Sunday 7 September 2014

สิ้นภาษา สิ้นเอกราช สิ้นชาติ

       ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว (เกือบยี่สิบปีแล้วมั้งข้าพเจ้าจับรถไฟมุ่งหน้าไปยังเมือง Rouen [รูอ็องเพื่อไปดูโบสถ์หลังใหญ่ที่นั่น. จิตรกร Claude Monet [โกล๊ด โมเน] ได้วาดภาพด้านหน้าของโบสถ์ น็อตเตรอดาม-เดอ-รูอ็อง
(Cathédrale Notre-Dame de Rouen) เป็นชุดรวมประมาณ 30 ภาพ ในแสงสว่างแบบต่างๆของยามเช้า กลางวันและเย็น จึงทำให้โบสถ์นี้มีชื่อเสียงยิ่งขึ้นอีก. นอกจากนี้ รูอ็อง เป็นเมืองที่ Jeanne d’ Arc หรือ Joan of Arc วีรสตรี (และนักบุญ) ฝรั่งเศส ถูกทหารอังกฤษจับเผาทั้งเป็น. 
        เมื่อขึ้นนั่งบนรถไฟเรียบร้อยแล้ว ยุคนั้นยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงไปเมืองรูอ็องกว่าจะถึงก็สองชั่วโมง จึงหยิบหนังสือเล่มเล็กขึ้นมาเปิดอ่าน. อ่านไปอ่านไป อารมณ์เริ่มสั่นคลอน และก็รู้สึกหายใจติดขัดเพราะความรู้สึกรุนแรงที่ประดังขึ้นมา เขย่าจิตวิญญาณในนาทีนั้น.  น้ำตาเริ่มไหล อ่านต่อไปๆ ตัวสั่น หายใจเฮือกๆ ในที่สุดก็ร้องสะอึกสะอื้นออกมา ลืมไปเลยว่ากำลังนั่งอยู่บนรถไฟ. กำลังฮือๆอยู่ ได้ยินเสียงผู้ชายเรียกเบาๆว่า Mademoiselle! Mademoiselle! [มัดมัวแซ้ล(คุณคุณ!) ข้าพเจ้าหันไปด้านซ้าย น้ำตานองหน้า เห็นหนุ่มฝรั่งเศสคนที่นั่งถัดไป หน้าตาเลิกลัก. หนุ่มคนนั้นถามอย่างกังวลว่า  Etes-vous malade? (ไม่สบายหรือเปล่า) ข้าพเจ้ายิ้มทั้งน้ำตา บอกไปว่า ฉันสบายดี ไม่เป็นอะไร แต่เรื่องนี้มันเศร้าเหลือเกิน. 
         หนุ่มยิ่งแปลกใจหนักขึ้น ถามว่า คุณอ่านเรื่องอะไร ถึงได้ร้องไห้(เป็นวรรคเป็นเวร) ถึงเพียงนั้น. ข้าพเจ้ายื่นหนังสือให้เขาดู. เขาถามอีกว่า เรื่องมันเกี่ยวกับอะไร. ข้าพเจ้าเช็ดน้ำตา เลยต้องเล่าเรื่องย่อของเรื่องสั้นที่เพิ่งอ่านจบให้เขาฟัง ว่าเมื่อปรัสเซีย(เยอรมนี) เข้ายึดมณฑลอัลซ้าสของฝรั่งเศส ได้สั่งห้ามสอนภาษาฝรั่งเศส และบังคับให้สอนภาษาเยอรมันแทน... 
         ทำไมคุณถึงรู้สึกรุนแรงถึงเพียงนั้น มันไม่ใช่ปัญหาของประเทศคุณ 
         ฉันเป็นครู
         ฉันเป็นครูและฉันก็สอนภาษาที่เกาหลีมาหลายปีแล้ว  ฉันได้รู้ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเกาหลี หน้าที่มืดสนิท เมื่อชาวญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี ได้สั่งห้ามสอนภาษาเกาหลี ห้ามปลูกแม้กระทั่งดอกชบา(hibiscus) ที่เป็นดอกไม้ประจำชาติของเกาหลี  สั่งให้ปลูกต้นซากุระแทน  สั่งให้ปลูกพันธุ์เกาลัดลูกใหญ่แทนต้นเกาลัดลูกเล็กที่ขึ้นในเกาหลี (ทั้งๆที่เกาลัดลูกเล็กนั้นทั้งหอมทั้งหวานกว่า  เกาลัดลูกใหญ่นั้นจืด ลูกโตๆแต่ไม่มีรสและก็ไม่หอม ชาวญี่ปุ่นได้นำเกาลัดพันธุ์ลูกเล็กกลับไปปลูกในญี่ปุ่น กลายเป็นเกาลัดของดีที่คนญี่ปุ่นซื้อกิน ราคาแพงกว่าพันธุ์ลูกโตที่จีนนำเข้าไปขาย)  ได้ทำลายสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวเกาหลี  เปลี่ยนพระราชวังใหญ่ของเกาหลีให้เป็นสวนสัตว์  และสร้างศูนย์บัญชาการของญี่ปุ่น ตั้งตัดขวางไปบนเส้นทางสันเขาที่ทอดจากภูเขาสูงสุดลงสู่กลางกรุงโซล  เป็นจุดยุทธศาสตร์ของราชวงศ์ ที่ตามระบบฮวงจุ้ยเป็นจุดรวมพลังอำนาจของแผ่นดิน  ญี่ปุ่นรู้ทั้งรู้ ก็สร้างตึกขนาดมหึมาเป็นศูนย์บัญชาการ ได้ขุดรากถอนโคนเกือบทั้งภูเขา แล้วลงซีเมนต์อย่างแน่นหนา เพื่อตัดมิให้เป็นเส้นตรงที่ทอดเชื่อมจากยอดเขาถึงใจกลางกรุงโซล  ญี่ปุ่นได้กดดันจิตใจของชาวเกาหลีทุกวิถีทาง ได้สร้างความคับแค้นใจแก่ชาวเกาหลีมาก อย่างที่ชนรุ่นนั้น(ในวัยหกสิบขึ้นไป) จะไม่มีวันให้อภัยญี่ปุ่นได้เลย. เห็นไหมว่า ไม่ว่าจะฝรั่งเศสหรือเกาหลี ไม่มีใครทนสภาพอย่างนั้นได้?  ห้ามไม่ให้สอนภาษา ไม่ให้พูด ไม่ให้ใช้ภาษาของเขาเลยนั้น  มันเหมือนไปตัดหัวตัดชีวิตจิตใจของเขา เหมือนตัดหรือลบประเทศนั้นออกจากแผนที่โลกมันเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงที่สุดที่มนุษย์ใช้ทำร้ายกัน. แค่ได้รู้ได้ฟัง มันก็ทำลายความเป็นมนุษย์ของฉัน. คนสนิทชิดเชื้อชาวเกาหลีเล่าให้ฟังว่า ในครอบครัวต่างแอบสอนภาษาเกาหลีให้ลูกหลานในยามค่ำคืน สอนเด็กให้ร้องเพลงเกาหลี แอบปลูกต้นชบา. เพลงเกาหลีในยุคนั้น ต่อมาฉันได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ครั้งแรกที่ได้ฟัง แม้จะไม่เข้าใจคำพูดของเพลงเลย แต่ทำนองเพลง เสียงร้องในระดับทุ้มต่ำ จังหวะช้าๆแต่หนักแน่น มันทำให้ฉันน้ำตาไหลพราก. มันช่างบีบหัวใจ กรีดความรู้สึกเสียเหลือเกิน.
         แล้วคุณสอนอะไรที่เกาหลี  ฉันสอนภาษาไทยแก่นักศึกษาเกาหลีในมหาวิทยาลัย ที่นั่นมีแผนกภาษาไทย. ฉันเองถามตัวเองตลอดเวลาว่า ฉันไปทำอะไรที่เกาหลี แทนที่จะกลับไปสอนนักเรียนไทย ฉันไม่แน่ใจว่า ฉันกำลังใช้เวลาอย่างคุ้มค่า. ฉันอาจทำอะไรที่ดีกว่านี้ในประเทศฉันเอง แต่ฉันก็ทิ้งนักศึกษาไปไม่ได้. เคยตัดสินใจจะย้ายกลับบ้านเกิดแล้ว แต่ในที่สุดก็เลิกล้มความตั้งใจ เพราะนักศึกษาที่ฉันสอน เมื่อจบออกไปทำงาน ได้ใช้ภาษาไทย. พวกเขากลับไปหาฉัน ก้มลงกราบแทบเท้าฉัน บอกขอบคุณที่ฉันได้สอนภาษาไทยให้เขาและเขาได้ใช้ภาษาไทยทำมาหากิน มีตำแหน่ง มีเงินเดือนดี. ฉันทิ้งนักศึกษาไปไม่ได้ ในยุคที่นักศึกษาเกาหลีทั้งประเทศกำลังลุกต่อต้านรัฐบาลเผด็จการตั้งแต่ยุคของปักจุงฮี  ชนดูฮวัน หรือโนแทอู. พวกเขาดีใจที่ได้เป็นลูกศิษย์ฉัน พวกเขาวางความหวังทั้งหมดบนตัวฉัน. ฉันเป็นหน้าต่างที่เปิดไปสู่โลกภายนอก เปิดสู่ความเป็นไปได้ต่างๆที่พวกเขาใฝ่ฝัน. ฉันจึงมิได้เป็นเพียงครูสอนภาษา แต่เป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงที่ผลักให้พวกเขาดิ้นรนไขว่คว้าหาความรู้ เพื่อจะได้มีโอกาสอื่นๆ, ออกไปประเทศอื่น, ไปดูโลก, ไปหาประสบการณ์และพัฒนาตนเอง ให้พ้นความจำกัดของระบบเผด็จการ ฯลฯ  
        หนุ่มฝรั่งเศสถามต่อว่า สอนมานานแล้วหรือ  ข้าพเจ้าพยักหน้า บอกเขาว่าปีนี้ฉันมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์แล้ว. พ่อหนุ่ม(อายุไม่เกิน 23 ปี) มองหน้าข้าพเจ้าอย่างพินิจพิเคราะห์ คิดคำนวณว่าถ้าปีนั้นข้าพเจ้าเป็นศาสตราจารย์แล้ว ข้าพเจ้าต้องเริ่มการเรียนการสอนตั้งแต่อายุเท่าไหร่. คิดแล้วก็พึมพำออกมาว่า Vous deviez commencer votre carrière très très jeune! (คุณต้องเริ่มเป็นครูตั้งแต่อายุน้อยม้าก). ข้าพเจ้ายิ้มๆ เขาดูไม่ออกว่า ปีนั้นข้าพเจ้าอายุสี่สิบห้าแล้ว (ผมยังดกดำอยู่). โธ่เอ๋ย ก็ถามอายุกันตรงๆก็ด๊าย แทนการนั่งจ้องเพื่อเดาอายุเรา.
       ตลอดทางบนรถไฟมุ่งสู่เมือง Rouen  ข้าพเจ้านั่งตอบคำถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ เหมือนถูก เก้สตาโป ซักอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นอันว่าได้อ่านเพียงเรื่องเดียว น้ำตาแห้งไปแล้ว แต่ปากแห้ง คอแห้งมาก.
      ก่อนที่จะเขียนเล่าบทนี้ ได้อ่านเรื่องที่อ่านเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนบนรถไฟอีกครั้งหนึ่ง และก็อดน้ำตาไหลอีกไม่ได้เช่นกัน.
ติดตามอ่านเรื่องสั้นฝรั่งเศสเรื่อง วันสุดท้ายของการเรียน La Derrière Classe ได้ตามลิงค์นี้ >> https://blogchotiros.blogspot.com/2019/10/la-derniere-classe.html

สำหรับข้าพเจ้า ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สวยที่สุด ที่ชัดเจนที่สุดและที่มั่นคงที่สุด  และเป็นสิ่งที่งามที่สุดของประเทศฝรั่งเศสสำหรับข้าพเจ้า หาใช่ภูมิทัศน์ หรืออะไรอื่นใดไม่  เพราะนักเขียน นักปราชญ์ทางภาษาไม่เคยหยุดพัฒนา ไม่เคยหยุดตรวจสอบ ไม่เคยหยุดเพิ่มพูนภาษาและคำต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่ และออกกฎการใช้ภาษาอย่างถูกต้องและสละสลวยเรื่อยมามิเคยว่างเว้น. นักเขียนเป็นผู้ใช้ภาษา เสนอการใช้สำนวนในบริบทต่างๆ พัฒนาความหมายของคำต่างๆในภาษาอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบศตวรรษ เพื่อให้เป็นตัวอย่างของภาษาที่ดี ที่ไพเราะ ที่ตรงและเจาะลึกความหมายให้ได้มากที่สุด. สื่อมวลชนชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษาสูง เป็นนักอ่าน ใส่ใจหาความรู้อย่างเจาะลึกในแขนงที่สนใจ. พวกเขาต้องผ่านการทดสอบการใช้ภาษา การจับความ การตีความและการเรียบเรียง  จึงมีความรู้ในด้านการใช้ภาษาอยู่ในระดับสูง นอกเหนือจากความรู้เฉพาะทาง เช่นด้านเศรษฐกิจ ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านดนตรีฯลฯ ที่ทำให้พวกเขาสามารถเสนอข่าวในด้านเหล่านี้ได้อย่างคนรู้จริง และที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด คือมีความซื่อตรง ความรับผิดชอบในคำพูดและข้อความที่เขียนออกสู่สาธารณชน มีจริยธรรมในวิธีการจำเสนอข้อมูล (นักข่าวไทยหรือผู้โพสต์ข้อความลงในมีเดยทั้งหลาย ต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้  มิใช่สักแต่เขียนแล้วปั่นหัวปั่นความคิดผิดๆ เพื่อผลประโยชน์ซ่อนเร้นของผู้เขียน  และเพราะความไม่รู้จักคิดของมวลชนผู้เสพข่าว จึงทำให้ข่าวลือ ข่าวที่กุขึ้นทั้งดุ้น ทำให้สังคมปั่นป่วน. การกระทำแบบนี้มิใช่วิสัยของนักเขียน เป็นการกระทำของคนพาล ของคนที่ไม่มีจริยธรรม). ผู้มีอาชีพเกี่ยวกับสื่อมวลชน ต้องตระหนักรู้แก่ใจว่า พวกเขามีหน้าที่ถ่ายทอดความจริงตรงตามความเป็นจริง และเป็นผู้เผยแพร่ภาษาที่ดีที่ถูกต้องพร้อมๆกันไปด้วย เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มาก.
        จนถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้  ทุกคนต้องเรียนศิลปศาสตร์ก่อนจะแยกย้ายไปเรียนวิชาเฉพาะอื่นๆ. วรรณคดีและปรัชญา เป็นสองวิชาที่สำคัญที่สุดในการศึกษาศิลปศาสตร์ที่เป็นวิชาบังคับมาตลอดหลายร้อยปี และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทุกรูปแบบในระบบการศึกษาของฝรั่งเศส. การที่มีโอกาสอ่านวรรณกรรมสำคัญๆเล่มต่างๆของทุกยุคทุกสมัย เป็นการปลูกฝังทักษะในการใช้ภาษา และพัฒนาความคิดอ่านที่ซ่อนเร้นจากทุกแง่ทุกมุมในจิตวิญญาณของคนและในสังคม. เพราะวรรณกรรมคืออะไร หากมิใช่การเจาะลึกปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในใจคนและในสังคม ด้วยภาษาที่สละสลวย ประทับใจและโดนใจ. นักการเมืองชาวฝรั่งเศสทุกคนเป็นนักพูด นักอ่านและนักเขียน (อย่างน้อยก็เขียนอัตชีวประวัติของเขาเองเป็นต้น).  การพูดและคำปราศรัยของพวกเขา โยงใยไปถึงความรู้ศิลปศาสตร์ที่เป็นภูมิหลังของพวกเขาและของปัญญาชนทุกคน. 
        ทั้งนี้ทั้งนั้น มิได้หมายความว่า คนฝรั่งเศสมีความรู้หรือมีระดับสติปัญญาเสมอกัน ซึ่งไม่จริงแน่นอน. ในทุกประเทศ มีชนชั้นที่มีโอกาสเรียนและทำงานในระดับใช้หัวสมอง และที่ใช้ฝีมือ ใช้แรงงานในระดับต่างๆ  ยังมีชนชาวต่างชาติที่เข้าไปตั้งรกรากในฝรั่งเศสที่อาจไม่มีระดับวัฒนธรรมเหมือนกันหรือเข้าใจกันได้อย่างถ่องแท้ หรือละเลยการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของภาษาในประเทศที่เข้าไปอยู่อย่างถูกต้อง เพราะความไม่พร้อม เพราะความจำเป็นของการทำงานหาเลี้ยงชีพก่อนเป็นต้น. ภาษาฝรั่งเศสที่ดีจึงมีนักเขียนเป็นผู้เผยแพร่ และปูทางการใช้ที่ดีที่เหมาะสมที่สุดกับยุคสมัย และสิ่งที่นักเขียน ผู้มีความรู้เหล่านี้เขียนออกมา ก็มักไปจุดประกายชี้ช่องทางสู่การปฏิรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย. 

         ชาวฝรั่งเศส(หรือชนชาติใดก็ตามแรกเริ่มเดิมทีไม่เคยสำเหนียกหรือมีจิตสำนึกมาก่อนเกี่ยวกับตัวตนของตนเองหรือ “ อัตตา ” และเพิ่งนึกขึ้นได้ ก็เมื่อต้องเผชิญกับชนกลุ่มอื่นที่เข้ามารุกรานถิ่นตน(ในต้นศตวรรษที่ 5)  ทำให้ต้องหันมาผนึกกำลังเพื่อรักษาถิ่นที่กินที่อยู่และเริ่มเรียกตนเองว่า “ ชาวฟร็องค์ ” ที่จะเป็นชื่อ « ฟร้องซ -France » เรียกประเทศต่อมา. ชาวฟร็องค์เป็นหนึ่งในหมู่ชนหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในดินแดนโกล (Gaule) ที่เป็นประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน. การตั้งชื่อเรียกตนเองจึงเป็นก้าวแรกของจิตสำนึกเกี่ยวกับกลุ่ม เพื่อแยกกลุ่มของตนออกจากชนกลุ่มอื่นๆบนดินแดนโกลดังกล่าว. ส่วนการแยกเอกบุคคลออกจากกลุ่มในตอนนั้น ยังคิดกันไปไม่ถึง. นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ในยุคนั้นเอกบุคคลไม่มีความสำคัญอะไร. นอกจากผู้ที่เป็นหัวหน้าทหารหรือหัวหน้าศาสนา คนอื่นๆเป็นเพียงหน่วยหนึ่งในกองกำลังกองหนึ่ง. สมัยนั้นชีวิตคือการต่อสู้เอาตัวรอดจากคนอื่นเป็นสำคัญ. สถิติยังระบุด้วยว่าชีวิตคนยุคนั้นสั้นมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 25 ปี (คนจะมีอายุยืนเกิน 30 ปี ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 เท่านั้น). เอกสารฉบับแรกที่เขียนเป็นภาษา"ออยีล" (oïl ภาษาถิ่นที่พูดกันในหมู่ชาวฟร็องค์ตอนบนของฝรั่งเศสเป็นบันทึกในปี 842  เรียกกันว่า« สัตยาบันแห่งสตร๊าซบูร์ก - les Serments de Strasbourg ». ต่อมาในปี 1539 ฟร็องซัวส์ที่หนึ่ง (François I) ออกใบประกาศให้เขียนกฎบัญญัติและคำพิพากษาศาลทุกฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศสแทนภาษาละตินตั้งแต่บัดนั้น (l'Ordonnance de Villers Cotterêts, François I). ยืนยันด้วยลายลักษณ์อักษรฉบับแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสว่า มี ภาษาของตนเอง เท่ากับยืนยันอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการของสถาบันกษัตริย์เหนืออิทธิพลของศาสนา (ผู้ใช้ภาษาละตินและเหนือเจ้าขุนมูลนายอื่นๆ. ในที่สุดคือการรวมเอกภาพทางการเมืองของฝรั่งเศส  การมีภาษาของตนเองจึงเป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่และประเทศที่ตนอยู่.
      ในความเป็นจริง แม้ประกาศใช้ภาษาฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ กว่าจะเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแท้จริงไม่ว่าพูดหรือเขียนในหมู่ชาวฝรั่งเศสทุกภาคทุกพื้นที่นั้น ใช้เวลาหลายศตวรรษทีเดียว. ผู้พูดภาษาฝรั่งเศสได้ในตอนแรกนั้น เป็นชนชั้นค่อนข้างพิเศษนั่นคือผู้ที่อยู่รอบๆองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารแผ่นดินตามพระบัญชา,
 และชาวปารีสที่(ตั้งแต่ยุคกลางมา)ประกอบด้วยพวกที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย ชนชั้นกลางระดับสูงผู้ร่ำรวย ซึ่งมีทั้งพ่อค้า นายช่างฝีมือ ครูอาจารย์  นอกจากนี้ ก็มีชนชั้นรับใช้ตามคฤหาสถ์และวัง. ชนกลุ่มนี้ มีความสำคัญมากทีเดียวในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส ใกล้ชิดกับการพัฒนาความคิดอ่านในหมู่คนเมืองหลวง จึงมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในวิถีการเมืองของประเทศ(ซึ่งมีศูนย์ที่ปารีส). ชนกลุ่มนี้เป็นชาวต่างจังหวัดส่วนใหญ่และเป็นผู้เดินทางไปมาระหว่างถิ่นกำเนิดกับเมืองหลวง จึงเป็นผู้นำภาษาฝรั่งเศส สำนวนใหม่ต่างๆของชาวกรุงรวมทั้งความคิด การพัฒนาแบบต่างๆที่พวกเขาเห็นในเมืองหลวง สู่การรับรู้ของชาวต่างจังหวัด. วรรณกรรมศตวรรษ17 เริ่มกล่าวถึงและได้วาดภาพลักษณ์ของชนกลุ่มนี้ ผู้พยายามเลียนแบบวิถีชาวกรุงเพื่อยกระดับและสร้างความน่านับถือแห่งตน. ตัวอย่างจากบทละครต่างๆของโมลีแยร์(Molière) เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่วิเศษสุด และยังอธิบายการแทรกซึมของชนกลุ่มนี้ เข้าสู่ระบบการเมืองการปกครองและนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในที่สุด.
      ส่วนในแต่ละภาค มีภาษาถิ่น (ภาษา อ๊อค-oc กับภาษา ออยล์-oïl) ที่เป็นเพียงภาษาพูด.  การไม่มีภาษาเขียน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาความคิดอ่านและการเปลี่ยนแปลงในสังคมเป็นไปอย่างเชื่องช้า  และยังผลต่อไปถึงจิตสำนึกเรื่องอัตตา ว่ากว่าที่ชาวฝรั่งเศสจะเข้าถึงความคิดและอุดมการณ์การดำรงชีวิตบนพื้นฐานของอัตตานั้น ไม่นานมากเท่าที่คิด.  จิตสำนึกเกี่ยวกับสถานภาพของตัวเองในสังคม ก็เกิดขึ้นโดยผ่านภาษาถิ่นเป็นสำคัญ มากกว่าผ่านภาษาฝรั่งเศสของเมืองหลวง. สามัญชนรู้สำนึกเพียงว่าเป็นคนของหมู่บ้าน ของถิ่นที่ตนอยู่. สถานภาพของตัวเองคืออะไร สำคัญอย่างไรนั้น ยังคิดกันไปไม่ถึง.
      แต่ไม่ว่าจะกินเวลานานเท่าใด ภาษาฝรั่งเศสก็เริ่มกระจายออกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา. ปราชญ์ นักเขียนและราชบัณฑิต เป็นผู้พัฒนา เจาะจง ขยายหรือกระชับภาษาฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้. ภาษาเป็นความสำคัญอันดับแรกของจิตสำนึกร่วมกันในการเป็นคนฝรั่งเศส บนเวทีนานาชาติ. ภาษาฝรั่งเศสยังเป็นภาษากฎหมาย ภาษาการทูต ตลอดจนภาษาเฉพาะกิจต่างๆ เช่น ภาษาศิลปะ ภาษาแฟชั่น หรือภาษาโภชนาการเป็นต้น
      การกระจายของภาษาโดยปริยาย คือการกระจายวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชนชาตินั้น. ชาติใดสูญเสียภาษาประจำชาติ เหมือนเสียอิสรภาพไปแล้ว. หากยังมีภาษาประจำชาติ แม้จะตกไปเป็นเมืองขึ้นก็ยังสามารถผนวกจิตสำนึกของชนชาตินั้น และอาจนำไปสู่การกู้ชาติกลับคืนมา. ภาษาจึงเป็นชีวิตของบรรพบุรุษ ที่จะยังคงอยู่ในคนที่ใช้ภาษานั้น. เป็นมรดกที่มีค่ายิ่ง, เป็นจิตสำนึกแห่งตน, เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และคือเอกราชของชาติ. 

         ประเทศไทยไม่เคยต้องผจญกับการถูกกดขี่ข่มเหงเยี่ยงชาติที่กล่าวมาข้างต้น. บรรพบุรุษของเราได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้. เราต้องปลูกฝังความภูมิใจในภาษาของเรา. ไม่มีภาษาไทย ก็ไม่มีคนไทย มีแต่คนเอเชียผิวเหลืองๆขาวๆเหมือนๆกันเป็นร้อยล้านพันล้านคน. ในหมู่คนเหล่านี้ ความภูมิใจอยู่ที่ไหนเล่าการที่ปัญญาชนไทย ผู้สามารถพูดและใช้ภาษาต่างประเทศอื่นๆได้หลายภาษานั้น ต้องไม่ไปสร้างความหลงตัวผิดๆ จนกลายเป็นการเลิกใช้หรือดูหมิ่นดูแคลนภาษาไทยของเราเอง. เพียงแค่นึกถึงระบบฉันทลักษณ์ที่มีในภาษาไทย ก็ยังหาชาติใดมาเสมอเหมือนได้ยาก (ไฮกุหรือจะเทียบได้). ราชบัณฑิตในยุคปัจจุบันและรุ่นอนาคต ควรตั้งคณะผู้ทำงานเพื่อการเผยแพร่วรรณกรรมไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยลงมา, ส่งเสริมให้ทุนการศึกษาภาษาไทยโบราณเพื่อปูทางสู่การอ่านและการเข้าใจวรรณกรรมในแต่ละยุค, แล้วเลือกสรรวรรณกรรมตัวอย่างจากแต่ละยุค มาแปลมาวิเคราะห์, เผยแพร่สู่ประชาคมชาวโลก ให้เห็นว่า เรามีมรดกล้ำค่าเพียงใด. หากไม่ช่วยกันจรรโลงมรดกของเรา เราก็จะไม่เหลืออะไรที่เป็นของเราเองแท้ๆ. การใช้ภาษาสากลนั้น ควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยที่ไม่ลืมตอกย้ำจุดยืนของความเป็นไทยให้ฝังลึกลงไปเรื่อยๆ.   
         ในเมื่อความหวังที่จะเผยแพร่ภาษาไทยไปในโลกนั้น ไม่โดนใจใครเลย  เราจำเป็นต้องปลูกฝังให้ลูกๆหลานๆเรา ให้เขาใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง พูดให้ถูก ใช้คำที่สละสลวย. สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกตระกูล คำคมนี้อาจต้องเปลี่ยนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า  สำเนียงบอกถิ่นกำเนิด  น้ำเสียงบอกอารมณ์  คำพูดบอกระดับการศึกษาหรือระดับวัฒนธรรม การกระทำบอกระดับจิตสำนึกและระดับคุณธรรม. ในสังคมกรุงเทพฯปัจจุบัน  ภาษาที่ได้ยินบนถนน บนรถสาธารณะ ภาษาไทยที่แปลๆกันในสื่อจากภาษาต่างประเทศ ที่ได้ยินจากรายการต่างๆในโทรทัศน์และภาษาที่ใช้ในมีเดียทุกประเภท, ทุกช่องความถี่คลื่น ทำให้คิดว่า ภาษาไทยที่เป็นภาษากลางของชาติ กำลังถูกบีบถูกทำร้าย. ชนรุ่นใหม่ไม่สนใจไยดีกับภาษาเขียน เพราะไม่เคยถูกฝึกในวิชาเขียนเรียงควม ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคนในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงระดับปริญญาเอก (and beyond). เดี๋ยวนี้รู้คำก็พอแล้ว (ความผิดพลาดเริ่มตั้งแต่ที่เขาตั้งการสอบแบบปรนัย ให้เลือกคำตอบจากข้อต่างๆ ก. ข. ค. ง.  การเรียนการสอนจึงเบนไปสู่การจำคำหรือข้อมูลสั้นๆให้มากที่สุด). คนรุ่นใหม่เป็นอย่างนั้น ส่วนคนรุ่นเก่าก็กำลังปล่อยวาง วางมือจากทุกสิ่ง ขอสบายใจไว้ก่อน เครียดนักเดี๋ยวอายุสั้นว่างั้น.
      นอกจากนี้ ภาษาไทยกลางก็กำลังถูกกลืนหายไปในสำเนียงและสำนวนภาษาถิ่นและโดยเฉพาะภาษาอีสาน เพราะการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานหาเงินในเมืองหลวง (เหมือนกรณีของฝรั่งเศสที่กล่าวมาข้างต้น). ภาษาถิ่นที่มีในประเทศไทย หลายภาษายังมิอาจเรียกเป็นภาษาได้เต็มตามความหมาย เพราะเป็นภาษาพูดเท่านั้น. เมื่อไม่มีภาษาเขียน ทำให้การพัฒนาความคิดอ่านและการพัฒนาสังคมเป็นไปอย่างเชื่องช้า. การสื่อสาร การกระจายความรู้ไม่มีประสิทธิผลเต็มที่. 
     การรณรงค์เพื่อให้ชนทุกถิ่นทุกหมู่เหล่า ได้เรียนรู้ภาษาไทยกลางเพื่อสร้างเอกภาพของประเทศ  เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน.  
แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า เราละเลยหรือละทิ้งภาษาถิ่นต่างๆไปเสีย เปล่าเลย เราต้องส่งเสริมให้ชนแต่ละถิ่น พัฒนาและสืบทอดทักษะทั้งในภาษากลางและภาษาถิ่นควบคู่กันไป. ภาษาถิ่นเหมือนบทกวี เป็นลำนำชีวิตจิตใจและความเป็นอยู่ของแต่ละถิ่น ที่คนไทยถิ่นอื่นต้องให้ความสำคัญด้วย. ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้อนุชนชาวไทยในทุกภาค ได้เข้าถึงระบบภาษาไทยกลาง ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ที่มีเอกสารเขียนจารึกลงอย่างชัดเจน มีที่มาที่ไป มีผู้รับผิดชอบในบทเขียนนั้น, มิใช่เป็นข้อมูลจากการฟังจากการโน้มน้าวจากนักการเมืองผู้แสวงหาผลประโยชน์คนใดพรรคใด.  
      การพัฒนาภาษาไทยกลางให้ทั่วถึงทุกภาคส่วน จึงคือการธำรงเอกภาพและเอกราชของประเทศ ที่ควรจะเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกันของชนทุกภาค  
       นอกจากภาษาถิ่นที่หนาหูขึ้นทุกวี่ทุกวันในเมืองหลวง  ยังมี ภาษามักง่าย ที่กำลังคุกคามความงามของภาษาไทย. ภาษามักง่ายเหล่านี้ เป็นผลมาจากความรวดเร็วของเท็คโนโลยีการสื่อสาร. ผลมาจากการไม่รู้ไม่เข้าใจคำหรือสำนวนอย่างแท้จริง (ที่ส่วนใหญ่มาจากคำในภาษาต่างประเทศก่อน แต่มาใช้ในบริบทที่ไม่ถูกเพราะไม่รู้หรือเพราะความมักง่าย) หรือจากการล้อเล่นในวงหนุ่มๆสาวๆ, การเล่นสำบัดสำนวน, จากการแผลงคำ. ในที่สุดคำเหล่านี้ (ที่เริ่มมาผิดๆหรือเพราะความขี้เกียจพูดยาว ก็ตัดให้เหลือคำสองคำ เป็นต้น) ติดตลาดแพร่ไปในมีเดียทุกแขนง จนกลายเป็นคำถูกไปแล้ว. คนที่ไม่ใช้หรือใช้ไม่เป็น กลายเป็นตกยุคตกสมัย ล้าหลังเป็นเต่าตุ่นไปเลย. 
        ยังมีกระแสนิยมใช้อักษรภาษาอังกฤษ เพียงตัวเดียวเพื่อแทนทั้งคำ. ในกรณีเร่งด่วนนั้น ก็พอจะรับได้อยู่สามสี่คำ เช่น u แทน you, 4 แทน for. แต่การเขียนด้วยตัวอักษรตัวเดียวได้ขยายวงออกไปเป็นกลุ่มตัวอักษรเดี่ยวๆ  มันมากเกินไปเสียแล้วเพราะไม่เป็นที่เข้าใจ. ถ้ารีบนักขนาดเขียนให้เต็มประโยคไม่ได้ ก็อย่าเขียนเลย มันประจานความมักง่ายของผู้เขียน ทั้งยังเป็นลางบอกให้รู้อาการสมองฝ่อและสติปัญญาที่ถดถอย. หากทำต่อไปๆ ก็เหมือนอาการคนลิ้นคับปาก หมดความสามารถในการพูดหรือเขียนให้เป็นประโยคที่ถูกต้องสวยงามสมดังที่ได้ร่ำเรียนมา. ต้องระวังคนแบบนี้ อย่าให้เข้าไปอยู่ในวงการศึกษา เพราะเท่ากับไปปล่อยเชื้อโรคที่เข้ากัดกร่อนภาษา (ไม่ว่าไทยหรือเทศ) และโดยปริยายทำร้ายสมองเด็ก. ภาษาที่เคยใช้ส่งตะละแก๊บในยุคเริ่มต้นของการสื่อสารด้วยคลื่นความถี่ไฟฟ้า  ยังมีความงาม ความชัดเจนของถ้อยคำมากกว่ากันอย่างเทียบกันไม่ได้เลย. 
       นี่ก็ยังสะท้อนให้เห็นความมักง่ายในนิสัยของคนไทย ความขี้เกียจ ความไม่รู้จักคิด การเอาแต่ลอกเลียนกัน การเอาแต่สนุก จนในที่สุดไม่เหลืออุดมการณ์ดีๆที่เคยมี. หากปัญญาชนของชาติ ไม่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยของเรา ยังมีความหวังใดเหลืออีกหรือ. การมีปัญญามากับการมีความรับผิดชอบ. คนบ้าคนปัญญาอ่อน สังคมไม่ถือสา แต่คนที่คิดว่าตัวเองเป็นปัญญาชน ก็ต้องมีหน้าที่และรู้จักรับผิดชอบสังคมด้วย.
        หากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไม่สอนลูกสอนหลานให้พูดจาเพราะ ออกเสียงให้ถูกต้อง สอนคำดีๆเก๋ๆให้ตั้งแต่อ้อนแต่ออก พวกเขาโตขึ้นก็จะมักง่ายในการใช้ภาษา. เมื่อนั้นไปโทษใครได้ สังคมลดระดับลง คนลดระดับลง ความคิดอ่านลดระดับลง เหลือเพียงการเอาตัวรอดไปวันๆในแต่ละสถานการณ์. ประเทศเหลืออะไร หากภาษาย่อยยับลง.
        ในยามนี้ที่พวกเราเป็นปู่ย่าตายายกันแล้ว มีโอกาสใกล้ชิดหลาน ใช้โอกาสนี้ปลูกฝังสิ่งดีๆให้พวกเขาเถอะ แม้ว่าจะทำได้เพียงภายในครอบครัวเท่านั้น แต่นั่นเป็นฐานที่มั่นคงที่สุดที่เราจะให้หลานเรา เมื่อพวกเขาออกไปเผชิญโลกภายนอก. ภาษามักง่ายต่างๆ เรียนรู้ได้ในเสี้ยววินาที  แต่การรู้จักใช้ภาษาดีๆที่ถูกต้อง ใช้เวลาปลูกและฝังเข้าในสมองนานกว่ามาก. อย่าปล่อยให้หลานกลายเป็นคนมักง่ายตั้งแต่ตอนนี้. ถ้าไม่สอนพวกเขาตอนนี้ ก็จะช้าเกินไป. ไม่มีคำว่า ยังเด็กเกินไป อย่าดูถูกความสามารถของสมองเด็ก. สมองคนเป็นสิ่งมหัศจรรย์  ยิ่งใช้ยิ่งมีสุขภาพดี  ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต. สอนให้เขาดี ให้คิดตามขั้นตอนไป  เด็กจะเติบโตเอาตัวรอดได้ในความสับสนอลหม่านของ “ ความไม่จริง ” ประเภทต่างๆ.
        งานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และการแพทย์  ยืนยันมาแล้วว่า ตั้งแต่ยังเป็นทารก ปราสาทหู เป็นปราสาทที่พัฒนาสมบูรณ์ที่สุดแล้วก่อนปราสาทอื่นใด. เด็กได้ยินหรือฟังเสียงใดได้อย่างชัดเจนไม่ผิดเพี้ยน. แต่ระบบการออกเสียงภายในปากนั้น กำลังเจริญให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น. เด็กที่พูดอ้อๆแอ้ๆนั้น พวกเขาคิดว่าเขาพูดตามที่เขาได้ยินและมั่นใจว่า ได้เลียนการออกเสียงของคนรอบข้างอย่างถูกต้องแล้ว (เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงพูดของตัวเอง). โดยที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ยินเป็นเสียงอ้อๆแอ้ๆ, พูดไม่ชัด. เมื่อระบบประสาทในปากเข้าที่เข้าทางของมันตามเวลาโดยธรรมชาติแล้ว  เด็กก็ออกเสียงชัดขึ้นๆ. การที่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เลียนเสียงอ้อแอ้ของหลาน หรือพูดตามหลานด้วยความเอ็นดูนั้น สร้างความสับสนในการรับรู้เสียงและในการเรียนรู้. ทำให้เด็กคิดว่า เป็นเสียงถูกที่ควรจดจำเพิ่มขึ้น. แน่นอนเด็กไม่เข้าใจหรือแยกแยะไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่เจตนาพูดผิด.  นี่เป็นความผิดพลาดของผู้ใหญ่. เด็กออกเสียงผิด ไม่ต้องแก้ เด็กจะแก้ของเด็กเองเมื่อได้ยินเสียงที่ถูกต้องเสมอๆ.
      พูดกับเขาให้ถูกต้องตลอดเวลา, ออกเสียงรัวลิ้น, เล่นรัวลิ้นกับหลาน ยังทำให้ลิ้นมีสุขภาพดี. ไม่ต้องพยายามแก้เสียงที่ออกเพี้ยนของหลานเลย. สำคัญที่เราเองต้องออกเสียงให้ถูกอยู่เสมอ, พูดเพราะๆทุกคำทุกครั้ง, พูดคะพูดขา พูดครับกับเด็ก ตลอดเวลา ให้เด็กเติบโตในความงามของภาษาไทยเถิด ไม่ว่าเด็กจะพูดผิดพูดถูก ไม่สำคัญเท่าพ่อแม่และคนรอบข้างต้องพูดถูกพูดเพราะ. เด็กแต่ละคนสะท้อนให้รู้ว่าครอบครัวเด็กอยู่ในระดับการศึกษาใด และบ่งบอกไปถึงสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา รวมไปถึงระดับคุณธรรมของครอบครัว.
        ในมุมกลับกัน ความใกล้ชิดกับหลานจึงนำภาษาหลาน นำการออกเสียงผิดๆของหลานมาใช้ มาล้อเล่นในหมู่เพื่อนฝูง จนกลายเป็นความเคยชินไป. มันสนุกแบบไม่เข้าท่า คนแก่อยากเป็นเด็กหรือ มันทำให้ตัวเองน่ารักหรือ. นี่เป็นการขาดความรับผิดชอบต่อภาษาของชาติ. นี่ไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมของปัญญาชน.   
         อายุเราเกินหกสิบกันก็หลายปีแล้ว เราต่างมีประสบการณ์ชีวิตมาเต็มที่แล้ว. ช่วงเวลานี้แหละที่เราต้องกลายเป็น “ผู้ให้” ในความหมายของ “ผู้สอน”. ต้องเป็นครูด้วยความรักชาติรักแผ่นดิน หลังจากที่ได้เป็นครู (สำหรับผู้มีอาชีพนี้) เพราะความถนัด หรือเพราะความจำเป็น หรือเพื่อการดำรงชีวิต.  มาในวัยนี้เราต้องเป็นครูเพื่อบริการสังคม (มากน้อยตามความสะดวก ตามความถนัด ตามจิตสำนึก). อาจเป็นช่วงเวลาที่หลายคนคิดว่า ควรปล่อยวางเสียให้หมด อยู่อย่างสบายใจ ทำใจให้เพลิดเพลิน. อย่าหลงตัวว่าเก่งเลย ที่รู้น่ะมันเรื่องเก่าคร่ำครึ ฯลฯ ไม่ว่าจะมีเหตุผลใด ทั้งหมดนี้ไม่ควรทำให้เราลืม หน้าที่ของการเป็นผู้สืบทอดสิ่งดีๆแก่ชนรุ่นต่อไป ตามความถนัดของแต่ละคน.  เป็นหน้าที่ของพลเมือง, เป็นหน้าที่ที่ต้องตอบแทนบ้านเกิดเมืองนอน แม้จะเป็นเพียงตัวอย่างดีๆเล็กๆตัวอย่างหนึ่ง ในวงเล็กๆวงหนึ่ง ก็ยังดีกว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่เข้าท่า หรือเป็นเพียงพืชผักในร่องนา, หรือดอกไม้ในสวน, คอยความตายมาเกี่ยวไป.
       นำความงามที่เราได้พัฒนาตัวเองมากับวัย มากับประสบการณ์ของเรา, ไปสู้และต้านกระแสเชี่ยวของความไม่เข้าท่าแบบต่างๆ, เพื่อสังคมของเรา เพื่อแผ่นดินเกิดของเรา. 

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  บันทึกไว้ณวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๗.

No comments:

Post a Comment