Sunday 29 March 2015

มรดกล้ำค่าจากอิสลาม - Islam heritage

สวนอาหรับ

        อารยธรรมอิสลามโดยปริยายเริ่มขึ้นกับมูฮัมหมัด (c.570-632) ผู้สถาปนาอิสลาม  จึงมิได้เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโบราณจริงๆดังเช่นอารยธรรมอีจิปต์  แต่เพราะอารยธรรมเอเชียตะวันตก (เช่นอาณาจักรอัสซีเรีย อาณาจักรเปอเชีย อารยธรรมอีจิปต์) มีความเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดและเป็นพื้นฐานของอารยธรรมอิสลาม แม้จะไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีเหลือมาเป็นพยานยืนยันมากนัก นอกจากภาพเฟรสโก้ที่ประดับภายในหีบศพ(ในกรณีของอีจิปต์) ซึ่งก็เลือนลางไปตามกาลเวลา ในอนาคตหากเราสามารถเชื่อมโยงอิสลามย้อนหลังไกลไปถึงยุคโบราณก็จะดียิ่งสำหรับผู้ต้องการเจาะลึกวัฒนธรรมอิสลาม ในที่นี้ข้าพเจ้าจำกัดเนื้อหาให้อยู่ในขอบเขตของอิสลามที่มีหลักฐานข้อมูลเป็นลายลักษณ์และภาพลักษณ์ยืนยัน
        คำสอนของมูฮัมหมัดครอบคลุมหลักการเมือง การปกครองและสังคมทุกลักษณะเคียงข้างไปกับหลักการศาสนา เช่นนี้คำสอนของมูฮัมหมัดจึงกลายเป็นพื้นฐานของอารยธรรมอิสลาม ที่ส่งอิทธิพลและผลกระทบอย่างกว้างขวางในประวัติศาสตร์โลกและมีอิทธิพลเจาะลึกเข้าไปถึงจิตสำนึกของชาวมุสลิมแต่ละคนจนถึงทุกวันนี้
        อิสลามเป็นศาสนาและเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่ง เป็นลัทธิที่อยู่เหนือกลุ่มสังคม ผิวพันธุ์ เชื้อชาติและรวมทั้งมีอิทธิพลเหนือศิลปะ สถาปัตยกรรมทุกรูปแบบรวมทั้งการออกแบบสวน.    วัฒนธรรมอิสลามแบ่งบานออกไปกว้างและไกลตั้งแต่ศตวรรษที่เจ็ด  กลายเป็นบ่อเกิดของระบบภาพลักษณ์และลายลักษณ์ของวัฒนธรรมแถบเมโสโปเตเมีย ของวัฒนธรรมเปอเชีย ฮีบรู โรมันและต่อมาของวัฒนธรรมอินเดีย   คำว่า อิสลาม มาจากคำในภาษาอาราบิคที่หมายถึง ผู้ยอมจำนนในความหมายของผู้ยอมตนต่อความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ปราชญ์ชาวมุสลิมสนใจศึกษาปรัชญาของPlato. Aristotle เคยอภิปรายว่า อะไรก็ตามยิ่งสมบูรณ์ ก็ยิ่งงาม และยิ่งให้ความสุขความพอใจมาก  ความงามของพระเจ้าเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุด ย่อมให้ความสุขความพอใจมากที่สุด งานสร้างสรรค์ทางศิลปะเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญา แต่งานศิลป์มิใช่จุดหมายปลายทางของการสร้างสรรค์  งานศิลป์ที่มุ่งบรรลุความงามสมบูรณ์ จึงให้ความสุขความพอใจ เพราะช่วยให้เข้าใจความจริงของพระเจ้า  การสร้างสถานที่ที่สวยสมบูรณ์ คือการสร้างภาพลักษณ์ของสวรรค์  และกลายเป็นจุดมุ่งหมายของแบบสวนอิสลาม (Tom Turner, p.87)   อิสลามห้ามการสร้างเลียนแบบรูปลักษณ์ของคนเพราะถือว่าเป็นการหลงรูปกาย  (การห้ามนี้จะคลายลงในระหว่างศตวรรษที่16) เพราะเหตุนี้จึงกระตุ้นให้ปราชญ์อาหรับค้นหารูปลักษณ์อื่นๆจากทุกทิศรอบตัวมาใช้แทน  ในที่สุดได้เลือกรูปลักษณ์เรขาคณิตและดอกไม้พืชพรรณเป็นแบบประดับ และใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมืออธิบายและพัฒนาความคิดซับซ้อนประเภทต่างๆ 
        ศาสนาอิสลามเริ่มขึ้นในประเทศอาระเบียและแผ่ขึ้นไปทางเหนือในดินแดนซีเรียแล้วต่อไปทางตะวันตกสู่ประเทศอีจิปต์  มีกลุ่มชนชาวปศุสัตว์อื่นๆที่ส่วนใหญ่พูดภาษาอาระบิคเข้าร่วมในกองทหารเพื่อเผยแผ่ศาสนาเป็นจำนวนมาก  อาณาจักรไบแซนไทนต้องล่าถอยออกไป และในที่สุดอิสลามเข้าครอบงำจักรวรรดิเปอเชียในปี642   กองทัพอิสลามมุ่งต่อไปยังเมืองใต้อาณัติของชาวโรมันที่อยู่ตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศสเปนก็ถูกชาวอาหรับ(แขกมัวร์)เข้ายึดครองในปี714   ตระกูลกาลิฟ Abbasid มีศูนย์กลางในประเทศอิรักและมีเมืองหลวงที่กรุงแบกแดด   เมืองDamascus ในประเทศซีเรียได้ชื่อว่าเป็นเมืองเก่าแก่ เป็นถิ่นฐานบ้านเรือนของคนติดต่อกันมานานที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากด้วย  ต่อมาตระกูลกาลิฟ Umayyad ย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่สเปนและตั้งเมืองหลวงที่เมือง Córdoba [ก๊อ-รโดบา]   เจงคิสข่าน(Genghis Khan) สร้างจักรวรรดิอิสลามในเอเชียตะวันออกกลาง  และบาบูร (Babur) ไปสถาปนาอิสลามในอินเดีย  เช่นนี้อิสลามกลายเป็นศาสนาของโลก และโลกอิสลามก็เป็นโลกที่รวมหลายชาติหลายภาษา ต่างสร้างเมืองและพัฒนาวัฒนธรรมให้ปรากฏสืบต่อกันมากว่าหนึ่งพันห้าร้อยกว่าปีแล้วจากตะวันตกถึงตะวันออกเป็นเส้นทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ยาวถึง 9000 กิโลเมตร 
        นักประวัติศาสตร์สวนกล่าวว่า ไม่มีศาสนาใดที่ผูกใยสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับการสร้างสวนเท่าศาสนาอิสลาม   ครอบครัวของมูฮัมหมัดศาสดาของอิสลาม เคยทำงานในวิหารเก่าที่เมืองเมกกะ (ชื่อเมกกะนี้แปลว่า ศาสนสถาน)  เมกกะมีสถานภาพเหมือนเมืองๆหนึ่ง  ชนเผ่าพเนจรและชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายไปพบกันที่นั่น  แลกเปลี่ยนค้าขายหรือตกลงข้อพิพาทกัน  สวนของมูฮัมหมัดที่ Medina เป็นสถานที่รวมชาวมุสลิมแห่งแรก  เขาใช้สวนเป็นที่ประกอบพิธีกรรมศาสนา  ที่อยู่ของเขาเป็นแบบที่อยู่ที่เคยมีกันมาในสมัยก่อนหน้านั้น เป็นที่ปิดล้อมมีบางส่วนมุงหลังคา บางส่วนเปิดโล่ง เขาใช้ลานโล่งกว้างนั้นเป็นที่ชุมนุมสวดมนต์ มิได้เริ่มภายในอาคารเพราะเป็นห้องหับห้องนอนของเขและครอบครัว  สุเหร่าในยุคแรกจึงเป็นที่เปิดโล่ง โดยที่ตอนบนของกำแพงด้านทิศตะวันออกบุ๋มลึกเข้าไป เรียกบริเวณนั้นว่า qibla [กิ๊บลา] (หมายถึง ที่หันสู่เมืองเมกกะ  เมื่อนั่งสวด ชาวมุสลิมหันหน้าไปทิศที่ตั้งของ qibla ซึ่งเท่ากับหันไปในทิศทางที่เป็นที่ตั้งของเมืองเมกกะ)  ด้านอื่นๆของลานมีแนวเสาค้ำเช่นกันแต่เปิดโล่ง  พื้นลานเป็นพื้นดินปราบให้ราบเรียบและมั่นคง  สุเหร่ายุคต่อมา พื้นลานอาจปูด้วยกรวดก้อนกลมเล็กๆหรือด้วยวัสดุอื่นใด ให้เป็นพื้นหน้าเรียบเสมอกัน  ที่เมือง Códoba ในสเปนปลูกต้นไม้ไว้ จึงเป็นลานต้นไม้ที่ร่มรื่น  สุเหร่าไม่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแม้ว่าสุเหร่าหลังแรกเป็นบ้านส่วนตัวของมูฮัมหมัด จึงเป็นที่อยู่ของครอบครัวของท่านศาสดา ในเมืองดามัสกัส(ประเทศซีเรีย) หรือในประเทศมุสลิมอื่นๆ  สุเหร่ามักอยู่ติดตำหนักหรือคฤหาสน์ของผู้ว่าราชการของเมืองนั้น  จึงใช้เป็นที่บริหารการงานด้วย  ความสนใจในเรขาคณิตและความหมกมุ่นอยู่กับเรื่องความสมบูรณ์แบบที่สุดของสถานที่ เป็นประเด็นสำคัญที่นำการพัฒนารูปแบบของลานในสุเหร่า  ซึ่งในที่สุดมักเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ลงตัวที่สุดบนพื้นที่นั้น  ศิลปะอิสลามเป็นผลของการออกแบบภายในกรอบเรขาคณิต
       ต่อมาเมื่อโครงสร้างสุเหร่าพัฒนาเปลี่ยนแปลงมากขึ้น  ลานในสุเหร่าจึงกลายเป็นพื้นที่เอกเทศ  แผนผังลานนี้เหมือนลานในสวนโรมันที่มีแนวเสาเรียงรายรอบด้าน (peristyle court) และเหมือนกับสวนจัตุรัส (cloister) ภายในวัดคริสต์ด้วย ดังตัวอย่างในศิลปะโรมันเนสก์ (Romanesque art) ที่นำมาให้ดูท้ายบทข้างล่างนี้ นอกจากลานสวนภายในสุเหร่า โดมสูงและขนาดกว้างใหญ่ ดังที่สร้างขึ้นสำหรับวิหารเซนต์โซเฟีย (Hagia Sophia) ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล กลายเป็นองค์ประกอบเด่นที่สุดของสถาปัตยกรรมสุเหร่าตั้งแต่ปี1453 ปีที่ชาวเตอร์กเข้ายึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ
สุเหร่าเซนต์โซเฟีย - Hagia Sophia ภาพวาดในศตวรรษที่ 19
เมื่อสุเหร่าใหญ่ขึ้น ลานในสุเหร่าก็มีพื้นที่กว้างใหญ่แยกออกต่างหากและมีเอกลักษณ์ของตนเอง  มีทางเดินที่มีหลังคาล้อมรอบบอกอาณาเขตของลานนั้น  สุเหร่าในความคิดของคนส่วนใหญ่ในที่สุดคือ มีอาคารที่มีโดมสูงใหญ่  มีหอคอย(minaret ทำหน้าที่เหมือนหอระฆังหรือเหมือนกระบอกกระจายเสียง มหาวิหารเซนต์โซเฟียมีหอสูงแหลม๔หอ)(1) และมีลานกว้างพื้นปูเรียบร้อย กับสระน้ำพุบนลานนั้น  สระน้ำพุในลานสุเหร่านั้นเป็นที่ชำระล้างมือ หน้าและเท้าก่อนเข้าไปในสุเหร่า  นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่เรียกว่า madrasah (ที่หมายถึง สถาบันสอนเทวศาสตร์) เป็นลานสวนที่ใช้สอนหนังสือและใช้สวดมนต์ ในแบบเดียวกับสวนสถาบันที่เปลโตใช้เป็นที่ถกปรัชญาที่รู้จักกันว่าPlato’s Academy ในกรีซ  ลานและสระน้ำพุเป็นองค์ประกอบถาวรทุกหนทุกแห่ง ไม่เพียงแต่ภายในสุเหร่า แต่ตามบ้านพัก สวนและที่สาธารณะในเมือง
        ชาวอาหรับที่อาศัยในถิ่นแห้งแล้ง เรียนรู้ทุกอย่างบนเส้นทางการเผยแผ่อิสลาม  พวกเขาสร้างเมืองตั้งรกรากควบคู่กันไปการแผ่ศาสนา  เมื่อไปถึงประเทศสเปน พวกเขาคุ้นเคยกับขนบการทำสวนของชาวโรมันแล้ว  สวนที่พวกเขารังสรรค์ไว้บนแผ่นดินสเปนระหว่างศตวรรษที่ 8-13 นั้นมิได้เหลือให้เห็นในปัจจุบัน ยกเว้นที่ Alhambra [อัลลั้มบระ]เท่านั้นแม้จะทรุดโทรมลงมาก ยังนับว่าอยู่ในสภาพดีพอ ในกลางศตวรรษที่13 ยังคงใช้ที่นั่นเป็นป้อมปราการและพระราชวัง. Alhambra จึงเป็นตัวอย่างของการจัดลานและสวนรวมทั้งสถาปัตยกรรมอาหรับที่สมบูรณ์ที่สุดในยุโรป (2)
        ภายในปริมณฑลของ Alhambra มีทั้งพระราชวัง ป้อมปราการและเมืองเล็กๆอีกหนึ่งเมือง แปลนสวนที่นั่นไม่เหมือนแปลนสวนเปอเชียแต่เหมือนอุทยานที่วิลลาVilla Hadriana (ชานเมืองกรุงโรม)มากกว่า  การประดับจัดสรรอาคารต่างๆและลานสวนทั้งหลาย (ที่เรียกว่า คอร์ต-corte [ก๊อรฺเต้] หรือลาน-patio[ป๊าติโอ]) ทำให้ Alhambra เป็นอนุสาวรีย์ที่รวมศิลปะอิสลามที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในตะวันตก เช่นสระน้ำสี่เหลี่ยมในลานดอกพังพวย เป็นผืนน้ำที่งามที่สุดที่ที่แสงเล่นไล่กับเงา หรือลานสิงโต (Corte de los Leones) เป็นลานสวนสี่เหลี่ยมสี่ส่วน (chahar bagh แบบเปอเชีย) ที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลือมาให้เห็นถึงยุคปัจจุบัน (ดูภาพประกอบต่อไปข้างล่างนี้)
        ชาวมุสลิมนำศิลปะการทำพรมจากตะวันออกกลางไปยังสเปนและเกาะซิซีลี(Sicilia[สิชี้เลีย])  รังสรรค์เป็นพรมดอกไม้ที่มีชีวิตชีวาเป็นลวดลายอาราเบซก์ปูพื้นสวน ตามแบบวิธีการทอพรมที่ผูกรวมกลุ่มด้ายสีเดียวกันอยู่ด้านหลังพรม วิธีนี้ไปเป็นแบบประดับยุคเรอแนสซ็องส์แก่สวนอิตาเลียนและสวนยุโรปทางเหนือ(เช่นknot gardens ในอังกฤษ) น่าเสียดายที่พรมดอกไม้แบบดังกล่าวที่ประดับพื้นสวนนั้น ไม่เหลือมาให้เห็นแล้ว (แต่ยังมี knot gardens ให้ชมอยู่อีกหลายแห่งในอังกฤษ)
        เมื่อชาวมงโกล (เจงกิสข่านในปี1219 และต่อมาTimur Tamerlane ในปี1381)เข้าโจมตีเปอเชีย ชื่นชมวัฒนธรรมและศิลปะของเปอเชีย ได้พานายช่างชาวเปอเชียไปยังดินแดนมงโกล ให้พวกเขาสร้างสุเหร่า สร้างสวนสถาบัน พระราชวังและสวนที่เมือง Samarkand (ปัจจุบันคือ Uzekistan)  เมื่อBabur (ผู้สืบเชื้อสายเดียวกันต่อมาจากเจงคิสข่านและทาเมอเลน)ขึ้นเป็นกษัตริย์Mughal(มูกัล) ก็ได้ครองเมือง Samarkand ในปี1497 และชื่นชอบผังเมืองและแบบสวนที่นั่น  ในรัชสมัยของBabur อาณาจักรแผ่ออกไปถึงแอฟกานิสถานและอินเดีย ยิ่งใหญ่เป็นจักรวรรดิMughal ขึ้นในอินเดีย  ตระกลูBabur นอกจากเป็นตระกูลผู้สร้างจักรวรรดิ ยังเป็นตระกูลผู้สร้างสวน  โดยเฉพาะBabur เองผู้เป็นทั้งกวี นักธรรมชาตินิยม และเป็นนักเขียน (เป็นผู้เขียนอัตชีวประวัติเล่มแรกในโลกอิสลาม)(3) เขาได้นำแบบสถาปัตยกรรมและสวนไปปรับใช้กับการสร้างพระราชวังและอุทยานบนดินแดนราชสถานของอินเดีย (สวนที่สืบทอดมาจากยุคนั้นยังมีให้เห็นในปัจจุบันในแคว้นแคชเมียร์) Babur ใช้ชนเผ่าเตอร์กและมูกัลในกองทัพ และใช้ชาวเปอเชียทำงานฝ่ายบริหารพลเรือน  ภาษาเปอเชียเป็นภาษาทางการของอินเดียจนถึงศตวรรษที่18 เมื่อภาษาอังกฤษและภาษาฮินดีเข้าไปแทนที่
จิตรกรรมน้อยแสดงภาพชีวิตในสวนของBabur
เห็นสระน้ำพุสี่เหลี่ยมจัตุรัสและทางน้ำไหลสี่สายได้ชัดเจน
จากหอสมุด British Library ประเทศอังกฤษ
        ตระกูลของ Babur ยังคงมีนักสร้างสวนต่อมาอีกหลายคน  ในสมัยลูกและหลานของBabur เกิดอุดมการณ์การสร้างสวนแนวใหม่ในอินเดีย ที่ผนวกขนบการเคารพวิญญาณบรรพบุรุษของชาวMughal เข้ากับขนบการสร้างสวนเปอเชีย  ให้สวนเป็นสถานพักผ่อนทั้งในยามที่ยังมีชีวิตและเมื่อชีวิตสิ้นลง ค่านิยมใหม่นี้คล้ายกับสวนสุสานในอีจิปต์โบราณ สวนสุสานสำหรับจักรพรรดิMughalสวนแรกในอินเดีย เป็นสวนสุสานของลูกชายของBabur ที่เมืองเดลฮี(Humayun’s Tomb, 1570 AD.)  เป็นสวนสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบ chahar bagh (ในภาษาเปอเชีย บางทีก็เขียน charhar bagh) พร้อมเส้นทางน้ำไหลตื้นๆที่ตัดตั้งฉากกันและเชื่อมต่อถึงกัน แบ่งพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมย่อยขนาดเท่าๆกันอย่างเป็นระเบียบ  อาคารที่ประดิษฐานโกศตั้งอยู่ตรงจุดใจกลางของพื้นที่สี่เหลี่ยมณตำแหน่งของสระน้ำพุ
แบบสวนสี่เหลี่ยม chahar bagh เป็นแบบมาตรฐานเรขาคณิต ที่เป็นแบบแปลนถาวรของสวนอาหรับ
สวนสุสานแห่งแรก ของจักรพรรดิ Humayun (ศต.16)
        การสร้างสวนสุสานทำกันสืบต่อมาไม่เปลี่ยนแปลงในหมู่จักรพรรดิ Mughal เชื่อสายเดียวกับBabur  สวนสุสานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือTaj Mahal (1632-1654) ที่จักรพรรดิ Shar Jehan (1628-1658) เป็นผู้สร้างขึ้นเป็นสุสานอนุสรณ์สำหรับพระราชินี Mumtaz Mahal  ที่Taj Mahal อาคารที่ประดิษฐานโกศนั้น เปลี่ยนเป็นสุเหร่าหนึ่งหลังใหญ่ๆเลย(ด้วยหินอ่อนสีขาวดังสีงาช้าง) และย้ายไปตั้งสุดชายแดนของสวนเหนือฝั่งแม่น้ำ Jumna  แปลนของสวนนี้เจตนาให้  สุสานเป็นภาพลักษณ์ เป็นบทอุปมาอุปมัยของบัลลังก์ของพระเจ้า เหนือสวนสวรรค์ของพระองค์ ในวันพิพากษาสุดท้าย  จักรวรรดิMughal ได้ครองอินเดียต่อมาจนถึงปี1857.  ในเรื่องการสร้างสวนนั้น ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของจักรวรรดินี้คือยุคของจักรพรรดิหกคนที่ปกครองอินเดียระหว่างปี 1516-1707 (4)
 สวนสุสานทัชมาฮาล (ศต.17)
ภาพล่างเป็นอาคารตรงข้ามกัน เป็นทางเข้าสู่บริเวณ

        สวนอิสลามจำนวนมากเสื่อมโทรมหรือหายสาบสูญไปจากผิวโลก  สิ่งก่อสร้างและต้นไม้ทั้งหลายก็เสื่อมสภาพลง แต่ยังมีสวนอีกหลายแห่งที่สามารถบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยปูลาดไว้อย่างดีในสมัยก่อนและกระเบื้องเคลือบคุณภาพยอดเยี่ยมของสมัยก่อนยังคงทนถาวรในสภาพที่ดีมากจนถึงปัจจุบัน  จิตรกรรมสีน้ำมันและบทเขียนของนักเดินทางในสมัยก่อนๆผู้เคยได้เห็นใกล้ชิด มีส่วนช่วยความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติสวนอิสลามไม่น้อยเลย เช่น Xenophon (430-355 BC.) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้พรรณนาถึงสวนเปอเชียของเจ้าชาย Cyrus the Younger (424-401 BC.) ว่ามีต้นไม้พืชพรรณอย่างเหมาะเจาะสมดุล  แต่ละต้นปลูกห่างกันในระยะสม่ำเสมอ  ต้นไม้ทั้งหลายส่งกลิ่นหอมระรวยเป็นที่ชื่นใจยิ่งนัก  ใกล้ยุคเราเข้ามาอีกคือบันทึกเดินทางและประสบการณ์ของเอกอัครราชทูต Ogier Ghiselan de Busbecq ที่ราชสำนักHabsburg ที่เวียนนาส่งไปประจำที่กรุงอิสตันบูลในปี1554 เขาอยู่ที่นั่นเจ็ดปี ทำให้ได้รู้ได้เห็นทั้งชีวิตในราชสำนักของSuleiman the Magnificent สุลต่านเรืองอำนาจของOttoman และชีวิตชาวเมืองอย่างละเอียดลออ (เขาได้ให้หัวทิวลิปแก่ Carolus Clausius ผู้นำมาปลูกในฮอลแลนด์และที่พัฒนาเป็นดอกไม้ประจำชาติของเนเธอแลนด์ในที่สุด หากสนใจโปรดติดตามไปอ่านในบล็อกเรื่อง คลั่งทิวลิปจากตุรกีสู่เนเธอแลนด์ ที่ http://www.chotirosk.blogspot.com/2014/06/tulipomania.html ) ฯลฯ

        สวนเปอเชียเป็นต้นแบบของสวนอาหรับที่จะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับคำสอนของอิสลามตั้งแต่ศตวรรษที่เจ็ดดังกล่าวมา  ชาวมุสลิมกลุ่มใหญ่เข้าโจมตีและล้มล้างอาณาจักรเปอเชียได้สำเร็จตั้งแต่ปลายศตวรรษที่เจ็ด  พวกเขา(และชาวอาหรับทั้งหลายในยุคนั้น)ผู้เป็นนักขี่ม้า นักขี่อูฐ ผู้เคยกับการกินกับดินนอนกับทรายและชีวิตขึ้นอยู่กับการค้นหาตาน้ำดื่มในทะเลทราย ออกประกาศอิสลามโดยที่มือขวาถือดาบและมือซ้ายถือคัมภีร์กุรอ่าน  เมื่อพวกเขาเข้าถึงดินแดนเปอเชีย เห็นสวนเปอเชียที่เขียวชอุ่ม อุดมด้วยพืชผลที่ส่งกลิ่นหอมหวลและสีสวยชวนมอง(เช่นผลทับทิม)  เห็นสระน้ำและน้ำพุในสวน   พวกเขาเข้าใจทันทีว่า นั่นคือ สวนสวรรค์ที่อาลาห์สัญญากับพวกเขา เพราะทุกอย่างมีชีวิตชีวา เป็นความฝันหรือความหวังที่กลายเป็นความจริงสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้มาก่อน  เหตุนี้เองที่  ชาวมุสลิมใช้สีเขียวเป็นสีสัญลักษณ์ของอิสลาม  เพราะเป็นสีของชีวิต ของความหวังในจิตสำนึกของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
        แบบสวนอาหรับแฝงมโนสำนึกอันล้ำลึกทั้งในแง่ศาสนาและในแง่สังคม  ตัวเลขแต่ละตัวเพียบด้วยความหมายนัย  โดยเฉพาะเลข4 ที่หมายถึงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ  ค่านิยมนี้สืบสาวย้อนหลังไปไกลมากในยุคตำนานที่พระเจ้าสร้างโลก  ดังระบุไว้ในคัมภีร์เก่าว่า แม่น้ำสายหนึ่งไหลออกจากอีเด็นเพื่อนำความชุ่มชื้นสู่สวน  จากสวนอีเด็นแม่น้ำนั้นแยกออกเป็นสี่สายไหลลงสู่พื้นโลก ชาวเปอเชียในยุคโบราณเห็นเครื่องหมายกากบาทเป็นเครื่องหมายแบ่งแยกโลกเป็นสี่ส่วน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แหล่งน้ำหรือตาน้ำ เหมือนแบบสวนสี่เหลี่ยมสี่ส่วน (chahar bagh) ที่เล่ามาข้างบน  สวน(ป่าไม้หรือสวนป่าสำหรับล่าสัตว์)บนดินแดนเมโสโปเตเมีย เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมแบ่งออกเป็นสี่ส่วนเช่นกัน มีอาคารหนึ่งตั้งอยู่ตรงจุดใจกลางของพื้นที่ รวมกันเป็นภาพลักษณ์ที่สื่อชีวิตนิรันดร์และความอุดมสมบูรณ์ แปลนดังกล่าวจึงมาเป็นแปลนของสวนอาหรับ  พื้นที่สวนรูปสี่เหลี่ยม แบ่งออกเป็นสี่ส่วน มีสระน้ำพุหรือบ่อน้ำตั้งอยู่ตรงจุดใจกลางของพื้นที่  แปลนสวนนี้เป็นแบบถาวรของสวนอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นสวนในวังของกาลิฟ  ในบ้านสามัญชน ในโรงเตี๊ยม ในบริเวณตลาด ในสุเหร่าและในโรงเรียนสอนศาสนา  แบบสวนเป็นแบบนี้เสมอ ดังกล่าวแล้วว่าแบบสวนนี้สื่อเอกภาพ ความเป็นระเบียบ ความมั่นคงไม่คลอนแคลนของพื้นที่ปิด และการมุ่งสู่พระเจ้าที่มีภาพของน้ำเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์  สวนอาหรับจึงเป็นสวนสี่เหลี่ยมเสมอและมีกำแพงล้อมรอบทุกด้าน  ต้นไม้และพืชพรรณที่ปลูกภายในสวน ในระดับความสูงที่ต่ำกว่ากำแพง ช่วยคลายความแข็งทื่อของกำแพงหนาสี่เหลี่ยมสี่ด้านที่ปิดพื้นที่นั้น ชาวอาหรับเช่นเดียวกับชาวกรีกและชาวโรมัน มีอารมณ์อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของแต่ละสถานที่อย่างยิ่ง  เพราะฉะนั้นจึงพัฒนากลวิธีหลายแบบหลายลักษณะในวิธีการปลูกสวนเพื่อให้สมมาตรและกลบความตรงข้ามที่รุนแรงออก  ขนบการทำสวนของชาวอาหรับสร้างความมีชีวิตชีวาแก่สวนยิ่งนัก จนทำให้ทุกชาติที่ถูกผนึกเข้าในโลกอิสลาม รับขนบนี้ไปสร้างสรรค์สวนบนดินแดนต่างๆด้วย ไม่ว่าดินแดนนั้นจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใดก็ตาม เช่นสวนMughalในอินเดีย (1526-1857) หรือสวนมัวร์ในตอนเหนือของทวีปแอฟริกาและในสเปน แบบสวนแบบดั้งเดิมของเปอเชียที่เริ่มขึ้นในราวศตวรรษที่6ก่อนคริสตกาล เป็นแบบถาวรเป็นแบบอ้างอิงของสวนอาหรับตั้งแต่นั้นมา
ภาพพรมทอแบบสวนของอิสฟาฮันในอิหร่าน(เจริญรุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่11-17)
แสดงให้เห็นการจัดและปลูกสวนเปอเชีย เป็นความมหัศจรรย์ที่โลกตะวันดกคิดไม่ถึง
        สรุปได้ว่าสวนเปอเชียที่เป็นต้นแบบนั้น เป็นสวนปิดล้อม  เส้นทางเดินภายในสวนเป็นเส้นตรงตัดกันเป็นมุมฉากเสมอ  สุดทางเดินเป็นที่ตั้งของอาคารพักร้อน  บนพื้นสวนมีทางน้ำไหลเล็กๆ  พื้นของร่องน้ำหรือทางน้ำไหลมักปูกระเบื้องสีฟ้าๆ  ทางน้ำไหลทอดยาวเป็นเส้นตรงไปยังสระน้ำใหญ่  บางทีสระน้ำอาจมีส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่ภายในอาคาร(ดูตัวอย่างที่ลานสิงโตที่Alhambra) เพดานอาคารแบบอิสลามนั้นสร้างให้ดูเหมือนเพดานจักรวาลที่มีดวงดาวระยิบระยับและสะท้อนแสงลงบนผิวน้ำ  สระน้ำใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยม บางทีเป็นแปดเหลี่ยม มักไม่เป็นสระน้ำทรงกลม  แบบสวนดังกล่าวชาวอาหรับมุสลิมสืบทอดและพัฒนาต่อมาทั้งรูปแบบ ความประณีตและความงาม ที่ดูเหมือนสอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ที่ใฝ่ดีใฝ่งามและใฝ่สูง  สวนอาหรับไม่เน้นความหรูหราหรือความอลังการ ที่ข่มความรู้สึกผู้ดูให้ต่ำต้อยหมดความหมายลง สวนอาหรับทำให้คนเดินสวนหลอมความรู้สึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติรอบข้างและโดยปริยายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล  สวนสวรรค์แบบอาหรับ(เช่นที่สร้างในสเปน) เป็นสถานที่เพื่อความปิติทั้งของวิญญาณและของร่างกาย

        สวนอาหรับ (Moorish) ในสเปนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่แปดเมื่ออิสลามแผ่อำนาจเข้าไปยึดครองดินแดนตอนใต้ของประเทศ และขยายออกไปถึงภาคเหนือของทวีปแอฟริกา  ในสมัยของกาลิฟ Abd-al-Rahman III (889-961 ผู้เป็นกาลิฟคนแรกในตะวันตก)  เขาเริ่มพัฒนาพื้นที่ที่ Medina Azahara (ใกล้เมือง Córdoba ในสเปน)ให้เป็นสวนขนาดใหญ่  ชาวอาหรับกลุ่มนี้นอกจากรังสรรค์สวนแล้ว ยังนำความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ที่ชาวอาหรับศึกษาร่ำเรียนและรู้เจนจบมากกว่าชนชาติใดในยุคเดียวกันเข้าไปในสเปนด้วย  ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณของพืชพรรณไม้ต่างๆนั้น ปรากฏรวบรวมไว้เป็นครั้งแรกในงานของDioscorides นายแพทย์ประจำกองทัพกรีกในศตวรรษที่1BC.  ชาวอาหรับได้รับความรู้จากเอกสารกรีกก่อนและศึกษาเพิ่มพูนข้อสังเกตทั้งด้านการแพทย์และพฤกษศาสตร์อย่างละเอียดลออ จนกลายเป็นผู้เจนจบในศาสตร์ทั้งสองอย่างที่ไม่มีชนชาติใดเทียบเคียงได้  ความรู้จากกรีซถ่ายทอดสู่ชาวยุโรปโดยผ่านนักปราชญ์ชาวอาหรับ  เอกสารอาหรับมากมายที่เก็บรักษาไว้(เช่นในพระราชวังและพิพิธภัณฑ์Topkapi [ท็อบกาปิ] เมืองอิสตันบูล) เป็นพยานความรอบรู้เจนจบของปราชญ์ชาวอาหรับ  ความคิด ความช่างสังเกต และวิจารณญาณของปราชญ์อาหรับที่บันทึกวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลความรู้จากกรีซโบราณนั้น คือมรดกอันล้ำค่ายิ่งที่ชาวยุโรปได้ไปฟรีๆ(อย่างไม่รู้คุณ) ปราชญ์อาหรับได้แปลและเก็บรักษางานและความรู้เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆในโลกโบราณไว้อย่างดียิ่งเสมอสิ่งศักดิ์สิทธิ์  มีหลักฐานระบุว่ากาลิฟฮรุนอัลราชิด (Hārūn al-Rachīd  766-809) และกาลิฟองค์ต่อๆมา ให้นำพืชพรรณและเมล็ดพันธุ์พืชเข้ามาจากเอเชียและแอฟริกา  การเผชิญหน้าสู้รบกันในสงครามศาสนาระหว่างชาวมุสลิมกับชาวคริสต์ เปิดโอกาสให้ชาวยุโรปได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของโลกอิสลามที่พวกเขาคาดไม่ถึง  พวกเขาตื่นตะลึงกับความงามของสวนอาหรับและความมีระดับในวิถีการครองชีวิต  ในที่สุดชาวยุโรปเริ่มสนใจศึกษาความรู้จากโลกโบราณ และเห็นความหมายของการหาความสุขสำราญแบบต่างๆในวิถีการดำรงชีวิตของชาวอาหรับเช่นการอาบน้ำ การปลูกสวนเพื่อความเจริญตาเจริญใจเป็นต้นเพราะจนถึงยุคนั้นชาวยุโรปมองดูพืชพรรณในเชิงอาหาณและยารักษาโรคเท่านั้น  ชาวยุโรปเห็นชาวอาหรับหว่านเมล็ดชนิดต่างๆปนกันบนสนามหญ้า ได้รับเอาวิธีการนี้ไปสร้างทุ่งดอกไม้เป็นต้น  ทั้งสองอารยธรรมต่างชื่นชอบกลิ่นหอมระรวยของสวน และโดยเฉพาะกลิ่นดอกกุหลาบ ความรอบรู้ของชาวอาหรับไปปลุกกระตุ้นความอยากรู้อยากเรียนแก่ชาวยุโรป ที่เคยจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบของความเชื่อและศรัทธาในคริสต์ศาสนาเท่านั้น    
        ในศตวรรษที่สิบ เมืองCórdoba มีสวนนับพันๆแห่งและมีระบบการชลประทานที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการเกษตรแล้ว  มีเอกสารจารึกบทพรรณนาสวนในมณฑลAndalucía [อันดาลูธี้อา] ว่าเต็มไปด้วยดอกไม้หอม เสียงนกร้องเพลงเพราะเสนาะหู เสียงน้ำไหลที่นำความชุ่มชื่นเป็นต้น  ที่เมืองCórdoba ในศตวรรษที่สิบเอ็ด การเนรมิตลานสวนส้มนอกมหาวิหารถือกันว่าเป็นความบริสุทธิ์สุดยอดของศิลปะอุมัยยัด(Umayyard)  แนวต้นส้มที่ปลูกเป็นแถวอย่างสม่ำเสมอเป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนแนวเสาภายในมหาวิหารที่ค้ำจุนอิสลาม  อิทธิพลวัฒนธรรมอาหรับมัวร์ยังคงมีต่อมาในสเปนแม้หลังจากศตวรรษที่สิบสามเมื่อชาวมุสลิมถูกชาวสเปนคริสเตียนขับไล่ออกไปจากดินแดนแล้วก็ตาม 
ในยุคกลางนั้น(ศต.ที่ 7-13) สุเหร่าที่ชาวอาหรับมัวร์สร้างขึ้นในสเปน(หรือที่ใดก็ตาม)
มีกำแพงแข็งแรงมั่นคง เหมือนป้อมปราการ เป็นความจำเป็นของยุคกลางที่มีการรบพุ่งแย่งดินแดนกันเสมอ
 หอระฆังที่เห็นนี้สร้างขึ้นทีหลังและปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามสถาปัตยกรรมคริสต์
ภายหลังที่กษัตริย์คริสต์รบชนะ ขับไล่อาหรับมัวร์ออกไปจากสเปน
หลังจากนั้นสุเหร่าที่เมืองCórdoba ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นโบสถ์คริสต์
 
เมื่อผ่านกำแพงใหญ่และหนาของสุเหร่าเข้าไป เป็นลานกว้างใหญ่ มีต้นไม้ปลูก
นับเป็นลานสุเหร่าที่สวยงามเรียบง่ายตามแบบสถาปัตยกรรมอาหรับ
สระน้ำใหญ่บนลาน ที่เคยใช้เป็นที่ล้างมือล้างเท้าของชาวมุสลิมก่อนเข้าไปในสุเหร่า


ร่องน้ำตื้นๆที่เชื่อมต่อกันบนพื้นทั้งบริเวณลานใหญ่นี้ เป็นพยานอัจฉริยภาพของชาวอาหรับพื้นที่จะไม่เคยเฉอะแฉะ
ทั้งรอบโคนต้นไม้หรือบนทางเดินในสวน

 คนเดินชมสวน ต้องระวังเพราะเท้าพลาดเหยียบลงในร่องน้ำ บาดเจ็บเท้าแพลงได้หากขาดสติ

ภายในป้อมปราการเช่น Alcázar ที่เมือง Códoba เรากอาจแปลกใจว่าหลังกำแพงหนาและมั่นคง มีสวนเขียวชะอุ่ม ต้นไม้ดอก ไม้ผล กลิ่นดอกส้มดอกมะนาวหอมโชยมา ทำให้จิตใจอ่อนโยนลงทันที  สระน้ำที่ทอดต่อๆกันไปตลอดความยาวของพื้นที่ สะท้อนแสงระยิบระยับหรือความไร้กังวลของมวลเมฆที่ทอดกายบิดขี้เกียจลอยไปมาในท้องฟ้าสีใส
สวนน้ำที่เมือง Córdoba ภายในบริเวณป้อมเมือง Alcázar





สวนอาหรับในสเปน โดยเฉพาะอุทยาน Alhambra รวมกับอุทยานel Generalife ที่เมือง Granada [กราน่าดะ] นับเป็นสวนที่สวยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เป็นสมบัติล้ำค่าของยุโรป สวนนั้นดูเหมือนจะตรงกับวิสัยทัศน์เรื่องสวรรค์ของชาวยุโรป  แม้ในปัจจุบันวันเวลาก็ยังมิได้ทำลายความงามและความยิ่งใหญ่ของสวนนั้น และเป็นพยานหลักฐานเดียวของแบบสวนในศตวรรษที่13-14 ที่เหลืออยู่ในยุโรป แปลนสวนที่นั่นพัฒนาจากอุดมการณ์ของความเป็นระเบียบ ความชุ่มชื่นและรูปทรงมั่นคงแบบเรขาคณิตของชาวเปอเชีย  จุดรวมสายตาในแต่ละสวนคือจุดใจกลางของพื้นที่ตรงที่ทางน้ำไหลมาบรรจบกัน หรือที่ทางเดินย่อยๆในสวนมาพบกัน และตรงนั้นก็เป็นที่ตั้งของสระน้ำพุ หรือพลับพลา(ก็เป็นอีกหนึ่งสร้างสรรค์ตามที่จินตนาการจะพาไป) เช่นสระน้ำพุประดับด้วยสิงโต(ดูภาพข้างล่างต่อไปนี้)  ทัศนมิติหนึ่งจบลงตรงแบบสถาปัตยกรรมแบบหนึ่ง(เช่นสระน้ำพุ) แม้เส้นทางเดินจะเป็นเส้นตรงเสมอ แต่เข้ากลมกลืนกับพื้นที่ได้อย่างเหมาะเจาะ จึงไม่ทำให้รู้สึกแข็งทื่อ  สวนอาหรับเป็นสวนน้ำ  น้ำอันเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ของความบริสุทธิ์ ของความสามารถปรากฏในทุกรูปแบบ ทุกสถานที่และทุกกาลเวลา ไม่ว่าน้ำจะอยู่ในสภาพไหลเชี่ยว ไหลเอื่อยๆ หยุดนิ่งหรือพุพุ่งกระจาย เพียงแค่ได้ยินเสียงน้ำ หรือได้เห็นน้ำไหลไปมาในสวน ก็สร้างความรู้สึกสดชื่นได้อย่างวิเศษ คุณลักษณะอันพิเศษสุดของน้ำจึงสะท้อนภาพของพระผู้เป็นเจ้าได้ดีที่สุดเช่นกัน
 ป้อมปราการมหึมาที่ล้อมรอบที่ตั้งของ Alhambra (ภาพบน) ภายในกำแพงหนาสีแดงๆ ปกป้องสวนอาหรับที่งามที่สุดในยุโรป (และภาพล่าง) กลุ่มสถาปัตยกรรม El Generalife.

สระน้ำที่ประดับลานสวนหรือคอร์ตภายในบริเวณอันกว้างใหญ่ของAlhambra ที่โดดเด่นเป็นพิเศษเช่น ลานสวนดอกพังพวยฝรั่ง (Corte de los Arrayanes) ที่เป็นความงาม ความภูมิฐาน ความสงบสุดยอดในรสนิยมตะวันตก ดังภาพสองภาพข้างล่างนี้ ผืนน้ำยาว เป็นกระจกเนื้อดี นิ่งไม่กระเพื่อม ส่องทั้งสวรรค์เบื้องบนและผลงานสร้างสรรค์ของคนเบื้องล่าง ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงบทบาทของน้ำที่เป็นสื่อกลางระหว่างระหว่างแสงกับเงา ระหว่างพระเจ้ากับดนเดินดิน
 Corte de los Arrayanes (ลานดอกพังพวย)
 
ลานสิงโต หรือCorte de los Leones ในภาพพิมพ์สมัยก่อน
สระน้ำพุสิบสองเหลี่ยมประดับด้วยสิงโต12 ตัว น้ำพุไหลพุ่งออกจากปากสิงโต แล้วไหลแยกออกไปตามทางน้ำสี่ทางสี่ทิศ
ทางน้ำไหลเป็นร่องน้ำตื้นๆตัดแยกพื้นที่ลานเป็นสี่ส่วน
ภาพลักษณ์ของความสมดุลมั่นคง ตามอุดมการณ์สวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำสี่สายไหลลงจากสวรรค์หล่อเลี้ยงโลก
เหมือนกันทั้งในวิสัยทัศน์ของศาสนาคริสต์และอิสลาม  
 ลวดลายประดับบนกำแพงหรือใต้เพดานเป็นลายพืชพันธุ์ รูปลักษณ์เรขาคณิต จารึกคำพูดในภาษาอาหรับ
ทั้งหมดสรรเสริญพระเจ้าและสุลต่าน Yusuf I ผู้ให้สร้างวังนี้ในศตวรรษที่14 (5)

ทางน้ำไหลต่อเข้าไปภายในอาคารด้วย ทางน้ำดูจะแผ่เชื่อมไปยังทุกห้องทุกพื้นที่
เหมือนนำความชุ่มชื่นเข้าไปในห้อง (เป็นเครื่องปรับอากาศที่วิเศษ)
เสียงน้ำไหลแผ่วเบากลมกลิ้งไปบนท้องน้ำตื้นๆ น่าฟังยิ่งนัก
ลานสิงโตเป็นตัวอย่างสุดยอดอีกตัวอย่างหนึ่งของอัจฉริยะอาหรับ
 

อาคารชมวิว Partal [ปารฺตั้ล] ในภาษาอาหรับแปลว่า “ที่ร่มหย่อมเล็กๆ” เป็นอาคารชมวิว เรียบง่าย ที่สุดของความงาม  สวนบริเวณนี้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในต้นศตวรรษที่ 20 แบบแปลนสวนจึงไม่ใช่แบบสวนอาหรับนัก แต่สะท้อนอุดมการณ์ที่ผนึกแบบสวนยุโรปกับสถาปัตยกรรมอาหรับได้อย่างลงตัว บริเวณนี้ปลูกแนวต้นไม้ตัดเป็นรั้วเตี้ยๆ และการจัดพื้นที่เป็นระดับ เชื่อมต่อกันด้วยบันได  จากที่นั่นมองเห็นหมู่บ้านบนเนินเขาทั้งที่อยู่ใกล้และไกลออกไป
 

จากหมู่พระราชวังบนอีกฝั่งหนึ่งของหุบเขา(ภายในบริเวณกว้างใหญ่ของAlhambra) คือที่ตั้งของ El Generalife [เอล เฆเนรัลลีเฟ่]  สวนที่นั่นอาจเป็นภูมิทัศน์ที่มีคนไปถ่ายรูปมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
แผนผังแสดงการจัดพื้นที่อุทยานที่ El Generalife
สระน้ำทรงยาวในสวน สายน้ำพุขึ้นจากสองข้างและตกลงเป็นรูปโค้งแบบอารเขตนั้น ไม่ใช่รูปแบบของสวนเอเชียตะวันตก เป็นแบบที่มาจากสวนโรมันมากกว่า และปรับเข้ากับการจัดสวนได้อย่างวิเศษ  กลุ่มสระน้ำพุ ที่ทอดยาวต่อๆกันไป เป็นทัศนมิติที่ร่มรื่น ระรื่นไปกับเสียงไหล เสียงน้ำพุที่กลมกลิ้ง ปริมาณน้ำที่พุ่งขี้นและตกลง ได้มีการคำนวณแล้วเพื่อให้เสียงที่ได้ยินกล่อมหูโดยไม่ทำให้หนวกหู และน้ำพุที่ตกลงกระทบผืนน้ำในสระ สร้างวงกลมของน้ำในขนาดพอเหมาะ ไม่ฟู่ฟ่า เสียงกระจายออกอย่างแผ่วเบา very discrete  เมื่อเทียบกับสระน้ำพุในสวนแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส   เสียงของน้ำ “ไหลจอกโครม จอกโครม มันดังจอกๆจอกๆโครมๆ” เสียงน้ำในสวนอาหรับกับเสียงน้ำในสวนฝรั่งเศส เทียบได้กับเสียงเปียโนกับเสียงฉิ่งฉาบ (ให้อรรถรสต่างกันมาก)
สังเกตดูแนวน้ำพุและวงกลมๆของน้ำในสระ เหมือนดอกไม้ ให้ความรู้สึกเหมือนท่าทางขี้อายของสาวชาวฮาเร็ม เราอยากจะย้ำว่า นี่เป็นวังat human scale กาลิฟมุสลิมไม่เคยคิดยกตนว่าเสมอพระเจ้าหรืออัลลาห์ แต่เป็นผู้รับใช้พระเจ้า รับใช้อัลลาห์  กษัตริย์ฝรั่งเศสถือตนว่า ยิ่งใหญ่เยี่ยงพระเจ้าหรือเทพเจ้า เช่นพระเจ้าหลุยส์ที่14 ยืนหยัดพระองค์เองว่า ทรงเป็น สุริยเทพ (หากไม่มีพระองค์ ก็เหมือนขาดดวงอาทิตย์ โลกจะมืดมนอนธการ) 





มวลน้ำหรือแผ่นน้ำเหมือนแผ่นกระจกเงาเนื้อดีนำสวรรค์มาสุ่พื้นโลก 
น้ำในสระนิ่งเพื่อทำหน้าที่ของกระจกส่องรูปลักษณ์โดยรอบ แต่ลึกลงไป มิใช่น้ำนิ่งที่จะเป็นน้ำเน่าได้ เพราะมีทางน้ำเชื่อมเป็นเครือข่ายไปยังที่อื่นๆใต้พื้น เป็นอัจฉริยะของวิศวกรรมอาหรับ สวนเป็นหย่อมๆ สถาปัตยกรรมสวน รวมรูปลักษณ์เรขาคณิต เป็นความมั่นคง ชัดเจน สมสัดส่วน พร้อมสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่สะท้อนความสมดุลของสภาพแวดล้อม
และเมื่อมองไกลออกไปในหมู่บ้านปลายเนินหรือบนเนิน(Albaicin) ยืนยันว่ามีสวรรค์บนดินจริง  อะลั่มบระ ตั้งบนเขาชื่อ Sabika และเมือง Granada ตั้งบนพื้นที่สามเหลี่ยมที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน คือแม่น้ำ Darro [ด้ารฺโร] และแม่น้ำ Genil [เฆนีลฺ](6)

Albaicín [อัลบัยธิ่น] เขตเมืองเก่าที่ยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคกลางที่อาหรับมัวร์เคยครอบครอง ถิ่นนี้เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวัง ป้อมปราการมาก่อนที่จะมีการสร้างกลุ่มสถาปัตยกรรมที่ Alhambra [อะลั่มบระ] จึงเคยเป็นศูนย์สำคัญที่สุดของเมืองGranadaในยุคอิสลาม จนถึงปัจจุบันยังคงรักษาสปิริตอาหรับมัวร์ไว้ได้ ยังคงไปเดินชมบ้านเรือน ถนนหนทางตรอกเล็กซอยน้อย สวนภายใน สวนผลไม้และระบบการจัดการน้ำ หรือความงามเรียบง่ายของที่อยู่อาศัยแบบอาหรับ

สวนหย่อมต่างๆ วิธีการทำสวน  ไม่มีรูปปั้นใดตามขนบอิสลาม มีแต่ต้นไม้ แต่งและปลูกเรียงกันไป เป็นธรรมชาติที่คนเข้าไปจัดให้เป็นซุ้ม เป็นประตูโค้ง เป็นถ้ำฯลฯ







นอกจากต้นไม้ ดอกไม้และใบใม้ปรากฏเป็นแบบประดับในศิลปะอาหรับที่หาศิลปะชนชาคิอื่นมาเทียบเคียงไม่ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อราชวงศ์ Mughal เริ่มสร้างสวนและพระราชวังต่างๆในอินเดีย สืบทอดศิลปะอาหรับต่อมา  ตัวอย่างงดงามทั้งหลายที่เห็นได้ตามราชสถานสำคัญๆในอินเดีย เมื่อเปรียบเทียบกับศิลปะอาหรับในยุโรปที่เหลือน้อยมาก สวนแบบดั้งเดิมของเปอเชียแทบไม่เหลือเลยแม้บางแห่งจะมีการบูรณะขึ้นใหม่ก็ตาม  อินเดียน่าจะเป็นประเทศที่รวมวัฒนธรรมและศิลปะอาหรับไว้มากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแบบสถาปัตยกรรม การปลูกสวนและแบบประดับหลากหลายประเภท แม้มีแบบเฉพาะของอินเดียที่แทรกเข้าไปมากขึ้นๆในแต่ละยุคก็ตาม เชิญชมตัวอย่างแบบประดับที่เป็นดอกไม้พืชพรรณที่พบในพระราชวังที่อินเดียข้างล่างต่อไปนี้
จาก Agra Fort ในอินเดีย ลวดลายดอกไม้ทำจาก
เปลือกหอย(มุก)ฝังลงบนเนื้อหินโดยตรง
แผ่นหินอ่อนจำหลักนูนเป็นต้นไม้ดอกต่างชนิดประดับฐานกำแพง
จากสุสาน-อนุสรณ์สถาน Taj Mahal
ลวดลายดอกไม้ที่ประดับราวระเบียง
หรือที่ประดับผนังกำแพงจาก Agra Fort ในอินเดีย

ภาพดอกไม้ทำจากเปลือกหอยมุกหลากสี ฝังลึกลงบนกำแพงเลย
เป็นแบบประดับที่นิยมกันมากในอินเดีย พบตามราชสถานในอินเดีย
ดูเหมือนว่าชาวอินเดียมีฝีมือดีในงานช่างมาก

ลวดลายหรือรูปลักษณ์ของดอกไม้ภายในกรอบ แบบเดียวกับที่เห็นในพระราชวังท็อปกาปิ
ที่อิสตันบูลประเทศตุรกี แต่ที่นั่นใช้วิธีวาดระบายสีแบบเฟรสโก้มากกว่า
สี่ภาพข้างบนมาจากวัง Amber Palace ประเทศอินเดีย
ภาพข้างบนนี้มาจาก Amber Palace ลวดลายดอกไม้ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ
ใช้แผ่นเงิน(ผสมกับเปลือกมุก)ฝังลงบนกำแพงเป็นลวดลายดอกไม้ในแจกีน
ภาพข้างบนนี้มาจาก City Palace เป็นงานช่างที่ประณีตแบบเดียวกัน
เป็นลวดลาย เป็นกรอบ หรือเป็นหน้าต่างฉลุลายดอกไม้
ภาพวาดแบบเฟรสโกบนกำแพงบางแห่งก็มีเช่นกัน ภาพวาดแบบนี้เป็นแบบการนำเสนอ
พืขพรรณเชิงพฤกษศาสตร์ (Botanic painting ที่ City Palace)
การนำแผ่นหินอ่อนสีๆฝังลงบนกำแพงหินอ่อนเป็นลวดลายต้นไม้
ดังภาพข้างบนนี้จาก City Palace ในอินเดีย

ตัวอย่างบันไดน้ำ ที่เป็นนวัตกรรมสุดเท่ของวิศวกรรมอาหรับ เสียงน้ำใสไหลเย็น ชื่นฉ่ำวิญญาณป็นบันไดสูงต่างระดับสามขั้นสามตอน ลานในแต่ละระดับมีสระน้ำพุเล็กๆที่มีทางน้ำไหลต่อลงไปสู่ชั้นล่างเรื่อยๆ  ราวบันไดจัดเป็นช่องทางน้ำไหล วิธีการนี้ได้ไปเป็นแบบในการสร้างสรรค์ทางน้ำไหลในสวนต่างๆของยุโรป  น้ำที่ใช้ในอะลั่มบระ นำส่งมากับสะพานส่งน้ำของหลวง(Acueducto Real)ที่เชื่อมกับแม่น้ำDarro [ด้ารฺโด] สะพานส่งน้ำนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่13 เป็นสุดยอดวิศวกรรมอาหรับอีกเรื่องหนึ่งที่ยังใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลเต็มมาจนถึงทุกวันนี้


 
หรือบันไดขนาดเล็กที่ Alcázarเมือง Córdoba น้ำไหลลงสองข้างบันไดสู่ปากท่อน้ำที่มีทางน้ำต่อๆไปใต้พื้นสวน

        ในศตวรรษที่13 ความต้องการเรียนรู้และเข้าใจพืชพรรณ ทำให้เกิดการสถาปนาสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นที่เมืองMontpellier [มงเปลิเย] ในภาคใต้ของฝรั่งเศส (เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยการแพทย์ที่ปราชญ์อาหรับเป็นผู้ตั้งขึ้น) ที่เป็นเหมือนการปฏิวัติครั้งใหญ่ในระบบความคิดอ่านและการเรียนรู้ของประเทศ  ในยุคเดียวกันนั้น นักพฤกษศาสตร์ Ibn al-Baytar ที่เมืองMálaga [ม้าละกะ]ในสเปน ได้จัดจำแนกพืชพรรณที่เขารู้จักกว่าหนึ่งหมื่นสี่พันชนิดแล้ว   บันทึกไว้ในงานเขียนของเขาชื่อว่า Pharmacopeia  ปราชญ์อาหรับจึงเป็นผู้อนุรักษ์ความรู้ จัดจำแนกความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ และบรรยายลักษณะพืชพรรณต่างๆไว้อย่างละเอียด เป็นมรดกแก่ชาวโลก
       ดินแดนที่จะต้องกล่าวถึงในบริบทนี้เช่นกันคือดินแดน Byzantium  ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในอาณัติกรีกในราวปี660 BC. เป็นดินแดนที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย  จักรพรรดิ Constantinus ตั้งชื่อเมืองตามชื่อพระองค์ว่า Constantinople และเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันในปี330 AD. ในตอนนั้นภาษากรีกเป็นภาษาทางการ  เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นสูงสุดในซีกโลกตะวันตก ในขณะที่ยุโรปตอนเหนือกำลังระส่ำระสาย ปิดล้อมอยู่ในความกลัวแบบต่างๆ(นักประวัติศาสตร์เรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคมืดของยุโรป)  เมืองนี้จึงเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ ทั้งยิ่งใหญ่ สวยงาม เป็นระเบียบและอุดมสมบูรณ์ เป็นขุมทองที่ดึงดูดใจผู้คนมิได้ขาด รวมทั้งผู้รุกรานหลายชาติหลายภาษาด้วย  นำไปสู่การสร้างกำแพงเมือง สร้างอำนาจทางทะเลและโดยปริยายสร้างผู้นำที่เข้มแข็ง  ในคราจำเป็นก็ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มทหารครูเสดด้วย  ในศตวรรษที่สิบเอ็ดเมือง Constantinople เป็นเมืองป้อมปราการเพราะเหตุดังกล่าว แต่ภายในกำแพงเมือง มีสวนจำนวนมากที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลาและสถานการณ์ต่างๆต่อมาได้ด้วยดี  จึงเป็นเมืองหน้าด่านของอารยธรรมกรีกโรมันเรื่อยมาจนถึงปี1453 เมื่อตกไปอยู่ในมือของชาวเติร์ก กลายเป็นอิสตันบูลในปัจจุบันและใช้ภาษาตุรกีตั้งแต่นั้นมา  
        จักรพรรดิ Constantinus รับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำของชาวโรมัน สั่งให้สร้างวัดคริสต์แห่งแรกชื่อ San Pietro [ซันปิเย่โตร] ณ กรุงโรม(330) (ที่เป็นมหาวิหารศูนย์กลางคริสต์จักรและที่ตั้งสำนักวาติกันในปัจจุบัน)  วัดนั้นมีลานใหญ่ตรงทางเข้า มีแนวเสาสูงเรียงราย(แบบ peristyle court) ในยุคนั้นปลูกต้นไม้ทำสวน  ต่อมาจึงปูหินปิดพื้นที่ทั้งหมด  ในปี532 ให้เริ่มก่อสร้างวิหารเซนต์โซเฟียในเมือง Constantinople ภายในวิหารมีลานสวนในแบบเดียวกับลานสวนอาหรับ(วิหารนี้เรียกกันในตุรกีว่า Hagia Sophia)  พระราชวังของจักรพรรดิโรมันที่เมืองนั้นก็มีสวน (ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของBlue Mosque)  พื้นที่พระราชวังทั้งหมดรวมสนามแข่งม้าศึก(Hippodrome) ไปจนถึงชายฝั่งทะเล Marmara  โครงการสร้างพระราชวังสำหรับจักรพรรดิโรมันนี้ ส่งผลต่อไปในยุคที่อิสลามเข้าครองประเทศและเริ่มเนรมิตสวนอาหรับที่นั่น
        สวนในสมัยไบแซนไทนนั้นไม่มีหลักฐานโบราณคดียืนยัน  ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเอกสารลายลักษณ์มากกว่า จึงยากที่จะตีความหรือถอดความออกมาเป็นรูปลักษณะให้ชัดเจนได้ เพียงแต่รู้ว่าในสวนมีระบบชลประทานที่ดีและมีประสิทธิผลจริง ทำให้สามารถปลูกดอกไม้ (rose, violet, lily, iris, narcissus) และพุ่มไม้เป็นแปลงสี่เหลี่ยม  มีทางเดินสลับกับแถวปลูกผักและเส้นทางน้ำไหล  พื้นที่ต่างระดับทำให้จัดสวนแบบเป็นขั้นๆเป็นระเบียงหรือทำเป็น สวนต่ำ” (sunken garden)   ผู้คนชื่นชมดอกไม้ ใส่ใจดูแลต้นไม้และสวน  พืชพรรณที่ปลูกในสวน ยังมีต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ (evergreenเช่น ivy, myrtle, box, bay)  ต้นไม้ผล(อันมีต้น apple, pear, pomegranate, fig, orange, lemon, grape)  และต้นไม้ที่ให้ร่มเงา (pine, palm, oak, elm, ash)  ในสวนได้ยินเสียงนกร้อง เสียงน้ำไหล น้ำตกหรือน้ำพุและเสียงใบไม้กรอบแกรบ  ทั้งหมดนี้(ยกเว้นการปลูกต้นไม้ผลต่างๆ) ดูเหมือนจะยังคงเป็นลักษณะเด่นๆของสวนสาธารณะในเมืองอิสตันบูลมาถึงทุกวันนี้
        การที่วัฒนธรรมไบแซนไทนสามารถเจริญรุ่งเรืองต่อมาได้ในระหว่างที่ยุโรปตกอยู่ในยุคมืดนั้น  นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีต่างหวังว่าการขุดค้นต่อไปจะให้ข้อมูลละเอียดใหม่ๆเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สวนในยุคไบแซนไทน  นอกจากเมืองคอนสแตนติโนเปิล เมืองเวนิสก็เป็นเมืองท่าสำคัญร่วมยุคสมัยนั้น เป็นด่านนำส่งและกระจายขนบวัฒนธรรมไบแซนไทนเข้าสู่ยุโรป  เชื่อกันว่ายุคไบแซนไทนนี้เป็นแหล่งความคิดและข้อมูลสู่การวิวัฒน์ของอุดมการณ์เรอแนสซ็องส์ในยุโรป

        ในทศวรรษที่ใกล้เราที่สุด บนอาณาบริเวณกว้างใหญ่(ประมาณ 21เฮกเตอร์ชานกรุงแบร์ลินในเยอรมนี ทางการจัดให้เป็น Gärten der Welt (Gardens of the World) ที่เหมือนพิพิธภัณฑ์แบบสวนจากมุมต่างๆในโลก แบบฝรั่งเศส แบบอังกฤษ แบบอิตาเลียน แบบจีน แบบญี่ปุ่น แบบเกาหลี แบบอินโดนีเซีย แบบอาหรับ และแบบอื่นๆที่กำลังสร้างสรรค์ต่อกันมา รวมทั้งสวนวงกตขนาดใหญ่เล็ก ทางการได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ สวนแต่ละประเทศจึงรักษารูปแบบวัฒนธรรมการปลูกสวนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประเทศไว้  สวนที่อลังการที่สุดคือสวนจีน(เริ่มทำตั้งแต่ปี1994) พื้นที่สวนมีขนาดใหญ่กว่าสวนลือนามหลายแห่งของจีนเอง 
        ทั้งหมดเป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ เยอรมนีมีวิธีสร้างประเทศ สร้างคน ปลูกฝังความรักธรรมชาติ กระตุ้นความสนใจในวัฒนธรรมโลก เสริมทักษะการเรียนรู้ในทุกมิติ ไม่มีชาติยุโรปใดทำได้เสมอเหมือน. Gärten der Welt เป็นที่ร่มรื่น เหมาะกับการพักผ่อนของคนทุกวัย จะไปเป็นหมู่หรือตามลำพังกับครอบครัว หรือไปแบบนักเดินทางโดดเดี่ยวอย่างข้าพเจ้า เป็นอุทยานที่ชาวแบร์ลินหนีความวุ่นวายในตัวเมือง ออกจากป่า จากอาคารเรือนกระจกที่เป็นโฉมหน้าใหม่ของกรุงแบร์ลิน ไปสู่ป่าไม้สูงใหญ่ในธรรมชาติ (เช้คเข้าไปในอินเตอเน็ตเพื่อดูภาพหรือรายละเอียดของสวนนี้ได้จากชื่อสวน) ข้าพเจ้าขอคารวะ the German know how มาณที่นี้ด้วย การไปเยือนครั้งนั้นจึงได้ถ่ายรูปสวนแบบอาหรับมาด้วย แม้จะมีขนาดย่อมกว่าสวนอาหรับมัวร์ในสเปน แต่ก็เก็บเอกลักษณ์สำคัญไว้ได้ครบ ดังภาพสวนน้ำกลางลานใหญ่ที่นั่น




 
เชิงอรรถ
1. เพราะอิสลามไม่ตีระฆังเรียกศาสนิก แต่ใช้เสียงคนร้องเรียก เหมือนเสียงสวด เตือนว่าถึงเวลาสวดมนต์แล้ว  เสียงนี้ดังก้องภายในหอคอยขึ้นสู่ช่องลมตอนบนและกระจายออกไปทุกทิศ  เสียงสวดร้องเรียกนี้ยิ่งได้ยินจากที่ไกลๆ หรือล่องลอยมากับสายลมหรือเหนือสายน้ำ ฟังแล้วอาจทำให้ต้องลุกขึ้นสวดมนต์ตาม  ข้าพเจ้าเคยได้ยินล่องลอยมากับแม่น้ำไนลมาถึงห้องพักของข้าพเจ้าที่โรงแรม The Cataract ริมฝั่งแม่น้ำไนล ได้ยินแล้วอารมณ์สะเทือนทีเดียว เป็นเสียงที่ทั้งอ้อนวอนและรุกเร้า เป็นเสียงที่ผู้สวดผู้ปล่อยอัตตะทั้งหมดของเขาลงไว้ในมือของอัลลาห์  ข้าพเจ้าไม่เข้าใจหรอกว่า เนื้อหาของคำร้องนั้นคืออะไร แต่รู้ด้วยสำนึกแห่งประสาทว่าผู้นั้นมีความไว้วางใจ มีความหวังในอัลลาห์ของเขาเพียงใด  นับเป็นความสำเร็จประการหนึ่งของอิสลามที่มีบทสวดแบบนี้ บทสวดที่ทั้งทำนองและจังหวะคำ สื่อความในใจได้ชัดเจนถึงเพียงนั้น และก็โชคดีที่พบชาวมุสลิมที่มีจิตใจยอมตนต่อพระเจ้าของเขาได้ถึงเพียงนั้น

2. กาลิฟชาวอาหรับมัวร์ที่ครอบครองสเปนมา(เกือบครึ่งค่อนของคาบสมุทรไอบีเรีย) ตั้งแต่ศต.ที่ ๘ สืบราชวงศ์ต่อๆกันมา (มีการแก่งแย่งระหว่างกาลิฟเชื้อสายต่างกันด้วย) เฉพาะที่เมือง Granada [กราน่าดะ] มีกษัตริย์มุสลิม(emir)ปกครองติดต่อกันมา23 องค์ ได้มีการสร้างป้อมปราการขึ้นที่นั่นแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 แต่กลุ่มสถาปัตยกรรมดังที่เห็นในปัจจุบันนั้นเริ่มอย่างจริงจังในศตวรรษที่13 เมื่อมีการสถาปนาอาณาจักรอะลั่มบระขึ้นที่นั่น ราชวงศ์ Nasrid dynasty เป็นราชวงศ์อาหรับมัวร์ราชวงศ์สุดท้ายในสเปน Mohammad I (หรือสุลต่าน Ibn Ak-Ahmar) เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์นัสริดใน Granada  เมื่อมีชัยเหนือกาลิฟ Almohad ในปี 1212.  แต่เมื่อต้องต่อสู้กับกษัตริย์คาทอลิกที่เข้มแข็งมากขึ้นๆ จนสามารถขับไล่ชาวอาหรับมัวร์ให้ลงใต้ไปเรื่อยๆ สุลต่าน Ibn Ak-Ahmar จึงถอยร่นลงใต้  และไปตั้งอาณาจักรโดยมีเมืองหลวงที่ Granada ตั้งแต่ปี1232 และอย่างถาวรในปี1238  กลุ่มปราสาทและป้อมรวมทั้งสวนทุกแห่งเรียกรวมกันสั้นๆว่า Alhambra [อะลั่มบระ] อิทธิพลของอิสลามในปริมณฑลของGranada สิ้นสุดลงในวันที่ 2 มกราคม1492 กับกาลิฟองค์สุดท้ายชื่อMuhammad XII
      ในภาคเหนือของสเปนต้นยุคกลางลงมานั้น มีการแบ่งแยกออกเป็นแคว้นๆต่างปกครองอิสระ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวอาหรับมุสลิมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนมานานตั้งแต่ศตวรรษที่แปด มีกำลังอำนาจเหนือกว่าแคว้นต่างๆในภาคเหนือที่เป็นเชื้อสายยุโรปและเป็นคาทอลิก   แคว้นสำคัญๆคือแคว้น Castilla (ซึ่งมักจะเรียกรวมกันว่า Castilla y León [กัสตี๊ญา อี  เลอ้น]) มีอาณาจักรกว้างใหญ่ที่สุด  ตามมาคือแคว้นAragón [อะราก๊น] ที่รวมดินแดนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก (เช่นดินแดนโดยรอบเมือ Barcelona ลงไปจนถึงเมือง Valencia เป็นต้น) แคว้นNavarra [นาว่ารฺรา] เป็นแคว้นที่เล็กที่สุดที่ผูกพันธมิตรกับฝรั่งเศสเพื่อความอยู่รอด  เพราะฉะนั้นเมื่อพระเจ้า Fernando II [เฟรฺนั่นโด เซกุ้นโด] แห่งAragón ทรงอภิเษกสมรสกับพระราชินีIsabel I [อิสซาเบ็ล ปรีเม้รา]แห่งCastilla เท่ากับผนึกกำลังของสองแคว้นใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดบนคาบสมุทรไอบีเรียยุคนั้น สมญานามที่ชาวสเปนเรียกทั้งสองพระองค์ คือlos Reyes Católicos [โลซ เร้เย้ส กาต๊อลิโก้ส] ที่แปลว่า กษัตริย์คาทอลิก จารึกในประวัติศาสตร์สเปน ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสเปนยุคเก่าสู่สเปนยุคใหม่
ภาพกษัตริย์คาทอลิก พระเจ้าFernando II de Aragón [เฟรฺนั่นโด เซกุ้นโด เด อะราก๊น]
และพระราชินี Isabel I de Castilla [อิสซาเบ็ล ปรีเม้รา เด กัสตี๊ญา]
ผลงานนิรนาม ราวศตวรรษที่15  ปัจจุบันอยู่ที่ Convento de las Augustinas,
เมืองMadrigalejo ประเทศสเปน (จากวิกิพีเดีย หมวดภาพ public domain)
การผนึกกำลังดังกล่าวทำให้กษัตริย์คาทอลิกสามารถขับไล่ชาวอาหรับมัวร์ออกจากสเปนไปได้หมด เหลือเพียงอาณาจักรที่Granadaเท่านั้น แต่สุดท้ายในปี1492 กษัตริย์คาทอลิกก็สยบชาวอาหรับมัวร์ที่เมืองGranada ได้สำเร็จ  เหตุการณ์การช่วงชิงดินแดนสเปนกลับคืนสู่ชาวสเปนคริสต์ เรียกกันในประวัติศาสตร์ว่า la Reconquista [ลา เรกงกี๊สตะ] (หรือ la Rendición de Granada) ซึ่งสืบเนื่องติดต่อกันมาราว781ปีบนคาบสมุทรไอบีเรีย ตั้งแต่ที่ชาวอาหรับมัวร์ยกทัพไปยึดครองสเปนในปี711 ถึงการสยบGranada ในปี1492  สเปนขับไล่ชาวอาหรับมัวร์กลุ่มสุดท้ายออกจากประเทศ และประกาศให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนชาวอาหรับมัวร์ที่ต้องการอยู่ต่อ ต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ 
จิตรกรรมแสดงเหตุการณ์การยอมจำนนของกาลิฟองค์สุดท้าย
(la Rendición de Granada) มอบอาณาจักรGranada คืนแก่กษัตริย์คาทอลิก 
จิตรกรรมผลงานปี1882 ของ F.Pradilla y Ortiz (1848-1921)
(ภาพจากวิกิพีเดีย ในหมวด public domain)
ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น พระนางอิสซาเบลที่หนึ่งองค์เดียวกันนี้ ได้สนับสนุนคริสโตเฟอร์โคลัมบัส(ชื่อในภาษาสเปนว่า Cristóbal Colón [คริสโต่บั๊ล โกล่น],1451-1506, ชาวเมืองGenoa ในอิตาลี) ออกเดินเรือไปหาเส้นทางสู่อินเดียเส้นทางใหม่ด้วยการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไป  นำไปสู่การค้นพบทวีปใหม่ และการสร้างความตระหนักรู้แก่ทุกชาติในยุโรป ว่ามีทวีปอเมริกาอยู่นอกฝั่งแอตแลนติกออกไป

3. Babur เขียนอัตชีวประวัติด้วยภาษาถิ่นเตอร์กภาษาหนึ่ง  ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการสงครามและเรื่องราวในชีวิตครอบครัว  ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อความสั้นๆเกี่ยวกับกิจกรรมยามว่างแทรกไว้ตามหน้าต่างๆ เช่นเดินชมสวน เขาเจาะจงจำนวนชนิดของดอกไม้ เช่นดอกทิวลิป ชื่อดอกไม้ประเภทต่างๆ  เล่าว่าเขาชอบล่าสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ๆที่หายาก และชอบทิวทัศน์ในธรรมชาติ   Babur ได้สร้างสวนไว้บนดินแดนทุกแห่งที่เขาไป  เขาคิดว่าอินเดียร้อนเกินไป เป็นที่ราบเกินไป และไม่เหมาะสำหรับการสร้างสวนสี่เหลี่ยมสี่ส่วน(chahar bagh)   เขาไม่ชอบที่ชาวฮินดูไม่สร้างคลองหรือทำทางน้ำไหล  ที่ใดที่มีคนอยู่ ที่นั่นต้องสร้างกังหันน้ำ  สร้างพื้นที่เป็นแบบเป็นแผน เขาสำรวจไปทั่วแถบลุ่มน้ำJumna ใกล้เมืองAgra เพื่อหาที่สร้างสวน แต่ในที่สุดได้เลิกล้มความตั้งใจเพราะเห็นแต่สภาพที่ไม่มีอะไรน่าอภิรมย์ฯลฯ  อย่างไรก็ดี ลูกหลานเชื้อสายของBabur ผู้ครองอินเดียต่อมา กลับชอบทุ่งราบร้อนระอุของอินเดียภาคเหนือ  บ้างแต่งงานกับเจ้าหญิงพื้นเมือง ส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักสร้างสวน  ในตอนนั้นเองที่ขนบการเคารพวิญญาณบรรพบุรุษของชาวMughal ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับขนบการสร้างสวนเปอเชีย  ทำให้แบบสวนเปลี่ยนไปด้วยเพราะเกิดค่านิยมใหม่ที่ต้องการให้สวนเป็นสถานพักผ่อนทั้งในยามที่ยังมีชีวิตและเมื่อชีวิตสิ้นลงบนโลกนี้  สวนในอุดมการณ์ใหม่นี้คล้ายกับสวนสุสานในอีจิปต์โบราณ  สวนสุสานสำหรับจักรพรรดิสวนแรกในอินเดีย เป็นสวนสุสานของลูกชายของBabur  เป็นสวนสี่เหลี่ยมแบบchahar bagh พร้อมทางน้ำไหลตื้นๆที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างเป็นระเบียบ  การสร้างสวนสุสานทำกันสืบต่อมา แต่สวนสุสานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือTaj Mahal (cf. Tom Turner, p. 95)
4. ยุคเดียวกันนี้ตรงกับยุคสร้างสรรค์สวนใหญ่ๆในส่วนอื่นของโลกด้วย เช่นสวนที่วิลลา Villa Lante (c.1566), สวนที่ Vaux-le-Vicomte (1656) และเป็นยุคสร้างสวนญี่ปุ่นยุคสำคัญที่สุดโดยมีสวนในวิลลาของจักรพรรดิKatsura Imperial Villa ในเมืองเกียวโตเป็นจุดสุดยอดของสถาปัตยกรรมสวนญี่ปุ่น  ยุคนั้นไม่ว่ามุมใดของโลก อำนาจของเจ้าผู้ครองเป็นสิ่งที่มิมีอะไรทัดทานหรือเทียมทานได้ เป็นประหนึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดของพระเจ้า ยังอีกนานกว่าจะถึงยุคประชาธิปไตย
5. หลายแห่งตามห้องตามจุดต่างๆ มีลายประดับที่เป็นอักษรอาหรับ หรือแบบอักษรวิจิตร ประดับกำแพง บ้างเป็นคำกลอนของกวีแห่งยุคเช่น ในวังที่สุลต่านออกรับทูต มีบทกวีบทหนึ่ง จำหลักไว้ว่า 
Eternity is an attribute of God;
Rejoice in the good, for it is surely God who helps;
Only God belong the greatness, the glory,
Eternity, empire and power.
ใจความว่า  พระเจ้าคือความนิรันดร จงปลาบปลื้มในสิ่งดีงาม ที่พระเจ้าได้เมตตาประทานให้ พระองค์ผู้เดียว รวมความยิ่งใหญ่ ศักดิ์ศรี ความไม่สิ้นสุด อำนาจและอาณาจักรอันไพศาล

6. เมือง Granada มีฉากหลังคือเทือกเขา Sierra Nevada [ซิเอรฺร่า เนว้าดะ]  ตัวเมืองมีพื้นที่เขียวล้อมรอบเป็นวงแหวน เป็นป่า สวน ไร่ ทั้งยังเป็นเขตสันทนาการของชาวเมืองที่วิเศษ  ชาวพื้นเมืองมีความคล่องตัวทั้งในวิถีความเป็นอยู่และในจิตวิญญาณที่เคารพวัฒนธรรมที่ดีงาม มิได้คิดถางป่าปลูกสิ่งก่อสร้างเป็นอาคารทันสมัยสูงหลายสิบชั้น แต่อนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมที่พวกเขาสืบทอดต่อมา โดยวางแปลนบ้านแต่ละบ้านให้สอดคล้องกับแบบสถาปัตยกรรมตัวอย่างที่มีมาแต่ยุคกลาง  และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จงดงาม สมบูรณ์ สมดุลและกลมกลืนไปได้กับวิถีชีวิตในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะการเนรมิตผืนน้ำ สระน้ำพุ ภายในบริเวณที่พักอาศัย ทำลานสวนที่เรียกว่าpatio[ป๊าติโอ] จนชาวโลกเมื่อนึกถึงบ้านสเปน ก็ต้องจินตนาการไปถึงลานสวน patio ด้วย  สรุปได้ว่า“น้ำ”เป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียมิได้เลย น้ำได้กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของอาคารบ้านพักในดินแดนแถบGranada  ฟาร์มใหญ่ๆบนเนินเขาหรือท้องทุ่ง ได้เป็นแบบอย่างของบ้านฟาร์มทั้งหลายในแคว้นอันดาลูเซีย (Andalucía [อั่นดะลูธี๊อะ]) ที่รวมถึงความพร้อมด้านอุปกรณ์เพื่อการผลิตการคั้นน้ำมัน(มะกอก) โรงสี ลานหวดธัญพืช ยุ้งฉางและอื่นๆอีก  แต่ละฟาร์มเหมือนอุตสาหกรรมเล็กๆหนึ่งแห่งของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่มีทุกอย่างอย่างพอเพียง พืชพรรณที่เห็นในอะลั่มบระและในแคว้นนี้คือพืชพรรณที่ขี้นและปลูกกันมาตั้งแต่ยุคกลาง เช่นส้ม มะนาว ต้นเบย์ (bay tree) พันธุ์พังพวย กุหลาบ ไวโอเล็ต พืชสมุนไพรต่างๆ

ภาพประกอบอื่นๆที่เป็นตัวอย่างของศิลปะอาหรับในอดีตและในยุคปัจจุบัน
ภาพตัวอย่างจากสวนสี่เหลี่ยมภายในอารามคริสต์ นำมาให้ชมเพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบกับลานสวนอาหรับที่ได้เห็นมาข้างต้น
ทางเดินรอบสวนสี่เหลี่ยมภายในโบสถ์ วัดหรืออาราม ประดับด้วยเสาคู่เรียงกันไป เชื่อมต่อกันด้วยเพดานโค้งครึ่งวงกลมเป็นต้น นายช่างก่อสร้างยังมีลูกเล่นสร้างเสาที่ดูเหมือนคนยืนไขว้ขา อาจเพื่อลดความจำเจ หรือให้แง่คิดได้ว่า จิตมนุษย์หรือผลงานของคนย่อมไม่คงที่เสมอกัน พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นความสมดุลเสมอต้นเสมอปลาย

 
บนหัวบัวของเสาแต่ละต้นจำหลักนูนสวยงาม บ้างเป็นเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซู บ้างเป็นสัตว์รูปร่างหน้าตาแปลกๆ ในสวนมีทางเดินจากสี่มุมตัดกันตรงกลาง เป็นที่ตั้งของบ่อน้ำที่เคยเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของวัด นี่เป็นตัวอย่างของสวนสี่เหลี่ยมภายในอาราม วัดหรือโบสถ์คริสต์ ที่เรียกว่า Cloister (ภาษาอังกฤษ).โดยหลักการแล้วไม่ต่างจากลานสวนอาหรับ ต่างกันตรงแบบประดับขอลอาร์เขตและเสาแบบระเบียงรายเป็นต้น Monasterio de Santo Domingo de Silos (ศต.11-12) ที่นำมาให้ชมนี้ ทางเดินโดยรอบสวนเป็นสองชั้น อารามนี้เป็นตัวอย่างสุดยอดของสถาปัตยกรรมโรมันเนสก์ในสเปน ตั้งอยู่บนเส้นทางจาริกสู่ Santiago de Compostelaเกือบสุดปลายแหลมตะวันตกของประเทศสเปน
        อารามที่นั่นยังมีคณะนักบวชอาศัยประจำอยู่ ปฏิบัติภารกิจแบบต่างๆตามที่เคยทำกันมาในยุคกลาง นักบวชที่นั่นทำนาทำไร่และงานช่างงานฝีมือ เป็นชุมชนเข้มแข็ง อยู่อย่างพอเพียง นำชมอาราม อธิบายศิลปะ สอนให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนและเด็กมัธยมที่ไปจากมุมต่างๆในประเทศสเปน บริการที่พักชั่วคราวแก่ผู้เดินทางไปหาความวิเวกเป็นต้น เป็นตัวอย่างของชีวิตที่เป็นประโยชน์ (บาทหลวงใจดี หน้าตายิ้มแย้ม ใจเย็น) ปัจจุบันมีภารกิจแนวใหม่ คือหลังจากการบันทึกคัมภีร์ให้เป็นระบบดิจิตัลเพื่อเผยแผ่ข้อมูลออนไลน์ให้แก่ชาวคาทอลิกแล้ว ก็ยังเปิดให้คนสามารถเข้าไปหาความรู้ แสดงความคิดเห็นหรือตั้งกระทู้ถามปัญหาแก่นักบวช  นักบวชก็ตอบเขาโดยตรงออนไลน์ด้วย  นอกจากต้นไซเพรสดาราเอกของสวนแล้ว ชื่อเสียงของอารามนี้คือการออกอัลบัมเพลงสวดมนต์ที่เรียกว่า Gregorian chanting โดยเฉพาะอัลบัมที่ชื่อว่า Chant ที่ขึ้นอยู่สุดยอดเพลงฮิตอันดับที่สามในสองร้อยอันดับที่เขาจัดกันเป็น Billboard 200 music chart และเป็นอัลบัมที่ขายดีที่สุดในบรรดาเพลงสวด Gregorian ที่เคยออกสู่สังคมโลก ดูภาพจากวีดีโอคลิบได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=jP0ViNU1lOQ

        มุมหนึ่งในสวน มีต้นไซเพรส(cypress)หนึ่งต้น ปลูกไว้ในปลายศตวรรษที่19 และที่เติบโตสูง
ตรงและตระหง่านเกิน25เมตรแล้ว โดดเด่นเหนืออาคารที่อยู่โดยรอบ กลายเป็นเอกลักษณ์และสิ่งดึงดูสายตา เห็นได้ชัดจากที่ไกลๆ 
ข้าพเจ้าได้ไปยืนพินิจพิจารณาต้นนั้น ดูไกลๆเล็กเรียวเหมือนหลาวที่พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ลำต้นสูงตระหง่าน มั่นคงเด็ดขาดไม่โอนเอน เหมือนศรัทธาและความมุ่งมั่นของนักบวชผู้มุ่งสู่พระเจ้า เหมือนนิ้วชี้ที่ชูขึ้นสู่ฟ้าของนักบุญเมื่อต้องการสื่อถึงพระเจ้าเบื้องบน ดังที่เห็นเสมอในจิตรกรรมเนื้อหาศาสนา ชี้ทางสู่พระเจ้าสู่สวรรค์  หรืออาจเทียบได้กับใจของสามัญชนที่กำลังใฝ่หาความสุขอย่างไม่ลดละ ต้นไม้นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตอายุร้อยกว่าปี โดดเดี่ยวและเด็ดเดี่ยว เป็นดั่งปูชนียบุคคล งามกว่ารูปปั้นหรือนุสาวรียใด ผู้ยืนสังเกตคนสังเกตโลก ให้กำลังใจ เตือนสติให้ยืนหยัดต่อไปบนเส้นทางที่ควรไป บนเส้นตรงสู่คุณธรรม สู่พระเจ้า

ตัวอย่างลานภายในพระราชวัง Achabal (สร้างในศตวรรษที่17) เป็นพยานหลักฐานของการสร้างสระน้ำและการวางท่อน้ำที่ฝังอยู่ใต้ดิน โยงไปเป็นเครือข่ายใต้พื้นดิน โดยเฉพาะที่Achabal มีแหล่งน้ำแร่สำคัญ ทำให้สมาชิกในราชวงศ์ให้สร้างHamam ขึ้นที่นั่น วังที่นั่นสร้างตามสไตล์ Mughal. Achabal gardens อยู่ห่างจากเมืองAnantnag ประมาณ 8 กิโลเมตรในรัฐ Kashmir ประเทศอินเดีย
ภาพข้างล่างคือส่วนหนึ่งของพระราชวังตรงบริเวณที่มีลานกว้างดังกล่าว


สระน้ำแห่งหนึ่งในบริเวณ Taj Mahal ดูความประณีตในการออกแบบขอบสระ
ทั้งหมดเป็นหินอ่อนสีขาวๆ

ลานสวนภายใน Agra Fort เป็นลานสี่เหลี่ยม สี่เส้นทางเดินตัดกันตรงกลางที่ตั้งของสระน้ำใหญ่
ภายในพื้นที่สี่ส่วนปลูกหญ้าคลุมดินสลับสองสีเป็นลวดลายเดียวกันทั้งพื้นสวน
ถัดจากสวนบนลานที่เห็นข้างต้น มีสระน้ำใหญ่พอๆกับสระว่ายน้ำในปัจจุบัน
ทำแอ่งเว้าเช้าไปรอบๆขอบสระ เหมือนให้เป็นที่นั่งได้ด้วย
สระนี้คงเคยใช้เป็นที่เล่นสระสนานในหมู่ชาววัง ขอบก็เป็นลวดลายตามแบบสถาปัตยกรรมอาหรับ

สวนพร้อมสระน้ำและพลับพลาตรงกลางเส้นทางน้ำไหล เรียบง่ายและสง่างาม
อยู่ระดับพื้นบนทางที่ขึ้นสู่ Amber Palace (นักท่องเที่ยวขี่ช้างขึ้นไป)

ถัดจากสวนน้ำ เห็นสวนเป็นขั้นบันไดต่างระดับกันที่ทอดจากระดับพื้นขึ้นไปยังเนินที่ตั้งของพระราชวัง
น่าเสียดายที่เขาไม่พาไปชม ภาพมัวๆในยามช้าตรู่ที่หมอกลงปกคลุมไปทั้งบริเวณ
เห็นวิธีการจัดสวนอย่างเป็นระเบียบ สวนแต่ละแปลงอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเสมอ
มีเส้นทางตัดกลางพื้นที่แบ่งสองส่วนซ้ายและขวา เข้าใจว่าเป็นสวนสมุนไพร
ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย หรืออาจถูกดัดแปลงให้เป็นสวนงามตาในปัจจุบัน

ชั้นบนของ Amber Palace บนลานกว้างได้จัดทำสวนสมุนไพรไว้อย่างสวยงามดังภาพที่นำมาให้ดูข้างล่างนี้

สระน้ำพุตรงกลางสวนเป็นรูปดาวแปดมุม แนวแบ่งแปลงสลับซับซ้อนกว่าการแบ่งสวนสี่ส่วนสี่แปลง
เป็นสุดยอดของความงามสมดุลแบบเรขาคณิตที่พืชพรรณมารวมกัน อวดและเสนอตัวแก่สายตาคน

ภาพข้างล่างต่อไปนี้ เป็นภาพจากVerinag Mughal Garden ในรัฐ Jammu&Kashmir ประเทศอินเดีย Verinag เป็นแหล่งน้ำพุธรรมชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐ Kashmir ที่ได้รับการสถาปนาเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของอินเดีย อยู่ห่างจากเมืองSrinaga ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ78 กิโลเมตร ในปีคศ.1620 กษัตริย์ Mughal Jahangir ได้ให้สร้างอาคารแปดเหลี่ยมที่มองดูเหมือนวงกลม เป็นแบบอาร์เขตล้อมรอบสระน้ำพุขนาดใหญ่ที่เป็นรูปแปดเหลี่ยม น้ำใต้ดินที่พุพุ่งออกจากตรงนั้น ไหลลงไปรวมในสระน้ำใหญ่นี้ และมีทางน้ำไหลเชื่อมต่อๆไปทั้งพื้นที่ ออกไปสู่แม่น้ำ Jhelum  สถาปัตยกรรมและการจัดการทางน้ำที่นี่นั้น ได้มีการศึกษาวางแผนไว้อย่างประณีตสมพงศ์กับสวนที่พัฒนาขึ้นทั้งบริเวณ สร้างเป็นภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น และเป็นทัศนมิติที่ชวนมองไม่รู้เบื่อ นับเป็นอัจฉริยะภาพทางวิศวกรรมของอินเดียที่ไม่น้อยหน้าประเทศใดในโลกยุคเดียวกัน
 ต้นน้ำที่พุ่งออกอยู่ในอาคาร ส่วนที่เห็นหลังคานูนโค้งขึ้นมาในภาพ
 
มีแผ่นหินจารึกข้อความเป็นภาษาเปอเชีย ติดอยู่บนกำแพงด้านทิศตะวันตก ใจความว่า
โดยคำสั่งของShah Jahan กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ สั่งให้จัดนำน้ำไหลไปมารวมกันที่สระน้ำใหญ่นี้ (aqueduct)
แหล่งน้ำนี้ทำให้นึกถึงแหล่งน้ำในสรวงสวรรค์
น้ำพุแห่งนี้ได้นำชื่อเสียงและเสริมหน้าตาแก่แคชเมียร์
เทวทูตที่ตาคนมองไม่เห็น ได้ประกาศกำเนิดของแหล่งน้ำพุนี้
ว่าเป็นน้ำที่ไหลมาจากตาน้ำในสวรรค์ (ปี1037 Hijri)

 ชื่นชมสวนน้ำและทัศนมิติของที่นั่น


 ในอินเดียและแคชเมียร์ เห็นต้นไม้ใหญ่ๆจำนวนมากทุกหนทุกแห่ง เป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดิน

ในโลกอาหรับ สมัยใหม่นี้ มีการสร้างสุเหร่าใหม่ๆขึ้น ตามแบบสถาปัตยกรรมอาหรับดั้งเดิม แต่การประดับตกแต่งได้วิวัฒน์ขึ้นโดยไม่มีอะไรยับยั้งได้ทั้งในด้านความหลากหลายของแบบประดับ และะของวัสดุทุกประเภทที่นำมาใช้ เพื่อเสริมค่านิยมและอุดมการณ์ของอิสลามตามความต้องการของผู้สร้าง กรณีสุดยอดที่เป็นตัวอย่างของความทันสมัยของสุเหร่าเพื่อชนรุ่นใหม่ คือสุเหร่าที่กรุงAbu Dhabi เมืองหลวงของสหภาพอาหรับเอมีเรต(United Arab Emirates) มีชื่อทางการว่า Sheikh Zayed Grand Mosque ที่รักษารูปแบบสถาปัตยกรรมสุเหร่า ถึงกระนั้นวิธีการประดับสุเหร่าก็สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ได้เข้าไปชม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เมื่อเงินมิใช่ปัญหาในการก่อสร้าง เงินจึงเนรมิตสิ่งต่างๆให้เข้ากับอุดมการณ์และค่านิยมของอิสลามตามที่ Sheik Zayed bin Sultan Al Nahyan ตั้งไว้ ท่านเป็นอดีตประธานาธิบดีของสหภาพอาหรับเอมีเรต ท่านนั้นต้องการสถาปนาสุเหร่าที่จักเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของวัฒนธรรมในโลกอิสลามพร้อมๆกับการอนุรักษ์คุณค่าดีๆของอิสลาม ประวัติศาสตร์และศิลปะ โดยไม่ลืมบริบทและรสนิยมของชาวมุสลิมในยุคปัจจุบัน สุเหร่านี้เป็นหินอ่อนสีขาวทั้งหลัง (ถ้าจำไม่ผิด ขนาดของสุเหร่าใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในโลกอิสลาม จุคนได้เต็มที่สี่หมื่นคน) สหภาพอาหรับเอมีเรตประกาศยึดหลักการว่า สุเหร่านี้จักเป็นศูนย์สอนและเผยแผ่กิจกรรมดีๆที่เป็นคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติ มีอาคารห้องสมุดทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วย รวมหนังสือ เอกสารและข้อมูลทุกชนิดเกี่ยวกับอิสลาม รวมทั้งหนังสือวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะอักษรวิจิต ศิลปะประเภทต่างๆ เหรียญกศาปณ์ หนังสือโบราณและหนังสือหายาก  รวมทั้งหนังสือในภาษาต่างประเทศเช่นอาระบิค อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปน เยอรมันและเกาหลี
สุเหร่านี้ระบุพันธสัญญาไว้ดังนี้
๑. เพื่อให้สอดคล้องกับคุณงามความดีของอดีตหัวหน้าศาสนา Sheikh Zayed bin Sultan Al Nahyan ซึ่งเท่ากับการอนุรักษ์ความทรงจำเกี่ยวกับท่านผู้นั้นต่อไป
๒. ให้สุเหร่าเป็นศูนย์วิจัยทั้งในด้านศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรมและ
๓. ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างคนต่างวัฒนธรรมตลอดจนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
(นับว่าสหภาพอาหรับเอมีเรต ในฐานะมุสลิมได้ก้าวหน้าออกไปไกลอีกขั้นหนึ่ง ออกจากความเข้มงวดที่เคยตัดขาดศาสนิกอื่นๆจากอิสลาม) โปรดอ่านรายละเอียดต่อได้ในเน็ตที่วิกิพีเดีย
ดูภาพตัวอย่างจากสุเหร่าที่กรุงอาบูดาบี (Abu Dhabi) ความสดๆใหม่ๆของสถานที่ อาจขาดความขลังไป แต่ความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่น่าจะอยู่กลางใจคน นอกนั้นเป็นเพียงมายาให้ตื่นตาตื่นตัวชั่วประเดี๋ยวประด๋าว
โดมใหญ่ของสุเหร่าและหอMinaret
ลานที่กว้างใหญ่ปูหินอ่อนทั่วทั้งบริเวณ แผ่นหินอ่อนยังมีลวดลายดอกไม้ที่ออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจง
มีการขัดการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ(เห็นกับตาว่าเขาทำกันจริงๆทั้งข้างนอกข้างใน)
เสาที่เรียงรายค้ำอาร์เขตหุ้มด้วยแผ่นหินอ่อนประดับมุกเป็นลวดลายดอกไม้เลื้อยสีต่างๆ
รูปลักษณ์ตรงหัวบัวทำให้เข้าใจว่า เสาทั้งหลายนี้เป็นภาพสะท้อนของต้นอินทผาลัมต้นไม้แห่งชีวิตของชนชาวทะเลทราย
 
 พรมที่ปูในห้องโถงใหญ่นั้นก็เป็นลวดลายธรรมชาติพืชพรรณ
เป็นพรมปูที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทำกัน ผลงานของโรงงานพรมที่มีชื่อจากอิหร่าน
ภายในเขาก็ทำความสะอาดพรมกันอย่างจริงจัง ทั้งดูดฝุ่นและเก็บไยไหมพรมที่ขุยๆออก

 กำแพงภายในประดับลวดลายไม้เลื้อย (เช่นดอก Morning Glory) นูนขึ้นจากผิวหน้าที่ราบเรียบ
 พื้นหินอ่อนเป็นเงาเหมือนกระจก
ลวดลายดอกไม้ทำจากหินหลากสี ติดทับซ้อนลงบนกำแพงเลย เหมือนการปักนูนบนผ้าสีพื้น 
ช่องระบายลมก็ดูเหมือนเป็นรูปแบบศิลป์ที่กลมกลืนไปในภาพรวมของเหล่าไม้เลื้อย


ส่วนในห้องน้ำ ห้องล้างมือปูด้วยกระเบื้องลวดลายต่อเนื่องกันไปเป็นครึ่งวงกลม
กระเบื้องลวดลายดอกไม้สมัยใหม่ ยังคงถอดแบบลวดลายและวิธีการนำเสนอในยุคก่อน
ดังที่เคยเห็นในพระราชวังท็อปกาปิที่กรุงอิสตันบูลประเทศตุรกี
ให้สังเกตรูปลักษณ์ของดอกทิวลิปที่มีแหล่งกำเนิดในตุรกี
ความรักดอกไม้พืชพรรณปรากฏในทุกมุมทุกห้อง นี่เป็นอ่างน้ำพุดื่มได้


ห้องชำระล้างสำหรับสตรี
สระน้ำพุทรงกลมขนาดใหญ่พร้อมที่นั่งเรียงไปโดยรอบสำหรับการชำระล้างของแต่ละคน

 ช่อดอกไม้หินอ่อน
 
 บนกำแพงยังมีกรอบภาพเป็นจิตรกรรมบนกระเบื้องเคลือบสีสันสดสวย


ส่วนเพดาน ก็เป็นลวดลายดอกไม้ใบไม้เช่นกัน ดูเหมือนผ้าลูกไม้ราคาแพง


และเมื่อพินิจพิจารณาอย่างละเอียด ลายฉลุโปร่งๆนั้น ปิดปากท่อระบายลมอย่างวิเศษสุด

สรุปได้ว่า เมื่อเราเข้าไปในสุเหร่าที่กรุงAbu Dhabi เหมือนเดินเข้าไปในสวนดอกไม้ ทุกย่างเก้ามีดอกไม้ปูทางให้เรา ไม่ว่าจะมองขึ้น มองลง มองไปรอบข้าง เห็นดอกไม้ใบไม้เสมอ ทั้งหมดทำให้ลืมความจริงไปได้ชั่วขณะว่า ข้างนอกภูมิประเทศและภูมิอากาศเป็นแบบทะเลทราย  การเข้าไปในสุเหร่าจึงทำให้คนรู้สึกเย็นคลายร้อนลงได้ เพราะมีลมพัดไปมา นับเป็นความสำเร็จแบบหนึ่ง เพราะเมื่อจิตสงบ กายไม่รุ่มร้อน ความกังวลใดๆคงคลายลง ใจย่อมเปิดรับคำสอนหรือพร้อมซึมซับคุณธรรมได้ง่ายขึ้น ธรรมชาติไม่ว่าในที่นั้นจะเป็นเพียงภาพสะท้อนของโลกธรรมชาติที่แท้จริง ก็มีผลเยียวยาขัดเกลาอารมณ์ของคนได้ดีกว่าสิ่งใด ไม่มีรูปเคารพใดในสุเหร่า ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ความบริสุทธิ์ของจิตใจที่ใฝ่ดีใฝ่กุศล และนั่นน่าจะเป็นจุดยืนของทุกศาสนา ศิลปะอาหรับหรือศิลปะอิสลามหากพัฒนาสืบสานใยสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไป ย่อมนำสันติสุขมาสู่โลก

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รายงาน นำลงบล็อกเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘.

1 comment:

  1. โชนำเสนอบทความที่ดีมากๆ (ตามเคย) ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจอารยธรรมของโลกอิสลามกระจ่างชัดมากขึ้น คนที่ไม่เคยรู้จักคุณค่าของโลกอิสลามก็จะได้เข้าใจ และลดอคติและอัตตาที่เกิดจากความไม่รู้ การยอมรับและเห็นคุณค่าของคนอื่นอย่างปราศจากอคติจะช่วยนำสันติสุขมาสู่โลกของเราที่ยุ่งเหยิงอยู่ในปัจจุบัน
    แดงเคยไปเที่ยวชมสวนอาหรับมาแล้วหลายสวนในหลายประเทศ แต่นับว่าน้อยเหลือเกินเและผิวเผินเต็มทีเมื่อเทียบกับที่อ่านจากบทความนี้ ขอขอบคุณที่ช่วยเพิ่มพูนโลกทัศน์ให้เพื่อนและผู้อ่านค่ะ

    ReplyDelete