Friday 5 September 2014

Selfie กับ Self-image - Rembrandt สุดยอดของเซลฟี

กระแส Selfie มิได้เพิ่งเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ แต่ฝังรากมานานในประวัติมนุษยชาติ  เพียงแต่ต่างวิธีการ เพราะตอนนั้นยังไม่มีระบบดีจีตัลหลากหลายประเภทอย่างในปัจจุบัน  เป็นค่านิยมอย่างหนึ่งที่ฝังลึกและเคยเป็นสิ่งสร้างสรรค์สังคม เช่นที่นำไปสู่การเรียกร้อง ต่อสู้และป้องกันสิทธิมนุษยชน  กระแสนี้ในบริบทปัจจุบันมุ่งอยู่ที่การถ่ายภาพตัวเองเป็นสำคัญ  การเสนอภาพเหมือนของคนและการสร้างภาพเหมือนของตนเองมีมาตั้งแต่เมื่อไร มาอ่านดูกัน เพราะนี่เป็นแขนงสำคัญแขนงหนึ่งของจิตรกรรม และเป็นพัฒนาการหนึ่งของการอยู่ร่วมกันในสังคม 
 
         การเนรมิตภาพเหมือนของบุคคล มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการมีจิตสำนึกแห่งตน ที่สอดคล้องกับพัฒนาการความคิดอ่านของปัญญาชนอย่างต่อเนื่องในศตวรรษต่างๆ และที่นำไปสู่จุดจบของยุคกลาง เข้าสู่ยุคเรอแนสซ็องส์  ยุคนี้รับปรัชญากรีกโบราณมาปรับใหม่ ด้วยมุมมองใหม่ๆ  มนุษย์กลายเป็นศูนย์กลางของการค้นคว้าทุกรูปแบบ ปูพื้นฐานสู่แนวมานุษยนิยม(humanism) ภาพคนเหมือน(portrait)จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์แนวนี้ ในแง่ที่ว่าศิลปะแขนงนี้เน้นเอกบุคคล  
         ศิลปะอิตาลีพัฒนาภาพลักษณ์บุคคลไปถึงจุดสูงสุด   มานุษยนิยมเป็นปรัชญาแนวใหม่ เกิดในอิตาลีก่อนที่ใดและในตระกูลเมดีซีส(เมดิชีในภาษาอิตาเลียน-Medicis)  ตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์เป็นต้นมา คนมีอัตลักษณ์มากขึ้นตามลำดับ เป็นผู้รู้คิด รู้วินิจฉัย รู้เลือก รู้ทำหรือรู้ทุกอย่างได้ด้วยภูมิปัญญาของตนเอง  มนุษย์กลายเป็นเนื้อหาสำคัญ เป็นหัวข้อศึกษาที่แท้จริงหัวข้อหนึ่ง  ก่อนหน้านั้นพระเจ้าเป็นผู้รอบรู้ทุกอย่างและเป็นผู้บันดาลให้คนรู้หรือเข้าใจ เท่ากับว่าคนอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนา  แนวมานุษยนิยมความจริงเริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ยุคกลาง ที่เห็นได้จากลักษณะของความเป็นคนในประติมากรรมศาสนาที่ประดับโบสถ์วิหารโรมันเนสก์  รูปปั้นมองดูใกล้เคียงกับคนมากขึ้นๆ มีรอยยิ้มหรือมีอารมณ์ขันของนายช่างจำหลักจารึกไว้  เลโอนารโด ดา วินชี (Leonardo da Vinci, 1452-1519) กับมิเกลอันเจโล(Michelangelo Buonarotti, 1475-1564) เป็นบุคคลตัวอย่างของยุคนี้ เป็นผู้ศึกษาคิดพินิจพิจารณาเกี่ยวกับสรีระของคนอย่างละเอียด ให้ข้อคิดเป็นแสงสว่างแก่ปัญญาชนรุ่นต่อๆมา เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่สามัญชนทุกคนมีภาพของตนเองติดบนบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งต้องพกติดตัวเสมอเพื่อแสดงตนและยืนยันตนเองในวาระต่างๆ
        
คริสต์ศาสนาเป็นบ่อเกิดของการสร้างสรรค์ภาพคน ซึ่งเริ่มด้วยภาพของพระผู้เป็นเจ้า ของพระแม่มารี ของนักบุญหรือเทวทูต ดังปรากฏในศิลปะไบแซนไทนกรีกที่เรียกกันว่า ไอคอน(icon)  ไอคอนในศิลปะไบแซนไทนโดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่ เป็นภาพลักษณ์ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เสมือนตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าที่ขอบเขตสติปัญญาของมนุษย์เดินดินจะจินตนาการได้  ดังนั้นคนจึงหวังว่าภาพศักดิ์สิทธิ์นี้จะแสดงปาฏิหาริย์หรือดลบันดาลให้ตนได้อะไรตามที่ตนขอเป็นต้น  นอกจากกรณีของศาสนาแล้ว ภาพลักษณ์ของคนที่ปรากฏในศิลปะจนถึงปลายยุคกลางนั้น ไม่สื่อความเป็นเอกบุคคลใดๆทั้งสิ้น  ทุกคนมีรูปร่างหน้าตาแบบเดียวกันหมด ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าแก่หรือหนุ่ม  ภาพดังกล่าวยังไม่เรียกว่าเป็นภาพเหมือนของบุคคล เป็นเพียงรูปลักษณ์เคร่าๆเพื่อประกอบเนื้อหาเรื่องหนึ่งมากกว่าการเน้นบุคลิกลักษณะหรือสถานภาพของคนในภาพ
         
การสร้างสรรค์ภาพคนเหมือนเริ่มขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง ในหมู่อภิสิทธิชนก่อน เป็นการยกย่องสรรเสริญบุคคลผู้นั้น และตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ศิลปะนี้แพร่ขยายออกไปสู่กลุ่มคหบดี พ่อค้าผู้ร่ำรวย นายธนาคาร นายช่างฝีมือ ปราชญ์และศิลปิน เพื่อยืนยันว่าตนเป็นผู้มีชื่อเสียงดี น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้(จะจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับทำให้เชื่อว่าจริง)  ภาพเหมือนของคนยุคนั้นเน้นความภูมิฐาน ความมีอำนาจจนถึงกับให้มีองค์ประกอบภาพแบบเดียวกับภาพของกษัตริย์ก็มี ในหมู่ปราชญ์นักมานุษยนิยมก็เช่นกัน ภาพเหมือนของตนเองต้องสื่ออำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ แต่ด้วยวิธีการที่แนบเนียนกว่าภาพของชนชั้นสูงหรือของคหบดี  คือเน้นว่าเกียรติหรือทรัพย์สินเงินทองหากมีได้เสมอกัน พวกเขายังมีอะไรเหนือกว่าอีกมาก คือมีความลุ่มลึกของสติปัญญาและจริยธรรม เป็นความเหนือกว่าด้านวัฒนธรรม
         
การเนรมิตภาพเหมือนให้รายละเอียดที่ใกล้ความเป็นจริงที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นสิ่งกระตุ้นจิตสำนึกของเอกบุคคลที่พัฒนาไปสู่ความสำนึกในสถานะของตนเอง ของกลุ่มชนอาชีพต่างๆในระบอบการครองชีวิตสมัยใหม่  ในศตวรรษที่ 15 ภาพบันทึกกิริยาท่าทาง การมอง การแสดงออกบนใบหน้า สื่อความหมายด้วยภาษาของร่างกาย  จิตรกรรมฮอลแลนด์ในยุคแรกๆ เป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมที่ให้รายละเอียดตรงตามรูปลักษณ์ภายนอกทุกประการโดยไม่คำนึงถึงสภาพจิตของคน  ในปลายศตวรรษที่ 15 เริ่มมีการแนะสภาพจิตในระดับต่างๆ เช่นระดับอารมณ์ความรู้สึก ระดับสติปัญญาและระดับศีลธรรม  วิธีการนำเสนอแสดงสภาพจิตที่ชัดเจนของคนในภาพ มากจนในที่สุดทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าคนอื่นจะรู้ตื้นลึกหนาบางของตนและคิดทันตน  เจ้าของภาพจึงกลับขอให้จิตรกรซ่อนความรู้สึกนึกคิดของตนไว้โดยให้สื่อเป็นนัยแฝงทนการเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้ง  ในกระบวนการสร้างสรรค์ภาพคนเหมือนดังกล่าว สิ่งที่เน้นอย่างไม่ลดละเสมอมาคือเกียรติและศักดิ์ศรีของคน จุดยืนนี้สอดคล้องกับข้อความ(คำพูดของพระผู้เป็นเจ้า)ที่เขียนไว้ในเรื่อง เกียรติศักดิ์ของคน (De dignitate hominis ของ Pic de la Mirandole, ปราชญ์อิตาเลียนผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี1463-1494) ที่ว่า “ อาดัมเอ่ย เราไม่ได้ให้ที่อยู่เจ้าอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ได้กำหนดใบหน้าของเจ้า ไม่ได้ให้ความชำนาญพิเศษใดๆแก่เจ้า เพื่อให้เจ้าสามารถมีและเป็นเจ้าของที่พักอาศัยได้ทุกแห่ง มีใบหน้าได้ทุกแบบและมีความชำนิชำนาญในสิ่งที่เจ้าต้องการตามความตั้งใจและความคิดอ่านของเจ้าเอง  ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอื่นๆนั้น เรากำหนดเจาะจงเป็นกฎตายตัวให้ ซึ่งเท่ากับจำกัดชีวิตเหล่านั้นไว้  แต่อาดัมเอ่ย เจ้าไม่มีอะไรขวางกั้นเจ้าที่เจ้าจะเอาชนะไม่ได้ เราวางเจ้าไว้ในธรรมชาติที่เจ้าเองต้องรู้จักกำหนดขอบเขตตามจิตสำนึกและการตัดสินใจของเจ้าเอง 
ข้อความนี้เน้นการมีจิตสำนึกแห่งตน เป็นจิตสำนึกของชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวออกในทุกด้าน อันเป็นผลของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคนิคโลยีต่างๆ  ภาพคนเหมือนจึงเป็นสัญลักษณ์ของสังคม ของการเมืองอย่างหนึ่งและกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ชนชั้นปกครองต้องมีไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการมีอำนาจเด็ดขาดในมือ แบบการสร้างสรรค์ภาพคนเหมือนดังกล่าวของยุคนี้กลายเป็นแบบแผนของศิลปะจนถึงศตวรรษที่ 17 
          
ภาพคนเหมือนภาพแรกในประวัติศิลป์ของฝรั่งเศสเนรมิตขึ้นในราวปี 1360 เป็นภาพของกษัตริย์ ฌ็อง-เลอ-บง (Jean II le Bon, ผู้ครองราชย์ระหว่างปี 1350-1364 นับเป็นภาพทางการภาพแรกของษัตริย์และเป็นภาพคนเหมือนภาพแรกตามความหมายที่คนสมัยนี้เข้าใจ (นั่นคือทุกคนที่รู้จักและเคยเห็นคนในภาพ บอกยืนยันได้ว่าคือ คนๆเดียวกัน)  ภาพนี้มีลักษณะเด่นสองประการคือหนึ่ง เป็นภาพใบหน้าด้านข้างของกษัตริย์ฌ็อง และสอง มีพื้นหลังสีทอง สองลักษณะนี้ไม่ใช่ความบังเอิญแต่สื่อนัยโยงไปในประวัติศาสตร์ศิลป์ยุคก่อนๆ  การให้พื้นหลังเป็นสีทองเพื่อเน้นฐานะสูงเป็นพิเศษของกษัตริย์และโยงถึงนัยศาสนาด้วย เพราะกษัตริย์บนโลกมนุษย์คือผู้แทนของพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์  ไอคอนกรีกในศิลปะไบแซนไทนมีพื้นสีทองเสมอ การให้พื้นสีทองจึงสื่อนัยความศักดิ์สิทธิ์หรือความน่าเกรงขามแบบไอคอนกรีก
ภาพด้านข้างของกษัตริย์ ฌ็อง เลอ บง (Jean II le Bon, 1319-1364)
กษัตริย์ฝรั่งเศส 
ไม่ปรากฏนามจิตรกร เนรมิตขึ้นในราวปี 1350 ปีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ 
ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เลอลูเวรอะ (Le Louvre) กรุงปารีส
        การแสดงภาพด้านข้างของกษัตริย์ฌ็อง ก็เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดจากยุคราชวงศ์กาโรแล็งเจียง(Carolingien) ที่กลายเป็นจักรวรรดิโรมันต่อมา วัตถุเก่าแก่ที่สุดที่เหลือมาให้เห็นจากยุคโรมันอย่างหนึ่ง คือเหรียญกษาปณ์ที่มีรูปด้านข้างของจักรพรรดิโรมันจำหลักไว้  การเลียนแบบดังกล่าวจึงต้องการสื่อความหวัง หรือการยกตนเทียบกับจักรพรรดิโรมันคนเด่นคนดังในประวัติศาสตร์เป็นต้น  อีกประการหนึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญเช่นกันที่ภาพคนเหมือนภาพแรกในประวัติศาสตร์ศิลป์ คือภาพของกษัตริย์ฌ็ององค์นี้  พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปวิทยาองค์สำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งพระโอรสองค์ต่อๆมาก็ปฏิบัติตาม  ภาพนี้ยังเป็นภาพแรกที่ไม่ใช่ภาพบุคคลในคัมภีร์ นับเป็นก้าวแรกที่ศิลปะออกจากกรอบของศาสนา ขนาดก็เล็กลง เป็นภาพที่สามารถวางบนขาตั้งบนพื้นได้   ศิลปะภาพคนเหมือนกลายเป็นศิลปะแขนงสำคัญแขนงหนึ่งต่อมา
         
คนสนใจปัญหาจิตวิทยามากขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 14 และในอิตาลีโดยเฉพาะ เป็นความสนใจทั้งในเชิงปรัชญากับเชิงวิทยาศาสตร์  การเข้าใจจิตวิทยาที่เกี่ยวเนื่องกับกิริยาท่าทางหรือการแสดงออกกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเมื่อมีการพัฒนาการค้าขายแลกเปลี่ยนต้นทุนกัน  นั่นคือต้องรู้จักตีความให้ถูกต้องว่าฝ่ายคู่ค้ามีความตั้งใจอย่างไรในใจเขา เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ  ในวงการเมืองก็เช่นกัน ปัญหาการค้าและเศรษฐกิจแทรกเข้าเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของประเทศ  เพราะเหตุนี้หนังสือว่าด้วยลักษณะใบหน้าของคนเล่มแรกๆนั้น เขียนขึ้นเพื่อรัฐบุรุษและพ่อค้าก่อนผู้ใด  ยุคนี้นักปราชญ์หลายคนคิดวิเคราะห์ภาษาของร่างกายหรือศึกษาอย่างละเอียดลออเกี่ยวกับส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้าเช่นตาเป็นต้น  เลโอนารโดา วินชี ก็คิดค้นหาความจริงด้วยการแบ่งแยกแยะและการจัดรูปลักษณ์คนเป็นกลุ่มเป็นประเภท  เขาลองวาดภาพคนที่มีรูปหน้ายื่นผิดแปลกจากสัดส่วนอันสมประกอบ ทั้งหมดเป็นผลพลอยได้จากการคิดพิจารณาไตร่ตรองความเป็นไปได้ในแง่ของสรีรวิทยาในการประกอบอวัยวะต่างๆให้เป็นหน้าตาคนแบบต่างๆ  ภาพวาดของเขานับได้ว่าเป็นแบบแรกของภาพล้อที่พัฒนาต่อมาในสังคมยุคใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน  ในบรรดาหนังสือที่ว่าด้วยลักษณะรูปร่างหน้าตาคนนั้น ส่วนใหญ่มักวางเทียบขนานกันระหว่างคนกับสัตว์ เนื่องจากสภาพภายนอกระหว่างคนกับสัตว์เหมือนกันในหลายแบบหลายลักษณะ ภาษาก็เป็นพยานอย่างหนึ่งด้วยเพราะสำนวนที่ยังคงใช้อยู่เช่นคนหน้าม้า หน้าลิง  มีเคราแพะเป็นต้น
         
ภาพคนเหมือนสร้างความคุ้นเคยระหว่างคนดูกับบุคคลในภาพ  ไม่ว่าจะมีช่วงห่างของเวลานานเป็นศตวรรษระหว่างชีวิตของคนในภาพกับคนดูก็ตาม  นี่เป็นผลโดยตรงจากความเชื่อว่าภาพนั้นเป็นภาพเหมือนของคนที่มีตัวตนจริง ซึ่งเท่ากับรับรองความมีตัวตนของคนนั้น  แต่ในความเป็นจริงของการเนรมิตภาพ ความเหมือนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ในทำนองเดียวกับภาพจักรพรรดิโรมันในเหรียญกษาปณ์ต้นๆยุคกลาง  รูปลักษณ์ของจักรพรรดิบนเหรียญอาจเปลี่ยนได้ สิ่งสำคัญคือการสื่อสถานภาพทางการเมือง การปกครองและทางสังคมที่ห้อมล้อมความเป็นจักรพรรดิของเขา  ต่อมาจิตรกร ญันวันอ็ค (Jan van Eyck) จารึกลงบนภาพคนเหมือนที่เขาเนรมิตขึ้นว่า Leal Souvenir เพื่อระบุว่าเป็นภาพจากความทรงจำที่ตรงกับความเป็นจริง  เหมือนลายเซ็นของทนายกำกับเอกสาร  ภาพคนเหมือนในยุคแรกนี้ไม่อาจมองในแง่ว่าสวยหรือไม่ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีแนวสุนทรีย์ที่แยกความงามจากความน่าเกลียด  ปลายศตวรรษที่ 15 เท่านั้นที่จิตรกร(ส่วนใหญ่ชาวอิตาเลียน) เริ่มสร้างสรรค์ภาพคนเหมือนให้สวยงามตามอุดมการณ์สุนทรีย์  แนวดังกล่าวเป็นผลสืบมาจากการศึกษาเกี่ยวกับสัดส่วนที่สมดุล เช่นของ เลโอนารโดดาวินชี  และตามอุดมการณ์ความงามของคนจากโลมัสโซ (Giovanni Paolo Lomazzo, 1538-1600)  ผู้กล่าวไว้ว่า จิตรกรต้องรู้จักนำเสนอความสง่าภาคภูมิและความยิ่งใหญ่ของบุคคลในภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องลบความบกพร่องในรูปลักษณ์ที่แท้จริงของคนนั้นให้หมดไป
         
ศตวรรษที่ 17 และยุคต่อมายึดแนวสุนทรีย์เยอรมันที่กล่าวว่า เอกบุคคลมีความลึกของจิตวิญญาณที่จิตรกรต้องคำนึงถึงด้วย  คตินี้นำไปสู่แนวใหม่ในการเสนอภาพคนเหมือนที่สืบทอดต่อมาในศตวรรษที่19  เฮเกล(Georg Wilhelm Friedrich Hegel, 1770-1831 ปราชญ์ชาวเยอรมัน) เคยวิจารณ์ไว้ว่า ภาพคนเหมือนเหมือนจนทำให้อาเจียน  เขาเขียนไว้ในหนังสือสุนทรีย์ของเขาว่า จิตรกรควรยกรายละเอียดทั้งหลายออก แต่ต้องรู้จักจับคุณลักษณะทั่วไปของบุคคลนั้น รวมทั้งจับประเด็นถาวรในจิตสำนึกในวิญญาณของคนนั้น  เฮเกลต้องการเน้นว่าบุคลิกภาพภายในของคนต้องเด่นกว่ารูปลักษณ์ภายนอก  กลายเป็นบรรทัดฐานของการตีความเมื่อดูภาพทั้งในแง่เทคนิคและในแง่สุนทรีย์มาจนถึงศตวรรษที่ 20
         
โดยทั่วไปคนมักคิดว่าสภาพจิตวิญญาณของคนหนึ่งนั้น รู้ได้จากกิริยาท่าทางที่แสดงออก และศิลปะสามารถสื่อสภาพจิตภายในได้ครบ  ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป  การตีความหมายจากกิริยาท่าทางของบุคคลในภาพนั้น อาจผิดพลาดได้เสมอและจะถือเป็นความจริงหนึ่งเดียวของคนในภาพไม่ได้เลย  ให้นึกถึงการนั่งเป็นแบบต้องทำกันหลายครั้งๆละนานๆ  คนที่เป็นแบบอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างที่จิตรกรทำงานอยู่และแต่ละครั้งที่มานั่งเป็นแบบเขาก็อาจมีอารมณ์ไม่เหมือนกันเลยก็ได้  จิตรกรยังต้องคำนึงถึงความประสงค์ของลูกค้าว่าย่อมต้องการให้ภาพเหมือนของเขา มีคุณค่าด้านสุนทรีย์และมีเนื้อหาด้านสังคมที่ยืนยันสถานภาพที่ดีของเขา  การประกอบฉากหลังของภาพเป็นการเจาะจงเนื้อหาของภาพ ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์หรือส่วนสถาปัตยกรรม เป็นวิธีสื่อชีวิตสังคมและสถานภาพสำคัญมากน้อยของบุคคลในภาพ แล้วสร้างเป็นบรรยากาศที่กระชับนัยลึกแก่ภาพ  ภาพในฉากหลังโยงความหมายไปได้สองแบบในชีวิตจริง  หากเป็นทิวทัศน์มีนัยด้านการเมืองและวัฒนธรรมเป็นสารสำคัญ เพราะไม่ใช่ทิวทัศน์ใดแบบไหนก็ได้ที่จิตรกรวาดลงในภาพ แต่เป็นทิวทัศน์ที่โยงไปถึงอาณาบริเวณในการปกครองของบุคคลในภาพ(กรณีภาพของชนชั้นสูงหรือชนชั้นอภิสิทธิ์หรือบอกว่าบุคคลในภาพสนใจอะไร เช่นทิวทัศน์ของกรุงโรมสมัยโบราณที่มีซากปรักหักพังประกอบ เพื่อบอกว่าคนในภาพสนใจด้านโบราณคดีศึกษาเป็นต้น  หากเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หนังสือ ชิ้นส่วนของเครื่องแต่งตัวสตรี ฯลฯ เพื่อสื่อกิจกรรมหรืออาชีพ  ฉากหลังยังเป็นที่เน้นจิตสำนึกในด้านจริยธรรมหรือศีลธรรมของบุคคลในภาพ  ด้วยการจารึกคำขวัญประจำใจลงไปในภาพด้วย  การวิเคราะห์ภาพให้ได้ถูกต้องความหมายขององค์ประกอบภาพ ของกิริยาท่าทางแบบหนึ่ง เนื้อหาตามอุดมการณ์หรือเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์และการรู้จักชั่งน้ำหนักทั้งทางด้านวัฒนธรรมและด้านสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลในภาพนั้นและโลกทัศน์ของจิตรกร จึงสำคัญมาก
         
สรุปได้ว่า ภาพคนเหมือนนอกจากเป็นการแสดงตนแบบหนึ่งแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนบุคคลจริงด้วย และเนื่องจากภาพคนเหมือนส่วนใหญ่ สื่ออำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ  การเผาภาพผู้ใดก็เพื่อทำลายอำนาจนั้นและลดอภิสิทธิ์ต่างๆออก ในที่สุดบทบาทสำคัญของภาพคนเหมือนคือ ทำให้คนดูทึ่งและยอมรับคนนั้นตามสถานะที่เจาะจงไว้บนภาพ
         
บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเป็นสิ่งเตือนความทรงจำ  จิตรกรอัลเบร็ชต์ ดูราร์(Albretch Dürer, 1471-1528) กล่าวไว้ว่าภาพคนเหมือนเก็บรักษารูปลักษณ์ของคนนั้นไว้แม้คนนั้นล่วงลับไป เหมือนกระชับความหวังว่า ภาพนั้นจะมีชีวิตต่อไปนอกกาลเวลาและเหนือความตาย ค่านิยมแบบนี้สืบทอดมาจากขนบธรรมเนียมโบราณ  เพราะการสร้างภาพคนเหมือนพัฒนามาจากประติมากรรมที่ประดับสุสานหรือหลุมศพ  นั่นคือตั้งแต่ยุคกลาง เกิดความต้องการนำเสนอภาพบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วในศิลปะอีก โดยการเนรมิตประติมากรรมจำหลักนูนหรือเป็นรูปปั้นเต็มตัวนอนประดับบนหีบศพ  ประติมากรรมที่ทำขึ้นในแนวนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับบุคคลเด่นๆในวงการศาสนา  แนวการสร้างสรรค์แบบนี้เคยมีมาแล้ว เช่นในสมัยจักรวรรดิโรมัน มีการทำเบ้าหลอมเป็นหน้ากากขี้ผึ้งของใบหน้าผู้ตายไว้ก่อนปิดโลงศพ เพื่อเก็บไว้รำลึกถึงผู้ตายเป็นประเด็นสำคัญ  หน้ากากนั้นนำไปเก็บไว้ในบ้านของผู้ตาย พฤติกรรมนี้มิได้ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ศิลปะแต่อย่างไร และเพราะเป็นหน้ากากขี้ผึ้งจึงเก็บไว้ไม่ได้นานเกินสิบกว่ายี่สิบปี  ในศตวรรษแรกๆก่อนคริสตกาลเท่านั้นที่เริ่มเนรมิตรูปปั้นหินอ่อนขึ้นแทน  ในยุคนั้นชาวโรมันชั้นสูงกังวลว่าสิทธิตามศักดิ์ตระกูลอาจถูกลิดรอนได้ จึงให้ทำรูปปั้นของตนเต็มตัว สองมืออุ้มรูปปั้นครึ่งตัวของบรรพบุรุษไว้ เพื่อยืนยันการสืบทอดในตระกูลของตน  ในพิธีแห่ศพ ผู้อาวุโสที่สุดในตระกูล อุ้มรูปปั้นเหมือนของคนตายเดินนำขบวน  รูปปั้นเหมือนนี้เองที่เป็นแบบในการสร้างสรรค์เช่นของโดนาเตลโล(Donatello)ในศตวรรษที่ 14-15   
         ยุคการสร้างสรรค์ภาพคนเหมือนเริ่มในปลายยุคกลางและสืบต่อไปจนถึงศตวรรษที่ 19 แล้วจะยุติลงหรือลดน้อยลงตามลำดับ เมื่อมีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปที่มีคุณภาพดีขึ้นๆ  กล้องถ่ายรูปสร้างสรรค์ภาพได้ง่ายกว่าในเวลาอันรวดเร็วกว่ามาก ไม่ต้องมีการร่างภาพ ไม่ต้องให้แบบมานั่งนานเป็นสิบๆชั่วโมง แถมราคาก็ถูกกว่ามากนัก  การเนรมิตภาพคนเหมือนจึงกลายไปเป็นศิลปะการถ่ายภาพแทน  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ศิลปะผิดแผกแตกต่างไปจากสมัยก่อนหน้านั้นโดยสิ้นเชิง  เกิดเป็นแนวใหม่ของเรียลิซึม(Realism) ของอิมเพรสชั่นนิซึม(Impressionism) และของธรรมชาตินิยม(Naturalism) ในศตวรรษที่ 20 ศิลปะมีแนวโน้มไปทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม ภาพล้อเป็นกลยุทธ์และวิถีของสื่อมวลชน  โดยทั่วไปในการเสนอภาพคนเพื่อเฉพาะกิจอื่นๆ เช่นการ์ตูนหรือในธุรกิจการโฆษณาเป็นต้น  เอกลักษณ์เฉพาะของบุคคลลดความสำคัญลง  คนในภาพมีหน้าตาว่างเปล่าไร้อารมณ์ความรู้สึกตามแนวการนำเสนอภาพคนในศิลปะยุคกลาง  ซึ่งไม่แปลกอะไรนักในปัจจุบัน นางแบบผู้เดินแฟชั่นโชว์ก็ต้องทำสีหน้าให้เหมือนหุ่นไร้วิญญาณ  หนุ่มสาวยุคนี้ก็ดูคล้ายๆกันไปหมดด้วย ราวกับออกจากเบ้าอุตสาหกรรมเดียวกัน
         
จิตรกรรมภาพคนเหมือนนำไปสู่การสร้างสรรค์ศิลปะแขนงอื่นๆเช่นประติมากรรมคนเหมือนโดยเฉพาะรูปปั้นครึ่งตัว ที่เริ่มพัฒนาขึ้นที่เมืองฟลอเรนส์ประเทศอิตาลีในศตวรรษที่ 15 โดยรับแนวการเนรมิตรูปปั้นครึ่งตัวที่ทำขึ้นเพื่อบรรจุกระดูกและอังคารของผู้ตายในยุคกลาง  วรรณกรรมก็พัฒนาตามวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอัตตาเช่นกัน ศิลปะการพรรณนาในวรรณกรรม กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญในวรรณศิลป์ฝรั่งเศสและตะวันตกในศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่20  มงแตนญ์ (Montaigne, 1533-1592) เป็นหนึ่งในปราชญ์คนแรกๆผู้เริ่ม การวาดภาพคนเหมือนด้วยปากกา ในงานเขียนเรื่องเอสเซส์ (Essais, 1580)ของเขา  พรรณนาโวหารเริ่มขึ้นพร้อมๆกับการมีจิตรกรรมภาพคนเหมือนบนขาตั้ง และพัฒนาเป็นวัจนลีลาแบบใหม่แบบหนึ่งตั้งแต่ศตวรรษที่17  
         การนำเสนอภาพคนเหมือนด้วยภาษานั้นเป็นไปตามหลักการของจิตรกรรม คือต้องตรงกับความจริงของผู้เป็นแบบที่ผู้อ่านนึกออกทันทีว่าหมายถึงผู้ใด   ผู้อ่านยังต้องเข้าถึงวิธีการนำเสนอภาพของผู้แต่งด้วย  สองประการนี้กลายเป็นบรรทัดฐานของการพรรณนาคนในวรรณกรรมฝรั่งเศสในศตวรรษต่อๆมา เหมือนที่จิตรกรแต้มแล้วแต้มอีก ลากเส้นแล้วเส้นเล่าจนได้ภาพออกมา นักเขียนพรรณนาจุดนั้นจุดนี้ (ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรมของคนๆนั้นเหมือนกำลังให้ข้อมูลปลีกย่อยเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ  จนในที่สุดตรึงภาพลักษณ์ของบุคคลนั้นไว้ได้ครบ เป็นเนื้อแท้ของคนนั้นณเวลาหนึ่งสถานที่หนึ่ง  กระบวนการดังกล่าวทำให้นึกถึงสุนทรีย์คลาซสิกในแง่ที่ว่าเน้นเนื้อแท้ในหัวข้อของงานศิลป์  
        ในศตวรรษเดียวกันนี้ ลา-บรุยแยร์ (La Bruyère) เขียนเรื่องเลส์ การักแตร์(Les Caractères, 1688)  คำนามที่ใช้เป็นชื่อนี้ มีความหมายได้สองแง่  ความหมายหนึ่งหมายถึง ตัวละคร  อีกความหมายหนึ่งคือ อุปนิสัยใจคอ  ผู้แต่งเจาะจงเลือกชื่อนี้เพื่อกระชับและแนะให้อ่านเอาความหมายทั้งสองไปพร้อมกัน งานเขียนนี้มี 16 บท แต่ละบทเริ่มด้วยคำกล่าวเชิงศีลธรรม(maximes)  แล้วต่อด้วยการพรรณนาคนๆหนึ่ง วิธีการเขียนทำให้เดาได้ว่าเป็นใครหรือคนประเภทใด  งานเขียนเล่มนี้รวมคนประเภทต่างๆที่เป็นลักษณะถาวรของมนุษยชาติ แม้จะเป็นภาพคนยุคนั้น ณสถานที่เฉพาะเจาะจงหนึ่งก็ตาม แต่สะท้อนศีลธรรมในหมู่คนและเป็นข้อมูลของสังคมปลายศตวรรษที่ 17  หนังสือเล่มนี้แพร่หลายไปทั่วยุโรป
         
เทคนิคการพรรณนาภาพคนเหมือนดังกล่าวเข้าสู่วรรณกรรมทุกประเภท เช่นในวรรณกรรมประเภทบันทึกความทรงจำ(ของการ์ดินัล เดอ เร็ตส์-Cardinal de Retz หรือของแซ็งซีมง-Saint Simon) วรรณกรรมประเภทจดหมาย(ของมาดามเดอเซวีเญ่-Mme de Sévigné) หรือแม้ในบทเทศน์(ของบูร์ดาลู-Bourdaloue) อัตชีวประวัติก็เป็นแบบการประพันธ์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในวรรณกรรมสมัยศตวรรษที่ 17 ไม่ว่าจะเป็นแบบตัวละครผู้เฒ่าเล่าชีวิตย้อนหลัง หรือแบบเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเข้าซ้อนในเนื้อเรื่อง หรือแบบแทรกอนุทินรายวันเข้าในเนื้อเรื่อง  นั่นคือใช้ความรู้สึกส่วนตัว(ของผู้เขียน)ยืนยันบุคลิกภาพของบุคคลในเรื่อง  ในศตวรรษที่ 19 แซ็งต์เบิฟ(Saint-Beuve) พัฒนาการพรรณนาบุคคลได้แนบเนียนยิ่งขึ้นอีกด้วยการสื่อและแนะทางอ้อม  การพรรณนาบุคคลมีบทบาทสำคัญมากในงานประพันธ์ของบัลซัค(Balzac) ไม่เฉพาะตัวละคร สถานที่ ฉากต่างๆ  บัลซัค ก็พรรณนาอย่างละเอียดลออ ปูทางและอธิบายโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้น  การพรรณนาคนและสถานที่ยังคงอยู่ในงานนิพนธ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
         
นอกจากวรรณกรรม การพรรณนาภาพคนเหมือนยังเข้าสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ เช่นดนตรี โดยเน้นพรรณนาจิตวิทยาหรืออุปนิสัยคนมากกว่า เช่นโมสาร์ตประพันธ์จังหวะช้าใน Sonate pour piano en ut majeur (1777) ตามลักษณะนิสัยของโรซา กันนาบีช(Rosa Cannabich ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาไม่กี่ปีต่อมา มีผู้ชอบขอให้เบโทเฟนวาดลวดลายดนตรีเพื่อสื่ออุปนิสัยของคนที่รู้จักกันคนหนึ่ง ในยุคหลังต่อมาชูมาน (Schumann) แต่ง Carnaval ใช้ทำนองเพลงพรรณนาภาพเหมือนขอโชแป็ง, แอรเนซตีน ว็อน ฟริกเขิ่นและกลาร่าวีก (Chopin, Ernestine von Fricken และ Clara Wieck) เป็นต้น
         
แต่ในต้นศตวรรษที่ 20 ภาพคนเหมือนแบบคลาซสิกที่กล่าวมาข้างต้น (นั่นคือเป็นภาพที่อยู่นอกกรอบของกาลเวลา เป็นภาพเบ็ดเสร็จตรึงแน่นกับที่ภาพเดียวของคนๆหนึ่งกลายเป็นหัวข้อไตร่ตรองอีกครั้งหนึ่ง ดังที่ปรากฏในงานเขียนของมารเซ็ลพรู้สต์ (Marcel Proust, Le Temps retrouvé, 1927) พรู้สต์พรรณนาตัวละครแต่ละตัวว่า กินเนื้อที่มากมาย...บนเส้นทางของเวลา  พรู้สต์บอกว่าเขาไม่อาจให้ภาพเดี่ยวๆของตัวละครแต่ละตัว เขาทำได้เพียงเสนอภาพชุดๆติดต่อกันไป ซึ่งแต่ละภาพในชุดก็ไม่สอดคล้องต้องกันเสมอไป  พรู้สต์ให้แง่คิดว่า เพราะผู้เป็นแบบของภาพเปลี่ยนแปรอยู่เสมอและผู้พรรณนา(เฉกเช่นจิตรกร)กับมุมมองของเขาก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน (การให้ภาพเดี่ยวที่กลายเป็นภาพถาวรของคนๆหนึ่งจึงไม่ตรงกับแบบโดยปริยาย)  นักเขียนผู้นี้คิดว่า แม้เมื่อผู้เป็นแบบจะตายไปแล้ว จะเลือกภาพเดี่ยวภาพใดของผู้นั้นภาพเดียว  ก็ไม่อาจเป็นภาพเหมือนที่ตรงกับความเป็นคนนั้นได้อย่างถ่องแท้  แง่คิดของพรู้สต์เป็นพื้นฐานในงานเขียนเรื่อง ภาพเหมือนของคนแปลกหน้าคนหนึ่ง (1948) ของ นาตาลี ซาร์โรต (Portrait d'un inconnu, Nathalie Sarraute)  วิธีการต้านภาพเหมือน(anti-portrait) ที่พรู้สต์ เริ่มขึ้นและที่นักเขียนสมัยใหม่ปฏิบัติสืบมา ก็ยังจัดอยู่ในการนำเสนอภาพคนเหมือนเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามค้นหาวิธีการนำเสนอภาพเหมือนของคนในวรรณกรรมสมัยใหม่ ว่าเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

         
จิตสำนึกเกี่ยวกับอัตตาเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จิตรกรเนรมิตภาพเหมือนของตนเอง(autoportrait) ในศตวรรษที่16 การเสนอภาพเหมือนของตนเป็นเนื้อหาสำคัญเนื้อหาหนึ่งในจิตรกรรมตะวันตก  จิตรกรทุกคนเนรมิตภาพของตนเองไว้ด้วยเสมอ  เร็มบร็องท์(Rembrandt, 1606-1669  จิตรกรชาวฮอลแลนด์เนรมิตภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุ 20 จนถึงอายุ 63  เขาสร้างภาพใบหน้าของตนเองมากกว่าร้อยภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพลายเส้น ภาพสีหรือภาพพิมพ์  ใบหน้าเขาไปปรากฏในจิตรกรรมศาสนาหรือในจิตรกรรมเนื้อหาอื่นๆ ปรากฏพร้อมภรรยาผู้ชื่อซัสเกีย(Saskia) หรือปรากฏคนเดียวโดดเด่นบนพื้นหลังที่ว่างเปล่าเนื้อหา  นักประวัติศาสตร์ศิลป์กล่าวไว้ว่า ไม่มีจิตรกรสมัยใหม่ผู้ใดที่เนรมิตภาพตนเองไว้มากเท่าเร็มบร็องท์ และตีความหมายพฤติกรรมนี้ว่า เป็นความต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของหน้าตาตนเองในวิวัฒนาการของกาลเวลา ของชีวิตที่ย่อมต้องเผชิญปัญหาและวิกฤตการณ์ทุกรูปแบบ  เร็มบร็องท์ เนรมิตภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง เหมือนมีศรัทธาคอยผลักดันอย่างไม่ลดละ ไม่ผิดกับการบันทึกอัตชีวประวัติของเขาเอง  ภาพตนเองของจิตรกรเก็บทั้งรูปลักษณ์ภายนอกของเขาที่ไม่เหมือนใคร และบันทึกเป็นภาพลักษณ์ของสภาพจิตภายในที่ก็ไม่มีอะไรเสมอเหมือนเช่นกัน กรณีของเร็มบร็องท์ มีนักวิจารณ์ศิลป์ศึกษาไว้มากเป็นพิเศษ  จึงยกมากล่าวย่อๆเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งบนวิถีของการกระชับจิตสำนึกแห่งตน 
         จิตรกรรมของเร็มบร็องท์ แสดงให้เห็นโลกที่มีลัทธิศาสนาหลายแบบ เช่นโลกของชาวยิว โลกในคัมภีร์เก่าและโลกในคัมภีร์ใหม่  ลัทธิศาสนาทั้งหลายย่อมมีจุดยืน มีจริยธรรมหลายอย่างที่ตรงกันและที่แตกต่างกันหรือตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง  การติดต่อข้องเกี่ยวกับศาสนากลุ่มต่างๆ ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของจิตรกร  นักประวัติศาสตร์ศิลป์บอกว่า เราต้องไม่มองดูภาพตนเองของเร็มบร็องท์ ในแง่ศาสนาเท่านั้นเพราะเมื่อวิเคราะห์ชีวิตและผลงานของเขาทั้งหมด จะเห็นว่าอุดมการณ์พื้นฐานของเร็มบร็องท์ โยงใยเป็นเครือข่ายครอบจิตสำนึกแห่งยุคมากกว่าอย่างอื่น 
          ในภาพตนเองรุ่นแรกๆของเร็มบร็องท์  จิตรกรจัดส่วนประกอบอื่นๆไปอยู่ที่พื้นหลังทั้งหมดหรือไม่ก็ตัดออกไปเลยและมุ่งศึกษาใบหน้าเป็นสำคัญ  ใบหน้าที่เขาบรรจงสื่ออารมณ์ความรู้สึก ปฏิกิริยาไปจนถึงการแสดงหน้าบูดบึ้งแบบต่างๆ  เสนอใบหน้าตนเองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากภาพหนึ่งไปยังอีกภาพหนึ่ง(อาจเทียบได้กับกำลังสร้างฟิล์มภาพของตนเอง) เนื่องจากใบหน้าเป็นศูนย์กลางของคน ใบหน้าจึงเป็นภาพลักษณ์และสัญลักษณ์ของอารมณ์คน เมื่อพิจารณาใบหน้าของเร็มบร็องท์ จากภาพตนเองทั้งหลายของเขา มีทั้งที่สื่อความรู้สึกหวาดหวั่น ครุ่นคิด กังวลใจ กระวนกระวายใจ หรือสิ้นหวังจนผมเกือบตั้งชัน  และมีภาพจิตรกรกำลังหัวเราะอ้าปากเห็นฟัน  อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายรวมกัน เป็นเนื้อหาของสารานุกรมอารมณ์ที่มีตัวเขาเองเป็นผู้แสดงแบบ  จิตรกรไม่เพียงแต่วางหน้าแบบต่างๆแล้ว ยังวางท่าแบบต่างๆเหมือนกำลังแสดงบนเวทีละคร ภาพตนเองของจิตรกรในช่วงวัยชรา มีกิริยาท่าทางตามขนบนิยมแม้จะไม่ใช่ท่าธรรมชาติของร่างกาย  หรือเลียนท่าทางของบุคคลในประวัติศาสตร์ เช่นวางท่าตามแบบบุคคลในจิตรกรรมอิตาเลียนฝีมือของติซีอาโน(ภาพ Arioste ฝีมือของ Tiziano) หรือในจิตรกรรมของราฟาเอล(Castiglione ของ Raphael) เป็นต้น  เขาสร้างบทบาทใหม่ๆให้ภาพตนเองของเขาซึ่งเท่ากับเปลี่ยนสถานะทางสังคมให้เขาเองตามไปกับบทบาทด้วย   เขาเคยวาดภาพตนเองเป็นขอทานนั่งขดตัวบนหิน ยื่นมือขอเงิน  มีหลายภาพในทำนองเดียวกันนี้ที่ยืนยันว่าเป็นความตั้งใจอย่างแท้จริงของจิตรกร(1630) เร็มบร็องท์ จึงเป็นผู้เริ่มแนวการสร้างฉากละครประกอบภาพตนเองโดยการจัดกิริยาท่าทางและใช้เครื่องแต่งกายเป็นสื่อ  เขาสร้างรูปลักษณ์หลากหลาย ไม่มีใครเทียบเท่าได้เลยในประวัติศาสตร์ศิลป์  เครื่องแต่งกายหรือวัตถุที่ประกอบในภาพเหมือนของเขาเองนั้น มีนัยความหมายสำคัญ เช่นเมื่อเขาเนรมิตภาพตนเองยืนเต็มตัวในเครื่องแต่งกายแบบสุลต่านอาหรับ สวมผ้าพันรอบศีรษะ มีขนนกประดับและมีหมวกเหล็กโรมันวางบนโต๊ะอยู่ในฉากหลัง(1631) หรือในเครื่องแต่งกายงามสง่า มีแผ่นหน้าอกเป็นโลหะเงาวาววับ ประดับด้วยสายสะพายเกียรติยศพร้อมเครื่องประดับมีค่าและสัญลักษณ์อื่นๆ  เกราะเหล็กแบบทหารโรมัน นอกจากสื่อการต่อต้านอำนาจของสเปนที่มีเหนือประเทศเนเธอแลนด์ยุคนั้นแล้ว ยังอาจโยงไปถึงเทพมีแนรวา(Minerva เทพแห่งสงครามในเทพตำนานกรีกโบราณ)  ผิวมันวับของโลหะคือศักดิ์ศรีที่เป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยามเป็นต้น  บางทีเสนอภาพของเขาเองในเครื่องทรงของเจ้าชายผู้มีอำนาจ ถือดาบในมือเป็นต้น(1634)  ปีเดียวกันนั้น เขาเนรมิตภาพตนเองเป็นชนชั้นกลางสวมหมวกเบเรต์ เป็นหมวกแบบที่เร็มบร็องท์ ชอบสวมและปรากฏบ่อยๆในภาพเหมือนของเขาเอง เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นกลาง ของศิลปิน ของชีวิตที่เป็นอิสระและโดยนัยสื่อความเป็นอัจฉริยะของศิลปิน
         มีผู้อธิบายในแง่จิตวิทยาว่า ภาพคนเหมือนที่หลากหลายแบบของเร็มบร็องท์ แสดงให้เห็นถึงอำนาจจินตนาการที่ทดแทนความปรารถนาในใจของเขา หรือที่ช่วยผ่อนคลายความรู้สำนึกในวิกฤตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเขา  นักวิจารณ์ศิลป์กล่าวว่า  เมื่อพิจารณาดูภาพตนเองทั้งหมดเกือบร้อยภาพของเขา อาจเข้าใจการสร้างสรรค์ของเขาว่า เป็นพฤติกรรมของจิตที่พินิจพิเคราะห์ระบบสังคมในฐานะเนื้อหาศึกษาหัวข้อหนึ่ง และเป็นข้อมูลแบบหนึ่งของสภาวะสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเนเธอแลนด์สมัยนั้น ในภาพตนเองภาพสุดท้าย(1669)  จิตรกรดูเหนื่อยตัวห่อเพราะความชรา ใบหน้าแม้จะยิ้มแต่เศร้า  นักประวัติศาสตร์ศิลป์ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า จิตรกรเผยตนเองมากพอๆกับซ่อนตนเองอยู่เบื้องหลังปริศนาของภาพ  เร็มบร็องท์ไม่เคยเสนอภาพตนเองกำลังทำงานหรือแม้แต่โยงให้คิดถึงอาชีพของเขา  ในภาพสุดท้ายก็ไม่เน้นกิจกรรมของเขาแม้ถือพู่กันในมือ เพราะใบหน้าที่เด่นชัดกลบความหมายนัยอื่นๆเกือบหมด เป็นใบหน้าจริงที่แก่หง่อม ไร้สิ่งปกป้องหรือสิ่งพรางตา รอยยิ้มเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ยิ้มเพราะมีความสุขหรือร่าเริง เป็นรอยยิ้มที่เหนื่อยละโหย เผยสภาพเปราะบางของตนเอง ร่องรอยของการทำงาน การอดนอน ความกังวลในด้านการเงิน ความตายของสมาชิกในครอบครัว ความกังขา ความรู้สึกโดดเดี่ยวฯลฯ  สรุปแล้วภาพสุดท้ายนั้นเป็นภาพของผู้ที่ยอมรับจุดจบด้วยความสงบและจำนนตน  ทำไมเขาเลือกแสดงตนเป็น เซอซิกส์(Zeusix)นั้น  จิตรกรอาจต้องการยิ้มเยาะกับตนเอง ว่าเบื้องหน้าความชรากับความตาย จิตรกรทุกคนเสมอภาคกัน
        
เร็มบร็องท์ เป็นตัวอย่างของเอกบุคคลที่พินิจพิจารณาใบหน้าตนเอง เพื่อเตือนสติเกี่ยวกับความหลงแบบต่างๆ เกี่ยวกับวัยและความตาย  ในภาพตนเองของเขาเกือบทุกภาพ มีใบหน้าหนึ่งแฝงอยู่ เป็นใบหน้าของความเศร้า  เป็นใบหน้าที่หลอกหลอนจิตสำนึกของศิลปินทุกแขนงในยุคปลายเรอแนสซ็องส์  ยุคนั้นถือกันว่า ความเศร้า(melancholy) เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของอัจฉริยภาพ
ภาพตัวอย่างจากจิตรกรรมภาพเหมือนของเร็มบร็องท์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

(เนื้อหาแก้ไขและปรับปรุง จากตอนหนึ่งในบทความเรื่อง จากตำนานนาร์ซิสซัส สู่การกระชับจิตสำนึกแห่งตน ที่ลงพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครินทรวิโรฒ ฉบับ 2547/2004 หน้า 44-64 )
 
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  บันทึกไว้ณวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๗.