Monday, 3 September 2018

Up in the Alps

บันทึกเดินทาง ภาคสิงขร
ลงจากเรือที่เวนิส สมาชิกในทีมแยกย้ายกันกลับหรือไปต่อที่อื่นก่อนกลับกทม. ข้าพเจ้าจับรถไฟสายตรง (รถไฟเยอรมัน-ออสเตรีย สายนี้ยาวมากตั้งต้นที่เมืองบูดาเปสต์และไปสุดทางที่เมืองมิวนิค โดยผ่านเมืองเวนิส). เห็นสมควรนั่งสงบๆ เข้าสู่โหมดนักพเนจรสันโดษ (lone traveler).

บนเส้นทางรถไฟ ไร่ผลไม้ และไร่องุ่น
ถึงเมืองมิวนิค ก็ค่ำสามทุ่มจะสี่ทุ่มแล้ว. เข้าโรงแรมแล้วนอนเลย. รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ ร้านค้าทั้งหลายปิดทำการ นั่งรถรางชมเมืองไปเรื่อยๆ สายนั้นต่อสายนี้. แวะไปที่ศาลาเทศบาลนครเมืองมิวนิค ศูนย์กลางเมืองเก่าตั้งแต่ปี 1158  ได้เวลานาฬิกาจะตีระฆังพร้อมเสียงเพลงและการเดินของหุ่นอัตโนมัติ (เปิดเฉพาะตอนสิบเอ็ดนาฬิกา, เที่ยงและห้าโมงเย็นทุกวัน) จึงหยุดดูและฟังเสียงนาฬิกาในหมู่นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ออกันตรงลานกว้าง Marienplatz. เพลงไม่เคยเปลี่ยน กี่สิบปีก็เพลงเดิม.
อาคารเทศบาลแบบสถาปัตยกรรมกอติค เป็นศูนย์กลางของเมืองมิวนิคมาตั้งแต่ปีคศ.1158. ลานกว้างตรงนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหาร(ยามอากาศดี) ยังมีเพิงชั่วคราวขายสิ่งสะสมสัญลักษณ์มิวนิค ที่รวมขายน้ำและโซดา. ลานนี้เป็นตลาดนัดชุมชนในบางโอกาส โดยเฉพาะเป็นตลาดคริสต์มาสหนึ่งถึงสองสัปดาห์ก่อนวันที่ 25 ธันวาคม.
ภาพนี้เจาะจงให้ติดรูปจำลองขนาดใหญ่ ของขนมปังดั้งเดิมของมิวนิคที่เรียกว่า Pretzel [เพร็ดเซิล] ทำเป็นห่วงไขว้กัน. ดูเหมือนว่าเป็นรูปแบบขนมปังที่บาทหลวงยุคกลางทำกินกัน. ปัจจุบัน หลายคนใช้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่คู่กันเช่นเป็นสัญลักษณ์ของชายหญิงคู่แต่งงานหรือคู่รัก. เส้นขนมปังกลมยาวเส้นเดียวกันที่สอดไขว้และจบลงเป็นชิ้นเดียวมีสองปลาย โดยไม่มีการหักหรือต่อณจุดใด. เตือนให้เห็นความผูกพันกันระหว่างนักบวชร่วมลัทธิความเชื่อเดียวกัน และมาเป็นห่วงผูกและพันคู่หนุ่มสาว. ขนมปังแบบนี้ เนื้อแน่นมาก รสออกเค็มๆ. นึกถึงสมัยกลาง นักบวชกินกับซุป(และไวน์หรือเบียร์)
เมืองมิวนิค ปีนี้ร้อนจัดเช่นกัน. ชาวเมืองไปนั่งแช่น้ำริมฝั่งแม่น้ำ Isar (สาขาหนึ่งของแม่น้ำดานูป) เหมือนไปริมทะเล. บางช่วงของแม่น้ำนี้ (แขนงน้ำ Eisbach) ที่ไหลผ่านพื้นที่  Englischgarten (สวนอังกฤษ) กระแสน้ำแรง หนุ่มๆลงไปเล่นโต้คลื่นกันอย่างสนุกสนาน. คนเดินผ่านก็ยืนดูจากบนสะพาน ชื่นชมความฮึกเหิมของวัยเยาว์. ล่อใจให้อเมริกันและชาวยุโรปหลายคนลงเล่นด้วย.
วันถัดมา แวะไปซื้อยาและรองเท้า ถอดคู่เก่าเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ที่รับใช้มานานเจ็ดแปดปี (ปากอ้า ซ่อมแล้วสองครั้ง หนังก็เริ่มฉีก) ตัดใจทิ้งไว้ที่โรงแรม ถ่ายรูปไว้ก่อนจากกัน. คู่ใหม่ที่ได้ สู้คู่เก่าไม่ได้เลย ออกจะคิดถึงเพื่อนเก่า.
      ถัดมาก็จับรถไฟตรงไปเมืองซูริค. ลงจากรถไฟถึงห้องโถงใหญ่ของสถานี เห็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ผลงานของ Niki de Saint Phalle เหมือนอ้าแขนต้อนรับ. หลายสิบปี อยู่ตรงไหน ก็ยังอยู่ตรงนั้น. หยุดหายใจ พลางพิจารณารูปปั้น.
ลานกว้างภายในสถานีรถไฟเมืองซูริค ใช้เป็นที่จัดแสดงอะไรต่ออะไรหลายแบบหลายประเภท. ประติมากรรมของ นิกิ เดอ แซ็งต์ ฟาล ห้อยโหนอยู่กลางอากาศ. สีสันยังสดใส (เขามีการเช็ดขัดล้างด้วยกรรมวิธีสมัยใหม่นานๆครั้ง).
มองดูเหมือนเทวดาติดปีก ทรวงอกมีสัญลักษณ์ของประเทศสวิส (la Suisse) ขาข้างหนึ่งยกเยื้องไปด้านหลัง ท่าเหมือนกำลังร่อนลงมาที่เมืองนี้. เจาะจงไว้ว่า เป็น L’Ange Protecteur (Guardian Angel) ศิลปินผู้สร้างได้มอบให้เป็นของขวัญแก่เมืองเมื่อปี 1997 ในวาระครบรอบ 150 ปีของอายุสถานีรถไฟซูริค. รูปปั้นนี้ขนาดสูง 11 เมตร หนัก 1.2 ตัน รูปลักษณ์ของผู้หญิงท้วมๆ ที่เป็นแนวสร้างสรรค์เฉพาะตัวของศิลปิน นิกิ เดอ แซ็งต์ ฟาล. ทุกแบบของเธอเป็นสตรีร่างท้วมๆ เป็นที่โจษจันกันมาก ผิดมาตรฐานของศิลปะแบบแผนของบัณฑิตยสภา แล้วคนก็เลิกพูดไปในที่สุด (หญิงร่างท้วม มีจำนวนมากขึ้นๆในโลก ภาคหนึ่งของคน หรือมิใช่?).
     จากหน้าสถานี กว่าจะเดินหาโรงแรมเจอ ที่ในเน็ตบอกว่าใกล้ๆสถานีรถไฟ ก็หมดแรงแล้ว. จดเป็นโพยเอาติดตัวไป ไม่เอาเครื่องไอทีใดติดตัวไปเลยเที่ยวนี้. อากู๋บอกให้เดินไปทางนี้ เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย ยูเทิน เดินตรงไป. เล่นซะเหงื่อชุ่มไปทั้งตัว. หยุดหายใจหลายครั้ง. ในที่สุด หยุดถามคนแถวนั้นดีกว่า แต่เขาก็รีบเปิดอากู๋อีก บอกว่าให้ตรงไปทางขวา. เดินจนสุดถนน ก็ไม่เห็นโรงแรม. ย้อนกลับไปตรงจุดที่หยุดถาม เหลือบเห็นร้านอาหารเอเชีย (Suan Long) เลยหาอะไรกินรองท้องก่อน. เข้าไปมีคนไทยทำงานหลายคน. อาหารพอใช้ได้ ผัดมาร้อนๆ. เสร็จแล้ว ถามทางไปโรงแรมกับพนักงานชายคนหนึ่ง (เป็นคนเขมร) เขาเช้คอากู๋อีก. คราวนี้บอกให้เดินตรงไปเรื่อยๆไปทางซ้ายจนสุดถนน. เบ็ดเสร็จใช้เวลาเดินหาโรงแรมตามอากู๋ อยู่สองชั่วโมง. เดินทางมาสามสิบสี่สิบปี ไม่เคยต้องใช้อากู๋ ไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้ และไม่เคยหลงทาง. เข็ดเลย!
     เข้าไปก็ต้องทอดถอนใจ เมื่อเห็นบันไดขึ้นไปยังเคาว์เตอร์รีเซ็บชั่น และบันไดที่ทอดสูงขึ้นไปอีก. โรงแรมไม่มีลิฟต์หรือนี่? พ่อหนุ่มเจ้าหน้าที่ออกมาดู ยืนที่ต้นบันได ถามว่า ต้องการให้ช่วยไหม รีบบอกว่า Yes, please! นั่นคือเทวดามาโปรดจริงๆ. หอบไปชมไปว่า เขาหน้าตาดีและใจดี. เขาทำหน้าที่เช้คอิน และพูดขึ้นว่า เคยมาพักที่นี่แล้วใช่ไหม ข้าพเจ้าบอกว่าไม่เคย. เขาบอกว่า ข้อมูลของโรงแรมบอกว่า เคยมาพักที่นี่เมื่อปี 2010. เอ! ปี 2010 คิดไม่ออกเลยจริงๆ ถ้าเคยมาแล้ว มันต้องจำได้สินะ. พ่อหนุ่มมองผมขาวๆของเรา หน้าเกรียมกระดำกระด่าง(จากกรีซ) แล้วไม่พูดอะไรต่อ คงคิดว่าป้าเริ่มความจำเสื่อมแล้ว. มารู้วันเช้คออกกับเจ้าหน้าที่อีกคน หน้าตาลูกครึ่งเอเชียคล้ายๆกับคนแรก จึงถามว่าเป็นพี่น้องกันหรือเปล่า หน้าตาดีทั้งคู่. คนนี้ตอบว่า ไม่ เขามีแม่ญี่ปุ่น ส่วนคนแรกลูกครึ่งไทยสวิส. ในสวิส เดือนสิงหาคม หลายร้านทั้งร้านค้าหรือร้านอาหารปิดพักร้อน. พนักงานจะได้หยุดพักทั้งเดือน หากร้านไหนเปิด พนักงานเป็นพนักงานจรส่วนใหญ่ และเป็นเดือนที่นักศึกษาส่วนใหญ่ทำงานแทนพนักงานประจำ ตามโรงแรมหรือร้านอาหาร.
      เริ่มต้นที่ซูริค ก็ต้องลากกระเป๋าขึ้นๆลงๆไปตามถนน. วันต่อๆมา ก็พบว่า ไม่ว่าที่ใด ถนนหนทางขึ้นๆลงๆเสมอ. เข้าออกสวิส ไม่รู้กี่ครั้ง ไม่เคยมีประสบการณ์เหน็ดเหนื่อยกับการเดินถึงเพียงนี้ ปีนี้วัยนี้ สำเหนียกแก่ใจว่า ไม่ไหวแล้ว. เพื่อหลีกเลี่ยงเมืองใหญ่เมืองจอแจอย่างซูริค วันรุ่งขึ้น จับรถไฟ ออกไปนอกเมือง เลือกเมืองใกล้ๆ หาทางเดินพื้นที่ราบกว่า. เห็นรถไฟไปเมือง Winterthur เมืองนี้ยังไม่เคยไป เลยตัดสินใจไป นั่งรถดูเมือง และนั่งรถขึ้นไปบนเนินสูงเพื่อดูทิวทัศน์เมือง. Winterthur ชื่อชวนให้คิดว่า น่าจะเย็นสบาย(ในเมื่อมีคำฤดูหนาวอยู่ในชื่อ) แต่ก็ร้อนเหมือนทั่วไปในยุโรป. ปกติเป็นที่จัดนิทรรศการศิลปะ สิงหาคมเป็นนิทรรศการสินค้าลดราคาของทุกร้าน. สรุปว่า ไม่ติดใจเมืองหรืออะไร. สภาพร่างกาย มีส่วนทำให้ไม่อยากทำอะไร ไม่กระตือรือร้นด้วย. หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ก็ปิดซะส่วนมาก. ความร้อนก็มีส่วนทำให้ไปนั่งหลบแดดในที่ลมพัดโกรกไปมา นั่งเฉยๆ หายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ.
     โรงแรมที่ไปพักปีนี้ จำไม่ได้เลยว่าเคยไปพัก แต่จำโรงแรมที่ซูริคอีกแห่งที่เคยไปพักในอีกปีหนึ่ง. ปีนั้นพักที่ซูริคสี่ห้าวัน เพื่อตามดูนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์. โรงแรมมีน้ำขวดใหญ่ขนาดหนึ่งลิตรให้ในห้อง วันต่อมาไม่ให้. สบโอกาสจึงถามเจ้าหน้าที่ที่แผนกรีเซ็บชั่น ว่าวันนี้แม่บ้านลืมให้ขวดน้ำขวดใหม่. แม่สาวชาวสวิสบอกว่า เขาไม่ลืม แต่โรงแรมมอบน้ำให้เป็นการต้อนรับเมื่อเช้คอิน. เลยถามคุณเธอหน้ายิ้มๆว่า ถ้าฉันเช้คออกแล้วเช้คเข้าใหม่ จะได้น้ำขวดใหม่สินะ. แม่สาววางหน้าเหรอ. บอกผู้จัดการให้ทบทวนนโยบายที่เอาใจคนเช้คอิน และเลิกสนใจคนที่อยู่นานหลายวัน มันแปลกอยู่นา... แม่สาวฟังแล้ว หยิบน้ำขวดใหม่ บอกว่า ฉันให้เธอ. โรงแรมนั้นอยู่ใกล้เขตมหาวิหารของเมือง ราคาแพงแต่ให้น้ำเฉพาะวันแรก. ปีนี้เลือกใกล้สถานีรถไฟที่สุด ราคาถูก ไม่มีน้ำให้. มีตู้อัตโนมัติให้ไปหยอดเหรียญกดเอาเอง. เราเลยกินน้ำก๊อกแทน. คิดจะส่งกระเป๋าเดินทางใบใหญ่จากสถานีต่อไปเมืองอื่น ลากไม่ไหวแล้ว. ปีนี้ไม่มีแผนจะไปดูอะไรเลย โรงแรมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Limmat จึงเดินเล่นกินลม เลียบฝั่งแม่น้ำไปวันๆ.

แม่น้ำ Limmat กับสะพานที่มีคนเอากุญแจไปคล้องไว้จำนวนไม่น้อย. กลายเป็นค่านิยมของศตวรรษที่ 20-21 ไปแล้ว สงสัยคงโยนลูกกุญแจลงในแม่น้ำด้วย.  
     จากซูริคย้ายต่อไปพักที่ Bern หรือ Berne. เมื่อไปถามอะไร ออกเสียงชื่อเมืองว่า แบร์น (ทั้งเยอรมันและฝรั่งเศสออกเสียงอย่างนี้) แม่สาวคนที่พูดด้วย กลับเปลี่ยนให้ออกเสียงว่า เบิน ฟังแล้วร้อนระอุ ยิ่งปีนี้ทั้งกรีซ ปอร์ตุกัลและสเปน ถูกไหม้ไปเป็นแถบๆ. จับได้ว่าหนุ่มสาวยุคใหม่ในสวิส ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น แทบไม่เคยได้ยินใครพูดฝรั่งเศสเลย พูดแต่อังกฤษ. คิดเอาเองว่า เพราะเป็นลูกผสมหรือเป็นนักศึกษาต่างชาติในสวิส อาจเรียนภาษาเยอรมัน แต่ไม่เรียนฝรั่งเศส. คำว่า สวิส ที่เราใช้ ตรงกับชื่อประเทศ la Suisse ฝรั่งเศส ถูกต้องตามภาษาฝรั่งเศสที่เป็นภาษาทางการด้วย. แต่ สวิต ตัดมาจากการถ่ายเสียงคำ Switzerland ภาษาอังกฤษ ที่ไม่เคยรับรู้ว่า เจ้าของประเทศใช้คำอะไร แปลงของเขาเป็นอังกฤษตามที่ตัวเองเข้าใจและอ่านได้ มันถึงได้วุ่น และไทยเรา(แน่นอน)ตามหลังอเมริกันหรืออังกฤษ มันถึงได้ยุ่งให้ข้าพเจ้าออกเสียงแบร์น Bern เป็น burn นั้น ไม่ปลื้ม.
      คิดอยากลัดเลาะทะเลสาบ (Lake Thun กับ Lake Brienz) ต่อไปที่เมือง Brienz ไปขึ้นเขาโรตฮอร์น - Rothorn ที่ยังไม่เคยไป (ที่เพื่อนอี๊ดนงลักษณ์แนะนำมา). อากาศเริ่มมีเค้าฝนและตกลงมาในที่สุดเพราะร้อนอบอ้าวมานาน. เดินชมเมืองแบร์น ตามเส้นทางนักท่องเที่ยว คือต้องไปแวะหอนาฬิกาของเมือง แล้วไปชมโบสถ์ ตามไปดูสวนหมี ขึ้นไปที่สวนกุหลาบเพื่อชมเมืองจากที่สูงเป็นต้น. เมืองแบร์น มีเอกลักษณ์หลายอย่างพิเศษที่ไม่เหมือนที่ใด เป็นเมืองหมี มีประวัติเกี่ยวกับหมีมายาวนาน (เก็บไว้ไปเล่าในไฟล์เฉพาะเมืองแบร์น แยกไว้ต่างหาก). ฝนครึ้มสลับแดดจ้าๆทุกวัน คอยฟังพยากรณ์อากาศว่าจะได้ไปขึ้นเขา Rothorn ไหม. เช้าวันสุดท้ายท้องฟ้าสว่างจ้า จึงรีบจับรถไฟตรงไปเมือง Brienz. ติดตามไปในภาพข้างล่างนี้.
     จากกรุง Bern นั่งรถไฟเลียบฝั่งทะเลสาบ Thun (ใกล้สถานีเมืองนี้ มีท่าลงเรือเพื่อเที่ยวทะเลสาบ Thun เคยไปมา. วันนั้นคิดว่าลงจากเขา จะไปลงเรือต่อ) และต่อไปที่เมือง Brienz. เช่นกันด้านหลังสถานีก็เป็นสถานีรถไฟพิเศษ พาขึ้นไปบนยอดเขา Rothorn (แปลว่า ยอดเขาสีแดง ไม่เห็นมีอะไรแดงๆเมื่อขึ้นไป) ได้เวลารถไฟเที่ยวต่อไป จะออกในอีกสามสิบนาที. ไปซื้อตั๋วขึ้นต่อไปเลย (ตั๋วรถไฟหัวรถจักรนี้ แพงกว่าค่ารถไฟไปกลับ Bern-Brienz อีก ออกจะแปลกใจไม่น้อย ถามคนขายว่าทำไมถึงแพงนักล่ะ. เขาบอกว่า เพราะไปแต่ละเที่ยวไปได้น้อยคน ไปช้า และค่าดูแลรถไฟกับเส้นทาง มันแพง). รถไฟนี้เป็นรถเปิด ลมโกรกไปมา ได้เจอความเย็นเป็นครั้งแรกในความร้อนของยุโรปปีนี้. สดชื่น เตรียมเสื้อประเภทกันลมไป สวมทับเสื้อผ้าฝ้ายธรรมดาๆ ก็ไม่หนาวอะไรนักแม้เมื่อถึงยอดเขา (สูง 2351 เมตร). เส้นทางรถไฟสายนี้ มีนักท่องเที่ยวแน่นมาก เกือบทุกคนมุ่งไปลงที่ Interlaken เพื่อต่อไปขึ้นยอดเขา Jungfrau, Grindelwald เป็นต้น. ข้าพเจ้าไปมาสองสามครั้งแล้ว ตั้งใจจะไปขึ้นภูเขาที่มีคนน้อยๆสะดวกๆ ตามที่อี๊ดนงลักษณ์บอก ไม่ต้องปีนป่าย มีรถไฟลากขึ้นไปเลย.




สับเปลี่ยนราง เจ้าหน้าที่ต้องลงไปจัดการเอง. งานฝีมือ!
ทางสายเดียว แบ่งกันใช้ สลับสับหลีก ฉันท์มิตรสหายร่วมราง.
ฝูงวัวในที่สูง อากาศดี หญ้าดี นมวัวสวิส ดื่มตั้งแต่ปี 1972 ได้ลิ้มรสแล้วหยุดดื่มนมวัวชาติอื่นเลย และในที่สุด หยุดดื่มนมไปเลย ในเมื่อไม่มีโอกาสดื่มนมวัวสวิสเป็นประจำ.
วัวก็คุ้นชินกับเสียงฉึกฉักและปู๊นๆ เดินไม่รีบไม่ร้อน แทบจะยื่นมือไปสัมผัสตัววัวได้ 
ครึ่งทางมีจุดให้ลง สำหรับคนที่คิดอยากเดินต่อไปเองถึงบนยอดเขา.
มีแม่บ้านนำเนยแข็ง home-made ของเธอมายืนขาย เผื่อผู้สนใจของดีประจำหมู่บ้าน. มีรูปปั้นไม้แกะสลักของลุงหนวดเฟิ้มคนตัดไม้ ยืนบนขอนไม้เลย.


ผ่านภูมิประเทศสวยงาม


ถึงแล้ว รถไฟจอด เกือบติดหน้าผา. ให้สังเกตรางรถไฟ. นี่แหละเอกลักษณ์ของรถไฟล้อฟันเฟืองตรงกลางลำตัวรถไฟ และใช้หัวรถจักรไอน้ำเท่านั้น.
คนพากันเดินขึ้นไปยังที่ตั้งของโรงแรมที่บริการอาหารเครื่องดื่ม เพราะนั่นบ่ายโมงกว่าแล้ว. หลายคนเดินต่อไปยังยอดสองยอดที่ไกลออกไปในหมอก.
มองลงไปเห็นทะเลสาบ Brienz.
กลางเดือนสิงหาคม ดอกไม้ทุ่งแถบภูเขาสูงไม่เหลือให้เห็นนัก.
ดอกบลูเบลจำนวนน้อยนิด แทรกตัวออกจากหลืบหิน น้อมรับสายลมและแสงแดด
นี่ดอกชื่อไรไม่รู้ เหลือมาให้เห็นนิดหน่อย
และกอหญ้าปุกปุยนี้ ดูใกล้ๆ เหมือนสวมเสื้อขนสัตว์กันหนาวไว้

ค่อยๆเดินขึ้นไปที่ร้านอาหาร สั่งซุปวัวหนึ่งถ้วย ซุปใส ไม่มีอะไรอื่นในซุปเลย(เรียกว่า consommé) แต่รู้ว่าเป็นน้ำสะกัดจากเนื้อวัว (ตัวใดตัวหนึ่งบนยอดเขานี้ด้วยมั้ง ขอโทษและขอบคุณพี่วัว). รสอร่อยเกินความคาดหมาย รู้สึกแข็งแรงเป็นลูกวัวขึ้นบัดดล. ตามด้วยป๊าสต้าราดซ้อส. อร่อยเกินความคาดหมายอีก. ปกติ ถ้าไม่ถึงที่สุด ก็ไม่สั่งอาหารแบบนี้มากิน แต่ป๊าสต้าเขาทำอร่อย ไม่“อัลเด็นเต้”ที่เราไม่ชอบ(มันเหมือนกินข้าวไม่สุก). พิเศษจานนี้ มากับซ้อสแอปเปิล (compote de pomme) ซึ่งออกหวานปนเปรี้ยว ตามรสธรรมชาติของแอปเปิล. กินด้วยกันได้ ไม่ช้อคปาก หรือจะกินตามทีหลังเป็นของหวานตบท้ายอาหารจานหลักของเรานี้ก็ได้. ชิมดู ใช้ได้เลย จึงหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปไว้.
     ได้ยินหนุ่มสวิส(ติดป้ายตรงหน้าอกชื่อ Luis) บริการโต๊ะชาวญี่ปุ่นที่อยู่ตรงหน้าเรา พูดว่าเขาชอบเอเชีย ญี่ปุ่นก็อยากไป แต่เขาชอบเมืองไทยมากและเน้นว่าเขานับถือพุทธศาสนา.
สนทนากันวันนั้น ขอถ่ายรูปหนุ่มสวิสที่บริการเรา เขายินดี.
หน้าตายังเด็กอยู่มาก ยิ้มแย้มแจ่มใส ผิดคนอื่นๆ ตัวสูงโย่ง.
เมื่อพ่อหนุ่มมาบริการเรา จึงถามเขาว่า ไปเมืองไทยมาแล้วหรือ ฉันเป็นคนไทย. ไปเรียนพุทธศาสนาจากที่ไหน วัดอะไร. เขายกมือไหว้ บอกสวัสดีครับ ชัดถ้อยชัดคำ. เล่าว่าสมัยหนุ่มกว่านี้ เหมือนคนหนุ่มอื่นๆ ต้องไปพัทยา. วันสุดท้ายที่ต้องกลับไปขึ้นเครื่องที่สนามบิน เหลือเงินติดตัวสองร้อยบาท. แท็กซี่คันหนึ่งเห็นเขาที่คิวรถขนส่ง ถามว่าจะไปไหน เขาบอกว่าสนามบิน ต้องกลับแล้ว. คนขับถามเวลาเครื่องบินออก แล้วบอกว่า ไปรถขนส่งไม่ทันหรอก ถ้าไปแท็กซี่ ราคามากกว่าสองร้อยบาท. พ่อหนุ่มสวิส ไม่รู้จะทำอย่างไร ตกเครื่องบินยิ่งแย่ เงินก็ไม่เหลือแล้ว. คนขับแท็กซี่ เกิดสงสาร พูดว่า I see your eyes, you good man. บอกให้ขึ้นรถ แล้วขับไปส่งเขาที่สนามบิน โดยไม่คิดเงินเขาสักบาทเดียว. พ่อหนุ่มสวิสตื้นตันใจมาก คนขับบอกว่า ถ้าเขาทำดี เมื่อมีปัญหา อาจมีคนช่วยเขาก็ได้. พ่อหนุ่มจดจำมา และแท็กซี่คนนั้น เป็นเพื่อนเขาต่อมา. เขาเริ่มอ่านหนังสือ หาความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา. เขากลับไปเมืองไทยอีก ไปหาคนขับแท็กซี่คนนั้น ตามเขาไปวัดหนึ่งที่สุโขทัย และเริ่มเรียนการทำสมาธิ. บอกว่าเดี๋ยวนี้ ผมนั่งสมาธิทุกวันๆละหนึ่งชั่วโมง. ผมไม่เคยขออะไรจาก Buddha แต่สิ่งดีๆกลับมาหาผมเอง. ผมมีความสุข พอใจกับชีวิต. ข้าพเจ้าเตือนว่า อย่าคิดว่าคนไทยชาวพุทธ เป็นเหมือนเธอ หรือเป็นคนใจดีทุกคน. คนไทยหลายล้านคน ไปวัดทำบุญเพื่อขอความมั่งมีศรีสุข. หลายล้านคนไม่เคยปฏิบัติธรรมหรือนั่งสมาธิ. เขาต้องทำใจเผื่อเจอคนไทยที่หวังเอารัดเอาเปรียบด้วย. พ่อหนุ่มบอกว่า เขารู้เหมือนกัน ชาวคริสต์จำนวนมาก ไม่เคยไปวัดหรือสวดมนต์เลย.
การสนทนาสั้นๆกับพ่อหนุ่มสวิสคนนี้ เลยเป็นของว่างแถมท้ายอาหารมื้อนั้น บน Rothorn ในสวิส. ถ้าพ่อหนุ่มสวิส มีประสบการณ์จริงตามที่เล่า (ไม่มีเหตุอันใดที่เขาจะโกหก มันไม่ได้อะไรจากใคร) และเป็นคนที่สมเหตุสมผล มีสัมมาอาชีวะ จิตใจไม่เครียด พอใจพอเพียง ไม่มุ่งมั่นแต่เรื่องหาเงิน. นับว่าคนขับแท็กซี่ไทยคนนั้น ได้ทำดี ได้บอกทางแห่งบุญกุศลแก่เขา. ข้าพเจ้ายื่นมือให้ แสดงความยินดีที่เขามีความสุขความพอใจในชีวิต และทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง.
กว่าที่คนหนึ่งจะตระหนักถึงสัจธรรม เหมือนการไต่ภูเขา ที่คนปีนต้องสู้และต้านแรงศูนย์ถ่วงของโลก เขาต้องอดทนฟันฝ่า เอาชนะอำนาจของความหลงทุกชนิดที่คอยดึงให้เขาถดถอยหรือจมลง.
เสร็จมื้อนั้น ได้เวลารีบลงไปที่ลานจอดรถไฟล้อลากฟันเฟือน มิฉะนั้นอาจเย็นเกินไป ไม่ทันไปลงเรือล่องทะเลสาบที่เมือง Thun. แต่เมื่อไปถึงเมือง Thun ก็เย็นเกินไปแล้ว ไม่มีเที่ยวเรือในชั่วโมงนั้น. จึงต่อรถไฟกลับเมืองแบร์น.

ขาลงจาก Rothorn ถ่ายภาพหมู่บ้าน ตามทางบนเนินที่เตี้ยลงๆ. ยังมีหลังคา หน้าต่างตามเอกลักษณ์ของชาเลต์สวิสอยู่. ชั้นล่างของบ้าน เปลี่ยนเป็นแบบก่ออิฐแล้วก็มีทั่วไป.
มองดูทะเลสาบ Brienz จากหน้าต่างรถไฟ งดงามชื่นใจพอสมควรทีเดียว.
เห็นไร่องุ่นบนเส้นทางด้วย. เที่ยวนี้ลืมนึกถึงไวน์สวิส. ไร่องุ่นแถบ Lavaux จังหวัด Vaudของสวิส ขึ้นอันดับหนึ่งในสิบแผ่นดินทองของไวน์ทีเดียว. จำได้ว่าตอนเขียนเรื่อง วัฒนธรรมไวน์ ได้ตามเข้าไปเดิน นั่งรถไฟ นั่งเรือ เพื่อชมดินแดนถิ่นไวน์ของสวิส ที่ทอดเป็นแนวยาวกว่าสามสิบกิโลเมตร บนที่ลาดชันของแนวเขาเลียบฝั่งทะเลสาบ ตั้งแต่เมืองโลซาน (Lausanne) ถึงเมืองมงเทรอ (Montreux). ได้ลงไปชมคลังเก็บเหล้าองุ่น (cellar) ของบางไร่และชิมไวน์ในไร่ด้วย.
      นั่งรถไฟกลับ นึกถึงพ่อหนุ่มสวิสที่ร้านอาหาร. มองเห็นในใจช่วงชีวิตในอดีตที่ผ่านเข้าออกสวิสหลายครั้งหลายหนตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเบอซ็องซง (Besançon) ในฐานะนักเรียนทุนของรัฐบาลฝรั่งเศส. เมืองเบอซ็องซงอยู่ใกล้พรมแดนสวิส แถวเมือง เนอชาแตล (Neuchâtel). เคยโบกรถ(autostop หรือ hitchhiking) กับพี่ๆอีกสองคน ข้ามไปเที่ยวสวิสกัน (หนุกหนานตามวัยคะนอง). ฤดูร้อนทุกปีที่เบอซ็องซง มีชาวสวิสมารับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส ไปทำงานในสวิส แทนเจ้าหน้าที่ประจำที่ได้ลาพักเดือนสิงหาคม. นักศึกษาทั้งสถาบัน ทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวต่างชาติ ต่างลงชื่อไปทำงานประเภทต่างๆที่เขานำมาติดประกาศที่คณะ. พี่ๆคนไทยก็ทำตามกันบ้าง หลายคนลงชื่อไปเก็บองุ่นในไร่สวิส. ข้าพเจ้าคำนวณความสูงของต้นองุ่น กับความสูงของข้าพเจ้าเอง เห็นว่า ท่าจะไม่ไหว อาจต้องนอนตัดช่อองุ่น มันจะไหวหรือ? พี่ๆที่ไปกลับมาเล่าว่า แรกๆก็ยืนเก็บองุ่น ต่อไปนั่งลงเถิบไปบนพื้นไร่ เมื่อยมากๆเข้า ก็เอนตัวลงนอนบนพื้นเลย. ดีแล้วที่ข้าพเจ้าไม่สมัครไปเก็บองุ่น.
      ข้าพเจ้าสมัครไปเป็นพนักงานเสริฟ (เขาเรียกว่า sommelière) ในชาเล่ต์สวิสเมือง กูเว่ (Couvet ในจังหวัดเนอชาแตล) นั่นเป็นการทำงานหาเงินครั้งแรกในชีวิต. แรกๆรู้สึกหนักหนาเอาการ แต่ไปๆมาๆก็สนุกสนานพอสมควรและได้เรียนรู้อะไรมากมาย. นอกจากเสริฟอาหารที่เจ้าของร้าน (ที่ทุกคนเรียกว่า patron “ปาธรง”) ผู้เป็นเชฟ จัดตามเมนูและความต้องการของลูกค้า, เสริฟเครื่องดื่มทั้งมีหรือไม่มีแอลกอฮอล, เรียนรู้การผสมเหล้า เป็นบาร์เทนเดอร์ไปด้วย, บางครั้งบางคราวยังทำกับข้าวแทนเชฟ เช่นทำข้าวผัดไข่ แล้วหั่นเนื้อสเต๊กสดๆเป็นชิ้นเล็กๆ ผัดเนื้อกระเทียมพริกไทย ให้กินกับข้าวผัด. ได้รับความสำเร็จพอสมควรทีเดียว. ได้เรียนการทำ fondu fromage ด้วย กินกับครอบครัวเชฟ (มีอยู่สามคน ภรรยาเป็นแคชเชียร์ ปู่เป็นคนล้างชาม ปาธรงเป็นเชฟ และข้าพเจ้าเป็นพนักงานเสริฟ. เขาทำมาหากินแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร). เดือนสิงหาคมโดยเฉพาะ ร้านอาหารเล็กๆในหมู่บ้านปิดหมด ชาเล่ต์ของปาธรงคนนี้ เปิดเท่านั้น. มีลูกค้ามาทุกวัน แบบผูกปิ่นโตกินมื้อเที่ยงที่ชาเลต์นี้. ได้รู้จักคนทั้งหมู่บ้าน มีทุกอาชีพ เป็นชาวนาชาวไร่ พนักงาน เจ้าของร้าน ช่างเสื้อ ช่างทำผม บุรุษไปรษณีย์ ตำรวจ ผู้แก่ผู้เฒ่าของหมู่บ้านที่มานั่งดื่มไปคุยไปแต่เช้า เป็นสภากาแฟของหมู่บ้าน. ทุกคนอารมณ์ดีเสมอ. เมื่อไม่มีเพื่อนคู่หู ก็คุยกับข้าพเจ้าแทน. ลุงคนหนึ่งหนวดเฟิ้ม เหมือนซันตาครอสเลย เห็นกันเกือบทุกวัน วันหนึ่งอดไม่ได้ เลยถามลุงว่า หนวดเคราน่ะ มันไม่ร้อน ไม่เกะกะรำคาญเลยหรือ. ลุงตอบว่าไม่เลย มันนิ่มมาก ว่างๆมือก็ลูบไล้เคราเพลินๆ. บอกให้ข้าพเจ้าจับเคราลุงดูสิ. ถูกของลุง เครายาวๆ มันนุ่มมือมากเลย คงเหมือนสัมผัสคนผมงาม ยาวสลวย.
      เพียงไม่กี่วัน ทั้งหมู่บ้านรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นคนไทย เรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส มาทำงานระหว่างปิดเทอม ในฐานะของ frontalier / frontalière (คือคนงานชั่วคราวที่ข้ามพรมแดนมาทำงานในสวิส อย่างถูกต้องตามกฎหมาย. ตำรวจของเมืองเคยเข้ามาที่ชาเลต์เพื่อตรวจดูความถูกต้องว่า เจ้าของร้านได้ขออนุญาตและรับผิดชอบทั้งอาหารการกิน การอยู่และสวัสดิการสุขภาพและอุบัติเหตุของข้าพเจ้า อย่างถูกต้องเรียบร้อยไหม). ข้าพเจ้าทำงานอย่างสบายใจมาก กินดีอยู่ดี. อาจเหนื่อยหน่อย ตอนยกลังไวน์หรือเบียร์ออกจากห้องเก็บไวน์เก็บเบียร์ใต้ดิน (cave).
      ชาเลต์นี้ปิดวันอังคาร และทุกอังคาร ปาธรงพาทุกคนออกไปเที่ยวที่เมืองอื่นทั้งใกล้และไกล มาดามภรรยาเป็นคนขับ. ปาธรงชอบไปแวะทานอาหารร้านที่เขาลือว่าอร่อยในถิ่นอื่นๆ. เมื่อไปถึงร้าน นั่งกันแล้ว ก่อนสั่งอะไร ปาธรงจะไปเข้าห้องน้ำ สำรวจความสะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อประเมินความสะอาดของอาหาร(ปาธรงบอกให้รู้). เคยไปนั่งเรือล่องทะเลสาบที่ Lac des Quatre-Cantons (หรือทะเลสี่แคว้น), หรือไปทานปลาเทร้าที่เมืองรีสอร์ทแถบเทือกเขา Gstaad เป็นต้น. นับว่าทั้งครอบครัวใจดีกับข้าพเจ้ามาก ที่พาออกไปเปิดหูเปิดตาในสวิส. ข้าพเจ้าจึงได้กินอาหารท้องถิ่นจากเมืองต่างๆ. จำได้ไม่ลืมว่า ได้กิน Fondu Bourguignon (เนื้อตัดชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า จุ่มลงในหม้อน้ำมันร้อนๆ ทานกับสลัดแบบต่างๆอย่างครบเครื่อง) อาหารหลักจานนี้เป็นอาหารฝรั่งเศส แต่ข้าพเจ้าได้กินในสวิสก่อน และไม่เคยลิ้มรสอาหารจานนี้ ที่อร่อยพอเทียบเคียงกับที่กินในสวิสเลย ไม่ว่าในฝรั่งเศสหรือในประเทศยุโรปอื่นใด.
      การทำงานที่นั่นเป็นประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืม. ไม่ลืมว่าคนที่เข้ามาในร้านให้ทิปข้าพเจ้ามากมาย ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าเอาใจลูกค้า. ข้าพเจ้าทำตามหน้าที่เท่านั้น มิได้ประจ๋อประแจ๋กับลูกค้าคนใด. บางครั้งผสมเหล้าผิด พวกเขาก็หัวเราะขบขัน สอนให้อีกด้วย. ปีนั้น (1972) การบริการอาหารและเครื่องดื่ม ไม่มีค่าบริการ แล้วแต่ผู้บริโภคจะให้หรือไม่ก็ได้. เจ้าของร้านให้กินให้อยู่ แต่ไม่มีเงินเดือนให้ ตามนโยบายยุคนั้น. เงินที่จะได้จากการทำงาน ได้จากลูกค้าเท่านั้น. ข้าพเจ้าไม่เคยยื่นมือออกไปขอ แต่ชาวบ้านนั้น ยินดีมอบให้ข้าพเจ้าเอง. นิดหน่อยเขาก็ให้ด้วยความยินดี. บางทีให้มากเกินไป ข้าพเจ้าไม่รับ. เช่นกาแฟถ้วยละแฟร็งสวิสกว่านิดหน่อย ให้มาห้าแฟร็งค์บอกว่าไม่ต้องทอน ให้เก็บสะสมไว้ และเรียนหนังสือให้จบ เป็นครูที่ดีในอนาคต. ตื้นตันสุดจะเอ่ยได้. ทุกคนเอ็นดูข้าพเจ้ามาก จนเห็นข้าพเจ้าเป็นเด็กเล็ก ทั้งๆที่อายุก็ยี่สิบกว่าแล้ว จบปริญญาตรีจากเมืองไทยแล้ว(พวกเขาไม่รู้หรอก). ความเอ็นดูของชาวบ้าน ยังยืดเยื้อต่อไปแม้เมื่อข้าพเจ้ากลับไปฝรั่งเศส. ช่วงคริสต์มาส ก็มีเจ้าหน้าที่(ลูกค้าของชาเลต์)ที่ทำงานกับบริษัท Nestlé สวิส ส่งกล่องช็อกโกแล็ตไปให้เป็นของขวัญ. สตรีคนหนึ่งของหมู่บ้านรู้ว่าข้าพเจ้าชอบผ้าเช็ดหน้าสวิส ส่งผ้าเช็ดหน้าผืนงามไปให้. เมื่อข้าพเจ้าออกไปเดินในหมู่บ้านเล็กๆนั้น ผู้ชายทุกคนที่เห็น หยุดทักทาย เปิดหมวกที่สวมออก พวกเขามีกิริยามารยาทงดงาม ให้เกียรติข้าพเจ้าเสมอ. ลูกค้าบางคน มาจากต่างเมือง บอกว่าได้ยินว่าที่นี่มีนักศึกษาไทยมาทำงานช่วงหน้าร้อน เขาขับรถมาที่ชาเลต์ มาพบข้าพเจ้า มาบอกว่าเขาเคยรู้จักหมอคนไทย เคยมากรุงเทพฯร่วมงานกัน เขาคิดถึงเพื่อนคนนั้น จึงอยากมาพบคนไทย. บางคนมาที่ร้านดื่มอะไร เพียงเพื่อบอกข้าพเจ้าว่า เขาเคยกินมะม่วงที่เมืองไทยและติดใจมาก. ก่อนกลับไปฝรั่งเศส ข้าพเจ้าไปร้านตัดผม เจ้าของร้านผู้เคยไปนั่งดื่มอะไรที่ชาเลต์ ก็ทำผมให้อย่างเรียบร้อย ปฏิบัติต่อข้าพเจ้าเหมือนลูกค้าคนหนึ่ง เสร็จแล้ว ปฏิเสธไม่รับเงินด้วย. ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ยกมือไหว้ (ภายหลังมีโอกาส ได้ส่งผ้าพันคอไหมไทยไปให้). เมื่อไปส่งของที่ไปรษณีย์ ข้าพเจ้าก็ได้เรียนรู้ศิลปะการมัดเชือก มัดกล่องจากบุรุษไปรษณีย์ เป็นความรู้ติดตัวมาจนทุกวันนี้ รับรองว่าไร้เทียมทาน. เมื่อครบหนึ่งเดือน ปาธรงและครอบครัวขับรถไปส่งข้าพเจ้าที่เมืองเบอซ็องซงถึงหอพักเลย. ปีถัดไป ยังขับรถไปรับ ขอให้กลับไปทำงานที่ชาเลต์อีก. ข้าพเจ้าจึงไปทำงานสองฤดูร้อนที่ชาเลต์หลังนั้นในเมืองกูเว่. หลังจากนั้น ข้าพเจ้าย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส และหยุดทำงานหาเงินช่วงฤดูร้อน เพราะมีงานวิทยานิพนธ์ต้องคิดต้องเขียน. สองปีแรกยังเรียนสบายกว่า ได้เงินจากทำงานหนึ่งเดือน พี่ๆก็เหมือนกัน เราชวนกันไปเที่ยวอิตาลี. อิตาลีจึงเป็นประเทศยุโรปแห่งแรกที่ไปเที่ยว (ไม่นับฝรั่งเศส เพราะเราอยู่ที่นั่น เที่ยวภายในฝรั่งเศสเอง ยุคนั้นแพงกว่าไปเที่ยวยุโรปชาติอื่น).
      เกือบยี่สิบปีผ่านไป เมื่อข้าพเจ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกาหลีใต้แล้ว ปีหนึ่งเจาะจงกลับไปเยือนเมืองกูเว่ อยากไปเยี่ยมปาธรงและพบผู้คนชาวเมือง. ข้าพเจ้าลืมบวกยี่สิบปีเข้าในความทรงจำเกี่ยวกับชาเลต์และคนในหมู่บ้าน เพราะทุกอย่างยังคงแจ่มกระจ่าง ชัดใสแจ๋วในหัวใจและในจิตสำนึก. แสงแดดอ่อนๆ ถนนหนทางเงียบสงบ ไม่มีเสียงรถแล่นหวือหวาผ่าน. ปีนั้นไป พบว่าชาเลต์ปิดเสียแล้ว เดินไปมาในเมือง พบลุงอ้วนคนหนึ่งผู้เคยเป็นลูกค้าประจำของชาเลต์ ทุกวันหลังเลิกงาน ต้องมานั่งดื่มเบียร์ขวดใหญ่หนึ่งขวด จึงกลับบ้าน. ดีใจมากที่สุดที่เขาจำข้าพเจ้าได้ เขาเป็นเหมือนพยานชีวิตระยะนั้นในสวิสของข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าถามทุกข์สุขของคนในหมู่บ้านที่คิดชื่อได้ เขาก็เล่าว่าคนนั้นเป็นไง ใครจากไป ใครยังอยู่ฯลฯ. ข้าพเจ้าไต่ถามถึงครอบครัวปาธรง เขาบอกว่าปู่เสียแล้ว ปาธรงก็เสียแล้ว มาดามย้ายไปอยู่ที่อื่นกับลูกชาย. เขาช่วยข้าพเจ้าหาที่อยู่จากสมุดรายชื่อผู้เช่าโทรศัพท์ จนพบชื่อ แล้วจึงเดินปลีกตัวไปตามมารยาทข้าพเจ้าโทรไปถึงมาดาม ภรรยาปาธรงรับสาย ข้าพเจ้าถามถึงปาธรง ด้วยการเอ่ยนาม Hans ของปาธรง. ผู้หญิงคนนั้นบอกว่าฮันส์เสียแล้ว ถามว่าข้าพเจ้าเป็นใคร. ข้าพเจ้าบอกว่าเป็นคนไทยที่เคยทำงานที่ชาเลต์. เธอบอกว่าจำไม่ได้ ไม่เคยรู้จัก. เสียใจไม่น้อยที่ไม่ได้พบครอบครัวปาธรง และมาดามก็จำข้าพเจ้าไม่ได้ (ตอนนั้นมาดามคงมีอายุแปดสิบกว่าๆแล้ว).
อ้า! อดีตที่ล่วงผ่านไป เคยสุขสนุกใจ ฤาจักหวนกลับมาเนา (โรสลาเรน)

      ออกจากเมืองแบร์น ข้าพเจ้าเลือกลงไปพักที่เมือง Fribourg เห็นเป็นเมืองขนาดเล็กกว่า อยากแวะไปเดินเล่นที่นั่นอีกสักครั้ง. โรงแรมที่จอง อยู่ใกล้โบสถ์ ใกล้ศาลาเทศบาล ไม่เคยไปพักโรงแรมนี้ ที่เลือกเพราะชื่อโรงแรมถูกใจว่า Hôtel de la Rose. ห้องเดี่ยวในยุโรปไม่ใหญ่ แต่วิธีการจัดห้อง การตั้งเครื่องเรือน เหมาะเจาะ ทำให้เดินสะดวก ไม่รู้สึกถูกบีบ มีทุกอย่างที่จำเป็นครบ แถมมีพัดลมตั้งโต๊ะให้ด้วย. เปิดหน้าต่าง ห้องนี้อยู่เหนือซอยเล็กๆ นานๆมีรถแล่นผ่าน. เสียงรถแล่นไปมา ไม่ถึงกับรบกวน. โรงแรมนี้มีน้ำขวดให้ทุกวัน. อากาศช่วงนี้ ฝนลงพรำๆ. ไปเมืองฟรีบูร์ก ก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้ก่อน เป็นสามวันสุดท้ายในสวิส จึงคิดเพียงไปพักผ่อนสบายๆก่อนกลับบ้านเท่านั้น.
      เช้คอินแล้ว เดินออกไปไม่กี่ก้าว เห็นป้ายกลางซอยเล็กแคบๆ. จำได้ทันที นี่ไงเอกลักษณ์พิเศษของเมืองนี้ ไม่มีที่ใดเหมือนแน่นอน. กี่ปีกี่ปีก็ยังคงอยู่ตรงนั้น มุมนั้น.

มองจากด้านหลัง มีข้อความภาษาเยอรมัน มองจากด้านหน้ามีข้อความเดียวกันเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส. ใจความว่า “นี่คือถนนของภรรยาผู้ซื่อสัตย์ และก็เป็นมุมของสามีตัวอย่าง”. ความจริงเป็นเช่นนั้นไหม ไม่ได้ติดใจไปสำรวจสถิติการแต่งงานและการหย่าร้างของครอบครัวที่อยู่ในซอยเล็กซอยสั้นนี้ จากทะเบียนที่ศาลาเทศบาล.
โบสถ์ Saint Nicolas [แซ็งนิกอลา] หรือนักบุญนิโกลัส (หรือที่รู้จักกันในสมัยใหม่ว่า ซันตาคลอส). ด้านหน้า ประตูใหญ่ เหนือขึ้นไปเป็นหอระฆัง.
ข้าพเจ้าเดินย้อนไปที่โบสถ์นักบุญนิโกลัส (Saint Nicolas) ของเมืองนี้. วันนั้น (12 สิงหาคม 2018) เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลของจังหวัด Fribourg ชื่อเทศกาลนี้คือ Rencontres de Folklore Internationales de Fribourg. เป็นการชุมนุมนานาชาติครั้งที่ 44 ตามอุดมการณ์ของการสืบสานและสืบทอดขนบและวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาติต่างๆ ทั้งทางดนตรี การเริงระบำรำฟ้อนและเครื่องแต่งกาย. จัดทุกปีในจังหวัดฟรีบูร์ก เริ่มตั้งแต่ปี 1975. จังหวัดฟรีบูร์กเชิญต่างประเทศไปร่วมทุกปีๆละสิบประเทศ(รวมสวิส). การแสดงมิได้รวมอยู่ที่เมืองฟรีบูร์กที่ข้าพเจ้าไปพักเท่านั้น มีการแยกย้ายออกไปแสดงตามเมืองอื่นๆในจังหวัดเดียวกันตามความเหมาะสม. งานสิ้นสุดลงในวันที่ 19 สิงหาคม. ปีนี้รวมศิลปิน 250 คนจากประเทศแอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, โตโกะ(Togo), บูรันดี (Burundi), กรีซ, เม็กซิโก, จอร์เจีย(Georgia), คอสตาริกา (Costa Rica). แต่ละชาติเตรียมการแสดงของเขามา. เทศกาลนี้ดูเหมือนจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและชาวสวิสเองจำนวนมาก เพราะการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจ เครื่องแต่งกายก็วิเศษพิสดารหลากสีตามแฟชั่นพื้นเมืองจากแต่ละถิ่น.
     วันนั้นเป็นวันเปิดงาน ผู้เข้าร่วมไปรวมกันฟังมิสซาที่โบสถ์นักบุญนิโกลัส. ข้าพเจ้าเดินไปที่นั่น พอดีมิสซาจบลงแล้ว ผู้คนกำลังเดินออกจากโบสถ์เพื่อไปยังศาลาเทศบาล ที่คงจะมีการกล่าวต้อนรับ. ข้าพเจ้าถ่ายรูปศิลปินต่างชาติที่มาในขบวน นำมาลงข้างล่างนี้ (ไม่เห็นศิลปินจากบางชาติเช่นญี่ปุ่นหรือกรีซ อาจยังไปไม่ถึง). 








บาทหลวงสองสามท่าน ยืนจับมือผู้คนที่เดินออกมา ให้ศีลให้พรท่านหนึ่งเป็นคนเอเชีย ยื่นมือตรงมาที่ข้าพเจ้า พูดให้ศีลให้พร (ตั้งแต่เข้าเมือง Fribourg ผู้คนพูดภาษาฝรั่งเศสกันข้าพเจ้ารู้สึกดี… Je me sens bien dans ma peau)
ภาพสุดท้ายนี้จากเว็ปทางการของสวิส คือ https://www.rts.ch/info/culture/spectacles/  
ได้เห็นกระโปรงพลีต ขายาวเพรียวในถุงน่องขาวของหนุ่มกรีซอีกครั้งในสวิส.
      ข้าพเจ้าเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่โบสถ์เปิดกว้าง จึงมิได้ตามขบวนศิลปินออกไป กลับเข้าไปเดินในโบสถ์แทน. ถ่ายรูปไปด้วยความเคยชิน เพราะติดตามดูวัด วิหาร โบสถ์ตามเมืองต่างๆเสมอ แม้จะหยุดเขียนเรื่องเกี่ยวกับคริสต์ศิลป์ในยุโรปแล้วก็ตาม. ส่วนหนึ่งเพราะวัด วิหารหรือโบสถ์ ไม่เคยปิด เปิดให้เข้าฟรี ภายในสะอาด(พื้นหรือที่นั่ง) เย็นผ่อนคลายและสบายใจภายในกำแพงหิน ปลอดภัย ไปจุดเทียนคารวะนักบุญเจ้าที่ หรือหยอดเหรียญช่วยค่าบำรุงวัดเป็นต้น.
      สตรีร่างท้วมผิวคล้ำคนหนึ่งเดินมาพูดกับข้าพเจ้า. บอกว่าดูคุณจะสนใจศิลปะ ฉันจะพาไปดูภาพหนึ่ง. ข้าพเจ้าเดินตามไป เธอชี้ให้ดูแสงสว่างที่ทะลุผ่านหน้าต่างกระจกสี ตรงไปที่หัวใจของพระแม่มารี ในภาพชื่อ “ความโทมมนัสแสนสาหัสเจ็ดครั้งในชีวิตพระแม่มารี” (ไม่แจกแจงล่ะนะ มันจะเป็นร่ายยาว).
ภาพสื่อความทุกข์ปานประหนึ่งถูกแทงด้วยปลายดาบคมกริบเจ็ดครั้ง. เจ้าหน้าที่คนนั้น บอกว่า นี่เป็นเวลาเดียวที่เห็นอย่างนี้นะ. แน่นอนเพราะแสงแดดเดินทางย้ายที่ต่อไป.
เทียบกับภาพข้างล่างนี้ ที่ข้าพเจ้าถ่ายหนึ่งชั่วโมงต่อมา. ในวงกลมๆเจ็ดวง วาดเหตุการณ์แต่ละเรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานใจอย่างสุดแสนแก่พระแม่มารีในฐานะแม่ที่มองเห็นความทุกข์ของพระเยซูลูกชาย.

      ข้าพเจ้าเดินดูโบสถ์ต่อไป สักครู่เจ้าหน้าที่คนนั้นเดินมาหาข้าพเจ้าอีก ยกหนังสือเล่มใหญ่หนึ่งเล่ม บอกให้ข้าพเจ้าเปิดดูได้เลย อยากถ่ายรูปก็ถ่ายได้. เป็นหนังสือปกแข็งแบบอาร์ตบุค กระดาษหนาอย่างดี ภาพสวย. เป็นหนังสือที่โบสถ์วางขาย. ข้าพเจ้าไม่คิดจะซื้อ หนังสือเกี่ยวกับวัด วิหาร โบสถ์ ข้าพเจ้าซื้อมาแล้วเป็นร้อยเล่มก็ว่าได้ และได้มอบทั้งหมดให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญไปแล้ว เมื่อตัดสินใจหยุดเขียนเรื่องคริสต์ศิลป์ (หลังจากได้เขียนหนังสือเรื่อง เข้าใจโบสถ์ฝรั่ง ศาสนศิลป์ยุคกลางในยุโรป จบไปแล้วเมื่อยี่สิบปีก่อน). ข้าพเจ้าไปนั่งที่เก้าอี้ เปิดหนังสือ กวาดตาดูภาพไปทีละหน้าๆจนจบทั้งเล่ม. ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ข้าพเจ้าคุ้นเคย ภาพชีวิตพระเยซู ของพระแม่มารี ของนักบุญคนต่างๆ. ได้ถ่ายรูปไว้สองสามภาพ เป็นภาพผังการก่อสร้างโบสถ์นักบุญนิโกลัส. จบแล้วเอาหนังสือไปคืนให้คุณคนนั้น. แล้วก็เดินดูโบสถ์ต่อไป.
       คุณคนนั้นเดี๋ยวๆก็แวะมาคุยด้วยอีก เธอมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและขายหนังสือหรือของที่ระลึกของโบสถ์. เพราะตอนนั้น มีไม่กี่คนในโบสถ์ จึงเดินมาคุยกับข้าพเจ้า. เล่าว่าดั้งเดิมมาจาก L’Île Maurice มาอยู่สวิสสิบกว่าปีแล้ว. ถามข้าพเจ้าว่า เป็นชาวคริสต์หรือเปล่า ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้ายึดความดีเป็นสรณะ. เธอบอกว่าเช่นกัน คนเราจะนับถือศาสนาอะไรไม่สำคัญ แต่ทำดีไปตลอด จิตใจแจ่มใส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่นๆเท่าที่ทำได้. แล้วเธอเสนอพาข้าพเจ้าเข้าไปในบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของโบสถ์ ซึ่งปิดอยู่ และไม่เปิดให้ทุกคน. ข้าพเจ้าลังเล บอกว่าไม่เป็นไร อาจไม่สมควร. เธอบอกว่า เข้าไปกับเธอได้. แล้วก็จัดการพาเดินไปที่หัวโบสถ์ เปิดกุญแจ พาข้าพเจ้าเข้าไป.
      ข้าพเจ้ายืนคารวะหน้าแท่นบูชา พิจารณางานแกะสลักที่ประดับพนักพิงหลังของแถวเก้าอี้ของนักบวช ที่เท้าแขน ทั้งหมดเป็นไม้จำหลักที่เห็นเค้าว่ามีลวดลายละเอียด แต่การนั่งการถูไถของมือตลอดเวลาหลายศตวรรษ ทำให้ไม้อ่อน ลวดลายกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ลูบคลำเก้าอี้ไม้เหล่านั้นดู นุ่มมือจริงๆ. แล้วเธอชี้ให้ข้าพเจ้าไปหยุดที่ตรงจุดทองสัมฤทธิ์จุดหนึ่งบนพื้น บอกว่าจุดนั้นเป็นจุดใจกลางที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด. มีผู้คนเดินทางเป็นขบวนจาริกแสวงบุญเพื่อมายืนขอพรจากพระแม่มารีตรงจุดนี้. บอกให้ข้าพเจ้ายืนตรงจุดนั้นและตั้งจิตอธิษฐาน. ข้าพเจ้าทำตาม และขออนุญาตถ่ายรูปว่าตรงกับจุดนั้น เหนือขึ้นไปบนเพดานสูง มีอะไร ภาพอะไร.

วงกลมท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม มีดวงดาวระยิบระยับสีทอง. ใต้ท้องฟ้า มีรูปจำหลักเป็นรูปพระแม่มารีสองภาพ. ภาพบน รูปพระแม่มารี มือถือดาบและใบปาล์ม. ภาพล่าง รูปพระแม่มารี มือถือถ้วยเหมือนมีอะไรในถ้วย(แน่นอนเพดานโบสถ์สูงมาก ภาพจึงไม่ชัดพอ) ซูมไปจนสุดแล้ว. หากให้ข้าพเจ้าตีความ รูปแรกเป็นพระแม่มารีผู้ปราบผู้อุทิศตนเพื่อศาสนา และภาพที่สองเป็นพระแม่มารีผู้ให้.
      สักพักก็ออกมาจากหัวโบสถ์ ข้าพเจ้าบอกเธอว่าต้องออกไปดูหน้าบันทิศใต้ของโบสถ์ว่า จำหลักอะไรไว้. แล้วก็ลาเธอ เดินออกไปด้านทิศใต้ ยืนพิจารณาและถ่ายรูปรูปปั้นที่ประดับตรงนั้น.  สักครู่ เห็นเธอเดินมาที่ข้าพเจ้า ยื่นมือมา ข้าพเจ้ายื่นมือออก เพื่อจับมืออำลากัน แต่เธอวางจี้พระแม่มารีที่โบสถ์ทำ(ขาย)ให้แก่สาธุชน ลงในมือข้าพเจ้าข้าพเจ้าพูดอะไรไม่ออก มือขวากำเหรียญพระแม่มารีที่เธอนำมามอบให้ ขึ้นประทับบนหน้าอกด้านซ้าย. เธอเดินจากไป.
คนๆหนึ่งที่มีใจเอื้อเฟื้อ อยากทำอะไรให้นั้น ต้องรับไว้และรู้สำนึกในความดีนั้น
การปฏิเสธ เหมือนไม่แยแสกับความตั้งใจดีของคนๆนั้น ปิดโอกาสการทำดีของเขา.     
อาคารเทศบาลนครฟรีบูร์ก สวยงามทีเดียว เงียบสงบ ได้เดินไปนั่งพักในร่มเงาหลายครั้ง. หอนาฬิกาแม้จะไม่มีตัวหุ่นกล แต่ตีระฆังเสียงก้องกังวานไปไกล บอกเวลาสม่ำเสมอผ่านศตวรรษมาแล้วเหมือนกัน. ที่เมืองนี้ เป็นครั้งแรก ได้ยินเสียงระฆังบอกเวลาถึงห้องนอนเลย เพราะโรงแรมอยู่ไม่ไกลกัน. รู้สึกดีเหมือนอยู่ในหมู่บ้านยุคก่อนๆ.  วันอาทิตย์มีรถขายขนมมาจอดหน้าศาลาเลย. สระน้ำพุ ก็เป็นน้ำดื่มได้ คนเอาขวดปลาสติกมาเติมน้ำ. จริงๆแล้ว ในสวิสไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำขวดดื่มเลย น้ำเขาดีมีคุณภาพแน่นอนอยู่แล้ว. บริเวณหน้าศาลาเทศบาลนี้ มีต้นไลม (Lime tree /  tilleul / linden) ต้นใหญ่. แผ่นป้ายโลหะตรงหน้าต้นไม้ จารึกข้อความอธิบายว่า ต้นนี้เป็นต้นลูกที่ปลูกขึ้นจากกิ่งต้นแม่ที่อยู่ตรงนั้นมาห้าร้อยปี. ต้นแม่ที่เคยเป็นพยานของสงครามกับความร่วมมือระหว่างชาวเมืองฟรีบูร์กกับชาวเมืองสวิสอื่นๆ ในการขับไล่ทหารฝรั่งเศสออกไปจากเมืองได้สำเร็จเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนปี 1476 ฯลฯ. ต้นลูกนี้ปลูกลงดินเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1984 และเจริญงอกงามดังที่เห็นในภาพ.
    เห็นรายชื่อพิพิธภัณฑ์ต่างๆ จำได้ว่าเคยเข้าไปชมแล้วหลายแห่ง ยกเว้นพิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้าที่ไม่เคยรู้ว่ามี กระตุ้นความอยากรู้ เดินตามไปดู เห็นประตูปิดสนิท เหมือนว่าไม่เคยมีคนเข้าไป มีแผ่นพับเอกสารหรือใบโฆษณากองๆที่หน้าต่าง. หรือเพราะขาดเจ้าหน้าที่เฝ้าพิพิธภัณฑ์ จึงปิดตลอดเวลา. รู้ทีหลังว่า อยากชมพิพิธภัณฑ์นี้ ต้องโทรนัด จึงจะมีคนมาเปิดและพาชม. รู้สึกว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ไม่มีพนักงานประจำ. พิพิธภัณฑ์ Gutenberg ก็เช่นกัน ปิดสนิท หลายคนเดินไปที่นั่น ต้องผิดหวังและจากไป. ข้าพเจ้านั่งเล่นสูดอากาศหน้าพิพิธภัณฑ์สักพักใหญ่ ไม่มีอะไรดีกว่านี้. แล้วเดินลัดเลาะไปตามถนนเล็กๆในเมือง เห็นหน้าร้านขายเสื้อผ้าร้านนี้ ต้องถ่ายรูปไว้.
ลังปลาสติกสีฟ้า ลังสะอาด มีเสื้อผ้าในนั้นสองสามตัว (ไม่ได้คุ้ยดูหรอก ประมาณเอา). ลักษณะเสื้อสีฟ้าที่วางแบบนั้น บอกให้รู้ว่ามีคนหยิบขึ้นดู แล้วทิ้งลงในลัง มิได้พับให้เรียบร้อย. ดูเหมือนจะมีรองเท้าบู๊ตสั้นด้วยลังมีข้อความเขียนไว้ว่า “สำหรับให้” พร้อมคำเชิญชวนให้หยิบไปได้เลย ข้อความในวงเล็บว่า กรุณาเหลือลังไว้ ขอบคุณ. กวาดตาดูเสื้อวูลสีฟ้าสวย ยังดีๆอยู่ ไม่มีรู ไม่ขาดวิ่นหรือเก่าสกปรกเลย.
     เดินไปถึงสะพานใหญ่แห่งหนึ่ง (Zähringen ข้ามฝั่งแม่น้ำ Sarine) จากสะพานนี้มองเห็นหลายสะพานของเมือง. Fribourg ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสะพาน มีทั้งหมด 17 สะพาน (มีรายละเอียดที่เปิดดูได้จากเน็ต). แม่น้ำ Sarine ไหลโอบและอ้อมล้อมเมือง เกือบเป็นวงกลม. บนราวสะพานหิน มีข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับสะพานที่เห็นจากสะพาน Zähringen นี้. เป็นป้ายข้อมูลที่ติดไว้อย่างถาวร ใช้วัสดุแบบกันแดดกันฝนอย่างดี.
ยืนมองสะพานอื่นๆในเขตเมืองเก่าของฟรีบูร์ก จากสะพานนี้ที่ชื่อว่า Zähringen
ฝั่งซ้ายของสะพาน Zähringen เห็นสะพานที่มีเสาสองง่าม ชื่อว่า Pont de la Poya เป็นสะพานล่าสุดของเมือง เชื่อมเขตเมืองฝั่งนี้ที่ตั้งเมืองเก่าและที่ตั้งโบสถ์นักบุญนิโกลัซ เป็นเขตเมืองที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสล้วน กับเขตของจังหวัดที่ใช้ภาษาเยอรมันและหรือฝรั่งเศส (สะพานเปิดใช้ในปี 2014). ส่วนสะพานล่างเป็นสะพานแขวน หาข้อมูลชื่อไม่พบ.
ในภาพนี้ ตอนบน เห็นสะพาน Pont du Gottéron และตอนล่าง คือสะพานไม้ชื่อ Pont de Berne ที่ทำให้นึกถึงสะพานไม้เมืองลูเซิน. ทั้งสองสะพานใช้สัญจรไปมาจริงระหว่างสองฝั่ง. เห็นประตูเมืองเก่า มีถนนตัดทะลุ สร้างระหว่างปี1270และ1290. อาคารบ้านเมืองสวิสส่วนใหญ่ตั้งบนไหล่เขา จึงมีหลายระดับ ซึ่งประเทศบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างชาญฉลาดและรักษาธรรมชาติกับระบบนิเวศไว้ได้อย่างวิเศษ. ไม่ว่าจะไปไหนในเมืองหรือนอกเมือง บนเขาหรือไม่ จึงคือการขึ้นๆลงๆเสมอ.
นี่คือ Pont de Berne เป็นสะพานไม้ มีหลังคา ดั้งเดิมขาหยั่งของสะพานเป็นไม้ซุง. สะพานที่เห็นในปัจจุบัน สร้างและบูรณะปี 1653 เปลี่ยนเสาหลักกึ่งกลางสะพานเป็นหิน และเปลี่ยนใหม่อีกในระหว่างปี 1853-54. หลังคาก็เช่นกันปูไม้ใหม่ในปี 1885. เป็นสะพานแรกของเมือง และเป็นสะพานที่มีหลังคาที่เหลือสะพานเดียวในจังหวัดฟรีบูร์ก.
      ไม่ไกลกันตรงหัวมุมถนน เห็นคนเดินหายลงไป. ตามไปดู เป็นบันไดยาวลึกลงไปๆ ไม่รู้ถึงไหน คงลงไปที่เมืองระดับล่าง. จะลงไปไหมนะ ลงแล้วก็ต้องเดินขึ้นมาสินะ โรงแรมเราอยู่ระดับบนของเมือง. ไม่ไหวหรอก โชเอ๋ย! ชายกลางคนๆหนึ่งผ่านมา จะลงบันได. พูดกับข้าพเจ้าว่า จะถ่ายรูปให้ได้นะ. ข้าพเจ้าบอกว่าไม่เป็นไร. เขาพูดยืนยัน ถ่ายไว้เถอะ มุมนี้มุมประวัติศาสตร์นะ. เห็นความตั้งใจที่อยากให้เรามีภาพ เพราะไปคนเดียว จึงไปยืนหัวบันได ยื่นกล้องให้เขาถ่ายรูปให้. ในเวลาน้อยกว่าหนึ่งเสี้ยววินาที ข้าพเจ้าได้ภาพนี้ นั่นเป็นภาพตัวเองภาพเดียวที่มีจากสวิส และเป็นภาพที่“ดูดี”ด้วย.
วันนั้น ฝนตกพรำๆทั้งวัน โรงแรมมีร่มให้ใช้ สีขาวแดงตามสีธงชาติสวิส บนร่มมีชื่อโรงแรมด้วย. ทางขึ้นลงเล็กๆนี้ ทำเป็นขั้นบันได ควบคู่กับทางพื้นหน้าราบ ปูด้วยก้อนหินต่อๆกัน ตามวิธีการสร้างถนนในยุคก่อน. เขานึกเตรียมสำหรับผู้ใช้รถเข็น ไม่ว่ารถเข็นเด็ก คนแก่หรือรถเข็นส่งของ แต่ไม่ใช่สำหรับรถยนต์ เพราะทางชันทีเดียว.  
หัวมุมสะพาน Zähringen เห็นป้ายนี้ติดไว้ เขียนไว้สองภาษา เยอรมันกับฝรั่งเศส.
ข้อความดังนี้ “สิ้นหวังหรือ? หยุด (ขออธิบายเพิ่มว่า คือหยุด อย่าทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย เช่นกระโดดสะพาน คงเคยเกิดขึ้น) โทรเบอร์ 143 มีมือพร้อมยื่นมาช่วย(คุณ)”.
เห็นความเอื้ออาทรในอุปนิสัยใจคอของชาวเมืองและชาวสวิส. ข้าพเจ้าได้ประจักษ์กับตัวเองบ่อยๆในสวิส. ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มีการตั้งเครือข่ายจิตอาสาผู้รับฟังความทุกข์ของคนอื่น. ชาวสวิสเข้าทำงานจิตอาสาในแขนงต่างๆจำนวนมาก ตัวอย่างอี๊ดนงลักษณ์เพื่อนเรา ผู้ผลักดันและประคับประคององค์กรเครือข่ายสตรีไทยในยุโรปมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้.

      อีกกรณีหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึง ด้วยความหวาดหวั่นด้วยกระมัง. ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้เมื่อห้าหกปีก่อนว่า สวิสดูเหมือนจะเป็นประเทศแรก(และอาจยังคงเป็นประเทศเดียว) ที่มีบริการช่วยผู้ป่วยให้ตายอย่างสงบ ตามความต้องการของผู้ป่วย (assisted suicide). การแพทย์ ศาสนา(ศีลธรรม)และกฎหมาย ยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ป่วยหนักที่แพทย์หรือเทคโนโลยีใดช่วยไม่ได้แล้ว และครอบครัวหรือญาติสนิท (รวมทั้งผู้ป่วยเองด้วย) ต้องการยุติ ชีวิตผัก นั้น(euthanasia). เกือบทุกประเทศถือว่า การกระทำนี้ผิดกฎหมายและผู้ที่เข้าไปมีส่วนในการช่วยให้ใครตาย จักได้รับโทษอาญาตามกฎหมาย. ยังมีกรณีที่ผู้สูงวัย ขอสิทธิ์ตายตามกำหนดเวลาที่เขาเลือก ด้วยวิธีที่เขาเลือกและในสภาพแวดล้อมที่เขาเลือก ด้วยการขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากแพทย์หรือจากคนอื่น. แทนการทำร้ายตัวเองอย่างทรมานตามลำพัง เช่นกินยาพิษหรือยานอนหลับจำนวนมาก แขวนคอตาย ยิงตัวตาย กระโดดตึกตายเป็นต้น.
      กรณีเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า จิตสำนึกเกี่ยวกับความตายของชาวตะวันตกได้พัฒนาควบคู่ไปกับจิตสำนึกเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน. คนกระทู้ถามสังคมว่า ในที่สุดเอกบุคคลมีสิทธิ์เหนือชีวิตของเขาเองหรือไม่? ทำไม คนอื่น อีกหลายฝ่ายที่ผู้อยากตายมิเคยรู้จักคุ้นเคย ต้องเข้าไปยุ่งกับความตายส่วนตัวของเขา? ทำไมในเมื่อแต่ละคนต้องรับผิดชอบต่อชีวิตทั้งในด้านการหาเลี้ยงชีพและในด้านจริยธรรม แต่ขอตายตามกำหนดเวลาที่เขาต้องการ ขอตายด้วยจิตสำนึกที่แจ่มกระจ่าง ด้วยการยอมรับความตายอย่างสงบ ทำไมการขอตายอย่างสวยงามอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น เขากลับไม่มีสิทธิ์?  สิทธิของการอยู่น่าจะควบคู่ไปกับสิทธิของการตายหรือไม่? 
       สวิตเซอแลนด์ดูเหมือนจะยังเป็นประเทศเดียวที่มีองค์การเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือ การหยุดชีวิต แบบนี้ และได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องในประเทศ เพื่อกระตุ้นประชาพิจารณ์และในที่สุดนำไปสู่การทำประชามติ. ผลคือชาวสวิสเกือบทั้งหมดเห็นว่า ควรจะเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องยอมรับ และให้รัฐบาลบัญญัติข้อบทกฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจง พร้อมเงื่อนไขอย่างละเอียด เพื่อมิให้มีทางรั่วใดๆที่เปิดช่องทางที่นำ ไปสู่การก่ออาชญากรรมเพื่อผลประโยชน์จากผู้ตายเป็นต้น. ชาวสวิสส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยนั้น มาจากอุดมการณ์ด้านศาสนา มาจากศีลธรรมส่วนตัวของพวกเขาเป็นสำคัญ. ในที่สุดประเทศสวิตเซอแลนด์ได้บัญญัติกฎหมายออกมาแล้ว(มิถุนายน 2012) พร้อมรายละเอียดและเงื่อนไขทุกแง่ทุกมุม. กฎหมายนี้บังคับใช้ในโรงพยาบาล คลินิกและองค์การเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น.  กระบวนการช่วยผู้ตายแนวนี้ อาจทำได้ในโรงพยาบาล คลินิกหรือในบ้านพักส่วนตัวของผู้ป่วย. ประเทศสวิตฯยังเป็นประเทศเดียวที่องค์การบางแห่ง รับผู้สมัครเข้ารับบริการจากต่างประเทศ(ใต้เงื่อนไขบางประการ). เห็นอุดมการณ์และเจตนาดีของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ต้องเริ่มเก็บเงิน
(ผู้สนใจติดตามอ่านรายละเอียดได้ที่ www.dignitas.ch หรือองค์การ EXIT A.D.M.D. ที่ www.exit-geneve.ch )

     ริมฝั่งทะเล ข้าพเจ้าเหมือนทอดตัว ยืดขยายไปในความไม่สิ้นสุด เหมือนนอนลอยตัว รู้สึกเบาไร้น้ำหนักบนผิวน้ำ ไม่มีอะไรหนักๆทับ ความรู้สึกโล่ง จิตโปร่งใสเหมือนท้องฟ้าเบื้องบน. นี่เป็นผลขั้นเริ่มต้นของการปล่อยวางหรือเปล่านะ?
      บนภูเขา (หรือพื้นที่ขึ้นๆลงๆ) ร่างกายกับจิตใจกำลังสู้ ต้านแรงศูนย์ถ่วง แต่ละก้าว คือการผลักตนเองไปข้างหน้า ไปยังเป้าหมาย. การขึ้นไปในที่สูง ฝึกความมุ่งมั่นให้ไปถึงที่หมาย จิตไม่ผ่อนคลาย. การไปภูเขา กระตุ้น จี้ ให้ก้าวต่อไป สูงขึ้นๆ เพื่อให้ถึงจุดพัก เหนื่อยทั้งกายและใจ. ปีนี้ในวัยนี้ รู้ว่าหัวใจและปอด ต้องทำงานหนักมาก หยุดหอบบ่อยๆ. สงสารร่างกายที่รับใช้ความอยากรู้อยากเห็นอยากเรียนของข้าพเจ้ามานาน. สงสารจริงๆ มันควรจะได้เวลาเกษียญแล้ว. ข้าพเจ้ากวาดตาไปโดยรอบตัว จินตนาการพื้นที่ เนินเขากี่ลูก ที่เคยไปมา ยามนั้นในวัยที่แก่น้อยกว่าปีนี้ คงเหน็ดเหนื่อยมากเช่นกัน แต่มิได้เหลือไว้เป็นเสียงเตือนว่าให้หยุดไปไหนมาไหนได้แล้ว หัวใจและปอดไปไม่ไหวแล้ว. ปีนี้ ได้สำนึกอย่างสิ้นสงสัย ลาแล้วสวิส
ความทรงจำดีๆจากสวิส จักติดอยู่ในจิตวิญญาณไปชั่วกาลนาน.

      ได้เวลาเดินทางกลับบ้านเกิด. จับรถไฟสายตรงไปจากเมืองฟรีบูร์กถึงสนามบินซูริค. เครื่องบินออกห้าหกทุ่ม. ไปก่อนเวลาตั้งเจ็ดแปดชั่วโมง ถึงเร็วกว่าที่คาดไว้. รอให้เขาเปิดเช้คอินกระเป๋าเดินทาง ยังมีเวลาอีกมาก เดินไปมาในสนามบิน มีร้านค้ามากมาย. ไม่สนใจอะไรเลย. เห็นแผนกอาหารเป็นแบบฟู้ดคอร์ต มีอาหารเอเชีย. เดินเข้าไปใกล้ๆ ได้ยินคนขายชายหญิงหลายคนพูดภาษาไทยกัน. ข้าพเจ้าสั่งข้าวผัดหมูมากินหนึ่งจาน (18 CHF). เขาผัดให้เดี๋ยวนั้น ใครสั่งจึงทำ. ข้าวผัดหมูอร่อยทีเดียว หมูก็สด ผัดกระเทียมมา มิใช่ต้มสุกแล้วหั่นผัดกับข้าว. พอใจเกินความคาดหมาย หรือเพราะเซลล์ใฝ่หามาตุภูมิ มองไปที่ร้านอาหารอิตาเลียน อาหารเบอเกอร์ทั้งหลาย แล้วเมิน. กินข้าวผัดอร่อยกว่าเยอะ. แล้วเดินย่อยอาหารไปๆมาๆ ในห้องโถงหลายชั้น หลายอาคาร. เห็นว่าเวลาห่างจากที่กินข้าวผัดไปแล้วสี่ชั่วโมง ตัดสินใจไปกินก๋วยเตี๋ยวน้ำอีกชาม (17 CHF). นิสัยคนไทย ให้ร้อนยังไง ก็ยังชอบกินอาหารร้อนๆอยู่นั่นเอง. สั่งก๋วยเตี๋ยวแล้วยืนคอยรับตรงนั้นเลย. ห้าโมงเย็น ไม่ใช่เวลากินของคนทั่วไป คนน้อยลงไปมาก. คนขายหญิงพูดกับคนขายชายว่า คนนี้มากินเป็นรอบที่สอง. ข้าพเจ้าไม่พูดอะไร คิดในใจว่า ถ้าคอยอยู่ข้างนอกถึงห้าทุ่ม อาจกินอีกเป็นรอบที่สาม. ได้ชามก๋วยเตี๋ยว ซดน้ำแกงก่อนปรุง. คนขายผู้หญิงถามว่า Is it good? ข้าพเจ้าพยักหน้าเท่านั้น แล้วไปนั่งกินที่โต๊ะ.
      เสร็จเรียบร้อย ตัดสินใจเช้คผ่านตอมอ เข้าไปภายในสนามบิน เดินหาประตูขึ้นเครื่อง. นั่งคอยแถวนั้น. เบ็ดเสร็จวันนั้น มองดูนาฬิกานับก้าว เดินเกือบหมื่นก้าว เฉพาะภายในสนามบินซูริค. ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า สนามบินกว้างเพียงใด. เดินดูร้านปลอดภาษี ไม่ได้อยากซื้ออะไร เงินแฟรงค์ก็ไม่เหลือแล้ว หลังจากที่เทกระเป๋าซื้อ macarons Sprüngli and Lindt ช็อกโกแล็ตแล้ว ไม่เหลือแม้แต่เซ็นต์เดียว. ความจริงกล่องขนมที่เลือกสองกล่อง ข้าพเจ้ามีเงินไม่พอ ขาดไปหนึ่งแฟรงค์. ถามคนขายเด็กสาวสวิสสวิส(ไม่ใช่ลูกครึ่ง) ว่าให้หนึ่งยูโรแทนได้ไหม (หนึ่งยูโรมีค่ามากกว่าหนึ่งแฟร็งค์สวิสนิดหน่อย). แม่หนูยิ้มๆ บอกว่าเธอยินดีรับเงินสวิสเท่าที่ข้าพเจ้ามีให้. นี่เป็นอีกตัวอย่างของความใจดี(ฉับพลันแบบไม่ต้องหยุดคิด)ของคนสวิส. นึกถึงใบหน้าคนสวิสสวิสบนท้องถนนหรือที่ป้ายรถเมล์ ที่ข้าพเจ้าหยุดถามข้อมูล. รู้สึกได้ชัดเจนว่า ชาวสวิสสวิสใจดี พร้อมจะช่วย พร้อมจะพูดคุยด้วย. มองสีหน้าแววตา เหมือนเห็นหน้าต่างชาเลต์ที่เปิดออกรับสายลมและแสงแดด และชาวสวิสนำผ้าห่มนวมพาดตรงขอบหน้าต่างผึ่งลมผึ่งแดดในวันอากาศดี. วิถีธรรมชาติ วิถีจิตใจของคนเปิดกว้าง มองโลกในแง่ดี. เช่นนี้การหยุดถามพูดคุยกับชาวสวิสเอง จึงมีอรรถรส ที่ไอโฟนหรือสมาร์ทโฟนไม่มีให้. ที่สวิส คงเหมือนที่อื่นใดในโลก บนถนน ผู้คนเดินดูมือถือ ยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยิ่งก้มหน้าเกือบติดจอตลอดเวลา.    
      พอเข้าไปในเครื่องบิน เจ้าหน้าที่นำแชมเปญมาเสริฟ ข้าพเจ้าดื่มหมดแก้ว ขยับตัวเตรียมนอน. กำลังเคลิ้มๆ ถูกปลุกให้กินอาหารมื้อเย็น ตอนตีหนึ่งกว่าๆ. โดยอัตโนมัติ ทุกคนตื่นขึ้นนั่งและกิน. ข้าพเจ้ากินไปสองสามคำ แล้วนอน. เจ้าหน้าที่ออกจะเสียใจ ถามว่าไม่อร่อยหรือ เปลี่ยนอาหารจานอื่นแทนไหม. ข้าพเจ้าบอกว่าเขาทำอร่อย แต่นี่ไม่ใช่เวลากินของฉัน. แล้วหลับต่อและหลับสบายทีเดียว แต่ไม่ทันได้สามชั่วโมง เสียงกัปตันปลุกทุกคนว่า เครื่องบินกำลังจะลงจอดท่าอากาศยานเมืองดูไบ เข้าเทียบประตู C เลขเท่านั้นเท่านี้. ข้าพเจ้าต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ประตู A เลขแปด. มีเวลาชั่วโมงครึ่ง เดินจากประตู C ไปประตู A แวะเข้าห้องน้ำ เดินตามเส้นทางที่เขาชี้ไป ทั้งเดิน ขึ้นลงบันไดเลื่อน ต่อรถไฟไปอีกไกล จนนึกว่าออกนอกเมืองไปอีกสนามบินหนึ่ง. ในที่สุดมาถึงประตู ที่จะต่อเครื่องบินมากรุงเทพฯ ก็พอดีเขาประกาศเรียกเข้าเครื่องได้. เดินมาเรื่อยๆไม่ได้หยุด แค่แวะห้องน้ำ ทั้งหมดใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง. ครั้งหน้า หากต้องแวะสนามบินดูไบ โชติรสเอ๋ย ขอรถเข็นเขาเลยเคยแวะดูไบ ไปเที่ยวมาก็แล้ว มันไม่สาหัสสากรรจ์เท่าปีนี้นี่ไม่ใช่โลกฉันแล้ว.

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
๒ กันยายน ๒๕๖๑.

3 comments:

  1. บันทึกเดินทาง ภาคสิงขร
    ขึ้นๆลงๆในมุมหนึ่งของเทือกเขาแอล์ป
    สวิส ประเทศเล็ก หัวใจครอบจักรวาล
    ติดตามไปบนเส้นทางสั้นๆปีนี้
    บันทึกเดินทาง บันทึกชีวิต
    จริงใจกับตัวตน ซื่อสัตย์ต่อความทรงจำ

    ReplyDelete
  2. อ่านทุกตัวอักษรของโช เรารู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุขไปกับสิ่งที่โชพรรณนา ตั้งแต่เส้นทาง วิถีการเดินทาง การพบปะผู้คน จนถึงความมีน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ อาจเป็นเพราะเราคุ้นเคยกับบรรยากาศแบบนี้สมัยเรียนหนังสือก็เป็นได้ สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากในการกลับไปสู่โลกกว้างแบบนีิอีก แต่ก็เกรงใจสังขารพังๆของตัวเองเหมือนกัน นอกจากนี้ โชทำให้เรานึกถึงในหลวงและอิ่มเอมใจที่ทรงเจริญพระชนม์ท่ามกลางบริบทที่งดงามของสวิตทั้งธรรมชาติและผู้คน

    ReplyDelete
    Replies
    1. ดีใจที่สัมผัสความคิดคำนึงที่ครรลองเดียวกันค่ะ
      โชคดีมาก หากใครได้อยู่ประเทศสวิส อยู่อย่างรู้คุณค่าของทุกสิ่ง และหลอมเข้ากับอุดมการณ์ของเขาที่เน้นมาตรฐานความเป็นคนสูงมาก. อยู่และทำประโยชน์ต่อยอดไปด้วย ก็จะเป็นความอิ่มเอมใจสูงสุด ในฐานะผู้รับและผู้ให้
      ขอบคุณที่เขียนมาคุยกันค่ะ

      Delete