Saturday 21 June 2014

คลั่งทิวลิป จากตุรกีสู่เนเธอแลนด์ - Tulipomania

บทความนี้ปรับปรุงแก้ไขจากบทความชื่อเดียวกัน ที่ลงพิมพ์ในวารสารรูสมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน 2547/2004 หน้า 27-38

การค้นพบดอกทิวลิป
            
เล่ากันมาว่า คนพบทิวลิปครั้งแรกในหุบเขาหิมาลัยใกล้ๆเส้นละติจูดที่ 40 ในบริเวณเชิงเขาและหุบเขาเทียนฉาน(Tien-shan) แถวพรมแดนระหว่างจีน ธิเบต รัสเซียและแอฟกานิสถาน  ดินแดนแถบนั้นทุรกันดาร  ทิวลิปที่พบกันส่วนใหญ่สีแดงก่ำ  กลีบของแต่ละดอกมักไม่เหมือนกัน  สีก็ผิดกันเล็กน้อย   สีแดงของทิวลิปจึงโดดเด่นเห็นชัด ประทับจิตประทับใจชาวเขาที่อาศัยในแถบนั้น   เมื่อชาวเตอร์กผู้เป็นนักเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ ผ่านเข้าไปในดินแดนดังกล่าว หลังฤดูหนาวอันยาวนาน  และเห็นดอกทิวลิปบานสะพรั่ง ดอกไม้เหล่านั้นจึงไม่เป็นเพียงสิ่งงามตา แต่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและของความอุดมสมบูรณ์  เป็นเครื่องหมายแรกของฤดูใบไม้ผลิ   ดอกทิวลิปกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวเตอร์ก   ชาวเตอร์กต้อนฝูงปศุสัตว์ต่อไปจากแดนเทียนฉานสู่ทะเลสาปคัสเปียน แล้วไปยังทะเลดำจนถึงแถบคอเคซัส (Caucasus)  พวกเขาเห็นดอกทิวลิปบานไปทั่วตลอดเส้นทาง   ผู้ศึกษาพืชพรรณจึงสรุปว่า ชาวเตอร์กคงได้นำหัวทิวลิป(เหมือนหัวหอมใหญ่)เข้ามาในตุรกีเรื่อยมาในแต่ละโอกาส  เพราะในศตวรรษที่ 10-11 มีดอกทิวลิปแล้วในตะวันออกกลาง และในตุรกี ก็ปลูกทิวลิปในสวนกันแล้ว  แต่จะเริ่มปลูกกันเมื่อไรนั้นไม่มีหลักฐานระบุอย่างแน่ชัด   รู้แต่เพียงว่าราวปี1050 มีทิวลิปแล้วในเปอเชีย ปลูกกันที่อิสฟาฮัน(Isfahan[อิสฝะฮัน]เมืองหลวงเก่า) และที่เมืองแบกแดด (Bagdad [บั๊คดั้ด]ในอิรัค
          ยุคนั้นมีกวีนิพนธ์บทหนึ่งของโอมาร์คัยยัม (Omar Khayyam [โอมาเร้ ขะยำ] ในภาษาเปอเชีย  เป็นปราชญ์และกวีชาวเปอเชีย, 1050-1123) ได้กล่าวเปรียบเทียบดอกทิวลิปว่า เป็นความงามสุดยอดของอิสตรี  กวีคนต่อๆมาก็มักใช้ดอกทิวลิปสื่อนัยของ ความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ กวีอีกผู้หนึ่งชื่อมุสลีอัดดินซาดิ(Musli AddinSa'adi แต่งไว้ในราวปี1250)พรรณนาสวนในทัศนคติของเขาว่า เป็นสถานที่ที่มี “เสียงกระซิบของธารน้ำ เสียงเพลงของนก ผลไม้สีสุกน่ากินทุกชนิด ดอกทิวลิปสดสวยหลากสีสัน ดอกกุหลาบที่หอมกรุ่น”  ฮาฟีส(Hafiz [ฮาเฟิส] ในภาษาเทอคิช-Turkish) กวีอีกคนกล่าวชื่นชมความเงางามของกลีบดอกทิวลิปโดยเทียบกับแก้มของนางผู้เป็นที่รัก (cf. Mike Dash, Tulipomania, p. 8-9) ในเปอเชียดอกทิวลิปได้กลายเป็นสัญลัษณ์ของ อกาลิโก-eternity เทพตำนานหลายเรื่องเล่าสรรเสริญความงามของดอกไม้นี้
          มีเรื่องเล่าว่า เจ้าชายฟารฮัด(Farhad) หลงรักสาวน้อยชื่อชิริน(Shirin) อย่างหมดจิตหมดใจ วันหนึ่งมีผู้เพ็ดทูลว่าแม่สาวน้อยถูกฆ่าตายเสียแล้ว(ซึ่งไม่จริงทรงเสียใจสิ้นสติยั้งคิด  คว้าขวานสับร่างของพระองค์สิ้นพระชนม์  เลือดหลั่งไหลลงสู่พื้นดิน  บนพื้นดินที่เลือดแต่ละหยดตกลง มีดอกไม้สีแดงสดโผล่ขึ้นราวจะให้เป็นสัญลักษณ์ของความรักอันเปี่ยมล้น  หลายร้อยปีผ่านไป ชาวเปอเชียยังคงยึดดอกทิวลิปแดงเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่มีวันตาย  เมื่อหนุ่มเปอเชียมอบดอกทิวลิปแดงแก่คนรัก เขาต้องการบอกให้เธอรู้ว่า ความงามของเธอดั่งเปลวเพลิงเผาร่างเขา  สีดำตรงโคนลึกลงในใจกลางดอก เหมือนหัวใจเขาที่ถูกไฟรักไหม้เกรียมไปหมดแล้ว (cf. John Chardin, 17th c. )
          ในกรณีของตุรกีไม่มีหลักฐานลายลักษณ์ใดเกี่ยวกับดอกทิวลิปที่เก่าไปกว่ากวีนิพนธ์ของ Omar Khayyam  จนเมื่อชาวเตอร์กเผ่าเซลจูกส์(Seljuks) เข้าไปยึดดินแดนอานาโตเลีย(Anatolia-ในตุรกีปัจจุบันในศตวรรษที่11จึงมีดอกทิวลิปปรากฏในศิลปะของชนเผ่านี้บนกระเบื้องเคลือบที่ประดับรอบๆพระราชวังของสุลต่านที่อาแลดดิน คัยกูบัดที่หนึ่ง (Alaeddin Kaikubad I) สร้างขึ้นณริมฝั่งทะเลสาปเบย์เซฮีร(Beysehir)ในแดนอานาโตเลียตะวันออก   หลังสมัยของเซลจูกส์  เป็นยุคของจักรวรรดิอ็อตโตมันที่มีอิทธิพลแผ่กว้างไปในเอเชียและยุโรปจนถึงประตูวังของฮับสบูร์กในเวียนนา ชาวอ็อตโตมันยึดคำสอนของอิสลามอย่างเคร่งครัด  ข้อห้ามหนึ่งของอิสลามคือการแสดงภาพจริงของสรรพสิ่งที่มีชีวิตไม่ว่าคน สัตว์หรือพืช  ถือว่าเป็นการบังอาจและลบหลู่งานสร้างสรรค์ของพระอาลาห์เจ้า  ในเมื่อสิ่งที่มนุษย์ทำได้นั้นย่อมไม่มีวันจะสวยสมบูรณ์ได้ เพราะเหตุนี้จึงไม่ปรากฏมีดอกทิวลิปในศิลปะของชาวเตอร์กที่ตกทอดมา อย่างไรก็ดีเรารู้กันว่าชาวเตอร์กนิยมการทำสวนและมองดอกไม้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ความนิยมดอกทิวลิปในหมู่ชาวเตอร์ก
          มีเรื่องเล่ายืนยันความสำคัญและความรักสวนของชาวเตอร์กดังนี้  วันหนึ่งเมื่อฮัดซันเอเฟนดิ(Hasan Efendi) ผู้เป็นพระครูชื่อดัง(ที่เรียกกันว่าแดรวิชกำลังเทศนาสอนอยู่นั้น  ผู้ฟังคนหนึ่งเขียนคำถามลงแผ่นกระดาษส่งต่อไปถึงมือท่าน ใจความว่า ชาวมุสลิมจะรู้และแน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อตายแล้วจะได้ไปสวรรค์จริงๆ   เมื่อเทศน์จบ พระครูแดรวิชถามขึ้นว่า มีใครเป็นชาวสวนไหม  ผู้ฟังคนหนึ่งลุกขึ้นแสดงตน  พระครูชี้ไปที่เขาและบอกว่า"คนนี้จะไปสวรรค์คนทั้งฝูงรี่เข้าล้อมพระครูด้วยความอยากรู้ว่าคนสวนคนนั้นเคยทำอะไรหรือมีความดีวิเศษอย่างไร จึงมีที่เก็บไว้ให้เขาโดยเฉพาะในสวรรค์  แต่พระครูตอบเพียงว่า เขาพูดตามที่เขียนไว้ในฮาดิธ (Hadith – บทรวมคำพูดและการปฏิบัติตนของโมฮะเหม็ด  ถือว่าเป็นหนังสือสำคัญที่มุสลิมพึงรู้ควบคู่กับคัมภีร์กุระอ่าน)  ที่ระบุว่า “ มนุษย์จะทำในชีวิตหน้า สิ่งที่พวกเขาชอบทำที่สุดในชีวิตนี้  และเพราะดอกไม้ทั้งมวลเป็นของสวรรค์  คนสวนจึงจะได้ไปสวรรค์แน่นอนเพื่อทำงานสวนต่อไป”   สวนเป็นศูนย์กลาง เป็นสวรรค์ของชาวมุสลิม
           ชาวคริสต์กล่าวว่าสวรรค์เป็นแดนที่แจ่มจ้าบนเนินสูง   ชาวอาหรับผู้วางรากฐานศาสนาอิสลามอันเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในแดนทุรกันดาน ในทะเลทราย  ต่างมุ่งมองสวรรค์ว่าเป็นสวนแห่งความหรรษาเบิกบานที่ไม่มีรั้วใดๆขวางกั้น  มีอาคารที่อยู่สวยงาม  มีน้ำพุอยู่ทุกแห่งหนและดารดาษด้วยมวลไม้ดอกที่สวยอย่างที่คนไม่เคยเห็นในโลก   ชาวมุสลิมผู้เคร่งศาสนา คารวะดอกไม้ดั่งพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์และมักมีกลีบดอกไม้แอบแทรกอยู่ในจีบผ้าโพกผม
          ในบรรดาดอกไม้ทั้งหลายในสวนมุสลิม  ดอกทิวลิปถือว่าเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด   ชาวเตอร์กเหมือนชาวเปอเชีย รักสนใจดอกทิวลิปมากเป็นพิเศษ  เป็นความรักความหลงที่อยู่นอกเหนือความสนใจในรูปลักษณ์ของดอกทิวลิป   ความสำคัญในแง่สัญลักษณ์อยู่เหนือกว่ามากนัก  ในฐานะที่ดอกทิวลิปเป็นดอกไม้ของพระอาลาห์เจ้า  ในภาษาอาหรับคำที่ใช้เรียกทิวลิปคือ "ลาเล-lale" เป็นคำเดียวกับที่ใช้เรียกพระอาลาห์ด้วยคำหนึ่ง   พวกเขายังมองว่าดอกทิวลิปรู้จักแสดงความถ่อมตน เบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้า  เพราะเมื่อดอกบานเต็มที่มันจะก้มหัวลง   สำหรับชาวเตอร์ ดอกทิวลิปเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง  เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
          ในปลายศตวรรษที่ 15-16  เมื่อข้อห้ามแสดงรูปลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตผ่อนคลายลง  ในศิลปะอ็อตโตมัน ปรากฏดอกทิวลิปแทรกไว้ด้วยเสมอ เช่นใต้ต้นผลไม้ที่อีฟยืนลังเลอยู่ว่าจะเด็ดกินดีไหมในสวนอีเด็น ชาวเตอร์กผู้พร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อรับใช้อิสลาม ด้วยความเชื่อมั่นว่านั่นเป็นใบเบิกทางสู่สวรรค์ ที่ที่มีสาวสวยร่างไฉไล(houris) คอยรับใช้พวกเขา  รินไวน์ให้พวกเขาดื่ม(ไวน์ที่พวกเขาถูกห้ามดื่มในโลกนี้)  พวกเขาจะเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจในสวนสวรรค์ ท่ามกลางมวลไม้ดอกนานาพันธุ์และแน่นอนมีดอกทิวลิปในสวรรค์   สำหรับคนสวนในยุคอ็อตโตมันดังกล่าว  ดอกทิวลิปจึงเป็นดอกไม้ที่มีค่าสูงสุด  จะมีก็เพียงดอกกุหลาบ ดอกนาซิสสัส ดอกคารเนชั่นและดอกฮยาซินธ์เท่านั้น ที่มีค่าคู่ควรพอที่จะนำไปปลูกเคียงข้างดอกทิวลิป   ดอกไม้อื่นๆไม่ว่าจะสวยเพียงใดหรือหายากเพียงใดก็เป็นแค่ ดอกไม้ป่า ในวิสัยทัศน์ของชาวเตอร์ก  เพราะเหตุผลนี้จึงทำให้เชื่อได้ว่า  ชาวเตอร์กนำดอกทิวลิปติดไปปลูกทุกแห่งที่อาณาจักรอ็อตโตมันแผ่ไปถึง จากเอเชียถึงยุโรป  ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะตุรกีและอิสลามเมืองอิสตันบูล(Museum of Turkish and Islamic Arts) แผนกการทหาร มีเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายแบบฟอร์มที่ทหารเตอร์กสวมใต้เสื้อเกราะแสดงในตู้กระจกตู้หนึ่ง  ด้านหน้าของเสื้อมีข้อความบางตอนของคัมภีร์กุระอ่านปักอย่างสวยงาม  ส่วนด้านหลังมีดอกทิวลิปปักไว้   เสื้อตัวนั้นนำมาจากหลุมศพของนายพลอ็อตโตมันคนหนึ่ง ที่เคยไปสงครามโคโซโว (Kosovo ทางใต้ของ Serbia) ต่อสู้กับชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในดินแดนบอลข่านปี1389   เสื้อตัวนี้เป็นตัวอย่างและหลักฐานที่แสดงให้เราตระหนักถึงความหมายของทิวลิปสำหรับชาวอ็อตโตมัน  ดอกทิวลิปถูกปักไว้ให้เป็นยันต์ป้องกันภัยและเป็นเครื่องรางนำโชคสำหรับทหารผู้ไปสงคราม เนื่องจากข้อห้ามการแสดงรูปลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตยังคงเข้มงวดในยุคนั้น  จึงไม่อาจปักดอกทิวลิปไว้บนธงหรือบนเสื้อตัวนอกได้แต่แอบปักไว้บนเสื้อชุดชั้นใน
 
ตัวอย่างเสื้อคลุมตัวยาวแบบเตอร์กของเจ้าชายพระองค์น้อยองค์หนึ่งในราชวงศ์อ็อตโตมัน ทอจากไหมและปักลวดลายดอกไม้ (ที่รวมดอกทิวลิปด้วย)  ภาพจาก Victoria&Albert Museum, London  (ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 6 เดือนสิงหาคม 2009)
ภาพนี้คือส่วนหนึ่งของผ้าคลุม(เตียง) ที่ทำในตุรกี ในยุค 1600-1700 ปักเป็นดอกไม้และใบไม้  ดอกตูมเรียวยาวสีแดงคือดอกทิวลิป ภาพจาก Victoria&Albert Museum, London เมื่อวันที่ 6 เดือนสิงหาคม 2009
 
            เมื่อทหารอ็อตโตมันเข้ายึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ในปี 1453 จักรวรรดิโรมันตะวันออก(จักรวรรดิไบแซนไทน)สิ้นสุดลง  นักประวัติถือว่ายุคกลางจบลง  โลกเข้าสู่ยุคใหม่  มีการเปลี่ยนชื่อเมือง จากคอนสแตนติโนเปิลเป็นอิสตันบูล  เมืองใหม่โผล่ขึ้นอย่างรวดเร็ว  ณที่ที่เคยรกร้างว่างเปล่าในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน  ชาวเตอร์กปรับและแปลงให้เป็นสวนที่ร่มรื่น  เมืองอิสตันบูลตั้งแต่นั้นมา  มีสวนเป็นจำนวนมาก  สวนมอบความงามของธรรมชาติเข้าเสริมสภาพภูมิประเทศที่มีทะเลล้อมโดยรอบเมืองให้เด่นยิ่งขึ้นอีก  สร้างสถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆและบูรณะอาคารเก่าๆ   เพียงชั่วสองทศวรรษเมืองอิสตันบูลมีสวนกว่าหกสิบแห่งเรียงรายรอบฝั่งทะเลบอสฟอรัส(Bosphorus) และฝั่งทะเลมารมารา(Marmara)  ยังมีสวนผลไม้ สวนผักอีกสิบกว่าแห่งที่เป็นคลังอาหารของสุลต่านและสต๊อกของเมือง  สุลต่านองค์ต่อๆมาก็ยังคงสร้างสรรค์สวน  เช่นเนรมิตสวนต่างระดับเพื่อให้มีร่มเงาเสมอสำหรับผ่อนคลายความร้อนในฤดูร้อน  หรือสร้างระเบียงใหญ่ หรือขยายพื้นที่เฉลียงออกกว้างเพื่อปลูกต้นองุ่นให้เลื้อยไปตามซี่กรง  ให้ร่มเงาที่ระริกไหวยามเมื่อมีลมพัด  นอกจากสวนภายในวัง สวนสาธารณะที่ร่มรื่นก็มีในทุกมุมเมือง  ดอกไม้เข้าครอบครองพื้นที่ทั้งในสวนส่วนตัว ในรั้วในวังหรือในคฤหาสน์   ความเขียวชะอุ่มของเมืองอิสตันบูลแบบนี้เอง ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ ชาวยุโรปที่ได้ไปเห็น  ทำให้เหล่านักเพาะปลูกพันธุ์ไม้ชาวยุโรปตกตะลึง   พวกเตอร์กไม่นิยมสวนที่ชาวยุโรปทำกันในยุคนั้นทั้งในอังกฤษ อิตาลีและฝรั่งเศส เพราะดูแข่งทื่อ สัดส่วนคงที่ เหมือนต้องการตรึงตาคนดูให้ชื่นชมกับความชำนาญของคนสวนที่สามารถดัดธรรมชาติให้อยู่ในระเบียบได้  สวนยุโรปสร้างขึ้นเพื่ออวดสมรรถนะของคน อวดอำนาจของผู้เป็นเจ้าของ  ถ้าเทียบเคียงกัน สวนอ็อตโตมันสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อล่อใจมากกว่า  ตรึงใจพร้อมๆกับที่ขยายวิสัยทัศน์ของผู้ดู สู่ความเขียวชะอุ่มกับความอุดมสมบูรณ์  สวนอ็อตโตมันรังสรรค์ ให้เป็นที่พักที่หลบภัย ที่ที่เจ้าของอาจปลีกตัวจากความกังวลในธุรกรรมนานาชนิด ที่ที่เขาจะหนีความร้อนระอุของกลางวัน ไปชื่นเชยความสงบร่มเย็น   ภายในรั้วสวน ชาวเตอร์กปลูกผลไม้กลิ่นหอมชวนกินประเภทต่างๆ  สร้างน้ำพุและธารน้ำไหลที่สะท้อนเสียงใสกลมกลิ้งระรื่นหูทุกย่างก้าว  สวน(อาหรับ) สร้างให้เป็นแดนสวรรค์ย่อยๆแดนหนึ่งบนพื้นโลก กล่อมเกลาจิตใจและตรึงภาพพจน์ของสวนสวรค์ที่จะสงบร่มรื่นชวนหฤหรรษ์อีกหลายเท่าพันทวี
ที่ตั้งและการจัดวางอาคารต่างๆภายในพระราชวังท็อปกาปิ กรุงอิสตันบูล
ตรงปลายแหลมที่ยื่นลงสู่ทะเล Bosporus และทะเล Marmara
ดอกทิวลิปในสวนสวรรค์เมืองอิสตันบูล
          ชาวยุโรปตื่นตะลึงไปกับขนาดเมืองอิสตันบูลและความอุดมสมบูรณ์ในอาหารการกิน  ประทับใจกับกิริยามารยาทผู้ดีและรสนิยมอันมีระดับของชาวอ็อตโตมันเจ้าบ้าน  พวกเขาเห็นชัดกับตาว่า  อิสตันบูลเป็นเมืองวัฒนธรรมที่แท้จริง  ร้านกาแฟเรียงรายพร้อมต้อนรับผู้คน ที่ใช้เป็นสภากาแฟแลกเปลี่ยนสังสรรค์ เจรจาธุรกิจหรือเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ทุกรูปแบบ ทุกแนวโน้ม ทุกศาสนา  ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ชาวยุโรปคิดไม่ถึงเพราะรู้และฝังใจแต่เพียงว่า พวกอาหรับโหดเหี้ยมและมัวเมาอยู่ในกามารมณ์  ชาวยุโรปสนใจอยากรู้อยากฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับความโหดเหี้ยมของกองทหารอ็อตโตมัน มากพอๆกับเรื่องสมบัติเล้นลับหรือเรื่องภายในฮาเร็ม  ในความเป็นจริง ชาวเตอร์กชำนาญทั้งการรบ เทิดทูนความงามและรู้จักพัฒนาความรักสวยรักงาม  
           สุลต่านเมเหม็ดที่หนึ่ง(Mehmed the Conqueror, 1432-1481) ได้สร้างพระราชวังที่รู้จักกันต่อมาในนามว่า ท็อปกาปิ(Topkapi หรือ the Abode of Bliss ในความหมายของ ที่สถิตของความสุข) ให้เป็น ศูนย์ที่รวม ความหลากหลาย ความงามและความอลังการ  ทั้งภายใน ภายนอกและทุกมุมมอง ให้เป็นที่ทอประกายเจิดจ้าด้วยเครื่องเงิน เครื่องทอง ไข่มุกและเพชรนิลจินดาทุกชนิด   สวนสวยดารดาษด้วยพืชพันธุ์ต่างๆที่จะหาได้  ทุกหย่อมหญ้ามีน้ำเย็น สะอาด ใสบริสุทธิ์และดื่มได้  เสียงน้ำไหลกล่อมคลอเคล้าเสียงฝีเท้า  เสียงนกร้องเพลง จุ๊บจิ๊บแทรกซ้อนมา
 จิตรกรรมน้อยแสดงภาพสุลต่าน Mehmet II the Conqueror ในสมัยศตวรรษที่ 15 จากพิพิธภัณฑ์ภายในพระราชวังท็อปกาปิ  คงไม่มีกษัตริย์ยุโรปองค์ใดที่อนุญาตให้ศิลปินเสนอภาพพระองค์กำลังดมดอกไม้ หรือแม้แต่ชมดอกไม้  สิ่งที่กษัตริย์ยุโรปต้องการเน้นคือภาพลักษณ์ของอำนาจ  แต่อุดมการณ์อาหรับลุ่มลึกกว่ามากนัก  ที่ทำให้คิดได้ว่า สุลต่านอ็อตโตมัน มีจิตใจอ่อนโยน รักความสวยงาม รักธรรมชาติ  ในขณะเดียวกันยังเน้นอย่างชัดเจนว่าธรรมชาติคือภาพลักษณ์ของอัลลาห์  หากใครมีธรรมชาติในมือ ย่อมหมายถึงพลังอำนาจที่เหนือกว่า (หรือมิใช่?)  
อนุสาวรีย์สร้างเป็นเกียรติแด่พระองค์ที่กรุงอิสตันบูลในยุคปัจจุบัน  ความสามารถในการขี่ม้า บังคับม้า กุมบังเหียนไว้ในมือ คือภาพลักษณ์สูงสุดของผู้มีอำนาจ  ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันเป็นต้นมา กษัตริย์ทุกพระองค์ต้องการให้มีรูปปั้นบนหลังม้า  โดยเฉพาะตั้งแต่ผลงานประติมากรรมฝีมือสุดยอดของ Donatello ในปี 1443 เป็นรูปปั้นของเจ้าผู้ครองเมืองชื่อ Erasmo da Narni  ประดิษฐานอยู่ตรงหน้า Basilica del Santo (San Antonio) ที่เมือง Padova (ชื่อที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า Padua) ประเทศอิตาลี  รูปปั้นทรงม้านั้นได้เป็นแบบฉบับของรูปปั้นทรงม้าต่อมาอีกหลายศตวรรษจนถึงทุกวันนี้ ทั้งในยุโรปและอเมริกา(รวมทั้งไทยด้วย)  แต่รูปปั้นทรงม้าของสุลต่าน Mehmet II ก็ไม่เหมือนแบบของ Donatello (ซึ่งคือแบบพระบรมรูปทรงม้าของไทย) ดูในภาพข้างบนก็จะเห็นว่า แบบอาหรับนั้น เก็บนาทีที่ม้าทะยานลอยตัวอยู่ในอากาศไว้ได้อย่างวิเศษ  อาจต้องยอมรับว่า ศิลปินอาหรับเหนือกว่าด้วยประการทั้งปวง
 
          ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอ็อตโตมันเพิ่มเป็นสองเท่าทวีในสมัยของสุไลมาน(Suleyman the Magnificent, 1520-1566)  ในสมัยนี้เองที่ข้อห้ามการแสดงรูปลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตผ่อนคลายลงไปมาก  ศิลปินเสนอภาพดอกทิวลิปมากขึ้นจนกลายเป็นเนื้อหาสำคัญที่สุดเนื้อหาหนึ่งในศิลปะอ็อตโตมันที่ปรากฏประดับแจกันดอกไม้  ในจิตรกรรม  บนกระเบื้องเคลือบลวดลายที่ต่อกันเป็นภาพขนาดใหญ่ประดับผนังกำแพงตลอดความกว้างและความสูง  เสื้อคลุมของสุลต่านประดับด้วยลายปักดอกทิวลิปจำนวนร้อยๆดอก  มีภาพดอกทิวลิปดอกเดี่ยวยาว 9 นิ้วจำหลักประทับนูนบนเกราะเหล็กของพระองค์และบนหมวกเหล็กก็มีดอกทิวลิปสีทองประดับด้วยพลอยมีค่า  กลางศตวรรษที่16 ภาพดอกทิวลิปแพร่หลายไปทั่วแล้ว  เป็นลายประดับทั้งในพรม อ่างน้ำ รอบน้ำพุหรือบนเครื่องอานเป็นต้น  เหมือนคนสวนปลูกทิวลิปพันๆต้นเพื่อเป็นทางสู่วรรค์  ผู้หญิงก็ปักดอกทิวลิปเพื่อมอบแด่ศาสนาพร้อมคำสวดวิงวอนให้สามีกลับจากสงครามโดยสวัสดิภาพ

ภาพลายกระเบื้องเคลือบประดับผนังในพระราชวังท็อปกาปิ-Topkapi 
(ดอกสีแดงๆคือดอกทิวลิป) 
 
ภาพลายกระเบื้องเคลือบประดับผนังใน Blue Mosque ที่อิสตันบูลเช่นเดียวกัน
จิตรกรรมน้อยภาพโต๊ะอาหารมีผลไม้ ขนมและที่เห็นเด่นชัดคือแจกันดอกไม้สามใบ
ปักดอกทิวลิปกระจายเป็นวงกลมรี
จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะตุรกีและอิสลามที่กรุงอิสตันบูล


สองภาพข้างบนเป็นผนังห้องในพระราชวัง Topkapi สูงและกว้างที่มีแผ่นกระเบื้องลวดลายดอกไม้กิ่งไม้  ต้นไม้ที่นำมาประดับต่อกันเป็นภาพ  อาจเทียบได้ว่าเป็นพรมจิตรกรรมกระเบื้องเคลือบ ต้นไม้สูงชลูดสีเขียวคือต้นไซเพรส ดอกทิวลิปสีแดงประดับโคนต้น
 
           ในยุคนี้เช่นกันที่ชาวเตอร์กเริ่มปลูกและขยายพันธุ์ทิวลิปใหม่ๆ สอดคล้องกับรสนิยมส่วนตัวของพวกเขา   พันธุ์เดิมที่ปลูกกันมาก้านสั้น ตัวดอกกลมรี ป้อมๆ  ไม่นานชาวเตอร์กมีทิวลิปพันธุ์อิสตันบูลและขยายพันธุ์ออกไปได้ถึง1500 ชนิด ล้วนสวยสง่ากว่าเพราะก้านดอกยาวกว่า สัณฐานของดอกก็ยืดขึ้นจากรูปกลมเป็นทรงรียาว กลีบดอกก็ยาวยืดออก บางชนิดตรงปลายกลีบยังมีส่วนต่อยาวแหลมเป็นเส้นเล็กเหมือนเข็มเย็บผ้า  พันธุ์ที่คนชอบกันมากที่สุดมีดอกยาวรีเหมือนผลอัลมอนด์ แต่ละกลีบก็เรียวเหมือนกริช ทั้งยังมีริ้วที่กระจายจากฐานดอกเป็นรูปเปลวไฟสีแดงๆหรือแดงปนเหลือง  ในยุคนั้นการทำพันธุ์ไม้ใหม่ๆหรือการเพาะชำพืช ยังไม่มีใครรู้จักทำอย่างถูกต้องหรือถูกหลักพฤษศาสตร์  ดอกทิวลิปแบบใหม่ๆที่ได้ เป็นความบังเอิญมากกว่า  ทิวลิปพันธุ์ใหม่ๆส่วนใหญ่ได้มาจากฝั่งทะเลดำและเกาะครีต อันเป็นผลพลอยได้จากการแผ่ดินแดนของจักรวรรดิอ็อตโตมัน มีสถิติระบุว่าในทศวรรษที่1630 ที่อิสตันบูลมีร้านดอกไม้แล้ว 80แห่งและมีนักปลูกดอกไม้มืออาชีพสามร้อยคน ที่สุเหร่ารัสเต็มปาฌา (Rustem Pasha Mosque)ในอิสตันบูลมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพดอกทิวลิปประดับตั้งแต่ปี 1561  
 
ภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อนี้จากห้องเก็บผลไม้ภายในฮาเร็มพระราชวัง Topkapi  ให้สังเกตแถวบน ดอกไม้ในแจกันที่สอง(จากซ้าย) คือดอกทิวลิปพันธุ์พิเศษที่ชาวตุรกีพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาได้  ตรงปลายกลีบดอกแต่ละกลีบ เห็นเส้นๆเหมือนเข็มพุ่งกระจายออก  เป็นลักษณะพิเศษของกลีบดอกทิวลิปพันธุ์ตุรกี ที่นิยมกันมากในยุคนั้น  ภาพจิตรกรรมประดับผนังกำแพงห้องเสนอแบบสถาปัตยกรรมอาหรับที่นิยมทำเป็นซุ้มขนาดต่างๆลึกเข้าไปในกำแพง เพื่อเป็นที่จัดที่เก็บหรือที่วางโชว์แจกันดอกไม้หรือผลไม้ หากทำเป็นซุ้มไม่ได้จริงๆ ก็นิยมวาดประดับไว้ แทนการปล่อยให้กำแพงเปล่าเปลือย  (ในขนบตะวันตก ทอพรมผืนใหญ่ปิดตลอดกำแพง ซึ่งช่วยเก็บกักความร้อนของห้องด้วย แต่ในตุรกีอากาศไม่หนาวเท่าในยุโรป แม้ตุรกีเป็นประเทศส่งออกพรม ก็ไม่นิยมนำพรมตืดผนังกำแพง กลับใช้พรมปูพื้น ปูโต๊ะหรือเครื่องเรือนเป็นต้น)



ตัวอย่างดอกทิวลิปสายพันธุ์อิสตันบูล  ปัจจุบันยังไม่มีใครพัฒนาหรือฟื้นฟูพันธุ์เหล่านี้ได้  ภาพดอกทิวลิปรูปยาวยืดเหล่านี้ได้ถ่ายมาจากหนังสือรวมดอกทิวลิปสายพันธุ์อิสตันบูล ที่ข้าพเจ้าไปพบโดยบังเอิญแท้ๆ ที่ห้องสมุดสวนพฤกษศาสตร์เมือง Mito ประเทศญี่ปุ่น  เป็นหนึ่งในสองสามฉบับที่เหลือมาให้เห็นจากตุรกี  ถือว่าเป็นลาภตา  เพราะข้าพเจ้ามิอาจจินตนาว่าดอกทิวลิปจะมีรูปลักษณ์แบบนี้ ดูเหมือนว่าผู้แต่งหนังสือเล่มนั้น เป็นผู้ส่งไปให้สวนนั้นที่ญี่ปุ่นผ่านสถานทูตญี่ปุ่นที่อิสตันบูล  นับเป็นเอกสารหายาก ทั้งยังแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย
           มีบันทึกเล่าว่า ในสมัยสุไลมาน มีคนงานไม่ต่ำกว่า 5000 คนที่ทำงานในสวนทั้งสี่แห่งภายในพระราชวังท็อปกาปิ  ภายนอกพระราชฐาน ยังมีอีกราว 5000 คนที่ทำหน้าที่เป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ เป็นตำรวจดูแลความเรียบร้อยและเป็นผู้เก็บภาษีในปริมณฑลของเมืองหลวงด้วย  ในจำนวนคนงานภายในวัง  มีคนสวนไม่ต่ำกว่าพันคน(เรียกว่าบอสตันซิส-bostancis) ทำหน้าที่หลายอย่างที่อาจไม่เกี่ยวกับการทำสวนเลยก็มี  เช่นเป็นยาม คนแบกหาม กำจัดสิ่งปฏิกูลในวัง เย็บถุงกระสอบสำหรับใส่ร่างนักโทษสตรีที่ต้องโทษถึงตาย  แล้วนำไปทิ้งลงทะเลบอสฟอรัสเป็นต้น  งานเบาๆเช่น ตัดดอกไม้ไปประดับแจกันภายในพระราชฐาน  จนถึงยุคนั้นชาวเตอร์กไม่นิยมจัดแจกันดอกไม้  และพอใจที่จะปล่อยให้ดอกไม้บานงามติดต้นในสวนมากกว่า  การจัดแจกันดอกไม้เพิ่งเริ่มขึ้นในสมัยสุไลมาน จิตรกรรมยุคนั้นยืนยันเช่นนั้น เช่นภาพห้องของสุลต่านมีแจกันดอกไม้วางบนโต๊ะเตี้ยๆตามมุมนั้นมุมนี้ในห้อง  บางแจกันจัดด้วยดอกไม้ดอกเดี่ยว บางแจกันจัดเป็นพุ่ม เป็นช่อ เป็นต้น  เช่นนี้ทำให้ห้องดูสว่างไสวและงามตา  แน่นอนมีดอกทิวลิปเป็นจำนวนมากในหมู่ดอกไม้ในแจกันดังกล่าว
          เชื่อกันว่าในบรรยากาศแบบนี้เอง ที่ชาวยุโรปได้เห็นดอกทิวลิปเป็นครั้งแรก คือเห็นในแจกันดอกไม้ที่ตั้งประดับในพระราชฐานของสุลต่าน  เมื่อคณะทูตยุโรปจากราชสำนักเวียนนาของจักรพรรดิเฟอดินันด์ที่หนึ่ง(Ferdinand I,1503-1564) เดินทางไปอิสตันบูลเข้าเฝ้าสุไลมานในปี1554 เป็นการเผชิญหน้าครั้งแรกสุดระหว่างกษัตริย์ชาวคริสต์กับสุลต่านมุสลิม  ยุโรปต้องยอมรับอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิอ็อตโตมัน  ก่อนหน้านั้นกองทหารอ็อตโตมันได้นำกองทหารบุกรุกไปถึงหน้าประตูกรุงเวียนนาในปี 1529  ทำให้ยุโรปต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังอิสตันบูล  ยุโรปถูกบังคับให้เจรจา ยอมอะลุ้มอล่วยเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าขายกับพวกเตอร์ก เมื่อสุไลมานสิ้นพระชนม์ลงในปี 1566  มีนักเดินทางชาวยุโรปกลุ่มแรกๆหลายร้อยคนที่ได้ไปถึงประเทศตุรกี ชาวยุโรปได้เขียนบันทึกการเดินทาง จดทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ไปเห็นมา  ข้อสังเกตต่างๆเกี่ยวกับพวกเตอร์ก  ความอัศจรรย์ใจในประสบการณ์ต่างๆ  พวกเขามิได้คาดคิดว่า จะได้ไปเห็นวัฒนธรรมอาหรับที่งดงามประณีตได้ถึงเพียงนั้น  
           ความรักดอกไม้และความชำนาญในการเลี้ยงดูต้นไม้ดอกไม้ หรือการปลูกดอกไม้เพื่อชื่นชมความงามอันบริสุทธิ์ตามธรรมชาติของมัน  เป็นสิ่งแปลกใหม่ เป็นความพิศวงบวกความชื่นชมสำหรับชาวยุโรป เพราะพวกเขาเคยแต่มองและนึกถึงต้นไม้ดอกไม้ในฐานะของพืชที่กินได้หรือกินไม่ได้ หรือในฐานะของสมุนไพรสำหรับบดและผสมกันเป็นยารักษาโรคเท่านั้น  ประเด็นดอกไม้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไม่รู้จบ เช่นนี้ไม่ว่าทูตหรือนายทหารที่เข้าไปในดินแดนอ็อตโตมัน ต่างได้สังเกตเห็นแล้วว่า ดอกทิวลิปเป็นที่ชื่นชอบของชาวเตอร์กเหนือกว่าดอกไม้ชนิดอื่น  
           ดังกล่าวแล้วว่าชาวเตอร์กให้ความสนใจเลี้ยงดูดอกไม้เพียงไม่กี่พันธุ์เท่านั้น  อันมีดอกกุหลาบ ดอกนาซิสสัส ดอกคารเนชั่น ดอกฮยาซินธ์และดอกทิวลิป ดอกอื่นๆทั้งมวลถูกมองว่าเป็นดอกไม้ป่า ตุรกีในยุคของสุลต่านคนหลังๆจะเปลี่ยนไปมาก  ความรักหลงใหลดอกทิวลิปลดลงไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันไม่มีร่องรอยของพันธุ์ทิวลิปที่ชาวเตอร์กได้พัฒนาขึ้น แม้ในพระราชวังท็อปกาปิเองก็ไม่ปลูกดอกทิวลิปอีก(หรือน้อยมาก ข้าพเจ้าไปที่นั่นสามครั้งแต่ละครั้งห่างกันสองถึงสามปี  ก็ไม่เคยเห็นดอกทิวลิปใดในพระราชอุทยานท็อปกาปิ)
เมื่อชาวยุโรปตื่นตัวหลงใหลดอกทิวลิป
          เช่นนี้ในศตวรรษที่16  ชาวยุโรปย่อมหลงใหลดอกทิวลิปตามชาวเตอร์กไปด้วย  เหตุนี้กระมังที่มีผู้นำหัวทิวลิปเข้าไปยุโรปเพื่อลองปลูกกันบ้าง   แต่ดอกทิวลิปเดินทางถึงยุโรปอย่างไรกับใครนั้น  ขาดข้อมูลรายละเอียดที่เจาะจงแน่ชัดลงไป  ที่รู้แน่ๆคือในเดือนเมษายนปี 1559 มีต้นทิวลิปปลูกในสวนของเยอรมันคนหนึ่ง (Johann Heinrich Herwart ที่เมือง Augsburg ในแดน Bavaria ประเทศเยอรมนี) ทิวลิปแพร่ออกไปในยุโรปอย่างรวดเร็ว  ถึงเมือง Antwerpen [อั๊นตฺแวรฺเพิน] (ในดินแดนของประเทศเบลเยียมปัจจุบัน)ในปี1562 ถึงกรุงเวียนนาในออสเตรียปี1572 ถึงลอนดอนในประเทศอังกฤษในปี1582 ปรากฏปลูกกันที่เมืองแฟร็งเฟิร์ตในเยอรมนีปี 1593 และเข้าสู่ประเทศฝรั่งเศสในราวปี 1598 
           นักพฤกษศาสตร์ในทุกประเทศต่างพยายามหาวิธีขยายหรือเพิ่มพันธุ์ใหม่ๆ รวมทั้งพยายามจัดดอกทิวลิปเข้าเป็นประเภทๆ ทั้งนี้เพราะทิวลิปที่เกิดขึ้นใหม่ในตอนนั้นแต่ละครั้ง แตกต่างไปจากต้นแม่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสี ความสูง ลักษณะของใบและยังผลิบานในเวลาต่างๆกันอีกด้วย  การจัดประเภททิวลิปจะมีความสำคัญมากที่สุดในเวลาต่อมา  เพราะไม่ใช่ดอกทิวลิปทุกแบบที่มีราคาสูง  มีแบบที่คนใฝ่หาและแบบธรรมดาสามัญที่ไม่มีราคาทางการค้า  โชคดีอย่างยิ่งที่ในศตวรรษที่16 นั้น มีนักพฤกษศาสตร์คนสำคัญผู้กลายเป็นนักพฤกษศาสตร์ของศตวรรษเลยทีเดียว ชื่อ Carolus Clusius (กาโรลุส กลูซีอุส หรือ Charles de L’Escluse  เขาเกิดที่เมืองArras, 1526-1609) ผู้ได้สมญานามว่า บิดาของสวนสวยทุกแห่ง และต่อมาเป็น บิดาของทิวลิป   เขาศึกษากฎหมาย ต่อมาหันไปเรียนแพทย์ศาสตร์ที่เมือง Montpellier [มงเปลีเย] ในภาคใต้ของฝรั่งเศส เหนือสิ่งอื่นใดเขาเป็นผู้รักและสนใจต้นไม้ รวมทั้งศึกษา สะสมและปลูกต้นไม้พร้อมทั้งจดบันทึกทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เขามีโอกาสเห็นและคุ้นเคยกับต้นไม้ในเขตอากาศอบอุ่นกว่า เช่นในฝรั่งเศสภาคใต้ สเปน ปอรตุกัล  เขาเคยไปอยู่ในยุโรปภาคกลางที่ออสเตรียและฮังการี  เคยได้รู้ได้เห็นต้นไม้พันธุ์ใหม่ๆจากโลกใหม่ที่ลอนดอน คุณสมบัติที่น่าทึ่งน่าเคารพคือความเอื้อเฟื้ออย่างคงเส้นคงวาต่อเพื่อนนักปลูกต้นไม้ด้วยกันจากชาติต่างๆ  พวกเขาเขียนจดหมายติดต่อกันและส่งพันธุ์ดอกไม้ใหม่ๆหรือแปลกๆให้แก่กันเพื่อทดลองปลูก  โดยปริยายคือการขยายแพร่พันธุ์ออกไปทั่วทั้งยุโรปนั่นเอง ขณะที่เขาไปรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการปลูกสวนพฤกษศาสตร์ในราชสำนักของจักรพรรดิแมกซีมีเลียนที่สองณกรุงเวียนนา(ระหว่างปี1573-1587)นั้น  เขาได้รับหัวทิวลิปที่บุสเบ็ค(Ogier Ghiselin de Busbecq,1522-92) ทูตคนแรกนำกลับมาจากอิสตันบูล  กลูซีอุสจึงเป็นหนึ่งในบรรดาชาวตะวันตกคนแรกๆที่รู้จัก ผู้ปลูกและเลี้ยงดูทิวลิปทั้งจากหัวโดยตรงและจากเมล็ด เมื่อเขาย้ายมาอยู่ที่ไลเด็น(Leiden) ในปี1592 เขานำหัวและต้นทิวลิปทั้งหลายที่เขาปลูกเลี้ยงไว้ไปด้วย และได้เริ่มจัดทำสวนและตั้งสถาบันพฤกษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไลเด็นในเนเธอแลนด์ (Hostus acdemicus, September 1594) เขาเริ่มปลูกสวนและจัดระบบการปลูกต้นไม้  แน่นอนเขาปลูกทิวลิปจากตุรกีที่นั่นด้วยเช่นกัน  บันทึกของเขาเล่มหนึ่งระบุว่าในปี1608 สวนที่ไลเด็นมีทิวลิปประเภทต่างๆรวมกันประมาณ 600 หัว/ต้น รวมทั้งพืชพันธุ์อื่นๆกับไม้พันธุ์ใหม่จากแดนไกล  นอกจากจะเป็นผู้ริเริ่มจัดกลุ่มพืชตามรูปร่างลักษณะของพืชแต่ละพันธุ์  เขายังเขียนและแปลหนังสือเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ที่มีในยุคนั้นเป็นภาษาฝรั่งเศสบ้างละตินบ้าง   ผลงานเล่มสุดท้ายซึ่งพิมพ์ในปี1601 คือ Opera Omnia Rariorum Plantarum Historia  วิธีการจัดกลุ่มพืชของกลูซีอุสนั้น เป็นฐานข้อมูลให้  Carl Linnaeus (หรือ Carl vonLinné, 1707-1778, นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน) จัดระบบการแบ่งแยกพืชพันธุ์และในที่สุดกลายเป็นหลักพื้นฐานของการศึกษาวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ในสมัยใหม่ 
Carolus Clusius (1526-1609)    
Carl Linnaeus (1707-1978 )
สองนักพฤกษศาสตร์ผู้วางรากฐานการศึกษาพืชพรรณตามแนววิทยาศาสตร์
 
รายละเอียดเกี่ยวกับสายพันธุ์ดอกทิวลิป
          ทิวลิปจัดอยู่ในหมู่ Lilliaceae ในกลุ่มเดียวกับ ไอริส(iris) โครคุส(crocus) และฮาซินธ์(hacinth)  มีทั้งหมด 120 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน และยังมีต้นลักษณะแปลกเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนสายพันธุ์ใดเลยอีกนับไม่ถ้วน   ทิวลิปที่นิยมกันมากที่สุดในยุคศตวรรษที่ 17 นั้น ต้องเป็นดอกที่มีกลีบเรียบเสมอกันทุกกลีบ และมีสี(เป็นรอยริ้วๆ)ที่ต้องตา  ยุคนั้นทิวลิปที่มีสีพื้นสีเดียว  เช่นสีแดง เหลืองหรือขาวเรียกว่าเป็นกลุ่ม couleren (สีพื้น) มีสีหลากหลาย  นอกจากนี้มีกลุ่มทิวลิปที่ได้จากการผสมพันธุ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน แทบเป็นการบังเอิญ  กลุ่มนี้มีดอกทิวลิปสี่สี เรียกว่าเป็นกลุ่ม Marguetrinen (กลุ่มผสมพันธุ์)  ในยุคนั้นดอกทิวลิปปลูกกันในแคว้นแฟล็นเดอส์(Flanders ในยุโรปตอนบน) และในฝรั่งเศส  ราวกลางทศวรรษที่ 1630  มีการสร้างสรรค์กลุ่มดอกทิวลิปแล้วไม่ต่ำกว่า 13 กลุ่มสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน  กลุ่มสีที่นิยมกันมากที่สุดในเนเธอแลนด์ยุคนั้น มีสามกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่ม Rosen  กลุ่ม Violetten  และกลุ่ม Bizarden
        กลุ่ม Rosen เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด  รวมดอกสีแดงหรือสีชมพูบนพื้นสีขาว  ในต้นศต.ที่17 มีผู้สร้างสรรค์ทิวลิปที่เข้าสีในกลุ่มนี้มากถึง 400 สายพันธุ์  และตั้งชื่อทั้งหมดไว้อย่างเป็นทางการ  แต่ละสายพันธุ์มี “ริ้วและลาย” แตกต่างกัน  บ้างมีสีประทับแบบเปลวไฟกว้างและสีสดมากจนข่มสีพื้นขาวเสียเกือบหมด   บ้างมีแนวบางเล็กๆสีทับทิม  ผู้เชี่ยวชาญทิวลิปรู้ว่าแบบไหนจะเป็นที่นิยมมากกว่า  พวกเขานิยมดอกที่มีแนวสีเข้มประทับเป็นริ้วบางยาวๆ มากกว่าดอกทิวลิปที่มีสีแดงป้ายเกือบเต็มดอก ความนิยมแบบนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึงทิวลิปกลุ่มสีอื่นๆด้วยเช่นกัน   กลุ่ม Violetten เป็นดอกสีม่วงหรือสีม่วงปนคราม(lilac) บนพื้นดอกสีขาว   กลุ่ม Bizarden เป็นกลุ่มที่คนจะชอบน้อยกว่าเพื่อน และก็มีเพียง 24 สายพันธุ์เท่านั้น เป็นดอกที่มีสีประทับแดง ม่วง น้ำตาล บนพื้นสีเหลือง ยังมีกลุ่มสีอื่นๆที่สลับสีตรงข้ามกับสามกลุ่มดังกล่าว เช่น ดอกพื้นสีม่วงและมีขอบขาวใหญ่เป็นต้น
        
จุดสำคัญอยู่ที่ลวดลายอันเกิดจากการที่สีสอง(สาม)สีตัดกันเป็นรูปลักษณ์ต่างๆบนกลีบดอกนั้น  ที่เห็นได้ชัดเช่นในกลุ่ม Rosen และกลุ่ม Violetten  สีแดงหรือสีม่วงเหมือนขนนกหรือเปลวไฟ ที่วิ่งขึ้นจากใจกลางของแต่ละกลีบ  บางทียังขดเป็นขอบตรงปลาย   ฐานดอกทิวลิปสะอาดบริสุทธิ์เป็นสีเดี่ยวล้วนๆ(ขาวหรือเหลืองแล้วแต่พันธุ์)ไม่มีสีอื่นใดปน  ลวดลายการกระจายสีแบบนี้ทำให้ราคาดอกทิวลิปสูง  ลวดลายสีแต่ละดอกไม่เหมือนกันเลย  เป็นแบบเฉพาะของดอกนั้น แม้จะมาจากพันธุ์เดียวกัน  ดอกทิวลิปอาจคล้ายกันแต่ไม่เคยเหมือนกันทุกประการ  นี่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของดอกทิวลิป   สีดอกทิวลิปมักเข้มข้นกว่าสีดอกไม้อื่นๆ   สีแดงก็แดงจ้า  สีม่วงก็ไม่ใช่ม่วงธรรมดาๆแต่ม่วงอมดำ ประเภทดูแล้วหวั่นไหวเหมือนต้องมนต์สะกด(สำหรับชาวยุโรป)เป็นต้น
        
จัดอันดับดอกทูลลิป ดูจากเปลวสีว่าเป็นแบบเล็กเรียวยาวหรือหนาตรงโคนและเล็กลงๆ  และพิจารณาจากระดับสีที่เข้มมากหรือน้อย  ทิวลิปที่ราคาสูงสุดเรียกว่าแบบ สุดแสนเรียวบาง-superbly fine สีดอกขาวหรือเหลืองเกือบทั้งดอก  แล้วมีเปลวสีม่วง แดงหรือน้ำตาลเป็นริ้วเล็กๆวิ่งจากตรงกลางโคนกลีบดอกขึ้นสู่ถึงขอบ   ดอกที่มีริ้วสีสดเกินไปหรือริ้วแถบใหญ่เกินไป เรียกว่าแบบ หยาบ-rude  มีค่าต่ำลงมาก  ทิวลิปที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในหมู่ สุดแสนเรียวบาง นี้ ดอกสุดยอดคือดอกที่ตั้งชื่อไว้ว่า Semper Augustus (ใช้ชื่อจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของโรมัน  ในความหมายว่า Forever Augustus)   พันธุ์นี้มีก้านยาวเรียวบาง ชูดอกเด่น สีสดใสชัดและเตะตายิ่ง  เริ่มด้วยสีน้ำเงินเข้มตรงฐานดอกที่ต่อกับก้านและต้น  กลีบสีขาวบริสุทธิ์ทันที  ทั้งหกกลีบมีริ้วเล็กๆสีแดงเลือดพุ่งขึ้นจากโคนกลีบตรงกลางแล้วขยายออกเป็นพู่น้อยๆเมื่อไปถึงขอบกลีบ  สีแดงของริ้วเข้มเสมอกันโดยตลอด  ผู้ที่เคยเห็นต่างยืนยันว่าน่าพิศวงยิ่งนัก  แต่น้อยคนเช่นกันที่เคยเห็น
สองดอกทางซ้าย แถบสีสลับจากโคนดอก หนาและใหญ่  คือดอกทิวลิปที่ชาวเตอร์กถือว่าเป็นความงามแบบหยาบ  สองดอกทางขวา ถือว่างามประณีตกว่า
 
ค่าของความหลง
         
ความงามที่เลื่องลือกันออกไป ทำให้คนใจจดจ่อใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของ  พ่อค้าก็หวังซื้อมาเพื่อขายต่อเอากำไร  เมื่อมีผู้รู้ว่าคนสวนคนหนึ่งในกรุงอัมสเตอดัมมีพันธุ์นี้ในครอบครองถึงหนึ่งโหล  ผู้คนแห่ไปขอซื้อ  แต่เพราะเจ้าของไม่ยอมขาย  การเสนอราคาเพื่อซื้อแต่ละดอกจึงพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกินสภาวะการซื้อขายที่ทำกันในยุคนั้นและเป็นเรื่องโจษจันกันไปทั่ว  ในที่สุดเจ้าของขายไปหนึ่งดอกในราคา1000กิลเดอส์(Guilders เป็นหน่วยเงินตราที่ใช้ในเนเธอแลนด์จนถึงปี2001เมื่อเปลี่ยนไปใช้เป็น"ยูโร")  คนซื้อปลาบปลื้มยิ่งนักเมื่อยกต้นขึ้นจากดินและเห็นว่าหัวทิวลิปนั้นกำลังแตกหน่อออกอีกหนึ่งหน่อ  การซื้อขายครั้งนั้นทำให้ผู้คนเริ่มหันมาเพาะปลูก สร้างสรรค์พันธุ์เพื่อให้ได้ดอกทิวลิปที่คล้าย Semper Augustus ที่สุด  (การเพาะปลูกทิวลิปเป็นอาชีพจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคนั้น จนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นอาชีพทำเงินในที่สุดและกลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลกด้วย)   คนจำนวนมากละทิ้งอาชีพเดิมหันมาเอาดีในการเพาะปลูกดอกทิวลิป สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง  ผู้ใจกล้าพร้อมที่จะเสี่ยงในการลงทุนซื้อขายหัวทิวลิปเหมือนการลงทุนซื้อล็อตเตอรี (ซึ่งก็มีแล้วในยุคศต. ที่17)   การลุ้นซื้อเริ่มตั้งแต่ยังไม่เห็นดอกด้วยซ้ำ  ผู้รู้จักล่อ (เช่นหมอยายุคนั้น)  สาธยายคุณค่าของหัวทิวลิป  แจกแจงสรรพคุณว่าหัวทิวลิปอาจนำไปกินเป็นยาเสริมพลังเพศด้วย  ผู้จับจิตวิทยาของคนซื้อได้ ทำเงินเป็นกอบเป็นกำได้ในทันที
           
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ความคลั่งทิวลิปปะทุขึ้น คือในปี1633 ที่เมือง Hoorn ทางตะวันตกของแคว้น Friesland (ทางเหนือของเนเธอแลนด์ มีผู้ขายบ้านเพื่อแลกกับดอกทิวลิปหายาก 3 ดอกกรณีแบบเดียวกันเกิดตามๆกันมา  อสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนมือเพราะทิวลิป  จุดสุดยอดของความคลั่งนี้อยู่ในระหว่างเดือนธันวาคมปี1636 และเดือนมกราคม ปี1637   เป็นระยะเวลาที่ทุกคนในธุรกิจทิวลิปทำเงินได้กันไม่มากก็น้อย   ราคาดอกทิวลิป Semper Augustus ตอนนั้นขึ้นจาก 5600 กิลเดอส์ต่อหัวในปี 1633 เป็น 10,000 guilders ต่อหัวในปี 1637  ดอกที่ราคารองลงมา มีชื่อว่า Viceroy ราคา 3000 กิลเดอส์
ทิวลิปดอก Semper Augustus (ซ้าย) ราคา 10,000 Guilders
และดอก Viceroy (ขวา) ราคา 3000 Guilders 
นักประวัติศาสตร์ระบุเปรียบเทียบค่าของเงินจำนวนนี้โดยโยงไปถึงราคาซื้อขายสิ่งอุปโภคบริโภคยุคนั้นว่า  ในเดือนธันวาคมปี 1636  ราคาหัวทิวลิป 3000 กิลเดอส์นั้น  เงินจำนวนนี้ซื้อ
-                   หมูอ้วนๆได้8ตัว (240 กิลเดอส์)
-                   วัวอ้วนๆ 4 ตัว (480 กิลเดอส์)
-                   แกะอ้วนๆ 12ตัว (120 กิลเดอส์)
-                   แป้งข้าวสาลี 24 ตัน (448 กิลเดอส์)
-                    ข้าวไรย์ 48 ตัน (558 กิลเดอส์)
-                    ไวน์ 2 ถังใหญ่ที่จุประมาณ 238 ลิตรต่อถัง (70 กิลเดอส์)
-                    เบียร์ราคา 8 กิลเดอส์ 4 บารเร็ล (32 กิลเดอส์)
-                    เนย 2 ตัน (192 กิลเดอส์)
-                    เนยแข็งหนักพันปอนด์ (120 กิลเดอส์)
-                    ถ้วยเงินเนื้อดีหนึ่งถ้วย (60 กิลเดอส์)
-                    เสื้อผ้าหนึ่งหีบห่อใหญ่ (100 กิลเดอส์)
-                    เตียงพร้อมฟูกและเครื่องนอน (100 กิลเดอส์)
-                   เรือหนึ่งลำ (500 กิลเดอส์)  
สินค้าทั้งหมดนี้รวมกันแล้วเท่ากับ 3000 กิลเดอส์  Rembrandt ได้ค่าตอบแทนจากภาพจิตรกรรมที่ชื่อว่า The Night Watch ในปี 1642 เป็นจำนวนเงิน 1600 กิลเดอส์ และนั่นเป็นผลงานชิ้นยอดเยี่ยมที่สุดของเขา
The Night Watch, Rembrandt, 1642. 
การเปรียบเทียบดังกล่าวจึงยิ่งทำให้เรางงงันในความคลั่งแบบนั้น   โอกาสทำเงินได้มากมายแบบนี้ในเวลาไม่กี่วัน ทำให้ผู้คนจากแดนใกล้ไกล หลั่งไหลเข้าสู่เนเธอแลนด์  เพื่อไปทำอาชีพเพาะปลูกและขายดอกไม้   ความจริงฝ่ายตุลาการของประเทศในยุคนั้นเห็นความโกลาหลที่จะเกิดขึ้นในสังคมที่อิงอยู่กับธุรกิจหัวทิวลิป ที่ผิดศีลธรรมคาทอลิกในยุคนั้น ได้ตรากฎหมายควบคุมการซื้อขายทิวลิปแต่ไม่เกิดผลใดๆเลย  
       ความคลั่งซื้อขายทิวลิปยุติลงเพราะคนขายดอกไม้เองในที่สุด  เพราะการใฝ่หาพันธุ์ทิวลิปที่จะให้ดอกแบบใหม่ๆ และการแข่งกันเสนอดอกทิวลิปพันธุ์นั้นพันธุ์นี้ในแต่ละเมือง(เช่นเกิดดอกทิวลิปสีฟ้าสดทั้งดอกสร้างแฟชั่นนิยมดอกแบบใหม่ที่พุ่งขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวเพื่อกลบความนิยมแบบเดิมเสีย   สภาพการณ์ดังกล่าวกระตุ้นปัญญาวิเคราะห์และปลุกความกังวลในส่วนลึกของจิตใจ  เมื่อราคาทิวลิปพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประจวบกับเกิดเสียงลือระลอกใหม่ว่า มีผู้ปลูกดอกทิวลิปสีดำได้สำเร็จ สร้างความคลั่งระลอกใหม่ ผู้คนเริ่มละเหี่ยใจกับความหลงลมๆแล้งๆเกี่ยวกับดอกไม้นี้  
       ในศต.ที่ 19 นักเขียนฝรั่งเศส Alexandre Dumas (1802-1870) ใช้ดอกทิวลิปดำไปเขียนนวยายอิงตำนาน The Black Tulip  ให้อ่านกันอย่างสนุกสนาน  และในศต.ที่ 20 มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องดอกทิวลิปดำทั้งในประเทศเนเธอแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ทั้งหมดใช้ชื่อเหมือนกันว่า The Black Tulip

 
เช่นนี้การซื้อขายดอกทิวลิปที่โดยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ย่อยสลายในเวลาอันสั้น  เป็นสิ่งที่จัดเกณฑ์มาตรฐานได้ยาก  จึงเหมือนสิ่งที่จับต้องครอบครองไม่ได้อย่างแท้จริง  บวกกับความจริงที่ว่าไม่มีคนปลูกคนใดสามารถรู้ล่วงหน้าอย่างแน่นอนว่าดอกที่จะผลิออกจากหัวที่ซื้อขายกันนั้น จะเป็นดอกที่มีลักษณะพิเศษแปลกมากน้อยเพียงใดหรือไม่   ธุรกิจสินค้าแบบนี้อยู่ในความคาดหวังลมๆแล้งๆ  มิได้บนพื้นฐานของเหตุผลหรือของความจริงที่พิสูจน์ได้  ในมุมมองของเศรษฐกิจ การคลั่งซื้อขายทิวลิปได้ไปกระทบผู้คนจากทุกชนชั้นทุกระดับรายได้และกระทบธุรกิจการค้าอื่นๆในสังคมเป็นลูกโซ่พันเกี่ยวไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นปัญหาบีบคั้นปวงประชาทั้งประเทศ
        ในที่สุดเดือนกุมภาพันธุ์ปี 1637 การซื้อขายทิวลิปตกพรวดลง การซื้อการประมูลเหมือนถึงจุดอิ่มตัว หยุดชะงักอยู่กับที่  ผู้ที่อยู่ในธุรกิจทิวลิปล้มระนาว   เกิดการฟ้องร้อง  มีการประกาศล้มละลายตามๆกัน  รัฐบาลพยายามพยุงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไว้ ด้วยการออกกฎหมายฉบับพิเศษแต่ก็ไม่อาจกู้สภาพเศรษฐกิจและสังคมไว้ได้  

 ไวรัสที่สร้างความมหัศจรรย์บนดอกทิวลิป
         ความจริงด้านพฤกษศาสตร์ระบุว่า ทิวลิปเป็นพันธุ์ไม้ดอกที่แข็งแรง ทนอากาศหนาวและมีสีเดียว แต่ทำไมดอกทิวลิปที่ชาวดัตช์สร้างสรรค์ขึ้น จึงมีสีสันลวดลายที่ซับซ้อนได้ถึงเพียงนั้นล่ะ? คำตอบเพิ่งรู้กันเมื่อกลางศต.ที่ 20นี่เอง  
         คณะค้นคว้าแห่งสถาบัน  John Innes Horticultural Institue ในกรุงลอนดอนพบและเข้าใจพฤติกรรมของเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นกับหัวทิวลิป   เดี๋ยวนี้ความรู้ดังกล่าวแพร่ออกสู่ปวงชนแล้วว่า สีสันเข้มข้นและลวดลายแปลกหลากหลายแบบที่ปรากฏบนกลีบดอกทิวลิป เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง  เป็นไวรัสที่เกิดขึ้นเฉพาะกับดอกทิวลิปเท่านั้นด้วย  ชื่อไวรัสโมเสค-mosaic virus ไวรัสชนิดนี้ได้อาศัยเห็บตัวเล็กๆชนิดหนึ่งเป็นพาหะ
         หัวทิวลิปที่ให้ดอกสีเดียว (เป็น "ตัวเพาะ-breeders") ไม่มีริ้วสีอื่นใด  ในปีหนึ่งอาจให้ดอกที่มีริ้วสีๆได้   ในปีต่อไปถ้านำไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การแตกกลุ่ม-breaking  คือปล่อยให้เห็บเล็กชนิดนั้นเข้าเกาะกินหัวทิวลิปที่ให้ดอกหลายสี  แล้วให้เห็บไปเกาะกินหัวทิวลิปที่ให้ดอกสีเดียว โอกาสที่หัวทิวลิปหัวหลังจะให้ดอกหลายสีเพิ่มเป็นสองเท่า  คณะค้นคว้าพิสูจน์ให้เห็นว่า เชื้อโรคเกิดขึ้นเพราะไวรัสที่เห็บเป็นตัวนำถ่ายทอดจากหัวทิวลิปหนึ่งไปยังอีกหัวหนึ่ง  การค้นคว้าขั้นต่อไปแสดงให้เห็นว่า ไวรัสอาจมีผลต่อดอกทิวลิปที่กำลังบานในสวน หรือต่อหัวทิวลิปที่เก็บรักษาไว้ก่อนลงดินก็ได้  (Mike Dash, pp.  64-72)
          ปัจจุบันเนเธอแลนด์สามารถผลิตหัวทิวลิปชนิดต่างๆ และส่งออกหัวทิวลิปที่เหมาะกับสภาพพื้นดินและอากาศของเขตต่างๆในโลก  ประเด็นสำคัญประเด็นเดียวที่คงที่เหมือนกันในทุกสภาพดินที่จะปลูกทิวลิปคือ ทิวลิปและพันธุ์หัวพิเศษอีกหลายพันธุ์ ไม่อาจทนสภาพดินที่มีระดับ pH ต่ำ(ระดับกรดด่างต่ำกว่า 7 ) หรือ peat soil (ดินพรุ) หรือดินเย็นดินชื้นเกินไปในฤดูร้อน
         
ในยุคนั้นยังไม่มีใครรู้ความจริงเกี่ยวกับไวรัสที่เกิดเฉพาะกับดอกทิวลิป   ชาวดัตช์พยายามสร้างพันธุ์ทิวลิปด้วยการนำหัวทิวลิปที่ให้ดอกสีเดียวกับหัวทิวลิปที่ให้ดอกหลายสี  มาหั่นแบ่งครึ่ง แล้วนำหัวแต่ละครึ่งมามัดเข้าด้วยกันให้เป็นหัวเดียวหัวหนึ่ง  แล้วจึงนำไปปลูกลงดินด้วยความหวังว่ามันจะให้ได้ต้นทิวลิปใหม่ที่ให้ดอกหลายสี  แต่การทำแบบนี้ก็ไม่ให้ดอกหลายสีแน่นอนเสมอไป  บางต้นที่ขึ้นมาใหม่ให้ดอกสีสันใหม่ๆ  แต่บางต้นก็ไม่ให้ดอกหลายสีแม้แต่ดอกเดียวแม้จะปลูกด้วยกันในสภาพแวดล้อมเหมือนกันทุกประการ   เพราะฉะนั้นจึงไม่มีคนปลูกคนใดที่เชื่อมั่นเต็มที่ว่า  หัวทิวลิปที่ให้ดอกสีเดียวจะให้ดอกหลายสีได้  สิ่งที่รู้แน่ๆสิ่งเดียวคือ ถ้าปลูกทิวลิปจากเมล็ด  จะได้ต้นทิวลิปที่ให้ดอกสีเดียวเสมอ  และถ้าต้นทิวลิปใดที่ให้ดอกหลายสีจะไม่มีวันให้ดอกสีเดียวอีกเลย   ความไม่แน่นอนจากผลการเพาะปลูกดังกล่าว จึงยิ่งทำให้ การลงทุนซื้อขายทิวลิปเป็นเรื่องลอยลม  มีแต่ความหวังว่าปีนั้นเวลานั้นหัวทิวลิปที่ลงทุนซื้อมา(ขนาดน้ำหนักเท่านั้น จากต้นแม่แบบนั้นควรจะให้ดอกสีนั้น แบบนั้น  นี่เป็นข้อมูลที่จารึกลงในตั๋วเงินซื้อขาย   โรคคลั่งทิวลิปโดยปริยายจึงคงต่อไปไม่ได้นาน  เรื่องทิวลิปเมเนียเป็นตัวอย่างวิเศษสุดของ เศรษฐกิจฟองสบู่  ที่อุบัติขึ้นครั้งแรกในโลก  เหตุการณ์นี้สำคัญในฐานะที่เป็นสิ่งกระตุ้นความคิดและความสนใจ ที่เบนไปสู่การสถาปนาตลาดหุ้นและการพัฒนากระบวนการซื้อขายหุ้นในยุคปัจจุบัน

ดอกทิวลิปในจิตรกรรม เป็นทั้งสื่อและสารสังคมยุโรป
       ในยุคเดียวกันนั้น จิตรกรชาวดัตช์สำคัญๆหลายคนได้บันทึกภาพดอกทิวลิปไว้เป็นจิตรกรรมชีวิตนิ่ง (Still-Life) เช่น  Jan Brueghel de Velours (1568-1625) ดังตัวอย่างรายละเอียดจากภาพจิตรกรรมชีวิตนิ่งของดอกไม้ของเขา   จิตรกรรมชีวิตนิ่งของดอกไม้ในยุคศต.ที่17 ของเนเธอแลนด์  เป็นเอกสารบันทึกการพัฒนาพันธุ์ดอกทิวลิปที่โยงไปถึงความคลั่งทิวลิป (ทิวลิปเมเนีย - Tulipomania) ดังเล่ามาข้างต้น 
ภาพ Flora’s Mallewagen ผลงานของ  Hendrik Gerritsz Pot (ca. 1637)  จากพิพิธภัณฑ์  Frans Hals Museum เมือง Haarlem ประเทศเนเธอแลนด์  ภาพเชิงเปรียบเรื่องคลั่งทิวลิป  เทพธิดาแห่งดอกไม้ (Flora) มือซ้ายชูช่อทิวลิป มือขวาโอบช่อดอกทิวลิปที่ใส่ในเขาวัวขนาดใหญ่  (เขาวัวแบบนี้เป็นแบบที่ใช้ใส่ดอกไม้ ผลไม้ แสดงความอุดมสมบูรณ์ มาจากสำนวนละตินว่า cornu copiae ที่เป็นของใช้ในลักษณะของเปลือกหอย (สมบัติคู่ตัวของPloutos เทพกรีกแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในตำนานเทพปกรณัมกรีก)  นั่งบนรถลากที่มีเสากระโดงพร้อมใบเรือที่มีดอกทิวลิปประดับมุ่งไปข้างหน้าที่เป็นทะเล รถลากไม่ใช่เรือ เมื่อโลดแล่นออกไปในทะเล ย่อมจมหายไปในที่สุด ดังที่เห็นภาพไกลออกไปในพื้นหลังทางขวาของภาพ  บนรถมีชายสามคน คนหนึ่งกำลังดื่มฉลอง อีกคนทำท่าเชิญชวนชี้ให้ผู้คนที่เดินตามดูความร่ำรวย(ถุงเงิน)ในมือผู้ร่วมทางที่กำลังชั่งถุงเงินบนคันชั่ง   มีหญิงอีกสองคนบนเรือ  คนหนึ่งในชุดดำปิดเรียบร้อย หน้าก้มต่ำเหมือนครุ่นคิดหรือวิตกลังเล   อีกคนหนึ่งมือซ้ายชี้ไปข้างหน้า บอกทิศทางที่รถจะไป  อีกมือหนึ่งเหมือนถือวงเวียนหยุดอยู่บนแผ่นกระดาษ (อาจเป็นแผนที่เส้นทางเดินเรือ)  ให้สังเกตว่าเธอมีใบหน้าสองหน้า หน้าหนึ่งมองไปข้างหลัง อีกหน้าหนึ่งมองไปข้างหน้า ที่อาจจะสื่อการเดินจากชีวิตที่เคยมีมา มุ่งสู่ชีวิตใหม่ด้วยความหวังความร่ำรวยใหม่ๆ (เธอเป็นภาพลักษณ์ของ Fortuna หรือโชคลาภ) ส่วนผู้ที่เดินตามรถต้องการเน้นให้เข้าใจสถานการณ์ว่าปวงชนจากอาชีพต่างๆผละจากอาชีพเดิม เพื่อติดตามเทพธิดาดอกทิวลิป  ตามรถลากที่จะโลดแล่นไปจมลงในทะเล  เหมือนความคลั่งที่เมื่ออุบัติขึ้นเพราะมีดอกทิวลิปเป็นเหตุปัจจัย ย่อมผลักดันไปสู่ความหายนะ
          อีกภาพหนึ่งข้างล่างนี้เป็นผลงานของ Jan Breughel the Younger (1568-1625) ราวปี 1640 เป็นการเสียดสีสภาพการณ์ความคลั่งทิวลิปโดยตรง แต่ใช้ลิงแทนคน เพื่อเน้นความไร้ความคิด (คนยุคนั้นยังไม่รู้ว่าลิงฉลาดและมีความคิด!)

 
ลิงบางตัวสวมเสื้อผ้าแบบฉบับที่ชนชั้นสูงยุคนั้นสวมใส่   ลิงมีกิริยาท่าทางต่างๆ  เช่นตัวในมุมซ้ายด้านล่าง กำลังอ่านแผ่นกระดาษอยู่หน้ากอทิวลิป อาจเป็นรายชื่อสายพันธุ์พิเศษราคาสูง  ลิงตัวนี้มีดาบสะพายด้วย  ทำให้เข้าใจว่าจิตรกรต้องการให้ลิงตัวนี้แทนชนชั้นสูง  อีกตัวหนึ่งชี้ไปที่กอดอกทิวลิป  อีกตัวหนึ่งชูดอกทิวลิปในมือหนึ่งและถือถุงเงินในอีกมือหนึ่ง  ลิงสองตัวเหมือนกำลังเล่นไพ่อยู่บนโต๊ะที่คลุมผ้าสีแดง อาจต้องการบอกว่าความคลั่งทิวลิปเป็นการพนันแบบหนึ่ง  ที่ระเบียงชั้นบน ลิงกลุ่มหนึ่งดูเหมือนกำลังฉลองความสำเร็จซึ่งคือความร่ำรวยชั่วครู่ชั่วยาม  ลิงตรงหน้าส่วนกลางของภาพ  สีสว่างกว่าตัวใด มีนกเกาะที่ไหล่ ถือแผ่นกระดาษในมือ อาจเป็นใบบอกราคาขายดอกทิวลิปเป็นต้น  จิตรกรเยาะเย้ยความหลงของคนว่าขาดสติยั้งคิดเหมือนฝูงลิงเหล่านี้  เขากำลังเตือนสติหรือสอนบทเรียนจากความคลั่งทิวลิปแบบนี้  และจบการเล่าเหตุการณ์ด้วยการให้ลิงตัวที่อยู่ในมุมขวาล่างกำลังฉี่รดกองดอกทิวลิปที่หมดค่าลงในที่สุด ภาพนี้จากพิพิธภัณฑ์ Frans Hals Museum เมือง Haarlem ประเทศเนเธอแลนด์ (ชื่อภาพในภาษาอังกฤษว่า A Satire of Tulip Mania)
       นอกจากภาพจิตรกรรมที่เสียดสีวิจารณ์ความคลั่งทิวลิปโดยตรงดังที่นำมาให้ชมข้างต้น  จิตรกรรมชีวิตนิ่งในยุคนั้น ก็บอกเล่าเหตุการณ์และเตือนสติด้วยองค์ประกอบภาพอีกแบบหนึ่ง  นั่นคือการเสนอภาพช่อดอกไม้ที่มีดอกทิวลิปเป็นองค์ประกอบภาพ
 
           ตั้งแต่ปลายยุคกลางเป็นต้นมา ภาพดอกไม้เป็นเนื้อหาที่บุกเบิกนำไปสู่ภาพชีวิตนิ่ง (Still Life) เนื้อหาอื่นๆ  ภาพดอกไม้พัฒนามาจากจิตรกรรมศาสนาที่มีชีวิตพระแม่มารีเป็นเนื้อหาสำคัญ โดยเฉพาะในฉากพระแม่รับสาร (Annunciation - เมื่ออัครเทวทูต Gabriel มาปรากฏต่อหน้าพระแม่และบอกว่าแม่นางได้รับเลือกให้เป็นผู้อุ้มครรภ์พระบุตร) มีแจกันดอกไม้ (ดอกลิลลีสีขาว) ปรากฏเด่นชัดในภาพเสมอ  ในระบบสัญลักษณ์คริสต์ศาสนาดอกไม้สามชนิดที่สำคัญมากที่สุดคือ ดอกลิลลีสีขาว (lily) ดอกไอริส(iris) และดอกอ็องกอลี (ancolies หรือ columbine)   ดอกลิลลีสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ไร้มลทิน ดอกไอริสโยงถึงระดับชั้นหรือศักดิศรีที่พระแม่มารีจะได้รับในสวรรค์ คือจะเป็นพระราชินีแห่งสรวงสวรรค์  ดอกอ็องกอลีหมายถึงพระจิตที่ลงมาประทับบนตัวพระแม่มารีตอนนั้น   ในศต.ที่ 16-17 นัยศาสนายังคงปรากฏแทรกอยู่ในจิตรกรรมชีวิตนิ่งของดอกไม้ โดยอาจไม่มีภาพลักษณ์เกี่ยวกับศาสนาโดยตรงก็ได้ (เช่นไม่มีภาพพระแม่มารี พระบุตร)  ภาพดอกไม้มักเป็นภาพดอกไม้ช่อใหญ่ในแจกันหรือในภาพชนะทรงเตี้ยและป้าน  แจกันตั้งอยู่ในซุ้มลึกบนกำแพงหรือในซุ้มหน้าต่างที่เปิดออกเห็นทัศนียภาพไกลออกไป  การเสนอภาพดอกไม้ในซุ้ม ทำให้นึกถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ประดับบนกำแพงภายในพระราชวังท็อปกาปิ (ดูรูปหน้า 12)  และทำให้คิดว่า ศิลปินยุโรปได้วิธีการนำเสนอภาพแจกันดอกไม้ในซุ้มมาจากชาวเตอร์ก

 
           ภาพดอกไม้นั้นจิตรกรให้รายละเอียดยิบสมจริงเลียนแบบธรรมชาติทุกประการ  มีทัศนมิติสมจริงด้วย  นอกจากดอกไม้ชนิดต่างๆยังมีองค์ประกอบภาพที่ขาดมิได้คือ เปลือกหอยแบบใดแบบหนึ่งหรือหลายรูปลักษณ์  แมลงชนิดใดชนิดหนึ่งเช่นผีเสื้อ หนอน แมลงวัน แมงปอเป็นต้น  ความนิยมรายละเอียดเป็นเอกลักษณ์เด่นของยุคสมัยนั้น ที่เป็นพยานแห่งสติปัญญา ความช่างสังเกต ความอยากรู้อยากหยั่งลึกถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งรอบข้าง ที่จะเป็นพื้นฐานของการศึกษาวิทยาการต่างๆในศตวรรษต่อๆมา นัยศาสนาที่ต้องอ่านให้รู้จากภาพจิตรกรรมชีวิตนิ่งของดอกไม้ คือ ความไม่ยั่งยืนของดอกไม้ แมลงก็สื่อนัยในทำนองเดียวกัน เช่นผีเสื้อที่เตือนให้นึกถึงวงจรชีวิตของมันจากไข่ หนอน เป็นผีเสื้อ การเปลี่ยนและการแปลงรูปในแต่ละขั้นของมัน สะท้อนวิวัฒนาการของคนและปลูกฝังมรณานุสติ   
        ดอกไม้เป็นภาพลักษณ์ของความงาม ความหวัง การเกิดใหม่(ฤดูใบไม้ผลิ)  ในขณะเดียวกันก็เป็นภาพของความเน่าเปื่อยที่กำลังจะมาถึง  ดอกทิวลิปที่รวมอยู่ในภาพจิตรกรรมชีวิตนิ่งของดอกไม้ก็เช่นกันและแน่นอนชาวยุโรปโดยเฉพาะย่อมนึกถึงเหตุการณ์สังคมยุคคลั่งทิวลิปดังที่เล่ามา  (น่าสนใจที่ในยุคนี้เช่นกันที่การพนันได้เข้าเป็นเนื้อหาหนึ่งในจิตรกรรมยุโรป) เนรมิตรศิลป์อื่นๆก็มีภาพดอกทิวลิปเข้าไปแทรกด้วยเช่นกัน  

จานและแจกันกระเบื้องเคลือบภาพดอกไม้ที่มีดอกทิวลิปด้วย เข้าใจว่าจากเมือง Iznik ประเทศตุรกี
ผลิตขึ้นในราวปี 1575-80  ภาพจาก Victoria &Albert Museum, London.
 
หรือดังตัวอย่างแจกันดอกไม้ฝีมือประณีต สีสันงดงามที่มีดอกทิวลิปประดับบนยอดเหนือดอกทุกชนิด หรือที่ประดับจาน ดังภาพที่ถ่ายมาจากพิพิธภัณฑ์พระราชวังนิมเฟ็นบูร์ก(Nymphenburg)ชานเมืองมิวนิคในเยอรมนีเป็นต้น
ตัวอย่างในภาพนี้ ใช้ไม้จำหลักเป็นต้นและดอกทิวลิป เพื่อประดับผนังกำแพง
จากVictoris&Albert Museum, London.
            ดอกทิวลิปที่ขายกันในท้องตลาดทั่วโลกทุกวันนี้ รวมทั้งที่ประเทศเนเธอแลนด์แหล่งผลิตทิวลิปแหล่งสำคัญที่สุด  มีแต่ดอกที่กลีบสีพื้นสีเดียวแต่มีเกือบทุกสีทุกระดับอ่อนแก่  สีดำหรือสีคล้ำๆอาจจะน้อยหน่อย  ใจกลางดอกเมื่อมองตรงลงไปจะมีสีเข้มกว่าสีกลีบและอาจเป็นสีอื่นที่ตัดกันได้    กลีบดอกที่มีริ้วสีอื่นๆดังที่เคยคลั่งกันในศตวรรษที่17 นั้นๆแม้จะยังมีผู้พยายามสร้างพันธุ์ขึ้นมา  เช่นในญี่ปุ่น แต่ก็ไม่แพร่หลายหรือไม่สวยแปลกตาน่าพิศวงเท่าในยุคศตวรรษที่ 17  ถึงกระนั้นญี่ปุ่นก็ภูมิใจไม่น้อยที่มีดอกทิวลิปที่ผิดธรรมดาหลายแบบ   ทุกบ้านมักปลูกดอกทิวลิปกันในกระถาง มากบ้างน้อยบ้าง ดูสร้างความพอใจแก่เจ้าของมากทีเดียว  นอกจากนี้ยังได้พยายามสร้างทุ่งทิวลิปเป็นแปลงใหญ่ๆเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไปในถิ่นนั้นๆ  แต่ยังคงไม่มีอุทยานทิวลิปแห่งใดที่ยิ่งใหญ่ทั้งในด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ทิวลิปที่พัฒนาขึ้น(มากกว่าร้อยสายพันธุ์)  ด้านสถาปัตยกรรมสวนและด้านความงามของภูมิประเทศ เกินหน้าอุทยาน Keukenhof ในปริมณฑลเมือง Lisse ในประเทศเนเธอแลนด์ ที่ยังมีพิพิธภัณฑ์แสดงนิทรรศการประวัติของพันธุ์ไม้ดอกนี้  วิวัฒนาการการเพาะเลี้ยงและพัฒนาพันธุ์  ข้อมูลธุรกิจการค้าขายดอกทิวลิปและดอกไม้ประเภทหัว (bulbs) อื่นๆ  และมีพิพิธภัณฑ์ดอกทิวลิปดำอีกด้วย  ประเทศเนเธอแลนด์ผลิตทิวลิปประมาณปีละสามพันล้านดอก  และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดของประเทศ
ตัวอย่างภาพจากอุทยาน Keukenhof  ในประเทศเนเธอแลนด์ ที่น่าพึงพอใจที่สุด คือ มีต้นไม้ใหญ่ๆอายุเหยียบร้อยปีเป็นจำนวนมาก ทำให้การเดินสดชื่น สบายอกสบายใจใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ที่งามสง่าแข่งกัน
ทุ่งดอกทิวลิปที่ทอดยาวไกล ตรงข้ามทางเข้าอุทยาน Keukenhof
สีเข้มสีอ่อน มีทุกสี

 
เอกสารข้อมูลอ้างอิง
Mike DASH, Tulipomania.  London : Phoenix, 2nd Edition, 2001. Penelope HOBHOUSE, Plants in Garden History.  London : Pavilion Books Limited. 1997.