Saturday 27 June 2015

บันไดสู่สวรรค์ - Stairs to heaven

บันไดคุณธรรม บันไดสู่สวรรค์ - Stairs to Heaven
           อีกเนื้อหาหนึ่งที่ดูเหมือนจะโดดเด่นและไม่มีที่ใดเหมือน คือภาพเฟรสโก้แสดงบันไดที่ทอดยาวจากสวรรค์ลงสู่พื้นดินบนกำแพงด้านนอกทิศเหนือของวัด Monastery Sucevita ในโรเมเนีย  วัดนี้ก็เป็นหนึ่งในมรดกโลกเช่นกัน  เรียกภาพนั้นกันว่า เป็นบันไดของนักบุญ Climacus [กลีมากุซ] (the ladder of Saint Climacus หรือบางทีก็เรียกว่า The Ladder of Divine Ascent หรือ The Ladder of Paradise)  เนรมิตขึ้นในศตวรรษที่ 16 (เฟรสโก้ทั้งหมดที่ประดับด้านนอกของกำแพงวัดทั้งหลังทำขึ้นในศตวรรษที่ 16  นักประวัติศาสตร์ศิลป์เห็นพ้องต้องกันว่า มีความงามสมดุลและเป็นเอกภาพดีมากทั้งสีสันและรูปลักษณ์ตลอดทั้งหลัง
            คงต้องยึดข้อมูลจากเอกสารมรดกโลกของยูเนสโก ที่ระบุว่า เป็นแห่งเดียวในโลกที่มีภาพบันไดแบบนั้นปรากฏชัดเจนเป็นเนื้อหาสำคัญบนกำแพงวัดด้านนอกเลย   นักบุญ John Climacus  เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นพระนักบวชประจำที่อารามแห่งหนึ่งบนเขาซีไน  เป็นนักบุญที่ชาวคริสต์ไม่ว่านิกายใดทั่วทั้งยุโรปนับถือและยกย่อง  แต่ไม่มีจารึกใดกล่าวถึงนักบุญคนนี้เลย  ทุกอย่างจึงยังมิอาจระบุให้เป็นข้อเท็จจริงได้  เล่ากันมาว่า เขาไปเข้าบวชเรียนที่อาราม Vatos บนเขาซีไน ( ปัจจุบันคือ Saint Catherine’s Monastery) เมื่ออายุ 16 ปี  โดยอยู่ในการควบคุมดูแลของพระอาวุโสชื่อ Martyrius เมื่อพระรูปนี้ถึงแก่อนิจกรรม เขาปรารถนาจะถือศีลปฏิบัติธรรมเป็นพระธุดงก์มากขึ้น จึงได้ปลีกตัวไปอยู่ในกระท่อมแห่งหนึ่งที่เชิงเขาและอยู่ตามลำพังที่นั่นเป็นเวลา 20 ปี  เพียรศึกษาใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตของนักบุญทั้งหลายในยุคก่อนที่ดลบันดาลใจในการใฝ่ธรรมมากขึ้นๆ   จนในที่สุดกลายเป็นคนแตกฉานในธรรม  เมื่ออายุประมาณ 27 ปีเหล่านักบวชในอารามบนเขาซีไน หว่านล้อมและอ้อนวอนขอให้เขารับเป็นเจ้าอาวาส ในที่สุดเขายอมและก็ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบด้วยความฉลาดสุขุม ทุกอย่างเรียบร้อย สำเร็จลุล่วงด้วยดีเสมอมา  ชื่อเสียงเลื่องลือไปไกล เล่ากันว่าแม้แต่สันตะปาปา Gregory the Great ก็ยังเคยเขียนมาขอให้ John Climacus ช่วยสวดมนต์วิงวอนพระเจ้าให้เขา เพื่อที่เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่สันตะปาปาให้ได้ดีที่สุดตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า  และได้ส่งเงินจำนวนหนึ่งมาให้ Climacus  เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งซีไน สำหรับรักษาพยาบาลผู้จาริกแสวงบุญที่เดินทางไปที่นั่นและไม่มีที่พักอาศัย
ภาพบันไดของนักบุญ John Climacus บนกำแพงทิศเหนือที่ Monastery Sucevita 
 ด้านขวาของบันได มีกลุ่มเทวทูตมารวมช่วยหนุนและให้กำลังใจอยู่เต็ม 
ส่วนด้านซ้ายก็มีมารคอยรังควาน คอยดึงให้คนตกจากบันได
ภาพบันไดของนักบุญคนนี้เล่าไว้ใน Scala Paradisi (Ladder of the Divine Ascent)  ที่แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 7 และในงานเขียนเรื่องสั้นๆชื่อ Liber as Pastorem (To the Pastor) ที่คิดกันว่าเป็นบทเพิ่มเติมเสริมข้อความที่เล่าไว้ใน Scala Paradisi  ที่คนได้ยิน เล่าสืบต่อๆกันมาถึงการฝึกฝน การเขียนการจดลงบนสมุดโน้ตเล่มเล็กที่ Climacus มีติดตัวเสมอ เพื่อบันทึกความคิดต่างๆที่อุบัติขึ้นในระหว่างการทำสมาธิและปฏิบัติธรรม   
ภาพนี้ที่ชัดเจนกว่า เป็นของผู้ใช้นามว่า Merlin นำลงใน commons.wikipedia
รายละเอียดในสี่เหลี่ยมพื้นขาว ในมุมบนด้านขวาของภาพเล่าตอนพระเจ้าสร้างโลก, เนรมิตพืชพรรณ, สรรพสัตว์, เนรมิตอาดัมกับอีฟ, ภาพอาดัมกับอีฟในสวรรค์, 
ภาพซาตานในร่างงูมายั่วอีฟฯลฯ

ภาพวาดบันไดของจอห์น กลีมาคุซ (ที่มีมาก่อนเฟรสโก้ที่อารามวัด Sucevita) มีแล้วในศตวรรษที่ 12 เป็นจิตรกรรมน้อยของอาราม Saint Catherine ที่ภูเขาซีไน
ในภาพนี้ เราเห็นนักบุญ John Climacus เดินขึ้นไปถึงขั้นสุดท้ายแล้ว มีพระเยซูคอยรับอยู่เหนือบันไดเพื่อพาเข้าสู่สวรรค์. บันไดด้านที่เขาปีนไต่เต้าขึ้นไปนั้น มีนักบวชและผู้คนจำนวนมากขึ้นตามไปติดๆ. บอกให้รู้ว่า John Climacus เป็นผู้ที่คนเคารพนับถือและยึดเป็นแบบอย่าง. กลุ่มเทวทูตในมุมบนด้านซ้ายรวมกันแซ่สร้องสรรเสริญและให้กำลังใจแก่ทุกคน. อีกข้างหนึ่งของบันได พวกมารทั้งหลายพยายามทั้งยิงธนู ทั้งเกี่ยวและดึงหลายคนให้ตกจากบันได. บันไดแบบนี้ใช้พรรณนากระบวนการฝึกฝนร่างกายและคุณธรรม เพื่อยกระดับจิตวิญญาณให้สูงสู่พระผู้เป็นเจ้า.  ภาพคนปีนบันไดแห่งคุณธรรมที่ทำขึ้นอีกในยุคหลังๆ บางทีเสนอภาพของ John Climacus ยืนอยู่ในมุมขวาข้างล่าง ทำท่าทางสนับสนุนให้กำลังใจคนปีน ให้มุ่งมั่นต่อไป. บางทีก็มีภาพวัดอารามหลายแห่งประดับบนพื้นหลังของภาพ เหมือนจะบอกว่า การสอนแบบนี้ได้แพร่หลายและยึดถือปฏิบัติกันในวัดอารามหลายๆแห่งเป็นต้น.  
     Climacus ได้อาศัยเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่าที่เล่าถึง Jacob’s Ladder (บันไดของจาค็อป ในบท Genesis 28:11-19) มาเป็นบทอุปมาอุปมัยในการสั่งสอนคุณธรรม. แต่ละบทที่เขาสอน เกี่ยวกับหัวข้อเพียงหนึ่งหัวข้อ. แต่ละบทคือบันไดหนึ่งขั้น และมีบันไดทั้งหมด 30 ขั้น ที่ตรงกับวัยของพระเยซูเมื่อพระเยซูมาเข้าร่วมในพิธีศีลจุ่มกับ John the Baptist, หลังจากนั้นพระเยซูก็เริ่มสั่งสอนประชาชน. ในการแบ่งหัวข้อของ Climacus นั้น แยกออกเป็นสามตอน. เรามีข้อมูลเจาะจงเพียงว่า บันไดเจ็ดขั้นแรกเกี่ยวกับคุณธรรมทั่วไปที่จำเป็นเพื่อเอาชนะความชั่ว  บันไดสี่ขั้นสุดท้ายเป็นคุณธรรมขั้นสูงสุดที่เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตนักพรต  อันมีบันไดแห่งการสวดมนต์, การรักษาความสงบของจิตใจ, การขจัดกิเลสและบันไดขั้นสุดท้ายที่อยู่เหนือสุดคือบันไดความรัก(ในพระเจ้า). บทสอนของ Climacus นี้ดั้งเดิมเขียนขึ้นเพื่อให้เหล่านักบวชในวัดอารามใกล้เคียงได้อ่าน, แต่กลายเป็นหนังสือยอดนิยมในเวลาอันรวดเร็ว, ในวงการฝึกและพัฒนาจิตวิญญาณตามขนบของนิกายไบแซนไทน orthodox. นักบวชอ่านกันทุกวันโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลถือบวช 40 วันในคริสต์ศาสนา (Lent ที่เริ่มตั้งแต่ Ash Wednesday ไปจนถึงวันก่อนวัน Easter Sunday. เป็นระยะถือบวชคล้ายๆกับเทศกาลเข้าพรรษาในพุทธศาสนาเป็นการเตือนศาสนิกชนมิให้ลืมว่า พระเยซูได้อดอาหารและเข้าไปอยู่ในทะเลทรายเป็นเวลาสี่สิบวัน ก่อนที่จะกลับออกมาสั่งสอนประชาชน. ในระหว่างสี่สิบวันนั้น พระเยซูต้องเผชิญและเอาชนะซาตานมารผู้มายั่วคอยล่อให้เลิกล้มความตั้งใจ, แต่พระเยซูก็เอาชนะความยั่วยวนต่างๆด้วยจิตใจที่แน่วแน่ไม่คลอนแคลน. ทุกปีในระยะเวลา 40 วันดังกล่าว ชาวคริสต์ผู้เคร่งศาสนาจะอดอาหารบางชนิด เช่นงดอาหารเนื้อ หรือยกเลิกนิสัยที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยบางอย่างที่เคยทำ, เป็นการลงโทษตัวเอง. บางคนก็ตั้งใจอ่านหนังสือธรรมคำสอนทุกวัน เพื่อยกระดับจิตวิญญาณให้เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น.     
     Jacob’s ladder (บันไดของจาค็อป) ที่ปรากฏเล่าไว้ในคัมภีร์เก่า (Genesis 28:11-19) นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในวัฒนธรรมตะวันตก และเป็นเนื้อหายอดนิยมเนื้อหาหนึ่งที่แสดงเป็นศิลปะหลายรูปแบบ เช่นในจิตรกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมหน้าต่างกระจกสี.
 
บันไดของจาค็อปมีที่มาที่ไปอย่างไร
       เรื่องราวมีอยู่ว่า Isaac (ลูกของอับราฮัมกับนางซาราห์, เกิดเมื่ออับราฮัมอายุได้ 100 ปี. อับราฮัมเกิดในราวปี 1800 BCE เป็นปู่ของจาค็อป. Isaac เป็นหนึ่งในสามหัวหน้าเผ่าชาวยิวที่สำคัญที่สุด. เล่าไว้ในคัมภีร์เก่าเล่ม Genesis, เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่เป็นที่ยอมรับทั้งในคริสต์ศาสนา ในนิกายจูดาอิสซึมและในอิสลาม.) เมื่อเติบใหญ่ขึ้น อับราฮัมผู้พ่อได้ไปขอ Rebecca มาให้ลูก. เมื่อ Isaac อายุ 60 ทั้งสองจึงมีลูกชาย บางตำราเจาะจงว่าเป็นลูกแฝด Esau เกิดก่อน Isaac นิดหน่อย. ตามธรรมเนียมการสืบทอดตระกูล บิดาเป็นผู้กำหนด ประกาศและปลูกฝังลูกชายคนโตในฐานะผู้สืบตระกูลอย่างเป็นทางการ, เท่ากับยกฐานะลูกคนโตให้ขึ้นเป็นผู้นำในครอบครัวและรับมรดกจากบิดา. ตอนที่จะทำพิธีสืบทอดตระกูลกันนั้น Isaac แก่เฒ่ามากแล้วและตาบอด เขาสั่งให้ Esau ออกไปล่ากวางนำมาคำนับบิดาในพิธี.  
จิตรกรรมตอนจาค๊อปให้ศีลให้พรแก่ลูกชายที่เขาคิดว่าคือ Esau แต่ความจริงคือ จาค็อปลูกคนโปรดของนาง Rebecca ผู้ยืนอยู่ทางขวามือของ Isaac. ให้สังเกตว่า หน้าตาจาค็อปนั้นผิวขาว แต่มือทั้งสองของเขาเห็นได้ชัดเจนว่าสีน้ำตาลๆ. นี่เป็นกลเม็ดหลอกล่อให้ Isaac ตายใจ เพราะเขารู้ว่าลูกชาย Esau นั้น เป็นคนที่มีขนมาก ขึ้นเต็มสองมือ, ในขณะที่จาค็อปผิวเรียบไม่มีขน. Rebecca ได้จัดการเอาหนังสัตว์ให้จาค็อปสวมทั้งสองมือ เพื่อให้ Isaac ไม่สงสัย. ด้านหลังจาค็อป บนโต๊ะมีจานเนื้อเห็นขาสัตว์ชัดเจน.  Rebecca ได้จัดการเตรียมให้จาค็อปเป็นเครื่องคารวะพ่อตามที่พ่อต้องการ (ภาพผลงานของ Govert Flinck, 17th c. Rijksmuseum, Amsterdam)
      ระหว่างที่ Esau ออกไปล่ากวาง นาง Rebecca ได้จัดการให้ Jacob เข้าไปรับศีลรับพรจากบิดาแทน. นางคิดว่า Esau ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำของครอบครัว. Isaac ตอนนั้นอายุ 75 ปีแล้ว ตาบอด ลูบคลำมือลูกชาย และอวยศีลอวยพรให้จาค็อป  ด้วยคิดว่าจาค็อปคือลูกชายคนโตที่ชื่อ Esau.  เขาวางมือลงบนศีรษะของจาค็อป อันเป็นสัญลักษณ์ของการมอบหมายอำนาจและหน้าที่ให้แก่ลูก. Esau เสียใจมากและตลอดชีวิตเป็นเดือดเป็นแค้นจาค็อปและคิดจะฆ่าเขา. เมื่อการณ์เป็นเช่นนั้น จาค็อปได้แต่เชื่อฟังและปฏิบัติภาระกิจที่บิดาสั่งทันที. หน้าที่แรก คือการออกไปหาสตรีที่จะมาเป็นภรรยาและแม่บ้านของตระกูลและครอบครัว. Isaac กำหนดให้จาค็อปไปหาสตรีในแดนเมโสโปเตเมีย จากตระกูลของ Laban ผู้เป็นน้องชายของ Rebecca (แม่ของจาค็อป) และกำชับกำชาห้ามเขาไปรับสตรีจากชนชาวเมือง Canaan มาเป็นภรรยา (ทำไมนั้น กรุณาอ่านเอาเองในคัมภีร์นะคะ เรื่องมันยาว)
        จาค็อปออกเดินทางไปทันที. Esau พี่ชายติดตามเขาไปห่างๆด้วยความแค้นที่จาค็อปได้เข้าไปแทนที่ตำแหน่งบุตรคนโตของครอบครัว. Esau ได้สั่งให้ลูกชาย Eliphaz ตามไปฆ่าจาค็อปให้ได้. แต่เมื่อเผชิญหน้ากับอา ผู้บอกยกสมบัติทั้งหมดที่ได้จาก Isaac ให้เขา แถมฝูงสัตว์เลี้ยงของอาเองให้ด้วย, Eliphaz ต้องเปลี่ยนใจและฆ่าอาของเขาไม่ลง. หลังจากนั้นจาค็อปเดินทางต่อไปและหยุดพักที่เชิงเขา Moriah.  
      จาค็อประลึกขึ้นมาได้ว่า บนเขาลูกเดียวกันนั้น ที่เทวทูตได้มาช่วยบิดา Isaac ให้พ้นความตาย. ครั้งหนึ่งเมื่อ Isaac ยังอายุน้อย, ยาเวพระเจ้าต้องการทดสอบน้ำใจของอับราฮัม ว่าเชื่อฟังพระองค์เพียงใด. ยาเวได้ส่งเทวทูตมาบอกว่า พระองค์ต้องการให้อับราฮัมพา Isaac ขึ้นไปบนเขา Moriah และจุดฟืนก่อกองไฟ แล้วให้ฆ่า Isaac สังเวยยาเว. อับราฮัมรับคำสั่งและโดยไม่บอกอะไรแก่ Isaac ได้ให้เขาหอบกองกิ่งไม้เพื่อไปเป็นฟืนขึ้นภูเขาไปกับอับราฮัม. ที่นั่นอับราฮัมปิดตาลูกชาย มัดมือไว้ ให้นั่งบนกองฟืน แล้วคว้ามีดจะฟันลงบนคอ Isaac ลูกชาย ก่อนจะเผาสังเวยยาเว. ยาเวส่งเทวทูตมายึดมือของอับราฮัมไว้  ชี้ให้เขาฆ่าลูกแกะสังเวยแทน  และบอกว่าพระเจ้าเชื่อแล้ว ว่าเขาจะทำทุกอย่างที่พระเจ้าสั่ง พร้อมกับให้ศีลให้พรว่า  อับราฮัมจะมีลูกหลานสืบสกุลต่อไปไม่รู้จบ และจะเป็นใหญ่ เจริญมั่งคั่งเป็นหัวหน้าเผ่าของคนหมู่มาก.  จาค็อปนึกถึงเรื่องนี้ นึกถึงชีวิตของ Isaac ผู้พ่อ เขาก้มหัวจรดพื้นสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของยาเว.  
อับราฮัมกำลังจะฆ่าสังเวย Isaac ลูกชาย ตามบัญชาการของยาเวพระเจ้า เทวทูตมายึดมือเขาไว้ และชี้ไปที่ลูกแกะที่มาปรากฏตัวอยู่ข้างๆ ให้ฆ่าลูกแกะนั้นแทน. (จิตรกรแทรกภาพของลูกแกะในแสงสว่าง จัดให้อยู่ปลายเท้าของ Isaac. ส่วนลาที่อยู่ตรงหน้าภาพ อยู่ในเงามืด. ศิลปินเสนอการใช้ลาช่วยลำเลียงฟืนกองใหญ่ขึ้นไปบนภูเขา). มีผู้วิเคราะห์เหตุการณ์นี้ว่า นอกจากแสดงความเคารพเชื่อฟังยาเวอย่างไม่กังขาใดๆแล้ว, เมื่อมีผู้มาห้ามไว้, ก็ทำให้เขาเข้าใจสิทธิการมีชีวิตของลูก, สิทธิการเลือกของลูกด้วย. การฆ่าสังเวยสัตว์และหรือคนนั้น มีมาในยุคโบราณ, วิธีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย. เช่นนี้ พระเยซูผู้ถูกตรึง จึงสืบทอดนัยของการสังเวยนำไปสู่การไถ่บาป. (ภาพนี้ผลงานของ Titien หรือ Tiziano ในราวปี 1485 หรือระหว่างปี 1488-1576. ปัจจุบันอยู่ที่วัด Santa Maria della Salutte, เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี)
       คืนนั้นจาค็อปนอนค้างแรมที่เชิงเขาตรงนั้น หัวหนุนก้อนหินและหลับไปทันที. เขาฝันเห็นบันไดที่วางพาดจากพื้นดิน ทอดขึ้นไป สูงขึ้นไปในท้องฟ้า, เป็นบันไดที่กว้างใหญ่. มีเทวทูตสององค์เดินขึ้นบันไดไป และอีกสององค์เดินลงมาจากเบื้องบน. มีแสงสว่างบรรเจิดจ้า, ตัวจาค็อปเองก็พลอยสว่างเรืองรองไปด้วย. เสียงเทวทูตแซ่ซ้องสรรเสริญความงามของแสงสว่างจากเบื้องบน และแสงสว่างจากเบื้องล่าง. จาค็อปมองเห็นพระเจ้าบนบันไดขั้นสูงสุดได้ลางๆ. ยาเวพระเจ้าพูดกับเขาว่า  “ ข้าคือพระเจ้า เป็นพระเจ้าของอับราฮัม, เป็นพระเจ้าของ Isaac บิดาเจ้า. พื้นดินที่เจ้านอนอยู่นี้ ข้าจะยกให้เจ้าและให้แก่ลูกหลานของเจ้า และเจ้าจะมีลูกหลานเป็นจำนวนมากเท่าฝุ่น(ทราย)บนพื้นโลก. พวกเขาจะตั้งรกรากทั้งในตะวันตกและตะวันออก, ทั้งในทิศเหนือและทิศใต้. เจ้าและลูกหลานเจ้าและทุกครอบครัวเชื้อสายของเจ้า จะได้รับพรจากข้า. เจ้าจงรู้ว่า ข้าจะอยู่กับเจ้า ปกป้องเจ้า ไม่ว่าเจ้าจะไปแห่งหนตำบลใด, ข้าก็จะพาเจ้ากลับมาที่นี่. ข้าจะไม่ทิ้งเจ้าไปจนกว่าทุกสิ่งที่ข้าพูดกับเจ้า จะสัมฤทธิ์ผล”
      จาค็อปตื่นจากฝัน แน่ใจว่าพระเจ้าอยู่ที่นั่นกับเขาแม้เขาจะไม่เห็น. เขารู้สึกขยาดกลัวขึ้นมา พีมพำว่า ที่นี่หรือที่ไหนๆ ทั้งหมดคือบ้านของพระเจ้า และตรงนี้คือประตูสู่สวรรค์.  เขารีบเอาน้ำมันหอมลาดลงบนก้อนหินที่เขาหนุนนอน (เป็นการแสดงความคารวะอย่างสูง)  ยกหินตั้งขึ้นและสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า.
บันไดของจาค็อปในจิตรกรรมเฟรสโก้ที่วัด Dyonisiou บนเขา Athos ประเทศกรีซ. ผลงานในราวปี 1546-47
ภาพ Jacob’s ladder 
ผลงานของ William Blake (c.1800) จาก British Museum

ภาพข้างบนนี้ อยู่ด้านหน้าของวัดที่เมืองบาธ (Bath ประเทศอังกฤษ) เป็นวัดขนาดเล็กเมื่อเทียบกับโบสถ์กอติคใหญ่ๆของฝรั่งเศส. ด้านหน้าของวัดนี้ จำหลักตกแต่งไม่เหมือนที่ใดในโลก. หอเล็กสูงสองข้าง ขนาบเป็นกำแพงส่วนหน้าของวัด. บนยอดหอมีเครื่องหมายไม้กางเขน และส่วนที่เชื่อมสองหอก็มีไม้กางเขนประดับตอนบน. ในซุ้มเล็กใต้ไม้กางเขนตรงกลางนี้ มีรูปปั้นของพระคริสต์ในท่านั่งเป็นประธาน. ใต้ลงมาบนกำแพงส่วนที่อยู่เหนือบานหน้าต่างกระจกสูงใหญ่,  มีภาพจำหลักของเทวทูตเรียงกันเต็มพื้นที่. บนหอสองข้าง จำหลักเป็นขั้นบันไดเกือบตลอดความสูง(ที่เห็นเป็นขีดขวางสั้นๆ). บางขั้นมีเทวทูตองค์เล็กๆ กำลังไต่ขึ้นหรือลงบันได. การนำเนื้อหาตอน บันไดของจาค็อป มาจำหลักบนด้านหน้าของวัดนั้น ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในยุโรป, จึงเป็นกรณีพิเศษสุดของวัดที่เมืองบาธ ที่ต้องการสื่อ บันไดแห่งคุณธรรม ให้ปรากฏตั้งแต่หน้าประตูเลยทีเดียว. วัดที่นี่กับวัดในโรเมเนียที่กล่าวมา จึงน่าจะเป็นสองแห่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องบันไดมากกว่าที่ใด.
        ตรงที่จาค็อปนอนและฝันเห็นบันไดนั้น ต่อมาเป็นที่ตั้งของวัดใหญ่เยรูซาเล็ม. เมืองเยรูซาเล็มคือเมืองผ่านไปสู่เมืองเยรูซาเล็มสวรรค์. บันได คือทางเชื่อมระหว่างสวรรค์กับโลก, เฉกเช่นคำสวดมนต์ หรือการสังเวยพระเจ้าในวัดของพระองค์ คือการเชื่อมใยสัมพันธ์ระหว่างสวรรค์และโลก. 
      ในคัมภีร์ของนักบุญ Evangelist John (1:51) ได้ตีความหมายของบันไดว่า พระคริสต์คือบันไดที่เชื่อมสวรรค์กับโลกมนุษย์ ในฐานะที่พระองค์เป็นทั้งพระบุตรและเป็นบุตรของมนุษย์เดินดิน. นักเทวศาสตร์ผู้หนึ่ง (Adam Clarke) ตีความว่า การที่เทวทูตขึ้นๆลงๆบนบันได หมายถึงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์, โดยผ่านไปบนตัวของพระคริสต์ที่เป็นพระเจ้าในร่างของคนเดินดินที่มีเนื้อมีหนัง. พระคริสต์จึงเป็นตัวกลางที่มีพลังสูง. การที่เทวทูตขึ้นลงบนตัวพระคริสต์(ผู้เป็นบันได) จึงเป็นบทอุปมาอุปมัยที่ชัดเจน. 
      ก้อนหินที่จาค็อปหนุนศีรษะนั้น คือหินแห่งชะตากรรม (Stone of Destiny)  ธรรมเนียมความเชื่อนี้ ยังมีต่อมาในอังกฤษ ที่มีหินแกรนิต Stone of Scone ที่กษัตริย์อังกฤษต้องขึ้นไปประทับเมื่อขึ้นครองราชย์. เป็นเคล็ดสำคัญที่ขาดมิได้ พระราชพิธีจึงจะสมบูรณ์. (มุมมองของชาวสก็อต จึงเหมือนตอกย้ำว่า กษัตริย์อังกฤษมีอำนาจเหนือสก็อตแลนด์, เป็นชะตากรรมของสก็อตแลนด์ที่ได้ดิ้นรนต่อสู้มายาวนานแต่ยังไม่สำเร็จ).
      เนื้อหาบันไดของจาค็อปนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายกันมาก.  ภาพแรกๆเกี่ยวกับบันได มีแล้วตั้งแต่ต้นคริสต์กาลราวปี 250 AD. ในสุสานใต้ดินของชาวโรมันก็ภาพวาดไว้ภาพหนึ่งในต้นศตวรรษที่ 4. บันไดจึงมีความหมายลึกซึ้งมาตั้งแต่โบราณ. และไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาใด บันไดมีนัยเหมือนๆกัน. เป็นทั้งทางเชื่อมกับตัวเอง บนเส้นทางของการไต่เต้าสู่ความดี สู่คุณธรรมชั้นสูง ว่าความดีแต่ละอย่างเป็นสิ่งที่ช่วยให้แต่ละคนยกระดับจิตวิญญาณให้สูงขึ้นๆจนไปถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ในที่สุด. สามัญชนยิ่งเข้าใจมากขึ้น เมื่อเห็นได้จากภาพ ว่าคนอาจตกบันไดบาดเจ็บได้เสมอหากขาดความแน่วแน่ของจิตใจ. 
      ในศตวรรษที่12 โอโนรีอุซแห่งเมืองโอเติง(Honorius d'Autun ผู้เขียนแจกแจงและวิเคราะห์ศิลปะยุคกลางที่น่าเชื่อถือยิ่งคนหนึ่ง) ได้เจาะจงว่า บันไดแต่ละขั้นคือคุณธรรมอย่างหนึ่ง และได้กำกับคุณธรรมแต่ละชนิดบนบันไดแต่ละขั้น  ที่เขาตั้งไว้ 15 ขั้นดังนี้
1. ความอดกลั้น (Patientia) 
2. ความใจดี (Benignitas) 
3. การอุทิศตนเพื่อศาสนา (Pietas) 
4. ความพอใจในความเรียบง่าย (Simplicatas) 
5. ความถ่อมตน (Humilitas) 
6. ความรังเกียจชีวิตที่เป็นโลกียวิสัย (Contemptus mundi) 
7. การดำรงชีวิตอย่างสมถะด้วยความเต็มใจ (Paupertas voluntaria) 
8. ความสงบหรือความรักสันติ (Pax) 
9. ความเมตตากรุณา (Bonitas) 
10. ความอิ่มเอิบทางใจ (Spirituale Gaudium) 
11. ความโอนอ่อนผ่อนปรน(Sufferentia) 
12. ความศรัทธา (Fides) 
13. ความหวังในพระเจ้า (Spes) 
14. ความอดทนต่อความทุกข์ (Longanimitas) 
15. ความเพียรพยายาม(Perseverentia)

        ความคิดของ Honorius สอดคล้องกับเพลงสวดศักดิ์สิทธิ์ในคริสต์ศาสนา (Psaume หรือ Psalm ในภาษาอังกฤษ) สิบห้าบทที่เรียกรวมกันว่า Cantiques des degrés  หรือบทเพลงแห่งขั้นบันได (Psaume 84:6) จึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญอีกเล่มหนึ่ง เมื่อต้องการสร้างภาพของ บันไดแห่งคุณธรรม.  
        มีผู้พยายามถ่ายทอดคติของบันไดแห่งคุณธรรม ออกมาในรูปของจิตรกรรมน้อยประดับหนังสือสวดประจำตัวของแม่ชี, ตามที่โอโนรีอุซแห่งเมืองโอเติงได้พรรณนาไว้ ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้
ภาพสเก็ตช์จากจิตรกรรมน้อยในหนังสือ Encyclopedie d'Herrade de Landsberg เป็นแบบหนึ่งของ บันได15 ขั้นที่นำสู่พระเจ้าของ Hortus deliciarum, Hohenburg : Mont Sainte-Odile. ผลงานกลางศตวรรษที่ 12  
       บันไดที่ปราชญ์หรือนักบุญยึดถือนั้น แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนยึดและเน้นคุณธรรมอะไรมากกว่า หรือต้องการเพิ่มคุณธรรมอื่นๆเข้าไป. จำนวนขั้นบันไดจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน.   
       ภาพบันไดที่สำคัญที่สุดภาพหนึ่งในศิลปะตะวันตก คือที่เป็นประติมากรรมจำหลักนูน (ศิลปะศตวรรษที่ 12) ประดับฐานรูปปั้นของพระคริสต์ ตรงกลางประตูใหญ่ด้านหน้า (ทิศตะวันตก) ของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส  ดังภาพที่นำมาให้ชมข้างล่างนี้
ประติมากรรมจำหลักนูน (ศิลปะศตวรรษที่ 12) ประดับอยู่ที่ฐานรูปปั้นพระเยซูคริสต์ ตรงกลางประตูใหญ่ทางเข้าด้านหน้าทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส. 
ลูกศรชี้ตำแหน่งของประติมากรรมจำหลักนูนบนเสากลางประตูใหญ่ด้านหน้ามหาวิหาร.

ด้านหน้าทิศตะวันตกของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส. 
ลูกศรชี้ตำแหน่งของเสากลางประตูใหญ่.
มาพิจารณาประติมากรรมจำหลักนูนข้างบนนี้. ผู้หญิงนั่งบนบัลลังก์ ศีรษะอยู่ในหมู่เมฆหรือจรดท้องฟ้า. มีบันไดพาดจากข้างล่างถึงหน้าอก. มือซ้ายถือคทา. มือขวาถือหนังสือสองเล่ม, เล่มในปิดอยู่ เล่มนอกเปิดอ้าออก. 
ภาพลักษณ์ดังกล่าว มีผู้ให้ความเห็นต่างๆกัน. บางคนบอกว่าเป็นภาพสัญลักษณ์ของเทวศาสตร์ (Theologia)  หนังสือที่ปิดอยู่หมายถึงคัมภีร์ไบเบิลเก่า, เล่มที่เปิดอ้าอยู่คือคัมภีร์ไบเบิลใหม่. บันไดหมายถึงขั้นตอนต่างๆที่มนุษย์ต้องไต่เต้าขึ้นไป ก่อนที่จะบรรลุความรู้ขั้นสูงที่หมายถึงการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า. เช่นนี้จึงเจาะจงให้ตอนบนของศีรษะปรากฏในท้องฟ้าโดยมีเมฆสื่อความหมายให้เข้าใจ. ตามมุมมองนี้ที่ดูสมจริงและมีเหตุผล  เทวศาสตร์เคยเป็นราชินีแห่งศาสตร์ทั้งปวง(โดยเฉพาะในยุคกลาง).
       มีผู้ตีความต่อไปอีกว่า น่าจะเป็นภาพลักษณ์ของอัลเคมี (Alchemy) ที่เป็นวิทยาศาสตร์เคมีและปรัชญาแขนงหนึ่งในยุคกลาง โดยที่จุดหมายหลักอยู่ที่  
๑. การเล่นแร่แปรธาตุ จากโลหะธรรมดาๆให้เป็นทองคำ (การทดสอบในสมัยปัจจุบันยืนยันแล้วว่าทำได้ในบริบทหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง). หรือ กระบวนการที่ทำให้สิ่งสามัญสิ่งหนึ่งแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษ.  
๒. การค้นหาวิธีการบำบัดเยียวยาโรคต่างๆที่คิดกันว่า ทุกโรคน่าจะมีกลไกการเกิดและการแก้ที่ร่วมกันได้.  
๓. การค้นคว้าหาวิธีการยืดและต่อชีวิตไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด.

     ตามกระแสอัลเคมีนี้ หนังสือเล่มที่ปิดคือความรู้เฉพาะที่ถ่ายทอดภายในกลุ่มคนที่เป็นสมาชิก (ที่มีวุฒิภาวะสูงในองค์การลับเฉพาะ - esoterism). หนังสือเล่มเปิด คือความรู้ทั่วไปที่เหมาะกับสาธารณชน (exoterism). ส่วนบันได 9 ขั้น คือภาพลักษณ์ของความเพียรพยายาม ที่สมาชิกในกลุ่มต้องสะสมให้มีไว้ในจิตใจ ตามกระบวนการและขั้นตอนในการฝึกฝนที่เฉพาะเจาะจง (ผู้สนใจ ต้องไปอ่านเองจากข้อมูลทั้งหลาย เพราะแม้ในยุคเทคโนโลยีสูงสุด, ความลึกลับเกี่ยวกับอัลเคมี ยังมิได้คลี่คลายออกมา, แต่มีผู้คนติดตามอยากรู้อยากเห็นหรืออยาก “สัมผัส” ความมหัศจรรย์ต่างๆ. ขอให้ตัวอย่างหน้าในเน็ตตรงนี้หนึ่งหน้าสำหรับผู้สนใจ)
      แต่มีผู้ตีความว่า ควรจะเป็นภาพสัญลักษณ์ของปรัชญา เพราะมีหลักฐานลายลักษณ์ยืนยันที่มาของการจำหลักภาพปรัชญาแบบนี้ คือในงานเขียนของโบเอตีอุซ (Boetius หรือ Boethius) ชื่อ บทปลอบใจจากปรัชญา (De consolatione philosophiae หรือ Consolation of Philosophy). ชะตาชีวิตของโบเอติอุซ (นักการเมืองและปราชญ์ละติน มีชีวิตอยู่ในราวปี 480-524 AD) จากการที่เคยเป็นกงศุลคนหนึ่งในราชอาณาจักร Ostrogoths ในสมัยของพระเจ้า Theodoric ในปี 523 ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถ ไปร่วมมือจักรพรรดิ Justin I กษัตริย์ไบแซนไทนคู่อริของกรุงโรม. ในที่สุดถูกกษัตริย์ Theodoric สั่งจำคุกและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา. ระหว่างที่อยู่ในคุก เขาได้ประพันธ์ De consolation philosophiae.   
     เล่ากันมาว่า ขณะที่เขาถูกจำคุก หมกมุ่นและระทมกับชะตาชีวิตที่พลิกผันของเขา, เขาเห็นสตรีนางหนึ่งมาปรากฏต่อหน้าเขา. โบเอติอุซพรรณนาว่า นางมีใบหน้าสงบ มีสง่าราศียิ่ง สายตาของนางทอแสงเป็นประกายสว่างสุกใสผิดสายตาคนเดินดินทั่วไป. เขารู้สึกว่านางเป็นเหมือน(แก้วผลึก)ที่รวมแสงสีต่างๆ, เป็นภาพของวัยหนุ่มและวัยสาวพร้อมกันในตัว, แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่านางได้ผ่านวัยทุกวัยมาแล้ว. แต่ไม่อาจกำหนดอายุของนางตามเกณฑ์วัยของมนุษย์ได้. รูปร่างของนาง บางครั้งดูขนาดเท่าคนเดินดินทั่วไป, บางทีก็ดูสูงใหญ่จนศีรษะเฉียดหมู่เมฆในท้องฟ้า หรือสูงท่วมท้นจนหายลับตาไป. เครื่องแต่งกายของนาง ทอขึ้นอย่างมีศิลป์และแสดงให้เห็นรสนิยมสูง, ทอด้วยเส้นใยที่ละเอียดและไม่เปื่อยยุ่ย, เป็นฝีมือของนางเองด้วย. ตรงชายกระโปรงมีอักษรกรีกตัว π (pi) ปักอยู่, ตอนบนก็มีอักษรกรีกตัว θ (theta) ปักอยู่เช่นกัน. ระหว่างอักษรทั้งสองตัวนี้ มีแนวระบายไล่ระดับกันขึ้นไปบนตัว, เหมือนบันไดที่เชื่อมสิ่งที่อยู่ข้างล่างกับสิ่งที่อยู่ข้างบน... (Ref. Emile Mâle : L'Art religieux du XIIIe siecle en France, หน้า86) 
       ผู้หญิงที่มาปรากฏตัวต่อหน้าโบเอตีอุซ ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเทีแห่งปรัชญา ผู้ไปปลอบโยนเขาในคุก. ส่วนอักษร π ( pi) และอักษร θ ( theta)นั้น รู้กันมาแต่โบราณแล้วว่า เป็นสัญลักษณ์ย่อที่ใช้แทนปรัชญาภาคปฏิบัติและปรัชญาภาคทฤษฎี. ภาพจำหลักของปรัชญาที่โบสถ์น็อตเตรอดามกรุงปารีส จึงตรงกับคำพรรณนานี้. ส่วนอักษรกรีกสองตัวที่ไม่เห็นร่องรอย ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าเดิมมีอยู่. เราไม่ลืมว่า สถาปัตยกรรมในสมัยโบราณตลอดมาจนถึงยุคกลาง ไม่ว่ารูปปั้นหินหรือไม้ มีการเคลือบลงสี  (polychrome) ด้วย. วันเวลาได้ลบสีเหล่านั้นออกไป รวมทั้งลวดลายต่างๆของเครื่องแต่งกายที่ศิลปินได้บรรจงวาดและลงสีไว้. ปัจจุบันจึงเห็นเพียงแบบเรียบๆ เป็นสีหินเท่านั้น. ทั้งนี้เพราะพบภาพจำหลักของปรัชญาที่เมือง Sens [ซ็องเสอะ]ในฝรั่งเศส ที่ศิลปินได้จำหลักอักษรกรีกทั้งสองลงในเนื้อหินเลย จึงยังคงอยู่เป็นหลักฐานของการสร้างสรรค์, แต่ภาพที่นั่นผู้หญิงสวมมงกุฎและไม่มีบันไดพาดตรงหน้าอก. 
       โบเอตีอุซ ได้เห็นปรัชญา และพูดคุยกับเธอ. เขาปรับความคิดของเขา ค้นพบวิธีการเอาชนะความเศร้าสลดใจเมื่อเคราะห์กรรมมารุมเร้า และเสนอทางออกแก่ตัวเอง ด้วยการไม่ยึดติดกับความจริงบนโลก, มุ่งความคิดความตั้งมั่นในพระผู้เป็นเจ้า ผู้เดียวที่อาจดลบันดาลให้จิตใจสงบเย็น อิสระจากสถานการณ์ปัจจุบันที่รัดกุมเขาอยู่.  มีผู้กล่าวว่า ข้อบกพร่องในชีวิตที่ผ่านมาของโบเอตีอุซ มีส่วนส่งเสริมให้เขาโด่งดัง มากพอๆกับคุณสมบัติต่างๆของเขา. ทุกคนชื่นชมความรอบรู้ในทุกเรื่อง เชื่อและศรัทธาในตัวเขา. ใบหน้าที่อมเศร้ากับวิญญาณกวีในตัวเขา ประทับใจคนร่วมสมัยอย่างยิ่ง. งานเขียนของเขา ถือว่าเป็นงานสำคัญชิ้นหนึ่งในโลกยุคโบราณถึงยุคกลาง และมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนในยุคนั้นมาก. คนคารวะเขาในฐานะเป็นตัวแทนของความฉลาดสุขุมของโลกยุคโบราณ, ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้สั่งสอนและกรุยทางความคิดแนวใหม่ๆสู่โลกยุคใหม่ เพราะเขาเป็นหนึ่งในหมู่ชาวโรมันรุ่นสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในหมู่ชาวคริสต์รุ่นแรก จึงเหมือนกับว่าเขายืนอยู่บนพรมแดนของโลกสองโลก. งานเขียนของโบเอติอุซ เป็นหนึ่งในหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับนักบวชและปัญญาชนตั้งแต่นั้นมา.  
     จากสามกระแสดังกล่าว ผู้ที่ใฝ่ศาสนา อาจเลือกเทวศาสตร์ ซึ่งในที่สุดความคิดและความมุ่งมั่นในศาสนา ก็โยงไปถึงปรัชญาได้. 
      ประติมากรรมจำหลักนูนที่ขนาบสองข้างภาพลักษณ์ “เทวศาสตร์-ปรัชญา” ที่กล่าวมา (ดูสองภาพข้างล่างนี้) เสนอสัญลักษณ์ของศาสตร์วิชาตามระบบการศึกษาของยุคโบราณ ที่เป็นพื้นฐานความรู้สำหรับพระนักบวชและหรือปัญญาชน(เพศชาย). การศึกษาชั้นพื้นฐานนี้แบ่งออกเป็นเจ็ดแขนง อันมีไวยากรณ์ (Grammatica), วาทะศิลป์ (Rhetorica) และวิภาษวิธีหรือการถกเถียงวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยเหตุผล (Dialectica), รวมกันเป็นหลักสูตรของ trivium. กับหลักสูตร quadrivium อีก 4 วิชาที่ประกอบด้วยวิชาเลขคณิต (Arithmeticus), วิชาเรขาคณิต (Geometria), วิชาดาราศาสตร์ (Astronomia ในสมัยนั้น ยังไม่มีการแยกแยะ ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ และใช้คำนี้คำเดียวกัน) และวิชาดนตรี (Musica). ทั้งหมดรวมกันเป็นความรู้ที่จักทำให้เข้าใจคำสอนและตีความความลึกลับต่างๆในพระคัมภีร์ได้. นั่นคือเข้าสู่การศึกษาเทวศาสตร์ต่อไป.  
      ภาพตัวอย่างที่นำมาให้ชมข้างล่าง จากมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีสนั้น,  ศิลปศาสตร์ที่นั่นมีอยู่เพียงหกแขนง อาจเป็นเพราะพื้นที่จำกัดบนเสาก็ได้ จึงไม่มีสัญลักษณ์ของวาทะศิลป์จำหลักไว้.
(จากซ้ายไปขวา) ภาพจำหลักสัญลักษณ์ของ Geometria, Dialectica, 
Arithmeticus และ “เทวศาสตร-ปรัชญา”
(จากซ้ายไปขวา) “เทวศาสตร์-ปรัชญา”
Astronomia, Grammatica และ Musica

           บันไดในคริสต์ศาสนานิกายใดก็ตาม มีที่มาที่ไป ตามที่ได้อธิบายมาข้างต้น. ตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคปัจจุบัน, การใช้ภาพบันได เป็นองค์ประกอบในการเนรมิตภาพหรือเรื่องราวใด มีติดต่อกันมาในศิลปะ. บันไดของจาค็อป ยังเป็นชื่อของภาพยนต์อเมริกันเรื่องหนึ่ง ที่เล่าความฝันร้ายต่างๆที่มารุมเร้าอดีตทหารที่ไปสงครามเวียดนามมา (Jacob’ Ladder, ปี 1990).

        ไม่ว่าชาวพุทธหรือชาวคริสต์  คุณธรรมเป็นความจริงที่ไม่จำกัดสถานที่และไม่มีเวลาเป็นกรอบ, อีกทั้งมิใช่เป็นสิ่งที่คิดจะมี ก็มีขึ้นในบัดดลนั้น. ในวิถีชีวิตคนสมัยนี้ ยิ่งไม่ง่ายเลย เพราะสิ่งยั่วยวนนั้นรุมเร้าตลอดเวลาบนเส้นทางของเรา. แต่ละคนต้องหาเส้นทางสู่จุดหมายปลายทางของตนเอง. แต่ละคนต้องสร้างบันไดของตนเอง และไต่ขึ้นไปตามกำลังขาของตน. อย่าไปใช้บันไดของคนอื่น และก็ไม่ไปขวางบันไดของใคร. แต่ละคนมีบันไดสู่ความสำเร็จในชีวิตของตัวเอง. 
บันไดจึงมีความหมายมากดังนี้แล

บันทึกเดินทางไปพบบันไดสามสิบสองขั้นในโรเมเนีย
ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  นำลงบล็อกในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘..

สนใจอยากรู้เรื่องอื่นๆ เชิญเข้าไปเลือกอ่านได้ที่นี่ >>