Monday 8 April 2019

Bathe&Drink

อาบและดื่มน้ำเพื่อยืดชีวิต
เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลที่มีน้ำเป็นปัจจัยหลัก ทำไมน้ำ?
น้ำคือชีวิต แทรกอยู่ในสรรพชีวิตตั้งแต่แบ็คทีเรียถึงการคงอยู่ของโลก. น้ำในพิธีกรรมทั้งหลาย รวมถึงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี ๒๕๖๒ นี้ ทั้งหมดเกี่ยวกับความอยู่รอดธรรมดาๆที่ปรากฏจารึกไว้ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตในทุกอารยธรรม. นำตัวอย่างจากวิถีชีวิตชาวตะวันตกมาให้ดูอีกครั้งหนึ่ง ติดตามไปดูคำอธิบายประกอบภาพต่างๆข้างล่างนี้ 

   ชาวฮินดูเชื่อตามพระเวทว่า นํ้ามีวิญญาณ มีเทพประจำอยู่. การอาบนํ้าจึงเป็นพิธีศาสนาอย่างหนึ่ง เป็นวิธีปรับสมดุลระหว่างร่างกายจิตใจและวิญญาณ และยังเป็นวิธีสื่อสารกับเทพพิภพ. นํ้าเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนกับจักรวาล “prana-ปราณที่มีในนํ้า(คืออะตอมก๊าซออกซิเจนในนํ้านั่นเอง) สามารถเปลี่ยนและแปรเป็นพลังงานที่เสริมสร้างพละกําลังแก่ร่างกาย.
     ชาวอีจิปต์โบราณถือว่านํ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการสร้างวัดเพื่อให้เป็นที่อาบแช่ของเหล่าพระนักบวช. พระเหล่านั้นยังดื่มนํ้าที่มีเกลือแร่เจือปนในปริมาณสูงมาก. การใช้ระบบวารีบำบัดเป็นไปอย่างจริงจังนานมาแล้วในอีจิปต์โบราณและเห็นผลอย่างแท้จริง.
       ส่วนการอาบนํ้าทะเลเป็นพฤติกรรมที่มีมาก่อนแล้วในหมู่ชาวซูเมเรียนและชาวบาบีโลเนียน. ส่วนในหมู่ชาวกรีก นายแพทย์ฮิปโปเครติซ (Hippocrates, มีชีวิตอยู่ถึงราวปี 430 BC.) แนะนำให้อาบนํ้าเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาสุขภาพและใช้ทฤษฎีวารีบำบัดช่วยรักษาโรคบางชนิด. ต่อมากลาดิอุซกาเลนุซ (Claudius Galenus, แพทย์ลูกครึ่งกรีกโรมันผู้มีชีวิตอยู่ในราวปี 131-201 BC.) รับช่วงและพัฒนาความคิดของฮิปโปเครติซที่เกี่ยวกับวารีบำบัด. การอาบนํ้ามีความสำคัญยิ่งในสังคมโรมัน เพราะสุขภาพความสมบูรณ์ของร่างกายกับพลังแห่งคุณธรรมในจิตใจเป็นสองสิ่งที่แยกกันไม่ได้.
       ในโลกชาวอาหรับสถานอาบนํ้าเติร์ก (ฮัมมัม-hammam หรือที่ต่อมาเรียกกันว่า Turkish Bath) มีเป็นจำนวนมากแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา แต่ขาดคติลึกซึ้งแบบกรีกและโรมัน จึงเหลือเพียงชื่อเสียงในแง่ของการอาบอบนวดมากกว่า.
      ปลายศตวรรษที่ 18 มีสถานอาบนํ้าแร่แพร่หลายทั่วไปในยุโรป(โดยเฉพาะตอนเหนือ)และในสหรัฐอเมริกา. ที่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยวารีบำบัดที่เมืองกราเฟินแบร์ก (Grafenberg ในหุบเขาประเทศเชคโกสโลวาเกีย) ที่เกษตรกรคนหนึ่งชื่อ Vincent Preissnitz [วินเซ็นตฺ ไพรซฺนิตสึ] (ชาวซีเลเซีย-Slaska ในภาษาโปแลนด์ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศโปแลนด์) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น. เขาเป็นคนแรก(ในโลกตะวันตก) ที่ประกาศทฤษฎีธรรมชาติบำบัดในการรักษาสุขภาพ. นั่นคือใช้สรรพคุณของธาตุสี่อันมีดิน นํ้า อากาศและแสงแดด เป็นเครื่องมือสำคัญ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ไปพักรักษาตัวที่นั่น รับประทานอาหารแบบง่ายๆ อาจเป็นอาหารมังสวิรัติ.

* * * * *

    ชาวโรมันมีชื่อเสียงในเรื่องอาบและแช่น้ำแร่. ภายในคาบสมุทรอิตาลีเอง วิลลาส่วนตัวในสมัยโรมัน มีอาคารสรงน้ำรวมอยู่ด้วยเสมอ. สถานอาบน้ำสาธารณะก็มีมากที่ประชาราษฎร์ไปใช้ได้ เสียค่าใช้บริการไม่แพง. สถาปัตยกรรมสถานอาบน้ำ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง แห่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดรวมห้องอาบน้ำเย็น, ห้องน้ำร้อน, ห้องพักระหว่างห้องน้ำเย็นกับห้องน้ำร้อนที่ปรับอุณหภูมิอุ่นพอเหมาะเพื่อเตรียมร่างกายจากอุณหภูมิรุนแรงเย็นสุดสู่อุณหภูมิร้อนสุด, ภายในห้องนี้ยังอาจมีบริการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการอาบน้ำโดยตรง เช่นอาหาร ไวน์ การบริหารร่างกาย หรือการบริการเฉพาะ ที่แต่ละคนต้องการอย่างเจาะจง. เนื่องจากทุกคนไปพบกันที่สถานอาบน้ำ ทำให้กลายเป็นศูนย์กิจกรรมสังคมประจำวันไปด้วยโดยปริยาย. สถานอาบน้ำสาธารณะ บางทีแบ่งวันใช้หรือแบ่งเวลาการไปใช้ สำหรับผู้ชายและผู้หญิงแยกกัน แต่บางแห่งก็เปิดให้ใช้ร่วมกันทุกวันทุกเวลา. 
ภาพจิตรกรรมฝีมือของอูแบร์ โรแบร์ (Hubert Robert 1733-1808 ชาวฝรั่งเศส) เสนอภาพจินตนาการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมโบราณขนาดใหญ่ที่เคยใช้เป็นที่อาบน้ำสาธารณะ.
   โบราณสถานจากยุคโรมันเป็นหลักฐานยืนยันว่าที่ใดที่จักรวรรดิโรมันแผ่อำนาจไปถึง โดยเฉพาะณตำแหน่งที่มีตาน้ำลึกๆและที่น้ำมีเกลือแร่เจือปนมาก เช่นบนเกาะอังกฤษที่เมืองบาธ (Bath) ที่นั่นชาวโรมันสร้างสถานอาบน้ำและยิมเนเซียม วัด โรงละคร.
ภาพแสดงส่วนหนึ่งของสถานสรงน้ำโรมันที่สร้างขึ้นในราว 1AD.
นักโบราณคดีขุดค้นพบซากสถานสรงน้ำที่เมืองบาธ (Bath) ประเทศอังกฤษในปี 1755 และได้บูรณะขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด. เปิดให้เข้าชมได้เกือบทั้งบริเวณที่รวมทั้งห้องน้ำเย็น ห้องน้ำร้อน ห้องอุ่น ห้องออกกำลังกายเป็นต้น ภาพนี้จาก www.visitbath.co.uk เป็นภาพลิขสิทธิ์ของ Bath Tourism Plus ปรากฏในเว็ปไซต์นี้.


บริเวณระเบียงรอบสระน้ำแร่ มองจากด้านนอก
เช่นนี้ทำให้เมืองบาธกลายเป็นเมืองรีสอร์ทที่มีน้ำพุร้อนแห่งแรกของอังกฤษ. จากการศึกษาค้นคว้าของนักโบราณคดี เราได้ข้อมูลน่าสนใจทั้งด้านวัฒนธรรม สังคม สถาปัตยกรรมและด้านธรณีวิทยา. เมื่อวิเคราะห์จากองค์ประกอบเกลือแร่ของน้ำพุร้อนที่นั่น ทำให้รู้ว่าน้ำพุร้อนนี้ไหลผ่านชั้นดินและหินมาหลายชนิดมาก และเป็นน้ำฝนที่ตกลงบนที่ราบแถบลุ่มแม่น้ำเอเวิน(River Avon) เมื่อหมื่นปีก่อน(!) น้ำนี้ไหลซึมลงใต้พื้นโลกผ่านชั้นดินชั้นหินต่างๆตลอดความลึกประมาณ 2700-4300 เมตร จึงร้อนขึ้นๆตามธรรมชาติเมื่อเข้าใกล้ใจกลางโลก ทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงระหว่าง 64-96 องศาเซนติเกรด. น้ำนี้พยายามหาทางออกโดยแทรกซึมไปตามเนื้อดินและหิน จนพบทางออกที่เมืองบาธนี้. มีฟองอากาศผุดปุดๆตามออกมาด้วยตลอดเวลาจนทุกวันนี้.
น้ำพุร้อนที่พุ่งออกมาเฉลี่ยประมาณ13 ลิตรต่อวินาที หรือ 1,106,400 ลิตร(ประมาณสองแสนห้าหมื่นแกลลอน)ต่อวัน. อุณหภูมิน้ำโดยเฉลี่ยราว 46 องศาเซนติเกรด. น้ำนี้ประกอบด้วยแร่ธาตุทั้งหมด 43 ชนิด มีคัลเซียมกำมะถันโซเดียมและคลอไรด์ในอัตราส่วนสูง. เป็นน้ำที่ไม่มีสีแต่เมื่อไปยืนดูน้ำที่นั่น เห็นออกสีเขียวๆเพราะการสะท้อนของแสงและเพราะมีตะไคร่น้ำจับในสระ. น้ำนั้นไม่ละลายโลหะแต่ทำให้เกิดคราบสีส้มๆจับบนเหล็ก. วงการแพทย์ยืนยันว่าดื่มได้ไม่เป็นพิษเป็นภัย
สรรพคุณของน้ำเมืองบาธเริ่มเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่ปี1562 เมื่อนายแพทย์ William  Turner เขียนหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งน้ำแร่ในยุโรปและกระตุ้นชาวอังกฤษที่มีปัญหาสุขภาพให้เดินทางไปพักรักษาตัวที่เมืองบาธ
Queen Anne of Denmark พระราชินีในพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง ได้เสด็จไปสองครั้งและทำให้เมืองบาธกลายเป็นเมืองยอดนิยมทันที เพราะเมื่อเจ้านายเสด็จไปไหน ชนชั้นสูงย่อมต้องตามไป.
ภาพของ Thomas Johnson (1675, The King’s Bath and the Queen’s Bath, ที่เมือง Bath, England) แสดงให้เห็นว่าการลงอาบน้ำแร่นั้น มีชาวบ้าน ชาวเมืองมาดูมุงดูกันบนระเบียง เหมือนดูมหรสพอย่างหนึ่ง. อาคารสูงทางขวาของภาพถูกรื้อในปี1704-6 และเปลี่ยนเป็นอาคารห้องโถงใหญ่ สำหรับเป็นที่พักและดื่มน้ำแร่ ก่อนเดินลงสู่ระดับล่างไปที่ Pump Room เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าและลงไปแช่ในน้ำ.
อาคารดื่มน้ำ มองจากด้านนอก
ห้องโถงที่บริการน้ำแร่ ภาพในสมัยศตวรรษที่ 16-17
ตาน้ำแร่ที่ต่อท่อขึ้นมาจากแหล่งน้ำใต้พื้น The King's spring ในห้องโถงใหญ่
น้ำแร่ที่นั่น กลิ่นและรสแร่แรง (ต้องเสียเงินซื้อ ภาพปัจจุบัน)
ห้องโถงนี้ ปัจจุบันเป็นภัตตาคาร มีวงดนตรีบรรเลงตามค่านิยมในสมัยก่อน

* * * * *
    นอกจากสถานอาบน้ำร้อนสาธารณะ ในศตวรรษที่13 ยังเริ่มจัดระบบห้องอาบน้ำส่วนตัวตามคฤหาสน์ใหญ่ๆของเหล่าเจ้านายชั้นสูง ในแง่นี้น้ำกลายเป็นสัญลักษณะบอกระดับชนชั้น เป็นเครื่องหมายของคนรวย. สำหรับชนชั้นสูงการมีน้ำใช้ มีน้ำร้อนอาบในคฤหาสน์ส่วนตัว เป็นโอกาสให้จัดงานเลี้ยงเชิญชวนเจ้านายด้วยกันมาร่วมอาบน้ำ กินและดื่มในยุคนั้นการอาบน้ำเป็นความสำราญ เป็นการเล่นอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการทำความสะอาดร่างกายโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่เสริมสร้างหน้าตาของเจ้าของบ้าน. ห้องที่ใช้เป็นที่อาบน้ำจึงกว้างใหญ่โอ่โถงเพราะเป็นห้องรับแขกด้วย. เจ้านายทั้งหลายก็พอใจในการแช่ตัวในน้ำอุ่นๆเป็นเวลานานๆ กิน ดื่มและรับแขกไปด้วยพร้อมกันอ่างน้ำของใครเดินทางติดตามเจ้าของไปด้วยทุกแห่งหน เช่นเมื่อราชสำนักย้ายที่ประทับพักแรมในฤดูต่างๆเป็นต้นต่อมาในศตวรรษที่ 16-17 ราคาน้ำใช้สูงขึ้นมาก. การอาบการแช่น้ำยุติลงเพราะความกลัวกาฬโรคด้วย. อ่างน้ำส่วนตัวของเจ้านายก็ถูกนำไปใช้ปลูกต้นไม้ดอกและกลายเป็นสิ่งแปลกหูแปลกตาเหมือนสมบัติพิสดารที่คนมุงดูกัน.
ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของพรมทอผืนใหญ่ แสดงให้เห็นการอาบน้ำของสตรีสูงศักดิ์ ที่มีผู้คอยอำนวยความสะดวก เช่นนำกล่องมาเก็บเครื่องประดับที่สตรีผู้สูงศักดิ์ถอดออกก่อนจะก้าวลงในอ่าง. อีกผู้หนึ่งถือถาดผลไม้หรือขนมหวานพร้อมบริการ รวมทั้งมีนักดนตรีประจำราชสำนักมาขับกล่อมให้รื่นเริงใจด้วย. อ่างน้ำในสมัยแรกๆนั้น เป็นอ่างสี่เหลี่ยมไม่ลึก อาจตัดจากหินก้อนใหญ่ จำหลักด้านนอกอย่างงดงาม. ฉากอาบน้ำนี้เกิดขึ้นในธรรมชาติแวดล้อมที่มีต้นไม้ดอกนานาพันธุ์ บอกให้รู้ว่าอากาศอบอุ่นขึ้นมากแล้ว.

* * * * *

ภาพ Der Jungbrunnen (น้ำพุแห่งอายุวัฒนะ หรือ Fountain of Youth)  ผลงานปี 1546 ของลูกัซ ครานาฆ ผู้ลูก, Lucas Cranach the younger, 1515-1586 ชาวเยอรมัน). ในภาพนี้ มีน้ำพุอยู่ในสระ สายน้ำสี่สาย ทำให้นึกไปถึงแม่น้ำสี่สายในสวรรค์ที่ไหลลงหล่อเลี้ยงแผ่นดินโลก หรือนึกถึงน้ำพุวิเศษซึ่งหากผู้ใดได้ดื่ม เหมือนได้ชุบชีวิตใหม่ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่ในวัยเยาว์ชั่วนิรันดร์. หญิงชราคนหนึ่งนั่งอยู่ขอบสระด้านซ้าย อีกคนหนึ่งลงไปอยู่ในสระ มาจูงให้ลงน้ำ. คนนี้มีร่างอิ่มอวบเพราะได้ลงแช่ในน้ำแล้ว จึงเกลี้ยกล่อมให้หญิงชราลงแช่บ้างเพื่อฟื้นฟูวัย. ด้านซ้ายนี้ยังมีคนป่วย คนเจ็บที่ถูกแบกถูกหามมาหรือนั่งรถม้ามาเพื่อแช่น้ำวิเศษในสระน้ำนี้.  ด้านขวาผู้หญิงที่เดินขึ้นจากสระเป็นสาวสวยร่างงาม เหมือนธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิที่มีดอกไม้ใบไม้ใหม่ๆผลิงามสะพรั่ง. ในด้านขวานี้ ผู้คนทั้งหญิงและชายกำลังนุกสนานหลังจากขึ้นจากน้ำแล้ว บางคนเต้นรำ หรือกำลังทานอาหารฉลองกัน  แต่ละคนดูสดสวย. ไกลออกไปที่ขอบฟ้า มีหมู่สถาปัตยกรรมบอกที่ตั้งของเมืองของปราสาท พวกเขาเหล่านี้เดินทางมาไกลเพื่อมาหาแหล่งน้ำแห่งอายุวัฒนะนี้ และก็พอใจที่ได้ชุบชีวิตใหม่เป็นหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง. จิตรกรได้ให้รายละเอียดต่างๆที่เป็นความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโลกทัศน์ของชาวตะวันตกในยุคศตวรรษที่16 ครึ่งหลังของศตวรรษเดียวกันนี้ ไม่ปรากฏการลงอาบน้ำหมู่อีก ภาพนี้อยู่ที่หอศิลป์ (Gemäldegalerie) กรุงแบร์ลิน เยอรมนี.
   ในภาพนี้ ทั้งชายและหญิง แก่ หนุ่ม สาวหรือเด็กปะปนรวมอยู่ในสระน้ำด้วยกันอย่างเปิดเผย เป็นไปอย่างธรรมชาติ. เมื่อขึ้นจากสระ ทุกคนดูเบิกบานมีความสุข มีชีวิตชีวา แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนเมื่อแรกที่อาดัมกับอีฟถูกเนรมิตขึ้น. ทั้งคู่เปลือยกาย ไม่มีความรู้สึกละอายใดๆ จนเมื่ออีฟได้ชิมผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว เกิดขวยเขินและนำใบไม้มาปกปิดอวัยวะเพศ. เช่นเดียวกับอุดมการณ์ในศิลปะกรีกที่เสนอรูปปั้นของเหล่าทวยเทพเปลือยทั้งหมด ทำให้มองได้ว่าความงามของร่างกายที่พระเจ้าสร้างขึ้นมานั้นสมบูรณ์สมสัดส่วนเพียงใด ได้สัมผัสภาพลักษณ์ของพระเจ้า(คัมภีร์บอกว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้เหมือนพระองค์) มนุษย์จึงชื่นชมบารมีของพระเจ้ายิ่งขึ้นอีก ด้วยการผูกพันกับคน(ร่างงามๆ). เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นอ่อนแอ จึงขาดสติได้ง่ายและตกหลุมพรางของสิ่งที่ตาเห็นโดยมิได้มองลึกถึงแก่นแท้ของสิ่งที่เห็น. ความหลงใหลในกามสุขจึงทวีพัฒนาในหมู่คน จนกลายเป็นความสุขเดียวที่คนใฝ่หา. องค์การศาสนาสั่งห้ามการอาบน้ำตั้งแต่ศตวรรษที่15 ทั้งนี้มีส่วนเกี่ยวกับความเข้าใจผิดๆในยุคนั้นว่า น้ำเป็นพาหะนำเชื้อโรค(เช่นกาฬโรคที่ระบาดในโลกตั้งแต่ยุคโบราณมา), น้ำทำให้คนอ่อนปวกเปียก, น้ำแทรกซึมเข้าทางอวัยวะเพศ จนอาจทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้เป็นต้น. ในศตวรรษที่19 เท่านั้นที่เริ่มส่งเสริมการอาบน้ำเพื่อสุขอนามัยอย่างแท้จริง.
ปรากฏการณ์น้ำพุวิเศษยังคงมีอย่างต่อเนื่องในโลกปัจจุบันเช่นที่เมือง Lourdes ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจนบัดนี้ มีผู้เดินทางไปสัมผัสน้ำที่นั่นแต่ละปีเป็นล้านๆคน. ข้าพเจ้าได้เดินทางไปสังเกตการณ์ ไปสัมผัสน้ำวิเศษในถ้ำที่นั่น พร้อมฝูงคนจำนวนมาก ทั้งคนเจ็บคนป่วย คนทุพพลภาพ. มีรถไฟขบวนพิเศษจัดเพื่อการจาริกไปที่เมือง Lourdes โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการฉลองการมาปรากฏตัวของพระแม่มารีที่นั่นเบื้องหน้าเด็กสาวชาวบ้านชื่อ แบร์นาแด๊ต (Bernadette). ดูคลิปนี้ >>
https://www.youtube.com/watch?v=6sOm9ISXAgk  (50:41 นาที คลิปปี 2017).
เห็นชัดเจนว่า โบสถ์และเมืองได้ขยายและพัฒนาทันสมัยมาก มีสวนและประติมากรรมประดับไปทั่วบริเวณ แสดงให้เข้าใจว่าเมืองเจริญร่ำรวยขึ้นอย่างยิ่ง มีที่พักโรงแรมร้อยกว่าแห่งและเครือข่ายบริการผู้ไปเยือนทุกแบบ. แผ่นหินอ่อนจารึกชื่อผู้ป่วยที่หายป่วยแสดงความสำนึกรู้คุณ (เรียกกันว่า Ex-Voto) ปิดเต็มผนังกำแพงส่วนหนึ่งของโบสถ์. Lourdes กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงศาสนาอันดับหนึ่งในโลก.
นัยของภาพจิตรกรรมข้างบนนี้ โยงไปถึงขนบพื้นบ้านในตะวันออกไกลที่ญี่ปุ่น ขนบการอาบน้ำแช่น้ำในออนเซ็ง (Onsen 温泉 หรือ Japanese hot spring). 
ท้ายที่สุด คือเรื่องเดียวกัน
น้ำชำระชะล้าง หล่อเลี้ยง บรรเทาและฟื้นฟูชีวิต.

* * * * *

สองภาพนี้ จากเมือง Evian [เอวีอ็อง]
เอวีอ็องเป็นชื่อเมืองที่มีแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดในฝรั่งเศส ที่รวมสถานสปาบริการด้วยวารีบำบัด ทั้งอาบและดื่มในการควบคุมของแพทย์อย่างครบวงจร. 
อาคารที่ตั้งที่เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแหล่งน้ำ Evian ภายในมีเอกสาร แผ่นภาพ วีดีโอ แผนภูมิทุกแบบที่อธิบายต้นกำเนิด ต้นน้ำที่ค้นพบรวมทั้งข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับน้ำในร่างกายคนและสุขอนามัยที่ดี โดยมีน้ำเป็นตัวช่วยสำคัญ.
แผนภูมิอธิบายความสำคัญของน้ำ คุณภาพน้ำเอวีอ็องเมื่อเทียบกับน้ำอื่นๆ
ดังรายละเอียดในภาพข้างล่างนี้
ระบุชัดเจนในคอลัมน์แรกซ้ายมือเกี่ยวกับน้ำเอวีอ็อง(จากบนลงลาง)ว่า ๑. เกิดจากใต้บาดาล ๒. มีองค์ประกอบคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ๓. มีต้นน้ำจากแหล่งเดียว  ไม่มีน้ำจากที่อื่นไหลมาผสมปนกัน ๔. บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ(โดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำใดๆทั้งสิ้น) ๕. ส่งผล(ดี)ต่อสุขภาพ.
แผนภูมิแบบหนึ่งที่อธิบายปริมาณของน้ำในร่างกายคน เจาะจงแจกแจงปริมาณของน้ำในอวัยวะต่างๆ เช่นในเลือด มีน้ำปนถึง 85%, ในระบบกล้ามเนื้อของคนที่มีถึง 600 ชุด มีน้ำปนอยู่ 80%, ในหัวใจคนมีน้ำ 79% (ภาษาไทยเรามีคำที่ชัดเจนเพียบด้วยความหมายว่า น้ำใจ), ในสมองมีน้ำ 77%.
ภายในอาคารที่เห็นข้างบน ที่ตั้งของตาน้ำ เรียกว่า Source Cachat - ซูร์ส กาชา. เคยเป็นที่บรรจุทำน้ำขวดเอวีอ็อง ออกตลาดขายในนามว่า Evian ที่เมือง Evian-les-Bains [เอวีอ็อง-เล-แบ็ง](ชื่อเต็มของเมือง แต่เรียกกันสั้นๆว่า Evian)
ข้างๆกันเปิดเป็นก๊อกน้ำแร่ที่ชาวเมือง(หรือใครก็ได้) สามารถไปรองน้ำเอาไปใช้เอาไปดื่ม เป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์จากต้นตอส่งมาถึงตรงนั้น เย็นสดชื่นทีเดียว. ทุกวันทุกเวลา มีผู้คนนำภาชนะมารองบรรจุน้ำไป เอาไปเท่าไรก็ไม่มีใครว่ากัน. น้ำนั้นถือเป็นสมบัติของสาธารณชน ในภาพคนยืนเข้าคิวไปรองน้ำที่ก๊อก. ข้าพเจ้าก็ไปรองน้ำใส่ขวดทุกวันที่อยู่ที่นั่น ไม่ต้องเสียเงินซื้อ. 
น้ำ Evian ที่ขายในโลก มีลิขสิทธิ์กำกับว่าต้องเป็นน้ำที่บรรจุขวดของ Evian เองและต้องบรรจุลงขวดที่เมือง Evian เท่านั้น
การเคลื่อนย้ายน้ำ มีความเสี่ยงในการทำลายคุณภาพน้ำกว่าจะมาถึงเมืองไทย ถูกเก็บอีกนานเท่าไรในอุณหภูมิร้อนๆของบ้านเรา ขวดที่เราซื้อส่งมาจากฝรั่งเศสมานานแล้วไม่ต่ำกว่าสามเดือนกระมัง. ดูรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งน้ำ Evian ตามไปอ่านได้ตามลิงค์ที่ให้.   
ตรงข้ามกับอาคารที่ตั้งของตาน้ำ Source Cachat เป็นอาคารที่เคยใช้เป็นที่ดื่มน้ำ (Pavillon de la Buvette) และที่พักผ่อนของผู้มาใช้บริการ รวมทั้งเป็นที่จัดงานเลี้ยง งานแสดงดนตรี.
มุมถนนสายหลักสายหนึ่งของเมือง (Rue de la Source des Cordeliers) มีน้ำแร่เอวีอ็องพร้อมเสมอ ไปรองน้ำนำไปบริโภคได้ตลอดเวลา
บนกำแพงหนึ่งในเมือง Evian มีภาพจิตรกรรมสีออกโทนฟ้าสวยงามประดับ สื่อการมาทางเรือ มารักษาตัว มาดื่มน้ำแร่เพื่อสุขภาพ. จนถึงทุกวันนี้ วิธีเดินทางที่สะดวกที่สุด เร็วที่สุด คือทางเรือโดยเฉพาะจากฝั่งประเทศสวิตเซอแลนด์เช่นจากเมืองโลซาน มีเรือมาส่งขึ้นเมืองเอวีอ็องภายในเวลาเพียง 35 นาที.
ฝั่งน้ำที่เห็นคือฝั่งเมืองโลซาน สวิตเซอแลนด์
เรือโดยสารสะดวกสบาย จากท่าเรือ Lausanne-Ouchy [โลซาน-อูชี่
มาขึ้นฝั่งเมืองเอวีอ็องเลย

* * * * *

ภาพข้างล่างนี้ จากเมือง Vichy [วีชี่] ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของฝรั่งเศส มีสถานรักษาพยาบาลตามระบบวารีบำบัดอย่างครบวงจร. น้ำที่นั่นมีฟองก๊าซไบคาร์บอเนตตามธรรมชาติ. น้ำแร่วีชี่ มีทั้งน้ำแร่เย็น (source Célestins, source Parc, source Lucas, ) และน้ำแร่ร้อน (source Hôpital, source Chomel, source Grande Grille)
อาคารโค้งทรงรีนี้ เปิดให้สาธารณชนไปดื่มน้ำ เอาน้ำไปใช้ได้ตั้งแต่ปี 1861. อาคารดื่มน้ำแบบนี้ ฝรั่งเศสเรียกว่า pavillon de la buvette [ปาวียง เดอ ลา บูแว็ต]. กำกับชื่อต้นน้ำตรงนั้นว่า Source des Célestins [เซเลสแต็ง] (ต้นน้ำแร่สายหนึ่ง เป็นน้ำแร่เย็นตามธรรมชาติ)
ห้องโถงกว้างและยาว มีที่นั่งติดราวลูกกรง เป็นที่หลบแดดหลบฝนและที่นัดพบ 
บริเวณก๊อกน้ำแร่จากแหล่ง Célestins

อาคารห้องโถงขนาดใหญ่ ที่มีท่อน้ำแร่ที่มีคุณสมบัติต่างๆแยกออกจากกัน ทั้งน้ำแร่เย็นและน้ำแร่ร้อนผู้ไปใช้บริการวารีบำบัดซึ่งปกติเป็นแพ็คเก็จอย่างน้อยสามสัปดาห์. 
แพทย์เป็นผู้สั่งให้ดื่มน้ำแบบไหน ปริมาณเท่าใด กี่วันแล้วก็เปลี่ยนไปน้ำอีกประเภทหนึ่งฯลฯ. การไปรักษาตัวตามกระบวนการวารีบำบัดนั้น ระบบประกันสุขภาพฝรั่งเศสยอมรับและเป็นผู้จ่ายค่าบริการให้เกือบทั้งหมด.

* * * * *

ภาพข้างล่างมาจากเมือง Baden-Baden ในประเทศเยอรมนี เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องการรักษาพยาบาลตามกระบวนการของวารีบำบัด มีสถานสรงน้ำแร่อย่างครบวงจรหลายแห่ง เช่น Friedrichsbad ที่ยึดขนบแบบโรมันและแบบไอริช.

ที่นั่น ยังมีชื่อเสียงในการบริหารจัดการเรื่องการกิน การใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ จึงมีการจัดสร้างโรงละคร  การแสดงดนตรี และความบันเทิงอื่นๆรวมทั้งการตั้ง casino (ในเมืองน้ำแร่ จึงไม่ใช่แหล่งรวมการพนันเท่านั้น) เช่นนี้เมือง Baden-Baden จึงกลายเป็นเมืองรวมชนชั้นผู้ดี เจ้านายจากราชวงศ์ต่างๆไปพบปะสังสันทน์กันที่นั่น และมหาเศรษฐีที่ไปโชว์ไปอวดตัว  ในที่สุดเป็นเมืองที่รวมความหรูหรา แฟชั้น ความฟู่ฟ่าในทุกรูปแบบของสังคมชั้นสูงและสังคมคนดังเป็นสำคัญ. 
อาคาร Kurhaus & Casino รวมการบำบัดรักษาร่างกายกับความบันเทิง ของเมือง Baden-Baden.  ในปัจจุบันระหว่างฤดูร้อน มีการแสดงดนตรีกลางแจ้งบนสนามผืนใหญ่ที่เห็นในภาพ. นอกจากนี้ รอบๆสนามหญ้าผืนใหญ่ ยังใช้เป็นที่จัดแสดงงานศิลป์เช่นประติมากรรมของศิลปินที่ผลัดกันนำมาเสนอและตั้งประดับไปรอบๆตรงขอบสนามหญ้านี้  ให้ผู้คนเดินดู หรือพิจารณาในขณะเดินเล่นออกกำลังกาย.
ภาพบนนี้ เป็นอาคารดื่มน้ำแร่  ซึ่งก็สวยงามโอโถงตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาซสิก มีน้ำแร่ให้ดื่มได้เช่นกัน หากมีโอกาสไปตามสถานที่ดื่มน้ำแร่แบบนี้  ดื่มน้ำแร่ให้เต็มอิ่มเลย. ที่นั่น ไม่เสียค่าดื่ม แต่หากไม่มีถ้วยของตัวเอง เขาขายถ้วยปลาสติกให้ในราคา 50 เซนต์หรือ 1 ยูโร. อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสถานสรงน้ำนี้ได้ลิงค์นี้.  

* * * * *

ภาพข้างล่างนี้ มาจากสถานวารีบำบัดที่เมือง Bad Reichenhall ประเทศเยอรมนี เป็นเมืองเล็กแสนสบาย ร่มรื่น ไม่เน้นความหรูหราฟุ้งเฟ้อเมืองนี้ เป็นศูนย์กลางการผลิตเกลือจากภูเขา ที่เชื่อมโยงกับเมือง Berchtesgaden ที่อยู่ไม่ไกลกัน.  มีพิพิธภัณฑ์เรื่องการขุดการสกัดเกลือออกจากภูเขา รวมทั้งข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกลือ ตลอดจนกระบวนการเกลือบำบัด. น้ำแร่ของเมืองนี้จึงมีส่วนผสมของเกลือในปริมาณสูง ซึ่งนำมาใช้ในการรักษาโรคหืดหอบได้เป็นอย่างดี.
สวนในบริเวณนั้น เปิดให้ชาวเมืองไปนั่งได้ตามอัธยาสัย ไม่มีเวลาปิด อยู่ตรงหน้า อาคารตากน้ำเกลือ  (คำเรียกของผู้เขียนเองตามหน้าที่และการใช้งานของอาคาร). เขาส่งน้ำเกลือไปถึงที่นั่น ผ่านกระบวนการที่ช่วยทำให้ปริมาณของน้ำในน้ำเกลือลดลงไปให้มากที่สุด ก่อนผ่านไปยังกระบวนการสกัดให้เป็นผงเกลือ  เพราะฉะนั้นบริเวณนี้ จึงได้ไอระเหยของน้ำเกลือตลอดเวลาชาวเมืองไปนั่งอ่านหนังสือ นั่งพัก สนทนาวิสาสะกันอย่างแผ่วเบา (ตามวิสัยคนเยอรมัน ผู้สงบเงียบ ไม่กระโตกกระตากจนเกินงาม).
นั่งในบริเวณนี้ เท่ากับได้สูดหายใจไออ็อนเกลือเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และทำให้หายใจสะดวก ไม่คัดจมูก
อาคารตากเกลือนี้ ทอดเป็นตึกกว้างยาวออกไปสองปีก เพื่อใช้เป็นที่ตากเกลือ กรองเกลือออกจากน้ำกระบวนการตากเกลือดังกล่าวยังใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลดีมาถึงวันนี้เป็นอาคารตัวอย่างของเทคโนโลยีเยอรมันที่สุดยอดในยุคทศวรรษที่ 1846ดูข้อมูลเมือง Bad Reichenhall ได้ตามลิงค์นี้.
เอกสารแผ่นพับที่ติดให้ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง อาคารตากเกลือ ในปี 1846 เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ได้อย่างสง่างามมาจนถึงทุกวันนี้ (ในภาษาเยอรมันเรียกว่า Gradierhaus  ชื่อเน้นลักษณะของการก่อสร้างเป็นชั้นๆลาดลง) 
อาคารดื่มน้ำแร่ ก๊อกน้ำแร่ในห้องโถงใหญ่
ภายในจัดมุมให้คนเล่นหมากรุกหลายมุม บนโต๊ะต่างๆก็มีตารางหมากรุก
อาคารสปาของที่นั่น

* * * * *

ด้านหน้าสถานอาบน้ำแร่ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ชื่อ Széchenyi Gyógyfürdő สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอบาร็อค ดูสง่าภูมิฐานจนอาจเรียกเป็นวังน้ำได้เลย.
ในยุคใหม่ มีการสร้างสถานอาบน้ำแร่ขนาดมหึมาบนดินแดนที่อุดมด้วยน้ำแร่ธรรมชาติ. สถานอาบน้ำแร่มีมากที่สุดในประเทศฮังการีและสถานอาบน้ำแร่ที่น่าทึ่งที่สุด คงต้องไปดูที่เมืองBudapest. อาคารภายนอกดูสง่าภูมิฐานมาก ตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอบาร็อค มีชื่อเรียกกันว่า Széchenyi Gyógyfürdő  สร้างขึ้นในปี1909 บนพื้นที่ราว 6,220ตารางเมตร และเปิดบริการประชาชนตั้งแต่วันที่16 มิถุนายน1913. เป็นวังน้ำแร่ขนาดใหญ่ที่สุดของฮังการีและของโลก. ผู้คนนิยมกันมาก จนเป็นนิสัยที่ต้องแวะเข้าไปแช่น้ำอาบน้ำแร่กันก่อนกลับบ้าน(เกือบ)ทุกวัน  ในที่สุดต้องขยับขยายออกอีกมากในปี1927. การขุดเพื่อสร้างระบบทางเดินของน้ำไปยังสระใหม่ ทำให้ได้พบตาน้ำลึกใต้ดินอีกแห่งหนึ่งในบริเวณ อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 1256 เมตร มีปริมาณน้ำแร่พุออกจากใต้พื้นโลกประมาณ6 ล้านลิตรทุกวัน. น้ำแร่ที่นั่นมีอุณหภูมิคงที่ณ74ºC (น้ำจากตาน้ำแห่งแรก) และ77ºC(จากตาน้ำแห่งที่สอง) เจาะจงไว้ว่ามีเกลือแร่ที่ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูโรคที่เกี่ยวเนื่องกับกระดูกและข้อ อาการอักเสบเรื้อรังของกระดูกและข้อเป็นต้น. ที่นั่นมีสระน้ำแร่ภายในอาคารถึง15 สระ มีสระใหญ่กลางแจ้ง3สระ(ดูภาพข้างล่างนี้). แต่ละสระมีอุณหภูมิต่างกัน มีส่วนประกอบของเกลือแร่ในน้ำต่างกันด้วย. นอกจากสระน้ำยังมีห้องอาบน้ำด้วยระบบท่อน้ำที่ฉีดไปรอบตัวหรือแบบฝักบัว หรือแบบนั่งให้น้ำนวดตัว(jacussi) มีห้องอบไอน้ำและบริการนวดตัวอย่างครบวงจร. สระน้ำมีทั้งสระรวมและสระน้ำเฉพาะเพศหรือสระน้ำส่วนตัว. ได้มีการศึกษาวิจัยคุณภาพของน้ำพุร้อนที่นั่น พบว่ามีส่วนประกอบของซัลเฟต คัลเซียม แมกนีเซียม ไบคาร์บอเนต และมีปริมาณกรดฟลูโอไรด์และกรดเมตาบอริคอย่างมีนัยสำคัญ. สถานอาบน้ำแร่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดพยาบาลที่การแพทย์และระบบประกันสุขภาพของประเทศยอมรับ. ประชาชนจึงเสียค่าเข้าไปใช้บริการน้อยมาก. เป็นโชคอนันต์สำหรับพลเมือง เพื่อนชาวฮังการีบอกว่า ตั้งแต่เล็กๆแล้ว คุ้นเคยกับการไปอาบน้ำแร่ที่นั่นเป็นประจำหลังเลิกเรียน ไม่มีการปิดไม่ว่าวันใดสัปดาห์ใดฤดูใด. จงดูตัวอย่างภาพข้างล่างนี้ ที่ถ่ายมาได้เฉพาะภายนอก (ผู้คนที่ไปใช้สถานอาบน้ำแร่นี้ นอกจากห้องแช่ส่วนตัว ทั้งหมดสวมชุดอาบน้ำ)
ภาพมุมสูงนี้เป็นลิชสิทธิ์ดังระบุไว้ในวิกิพีเดียดังนี้ 
This picture is © copyright Civertan Grafikai Stúdió (Civertan Bt.), 1997-2006.

ลงเผยแพร่วันที่28พฤศจิกายน2008 ดูที่ http://www.civertan.hu/

ตรงบันไดมีมุมเล่นหมากรุก คนแช่น้ำแร่ไปเล่นหมากรุกไปด้วย
มีทั้งคนเล่นและคนเชียร์ เปิดไปดูภาพคนเล่นหมากรุกได้จากที่นี่ 
ประเทศฮังการีเป็นที่รวมตาน้ำใต้ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เมืองหลวง Budapest มีตาน้ำไม่ต่ำกว่า100 แห่ง จึงทำให้มีการสร้างสถานอาบน้ำแร่ทั่วไปในเมือง. น้ำแร่ก็มีคุณภาพดีที่ช่วยการเยียวยารักษาโรคได้หลายประเภท ทั้งโรคกระดูกและข้อ โรคผิวหนัง ฯลฯ. ผู้คนคุ้นเคยกับการไปอาบน้ำแร่ตามสถานที่เหล่านั้น เฉพาะที่กรุง Budapest มีสถานอาบน้ำแร่ที่เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่สง่างามไม่ต่ำกว่า10 แห่ง เกือบทั้งหมดขึ้นบัญชีเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ประจำชาติ  Budapest เป็นเมืองหลวงแห่งเดียวในโลกที่มีน้ำพุร้อนอยู่ใต้พื้นกลางตัวเมืองเลย. (ดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานอาบน้ำแร่ที่เมือง Budapest ได้ที่นี่.

* * * * *

ตามไปดูน้ำในสถานะต่างๆ ตามที่ต่างๆ ได้บทเรียนมากมายจากน้ำ
เป็นสิ่งมหัศจรรย์(เกือบเป็น)สิ่งเดียวที่จับต้องได้ เข้าถึงอณูของมันได้
สายธารเล็กปริ่มๆ ปรีเปรมเมื่อไหลลงสู่แม่น้ำใหญ สู่ที่กว้างใหญ่กว่าตัวมัน 
มันดีใจมากเมื่อไปพบสายธารร่วมโลก กลมกลืนเคล้าเคลียหมุนไปด้วยกัน.
หากไม่มีที่ให้มันไหลต่อไปๆ น้ำจะหงอยเหงา
จมติดอยู่กับที่และทำให้มันกลายเป็นน้ำขัง แล้วก็เน่าเหม็นในที่สุด
หรือถูกแดดแผดเผาแห้งตายตรงนั้น. 

ชีวิตจะอยู่ได้ และรักษาศักยภาพของชีวิตได้เต็มพิกัด จึงต้องไหลต่อไป
ชีวิตคือความพยายามในการปรับตัวอยู่รอดในทุกสถานะ
คือการเคลื่อนไหวตั้งแต่อณูเล็กที่สุดไปจนถึงองค์รวมทั้งหมดของมัน 
นี่เป็นกฎถาวร ที่ไม่เปลี่ยนแปลงของชีวิต ของคน
ของทุกชีวิต ในทุกสถานะ ทุกรูปแบบและทุกมิติ
รักน้ำที่สุด

โชติรส รายงาน
๘ เมษายน ๒๕๖๒.