ร่างกายคนเป็นของขวัญที่พิเศษสุด
บางครั้งทำให้เราเจ็บ ปวด ทรมานได้
แต่ร่างกายก็เป็นบ่อเกิดของความสุข ความเบิกบานแบบต่างๆ.
เหนือความรู้สึกทุกข์และสุข ร่างกายเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้โลกภายนอกตัวเรา.
ขนบประเพณีทางจิตวิญญาณที่ฝังรากหยั่งลึกมาแต่โบราณจนถึงยุคปัจจุบัน
เข้าร่วมมือและประสมประสานกับการแพทย์แผนใหม่
เพื่อช่วยให้เราปรับและหลอมเข้าอย่างสมดุลในร่างกายของเราเอง.
ความเข้าใจละเอียดเจาะลึกเกี่ยวกับคนในสามสถานะ(ร่างกาย
จิตใจและจิตวิญญาณ) จักเปิดเส้นทางเป็นเครือข่าย
ที่เผยให้เราตระหนักถึงรากเหง้าของคน และสำหรับผู้มีญาณวิเศษ(ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)
นำคนไปเชื่อมกับดวงดาวในจักรภพ.
ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
เหมือนการกระโดดบนผ้าขึงตรึงด้วยสปริง (trampoline) มันกระตุ้นจิตสำนึกของเราเกี่ยวกับร่างกายและการทำงานของร่างกาย,
ให้เราใช้ความเจ็บปวดนั้นสร้างปัญญา ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของเราเองให้ดีขึ้น,
เพื่อให้เรารู้จักควบคุมสุขอนามัยของเรา การกินอยู่ การใช้ชีวิตของเรา,
นำไปสู่การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นๆ, การบรรลุความสำเร็จในชีวิต และการอยู่อย่างมีความสุขในที่สุด.
การวิเคราะห์วิจัยในการแพทย์แขนง metamedicine และ epigenetics เป็นประเด็นสำคัญ
เป็นสนามวินิจฉัยโรคที่แพทย์และคนทั่วไปต้องนำไปคิดตรึกตรองให้เข้าใจถ่องแท้ชัดเจน.
Metamedicine (หรือที่บางคนใช้คำว่า
Meta-Health). ปัจจุบันแพทย์ที่ดีที่เก่งน้อยคน
จะหยุดอยู่ที่การพิจารณาวินัจฉัยความผิดปกติของร่างกาย จากสภาพทางกายของคนป่วยเท่านั้น
(เช่นตัวร้อน วัดอุณหภูมิ สั่งจ่ายยาลดไข้). อย่างน้อยที่สุด
เขาจะมองเชื่อมร่างกายกับจิตใจของคนป่วย. ส่วนแพทย์ที่เป็นคนเหนือคน ยังมองไกลกว่านั้น
เขาวางตัวผู้ป่วยในสนามที่รวมข้อมูลจากความผิดปกติของร่างกาย(หรืออวัยวะหนึ่งใด),
ข้อมูลจากสภาพจิตใจ, ข้อมูลจากสภาวะสมองและข้อมูลจากสภาพสังคมแวดล้อมของผู้ป่วย.
วิทยาศาสตร์สมัยใหม่สอนให้รู้แล้วว่า พื้นที่ในสมองพื้นที่หนึ่ง
ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เชื่อมโยงไปถึงสภาพจิตหรืออารมณ์แบบหนึ่ง
และเป็นผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในวิถีชีวิตแบบหนึ่งด้วย.
ความรู้ทั้งหมดดังกล่าวรวมกัน เป็นศาสตร์ที่เรียกกันว่า Metamedicine.
Meta จากคำในภาษากรีก แปลว่า «เหนือกว่านั้น เหนือขึ้นไป». ศาสตร์การแพทย์แขนงนี้ จึงจับประเด็นของจิตสำนึก(the
conscient), จิตใต้สำนึก (the subconscient) และวิญญาณสำนึก (the inconscient) ด้วย.
(Meta ทำให้นึกถึงคำ metta เมตตา ในภาษาบาลี นัยความหมายของคำนี้
เป็นกุญแจสำคัญที่นำการวินิจฉัยความผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ
เพราะหากขาดความเมตตาหรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
หากไม่มีความปรารถนาเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ย่อมไม่มีการพัฒนาต่อยอดความคิดหรือวิธีการรักษา).
ส่วน Epigenetics เป็นชีววิทยาแขนงหนึ่งที่ศึกษากระบวนการธรรมชาติอะไรที่เข้าไปปรับเปลี่ยน
ปิดกั้นหรือทำให้การแสดงออกของกระบวนการทำงานของดีเอ็นเอหยุดชะงัก
เช่นทำให้โครโมโซมในดีเอ็นเอบางชุด ถูกปิดไปเป็นต้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างดีเอ็นเอ.
การเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดโรค จำเป็นเพื่อจัดระบบการรักษา
และต่อยอดการป้องกันมิให้โรคนั้นเกิดขึ้นอีก. พฤติกรรมของยีนในร่างกายของแต่ละคน
ขึ้นอยู่กับซีเคว้นดีเอ็นเอของเขา. ปัจจัยด้าน epigenetics
ส่งผลต่อพฤติกรรมยีน. เมื่อปัจจัยด้าน epigenetics เปลี่ยนไป
อาจก่อให้เกิดโรคขึ้นได้.
สภาพภายนอกร่างกายก็ส่งผลกระทบต่อโรคได้ และผลกระทบเหล่านี้
อาจสืบทอดต่อไปเหมือนกรรมพันธุ์ได้ด้วย. การวิเคราะห์วิจัยบอกให้รู้ว่า
วิถีชีวิตหลายแบบ อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแพ็ตเติ้นดีเอ็นเอได้ ตัวอย่าง
การอดอาหาร ความอ้วนฉุ กิจกรรมทางกายภาค การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล
มลพิษในสภาวะแวดล้อมที่อยู่ ความเครียด หรือการทำงานภาคดึก(อาชีพ). ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อเซลล์ในร่างกายมากพอๆกับต่อระบบดีเอ็นเอของคนนั้น.
คู่แฝดที่มีเชื้อพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ แต่ระบบดีเอ็นเอ
อาจวิวัฒน์หรือทำหน้าที่ต่างกัน หากคู่แฝดแยกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน.
คนหนึ่งอาจเป็นโรคอ้วนฉุ อีกคนเป็นโรคผอมแห้ง หรือคนหนึ่งจิตปกติ
อีกคนจิตฟั่นเฟือนเป็นต้น. สภาพแวดล้อมประเภทต่างๆดังกล่าวมา
กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของโมเลกุลในระบบดีเอ็นเอ.
สรุปได้ว่า ปัจจัยทาง epigenetics บ่งบอกให้เห็นการตอบสนองทางชีวภาพต่อสิ่งกระตุ้นเชิงลบจากสภาพแวดล้อม.
การตระหนักถึงปัจจัยด้านนี้
ได้เปลี่ยนวิธีคิดและการเข้าใจโครงสร้างดีเอ็นเอให้ชัดเจนถ่องแท้ขึ้น.
ขนบโบราณ(เช่นจีน หรืออินเดีย) บอกให้รู้ว่า ร่างกายที่เราเห็นและจับต้องได้
ไม่ใช่เป็นร่างเดียวที่เราเป็นเจ้าของ. ยังมี “ร่าง” อื่นๆอีกที่พลังจักรวาลผ่านเข้าออก.
พลังจักรวาล (หรืออาจเรียกเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์
พลังจากพระเจ้า ไม่ว่าใช้ชื่อเรียกแบบใด) ลงสู่ตัวเราทางกะโหลกศีรษะและไหลไปตามแนวกระดูกสันหลังตลอดความยาวของร่างกาย
(เส้นทางเดินของพลังงานที่เข้าสู่ร่าง ขนานไปกับแนวกระดูกสันหลัง) เหมือนกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นการทำงานของร่างกาย
และกระจายพลังงานออกไปยังศูนย์รวมพลังสำคัญๆเจ็ดแห่งบนร่างกาย (จักระ, หรือ meridian channels) และผ่านไปยังเส้นโลหิตฝอยจำนวนพันๆเส้นในร่างกาย (สันสกฤตใช้คำ nadis หรือ nāḍī อ่านว่า นา-ฑี
หมายถึง สาย, เส้น(เลือดหรือประสาท), สิ่งที่เป็นท่อในร่างกาย). ขนบพราหมณ์เชื่อว่า
คนที่บรรลุจิตวิญญาณขั้นสูง ยิ่งสูงเท่าใด เส้นสาย nāḍī ของเขายิ่งกว้าง และร่างกายของเขาได้ซึมซับพลังงานเอาไว้มาก
จนสร้างเป็นแสงเรืองรองแผ่ออกจากตัว
(นึกถึงพระพุทธองค์) อันเป็นสภาพของผู้ที่ตื่นรู้ทุกอย่าง ของผู้ที่ได้บรรลุสภาวะสงบสันติพร้อมปัญญาญาณที่ลุ่มลึก.
ภายในกรอบโครงสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ของทุกๆร่างนี้เอง
ที่ทุกอย่างรวมตัวกัน ประกอบกัน ถูกจัดให้เข้าที่เข้าทาง ให้เป็นระบบ แล้วชีวิตอุบัติขึ้น.
ทั้งหมดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เก็บความลับและปาฏิหาริย์ต่างๆไว้. หากเราเชื่อมต่อติดกับทุกร่างกับทุกส่วนทั้งภายในและภายนอกของร่างกายได้
เราย่อมเห็นธรรมชาติแท้จริงของสิ่งมีชีวิตที่คือตัวตนของเรา.
ปัจจุบัน
หลักการหรือมุมมองของแพทย์แผนตะวันตก รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์
ชีววิทยา เคมี, ต้องกลับไปพิจารณาศาสตร์โบราณ. ความรู้ที่เคยคิดกันว่าล้าสมัย
ไม่มีวิทยาศาสตร์รองรับนั้น พวกเขาเพิ่งตระหนักด้วยความพิศวงว่า หลักการใหม่ๆที่พวกเขาค้นพบด้วยการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์หรือในห้องแล็บนั้น
ในที่สุดเป็นเพียงการยืนยันความรู้จากโลกโบราณที่พวกเขาไม่เคยรู้เป็นส่วนใหญ่
เท่านั้นเอง. เช่น อายุรเวทของอินเดีย ทำให้ปราชญ์ตะวันตก ตื่นทึ่งตะลึงงัน
ว่าปราชญ์อินเดียรู้ได้อย่างไร และรู้มาแล้วหลายพันปีก่อน เช่น โครงสร้างพลังงานในร่างกายคน มีมากกว่าพลังทางกายภาพมากนัก.
ในไทย
มีการตั้งอายุรเวทวิทยาลัย และเปิดคลีนิคอายุรเวท
ควบคู่กับการแพทย์แผนไทยตามโรงพยาบาลรัฐสำคัญๆกว่าสิบแห่งแล้ว.
หลายคนเบนออกไปสู่การดูแลรักษาสุขอนามัยและเยียวยาความเจ็บไข้ได้ป่วย
ตามวิถีของอายุรเวทที่รวมถึงการฝึกโยคะ หรือตามวิถีของธรรมชาติบำบัด
(เช่นวารีบำบัด สมุนไพรบำบัด แสง เสียงหรือสีบำบัด).
ส่วนหลักการหรือปรัชญาพราหมณ์เกี่ยวกับโลกและชีวิต คนสนใจน้อยกว่าและน้อยคนนำไปศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงความรู้หรือปรัชญา
อาจเป็นเพราะการยึดมั่นอยู่ในพุทธศาสนา ก็เป็นได้. การฝึกสมาธิ
การควบคุมลมหายใจ(ลมปราณ) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธรับมาจากวิถีพราหมรณ์ (จากปราณยามะ ใน
ปัญจะโกษะ) เป็นต้น.
โชคอนันต์สำหรับอินเดีย ปัญญาชนชั้นสูงชาวอินเดีย
เขียนถ่ายทอดปรัชญาและความรู้ เป็นภาษาอังกฤษ
ความรู้ทั้งหลายจึงแผ่กระจายออกไปทั่วโลก
มากกว่าจารึกโบราณของชนชาติโบราณอื่นๆ เช่นอีจิปต์.
หนังสือเกี่ยวกับอินเดียในตะวันตก มีเป็นจำนวนมาก
มีคนอ่าน ติดตามรวมทั้งปฏิบัติโยคะเป็นจำนวนมาก
มีศูนย์สอนและฝึกโยคะจำนวนมากในยุโรปและสหรัฐฯ
อีกทั้งมีผู้นำประสบการณ์การเรียนรู้ส่วนตัว มาเขียนมาเล่า และด้วยภูมิหลังและวิสัยทัศน์ของชาวตะวันตกเอง
ด้วยตรรกะของพวกเขา (ref. Descartes, cartesian) จึงยิ่งทำให้ข้อมูลและเนื้อหาน่าสนใจมากขึ้นอีก. เข้าใจง่ายกว่า
ชัดเจนและรัดกุมกว่า การอ่านคัมภีร์พระเวทฉบับสันสกฤต.
ในตะวันตก มีหนังสือ บทความ ที่โยงกลับไปยังจารึกโบราณของอินเดีย
เป็นจำนวนมาก เช่น การอธิบายร่างกายตามหลักของ ปัญจะโกษะ (Panchakosha ห้ามิติของความเป็นคน) ในโยคะวิทยา, ได้เพิ่มพูนความรู้
นำการคิดวิเคราะห์ของนักคิดนักปรัชญาตะวันตก ก้าวข้ามพรมแดนของอคติ สู่การยอมรับ แล้วนำไปคิด
วิเคราะห์และต่อยอดปัญญาที่ปราชญ์/พราหมณ์อินเดีย ได้เปิดเผยให้โลกรู้,
โลกที่กว้างไกลลึกในทุกมิติ ทั้งโลกภายในและโลกภายนอกของคน, และในที่สุดยังโยงไปสะท้อนภาพของจักรวาล
และมีส่วนนำตะวันตก ก้าวไปสู่คว็อนตัมฟิสิกส์.
ภาพนี้ จากเพจ sivanandayogafarm.org
แสดงให้เห็นเปลือกห้าชั้นที่ห่อหุ้มคน.
เปลือกในสุด เรียกว่า อันนมยโกษะ เป็นกายภาพ เปลือกหรือกรอบกายภาพของคน ที่ประกอบด้วยเนื้อหนังมังสา
อวัยวะทั้งหลาย (the physical sheath บางคนใช้คำ body แทนคำว่า sheath). เปลือกนี้เป็นผลของอาหารการกิน ของการใช้ชีวิตของแต่ละคน.
ถัดออกมา เป็นเปลือกของลมหายใจ ลมปราณ เป็น ปราณมยโกษะ เป็นชั้นของพลังจักรวาลที่ห่อหุ้มกาย
(the energetic sheath) ที่มีอิทธิพลต่อพลังลมปราณ (ปราณ prana หรือ ชี่ 氣 ของจีน) ภายในร่างกาย.
เปลือกชั้น
มโนมยโกษะ เปลือกที่รวมของจิตสำนึก อารมณ์ความรู้สึก
ความหลง ความอยากไม่อยากของคน (the mental
sheath) สิ่งที่รวมกันในเปลือกชั้นนี้
สร้าง “สีหน้า” และ “ออรา” ของแต่ละคน.
ถัดออกมา เป็นเปลือก วิจนมยโกษะ รวมสติปัญญา การตระหนักรู้ สัญชาติญาณ วิญญาณสังหรณ์ ศักยภาพในการวินิจฉัยและสังเคราะห์.
เป็นสภาวะของจิตวิญญาณในส่วนลึกของคน ที่เกิดจากการประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งในอดีตชาติและในชาติปัจจุบัน (the intellect sheath)
ชั้นนอกสุดเรียกว่า อนันทมยโกษะ เป็นความปิติที่เกิดขึ้นเมื่อได้สัมผัสความดี
ความงาม ความบริสุทธิ์ ความอิ่มเอิบใจในรูปแบบใด (the
bliss sheath) เป็นเปลือกที่เชื่อมพลังทางกายกับพลังของจิตวิญญาณ.
กล่าวโดยรวม หากใครเข้าใจสภาวะของเปลือกทั้งห้าชั้นอย่างเจาะลึก ก็เท่ากับเข้าใจธรรมชาติแท้จริงของตัวเอง
หรือหากกระเทาะเปลือกทั้งห้าได้สำเร็จ (ในความหมายของการเจาะทะลุไปถึงแก่น)
ก็จะเห็นตัวตนที่แท้จริง. หากเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเปลือกชั้นใด
ก็ตามเข้าไปดูให้ถ่องแท้และแก้ไขที่เปลือกชั้นนั้น. เปลือกทั้งห้าชั้นที่ห่อหุ้มตัวคน
จึงเป็นเหมือนแสงออราของคน. ชัดเจนมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่แต่ละคน เหมือนว่าแต่ละชั้นมีความหนาความเข้มไม่เท่ากัน.
ผู้ที่สอนโยคะ มักเน้นให้ควบคุมธรรมชาติแต่ะละแบบ ด้วยการพัฒนาปัญญาหยั่งรู้(โพธิ) ด้วยการตั้งใจฟังและรับรู้ประสบการณ์และความทรงจำของร่างกายทั้งห้าชั้น,
ด้วยการอยู่กับความวิเวก เพื่อฝึกสมาธิ / ญาณและการเจริญสติเป็นต้น
ผนวกกับกระบวนการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าต่างๆ ที่เป็นการคลายปม แก้ขมวด คลายเครียด ณ จุดต่างๆของร่างกาย ที่ทำให้พลังปราณไหลหมุนเวียนไปได้อย่างทั่วถึงไม่ติดขัด.
สำหรับชาวตะวันตก ผู้ยึดตรรกะ เหตุผล, วิถีโยคะ(โยคะบำบัด)ในที่สุดมิใช่การแก้ปัญหาสุขภาพเท่านั้น
แต่เป็นเรื่องการพัฒนาตัวเองไปบนเส้นทางสู่ความสุข, ความสุขที่เขาพึงได้อย่างยุติธรรม
ถูกต้องตามกฎแห่งธรรมชาติ, เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เป็นผลพวงธรรมชาติของการใช้ชีวิตตามวิถีของโยคะ.
ความสุขดังกล่าว เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการมีชีวิต. วิถีของโยคะ
จึงสอดคล้องกับโลกทัศน์เกี่ยวกับชีวิตนี้ชีวิตเดียวที่ตั้งอยู่นี้ ซึ่งคือการอยู่อย่างมีความสุข.
การที่พระพุทธเจ้าทรงเกิดบนแผ่นดินพราหมณ์
ได้เริ่มด้วยการศึกษาคัมภีร์พราหมณ์เล่มต่างๆที่รวมกันเป็นพระเวทจากสำนักพราหมณ์ทั้งหลาย
จึงน่าจะเป็นฐานสำคัญ ที่นำไปสู่การพัฒนาความรู้เหนือขั้นขึ้นไปอีก ก้าวต่อไปจากการบรรลุความสุขในชีวิตนี้
ไปสู่การสลาย อาตมัน ที่ลัทธิพราหมณ์ถือว่าเป็นแก่นแท้ถาวร และที่พระพุทธองค์สรุปเป็นบันทัดฐานว่า
สุดท้ายทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.
เมื่อพิจารณาจากเอกสารต่างๆที่ได้อ่านของชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส หรือคนไทยผู้ศึกษาด้านนี้
เห็นความแตกต่างกันในการตีความ หรือการเน้นบทบาทและขอบข่ายของเปลือกแต่ละชั้น.
ข้าพเจ้าเลือกที่การจัดเปลือกห้าชั้นในแบบที่กล่าวมาข้างต้น (ที่สับสนน้อยที่สุด)
เพื่อแบ่งแยกร่างกายคนเป็นสามมิติ ที่สอดคล้องในภาพรวม กับมุมมองของการแพทย์ปัจจุบัน
ที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อไว้ว่า The triple man อันประกอบด้วย
กายภาพหนึ่ง (the physical body)
จิตสำนึกหนึ่ง (the astral body) และจิตวิญญาณอีกหนึ่ง (the causal body) (หรือง่ายๆว่า body, mind, soul).
คิดไปคิดมา ลักษณะไตรภาค สามลักษณะ หรือสามมิติ ปรากฏเป็นฐานของอุดมการณ์ ความเชื่อและลัทธิศาสนา เช่นสามภาคในศาสนาคริสต์ อาจมองได้ว่าพระบิดาเป็น causal body, พระจิต เป็น astral body และพระบุตรเป็น physical body. และเราอาจมองพระรัตนตรัย ว่า พระพุทธเป็น causal body, พระธรรม เป็น astral body และพระสงฆ์ เป็น physical body. เลขสามเป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ ในศาสตร์ของตัวเลข ที่เพียบด้วยนัยเปรียบที่คล้ายๆกันในหลายขนบโบราณ.
คิดไปคิดมา ลักษณะไตรภาค สามลักษณะ หรือสามมิติ ปรากฏเป็นฐานของอุดมการณ์ ความเชื่อและลัทธิศาสนา เช่นสามภาคในศาสนาคริสต์ อาจมองได้ว่าพระบิดาเป็น causal body, พระจิต เป็น astral body และพระบุตรเป็น physical body. และเราอาจมองพระรัตนตรัย ว่า พระพุทธเป็น causal body, พระธรรม เป็น astral body และพระสงฆ์ เป็น physical body. เลขสามเป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ ในศาสตร์ของตัวเลข ที่เพียบด้วยนัยเปรียบที่คล้ายๆกันในหลายขนบโบราณ.
จบการนำเสนอสั้นๆเท่านี้ แต่ละคน
นำไปพิจารณา ต่อยอดตามความสนใจและจริตส่วนตัว. พิจารณาจากเนื้อหาในสารบัญ หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะให้ข้อมูลทั้งด้านปรัชญาและด้านปฏิบัติได้ดีกว่าเล่มใดหรือบทความใด
ชื่อหนังสือว่า คู่มือปฏิบัติเพื่อสุขภาพ ศาสตร์แห่งอายุรเวท
ศาสตร์แห่งชีวิต ของ
อัคชาร์ยะ บัลกฤษณะ (Acharya Balkishana). หนังสือได้รางวัลดีเด่นสาขา
Health : Alternative Medicine, 2015.
อินเดียของอายุรเวท อินเดียกำเนิดของศาสนาพุทธ...
อินเดียแดนมหัศจรรย์
The wonder that was India!
The incredible India!
โชติรส รายงาน
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒.
No comments:
Post a Comment