การทำรูปปั้นเต็มตัวสามมิติ
มีมานานแล้ว ดังตัวอย่างที่เห็นในอีจิปต์ ประติมากรรมเจริญขึ้นสูงสุดแล้วในอารยธรรมกรีกโบราณ(c.2500-600 BC.) ดังตัวอย่าง มหาวิหารพาร์เธอน็อน- Parthenon ที่กรุงอาเธนส์ที่สร้างแล้วเสร็จในปี 479 BC. เป็นที่รวมประติมากรรมอันงดงามที่ยังคงความงามสมบูรณ์แบบไม่เสื่อมคลายมาจนทุกวันนี้ เรียกศิลปะกรีกยุคนั้นว่าเป็นศิลปะกรีกคลาซสิก
คำนี้มิใช่หมายถึงประติมากรรมเท่านั้นแต่รวมไปถึงทุกแขนงของศาสตร์วิชาของกรีซโบราณ
เป็นแบบฉบับที่ศิลปินยุโรปตั้งแต่ชาวโรมันเป็นต้นมา
ศึกษาลอกเลียนอย่างไม่ลดละตลอดสองพันปีที่ผ่านมา)
แต่การทำรูปปั้นเพื่อประดับเหนือหลุมศพหรือเหนือโลงศพนั้น
เหลือมาให้เห็นน้อยมาก
สิ่งที่ตกทอดมาจากต้นคริสตกาลจนถึงปัจจุบัน เป็นโลงศพหิน(sarcophagus, mausoleum)ขนาดใหญ่มากกว่าสิ่งอื่นใด
โลงหินแบบนี้มีประติมากรรมจำหลักนูนประดับด้านหน้า สามด้าน
หรือทุกด้านแล้วแต่ว่าโลงหินนั้นถูกนำไปตั้งที่ใด[1]
ตั้งแต่ศตวรรษที่11 หุ่นจำลองหรือรูปปั้นเหมือนของผู้ตายขนาดเท่ารูปร่างจริง(ที่เรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า gisant
[จีซ็อง] ที่แปลว่า “นอนราบ” ความหมายจึงตรงกับลักษณะของรูปปั้นที่วางนอนลง ส่วนคำ effigy
[เอ๊ฟฟิจี] ในภาษาอังกฤษให้ความหมายกว้างๆของรูปปั้นหรือหุ่นจำลอง
มิได้เจาะจงลักษณะ)
เป็นสิ่งประดับที่นิยมกันมากขึ้นๆสำหรับโลงศพหินของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง
อันเป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นสูงนี้สามารถนำโลงศพเข้าไปตั้งอย่างโดดเด่นในวัด
และไม่ต้องฝังลงใต้พื้นวัด
เช่นนี้จึงเป็นโอกาสให้เนรมิตรูปปั้นเหมือนประดับเหนือโลงศพขนาดยาวและกว้างพอเหมาะกับโลง
ส่วนรอบข้างของโลง อาจมีประติมากรรมจำหลักนูนประดับ
แบบเรียบบ้างแบบหรูหราบ้างแล้วแต่ว่าจะนำไปตั้งที่ใดอย่างใด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้ตายรูปปั้นประดับโลงศพหินที่เห็นนี้ เป็นตัวอย่างที่งามสุดยอด เป็นโบราณวัตถุที่มีค่ายิ่งจากอารยธรรมเอตรูเรีย (Etruria[เอ๊-ตรูเรีย]) ที่สถาปนาขึ้นในภาคตะวันตกตอนกลางของคาบสมุทรอิตาลี ในระหว่างศตวรรษที่ 9 ถึงในราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ในยุคก่อนที่ชาวโรมันสร้างกรุงโรมเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิ ตัวอย่างรูปปั้นในภาพนี้ขุดพบได้จากเมืองสุสานขนาดใหญ่ที่บันดิตักเชีย (เรียกว่า Necropoli della Banditaccia) เมืองเชร์เวเตรี (Cerveteri) ในมณฑลลาสิโอ (Lazio) ประเทศอิตาลี การเนรมิตคนคู่หนึ่งประดับโลงศพหินในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนนั้น มิได้หมายความว่า โลงศพนั้นมีร่างคนคู่หนึ่ง แต่เป็นวิธีการแสดงความผูกพันของผู้ตายต่อคู่ชีวิต ที่เขาหวังจะได้พบกันในชาติหน้า (ภาพนี้จากพิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
ในคริสต์ศิลป์ยุคแรกนั้น
รูปปั้นสร้างให้ตั้งยืนข้างโลงศพ
เห็นได้จากการจำหลักเสื้อผ้า
ที่มีรอยจีบของเสื้อผ้าห้อยย้อยลงคลุมเท้า
ในยุคหลังต่อมา อาจเพื่อประหยัดพื้นที่ภายในวัด
มีการนำรูปปั้นวางนอนลงบนโลงศพเลย
ปกติการทำรูปปั้นเหมือนสำหรับประดับหลุมศพ มักอยู่ในท่าเหมือนจริง เช่น
ท่านอนพักบนเตียง คอยการฟื้นคืนชีวิต มือประสานกันบนหน้าอกในท่าสำรวม
หรือถือสิ่งประดับที่เจาะจงตำแหน่งหน้าที่ของผู้ตายในสังคม หากเป็นกษัตริย์ก็มีมงกุฎบนศีรษะ เสื้อผ้าที่จำหลักก็เป็นเครื่องแบบทางการที่เจาะจงฐานันดรศักดิ์ของผู้ตาย
มหาวิหารแซ็งเดอนีส์นอกเมืองปารีสเป็นที่รวมประติมากรรมรูปปั้นเหนือโลงศพที่สำคัญและสวยงามที่สุดในฝรั่งเศสและในยุโรป[2]
ภาพหีบศพของกษัตริย์และเชื่อพระวงศ์ อยู่ในปีกทิศใต้ของมหาวิหารแซ็งเดอนีส์ อำเภอแซ็งเดอนีส์ ชานเมืองทิศเหนือของกรุงปารีส (Basilique Saint-Denis) ที่เห็นในภาพนี้เป็นพระบรมโกศของกษัตริย์ พระราชินี เจ้าหญิงเป็นต้น ทั้งหมดทำขึ้นในระหว่างศตวรรษที่ 7-13 งานสร้างสรรค์ในยุคกลางนั้นกษัตริย์พระราชินีจำหลักในเครื่องทรงเต็มยศพร้อมมงกุฎและคทา ปลายเท้ามีรูปปั้นสิงโตคู่หนึ่งเพื่อเน้นนัยของพลังอำนาจอันสอดคล้องกับสถานะของความเป็นกษัตริย์และพระราชินี ส่วนปลายเท้าของเจ้าชายเจ้าหญิงหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงอื่นๆมักเป็นรูปปั้นสุนัขคู่หนึ่ง (บางทีตัวเดียว) ที่เน้นความหมายของความซื่อสัตย์ตามธรรมชาติของสุนัข และที่อาจโยงไปถึงสุนัขตัวโปรดในชีวิตจริงก็ได้เช่นกัน มหาวิหารแซ็งเดอนีส์ เป็นที่เก็บพระบรมศพและพระศพของกษัตริย์ พระราชินี (และเชื้อพระวงศ์)เกือบทุกพระองศ์ที่มีชีวิตอยู่ในระหว่างศตวรรษที่7 ถึง18 ของฝรั่งเศส
ตามขนบนิยมในยุคกลาง
มักเนรมิตรูปปั้นประดับหลุมศพขึ้นสามรูป
เพื่อประดับหลุมศพที่ฝังอวัยวะของผู้ตายสามอย่างคือ ส่วนท้อง หัวใจและร่างกาย
หลุมศพทั้งสามแห่งมิได้รวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน
แต่อยู่ตามหัวเมืองหรือถิ่นใดถิ่นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ตาย การต้องเนรมิตรูปปั้นถึงสามรูปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิธีการเก็บรักษาร่างผู้ตายให้อยู่ในสภาพดี
(คือมิให้เน่าเปื่อยระหว่างการนำศพกลับมาตุภูมิ) ดังนั้นทันทีที่เสียชีวิต
จะมีการผ่าท้องของผู้ตายและดึงเอาอวัยวะภายในออกมาเช่นกระเพาะและลำไส้ หลังจากนั้นก็ดึงหัวใจออกมา รูปปั้นประดับหลุมศพที่ฝังอวัยวะส่วนท้อง
มีมือข้างหนึ่งถือถุงเล็กๆถุงหนึ่งเพื่อบอกว่าในโลงศพนั้นฝังอวัยวะส่วนท้องของผู้ตาย ส่วนรูปปั้นประดับหลุมศพที่ฝังหัวใจไว้ภายใน
มีรูปหัวใจเล็กๆจำหลักไว้ในมือซ้าย
ในยุคกลางนั้นหลุมศพที่ฝังร่างทั้งตัว ถือว่าเป็นหลุมศพชั้นสูงสุด(หรือโชคดีที่สุด)
ยุคนั้นเทคนิคการเก็บรักษาศพมิให้เน่าเปื่อยเร็วเกินไปโดยเฉพาะเมื่อต้องนำศพกลับไปสู่มาตุภูมินั้น
เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน
นั่นคือใช้เกลือและพืชสมุนไพรต่างๆโรยศพทั้งตัวแล้วราดด้วยไวน์เพื่อฆ่าเชื้อโรค ที่น่ารู้ยิ่งกว่านั้น(เช่นกรณีของพระเจ้าหลุยส์ที่เก้าหรือที่เรียกกันว่ากษัตริย์แซ็งหลุยส์, 1214-1270) คือการนำศพมาต้มจนเดือดเพื่อแยกเนื้อหนังออกจากกระดูก
เมื่อพระเจ้าแซ็งหลุยส์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคระบาดที่เมืองคาร์เธจในทวีปแอฟริกานั้น(ปี 1270) เนื้อหนังของพระองค์ถูกนำไปฝังที่โบสถ์ มนเรอัลเล
(Monreale) บนเกาะซิสิลี (หรือสิชีเลีย-Sicilia ในภาษาอิตาเลียน)ในประเทศอิตาลี
อัฐิและอังคารของพระองค์เท่านั้นที่ถูกอัญเชิญกลับมาที่มหาวิหารแซ็งเดอนีส์ชานเมืองปารีส
แทบเท้าของรูปปั้นสตรี
อาจมีรูปปั้นจำลองของสุนัขที่อาจโยงถึงสัตว์เลี้ยงตัวโปรดในขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์สื่อความจงรักภักดีทั้งยังอาจโยงไปถึงสุนัขนำทางในโลกใต้บาดาลที่คนตายทุกคนต้องผ่านลงไป ส่วนรูปปั้นบุรุษ
ก็อาจมีรูปปั้นสัตว์สัญลักษณ์ของอำนาจเช่นสิงโตหมอบอยู่แทบเท้า สิงโตยังมีนัยสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนชีพ
ตามความเชื่อที่ว่า ลูกสิงโตเมื่อเกิดใหม่ยังไม่เปิดตาเหมือนยังไม่มีชีวิต
มันจะเปิดตาดูโลกเมื่อสามวันผ่านไปเท่านั้น
หรือบางทีก็มีรูปปั้นเทวดาองค์น้อยประดับแทน
ภาพโลงศพหินของเจ้าอาวาสฌ็อง-บาติสต์ เจอแร็ง(Jean-Baptiste Gerin, 1797-1863) ที่สุสานแซ็งร็อค (Saint-Roch), เมืองเกรอนอบล์(Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส ดังที่เห็นในภาพ
โลงศพนี้นอกจากมีรูปปั้นเหมือนของเจ้าอาวาสวางนอนเหนือโลงแล้ว
ยังมีการสร้างซุ้มหลังคาคลุมเหนือรูปปั้นอีกด้วย
เห็นภาพไม้กางเขนละตินจำหลักนูนลงบนซุ้มหลังคาหิน โลงหินข้างล่างเป็นแบบเรียบ
มีคำจารึกประวัติของเจ้าอาวาสไว้
เจ้าอาวาสคนนี้คงเป็นที่รักเคารพของชาวเมือง เพราะข้างรูปปั้น
มีผู้นำแผ่นหินขนาดเล็กที่มีคำ souvenir ที่แปลว่า ความทรงจำ
มาตั้งไว้เพื่อแสดงความรำลึกถึง
โลงศพนี้ตั้งอยู่ในสุสานของวัด
ในหมู่โลงศพหรือหลุมศพแบบเรียบๆของผู้ตายคนอื่นๆ
ภาพรูปปั้นเหมือนของผู้ตายนอนพนมมือ มีรูปปั้นเล็กแปดรูป รูปปั้นแบบนี้ในบริบทนี้เรียกว่า pleurants [เปลอ-ร็อง] หมายถึงคนร้องไห้
ผู้ทำหน้าที่แบกแคร่ในขณะเดียวกันก็สื่อความเศร้าโศกเสียใจกับการจากไป ดังในภาพ
คนร้องไห้เหล่านี้จะแต่งหรือห่มชุดดำทั้งตัว ดึงผ้าส่วนที่เป็นหมวกลงปิดหน้าปิดตา ภาพนี้จากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ( Le Louvre) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
รูปปั้นคนร้องไห้ ในขนบตะวันตก มิได้เจาะจงว่าเป็นผู้หญิง (อย่างกรณี
นางร้องไห้ในขนบไทย) อาจเป็นนักบวชหรือแม่ชีก็ได้
รูปปั้นนอนทองสัมฤทธิ์ของเจ้าอาวาส เอ-วรารด์ เดอ ฟุยยัว (Évrard de Fouilloy) เป็นเจ้าอาวาสระหว่างปี 1211-1222)
เขาเป็นผู้วางแผ่นศิลาฤกษ์แผ่นแรกของโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองอาเมียงส์ ในปี 1222 รูปปั้นสัมฤทธิ์สร้างขึ้นในครึ่งแรกของศตวรรษที่
13 เป็นทองสัมฤทธิ์จำหลักจากโลหะชิ้นเดียวโดยตลอด
ยังมีรูปปั้นสัมฤทธิ์อีกรูปหนึ่งในโบสถ์เดียวกันนี้ที่เป็นรูปปั้นนอนของ จ๊อฟฟรัว
เดอ (Geoffroy d’Eu ผู้เป็นเจ้าอาวาสคนต่อมาระหว่างปี
1223-1236) รูปปั้นทั้งสองเป็นรูปปั้นสัมฤทธิ์สองรูปเท่านั้นที่มีในฝรั่งเศสและที่เป็นพยานหลักฐานของศิลปะการทำรูปปั้นสัมฤทธิ์ในศตวรรษที่
13
นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า
รูปปั้นทั้งสองเป็นรูปปั้นเหมือนจริงๆของเจ้าอาวาสทั้งสองเพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะของคนยุคนั้น
โชคดีอนันต์ที่รูปปั้นได้หลุดพ้นจากการถูกทำลายอย่างป่าเถื่อนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในศตวรรษที่18 (รูปปั้นทั้งสองตั้งวางตรงกัน
คนละฝั่งบนลำตัวโบสถ์ซ้ายและขวา)
ภาพจากโบสถ์เมืองเซวีญา (Sevilla ในประเทศสเปน) เป็นกลุ่มประติมากรรมที่ประดิษฐานอยู่ในปีกขวาของโบสถ์ เนรมิตขึ้นในศตวรรษที่ 19 รูปปั้นสี่รูปที่อยู่สี่มุม
ทำหน้าที่แบกหีบศพของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Cristobal Colón ชื่อสเปนของเขา)
หีบศพบรรจุเพียงส่วนหนึ่งของอัฐิและอังคารของผู้ตายเท่านั้น ไม่มีรูปปั้นเหมือนของผู้ตายบนโลงศพ ความสำคัญของกลุ่มประติมากรรมนี้อยู่ที่การเนรมิตรูปปั้นตัวแทนของกษัตริย์ที่จำหลักพร้อมเสื้อครุยยาวแบบเต็มยศพร้อมมงกุฎ
และมีตราสัญลักษณ์ของแคว้นประดับบนเสื้อครุย
ทำให้เจาะจงได้ว่า
หมายถึงกษัตริย์จากแคว้นสี่แคว้นใหญ่ๆของประเทศสเปนยุคนั้น อันมีแคว้นเล-อน(León), กัสตีญา(Castilla), นาวารา(Navarra) และอารากน(Aragón) รูปปั้นกษัตริย์ทั้งสี่องค์ทำหน้าที่แบกโลงศพของโคลัมบัสซึ่งเป็นสิ่งที่สามัญชนคิดไม่ถึงว่าเป็นไปได้
รัฐบาลสเปนต้องการฟื้นฟูความทรงจำและสรรเสริญความกล้าหาญ
วิสัยทัศน์และคุณงามความดีของโคลัมบัส ผู้ได้เปิดศักราชใหม่ของการเดินเรือที่นำไปสู่การพัฒนานโยบายการเมืองของประเทศต่างๆในยุโรปเพื่อการล่าอาณานิคมในโลกใหม่
ในที่สุดแนะให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของวีรชนของชาติไม่ว่าในแขนงใด
คือความเจริญของแผ่นดินและศักดิ์ศรีที่แท้จริงของกษัตริย์ คือการรู้จักถ่อมตน
การยอมรับและเชิดชูสรรเสริญคนดีของแผ่นดิน
ยังมีข้อน่าสังเกตอีกว่า การเจาะจงที่ตั้งของประติมากรรมอนุสรณ์ของโคลัมบัสนี้
อยู่ใกล้กับผนังกำแพงของวัดด้านที่มีจิตรกรรมประดับเต็มทั้งกำแพง เนื้อหาของจิตรกรรมฝาผนังนั้น
เล่าตำนานที่แพร่หลายในโลกยุคกลางว่าคริสโตเฟอร์ผู้มีร่างสูงใหญ่กำยำ(ที่ต่อมาเรียกกันว่านักบุญ)เคยแบกพระเยซูองค์น้อยเดินข้ามน้ำจากฝั่งหนึ่งไปยังฝั่งตรงข้าม
และรู้สึกว่าพระเยซูองค์น้อยนั้นช่างหนักเสียเหลือเกินจนเขาสุดจะทานได้
ก็พอดีถึงฝั่ง เมื่อคริสโตเฟอร์พูดว่าเขาเหนื่อยหมดแรงจริงๆ
พระเยซูบอกว่าเพราะเขาได้แบก “ผู้ที่แบกโลก”ไว้บนบ่าเขานั่นเอง
นอกจากว่าชื่อนักบุญกับชื่อแรกของโคลัมบัสจะเหมือนกันแล้ว
ยังเหมือนจะโยงนัยยะไปถึงการที่โคลัมบัสได้เป็นผู้ค้นพบเส้นทางใหม่เปิดสู่โลกใหม่
โลกใหม่ที่กษัตริย์ทั้งสี่มีส่วนส่งเสริมและมีส่วนได้ประโยชน์ด้วย (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
รูปปั้นประดับอีกแบบหนึ่ง
เสนอภาพสมจริงของคนตายในโลงศพ เป็นร่างแข็งทื่อ เหมือนโครงกระดูกและ
เน้นแผลเหวอะหวะบริเวณท้อง
ตกแต่งด้วยเสื้อผ้าจริง ห่อหุ้มไว้อย่างหลวมๆ
หรือมีสัญลักษณ์ที่เจาะจงให้รู้ว่าผู้ตายคือใคร
รูปปั้นแบบนี้รู้จักและเรียกกันตามคำในภาษาฝรั่งเศสว่า transi [ทร็องซี] โครงกระดูกนั้นอาจมีองค์ประกอบอื่นประดับเพิ่มเข้าไป
เพื่อเป็นข้อมูลเจาะจงว่าผู้ตายเป็นใคร
โครงกระดูกตัวแทนผู้ตายจึงไม่เหมือนโครงกระดูกที่ไม่มีอะไรประดับ(skeleton) นอกจากเคียวด้ามยาวหรืออาวุธแบบหนึ่ง
และที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของความตาย(นามธรรม) แต่ไม่ได้หมายถึงผู้ตายคนใดอย่างเฉพาะเจาะจง รูปปั้นผู้ตายในลักษณะของทร็องซี
เป็นที่นิยมกันในยุคเรอแนสซ็องส์โดยเฉพาะในอิตาลี
[3]
การนำเสนอร่างที่เน่าเปื่อยผุพัง ต้องการเน้นให้เห็นกระบวนการเสื่อมสลายและการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆเมื่อความตายมาสู่
เน้นคำสอนที่ฝังแน่นมาในจิตสำนึกของคนตั้งแต่ยุคกลางที่ว่า Memento
mori (จำไว้ว่า
วันหนึ่งเจ้าจะตาย) หรือที่ระบุไว้ในคัมภีร์เก่าว่า จงจำไว้ว่า เจ้าเป็นธุลีและจะกลับคืนสู่ธุลี (Remember that thou art
dust, and to dust thou shalt return. Genesis 3:19) การนำเสนอภาพผู้ตายแบบนี้
ดูเหมือนต้องการจะเน้นหรือโดนใจให้คนรู้สำนึกผิด
ให้ทำทุกข์กิริยาแก้ผิดและประพฤติตัวให้ถูกทำนองคลองธรรมตามบัญญัติของศาสนา
ตัวอย่างภาพร่างผู้ตายเมื่อเนื้อหนังมังสาเน่าเปื่อยหลุดหายไปหมดแล้ว
โครงกระดูกร่างผู้ตายแบบนี้เรียกกันด้วยคำในภาษาฝรั่งเศสว่า transi [ทร็องซี]
มีเครื่องแต่งตัวหรือองค์ประกอบที่บอกให้รู้ว่าผู้ตายคือใคร
เช่นนี้โครงกระดูกที่เห็นจึงมิใช่โครงกระดูกทั่วไปที่เป็นสัญลักษณ์ของความตายในยุคกลาง
ภาพผู้ตายนี้เป็นเจ้าชายตระกูล ออร้องจ์(Orange) ชื่อเรอเน่ เดอ ชาลง (René de Chalon) หลุมศพของเจ้าชายอยู่ที่วัดแซ็งเตเตียนที่เมืองบาร์-เลอ-ดุ๊ก(Saint-Etienne,
Bar-le-Duc) ประเทศฝรั่งเศส
เป็นประติมากรรม ฝีมือของลิจิเย ริชีเย (Ligier Richier จำหลักไว้ในปี1547) เจ้าชายสิ้นพระชนม์ในการต่อสู้ที่แซ็งดีซีเย (Saint-Dizier อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส) ในปี 1544 เมื่ออายุ
25 ปี
เล่ากันว่าพระองค์เองหรือพระชายาเป็นผู้สั่งให้ริชีเยจำหลักร่างโครงกระดูกขนาดเท่าตัวจริงของพระองค์ ให้มีผิวหนังแห้งๆ
ที่ยังติดกระรุ่งกระริ่งอยู่บนบริเวณท้องของโครงกระดูกที่โบ๋กลวง(อวัยวะภายในเน่าสลายหายไปหมดแล้ว) ให้มือขวาประทับบนหน้าอกด้านซ้าย ในขณะที่มือซ้ายจับหัวใจชูขึ้นสูงในท่าอันสง่างาม
และให้ร่างนี้ยืนอยู่เบื้องหน้าฉากที่ประกอบด้วยสิ่งของที่เป็นเครื่องหมายของทรัพย์สินเงินทองหรือยศถาบันดาศักดิ์ในโลกมนุษย์ หัวใจในมือซ้ายที่ชูขึ้นนั้น
ดั้งเดิมเป็นหัวใจจริงของพระองค์ที่แห้งสนิทแล้ว
ประติมากรรมรูปนี้จึงทำขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บอัฐิของพระองค์ แต่ในปัจจุบันไม่เห็นหัวใจในมือแล้ว
เข้าใจกันว่า หายไปในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส
ลิจิเย ริชีเย
เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของไมเคิลแอนเจลโล ประติมากรรมร่างผู้ตายนี้ทำจากหินอ่อน
ฝีมือทั้งงามทั้งน่าแขยงที่สุดในประวัติประติมากรรมของโลก จึงเป็นตัวอย่างที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก
ภาพโลงศพของจอห์น ฟิตส์ อลัน (John Fitz Alan) ผู้เป็นท่านเอิร์ลคนที่สิบสี่แห่งอรุนเดิล
(14th Earl of Arundel) ผู้ถึงแก่กรรมในปี1435 โลงศพนี้อยู่ในวัดบนพื้นที่ของปราสาทอรุณเดล (Arundel Castle อยู่ในเทศมณฑล West Sussex ประเทศอังกฤษ ปราสาทนี้สร้างขึ้นในปี 1067 เป็นที่พำนักของท่านดยุ๊กแห่งนอรฺฟอล์ก- Duke of Northfolk มาตลอดสี่ร้อยปี) ดังเห็นในภาพ
โลงสองชั้นมีรูปปั้นนอนเหมือนจริงของท่านเอิร์ลแห่งอรุญเดล เหนือโลงหินชั้นบน
และมีรูปปั้นโครงกระดูกอยู่ในชั้นล่าง (ภาพนี้ Lampman เป็นผู้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2009 และลงในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำของ ฌ็อง เดอ ซาชี (Jean de Sachy เป็นผู้พิพากษาคนแรกของเมืองอาเมียงส์ เสียชีวิตในปี 1644) ศิลปินเสนอภาพของความตายในร่างของคนตายที่เนื้อหนังมังสาเน่าเปื่อยไปแล้วเหลือให้เห็นโครงกระดูก
มือข้างหนึ่งแตะเคียวด้ามยาว โผล่ให้เห็นจากผ้าห่อศพในลักษณะเหมือนอยู่ในเปล มีเสาค้ำข้างใต้ วิธีการนำเสนอแบบนี้
อาจทำให้นึกถึงขนบจากยุคเรอแนสซ็องส์ที่นิยมเสนอภาพคนตายในร่างที่เหลือเพียงกระดูก แต่เพราะมีเคียวประกอบจึงยืนยันว่า
ศิลปินมิได้ต้องการเสนอภาพของผู้ตาย
แต่เป็นภาพของความตายที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ยุคกลาง นั่นคือภาพของความตายที่ถือเคียวด้ามยาว
คอยเก็บเกี่ยวดวงวิญญาณคน
เหนือขึ้นไปเป็นแผ่นหินดำที่จารึกประวัติของผู้ตายไว้ เหนือขึ้นไปอีก เป็นกลุ่มรูปปั้น
มีพระแม่มารีตรงกลางใต้ประตูโค้งทรงกลม พระแม่อุ้มพระเยซูองค์น้อย บนพื้นสองข้างพระแม่ มีรูปปั้นอีกสองรูปในท่าคุกเข้าพนมมือ รูปปั้นทางขวาคือ ฌ็องเดอซาชี
ทางซ้ายคือรูปปั้นของภรรยา (มารี เดอ เรอเวอลัวส์ - Marie de Revelois
เสียชีวิตในปี 1662) มีนักบุญฌ็องบาติสต์ (Jean-Baptiste ผู้ทำพิธีล้างบาปให้พระเยซู
และรู้ว่าพระเยซูไม่มีบาปกำเนิด) ที่ศิลปินเสนอไว้ในร่างของเด็กเลี้ยงแกะ
มีแกะเล็กๆตัวหนึ่งจำหลักไว้ข้างๆด้วย
ประติมากรรมประดับหลุมศพนี้ ถือกันว่าเป็นผลงานที่งามที่สุดของนิกอลาส์
บลาเซต์ (Nicolas Blasset ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือของ Christine
Debrie, Nicolas Blasset - Architecte et sculpteur ordinaire du Roi 1600-1659.)
รูปปั้นเหนือหลุมศพอีกแบบหนึ่งเป็นภาพเหมือนของผู้ตายในชีวิตจริงกำลังคุกเข่า
สวดมนตร์ (เรียกกันในภาษาฝรั่งเศสว่า orant) หรือเป็นรูปปั้นในท่านอนเอนหลัง
น้ำหนักลงที่แขนและศอกข้างหนึ่ง
เหมือนกำลังสวดมนตร์ อ่านหนังสือธรรมะ
คอยการฟื้นคืนชีวิต
กลุ่มประติมากรรมเหนือโลงศพหิน
รูปปั้นผู้ตายอยู่ในท่าคุกเข่าพนมมือ
ตรงหน้ามีโต๊ะพร้อมแท่นวางหนังสือ(คือคัมภีร์) เขาพนมมือ ตามองไปบนหน้าหนังสือ
เพื่อยืนยันศรัทธาและความเชื่อของเขาต่อคัมภีร์ ต่อคำสอนของศาสนา รูปปั้นในท่านี้
เป็นลักษณะที่นิยมเมื่อสร้างรูปปั้นของชาวคริสต์ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์หรือนิกายแองกลิกัน(Anglicanism) ประดับเหนือโลงศพ ยืนยันคติศาสนาของนิกายนี้ว่า เบื้องหน้าความตาย
ไม่มีผู้ใดจะช่วยเขาได้ เขาเองเป็นผู้รายงานต่อพระเจ้าโดยตรง(แบบตัวต่อตัว)
ในสิ่งที่เขาเคยทำตลอดชีวิตที่ผ่านมา ความดีความชอบ
และความผิดพลาดหรือบาปกรรมใดที่ได้ทำไป
ผลจากกรรมดีกรรมชั่วของเขาเองที่จะทำให้เขาได้ไปสวรรค์หรือต้องลงนรก รูปปั้นประกอบในกลุ่มนี้
มีอัศวินขนาบสองข้างผู้ตาย(อัศวินในความหมายของเกียรติศักดิ์บนโลกมนุษย์)
ซึ่งยืนยันฐานันดรศักดิ์ของกษัตริย์
ทั้งยังบ่งบอกให้รู้ลัทธิความเชื่อของผู้ตายที่ไม่ใช่แคทอลิก เพราะตามขนบธรรมเนียมในนิกายแคทอลิก
ผู้ตายมีเทวทูต พระแม่มารี รูปพระเยซูบนไม้กางเขนหรือนักบุญคนใดคนหนึ่ง
ประดับรอบตัวเขา
หรืออาจเป็นภาพจิตรกรรมฉากเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูและพระแม่มารีที่ประดับบนกำแพงใกล้ๆกันเป็นต้น องค์ประกอบทั้งหมดนี้
เป็นไปตามคตินิยมแคทอลิกซึ่งจะเน้นเรื่องการพิพากษาสุดท้ายอันเป็นการพิพากษารวมของทุกวิญญาณ
ในสภาสวรรค์ที่มีพระแม่มารี เหล่าอัครสาวก เหล่าพระผู้เผยวัจนะในคัมภีร์เก่า
เหล่านักบุญ และเหล่าเทวทูตทุกชั้นในสวรรค์ ทั้งหมดมาชุมนุมกันเป็นพยาน ภาพนี้ถ่ายมาจากพระราชวังสกอน(Scone Palace) ในสก็อตแลนด์ เมื่อวันที่ 14 เดือนกรกฎาคม2009 เวลา 12:09 น.
โลงศพหนึ่งภายในวัดนักบุญจาค็อบ (Sint Jacobskerk) ที่เมืองอ็องต์แวร์เพิน (Antwerpen) ในเบลเยี่ยม
มีรูปปั้นเหมือนของผู้ตายนั่งครึ่งนอนครึ่งบนเบาะนุ่มเหนือโลงศพหิน(ส่วนที่เป็นสีดำๆข้างล่าง) ผู้ตายในเครื่องแต่งตัวแบบขุนนาง ที่น่าสนใจคือ การนำเสนอความตายสองลักษณะ โครงกระดูกหนึ่งอยู่เหนือศีรษะด้านหลังของผู้ตาย
ยิ้มอย่างมีชัย อีกร่างหนึ่งอยู่ด้านซ้าย
มือยกขึ้นสูง ชูนาฬิกาทราย
รูปปั้นผู้ตายหันไปในทางนั้น กำลังมองดูทรายในนาฬิกาที่หยุดไหล
พร้อมกับชีวิตเขาที่จบลง
ให้สังเกตประติมากรรมโดยรวมที่เหมือนการเนรมิตแท่นบูชาแบบหนึ่งที่ตั้งประชิดติดเข้าไปบนผนังกำแพงวัดกำแพงหนึ่ง แต่โลงศพนี้ มิได้เป็นแท่นบูชา (ภาพถ่ายของผู้เขียน เมื่อวันที่ 12 เดือนเมษายน 2012 เวลา 11:15 น.)
ภาพโลงศพของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสอง (1462-1515) กับพระราชินีอาน เดอ เบรอ-ตาญ (Anne de Bretagne (1476-1514) เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่ใหญ่ที่สุดในหมู่โลงศพทั้งหมดของมหาวิหารแซ็งเดอนีส์
นอกจากจำนวนรูปปั้นที่ประดับเหนือและโดยรอบโลงศพหินที่ตั้งอยู่ภายในซุ้มหลังคาสี่เหลี่ยมเปิดทั้งสี่ด้าน
ในลักษณะเหมือนอาคารอารเขตหรือประตูชัย
ยังมีประติมากรรมจำหลักนูนรอบฐานทั้งสี่ด้านที่แสดงฉากสงครามที่อิตาลีในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสอง รูปปั้นของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสองกับพระราชินี
อยู่บนหลังคาซุ้ม ทั้งสองอยู่ในท่าคุกเข่า
พนมมือเบื้องหน้าโต๊ะสวด
รูปปั้นนอนเหนือโลงศพหิน ก็มีสองรูป
ข้างโลงศพและโดยรอบมีรูปปั้นของอัครสาวกสิบสองคน และที่สี่มุมของฐาน
รูปปั้นสตรีแทนสัญลักษณ์ของคุณธรรมสำคัญๆที่คริสต์ศาสนายกย่องสี่ประการอันมี ความไม่ประมาท(prudence) ความยุติธรรม(justice) พลังอำนาจกายและใจ(force) และการรู้จักอยู่ในความพอเพียง(tempérance) สถาปัตยกรรมอนุสรณ์นี้พระเจ้าฟร็องซัวส์ที่หนึ่งเป็นผู้ให้สร้างสรรค์ขึ้นในปี
1516 ผลงานของ กุยโด มัสโซนิ (Guido Mazzoni) และฌ็อง เปร์เรอัล (Jean Perréal)
(ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
ในปลายศตวรรษที่
18 และโดยเฉพาะตั้งแต่ต้นคริตส์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
ศิลปะบาร็อคเบนออกจากการเน้นความเป็นแคทอลิก(นั่นคือยกเลิกองค์ประกอบของพระเยซูหรือพระแม่มารี) แต่กลับเสนอเป็นกลุ่มประติมากรรม ที่ผู้ตาย(ในร่างเต็มตัวของคนที่ยังมีเนื้อหนังมังสาครบ) อยู่ในอ้อมกอดของ “ ความศรัทธา” (piété หรือ piety) หรือของเทวทูตเป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจมีรูปปั้นอีกหนึ่งรูป
มักเป็นรูปปั้นสตรีแทนญาติหรือมิตรสหายในท่าโศกสลดแบบ “นางร้องไห้” อยู่แทบเท้ารูปปั้นของผู้ตาย เห็นได้ชัดว่า ยุคบาร็อคเน้นการแสดงความโศกเศร้ามากขึ้น
รูปปั้นแต่ละรูปสื่อความรู้สึกภายในให้เห็นอย่างชัดเจน รูปปั้นในยุคกลางหรือยุคก่อนหน้านั้น มิได้นำเสนอความรู้สึกใดๆ
ใบหน้าสงบนิ่ง บางทีหลับตาเหมือนหลับไปเท่านั้น
รูปปั้นเหนือหลุมศพ เป็นทองสัมฤทธิ์(สีเขียวๆ) เสนอภาพผู้ตาย
คุกเข่ามือยื่นไปข้างหน้า มองขึ้นไปเห็นพระเยซูคริสต์ผู้มาปรากฏตัว
เหมือนมาปลอบและรับดวงวิญญาณไป
ภาพจากสวนสุสานแปร์ลาแช้ส (Cimetière du Père-Lachaise) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ติดตามดูที่ตั้งของหลุมศพคนดังทั้งหลายในสุสานแปร์ลาแช้สได้ที่ www.pere-lachaise.com)
รูปปั้นประดับเหนือหลุมศพของชีโน เดล ดูกา (Cino Del Duca, 1899-1967) เขาเป็น นักธุรกิจเชื้อสายอิตาเลียน
ทำงานบุกเบิกเรื่องการพิมพ์และต่อมาเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ มีบทบาทสำคัญในขบวนการต่อต้านการยึดครองของนาซีในฝรั่งเศสในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) เสนอภาพของความตาย(ผู้ตาย)ในอ้อมกอดของ Piété ([ปีเยเต้] ความศรัทธาในศาสนา) ผู้มารับวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ ภาพจากสวนสุสานแปร์ลาแช้ส (Cimetière du Père-Lachaise) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ติดตามดูที่ตั้งของหลุมศพคนดังทั้งหลายในสุสานแปร์ลาแช้สได้ที่ www.pere-lachaise.com)
ศิลปะกอติคได้เปิดศักราชของการหล่อรูปปั้นเป็นทองสัมฤทธิ์ ศิลปินได้เรียนรู้และสืบทอดเทคนิคต่อมา รูปปั้นทองสัมฤทธิ์แพร่หลายออกไป มีตั้งแต่รูปคน รูปเทวดาขนาดใหญ่
หรือเทวดาองค์เล็กๆ หรือแผ่นทองสัมฤทธิ์ประดับหลุมฝังศพเป็นต้น
รูปปั้นหล่อทองสัมฤทธิ์ที่งดงามลือชื่อมากที่สุดคือรูปปั้นของกษัตริย์และราชินีที่เนรมิตขึ้น(แบบตั้งยืน)
เหมือนให้เป็นพยานของเกียรติและศักดิ์ศรีของจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่หนึ่ง
(Maximilian I, 1459-1519) รูปปั้นทองสัมฤทธิ์มีทั้งหมด 28 รูป
เป็นรูปปั้นเหมือนของบรรพบุรุษ ญาติและพันธมิตรในชีวิตของพระองค์ ตั้งเรียงรายอยู่สองข้างลำตัวของวัดหลวง(Hofkirche) เมืองอิ๊นสบรูค (Innsbruck)
ประเทศออสเตรีย โดยที่ตรงกลางลำตัวของวัดเป็นที่ประดิษฐานของโลงศพหินสุดอลังการของพระเจ้าแม็กซีมีเลียนที่หนึ่ง เหตุนี้เองที่ทำให้วัดนี้มีสมญานามว่า Schwarzmanderkirche
(schwarze Männer) ในความหมายว่า วัดแบบดำๆ
ทั้งนี้เพราะรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ทั้งหลายสีดำๆมืดๆ
เรียงรายเต็มวัดนั่นเอง
โลงศพอนุสรณ์แห่งพระเจ้าแม็กซีมีเลียนที่หนึ่ง
(เอกสารอื่นระบุว่าในโลงศพนั้นว่างเปล่า) ที่ประดิษฐานอยู่กลางลำตัวของวัดหลวง(ที่เรียกว่าโฮ้ฟเคฉะ-Hofkirche) ที่เมืองอิ๊นสบรูค (Innsbruck) ประเทศออสเตรีย
วัดนี้เป็นวัดกอติคสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าแฟร์ดินันด์ที่หนึ่ง (Ferdinand I, 1793-1875) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่แม็กซีมีเลียนที่หนึ่ง
สมเด็จปู่ของพระองค์ ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (1459-1519) รอบๆสี่ด้านของโลงหินประดับด้วยแผ่นหินจำหลักนูนยี่สิบสี่แผ่น
แสดงเหตุการณ์ในชีวิตของแม็กซีมีเลียน
กลุ่มประติมากรรมทั้งหมดพร้อมด้วยโลงหินใช้เวลาสร้างนานถึง 80 ปี โลงหินเสร็จในปี 1572 และองค์ประกอบที่เหลือรวมรูปปั้นเหมือนจริงของแม็กซีมีเลียนในฉลองพระองค์กษัตริย์
พร้อมมงกุฎ กำลังคุกเข่าและพนมมือสวดมนตร์บนหลังคาเหนือโลงขนาดใหญ่
และรูปปั้นสตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมศาสนาสี่ประการอยู่สี่มุมเหนือโลงหิน
และรั้วเหล็กดัดลวดลายดอกไม้ที่นิยมกันในราชสำนัก ล้อมรอบกลุ่มประติมากรรมนี้ ทั้งหมดเสร็จในปี 1584 สองข้างลำตัวของวัดยังประดับด้วยรูปปั้นเหมือนจริงอีก
28 รูป ทำจากทองสัมฤทธิ์ ขนาดสูงระหว่าง 200 ถึง 250 เซนติเมตร
ทั้งหมดคือบรรพบุรุษ ญาติและพันธมิตรในชีวิตของพระองค์ รูปปั้นทองสัมฤทธิ์เหล่านั้นทำขึ้นในระหว่างปี 1502 และ 1555
รวมกันทั้งหมดสร้างภาพแห่งความยิ่งใหญ่เพื่อสรรเสริญเทิดพระเกียรติแม็กซีมีเลียนที่หนึ่ง (ภาพนี้จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายของ Daderot เมื่อวันที่19 เดือนมีนาคม ปี 2008)
ตัวอย่างรูปปั้นเหมือนทองสัมฤทธิ์
ของพระราชีนีองค์ต่างๆหรือพระญาติ
ที่ตั้งยืนข้างอนุสาวรีย์โลงศพของจักรพรรดิแม็กซีมิเลียนที่หนึ่ง
อยู่ในวัดหลวงเมือง อิ๊นสบรูค ประเทศออสเตรีย
ตัวอย่างรูปปั้นเหมือนทองสัมฤทธิ์
ของกษัตริย์องค์ต่างๆ หรือพระญาติ
ที่ตั้งยืนข้างอนุสาวรีย์โลงศพของจักรพรรดิแม็กซีมิเลียนที่หนึ่ง อยู่ในวัดหลวงเมือง
อิ๊นสบรูค ประเทศออสเตรีย
[1] มีอารยธรรมเอตรูเรีย (Etruria)บนคาบสมุทรอิตาลี ที่เจริญขึ้นก่อนที่ชาวโรมันจะสถาปนากรุงโรม ตั้งถิ่นฐานอยู่ในตะวันตกตอนกลางของคาบสมุทรอิตาลีระหว่างศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาลจนถึงราวศตวรรษที่ 1ก่อนคริสต์กาล ประมาณกันว่าอารยธรรมนี้บรรลุความเจริญสูงสุดในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล มรดกที่เหลือมาจากอารยธรรมนี้คือเมืองสุานขนาดใหญ่ที่พบในเมือง Lazio ในอิตาลี โดยเฉพาะบริเวณสุสานที่เรียกว่า Necropoli della Banditaccia และที่ Tarquinia รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 400เฮกตาร์ จากการสำรวจเมืองสุสานดังกล่าว พบว่ามีระบบการจัดตั้งหลุมศพพันๆแห่ง การวางผังสุสาน เหมือนระบบการจัดวางผังเมืองที่มีถนน สี่แยก เขตที่พักอาศัยโดยรอบ หลุมศพแบบต่างๆ ที่รวมหลุมศพขนาดใหญ่ตัดสลักเข้าไปในหินผาเลยทีเดียว อีกจำนวนมากสลักเข้าไปในหินเป็นรูปของกระท่อมหรือบ้าน เอกลักษณ์พิเศษคือการปกคลุมหลุมศพ(และห้องเก็บศพขนาดใหญ่ๆ) ด้วยดินจนเหมือนเนินเตี้ยเนินหนึ่ง ภายในห้องเก็บศพเหมือนโครงสร้างห้องโถงในอาคารที่อาศัย มีผนังและหลังคาที่ประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังอย่างวิจิตรงดงาม แสดงถึงฝีมือของศิลปินในยุคนั้นว่าอยู่ในระดับสูงทีเดียว ทั้งยังเผยให้เข้าใจวิถีการครองชีวิต ความตายและความเชื่อในศาสนา พิธีกรรม เทพตำนานของชาวเอตรูเรียโบราณ ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานเดียวที่เหลือมาจากอารยธรรมเอตรูเรีย ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ จินตนาการได้คร่าวๆว่า สถาปัตยกรรมบ้านเรือนในชีวิตชาวเมืองของอารยธรรมเอตรูเรียเป็นเช่นใด ชาวเอตรูเรีย(หรือเรียกว่าชาวอีทรัสกัน-Etruscan ในภาษาอังกฤษ) เป็นชาติพันธุ์ใด มาจากไหน พูดภาษาที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียนเป็นภาษาอะไร จากไหน ยังมีคำถามอีกจำนวนมากที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนและแน่นอน ความรู้ที่มีเกี่ยวกับอารยธรรมเอตรูเรียเพิ่งเริ่มขึ้นในศตววรษที่ 17 และข้อมูลที่เรารู้ในปัจจุบันก็มาจากการศึกษาค้นคว้าสุสาน Tarquinia ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุคที่มีการค้นพบหลุมศพในสุสาน Tarquinia จำนวนมาก อารยธรรมเอตรูเรียเป็นอารยธรรมการสถาปนาเมือง ที่เก่าที่สุดในตอนเหนือของทะเลเมดิเตอเรเนียน เมืองสุสานที่กล่าวมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2004 (เจาะจงอาณาบริเวณที่อยู่ระหว่างกรุงโรมกับเมืองViterbo ในแคว้น Latium ของอิตาลี) ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.whc.unesco.org หรือใส่ข้อความเพื่อค้นหาให้กว้างออกไปด้วยคำ Banditaccia หรือคำ Cerveteri หรือคำ World Heritage Convention
[2] มหาวิหารแซ็งเดอนีส์ (Basilique Saint-Denis) อยู่ทิศเหนือ นอกเมืองปารีส เป็นที่ประดิษฐานของโลงศพและรูปปั้นประดับโลงศพของกษัตริย์ฝรั่งเศสในราชวงศ์ต่างๆ ประมาณ 70 ราย นับเป็นแหล่งรวมประติมากรรมสุสานที่สมบูรณ์ที่สุดในยุโรป เป็นวิหารขนาดใหญ่จากยุคกลาง เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่สำคัญมากทั้งในด้านประวัติศาสตร์และในด้านสถาปัตยศิลป์ พื้นที่ตรงนั้นเดิมเป็นสุสานมาแต่ยุคต้นคริสตกาล จนถึงยุคนั้นความเชื่อชาวบ้านชาวเมืองยังมิได้มีเอกลักษณ์เจาะจงเป็นคริสต์ศาสนานัก (อีกทั้งลัทธิศาสนาก็ยังอยู่ในระยะแรกเริ่มของการสถาปนา กฎระเบียบ ค่านิยม แก่นแท้ของศาสนา ต้องใช้เวลานานจนถึงยุคปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่ 16 กว่าจะเป็นลัทธิพร้อมกฎบัญญัติต่างๆที่สมบูรณ์ในปัจจุบัน) เป็นความเชื่อที่ผสมผสานมาจากขนบความคิดของชาวโกล ข้อคิดจากเทพตำนานโรมันและศรัทธาในพระเยซูคริสต์กับอัครสาวกในยุคนั้น
เล่ากันว่านักบุญสตรีเจินวีแอฟ (sainte Geneviève ผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 422-502)ได้ซื้อพื้นที่สุสานตรงนั้นในปี 475และมีการสร้างวัดขึ้นขึ้นในศตวรรษที่ 7 หลังจากนั้นก็มีการขยับขยายสร้างใหม่เรื่อยมาโดยเฉพาะเมื่อมีการย้ายอัฐิและอังคารของนักบุญเดอนีส์ ผู้เป็นนักบุญอุปถัมภ์ (the patron saint เชื่อกันว่าเป็นเจ้าอาวาสคนแรกของปารีส ถูกตัดศีรษะสังเวยศาสนาที่เนินเขามงมาร์เตรอะ-Montmatre ในปารีส และร่างของนักบุญก้มลงเก็บศีรษะของเขาแล้วเดินไปจนถึงจุดที่ที่เขาต้องการให้ฝังร่างของเขา ซึ่งเชื่อกันว่าคือพื้นที่ใต้ดินลึกลงไปจากแท่นบูชาเอกของวัดแซ็งเดอนีส์ แต่ไม่มีหลักฐานโบราณคดีใดยืนยันว่าพบอัฐิมนุษย์ )ของประเทศฝรั่งเศส ที่ทำให้มีผู้จาริกแสวงบุญจำนวนมากเดินทางไปคารวะสารีริกธาตุของนักบุญ ในศตวรรษที่12 เมื่อเจ้าอาวาสชื่อซูเจ (Suger, ราวปี1081-1151) ได้สร้างต่อเติมและบูรณะวัดจนกลายเป็นอาคารสถาปัตยกรรมกอติคแห่งแรกของฝรั่งเศสและของโลก สถาปัตยกรรมแซ็งเดอนีส์จักเป็นต้นแบบของการพัฒนาและการก่อสร้างวัดอารามวิหารแบบกอติคต่อมาในฝรั่งเศสและในประเทศยุโรปอื่นๆ
[3] โครงกระดูกแบบทร็องซี ไปดูได้ตามวัดใหญ่ๆเช่น วัด Santa Maria Maggiore, Santa Maria in Aracoeli หรือแม้ที่มหาวิหารซันปิเยโตร กรุงวาติกัน เป็นต้น (San Pietro , Vatican )
No comments:
Post a Comment