Friday, 13 July 2018

The British Love of Plants

บทความนี้ปรากฏลงในวารสารยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน 2008. หน้า 88 – 145.

วิวัฒนาการของพฤกษศาสตร์ในยุโรป

ความรักพืชพรรณของชาวอังกฤษ

                         โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
         ราชสมาคมพืชสวน (The Royal Horticultural Society) แห่งประเทศอังกฤษทำสถิติไว้ว่า หนึ่งในร้อยของพืชพรรณ[1] ทั้งหลายที่ปลูกในสวนอังกฤษปัจจุบัน เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมือง  นอกนั้นเป็นพันธุ์ที่นำเข้าไปในอังกฤษ  ความจริงนี้ทำให้เกิดความอยากรู้ต่อไปว่าพันธุ์ไม้ต่างแดนเหล่านั้นเข้าไปถึงอังกฤษตั้งแต่เมื่อไร อย่างไร  หัวข้อนี้นำไปสู่ประวัติการพัฒนาพฤกษศาสตร์ในยุโรปและการเดินทางของพืชพรรณจากแดนไกลสู่ยุโรป  พืชพรรณกลายเป็นหลักฐาน เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิวัฒนาการด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีของประเทศในยุโรปโดยเฉพาะของอังกฤษ  เพราะเป็นกุญแจของอำนาจและความมั่งคั่งของประเทศอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดเป็นต้นมา  ทั้งยังเป็นพยานแห่งความรักความสนใจพืชพรรณของชาวอังกฤษที่มิได้ลดน้อยลงไปเลยตลอดห้าหกร้อยปีที่ผ่านมา  จนทำให้อังกฤษเป็นผู้นำสำคัญที่สุดในด้านพฤกษศาสตร์และธรรมชาติวิทยา อีกทั้งเป็นผู้นำการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติที่ไม่มีประเทศใดเทียบเคียงได้

ไม่มีพืช ไม่มีสิ่งมีชีวิต

         การศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์  ชีววิทยา ธรณีวิทยา โบราณคดีและศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลชีวิตพืชพรรณไม้ในโลกว่า  เมื่อ 3.5 พันล้านปีก่อน เริ่มมีพืชอุบัติขึ้นในทะเล  เป็นพันธุ์สาหร่ายที่เรียกว่า Blue-green algae  ถือกันว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต  สาหร่ายทะเลคายก๊าซออกซิเจนออกสู่บรรยากาศโลก ก๊าซนี้สะสมพอกพูนเข้าในชั้นบรรยากาศติดต่อกันตั้งแต่นั้นมาจนถึงเมื่อ 600ล้านปีก่อน บรรยากาศโลกจึงสะสมก๊าซออกจิเจนไว้ได้เพียงพอสำหรับการเกิดสิ่งมีชีวิตบนพื้นดินได้   ก๊าซนี้ยังทำหน้าที่เป็นโล่คุ้มกันภัยอันตรายจากแสงอัลตราไวโอเล็ต   พืชพันธุ์แรกๆนั้นยังเป็นอย่ในสายพันธุ์สาหร่าย   ส่วนพืชที่มีท่อน้ำในลำต้น (vascular flora) ปรากฏบนพื้นโลกเมื่อ 433 ล้านปีก่อนเท่านั้น  และป่าไม้ (ต้นสนพันธุ์เมล็ด-gymnosperms) พัฒนาขึ้นเมื่อ 410 ล้านปีก่อน  และดอกไม้ (angiosperms)  เมื่อ 140-125 ล้านปีก่อนนี้เอง  ดอกไม้นั้นพัฒนาขยายพันธุ์เรื่อยมาจนมีถึงสองในสามของจำนวนพืชพรรณทั้งหมดในโลก   เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้อย่างแน่ชัดแล้วว่า มวลชีวิตคงอยู่ได้บนโลกนี้ ต้องมีก๊าซออกซิเจนปริมาณสม่ำเสมอและคงที่ในอากาศไม่ต่ำกว่าร้อยละ80  แต่เพราะทุกชีวิตต้องหายใจออกซิเจน และเมื่อหายใจออกคลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  หากไม่มีการเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในอากาศ วันหนึ่งปริมาณออกซิเจนต้องหมดลง   ระบบชีวเคมีของคนไม่สามารถผลิตออกซิเจน  ในขณะที่พืชพรรณต่างๆทำได้  สีเขียวของพืชพรรณนำออกซิเจนที่ทุกชีวิตต้องการ  เราจึงต้องหาทางเพิ่มพืชพรรณต่างๆเพื่อให้ได้ออกซิเจนมาชดเชย และเพื่อรักษาปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศโลกให้ได้คงที่อยู่เสมอ   ร้อยละ70 ของออกซิเจนที่เข้าไปทดแทน มาจากพืชพันธุ์สาหร่ายที่ล่องลอยอยู่ในทะเล  อีกร้อยละ 30 เกิดจากการสังเคราะห์แสงของเหล่าพืชพรรณบนแผ่นดิน
           ความสนใจพืชพรรณมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน อย่างน้อยก็สืบย้อนไปถึงยุคของอริสโตเตแลซ (Aristotle, 384-322 BC)  มี พฤกษศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับพืชพรรณต่างๆ ขอบเขตของวิชานี้ได้ขยายวงกว้างออกๆในสมัยหลังๆ และโยงเป็นเครือข่ายไปถึงสรีรศาสตร์  นิเวศศาสตร์ และพันธุศาสตร์เป็นต้น  เทคโนโลยีไอทีปัจจุบัน เพิ่มพูนข้อมูลความรู้ใหม่ๆเกือบไม่รู้จบ และตอกย้ำให้ตระหนักว่า การอยู่รอดของคน ขึ้นอยู่กับความเป็นความตายของพืชพรรณทั้งหลายบนโลก  สวนพฤกษชาติหลวงที่ Kew (The Royal Botanical Gardens, Kew  เราจะเรียกสั้นๆต่อไปนี้ว่า สวน Kew) ผู้นำด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศอังกฤษและของโลก ได้ตั้งคำขวัญที่สื่ออุดมการณ์และเป้าหมายการดำเนินงานไว้ว่า ไม่มีพืช ไม่มีสิ่งมีชีวิต  ในที่สุด ความเขียวชอุ่มของพืชพรรณ กลายเป็นกรอบพื้นฐานหรือฉากหลังของจินตนาการทุกแบบของชาวยุโรป  

วิวัฒนาการความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ในยุโรปโดยสังเขป

         ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปลายศตวรรษที่สิบเก้า พฤกษศาสตร์เป็นวิชาแขนงหนึ่งของแพทย์ศาสตร์  จนถึงยุคกลาง คนแบ่งพืชพรรณตามคุณสมบัติหรือสรรพคุณในการเยียวยารักษา  ในสมัยกลางการเรียนรู้เกี่ยวกับดอกไม้ มิใช่การไปเก็บดอกไม้มาพินิจพิเคราะห์  แต่คือการไปค้นคำอธิบายเกี่ยวกับดอกไม้นั้นจากจารึกโบราณ   ชาวยุโรปในยุคกลาง มิได้สนใจพืชในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิต  แต่มองมันในฐานะของอาหารและยา  จุดหักเหที่เบนค่านิยมนี้เกิดขึ้นเมื่อชาวยุโรปเดินทางไปทำสงครามครูเสดในต้นศต.ที่สิบสอง ได้เห็นความเจริญ ความร่มเย็นของสวนอาหรับที่พวกเขาคาดไม่ถึง  เพราะจนถึงตอนนั้นสวนแบบเดียวที่ชาวยุโรปคุ้นเคย คือสวนตามสำนักอารามนักบวช ที่ปลูกผัก สมุนไพรและดอกไม้บางชนิดที่ใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อนัยศาสนาและโยงไปถึงคุณธรรมของพระแม่มารีเป็นสำคัญ[2]
         พืชพรรณเริ่มเป็นแบบประดับแบบหนึ่งในหนังสือสวดยุคกลาง และพัฒนาเป็นจิตรกรรมน้อยที่นิยมกันมากในยุโรป (ศต.16-17)   เพิ่งในศตวรรษที่สิบหกเท่านั้นที่คนเริ่มเก็บและจดรายละเอียดพืชพรรณโดยตรง  ถ่ายทอดตามความเป็นจริงในธรรมชาติ   ตัวอย่างแรกสุดคือ ภาพจิตรกรรมชื่อ หญ้ากอใหญ่” (1513 ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ Albertina, กรุงเวียนนา ฝีมือของ Albrecht Dürer (1471-1528, ชาวเยอรมัน)  เป็นภาพกอพืชหลายประเภท ขึ้นปนๆกันบนพื้นแฉะๆ  ให้รายละเอียดทุกต้นทุกใบตรงตามความเป็นจริง ในขณะเดียวกันก็ให้ผู้ดูรู้สึกว่า เป็นมุมหนึ่งตามทางเดินในทุ่ง   Dürer ไม่ได้รวมดอกไม้ไว้ในภาพนี้  จึงเป็นภาพแรกที่อยู่นอกระบบความหมายสัญลักษณ์ในคริสต์ศาสนา  และกลายเป็นแบบของการทำภาพพืชพรรณประกอบพฤกษศาสตร์ตั้งแต่นั้น   คุณภาพและความถูกต้องของภาพในที่สุดมีค่าเหนือคำบรรยาย  การวาดภาพแนวนี้ เป็นพยานแห่งสติปัญญาของคนสมัยนั้นที่ช่างสังเกต   ความอยากรู้อยากหยั่งลึกลงไปถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งได้เป็นพื้นฐานของการศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆในเวลาต่อมา   การวาดภาพบันทึกรายละเอียดของพืชพรรณ(และสัตว์)  กลายเป็นสิ่งที่ชาวยุโรปฝึกฝนตั้งแต่เด็ก  ควบคู่กับการจดบันทึกข้อความ เหตุการณ์ ความคิดคำนึง  จนเป็นอุปนิสัยถาวรอย่างหนึ่งของชาวยุโรป   ภาพพืชพรรณโดยเฉพาะเป็นเอกสารสำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาวิจัยพฤกษศาสตร์   ทำให้สามารถจัดกลุ่มพืชพรรณตามความเหมือนหรือความต่างของรูปลักษณ์แทนการจัดตามสรรพคุณอย่างที่ทำกันมา 
         หนังสือรวมภาพไม้ประดับ (Florilegium) เล่มที่สำคัญที่สุดคือเล่ม Jardin du Roy très Chrestien Henry IV (sic) ของ Pierre Vallet (ชาวฝรั่งเศส) ที่พิมพ์ออกมาในปี 1608  รวมภาพพิมพ์จากแผ่นโลหะแกะจำหลักทั้งหมด 75 ภาพ  เป็นภาพต้นไม้ที่ปลูกขึ้นจริงๆในสวนหลวงฝรั่งเศส  หนังสือเล่มนี้ทำถวายแด่พระนาง Marie de Medici  ผู้ควบคุมบริหารการวางผังสวนในพระราชวัง Luxembourg ที่ปารีส  ภาพอันสวยงามจากหนังสือเล่มนี้ เป็นแบบให้สร้างสรรค์  box parterre บนพื้นสวน (นั่นคือการตัดหรือดัดต้นบ๊อกส์ที่ปลูกเพียงเตี้ยๆ ติดต่อกันไป ตามลวดลายเกี่ยวไขว้ไปมาเหมือนลายปักบนผ้า หรือที่ชาวอังกฤษนำไปทำสวนแบบ knot garden)  และเป็นแบบอย่างของหนังสือพืชพรรณทั่วทั้งยุโรป  เล่มสำคัญเล่มต่อมาคือเล่มที่พิมพ์ขึ้นที่เมือง Frankfurt ในปี 1612  ของ Emmanuel Sweert  (ผู้ดูแลและคนปลูกอุทยานให้พระเจ้า Rudolph II ที่เมือง Prague) รวมพืชพรรณไม้ประดับโดยเฉพาะทั้งหมด 250 ชนิด ที่เขามีพร้อมจำหน่ายในงานพืชพรรณประจำปีที่เมือง Frankfurt และเมือง Amsterdam     ส่วนเล่มที่น่าทึ่งที่สุด จัดพืชพรรณไม้ตามสี่ฤดูกาลของ Basil Besler (1561-1629)  ชื่อ Hortus Eysttensis  พิมพ์ครั้งแรกในปี 1613  รวมภาพพิมพ์ของพืชพรรณ 580 ชนิดที่ปลูกในสวนของ  Johann Konrad von Gemmingen เมือง Eichstätt (ในเยอรมนี)  เพิ่งในปี 1987 ที่มีการแปลหนังสือเล่มนี้ออกเป็นภาษาฝรั่งเศสในชื่อว่า  L’Herbier des Quatre Saisons  และแปลจากเล่มฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษในปี 1989   หนังสือเล่มนี้รวมรายชื่อครบสมบูรณ์ที่สุดของพืชพรรณในต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด   การทำหนังสือพร้อมภาพเหมือนจริงของดอกไม้และพืชพรรณยังคงมีมาถึงปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนจากภาพวาด ภาพพิมพ์ เป็นภาพถ่ายตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  ปัจจุบันมีหนังสือแคตทะล็อกที่คนเปิดเลือกสั่งซื้อได้เลย หรือตรงไปเลือกจากศูนย์พืชพรรณ  ในอังกฤษศูนย์แบบนี้มีอยู่ทั่วไปเกือบทุกตำบลทุกหมู่บ้านเลยทีเดียว  มีผู้เชี่ยวชาญคอยตอบคำถามหรือให้คำแนะนำตลอดเวลา  เป็นธุรกิจเงินล้านที่สำคัญที่สุดประเภทหนึ่งในอังกฤษมาหลายร้อยปีแล้ว  
         Leon-Battista Alberti (1404-1472 สถาปนิกและนักมานุษยวิทยาชาวอิตาเลียน) กล่าวไว้ในศตวรรษที่สิบห้าว่า สวนควรจะเป็นที่รวมพืชพรรณไม้  ต้องปลูกต้นไม้ ผลไม้ที่คนรู้จักทุกต้นที่มีในประเทศ  อุดมการณ์ในกระแสเรอแนสซ็องส์ (Renaissance) นี้แพร่หลายไปในสังคมยุโรป  เป็นค่านิยมที่มิได้เฉพาะเจาะจงอยู่ในหมู่ของเหล่านักพฤกษศาสตร์ นายแพทย์ หรือนักวิชาการเท่านั้น  สวนในที่สุดกลายเป็นที่รวมธรรมชาติทุกแบบทุกประเภท  เป็นที่สะสมผลิตผลทั้งเก่าและใหม่ของธรรมชาติ  ไม่เพียงต้นไม้พืชพรรณ  ยังมีทรากหินของสิ่งมีชีวิตในยุคก่อนๆ สัตว์ และแร่หินประเภทต่างๆ  และเมื่อสิ่งสะสมเหล่านี้เพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ควบคู่ไปกับการพัฒนาสวนพฤกชาติ
         ในศตวรรษที่สิบหกและสิบเจ็ด  มีนักพฤกษศาสตร์เก่งๆหลายคนในยุโรป  ทั้งชาวฝรั่งเศส  ชาวดัชต์  ชาวเยอรมัน  ชาวอังกฤษ  ชาวสวิส  ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ หมอยา หรือหมอผ่าตัด พวกเขาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ส่งพันธุ์ไม้แปลกใหม่ที่เพาะได้ไปกำนัลหรือแลกเปลี่ยนกัน  ในปี 1577  มีหนังสือสอนการปลูกพืช เพาะเมล็ดและสร้างสวน ออกมาเล่มแรก ชื่อ The Gardeners Labyrinth ของ Thomas Hill   
         นักพฤกษศาสตร์ชาวเฟลมิชคนสำคัญในครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบหก คือ Carolus Clusius (1526-1609) ได้รับสมญานามว่า บิดาแห่งสวนงามทั้งหลาย  หนังสือรวมความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ของเขา Opera Rariorum Plantarum Historia เป็นพยานยืนยันกระแสความสนใจแนวใหม่ ที่มุ่งศึกษาพืชพรรณตามเอกลักษณ์และความงามเฉพาะของแต่ละพันธุ์  เบนการศึกษาพฤกษศาสตร์ออกจากการมุ่งหาประโยชน์ด้านการเยียวยารักษา  นักพฤกษศาสตร์ฝรั่งเศสร่วมยุคคนหนึ่งคือ Matthias de l’Obel (1538-1616) ผู้ใช้ชีวิตทำงานด้านนี้ในประเทศอังกฤษ ได้เขียนรวมความรู้ต่างๆไว้(โดยไม่ทันได้พิมพ์) อันเป็นข้อมูลสำคัญให้ John Parkinson เขียนและพิมพ์ออกมาในปี 1629 ชื่อว่า Paradisi in Sole: Paradisus Terrestris (A Garden of Pleasant Flowers)  ที่เป็นหนังสืออังกฤษเล่มแรกในกระแสใหม่นี้   ยุคนั้นนักพฤกษศาสตร์ได้เนรมิตสวนพฤกษชาติแห่งแรกๆของโลก เช่นในอิตาลีที่เมือง Pisa (1544), Padova (1546) และ Bologna (1548) ในฝรั่งเศสเช่นที่เมือง Montbéliard (1578), Montpellier (1597) และ Paris (1626)   ในอังกฤษเช่นที่เมือง Oxford (1621), Edinburgh (1670),  Kew (1759 ชานเมืองลอนดอนที่พัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่ศต.ที่สิบหกจนเป็นสวนพฤกษชาติที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในโลก ชาวอังกฤษเรียกกันสั้นๆว่า Kew Gardens สวนคิวเป็น UNESCO World Heritage site ตั้งแต่ปี 2003) เป็นต้น  ตั้งแต่นั้นเมืองใหญ่ๆทุกเมืองในยุโรปจะมีสวนพฤกษชาติ  ที่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่กับความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพร้อมๆกับการขยายอาณานิคมของประเทศในยุโรปสู่ทวีปอื่นๆ และโดยเฉพาะกับจักรวรรดิอังกฤษ 
         การประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ (1624) ทำให้การศึกษาวิภาคศาสตร์พืชพรรณ (vegetable anatomy) ละเอียดยิบลงไปถึงขั้นเซลล์   เชื่อกันว่านักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาเลียน  Marcello Malpighi (1628-1694) เป็นผู้เริ่มใช้กล้องจุลทรรศน์ศึกษาพืชเป็นคนแรก   Nehemiah Grew ชาวอังกฤษก็เป็นอีกผู้หนึ่ง  ทั้งสองได้วาดบันทึกสิ่งที่ค้นพบด้วยกล้องจุลทรรศน์ไว้เป็นเอกสารจำนวนมาก  จนถึงปลายศตวรรษที่สิบแปด ไม่มีผลงานของผู้ใดเกินหน้าผลงานของนักพฤกษศาสตร์สองคนนี้   
         ต่อมา Robert Hooke (1635-1703 ชาวอังกฤษ) เป็นคนแรกที่ค้นพบลักษณะการเป็นเซลล์ในพืช  เขายังริเริ่มเปรียบเทียบพืชในซากหินกับพืชเดียวกันที่ยังมีชีวิต  การศึกษาเปรียบเทียบนี้นำเขาออกไปสู่ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตจากพันธุ์หนึ่งไปเป็นอีกพันธุ์หนึ่ง (transformism)  ในปี 1805 Lorenz Ockenfuss (1779-1851 ชาวเยอรมัน) ยืนยันหลักการของ Hooke ว่าอินทรีย์ภาพของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยเซลล์   และ Mathias Jacob Schleiden (1804-1881, ชาวเยอรมัน)  ได้พิสูจน์และกำหนดเป็นความรู้ถาวรตั้งแต่ปี 1833
         ศตวรรษที่สิบแปดเป็นศตวรรษแห่งสติสำนึกและเป็นยุคทองของพฤกษศาสตร์ด้วย  Carl Linnaeus (1707-1778 หรือ Carl von Linné ชาวสวีเด็น)  เป็นหนึ่งในนักพฤกษศาสตร์เด่นๆแห่งยุค สำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตร์จากประเทศฮอลแลนด์ ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้จัดจำแนกแยกแยะพืชพรรณ  เขามิได้เป็นคนแรกที่จัดแบ่งพืชพรรณเป็นสกุลๆ  มีผู้คิดและจัดไว้ก่อนหน้านั้นหลายคนและเขาก็ได้แง่คิดจากปราชญ์เหล่านั้น  อีกประการหนึ่งการที่เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเมือง Uppsala ในสวีเด็น  ส่งลูกศิษย์ออกไปสำรวจและเก็บพืชพรรณต่างๆ  ทำให้ชื่อเสียงเขากระจายไกลออกไปเร็วกว่า จนไปกลบรัศมีคนอื่นๆ   เป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นคนแบ่งกลุ่มพืชพรรณออกเป็นยี่สิบสี่กลุ่ม ตามลักษณะและจำนวนของเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย  การประกอบกันของเกสรทั้งสองที่เขาเรียกว่า การแต่งงานของพืชพรรณ”  คือลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม   ทฤษฎีเกี่ยวกับเพศในพืชแพร่หลายมากตั้งแต่ต้นศตวรรษ เมื่อ Sébastien Vaillant (1669-1722)  พิมพ์งานเขียนของเขา Du sexe des plantes ออกมาสู่ตลาดในปี 1717.   Linnaeus เจาะจงให้พืชแต่ละพันธุ์มีสองชื่อ (the binomial name) คือมีชื่อสกุล (genus) ตามด้วยชื่อสายพันธุ์ (species)  การแบ่งพันธุ์ของ Linnaeus ในตอนนั้นเป็นเพียงการจัดแบ่งชั่วคราว  งานวิจัยที่ตามมาในยุคหลังให้วิธีการจัดกลุ่มที่รัดกุมยิ่งขึ้น และการวิเคราะห์ตามแนวของ DNA ในพืชพรรณยิ่งทำให้สามารถแยกแยะละเอียดยิบลงไปอีก  ในปี 1788 อังกฤษจัดตั้งสมาคม Linnean Society of London เป็นเกียรติแก่ Linnaeus
         ในศตวรรษที่สิบเก้า ตารางการจัดพันธุ์ไม้บรรลุความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยระบบ phylogenetics (มาจากคำ phulê ในภาษากรีกแปลว่า เผ่า บวกกับคำ genesis ที่แปลว่า ต้นกำเนิด)  ดังปรากฏในผลงานของ Lamarck (1744-1841), Etienne Geoffroy Saint-Hilaire (1772-1844) และ Charles Darwin (1809-1895)   ยุคนี้ยังมีนักพฤกษศาสตร์เด่นๆอีกมากทั่วทั้งยุโรป   การจัดระบบพืชพรรณในสมัยใหม่ ล้วนมาจากการลำดับเอกลักษณ์ของพืชเป็นขั้นๆและการจัดตารางเผ่ากำเนิดเป็นตระกูลหรือวงศ์  วิธีการดังกล่าวสร้างเป็นเครือข่ายของความรู้ของแต่ละพันธุ์และความเกี่ยวดองระหว่างพันธุ์อย่างชัดเจนที่สุด 
         ความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคโบราณ  สร้างพื้นฐานอันมั่นคงให้พฤกษศาสตร์  เดี๋ยวนี้ทุกชาติตระหนักแล้วว่าความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของความอยู่รอดของมนุษยชาติ  พฤกษศาสตร์ต้องเป็นแกนนำการพัฒนาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ   วิทยาการทุกแขนงและเทคโนโลยีทุกรูปแบบจำต้องพัฒนาจากมุมมองของนิเวศวิทยา ของพืชพรรณ สัตว์และคนร่วมกัน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ระบบการเมืองการปกครอง จะต้องเหลือเพียงระบบเดียว คือระบบ ecotopia เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ของสิ่งมีชีวิต และของโลกในจักรวาล

 การสำรวจทางทะเล

         ประวัติการเดินเรือ การค้นพบดินแดน และการตั้งอาณานิคมของชาวยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าเป็นต้นมานั้น รวมกันเป็นข้อมูลสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงเมื่อศึกษายุโรปไม่ว่าด้านใด  เป็นกุญแจที่เปิดสู่โลกตะวันตกสมัยใหม่   จุดมุ่งหมายในการเดินเรือประการแรกคือการค้าขาย  และเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านนี้ ทำให้เกิดการจับจองที่ดิน ที่กลายเป็นจุดหมายทางการเมือง บวกกับทางศาสนาที่เพิ่มเข้าไป  การเดินเรือกลายเป็นกิจกรรมจำเป็นระดับชาติในยุโรปตั้งแต่ปี1453 เมื่อสุลต่าน Mehmet II (1451-1481) ขึ้นครองราชย์ นำชาวเตอร์กเข้ายึดเมืองคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จและสถาปนาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอ็อตโตมันตั้งแต่ปลายปี 1457 ในนามใหม่ว่าอิสตันบูล  อาณาจักรอ็อตโตมันขยายออกไปบนดินแดนกรีซเกือบหมดและครอบดินแดนยุโรปตะวันออกเกือบหมดอีกเช่นกัน   ยุคของสุไลมาน(Suleyman, 1520-1566อาณาจักรอ็อตโตมันบรรลุความเจริญสูงสุด  แสนยานุภาพของพระองค์แผ่ครอบดินแดนตะวันออกและตะวันตก  ดินแดนรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนจากตะวันออกกลางไปถึงแอฟริกาตอนเหนือ(ยกเว้นมาร็อคเท่านั้น) เข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรียขึ้นไปถึงตอนกลางของประเทศฝรั่งเศส   กองเรือของอ็อตโตมันปักหลักข่มขวัญเหนือน่านน้ำทะเลเมดิเตอเรเนียนและทะเลดำ  เป็นกำลังสำคัญที่สุดที่พยุงแสนยานุภาพของจักรวรรดิอ็อตโตมันไว้   เส้นทางการค้าขายทางบกจากยุโรปสู่ตะวันออกกลางและตะวันออกไกลและทางเรือในทะเลเมดิเตอเรเนียนตอนนั้น จึงตกอยู่ในมือของชาวอาหรับเชื้อชาติเดียว  เช่นนี้ชาวยุโรปจึงต้องหาเส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่ [3]  การเดินเรือสำรวจและค้นพบแผ่นดินใหม่ เท่ากับการค้นพบพืชพรรณใหม่ๆด้วย  กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจในโลกธรรมชาติ ที่นำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ที่กลายเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งตั้งแต่นั้นมา  
         จนถึงทศวรรษที่ 1560  พืชพรรณที่มีในยุโรป เป็นพันธุ์พื้นเมืองของยุโรปเอง   การติดต่อกับจักรวรรดิเตอร์ก ทำให้ยุโรปได้พันธุ์แปลกใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก  เป็นพรรณไม้ประดับสวนอาหรับมานานหลายร้อยปีแล้ว  นอกจากนี้ยังได้พรรณไม้จากดินแดนกรีซ  ตั้งแต่ปี 1620 เมื่ออังกฤษเข้าสำรวจทวีปอเมริกาเหนือและยึดเป็นอาณานิคมอย่างมั่นคงแล้ว  พืชพรรณใหม่ๆจำนวนมากส่งออกจากแคนาดาและรัฐเวอจีเนียกลับเข้าอังกฤษ  ในระยะเวลาเพียงร้อยปี มีพืชพรรณเข้าสู่ยุโรปเป็นจำนวนมากกว่าตลอดสองพันปีก่อนหน้านั้น  พืชไม้ดอกรูปลักษณ์และสีสันต่างๆ เบนความสนใจไปสู่การปลูกพันธุ์ไม้ดอกเพื่อประดับสวน  วิทยาการและเทคนิคการก่อสร้างที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์  เอื้ออำนวยต่อการสร้างสวนแนวใหม่เพื่อความอภิรมย์และเพื่อให้เป็นที่รวมที่แสดงพรรณไม้ใหม่ๆทั้งหลาย  การกระจายพันธุ์นั้นกระทำกันในหมู่นักพฤกษศาสตร์ในยุโรป  ในวงการแพทย์, ภายในวงราชนิกูล, องค์การคริสต์ศาสนาและพ่อค้าผู้ร่ำรวยก่อน แล้วจึงค่อยๆกระจายออกนอกรั้วปราสาท, คฤหาสน์และวัด  พืชพรรณกลายเป็นสิ่งสะสมที่ชาวยุโรปและโดยเฉพาะชาวอังกฤษหลงใหลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 
         สรุปได้ว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่15 เป็นต้นมา การเดินเรือค้าขายถูกยกขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยทำกันมาก่อน  เริ่มด้วยปอรตุกัลในศตวรรษที่15 สู่แอฟริกาและเอเชีย  ตามด้วยประเทศสเปนสู่ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ในศตวรรษที่15-16  และต่อด้วยฮอลันดาสู่ทั้งตะวันออกไกลและอเมริกาในศตวรรษที่17    ฝรั่งเศสและอังกฤษโดยเฉพาะจะเริ่มสร้างอาณานิคมในโลกตั้งแต่ศตวรรษที่17   ในด้านเศรษฐกิจจึงเป็นยุคของการเดินเรือค้าขายที่นำไปสู่การสร้างอาณานิคมในทวีปอื่นๆ  เป็นยุคของการต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ในการค้าเป็นสำคัญ   ยุโรปกลายเป็นศูนย์การค้าขายของโลก  มีเมืองLisboa(ในปอรตุกัล) เมือง Sevilla(ในสเปน)  เมือง Antwerpen(ในเบลเยี่ยม)  และโดยเฉพาะเมือง Amsterdam ที่กลายเป็นเมืองที่เจริญมั่งคั่งที่สุดในยุโรปในศตวรรษที่ 17  เพราะปอรตุกัลตกไปอยู่ใต้อำนาจของสเปนในศตวรรษที่16  และต่อมาสเปนตกอยู่ในความควบคุมของอังกฤษในศตวรรษที่17 
         การเดินเรือสู่แผ่นดินใหม่แต่ละครั้งในยุคนั้น แม้จะใช้เวลานานและต้องอาศัยความกล้าหาญและความช่ำชองทะเลของนักเดินเรืออย่างมาก  แต่ผลประโยชน์ที่ได้จากการนำสินค้าวัตถุดิบเช่นเครื่องเทศ เครื่องเงินทอง เครื่องแพรไหม  เครื่องลายคราม  รวมทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่าจากต่างทวีปมาขายในยุโรป ให้กำไรไม่น้อยกว่า 400 เปอเซ็นต์  ผลประโยชน์ชัดๆแบบนี้จึงกระตุ้นการประดิษฐ์อุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเดินเรือ พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สร้างสรรค์อาชีพใหม่ๆที่เกี่ยวเนื่องกัน  รวมทั้งการให้ความคุ้มครองต่อคนและสินค้า  ค่าของพืชพรรณก็พัฒนาจากการเป็นสิ่งศึกษา สิ่งประดับสวน เป็นสินค้าเศรษฐกิจ 

พืชพรรณที่นำเข้าสู่อังกฤษ
         หนังสือของ William Turner (1551)[4] บอกให้รู้ว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าในอังกฤษ มีพืชพันธุ์พุ่ม เช่น Cistus salvifolius, white jasmin, Spanish broom (Spartium junceum), sweet bay, lavender, santolina, rue, rosemary   รวมกันเป็นพรรณไม้ในสวนยุคนั้น   ต้นไม้ใหญ่หลายชนิดเข้าสู่อังกฤษในช่วงกึ่งศตวรรษที่สิบหก เช่นต้น oriental planes, umbrella หรือที่เรียกว่า stone pines, spruce fir, Italian cypress, และ walnut.   Turner ระบุเป็นพิเศษว่า มีการปลูกต้นโอ๊คพันธุ์ Auercus ilex ในปี 1581 ที่ Whitehall (ในกรุงลอนดอน)  นอกจากนี้ก็พวกไม้ผลอันมี  almonds, apricots, pomegranates, figs และเจาะจงว่ามี mulberries ขึ้นทั่วไปแล้วในศตวรรษที่16 โดยปลูกติดกำแพงอิฐหรือบนเนินริมแม่น้ำที่มีแสงแดดพอ
         หนังสือ Herball (1597) ของ John Gerard กล่าวถึงต้น phillyreas ในอังกฤษพร้อมระบุว่ามีสิบสองชนิดในสายพันธุ์นี้  ต้นไม้นี้ถูกนำไปใช้ในการตัดและดัดให้เป็นรูปลักษณ์แบบต่างๆประดับสวนอังกฤษตลอดร้อยปีต่อมา
         หนังสือ Garden of Pleasant Flowers (1629) ของ John Parkinson บอกให้รู้ว่าคนในยุคนั้นรักการปลูกดอกไม้  เป็นพันธุ์หัวที่แพร่เข้ามาในยุโรปจากดินแดนเตอร์กโดยเฉพาะพวกทิวลิป  เขาได้อธิบายการเพาะและเลี้ยงดูตลอดจนการเก็บแห้งในระหว่างฤดูหนาว  แต่ไม่มีข้อความระบุว่า มีผู้ใดสามารถปลูกพันธุ์ทิวลิปขึ้นงดงามเหมือนที่เห็นในจักรวรรดิเตอร์ก   หนังสือเล่มต่อมาของเขา (1640) ชื่อ Theatrum Botanicum ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับพืชพรรณที่  John Tradescant  ปลูกได้สำเร็จงดงาม   Parkinson ไปเยี่ยมสวนของ Tradescant ที่ Lambeth ในกรุงลอนดอน และบันทึกว่าได้เห็นต้น oriental plane tree, horse-chesnut ที่เจ้าของสวนเพาะเลี้ยงขึ้นจากผลนัทที่ส่งมาจากตุรกี  และต้น Gentian (Gentiana acaulis) ที่มีดอกสีฟ้าเข้มเป็นต้น
         ข้อมูลจากหนังสือเหล่านี้ รวมกับเล่ม Hortus Eystettensis ของ Besil Besler ทำให้สรุปได้ว่า ในศตวรรษที่17 มีผู้รักการทำสวน การปลูกต้นไม้  คนเหล่านี้กลายเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่เอาจริงเอาจัง  ต่างสะสมพืชพรรณในสวนของตนด้วยความหวงแหน  หากมิสามารถเดินทางออกไปเก็บพืชพรรณใหม่ๆเอง ก็จะใช้ผู้เชี่ยวชาญออกไปแทน  และตั้งแต่ปลายศตวรรษที่16 เป็นต้นมา ผู้คนในวงการแยกแยะพืชพรรณออกเป็นไม้ประดับและต้นไม้ธรรมดา   แนวโน้มนี้เหมือนกันทั้งยุโรป  โดยทั่วไป ดอกไม้พันธุ์ใหม่ๆเข้าสู่ภาคพื้นยุโรปและเพาะเลี้ยงกันแล้ว สำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง แต่ยังไม่ข้ามช่องแคบไปถึงเกาะอังกฤษ   ความรักความสนใจในพืชพรรณ ทำให้มีพรานล่าพรรณไม้ (plant hunter) และนักสำรวจพืชพรรณ (plant explorer) เพิ่มเข้าในวงพฤกษศาสตร์   พวกเขาเป็นผู้นำพืชพรรณใหม่ๆแปลกๆจากทั่วโลกมาสู่สวนยุโรป และโดยเฉพาะสวนในอังกฤษ 
         ในตอนแรกๆนั้น พันธุ์ไม้แปลกใหม่จากต่างแดนเข้าสู่อังกฤษในรูปของเมล็ดหรือหัว เช่นหัวทิวลิปเป็นต้น เพราะฉะนั้นในสมัยก่อนเมื่อพูดถึงนักสะสมพรรณไม้ คือนักสะสมเมล็ด  ที่ฝากส่งกับคณะทูตบ้าง คณะมิชชั่นนารีบ้าง หรือกับกัปตันเรือเดินทะเลและนักเดินทาง   Henry Comptom เป็นตัวอย่างของนักสะสมพรรณไม้คนแรกๆและเป็นคนสำคัญทีเดียว เนื่องจากเขาเป็นหัวหน้าคณะนักบวชแห่งนครลอนดอน (ระหว่างปี 1632-1713)  มีหน้าที่ดูแลชาวคริสต์ในนครลอนดอนและชาวคริสต์ที่อยู่ในแดนอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกา  นอกจากสะสมเมล็ดพืชพรรณอย่างจริงจัง เขายังติดต่อกับนักเล่นต้นไม้คนอื่นๆในยุโรปและอเมริกา  เช่นนี้ทำให้เขาสามารถเพิ่มพันธุ์ใหม่ๆจำนวนมากแก่สวนของเขาเองที่ Fulham (ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน)  เขายังกำชับกำชาให้คณะมิชชั่นนารีที่เขาส่งไปอเมริกาให้ส่งเมล็ดพืชกลับไปให้เขา  ในบรรดาเมล็ดต่างๆนั้น มีเมล็ด Magnolia virginiana ที่จะเป็นต้นแม็กโนเลียต้นแรกที่ขึ้นในอังกฤษ  สวนของเขาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสวนที่เรียกกันในตอนนั้นว่า สวนอเมริกัน (American garden) เพราะรวมพืชพรรณไม้จากอเมริกาอันมีต้น magnolias  ต้น azaleas และพันธุ์ไม้ป่าอีกหลายพันธุ์   นอกจากอเมริกา เขายังมีโอกาสได้เมล็ดพืชจากฮอลแลนด์ ที่มากับเรือสำรวจที่ผ่านไปทาง Cape of Good Hope  อีกทางหนึ่ง (ทำให้คาดได้ว่าเขาได้พืชพรรณจากแอฟริกาหรือตะวันออกด้วย)  เมื่อเขาปลูกอะไรได้ผลดี  ก็ส่งต่อไปยังแหล่งเพาะพันธุ์ โดยเฉพาะที่ Brompton Park Nursery  ที่เป็นศูนย์สำคัญที่สุดในอังกฤษยุคนั้น มี George London (1681-1714) และ Henry Wise (1653-1738)  เป็นนักเพาะพันธุ์คนสำคัญ  ทั้งสองเป็นเจ้าของแหล่งเพาะพันธุ์ร่วมกัน  สามารถกระจายพันธุ์ไม้ใหม่ๆสู่ตลาดภายในเวลาเร็วกว่าสมัยก่อนๆ   เมื่อ Henry Comptom ถึงแก่อนิจกรรม  สวนของเขาถูกละเลย กว่าจะมีผู้มาช่วยชีวิตต้นไม้ใหญ่ๆในนั้น  พืชพรรณล้มตายลงไปมากแล้ว
         ความอุดมพืชพรรณไม้ในทวีปอเมริกาเหนือนั้นเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว เพราะในปี 1577 มีหนังสือเกี่ยวกับพืชพรรณไม้อเมริกาพิมพ์ออกมาในนครลอนดอน ชื่อว่า Joyfull Newes out of the New Founde Worlde (sic) ที่มีส่วนกระตุ้นวิญญาณผจญภัยและผลักดันให้นักพฤกษศาสตร์ออกเดินทางไปสำรวจทวีปนั้น  แต่การสำรวจจริงๆเริ่มขึ้นในต้นศตวรรษที่19เท่านั้น (ดังจะกล่าวถึงต่อไปข้างล่าง)   John Bartram นักสะสมพืชพรรณที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเหนือ ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานของพฤกษศาสตร์ในอเมริกา  เขาไปตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่ไกลจากเมือง Philadelphia  ทำฟาร์มที่นั่นตั้งแต่ปี 1728 แต่ที่สำคัญคือตลอดสามสิบปีต่อมา เขาเก็บสะสมพืชพรรณจากดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ และได้ส่งเมล็ดตัวอย่างให้สวนอังกฤษไม่ต่ำกว่าสองร้อยชนิด  เขาส่งเมล็ดไปครั้งละจำนวนมาก  ทำให้การกระจายพันธุ์ขยายออกไปได้รวดเร็วทั่วเกาะอังกฤษ 
         ความหลงใหลพืชพรรณแปลกใหม่จากต่างแดนทวีขึ้นเรื่อยๆ  การเก็บพืชพรรณจากทั่วโลกก็มีระบบรัดกุมขึ้นตามลำดับ  นักเพาะพันธุ์  สวนพฤกษชาติ หรือสมาคมที่รวมกลุ่มคนสวน เป็นผู้ร่วมลงทุนและจัดส่งเรือเดินทะเลไปตามส่วนต่างๆของโลก  เพราะฉะนั้นนักพฤกษศาสตร์ในฐานะของนักสำรวจและพราน จึงมีอุปนิสัยใจคอพิเศษผิดคนอื่นๆ และเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้นเป็นเลิศ เพราะต้องทนทรมานกับการเดินทางไกลที่ใช้เวลายาวนาน ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยอันตรายสารพัดแบบติดต่อกันนานหลายปี  โดยมีความหวังว่า จะพบเห็นพืชต้นแปลกดอกสวย    จดบันทึกไว้ วาดไว้ แล้วกลับไปเมื่อดอกไม้นั้นให้เมล็ด เก็บเมล็ดมาแล้วส่งตัวอย่างอันเปราะบางนั้นกลับไปยุโรป  เมล็ดพืชพรรณต้องผจญกับสภาพภูมิอากาศแบบต่างๆกว่าจะถึงอังกฤษ  เพราะฉะนั้น  การเดินทางจากถิ่นกำเนิดของพืชพันธุ์หนึ่ง สู่อีกมุมหนึ่งของโลก และความสามารถปลูกขึ้นได้ในต่างแดน  จึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์เหลือเชื่อที่ตรึงจินตนาการของชาวอังกฤษตลอดมา

นักสำรวจพืชพรรณกับพรานพรรณไม้ชาวอังกฤษ

         ชาวอังกฤษคนแรกๆที่ออกเดินทางไปต่างแดนเพื่อการศึกษาและเก็บพรรณไม้ ที่รู้จักกันมากกว่าผู้ใดคือพ่อลูกชื่อเดียวกันว่า John Tradescant[5] ผู้พ่อเป็นหัวหน้าคนสวนของ Robert Cecil, Earl of Salisbury ผู้ส่งเขาไปฝรั่งเศสในปี 1610 และปีต่อๆมาหลายครั้งหลายครา เพื่อหาซื้อพืชพรรณต่างๆสำหรับมาปลูกสวน   ในปี 1618 เขายังได้เดินทางไปถึงแถบอารติคในรัสเซีย   ส่วนผู้ลูกต่อมารับหน้าที่หัวหน้าคนสวนต่อจากพ่อ และได้เดินทางไปถึงมลรัฐ Virginia ในอเมริกา (1637)  เก็บรวมรวมพืชพรรณและเปลือกหอยกลับมาอังกฤษเป็นจำนวนมาก  พ่อลูกคู่นี้ เป็นหัวหน้าคนสวนที่มีประสบการณ์และความชำนาญเรื่องต้นไม้ อีกทั้งมีวิญญาณนักพเนจร เดินทางเสี่ยงชีวิตเพื่อนำพืชพรรณต่างๆมาให้ชาวอังกฤษ   นอกจากจะเดินทางหาพืชพรรณด้วยตนเองแล้ว  เขายังได้จากบุคคลรู้จักที่ติดต่อกับเขาทั่วไปในยุโรป และจากบริษัท Virginia Company   ทั้งสองยังปลูกต้นไม้หลายชนิดที่รู้จักกันแล้วและเก็บรายชื่อกับรายละเอียดของต้นไม้แต่ละต้น  สวนของ Tradescant ที่ Lambeth ในกรุงลอนดอน  มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น เพราะความสามารถในการเพาะเลี้ยงและปลูกพืชพรรณต่างๆได้สำเร็จงดงาม  รายชื่อพืชพรรณที่มีที่นั่นรวมกันเป็นบันทึกพืชพรรณเกือบทั้งหมดที่ปลูกขึ้นงามในสภาพภูมิอากาศของยุโรปตอนเหนือ   สวนนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็น Musaeum Tradescantianum ในปี 1656 และเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในอังกฤษที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้
         Dr. Daniel Carl Solander (1733-1782) เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของ Carl Linnaeus ที่เรากล่าวถึงในตอนต้น  เขาได้ช่วยจัดระบบพืชพันธุ์และเพิ่มรายการพรรณไม้ต่างๆจากดินแดนขั้วโลก (Lapland และ Norway) ที่เขาไปสำรวจมาเอง  ในปี 1759 ได้เดินทางไปนครลอนดอนเพื่อเผยแพร่ระบบการจัดพืชพันธุ์ที่นั่น  ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ และได้รับมอบหมายให้เข้าไปจัดระบบใหม่ให้กับคลังสะสมแผนกธรรมชาติวิทยาของ British Museum    ปีต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของราชสมาคมของอังกฤษ (The Royal Society)   Solander กลายเป็นเพื่อนสนิทของ Joseph Banks (1743-1820)  ผู้ชวนเขาให้ร่วมเดินทางไปเก็บพืชพรรณกับเรือ Endeavour ภายใต้การนำของกัปตัน James Cook (1728-1779) ในปี 1768   Banks และ Solander ได้รวบรวมพรรณไม้มากกว่าพันชนิดจากการเดินทางเที่ยวนั้น   หลังจากนั้นทั้งสองยังได้ออกไปสำรวจที่ Iceland, the Faeroes และ Orkney Island  เมื่อกลับมา Solander เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ดูแลประจำ British Museum  เขายังทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์พิเศษให้ห้องสมุดของ Banks ที่สวน Kew    เขาเป็นผู้กำหนดตั้งชื่อพืชทุกต้นที่ส่งเข้าสู่ราชสมาคม
         นักสำรวจพืชพรรณคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษยุคศตวรรษที่18 คงไม่มีใครเกิน Joseph Banks (1743-1820) ปรัชญาชีวิตกับความรักพืชพรรณของเขายังหาใครเสมอเหมือนมิได้จนถึงทุกวันนี้  เมื่ออายุเพียงสิบแปดปี  ได้รับมรดกตกทอดเป็นที่ดินจำนวนหลายแห่งและเงินทองจากบิดาผู้สิ้นบุญไป  เขามิได้กลายเป็นหนุ่มสำอางเฉกเช่นคนรวยอื่นๆ  กลับสนใจใฝ่หาความรู้ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Oxford   ในเดือนเมษายนปี 1766 ได้ออกไปสำรวจ Newfoundland และ Labrador กับเพื่อนๆที่เคยเรียนด้วยกันที่ Eaton   กลับเข้าอังกฤษในเดือนมกราคมปี 1767 พร้อมด้วยพืชพรรณกว่า 340 ต้น  ระหว่างที่เขายังเดินทางอยู่นั้น ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก(ที่อายุน้อยที่สุด)ของราชสมาคม   การเดินทางสำรวจพืชพรรณครั้งสำคัญที่สุดของเขา คือการไปกับเรือของกัปตัน Cook  ระหว่างปี 1768-1771  มุ่งสู่ตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค  หน้าที่อันดับแรกของกัปตันCook คือพาคณะนักวิทยาศาสตร์สมาชิกของราชสมาคมไปสังเกตเส้นทางโคจรของดาวศุกร์ที่จะผ่านตรงหน้าดวงอาทิตย์จากมุมมองบนโลกที่เกาะ Tahiti   เส้นทางโคจรดังกล่าวที่เก็บบันทึกมาได้ในตอนนั้น ถือเป็นข้อมูลดาราศาสตร์ที่สำคัญมากที่มีผลต่อการพัฒนาการเดินเรือในยุคนั้น  ปรากฏการณ์ของดาวศุกร์นั้นไม่เกิดซ้ำอีกเลยตลอดร้อยปีต่อมา  หน้าที่อันดับสองของกัปตันคือการไปจดบันทึกพืชพรรณและสัตว์ที่พบเห็นในต่างถิ่นทุกชนิดทุกประเภท  ประการนี้แหละที่ทำให้ Banks ตัดสินใจควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่อขอร่วมเดินทางไปกับเรือ เป็นมูลค่า ₤10,000 (เงินจำนวนนี้มีค่าเท่าใดนั้น ให้คิดเทียบดูง่ายๆว่า ค่าต่อเรือ Endeavour คือ ₤2,840  ค่าเดินทางทั้งหมดที่คลังหลวงจ่ายให้คือ ₤5,394  ค่าใช้จ่ายอื่นๆทุกอย่างทั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ อาหารและเสบียงสำหรับทีมของ Banks เขาเป็นคนจ่ายทั้งหมด  เทียบค่าของเงินในปัจจุบันอยู่ในราวหลายสิบล้านปอนด์)  ตอนนั้นเขาอายุยี่สิบห้าปี  เขาขอให้ Solander ร่วมคณะสำรวจพืชพรรณของเขาด้วยซึ่ง Solander ก็ยินดียิ่งนัก  คณะของBanks จึงมีนักพฤกษศาสตร์ชั้นยอดของประเทศ และยังมีจิตรกร ศิลปิน ศัลยแพทย์ นักดาราศาสตร์กับผู้ช่วย   Banks ตระเตรียมการเดินทางอย่างดี  มีอุปกรณ์ทุกชนิดพร้อม รวมทั้งนำห้องสมุดธรรมชาติวิทยาส่วนตัวของเขาไปกับเรือด้วย  เรือออกเดินทางจาก Plymouth ในวันเสาร์ที่ 26 เดือนสิงหาคม  มุ่งหน้าสู่เมืองท่า Funchai บนเกาะ Madeira  ระหว่างทางเขาและ Solander ได้สังเกตและบันทึกชีวิตทุกรูปทุกแบบที่เห็นในทะเล ตั้งแต่ปลาโลมา นกและปลาอื่นๆ รวมทั้งสาหร่ายทะเลที่กวาดเก็บขึ้นมาจากทะเล และต่อมายังบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับชาวพื้นเมือง วัฒนธรรมและสังคมที่ได้พบเห็นตามจุดต่างๆ เช่นที่ตาฮีติ  บทบันทึกของทั้งสองมักมีภาพวาดประกอบด้วย  จึงกลายเป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญ ที่ทำให้ผู้อ่านเหมือนมีโอกาสติดตามไปกับเรือด้วย  เมื่อไปถึงเมืองท่าจุดขึ้นฝั่งจุดแรก  สถานกงศุลอังกฤษที่นั่นให้การต้อนรับอย่างดี  คณะสำรวจอยู่ที่นั่นหกวัน ทีมของ Banks ได้รวบรวมตัวอย่างพืชพรรณเกือบเจ็ดร้อยชนิด  จากที่นั่นเดินทางต่อไปยังบราซิล
         การเดินทางแต่ละช่วงมิใช่สะดวกปลอดภัยตลอดเวลา บางคนเสียชีวิต  ลูกเรือบางคนคิดหนีละทิ้งหน้าที่  นอกจากภัยธรรมชาติ  ยังมีภัยการเมืองและความขัดแย้งทางวัฒนธรรมกับคนท้องถิ่น  โดยเฉพาะพวกนักการเมืองของประเทศอื่นๆ ไม่เชื่อในความบริสุทธิ์ใจของการเดินเรือสำรวจเพื่อการเรียนรู้  อย่างไรก็ดีทุกคนพยายามรักษาตัวให้รอดและเดินทางต่อตามเส้นทางที่กำหนดไว้  จากบราซิลไปตาฮีติ อ้อมแหลม Horn ผ่านไปทางหมู่เกาะ Society Islands แล้วต่อไปยังนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย  ไปขึ้นฝั่งตะวันออกที่ Cook ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Botany Bay  เพราะความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณที่ยังไม่เคยมีชาวยุโรปคนใดจดบันทึกไว้ก่อน  กองพืชพรรณที่สะสมไว้บนเรือมีทับถมกันมากขึ้นทุกที   Sydney Parkinson (จิตรกรในคณะ) จะบันทึกสิ่งที่เก็บมาเป็นภาพ  เขามีงานล้นมือเพราะต้องรีบวาดไว้ก่อนที่ทุกอย่างจะเน่าเปื่อย  เขาทำงานไม่ทันเพราะสิ่งที่เก็บมามีเพิ่มเข้าไปไม่หยุด  ในที่สุดมีเวลาแค่วาดภาพสเก็ตช์และบันทึกเป็นข้อความว่าสีอะไร เพื่อเพิ่มสีเข้าไปในภายหลัง  สิ่งที่เก็บไว้บนเรือบางอย่างตากแห้งไว้ บางชนิดต้องห่อไว้ด้วยผ้าชื้นๆเพื่อให้มันสดจนกว่าจิตรกรจะบันทึกเป็นภาพไว้  ระหว่างที่อยู่ที่นั่นคณะสำรวจได้รวบรวมพืชพรรณเป็นจำนวนมากกว่าที่ใดๆที่ผ่านมา  มีตั้งแต่พืชพรรณตามหนองน้ำถึงต้นยูคาลิปตัสในป่าลึกบนเกาะ  Banks ยังเริ่มรวบรวมนก สัตว์และชีวิตในทะเลจากอ่าวที่เรือจอด  จากฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย กัปตันตัดสินใจนำเรือล่องขึ้นไปทางเหนือของเกาะด้วยความตั้งใจจะไปให้ถึงฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย เพื่อทำแผนที่ของออสเตรเลียไว้  เรือไปติดวนอยู่ในน่านน้ำปะการัง (Great Barrier Reef ที่ Cook เรียกว่า Insane Labyrinth) ใช้เวลากว่ายี่สิบสามชั่วโมงจึงหลุดพ้นออกมาได้  เรือชำรุดเสียหายมาก ทำให้ต้องหยุดกับที่นานสองเดือนกว่าเพื่อซ่อมเรือ  เมื่อซ่อมเรือเสร็จเดินทางต่อไปได้ไม่ไกลก็ต้องไปติดอยู่ภายในหมู่เกาะใหญ่น้อยท่ามกลางปะการังอีก  เมื่อหลุดออกไปสู่ทะเลกว้างได้ มุ่งหน้าไปยัง Batavia บนเกาะชะวา  ศูนย์การค้าขายของกองเรือ Dutch East Indies (คือเมืองจาการ์ตาในปัจจุบัน)  เมือง Batavia นี้ชาวดัชต์ไปสร้างไว้ ตามแบบสถาปัตยกรรมของเมืองในฮอลแลนด์  มีลำคลอง อู่ต่อเรือ  ร้านค้าต่างๆเพื่อบริการเรือที่ไปจอดและลูกเรือ  เป็นเมืองที่รวมเชื้อโรคเมืองร้อนไว้มากด้วย (เช่นไข้มาเลเรีย โรคบิด โรคปอด ฯลฯ)   จากที่นั่นเรือมุ่งเข้ามหาสมุทรอินเดีย  อ้อมผ่านแหลมใต้ทวีปแอฟริกา  เพื่อเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก  กว่าจะไปถึงเมือง Cape Town ในแอฟริกา  มีผู้เสียชีวิตไปเพราะไข้และเชื้อโรคทั้งหมด 34 คนรวมทั้งจิตรกร นักดาราศาสตร์ ลูกเรือและคนอื่นๆในคณะ  ทั้ง Banks และ Solander ล้มป่วยอาการหนักหลายครั้งระหว่างข้ามมหาสมุทรอินเดีย  หลังจากพักฟื้นที่เมือง Cape Town ก่อนเดินทางต่อทั้ง Banks และ Solander ยังมีโอกาสไปเดินสำรวจพืชพรรณไม้อีกบ้าง  แต่ไม่ได้อะไรมามากนักเมื่อเทียบกับปริมาณพืชพรรณที่ได้จากออสเตรเลีย  และแม้ว่าจิตวิญญาณนักสู้และนักสำรวจจะยังอยู่ครบ  ทุกคนก็อดดีใจไม่ได้เมื่อเรือไปถึงปากแม่น้ำเทมส์ (12 กรกฎาคม 1771)   Joseph Banks กลายเป็นคนโด่งดัง ยิ่งกว่ากัปตัน Cook เอง  นี่เป็นการเดินทางครั้งยาวนานที่สุดของ Banks (เกือบสามปีเต็ม) 
         Joseph Banks เป็นผู้ไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง เขาเป็นพระสหายและที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของพระเจ้า George III  ได้ช่วยพัฒนาฟื้นฟูบูรณะพระราชอุทยานที่ Kew และแปลงเป็นสวนพฤกษชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก  เขายังมีจดหมายติดต่อเป็นประจำกับ Benjamin Franklin  เขาให้ทุนการศึกษาพฤกษศาสตร์แก่นักเรียนอังกฤษและนักเรียนจากชาติอื่นๆ   เมื่อไม่ได้ติดตามกัปตันCookไปในการสำรวจครั้งที่สอง  เขาจัดคณะสำรวจของเขาเอง ขึ้นไปยัง Iceland (กับ Solander เช่นเคย) แต่ไม่ได้อะไรเป็นกอบเป็นกำจากที่นั่น  เมื่อกลับมา เขาเริ่มจัดระบบสรรพสิ่งที่เขาสะสมมา ที่มีทั้งอาวุธ เครื่องกลไก ภาชนะเครื่องใช้  เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของพวกอินเดียแดง  วัตถุดิบ  ตัวอย่างแมลง  ตัวอย่างสาเกในขวดเหล้า  ตัวอย่างพืชพรรณที่เก็บมาระหว่างเดินทาง  ที่รวมพืชสกุลใหม่ๆ 110 สกุล และอีกราว 1300 สายพันธุ์ที่ยุโรปไม่เคยเห็นหรือรู้มาก่อน และที่สำคัญคือสมุดภาพพืชพรรณ 987 ชนิดที่ Parkinson วาดและลงสีไว้อย่างสวยงาม และอีก 1300-1400 ภาพที่จิตรกรได้สเก็ตช์ไว้เช่นกัน เป็นภาพดอกไม้แต่ละดอก ใบไม้แต่ละแบบ  ส่วนหนึ่งของลำต้น  ภาพสัตว์ นก ปลา ฯลฯ เกือบทั้งหมดยังคงไปชมได้ในปัจจุบันที่ Natural Museum ในนครลอนดอน   Banks ได้รับเลือกเป็นประธานราชสมาคม (the Royal Society) ในปี 1778 และครองตำแหน่งนั้นนานต่อมาถึง 42 ปี   ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์เป็นบารอนในปี 1781  เป็นรองประธานสมาคม Linnean Society (ตั้งขึ้นในปี 1788)  เป็นกำลังสำคัญในการสถาปนาราชสถาบัน (the Royal Institute 1800) และเป็นหนึ่งในแปดคนผู้วางรากฐานและก่อตั้งราชสมาคมพืชสวน (the Royal Horticultural Society, 1804)   ให้เงินสนับสนุนนักสำรวจพรรณไม้ออกไปทุกมุมโลก เพื่อเพิ่มจำนวนพืชพรรณของสวน Kew และค้นหาพืชเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ๆ   เขายังเป็นตัวตั้งตัวตีให้ทางการอังกฤษจัดตั้งออสเตรเลียให้เป็นอาณานิคมสำหรับนักโทษ  เพราะเขาเชื่อว่า นักโทษที่ถูกส่งไปที่นั่น ยังมีโอกาสตั้งต้นชีวิตใหม่ได้ แทนการถูกทรมานภายในเรือนจำอันแออัดไร้มนุษยธรรมของคุกอังกฤษในต้นทศวรรษที่ 1800   ในปี 1788 Banks  อุดหนุนให้ส่งเรือหลวง the Bounty ออกไปขนย้ายต้นสาเก (breadfruit tree) จากเกาะตาฮีติไปปลูกบนเกาะ Timor ในทะเลคาริบเบียนโดยมี William Bligh เป็นผู้บังบัญชาเรือ  เป็นการทดลองปลูกพืชวิธีหนึ่งที่ Banks สนใจศึกษาอยู่   ความต้องการของเขาคือให้ไปเก็บเมล็ดสาเกที่เกาะตาฮีติ แล้วลงปลูกในกระถาง รอให้ต้นอ่อนงอกเติบโตเพียงพอที่จะเดินทางได้  จึงนำกระถางต้นอ่อนทั้งหมดลงเรือเดินทางไปยังหมู่เกาะในทะเลคาริบเบียนเพื่อไปปลูกลงบนดินที่นั่น  เป็นการขนย้ายพืชพรรณไปจากมุมหนึ่งของโลกไปปลูกที่อีกมุมหนึ่งของโลก  ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำในระดับนี้มาก่อน  อีกครั้งหนึ่งเขาให้นำไปปลูกที่เกาะ Jamaica ซึ่ง Bligh สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จ   สาเกในที่สุดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้เป็นอาหาร  นอกจากนี้ยังมีมังคุดที่ Banks ช่วยนำเข้าไปให้สวน Kew   เมื่อ Banks ถึงแก่อนิจกรรมในปี 1820 ห้องสมุด ห้องเก็บสมุนไพร ตำราสมุนไพร คลังสะสม ภาพวาด  ภาพพิมพ์ จิตรกรรมพฤกษศาสตร์  บันทึกทุกอย่างของเขากลายเป็นสมบัติของ  Natural History Museum ที่นครลอนดอนตามพินัยกรรมที่เขาทำไว้  สรรพสิ่งของเขาเกือบทั้งหมดยังคงจัดแสดงไว้ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้   ชื่อของเขาได้ถูกนำไปใช้เรียกสกุลพืชสกุลหนึ่งว่า  Genus Banksia และยังมีพืชพันธุ์อีกหลายชนิดจากทั่วโลกที่ใช้ชื่อเขาประกอบเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา  รวมทั้งกุหลาบพันธุ์หนึ่งที่ชื่อ Rosa Banksiae เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา Lady Dorothea Banks                                        
         ศตวรรษที่สิบเก้าก็เป็นยุคทองของพฤกษศาสตร์  นักสำรวจพืชพรรณไม้ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกชาติ  ต่างแยกย้ายไปในสี่มุมโลกเพื่อสำรวจและเอาตัวอย่างเมล็ดกลับมาทดลองปลูก  Dr. Nathaniel Wallich (1786-1854) ชาวเด็นมาร์คผู้สนใจศึกษาพืชพรรณของอินเดียเป็นพิเศษ เขาไปรับราชการประจำอยู่ที่เมือง Calcutta ให้ความช่วยเหลือแก่พรานและนักสำรวจทั้งหลายที่ไปแวะที่ Calcutta ก่อนขึ้นพิชิตภูเขาหิมาลัย  เขายังรับผิดชอบการจัดเก็บ บรรจุหีบห่อตัวอย่างพืชพรรณที่ผ่านเข้ามาในสวนของเขาก่อนที่พืชพรรณเหล่านั้นจะถูกส่งต่อไปยังอังกฤษ  เป็นผู้คิดวิธีป้องกันเมล็ดพืชด้วยการบรรจุใส่ไปในถุงน้ำตาลทรายแดง ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีทีเดียว  เพราะฉะนั้นสถิติเมล็ดพืชที่เขาเป็นผู้ดูแลจัดเป็นหีบห่อสำหรับส่งไปอังกฤษและเจริญได้งอกงามจึงสูงกว่าผู้ใด  การขนส่งเมล็ดพืชเป็นปัญหาหนักที่ยังแก้ไม่ตก เพราะร้อยละ 90 ของจำนวนเมล็ดที่ส่งไปตายหมด  ผู้ที่มาช่วยแก้ปัญหานี้ เป็นผู้ประดิษฐ์ตู้กระจกเคลื่อนที่สำหรับขนย้ายพืชพรรณ  มีผลกระทบต่อพฤกษศาสตร์และการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอย่างมากมายในเวลาต่อมา ผู้นั้นคือ Dr. Nathaniel Bagshaw Ward (1791-1868) [6]
         Sir William Jackson Hooker (1785-1865)  ได้ไปสำรวจ Iceland ตามโครงการของ Banks   ต่อมาไปรับตำแหน่งของคณบดีคณะพฤกษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Glasgow ในปี 1820 ได้พัฒนาคณะ, สวนพฤกษชาติของคณะและของเมือง  ตั้งแต่ปี 1841 เป็นผู้อำนวยการสวนหลวงที่ Kew  และสามารถบริหารงานได้สำเร็จงดงาม ขยายพื้นที่ของสวนออกไปโดยรอบ  ให้ก่อสร้างอาคารกระจกหลายหลังรวมทั้งอาคารต้นปาล์ม และจัดปลูกแปลงดอกไม้ต่างๆในสวนใหม่ให้ดูดีขึ้น อย่างมีหลักการ  และยังเปิดบริเวณส่วนใหญ่ของสวนให้ประชาชนได้เข้าชม  เมื่อเขาถึงแก่กรรม ลูกชาย Sir Joseph Dalton Hooker (1817-1877) ขึ้นเป็นผู้อำนวยการคนต่อไป
         นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญแห่งศตวรรษที่19ที่เป็นนักพฤกษศาสตร์และนักสำรวจพืชพรรณด้วยพร้อมกันคือ Charles Darwin (1809-1882)   เขามีโอกาสเดินทางไปกับเรือ HMS Beagle ของกัปตัน Robert Fitzroy ระหว่างปี 1831-1836 ไป Tenerife, the Cape Verde Island, Brazil, Montevideo, Tierra del Fuego, Buenos Aires, Valparaiso, Chile, the Galapagos, Tahiti, New Zealand, และ Tamania ตลอดระยะเวลาห้าปี เขาได้สะสมความรู้เกี่ยวกับสัตว์และพืช ธรณีวิทยา รายละเอียดเกร็ดย่อยทุกแบบ ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการคิดวิเคราะห์เป็นทฤษฎีต่างๆในเวลาต่อมา  ผลงานของเขาเป็นฐานความรู้สำคัญที่ปูทางสู่พฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์ในปัจจุบัน   
          Sir Joseph Dalton Hooker  คงเป็นนักสำรวจพืชพรรณคนสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่19  สำเร็จการศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัย Glasgow  เพื่อนของบิดาชื่อ Sir James Clark Ross (1800-1862) ผู้บัญชาการเรือหลวง Erebus และ Terror เสนอให้เขาไปเป็นหมอผ่าตัดประจำเรือที่กำลังจะไปสำรวจทวีป Antarctic ในปี 1839  เป็นโอกาสทองสำหรับหมอหนุ่ม  ได้สำรวจพืชพรรณไม้ระหว่างทาง ตามจุดต่างๆที่เรือไปจอด ตั้งแต่เกาะ Madeira  หมู่เกาะ Canary, เกาะหิน St.Paul’s Rocks, เกาะ Brazilian Trinidade และเกาะ St. Helen ก่อนถึง the Cape of Good Hope และจากที่นั่นเข้าสู่น่านน้ำสุดดินแดนขั้วโลกใต้  เขาตั้งอกตั้งใจเก็บรวบรวมพืชพรรณและสัตว์ จัดจำแนกแยกแยะง่วนอยู่ตลอดเวลา  ส่องกล้องจุลทัศน์ศึกษาและวาดภาพรายละเอียดของพืชพรรณ  หน้าที่หนึ่งของเขาคือการจัดส่งสิ่งที่เก็บรวบรวมได้กลับไปอังกฤษ  เขาตัดสินใจส่งพืชพันธุ์ไม้เป็นๆ เป็นต้นๆบรรจุภายในตู้กระจก (Wardian cases) ฝากส่งกับเรือสินค้าไปให้บิดาที่ลอนดอน  เป็นคนแรกที่ใช้ตู้กระจกขนส่งพรรณไม้และปรากฏว่าได้ผลดีเกินความคาดหมาย  ระหว่างการเดินทางอันยาวนานบนเรือ  เขาทำแค็ตทะล็อกพืชพันธุ์ทั้งหลายที่เก็บมาอย่างเรียบร้อย  กัปตัน Ross ได้ล่องเรือเข้าสู่ Antarctic เข้าไปใกล้ขั้วแม่เหล็กโลกมากกว่าที่ผู้ใดเคยไปถึง แม้ในฤดูร้อนขั้วโลกใต้ยังมีภูเขาน้ำแข็งเต็มในทะเลที่เกือบถล่มกลบเรือ ต้องผจญกับพายุ  ทั้งคนทั้งเรือถูกผลักไปถึงขีดสุดยอดของกำลังและศักยภาพ  แต่กัปตัน Ross สามารถนำเรือทั้งสองกลับมาถึงฝั่งอังกฤษโดยปลอดภัย(1841) ไม่ได้สูญเสียชีวิตใดที่ไปกับเรือแม้แต่คนเดียวตลอดระยะเวลาสี่ปีกว่าของการไปสำรวจขั้วโลกใต้  ไปในน่านน้ำที่ยังไม่มีผู้ใดไปถึง  การเดินเรือครั้งนี้ได้รับการจารึกเป็นเกียรติประวัติของกองทัพเรืออังกฤษ   ในขณะเดียวกัน Hooker ได้เก็บรวบรวมพันธุ์หญ้ามอสจากการเดินทางครั้งนั้นจำนวนมาก ที่ดูคล้ายจนเกือบเหมือนกันเลย และดลใจให้เขาคิดวิเคราะห์วิจัยเรื่องการกระจายของสายพันธุ์ที่เขาจะศึกษาตลอดชีวิตเขา[7]   
         กลับถึงอังกฤษไม่นาน Hooker เตรียมตัวไปสำรวจดินแดนภาคเหนือของอินเดียในเทือกเขาหิมาลัย  บิดาช่วยให้เขาได้เงินทุนปีละ ₤400 สำหรับใช้จ่ายในการสำรวจและเก็บพืชพรรณมาให้สวนหลวงที่ Kew   จนถึงตอนนั้นยังไม่เคยมีนักท่องเที่ยวหรือนักธรรมชาติวิทยาผู้ใดเดินทางไปถึง  เขาออกเดินทางไปกับเรือกลไฟ Sidon (Nov.1847) จาก Southampton ไปยังเมือง Lisbon, Gibralta, Malta ถึงเมือง Alexandria แล้วเปลี่ยนไปขึ้นเรือ Moozuffer ต่อไปยัง Calcutta (Jan.1848)  ความร้อนชื้นทำให้การเก็บพืชพรรณมาตากแห้งเข้าเล่มเป็นไปไม่ได้ เพราะกระดาษเน่าเปื่อยอย่างรวดเร็ว ระหว่างทางสู่ Sikkim ได้แวะที่ Patna ดูการผลิตฝิ่น และได้ตัวอย่างสมบูรณ์เป็นชุดเกี่ยวกับฝิ่น ที่เขาวาดภาพประกอบกระบวนการผลิตฝิ่นทุกขั้นตอนไว้ด้วย  ทั้งหมดนี้สำหรับพิพิธภัณฑ์พืชเศรษฐกิจของบิดา (Museum of Economic Botany) ยิ่งขึ้นไปทางเหนือใกล้แดนสิกขิม การเปลี่ยนแปลงของอากาศยิ่งรุนแรงขึ้น  ระหว่างทางเขาได้บันทึกข้อมูลทุกอย่างไว้ทั้งด้านธรณีวิทยา ด้านภูมิศาสตร์พื้นที่  ด้านสภาพอากาศ ความกดอากาศ และยังทำแผนที่ด้วย  แผนที่ของเขายังใช้เป็นคู่มือต่อมาอีกห้าสิบปี เพราะความถูกต้องแม่นยำสูง  ในที่สุดไปถึงเมือง Darjeering ในสิกขิม (April 1848) ระหว่างคอยใบอนุญาตให้สำรวจท้องที่จากมหาราชาแห่งสิกขิมนานหลายเดือน (ได้พักอยู่ที่บ้านของ  Brian Houghton Hodgson นักสัตววิทยามีชื่อคนหนึ่งของอังกฤษ)  ได้ค้นพบพันธุ์ใหม่ๆของพืชสกุล rhododendrons  และได้เขียนรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับพืชพันธุ์ต่างๆที่ได้มาจากการสำรวจขั้วโลกใต้ที่เขาไม่มีเวลาเขียนเมื่อกลับจากการสำรวจ   รวมกันเป็นเล่มชื่อ Flora Antarctica.  กว่าจะได้ใบอนุญาต ผู้แทนการเมืองของอังกฤษผู้เดินทางไปด้วย (Dr. Arcihibald Campbell) ต้องข่มขู่มหาราชาว่าหากไม่ยอมจะนำกองทัพอังกฤษเข้ารุกราน  (ยุทธวิธีขู่ขวัญแบบนี้ยังคงทำกันในปัจจุบัน ในการต่อรองทางการเมือง)  ในที่สุด Hooker และคณะจึงสามารถออกสำรวจพื้นที่ได้ พร้อมด้วยลูกหาบทั้งหมด 56 คน มีทั้งนักสะสมพรรณไม้  พ่อครัว  นักสะสมนก และทหารยาม  (การสำรวจความจริงแล้วจึงเป็นการสำรวจเพื่อความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาทุกด้านด้วย มิใช่ด้านพฤกษศาสตร์เท่านั้น) แต่ปัญหาทางการเมืองทำให้ไปไม่ถึงธิเบต  ในปี 1850 เขาเดินทางกับ Thomas Thomson ไปยังตะวันออกของเบงกอลและกลับเข้าอังกฤษในปี 1851  ทั้งสองร่วมกันเขียน Flora Indica (1855) แต่ไม่เสร็จเพราะไม่ได้การสนับสนุนจากบริษัท East India  อย่างไรก็ดี บทเขียนที่ทิ้งไว้นั้น เป็นเอกสารสำคัญที่สุดทางภูมิศาสตร์พืชพรรณในอินเดีย  ต่อมา Hooker เขียน Flora of British India (1872-1897) หนังสือสำคัญที่สุดอีกเล่มหนึ่งของเขาคือ Rhododendrons of the Sikkim-Himalaya (1849-51) ที่ William Hooker ผู้พ่อเป็นผู้พิมพ์ และมี Walter Hood Fitch เป็นผู้วาดภาพประกอบ  การสำรวจของ Hooker และ Campbell ได้นำพันธุ์ rhododendrons พันธุ์ใหม่ๆมาเพิ่มแก่สวนอังกฤษ  การนำเข้าดอกไม้สกุลนี้และการเพาะปลูกที่ขึ้นได้งามในอังกฤษ ทำให้ชาวอังกฤษเกิดความคลั่งไคล้หลงใหลดอกไม้สกุลนี้ตั้งแต่นั้น   นอกจากนี้เขายังพิมพ์อนุทินการเดินทางไปในหิมาลัย  อุทิศให้แก่ Charles Darwin  เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรม เขาเป็นผู้อำนวยการสวนหลวงที่ Kew ต่อมา  หนังสือเล่มสำคัญเล่มสุดท้ายที่เขาเขียนร่วมกับ George Bentham ชื่อ Genera Plantarum อธิบายพันธุ์ไม้ถึง 7,569 สกุลเป็นพืชที่มีเมล็ดทั้งหมดกว่า 97,000 พันธุ์จากประสบการณ์ส่วนตัวโดยตรงของเขา                     
         นอกจากนักสำรวจพืชพรรณที่เป็นนักพฤกษศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยาหรือแพทย์ส่วนใหญ่ ยังมีกลุ่มนายพรานล่าพรรณไม้ด้วย  ที่มีวิญญาณของนักผจญภัยควบคู่กับความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณ ความรู้เกี่ยวกับสัตว์และธรรมชาติ และทักษะความชำนาญด้านต่างๆ  ไม่ว่าจะเกี่ยวกับด้านอุตุนิยม การเดินเรือ การรู้จักใช้ภาษาเครื่องหมายสื่อสารกับชาวอินเดียแดง  บางคนเป็นช่างไม้ ช่างซ่อมปืนด้วย ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นปัจจัยส่งเสริมและพัฒนาการล่าพรรณไม้  พรานเหล่านี้มีความสำคัญมาก  ที่ทำให้วงการพฤกษศาสตร์ในยุโรปพัฒนาได้ในเวลาอันรวดเร็ว  เช่น David Douglas (1798-1834) หนึ่งในหมู่ชาวสก็อตที่ได้นำความรุ่งโรจน์สู่พฤกษศาสตร์บนเวทีนานาชาติ  เป็นคนสวนประจำที่สวนพฤกษชาติเมือง Glasgow ต่อมาได้เดินทางไปอเมริกาในฐานะของผู้เก็บพืชพรรณของสวน Kew  ไปสำรวจอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก(มลรัฐ Oregon, British Columbia ลงสู่ Hudson Bay   แล้วต่อไปถึง California แถบลุ่มแม่น้ำ Fraser River) ได้รวบรวมเมล็ดพืชพรรณจำนวนมากที่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยรู้เคยเห็นมาก่อน และนำต้นไม้ต้นใหญ่ๆและไม้พุ่มกลับมายุโรปประมาณ 50 ต้น (ต้น Douglas fir, the Sitka spruce, the Monterey pine, Garrya elliptica, Ribes sanguineum) กับไม้ดอกประเภทล้มลุกอีกไม่ต่ำกว่าร้อยชนิด  พืชพรรณเหล่านี้ เปลี่ยนโฉมหน้าและสีสันของสวนตะวันตกอย่างถาวร 
         ในศตวรรษนี้เช่นกันที่พรานพืชพรรณเดินทางลงต่อไปยังทวีปอเมริกาใต้  สองพี่น้อง William และ Thomas Lobb โด่งดังกว่าเพื่อน เพราะเป็นผู้นำต้น monkey puzzle tree (Araucaria araucana และต้นอื่นๆเช่น the Berberis darwinii, the Escallonia macrantha) จากถิ่นดั้งเดิมในเทือกเขา Andes เข้ามาในยุโรป  โดยเฉพาะชาวอังกฤษพิศวงกับต้น ปริศนาลิง (ลิงมิอาจขึ้นต้นไม้นี้ได้) นี้ยิ่งนักจากภาพวาด ได้เริ่มปลูกจากเมล็ดและคอยติดตามดูด้วยความอดทน  กว่าจะเติบโตขึ้นจากเมล็ด(ที่มีเปลือกแข็งหนาห่อหุ้ม) ใช้เวลาหกสิบปี(ปัจจุบันต้นอ่อนเติบโตขึ้นได้ภายในไม่กี่เดือน)  และยิ่งนานเข้านานเข้าก็ยิ่งตะลึงกับขนาดของมันที่พัฒนาเกินความสูงของบ้านหรืออาคาร  ต้นนี้จึงยังเป็นปริศนาไม่เสื่อมคลาย (ไปเดินชมได้ที่สวน Kew)
         ประเทศที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุดได้แก่ประเทศจีน  เพราะอุดมการณ์และความสามารถในการปลูกสวนของคนจีนเกือบสิบศตวรรษก่อนยุโรป (และที่ชาวยุโรปได้รับรู้เป็นครั้งแรกจากบันทึกการเดินทางของมารโคโปโล) แต่การไปเก็บพืชพรรณในจีนก็ลำบากมากด้วย  เพราะเหล่าบาทหลวงเยซูอิตเป็นชาวต่างชาติกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาติให้เดินทางภายในประเทศจีน[8] เพราะฉะนั้นบาทหลวงจึงเป็นผู้ช่วยนักพฤกษศาสตร์ ด้วยการส่งตัวอย่างพืชพรรณกลับไปยังปารีสหรืออังกฤษ  นักเก็บพรรณไม้อาชีพคนแรกที่เข้าไปอยู่ในประเทศจีนเลยคือ  William Kerr  เขามีโอกาสส่งพืชพรรณใหม่ๆกลับไป 283 ต้น  การสำรวจอย่างจริงจังบนแผ่นดินจีนเริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 1840 เท่านั้น  และตั้งแต่นั้นเป็นที่รู้กันว่า ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเทือกเขาหิมาลัย มีความอุดมสมบูรณ์พันธุ์ไม้ดอก เช่น rhododendrons, azaleas, flowering cherries, ornamental maples, roses, lilies, primulas, poppies, kerrias, และ quinces เป็นต้น  
         ในปี 1881 Augustine Henry (1857-1930) เพิ่งสำเร็จการศึกษาแพทย์ได้ไม่กี่ปี  เดินทางไปรับงานผู้ช่วยแพทย์ประจำด่านศุลกากรจีนที่เซี่ยงไฮ้  เขาเป็นคนมีทักษะด้านภาษา  ภายในเวลาไม่นาน ก็สามารถพูดภาษาจีนสื่อสารกับเจ้าหน้าที่จีน และมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานด้านศุลกากรราบรื่นขึ้นมาก  ต่อมาถูกย้ายไปอยู่ที่เมือง Ichang ในปี 1882  โดยมีหน้าที่เพิ่มขึ้น คือต้องไปแสวงหาพืชสมุนไพรเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแพทย์   เขาตั้งต้นศึกษาพืชพันธุ์ต่างๆที่นั่นอย่างจริงจังและทำรายการพืชพรรณหลายร้อยชนิดไว้   ในฐานะนักพฤกษศาสตร์สมัครเล่น นับว่าเขาได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณแถบจีนและหิมาลัยแก่นักสำรวจรุ่นหลังที่จะตามไปในจีน 
         ในบรรดานักสำรวจพืชพรรณที่ไปในประเทศจีน คนสำคัญๆเช่น Robert Fortune (1812-1880) ชาวสก็อต เคยทำงานให้กับสวนพฤกษชาติที่เมือง Edinburgh และได้ไปเป็นผู้ดูแลแผนกเรือนกระจกของสมาคมพฤกษศาสตร์ที่ Chiswick ในนครลอนดอนในปี 1840 แต่ไม่กี่เดือนต่อมา เขาถูกส่งไปประเทศจีนในฐานะนักเก็บพรรณไม้ของสมาคม  พร้อมด้วยรายการสิ่งที่เขาต้องทำในประเทศจีนอย่างยาวเหยียด  สิ่งหนึ่งคือไปแสวงหาดอกโบตั๋นสีฟ้า  ต้นชา และศึกษาการปลูกต้นพีช(หรือต้นท้อ)ในสวนส่วนตัวของจักรพรรดิจีน  เขาเดินทางไปถึงฮ่องกงในปี 1843 และเริ่มต้นเก็บพืชพรรณใส่ตู้กระจกส่งกลับไปอังกฤษ  ได้เดินทางไปสำรวจในจังหวัดภาคเหนือของจีนหลายครั้งหลายครา  ฝ่าภัยอันตรายทุกรูปแบบบนเส้นทาง นอกจากภัยธรรมชาติ พายุหรือน้ำท่วมบนแม่น้ำแยงซี ยังมีภัยจากความคลุ้มคลั่งของชนบางกลุ่มที่รังเกียจคนต่างผิว  เขารอดพ้นภัยเหล่านี้มาได้ และยังทำให้เขาพูดภาษาจีนแมนดารินได้พอสมควร  เขาหันมาแต่งตัวตามแบบคนจีน โกนหัวโล้นและไว้หางเปีย ทำให้เขากลมกลืนไปในหมู่คนจีน และสามารถเข้าไปในเมืองต้องห้ามที่ Souchow  ตลอดสามปีที่ไปอยู่ในจีนเขาทะยอยส่งพืชพรรณกลับไปอังกฤษได้อย่างเรียบร้อยโดยที่พืชไม่ตายกลางทาง (พิสูจน์ประสิทธิภาพเลิศของการใช้ตู้กระจกของ Ward)  เมื่อเขากลับเข้าอังกฤษได้พิมพ์อนุทินของเขาเป็นเรื่อง Three Years Wanderings in the Northern Provinces of China (1847)  การเดินทางไปจีนครั้งที่สองนั้น เพื่อบริษัท East India Company (บริษัทเดินเรือทะเลขนส่งสินค้าของอังกฤษที่ออกสู่ตะวันออก) เพื่อไปหาพันธุ์ชาที่ดีที่สุดสำหรับนำไปปลูกในอินเดีย  เช่นครั้งแรก เขาแต่งตัวแบบคนจีน จ้างล่ามคนหนึ่ง แล้วเดินทางเข้าไปในถิ่นปลูกชาของจีน  เขาสามารถนำต้นชาสองหมื่นต้นและเมล็ดสำหรับไปเพาะพันธุ์ ส่งไปถึงแดนหิมาลัยได้อย่างปลอดภัย และทำให้อังกฤษสามารถสร้างไร่ชาขนาดยักษ์  ชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำความมั่งคั่งสู่อังกฤษ(และอินเดีย)   Robert Fortune ยังกลับไปจีนอีกสองครั้ง และไปญี่ปุ่นหนึ่งครั้ง  ได้นำพืชพรรณกว่า 120 พันธุ์เข้ายุโรปและกระจายสู่สวนตะวันตก   เขาได้เขียนหนังสืออื่นๆอีกเช่น A Journey to the Tea Countries of China (1852), A Residence Among the Chinese (1857) และ Yedo and Peking (1863. Yedo คือ Edo เมืองโตเกียวในปัจจุบัน)                                   
         Ernest Henry Wilson (1876-1930) คนอังกฤษ ได้เข้าทำงานที่สวน Kew ในปี 1897  ได้รับเลือกให้ไปเป็นนักเก็บพืชพรรณของบริษัท James Veitch & Sons ที่ประเทศจีน  ในตอนนั้นตัวอย่างพรรณไม้ที่กลุ่มบาทหลวงฝรั่งเศสส่งไปที่ปารีส  ล่อใจนักพฤกษศาสตร์และนักเพาะพันธุ์พืชยิ่งนัก  เจ้าของบริษัทดังกล่าวจึงตัดสินใจจ้างนักเก็บพืชพรรณไปประเทศจีน  Wilson เดินทางจากอังกฤษไปเมืองบอสตันในอเมริกา แวะเข้าชมศูนย์สะสมพันธุ์ไม้ the Arnold Arboretum เรียนรู้การบรรจุเมล็ดเป็นหีบห่อและการส่งพืชทั้งต้นจากที่นั่น  เขานั่งรถไฟข้ามทวีปไปลงเรือที่เมืองซานฟรานซิสโกเพื่อไปฮ่องกง (1899)  แล้วต่อไปฮานอย ล่องขึ้นไปตามแม่น้ำแดงจนถึงพรมแดนระหว่างอินโดจีนของฝรั่งเศส (เวียดนาม)และแคว้นยุนนานของจีน และมุ่งหน้าไปทางตะวันตก (Szemao)  เขาเริ่มค้นหาต้น Davidia involucrata (Dove Tree)  เขามีข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้นี้มาพร้อม  พูดกันว่านั่นเป็นต้นไม้ต้นที่ทำให้เขาเดินทางข้ามครึ่งโลกไปดู  ปรากฏว่าต้นนั้นถูกตัดโค่นลงเพื่อใช้สร้างกระท่อมชาวบ้านหลังหนึ่ง  เขาไม่ยอมเสียเวลา เริ่มสำรวจพืชพรรณในบริเวณนั้น และพบต้น Actinidia deliciosa (ที่เรารู้จักกันในวันนี้ว่า Kiwi fruit และที่เราเชื่อว่าเป็นพันธุ์พื้นเมืองของนิวซีแลนด์  ความจริงไม่ใช่เลย แต่การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจนี้ทำให้คนเข้าใจผิด)  ไม่นานต่อมา เขาไปพบป่าละเมาะต้น Davidia ทั้งหมด  เก็บเมล็ดจากต้นไว้เป็นจำนวนมาก  สรุปได้สั้นๆว่า เขาสามารถรวบรวมพืชพรรณต่างๆทั้งแบบตากแห้ง และแบบสดที่บรรจุเข้าในตู้กระจกสามสิบห้าตู้  (ที่รวมตัวอย่างพืชประเภทหัวและเหง้า ที่แยกแยะเป็น tubers, corms, bulbs, rhizomes)  ทั้งหมด 906 ชนิดและเมล็ดพืชพรรณอีก 300 ชนิด  เขาได้ฉายานามว่า  Chinese Wilson
         George Forrest (1893-1932) ชาวสก็อตอีกคนหนึ่งที่เป็นนักสำรวจพืชพรรณและพรานไม้คนสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20  ได้นำพืชพรรณหลายร้อยชนิดเข้าสู่วัฒนธรรมยุโรป  ฉายาที่คนปัจจุบันตั้งให้คือ  Indiana Jones of the the plant world  เมื่อเรียนจบและไปเป็นผู้ช่วยของหมอยา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของสมุนไพรและการทำสมุดสมุนไพร (herbarium)  แต่วิญญาณนักผจญภัยทำให้เขาเดินทางไปขุดทองในออสเตรเลียอยู่ถึงสิบปี   เมื่อกลับเข้าอังกฤษในปี 1903 ได้ไปทำงานในหอสมุนไพรของสวนพฤกษชาติแห่งเมือง Edinburgh  ต่อมาถูกส่งไปหาพืชพรรณไม้ต่างๆในแคว้นยุนนานของจีนในปี 1904  เขาไปตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่เมือง Talifu ทำความคุ้นเคยกับชาวเมือง ภาษาและวัฒนธรรม  ในปี 1905 เขานำคณะ(มีนักสำรวจพื้นเมืองติดตามไปด้วยอีก 17 คน) มุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นยุนนานแถวพรมแดนธิเบต  ได้เก็บพืชพรรณจำนวนมาก ทำสมุดสมุนไพร และสะสมเมล็ดพืช  แถบนั้นเป็นป่า rhododendrons ทั้งถิ่น  ทำให้เขาได้เห็นว่าพืชพันธุ์นี้อุดมและหลากหลายมากทีเดียว  คณะสำรวจมิได้เฉลียวใจเกี่ยวกับการเมืองในแถบนั้น ที่ทำให้พระละมะธิเบตจับและฆ่าชาวต่างชาติและชาวพื้นเมืองที่ไปยุ่งกับคนต่างชาติ  ทั้งทีมของเขาถูกจับฆ่าทิ้ง  เขาเองเกือบเอาชีวิตไม่รอด ต้องหลบๆซ่อนๆ เดินทางกลางคืนเพื่อหนีออกจากถิ่นนั้น  ได้พวกลิสซูช่วยและเขาต้องปลอมแปลงตนเป็นชาวธิเบต ในที่สุดสามารถเล็ดลอดกลับไปยังฐานที่ Talifu  เขามิได้นิ่งนอนพักหรือย่อท้อ ร่วมทีมกับ George Litton จากสถานกงศุลอังกฤษออกสำรวจพืชพรรณและเก็บตัวอย่างต่อในแถบ Tengyueh แล้วขึ้นไปยัง  Salween  ผ่านสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ร้อนจัดในป่าทึบไปจนถึงหนาวจัดในเทือกเขาสูง ต่อสู้กับแมลงชนิดต่างๆ และต้นไม้ที่มีพิษเพื่อให้ได้พืชพรรณที่แปลกที่สุดสมบูรณ์ที่สุด เมื่อกลับถึงฐานไม่นาน Litton ถึงแก่กรรมด้วยโรคมาเลเรีย  นี่ยังไม่ทำให้ Forrest ย่อท้อ เขาฝึกคนพื้นเมืองเพื่อให้เป็นผู้ช่วยเขาแล้วพาคณะออกเดินทางไปสำรวจแถบ Likiang  เขาเองล้มป่วยด้วยมาเลเรียและทำให้ต้องกลับไปที่ฐาน  ส่วนผู้ช่วยของเขายังคงยินดีทำหน้าที่ต่อ เขากลับสู่อังกฤษในปี 1906 พร้อมวัสดุจำนวนมาก  มีเมล็ดรวมกันเป็นน้ำหนักหลายร้อยปอนด์  หัว เหง้า ราก และต้นไม้รวมเป็นจำนวนพันๆชนิดและสมุดสมุนไพรที่เขาทำเองอีก   แม้ว่าประสบการณ์ที่ยุนนานนั้นแสนเข็ญ แต่ Forrest มีความรู้สึกผูกพันกับถิ่นนั้น และกลับไปในชีวิตเขาอีกหกครั้ง มักแต่งตัวเหมือนชาวจีนท้องถิ่น แต่ละครั้งก็สำรวจไกลออกไปถึงตอนบนของพม่า  ตะวันออกของธิเบต แคว้นเสฉวน  แม้เขาจะไม่เคยเขียนหนังสืออะไรไว้ แต่สิ่งที่เขานำกลับมาแก่อังกฤษและยุโรปมีค่าเหลือคณาต่อการศึกษาธรรมชาติวิทยาเกี่ยวกับจีน  เป็นผู้นำพรรณไม้ใหม่ๆกว่า 1200 สายพันธุ์สู่วงการศึกษาวิทยาศาสตร์พืชพรรณ รวมไปถึงพันธุ์นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายพันธุ์  ได้รับเหรียญกิตติมศักดิ์ Victoria จากราชสมาคมพฤกษศาสตร์ (1921) และเหรียญเกียรติคุณ the Veitch Memorial Medal (1927) และได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม Linnean Society (1924)  ในการเดินทางสำรวจครั้งสุดท้ายที่ยุนนาน เขาบอกว่าต้องการไปสะสางงานที่นั่นและเก็บพืชพรรณที่เขายังได้ไม่ครบ  ปรากฏว่าเขาสามารถรวบรวมมาได้อีกมากมาย  เมื่อจัดหีบห่อทุกอย่างพร้อมส่ง  เขาล้มลงสิ้นใจเพราะหัวใจล้มเหลวนอกเมือง Tengyueh เมืองที่เขาคุ้นเคย  มีรายงานสรุปไว้ว่า  Forrest ได้ทำสมุดรวมสมุนไพรตากแห้งไว้ถึงสามหมื่นชนิด  ทุกคนรู้จัก Forrest ในฐานะผู้นำพันธุ์ใหม่ๆของ rhododendrons เข้าอังกฤษ รวมทั้งหมดมากกว่าสามร้อยชนิด  รวมทั้งดอกไม้อื่นๆเช่น camelias, clematis, magnolias, Himalayan poppies, lilies, primulas และ gentians  มีพืชหลายพันธุ์ที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ Forrest    พืชพรรณต่างๆที่เขานำมาเพิ่มแก่สวนพฤกษชาติในอังกฤษและโดยเฉพาะที่เมือง Edinburgh ผู้เป็นเจ้าของคลังสะสมพืชพรรณชุดจีน-หิมาลัย (ทั้งที่เป็นต้นที่ยังมีชีวิตและที่ตากแห้งเก็บไว้เป็นตัวอย่าง) รวมกันเป็นคลังที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นคลังพืชพรรณป่าดั้งเดิมจากจีนที่อยู่นอกแผ่นดินจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย  คลังพืชพรรณนี้ยังคงได้รับการทนุถนอมเลี้ยงดูเรื่อยมาที่ Chinese Hillside ในเมือง Edinburgh 
         ยังมีพรานพืชพรรณชาวสก็อตอีกหลายคน ต่างเป็นวีรบุรุษในโลกพฤกษศาสตร์ เช่น Francis Masson (1714-1805) ไปสำรวจแอฟริกาใต้ นำพืชพรรณสี่ร้อยชนิดมาให้แก่สวน Kew.  Archibald Menzies (1754-1842) ไปสำรวจยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ ชิลีและแคนาดา  John Jeffrey (1826-53) ไปสำรวจมลรัฐ Oregon และแคลิฟอรเนีย และหายไปในทะเลทราย Colorado.  George Sherriff (1898-1967) ชาวสก็อตออกไปสำรวจกับ Frank Ludlow (1895-1972) ชาวอังกฤษ ในแถบหิมาลัยด้านตะวันออก ธิเบตและแคว้นแคชเมียร เป็นต้น  ส่วนชาวอังกฤษอื่นๆนั้นเช่น Reginald Farrer (1880-1920) ไปสำรวจจีนและพม่า  Joseph Rock (1884-1962) ไปสำรวจจีนเช่นกัน และ Frank Kingdon Ward (1885-1958) ไปสำรวจภาคตะวันตกเฉียงใต้ อินเดียและพม่า   พรานพืชพรรณชาวสก็อตในปัจจุบันก็มีหลายคน  พวกเขาสำคัญและรู้จักพืชพรรณกับรู้จักเลือกเหมือนนักสำรวจหรือพรานรุ่นก่อนๆ  เช่น David Long ผู้มุ่งสำรวจพันธุ์ไม้ดอกในแถบภูฐานและเนปาล และโดยเฉพาะเก็บหญ้ามอสทุกพันธุ์จากทั่วโลก  George Argent ไปสำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  Tom Miller ไปสำรวจพันธุ์ไม้ดอกในแดนอาหรับ เป็นต้น 
         ตัวอย่างชีวิตของบุคคลที่กล่าวมาข้างต้น รวมกันเป็นแรงกระตุ้นมหาศาลที่ทำให้ชาวอังกฤษคลั่งไคล้การทำสวน รักสวน รักความเขียวชอุ่ม  สวนอังกฤษเปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิง เมื่อพันธุ์ใหม่ๆเหล่านี้เพาะขึ้นได้สำเร็จงดงามและออกวางขายในท้องตลาด  นักสำรวจหรือพรานพืชพรรณทั้งหมดอุทิศและเสี่ยงชีวิตเพื่อนำพันธุ์ไม้ใหม่ๆมาสู่สวนอังกฤษและในที่สุดสู่ยุโรปโดยมิเคยได้รับการยกย่องเท่าที่ควร  ทั้งๆที่ 99 เปอเซ็นต์ของจำนวนพืชพรรณที่ปลูกในสวนอังกฤษปัจจุบัน เป็นผลงานของนักสำรวจและพรานพืชพรรณทั้งหมด  ความจริงนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างสิ้นสงสัยว่า พืชพรรณต่างๆได้เปลี่ยนสีสันและโฉมหน้าของสวนตะวันตก ของวัฒนธรรมและวิถีการครองชีวิตอย่างไร และนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศเพียงใด  ธุรกิจพืชพรรณเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศอังกฤษ  ส่วนสวนพฤกษชาติทั้งหลายในอังกฤษและสวน Kew โดยเฉพาะราชสมาคมพืชสวนของอังกฤษยังคงเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชพรรณและในที่สุดปลูกฝังความรักพืชพรรณในหมู่ชาวอังกฤษเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้  รวมทั้งเป็นสถาบันตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆอีกด้วย 
         ในปัจจุบัน พรานล่าพรรณไม้ก็มีความปรารถนาเหมือนพรานยุคก่อนๆที่ต้องการหาพืชพรรณใหม่ๆที่มีค่าทางวิทยาศาสตร์ ค่าด้านพฤกษศาสตร์หรือค่าความพอใจส่วนตัว  พวกเขามีเครื่องมือ มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการเดินทางที่สะดวกกว่ากันมากนัก  ตัวอย่างพืชพรรณที่เก็บมาได้ก็มีวิธีเก็บรักษาได้ดีกว่าเมื่อสองร้อยปีก่อน  อย่างไรก็ดี นายพรานก็ยังเสี่ยงอันตรายอยู่นั่นเอง  เป็นภัยแบบใหม่ที่โยงไปถึงการเมืองกับความรังเกียจผิวและศาสนาเป็นต้น  พรานยุคปัจจุบันจึงยังคงเสี่ยงชีวิตมากเท่าเดิม บ้างถูกจับ ถูกขโมยหรือลิบทรัพย์ ถูกนำไปปล่อยในป่าลึกเป็นต้น  เพื่อให้ความคุ้มครองทั้งพรานพรรณไม้และปกป้องสิทธิของเจ้าของพื้นดิน ในปี 1988 The Rio Earth Summit ได้มีมติบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นที่ระบุว่า แต่ละประเทศมีลิขสิทธิ์ทางเศรษฐกิจและภูมิปัญญาเหนือพืชพรรณไม้ที่มีในประเทศของตน  นั่นคือ หากควินิน สำลี น้ำตาล กาแฟหรือชาฯลฯ เพิ่งค้นพบในวันนี้  ประเทศเจ้าของพืชพรรณเหล่านี้มีสิทธิ์เรียกร้องค่าภาคหลวงหรือค่าลิขสิทธิ์จากการใช้พืชพรรณเหล่านี้ในทุกประเทศ   นอกจากนี้ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอำนาจควบคุมการเก็บสะสมพืชพรรณอย่างเคร่งครัด  มีกฎของสมาคม The Convention on International Trade in Endangered Species (CITES) ที่คอยจับผู้เก็บหรือทำลายพืชพันธุ์ที่หายากหรือที่กำลังสูญพันธุ์ลงไปเรื่อยๆ กฎหมายระหว่างประเทศแบบนี้ได้รับด้วยความร่วมมือจากสถาบันพฤกษศาสตร์สำคัญๆในอังกฤษ เช่นสวนKew, สวนที่ Edinburgh และที่ Reading University  สถาบันทั้งสามนี้เป็นผู้อุปถัมภ์การเก็บสะสมพรรณไม้เพื่อจุดมุ่งหมายทางวิทยาศาสตร์ โดยมีรัฐบาลกลางของอังกฤษเป็นผู้ออกใบประกาศนียบัตรอนุมัติได้แต่ผู้เดียว ว่าให้ใครไปเก็บพืชพรรณที่ไหน  การออกเก็บพรรณไม้จากถิ่นต่างๆทั่วโลกกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อการอนุรักษ์พรรณไม้ให้คงอยู่เป็นสำคัญ เพราะระบบนิเวศน์ที่เสื่อมทรามลง ทำให้ต้นไม้สูญพันธุ์ลงไปเรื่อยๆ   ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมยืนยันว่าภายในเวลาเพียงห้าสิบปีข้างหน้าโลกจะสูญเสียพืชพรรณไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนพืชทั้งหมดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน   ความจริงนี้กระตุ้นให้หน่วยงานจำนวนมากในอังกฤษร่วมมือกัน สร้างมาตรการป้องการทุกวิถีทางที่จะทำได้  อย่างไรก็ดียังมีนักเล่นต้นไม้ที่สะสมพืชพรรณเพื่อชื่นชมความงามของมันในฐานะพืช มิใช่ในฐานะของข้อมูลวิทยาศาสตร์ พืชพรรณใหม่ๆก็ยังนำเข้าสู่อังกฤษอยู่เรื่อยๆ  ส่วนใหญ่ไม่ใช่พันธุ์ใหม่ทีเดียวเพราะเคยมีผู้บันทึกไว้แล้ว แต่ยังไม่เคยมีผู้ใดได้เห็นต้นแท้ๆของมันเพราะปลูกไม่ขึ้นมาก่อนเป็นต้น  ในยุคศตวรรษที่ 21นี้ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าไม่น่าจะมีพืชพันธุ์ใหม่ๆเหลือให้สำรวจแล้ว หรือยังอาจไม่สำนึกว่ามีพืชจำนวนมากที่สูญหายตายจากไปแล้ว  ทุ่งหญ้าแพรฺรี (prairie) อันอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือของทวีปอเมริกาที่หายสูญไป  ป่าดงดิบหนาทึบในอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียเบาบางลง  ทุกอย่างชี้ให้เห็นอย่างไร้ข้อสงสัยว่า  นี่กลับเป็นยุคเร่งด่วนของการสำรวจพืชพรรณ  มิใช่เพื่อหาพันธุ์ใหม่ๆ ที่สำคัญยิ่งยวดกว่านั้นคือการช่วยชีวิตของพันธุ์เก่าๆไว้ให้ได้มากที่สุด   

ศิลปินพฤกษชาติชาวอังกฤษ
         ดังได้กล่าวแล้วว่า การวาดภาพพืชพรรณใหม่ๆที่พบในต่างแดนเป็นกิจกรรมสำคัญของการไปสำรวจ ควบคู่กับการทำสมุดพืชพรรณตากแห้ง   กิจกรรมทั้งสองรวมกันเป็นเอกสารข้อมูลที่สำคัญที่สุด ที่เป็นพยานของการค้นพบ และเป็นคู่มือสำหรับการจัดจำแนกแยกแยะออกเป็นชุดเป็นระบบรายการพืชพรรณ  ภาพวาดสีดีกว่าใบไม้ดอกไม้จริงที่ตากแห้ง ในแง่ที่สีบนภาพทนทานนานกว่าสีธรรมชาติจากดอกและใบที่เลือนลางหรือเปลี่ยนไป   ในยุคที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป  การวาดภาพพฤกษชาติได้พัฒนาขึ้นเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง อาจจัดเข้าในแบบจิตรกรรมชีวิตนิ่งแบบหนึ่ง (still life) แต่ก็มีผู้ประท้วงว่าภาพพฤกษชาติเหล่านั้นเป็นเพียงภาพประกอบความเข้าใจ มิอาจนับเป็นศิลปะในตัวมันเองได้   ความจริงแล้วซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะนอกจากต้องมีรายละเอียดที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องจับเอกลักษณ์ของพืชแต่ละอย่างไว้ให้ได้  ศิลปินจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณด้วย  ภาพพฤกษชาติที่เป็นภาพศิลป์ เป็นเหมือนบทกลอนหรือทำนองเสนาะที่เชื่อมระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ  มีจิตรกรน้อยคนที่บรรลุถึงขั้นนั้น  และภาพศิลป์ประเภทนี้ก็ยังคงสอน ให้ข้อมูล และบันดาลใจได้เรื่อยมา
         Sydney Parkinson (ราว 1745-1771, ชาวสก็อต) เป็นหนึ่งในจิตรกรพฤกษชาติน้อยคนของอังกฤษ  เมื่อสำเร็จการศึกษาและหลังจากได้ฝึกฝนฝีมือในการวาดภาพดอกไม้ต้นไม้  เขาลงไปอยู่นครลอนดอนเพื่อหาโอกาสวาดภาพพืชพรรณใหม่ๆ  เช่นนี้จึงแวะเวียนไปที่สวนเพาะพันธุ์ไม้ของ  James Lee และ Lewis Kennedy ที่ตั้งอยู่แถว Hammersmith.   James Lee เขียนหนังสืออธิบายระบบการจัดแบ่งพืชพรรณของ Carl Linnaeus ทำให้เขามีชื่อเสียงและสถานเพาะเลี้ยงพืชพันธุ์ของเขาก็มีคนสนใจไปๆมาๆเป็นประจำรวมทั้ง Joseph Banks ด้วย  เมื่อ Banks เห็นฝีมือของ Parkinson เขารีบจ้างให้ไปวาดภาพประจำที่สวน Kew ทันที  ยังไม่ถึงปีต่อมา Banks ว่าจ้าง Parkinson ให้ไปกับคณะสำรวจของเขาที่จะไปกับเรือ Endeavour ของกัปตัน Cook  และเพื่อให้ Parkinson สามารถวาดภาพดอกไม้พืชพรรณต่างๆได้อย่างเต็มที่ เขายังว่าจ้างจิตรกรอีกคนหนึ่ง(Alexander Buchan)เพื่อไปบันทึกภาพทิวทัศน์ ภาพเหตุการณ์และการเดินทาง  Parkinson ต้องทำงานหนักทีเดียวเพราะทั้ง Banks และ Solander ให้วาดภาพบันทึกทุกอย่างที่เก็บติดแหขึ้นมาจากทะเลทุกวันเมื่อยามไม่ได้ขึ้นไปเก็บจากบนบก  แต่ Parkinson ก็ไม่เคยบ่นและทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจ จนเป็นที่รักใคร่นับถือของทั้งนายเรือและลูกเรือ  ตลอดเส้นทางก่อนที่เรือจะล่องลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้  เขาเนรมิตภาพวาดพฤกษชาติเสร็จอย่างสวยงามน่าทึ่ง  แต่พอเรือไปเทียบที่ตาฮีติ  การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ตามสมุดบันทึกของ Parkinson เล่าถึงจำนวนยุงและแมลงวันที่รุมรอบตัวจิตรกรและลงเกาะบนหน้ากระดาษ รวมทั้งกินสีบนกระดาษทันทีที่จิตรกรป้ายลงไป  ต่อมาแม้จะมีการกางตาข่ายกันยุงกันแมลง ลดความรำคาญลงไปได้ แต่มิได้ทำให้ปัญหาหมดไป เพราะทั้งยุงและแมลงวันยังคงเกาะเต็มบนตาข่าย  ภาระของ Parkinson หนักลงอีกเมื่อ Alexander Buchan จิตรกรอีกคนหนึ่งล้มป่วยและเสียชีวิต  ทำให้ Parkinson ต้องรับหน้าที่รับภาระวาดภาพทุกอย่างคนเดียวไม่เฉพาะภาพพืชพรรณเท่านั้น  ที่นิวซีแลนด์เมื่อคณะสำรวจไม่ได้พืชพรรณใหม่ๆนัก   Parkinson จึงมีโอกาสวาดภาพชนเผ่าเมารี  และเมื่อไปถึงออสเตรเลีย พืชพรรณทั้งหมดที่นั่นเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่พวกเขายังไม่เคยรู้เห็นมาก่อนเลย  จึงพากันเก็บสะสมพืชพรรณทุกอย่างจำนวนมากในแต่ละวัน  Parkinson มีงานล้นมือ ในที่สุดต้องสเก็ตช์เป็นภาพไว้เท่านั้น พร้อมบันทึกข้อมูลสีของแต่ละอย่างเพื่อหาโอกาสแต่งเติมสีเข้าไปทีหลัง  จากออสเตรเลียไปยังเกาะชะวาที่เมือง Batavia (Djakarta ในปัจจุบัน) ลูกเรือล้มป่วยและเสียชีวิตหลายคนด้วยโรคเมืองร้อนประเภทต่างๆ ทั้งไข้มาเลเรีย โรคบิด โรคปอด  เชื้อโรคยังคงติดอยู่ในเรือ เมื่อเรือออกจากเมือง Batavia มุ่งสู่ปลายแหลมแอฟริกา  Parkinson เองล้มป่วยและเสียชีวิตในเรือกลางทะเลแปซิฟิคนั้นเอง  งานวาดของเขารวมกันได้เป็นเล่มโตทีเดียว  มีภาพวาดพฤกษชาติลงสีเสร็จสมบูรณ์ ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทั้งหมด 280 ภาพ  กับภาพสเก็ตช์และภาพลายเส้นอีกมากกว่า 900 ภาพ   Banks ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของภาพทั้งหมดของ Parkinson และให้จิตรกรอื่นๆรวมทั้งช่างแกะภาพทำผลงานของ Parkinson ไว้ แต่ไม่มีใครทำได้ดีกว่างานฝีมือของ Parkinson เอง  ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ภาพเหล่านั้นมิได้พิมพ์ออกมาจนถึงปี 1900  และผู้ทำก็มิได้เอ่ยถึง Parkinson มากนัก  ปัจจุบันทุกคนยกย่องอัจฉริยะภาพของ Sydney Parkinson ว่าเป็นศิลปินพฤกษชาติที่แท้จริงของศตวรรษที่18  สังคมให้เกียรติด้วยการตั้งชื่อสกุลต้นไม้สกุลหนึ่งว่า Ficus parkinsonii                                                    
         Walter Hood Fitch (1817-1892) ชาวสก็อต เป็นจิตรกรพฤกษชาติที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่สิบเก้า ในฐานะที่เป็นจิตรกรคนเดียว ที่วาดภาพดอกไม้พืชพรรณประกอบวารสารพฤกษศาสตร์สำคัญๆของยุค เช่นวารสาร Botanical Magazine แห่งมหาวิทยาลัย Glasgow ต่อมาเป็นจิตรกรคนเดียวที่วาดภาพให้วารสารและสิ่งตีพิมพ์ทุกอย่างทั้งที่ออกเป็นทางการหรือไม่ของสวน Kew ตั้งแต่ปี 1841  ผลงานของเขาเห็นได้ในหนังสือพฤกษศาสตร์เกือบทุกเล่มที่ออกมาในยุคนั้น และที่เป็นหนังสือของนักพฤกษศาสตร์เกือบทุกคนด้วยเช่นกัน
         จิตรกรพฤกษชาติที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งในศตวรรษที่สิบเก้าคือ Marianne North (1830-1890)  เป็นเอกสตรีที่ไม่มีใครเทียบเท่า   เธอเรียนฝึกฝนจิตรกรรมสีน้ำด้วยตนเอง  ออกเดินทางสำรวจไปสี่มุมโลกเพื่อหาเนื้อหาสำหรับภาพของเธอ  เขียนอัตชีวประวัติและบันทึกการผจญภัยของเธอ   Marianne North เกิดในตระกูลคหบดีผู้ร่ำรวยทั้งเงินทองและฐานะ (บิดาเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่ง Hastings) เธอสนใจจิตรกรรมและการเขียน อันเป็นงานอดิเรกของสตรีผู้ดีแบบฉบับยุควิคธอเรีย  แต่คงไม่มีสตรีใดที่นำงานอดิเรกมาเป็นงานอาชีพหลักของตนเองอย่างเธอ  บิดาของเธอเดินทางบ่อยๆไปทั่วยุโรปและตะวันออกกลางเพื่อธุรกิจและความบันเทิงส่วนตัว  Marianne ลูกสาวคนโตมักติดตามไปด้วยเสมอ  ระหว่างนี้ก็พัฒนาความชำนาญในการวาดภาพ กระชับวิญญาณสำนึกของการเป็นศิลปินในตัวเธอมากขึ้นตามลำดับ  เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรม  เธอรู้สึกเหมือนถูกลอยแพ ไขว่หาจุดยืนของตนเอง  ในที่สุดตัดสินใจใช้มรดกที่บิดาทิ้งไว้ให้เธอเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เธอตั้งไว้ คือการวาดภาพดอกไม้ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติของมัน  การเดินทางไกลคนเดียวครั้งแรกของเธอเริ่มในปี 1871 ไปอเมริกาและแคนาดาโดยผ่านไปทาง Jamaica  เธอนำติดตัวจดหมายแนะนำจากคนสำคัญๆที่เกี่ยวข้องและรู้จักเธอ  เช่นนี้ทำให้เธอได้รับความสะดวกสบายพอควรทีเดียว ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ตลอดชีวิตเธอ นับว่าเป็นคนโชคดีมากที่ชะตาชีวิตส่งเสริมให้เธอได้เป็นอย่างที่เธอต้องการทุกประการ  แต่เธอก็เป็นคนที่มีใจถึงและอดทนทีเดียว ที่ฟันผ่าต่อสู้กับสภาพพื้นที่เลวร้ายต่างๆ ขนาดต้องนอนกลางดินกินกลางทรายเธอก็ทำ เพื่อไปให้ถึงจุดภูมิประเทศและพืชพรรณที่เธอต้องการวาดให้ได้   ครั้งที่สอง เธอไปในป่าทึบของบราซิลและอยู่ที่นั่นแปดเดือน  วาดภาพทั้งหมดหนึ่งร้อยภาพ  ในปี 1875 เธอเดินทางข้ามทวีปอเมริกาเพื่อไปยังญี่ปุ่น เกาะซาราวัค ชวา ซีลอน แล้วจึงวกกลับเข้าอังกฤษ  ไม่ทันได้หยุดพักก็พร้อมที่จะเดินทางต่อไปอินเดีย และไปนานถึง 15 เดือน ได้วาดภาพพืชพรรณต่างๆไว้ 200 ภาพ ที่รวมภาพอาคารสถาปัตยกรรมอินเดียที่เธอชอบด้วย  เมื่อกลับเข้าอังกฤษ เธอจัดนิทรรศการภาพวาดของเธอที่ Conduit Street ได้รับการต้อนรับอย่างดี ทำให้เธอไปจัดแสดงที่สวน Kew อีก  ในปี 1879 เธอเขียนจดหมายถึง Sir Joseph Hooker ผู้อำนวยการสวน Kew ในตอนนั้น แสดงความปรารถนาที่จะมอบผลงานทั้งหมดของเธอ กับอาคารที่จะเป็นหอศิลป์แสดงผลงานเหล่านั้นให้เป็นสมบัติของสวน Kew โดยมีข้อแม้ว่า หอศิลป์นี้ต้องเปิดให้ประชาชนเข้าชมหรือเข้าไปนั่งพักได้   แน่นอนสวน Kew รับไว้ทันทีตามเงื่อนไขของเธอ  James Fergusson เพื่อนของเธอผู้เป็นนักประวัติศาสตร์สถาปัตยศิลป์ เป็นผู้ออกแบบหอศิลป์ตามโครงสร้างสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมที่เธอเคยเห็นและชื่นชอบในอินเดีย  เมื่อหอศิลป์สร้างเสร็จ เธอเองเป็นผู้จัดภาพวาดของเธอทั้งหมดโดยเรียงตามที่ตั้งภูมิศาสตร์  นอกจากนี้เธอยังได้ประดับตกแต่งภายในด้วยแบบดีไซนของเธอเอง  แต่ก่อนที่หอศิลป์จะเสร็จ เธอเตรียมตัวออกเดินทางไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์  ระหว่างการเดินทางสำรวจภายในออสเตรเลีย ได้พบกับ Marian Ellis Rowan สตรีสาวผู้เป็นศิลปินธรรมชาติวิทยา  Rowan สอนให้ North ใช้สีน้ำมัน ซึ่งเธอก็เรียนได้เร็วและเริ่มสร้างสรรค์ภาพสีน้ำมันตั้งแต่นั้น  ในบรรดาผลงานของ North มีภาพพืชพันธุ์ใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครเห็นหรือรู้จัก และได้รับการตั้งชื่อต่อมาเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ เช่น ต้น Northea seychellana, พืชกินแมลงที่มีกระเปาะทรงคนโทหรือกรวยสำหรับดักแมลงที่เธอค้นพบในบอรเนียว เรียกว่า Nepenthes northiana  ส่วน Areca northiana เป็นต้นปาล์มที่มีขนเหมือนปีกนกประเภทเดียวกับหมาก  และต้น Kniphofia northiana พันธุ์ว่านหางจระเข้จากแอฟริกาใต้เป็นต้น  การเดินทางของเธอยังมิได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะยังเหลือทวีปสุดท้ายที่เธอยังไม่เคยไป นั่นคือแอฟริกา เพราะฉะนั้นในปี 1882 เธอออกเดินทางไปที่ Cape แล้วขึ้นไปทางเหนือถึง Seychelles ก่อนกลับอังกฤษในปี 1883  ในปีถัดมาเธอเดินทางไปชิลีแม้จะเป็นโรครูมาติซึมและหูหนวกมากขึ้น   เมื่อกลับเข้าอังกฤษ เธอสำนึกแล้วว่านั่นเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเธอ  เธอย้ายออกไปอยู่ที่ Alderley ในแคว้น Gloucestershire และถึงแก่กรรมในปี 1890  หอศิลป์ของเธอที่สวน Kew ชื่อ the Marianne North Gallery รวมภาพฝีมือเธอ 832 ภาพ และจนถึงทุกวันนี้ยังคงเป็นอาคารที่ดึงดูดคนไปชมมากที่สุดอาคารหนึ่งในสวน Kew
         นอกจากการวาดภาพพฤกษชาติ ยังมีการแกะบนแผ่นโลหะที่ทำให้สามารถพิมพ์ภาพออกมาเป็นจำนวนมาก  ชาวอังกฤษสะสมภาพเหล่านี้ด้วยควบคู่กับการสะสมพืชพรรณไม้จริงๆ   การวาดภาพพฤกษชาติจะน้อยลงไปเรื่อยๆเมื่อกล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายภาพยนต์พัฒนาขึ้นที่รวมไปถึงเทคนิคการถ่ายภาพแบบเร่งความเร็วและการถ่ายภาพแบบยืดเวลาให้ช้าลงไปมาก  ยิ่งทำให้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวจนถึงการงอกเงยของพืชพรรณที่สร้างความพิศวงไม่รู้วาย 

         ภาพพืชพรรณเป็นเหมือนฉากหลังของทุกชีวิตในอังกฤษ  เป็นแบบประดับของเกือบทุกอย่างในบ้าน ตั้งแต่กระดาษปิดฝาผนัง ลายบนกระจกหน้าต่างหรือประตู ม่าน ผ้าคลุมหรือผ้าปูเตียง ผ้าบุเก้าอี้หรือเครื่องเรือน พรมและสิ่งทอประดับผนัง  แบบเตียง เครื่องเรือนไปจนถึงลายประดับถ้วยโถโอชาม และในที่สุดลวดลายและสีสันของเสื้อผ้า   มิใช่เรื่องบังเอิญที่ William Morris (1834-1896 ชาวลอนดอน) ใช้ภาพเฟิร์น ดอกไม้ กิ่งไม้ และสัตว์ เป็นแบบของงานสร้างสรรค์ทุกอย่างของเขา  หรือการที่เขารณรงค์เพื่อยกระดับนายช่างฝีมือว่าเทียบเท่าช่างศิลป์อื่นๆ  หรือการที่เขากระตุ้นให้ชาวอังกฤษเห็นความน่าเกลียดของสังคมที่เอาเปรียบคนงาน ที่ฉกฉวยความงามที่ชีวิตมีให้ทุกคนจากพวกเขา  Morris มิได้เป็นเพียงศิลปิน แต่เป็นนักเขียนด้วยและในที่สุดเป็นผู้นำกระแสสังคมนิยมในอังกฤษ ประท้วงสังคมอุตสาหกรรมที่ผิดธรรมชาติ ที่อยุติธรรมต่อชนชั้นคนงาน   มิใช่เรื่องบังเอิญเช่นกันที่ Charles Rennie Mackintosh (1868-1928 ชาวสก็อต) สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ใช้แบบประดับจากธรรมชาติ เลียนแนวเส้นโค้งอันอ่อนช้อยของไม้ดอกและความงามของทัศนียภาพอันสวยงามน่าทึ่งของสก็อตแลนด์ที่เขาเคยวาดเคยสเก็ตช์มานับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่วัยเด็ก  เขาเป็นผู้นำคนสำคัญของกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะแนวใหม่หรือ อารนูโว”(Art Nouveau)ในสก็อตแลนด์ ที่ยังผลให้มีการสถาปนากระแส Sezessionstill (หรือ The Secession) ขึ้นในออสเตรียในราวปี1900.   Glasgow School of Art เป็นหนึ่งในผลงานสถาปัตยกรรมของ Mackintosh    มิใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่ Arthur Lasenby Liberty (1843-1917)  เปิดร้านขายเครื่องตกแต่งบ้าน พรม ผ้าและศิลปวัตถุจากญี่ปุ่นและจากตะวันออก และในที่สุดผลิตผ้าพิมพ์แบบตะวันออกสำหรับใช้ตัดเสื้อผ้าและสำหรับใช้บุเครื่องเรือนหรือตกแต่งบ้าน  ต่อมาสั่งเข้าผ้าทอสำเร็จจากชวา อินเดีย อินโดจีนและเปอเชียมาพิมพ์ลายในอังกฤษ เรียก “Liberty Art Fabrics” และสร้างสรรค์แฟชั่นผ้าฝ้ายพิมพ์ดอกไม้ใบไม้ตามกระแสของศิลปะแนวใหม่  เริ่มด้วยผ้าฝ้าย ต่อมามีผ้าไหม ผ้ากำมะหยี่ ผ้าวูลและผ้าใยสังเคราะห์  ในศตวรรษที่19 แบบเสื้อผ้าในสไตลของลิเบอตี้ต้องการสื่อความรักความฝัน การใช้ชีวิตในธรรมชาติ วิญญาณอิสระ ชีวิตที่พ้นกรอบรัดหรือหลุดออกจากความฉาบฉวยของสังคมในเมืองใหญ่  แบบเสื้อและผ้าของลิเบอตี้ไม่ใช่แบบที่ชาวเมืองใส่ไปงานสังคมชั้นสูง  เป็นแบบเรียบง่าย เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อฮาวาย กระโปรงรูดรอบตัวเป็นต้น  (ผ้าลิเบอตี้ในยุคปัจจุบันยังคงเป็นลวดลายดอกไม้ แต่ก็มีลายและแบบทันสมัยตามกระแสนิยมยุคใหม่และสีสันแห่งยุค)  แนวการสร้างสรรค์ของลิเบอตี้เคยสื่อค่านิยมของชาวอังกฤษ ที่สะท้อนรับกับความฝันอยากมีบ้านและสวนของตนเองนอกเมือง  สวรรค์ของชาวอังกฤษ จึงไม่ใช่สถานที่หรูหรา ไม่ใช่วิมานที่มีปราสาทหอคอยหลังคาทอแสงเป็นประกายระยิบระยับ หรือการได้เสพอาหารทิพย์  เป็นเจ้าของเครื่องทองและเพชรนิลจินดาฯลฯ ดั่งค่านิยมเกี่ยวกับสวรรค์และชีวิตหลังความตายของคนไทยส่วนใหญ่  แต่ เป็นสนามหญ้าเขียวชอุ่มผืนใหญ่ มีดอกไม้ประดับสองข้างทางเดิน  มีโต๊ะน้ำชาพร้อมที่นั่งอันสบายสำหรับนั่งๆนอนๆพักผ่อนในความอบอุ่นของแสงแดด 

ความรักงอกเงย เบิกบานเพื่อมนุษยชาติ

         ในอังกฤษ ดูเหมือนจะมีสมาคมสำหรับดอกไม้เกือบทุกพันธุ์   เพราะมีจำนวนนับไม่ถ้วนเท่าที่เห็นคร่าวๆในรายชื่อสมาคมดอกไม้พันธุ์ต่างๆ เช่น British Cactus and Succulent Society, British Clematis Society, British Conifer Society, Carnivorous Plant Society, the Cyclamen Society, National Sweet Pea Society, National Vegetable Society, The Magnolia Society, Herb Society, Heather Society, National Dahlia Society, Peony Society, Violet Society, etc.  และคงไม่มีประเทศใดที่มีสมาคมเกี่ยวกับพืชพรรณและธรรมชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อการกุศลมากเท่าที่มีในประเทศอังกฤษ  ทำให้นึกจินตนาการถึงสมาชิกที่มาพบปะกันในแต่ละสมาคม คุยกันถึงดอกไม้ของตน เล่าสู่กันฟังระหว่างจิบน้ำชา  ดูจะเป็นความสุขอย่างแท้จริง ความสุขที่เรียบง่ายของชาวอังกฤษแท้ๆ ที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษพื้นเพจากเอเชียหรือจากประเทศอื่นๆ   คนกลุ่มหลังนี้มุ่งหวังสร้างฐานะ เก็บเงินมากกว่าสิ่งใด เข้ายึดธุรกรรมเกือบทุกชนิดตามเมืองใหญ่ๆ  สร้างความฝันในความมั่งมีวัตถุ  ในขณะที่ชาวอังกฤษเจ้าของเกาะย้ายออกจากเมืองไปในชนบท ไปอยู่กับธรรมชาติ  พวกเขามิได้ใฝ่ฝันอะไรมากไปกว่าการมีบ้านและสวน สามารถเดินชมสวน ปลูกต้นไม้ ไปชมสวนของคนอื่น  เมื่อหยุดพักจากการทำสวนของตนเองในบ้าน ก็ไปอาสาสมัครช่วยดูแลสวนของสมาคมในวันที่คนสวนประจำได้หยุดพัก  หรือขับรถพากันไปชมสวนชื่อดังๆไม่ไกลจากบ้านที่พวกเขาไปแล้วไปอีกได้ปีละหลายๆครั้ง เหมือนไปเยี่ยมเพื่อนที่คุ้นเคย   ข้าพเจ้าได้พบคนอังกฤษแท้ๆตามสวนต่างๆ ทั้งในประเทศอังกฤษและในประเทศอื่นๆ ได้มีโอกาสพูดคุยด้วย  ทำให้ข้าพเจ้านึกสรรเสริญความเป็นคนอังกฤษ  ความฝันที่เป็นความสมถะแบบพอเพียง ไม่ใช่สิ่งฟุ้งเฟ้อหรือฟุ่มเฟือย   เป็นความรักที่จรรโลงโลก  เป็นความฝันที่เกื้อกูลโลก  พวกเขาคือคนสวนที่แท้จริง 
         ในปี 1993  สำนักงานสลากกินแบ่งแห่งชาติได้สถาปนากรรมการเฉพาะกิจขึ้นคณะหนึ่ง  ชื่อว่า The Millennium Commission (คณะกรรมการสหัสวรรษ)[9] เพื่อให้ทำหน้าที่แจกจ่ายรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่โครงการต่างๆในวาระส่งท้ายสหัสวรรษที่สองและต้อนรับสหัสวรรษที่สาม  จุดมุ่งหมายของคณะกรรมการนี้ คือให้เงินทุนสนับสนุนโครงการจากทุกมุมในประเทศ โครงการที่ประชาชนสนใจและต้องการ  จึงต้องเป็นโครงการเพื่อประชาชนในแต่ละถิ่นและในมุมมองระดับประเทศ  แต่ละโครงการเป็นเสมือนอนุสาวรีย์ที่สื่อความสำเร็จและจิตสำนึกร่วมกันของประชาชาติอังกฤษ พร้อมๆกับที่นำนาวาของชาติล่องไปสู่อนาคต   โครงการที่ได้รับเลือกมีตั้งแต่โครงการขนาดยักษ์ระดับโลกเพื่อพัฒนาและดึงดูดความสนใจในด้านการศึกษา ไปจนถึงโครงการสำหรับท้องถิ่นและโครงการส่วนบุคคล                   

        โครงการหนึ่งที่ได้รับเงินอนุเคราะห์จากคณะกรรมการสหัสวรรษนี้  คือ The Millennium Seed Bank ที่เป็น ธนาคารเมล็ดพืช  ธนาคารสุดพิเศษนี้ตั้งอยู่ที่ Wakehurst Place, Sussex  อยู่ในความดูแลและการบริหารของสวน Kew  นับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการจัดตั้งสถาบันแบบนี้  ธนาคารเมล็ดพืชนี้หมายมุ่งเพื่อ
๑) การอนุรักษ์พรรณไม้ 24,000 สายพันธุ์ที่มีในโลกมิให้สูญสิ้นลง  ด้วยการเก็บและรักษา 10% ของเมล็ดจากพืชพรรณที่มีกว่า 24,000 พันธุ์ในโลก และโดยเฉพาะจากพืชพรรณในเขตแห้งแล้งให้ได้ภายในปี 2010  
๒) การเก็บและรักษาเมล็ดพืชพรรณไม้ที่มีในอังกฤษปัจจุบันให้ได้ทั้งหมดภายในปี 2000 
๓) การศึกษา วิจัยและพัฒนากรรมวิธีทุกชนิดที่สามารถช่วยการเก็บเมล็ดให้ได้ผลดีและยาวนานที่สุด 
๔) การบริการเมล็ดพืชพรรณสำหรับการศึกษาวิจัยและการนำกลับไปปลูกใหม่ในธรรมชาติ 
๕) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการอนุรักษ์พืชพรรณไปทั่วโลก  ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าถึงเทคโนโลยีการเก็บเมล็ดพืชของอังกฤษ
๖) การธำรงและเผยแพร่ความสนใจในการอนุรักษ์พืชพรรณแก่ประชาชน 
๗) การสร้างสถานที่ทันสมัยและครบวงจร ให้เป็นศูนย์สำหรับกิจกรรมการอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ที่สุด   
         จนถึงวันนี้(ปี2006) การเก็บและรักษาเมล็ดของพืชพื้นเมืองของอังกฤษเอง สำเร็จลุล่วงไปแล้ว 94 เปอเซ็นต์ (เท่ากับจำนวนสามล้านเมล็ดที่ไม่เหมือนกัน)  ยังไม่เคยมีประเทศใดในโลกที่ดำเนินการเก็บพืชพื้นเมืองแบบนี้   ตอนนี้กิจกรรมของธนาคารเมล็ดพืชมุ่งไปที่การเก็บเมล็ดจากเขตแห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งของโลก โดยเข้าไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของแต่ละประเทศในเขตทุรกันดาร  เขตดังกล่าวรวมกันเป็นพื้นที่ถึงหนึ่งในสามของพื้นที่โลก และเป็นที่ตั้งของประเทศที่ยากจนมากที่สุดด้วย  ประชาชนในแถบนี้รวมกันเป็นหนึ่งในห้าของประชากรโลกด้วย   ข้อมูลนี้เพียงพอที่จะย้ำถึงความสำคัญของเขตนี้  ความแห้งแล้งทุรกันดารที่นับวันขยายอาณาเขตออกไป  มาจากความผิดพลาดของมวลมนุษย์เอง (ภาคกลางของประเทศไทยเราเอง ในอีกเพียงไม่ถึงร้อยปี ก็จะกลายเป็นทะเลทรายเช่นกัน)  อังกฤษได้สถาปนาองค์การเพื่อต่อสู้กับสภาวะที่พื้นที่โลกกลายเป็นทะเลทรายมากขึ้นๆทุกที (the Convention to Combat Desertification)  การออกไปเก็บเมล็ดในแถบนี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรีบทำก่อนถิ่นภูมิอากาศแบบอื่นๆ เพราะพืชพรรณสูญสิ้นลงไปเรื่อยๆ  เช่นนี้ธนาคารเมล็ดพืชของอังกฤษจึงพัฒนาเป็นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศ เช่นกับประเทศออสเตรเลีย อีจิปต์ อินเดีย เค็นยา มาดากัสการ เม็กซิโก แอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกา  ความร่วมมือระหว่างประเทศนี้ ยึดหลักการของ The Convention on Biological Diversity (องค์การเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายแห่งชีวภาพ) โดยเคารพและรักษาสิทธิประโยชน์ของประเทศเจ้าของพื้นที่และเข้าร่วมมือพัฒนายุทธวิธีเพื่อการอนุรักษ์ดังกล่าว  ให้มีการปันผลประโยชน์ในรูปของการเก็บเมล็ดเพิ่มเป็นสองส่วน (คืออนุญาตให้อังกฤษนำไปเก็บรักษาที่ธนาคารเมล็ดพืชด้วยส่วนหนึ่ง) การแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยีการเก็บเมล็ดและการฝึกผู้เชี่ยวชาญ   เช่นนี้เพื่อให้โครงการเมล็ดพืชพรรณสามารถยืนหยัดพัฒนาต่อไปตามเป้าหมายในระยะยาวไกลออกไปจากปี 2010                                                                
         โครงการธนาคารเมล็ดพืชนี้ได้รับเงินอุดหนุนจากคณะกรรมการสหัสวรรษเป็นจำนวนสามสิบล้านปอนด์ และได้รับเงินบริจาคอุดหนุนจาก the Wellcome Trust และจากองค์การ Orange plc.  เป็นโครงการงบประมาณ 80 ล้านปอนด์  ตัวธนาคารนี้ตั้งอยู่ในตึก the Wellcome Trust Millennium Building (WTMB)  ติดกับสวนของ Kew ที่ Wakehurst Place ในเทศมณฑล Sussex    เมล็ดพืชถูกเก็บจำแนกแยกแยะไว้ในส่วนของอาคารที่อยู่ใต้ระดับพื้นดิน ที่สร้างเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ใต้เพดานโค้ง (ระบุไว้ว่า สามารถนำรถบัสแดงสองชั้นของลอนดอนเข้าไปจอดภายในพร้อมกันได้สามสิบคัน)  ปรับอุณหภูมิสม่ำเสมอที่ -20° C   ทุกวันนี้มีเมล็ดพืชหลายล้านเม็ดเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว  อาคาร WTMB นี้ Stanton Williams เป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่แบบตึกสูงระฟ้า แต่เตี้ยๆกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศของ Wakehurst  ทั้งอาคารออกแบบให้อยู่ได้ด้วยการใช้พลังงานน้อยที่สุด และให้มีสภาพแวดล้อมภายในที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพืชพรรณ   นอกจากนี้ยังยืนยันกันว่า เป็นอาคารนิรภัยทานแรงระเบิดได้ และจะตั้งมั่นอยู่ได้ไม่ต่ำกว่าห้าร้อยปี   สวน Kew กล่าวด้วยความมั่นใจว่า  เมล็ดที่เก็บสะสมในแบบแช่แข็งแห้งนั้น จะสามารถรักษาคุณสมบัติและศักยภาพของชีวิตเมล็ดพืชไว้ได้นานสองร้อยปี  นอกจากการเก็บรักษาเมล็ดพืชพรรณแล้ว  ยังมีอุปกรณ์ที่ให้ความสะดวกครบครันเพื่อการวิเคราะห์วิจัยและการจัดเมล็ดพืชพรรณ  ในอาคารชั้นบนมีห้องนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์เมล็ดพืช และการสาธิตหน้าที่และจุดมุ่งหมายของธนาคารเมล็ดพืช   ห้องปฏิบัติการทดลองอยู่สองปีกของอาคาร เป็นห้องกระจก ทำให้ผู้ไปสามารถติดตามดูการทำงานของเจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์  ส่วนนิทรรศการเมล็ดพืชนั้น มีคำอธิบายทุกขั้นตอนอย่างละเอียดตั้งแต่วิธีการเก็บเมล็ดจากป่าจนมาถึงมือของธนาคาร แล้วที่นั่นทำอย่างไรกับมัน  ดูกระบวนการเก็บ การทนุถนอมเมล็ดแต่ละเมล็ด และทำไมต้องเก็บเมล็ดเหล่านั้นไว้สำหรับอนาคต 

         อีกโครงการหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงในที่นี้ คือการสร้างสวน Eden ขึ้นในเทศมณฑล Cornwall ภาคใต้ด้านตะวันตกของเกาะอังกฤษ โดยคณะกรรมการ Eden Trust ที่เป็นองค์การกุศลแห่งหนึ่งของอังกฤษ (ขึ้นทะเบียนหมายเลข 1093070)  มี Tim Smit เป็นผู้นำบริหารโครงการพร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆที่เกี่ยวข้อง   โครงการอีเด็น ต้องการสร้างตนให้เป็นองค์การเพื่อการพัฒนาสุขภาพทั้งของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม จากระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศและขยายออกไปถึงระดับนานาชาติ  ในขณะเดียวกันก็พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนด้านวิทยาการสื่อสารควบคู่กันไปด้วย  และเป็นศูนย์ศึกษาพืชพรรณที่พิเศษสุดสำหรับชาวโลก  อีเด็นเป็นฐานใหม่สำหรับอนาคต ในฐานะที่เป็นแหล่งศึกษาประเภทหนึ่ง  โครงการนี้ทำหน้าที่ของศูนย์ข้อมูล การสื่อสารและการติดต่อระหว่างทุกคน ระหว่างชีวิตทุกแบบ  สร้างระบบการเรียนรู้เพื่อนักเรียนระดับต่างๆจนถึงระดับอุดมศึกษา  มีนิทรรศการและรายการหลายประเภทที่เหมาะกับคนทุกวัย เหมาะกับความพร้อมทุกระดับ  จุดยืนของโครงการคือ การพยายามนำคนกลับสู่โลก เชื่อมโยงคนกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว สอนหรือฝึกให้คนสามารถธำรงชีวิตได้ในอนาคต  เชิญชวนให้ทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อทำความเข้าใจถึงฐานะและบทบาทของเราในธรรมชาติ  ด้วยการแสดงให้เห็นว่าในโลกนี้ยังมีอะไรเหลือสำหรับเราในอนาคต และกระตุ้นให้เราหาวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงที่จะช่วยจัดรูปแบบชีวิตของเราเอง  ชักจูงให้ไปหาคำตอบ  ความคิดหรือแรงบันดาลใจใหม่ๆ   ตอกย้ำให้รู้ว่า อีเด็นคือโครงการของทุกคน  ขอให้เข้าร่วม และคอยดูการเติบโตของมัน
         นิทรรศการที่สวนอีเด็นแบ่งออกไปตามทิศทั้งสี่  ใช้พืชพรรณเป็นฉากหลังประกอบการเล่าเรื่อง โดยมี
ทิศเหนือ (ใช้อักษรย่อว่า N จากคำ Natural) เป็นเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม
ทิศใต้ (ใช้อักษรย่อว่า S จากคำ Social) เรื่องราวของคนและสังคม
ทิศตะวันออก (ใช้อักษรย่อว่า E จากคำ Economics) เรื่องราวของการค้าและการทำเงิน
ทิศตะวันตก (ใช้อักษรย่อว่า W จากคำ Who decides?)  เรื่องราวของทางเลือก 
         ตัวอย่างหัวข้อนิทรรศการเช่น พื้นโลกวิวัฒน์อย่างไร  ดินคืออะไร มาจากไหน  น้ำคืออะไร มันทำอะไรให้โลก อากาศคืออะไร เกิดจากอะไร  ในที่สุดทุกอย่างนำไปสู่พืชพรรณที่เป็นกลจักรของโลกของเรา  พืชพรรณเป็นผู้ผลิต มันสร้างอาหารด้วยการกักรังสีแสงอาทิตย์ แล้วสังเคราะห์เข้ากับน้ำและคารบอนไดออกไซด์ เป่าลมชีวิตสู่โลกของเรา  พืชพรรณที่เราได้อาศัยทั้งดื่มและกิน ที่ทำให้โลกเย็นเมื่อร้อนเกินไป ทำให้อบอุ่นเมื่อหนาวเกินไป ที่เอื้อต่อทุกชีวิต พืชพรรณที่ขยายพันธุ์ออกไปโดยมิได้เคลื่อนจากตำแหน่งของมันเลย  แล้วคนเราเข้าแทรกในสภาพธรรมชาติดังกล่าวได้อย่างไรจึงจะไม่ทำลายสมดุลธรรมชาติ  นิทรรศการหัวข้อหลังนี้ใช้ต้นไม้เป็นฉากหลังเพื่อเล่าประวัติของมนุษยชาติ อธิบายวิถีของโลกและวิถีที่โลกควรจะเป็น  เล่าถึงประโยชน์ของพืชพรรณในฐานะที่เป็นอาหาร ยา เชื้อเพลิง และที่พักอาศัยและสิ่งคุ้มภัยของคน  จากเม็ดกาแฟถึงกางเกงยีน จากอาหารถึงเชื้อเพลิง จากของเล่นถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทุกประเภท  แม้สิ่งที่อยู่ในรถ ในกระเป๋า แผงข่าว ฟิล์มภาพ ลิปสติค ทั้งหมดมาจากพืช  การปลูกพืชผล เราต้องหาความสมดุลระหว่างการใช้และการอนุรักษ์พื้นดิน  นิทรรศการยังสื่อให้เข้าใจว่า พื้นที่ป่าธรรมชาตินั้นมีความสำคัญมากเสมอกัน  คนเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิต  นอกจากแสงแดด ไม่มีอะไรเพิ่มเข้าให้โลกหรือหลุดหายไปจากโลก แล้วทำไมเราจึงสูญเสียแหล่งทรัพยากรไปได้  หรือเป็นเพราะว่าคนใช้มันมากเกินไปหรือเร็วเกินไป  เราสร้างขยะมากเกินไปไหม ขยะที่เราอาจนำกลับมาใช้ใหม่  เราไปรบกวนวงจรอันสมดุลหรือเปล่า  ถ้าอย่างนั้นเราจะช่วยพยุงให้มันฟื้นขึ้นใหม่ได้ไหม  แล้วคนเราต้องการอะไร  นิทรรศการที่อีเด็นแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพืชพรรณกับคน สำรวจและสื่อสารความเป็นไปได้สำหรับอนาคตที่ยั่งยืน หาวิธีการอยู่ร่วมกันที่ดีที่สุดต่อทั้งคน พืชพรรณและโลก  โครงการอีเด็นยังมุ่งหาความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ชาติและนานาชาติ ด้วยการจัดพื้นที่สำหรับการแสดงผลงานของทุกฝ่าย  คนเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม  จึงต้องทำงานร่วมมือกับอนุภาคทุกส่วนของธรรมชาติ  อีเด็นเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นกลับคืนชีวิตใหม่(regeneration)   สวนอีเด็นปลูกขึ้นบนพื้นที่กร่อนเสื่อมไปแล้ว เป็นพยานที่แสดงให้เห็นว่าคนเรายังสามารถพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมทรามให้ดีขึ้นใหม่ได้  สร้างประกายความหวังใหม่
         ตัวอย่างผลงานที่มีมาอย่างสม่ำเสมอและไม่เคยลดละของสวนหลวงที่ Kew, ของราชสมาคมพืชพรรณ หรือของ The National Trust เป็นพยานของความรักพืชพรรณ รักธรรมชาติของชาวอังกฤษ ที่รัฐบาลและองค์การทุกแบบทุกประเภทได้ยอมรับและในที่สุดยึดเป็นอุดมการณ์การเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย  การที่ยังมีโครงการใหม่ๆเกิดขึ้น ดั่งเช่นกรณีของธนาคารเมล็ดพืชและกรณีของโครงการอีเด็นกับโครงการอื่นๆอีกจำนวนมากที่พัฒนาขึ้นแล้วหรือที่กำลังเร่งมือทำอยู่ในวาระขึ้นสหัสวรรษที่สามนี้  ยืนยันและจรรโลงค่านิยมอย่างสืบเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันเพื่ออนาคตของลูกหลานบนแผ่นดินของอังกฤษ   ข้าพเจ้าขอคารวะวิญญาณคนสวน ของชาวอังกฤษที่ปลูกฝังความรักพืชพรรณที่งอกเงยแบ่งบานเป็นร่มเงาให้มนุษยชาติ  กรณีอังกฤษจึงเป็นอุทาหรณ์ที่วิเศษสุด

สิ่งที่เราทำได้
         ในสวนอุทยาน el Parque del Retiro กรุงแมดริดในประเทศสเปน ได้จัดทำสวนอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตจากระเบิดรถไฟพร้อมกันสามแห่งในเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 เดือนมีนาคม 2004แทนการจัดสร้างรูปแบบประติมากรรมอื่น ทางการจัดให้มีการปลูกต้นไซพรัสเท่าจำนวนผู้เสียชีวิต รวมกันเป็นหย่อมสวนใหม่ในอุทยานใหญ่ที่สุดของเมืองหลวง  นับเป็นอนุสรณ์สถานที่มีความหมายและเหมาะกับวิกฤตกาลสมัยปัจจุบันยิ่งนัก  นอกจากเป็นการเพิ่มจำนวนต้นไม้บนแผ่นดิน เพิ่มจำนวนออกซิเจนในอากาศหรือสร้างความร่มรื่นแก่แผ่นดิน ต้นไม้แต่ละต้นนั้นเหมือนความหวังของมนุษย์  จะมีชีวิตยืนนานหลายร้อยปีจนถึงพันปีด้วยซ้ำ  ต้นไม้จึงต่อชีวิตทั้งผู้ตายและผู้อยู่  การสร้างสรรค์แบบนี้ดียิ่งกว่าอนุสาวรีย์แบบอื่นใดที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา และที่กลายเป็นที่เกาะและเป็นฐานรองรับมูลของนกพิลาปดังที่เห็นตัวอย่างหลายแห่งในอิตาลี 
        ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนค่านิยมบางอย่างแล้ว  ถึงเวลาที่เราต้องหันมาสนใจสวนและพืชพรรณอย่างจริงจัง  เรามาทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้กันเถอะ   


                     
บรรณานุกรมอ้างอิงและที่น่าสนใจ
AYMES, Michael. A Glossary of Garden History. Great Britain, Buckinghamshire : Shire Publications Ltd. 1993.
BAKER, Margaret. Discovering the Folklore of Plants. Buckinghamshire : Shire Publications Ltd. UK.2001.

BROMLEY, G & MAUNDER M. Royal Botanic Gardens, Kew. London : HMSO, Board of Trustees. 2nd impression 1994.
BRICKELL, Christopher & ZUK Judith D. Editors-in-chief. A-Z Encyclopedia of Garden Plants. The American Horticultural Society. New York : DK Publishing, Inc. 1997.

HOBHOUSE, Penelope. Plants in Garden History. London : Pavilion Books Limited. Paperback edition published in 1997.

PIETRI, Luce & VENARD, Marc . Le monde et son histoire, la fin du Moyen Age et les débuts du monde moderne du XIIIe siècle au XVIIe siècle.

QUEST-RITSON, Charles. The English Garden - A Social History. London : Penguin Books. 2001.

STEVENS, David & BUCHAN Ursula. The Royal Horticultural Society GARDEN Book. London : 2001.

SYMES, Michael. A Glossary of Garden History. Buckinghamshire : Shire Publications Ltd. UK. 1993.

ZUYLEN, Gabrielle van. Tous les jardins du monde. Paris : Découvertes Gallimard, no. 207. 1994.

รายชื่อเว็บไซต์ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างแหล่งความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณที่สามารถเปิดเข้าไปอ่านรายละเอียดข้อมูลต่างๆที่มีมากมาย และเปิดออกไปเป็นเครือข่ายสู่เว็บไซต์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ต้นไม้ ดอกไม้ พืชผักจนถึงแมลงหรือหนอนเป็นต้น
www.rhs.org.uk
www.kew.org.uk
www.horticulture.org.uk
www.letsgogardening.co.uk
www.edenproject.com
www.PlantExplorers.com



[1] ในบทเขียนนี้  เราเจาะจงความแตกต่างในการใช้คำ พรรณ ในคำ พืชพรรณและคำ พันธุ์ เช่นในคำพันธุ์ไม้(อะไรต่ออะไร) เป็นต้น   เราใช้คำ พืชพรรณ ในความหมายกว้างๆว่าเป็นสิ่งมีชีวิตในโลกของพืช ไม่ว่าชนิดใดทั้งที่เป็นต้นไม้ ดอกไม้ หรือพืชที่ให้อาหาร หรือหญ้า ทั้งที่ขึ้นในน้ำและที่ขึ้นบนบกเป็นต้น  ส่วนคำ พันธุ์ ต้องการเน้นความหมายแยกแยะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพืชแต่ละตระกูล แต่ละชนิด และความสามารถในการสืบทอดเอกลักษณ์นั้นต่อไป
 [2] สวนดอกไม้ในยุคกลางมีขนาดเล็ก เรียกกันว่า herber สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความหมายของ แม่นาง (และในที่สุดความนัยของคำ ผู้หญิง)  ดังที่ปรากฏกล่าวถึงในคัมภีร์เก่าและใหม่ เช่น แม่นางเป็นสวน
[3] . ตอนนั้นมีทางเลือกสองทางคือเดินเรืออ้อมทวีปอัฟริกา  หรือเดินเรือข้ามมหาสมุทรอัตลันติคไปทางตะวันตกเรื่อยๆด้วยความหวังจะถึงตะวันออก(ในเมื่อเชื่อแล้วว่าโลกกลมตามทฤษฎีใหม่ของโคเปรนิก, Nicolaj Kopernik,1473-1543)   เพราะฉะนั้นการค้นพบเส้นทางสู่อินเดียด้วยการอ้อมทวีปอัฟริกาของนักเดินเรือชาวปอรตุเกส Vasco da Gama (1469-1525) กับการค้นพบทวีปใหม่ของ Christopher Columbus (1451-1506) เหมือนเขื่อนกั้นน้ำที่พังลง สร้างความกระตือรือร้นแก่นักเดินเรือ   ทุกประเทศมุ่งส่งกองเรือออกสำรวจเส้นทางสู่โลกกว้าง และย้อนกลับไปอ่านบันทึกความมหัศจรรย์ของโลกที่มารโคโปโลเขียนไว้ตั้งแต่ปี1298  เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า รายละเอียดที่มารโคโปโลให้ไว้ มีความถูกต้องแม่นยำทั้งทางภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ศึกษา  
 [4] William Turner (นักธรรมชาติวิทยามีชีวิตอยู่ในศต.ที่สิบหก คนละคนกับ Turner ที่เป็นจิตรกรชาวอังกฤษซึ่งเกิดในศต.ที่สิบแปด) ได้ไปเรียนวิชาแพทย์ที่อิตาลี  ได้รับสมญานามว่าเป็น บิดาแห่งพฤกษศาสตร์อังกฤษ  ในหนังสือ A New Herball (sic.1551) ของเขา มีภาพพิมพ์จากแผ่นไม้แกะของพืชพรรณต่างๆประกอบ ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชพรรณบางอย่างทั้งผลไม้และดอกไม้ในยุคนั้น  นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงการสะสมตัวอย่างพืชที่นำมาตากแห้ง นำมาแปะติดแผ่นกระดาษแล้วเข้าเป็นเล่มๆ (herbarium) โยงไปถึงเล่มของ John Falconer ที่เป็นหนึ่งในเล่มแรกๆในอังกฤษ
 [5] John Tradescant  (1570-1638 ผู้พ่อ, และ1608-62 ผู้ลูก)  ทั้งพ่อและลูกช่วยพัฒนาการปลูกพืชพรรณไม้ในอังกฤษมากกว่าผู้ใดในศตวรรษที่17  ตั้งแต่ปี 1630  ผู้พ่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสวนหลวงที่พระราชวัง Oatlands ของพระนางเจ้า Henrietta Maria   หนึ่งปีก่อนถึงแก่กรรม Tradescant ผู้พ่อกำลังวางผังสวนพฤกษศาสตร์ของเมือง Oxford อยู่   Tradescant ผู้ลูกรับตำแหน่งดูแลสวนหลวงประจำพระราชวังต่อจากบิดา  และได้เพิ่มพูนพืชพรรณในสวนส่วนตัวของเขาด้วยพืชพรรณที่ได้จากบริษัท Virginia Company   ในยุคนั้นสวนของ Tradescant  เป็นจุดศูนย์กลางของ Ashmolean Museum ในเมือง Oxford   ต่อมาในยุคหลังมีการสถาปนา Tradescant Society และบูรณะ St Mary’s Church ที่ตั้งสุสานของตระกูล รวมเข้ากับการก่อตั้ง  Museum of Garden History  จรรโลงความสำคัญของตระกูล Tradescant ในประวัติพฤกษศาสตร์ของอังกฤษ
[6] Dr. Nathaniel Bagshaw Ward (1791-1868) เป็นแพทย์อยู่ที่ลอนดอน  ลอนดอนในยุคอุตสาหกรรม (สถิติจากประวัติศาสตร์ระบุว่าประเทศอังกฤษในปี 1800 เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก และเจริญขึ้นอีกเรื่อยๆตั้งแต่นั้น) และมีบ้านอยู่ในแถบตะวันออกของลอนดอน  ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบเจ็ดนครลอนดอนเป็นที่รวมโรงงานโดยเฉพาะโรงงานผลิตผ้า เครื่องเรือน คนงานเกือบทั้งหมดไปรวมอยู่ในแถบตะวันออกของเมือง  ในที่สุดจึงกลายเป็นแหล่งที่รวมคนจนและคนตาย (สถิติระบุว่า อายุเฉลี่ยของคนตายคือ 16 และ 50% ของคนตายในปี 1840 เป็นเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ)  เพราะเป็นหลุมสะสมมลภาวะแบบต่างๆด้วย  และแฉสภาพชีวิตอันเลวร้ายของชนชั้นกรรมกรที่เป็นหนึ่งในจุดด่างดำของการปฏิวัติอุตสาหกรรม  Ward สนใจกีฏวิทยา(ศึกษาเกี่ยวกับแมลง) และชอบทำสวนเฉกเช่นคนอังกฤษผู้มีอันจะกิน  เขาพยายามปลูกต้นเฟิร์นในสวนของเขา แต่ต้นเฟิร์นตายลงเป็นส่วนใหญ่ เพราะสภาพอันเลวร้ายของอากาศเหนือนครลอนดอน ในราวปี 1829 เขาได้ทดลองนำดักแด้ใส่ลงในขวดโหลที่จัดให้มีสภาพธรรมชาติที่ดักแด้จะเติบโตเป็นผีเสื้อได้แล้วปิดขวดแน่นสนิท ไม่มีบันทึกเล่าถึงตัวดักแด้นั้นว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร  แต่เล่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขวดโหลว่า  ไม่นานต่อมา หมอ Ward สังเกตเห็นต้นเฟิร์นเล็กๆและหญ้าอ่อนๆโผล่ขึ้นจากดินที่ก้นขวดโหล  หมอเกิดความอยากรู้อยากเห็นอย่างจริงจังว่าเฟิร์นอ่อนๆนั้นจะมีชีวิตรอดนานแค่ไหนในขวดโหลปิดแน่นนั้น  และนั่นเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของศตวรรษที่สิบเก้าเลยทีเดียว เป็นจุดหักเหที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและพฤกษศาสตร์อย่างมากมายตั้งแต่นั้นมา 
         การปลูกพืชและการขนส่งพืชภายใต้กระจก มิใช่เป็นสิ่งใหม่ แต่การสร้างสภาพแวดล้อมธรรมชาติภายในตู้กระจกปิดแน่น ทำให้สภาพภายในนั้นหลุดพ้นจากอิทธิพลของบรรยากาศภายนอก  นี่เป็นก้าวใหม่ที่มาช่วยพัฒนาวิทยาการของการสะสมพืชพรรณและการทำสวน  หมอ Ward ได้จ้างช่างไม้สร้างตู้กระจกโครงไม้เนื้อดีที่สามารถปิดได้แน่นสนิท เป็น Terrarium (Wardian case) สองตู้แรกของโลก  ในปี 1833 หมอทดลองครั้งสำคัญ ด้วยการปลูกต้นเฟิร์นและหญ้าพื้นเมืองของอังกฤษไว้ข้างใน ปิดตู้แน่นสนิทแล้วส่งไปยังเมือง Sydney ประเทศออสเตรเลีย  ตู้ทั้งสองตั้งบนดาดฟ้าเรือเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลอยู่หกเดือนกว่าจึงถึงออสเตรเลีย  ปรากฏว่าพืชภายในตู้ทั้งสองยังมีชีวิตและเจริญเติบโตดีด้วย  หมอสั่งให้คนที่ปลายทางจัดการเอาพืชที่ส่งไปออก ล้างตู้ให้สะอาดแล้วนำพืชพรรณปลูกติดดินของออสเตรเลียใส่เข้าไปแทนแล้วส่งกลับไปอังกฤษกับเรือ (1835) เดินทางฝ่าลมพายุและอันตรายทุกรูปแบบในทะเลตลอดแปดเดือนกว่าจึงถึงลอนดอน  หมอ Ward ในที่สุดได้เห็นพืชพรรณจากออสเตรเลียที่ขึ้นงาม สดๆเหมือนอยู่ในถิ่นเดิมของมัน ความสำเร็จครั้งนี้เหมือนปาฏิหาริย์
         นั่นเป็นครั้งแรกที่พืชพรรณสามารถเดินทางไกลตลอดระยะเวลาอันยาวนานจากมุมหนึ่งของโลกสู่อีกมุมหนึ่งของโลก  ก่อนหน้านั้น พืชพรรณที่นำมาจากต่างแดน 90% ตายไปเมื่อไปถึงอังกฤษ  กับตู้กระจกแบบนี้ 90% รอดตายและเติบโตใหม่แข็งแรงในอังกฤษ   ตั้งแต่นั้นมาทั้งประเทศอังกฤษเริ่มคลั่งไคล้พืชพรรณต่างแดนและโดยเฉพาะพันธุ์เฟิร์นที่ขึ้นได้งามภายในร่มที่กำบังลม  ตู้กระจกง่ายๆแค่นี้เอง ทำให้การขนส่งพืชพันธุ์จากมุมหนึ่งของโลกสู่อีกมุมหนึ่งเป็นไปได้  ทำให้นักพฤกษศาสตร์มีโอกาสพินิจพิเคราะห์พืชพรรณจากต่างแดนได้อย่างชัดเจนที่ปลายนิ้วมือ  การศึกษาค้นคว้าเชิงวิทยาศาสตร์พืชพรรณพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว   อุปกรณ์ง่ายๆชิ้นนี้นำไปสู่การพัฒนาการเพาะปลูกบนเวทีนานาชาติ  เปลี่ยนโฉมหน้าของการค้าไปทั่วโลกอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ  ตัวอย่างเช่น Joseph Hooker ผู้เป็นคนแรกๆที่ใช้ตู้กระจกแบบนี้ขนส่งพืชพันธุ์ใหม่ๆจากออสเตรเลียมาให้สวน Kew.  Robert Fortune (1812-1880) ใช้ตู้แบบนี้ ขนส่งต้นชาสองหมื่นต้นจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ไปยังแคว้นอัสสัมในอินเดีย  สถาปนาอุตสาหกรรมผลิตใบชาในอินเดีย ทุกวันนี้ อินเดียกลายเป็นผู้ผลิตใบชาคุณภาพดีที่สุดในโลกหลายชนิด  มีการนำพันธุ์กล้วยจากจีนไปปลูกที่เกาะฟิจิในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้  พันธุ์ไม้ประดับจำนวนมากที่ชาวอังกฤษปลูกอย่างคุ้นเคยในปัจจุบันและโดยเฉพาะกล้วยไม้  ได้อาศัยตู้กระจกแบบนี้นำพันธุ์เข้าไปในอังกฤษ และเพาะให้เติบโตภายในตู้แบบนี้ ก่อนที่จะสร้างเป็นเรือนกล้วยไม้กระจก   ต้นยางจากบราซิล (Pará rubber) เดินทางโดยสวัสดีถึงสวน Kew แล้วยังถูกส่งต่อไปปลูกที่มาเลเซียและที่เกาะลังกา  ทำให้อังกฤษสถาปนาอุตสาหกรรมยางบนดินแดนอาณานิคมได้สำเร็จ ที่จะนำผลประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่ออังกฤษในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง  นอกจากยางยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆอีกเช่น กล้วย กาแฟ มะนาว โกโก้ และวานิลา ที่พัฒนาขึ้นเป็นไร่ขนาดใหญ่ๆ  เปลี่ยนโฉมหน้าของผิวโลกไปโดยสิ้นเชิง  ตู้กระจกเล็กๆง่ายๆนั้น จึงเป็นนวัตกรรมสำคัญของมนุษยชาติทีเดียว
 [7] Hooker และ Charles Darwin เป็นเพื่อนสนิทกันตลอดชีวิต  มักพบปะเปรียบเทียบการค้นพบ ความคิดของกันและกันในขณะที่ต่างฝ่ายต่างกำลังค้นหาทฤษฎีเกี่ยวกับพืชพรรณ โดยที่ Hooker ศึกษาในด้านการกระจายของสายพันธุ์ และ Darwin ศึกษาด้านวิวัฒนาการของสายพันธุ์
 [8]  ในหมู่บาทหลวงที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในประเทศจีน  มีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เป็นนักพฤกษศาสตร์รวมอยู่ด้วย  เป็นผู้มีส่วนพัฒนาความรู้ด้านพืชพรรณที่มีในประเทศจีน  การเผยแพร่ศาสนาที่นั่นไม่มีผลอะไรมากนัก  คณะมิชชั่นนารีมิได้ประสบความสำเร็จนักในการเผยแพร่คำสอนของพระเจ้า  หน้าที่ของบาทหลวงจึงเบนไปสู่การสอนเทคนิคและเลขคณิตที่คนจีนนำไปใช้พัฒนาวิถีการครองชีวิตมากกว่า  และเมื่อมีเวลา เหล่าบาทหลวงจึงสำรวจพืชพรรณและสัตว์ของท้องถิ่นและส่งกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ปารีส  เปิดศักราชของการสำรวจพืชพรรณไม้ในประเทศจีน  บาทหลวงสำคัญในบริบทนี้เช่น Père Jean Pierre Armand David (1826-1900), Père Jean Marie Delavay (1834-1895), Père Paul Guillaume Farges (1844-1912) บาทหลวงทั้งสามคนนี้มีความรู้ด้านพฤกษศาสตร์อย่างไม่มีใครเทียบเท่า และได้นำพืชพรรณและสายพันธุ์ค้นพบใหม่ๆจากประเทศจีนสู่ฝรั่งเศส ทำให้คลังสะสมในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ปารีสกลายเป็นศูนย์พรรณไม้ที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป
[9]  The Millennium Commission (คณะกรรมการสหัสวรรษ)  รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ตั้งและวางระเบียบการต่างๆของคณะกรรมการ  แต่การดำเนินงานและการพิจารณาตัดสินเลือกสนับสนุนโครงการใดนั้นเป็นของคณะกรรมการชุดนี้เท่านั้น  มีเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาอีกคณะหนึ่ง (the Commission staff) ที่คอยช่วยเหลือให้การพิจารณาคัดเลือก การมอบหมายเงินทุนแก่โครงการและการติดตามดูการพัฒนาของโครงการที่ได้รับการคัดเลือก  เจ้าที่ทุกคนและคณะกรรมการจึงติดตามความคืบหน้าของแต่ละโครงการตลอดเวลา   เงินทุนของคณะกรรมการสหัสวรรษนั้นเป็นเงินรายได้จากสลากกินแบ่งระหว่างปี 1994-2001  รวมเป็นจำนวนเงินกว่าสองพันล้านปอนด์  การติดตามดูพัฒนาการของโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนยังคงมีต่อมาจนถึงปี 2006  หลัง
จากนั้นคณะกรรมการชุดนี้ก็จะสลายตัวลง   งานตรวจสอบติดตามโครงการใดที่ยังไม่ลุล่วงแล้วเสร็จ  ตกเป็นหน้าที่ของ Big Lottery Fund (สำนักกองทุนใหญ่แห่งการสลากกินแบ่ง)  โครงการที่ได้รับเลือกมีตั้งแต่โครงการเพื่อการศึกษาระดับโลก ไปจนถึงโครงการสำหรับท้องถิ่นและโครงการส่วนบุคคล  ปรากฏมีโครงการต่างๆสมัครเข้าขอรับเงินสนันสนุนมากกว่า 215 โครงการ  กระจายไปตามที่ต่างๆในอังกฤษประมาณ 3000 แห่ง   คณะกรรมการสหัสวรรษมิได้มีเงินเพียงพอสำหรับทุกโครงการ  เงินสนับสนุนที่แต่ละโครงการจะได้นั้นจึงเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของวงเงิน  เจ้าของโครงการจะต้องหาเงินเพิ่มเติมเอง ผลปรากฏว่า เงินช่วยจากสลากกินแบ่งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้การพัฒนาโครงการก้าวรุดหน้าออกไปอย่างแท้จริง  ในมุมมองโดยรวมแล้ว โครงการทั้งหมดที่ได้รับเลือก ได้สร้างสรรค์ของกำนัลอย่างน้อยหนึ่งอย่างสำหรับชาวอังกฤษทุกคนทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อม  และเปิดเป็นเครือข่ายกิจกรรมอันหลากหลายที่ทุกคนสามารถไปหาความสำราญตามแนวโปรดแนวถนัดของตนเอง  โครงการที่จัดทำขึ้นคลุมแขนงต่างๆทั้งหมดแปดสาขาคือ ๑) สาขาศิลปะและวัฒนธรรม   ๒) สาขาธรรมชาติ สวนและเรือนกระจก  ๓) สาขาพื้นโลก อวกาศและสิ่งมีชีวิต  ๔) สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ๕) สาขาชีวิตสัตว์ป่า  ๖) สาขามรดกของอังกฤษ  ๗) สาขาสเตเดียม(เพื่อการกีฬา)  และ ๘) สาขาเส้นทางน้ำ  ทางเดิน และทางจักรยาน
-------------------------------------------------
เมนูหนังสือ ประมวลความรู้จากศัพท์อุทยานศิลป์
https://chotirosgardenterms.blogspot.com/2018/06/mygardenbook-menu.html

2 comments:

  1. ขอบคุณมากค่ะโช ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะ น่าสนใจมาก เราเป็นประเภทชอบชื่นชมต้นไม้ดอกไม้ แต่ไม่เคยศึกษาเรื่งพฤกษศาสตร์เลย อาศัยเรียนรู้ผ่านบทความของโชค่ะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ดีใจที่มีคนอ่าน และเห็นประโยชน์ ขอบคุณค่ะ

      Delete