Tuesday, 2 September 2014

ศิลปะประดับความตาย 6 - สุสานแนวใหม่ในตะวันตกปัจจุบัน


สุสานศิลป์ในสังคมปัจจุบัน

               ตั้งแต่ศตวรรษที่19  สุสานทั้งหลายตามเมืองใหญ่ๆ ไม่มีที่เหลือสำหรับผู้ตายรุ่นหลังๆ  เมืองใหญ่ๆในยุโรปหันไปจัดสร้างสุสานขนาดใหญ่นอกเมือง  คนรวยเนรมิตสุสานของตระกูลเป็นอาคารหลังหนึ่งเหนือหลุมศพ  ในขณะที่สามัญชนทั่วไปยังคงใช้แผ่นหินแบบเรียบประดับเหนือหลุมศพ  บางคนหันไปใช้โลงศพที่ดูเหมือนหินแต่เป็นหินปลอม  ในอิตาลีโดยเฉพาะความหลงใหลในความหรูหราของหลุมศพที่ต้องมีรูปปั้นจำนวนมากเพื่อหน้าตานั้น เกินหน้าชาติยุโรปอื่นๆ  ประติมากรรมสุสานในอิตาลีมีศักดิ์ศรีและสถานะทางศิลปะสูงเคียงบ่าเคียงไหล่ศิลปะแขนงอื่นๆโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่20   ศิลปินผู้เนรมิตประติมากรรมประดับสุสานได้รับยกย่องเสมอศิลปินชั้นนำของสังคม   อนุสาวรีย์สุสานจึงเป็นศิลปะแนวหน้าและพัฒนาไปตามแนวโน้มของระบบสุนทรีย์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โอบอุ้มคติสัญลักษณ์นิยมอย่างเต็มที่  ต่อมาหยุดชะงักลงเมื่อเกิดกระแส อารต์นูโว(Art Nouveau) และกระแสอารต์เดโก (Art Deco)   ตั้งแต่นั้นมา เมื่อใดที่มีการนำศพเข้าไปเก็บในวัด บริเวณนั้นมีการทำหน้าต่างกระจกสี (stained glass windows) ที่มีเนื้อหาจากศาสนา พร้อมภาพลักษณ์บางอย่างเกี่ยวกับผู้ตาย ประดับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าต่างกระจกสีนั้น  ส่วนอนุสรณ์เกี่ยวกับสงครามใด มักไปตั้งอยู่ที่ณสถานที่จริงจนถึงศตวรรษที่ 19  และเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง  มีการไปจัดทำอนุสาวรีย์ให้เป็นอนุสรณ์วีรกรรมณ ตำบลหรือหมู่บ้านของประเทศคู่สงครามด้วย

      ปัจจุบัน รูปลักษณ์ต่างๆที่ประดับหลุมศพ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  แต่ยังมีที่ใช้ไม้กางเขนประดับเท่านั้น เพราะคงจะเป็นแบบที่ถูกที่สุด สะดวกที่สุด ที่มีขายทั่วไปพร้อมใช้ได้ทันที  แบบเรียบง่ายแต่ยังคงสื่อความผูกพันกับคริสต์ศาสนา หรือความเชื่อและศรัทธาในพระเจ้า เพราะเมื่อถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต ทุกคนตระหนักแน่นอนแล้วว่า ไม่มีผู้ใดช่วยเขาได้ มีแต่สิ่งที่เหนือกว่าคนที่ยังพอจะให้ความหวัง หรือปลอบใจเขาให้สงบได้ในนาทีสุดท้าย

           สิ่งประดิษฐ์หรือรูปลักษณ์ใดที่เนรมิตขึ้นในยุคปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะออกจากภูมิหลังของศาสนา  มิได้เน้นความศรัทธาในพระเจ้าแล้ว  แต่เน้นเอกลักษณ์ของปัจเจกบุคคล สิ่งที่ผู้ตายเคยทำ เคยเป็น เคยพูด เคยหวัง บางรายอาจมีอะไรที่โยงไปถึงพระเจ้าบ้าง  แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความต้องการจรรโลงความดีของผู้ตาย สิ่งที่เขาเคยทำ  ตรึงความทรงจำดีๆเกี่ยวกับผู้ตายเพื่อญาติหรือผู้ที่ยังมีชีวิต  มากกว่าการบันทึกความหวังให้ผู้ตายไปดีไปสวรรค์ เป็นต้น

               ในมหกรรมพืชสวนโลกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2002 (ใช้ชื่อเรียกว่าฟลอรีอ้าดเดอะ - Floriade 2002) ที่เมืองอ้าเล็มเมอมี้ร์ (Haarlemmermeer)นั้น  มิได้เกี่ยวกับการแสดงพืชสวน ต้นไม้ดอกหรือการออกแบบสวนเท่านั้น แต่ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองจนถึงขั้นวิกฤต  นอกจากสวนแบบต่างๆที่นานาประเทศไปจัดเสนอเป็นตัวอย่างการปลูกสวนและพืชพรรณในประเทศนั้นๆ   ที่ดึงดูดความสนใจของเราเป็นพิเศษ คือนิทรรศการที่ตั้งชื่อไว้ว่า สวนแห่งสุดท้าย (The Last Garden) มีข้อความระบุเจาะจงวิสัยทัศน์ของการจัดนั้นว่า 
ระบบการบริหารสุสานในเนเธอแลนด์ ได้ให้ความสำคัญต่อการสื่อความเศร้าโศกและการหวนรำลึกถึงผู้ตายเสมอมา ที่เป็นแนวทางในการออกแบบหินอนุสรณ์เพื่อประดับหลุมฝังศพ  แนวทางที่เคยทำกันมา ค่อยๆเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  สวนแห่งสุดท้าย เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ค่านิยมส่วนตัวของครอบครัวผู้เสียชีวิตและสถาปัตยกรรมสุสานอาจรวมกันเป็นเอกภาพได้อย่างลงตัว   ในภาพรวมนิทรรศการนี้เป็นเสมือนบทเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยของวิธีที่คนเผชิญหน้ากับความตาย ในระดับส่วนตัวของแต่ละคน ที่บันทึกความรู้สึกสนิทชิดเชื้อส่วนตัว ด้วยการนำสัญลักษณ์โบราณ ยุคคลาซสิกหรือสมัยใหม่  มาแสดงออกในวัสดุธรรมชาติ
            นิทรรศการ สวนแห่งสุดท้าย ต้องการดึงความสนใจสู่บทบาทหลักของสุสานและสิ่งอนุสรณ์ต่างๆในสังคม  นำเสนอวิวัฒนาการของการออกแบบ การก่อสร้างและการบริหารสุสาน ทั้งยังแนะความคิด มุมมองและแนวทางรังสรรค์ใหม่ๆที่อาจทำได้ในปัจจุบัน ที่ตอบสนองความต้องการส่วนตัวของผู้ตายและของญาติผู้ตาย เพื่อให้หลุมฝังศพแต่ละรายเป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างแท้จริง ที่สะท้อนจุดยืน ความปรารถนา ความฝันของผู้จากไป แทนการกลบความเป็นเอกบุคคลให้หมดไปเป็นผงดิน  เพราะแม้ว่าชีวิตคนจะสั้น แต่หลุมศพนั้นจะคงอยู่ต่อไปที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้จากไปแก่ผู้ที่ผ่านไปเห็น  ใช้ศิลปะอนุรักษ์ความทรงจำเกี่ยวกับผู้จากไป เพราะทุกชีวิตที่เกิดมามีความหมาย  เพราะแต่ละคนนำชีวิตส่วนตัวเข้าไปเติมเต็มความหมายของสุสานและยกระดับความตายขึ้นเป็นความงามหรืออย่างน้อยเป็นความสงบสันติประดับโลก   หินธรรมชาติที่นำมาประดับเหนือหลุมศพ บวกกับการรู้จักจัดพื้นที่เขียวภายในสุสานให้งามสมดุล อาจเสริมสร้างเอกภาพและเสริมความหมายของสุสานในฐานะที่เป็นสวนแห่งความทรงจำของสังคม
ตัวอย่างการจัดสุสาน ที่นำออกแสดงในชื่อว่าสวนแห่งสุดท้าย ในงานมหกรรมพืชสวนโลก ฟลอรีอ้าดเดอะ - Floriade 2002 ที่ประเทศเนเธอแลนด์  แทนการแบ่งพื้นที่ออกเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม และการฝังศพที่เรียงกันเป็นหน้ากระดาน  ผู้ออกแบบเสนอการจัดพื้นที่สุสานแบบวงกลม ที่สอดคล้องกับคติการหมุนเวียนของเวลา และในเชิงเปรียบการเข้าไปเดินในสุสานแบบนี้อาจเป็นการเดินเวียนหรือเดินทวนเวลาได้พาจินตนาการของเราไปในอนาคตหรือหวนกลับไปในอดีตกาล  ลักษณะพื้นที่วงกลมแบบนี้ มีส่วนช่วยเกลี่ยความรู้สึกรุนแรงที่อาจเกิดจากกับการสูญเสียบุคคลที่ใกล้ชิดไป  หรือโดนใจให้ดำเนินชีวิตของตนต่อไปในทางที่กลมกลืนกับธรรมชาติของคนและของโลก


ตัวอย่างการเนรมิตแผ่นหินประดับเหนือหลุมศพที่ออกนอกแนวการสร้างสรรค์ในอดีต  เช่นที่เห็นในภาพนี้ ดอกไม้ตูมสีขาวสะอาด โผล่ออกจากแผ่นหินที่ดูเหมือนแตกแยกออกเป็นสองซีก เพราะพลังชีวิตของดอกไม้  ศิลปินเสนอสีขาวของดอกไม้ที่เติบโตแบ่งบานและแบ่งแยกหินสีดำ แนะให้คิดไปในด้านบวก   ถัดไปทางซ้ายแผ่นหินที่วางเหนือหลุมศพที่เห็นขวดหมึกคว่ำลง น้ำหมึกไหลออกมา มีปากกาวางอยู่ข้างๆ  ศิลปินอาจต้องการบอกว่าผู้ตายเป็นนักเขียน หรือแนะให้คิดไปได้อีกว่า ชีวิตนั้นมีค่าควรแก่การบันทึกไว้เป็นต้น  (ภาพจากสวนแห่งสุดท้าย ใน Floriade 2002)

ภาพอีกตัวอย่างหนึ่งของประติมากรรมเหนือหลุมศพ  แนะให้คิดว่า ความตายมิใช่เป็นจุดจบของชีวิต เหมือนสรรพชีวิต ร่างกายที่เน่าเปื่อยกลายเป็นผงดิน ยังอาจเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตในรูปแบบอื่นอีกมากมายลึกลงไปในดิน  เช่นนี้ ต้นไม้เติบโตโผล่ขึ้นเหนือดินและมีพลังอำนาจของชีวิตใหม่ต่อๆไป  และเข้าสู่วัฏจักรของชีวิตบนโลก (ภาพจากสวนแห่งสุดท้าย ใน Floriade 2002)

          ตั้งแต่นั้นมา มีการจัดนิทรรศการในแนวนี้ ในประเทศอื่นๆเช่นเยอรมนีในมหกรรมพืชสวนประจำปี เช่นงาน Bundesgartenschau ปี 2011 ที่เมืองโคเบล็นส์ (Koblenz)  (ส่วนที่เป็นนิทรรศการสุสาน ใช้ชื่อว่า  Grabgestaltung und Denkmal หรือ Der Memorian-Garten)  นอกจากรูปแบบสถาปัตยกรรมสุสาน ยังได้เสนอการใช้ต้นไม้ดอกไม้ประดับหลุมฝังศพและสุสาน เพราะต้นไม้ ดอกไม้ มีเรื่องเล่ามีตำนานที่เป็นภูมิหลังร่วมกันในจิตสำนึกชาวตะวันตก  เช่นกรณีของดอกแพนซีที่นำมาใช้ในการประดับสุสานได้อย่างมีความหมาย
พื้นที่เหนือหลุมศพอาจเป็นที่สำแดงศิลป์ได้ดังตัวอย่างในภาพนี้  พื้นที่แปลงเล็กนี้จัดออกมาแล้ว สวยเหมือนการจัดแสดงภูมิทัศน์ขนาดย่อม  พื้นที่โดยรอบก็เหมือนทางเดินในสวน  เน้นอย่างชัดเจนว่าสุสานควรสร้างให้เป็นสวนแบบหนึ่ง ที่ผู้ไปเยือนได้ผ่อนคลายธรรมชาติในตัวคนในธรรมชาติของโลกและชีวิต  ภาพจากงานมหกรรมสวนประจำปี 2011 ที่เมืองโคเบล็นส์ (Koblenz) ประเทศเยอรมนี

อีกตัวอย่างหนึ่งของการจัดพื้นที่เหนือหลุมศพ  ศิลปะการจัดและการออกแบบ เปลี่ยนหลุมศพให้เป็นงานประติมากรรมแบบหนึ่ง ที่น่าจะเป็นความสุขความพอใจของผู้จากไปด้วย  ดอกไม้สีๆที่นิยมนำมาประดับเหนือหลุมศพ คือดอกแพนซี(ในสกุล Viola)   ดอกแพนซีในภาษาอังกฤษคือคำ pansy ที่มาจากคำ pensée  ในภาษาฝรั่งเศส  ภาษาอังกฤษนำคำฝรั่งเศสไปใช้ และสะกดตามเสียงที่ได้ยิน(ซึ่งเพี้ยนไป)  ประเด็นสำคัญคือคำภาษาฝรั่งเศส มีความหมายซ้อนสองนัย หมายถึงดอกไม้ตระกูล viola หนึ่งและหมายถึง ความคิด อีกหนึ่ง  การมีทวินัยนี้ปรากฏในคำภาษายุโรปอื่นๆด้วยเช่นในภาษาอิตาเลียนหรือในภาษาสเปน  เพราะนัยสองนัยนี้เองที่ทำให้คนใช้ดอกไม้นี้แทนความคิดถึง  ดอกไม้พันธุ์นี้เป็นไม้ล้มลุก และออกดอกงดงามตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน  ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ชาวยุโรปทำสวนปลูกต้นไม้หลังจากที่ต้องเก็บตัวตลอดฤดูหนาว  ผู้คนจึงนำต้นแพนซีไปปลูกประดับบนหลุมศพด้วย ทั้งยังแสดงความคิดถึงผู้จากไป  ดอกแพนซีมีหลากหลายสีมากตั้งแต่สีขาว เหลือง ส้ม ชมพู แดง ม่วง น้ำเงินเป็นต้น แต่ละสียังมีทั้งสีอ่อนและสีเข้ม  ความหลากหลายสีทำให้สามารถจัดดอกไม้ประดับเล่นสีต่างๆได้อย่างสวยงาม   ภาพจากงานมหกรรมสวนประจำปี 2011 ที่เมืองโคเบล็นส์ (Koblenz) ประเทศเยอรมนี

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการจัดตกแต่งพื้นที่เหนือหลุมศพ  ดอกไม้สีสันต่างๆคือดอกแพนซีนั่นเอง  วิธีการเนรมิตพื้นที่เหมือนต้องการจำลองสวนลอยฟ้าในแบบสวนขั้นบันไดขนาดย่อส่วนของ Hanging Garden of Babylon ในยุคโบราณ  หลุมศพแบบนี้มีความงามของแปลงสวนเล็กๆแปลงหนึ่งอย่างแท้จริง   ภาพจากงานมหกรรมสวนประจำปี 2011 ที่เมืองโคเบล็นส์ (Koblenz) ประเทศเยอรมนี
 
           ในมหกรรมพืชสวนฟลอรีอ้าดเดอะปี 2012 (Floriade 2012) ที่เมือง เว็นโล (Venlo) ในเนเธอแลนด์ ก็มีนิทรรศการเกี่ยวกับการจัดทำสุสานอีกเช่นกัน  และโดยเฉพาะนิทรรศการสวนสุสานที่มณฑลเว็สต์ฟาเหลิ่นภาคเหนือของแม่น้ำไรน (Nordrhein-Westfalen) ที่เยอรมนีมาจัดแสดงไว้  ได้นำความหมายของต้นไม้ ดอกไม้ ที่โยงไปถึงความทรงจำ ถึงจิตสำนึกเกี่ยวกับความตายทั้งในแง่ของอารมรณ์ความรู้สึกและในแง่ของปรัชญา  นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลกว้างๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมสุสานของเยอรมนีและของมณฑลนั้น เช่น พิธีศพจัดกันในสุสาน สุสานทุกแห่งจัดเหมือนสวนแบบหนึ่ง  ที่หลุมศพแต่ละหลุมเป็นแปลงสวนเล็กๆแปลงหนึ่ง  สุสานจึงเป็นพื้นที่เขียวและมีดอกไม้บานงาม  มีคุณค่าด้านระบบนิเวศยิ่ง  และนี่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งในวัฒนธรรมสุสานของเยอรมนี  คนสวนที่ทำงานในสุสานเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและดูแลอนุรักษ์หลุมศพเหมือนกำลังดูแลแปลงสวน  ร้อยละหกสิบของชาวเมืองในมณฑลนี้เลือกการฝังศพตามขนบที่สืบต่อกันมา  การฝังศพแบบนี้มีส่วนช่วยอนุรักษ์สุสานให้คงความเป็นพื้นที่เขียวและเป็นสวนดอกไม้หลากสีด้วย

ตัวอย่างหลุมศพกับแผ่นหินตั้งประดับ แบบเรียบง่ายแต่งามขรึม เหมือนมุมหนึ่งของสวนในเยอรมนี แสดงการออกแบบหลุมศพที่รวมถึงการปลูกดอกไม้บนพื้นเหนือหลุมศพ จากมณฑลจังหวัดเวส์ตฟาเหลิ่น (Westfalen)ในเยอรมนี

หลุมศพอีกภาพหนึ่งพร้อมประติมากรรมโลหะตั้งยืนเหมือนรูปปั้นของคนคู่หนึ่ง  แสดงการออกแบบหลุมศพที่รวมถึงการปลูกดอกไม้บนพื้นเหนือหลุมศพ  จากมณฑลจังหวัดเวส์ตฟาเหลิ่น (Westfalen)ในเยอรมนี

งานสร้างสรรค์เพื่อความตายในแบบต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ยืนยันจุดยืนของชาวตะวันตกว่า
ความตายหรือสุสานไม่ควรเป็นสิ่งที่มองดูแล้วเศร้าสลดใจที่ทำให้ชีวิตจมลงในความทุกข์  แต่ควรจะเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่   ศิลปะดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด

               สุสานเหมือนเขาวงกตที่แฝงความลึกลับซับซ้อน เป็นที่เก็บคำถามต่างๆที่คนเราอยากรู้เกี่ยวกับสภาพหลังความตาย เกี่ยวกับคนตาย เกี่ยวกับการตายที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนเสมอมา   ท่ามกลางความโกลาหนของเมืองใหญ่ๆ  ชาวตะวันตกที่ไปเดินเล่นในสุสานยังมีโอกาสได้ชมดอกไม้ใบไม้ที่เปลี่ยนไปในแต่ละฤดู เตือนให้นึกถึงวัยต่างๆของคน  คงมีไม่กี่คนที่จะไม่ยินดียินร้ายหรือไม่หวั่นไหวไปกับความงามของพรรณไม้ดอกในสวน  สุสานยังอาจเป็นที่ฝึกทักษะและความชำนาญของหูคนได้เป็นอย่างดีด้วย เพราะสุสานมอบความเงียบสงัด ปราศจากมลภาวะทางเสียง มีแต่เสียงธรรมชาติของสัตว์ นก หรือเสียงลมพัดผ่านใบไม้ในลักษณะต่างๆ  จึงอาจเป็นที่ที่เราจะได้ฟังเสียงภายในของเราเอง  สำหรับชาวตะวันตก สุสานเป็นสถานที่เร้าอารมณ์สุนทรีย์ ปลุกอารมณ์กวีและเปิดรับความอ่อนไหว

           สุสานควรเป็นแบบหนึ่งของการพัฒนาชุมชนทั้งด้านคุณภาพและศักดิ์ศรีของผู้ตายและของผู้อยู่ ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาคุณธรรมในสังคม  ถึงเวลาแล้วที่เราควรแปลงสุสานหรือป่าช้าแบบไทยๆที่รวมแต่ภาพน่ากลัว ภาพโศกสลดแบบต่างๆ ที่มากับเรื่องเล่าเขย่าขวัญอีกนับไม่ถ้วน ให้เป็นความสงบ ความร่มรื่น ที่พักพิงของจิตใจ  แปลงความคิดแง่ลบ แปรเปลี่ยนความเศร้าโศก ให้กลายเป็นความทรงจำ เปลี่ยนความกลัวตายให้เป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต  เปลี่ยนการต่อสู้กับความตายให้เป็นความสงบด้วยปัญญาที่แจ่มกระจ่าง ที่ยอมรับความตายเป็นเพื่อนร่วมทางไปจนสุดทางเดินของแต่ละคน  เมื่อทุกคนหันไปโอบกอดเพื่อนร่วมทางผู้นั้นและรวมตัวกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวอย่างกันเองและอบอุ่นใจ  

No comments:

Post a Comment