Wednesday 14 January 2015

เมื่อมาร์เซแย้ซกระหึ่มขึ้น - La Marseillaise

มาร์เซแย้ซ - เพลงชาติฝรั่งเศส

            เพลงปลุกใจ สู้ไม่ถอย ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลที่ดังก้องกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2556 ต่อมาเพลง ตื่นเถิดไทย (เรียบเรียงเสียงประสานโดย หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช) และเพลงไทยรวมกำลัง (ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์คำร้อง และเอื้อ สุนทรสนานประพันธ์ทำนอง) ที่มาเป็นบทเพลงโหมโรงบนทุกเวทีชุมนุมของ กปปส.  เพลงทั้งสามแม้มิได้เป็นเพลงชาติแต่ทำให้นึกถึงเพลงชาติฝรั่งเศสและสถานการณ์ที่ตามมาหลังเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789   เมื่อเราอ่านเนื้อความของทั้งสามเพลงดังกล่าว จะเห็นจุดยืนเหมือนกันทั้งหมดคือ  การ “รวมใจ รวมพลังทุกหมู่เหล่า ต่อสู้กับศัตรู มิยอมพ่ายแพ้ เพื่อความยุติธรรม เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่ โดยไม่หวั่นไม่พรั่นพรึง ยอมทอดกายเป็นชาติพลีเพื่อปฐพีอันเป็นที่รักยิ่ง ที่บรรพบุรุษได้ต่อสู้ปกป้องมาแต่โบราณ  และย้ำว่า คนไทยต้องไม่มุ่งร้ายทำลายไทย ต้องช่วยกันผดุงบำรุงชาติศาสน์กษัตริย์” 

            คนไทยหลายคนอาจมีความรู้หรือเคยได้ยินเกี่ยวกับการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสอยู่บ้าง และหลายคนได้ศึกษาบริบทประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสและผลกระทบที่ตามมาทั้งในประเทศฝรั่งเศสและในยุโรป  ถึงกระนั้น น้อยคนที่จะเข้าไปดูเนื้อร้องทั้งหมดของเพลงชาติฝรั่งเศส  ในวาระที่เราคนไทยกำลังอยู่ในความรู้สึกคุกกรุ่นของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น  การกลับทำความเข้าใจกับเพลงชาติฝรั่งเศส นำเนื้อเพลงชาติฝรั่งเศสมาตีแผ่ แปลให้เข้าใจทุกถ้อยกระทงความ  อาจช่วยให้เราเข้าใจเหตุการณ์และเข้าถึงจิตสำนึกตลอดจนวิญญาณขบถของชาวฝรั่งเศสเมื่อ 225 ปีก่อน  ที่มีส่วนสร้างบุคลิกและอุปนิสัยของชนชาติฝรั่งเศสที่ยังคงเห็นได้อีกในหมู่คนฝรั่งเศส (ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่)  และในที่สุดทำให้เราเห็นชัดเจนว่า เพลงชาติฝรั่งเศสผิดจากเพลงชาติอื่นๆอย่างไร และมีอิทธิพลในวงกว้างต่อจิตสำนึกยุโรปตั้งแต่นั้นมา  

คำร้องและเนื้อหาของเพลงชาติฝรั่งเศส

            เรามาพิจารณาเนื้อเพลงชาติฝรั่งเศสกัน  เนื้อร้องของ La Marseillaise ที่นำมาลงณที่นี้ มาจากเว็ปไวต์ทางการของฝรั่งเศส (ที่  www.sansreserves.fr (fiche chant) [1] ตามด้วยบทถอดความของแต่ละบท ดังข้างล่างนี้ :

Refrain :

Aux armes, citoyens!
Formez vos bataillons!
Marchons, marchons!
Qu’un sang impur…
Abreuve nos sillons!

บทสร้อย : พี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย  จงลุกขึ้นจับอาวุธ / จงรวมกันเป็นกองพัน / เดิน เดินเถอะรา / ให้เลือดอัปรีย์มันไหลรดร่องนา  (คือให้เลือดอัปรีย์ไหลอาบแผ่นดิน เพราะพี่น้องร่วมชาติที่ลุกฮือขึ้นก่อนผู้ใดคือชาวบ้านต่างจังหวัดผู้ทำมาหาเลี้ยงชีพในท้องทุ่งไร่นา) 

I

Allons ! Enfants de la Patrie !
Le jour de gloire est arrivé !
Contre nous de la tyrannie,
L'étendard sanglant est levé ! (Bis)
Entendez-vous dans les campagnes
Mugir ces féroces soldats ?
Ils viennent jusque dans vos bras
Égorger vos fils, vos compagnes

บทที่หนึ่ง : ลุกขึ้นเถิด  ลูกของแผ่นดินถิ่นเกิดนี้ / วันแห่งความรุ่งเรืองมาถึงแล้ว / ระบบทรราชที่มาบีบคั้นเรา  ธงที่เปื้อนเลือดของเราชูไสวโบกสะบัด / พวกคุณได้ยินเสียงอะไรไหม ดังมาจากท้องทุ่งนา  เสียงกระหึ่มของพวกทหารใจเหี้ยม / พวกเขารุกเข้ามาประชิดตัว เฉือนคอหอยลูกเรา เมียเรา  (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )

II

Que veut cette horde d'esclaves,
De traîtres, de rois conjurés ?
Pour qui ces ignobles entraves,
Ces fers dès longtemps préparés ? (Bis)
Français ! Pour nous, ah ! Quel outrage !
Quels transports il doit exciter ;
C'est nous qu'on ose méditer
De rendre à l'antique esclavage !

บทที่สอง : พวกเขาต้องการอะไรนะ ฝูงทาส ฝูงคนทรยศ และเหล่ากษัตริย์ที่โอดโอย   /  แผนเลวร้ายพวกนี้เพื่อใครกันนะ โซ่เหล็กที่เตรียมพร้อมมานานแล้ว /  เพื่อนฝรั่งเศสเอ่ย  มันถูกเตรียมไว้จองจำเรา / ช่างเหยียบย่ำน้ำใจกันได้ถึงเพียงนี้ /  มันคงทำให้พวกเขาสะใจมากสินะ / ที่ได้วางแผนไว้อุกอาจที่จะสยบพวกเราดุจข้าทาสในโลกยุคเก่า   (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )

III

Quoi ! Des cohortes étrangères
Feraient la loi dans nos foyers !
Quoi ! Des phalanges mercenaires
Terrasseraient nos fiers guerriers ! (Bis)
Dieu ! Nos mains seraient enchaînées !
Nos fronts sous le joug se ploieraient !
De vils despotes deviendraient
Les maîtres de nos destinées !

 บทที่สาม :  นั่นอะไรกัน  กองทหารต่างชาติจำนวนมาก  มาตั้งบทกฎหมายในครัวเรือนเรา /  อะไรนะ  กองทหารราบมืออาชีพจะมาสยบทแกล้วทหารกล้าของเรารึ / ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า  มือของเราจะถูกล่ามโซ่  เราจะหน้านิ่วคิ้วขมวดคอย่นใต้แรงกดของแอก  /  ไอ้ทรราชเลวๆทั้งหลายจะมาเป็นเจ้าเหนือชะตาชีวิตของพวกเรารึ  (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )

IV

Tremblez, tyrans et vous, perfides,
L'opprobre de tous les partis !
Tremblez ! Vos projets parricides
Vont enfin recevoir leur prix. (Bis)
Tout est soldat pour vous combattre.
S'ils tombent, nos jeunes héros,
La terre en produira de nouveaux
Contre vous tout prêt à se battre.
บทที่สี่ : จงรู้ตัวกลัวตายเถอะ ไอ้พวกทรยศ ไอ้พวกไร้สัจจะ ไอ้พวกไร้ศักดิ์ศรีของทุกพรรค  จงหวาดหวั่นกลัวจนสั่นไปเถอะ / นโยบายล้างผลาญชาติของพวกเจ้าจะถูกชำระอย่างสมค่าราคามัน / เราทุกคนนี่แหละคือทหารที่จะเข้าทำลายพวกแก / หากวีรชนผู้เยาว์ของเราทั้งหลายต้องล้มลง แผ่นดินจะให้กำเนิดวีรชนรุ่นใหม่ /  ทุกคนพร้อมที่จะสู้ต่อต้านพวกแก / (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )

V

Français, en guerriers magnanimes
Portons ou retenons nos coups !
Épargnons ces tristes victimes,
A regret, s'armant contre nous ! (Bis)
Mais ce despote sanguinaire !
Mais ces complices de Bouillé !
Tous ces tigres qui, sans pitié,
Déchirent le sein de leur mère !
บทที่ห้า :  เพื่อนฝรั่งเศสเอ่ย  เพื่อนนักรบผู้มีใจเมตตาต่อผู้แพ้ต่อผู้อ่อนแอ / ขอจงอดกลั้น(ความเจ็บปวด) และชะงักมือไว้  /  จงไว้ชีวิตเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ ที่ถูกบังคับให้มาสู้กับเรา แต่(อย่าไว้ชีวิต)ไอ้พวกทรราชบ้าเลือด  ไอ้พวกสมรู้ร่วมคิดของ เดอบุยเย่ (De Bouillé, 1739-1800)[2], ไอ้พวกเสือร้ายทั้งหลายที่ไร้จิตใจที่เฉือนได้แม้แต่หัวจิตหัวใจของแม่มันเอง (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )
VI

Amour sacré de la Patrie
Conduis, soutiens nos bras vengeurs !
Liberté ! Liberté chérie,
Combats avec tes défenseurs ! (Bis)
Sous nos drapeaux que la Victoire
Accoure à tes mâles accents !
Que tes ennemis expirants
Voient ton triomphe et notre gloire !
บทที่หก : ความรักศักดิ์สิทธิ์ที่มีต่อบ้านพ่อเมืองแม่  ความรักนั้นนำทางเรา พยุงและดันแขนเราที่พร้อมจะสู้ล้างแค้น /  อิสระภาพ  อิสระภาพที่รักยิ่ง  จงมาร่วมรบกับผู้ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องเจ้า / ใต้ธงสงครามเทพแห่งชัยชนะวิ่งมาช่วยเมื่อได้ยินเสียงร้องเรียกของเจ้า / ขอให้ศัตรูของเจ้าที่กำลังจะขาดใจนั้น ได้เห็นชัยชนะของเจ้าและศักดิ์ศรีของเรา  (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )

Coplets des Enfants

Nous entrerons dans la carrière,
Quand nos aînés n'y seront plus ;
Nous y trouverons leur poussière
Et la trace de leurs vertus. (Bis)
Bien moins jaloux de leur survivre
Que de partager leur cercueil
Nous aurons le sublime orgueil
De les venger ou de les suivre.
Refrain
Enfants, que l'Honneur, la Patrie
Fassent l'objet de tous nos vœux !
Ayons toujours l'âme nourrie
Des feux qu'ils inspirent tous deux. (Bis)
Soyons unis ! Tout est possible ;
Nos vils ennemis tomberont,
Alors les Français cesseront
De chanter ce refrain terrible :+refrain

บทคำร้องสำหรับทหารเยาวชนรุ่นใหม่ :  เราเข้ามาในอาชีพทหาร เมื่อรุ่นพี่ๆของเราไม่อยู่แล้ว / เราจะพบอังคารธุลีของรุ่นพี่และรอยคุณงามความดีของพวกเขา / พวกเราจะรู้สึกยินดีปลาบปลื้มมากกว่าหากมีเกียรติได้ร่วมใช้โลงศพเดียวกันกับรุ่นพี่ แทนการมีชีวิตรอดมาได้  / พวกเราจะสุดปลื้มสุดหยิ่งหากได้แก้แค้นให้รุ่นพี่หรือแม้ตายตามรุ่นพี่ไป (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )
ศักดิ์ศรีและแผ่นดินเกิดได้ทำให้ลูกๆของแผ่นดินนี้กลายเป็นจุดหมายของความหวังอันสูงสุดที่เราใฝ่ฝันและร้องขอ  ขอให้พวกเราทั้งหลายจงรักษาจิตวิญญาณที่อิ่มเอิบและอบอุ่นที่ทั้งศักดิ์ศรีและแผ่นดินเกิดได้ประทับดลใจเรา  /  จงสามัคคีกันนะ /  ทุกอย่างเป็นไปได้ : ไอ้ศัตรูสารเลวต้องล้มลงในวันหนึ่ง  เมื่อนั้นชาวฝรั่งเศสจะหยุดร้องบทสร้อยที่น่าสะพึงกลัวนี้  (ตามด้วยบทสร้อย “ลุกขึ้นเถิดพี่น้องเรา...” )

            บทถอดความของข้าพเจ้านั้น ต้องการเก็บความหมายของคำที่ใช้ให้ครบตรงตามต้นฉบับ  เมื่ออ่านแล้ว จะเห็นว่า เนื้อเพลงชาตินี้ดุเดือดมาก  และหากพิจารณาบทส่งท้ายสำหรับเยาวชนรุ่นหลัง ที่ยืนยันไว้ในเนื้อร้องว่า “คำร้องในบทสร้อยมันน่าขยาดกลัวเพียงใด” โดยเฉพาะเมื่อไปเปรียบเทียบกับเนื้อเพลงของชาติอื่นๆที่เราเคยฟังและเคยครุ่นคิด เช่นของไทย เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกาเป็นต้น  เนื้อเพลงชาติฝรั่งเศสที่ยาวเหยียดเหมือนกำลังสรุปประวัติศาสตร์ช่วงนั้น  เมื่อนำมาร้องในโอกาสพิเศษต่างๆของชาติในยุคสมัยต่อๆมา  มักถูกตัดให้สั้นลง ในกรณีที่สั้นที่สุด ก็ร้องบทที่หนึ่ง ตามด้วยบทสร้อย ยาวขึ้นอีกหน่อย ก็ใช้บทที่หนึ่ง บทที่ห้า บทที่หกเป็นต้น [3]

บริบทประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของสังคมโดยย่อ (1715-1795)  

            ในปี 1715 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 “สุริยะเจ้า” พระองค์นี้ผู้เป็นสัญลักษณ์สุดยอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ขึ้นครองราชย์ต่อ พระองค์มีพระชนม์เพียง 5 พรรษา ดังนั้นดยุ๊คแห่งออร์เลอ็องส์ (duc d’Orléans [ดุ๊ก ดอรฺเลอ็อง]) ผู้เป็นลุงจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงเป็นกษัตริย์เต็มตามยศและหน้าที่เมื่อมีพระชนม์ 14 พรรษาและครองราชย์เรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ในปี 1774  เพียงสิบห้าปีก่อนการปฎิวัติฝรั่งเศส   ในสมัยนั้นประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ  แม้จะช้าเกินการณ์ไปมากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็ได้เริ่มด้วยการปฏิรูประบบภาษีอากร ระบบความยุติธรรมเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐสภา 
            ในยุควิกฤตนั้น นักปราชญ์ Montesquieu [มงเต๊ซกีเออ] ได้พิมพ์งานเรื่อง l’Esprit des lois (วิญญาณแห่งกฎหมาย) ในปี 1748  แสดงความคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับหน้าที่ต่างๆของรัฐ การแบ่งแยกอำนาจเป็นอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ และโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  วิกฤตการณ์ในที่สุดกลับจุดประกายสติปัญญา  นำไปสู่จุดเริ่มต้นของยุคแสงสว่าง (le siècle des Lumières และ philosophes des Lumières) ที่หมายถึงความสว่างทางปัญญาที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่นั้น  Montesquieu เป็นหนึ่งในปราชญ์ยุคแสงสว่าง ที่ปฏิเสธอำนาจอันเกินขอบเขตของรัฐและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ทั้งในการแสดงความคิดเห็นและในการค้า   Rousseau [รุสโซ] ปราชญ์อีกผู้หนึ่งต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง   Voltaire [วอลฺแตรฺ] ก็เป็นปราชญ์อีกผู้หนึ่งที่ปลุกจิตสำนึกของการยอมรับความแปลกต่าง ของเสรีภาพและของความยุติธรรม 
            ในปี 1751 ปราชญ์ Diderot [ดิ๊ด(เดอะ)โร] และนักคณิตศาสตร์ D’Alembert [ดัลล็องแบรฺ] ได้ระดมนักเขียนประมาณ 150 คนมาช่วยกันเขียนช่วยกันแต่ง L’Encyclopédie (สารานุกรม หรือ Dictionnaire raisonné des sciences, des arts et des métiers นั่นคือพจนานุกรมเชิงวิพากษ์วิเคราะห์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์และอาชีพ)  การจัดทำสารานุกรมเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ ปรัชญา วิทยาการและเทคนิคแห่งยุค รวมกันเป็นหนังสือชุดมี 17 เล่มและมีหนังสือภาพอีก 11 เล่ม  ถือกันว่าสารานุกรมชุดนี้เป็นเสมือนอนุสาวรีย์ใหญ่ที่รวมความรู้ทุกแขนงในศตวรรษที่ 18 ไว้อย่างเป็นระเบียบเป็นระบบ  หนังสือชุดนี้ทำเสร็จสิ้นลงในปี 1772 ใช้เวลา 21 ปี
          พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์ในปี 1774  เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่สังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก  เป็นสังคมที่ก่อร่างสร้างตัวและฝังรากมาตั้งแต่ยุคกลาง  สังคมที่แบ่งเป็นสามฐานันดร(สามชนชั้น) คือชนชั้นสูง(หรือขุนนางและนักรบ)ที่มีประมาณ 400 000 คน  ชนชั้นนักบวชและบุคลากรของวัดของศาสนา (หรือสมณะ)  มีประมาณ 120 000 คน  และชนชั้นที่สาม (le Tiers Etat [เลอ ตีแยรฺ เซต้ะ]) ที่มีจำนวนมากที่สุดคือประมาณ 25,5 ล้านคน  ชนชั้นที่สามนี้เป็นสามัญชนรวมชาวนาชาวไร่  ช่างฝีมือ ชนชั้นกลางและชนชั้นรับใช้  ชนชั้นนี้ไม่ได้สิทธิประโยชน์ที่ชนชั้นที่หนึ่งและสองได้  พวกเขายังต้องจ่ายภาษีอากรมากที่สุดด้วย  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้พยายามปฏิรูปตามข้อเสนอของเหล่ารัฐมนตรีผู้ได้แนวทางการปฏิรูปมาจาก จิตวิญญาณแห่งยุคแสงสว่าง  แต่เมื่อการปฏิรูปไปกระทบผู้ที่เคยได้ผลประโยชน์เข้า เกิดการต่อต้านจากกลุ่มอภิสิทธิชนในราชสำนัก ในศาลและในรัฐสภา  ทำให้การปฏิรูปไม่มีประสิทธิผลใดๆ
           วิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 รุนแรงยิ่งขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประจวบกับผลผลิตทางเกษตรที่ย่ำแย่ลงในปี 1787 และปี 1788 ทำให้ราคาขนมปังพุ่งขึ้นสูง ประชาชนอดอยาก  เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ชนชั้นกลาง (les bourgeois [เล บูรฺฌัว]) ได้ขอให้พระเจ้าหลุยส์เรียกให้เปิดประชุมสภาฐานันดรที่รวมผู้แทนจากทั้งสามชนชั้น (les Etats généraux [เล เซต้า เจเนโร])ในปี1789    ก่อนการประชุมแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้นได้เตรียมรวบรวมจดบันทึกข้อมูลและข้อเรียกร้องทั้งหลายจากทั้งประเทศและเลือกตั้งผู้แทนของแต่ละกลุ่มเพื่อเข้าประชุมแก้ปัญหาความอดอยากของประเทศ  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เรียกเปิดประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 1789 ณพระราชวังแวร์ซายส์  มีสมาชิกสภาฐานันดรจากทั่วราชอาณาจักรมาร่วมทั้งหมด 1200 คน สมาชิกจากฐานันดรที่สามมาเป็นจำนวนมากที่สุด  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตัดสินให้มีการลงคะแนนเสียงในแต่ละกลุ่มฐานันดร นั่นคือแต่ละกลุ่มมีหนึ่งเสียง (แทนการให้สมาชิกแต่ละคนลงคะแนนเสียงคนละหนึ่งเสียง) ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะฐานันดรที่สามมีผู้แทนจำนวนมากกว่า แต่ก็ถูกบีบให้เหลือเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น    
            ในความเป็นจริง เสียงของสภาฐานันดรก็ไม่มีความหมายใดๆเพราะไม่มีอำนาจเป็นของตนอย่างแท้จริง  ไม่มีอำนาจแสดงความคิดเห็นในเรื่องใด ไม่มีอำนาจนิติบัญญัติและไม่มีอำนาจตุลาการ   เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการเรียกประชุมและยุบสภาฐานันดรได้ทุกเมื่อ   สภาฐานันดรจึงตั้งขึ้นเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือข้ออ้างของพระมหากษัตริย์เท่านั้น  แม้ตามหลักการมวลมหาชนมิได้เป็นข้าขึ้นอยู่กับผู้ใด แต่เป็นพลเมืองอิสระ และไม่มีใครมีสิทธิ์บังคับพวกเขาได้หากพวกเขาไม่ยินยอม  แต่ในยุคนั้น ทุกอย่างยังเป็นเพียงอุดมการณ์  สมาชิกสภาในตอนนั้นจึงไม่เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในยุคนี้ 
ภาพการประชุมสภาฐานันดรเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 1789 ที่พระราชวังแวร์ซายส์  
เป็นจิตรกรรมปี 1839 ฝีมือของ Auguste Vouder [โอกุซตฺ วูเด] (1790-1873)  
ภาพนี้อยู่ที่ Musée national du château des Trianons , Versailles
(ภาพจากวิกิพีเดีย ไม่มีสิทธิคุ้มครอง)
            อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนั้น กลุ่มฐานันดรที่สามพากันประท้วงการลงคะแนนเสียงแยกกันเป็นกลุ่มๆละหนึ่งเสียง  และรวมกันจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น (Assemblée nationale) ในวันที่ 17 มิถุนายน 1789  ต่อมากลุ่มชนชั้นสูงและกลุ่มสมณะได้มาเข้าร่วมด้วย  นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มสมัชชาแห่งชาติ(ที่พระองค์มิได้เป็นผู้ตั้งขึ้น)  พระองค์พยายามคัดค้านด้วยการสั่งปิดห้องประชุมที่กลุ่มผู้แทนไปชุมนุมกัน 
            เหล่าผู้แทนของฐานันดรที่สามและผู้แทนจากกลุ่มอื่น ร่วมใจกันย้ายไปประชุมกันในโรงยิมนาสติคที่อยู่ใกล้ๆซึ่งเป็นที่เล่นกีฬาลูกบอล(เหมือนเทนนิสสมัยนี้)  เช่นนี้ทำให้การประชุมของสมัชชาในวันที่ 20 มิถุนายน 1789 เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก  เพราะผู้แทนและผู้มาร่วมทุกคนได้ให้สัตย์ปฏิญาณว่า “พวกเขาจะไม่ยอมแยกจากกันและจะรวมตัวกันได้ทุกแห่งหนเมื่อสถาการณ์บังคับและจะทำเช่นนี้ต่อไปจนกว่าการบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (Constitution du Royaume) จะแล้วเสร็จอย่างถาวรมั่นคง..”   สัตย์ปฏิญาณร่วมกันบทนี้คือจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยของฝรั่งเศส  เรียกว่า Serment du Jeu de paume [แซรฺมง ดู เฌอ เดอ โปม] (ในความหมายว่า สัตย์ปฏิญาณ ณ สนามเล่นกีฬาลูกบอล เพราะการประชุมเกิดขึ้นที่นั่นดังกล่าวแล้ว)  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ทรงสั่งห้ามกลุ่มชนชั้นสูงและกลุ่มสมณะไปเข้าร่วม  กลุ่มฐานันดรที่สามต่างยืนหยัดสู้และขัดขืนคำสั่งของพระเจ้าหลุยส์  ในที่สุดพระองค์ต้องยอมให้ฐานันดรทั้งสามกลุ่มเข้าร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

การประชุมสภาฐานันดรเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 1789 ในห้องโถงใหญ่ภายในพระราชวังแวร์ซายส์ (ห้องนั้นเรียกว่า les Grandes Salles des Menus-Plaisirs ในความหมายว่า ห้องใหญ่เพื่อความรื่นรมย์เล็กๆน้อยๆ) ภาพนี้เป็นผลงานของ Isidore-Stanislaus Helman (1743-1806) และ Charles Monnet (1732-1808). (ภาพจากวิกิพีเดีย ไม่มีสิทธิคุ้มครอง)
            วันที่ 9 กรกฎาคม ปี 1789 สมัชชาแห่งชาติตกลงใช้ชื่อเจาะจงใหม่ว่า « Assemblée nationale constituante » สมาชิกผู้แทนทั้งหมดร่วมกันบัญญัติรัฐธรรมนูญสำหรับประเทศ
          วันที่ 14 กรกฎาคม ปี 1789  เหตุการณ์เข้ายึดป้อมลาบัซตีย์ (la prise de la Bastille [ลา พรีซ เดอ ลา บัซตียฺ])  ลาบัซตีย์ เป็นป้อมปราการในกรุงปารีสที่ใช้เป็นคุกของชาติมาตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (ครองราชย์ระหว่างปี 1610-1641) มีห้องขังแยกนักโทษจากกันได้ 42 คน [4] ลาบัซตีย์  เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของกษัตริย์เพราะจนถึงวันนั้น พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่เป็นผู้สั่งขังสั่งฆ่าปีนั้น กองทหารหลวงปักหลักกันเป็นแนวล้อมกรุงปารีสและเมืองแวร์ซายส์  ด้านกรมพระคลังมิอาจบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆได้ ประเทศอยู่ในสภาพล้มละลายก็ว่าได้  แม้เมื่อ Jacques Necker [ฌ๊าก เน็กแกรฺ], 1732-1804, รัฐบุรุษและนักเศรษฐศาสตร์การคลังชาวสวิสผู้มาทำงานธนาคารที่กรุงปารีสตั้งแต่ปี 1750  ถูกเรียกตัวให้ไปช่วยแก้ปัญหาการเงินของแผ่นดิน  เขาได้พยายามปรับปรุงระบบการเก็บภาษี ลดค่าใช้จ่ายที่ไปบำรุงบำเรอความฟุ้งเฟ้อของข้าราชบริพารในวัง แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้  มวลมหาชนเกิดจิตสำนึกว่า ประเทศอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว สภาพสังคมโกลาหล มีการจับกุมโทษฐานทรยศเกิดขึ้นไม่เว้นวัน นำไปสู่ความรุนแรงต่างๆ  ทั้งหมดบีบคั้นความรู้สึก และเหยียบย่ำความเป็นคนที่ตกเป็นเหยื่อของความไม่เสมอภาค [5]  การชุมนุมของมวลมหาชนขยายวงออกไป และมีการพกอาวุธ(เป็นไม้ด้ามยาว ติดเหล็กแหลมคมตรงปลายบน) และในเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ปวงชนยกขบวนไปบุกป้อม ลาบัซตีย์  ได้นำปืนใหญ่ไปยิงประตูป้อม  ผู้รักษาการป้อมต้องยอมแพ้ในที่สุดเพราะกำลังพลน้อยกว่า  การยึดป้อมลาบัซตีย์ เป็นเพียงสัญลักษณ์ของชัยชนะของมวลมหาชนเหนืออำนาจกษัตริย์ [6]  มิใช่เพื่อการปลดปล่อยนักโทษคนสำคัญคนใด เพราะในคุกหลวงเวลานั้นมีผู้ถูกคุมขังอยู่เพียง 7 คน เป็นผู้กระทำผิด 4 คน  มีคนบ้า 2 คน และ มีหนุ่มผู้ดีเสเพลอีก 1 คน  ในปี 1880 เท่านั้น สาธารณรัฐฝรั่งเศสยุคที่สาม (La IIIe République) ประกาศให้วันที่ 14 กรกฎาคม เป็นวันชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การยึดป้อมลาบัซตีย์ของมวลมหาชนได้สำเร็จ นำไปสู่จุดเปลี่ยนในการปกครองของประเทศตั้งแต่นั้นมา

ภาพแสดงนักปฏิวัติที่เข้ายึดและถล่มคุกบัซตีย์ (la Prise de la Bastille, 14 juillet 1789) ภาพผลงานของ Jean-Pierre Hoüel (1735-1813) ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ (Bibliothèque nationale de France)  ภาพจากวิกิพีเดีย ไม่มีสิทธิคุ้มครอง
             วันที่ 4 สิงหาคม ปี 1789  รัฐสภาประกาศยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ทุกชนิด และในวันที่ 26 สิงหาคม มีการประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธ์ประชาชน ครั้งที่หนึ่ง (Déclaration des droits de l’homme et du citoyens)  เท่ากับสถาปนาประชาธิไตยและอุดมการณ์ชาตินิยม คำประกาศนี้จักเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เจาะจงทั้งสิทธิของเอกบุคคลและสิทธิของมวลชน  และในปีเดียวกันนี้  กลุ่มปฏิวัติได้เข้าปล้นสะดมภ์และวางเพลิงเผาปราสาทและอารามนักบวชต่างๆ
            วันที่ 4 มีนาคม ปี 1790 รัฐสภาตกลงรับหลักการแบ่งเขตการปกครองใหม่เป็น départments [เดป๊ารฺเตอะม็อง](หรือ“เขตการปกครอง”) ซึ่งได้เริ่มต้นพิจารณากฎเกณฑ์ระเบียบและขอบเขตแล้ว   ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม ปี 1789 ได้จัดแบ่งเขตการปกครองที่สะดวกต่อการบริหารประเทศและเชื่อมหน่วยบริหารท้องถิ่น  แต่ละ เดป๊ารฺเตอะม็อง มีเมืองหลักหนึ่งเมืองและมี chef-lieu [เชฟลีเออ] หรือ “ศูนย์กลางการปกครองที่รวมองค์กรและสถาบันต่างๆ” หนึ่งแห่ง (ปกติคือเมืองที่ใหญ่ที่สุดใน เดป๊ารฺเตอะม็อง นั้นแต่ก็มีข้อยกเว้น)    ขนาดของแต่ละ เดป๊ารฺเตอะม็อง คำนวญเพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละเดป๊ารฺเตอะม็อง สามารถเดินทางด้วยม้าจากศูนย์กลางการปกครองหนึ่งไปยังศูนย์กลางการปกครองอีกแห่งหนึ่งใน เดป๊ารฺเตอะม็อง อื่นได้ภายในเวลาหนึ่งวัน  ส่วนชื่อนั้นเลือกตามลักษณะภูมิประเทศและตามเส้นทางไหลของสายน้ำต่างๆในประเทศฝรั่งเศส  (ทุกวันนี้ เดป๊ารฺเตอะม็อง ยังคงเป็นรากฐานของการบริหารแผ่นดินของฝรั่งเศส มีทั้งหมด 95 เขต และยังมีเขตการปกครองอื่นๆอีกที่อยู่นอกแผ่นดินฝรั่งเศสในทวีปยุโรป)[7]  
          วันที่ 14 กรกฎาคม ปี 1790 หนึ่งปีเต็มหลังจากการบุกเข้ายึด la Bastille [ลา บัซตียฺ] มีการจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ที่ Champ-de-Mars [ฌ็องเดอมารฺซ] ในกรุงปารีส  มีผู้มาร่วมงานฉลองกว่าหนึ่งแสนคน  รัฐสภาได้ตั้งความหวังไว้ว่า การเลี้ยงเฉลิมฉลองนี้เป็นการผนึกความปรองดองและความสามัคคีในหมู่มวลชนชาวฝรั่งเศสทั้งหมด  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ไปร่วมงานด้วยและยังได้ให้สัตย์ปฏิญาณตนต่อชาติและต่อกฎหมาย 
           วิญญาณปฏิรูปแผ่เข้าสู่ทุกเครือข่าย ทั้งในแขนงวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์  จนถึงปีการปฏิวัติฝรั่งเศส มีระบบหรือมาตราวัดต่างๆหลายระบบที่ทำให้ชีวิตประจำวันสับสนวุ่นวายและชะลอการค้าขาย[8] วันที่ 26 มีนาคม ปี 1791 สมัชชาแห่งชาติได้ออกกฏหมายกำหนดมาตราวัดความยาวให้เป็น “เมตร”  ตวงปริมาตรเป็น “ลิตร” และชั่งน้ำหนักเป็น “กรัม” และจัดวิธีการคำนวณด้วยระบบเศษส่วนฐานสิบ หรือ système décimal [ซิสแตม เดสิมัล] เป็นระบบเมตริก ที่สะดวกกว่า 
          วันที่ 20 เมษายน ปี 1791 ฝรั่งเศสได้ประกาศสงครามกับออสเตรีย  มีการระดมกำลังจากประชาชนนักปฏิวัติทั้งหลาย  กองทัพฝรั่งเศสที่ขาดระเบียบและระบบยุทธศาสตร์ที่เด็ดขาด ทำให้พ่ายแพ้แก่ศัตรู  กองทหารต่างชาติบุกรุกเข้ามาในแผ่นดินของฝรั่งเศส  หลายคนสงสัยว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นผู้วางแผนร่วมมือกับกษัตริย์องค์อื่นๆในยุโรป
           การปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ระบบกษัตริย์ในทุกประเทศยุโรปสั่นคลอนด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกโค่นลงวันใดวันหนึ่งในอนาคต  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้พยายามติดต่อราชวงศ์ต่างๆในต่างประเทศ  ที่กรุงปารีส สมาชิกในราชวงศ์ไม่มีเสรีภาพในการไปไหนมาไหนเหมือนแต่ก่อนแล้ว  สมัชชาแห่งชาติได้ตรากฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งขึ้นใช้  รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้จำกัดอำนาจส่วนใหญ่ของกษัตริย์ลงไปมาก  พระเจ้าหลุยส์และครอบครัวได้พยายามหนีออกจากเมืองหลวงโดยมุ่งไปยังภาคตะวันออกเฉียง
เหนือ(ในจังหวัด Lorraine [ลอแรน]) อันเป็นที่ชุมนุมของกองกำลังทหารที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระเจ้าหลุยส์  แต่ขบวนของพระเจ้าหลุยส์ถูกจับได้ที่เมือง Varennes [วาแรน] ในวันที่ 21 มิถุนายน ปี 1791 และถูกนำตัวกลับมาที่กรุงปารีส จำกัดที่อยู่ภายในพระราชวัง palais des Tuileries [ปาแล เด ตุยเลอรี]  โดยอยู่ในการควบคุมของการ์ดชาวเมือง  พระองค์จึงโดนข้อหาทรยศต่อชาติ ความสัมพันธ์และความเชื่อใจกันระหว่างกษัตริย์และประชาชนได้ขาดสะบั้นลง
            ฝรั่งเศสอยู่ในภาวะคับขัน  ภาคตะวันออกของประเทศถูกรุกราน  วันที่ 20 เมษายน ปี 1792ฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามกับประเทศออสเตรีย  กรุงปารีสตกอยู่ในอันตราย  ปรัสเซียเข้าร่วมสงครามโดยเข้าข้างออสเตรีย   ต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 1792 รัฐสภาประกาศ “ประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน” และเรียกร้องขอให้อาสาสมัครจากทุกมุมในฝรั่งเศสเดินทางเข้าสู่กรุงปารีสเพื่อมารบปกป้องประเทศ  เพลงชาติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในบริบทนี้ (โปรดดูต่อข้างล่างนี้)   ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชภายใต้รัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้ผล  โดยปริยายจึงเป็นการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  ชาวเมืองปารีสต่างพุ่งความโกรธไปที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และในที่สุดพระองค์ถูกประหารชีวิตในวันที่ 21 มกราคม ปี 1793 ส่วนพระนางมารีอ็องตัวแน็ตถูกประหารในวันที่ 16 ตุลาคมปีเดียวกันนี้  การตายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชฝรั่งเศสที่มีอายุมากว่าพันปี
          วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 1794  ประกาศยกเลิกระบบข้าทาสในอาณานิคมทุกแห่งของฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ซึ่งปรากฏว่ามีผู้คัดค้านต่อต้านมากเพราะมีหลายฝ่ายเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะในยุคของนโปเลียน ได้กลับส่งเสริมการค้าทาสขึ้นใหม่ ด้วยการออกกฎหมาย(ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 1802) ยกเลิกกฎหมายฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1794   กว่าที่การยกเลิกทาสจะบรรลุความสำเร็จขั้นเด็ดขาดก็ในปี 1848 เท่านั้น
            การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นไม่เว้นวัน ณกลางกรุงปารีส (คณะปฏิวัติจัดการตั้งแท่นกีโยตินขึ้นที่จัตุรัส Place de la Concorde [ปล๊าซ เดอ ลา กงก๊อรฺด] ) ผู้คนจำนวนมากถูกศาลปฏิวัติ (tribunal révolutionnaire [ทรีบูนัล เรโวลูซีย็อนแนรฺ])  ตัดสินในข้อหาทรยศต่อประเทศและถูกประหารชีวิต ภาพการตัดหัวบนแท่นกีโยติน สร้างบรรยากาศของความสะใจบวกกับความหวาดหวั่นลึกลงไปในจิตสำนึก  ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเรียกว่าเป็นยุคของความหวาดผวา (la Terreur [ลา แตรฺเรอรฺ]) และแบ่งออกเป็นสองระลอก ๆ แรกนับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคมถึงวันที่ 20 กันยายน ปี 1792  และระลอกที่สองตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน ปี 1793 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคมปี 1794 อันเป็นวันที่ Robespierre [โรเบซปิแยรฺ] (1758-1794) แกนนำคนสำคัญคนหนึ่งในการปฏิวัติฝรั่งเศสและพรรคพวกถูกประหารชีวิต ถือเป็นจุดจบของยุคของความหวาดผวา

ภาพพิมพ์นิรนามจากสมัยปลายศตวรรษที่ 18 พร้อมคำจารึกบนฐานกิโยตินที่ตั้งเด่นเหนือจัตุรัสใหญ่ของกรุงปารีส (Place de la Concorde [ปล๊าซ เดอ ลา กงก๊อรฺด] ) ว่า « Et la garde qui veille aux Barrières du Louvre n'en défend pas les rois... » ในความหมายว่า และการ์ดผู้รักษาการณ์อยู่รอบบริเวณพระราชวังเลอลูวร์ มิได้ปกป้องเหล่ากษัตริย์...  ให้สังเกตว่า ตรงหน้าแท่นประหารบนเสาสี่เหลี่ยม(ด้านขวาของภาพ) มีรูปปั้นของมารีอาน (Mariane) หญิงชาวบ้านฝรั่งเศส สวมหมวกแบบฟรีเจียง (ดูรายละเอียดต่อไปข้างล่างต่อไปนี้ )  ภาพแบบนี้จักเป็นภาพถาวรที่ประเทศฝรั่งเศสใช้เป็นสัญลักษณ์แทนมวลมหาชนชาวฝรั่งเศส[9] ประชาธิปไตยฝรั่งเศสได้มาจากปวงชนชาวบ้านชาวนาชาวไร่หรือมาจากสามัญชน จึงสมควรที่ประเทศจะยกภาพของหญิงสามัญชนขึ้นเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อเจาะจงว่า ความเจริญของประเทศต้องอยู่ที่การกินอยู่และคุณภาพชีวิตของมวลประชาผู้เป็นรากหญ้าของแผ่นดินก่อนผู้ใด  (ภาพพิมพ์นี้จากวิกิพีเดีย ไม่มีสิทธิคุ้มครอง)

             22 สิงหาคม ปี 1795  สาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกว่า Constitution de l’An III [กงซฺตีตูซียง เดอ ล็อง ทฺรัว]

Robespierre [โรเบซปีแยรฺ] แกนนำคณะปฏิวัติ
         บุคคลสำคัญในคณะปฏิวัติที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส คือ Maximilien de Robespierre [มักซีมีเลียง เดอ โรเบซปีแยรฺ] (1758-1794) นักกฏหมายและนักการเมืองชาวฝรั่งเศส  เป็นนักคิดเสรีนิยมที่ตรงไปตรงมา  เล่ากันว่าเขามีหนังสือเรื่อง Contrat social [กงทฺรา โซซีอัล] ของ Jean-Jacques Rousseau [ฌ็อง-ฌ๊าก รูสโซ] (1712-1778, นักเขียนฝรั่งเศส) วางไว้ข้างเตียงนอนเสมอ  อุดมการณ์ที่รูสโซเสนอไว้ในหนังสือเล่มนั้นมีอิทธิพลต่อความคิดและอุดมการณ์ของโรเบซปีแยร์อย่างยิ่ง  อุดมการณ์สูงและความเชื่อในความจริงใจของตนเอง ทำให้เขาหงุดหงิดและทนฟังความคิดของคนอื่นไม่ค่อยได้  เขาเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส  และได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของฐานันดรที่สามไปร่วมประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 1789   และเป็นหนึ่งใน Comité de salut public  [โกมิเต้ เดอ ซาลู ปูบลิ้ก]  (คือคณะกรรมการเพื่อความมั่นคงของมวลมหาชน / เพื่อประกันชีวิตและคุณภาพของมวลมหาชน)  ที่มีสมาชิกสิบสองคน  จึงมีบทบาทสูงสุดในช่วงสุดขั้วของการปฏิวัติ  คณะกรรมการดังกล่าวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลาอันรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ช่วยกู้เศรษฐกิจจากภาวะล้มละลายให้มั่นคงมากขึ้น  รวมทั้งการสถาปนากองทัพฝรั่งเศสได้อย่างมีประสิทธิผล  นโยบายของเขามุ่งไปในการกวาดล้างผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติโดยเฉพาะในภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศ  อันนำไปสู่ความหวาดกลัวจนนักประวัติศาสตร์เรียกยุคที่เขาเป็นแกนนำนี้ว่าเป็นยุคของความหวาดผวา (La Terreur [ลา แตรฺเรอรฺ]) ระหว่างเดือนกันยายน 1793 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1794  ศาลปฏิวัติได้ตัดสินประหารชีวิตคนจำนวนมาก เป็นชาย 283 คน เป็นหญิง 31 คน ปล่อยผู้ต้องหาไป 190 คน และมีผู้ถูกคุมขังรอคอยการพิพากษาอีก 5434 คน  เขาเป็นสมาชิกในสมัชชาแห่งชาติด้วย (La Convention nationale [ลา กงว็องซียง นาซีอ็อนนัล]) ความคิดสุดโต่งของเขาทำให้หลายคนเดือดร้อนและไม่พอใจมาก  สภาพการณ์ทางการเมืองทำให้เขาและพรรคพวกร่วมอุดมการณ์ถูกจับในฐานะคนนอกกฎหมาย และในที่สุดถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกีโยตินในวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 1794  ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นรัฐบาลปฏิวัติถูกโค่นลง สิ้นสุดยุคของความหวาดผวา หรือ la Terreur  
           ตลอดระยะเวลาที่โรเบซปีแยร์อยู่ในคณะปฏิวัติและทำงานเพื่อประชาธิปไตยนั้น  เขามีจุดยืนสำคัญหลายเรื่องที่น่าสรรเสริญ เช่น เขาสนใจช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนยากไร้อย่างจริงจัง ได้พยายามสร้างสรรค์สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น  เช่นออกกฎหมายควบคุมราคาขนมปังและราคาเมล็ดธัญพืช  แต่หลายคนในคณะปฏิวัติเองไม่ไยดีนักกับคนยากจนและสนใจที่จะส่งเสริมเสรีภาพทางการค้าการเงินมากกว่า   เขายังสนับสนุนให้ยกเลิกระบบซื้อขายทาสในอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้งหมด (ซึ่งไปขัดผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ที่ร่ำรวยเพราะการมีทาสรับใช้ในธุรกรรมต่างๆ)  เขาสนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต  สนับสนุนให้คนผิวสี ชาวยิวและนักแสดงในประเทศมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ให้ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน  เขายังได้เข้าไปจัดระบบตลาดหลักทรัพย์ให้เข้มงวดและโปร่งใส  เมื่อชีวิตเขาสิ้นลง นโยบายหลายอย่างของเขาก็ถูกล้มไปด้วยอย่างน่าเสียดาย เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ยังคงเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว 
           เมื่อพินิจพิเคราะห์คำปราศัยของโรเบซปีแยร์ เราตระหนักถึงอุดมการณ์ของเขาที่น่าสรรเสริญทีเดียว เช่นเขากล่าวว่า  การบริหารประเทศต้องมีวิญญาณปฏิวัติควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้หลักการของประชาธิปไตย  แต่สิ่งที่ผลักดันประชาธิปไตยให้ก้าวรุดหน้าไปได้ คือ คุณธรรมของมวลชน เป็นคุณธรรมที่เคยนำกรีซโบราณและโรมไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว  และคุณธรรมนั้นจะทำให้ฝรั่งเศสรุ่งโรจน์ขึ้นอีกหลายเท่า   คุณธรรมนั้นคือความรักชาติและการเคารพกฎหมายของชาติ  เนื่องจากประเด็นหลักของรัฐประชาธิปไตยคือความเสมอภาค ความรักชาติจึงต้องรวมความรักความเสมอภาคด้วย  และนี่คือสิ่งที่โรเบซปีแยร์เรียกว่า คุณธรรมรีพับบลิกกัน  จิตสำนึกดังกล่าวคือความตระหนักถึงสาธารณประโยชน์เหนือผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล  เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรักชาติจึงนำไปสู่คุณธรรมอื่นๆทั้งหมด และที่ทำให้แต่ละคนยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ของมวลมหาชนร่วมกัน  โรเบซปีแยร์ยังกล่าวว่า คุณธรรมรีพับบลิกกัน โดยปริยายต้องโยงไปถึงมวลมหาประชาชนชนและรัฐบาล  ทั้งสองหน่วยนี้ต้องมีคุณธรรมดังกล่าว  ยามใดที่รัฐบาลขาดคุณธรรม หากมวลชนยังมีคุณธรรมนั้นอยู่  ประเทศก็จะรอดและวิวัฒน์พัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยความเพียร ความกล้าหาญ และปัญญา  มวลมหาชนก็จะสามารถปลดโซ่ตรวนของระบอบเผด็จการและมุ่งหน้าไปสู่อิสรภาพได้  แต่ยามใดที่ปวงชนสิ้นคุณธรรม ยามนั้นประเทศได้สูญเสียอิสรภาพไปแล้ว  และบอกว่ารัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาลและกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นจักเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว สิ่งตรวจสอบความชอบธรรมของพฤติกรรมทั้งของปวงมหาชนและของรัฐบาลเอง  เขาสรุปว่าอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเหมือนดาบสองคม มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน  จุดแข็งคือการไต่เต้าของวิญญาณสำนึกของมวลชนสู่ความจริงที่เหนือกว่า สู่คุณธรรมของการรู้จักเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม  จุดอ่อนคือเป็นการชักนำศัตรูมาสู่ตัวเพราะฝ่ายที่เคยได้ประโยชน์ ฝ่ายอภิสิทธิ์ชนย่อมไม่พอใจและขัดขืน เกิดความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ
            มีผู้วิเคราะห์วิจารณ์ความสุดโต่งของโรเบซปีแยร์ในฐานะแกนนำของคณะปฏิวัติที่สนับสนุนกระบวนการข่มขวัญที่สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วประเทศด้วยมาตรการที่เด็ดขาด  ที่ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเรียกยุคนี้ว่า  la Terreur [ลา แตรฺเรอรฺ]  เป็นยุคที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่เพิ่งเกิดใหม่กำลังเผชิญปัญหาศึกสงครามทั้งภายนอกและภายในประเทศ  ศึกภายนอกคือสงครามสู้กับกองกำลังรวมของประเทศอื่นๆในยุโรปที่หวังจะช่วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16   ส่วนศึกภายในคือสงครามกลางเมืองต่อต้านกลุ่มอนุรักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์และกลุ่มสนับสนุนระบบสหพันธรัฐ   สาธารณรัฐฝรั่งเศสในยุคเริ่มต้นนั้น ยังไม่มีความเสมอภาคใดๆอย่างแท้จริง และยังคงใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรงในการขจัดปัญหากับคู่ต่อสู้   กดขี่ข่มเหงฝ่ายที่มีอุดมการณ์การเมืองที่ตรงข้ามกับอุดมการณ์ของคณะปฏิวัติ  เป็นระยะเวลาที่เหตุการณ์บ้านเมืองสับสนวุ่นวายมากเหมือนไม่มีกฎหมายยึดเหนี่ยวใดๆ  และเป็นช่วงที่มีการจับคนประหารชีวิตจำนวนมากโดยคำสั่งของศาลปฏิวัติ (le tribunal révolutionnaire [เลอ ทรีบูนัล เรโวลูซีอ็อนแนรฺ]) ที่ตั้งขึ้นในเดือนมีนาคมปี 1793   ทั้งหมดนี้สร้างบรรยากาศที่อึมครึม ทำให้มวลชนหวาดผวากลัวตายกลัวถูกจับถูกประหาร  ช่วงเวลาอันสั่นขวัญชาวประชานี้สิ้นสุดลงเมื่อโรเบซปีแยร์ถูกประหารชีวิต  
           โรเบซปีแยร์กล่าวว่าความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือที่พวกเผด็จการใช้ปกครองประเทศ  เมื่อพวกเผด็จการเป็นศัตรูกับอิสรภาพ  มวลชนย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่จะรวมกันล้มระบอบเผด็จการและสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น  ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรมได้ และก็อาจนำมาใช้เพื่อบังคับให้ทุกคนเคารพกฎหมาย เพื่อผนึกความยุติธรรมที่จักเป็นกลไกสู่การบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจังมากขึ้นๆ  หากมิได้ทำผิด ย่อมมั่นใจได้ว่า สาธารณรัฐฝรั่งเศสมีเมตตาแก่คนบริสุทธิ์  คนอ่อนแอ คนจน ผู้เคราะห์ร้าย สาธารณรัฐฝรั่งเศสมีเมตตาต่อมนุษยชาติ  (ตราบใดที่มนุษยชาติไม่คิดทำลายสาธารณรัฐ)
           ยุคนั้นยังมีการยกปัญหาศาสนาขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ  มีฝ่ายที่ต้องการถอดถอนคริสต์ศาสนามิให้มีอิทธิพลต่อการเมือง  โรเบซปีแยร์กลับไม่เห็นด้วย  เขาได้จัดให้มีการออกเสียงเรื่องนี้ในสมัชชาแห่งชาติ ในที่สุดมีมติตรากฎหมาย (ฉบับ 18 floréal an II) ที่ระบุว่า  ชาวฝรั่งเศสยอมรับว่ามีพระเจ้า และยอมรับว่าวิญญาณเป็นสิ่งไม่ตาย  โรเบซปีแยร์ให้ความเห็นว่า  การยอมรับว่ามีพระเจ้านั้น มิใช่เป็นเรื่องงมงาย  คริสต์ศาสนามิได้เป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการ  มีลัทธิอื่นๆอีกมากที่พยายามหว่านล้อมให้คนหลงใหลด้วยเวทมนต์คาถา  ที่ส่งเสริมความทะเยอทะยาน ความบ้าคลั่งแบบต่างๆ และกระตุ้นอารมณ์ป่วนรุนแรงในคน เพื่อใช้คนพวกนั้นเป็นสะพานไปสู่เป้าหมายทางการเมืองที่พวกเขาคิดไว้ในใจ  เขากลับเชื่อว่า การยอมรับว่า ธาตุแท้ของมนุษย์นั้นอ่อนแอ มนุษย์ต้องการสิ่งที่เข้มแข็งกว่าเขาที่จักผลักดันเขาไปข้างหน้า  ความเชื่อในพระเจ้าจักเป็นสิ่งผลักดันให้มนุษย์บรรลุมิติที่เหนือกว่า อันเป็นมิติของคุณธรรม  เขายกตัวอย่างประสบการณ์ของเขาเอง ว่าเขาตกอยู่ในแวดล้อมของผู้คิดคดทรยศต่ออุดมการณ์การปฏิวัติ  ต่อความยุติธรรมที่เขาพยายามปลูกฝังให้มีขึ้นเพื่อยกระดับคนจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม  เขาบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งที่เกินกำลังวังชาของเขาได้อย่างไร หากเขาไม่มีความเชื่อในคุณธรรม ในพระเจ้า [10]

กำเนิด บทบาทและอิทธิพลของเพลงชาติฝรั่งเศส
            เพลงชาติฝรั่งเศสเริ่มขึ้นในปี 1791 ตอนนั้นมีนายทหารชาวจังหวัด Franche-Comté [ฟร้องชฺ กงเต้] นายหนึ่งชื่อ Rouget de Lisle [รูเจ้ะ เดอ ลีลฺ ] (1760-1836)  เขาเป็นนายร้อยเอกฝ่ายวิศวกรรม ถูกส่งไปประจำในกองทหารที่เมืองสตร๊าสบูร์ก (Strasbourg อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส)  เดือนเมษายนในปีถัดมา เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรีย  นายกเทศมนตรีชื่อ Baron de Dietrich [บารง เดอ ดีทริ้ชฺ ] ได้ขอให้ Rouget de Lisle แต่งทำนองดนตรีพร้อมบทร้อยกรองเพื่อใช้ในกองทัพ  บทประพันธ์นั้นจึงรู้จักกันในนามว่า  Le chant de l’armée du Rhin (บทเพลงของกองทหารลุ่มน้ำไรน) [11]  เพลง La Marseillaise จึงเริ่มขึ้นด้วยการเป็นเพลงปลุกใจทหารให้ฮึกเหิมในวาระที่มีสงครามกับต่างชาติในศตวรรษที่ 18 เช่นกับออสเตรีย สเปน อังกฤษ หรือกับชาวเตอร์ก  (ซึ่งตรงกับเนื้อหาในบทที่สองและสาม  โปรดดูที่คำร้องข้างบนนี้  สองตอนนี้มักไม่ค่อยยกขึ้นมาร้องแล้วในปัจจุบัน)  เป็นเพลงแห่งยุคสมัยที่วิญญาณขบถและจิตสำนึกของความรักมาตุภูมิผันเกลียวกันเป็นหนึ่งเดียว

ในภาพบนนี้ Rouget de Lisle กำลังร้องเพลง La Marseillaise เป็นครั้งแรก ที่บ้านพักของนายกเทศมนตรี Dietrich เมือง Strasbourg  จิตรกรรมนี้วาดตามภาพของ Isidore-Alexandre-Augustin Pils (1813-1875) ปัจจุบันอยู่ที่รัฐสภาฝรั่งเศส (Assemblée nationale) (ภาพจากวิกิพีเดียในหัวข้อ la Marseillaise ณวันที่ 9 สิงหาคม 2013. ไม่มีสิทธิคุ้มครอง)

     ในปี 1792  อาสาสมัครชาวเมืองมาร์เซยที่รวมตัวกัน(เรียกกันในนามว่า Les Fédérés [เล เฟเดเร] เป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อเสรีภาพในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส) ได้เดินทางออกจากเมืองมาร์เซยวันที่ 2 และ 3 กรกฎาคมขึ้นสู่กรุงปารีส  ตลอดเส้นทางพวกเขาตะโกนร้อง บทเพลงของกองทหารลุ่มน้ำไรน   อย่างกึกก้อง  ปวงชนบนเส้นทางจากใต้ถึงกรุงปารีสต่างรู้สึกประทับใจกันมาก และเรียกเพลงที่พวกเขาร้องว่า La Marseillaise หรือเพลงของชาวเมืองมาร์เซย [12]  กลุ่มนักสู้อาสาสมัครจากเมืองมาร์เซยนั้น (ตามคำแถลงอย่างเป็นทางการ) ขึ้นไปกรุงปารีสเพื่อเป็นกองกำลังหนุนให้กองทหารที่กำลังต่อสู้กับออสเตรีย(ปรัสเซีย)และที่ตั้งมั่นอยู่ทางตะวันออกของฝรั่งเศส  แต่ในความเป็นจริงพวกเขาไปเป็นกองกำลังหนุนของกองอาสาสมัครชาวปารีสที่มีเป้าอยู่ที่การระดมพลเข้ายึดครองกรุงปารีส  นี่ทำให้เข้าใจว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน  แต่เกิดมาจากการคิดการตระเตรียมอย่างมีหลักมีแผน รวมกำลังปวงชนจากหัวเมืองต่างๆด้วย  จนสามารถขจัดระบอบราชาธิปไตยและอำนาจขององค์การศาสนา  ประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง
          วันที่ 14 กรกฎาคม 1795 มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้เพลงนี้เป็นเพลงชาติ  กลุ่มทหารอาสากลุ่มนี้ได้เข้าไปถล่มพระราชวัง Les Tuileries [เล ตุยเลอรี]  พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกเสียบัลลังก์ในวันที่ 10 สิงหาคมปี 1795
            เพลงชาตินี้ถูกสั่งห้าม ในสมัยจักรวรรดินโปเลียน (นโปเลียนที่หนึ่งระหว่างปี 1804-1814/1815 และนโปเลียนที่สามระหว่างปี 1852-1870) และสมัยฟื้นฟู (Restoration ระหว่างปี 1814-1830 เมื่อนโปเลียนที่หนึ่งสละราชย์) และกลับมาเป็นเพลงชาติอีกในสมัยปฏิวัติปี 1830 และปี 1848   สำหรับชาวฝรั่งเศสในสนามสงครามเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย ไม่มีอาวุธใดหรือปืนใดที่จะมีอานุภาพเท่ากับเพลง La Marseillaise  และตั้งแต่ปี 1879 La Marseillaise ถูกกำหนดให้เป็นเพลงชาติฝรั่งเศสและให้ใช้ในทุกโอกาส ให้เป็นตัวแทนของความเป็นชาติฝรั่งเศสบนเวทีโลก  
                       
            ทำนองดนตรีของเพลงชาตินี้ ถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขไปบ้าง ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ในปี 1830 เมื่อ Hector Berlioz [เอ๊กตอรฺ แบรฺลีโอ๊ซฺ]  (1803-1869, นักประพันธ์ดนตรีชาวฝรั่งเศส) ได้ปรับเปลี่ยนเรียบเรียงดนตรี เขาเองเป็นผู้กำกับและนำการบันเลงด้วยวงศ์ดุริยางค์ขนาดใหญ่  เนรมิตเพลง La Mareseillaise ที่กระหึ่มอุโฆษยิ่งขึ้นอีกตามสไตล์ของเขา   Berlioz ยังเขียนกำกับลงบนแผ่นโน๊ตดนตรีของเขายืนยันว่า ต้องเป็นแบบนี้ “ สำหรับคนที่มีหัวใจ มีเสียงและมีเลือดเข้มข้น”  ในวาระนั้น Rouget de Lisle  ผู้แต่งเพลง La Marseillaise  เมื่อได้ฟังเพลงชาติบันเลงตามสไตล์ของ Berlioz เขาได้เขียนจดหมายถึง Berlioz ว่า “ ศีรษะคุณคงเหมือนภูเขาไฟที่คุกกรุ่นและลุกโพลงอยู่เสมอ  ในศีรษะของข้าพเจ้า มีแต่เส้นฟางติดไฟที่ยังคงโชยควันอยู่บ้าง  แต่ในที่สุด เมื่อผนวกพลังจากภูเขาไฟของคุณกับเปลวไฟจากเส้นฟางของผมเข้าด้วยกัน มันทำให้เกิดผลวิเศษได้ ” [13]
          Alphonse de Lamartine [อัลฟ้งซฺ เดอ ลามารฺติ้น] (1790-1869 นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้หนึ่ง ที่ผลักดันให้เกิดการสถาปนาสาธารณรัฐที่สอง - la Deuxième République, 1848-1851) เขียนถึงเพลง La Marseillaise ว่า «คำร้องที่มีทั้งเสียงห้าว เสียงหนักและเสียงแหลม  เหมือนเสียงคำรามในคอ เสียงแห่งความโกรธที่ถูกบีบอัดอยู่ในอก ตามด้วยเสียงโห่ฮิ้วมั่นใจในชัยชนะ  เนื้อร้องขรึมเหมือนความตาย  สง่าเหมือนความเชื่อมั่นในความรักชาติที่ไม่มีวันดับ   มันเป็นเสียงร้องของวีรกรรม  ดนตรีที่ล่องลอยไปในอากาศเหมือนธงที่โบกสะบัดที่อาบด้วยเลือดที่ยังอุ่นๆบนสนามรบ  มันทำให้คนที่ได้ยินตัวสั่น ใจเต้นตูมตาม  มันทำให้อารมณ์พลุ่งพล่าน  เสริมกำลังวังชาที่ถีบขึ้นกดความกลัวตายลงเสียสิ้น  บทเพลง La Marseillaise เป็นเหมือนน้ำมันก๊าดของวิญญาณขบถที่สกัดออกจากอารมณ์ความรู้สึกทั้งมวลและกลั่นกรองจากมโนสำนึกที่พร้อมสู้ตาย »[14]
          Lamartine  พรรณนาต่อไปว่า  เท้าที่ก้าวเดิน  กิริยาที่มุ่งมั่น เสียงร้องที่ก้องหู ทุกอย่างกระแทกหัวใจ  ร่างกายคนทั้งร่างกลายเป็นเครื่องมือของความฮึกเหิม  ศิลปะกลายเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์  ลีลานั้นหาญกล้า ดนตรีลั่นกลองรบ คำร้องกินใจ  เมื่อทุกปากร่วมร้องเพลงเดียวกัน มันไม่มีวันดับสูญ เหมือนธงศักดิ์สิทธิ์ที่ปลิวสะบัดใต้เพดานโค้งสูงของโบสถ์ต่างๆ และที่ทางการเอาออกมาขึงประดับในโอกาสพิเศษเท่านั้น  ทุกคนเก็บเพลงนี้ไว้เหมือนอาวุธสุดยอดที่จะใช้ในยามที่ชาติต้องการ  เพลงประจำชาติกลายเป็นจิตวิญญาณ เป็นด่านสุดท้ายเมื่อชาติต้องเผชิญวิกฤตกาลต่างๆ   วิญญาณนักสู้อันห้าวหาญและอารมณ์เข่นฆ่าที่เกรี้ยวกราด ชัยชนะและความตายผันเกลียวไปด้วยกันในบทสร้อย  นี่เป็นลำนำของความรักชาติในขณะเดียวกันก็เป็นคำสาบแช่งของความแค้น  เพลงนี้นำกองทหารหาญไปยังพรมแดนเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและนำนักโทษขึ้นสู่แท่นประหารกิโยติน   ดาบในมือทหารปกป้องหัวใจของชาติ  ดาบในมือเพชฌฆาตรเฉือนคอหอยผู้ต้องโทษ   La Marseillaise ได้เก็บเสียงก้องกังวาน ของประกายงามเรืองรองและอุโฆษ กับเสียงโหยหวนของความตาย ทั้งบรรเจิดและสุดสลด เป็นลำนำที่กระชับความเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของแผ่นดินพร้อมๆกับที่ทำให้คนหน้าเผือดและใจขยาด
            นี่คือประเด็นสำคัญที่ประกาศไว้ในเพลงชาติฝรั่งเศส  [15]  นอกจากความเด่นด้านคีตศิลป์ของเพลงชาติฝรั่งเศส  และความเข้มข้นโดดเด่นด้านวรรณศิลป์ของนักเขียนฝรั่งเศส  ยังมีตัวอย่างจากศิลปะรูปแบบอื่นๆที่ได้จารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ของฝรั่งเศส และเรานำมาประกอบณที่นี้อีกสองรูปแบบ คือประติมากรรมและจิตรกรรม

ประติมากรรมจำหลักนูนสูงในนามว่า La Marseillaise (หรือ กองทหารพร้อมออกรบในปี 1792) ผลงานของ François Rude [ฟร็องซัว รูด] (1784-1855) ประดับบนประตูชัย - Arc de Triomphe de l’ Etoile กรุงปารีส  เหนือกลุ่มอาสาสมัครที่มีทั้งทหารและชาวบ้านพร้อมอาวุธ คือรูปลักษณ์ท่าอาจหาญและฮึกเหิม ของ เสรีภาพ (ที่ติดปีกแผ่กว้างอย่างเข้มแข็ง) ประติมากรรมกลุ่มนี้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส (La première République  สถาปนาขึ้นในวันที่ 22 กันยายน 1792)  
Eugène Delacroix (1798-1863) วาดภาพ La Liberté guidant le peuple ในปี 1830 เพื่อเป็นศิลป์อนุสรณ์รำลึกถึงการปฏิวัติในเดือนกรกฎาคมปี 1830 (ภาพนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เลอลูเวรอ - Le Louvre กรุงปารีส) ดูรายละเอียดได้ที่http://www.educationnumeriquepourtous.com/new/ressources/Ressources/flash_resources/4_hist_eur19_delacroix_anim.swf

          Eugène Delacroix เป็นจิตรกรผู้นำกระแสโรมันติสิซึมของฝรั่งเศสในยุคฟื้นฟู (peintre romantique français)  โดยเบนไปรับเทคนิคของจิตรกรชาวเวนิส ของไมเคิลแอนเจโล (Michelangelo) และของรูเบินส์ (Rubens)  ภาพนี้เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 27, 28, 29 กรกฎาคมปี 1830 [16]  จิตรกรรมนี้ถูกนำไปแสดงใน Salon de 1831[ซาลง เดอ มีลวิดซ็องทร็องเตเอิง] (นิทรรศการปี 1831) ที่ได้ปลุกความสนใจอย่างกว้างขวางในหมู่มวลประชา  ทางการฝรั่งเศสได้ซื้อภาพนี้ไว้สำหรับพิพิธภัณฑ์ลุกซ็องบูร์ก  แต่ภาพถูกเก็บซ่อนไว้หลายปีเพราะหลายคนคิดว่าเป็นภาพที่อาจหาญเกินไปที่เข้าข่ายปลุกวิญญาณขบถ
       เรามาพิจารณาอ่านภาพของ Delacroix กันณที่นี้   จิตรกรได้บรรจงเสนอภาพของผู้ปฏิวัติในปี 1830 ที่มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็กและทุกชนชั้นในสังคม  พื้นหลังของภาพ ในมุมขวาระดับกลางภาพ เห็นมหาวิหารน็อตเตรอดามที่กรุงปารีส สีของแสงแดดยามเย็นกลมกลืนกับสีควันไฟจากปืนใหญ่ที่กระจายตรงกลางภาพ  สีท้องฟ้าเริ่มครึ้มแล้ว  พื้นหน้าของภาพ ร่างของคนตายและคนเจ็บที่นอนแผ่อยู่เบื้องหน้า กัดกร่อนความรู้สึก ยืนยันคำขวัญของชาวปฏิวัติว่า “เสรีภาพหรือความตาย”  ผู้หญิงคนหนึ่งล้มลงแล้วแต่ยังมีชีวิต พยุงยกตัวท่อนบนขึ้น มือท้าวบนศพของเพื่อนร่วมรบ เงยหน้ามองผู้หญิงตรงหน้าด้วยความความหวังในสำนึกสุดท้ายก่อนสิ้นใจ 
           บุคคลเด่นที่สุดในภาพเพราะอยู่ตรงกลางภาพ เป็นผู้หญิงชาวบ้านเต็มตัว เห็นชัดในแสงสว่าง มือขวาชูธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสุดแขน ธงโบกสะบัดเหมือนปลายเชือกที่ผูกไว้รอบบั้นเอวของเธอ  มือซ้ายถือปืนยาวปลายติดดาบ  ศีรษะสวมหมวกผ้าที่มีปมไปขมวดอยู่หลังต้นคอ (เรียกว่า bonnet phrygien [บ็อนเน ฟรีเจียง] หมวกผ้าของหญิงชาวบ้าน) เป็นหมวกแบบหนึ่ง มักย้อมสีแดงหรือสีเหลือง เป็นเอกลักษณ์ที่มาจากกรีซโบราณ[17]  ฝรั่งเศสในยุคปฏิวัติตั้งแต่ปี 1790 ได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและของการเป็นพลเมืองที่ดี เช่นนี้หมวกนี้จึงได้สมญานามว่าเป็น “หมวกของเสรีภาพ” หมวกนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ตรงข้ามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  เป็นไอคอนของเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ  และในระหว่างฤดูใบไม้ร่วงปี 1793 ถึงกรกฎาคม 1794   ปรากฏว่าองค์กรฝ่ายบริหารหลายกลุ่มได้ร่วมกันสวมหมวกแบบนี้  ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นมา  Marianne [มารีอาน] (ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส) สวมหมวกแบบนี้  
           เสื้อผ้าที่เธอสวมใส่เป็นแบบเสื้อทูนิคตัวยาวมีเชือกมัดเอวเพื่อความกระชับในการเคลื่อนไหว เท้าเปล่า เสื้อท่อนบนหลุดลง เผยให้เห็นหน้าอกของเธอ  เธอคงได้วิ่งนำขบวนมานานพอสมควรแล้ว เธอหันหน้าไปด้านหลังที่มีกลุ่มคนตามมา ทำท่าในทีแบบเรียกให้ตามเธอไป  ด้านซ้ายมือของเธอมีผู้ร่วมปฏิวัติ มีปืนในมือทั้งสอง มือหนึ่งยกสูงขึ้น ปากกำลังร้อง(เหมือนร้องว่า สู้ๆ หรือ รุกเข้าไปเป็นต้น)  ส่วนด้านขวาของเธอก็มีกลุ่มปฏิวัติที่รวมประชาชนจากชนชั้นต่างๆ (สังเกตได้จากเสื้อผ้าที่สวม) เช่น ชายที่สวมหมวกดำทรงสูง ไว้เคราสองข้างแก้ม ผูกหูกระต่ายทับเสื้อเชิ้ต  มือถือปืนยาว นี่เป็นภาพลักษณ์ของปัญญาชนยุคนั้น อาจเป็นนักศึกษา  หมวกของคนที่อยู่ข้างหลังเขา(เช่นเดียวกับของผู้ที่อยู่ด้านซ้าย) เป็นหมวกแบบเบเรต์ (béret) ซึ่งเป็นหมวกของสามัญชนอาชีพต่างๆกัน ของจิตรกรด้วย(ต่อมาหมวกเบเรต์นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบทหารฝรั่งเศส และในปัจจุบันเป็นหมวกสำหรับหนุ่มสาวทุกรุ่นทุกวัยในทุกโอกาสที่เขาต้องการใช้  หมวกเบเรต์ไม่เคยล้าสมัย)   ผู้หญิงตรงกลางภาพนี้จึงสรุปนัยยะของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเสรีภาพ  เธอจึงเป็นบทเปรียบเทียบและในที่สุดเป็นสัญลักษณ์ของ “เสรีภาพ” อย่างถาวร  ส่วนภาพบุคคลแต่ละคนอยู่ในกิริยาท่าทางหนึ่งและกำลังมุ่งสู่ข้างหน้า  กลุ่มบุคคลในภาพนี้แหละที่บอกว่า การปฏิวัติกำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้น  จิตรกรวางองค์ประกอบของภาพอยู่ในกรอบของสามเหลี่ยมปิรามิดโดยมีธงชาติฝรั่งเศสเป็นยอดของปิรามิดและมีศพนักสู้กระจายเป็นฐาน  เหตุการณ์วีรกรรมทั้งหมดนี้จึงโดดเด่นเตะสายตายิ่งบนพื้นหลังของควันไฟจากปืนใหญ่และแสงอาทิตย์อัสดง   มาถึงจุดนี้ จะเห็นความจริงที่ยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ว่า เสรีภาพได้มาด้วยเลือดเนื้อของปวงชนเสมอ 
       Delacroix ผู้เนรมิตจิตรกรรมนี้ ได้แสดงจุดยืนของเขาว่า เขาอยู่ฝ่ายประชาชนที่ลุกฮือเพื่ออิสรภาพและเสรีภาพ  เขากล่าวถึงการเนรมิตจิตรกรรมชิ้นนี้ของเขาในทำนองว่า หากเขามิได้ไปสู้ในสนามรบเพื่อประเทศบ้านเกิดของเขา อย่างน้อยเขาจักเนรมิตภาพเพื่อบันทึกวีรกรรมของปวงชนไว้  จิตรกรได้บรรลุเป้าหมายของเขา เพราะจิตรกรรมนี้ยังคงอยู่ประกาศวีรกรรมของปวงมหาชนชาวฝรั่งเศสมาจนถึงทุกวันนี้  และไม่ว่าผู้ใดเมื่อไปยืนหน้าภาพนี้ ก็ต้องรำลึกถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษที่ได้ต่อสู้จนทำให้ประเทศฝรั่งเศสมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงเป็นแบบอย่างของชนชาติอื่นๆในโลก

           ไม่นานเพลงชาติฝรั่งเศสก็แพร่หลายไปทั่วโลก  ประชาชาติอื่นๆที่ได้ยินเพลงนี้ พลอยฮึกเหิมด้วยความรักชาติที่ไม่เคยมีใครหรืออะไรสามารถกระตุ้นผลักดันกันมาก่อน  มันดังก้องในหูในจิตสำนึก  มวลมหาชนพร้อมเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องสันติภาพ เพื่อธำรงความมั่นคง เกียรติยศและศักดิ์ศรีของประชาชาติ [18]  
            กรกฎาคม ปี 1936 รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบร้อยปีการตายของ Rouget de Lisle.  ต่อมาในปี 1939  Jean Renoir [ฌ็อง เรอนัวรฺ] (1894-1979 นักแสดง นักเขียน นักสร้างภาพยนต์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดในครึ่งแรกของศตวรรษที่20)  ได้สร้างภาพยนต์เล่าเหตุการณ์ความผันผวนทางการเมืองในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส และเขาใช้ชื่อ La Marseillaise เป็นชื่อภาพยนต์.  ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  นายพลเดอโกลล์ (le général de Gaulle ผู้ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ประเทศอังกฤษและระดมกำลังคนสร้างเป็นเครือข่ายใต้ดินเพื่อต่อต้านการยึดครองของเยอรมนี)[19] ได้ร้องเพลงชาติฝรั่งเศสปลุกใจทุกคนให้สู้เพื่อปลดปล่อยประเทศฝรั่งเศสและโดยเฉพาะตลอดทั้งวัน (วันที่ 26 สิงหาคม 1944) ที่กรุงปารีส เมื่อกองทัพฝรั่งเศสและพันธมิตรได้ขับไล่กองทหารเยอรมันทั้งหมดออกไปจากแผ่นดินฝรั่งเศส  วันนั้นนายพลเดอโกลล์และมวลชนชาวกรุงปารีสมุ่งไปสู่ประตูชัย Arc de Triomphe [อ๊ารฺก เดอ ทฺรีอ๊มฟฺ] ด้วยความปิติลิงโลดใจ  ชาวฝรั่งเศสจำวันนั้นได้ และจำคำปราศรัยของนายพลเดอโกลล์ที่กล่าวว่า  « Paris outragé ! Paris brisé ! Paris martyrisé ! Mais Paris libéré ! »  (ปารีสถูกเหยียดหยาม ปารีสถูกทำลาย ปารีสถูกทรมาน  แต่ปารีสถูกปลดปล่อยในที่สุด)  เหตุการณ์ในช่วงที่กรุงปารีสถูกปลดปล่อย ระหว่างวันที่ 16-27 สิงหาคม มีกลุ่มต่อต้านใต้ดินฝรั่งเศสได้แอบถ่ายเป็นภาพยนต์สารคดีไว้อย่างลับๆ และเมื่อกองทหารเยอรมันถอนออกไปจากฝรั่งเศสแล้ว  มีการฉายภาพยนต์สารคดีเรื่องนี้ให้ชาวปารีสได้ดูในโรงภาพยนต์ในวันที่ 1กันยายน ปี 1944 และให้ชื่อภาพยนต์เรื่องนี้ว่า La Libération de Paris (การปลดปล่อยกรุงปารีส)

ภาพถ่ายนายพลเดอโกลล์(คนที่สูงที่สุด กลางภาพ) และคณะเดินจากประตูชัย Arc de Triomphe [อ๊ารฺก เดอ ทฺรี-อ๊งฟฺ] ไปตามถนน Champs Elysées [ช็องเซลีเซ่] ไปยังมหาวิหาร Notre Dame [น็อดเตรอะดาม] เพื่อเข้าร่วมพิธีขอบคุณพระเจ้า ที่กรุงปารีสถูกปลดปล่อยจากการคุกคามและครอบครองของทหารเยอรมันในเดือนสิงหาคม ปี 1944 (ที่มาของภาพ : Imperial War Museum Collection, Ministry of Information Second World War Press Agency Print Collection. ภาพจากกระทรวงข้อมูลและข่าวสาร ปี 1944 ภาพไม่มีสิทธิคุ้มครอง)

ในภาพข้างบนนี้เราเห็นกลุ่มชาวฝรั่งเศสผู้รักชาติยืนเรียงรายกันบนสองฝั่งถนนช็องเซลีเซ่ - Champs Elysées เพื่อดูขบวนรถถังของหน่วยปลดปล่อยฝรั่งเศส และกองทหารยานยนต์หน่วยที่สองของนายพล Leclerc [เลอแกฺลรฺ] ที่สวนสนามเคลื่อนผ่านใต้ประตูชัย ในวันที่ 26 สิงหาคม ปี 1944 ในหมู่มวลชนเราเห็นแผ่นป้าย (เช่นทางขวาของภาพ) เขียนว่า Vive De Gaulle [วี้เหวอะ เดอ โกล] ในความหมายว่า เดอโกลล์จงเจริญ  การที่กรุงปารีสถูกปลดปล่อยนี้ เท่ากับเป็นชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรด้วย และนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้นใหม่

           ทำนองเพลงชาติยังถูกนำมาใช้ใหม่ พัฒนาขึ้นจากการเป็นเพลงพยานเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเป็นเพลงอนุสรณ์ความทรงจำ และมาเป็นเพลงโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นเพลงเพื่อความปรองดองประนีประนอมกันในยุคหลังๆด้วย  เช่นในวาระครบรอบ 70 ปีสงครามที่ Douaumont [ดูโอ-มง] ใกล้เมือง Verdun [แวรฺเดิง] ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส(ใกล้พรมแดนเยอรมนี) ในโอกาสนั้น ประธานาธิบดีฝรั่งเศส François Mitterrand [ฟร็องซัว มิดแตรฺร็อง] กับนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐเยอรมนี Helmut Kohl [เฮลมุตฺ คอลฺ] ได้ไปร่วมพิธีที่นั่น เมื่อมีการบรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศส ประธานาธิบดีมิตแตร์ร็องด์ได้เอื้อมไปจับมือของคอห์ลตลอดระยะเวลาที่มีการบรรเลงเพลงมาร์เซยแย้ซ บนพื้นที่ที่เคยเป็นสนามสงครามที่โหดเหี้ยมที่สุดในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  เหมือนจะยืนยันความมุ่งมั่นที่จะให้สงครามในอดีตระหว่างสองประเทศ เป็นบทเรียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่สู่สันติภาพร่วมกันในอนาคต 
          ภายในสังคมฝรั่งเศสเอง มีการใส่คำร้องใหม่เข้าในทำนองดนตรีของมาร์เซยแย้ซเพื่อสื่อเหตุการณ์การปฏิวัติชาวไร่องุ่นในภาคใต้ของฝรั่งเศสในปี 1907  ที่ลุกขึ้นรวมกำลังกันประท้วงรัฐบาล เรียกกันว่า การปฏิวัติของชาวไร่องุ่น เกิดเพลง La Marseillaise des vignerons ของ Lou Manobro[ลู มาโนโบฺร] กับ La Marseillaise des viticulteurs ของ Auguste Rouquet [ออกุซตฺ รูเก้] ทั้งสองเพลงให้ความสำคัญแก่ชาวไร่องุ่น  เป็นเพลงมาร์เซแย้ซของชาวไร่องุ่นต่อต้านกระบวนการค้าไวน์  การเก็บภาษีน้ำตาล ภาษีไวน์ที่ไม่ยุติธรรมแก่ชาวไร่องุ่น  การคดโกงและเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าไวน์ ความไร้สมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและรัฐบาล  การประท้วงได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปครอบคลุมภาคใต้ทั้งหมดของประเทศ  เกิดการปะทะและการใช้กำลังทหาร ในที่สุดรัฐสภาที่ปารีสต้องประกาศเปลี่ยนระบบการเก็บภาษีใหม่และมีการจัดตั้งสหพันธ์ชาวไร่องุ่นของภาคใต้ (คือ la Conféderation générale des vignerons du Midi) ที่รวมกันเป็นกลุ่มองค์กรของชาวไร่องุ่น ผู้ผลิตไวน์ในภาคใต้ทั้งหมด   องค์กรนี้เป็นผู้ตั้งและควบคุมราคา ตลอดจนจัดการกับการคดโกงทุกชนิดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้จัดมาตรการคุ้มครองเขตปลูกองุ่นและตลาดไวน์ด้วย

           ในบริบทของนานาประเทศ  มีการนำทำนองดนตรีประโยคเด่นๆใน La Marseillaise ไปเป็นองค์ประกอบในดนตรีบทอื่นๆของนักประพันธ์เพลงคนอื่นๆด้วย  เพลงชาติฝรั่งเศสจึงเป็นยิ่งกว่าเพลงชาติของประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น แต่เป็นสาร เป็นเสียงของนักสู้เพื่ออิสรภาพของมวลชนทุกประเทศทั่วโลก  ตัวอย่างที่โดดเด่นเป็นพิเศษเช่น ใน บทโหมโรง 1812 - Overture 1812 - The Final – ending ของไชค็อฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky, 1840-1893) ที่แต่งขึ้นในปี 1888 เพื่อเป็นอนุสรณ์ความทรงจำของการที่ชาวรัสเซียร่วมกันปกป้องแผ่นดินแม่  เมื่อนโปเลียน (Napoléon Bonaparte, 1769-1821) ยกกองทัพใหญ่ไปย่ำยีและตั้งใจสยบรัสเซียในปี 1812   หัวหน้าพระราชาคณะออรโธด๊อกส์ของรัสเซีย คำนวณรู้อย่างสิ้นสงสัยว่า  กำลังทหารของรัสเซียที่จะปกป้องกรุงมอสโควนั้น มิอาจต้านกองทัพของนโปเลียนได้  ได้เรียกร้องให้ชาวรัสเซียรวมใจกันสวดมนต์วิงวอนพระผู้เป็นเจ้าเพื่อความอยู่รอดและสันติภาพของรัสเซีย  ชาวรัสเซียได้ตอบรับคำขอของพระสังฆราช และมาชุมนุมกันในวัดทุกวัดทั่วทั้งดินแดนอย่างพร้อมใจกันและตั้งจิตมั่นสวดมนต์กันอย่างไม่ลดละ กษัตริย์อเล็กซานเดอที่หนึ่ง (Tsar Alexander I, 1777-1825) ของรัสเซียในตอนนั้นตัดสินใจพาชาวเมืองออกไปจากกรุงมอสโคว และสั่งเผากรุงมอสโควเพื่อไม่ให้เหลืออะไรเลยสำหรับกองทัพฝรั่งเศส  ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้กองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงมอสโควที่ถูกเผาและทิ้งให้ร้าง  กลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่าของนโปเลียน  กองทัพฝรั่งเศสขาดอาหาร  อากาศที่หนาวขึ้นๆ ทำให้ทหารล้มตายเป็นหมื่นๆคน  กองทัพย่อยยับอับจน  เดินทางกลับ  ทหารตายไปจำนวนมากทุกวัน  เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนใยเหนียวสุดท้ายที่ผูกชนชาติรัสเซียเข้าด้วยกันและพลิกชะตากรรมของชาติได้ในภาวะคับขัน [20]  
            ดนตรีของ Tchaikovsky ถ่ายทอดเนื้อหาย่อๆของประวัติศาสตร์รัสเซียยุคนั้นได้อย่างกลมกลืน ที่เริ่มด้วยดนตรีค่อนข้างอ้อยอิ่งของเชลโลและไวโอลา อันตรงกับตอนที่ชาวรัสเซียรวมตัวกัน ไปสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าในวัดทั่วทั้งรัสเซีย  ช่วงต่อมาดนตรีสื่อความตื่นตัวมากขึ้น ด้วยทำนองจากดนตรีพื้นบ้านอันคุ้นเคยของชาวรัสเซียกับดนตรีปลุกใจทหาร  และนักประพันธ์ได้ใช้ทำนองดนตรีประโยคแรกของเพลงชาติฝรั่งเศส (La Marseillaise) เข้าแทรกเพื่อสื่อการบุกรุกของกองทัพฝรั่งเศส การเตรียมรับกับการเข่นฆ่า ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นจิตใจให้ฮึกเหิม  กองทหารฝรั่งเศสต้องถอยทัพกลับ แต่ปืนใหญ่ที่นำติดไปด้วย ติดหล่มจมอยู่ในน้ำแข็ง  ทหารรัสเซียยังได้กลับมาใช้ปืนใหญ่เหล่านั้น ยิงขับไล่ทหารฝรั่งเศส  เสียงปืนใหญ่ก็ปรากฏในตอนท้ายของดนตรีชิ้นนี้  ยิงสลุดคำนับความกล้าหาญ ความร่วมมือร่วมใจของชาวรัสเซียที่ได้ช่วยกันขับไล่ศัตรูออกจากแผ่นดินเกิดของพวกเขา 
            ภูมิหลังของการต่อสู้ของชาวรัสเซียเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด อาจโยงไปถึงสปิริตของคนไทยที่มาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย  ปัจจัยเด่นของเพลงชาติฝรั่งเศส คือการเน้นว่าศัตรูของชาตินั้นอาจเป็นคนชาติเดียวกันเองที่ทรยศหักหลังประชาราษฎร์ ที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ที่สร้างสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงฯลฯ  ก็ยิ่งตรงกับเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยในปี 2556-2557 นี้  
          Rossini [โรสสี้หนิ]ได้อ้างถึงเพลงมาร์เซแย้ซในองก์ที่สองในบทละครเรื่อง Semiramide [เซมิร่ามิเด] ที่เขาแต่งขึ้นในปี 1823
          Robert Schumann [ฮอเบิ้ด ชูมาน] ได้ใช้ส่วนหนึ่งของเพลงมาร์เซแย้ซในทำนองประกอบบทกวีเรื่อง Die beiden Grenadiere [ดีเอ้ บั้ยเดิ่น เกร้นาดี้เหรอะ] ของ Heinrich Heine [ไฮ้นริช ไฮ้เหนอะ] (Op.49, No.1)
          Richard Wagner [ริก๊าด ว๊ากเหนอะ] ก็ได้ใช้บางส่วนของเพลงมาร์เซแย้ซในการจัดฉากปี1839-40 ที่พรรณนาไว้ในบทกวีของ Heinrich Heine [ไฮ้นริช ไฮ้เหนอะ] ฉบับที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส
             ปี 1967 ของคณะ The Beatles เริ่มต้นเพลง All you need is love ด้วยทำนองเพลงชาติฝรั่งเศสเป็นต้น
        หรือในภาพยนต์เรื่อง Casablanca ของผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดัง Max Steiner [แม็กซฺ สไตนเหนอะ] ภาพยนต์ปี 1942 มีการใช้เพลงมาร์เซแย้ซเข้าเป็นพล็อตเรื่องส่วนหนึ่งในฉากร้านกาแฟ โดยที่นักแสดงชาวฝรั่งเศสและผู้เข้าข้างฝรั่งเศสพร้อมใจกันร้องเพลงชาติฝรั่งเศสขึ้นเพื่อกลบเสียงเพลง Die Wacht am Rhein [ดี ว๊าหฺ อัม ไรนฺ] ของเหล่านายทหารเยอรมัน  ทำให้พวกนายทหารเยอรมันโกรธและสั่งปิดร้านกาแฟนั้น (ดูเชิงอรรถหมายเลข 3 ประกอบด้วย)

            ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นเพียงบางส่วนของอิทธิพลเพลงชาติฝรั่งเศสต่อความคิดและอุดมการณ์ของชาวยุโรป เพลงมาร์เซแย้ซเป็นอาวุธสำคัญของมวลชนเสมอ เมื่อกึกก้องขึ้นจักผนึกกำลังเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่สูงสุดอันคืออิสรภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ 

            เราจบบทความนี้ด้วยการพูดถึงประติมากรรมบางส่วนที่ประดับประตูชัย Arc de Triomphe [อ๊าร์ก เดอ ทรีอ๊มฟฺ] ที่กรุงปารีส  ประติกรรมจำหลักนูนขนาดใหญ่ที่ประดับบนเสาใหญ่ทั้งสี่ของประตูชัย ล้วนบันทึกเหตุการณ์และชัยชนะของการปฏิวัติในสี่ช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส คือ การเริ่มขบวนของคณะปฏิวัติในปี 1792, ชัยชนะในปี1810, กระบวนการต่อต้านใต้ดินในปี 1814, และสันติภาพในปี 1815.  นอกจากนั้น  เหนือประตูชัย ในระหว่างปี 1882-1886  มีประติมากรรมขนาดใหญ่ประดิษฐานบนนั้น  เป็นกลุ่มรูปปั้นที่ตั้งชื่อเรียกกันว่า ชัยชนะของการปฏิวัติ (Le Triomphe de la Révolution [เลอ ทรี-อ๊มฟฺ เดอ ลา เรโวลูซียง]) ที่เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Alexandre Falguière [อเล็กซ้องเดรอะ ฟัลกีแยรฺ] เป็นรถเทียมม้าพร้อมที่จะถล่ม “อาณาธิปไตย” และ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช” (รูปปั้นทั้งหมดทรุดโทรมเป็นซากปรักหักพังไป จึงถูกยกออกไปหมด) 

             จะเห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดฝรั่งเศสสามารถยืนหยัดรักษาประชาธิปไตยและอิสรภาพของประเทศไว้ได้  และเราก็หวังว่า ประเทศไทยของเราจะมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยสำหรับปวงชนชาวไทย

โลโก้ทางการของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่มีคำขวัญเจาะจงจุดยืนว่า Liberté, Egalité, Fraternité หรือ อิสรภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ  มีภาพของ มารีอาน เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติที่รวมนัยยะของคำขวัญ อีกทั้งกระชับเกียรติยศและศักดิ์ศรีของมาตุภูมิไว้ด้วย  โลโก้นี้ใช้ได้เฉพาะในหน่วยงานภายในของรัฐบาลและของเทศบาลของประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น  ภาพนี้ปรากฏพิมพ์ลงในหนังสือทางการของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Journal officiel de la République Française) และปรากฏในสารานุกรมวิกิพีเดีย ไม่มีสิทธิคุ้มครอง

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เขียนไว้เมื่อ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗
 นำลงบล็อกเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๘.
ปัจฉิมลิขิต

เพลงชาติฝรั่งเศสดังกระหึ่มขึ้นอีกอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่งหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับสำนักพิมพ์วารสารชารลี เอ๊บโด (Charlie Hebdo) เมื่อวันที่ 7 มกราคมปี 2015 นี้ เพลงกระหึ่มขึ้นผนึกชาวฝรั่งเศสที่ยืนยันรักษาปกป้องคุณธรรมและค่านิยมของเสรีภาพและภราดรภาพต่อไปอย่างไม่มีวันสลาย  ยืนยันปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองฝรั่งเศสในประเทศที่ประกาศตนเองมานานแล้วว่า เป็นสาธารณรัฐที่มิได้อยู่ใต้กฎหรือหลักการของศาสนาใด ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองชาวฝรั่งเศสทุกคนบนแผ่นดินโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา ผิวพันธุ์ เพศและวัย



[1]  คำร้องใน La Marseillaise ฉบับสมบูรณ์ทางการที่ปรากฏจารึกไว้และอ่านได้ในเว็ปไซต์ที่ 
[2]  นายพลฝรั่งเศสผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ได้พยายามช่วยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกและพระนางมารีอ็องตัวแน๊ตให้หนีแต่ไม่สำเร็จ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อต้านการปฏิวัติของฝรั่งเศสที่คนเกลียดที่สุด
[3]  เราอาจติดตามฟังเพลงชาติฝรั่งเศสได้ในอินเตอเน็ตหลายแห่ง เช่น
http://www.youtube.com/watch?v=KTsg9i6lvqU  (จากภาพยนต์เรื่อง Casablanca ในยุคที่เยอรมนีเข้าไปยึดครองประเทศมอร็อคโคและโดยเฉพาะที่เมือง Casablanca ฟังการร้องในบริบทที่ปรากฏในภาพยนต์เรื่องนี้แล้ว มันจับใจจริงๆ เหมือนกับว่า การได้ร้องเพลงมาร์เซยแย้ซ ได้ให้พลังใหม่ๆ เหมือนได้อากาศบริสุทธิ์ที่ชาวเมืองและชาวฝรั่งเศสสูดเข้าไปเต็มหัวใจ )
http://www.youtube.com/watch?v=PIQSEq6tEVs  (ให้เนื้อเพลงที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษควบคู่กันไป)
http://www.youtube.com/watch?v=mHj9HRr7Wyc   (เป็นการแสดงเพลงชาติของวงดุริยางค์(วงออเคสตร้า) ที่มี Leonard Berstein เป็นวาทยกร)
http://www.youtube.com/watch?v=a_JuRwRowWM   (บันเลงอย่างเอิกเกริกและอุโฆษในวงดุริยางค์ตามแนวการถ่ายทอดความรู้สึกของ Hector Berlioz)
และสุดท้ายให้ฟังเสียงของ Mireille Mathieu นักร้องฝรั่งเศสที่ร้องเนื้อเพลงบทที่ ๑, ๕และ ๖ และออกเสียงรัวลิ้นได้อย่างสนุกสนานตามแบบการออกเสียงรัวลิ้นอักษร r ในภาคใต้ของฝรั่งเศสที่ http://www.youtube.com/watch?v=R3IvXo0W1YI   นักร้องคนนี้ถ้าเรียนภาษาไทย คงจะรัวลิ้นเล่นเสียง รอ เรือ ได้ถูกต้อง คนไทยเองกลับออกเสียง ร ไม่ได้  ไม่ใช่ไม่ได้แต่เพราะนิสัยขี้เกียจ นิสัยหลวมๆ  ภาษาไทยเลยแย่ลงๆ  การออกเสียงแบบนักร้องสตรีผู้นี้กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของเธอ แต่เธอเองได้แบบการออกเสียงรัวลิ้นเล่นเสียงจาก Edith Piaf (1915-1963)  มาคิดๆดู หากบอกว่า การรัวลิ้นเล่นบ่อยๆทำให้ลิ้นแข็งแรง ปากสุขภาพดีด้วย  อาจมีคนสนใจพูดให้ถูกมากขึ้น
[4]  นักโทษที่เคยถูกขังที่นั่นเช่น Nicolas Fouquet [นิกอลา ฟูเก้], Voltaire [วอลฺแตรฺ], Sade [ซาด], ฯลฯ  นักโทษทุกคนที่ถูกส่งเข้าไปในคุกลาบัซตีย์  มีจดหมายนำตัวที่ปิดผนึกแน่นหนา ผู้คุมเองอาจไม่รู้จักว่าเป็นใคร ทั้งนี้ เพื่อปกป้องเกียรติของแต่ละคน
[5]  จิตสำนึกแบบนี้พูดกันเป็นสำนวนในภาษาฝรั่งเศสว่า  « La Saint-Barthélemy des patriotes »  Cf. Beaurepaire Pierre-Yves in Annales historiques de la Révolution française, no. 298, 1994. Pp. 687-693.
[6]  ป้อมลาบัซตีย์ถูกกวาดราบเป็นหน้ากลอง ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและชิ้นส่วนของอาคารต่อมาถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้างเช่นสะพาน la Concorde [ลา กงก๊อรฺด]  จัตุรัสลาบัซตีย์ในปัจจุบันขยายพื้นที่กว้างออกไปกว่าเดิม เป็นจัตุรัสใหญ่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปารีส  ส่วนเสาสูงเด่นกลางจัตุรัสที่เรียกว่า la colonne de la Bastille [ลา กอลอน เดอ ลา บัซตียฺ] หรือ colonne de Juillet [กอลอน เดอ ฌุยเย่] เนรมิตขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ Trois Glorieuses [ทรัว กลอรีเยอซฺ] ในความหมายของ สามวันแห่งความหวังอันบรรเจิด (โปรดอ่านที่เชิงอรรถหมายเลข 15 )  ในปัจจุบันยังมีอาคารมหรสพเรียกกันว่า Opéra de la Bastille [โอเปร่า เดอ ลา บัซตียฺ]
หรือสั้นๆว่า Opéra Bastille [โอเปร่า บัซตียฺ] ที่สร้างขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจัตุรัสบัซตีย์  อาคารโอเปร่านี้เปิดเป็นทางการในปี 1989
[7]  รัฐบาลของ François Hollande ได้ประกาศปฏิรูปการแบ่งเขตการปกครอง ด้วยการลดจำนวนเขต จำนวน เดปารฺเตอะม็อง ให้เหลือน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการบริหารท้องถิ่นให้หมดไป ตามนโยบายการกระจายอำนาจออกไปสู่ท้องถิ่น  การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ จะทำไปตามขั้นตอนตั้งแต่ปี 2014 และจะสิ้นสุดตรงตามนโยบายในปี 2021
[8]  ตัวอย่างมาตราวัดก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส เช่น toise [ตั๊วซฺ] บันทัดวัดความสูงของคน, coudée [กูเด้] มาตราวัดความยาวในสมัยก่อน หนึ่งกูเด้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร, pouce [ปูซ] มาตราวัดความยาวในสมัยก่อน หนึ่งปูซฺ ยาวประมาณ 27 มิลลิเมตร, pied [ปีเย] มาตราวัดความยาวในสมัยก่อน หนึ่งปีเย ยาวประมาณ 0,3248 เมตร etc.  
[9]  ซึ่งตรงกันข้ามกับที่คนในยุคปัจจุบันคิดกันว่าน่าจะเป็นภาพของสตรีแต่งตัวเก๋ ทุกคนคิดกันว่าสาวฝรั่งเศสผู้นำด้านแฟชั่นของโลก ไม่น่าจะเป็นภาพหญิงสามัญชนที่ไม่มีอะไรเด่น  หน้าตารูปร่างคนเปลี่ยน เสื้อผ้าเปลี่ยน แต่ความเป็นนักสู้นั้นฝังแน่นเป็นเอกลักษณ์ในจิตวิญญาณฝรั่งเศส
[10] ข้อมูลบางส่วนจาก Robespierre : On the Moral and Political Principles of Domestic Policy. In Internet Modern History Sourcebook by Paul Halsall, Aug 1997.
[11]  แม่น้ำไรนเป็นแม่น้ำยุโรปที่ยาวเป็นที่ 12 ในโลก คือยาว 1,232 กิโลเมตรหรือ 766 ไมล์ ตั้งต้นจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาแอลป์ในมณฑล Grisons [กรีซง] ประเทศสวิสเซอแลนด์ และมาเป็นพรมแดนระหว่างฝรั่งเศส(ในปริมณฑลของเมืองสตร๊าซบูร์ก)และเยอรมนี แล้วไหลผ่านเยอรมนีไปลงทะเลเหนือในประเทศเนเธอแลนด์  แม่น้ำไรนกับแม่น้ำดานูปเป็นพรมแดนภายในทวีปของจักรวรรดิโรมัน และตั้งแต่ยุคนั้นมาแม่น้ำไรนเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ เป็นเส้นทางค้าขายนำสินค้าเข้าสู่ภายในแผ่นดิน และยังเป็นแนวป้องกันประเทศเป็นพรมแดนของเขตแคว้นและพรมแดนนานาชาติ  สองฝั่งลุ่มแม่น้ำไรนยังมีทรากปราสาท ป้อมปราการจำนวนมากที่ยืนยันความสำคัญของเส้นทางน้ำสายนี้ ในยุคก่อนนั้น การแล่นเรือไปมาในแม่น้ำไรนนั้น อาจถูกเก็บภาษีผ่านทางจากผู้มีอำนาจของแต่ละเขต 
[12]  La Marseillaise คำนี้ยังแปลได้ว่า หญิงชาวมาร์เซย  ในจิตสำนึกตะวันตก ผู้หญิงเป็นแม่ เป็นภาพลักษณ์ของการให้กำเนิดชีวิต นัยของการเป็นผู้ดำรงและผู้สืบทอด จึงทำให้ใช้คำเพศหญิงมากกว่าคำเพศชาย  เป็นขนบมาตั้งแต่เมื่อเริ่มใช้ภาษา ที่จัดแบ่งคำนามทั้งมวลเป็นคำศัพท์เพศหญิงหรือเพศชาย 
[13] Rouget de Lisle เขียนจดหมายลงวันที่ 20 ธันวาคมปี 1830 ไปถึง Hector Berlioz ว่า « Votre tête paraît être un volcan toujours en éruption ; dans la mienne, il n'y eut jamais qu'un feu de paille qui s'éteint en fumant encore un peu. Mais enfin, de la richesse de votre volcan et des débris de mon feu de paille combinés, il peut résulter quelque chose. »  ปรากฏในงานเขียนของ Jules Michelet ใน La Révolution française : naissance de l’Assemblée nationale.
[14] Lamartine : Histoire des Girondins, 1847, p.408-414 : Les notes de cet air ruisselaient comme un drapeau trempé de sang encore chaud sur un champ de bataille. Elles faisaient frémir; mais le frémissement qui courait avec ses vibrations sur le cœur était intrépide. Elles donnaient l'élan, elles doublaient les forces, elles voilaient la mort. C'était l'eau de feu de la Révolution, qui distillait dans les sens et dans l'âme du peuple l'ivresse du combat.  …..  Le pied marche, le geste anime, la voix enivre l'oreille, l'oreille remue le cœur. L'homme tout entier se monte comme un instrument d'enthousiasme. L'art devient saint, la danse héroïque, la musique martiale, la poésie populaire. L'hymne qui s'élance à ce moment de toutes les bouches ne périt plus. On ne le profane pas dans les occasions vulgaires. Semblable à ces drapeaux sacrés suspendus aux voûtes des temples et qu'on n'en sort qu'à certains jours, on garde le chant national comme une arme extrême pour les grandes nécessités de la patrie. Le nôtre reçut des circonstances où il jaillit un caractère particulier qui le rend à la fois plus solennel et plus sinistre : la gloire et le crime, la victoire et la mort semblent entrelacés dans ses refrains. Il fut le chant du patriotisme, mais il fut aussi l'imprécation de la fureur. Il conduisit nos soldats à la frontière, mais il accompagna nos victimes à l'échafaud. Le même fer défend le cœur du pays dans la main du soldat, et égorge les victimes dans la main du bourreau. La Marseillaise conserve un retentissement de chant de gloire et de cri de mort; glorieuse comme l'un, funèbre comme l'autre, elle rassure la patrie et fait pâlir les citoyens.
[15] ดูรายละเอียดต่อได้ที่เว็ปไซต์ทางการของฝรั่งเศสที่นี่ :
Jules Michelet [จูล มิเชอเล่] (1798-1874) เป็นนักเขียนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส  มีผลงานด้านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสจำนวนมาก ที่เขาบรรจงประพันธ์ด้วยหัวใจ ด้วยร้อยแก้วที่สละสลวย กระชับ ไพเราะและเร้าใจ เช่นในเรื่อง  La Révolution française  บทร้อยแก้วของเขา ครบทั้งเนื้อหาและเกร็ดประวัติศาสตร์  เป็นตัวอย่างดีเยี่ยมตัวอย่างหนึ่งของการใช้ภาษาฝรั่งเศส  ผู้สนใจอาจเรียนรู้ได้จากการอ่านผลงานชั้นครูของนักเขียนผู้นี้  ความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ทำให้งานประวัติศาสตร์ของเขาเหมือนวรรณกรรม  จนทำให้นักประวัติศาตร์ร่วมยุคหรือยุคหลังตั้งกระทู้ว่า งานเขียนประวัติศาสตร์สมควรที่จะมีประสบการณ์อารมณ์จิตวิญญาณของผู้เขียนลงไปปะปนด้วยหรือไม่  งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ควรแตกต่างไปจากงานวรรณกรรมไหม ฯลฯ  ปัจจุบันข้อกระทู้และข้อกล่าวหาเขาตกไปแล้ว
[16]  มีสมญานามเรียกสามวันในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสตอนนี้ว่า “Trois Glorieuses” [ทรัว กลอรีเยอซฺ] ในความหมายว่า สามวันแห่งประกายความหวังอันเจิดจ้า  จิตรกรได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์สามวันประวัติศาสตร์นั้นด้วย  เหตุการณ์ในสามวันนั้นเหมือนแสงประกายแห่งความหวังใหม่ นั่นคือ ๑. การที่พระเจ้า Charles X ประกาศจำกัดสิทธิของปวงชน  ๒. ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้พระองค์สูญเสียบัลลังก์ และ ๓. ทำให้พระเจ้า Louis-Philippe [ลุย ฟิลิป] สถาปนา la Monarchie de Juillet [โมนารฺชี เดอ จูยเย่] (ระบบราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม) ที่มีนโยบายเสรีนิยมมากกว่าเดิม  ผลจากเหตุการณ์ทั้งสามทำให้ชาวฝรั่งเศสเห็นประกายเรืองรองของความหวัง ความหวังของชัยชนะในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ
[17]  เช่นในตำนานเรื่อง Pâris [ปารีซ] เจ้าชายแห่ง Troyes [ทฺรอย] ผู้เกิดที่เมือง Phrygie [ฟรีจี] ปารีซชอบสวมหมวกแบบนี้  หมวกแบบนี้เคยใส่กันมาก่อนแล้วในสมัยเปอเชีย ราวศตวรรษที่ 16 ก่อนคริสตกาล หรือในคริสต์ศิลป์เช่นสามกษัตริย์ที่เดินทางมาคารวะพระเยซูองค์น้อยก็สวมหมวกแบบนี้ เพื่อชี้ให้เข้าใจว่ามีที่มาจากตะวันออกกลาง   หมวกนี้ยังได้เก็บนัยยะของเสรีภาพ เพราะหมวกนี้มีลักษณะเหมือนหมวก (ในภาษาละติน
สมัยนั้นเรียกว่า pileus ) ที่ทาสสวมใส่เพื่อแสดงว่าได้รับการปลดปล่อยเป็นไทแก่ตัวแล้วในจักรวรรดิโรมัน 
[18]  Johann Wolfgang von Goethe (1749-1832) นักประพันธ์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงเพลงชาติฝรั่งเศสว่า มันขลังและกึกก้องเหมือนเพลงสวด Te Deum [เตะ เดอุ่ม] (เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้าในโอกาสพิเศษต่างๆในคริสต์ศาสนา)
[19]  นายพลเดอโกลผู้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ประเทศอังกฤษ เมื่อพร้อมบุกกลับมาขึ้นฝั่ง ยิงปืนต่อสู้กับกองทหารเยอรมันที่เข้ายึดกรุงปารีสในตอนนั้น เคยพูดว่า “Il nous faut tirer sur notre patrie. La liberté est à ce prix.”  ในความหมายว่า  เราจำเป็นต้องยิงสาดกระสุนเข้าใส่แผ่นดินเกิดของเราเอง  อิสรภาพมีค่าถึงเพียงนั้น

[20]  ผู้สนใจอาจฟัง Overture 1812 ของ Tchaikovsky ฉบับสั้นได้ที่นี่  http://www.youtube.com/watch?v=G4h7NGMz2RI  (3 min.)
และฉบับยาวกว่าได้ที่นี่   http://www.youtube.com/watch?v=VbxgYlcNxE8 (15 min.)