Wednesday 11 March 2015

ฤดูหลากมิติของนิกอลาส์ ปุซแซ็ง - Heritage from Poussin


จิตรกรรมชุดสี่ฤดู  - นิกอลาส์ ปุซแซ็ง 

ภาพชุดสี่ฤดูเป็นภาพชุดสุดท้ายของจิตรกรฝรั่งเศส นิกอลาส์ ปุซแซ็ง (Nicolas Poussin, 1594-1665)  เขาเนรมิตภาพทั้งสี่ที่กรุงโรม ระหว่างปี 1660-1664 ในวัยที่เขาทนทุกข์ทรมานเพราะโรคภัยเบียดเบียน ที่ทำให้แขนและมือเขาสั่นเทิ้มตลอดเวลา  ภาพชุดนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Le louvre  อาคาร Richelieu ชั้น 2  การดูภาพที่ดีที่สุด คือการวางภาพทั้งสี่ในแนวเส้นตรงเส้นเดียวกัน  น่าเสียดายที่มิอาจจัดหน้าในบล็อกนี้ให้เป็นไปตามที่ต้องการไม่ได้
        บทวิเคราะห์วิจารณ์ผลงานชุดสี่ฤดูของนิกอลาส์ ปุซแซ็งข้างล่างนี้ ถ่ายทอดมาจากข้อความบันทึกเป็นวีดีโอเทปของพิพิธภัณฑ์ Le Louvre กรุงปารีส  Alain Jaubert เป็นผู้เขียนบทและถ่ายทำ[1] นำมาเสนอโดยรักษาลำดับของคำพูด การอธิบายทีละขั้นตอน ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้สนใจที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับจิตรกรรมตะวันตก  เพื่อชี้นำการดูภาพไปสู่ความเข้าใจภาพ  บทอธิบายที่พิพิธภัณฑ์ทำไว้นั้น ทำให้เราตระหนักถึงภูมิหลังด้านวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกันระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับศิลปะในอดีตจนถึงยุคต้นศตววรษที่ยี่สิบ  ความรู้เกี่ยวกับเทพตำนานกรีกโรมัน และคัมภีร์ไบเบิลเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง เพราะทั้งเทพตำนานและคัมภีร์ไบเบิลเป็นบ่อทองของเนื้อหา(แทบ)ทุกอย่างทุกประเภทในอารยธรรมตะวันตก. 

         เราเริ่มต้นด้วยการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆในภาพแต่ละฤดู  เริ่มด้วยภาพฤดูใบไม้ผลิ  สอดคล้องกับธรรมชาติที่เกิดใหม่ เจริญแบ่งบานขึ้นเหมือนเริ่มชีวิตใหม่ 
เห็นภูเขาลางๆไกลออกไปด้านขวา ในท้องฟ้า มีกลุ่มเมฆหนาดำเคลื่อนเข้ามาจากมุมบนขวา  บนก้อนเมฆ คนๆหนึ่ง ผมสีขาวๆ ในท่านอนคร่อมก้อนเมฆ มองลงพื้นล่าง มือซ้ายยกขึ้น 
ตรงหน้าต้นไม้ใบดกหนาทึบ สีเขียวเข้มบ้างเขียวอ่อนๆบ้าง  ไม้ผลมีลูกแล้ว  เห็นทุ่งไม้และพุ่มไม้ต่อเนื่องกันเป็นแนวในฉากหลัง  เห็นแหล่งน้ำ นกเป็ดน้ำสามสี่ตัวว่ายไปมาในนั้น  ครึ่งบนของภาพแสดงพื้นที่ที่ไกลออกไป สว่างในแสงแดด  ด้านซ้ายของภาพในเงามืดกว่า เป็นหินผามีต้นไม้ขึ้นโดยรอบ หินผาสูงใหญ่ทางซ้ายและขนาดเตี้ยลงที่อยู่ถัดไปทางขวา  ระหว่างตำแหน่งหินผาทั้งสอง เห็นช่องแสงสว่างที่ทำให้เห็นภูมิประเทศที่ไกลออกไป  มีน้ำตกเตี้ยๆระหว่างพุ่มไม้ที่ไหลลงสู่แอ่งน้ำ(มองไม่เห็น)   องค์ประกอบเด่นที่สุดของภาพคือ ชายหญิงคู่หนึ่ง ทั้งสองเปลือย  ผู้หญิงยันตัวขึ้นบนเข่าในขณะที่ผู้ชายยังนั่งบนพื้นหญ้า เท้าข้างหนึ่งเหยียดไปข้างหน้า  อีกข้างหนึ่งชันเข่า พร้อมที่จะลุกขึ้น  ผู้หญิงชี้ให้ผู้ชายดูผลไม้บนต้น

องค์ประกอบในภาพฤดูร้อน  ครึ่งบนของภาพ เป็นเทือกเขาและที่ราบสูง  เห็นป้อมเมืองหลายแห่ง ด้านขวาของภาพดูจะเป็นชุมชนใหญ่และมั่นคง ( มีถนนตัดแยกท้องทุ่งกับเขตเมือง)  ครึ่งล่างของภาพ บอกเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในทุ่งข้าวสาลีเหลืองอร่าม  เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว 
ผู้คนกำลังสาละวนเกี่ยวข้าวสาลีในทุ่ง  ด้านซ้ายมือ เห็นคนหนึ่งหยุดดื่มน้ำ บอกให้รู้ว่า อากาศร้อน เขาคงได้เกี่ยวข้าวมาตั้งแต่เช้า  คนหนึ่งก้มรวบรวมข้าวที่เกี่ยวแล้ว มัดรวมกันเป็นฟ่อน  อีกคนกำลังแบกฟ่อนข้าวไปวางรวมกันทางขวา  บนพื้นมีกองรวงข้าวที่เกี่ยวมา แผ่กระจายอยู่  ชายคนหนึ่งใช้แส้ต้อนและบังคับม้าห้าตัวให้เหยียบย่ำลงบนกองข้าวบนพื้น เพื่อให้เมล็ดข้าวสาลีหลุดออกจากรวง   เห็นชายคนหนึ่งนั่งเป่าปี่ cornemuse (เหมือนปี่สก๊อต ที่มีกระเปาะลมติดกับปี่  เครื่องดนตรีนี้มีปี่ติด 2 ลำเท่านั้น)  ภาพตรงหน้าด้ายซ้ายมือ เห็นต้นไม้ใหญ่ (ต้นโอ๊ค) มีกิ่งก้านแผ่ออกกว้างให้ร่มเงา
ผู้หญิงสองคนกำลังตระเตรียมอาหาร  เที่ยงแล้ว  คนหนึ่งเอาเหยือกมารองไวน์จากถังใหญ่  อีกคนหนึ่งกำลังตักอาหารจากชามแบบกาละมังใบใหญ่  บนหีบใหญ่ตรงหน้า มีก้อนขนมปังก้อนใหญ่กลมๆหลายก้อน  บนพื้นเห็นผ้าผืนใหญ่ มีเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวทำนา อันมีเคียวสองอัน  ส้อมด้ามยาวสำหรับโกยฟาง  

ตรงกลางภาพ ชายโพกผม นุ่งห่มเรียบร้อยดูภูมิฐาน มิใช่คนงาน  ผู้หญิงคนหนึ่งคุกเข่าตรงหน้าเขา มือขวาแผ่ออกเหมือนขอหรือขอร้อง มือซ้ายชี้ไปที่ข้างตัว มีมัดรวงข้าวสาลีอยู่ใกล้ๆ  ชายโพกผมยื่นมือซ้ายออกไปตรงหน้าเขาในทิศทางของชายคนงานคนหนึ่ง ที่ยืนก้มหน้า มือขวาของเขาประทับลงบนอก แสดงการยอมรับหรือรับคำสั่ง มือซ้ายถือหอกด้ามยาว ทำให้เข้าใจได้ว่า เขาอาจเป็นการ์ดผู้สอดส่องดูแลความปลอดภัยบนพื้นที่นั้น และอาจพบผู้หญิงคนนี้ที่เข้ามาในทุ่งนา เขาไม่เคยเห็นหรือรู้จักมาก่อน จึงนำตัวมาพบเจ้านาย  ชายโพกผมยื่นแขนซ้ายไปยังการ์ด เพื่อเรียกหรือพูดกับเขา มือซ้ายของเขาชี้ไปยังผู้หญิงที่คุกเข่าตรงหน้า    

องค์ประกอบในภาพฤดูใบไม้ร่วง   ภูเขาสูงทรงโคนฐานกว้างตรงกลางภาพไกลออกไปใต้ท้องฟ้า ที่เมฆกำลังเคลื่อนเข้ามา แต่มิใช่เมฆฝน  ด้านขวาของภาพเห็นป้อมปราการใหญ่ บ่งบอกความสำคัญของเมือง และระยะทางที่ไม่ไกลจากเหตุการณ์ที่ปรากฏตรงหน้า  
ไกลๆออกไปตรงปลายเนิน เห็นอาคารหลังเล็กๆไกลๆ บอกว่ามีชุมชนอาศัยอยู่  ด้านซ้ายของภาพมีหินผาสูง มีต้นไม้ใบหรอมแหรมโผล่จากหินผานั้น ใบร่วงลงไปมากแล้ว  แต่ต้นที่เห็นโดดเด่นตรงหน้าเรายังมีใบเขียวชอุ่ม มีผลไม้อยู่เต็ม  ผู้หญิงคนหนึ่ง ยืนบนบันไดที่พาดกับต้นไม้ กำลังเก็บผลไม้อยู่   ผู้หญิงอีกคนเดินจากไปทางขวาของภาพ  มีกระจาดทูนหัว คงได้เก็บผลไม้ไปเพียงพอแล้ว  ปลายเนินด้านขวา ผู้ชายคนหนึ่งนั่งตกปลาอยู่ริมแม่น้ำ  บุคคลเด่นที่สุดคือ คนสองคนตรงกลางครึ่งล่างของภาพ  ทั้งสองหามคานใหญ่ ที่มีช่อองุ่นขนาดใหญ่วางพาด ซ้อนกันบนคาน  เงาที่ทอดยาวบนพื้น บอกให้รู้ว่าอาทิตย์กำลังตก  และสองคนนี้กำลังมุ่งไปทิศนั้น มิได้กลับเข้าเมืองแต่กำลังออกไปไกลจากเมือง ก้าวเท้ายาวๆเหมือนเร่งรีบ
หญิงคนหนึ่งเดินกลับ มือขวาจับตะกร้าผลไม้ที่ทูนไว้บนศีรษะ ในมือซ้ายของเธอ มีอะไรที่เหมือนแร็กเก็ตอาจเป็นเครื่องมือสอยผลไม้ ให้สังเกตว่า มีผ้าผืนหนึ่งหย่อนลงจากกระจาด บังหน้าเธอไว้
มุมซ้ายของภาพส่วนที่ตัดมาให้ดูนี้ เห็นชายคนหนึ่งนั่งบนพื้น มือยื่นออกจับไม้เพื่อตกปลา

องค์ประกอบในภาพฤดูหนาว  เห็นภูเขาลางๆในหมอกและสายฝนตรงกลางภาพ  ดวงอาทิตย์กำลังจะจมลงในทะเล เห็นเพียงลางๆในหมู่เมฆ  แสงสีเงินส่องให้เห็นภูมิประเทศ  เมฆดำคริ้ม แผ่ไปเหนือพื้นที่ราวหนึ่งในสามของภาพ 
ในความสลัวๆของบรรยากาศ แทบจะไม่อาจแยกได้ชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นน้ำบริเวณใดเป็นพื้นดิน  แต่เมื่อสายฟ้าแลบฟาดฟันลงจากด้านซ้ายลงสู่บริเวณนั้น เผยให้เห็นลักษณะชัดขึ้นในเสี้ยววินาทีนั้น  เห็นอาคารบ้านเรือนจมอยู่ในน้ำ ครึ่งความสูงของตึกหนึ่งที่น่าจะมีไม่ต่ำกว่าสามสี่ชั้น  เห็นหลังคาบ้านสีน้ำตาลแดงๆ  ตัวบ้านจมอยู่ใต้น้ำแล้ว  เรือลำหนึ่งเข้ามาใกล้ ในช่องเปิดระหว่างหินผาสองข้างที่เป็นเหมือนกรอบของโศกนาฏกรรมที่จะเกิดในนาทีต่อมา  เพราะเรือกำลังพุ่งลงตกตามกระแสน้ำลงสู่ทะเลระดับล่าง  ไม่มีใครควบคุมเรือไว้ได้แล้ว  คนหนึ่งตกจากเรือแล้ว กำลังพยายามพยุงตัวเองไว้อย่างสุดความสามารถ  ชายอีกคนหนึ่งพยายามปีนขึ้นไปหัวเรือตอนบน มือทั้งสองพนมเหนือหัว เหมือนกำลังขอให้พระเจ้าช่วยในยามคับขันเช่นนั้น  ผู้หญิงคนหนึ่งตัวหลุดออกไปจากเรือแล้ว เท้ากำลังจะตามลงไป เห็นมือทั้งสองของนางเกาะกาบเรือไว้สุดกำลัง  เราคาดเดาชะตากรรมของคนในเรือลำนี้ได้ไม่ผิด 
ในน้ำทะเลใต้น้ำตก เห็นสองคนอยู่ในน้ำ พยายามยกหัวให้พ้นระดับน้ำ  ชายโพกผมสวมเสื้อคลุมสีแดงๆ เกาะแน่นกับคอม้า  ส่วนผู้หญิงที่โพกผมผืนยาว เกาะแผ่นไม้กระดาน พยายามพยุงให้ตัวลอยและมุ่งเข้าไปใกล้ฝั่งที่อยู่ทางมุมขวาล่างของภาพ   เรือลำใหญ่ที่ใกล้เรามากที่สุด เห็นคนหนึ่งตกลงในน้ำ พยายามตะเกียกตะกายจะปีนขึ้นเรือ (ยกเท้าข้างหนึ่งขึ้น)   อีกคนหนึ่งพาดตัวลงบนแคมเรือ มือจับไม้ท่อนหนึ่งที่ปักลงในน้ำทะเล พยายามออกแรงดันเรือให้เคลื่อนเข้าไปใกล้หินผา ใบหน้าหันไปมองผู้หญิงที่อุ้มร่างของเด็กน้อยยกขึ้นสุดแขนให้ชายบนหน้าผาหิน เท้าเด็กเหมือนจะแตะแผ่นหินตรงนั้น หน้ามองไปยังผู้ชายที่ยื่นมือลงมารับ  บนโขดหินใหญ่มืดๆด้านซ้ายของภาพ  งูตัวยาวใหญ่เลื้อยอยู่ 


           Chateaubriand [ชาโตบรีย็อง] นักเขียนฝรั่งเศส (1768-1848) กล่าวถึงจิตรกรรมฤดูหนาวนี้ว่า   ภาพนี้เตือนให้รำลึกถึงวัยที่ร่วงโรยลงกับมือคนแก่  เป็นภาพงามที่สื่อความสั่นเทิ้มของกาลเวลา !  บ่อยๆที่อัจฉริยบุคคลประกาศจุดจบของชีวิตตนล่วงหน้าในผลงานสร้างสรรค์ชิ้นเด่นๆของเขา  ผลงานนั้นออกสู่โลกพร้อมๆกับดวงวิญญาณของจิตกรที่ผละจากไป.

ภาพแต่ละฤดู มีขนาดเกือบเท่ากัน คือ 1.18 X 1.60 เมตร  รวมกันเป็นชุดที่รู้จักกันในนามว่า Quatre Saisons - สี่ฤดู  ท่านดยุ๊คแห่งรีเชอลีเออ(Duc de Richelieu,1696-1788, หลานชายของ Cardinal de Richelieu) สั่งภาพชุดนี้กับจิตรกรโดยตรง  ปุซแซ็งสร้างสรรค์ภาพทั้งสี่ที่กรุงโรม ระหว่างปี 1660-1664.  ภาพชุดสี่ฤดูนี้ เดินทางมาถึงกรุงปารีสตอนปลายปี1664.  นับเป็นเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทีเดียวในตอนนั้น เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมทั้งกรุงปารีส ถูกเรียกตัวให้มาพินิจพิจารณาภาพ.  หนึ่งปีต่อมา ท่านดยุ๊คเล่นเกมแพ้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ผู้ยังทรงเยาว์วัยในขณะนั้น  เป็นเกมคล้ายๆเทนนิสเรียกว่า le jeu de paume) และเสียพนัน.  จิตรกรรมทั้งหมดของท่านดยุ๊ค 25 ชิ้น (ที่มีจิตรกรรมฝีมือปุซแซ็ง13ชิ้น ที่รวมภาพชุดสี่ฤดูนี้ด้วย) ตกไปเป็นสมบัติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และต่อมากลายเป็นสมบัติของแผ่นดินเมื่อมีการสถาปนาพิพิธภัณฑ์ Le Louvre ขึ้นในปี 1793.

              ปุซแซ็งเป็นชาวนอรม็องด์ (ตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส) ไปอยู่กรุงโรมในปี1624 ตอนนั้นอายุ 30  เขาไปฝึกฝีมือในอิตาลี ไม่นาน ผู้คนเริ่มรู้จักและชื่นชมเขา  แต่ก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ผลงานของเขามากด้วยเช่นกัน   ปุซแซ็งใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโรมโดยตลอด เขากลับไปอยู่ฝรั่งเศสเพียงสองปี ไปอยู่ในฐานะจิตรกรหมายเลขหนึ่งในหมู่จิตรกรสามัญ(ที่มิได้อยู่ประจำที่ราชสำนัก) ขององค์พระเจ้าแผ่นดิน.  ที่โรม เขามีชีวิตที่สม่ำเสมอ และไม่ทำอะไรอื่นใดนอกจากงานจิตรกรรมเท่านั้นแม้ว่าจะมีปัญหาโรคประสาท(กระตุก)ที่ทำให้มือเขาสั่นบ่อยๆ   เขาตื่นเช้าเป็นนิสัยและเดินออกกำลังกายไปในเมืองสักชั่วโมงสองชั่วโมง บ่ายหน้าไปยัง Trinità dei Monti [ทรีนีต๊ะ เดอิ ม้นติ] บนเนินเขา Pincio [ปี๊นฉฺโอไม่ไกลจากที่พัก  เขาไปพูดคุยกับเพื่อนๆในเรื่องต่างๆทั้งเรื่องแปลกใหม่หรือเรื่องวิชาความรู้   พอกลับถึงบ้านเขาเริ่มต้นงานจิตรกรรมของเขาโดยไม่หยุดไปจนถึงเที่ยง  รับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ทำงานต่ออีกสองสามชั่วโมง  ตกเย็นเขาไปเดินเล่นที่ปลายเนินเขาแถวชานเมือง  เขาพูดถึงศิลปะบ่อยๆ  ความรู้อันกว้างและลึกของเขา ชักนำให้จิตรกรอื่นๆ หรือคนที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ มาฟังมาเรียน มาหาความหมายอันสูงส่งของศิลปะจากปากของเขา  ความจริงนั้นเขาไม่มีเจตนาคิดตั้งตนเป็นครู แต่ทุกอย่างเป็นไปด้วยความบังเอิญมากกว่า 
              ในการสร้างภาพจิตรกรรมประวัติศาสตร์หรือเนื้อหาจากเทพตำนาน  ใช้ผู้คนจำนวนมากเป็นองค์ประกอบ  การหาคนเท่าจำนวนที่ต้องการและรวมทุกคนมาอยู่ด้วยกันณสถานที่หนึ่งนั้นเป็นเรื่องยาก  จิตรกรรุ่นก่อนๆเช่น Tiziano [ติ๊สซียาโน], Tintoretto [ติ๊นตอเร็ตโต้ะ], หรือ El Greco [เอล เกร้โกะ] ใช้หุ่นรูปปั้นแทน  ปุซแซ็งก็เช่นกัน   มีผู้บันทึกไว้ว่า เขาปั้นหุ่นคนแบบต่างๆขนาดสูงสักยี่สิบเซ็นติเมตร  แล้วตกแต่งตัวหุ่นและจัดวางไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมมีผ้าปิดด้านหลัง  แล้วเพิ่มส่วนสูงต่ำของภูมิประเทศ รวมทั้งอาคารต่างๆ (เหมือนกำลังจัดฉากละคร)   เช่นนี้ทำให้เขาสามารถศึกษามุมมองใกล้ไกลของทัศนมิติ ตำแหน่งของคนในฉาก การเคลื่อนไหวของคนที่กระทบและเปลี่ยนสัดส่วนสัมพัทธ์ระหว่างคนกับพื้นที่รอบข้าง. หลังจากนั้นเขานำหุ่นและฉากทั้งหมดใส่ลงในกล่อง  เขาจัดทำช่องหน้าต่างบนฝากล่องเพื่อให้แสงส่องเข้า  ด้านหน้ากล่องเจาะเป็นรูกลมที่เขาจะส่องดูได้ เพื่อพิจารณาทิศทางของแสงไฟในฉากนั้น  เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงร่างภาพคร่าวๆไว้เป็นชุดๆเลย  ตามมุมมองและแสงไฟแบบต่างๆ 
        ภาพสเก็ตช์คร่าวๆตามกระบวนการนี้ของจิตรกรรมชุดสี่ฤดูนี้ ไม่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน  (แต่มีของภาพจิตรกรรมชื่อ le Baptême [เลอ บ๊ะแตม] ที่แปลว่าการรับศีล)  ผลงานของปุซแซ็งในปี 1646 ที่เหลือมา ทำให้เราเข้าถึงกระบวนการศึกษาค้นคว้า การทดลองจนถึงการสร้างภาพของจิตรกรในแต่ละขั้นตอน  ในผลงานที่เนรมิตขึ้นก่อนจิตรกรรมชุดสี่ฤดูนี้  เขาใช้ทฤษฎีแบ่งช่อง แบ่งระดับ สร้างระบบตื้น ลึก ใกล้ ไกล แต่ละวิธีเสริมเนื้อหาของภาพไปด้วย  เช่นในภาพจิตรกรรมที่ชื่อ L'enlèvement des Sabines [ล็องแลฟม็อง เด ซะบีน]  (แปลว่า การลักพาตัวสาวชาวซะบีน)  วิธีการจัดวางตัวละครที่กระจายออกจากจุดใจกลางของภาพ สอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ที่สาวชาวซาบีนแตกตื่นหนีกระจัดกระจาย เมื่อทหารโรมันเข้าจู่โจมจับตัวพวกเธอ และทำให้ภูมิทัศน์ของฉากหลังดูลึกและไกลออกไป   ภาพฤดูกาลทั้งสี่ภาพเป็นผลลัพธ์จากการค้นคว้าเกี่ยวกับทัศนมิติที่จิตรกรใฝ่ศึกษามาตลอดชีวิต ที่เราเห็นจากผลงานภาพอื่นๆอีกจำนวนมาก  (เช่นภาพผู้หญิงนั่งล้างเท้าอยู่ริมน้ำภาพชื่อ Orphée et Euridice [ออรฺเฟ กับ เออรีดีซ],  ภาพ Diogène jetant son écuelle ภาพ Diane et Orion. ทิวทัศน์ในทุกภาพสวยงามยิ่งนัก)  ต้นไม้ในภูมิประเทศของปุซแซ็ง  ถูกจัดวางเป็นกลุ่ม กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม  เมฆที่เสริมเข้าไปนอกจากจะลดความว่างเปล่าของท้องฟ้า ยังตอบโต้กับความหลากหลายของสิ่งที่ปรากฏบนดิน  หินผาเหมือนกรอบ เหมือนหลืบของฉากบนเวทีละคร  ไม่ว่าทิวทัศน์ใด ก็ถูกตัดถูกจัดให้เป็นหลืบลดหลั่นเข้าไปในความลึกของทัศนมิติโดยรวม  ด้วยวิธีการจัดฉากดังกล่าว จิตรกรผลักตัวละครออกสู่ตอนหน้าของเวที นั่นคือในครึ่งล่างของภาพ ที่ครอบพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของผืนผ้าใบ  ในจิตรกรรมขนาดใหญ่ยุครุ่งโรจน์ที่สุดของปุซแซ็งนั้น  ตัวละครมีรายละเอียดเหมือนประติมากรรมรูปปั้น  มีบุคลิกลักษณะที่ชัดเจนและที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกตามวิถีแห่งจิตรกรรม  ท่าทางของตัวละครก็เป็นไปตามค่านิยมในระบบศิลปะกรีกโรมัน  ในจิตรกรรมชุดสี่ฤดูนี้  ศิลปินยืมลักษณะและท่าทีอันงามสง่าตามแบบวีรชนโบราณสำหรับตัวเอก  ส่วนตัวละครอื่นๆส่วนใหญ่ถูกลดเหลือเพียงภาพลักษณ์คร่าวๆเท่านั้น ไม่เจาะจงรายละเอียด   
         ปุซแซ็งมักใช้กาวจากยางไม้ชนิดหนึ่งทาไปเต็มบนผืนผ้าใบ  แล้วละเลงสีออกแดงๆทับลงไปหนึ่งชั้น  หลังจากนั้นจึงเพิ่มองค์ประกอบของภาพที่เขาลงสีคร่าวๆไว้   สีชั้นแรกนี้มาจากการผสมสีที่สะกัดจากน้ำมัน ไข่แดงกับผงขาวของตะกั่ว   สีในขั้นนี้แห้งเร็ว และทำให้เขาเริ่มลงมือเนรมิตภาพจริงๆได้ทันที   สีที่เขาใช้คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงไม่กี่กลุ่ม คือกลุ่มสีแดง กลุ่มสีน้ำเงิน กลุ่มสีเหลือง กลุ่มสีเขียว กลุ่มสีน้ำตาลและกลุ่มสีดำ  ทั้งหมดเป็นสารสะกัดจากธรรมชาติที่หาได้ในยุคนั้น   เมื่อต้องการแสดงเงา ปุซแซ็งเลือกใช้กลุ่มสีที่ตรงข้ามกันหรือตัดกัน โดยยึดหลักสีร้อนตัดกับสีเย็น เช่นสีแดงกับสีน้ำเงิน  ผิดจากขนบนิยมของจิตรกรยุคนั้นที่นิยมใช้สีเดียวแต่เข้มขึ้นมาเป็นสีของเงา 
         หลังจากพิจารณาองค์ประกอบของภาพในแต่ละฤดูแล้ว และเข้าใจวิธีการใช้สีของจิตรกร  เรามาดูว่าสีต่างๆในจิตรกรรมแต่ละฤดูเป็นเช่นใด (คำอธิบายที่นำมาถ่ายทอดตอนนี้นั้น เราอาจไม่เห็นถนัดนัก เนื่องจากภาพที่นำมาลงเป็นภาพถ่ายของภาพถ่ายอีกหลายทอดมา คุณภาพของภาพย่อมผิดไปในแต่ละขั้นตอน  ในบทความนี้ ผู้เขียนยังได้ปรับแสงให้สว่างขึ้นกว่าภาพต้นฉบับเพื่อความชัดเจนในการชี้แนะให้เห็นรายละเอียดต่างๆ)
      ภาพฤดูใบไม้ผลิ  เป็นการเล่นระดับสีเขียวเป็นสำคัญ  เป็นสีเขียวที่หลากหลาย  แสงสีเหลืองจ้าของดวงอาทิตย์ขึ้น เจาะทะลุผ่านมวลใบไม้ไปต้องหินผา ในขณะที่ท้องฟ้ายังคงเป็นสีฟ้าเข้ม
        ภาพฤดูร้อนเป็นการเล่นระดับสีร้อนหลายสี เช่นสีฟางข้าว  สีต้นข้าวสาลี สีสดใสของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  มีสีฟ้าเข้มกับสีเขียวเข้มแทรกเข้าไปเสริมบรรยากาศสองสามแห่ง  ท้องฟ้ามีสีฟ้าอ่อนกระจายออกไป
        ภาพฤดูใบไม้ร่วง มีสีแบบเดียวกับภาพฤดูร้อน แต่ไม่สดใสเท่า เพราะเป็นช่วงดวงอาทิตย์จะตกดิน  หมู่เมฆเป็นสีฟ้าเทาๆ ให้บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน และสื่อฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
        ภาพฤดูหนาว เป็นการเล่นระดับสีเทา  มีทั้งสีเทาร้อนกับสีเทาเย็น  สีเทากลืนทิวทัศน์ทั้งหมด ทั้งท้องฟ้ากับมวลน้ำ  สีของตัวละครในน้ำในฉากตรงหน้าผู้ดู โยงไปถึงวิธีการใช้สีตัดกันเช่นสีแดงตัดด้วยสีน้ำเงินดังที่กล่าวไว้
*จังหวะการแต่งแต้มสีของจิตรกร สั้นและเฉพาะเจาะจง  กล่าวโดยรวมได้ว่า วิธีการแต่งแต้มสีแบบนี้ทำให้มองดูเหมือนภาพในศิลปะการทอพรมประดับที่เล่าเนื้อหาประวัติศาสตร์หรือเทพตำนาน เป็นพรมทอขนาดใหญ่มากที่คนนิยมนำขึ้นประดับบนผนังกำแพงห้องโถงใหญ่ๆ พรมแผ่คลุมพื้นที่ผนังกำแพงทั้งด้านสูงและด้านกว้างไว้  จิตรกรคงมิได้เจตนาทำให้ภาพของเขามองดูเหมือนพรม เพราะยิ่งอายุมาก โรคระบบประสาทกระตุกยิ่งรุนแรงขึ้น  มือของจิตรกรสั่นอยู่เสมอ ทำให้ไม่อาจป้ายสีเป็นแนวยาวๆหรือกว้างๆได้อีก
         ปุซแซ็งเป็นนักอ่านและมีพื้นความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมคลาซสิกดี  เขาหาข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาที่เขาเลือกมาเสนอในจิตรกรรม  เช่นนี้แต่ละฤดูจึงเล่าเหตุการณ์ที่มีที่มาที่ไปอย่างเจาะจง  ภาพฤดูใบไม้ผลิมีทุ่งหญ้ากับดอกหญ้า เงาไม้ร่มรื่น ธารน้ำไหล นกเป็ดน้ำ ทิวทัศน์ที่ไกลออกไป ทอแสงเรืองรองที่อ่อนโยน  ทิวทัศน์ในภาพฤดูใบไม้ผลิคือสภาพภูมิประเทศของสวรรค์  ชายหญิงร่างเปล่าเปลือยคืออาดัมกับอีฟใต้ต้นไม้แห่งความรู้  พระบิดาบนก้อนเมฆกำลังสั่งห้ามกินผลไม้จากต้นนั้น  มือที่ยกขึ้นเน้นความจริงจังของคำสั่ง  แต่ท่าทีของอีฟ มิได้คล้อยตามแต่ตอบโต้กับประกาศิตของพระเจ้า ด้วยการชูมือชี้ให้อาดัมเงยดูผลไม้ต้องห้าม เธอพร้อมจะฝ่าฝืนคำสั่ง  ภาพฤดูใบไม้ผลิจึงเล่าถึง กำเนิดของมนุษยชาติตามที่จารึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (Genesis 3,1-6)   ปุซแซ็งได้นำแบบอย่างการสร้างสรรค์จิตรกรรมของไมเคิลแอนเจลโล ที่ประดับเพดานโบสถ์ซิกส์ตินในวาติกัน (1512)  มาปรับให้เรียบง่ายกว่าในจิตรกรรมของเขา 
ภาพฤดูร้อน  ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งคุกเข่าตรงหน้าผู้ชายที่ดูมีอำนาจ กลางทุ่งนาที่ผู้คนกำลังเก็บเกี่ยวข้าวกันอยู่  ทุกอย่างชี้บอกให้รู้ว่า นี่คือเรื่องราวจากคัมภีร์เช่นเดียวกัน จากบันทึกเรื่องของ Ruth [รุท] (Livre de Ruth)   รุธเป็นชาวโมอับ สามีตายเร็ว ทำให้เธอเป็นแม่หม้าย เธอไปหา Booz [บูซ] ชาวฮีบรู ผู้เป็นเจ้าของที่นาผืนนั้น  เธอเข้าไปขออนุญาตอย่างนอบน้อมต่อบูซ เพราะอยากได้ช่อข้าวสาลีกลับไปฝากโนเอมี แม่สามี (เมื่อสามีตาย รุธรับแม่สามีมาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ อันเป็นสิ่งที่หญิงคนอื่นไม่ทำกัน โดยปกติหญิงหม้ายจะกลับคืนสู่บ้านพ่อแม่ตัว ถือว่าจบความผูกพันกับครอบครัวฝ่ายสามี  การตัดสินใจดังกล่าวจึงทำให้นางได้ชื่อว่าเป็นคนดีมีศีลธรรมสูง)   บูซตกลงอนุญาตและสั่งคนของเขา ให้ปล่อยนางทำอะไรได้ตามที่นางต้องการ เพราะเชื่อและศรัทธาในตัวนาง   ต่อมาบูซรับเธอเป็นภรรยาอย่างถูกต้อง  ทั้งสองมีบุตร(ชื่อObed) ผู้จะสืบลูกหลานเป็นเชื้อสายของดาวิด-David  ในบรรพบุรุษสายนี้เอง ที่พระคริสต์มาเกิดบนโลกในวันหนึ่งข้างหน้า  ปุซแซ็งเน้นการเผชิญหน้าของรุธกับบูซโดยจัดให้ทั้งสองอยู่ในตำแหน่งตรงหน้าภาพ  มีชายคนหนึ่งยืนรับรู้เหตุการณ์อยู่ห่างๆ  เขาก้มศีรษะ กิริยาท่าทางแสดงความเคารพนับถือการตัดสินใจของบูซ  มือของบูซ ที่ยื่นออกไปยังคนนั้นกำกับคำสั่งของเขา  อีกมือหนึ่งชี้เจาะจงรูธ ยอมรับเธอและพร้อมให้ความคุ้มครองแก่นาง
ภาพฤดูใบไม้ร่วง  ชายสองคนหามช่อองุ่นพวงมหึมา มือขวาของคนหนึ่งยังหิ้วพวงทับทิมผลโตๆ  ทั้งสองเดินเร็วเหมือนกำลังหนีอะไร  ทั้งสองสวมรองเท้าสาน  คนหนึ่งกำดาบไว้ในมือ อีกคนมีดาบผูกคาดเอวไว้   นี่เป็นเรื่องราวอีกตอนหนึ่งในคัมภีร์  จากเล่มที่เรียกว่า Le Livre des Nombres (Nombres 13) เล่าถึงการอพยพออกไปในทะเลทรายของชาวยิว(แถวเมือง Qadech)  โมอีซ(Moise) ได้เลือกตัวแทนจากชาวยิวทั้ง 12 เผ่า และส่งออกไปสำรวจพื้นที่ข้างหน้า โดยสั่งให้ไปให้ไกลที่สุด ให้ข้ามภูเขาสูงจนถึงดินแดน Canaan [กานาน]  การไปสำรวจครั้งนั้นเพื่อหาที่อยู่ที่กิน ตั้งบ้านเมืองถาวรแก่ชนชาติยิว ตามที่ยาเวพระเจ้าได้มาบอก ให้เขาพาชาวยิวทั้งหมดออกไปจากอีจิปต์ ไปสู่ดินแดนที่พระเจ้าจะประทานให้อย่างถาวร  (ภายหลังต่อมา ชาวยิวก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในแดนกานาน)  ชาวยิวทั้ง 12 คนได้เดินทางเข้าไปสำรวจเมือง Canaan และได้ถือโอกาสเก็บองุ่นและผลไม้อื่นๆติดมือออกมาจากไร่นาของชาวเมืองด้วย  (เหมือนไปขโมยมา จึงต้องเร่งรีบออกจากเมือง)  เพื่อมาให้โมอีส เช่นองุ่น ผลมะเดื่อและทับทิม   ยืนยันว่า ดินแดนไกลโพ้นนั้นมีอาหารอุดมสมบูรณ์  องุ่นเป็นสัญลักษณ์บอกความอุดมสมบูรณ์  คัมภีร์เล่าต่อไปว่าในราวปี 1300 โมอีสได้นำชาวยิวออกจากอีจิปต์ มุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ยาเวพระเจ้าได้สัญญาว่าจะเป็นที่อยู่ใหม่สำหรับชาวยิว
ภาพฤดูหนาว  กลับไม่ใช่ภาพของทิวทัศน์ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะตามที่เราคิดกัน  แต่เป็นภาพของภัยพิบัติ  ทั้งตัวเมือง ภูเขา ทุ่งนาไร่ หรือผู้คน ต่างถูกฝนกระหน่ำจมหายลงในน้ำ   ปุซแซ็งใช้เรื่องราวจากคัมภีร์อีกเช่นกัน ตอนน้ำท่วมมหากาฬ (Genèse 6-9) เมื่อยาเวพระเจ้าลงโทษคนจนล้มตายไปเกือบหมดแผ่นดิน คนที่พระองค์สร้างขึ้นปั้นขึ้นจากมือแท้ๆ แต่เพราะความประพฤติที่เหลวไหลผิดศีลธรรม ทำให้พระเจ้าโกรธลงโทษด้วยการให้น้ำท่วมมาล้างโลก (มีแต่โนเอและครอบครัวเท่านั้นที่รอดตายเพราะพระเจ้าช่วยไว้ ด้วยการสั่งให้สร้างเรืออาร์ค แล้วให้เข้าไปอยู่ในเรือ พร้อมสรรพสัตว์ทุกชนิด ชนิดละคู่ ระหว่างที่น้ำท่วมโลกอย่างมืดฟ้ามัวดิน) 

Willibald Sauerländer (ชาวเยอรมัน เกิดปี 1924) ได้วิเคราะห์ภาพชุดสี่ฤดูของปุซแซ็งไกลออกไปอีกว่า ในภาพฤดูใบไม้ผลิ ครึ่งหนึ่งของภูมิประเทศอยู่ในร่มเงา  อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในแสงสว่างจ้า  พระบิดาปรากฏในส่วนสว่างของภาพ  ความตรงข้ามระหว่างเงามืดกับแสงสว่าง เหมือนกลางวันกับกลางคืน  บอกให้รู้แล้วว่าตัวละครสองตัว(อาดัมกับอีฟ) ในภาพกำลังจะทำผิด  ทำ “บาปกำเนิด”  ภาพฤดูใบไม้ผลิจึงเจาะจงภาวะของคน ก่อนที่จะมีกฎ (นั่นคือมีคัมภีร์ศาสนา La Loi หรือ Le Torah ที่คนจะใช้เป็นคู่มือในการประพฤติตนในสังคม)  
นักเขียนคนเดียวกันนี้กล่าวถึงภาพฤดูร้อนว่า  ปุซแซ็งคงได้แรงดลใจจากบทวิจารณ์เรื่องราวของรุธที่บาทหลวงเยซูอิต นิกอลาส์ เซรารุซ (Nicolas Serarus) ได้เขียนไว้   การที่บูซแต่งงานกับรุธเหมือนประกาศว่า พระเยซูเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับโบสถ์ (พึงรู้ว่า ในคติคริสต์ศาสนา โบสถ์คริสต์คือผู้หญิง เป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิง)   ต้นไม้ในภาพก็สื่อการสืบเชื้อสายตระกูลของดาวิด  รวงข้าวสาลีกับก้อนขนมปังที่หญิงสองคนได้ทำมาเพื่อเลี้ยงดูคนเก็บเกี่ยว  เน้นค่านิยมเกี่ยวกับขนมปัง ว่าเป็นสัญลักษณ์ของร่างกายของพระคริสต์ 
ในภาพฤดูใบไม้ร่วงก็เช่นกัน  องุ่นพวงมหึมาที่แบกมาจากแดนไกล สะท้อนให้เห็นภาพของพระคริสต์ที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน เลือดไหลออกจากบาดแผล  ไวน์จึงเป็นสัญลักษณ์ คือเลือดของพระองค์ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีรับศีลมหาสนิท  ผู้หญิงบนบันไดในภาพนี้ ก็คือภาพลักษณ์ของโบสถ์อีกเช่นกัน  โยงไปถึงนางผู้รักเคารพพระคริสต์ ผู้รู้จักเก็บเกี่ยวผลไม้จากต้นไม้แห่งชีวิต(คือพระองค์)  ส่วนผู้หญิงที่เดินจากไป อาจมองได้ว่า เป็นซีนาก๊อก (วัดของพวกนอกศาสนา)   ผ้าผืนหนึ่งที่ตกลงจากกระจาด บังไม่ให้เธอเห็นต้นไม้แห่งชีวิต  นอกจากนี้ยังมีข้อเปรียบเทียบอีกประเด็นหนึ่ง เพราะเป็นความตรงข้ามอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างต้นไม้ใหญ่ที่มีผลดกกับต้นไม้กิ่งเล็กเรียวบางและไร้ผลบนโขดหิน ที่อาจโยงเป็นบทเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างโบสถ์กับซีนาก็อก (synagogue). 
ในภาพฤดูหนาวนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมมหากาฬอาจตีความได้ว่า เป็นอารัมภบทของวันพิพากษาสุดท้าย  ที่นี่เช่นกัน ปุซแซ็งได้นำภาพลักษณ์บางอย่างของไมเคิลแอนเจลโลมาใช้ แต่ทำให้ง่ายกว่า  ภาพเรือโยงไปถึงเรืออาร์คของโนเอที่ล่องลอยไปเหนือมวลน้ำและรอดพ้นภัยจากน้ำท่วมได้  สอดคล้องกับค่านิยมในคริสต์ศาสนาที่ว่า โบสถ์เป็นเรือและพาคนสู่สวรรค์  เมื่อเราแหงนหน้าขึ้นมองเพดานในโบสถ์ลักษณะเพดานสูงโค้งในสถาปัตยกรรมโบสถ์  ทำให้เราจินตนาการถึงท้องเรือได้อย่างชัดเจน  ในภาพฤดูหนาวนี้  ตัวละครในฉากตรงหน้านั้น สะท้อนภาพของคนที่คิดและเชื่อในตนเอง ว่าจะสามารถพบทางชีวิตนิรันดร์ได้ด้วยตนเอง แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังไม่อาจเอาตัวรอดจากน้ำท่วมได้เลย

          แนวการวิเคราะห์ภาพดังกล่าว ทำให้เราเจาะจงเนื้อหาของภาพชุดสี่ฤดูว่าเป็น เรื่องราวของการดิ้นรนของคนเพื่อกลับสู่สวรรค์ การตายและการฟื้นคืนชีวิต ตามแนวคิดในคริสต์ศาสนา  แต่นักวิจารณ์ศิลป์คนอื่นๆยังระบุว่า เนื้อหาจากคัมภีร์ไม่ใช่เป็นข้อมูลเดียวที่ดลใจปุซแซ็ง  วรรณกรรมอิงตำนานเทพกรีกโรมันก็มีส่วนในจินตนาการสร้างสรรค์ของจิตรกรด้วย หรือวรรณกรรม Les Géorgiques ของ Virgile (ในราวปี 29 BC.)  ฤดูใบไม้ผลิเป็นอรุณรุ่งของมนุษยชาติ  เป็นจุดเริ่มต้นของวันใหม่ภายใต้สัญลักษณ์ของเทพอพอลโลผู้เป็นสุริยเทพ ผู้เป็นเทพแห่งไฟ   ฤดูร้อนคือวัยฉกรรจ์ของคน เหมือนความร้อนแรงของอาทิตย์ยามเที่ยง ท้องทุ่งและนาข้าวเป็นพระแม่ธรณีที่ให้อาหาร และการเก็บเกี่ยวเป็นภาพสะท้อนของเทพสตรีเซเรส (Cérès) ผู้เป็นเทพแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารในระบบเทพตำนานกรีก  รุธตัวละครจากคัมภีร์ไบเบิล มีช่อข้าวสาลีวางอยู่ข้างตัว จึงอาจโยงไปถึงเทพเซเรส  ปุซแซ็งชอบและสนใจประวัติศาสตร์ของโลกโบราณและสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้อง  เกือบตลอดชีวิตเขาอาศัยอยู่ที่กรุงโรม ในยุคที่เริ่มมีการขุดซากโบราณสถานต่างๆอย่างจริงจัง (ศต.ที่ 17)  เขาจึงใส่ใจในเรื่องความถูกต้องตรงตามความจริงใหม่ๆในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการกินอยู่  ด้านประเพณีพฤติกรรม  ด้านมโนสำนึกและแน่นอนด้านเครื่องแต่งกาย  เสื้อผ้าแบบที่สวมกันในยุคโบราณจึงเด่นชัดในงานสร้างสรรค์ของเขา  ภาพฤดูร้อนเป็นทิวทัศน์แบบ Virgile [วีรฺจีรฺ] (เป็นปราชญ์และกวีละติน มีชีวิตอยู่ระหว่าง70-17BC.) เขาให้แง่คิดว่า ธรรมชาติเป็นแหล่งที่เอื้ออำนวยให้คนพบความสุขได้แน่นอนกว่าสถานที่อื่นใด  เขายังสรรเสริญคุณค่าของการทำงาน ว่า การทำงานคือการสร้างสรรค์สังคม   ภาพของม้าห้าตัวได้แบบมาจากประติมากรรมจำหลักนูนบนประตูชัยของติตุซ (Titus,จักรพรรดิโรมมัน, 40-81AD.) ในบริเวณ Forum Romanum ที่กรุงโรม  ส่วนฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูของชีวิตที่เริ่มร่วงโรยลง เป็นจุดเริ่มของจุดจบ  จิตรกรเลือกเสนอภาพในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ  งานเก็บองุ่นคือภาพสะท้อนของเทพบัคกุซ(Bacchus) เทพแห่งไวน์และความมึนเมา  และฤดูหนาวคือจุดจบของชีวิต  จิตรกรเสนอภาพยามค่ำ ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าเลือนลางในหมู่เมฆหนาครึ้ม  มวลน้ำมหาศาลที่ท่วมท้นโลกเป็นสัญลักษณ์โยงไปถึง ปีตง - Python  เทพประจำบาดาล (ลูกของเทพแม่ธรณีที่เรียกกันว่า กาอียา-Gaïa)  รูปลักษณ์ของปีตง คืองู ดังที่ปุซแซ็งได้บรรจงวาดไว้อย่างชัดเจนบนโขดหินในภาพฤดูหนาว  ถึงกระนั้นจิตรกรก็ได้แทรกความหวังไว้บนภาพด้วย  แสงสีทองได้ส่องสว่างตัวเด็กทารกที่ผู้เป็นแม่ยกสูงสุดแขนเพื่อให้ขึ้นบนโขดหินพ้นภัยจากการจมน้ำตาย และมีผู้ยื่นมือมารับไว้นั้น  คือความหวังใหม่ของมนุษยชาติ
          ในที่สุด ภาพชุดสี่ฤดูแยกแยะสี่ภาคในหนึ่งวัน แสงสีในฤดูใบไม้ผลิเป็นยามเช้า ฤดูร้อนเป็นเที่ยงวัน ฤดูใบไม้ร่วงเป็นยามบ่าบและฤดูหนาวเป็นยามเย็นย่ำค่ำ  ภาพสี่ฤดูเป็นสี่ภาคของชีวิตของคนที่มุ่งหน้ากลับสู่สวรรค์  เป็นสี่วัยของชีวิตหนึ่ง  เป็นภาพของธาตุสี่  ทุกคติดังกล่าวต่างเกี่ยวโยงไปถึงเนื้อหาสี่เรื่องจากคัมภีร์  โยงไปถึงเทพตำนานสี่องค์ และผนึกรวมเข้าในวงจรแห่งกาลเวลาที่หมุนไปหมุนมาไม่รู้หยุด  ปุซแซ็งยังสนใจใฝ่รู้เกี่ยวกับทฤษฎีดนตรีและสถาปัตยกรรมด้วย  อันเป็นความรู้จากกรีซโบราณที่สืบทอดมาจากทฤษฎีดนตรีของปีทากอรัซ (Pythagorus, 6BC.) ในภาพฤดูร้อน ปุซแซ็งยังได้แทรกดนตรีเข้าไปในภาพด้วยการบรรจงวาดภาพของชายคนหนึ่งกำลังเป่าปี่ cornemuse 

        เมื่อพิจารณาภาพชุดสี่ฤดู จะเห็นว่า ฤดูใบไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วงมีตัวละครน้อย  ส่วนฤดูร้อนกับฤดูหนาวมีตัวละครมาก.  ดูอีกครั้งจะเห็นว่ามีฉากเนื้อหารุนแรงสองฉาก  ฤดูใบไม้ผลิกับฤดูหนาว.   ฤดูหนาวเห็นได้ชัดเจนว่าเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นความตาย  แต่ทำไมฤดูใบไม้ผลิมีเนื้อหารุนแรงด้วยหรือ?  ความรุนแรงยังไม่ปรากฏในภาพ แต่เนื้อหาชี้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในนาทีต่อไป คือการขัดคำสั่งของพระเจ้าและผลที่ตามมาคือการที่คนถูกขับไล่จากสวรรค์  ตกอับลงมาอยู่กับดินกินกับทรายและต้องเริ่มทำงาน เพื่อให้การทำงานของตนไถ่บาปกำเนิดฯลฯ   ฉากรุนแรงทั้งสองเป็นเหมือนกรอบล้อมอีกสองฉากที่มีเนื้อหาแจ่มใสกว่า  จะเห็นว่า วิธีการจัดภาพของจิตรกรทั้งองค์ประกอบ ตัวละคร เนื้อหา และฉากอย่างมีขั้นตอน มีทั้งนัยยะผิวและนัยสัญลักษณ์  ทำให้เหมือนการประพันธ์ดนตรี  การจัดเรียงเป็นสี่ตอนเหมือนสี่จังหวะ ก็เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีคลาซสิก ที่พัฒนาไปเป็นดนตรีแบบ Sonata หรือแบบ symphony ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่นานหลังจากยุคของปุซแซ็ง   
         ปุซแซ็งเน้นการสื่อเนื้อหาที่เป็นภูมิหลังของภาพชุดนี้เท่านั้นหรือไม่เลย.  จิตรกรได้เพียรสร้างให้งานของเขาประทับความรู้สึกด้วย  ภูมิทัศน์เป็นสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก  เป็นแรงบันดาลใจ เป็นบ่อเกิดของความคิดที่โยงต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ไกลออกนอกเนื้อเรื่องดั้งเดิมที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นจุดแรก  (กระบวนการสร้างสรรค์ภาพได้นำมิติต่างๆเพิ่มเข้าไปๆ  และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้จิตรกรรมนั้นเป็น Masterpiece เหนือจิตรกรรมอื่นๆที่ขาดความลุ่มลึกหรือที่มองเข้าใจได้เพียงประเด็นเดียว)   เพราะวัตถุเดียวกันหากเปลี่ยนที่ ไปปรากฏในอีกบริบทหนึ่งในอีกภาพหนึ่ง อาจเปลี่ยนจากการเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ไปเป็นสัญลักษณ์ของความหายนะ  จากความคงทนถาวรเป็นความฟู่ฟ่าชั่วครู่ชั่วยาม หรือจากสิ่งที่ฟื้นฟูพัฒนาไม่สิ้นสุด ไปเป็นสิ่งที่ตายและจบลง
           ดูเหมือนว่า ปุซแซ็งในวัยชรา ยึดลัทธิ panthéisme [ป็องเตอิซึม]  ที่มองดูธรรมชาติเสมือนพระเจ้าผู้สูงสุด ยึดคติของธรรมชาติที่เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งสรรพชีวิต ไม่ยึดการบูชาเคารพพระเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งองค์เดียวหรือหลายองค์  เขาเชื่อว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก เพียงแค่พิจารณาความไม่สิ้นสุดของธรรมชาติ  ความงาม  ความลึกลับมหัศจรรย์ที่คนยังมิอาจเข้าใจได้ทั้งหมด เหล่านี้เพียงพอที่จะยืนยันความยิ่งใหญ๋ของธรรมชาติที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งได้โดยไม่ต้องไปอิงตำนานสวรรค์ตำนานใด  ดูเหมือนว่าปุซแซ็งพยายามหลอมตัวเขาเองเข้าสู่สิ่งที่กว้างใหญ่กว่า สิ่งที่ไม่มีขอบเขต เข้าสู่ธรรมชาติ   เขารับความคิดของ Virgile (ในงานเขียนเรื่อง Géorgiques, 29BC.) เข้าไปเต็มตัว และยังเปรียบให้เห็นว่าประวัติเอกบุคคลไม่ต่างอะไรไปจากประวัติโลกนัก  ตามกระบวนการสร้างสรรค์ดังกล่าว  จิตรกรรมภูมิทัศน์(ซึ่งเคยถูกมองว่าต่ำต้อยกว่า)  จึงอาจยกระดับขึ้นเทียบเท่าจิตรกรรมประวัติศาสตร์   ภูมิทัศน์ในภาพชุดสี่ฤดูเป็นดั่งการเจาะจงพินัยกรรมของเขา  พินัยกรรมที่บอกทั้งวิวัฒนาการของธรรมชาติและวิวัฒนาการของมนุษยชาติ  และในที่สุดก็เป็นบทสรุปผลงานกับชีวิตของเขาเองด้วย   

         ฤดูใบไม้ผลิในแดนสวรรค์เขียวขจีที่อุดมพืชผล อาจสะท้อนเตือนให้รำลึกถึงนอรม็องดีบ้านเกิดของจิตรกร อันเป็นแหล่งเพาะปลูกแอปเปิลแหล่งสำคัญของฝรั่งเศส  ส่วนภาพอีกสามฤดูที่เหลือ เขาอาจได้แรงบันดาลใจจากทิวทัศน์ ท้องทุ่งไร่นาแถบกรุงโรมที่มีฤดูร้อนอันปลอดโปร่งแจ่มใส  ฤดูใบไม้ร่วงที่ค่อนข้างหนักเพราะเมฆหนา และฤดูหนาวที่มีฝนชุก    ใกล้ขอบด้านซ้ายในภาพฤดูหนาว เห็นงูตัวหนึ่งอย่างชัดเจน  งูเป็นสัตว์ที่มีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกเหมือนลางสังหรณ์แบบหนึ่ง  ปุซแซ็งแทรกภาพงูไว้ในภาพของเขามากกว่ายี่สิบภาพ  ทำไมหรือ?  มันอาจเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของจิตรกรช่วงใดช่วงหนึ่งก็ได้ ที่ไม่มีใครรู้และจะไม่รู้ตลอดไป   งูเจ้าเล่ห์ในภาพฤดูหนาว  เหมือนมาข่มขู่  ทำให้กลัวและเตือนให้นึกถึงความตาย   ในอีกแง่หนึ่งงูก็เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ของวงจรชีวิตเช่นกัน  โยงไปได้ถึงไม้เท้าที่มีงูพันของ Asclepius เทพแห่งการแพทย์ในตำนานกรีก (งูเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่) หรืองูที่ประดับ Caduceus ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์มาตั้งแต่ในอีจิปต์โบราณ งูเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเทพ Isis  คือมีงูขดบนศีรษะและหัวงูหยุดอยู่ตรงกลางหน้าผากอย่างชัด ส่วนแขนสองข้างที่เหมือปีกนก แผ่โอบปกป้อง Horus ลูกชายไว้จากโรคภัยไข้เจ็บ  เทพ Isis อีจิปต์เป็นแพทย์สตรีที่ชาวอีจิปต์โบราณกราบไหว้บูชา [2] 
    
คทาของเทพแห่งการแพทย์ Asclepius ในตำนานกรีก  
ประติมากรรมจำหลักนูนเทพ Isis อีจิปต์ ผู้มีหัวงูโผล่ทะลุหน้าผาก
ภาพสเก็ตช์ Isis พร้อมปีกที่แผ่โอบปกป้อง Horus ลูกชาย มีหัวงูยื่นออกตรงกลางหน้าผากด้วย  
ชาวอีจิปต์โบราณบูชาเทพ Isis ในฐานะเทพผู้ปกป้องจากเชื้อโรค
งูอีกเช่นกันที่แอบแฝงกายมาในหมู่ไม้ในฤดูใบไม้ผลิ ที่มายุแนะอีฟให้ชิมผลไม้ต้องห้าม ทำให้เกิดวงจรชีวิตที่หมุนเวียนไปไม่สิ้นสุด  นักประวัติศาสตร์ศิลป์ระบุว่า งูเป็นลายเซ็นสุดท้ายของปุซแซ็งที่ประทับลงบนโขดหินในภาพฤดูหนาว  เหนือขึ้นไปบนท้องฟ้า  สายฟ้าฟาดเฉียงซิกแซ็กลง จุดประกายสว่างแว็บขึ้นในบัดดล  ไม่ผิดไปจากความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อเมื่อเส้นประสาทสั่นและกระตุก เพราะเลือดเดินติดขัดภายในร่างกาย  ที่ทำให้ปุซแซ็งทนทุกข์ทรมานติดต่อกันมานาน  ปุซแซ็งกล่าวไว้ว่า 
<< ข้าพเจ้าอยู่อย่างหวาดกลัววันแล้ววันเล่า  แขนขาที่สั่นเทิ้มยิ่งแย่ลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น.  ทำให้ข้าพเจ้าต้องจำใจหยุดงานทุกชิ้น และเก็บสีกับพู่กันเสีย   ถ้าข้าพเจ้ายังมีชีวิตต่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ข้าพเจ้าหวังจะกลับมาทำต่อ...>>
ภาพวาดเหมือนนิกอลาส์ ปุซแซ้ง ฝีมือของเขาเอง ในปี 1650 ปัจจุบันอยู่ที่ Le ouvre อาคารRichelieu ชั้น 2 ห้อง14 กรุงปารีส 

บันทึกความประทับใจจากการไปชมภาพชุดนี้ ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็อกณวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘.



[1] Alain Jaubert เป็นหนึ่งในผู้จัดรายการวัฒนธรรมชื่อว่า Palettes [ปาแล๊ต] (ที่แปลว่า แป้นสีของจิตรกร)  เป็นรายการที่นำเสนอศิลปะสู่ประชาชน ด้านจิตรกรรมเป็นสำคัญ  รายการนี้ออกอากาศในโทรทัศน์ช่อง Arte France [อารฺเต้ ฟร้องซฺ] หรือในภาษาเยอรมัน Arte Deutschland ว่า [อารฺเทอ ด๊อยฉฺลันดฺ] คำ Arte ย่อมาจาก Association Relative à la Télévision Européenne ที่เป็นโทรทัศน์ช่องยุโรป (ดูได้จากเกือบทุกประเทศในยุโรป นอกจากฝรั่งเศสและเยอรมนี มีประเทศเบลเยี่ยม สวิสเซอแลนด์ ออสเตรีย ลุกซ็องบูร์ก ลีเฉินสไตน์ โมนาโค ตอนบนของคาบสมุทรอิตาลีเป็นต้น ) เป็นช่องที่รวมรายการวัฒนธรรมและศิลปะ เริ่มต้นออกอากาศเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1992  เป็นโทรทัศน์ที่เกิดจากความร่วมมือนานาชาติ ที่เสนอรายการเพื่อผู้ชมจากทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี  รายการเดียวกันออกอากาศเป็นสองภาษา เช่นในฝรั่งเศส ผู้ชมดูรายการในภาษาฝรั่งเศส และในเยอรมนีเป็นภาษาเยอรมัน บางรายการอาจใช้วิธีการให้ subtitles เป็นภาษาฝรั่งเศสหรือเยอรมนีแล้วแต่กรณี เช่นภาพยนต์เยอรมัน มี subtitle เป็นภาษาฝรั่งเศส & vice versa  หลายรายการของ Arte ที่แคนาดาและออสเตรีย นำไปออกอากาศให้คำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ  ตามรสนิยมส่วนตัวของข้าพเจ้า รายการของ Arte น่าติดตามและน่าสนใจมาก  เป็นโทรทัศน์ช่องที่ข้าพเจ้าโปรดปรานมากที่สุด
          รายการ Palettes นี้มีทั้งหมด 45 ตอน สร้างขึ้นในระหว่างปี 1988 ถึงปี 2003 มีการบันทึกเป็นแผ่นซีดี ออกขายเพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป แต่ละตอนยาวประมาณ 26-30 นาที แต่ละตอนเกี่ยวกับงานศิลป์ชิ้นหนึ่งเพียงชิ้นเดียว  อาจมีการโยงไปถึงงานชิ้นอื่นของจิตรกรคนเดียวกันบ้าง เมื่อต้องการขยายความกระจ่างหรือการต่อเนื่องในกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปิน  แต่ละตอนให้ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปิน สภาพสังคมทุกด้านที่เกี่ยวข้องและที่เป็นภูมิหลังหรือฉากหลังของการเนรมิตงานศิลป์ชิ้นนั้น  การวิเคราะห์วิจารณ์ละเอียดและสอดคล้องกับข้อมูลวัฒนธรรมของยุคสมัย  ทำให้คำอธิบายน่าเชื่อถือและเป็นก้าวเริ่มต้นที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าใจศิลปวัฒนธรรมตะวันตกผ่านงานศิลปะ นามพิพิธภัณฑ์ Le Louvre  ผู้มีส่วนสนับสนุนการจัดรายการ ย่อมประกันคุณภาพในตัวอยู่แล้ว  นับเป็นการบริการสังคมที่ยอดเยี่ยมแบบหนึ่ง ที่ให้ความรู้และสร้างความตระหนักในคุณค่าของงานศิลปะ  แต่ผู้จัดรายการนี้ ก็มิได้โอ้อวดว่า แต่ละตอนที่นำมาเสนอนั้น เป็นการมองภาพ “ขั้นสุดท้าย หรือเบ็ดเสร็จแน่นอนเต็มร้อย” เพราะทุกคนตระหนักดีว่า  ยังมีความเล้นลับที่เราไม่อาจเจาะทะลุได้โดยตลอด และนั่นคือจิตสำนึกขณะสร้างสรรค์งานของศิลปินแต่ละคน (ที่เราหรือผู้จัดไม่มีโอกาสไปไต่ถามหรือสัมภาษณ์โดยตรง เพราะเสียชีวิตกันไปหมดแล้ว)  ถึงกระนั้น ในความเห็นของข้าพเจ้า รายการนี้ได้สอนข้าพเจ้า เป็นเหมือนครูใกล้ตัว และได้เปิดโลกทัศน์ของเราชาวตะวันออก ออกไปยังสุดขอบฟ้า  ข้าพเจ้าขอคารวะคณะผู้จัดทำ และชื่นชมว่า เขาไม่หวงความรู้แต่ภูมิใจในวัฒนธรรมของเขา
[2] อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับไม้เท้าที่มีงูพันและสัญลักษณ์ของ caduceus ได้ที่เว็ปไซต์นี้  http://www.kristenelisephd.com/2013/10/what-difference-snake-makes-caduceus.html   และข้อมูลเกี่ยวกับลัทธิ panthéisme ได้ที่นี่ http://www.pantheism.net/