Sunday, 16 September 2018

Beware of midges

สองมิลสุดสยอง ปึ่งตัวแสบที่ต้องรู้จัก

La mer qu’on voit danser le long des golfes clairs…
ไปชายทะเลหัวหินทุกครั้ง เพลงนี้จะดังอยู่ในใจ ควบคู่ไปกับภาพและเสียงคลื่นที่ริมชายหาด.
พบอาจารย์สามารถวันอังคาร วันพุธเตรียมเดินทางกลับ. ก่อนหกนาฬิกานิดหน่อย ข้าพเจ้าตัดสินใจไปเดินลุยน้ำทะเล. เท้าได้เหยียบทรายริมฝั่งทะเลหัวหิน เดินหายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ. ท้องฟ้าครึ้มๆ สวยสบายตา แสงอาทิตย์เรื่อรำไร โลกสว่างผ่านชั้นเมฆ ทั้งวันไม่ต้องสวมหมวกกันแดด ไม่ต้องสวมแว่นดำตัดแสง.
    ยามนั้น พระภิกษุไม่ต่ำกว่าสิบรูป เดินเลาะริมชายหาดเหมือนกัน จากวัดที่ไหนไม่รู้ (ดูเหมือนมาจากหลายวัด) เดินเดี่ยวๆ ไปเรื่อยๆ ไม่เดินคู่กัน เดินห่างๆกันไปตามจังหวะของแต่ละรูป ผ่านโรงแรมสายลม ไปทางเขาตะเกียบ. จะไปถึงที่นั่นไหม ไม่รู้ได้. เห็นหลายรูปที่เดินไปก่อน ทะยอยเดินย้อนกลับมาบนเส้นทางเดียวกันนี้. บางรูปอาจเลียบไปบนเส้นทางถนนเพชรเกษมเพื่อกลับวัด. ชาวบ้านหลายคนหรือผู้ที่พักในคอนโดริมทะเลหัวหิน รู้ว่าทุกเช้ามีพระสงฆ์ออกเดินบนชายหาด. มีครอบครัว หรือคนกลุ่มเล็กสองสามกลุ่ม ยืนรอบนชายหาดพร้อมตะกร้าอาหาร คอยใส่บาตร. ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่บาตรเพราะไม่ได้เตรียมอาหารอะไรไว้ล่วงหน้า.
เดินไปๆ ชักคันๆ ก้มมองดูเสื้อแขนยาวสีขาวที่สวมคลุมอยู่ เห็นแมลงเล็กๆสีดำๆเกาะเต็มเสื้อ ทั้งยังบินแวะเวียนแถวหน้า และแข้งขาด้วย.
ภาพจาก : Must See Scotland
มันเกาะบนเสื้อแขนยาวสีขาวที่สวมอยู่ จึงเห็นชัดเจนมาก (ภาพนี้เป็นริ้นสายพันธุ์สก็อต ปึ่งหัวหินเล็กกว่านี้อีก)
เราปัดออก มันคงคิดว่าชวนเล่น เลยบินเข้าในเสื้อ ตามคอ แขน ขา. พวกมันคงส่งเสียงร้องบอกกันอึงมี่ พบอาหารเช้ากลิ่นใหม่ รสชาติใหม่. มันไม่หวงอาหาร อาจส่งภาษาของมันว่า Bon appétit! [บ็อนนาเปตี]
เหมือนพี่น้องร่วมสายพันธุ์แมลงสองปีก (diptera เช่นยุง) ริ้นน้ำเค็มหรือปึ่ง ตัวเล็กขนาด 1.5-3 มิลลิเมตร. ตัวเมียท้องแก่เท่านั้นที่ต้องการดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (เช่นวัวควาย สุนัข ม้าและคน) เพื่อสะกัดโปรตีนไปเป็นบำรุงไข่ในท้องมันให้แข็งแรง. เมื่ออิ่มแล้ว ได้จังหวะชีวิต มันก็บินไปวางไข่ริมฝั่งพื้นที่ชื้นแฉะใต้กอไม้หรือในน้ำเลย. แต่ละครอกอาจมีจำนวนตั้งแต่ 25-200 ฟอง. แม่ปึ่งหนึ่งตัว อาจวางไข่ได้สามครอกหรือมากกว่า. ไข่ฟักเป็นตัวหนอน (larvae)ภายใน 2-7 วัน และอยู่ในสภาพหนอนระหว่าง 2 สัปดาห์ถึงหนึ่งปี แล้วแต่ชนิดและที่มันอยู่. หลังจากนั้นภายใน 2-3 วันก็กลายเป็นตัวดักแด้เต็มตัว (pupa) และเจริญเต็มที่เป็นตัวริ้นหนุ่มเหน้าและสาวปิ๊ง. รวมกันเป็นวงจรชีวิตของริ้น เกิดตายภายในหนึ่งปีอย่างช้า แต่การเจริญเติบโตช้าหรือเร็วในวงจรชีวิตของปึ่ง ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ. ในเขตร้อน ปึ่งรุ่นใหม่อาจเกิดขึ้นทุกสามสัปดาห์. ปกติริ้นที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว อาจมีชีวิตตั้งแต่สองถึงเจ็ดสัปดาห์. ปึ่งตัวหนุ่มสาวเข้าสู่ระยะเวลาที่ต้องออกหาอาหาร ปกติกินน้ำหวานจากพรรณไม้ดอก แล้วผสมพันธุ์กัน. ทำหน้าที่เสร็จ ตัวผู้ก็ตาย. ตัวเมียต้องออกหาเลือดกินดังกล่าวมา. มันออกตระเวนหากินในช่วงเช้าตรู่และก่อนพลบค่ำ ไม่ชอบลมแรง แดดจ้า ผืนน้ำกว้าง (เช่นปึ่งไม่ตามไปกัดชาวประมงกลางทะเล) หรือที่สูงในภูเขา (มันขึ้นไปสูงไม่เกิน700 เมตรเป็นต้น).
    ตุ่มบวมๆที่ถูกปึ่งกัดนั้น สำหรับบางคนอาจเกิดหนองได้ ต้องบีบหนองออก. บางสายพันธุ์ในกลุ่ม Culicoides ที่อยู่ในเขตร้อน เป็นพาหะนำเชื้อโรคและกาฝากสู่คนและสัตว์อื่นด้วย. การป้องกันขั้นต้นเช่นสวมเสื้อผ้าโทนสีอ่อน หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีเข้ม และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวเป็นต้น. ชาวประมงที่หัวหิน แนะให้ทาหรือฉีดยากันยุงตามตัวและแขนขา(แทนโลชั่นหรือไง เหม็นแย่เลย) รวมทั้งฉีดไปบนเสื้อผ้าด้วย.
    สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทไหนหรือ จะเป็นฟูดคอร์ตที่สะดวก โอ่โถง มีอาหารอร่อยเท่าร่างกายคน. คนมีผิวบาง เกลี้ยงเกลา นุ่มนิ่ม ไม่ต้องชอนไช. ปากแหลมๆคมๆ สั้นน้อยกว่า 0.1 mm. สั้นยังไง มันก็เจาะถึงแหล่งเลือดได้ มันไม่เสียเวลาเจาะทะลุเสื้อผ้าคน เพราะมันแทรกเข้าใต้ร่มผ้าได้อย่างง่ายดาย. จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อแม่ปึ่งตัวหนึ่ง ค้นพบแหล่งอาหารจานพิเศษบนตัวคน จึงส่งสัญญาณ ชวนทั้งกลุ่มหญิงท้องแก่ มาเสพมาดื่มด้วยกันอย่างเบิกบาน. On the spot คนก็ยังไม่รู้สึกรู้สมอะไรนัก เหมือนใจบุญช่วยการสืบทอดสายพันธุ์ต่อไปในวงจรธรรมชาติ. สิบกว่านาทีผ่านไปอย่างน้อย จึงเริ่มรู้สึกคันๆ.
      ข้าพเจ้าก็เช่นกัน ไม่ฉุกใจอะไร เดินขึ้นจากหาด ไปเดินต่อในสระน้ำเกลือของโรงแรมด้วยความสบายใจ. เช้าๆ สระน้ำโรงแรมมีข้าพเจ้าคนเดียว. เดินไปในสระน้ำ หายใจสม่ำเสมอ หายใจเข้าออก ยาวขึ้นๆ ให้อากาศชายทะเล ฟอกปอดให้. เดินไปมาเห็นสมควรแก่เวลาที่ผ่านไป ตั้งแต่ลงไปเดินชายหาดและในสระน้ำเกลือนี้ เกินชั่วโมงแล้ว จึงขึ้นจากน้ำ. ความที่ไปแช่ในสระน้ำเกลือต่อ จึงไม่ได้รู้สึกเกี่ยวกับที่ได้เป็นอาหารเช้าอันโอชะของปึ่งไปแล้ว. แต่ไม่นานหลังจากนั้น อาบน้ำแต่งตัวเพื่อไปทานอาหารเช้า อาการคันชักมากขึ้นๆ ตัดสินใจหยิบ Benovate-N ที่ติดกระเป๋าไปไหนมาไหนด้วยเสมอ เพราะต้องทาเมื่อยุงกัด แพ้ยุงมาแต่ไหนแต่ไร. ทาไปแล้ว รู้สึกยิ่งคัน(ไม่ใช่เพราะยาทาหรอกนะ แต่เพราะน้ำลายปึ่งเริ่มออกฤทธิ์ ผิวหนังเริ่มเห่อขึ้นมาและบวมมากขึ้นๆ. ตอนนั้นแหละ “เป็นกรุงศรีอยุธยาคราวกรุงแตก สุดที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ได้” ขอยืมสำนวนของอาจารย์ปัญญามาใช้ เพื่อให้เห็นภาพ absolute despair  ถึงจุดประเมินความเสียหายได้อย่างถูกต้อง.
ดูความเจ็บปวดของม้าที่โดนกัด เห่อไปทั้งหลังม้าเลย ม้าร้องโวยสุดเสียง
(ภาพจาก wagwalking.com)
ตุ่มลักษณะนี้ เมื่อเริ่มต้นใหม่ๆ หรือเมื่อการบวมยุบลงแล้ว กินยาแล้ว ทายาแล้ว. กว่าจะหายแดง หายคันอีกนาน แต่ละตุ่มแห้งแล้วเป็นสะเก็ด หลุดออกมา ตอนบวมใหม่ๆน่ะ บวมแดงก่ำทั้งน่องเลย.
     มือตามไปเกาโดยอัตโนมัติ แล้วชะงัก เกาไม่ได้ จึงเอามือลูบและตบๆไปบนตัวแทน. ความคันลามเหมือนไฟไหม้ป่า คันชนิดได้ยินเสียงไม้แตกระเบิดแยกเป็นเสี่ยงๆเมื่อโดนไฟป่าเผา. อีกแล้วหรือนี่ เป็นเหยื่อตัวปึ่งอีกแล้ว!  ครั้งก่อน(เมื่อไปพักที่สวนสน) ก็เจ็บปวดแสบร้อนซะ ต้องขอให้เจ้าหน้าที่เรียกรถไปส่งโรงพยาบาลกรุงเทพ-หัวหิน. ครั้งนี้ ไม่มีเวลาคิดเรื่องไปโรงพยาบาล เพราะกลับกรุงเทพวันนั้นเลย. กลับมาค้นหายาที่หมอเคยสั่งให้กินให้ทา วันรุ่งขึ้น(วันที่ ๑๓ กันยา) จึงได้ซื้อยามากินและทา (ยาที่หมอให้กินนั้น ชื่อ clarityne ส่วนยาทา ถ้ายังไม่เคยใช้ Benovate-N ก็ให้ทายานี้เลย มันช่วยลดอาการเจ็บ แสบ คันได้). สี่วันมาแล้ว ฤทธิ์ยาทำให้อาการบวมลดลง แต่ความคันยังคงอยู่ อีกนานกว่าตุ่มเหล่านี้ จะตกสะเก็ดและจางหายไปจากผิวหนัง. ผลข้างเคียงของการกินยาแก้แพ้ คือการง่วง หลับเป็นตายครั้งละแปดถึงสิบชั่วโมง.
    เพื่อไม่ไปเกาตุ่มแดงๆทั้งหลายบนตัว เพื่อเบนความคิดออกจากความเจ็บความคันสุดแสนนั้น จึงใช้มือมาคีย์คอมพิวเตอร์ เกิดความอยากรู้ว่า แม่ปึ่งทั้งหลายนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร?
ภาพจากเว็ปสถาบัน treesforlife.org.uk และที่เพจ mosi-guard.com ภาพขยายใหญ่เหนือตัวริ้น สองปีกเกยกันในขณะหยุดนิ่งกับที่. ภาพนี้เห็นขนและรูขุมขน(ของผิวหนังชาวตะวันตก) ยังคิดว่า ปึ่งหัวหินตัวเล็กกว่านี้ ประมาณ 1-1.5 มม.
ดูหน้าตาริ้น ประจันหน้ากันให้เต็มตา แขนขาเพรียว สองปีก มีเสาอากาศที่มีขนคลี่ตั้งกระจายอย่างเป็นระเบียบ. ส่วนที่ยื่นลงเหมือนฟันหน้าสองซี่นั้น คือช้อนส้อมคู่ชีพสุดวิเศษและประณีตของมัน  เป็น“เลื่อย”ขนาดจิ๋ว ไม่ผิดไปจากเลื่อยที่เชฟใช้เฉือนใช้แล่เนื้อ.
ดูอีกที อาวุธของมันเหมือนกรรไกรซอยผมที่มีฟันเป็นซี่ๆทั้งสองขา
ข้อมูลภาพ : midge_fly_culicoides_brevitarsis.jpg

มนุษย์เอ๋ย เจ้าไม่มีอาวุธใดติดตัวที่จะรับมือความกระจิริดที่ฉกาจฉกรรจ์ของพวกเราได้เลย. มอง เจ้ายังมองไม่เห็นพวกเราเล้ย เราแทรกเข้าไปในเส้นผมของพวกเจ้า เจ้าก็ไม่รู้สึก บินเข้าไปกินมื้อเช้ามื้อเย็นที่หน้าอกใต้ร่มผ้าที่ใดบนตัวเจ้า เจ้าก็ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ เราก็อิ่มแล้ว. เหลือร่องรอยบนตัวเจ้า เตือนให้เจ้ารำลึกไว้ว่า เจ้าอย่าได้โอหังมากนักนา หากแมลงอย่างเรา รวมตัวกันเข้ารุมมนุษย์ พวกเจ้าหรือจะอยู่ได้    

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า
ริ้นน้ำเค็ม หรือตัวปึ่ง (Biting Midges) วงศ์ Ceratopogonidae
ชนิดที่สำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขในเมืองไทย มี 2 สกุล
ได้แก่ Culicoides และ Leptoconops
ขนาดเล็กมากใกล้เคียงกับแมลงหวี่ มีปากเจาะแบบดูดเหมือนยุง ลำตัวสีดำหรือเทาแก่
พบได้ทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยอาศัยตามชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
ตัวอ่อนอาศัยตามโคลนตม กินแมลง ซากเน่าเปื่อย เป็นอาหาร
ตัวเต็มวัยเพศเมีย กัดดูดเลือดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ในประเทศไทยสามารถพบริ้นน้ำเค็ม บริเวณชายฝั่งทะเลหลายแห่ง รวมทั้งป่าชายเลน ซึ่งกัดดูดเลือดคน ปัจจุบันการแพร่ระบาดของริ้นน้ำเค็ม โดยเฉพาะสกุล Leptoconops เป็นปัญหาด้านการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดผลเสียต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เช่นที่ภูเก็ต นักท่องเที่ยวถอนตัวกลับก่อน ออกจากเมืองไทยเพราะแพ้ตัวปึ่ง.
บางชนิดก่อให้เกิดอันตรายโดยการเข้าไปในตา จมูกและหูของคนและทำให้เกิดอาการแพ้ คัน ระคายเคืองที่ผิวหนังในบริเวณที่ถูกกัด เมื่อเกาอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณแผล ยากต่อการรักษา.

    อ่านข้อมูลนี้แล้ว ก็ยังไม่สะใจ แกะรอยตามปึ่งไปอีกหลายเว็ป ยิ่งเมื่อรู้ว่า ฝรั่งเขาเรียกสัตว์สยองขวัญสายพันธุ์นี้ว่า midge ยิ่งมีเรื่องให้อ่านให้รู้อีก. เพลินกับข้อมูลที่พบ จนลืมความเจ็บความคันไปได้ (ดีใจไม่น้อยว่า แยกกายกับจิตออกจากกันได้ชั่วคราว กายเจ็บแต่จิตไม่เจ็บตาม!) เห็นวิธีการนำเสนอชีวิตตัวริ้นหรือตัวปึ่ง จากเว็ปเพจชื่อ smidgeup.com อดสนุกไม่ได้ ต้องนำมาถ่ายทอดต่อ. (ขอใช้คำว่า ปึ่ง แทนริ้นทั้งหลายที่กัดและดูดเลือดคนเป็นอาหาร)

คู่มือสามขั้นสู่การกัดคน (สำหรับปึ่ง)
๑. เหตุปัจจัย >> ปึ่งจับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในลมหายใจออกของคน (มีประมาณ 4% ของปริมาตร) ด้วยความไวแม้อยู่ไกลถึง 200 เมตร. ลมหายใจของคน บอกให้ปึ่งรู้ว่า มีอาหารพร้อมกินอยู่ใกล้ๆ. คนเป็น all-you-can-eat buffet สำหรับปึ่ง.
๒. อาหารมื้อนั้นน่ากินเพียงใด >> เมื่อได้สัมผัสคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ปึ่งเริ่มพิจารณารายละเอียดของอาหารตรงหน้า (body chemistry) เช่นกลิ่นตัว(หอมหวลถูกใจไหม) อุณหภูมิ (ความร้อนของร่างกาย ชอบคนตัวอุ่นมากกว่าตัวเย็น) ความชื้น(ยิ่งมีเหงื่อยิ่งชอบ) สีสัน(สีผิว ถ้าเลือกได้ชอบสีเข้ม) และการเคลื่อนไหว (นิ่งอยู่กับที่ เดิน หรือวิ่ง). ถ้าเลือกได้ เลือกเพศของอาหารด้วย(ชอบเพศเมียมากกว่าเพศผู้). ถึงขั้นนี้ คนที่เป็นอาหารจานพิเศษของปึ่ง ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรทั้งสิ้น.
๓. การเจาะเลือกชิ้นส่วนอาหาร >> ปึ่งร่อนลงเข้าประชิดตัว เดินสำรวจพื้นที่ เลือกจุดที่มันชอบ แล้วใช้หัวชอนไชแบบสว่าน (หัวก้มลึกลง ลำตัวยกสูง หางชี้) เปิดเป็นทางให้ปากสอดลึกลงๆในผิวหนังคน พร้อมๆกับหลั่งสาร(น้ำลาย) ป้องกันการแข็งตัวของเกล็ดเลือด(ทำให้เลือดไหลต่อเนื่อง) เพื่อให้ฟันที่เหมือนเลื่อยของมัน (Cf. Midges pierce our skin just like a jigsaw power tool. Express.co.uk) งับลงเป็นรู แล้วดูดอาหารไปบริโภคได้สะดวก. การเดินและการดูดเลือดของปึ่ง ทำให้คนรู้สึกว่าเหมือนถูกกัด. (ปึ่งไม่มีท่อปากที่แหลมคมเหมือนเข็มอย่างยุง. เมื่อยุงกัด มันใช้ปากที่เป็นท่อยาวแหลมเหมือนเข็มนั้น เจาะเข้าผิวหนังอย่างตรงไปตรงมา ไม่เสียเวลาสำรวจพื้นที่ และหลั่งน้ำลายที่มีฤทธิ์เป็นยาสลบ(ยาชา)ตามไปด้วย ทำให้คนไม่รู้ว่าถูกกัด. จะรู้ก็เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบโต้กับน้ำลายยุง คือเกิดตุ่มบวมแดงเจ็บๆคันๆ). เมื่อปึ่งชิมรู้ว่ารสอร่อยถูกปาก ปึ่งจะปล่อยอณูฮอร์โมนของมันไปในอากาศ ส่งสัญญาณเชิญชวนพรรคพวกปึ่ง แม่ท้องแก่ทั้งหลาย ให้มาร่วมกินร่วมดื่มฉันท์พี่น้องเชื้อสายเดียวกัน ด้วยใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. เช่นนี้แหละ จากปึ่งตัวน้อยหนึ่งตัว ประเดี๋ยวเดียว มากันเป็นฝูงล้อมรอบอาหารจานพิเศษนั้น.
    ปึ่งแต่ละตัวใช้เวลาเสพอาหารโปรดของมันระหว่าง 2-4 นาที มันจะดูดเลือดเป็นปริมาณเทียบเป็นสองเท่าของน้ำหนักตัวมันได้ จึงบินจากไป. ตลอดมื้อ คนก็ยังไม่รู้สึกรู้สมอะไรนัก. คงเหมือนมดกัดช้าง ช้างเฉ๊ยเฉย. เมื่อถึงวินาทีนั้น สำหรับคน ทุกอย่างก็สายเกินแก้แล้ว. รู้ตัวขึ้นมา คิดเสียว่าบริจาคเลือดเลี้ยงชีวิตสัตว์อื่นอย่างสงบ อย่าได้เกาเป็นอันขาด. ออกจากตรงนั้นโดยเร็ว. วิ่งได้วิ่งเลย ต้องให้เร็วกว่าปึ่งด้วย. หากถูกรุมกินโต๊ะขนาดนั้น ไปโรงพยาบาลทันที น่าจะดีที่สุด. หากมียาประเภท anti-histamine (ที่รักษาโรคภูมิแพ้) ก็ให้ทาบริเวณที่ถูกกัดทันที ก่อนจะไปถึงหมอ.
   เมื่อปึ่งถอนฟันมันออกจากผิวหนังคน ร่างกายคนรุกตอบโต้การถูกจู่โจมของปึ่ง. ระบบอิมมูน (immune system) สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ด้วยการพยายามคุมการกระจายของแผล. อาการบวมและแข็งตัวของแผล เป็นผลจากปฏิบัติการของร่างกายคนด้วย เป็นการจำกัดความเสียหายให้อยู่ในวงแคบที่สุดที่ทำได้. การบวมทำให้คัน เพราะเซลล์แต่ละเซลล์ที่ถูกกระทบ ขยายใหญ่ออกนอกกรอบปกติของมัน (ถ้าแผลไม่แข็งตัวตรงนั้น แบคทีเรียจากน้ำลายปึ่งอาจซึมกระจายต่อไปในเส้นเลือดอื่นๆทั่วทั้งตัวได้ ก็ยิ่งคันกว้างออกไป). อย่างไรก็ดี ร่างกายของแต่ละคน อาจมีปฏิกิริยาตอบโต้กับแผลที่ถูกกัด ไม่เหมือนกันก็ได้. ระบบดีเอ็นเอของแต่ละคน มีส่วนในการบริหารจัดการระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนด้วย.
image source : smidgeup.com
ตัวนี้ดูดเลือดจนตัวป่อง ก่อนกินตัวเรียวยาว(แบบแมลงปอ) 
ริ้นตัวเมียเท่านั้น(ยุงก็เช่นกัน) ที่กัดและดูดเลือดคน.
ตัวผู้ไม่กินของคาวๆ กินน้ำหวานจากเกสรและสารพืชอื่นๆ (เป็นมังสะวิรัติ).
เมื่อปึ่งดูดเลือดเข้าไปแล้ว ร่างกายมันจัดการกรองสารอาหารเช่นโปรตีนในเลือด กักเก็บไว้ ส่วนประกอบน้ำในเลือดถูกขับออกทางก้นปลายสุด (เช่นยุง บางชนิดคายออกมาจากปาก) เช่นนี้จึงทำให้มันดูดเลือดเข้าไปเป็นจำนวนสอง-สามเท่าของน้ำหนักตัวมันได้. (มีเล่าไว้เช่นกันว่า ยุงตัวตะกละเกินไป ดูดเลือดซะ ระบบมันกรองไม่ทัน เลือดท่วมอวัยวะภายใน ล้มลงสิ้นใจ เหมือนชูชกเลย!)
ข้อมูลที่แทรกเล่ามานั้น มาจากเนื้อหาในเว็ปเพจหลายแห่ง เช่นจาก smidgeup.com ทำให้รู้ว่า สก็อตแลนด์เป็นแหล่งที่อยู่ของริ้น(ตัวปึ่ง) แหล่งสำคัญทีเดียว. ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชาวสก็อตที่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับริ้น ที่เป็นที่ยกย่องยอมรับกันทั่วไป. นักวิจัยค้นพบว่า ริ้นที่กัดคนนั้นมีมากกว่า 35 ชนิดในสก็อตแลนด์ และริ้นสายพันธุ์ Culicoides impunctatus ติดอันดับเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสก็อตแลนด์. สายพันธุ์นี้พบในเมืองไทยด้วย (ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุไว้). ส่วนในเว็ป mosi-guard.com ระบุว่าในเกาะอังกฤษมีริ้นราว 152 ชนิดๆที่กัดคนมี 50 ชนิดและ 37 ชนิดอยู่ในสก็อตแลนด์. หรือจาก scotsman.com และเว็ปอื่นๆของชาวสก็อตนั้น นอกจากข้อมูลที่มีที่อ้างอิงแล้ว ยังให้ข้อมูลวิธีป้องกัน และขายยารักษาที่แพทย์เป็นผู้คิดทำขึ้นด้วย และมีบริการพยากรณ์ความชุกชุมของริ้นตามจุดต่างๆในสก็อตแลนด์ (midge forecast จะไปไหนในสก็อตแลนด์ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ต้องเช้ค พยากรณ์ริ้น ก่อน). ส่วนข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ระบุว่า มีริ้นในอังกฤษประมาณ 500 สายพันธุ์ ราว 150 สายพันธุ์เป็นพันธุ์กัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม. งานวิจัยใหม่ๆยังอาจทำให้สถิติเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้.  
    วีดีโอที่นำมาให้ชมตามลิงค์ข้างล่างนี้ เป็นสารคดีเรื่อง The Secret of Life of Midges จาก BBC One Scotland นำเสนอเรื่องโดยนักกีฏวิทยา Dr. James Logan อาจารย์อาวุโสประจำสถาบัน London School of Hygiene & Tropical Medicine ผู้ศึกษาเรื่องแมลงและโดยเฉพาะเรื่องริ้น(และยุง)มากว่าสิบปีแล้ว. มีคลิปยาวหนึ่งชั่วโมงที่ให้รายละเอียดความรู้เกี่ยวกับเรื่องริ้นอย่างเจาะลึก (ได้ดูจนจบ แต่วันนี้เข้าไม่ถึงคลิปนั้นแล้ว) และด้วยอารมณ์ขันแบบชาวสก็อต
ขอแสดงความชื่นชมและคารวะเต็มที่.
Biting Midges (3:37 min)

เนื้อหาสั้นๆพอสรุปได้ว่า << ยังไม่เคยมีใครเพาะตัวริ้นในห้องแล็ปได้ แต่ที่นี่ในห้องแล็ปของเรา ได้ทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำกันมาก่อนในอดีต. เราใช้กล้องถ่ายรูปที่มีประสิทธิภาพเลนส์จุลทรรศน์สูงละเอียดมาก ทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมของตัวริ้นอย่างใกล้ชิดที่สุดในสภาพนิเวศของมัน (ซึ่งคือผิวหนัง เนื้อตัวของคน). (ดอกเตอร์โลกันใช้มือของเขาทดลองด้วย เขาปล่อยให้ริ้นร่อนลงที่มือ แล้วถอนมือออก นำมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดูพฤติกรรมการกินของมัน).
   เราสามารถเห็นหัวริ้นที่เจาะหมุนชอนไชลง ทำให้ปากของมันสอดลึกลงๆไปใต้ผิวหนัง. ผิวหนังคนนั้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนสองมิลลิเมตรของตัวริ้น นับว่าหนาทีเดียวสำหรับมัน. ปากของมันจึงคมและแหลมแบบเลื่อย ที่ทั้งเลื่อยทั้งตัดจนทะลุผิวหนังสู่เส้นเลือด.
   สรีระตัวริ้นไม่ได้เปลี่ยนเลยตลอดเวลาล้านๆปี จึงต้องมีเหตุปัจจัยของการธำรงคงรูปลักษณ์สัญฐานดั้งเดิมของมันไว้. นับได้ว่า ริ้นเป็นเครื่องจักรปั๊มเลือดที่วิเศษสุด. สารคดีนี้ยืนยันชัดเจนว่า ตั้งแต่มันร่อนลงเทียบลานบินที่เป็นผิวหนังของคน ริ้นใช้เวลาตระเวนสำรวจพื้นที่บนผิวหนังคน(เกือบหนึ่งนาที) เพื่อเลือกจุดที่ดีที่สุดสำหรับฝังปากของมันลงไปดูดเลือด. การเดินสำรวจพื้นที่บนผิวหนังคนนี่แหละ ที่ทำให้คน(ผิวบาง) รู้สึกระคายเคืองที่ผิว เมื่อพบจุดโปรดของมัน การดูดเลือดจึงเริ่มขึ้น. ปกติใช้เวลาสองนาทีกว่าจะดูดกินเลือดจนอิ่ม แล้วจึงบินจากไป. เมื่อถูกริ้นกัด คนไม่รู้สึกอะไรนัก ความเจ็บความคันเริ่มขึ้นทีหลัง (อีกนานเป็นชั่วโมงและการบวมก็ลามออกกว้าง).>>
      ริ้นสายพันธุ์ที่อยู่ในสก็อตแลนด์ อยู่ที่นั่นมานานเป็นพันๆปีแล้ว มีปรากฏเล่าไว้ว่า Bonnie Prince Charlie (เจ้าชายในเนื้อเพลง Skye Boat Song, 1720-1788) ก็เคยโดนกัดมาแล้ว. พระราชินีวิคตอเรีย (1819-1901) ถูกริ้นรุมเร้าที่ Balmoral (Scottish Home to Royal Family) ในสก็อตแลนด์ ทำให้การปิคนิคของพระองค์ต้องหยุดชะงักและเสด็จออกจากพื้นที่นั้น.
      ริ้นเป็นผู้ทำลายสถิติที่น่าทึ่ง ด้วยการมีน้ำหนักเพียง เศษหนึ่งส่วนสองพันกรัม. บนพื้นดินพรุสองตารางเมตร มันอยู่รวมกันได้ถึงห้าแสนตัว. ปีกของมันกระพือหนึ่งพันครั้งต่อวินาที นับเป็นสัตว์ที่เร็วที่สุดในอาณาจักรสัตว์.
       สัตว์ตัวจิ๋วขนาดนี้ ที่ทำร้ายคนได้สารพัด โดยเฉพาะยุงพี่น้องร่วมชาติพันธุ์ของปึ่ง ที่เป็นตัวพาหะนำเชื้อโรคและที่ทำให้คนตายปีละเป็นล้านๆคน. ยุงเป็นสาเหตุของอัตราการตายในคนมากกว่าสาเหตุอื่นใด. Prof. Immo Hansen (ผู้ได้รับสมญานามว่า Mosquito man แห่ง New Mexico State University) ยืนยันว่า ยุงเป็นสัตว์ที่อันตรายที่สุดของคน. ท่านผู้นี้จับยุงมาวิจัยในห้องแล็ป แยกประเภทเป็นกล่องๆไว้อย่างดี และเลี้ยงยุงด้วยเลือดของท่านเอง คือเอามือยื่นเข้าไปให้ยุงมันกินเลือด. บอกว่า ไม่สะดวกใจที่จะขอให้นักศึกษามาบริจาคเลือดแบบนี้.
     งานวิจัยต่อมา ชี้ไปถึงว่าริ้นเป็นพาหะนำโรคในหมู่ปศุสัตว์ในเขตร้อนของโลก เช่นทำให้เกิดโรคระบาดในหมู่ม้าที่เรียกกันว่า African horse sickness และการระบาดของไวรัส Blue Tongue Virus.
     ทำไมคนไม่กำจัดริ้นหรือยุงให้สูญสิ้นไปจากโลกไปเลย? ทำอย่างนั้นไม่ได้เช่นกัน ห่วงโซ่อาหารในวงจรธรรมชาติ จะขาดตอนไป. ไม่ใช่ริ้นทุกชนิดที่กัดคน. ริ้นเองเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิดตั้งแต่แมงมุม ค้างคาวถึงนกกระจอก. ในสภาพของตัวหนอนอยู่ริมฝั่งน้ำ ริ้นก็เป็นอาหารของปลา แมงปอ ด้วงฯลฯ
     จากข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และโดยเฉพาะของศาสตรจารย์ Dr. Henry Disney (Midge man) กล่าวเสริมด้วยว่า ริ้นเป็นสัตว์ที่เป็นตัวบ่งชี้มลภาวะในน้ำ. ริ้นบางชนิดที่อยู่ในน้ำ เป็นตัวบอกว่าน้ำนั้นดี มีสุขภาพดี มีระดับออกซิเจนปกติ. และเมื่อริ้นหายไปจากหนองน้ำใด ก็เป็นสัญญาณบอกว่าระดับออกซิเจนในน้ำต่ำลง ที่จะกลายเป็นน้ำเน่าในอนาคตได้.
      ที่นำมาเล่านี้ เลือกเฉพาะสก็อตแลนด์เป็นตัวอย่าง ความจริงริ้นมีอยู่ทุกมุมโลก ทุกทวีป คิดเอาเองว่า มันรวมตัวกันเมื่อไร โอกาสรอด น้อยมาก. ใช้เวลาหลายวันมานี่ ศึกษาเรื่องปึ่ง รวมกับริ้นสก็อต และโยงไปถึงยุง(พี่ใหญ่ริ้น) จนพอเข้าใจเพื่อความพร้อมในการเผชิญหน้ากับปึ่งในอนาคต.

บ่นเรื่องแพ้ตัวปึ่ง คันไปทั่วตัวจนเดี๋ยวนี้ เพื่อนหมอฟันฟังแล้วพูดว่า
แพ้นั่นแพ้นี่อยู่เรื่อย  เธอเคยชนะอะไรบ้างไหม?
ไม่ต่อความยาวสาวความยืดอีกต่อไป
โชติรส รายงาน
๑๕ กันยายน ๒๕๖๑.

6 comments:

  1. ข้อมูลความรู้ทั้งหลาย สรุปจากเว็ปส่วนใหญ่ของสถาบันวิจัยอังกฤษ/สก็อตแลนด์. เขาศึกษากันมานานและต่อเนื่อง. ศาสตราจารย์ผู้นำและทีมงาน รวมทั้งอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัยเรื่องริ้น เขาทำอย่างมีระบบ ใกล้ชิดถึงขั้นซุปเปอร์จุลทรรศน์ เอาตัวเข้าทดลองเลย แบบยอมเสียเลือดเลี้ยงดูริ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลและรู้จักมันอย่างเจาะลึก น่าสรรเสริญมาก. เป็นแบบอย่างนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องลงสนามเอง ทุกอย่าง ทุกวิถี เขาจึงรู้อย่างดี และยังดำเนินการวิจัยต่อเนื่อง เพราะริ้นก็จะพัฒนาภูมิคุ้มกันของมันด้วย จากที่ไม่เคยเป็นพาหะนำเชื้อโรค มันก็เป็นขึ้นมาแล้ว. ได้อ่านได้ฟังแล้ว อดไม่ได้ ต้องมาบอกเล่าต่อ. ขอคารวะจิตวิญญาณนักวิจัยชาวอังกฤษและชาวสก็อตทั้งหลาย. ปลื้มปิติที่โลกนี้มีนักวิจัยที่ทุ่มเทแบบนี้.

    ReplyDelete
  2. รู้จักกับศัตรูหมายเลขหนึ่งของคน ชาติพันธุ์ diptera แมลงสองปีก
    ในชาติพันธุ์นี้ ยังแบ่งเป็นสามชนชั้น (ชนชั้นสูง กลางและต่ำ)
    ยุงและริ้น อยู่ในหมู่ชนชั้นต่ำ
    และในชนชั้นนี้ ไม่ว่ามีปีกหรือมีขา ต้องวิ่งวุ่นหากินทั้งวัน
    ยุงเป็นพี่ใหญ่ในชนชั้นสุดทรหดนี้
    ปึ่ง น้องน้อยของยุง มีบุคลิกไม่น้อยหน้าพี่ๆ อย่าได้วางใจ
    เดี๋ยวนี้มันไปทั่วเลย ยิ่งเมืองไทยมีชายฝั่งทะเลยาวเหยียดด้วย
    อย่าละเลย ทำความรู้จักกับมัน ตั้งต้นที่นี่เลย

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณ​ที่ให้ความรู้​เรื่องปึ่งค่ะ เคยถูกปึ่งกัดที่หัวหินเหมือนกัน เป็นตุ่มคันอยู่นานหลายเดือน ที่นานเพราะพอทายาแก้แพ้ ตุ่มก็ยุบลงเหมือนหายแล้ว แต่วันดีคืนดีก็บวมแดงขึ้นมาใหม่ที่จุดเดิม เกาจนอักเสบ ทายากินยาแก้แพ้ก็ยุบลงไปจนนึกว่าหาย แต่แล้วก็เป็นอีกจนทนไม่ไหวต้องไปหาหมอผิวหนัง หมอบอกว่าคนที่แพ้ปึ่งจะหายยากต้องรักษา​ขั้นเด็ดขาดโดยการฉีดยาเข้าไปในผิวหนังทุกจุดที่ถูกปึ่งกัด ย้ำว่าฉีดยาทุกจุดนะคะ หลังจากนั้นมาจึงหายจากการคันและอักเสบ ไม่มีการบวมแดงขึ้นมาอีกค่ะ ปึ่งร้ายกว่ายุงจริงๆ​!

    ReplyDelete
    Replies
    1. เคยได้ยินแบบนี้เหมือนกัน ที่ต้องฉีดยาเข้าไปทีละตุ่ม น่ากลัวมาก
      เสียดายว่า ต่อไป คงเลิกไปเดินชายทะเล

      Delete
  4. ขออนุญาติแบ่งปันที่หน้า FB นะคะ เพิ่งโดนมาเหมือนกันค่ะ ยิกๆๆๆๆๆ แกร่กๆๆๆ (ได้แต่เกาในใจ เพราะนึกถึงคำแนะนำจากหมอ >>> ห้ามเกา) ขอบคุณนะคะที่รวบรวบความรู้มาให้อ่าน ไปทะเลครั้งต่อไปต้องพร้อมมมมมม ;)

    ReplyDelete
    Replies
    1. ยินดีค่ะ คันจนทนไม่ได้ ต้องหาข้อมูลและสนุกกับการได้รู้นะคะ ต้องขอบคุณข้อมูลจากศูนย์วิจัยเรื่องนี้ของสก็อตแลนด์ค่ะ เขาทำวิจัยจริงจังมานาน
      ขอบคุณที่เขียนมาคุยกันนะคะ

      Delete