นความเขียวชะอุ่มและดอกไม้บานอยู่แทบเท้า  ยืนยันความรุ่งเรืองและความสุขของมนุษยชาติที่จะสืบทอดต่อไป. เทพธิดาทั้งหมดกำลังร้องประสานเสียงแสดงความปลื้มปิติเป็นที่สุด.
           ในวงล้อมสีทองสุกปลั่ง ชายหญิงคู่หนึ่งกอดจุมพิตกัน  ใต้ท้องฟ้า มีวงกลมสองวง เป็นใบหน้าของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์. แถบสีเขียวเข้มสองข้าง อาจหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณที่เติมเต็มความสุขของมนุษยชาติที่จักรุ่งเรืองดั่งประกายทองในท้องฟ้า. นี่คือภาพสุดท้ายของจิตรกรรมที่ถ่ายทอดอุดมการณ์ของ Beethoven และของ Schiller ออกมาในรูปของ “จุมพิตแด่โลก” ( Freude schöner Götterfunke. Diesen Kuss der ganzen Welt!) ในความหมายของ ความปลื้มปิติที่ส่องประกายงามเฉิดฉาย  ส่งจุมพิตด้วยรักแด่ชาวโลกทั้งมวล.  เมื่ออ่านภาพตามที่กล่าวมา ก็จะได้เนื้อหาครบที่ถ่ายทอดอุดมการณ์ของ Beethoven และของ Schiller.

           เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าจิตรกรรม Beethoven Frieze นี้ผิดแปลกแหวกแนวจากขนบสุนทรีย์ของจิตรกรรมคลาซสิกโดยสิ้นเชิง.  มีคนเข้าใจและมีคนไม่เข้าใจ, มีคนชอบและมีคนไม่ชอบ. สหายศิลปินของ Klimt ชื่นชมความอุกอาจในการแสดงออก ในขณะที่ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนต่างไม่พอใจ และวิพากษ์วิจารณ์ Klimt ถึงกับประนามว่า เป็นผลงานที่เหลวแหลก เน้นกามารมณ์  รูปอัปลักษณ์และน่ารังเกียจ ทั้งยังลามก หยาบโลน, สร้างภาพล้อที่น่าอดสู ทำร้ายอุดมการณ์แห่งความงามของรูปร่างหน้าตาอันงามสง่าของคนไปเสียสิ้น (ตามขนบกรีกหรือคลาซสิก). คนยุคนั้นไม่เข้าใจภาพ ไม่เข้าใจศิลปิน. ศิลปินและสังคมปัจจุบันยอมรับและยกย่องผลงานจิตรกรรมของ Klimt  แต่ก็ยังคงมีผู้ที่ไม่ชอบศิลปะในแนวนี้  โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับศิลปินชาวต่างชาติในยุคเดียวกันเช่น Henri de Toulouse-Lautrec [อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลเทร็ก] ชาวฝรั่งเศส (1864-1901) หรือ Paul Cézanne [ปอล เซะซาน] ชาวฝรั่งเศส (1839-1906)  หรือ Amedeo Clemente Modigliani [อาเมเด๊ว เกล้เหม่นเต้ โมดิ๊ญานี่] ชาวอิตาเลียน (1884-1920) เป็นต้น  อย่างไรก็ดีผลงานจิตรกรรมทั้งหมดของ Gustav Klimt เป็นตัวอย่างของการประลองอุดมการณ์ศิลปะระหว่างศิลปะแบบเก่าของศตวรรษก่อนและศิลปะแบบใหม่ของศตวรรษที่ยี่สิบ. สิ่งที่ Klimt นำมาเพิ่มให้แก่ยุคสมัยใหม่นี้คือ หัวข้อเรื่องเพศในศิลปะ ที่กระแส Expressionism (ที่เริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 เช่น Edvard Munch, Franz Marc, Van Gogh, Ernst L.Kirchner ) หรือแม้กระแส Surrealism (ที่เริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 1920 เช่น André Breton, René Magritte, Salvador  Dalí, Vladimir Kush) ยังไม่ได้จุดประเด็นนี้อย่างชัดเจนเท่า Klimt.

           เราจบบทความนี้ด้วยคำพูดของ Friedrich Schiller ที่กล่าวว่า “จงอยู่กับยุคของท่าน แต่อย่าเป็นผลประกอบของยุคสมัยนั้น” (จากเรื่อง On the Aesthetic Education of Man)  หรือ “จงซื่อสัตย์ต่อความฝันในวัยเยาว์ของท่าน” (จากเรื่อง Don Carlos)   หรือ “เสียงของคนส่วนมาก มิได้เป็นหลักฐานยืนยันความยุติธรรม”  (จากเรื่อง Maria Stuart)  หรือ “เทพนิยายที่ได้ยินได้ฟังในวัยเด็กมีความหมายลึกซึ้งกว่าความจริงต่างๆที่ชีวิตได้สอนเรา”  และ “ไม่ใช่เลือดไม่ใช่เนื้อ แต่หัวใจต่างหากที่ทำให้เราเป็นพ่อลูกกัน” 

ข้อมูลอ้างอิง  
รายละเอียดเกี่ยวกับภาพที่นำมาลง  มาจากเว็บไซต์โดยตรงของหอศิลป์ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นที่อ้างอิงของผู้สนใจ ที่หอศิลป์ Secession โดยเฉพาะภายในห้องนิทรรศการชุด Beethoven Frieze นั้น ห้ามถ่ายภาพ  ภาพทั้งหมดจึงมาจากเว็บไซต์ของหอศิลป์เอง ที่จะเข้าไปดูได้ที่ http://www.theviennasecession.com/  เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2013)

บทวิเคราะห์ภาพจิตรกรรม Beethoven Frieze ของ Klimt อาจเข้าไปฟังที่
http://www.youtube.com/watch?v=983Tu9rlP54 
เป็นบทสนทนาระหว่าง Dr. Steven Zucker และ Dr. Beth Harris  แห่ง Khan Academy (เป็นสถาบันการศึกษาออนไลน์ที่ไม่ใช่องค์กรหารายได้  ตั้งขึ้นในเดือนกันยายนปี 2006 โดยอาจารย์นักการศึกษาชื่อ  Salman Khan ผู้จบจากมหาวิทยาลัย MIT และจาก Harvard Business School  เขามีนโยบายที่จะให้เป็นสถาบันเพื่อการศึกษาระดับโลก สำหรับทุกผู้ทุกนามในทุกมุมโลกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  สถาบันนี้มีห้องสมุดที่รวมสื่อวีดีทัศน์มากกว่า 3000 ชิ้น ที่ครอบคลุมความรู้ทุกแขนงตั้งแต่วิชาเลขคณิตถึงวิชาฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ และความรู้ด้านทักษะและความชำนาญในกิจการหรือธุรกรรมแบบต่างๆเป็นต้น  เว็บไซต์คือ http://www.khanacademy.org/ )

รายละเอียดเกี่ยวกับงานประพันธ์ดนตรีซิมโฟนีหมายเลขเก้าของ Beethoven อยู่ที่
http://en.wikipedia.org/wiki/Symphony_No._9_(Beethoven) 
(ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2013)

ข้อมูลเกี่ยวกับจิตรกร Gustav Klimt ดูได้ที่ http://www.iklimt.com/  เป็นต้น

อ่านบทกวีนิพนธ์เรื่อง Ode to Joy ของ Friedrich Schiller ที่เป็นฉบับดั้งเดิมปี 1785 ในภาษาเยอรมันและมีบทแปลเป็นภาษาอังกฤษเทียบไว้ข้างๆ ได้ที่

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
ไปเยือนเมื่อ 30 สิงหาคม 2003 และแก้ไขล่าสุดเมื่อ 15 กรกฎาคม 2013.

เพื่อความบันเทิงใจ
ฟังดนตรีตอน Molto vivace ของซิมโฟนีหมายเลขเก้า พร้อมกับนึกถึงความปลาบปลื้มที่เร้าใจเมื่อผู้หญิงสี่ห้าคนที่ตื่นจากความใฝ่ฝันต้อนรับความเบิกบานใจ
แล้วตามด้วย บทร้องของทวยเทพในสวรรค์ Ode to Joy ใน Fourth Movement  (2 Sep 2012)
http://www.youtube.com/watch?v=hdWyYn0E4Ys    
หรือฟังยาวๆทั้งชั่วโมงกับวงออเคสตร้าของมหาวิทยาลัยกรุงเวียนนา - Chor & Orchester Universität Wien  โดยปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับความใฝ่ฝันและความสุข
หรือจากวง Berliner Symphoniker (Berlin Symphony Orchestra)  วาทยกรคือ Herbert von Karajan [แอรฺแบรฺ ฟ้น คาราญาน] (1908-1989)  ชุดนี้ไม่มีภาพประกอบ มีแต่เสียง  เริ่มด้วยการแนะนำยาวๆเป็นภาษาญี่ปุ่น เหมือนสาธยายประวัติบุคคล  นี่เป็นรายการแสดงสดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  เมื่อวันที่ 21 October 1979  มีการอัดเสียงของ Karajan พูดทักทายกับชาวญี่ปุ่นก่อนเริ่มการแสดงด้วย   บทแนะนำจึงยาวมาก นานกว่าสิบนาที 
http://www.youtube.com/watch?v=gd2_I49ZKeo 




[1] Ver Sacrum [เบรฺ สาครุม] (จากคำในภาษาละติน ver แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ + sacrum แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์  รวมกันเป็น ฤดูใบไม้ผลิอันศักดิ์สิทธิ์ โดยสื่อนัยของศิลปะที่เกิดใหม่และจะแบ่งบาน)  วารสารนี้พิมพ์ออกเผยแพร่ไปทั่วทั้งยุโรป ระหว่างปี 1898 จนถึงปี 1903 หน้าปกของวารสารเป็นภาพวาด Jugendstil [ยูเกิ๊นฉฺติลฺ] กระแสใหม่ (มาจากคำ Young + style) ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนในโลกศิลปะ เป็น นิวลุค ของการออกแบบและการวาดเขียน
       วารสารแต่ละฉบับมีภาพวาดลวดลายประดับหลากหลายที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้น ผลงานของศิลปินยุคนั้นได้ปูทางสู่การพัฒนาศิลปะภาพวาดลายเส้น (graffic design) ตั้งแต่นั้นมา  นอกจากภาพ ก็มีงานเขียนจากนักเขียนนักคิดที่มีชื่อเสียงจากชาติต่างๆในยุโรปด้วย  เช่น Reiner Maria Rilke, Otto Julius Bierbaum, Hugo von Hofmannsthal, Maurice Maeterlinck, Knut Hamsun, Richard Dehmel เป็นต้น  
[2] สถาปนิกสามคนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้นคือ Josef Hoffmann [โยเซ็ฟ ฮ้อฟมัน], Joseph Maria Olbrich [โยเซ็ฟ มารีอา อ้อลบรีฮฺ] และ Otto Wagner[อ๊อดโทะ ว้ากเหนอะ]  พวกเขามักประดับพื้นผิวด้านนอกของอาคารด้วยรูปลายเส้นที่เรียกกันต่อมาว่าเป็นลวดลายแบบปลาไหล
[3] สำนวนนี้ Richard Wagner เป็นผู้คิดตั้งขึ้นเพื่อสื่อนัยว่า ศิลป์สังเคราะห์แบบหนึ่งย่อม ครอบคลุมรูปลักษณ์และรูปแบบต่างๆของศิลปะ
[4] Sigmund Freud (1856-1939) แพทย์ด้านประสาทวิทยา ชาวเช้ค-ออสเตรีย ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาผู้วางรากฐานของจิตวิเคราะห์ศาสตร์-Psychoananlysis  ได้พิมพ์งานเขียนชิ้นแรกๆของเขาที่ปลุกจิตสำนึกและสติปัญญาของปัญญาชนในยุโรป 
[5] Gustav (1860-1911) นักประพันธ์ดนตรีชาวออสเตรียและวาทยากรคนสำคัญของกรุงเวียนนาในยุคนั้น
[6] Arnold Schönberg (1874-1951) นักประพันธ์ดนตรีและจิตรกรชาวออสเตรีย หนึ่งในผู้นำกระแส expressionist สาขากวีนิพนธ์และศิลปะในประเทศเยอรมนี
[7] Stefan Zweig (1881-1942) นักเขียนชาวออสเตรีย ผลงานดีเด่นในระหว่างทศวรรษที่ 1920-1930 เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกคนหนึ่ง
[8] การเต้นวอลส์โดดเด่นขึ้นในกลางศตวรรษที่ 18 ที่พัฒนามาจากการเต้นรำพื้นเมืองของเยอรมนี ออสเตรีย สวิสเซอแลนด์(เขตที่ใช้ภาษาเยอรมัน)และสโลเวเนีย  จนมีการสร้างห้องโถงขนาดใหญ่ๆเพื่อใช้เป็นที่เต้นรำของพันๆคนพร้อมกัน  การเต้นวอลส์แพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆโดยเฉพาะในอังกฤษในต้นศตวรรษที่ 19  ส่วนหนึ่งมาจากงานประพันธ์วอลส์ที่มีชื่อเสียงเช่นผลงานของ Josef Lanner หรือของ Johann Strauss พ่อและลูก
[9] La Belle Époque เป็นสำนวนฝรั่งเศสที่เรียกยุคสมัยในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม ในปี 1871และสิ้นสุดลงในปี 1914 เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น  ยุค “ลาแบลเอป๊อก” เป็นยุคที่สังคมสงบสุขสันติ ผู้คนมีโลกทัศน์ที่สวยงามแบบมองโลกในแง่ดี  มีการค้นพบเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ เช่นนี้ทำให้ศิลปะทุกแขนงรุ่งเรือง มีผลงานดีเด่นเกิดขึ้นมากมายทั้งวรรณกรรม ดนตรี การละคร ทัศนศิลป์ก็เป็นที่ยอมรับมีศักดิ์ศรีของตนมากกว่ายุคใดในอดีต  อาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคทองของทั้งสองประเทศ ที่ตรงกันข้ามกับความโหดร้ายความมืดมนของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่อุบัติขึ้นฉับพลันในปี 1914    
[10] Art Nouveau ในออสเตรีย สุนทรีย์ของความงามสตรีไกลจากความงามสมบูรณ์แบบที่ได้สัดส่วนเหมาะเจาะของสุนทรีย์กรีกมากนัก  บางคนก็ไม่เห็นว่าแบบใหม่นี้สวยถูกใจหรือต้องตา แม้จะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ใกล้โลกทัศน์ของคนยุคนั้นมากกว่าก็ตาม
[11] ในปี 2002 สหประชาชาติ ฝ่ายอนุรักษ์มรดกโลก ได้จัดและจดต้นฉบับเขียนลายมือของซิมโฟนีหมายเลขเก้าของ Beethoven เข้าในรายชื่อมรดกโลกของสหประชาชาติ  เป็นงานประพันธ์ดนตรีชิ้นแรกที่ได้รับเกียรติสูงสุดเช่นนี้  ปัจจุบันซิมโฟนีนี้เป็นหนึ่งในดนตรีที่นำออกแสดงบ่อยที่สุดในโลก
[12] คำร้องในตอนจบของซิมโฟนีหมายเลขเก้าของ Beethoven ที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน อาจไม่เหมือนคำร้องเดิมในยุคนั้น เพราะมีผู้แต่งและเรียบเรียงใหม่ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการบรรเลงและความต้องการของวาทยกรแต่ละคนด้วย   
[13] ชื่อ Medusa, Sthenno และ Eyryale ในสามตนนี้ Medusa เท่านั้นที่รู้ตาย (mortal) เพราะเธอมีงูหลายร้อยตัวพันยั้วเยี้ยบนหัว(cf. Perseus)  ในเทพปกรณัมกรีกพรรณนาไว้ว่าเป็นอมนุษย์เพศเมีย มีปีก หัวกลมกว้างและใหญ่ ผมเป็นปอยๆลักษณะเหมือนงู ตาใหญ่เบิ่งกว้าง ปากกว้าง และมีเขี้ยวเหมือนเขี้ยวหมูป่า ลิ้นห้อย รูจมูกบาน และบางครั้งก็มีเคราสั้นและหยาบ ในยุคคลาซสิกรุ่นหลังๆ ศิลปะเสนอภาพลักษณ์ของนาง Medusa ที่เหมือนคนมากขึ้นถึงกับมีใบหน้าสวยทีเดียว  มีศิลปะโมเสกที่เสนอภาพของนางเต็มหน้า มีงูพันและเลื้อยเต็มหัว และมีปีกเล็กๆคู่หนึ่งแตกออกจากคิ้ว ส่วนกวี Hesiode (เป็นที่รู้จักกันดีในระหว่างปี 750-650BC.) จินตนาการไว้ว่า กอร์กนสามตนนี้เป็นปีศาจทะเลที่โผล่ขึ้นจากแนวปะการังในทะเลที่ทำให้เรืออัปางบ่อยๆ
[14] Typhus ยังมาเป็นคำใช้เรียกเชื้อโรคติดต่อหลายชนิดที่เกิดจากแบ็คทีเรีย (Rickettsia) จึงยังคงสื่อนัยของอันตรายและภัย