สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๒.
ปีใหม่นี้
ถึงจังหวะชีวิตที่เราพึงเพิ่มการบำเพ็ญภาวนาเข้าในชีวิตประจำวัน
ที่จักนำความเบิกบานใจในความสุขสงบและความแจ่มกระจ่างในปัญญา…
ขอใช้จิตรกรรมนี้ชี้นำทางทุกท่านที่เข้ามาเยือนเฟสบุ๊คค่ะ
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๒.
จิตรกรรมสีสันสวยงามภาพนี้
เป็นผลงานของ Nicolas Poussin [นิกอลา ปุซแซ็ง] (ชาวฝรั่งเศส เนรมิตขึ้นในระหว่างปี 1634-1636).
เช้าตรู่ มีรถเทียมม้าสี่ตัวเหาะผ่านท้องฟ้า. ร่างของเทพอพอลโล สว่างเด่นชัดเป็นประกายสีทอง สองมือจับวงแหวนที่อาจโยงไปถึงดวงอาทิตย์หรือกลุ่มดาวจักรราศี. เทวีแห่งอรุณรุ่ง “ออโรรา”(Aurora) นำขบวนรถม้าของเทพอพอลโล มีเทวดาผู้กำกับชั่วโมง (Hours) เป็นสารถี (คนสวมเสื้อสีฟ้า). เห็นกลุ่มคนจับมือลอยล่องตามไปรอบๆรถม้าเป็นวง
พวกเขาคือชั่วโมง สื่อการผ่านไปของแต่ละชั่วโมง. ขบวนของเทพอพอลโล จักโคจรข้ามท้องฟ้าเช่นนี้เป็นวงจรยี่สิบสี่ชั่วโมง.
ด้านซ้ายของภาพ มีเสาหินสูงตั้งตรง. ตอนบนจำหลักใบหน้าไว้สองหน้า ใบหน้าหนึ่งที่หันออกไปทางซ้าย ไม่มีหนวดเครา
เป็นใบหน้าวัยหนุ่มฉกรรจ์ กับอีกใบหน้าหนึ่งมีหนวดเคราของผู้มีวัยวุฒิ. ในเทพปกรณัมกรีก รูปปั้นลักษณะนี้คือเทพจานุส (Janus) ที่มาเป็นชื่อเดือน January เป็นจุดเริ่มต้นของวันเวลา.
เทพนี้เป็นเทพปิดเปิดประตูกรุงโรม เปิดประตูยามสงครามและปิดยามสงบสันติ
โดยปริยายจึงอาจโยงให้เป็นตัวแทนของสงครามและสันติภาพ. ต่อมาค่านิยมเบนไปเน้นการปิดท้ายปีเก่าเหมือนวัยชราที่จบลง ต้อนรับปีใหม่เหมือนวัยเยาว์ที่จักวิวัฒน์ต่อไป.
ปุซแซ็งเจาะจงเสนอให้ใบหน้าวัยชรามองไปทางกลุ่มคนที่เต้นรำวงอยู่
ส่วนใบหน้าวัยหนุ่มมองออกไปนอกกรอบ สู่ความเป็นไปได้อื่นๆหรือมิใช่? ความเป็นทวิภาคของจานุซ
ยังอาจทำให้คิดถึงสองด้านของเหรียญ ความสว่างกับความมืด ความหวังกับความผิดหวัง
ความสุขกับความทุกข์ ฯลฯ ที่สะท้อนสภาวะของความเป็นมนุษย์.
เด็กน้อยคนหนึ่งนั่งเป่าลูกโป่งสบู่ เกิดขึ้น ลอยขึ้นแล้ววับหายไปในอากาศ เหมือนพ่อหนูน้อยที่จะเติบใหญ่เป็นหนุ่มแล้วก็แก่ลงไปเรื่อยๆ.
ส่วนมุมล่างขวา เด็กน้อยอีกคนหนึ่ง
นั่งจ้องนาฬิกาทรายในมือ มองดูทรายที่ไหลลงๆ เหมือนกาลเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป
มิเคยหยุดนิ่งอยู่กับที่. นาฬิกาทรายในขวดแก้วเลขแปด ที่ตั้งขึ้นหรือคว่ำลง
ยังคงรักษารูปลักษณ์เดิมไม่เปลี่ยนแปลง. ส่วนบนและส่วนล่างมิอาจแยกออกจากกันได้ ต้องคู่กันไปเสมอ
จึงจะเป็นนาฬิกาทราย เหมือนใบหน้าคู่ของจานุซ. นาฬิกาทรายจึงสะท้อนความไม่มีที่สิ้นสุด.
ในขณะที่ เวลาหรือโครโนซ
(Chronos) ในร่างของชายชราเปลือย ปีกใหญ่ที่หลัง(นึกถึงสำนวนเวลาติดปีกบิน)
กำลังนั่งดีดพิณให้จังหวะ ตามองไปยังสี่คนที่จับมือเต้นระบำไปเป็นวง.
สี่คนที่อยู่ตรงกลางภาพ จากด้านซ้าย
สตรีที่ห่มผ้าสีฟ้าสดใส ใบหน้ายิ้มนิดๆ ผมยาวพริ้วไปตามการเคลื่อนไหว ศีรษะประดับมาลัยดอกไม้
ตาเหลือบมามองคนดู ท่าทางภาคภูมิใจและสุขใจ. เธอจับมือสตรีที่ห่มผ้าสีขาวๆ เห็นใบหน้าด้านข้าง งามอิ่มอวบ มีช่อข้าวแทรกด้วยไข่มุกในผมเปียที่รวบขึ้นเผยให้เห็นต้นคอ. สตรีคนถัดไปสวมชุดสีแสด มีผ้าโพกผมปิดทั้งศีรษะ
มือซ้ายอยู่ในมือของบุรุษที่อยู่ถัดไป. เขาเป็นชายคนเดียวในกลุ่ม
เห็นเต็มหลัง สวมผ้าสีเขียวขี้ม้าเข้มๆ ศีรษะสวมมงกุฎใบมะกอก.
สี่คนนี้หมายถึงอะไร มีนัยพิเศษไหม
เป็นฤดูกาลหรือ ใครเป็นฤดูไหน.
การตีความภาพสี่คนนี้ ยังคลุมเครืออยู่. มีผู้เจาะจงว่าหากมองทวนเข็มนาฬิกา สตรีคนแรกน่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ
คนที่สองเป็นฤดูร้อน คนที่สามคือฤดูหนาว และผู้ชายคือฤดูใบไม้ร่วง. หากคิดตามนี้ ฤดูสลับผิดวงจรปกติ
เพราะจากฤดูใบไม้ผลิ สู่ฤดูร้อน แล้วจะเป็นฤดูใบไม้ร่วงก่อนจึงจบวงจรด้วยฤดูหนาว.
จิตรกรเอกดั่งนิกอลาส์ ปุซแซ็ง ทำไมสลับฤดูกาลเป็นเช่นนั้นล่ะ?
นักวิจารณ์ศิลป์บางคน เลือกมองอีกแบบหนึ่งและตีความว่า สี่คนนี้สื่อวงจรชีวิต
เริ่มต้นด้วยชายที่เห็นด้านหลัง เขาคือชีวิตในยามยาก สตรีคนที่อยู่ด้านขวาคือชีวิตในยามทำงาน
สตรีที่อยู่ด้านซ้ายคือชีวิตในความมั่งมี และสตรีตรงกลางภาพคือชีวิตในความสุขสำราญ. ทำให้คิดต่อไปว่า ถ้าผู้ชายแทนชีวิตในยามยาก
มงกุฎใบมะกอกที่ปกติสื่อชัยชนะ จะให้หมายถึงการสู้กับชีวิตจนเอาชนะความยากลำบากหรือ?
เอาชนะด้วยการทำงาน(นัยจากสตรีคนขวา) จนมั่งมีศรีสุข(นัยจากสตรีคนซ้าย) แล้วเสพความสุขในชีวิต(นัยจากสตรีตรงกลางภาพ) หรือไฉน?
การตีความภาพนี้ยังไม่ถึงที่สุด มีผู้วิเคราะห์ ตีความภาพด้วยระบบตัวเลข บางคนโยงไปถึงดาราศาสตร์ อ้างทฤษฎี Harmonice Mundi ของ Képler ที่พิมพ์ออกมาในปี 1619 (ไกลนอกขอบเขตความเข้าใจสามัญชนที่มิได้เป็นนักดาราศาสตร์). เป็นยุคที่นักดาราศาสตร์ค้นพบการหมุนของดวงอาทิตย์
ของดาวเคราะห์ ของโลกรอบดวงอาทิตย์ และปฏิวัติความคิดที่หลงเชื่อกันมาตั้งแต่โบราณกว่าสิบเจ็ดศตวรรษว่า
ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก. เป็นยุคของกาลิเลโอ
ยุคของทฤษฎีใหม่ๆเกี่ยวกับธรรมชาติและแสง ยุคของการสร้างห้องมืด
(camera obscura) การเรียนรู้แสงหักเห บทบาทของกระจกและเลนส์ การสะท้อนแสงฯลฯ. ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นฐานข้อมูลใหม่ๆ
ที่ปัญญาชนอย่างปุซแซ็งย่อมได้รับรู้ พินิจพิเคราะห์ แล้วนำไปใช้ในเทคนิคการสร้างและประกอบรูปลักษณ์บนผืนผ้าใบของจิตรกร.
ภาพนี้จึงอ่านได้หลายระดับจากหลายมุมมอง.
ปุซแซ็งเอง คิดอย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีบันทึกส่วนตัวเกี่ยวกับงานชิ้นนี้
เขาอาจไม่ต้องการเจาะจงอะไรเลยก็ได้. การประกอบภาพของปุซแซ็งจึงยังคงเป็นปริศนา.
ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า จิตรกรรมนี้เป็นผลงานของ Nicolas Poussin ระหว่างปี 1634 -1636 เป็นจิตรกรรมที่
Giulio Rospigliosi
(ผู้ต่อมาคือสันตะปาปาเกลม็องที่เก้า Clement IX) เป็นผู้สั่งให้ทำ. เชื่อกันว่า เป็นผู้เจาะจงให้จัดภาพตามที่เขาต้องการด้วย (ซึ่งเท่ากับบังคับจิตรกร). ภาพนี้ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ Wallace Collection กรุงลอนดอน. ชื่อภาพรู้จักกันว่า A Dance to the Music of Time (เริงระบำตามจังหวะดนตรีแห่งกาลเวลา) ก่อนหน้านั้น ใช้ชื่ออ้างอิงไปถึงสี่ฤดู. เมื่อภาพนี้ถูกนำออกประมูลในยุโรปปี
1845 นั้น ใช้ชื่อเรียกว่า
La Danse des
Saisons (ระบำแห่งฤดูกาล) หรือ L’image de la vie humaine (ภาพชีวิตคน)
ตกลงเนื้อหาภาพจะเป็นอะไร สิ่งที่แน่นอนไม่มีข้อขัดแย้งหรือสงสัยคือ
นัยของกาลเวลาที่หมุนไปๆ. การหมุนอยู่ในลักษณะของวงกลม ที่มีรูปลักษณ์เจาะจงชัดเจนและสนับสนุน
เช่น ในการเต้นรำจับมือเป็นวงกลม ในฟองสบู่กลมๆที่หนูน้อยกำลังเป่า
ในวงแหวนที่สองมือของเทพอพอลโลประคองอยู่ ในการเคลื่อนไหวผ่านท้องฟ้าของขบวนรถม้าของเทพอพอลโลที่คือวงโคจรของดวงอาทิตย์เป็นต้น.
ในที่สุด ภาพลักษณ์ของเวลา คือการเจาะจงเตือนมรณานุสตินั่นเอง.
วัยเราที่ก็ผ่านไปๆ ชีวิตที่มีทั้งวัยว้าวุ่น วัยกังวล
วัยเสพยศฐาบันดาศักดิ์ วัยปล่อยแก่ สู่วัยปล่อยวาง. การมีสติรำลึกถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาและที่จะมาถึง
ควบคู่กับสำนึกเกี่ยวกับความตายที่คอยอยู่เบื้องหน้า ย่อมทำให้เราไม่ประมาทและตระหนักถึงผลกระทบของชีวิตนี้
ต่ออนาคตในภพชาติต่อๆไปด้วย.
วัยเราที่เริ่มพึ่งพายาสารพัดชนิดเพื่อสุขภาพ(และความงาม)
ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีสังเคราะห์หรือสมุนไพรธรรมชาติ. ยาแต่ละอย่างอาจดีกับคนๆหนึ่งแต่อาจมีผลลบกับอีกคนหนึ่ง
เพราะความพร้อมของระบบการดูดซึมในสรีระของแต่ละคนไม่เหมือนกัน.
ยาหนึ่งที่ใช้กับทุกคนได้และไม่มีผลข้างเคียงในเชิงลบใดๆ คือพระรัตนตรัย ที่เป็น
โอสถวิเศษ ดังเจาะจงไว้ในบทสวด สักกัตวา คาถาป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ.
เมื่อพิจารณาเนื้อหาในบทสวดนี้ ข้าพเจ้าสำนึกชัดเจนว่า หากเรายึดพระพุทธองค์ผู้เปี่ยมด้วยปัญญาธิคุณ
ผู้เกื้อกูลแก่เหล่าเทวดาและมนุษย์ พระองค์เป็นโอสถอันประเสริฐ. การเจริญรอยตามวิถีพุทธ ใช้ปัญญาเป็นคู่มือ
ย่อมทำให้เข้าใจโลก เข้าใจสถานการณ์ มองทะลุเปลือกสู่แก่นแท้ จึงอาจคลาดแคล้วจากทุกข์ทั้งหลาย. หากเรายึดพระธรรมอันบริสุทธิ์เป็นโอสถประจำใจ
ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมคลาดแคล้วจากภัยทั้งมวลด้วยความเป็นผู้ไม่ประมาท. และหากเราดำเนินชีวิตในความสมถะ
ในความพอเหมาะพอดี ดังเช่นพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ย่อมทำให้เราปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ. พระรัตนตรัยจึงเป็นโอสถวิเศษแก่เราทุกๆคนได้. ส่วนตัวแล้ว พยายามให้ทุกย่างก้าว
ย่างเท้าไปกับพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ : พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ.
เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๒ เป็นโอกาสดีที่จักได้ขอขมาพ่อแม่ ญาติ
ครูอาจารย์ เพื่อนและทุกคนบนเส้นทางชีวิตของข้าพเจ้า
หากข้าพเจ้าได้ทำอะไรเป็นที่ขุ่นเคืองใจแก่ใคร ด้วยกาย วาจาหรือในมโนสำนึก ขอให้ท่านเมตตา สละความขุ่นข้องหมองใจนั้น
มอบเป็นอภัยทานบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด.
เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน
เจริญใน ศีล สมาธิ ปัญญา ยิ่งๆขึ้นไปเทอญ.
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
ศกใหม่ ปีหมูร่าเริง ในโลกและในธรรม... ๒๕๖๒
ขอนำคำพรของพระไพศาล วิสาโล มาลงในนี้ ให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้เขียน ดังนี้ >>
ReplyDeleteเจริญพร คุณโชติรส
ขอบคุณมากสำหรับข้อเขียนที่เตือนให้ระลึกถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตตามวันเวลา
อาตมาสุขสบายดี พร้อมนี้ขออวยพรให้คุณโชติรสมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ไม่ถูกบีบคั้นโรคาพยาธิ
มีความสุขกับชีวิต รื่นรมย์กับสิ่งดีงามที่มีอยู่รอบตัว
อีกทั้งมีแรงบันดาลใจไม่เสื่อมคลายในการถ่ายทอดข้อคิดความเห็นที่ทรงคุณค่า
ธรรมและพร
พระไพศาล
๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑.
นำอีกบทความหนึ่งที่อธิบายสี่ฤดูของจิตกรคนเดียวกันมาลงที่นี่ ที่ทำให้ยิ่งเป็นปริศนาว่า ภาพ"เริงระบำกับดนตรี" ที่เคยอ่านเป็นสี่ฤดูนั้น มันต่างกันอย่างไร เชิญตามไปดูได้ในบล็อกนี้ >> https://chotirosk.blogspot.com/2015/03/heritage-from-poussin.html
ReplyDelete