Sunday, 1 July 2018

ArtForDeath-Menu

    วัยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน  สังคมที่ล้อมรอบตัวเราที่มีสมาชิกผู้สูงวัยลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และสภาพร่างกายของตัวเราเองในวัยหกสิบกว่าปีนั้น เป็นเสียงกระซิบถึงความไม่แน่นอนของชีวิตที่ทอดอยู่เบื้องหน้า. หลายคนมุ่งไปในการทำบุญทำทาน  หาความสุขจากบุคคลและสัตว์เลี้ยงรอบข้างหลายคนทำกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินผ่อนคลายหลังจากที่ได้เครียดในวัยทำงานกันมามากแล้ว. หลายคนไปเข้าค่ายฝึกสมาธิ  อีกหลายคนมุ่งไปในการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องและเอาจริงเอาจัง. ทั้งหมดอาจมีความหวังซ่อนเร้นว่า ชีวิตนี้อาจยืนยาวไปอีกในความสุขสบาย ในขณะเดียวกันก็พยายามปรับจิตสำนึกของตนเองเพื่อเตรียมพร้อมกับความตายที่จะมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง.  
     การที่ข้าพเจ้าเอาประเด็นเรื่องความตายมาศึกษา ก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อเตือนตนเองว่า ชีวิตนี้น้อยนัก และควรจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไร. โชคอนันต์ที่วัฒนธรรมตะวันตกที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยพอสมควร มีเนื้อหาเรื่องนี้ให้ศึกษา. การทุ่มแรงทุ่มเวลาเพื่อหาความรู้จากหลายมุมมอง จากขนบธรรมเนียมประเพณี จากบทวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา เชิงสังคมวิทยาและเชิงวิทยาศาสตร์  ในที่สุดเห็นว่า มุมมองหนึ่งที่น่าจะสะดวกและผ่อนคลายได้ดี คือการมองความตายผ่านศิลปะตะวันตก ผ่านสุสานศิลป์.
     ความตั้งใจในการศึกษาตามด้วยความมุ่งมั่นในการเรียบเรียงและสรุปให้เป็นหนังสือที่มีคุณประโยชน์เพื่อเป็นคู่มือสำหรับผู้รักศิลปะและผู้ปรารถนาเข้าใจตะวันตกมากขึ้น ในที่สุดได้ปลูกฝังมรณานุสติแก่ข้าพเจ้าทีละเล็กทีละน้อย. ข้าพเจ้าอยากจะคิดว่า กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวทั้งหมด ได้กลายเป็นการปฏิบัติธรรมรูปแบบหนึ่ง เป็นแบบส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง. การปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้า อาจมิได้นำข้าพเจ้าให้บรรลุอะไรที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าอุดมการณ์ชีวิตปกติของข้าพเจ้า อย่างน้อยก็ได้ลดความกลัวตายในธรรมชาติวิสัยของสิ่งมีชีวิต ให้เป็นการยอมรับสัจธรรมและรับความจริงนั้นมาเป็นเพื่อนคู่คิด ในแง่นี้ ข้าพเจ้าจึงพอใจมากที่ได้ปฏิบัติตามวิถีของข้าพเจ้า. 
     เนื้อหาที่นำมาลงในบล็อกชุดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าของข้าพเจ้าเป็นส่วนที่เข้าใจง่าย มีภาพประกอบมากพร้อมคำอธิบายการมองผ่านศิลปะเพื่อความตาย ผ่านสุสานศิลป์ หรือมรณศิลป์ เป็นทางที่อ่อนโยนที่สุดก็ว่าได้ศิลปะช่วยเราเสมอมา ลดความน่าเกลียดน่ากลัวในสรรพสิ่ง และเสริมสร้างพลังจิตของเราในทุกขั้นตอนของชีวิตข้าพเจ้าจึงหวังว่า ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน จักได้พบความสบายใจเบื้องหลังข้อมูลเชิงศิลปะทั้งหลายบนเส้นทางปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้า.

ติดตาม ศิลปะประดับความตายในตะวันตก ในบทต่างๆต่อไปนี้

1. รูปแบบและความหมายของไม้กางเขน

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/1.html

 

2. แผ่นหินเหนือหลุมศพ

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/2.html

 

3. รูปปั้นประดับหลุมศพ

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/3.html

 

4. หีบศพ โลงศพ

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/4.html

 

5. อนุสรณ์สถาน

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/5.html

 

6. สุสานศิลป์ในสังคมตะวันตกปัจจุบัน

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/6.html

 

7. ระบบสุสานของกรุงปารีส - ตัวอย่างสวนสุสานแปร์ลาแช้ส

http://chotirosk.blogspot.com/2014/06/blog-post_17.html

 

8. ต้นตำรับมรณานุสติในตะวันตก

http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/03/death-in-west.html

 

9. บทความอื่นๆที่เกี่ยวกับความตายในศิลปะและวรรณกรรมตะวันตก

9.1. เมื่อโลกแตก

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/apocalypse-soon.html

 

9.2. วันพิพากษา

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/last-judgement.html

 

9.3. นรกและสวรรค์ในวรรณกรรมของดั้นเต้ La Divina Cemmedia

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/hell-and-heavens-in-dantes-la-divina.html

 

9.4. แก้บนด้วยการแสดงคริสต์นาฏกรรม – Oberammergau The Passion Play

http://chotiroskovith.blogspot.com/2016/02/oberammergau-passion-play.html

 

9.5. ซื้อนาฬิกา ไม่อาจซื้อเวลา

http://chotirosk.blogspot.com/2014/09/what-is-time.html


9.6. สะพานโลก สะพานธรรม
http://chotiroskovith.blogspot.com/2018/03/old-wooden-bridges-in-lucerne.html

 

Last updated on July 1, 2018.

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์.


2 comments:

  1. เนื้อหาที่นำมาลงในบล็อกชุดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าของข้าพเจ้า. เป็นส่วนที่เข้าใจง่าย มีภาพประกอบมากพร้อมคำอธิบาย. การมองผ่านศิลปะเพื่อความตาย ผ่านสุสานศิลป์ หรือมรณศิลป์ เป็นทางที่อ่อนโยนที่สุดก็ว่าได้. ศิลปะช่วยเราเสมอมา ลดความน่าเกลียดน่ากลัวในสรรพสิ่ง และเสริมสร้างพลังจิตของเราในทุกขั้นตอนของชีวิต. ข้าพเจ้าจึงหวังว่า ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน จักได้พบความสบายใจเบื้องหลังข้อมูลเชิงศิลปะทั้งหลาย.

    ReplyDelete
  2. ข้อมูลศิลปวัฒนธรรมที่เป็นภูมิหลังของปัญญาชนชาวตะวันตก ได้เสนอภาพลักษณ์และปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับความตายไว้อย่างชัดเจนว่า การตายดีกับการตายชั่วนั้นต่างกันมากเพียงใด ที่ผลักดันให้คนทำความดีละเว้นความชั่ว หรือกลับตัวกลับใจ. ศิลปวัฒนธรรมอาจกระตุ้นความกลัวตายของชาวยุโรปในยุคก่อนๆและทำให้ชาวยุโรปคุ้นเคยกับการเห็นโครงกระดูกหรือคนตาย จนถึงกับใช้โครงกระดูกมาเป็นสิ่งประดับในบริบทชีวิตประจำวันเพื่อเตือนใจ, เพื่อกระตุ้นให้ตรึกตรอง, หรือดลใจให้สร้างสรรค์งานศิลป์ ทั้งด้านวรรณกรรม, ดนตรี, ประติมากรรม หรือเพื่อการเรียนรู้สรีรศาสตร์ของคนเป็นต้น. ความกลัวตายได้ค่อยๆเบนไปสู่ความสนใจเกี่ยวกับความตายและการตายมากขึ้นๆ, ไปสู่การใฝ่รู้, ใฝ่ตรอง, หาปรัชญาและเจาะลึกไปถึงแก่นแท้ของชีวิต ในขณะเดียวกันก็ยังหล่อเลี้ยงความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตนิรันดร์ จะด้วยความเชื่อศรัทธาในศาสนา หรือด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถหยุดกาลเวลาและหยุดความเสื่อมโทรมเน่าเปื่อยของเซลล์ชีวิต.

    ReplyDelete