Sunday, 1 July 2018

ศิลปะประดับความตาย 2 - แผ่นหิน

          ตั้งแต่โบราณกาล คนเลือกใช้หินมาตั้งบอกตำแหน่งของหลุมศพและประดับหลุมศพไปด้วย  ความหนักและความแข็งของหินเหมือนจะสอดคล้องกับความตั้งใจของผู้ปฎิบัติได้ดี  หินเป็นภาพลักษณ์ของความถาวร ความไม่เน่าเปื่อยผุพัง   เริ่มจากการตั้งหินก้อนเดียว มาเป็นการนำหินหลายก้อนมาตั้งในแบบมีหลังคา เหมือนเพิงหินเหนือหลุมศพ  เช่นแบบที่เรียกว่าดอลเมิน (dolmen) โดยมีแผ่นหินวางนอนขวางบนแผ่นหินตั้งสองแผ่นเป็นต้น  นอกจากการตั้งเหนือหลุมศพแล้ว  คนยังนิยมนำหินตั้งประดับตรงที่เกิดเหตุการณ์ เกิดนิมิตหมายที่ดี เหมือนจะให้หินเป็นพยานรับรู้และบันทึกเหตุการณ์หรือนิมิตที่ได้เกิดขึ้นตรงนั้น   คัมภีร์เก่าเล่าการนำหินมาตั้งในบริบทแบบนี้เสมอ  ตัวอย่างหนึ่งเช่นในเรื่องของจาค็อบผู้ฝันเห็น บันไดที่ทอดลงจากสวรรค์ (Jacob’s ladder)  เมื่อตื่นขึ้นเขาได้นำหินก้อนใหญ่มาตั้งณจุดที่เขานอนและนำน้ำมันชโลมแผ่นหิน แสดงคารวะต่อพระเจ้า ต่อสิ่งดีๆที่พระเจ้าสัญญาจะให้เขาในฝัน (เทวทูตบอกให้เขาเปลี่ยนชื่อเป็นอิสราเอล  เขาคือบรรพบุรุษและผู้รวมชาวยิวสิบสองเผ่าและสถาปนาขึ้นเป็นรัฐอิสราเอล) เป็นต้น
               หินเป็นวัสดุที่ใช้ในการเนรมิตสิ่งประดับเหนือหลุมศพมากกว่าวัสดุอื่นใด  นิยมใช้หินทราย  หินปูน หรือหินอ่อน   ฝีมือการแกะสลักหินได้พัฒนาขึ้นสูงสุดแล้วในอารยธรรมกรีกและโรมัน   หินประดับหลุมฝังศพ(stèle funéraire หรือ tombstone) ปกติเป็นหินขนาดใหญ่ก้อนเดี่ยวๆ(monolith) แบบเรียบๆคือตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดใหญ่กว่าความกว้างยาวของหลุมศพ เพื่อใช้วางปิดบนดินที่กลบแน่นเหนือหลุมศพนั้น  มีจำหลักชื่อ วันเดือนปีเกิดและปีตายของบุคคลในหลุมนั้น ต่อมามีการเจาะจงอาชีพ ประวัติหรือผลงานในชีวิต อาจมีคำจารึกที่เป็นข้อคิด ปรัชญา คำพูดหรืออุดมการณ์ของผู้ตาย หรือคำสอนจากศาสนา  ความดีหรือผลงาน เติมแต่งบนแผ่นหินนั้น
ภาพจากสุสานยิวที่เมืองฮัมบูร์ก (Jüdischer Friedhof Altona) ที่ตั้งอยู่ด้านหลังของศูนย์ Eduard Duckesz Haus (บนถนนเคอนิกฉตร๊าสะ - Königstrasse 10a  เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี)  แผ่นหินปิดคลุมหลุมศพแต่ละหลุม  สุสานยิวบนถนนสายนี้ในเมืองฮัมบูร์ก มิได้เป็นเพียงสุสานยิวที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองฮัมบูร์ก  ยังถือกันว่าเป็นอนุสาวรีย์วัฒนธรรมที่เด่นที่สุดในฮัมบูร์กและในเยอรมนีภาคเหนือ  ทั้งนี้เพราะวิธีการประดับแผ่นหินเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่รวมบทจารึกไว้อาลัยผู้ตายที่ประดับไว้เป็นภาษาปอรตุเกสบ้าง ภาษาฮีบรูบ้างนั้นสวยงามเป็นพิเศษเช่นกัน ที่เป็นพยานหลักฐานแสดงฝีมือนายช่างจำหลักหิน
หลุมศพที่ฝังอยู่ใต้พื้นของวัดหรือโบสถ์ขนาดใหญ่ๆในยุโรป  ส่วนใหญ่เป็นของอภิสิทธิ์ชนเช่นกษัตริย์ ราชวงศ์ชั้นสูง ขุนนางชั้นสูงหรือเจ้าอาวาสขั้นอาวุโสของวัดเท่านั้น   แผ่นหินที่ปิดเหนือหลุมศพจะเป็นแผ่นหินปูพื้นวัดนั้นไปด้วย  การฝังใต้พื้นวัดหรือโบสถ์ใหญ่ๆนั้น อาจฝังอยู่ใต้พื้นของวัดชั้นล่าง (crypt) หรือใต้พื้นในวัดชั้นบน (บางทีใต้หลังคาหากมีพื้นที่เหลือก็กลายเป็นที่เก็บอัฐิอังคารด้วย เรียกว่า ossuary  เพราะพื้นที่ฝังศพไม่เพียงพอ จึงมีการขุดศพเก่าๆขึ้นมา เก็บเอากระดูกมาชำระล้างแล้วนำไปเก็บในที่เก็บกระดูก)  เพราะฉะนั้นเมื่อเดินเข้าไปในวัดใหญ่ๆที่สร้างมาตั้งแต่ยุคกลาง จึงเหมือนกำลังเดินไปบนหลุมศพของคนจำนวนไม่น้อย  เดินไปบนแผ่นหินจารึกประวัติของบุคคลที่ฝังอยู่ใต้พื้นตรงนั้น ที่ปูต่อๆกันเป็นพื้นวัด  จากแบบที่มีคำจารึกเรียบง่าย เป็นแบบที่มีประติมากรรมจำหลักนูนประดับเต็มทั้งแผ่น บ้างยังให้จำหลักภาพเหมือนของผู้ตายบนแผ่นหินที่ครอบเหนือหลุมศพนั้น   ผู้คนเดินเหยียบไปมาบนพื้นวันแล้ววันเล่า จึงทำให้แผ่นหินสึกกร่อน คำจารึกที่เคยมีบนแผ่นหินก็สึกกร่อนเลือนลางไปตามกาลเวลา  บางวัดจัดกั้นพื้นที่โดยรอบแผ่นหินจารึกขนาดใหญ่บางแผ่น เพื่อมิให้คนเดินเหยียบแผ่นนั้น ในขณะเดียวกันก็ดึงความสนใจให้หยุดดู หยุดอ่านหรือหยุดคิด 
               เป็นธรรมดาที่ชาวคริสต์ต่างต้องการให้ศพของตนอยู่ใกล้พระเจ้ามากที่สุด ในเมื่อวัดคือบ้านของพระเจ้า จึงอยากให้ร่างกายของพวกเขาไปอยู่ในสายตาของพระเจ้ามากที่สุด เป็นความอบอุ่นใจว่าจะไม่ถูกลืม เช่นนี้ตั้งแต่ต้นคริสตกาล จึงมีการแบ่งอวัยวะส่วนต่างๆโดยเฉพาะของกษัตริย์ ไปฝังในวัดหลายๆแห่ง เพิ่มโอกาสที่จะเข้าถึงพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

แผ่นหินประดับหลุมศพที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นอาคารกัมโปะซานโตะที่เมืองปิซา ประเทศอิตาลี (Campo Santo, Pisa) ทั้งรูปลักษณ์และข้อความจำหลักลงบนแผ่นหินเป็นประติมากรรมนูนต่ำ  เป็นตัวอย่างอีกแบบหนึ่งของแผ่นหินประดับหลุมศพ
ตัวอย่างแผ่นหินเหนือหลุมฝังศพที่ฝังอยู่ใต้พื้นภายในโบสถ์ใหญ่ ที่เมืองรอสกิลด์ ประเทศเดนมาร์ก (Roskilde)  แผ่นหินจำหลักภาพเหมือนของพระราชวงศ์ชายหญิงคู่หนึ่ง  โบสถ์เมืองนี้สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 12และ 13 ใช้เป็นที่ฝังศพของกษัตริย์และพระราชวงศ์เดนมาร์กตั้งแต่ศตวรรษที่15  ภายในโบสถ์จึงต้องปรับเปลี่ยนและขยายพื้นที่ภายในเสมอมา เพราะเมื่อมีการตั้งโลงศพขนาดใหญ่ๆที่วิจิตรพิสดารของกษัตริย์องค์ต่างๆ  ก็มักสร้างให้มีที่ตั้งของแท่นบูชาเข้าไปด้วย ทำให้วัดสามารถใช้แท่นบูชาเฉพาะนี้ประกอบพิธีศาสนาได้ (เรียกว่าวัดเล็กภายในโบสถ์ และใช้คำ chapel ในภาษาอังกฤษ)  บางทีสร้างเป็นส่วนขยายประกบติดเข้ากับกำแพงโบสถ์ด้านใดด้านหนึ่งเลย หรือ ตั้งเป็นอาคารย่อยอีกอาคารหนึ่งภายนอกโบสถ์   โดยปริยายโบสถ์รอสกิลด์จึงเป็นที่รวมความทรงจำเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เกือบทุกพระองค์ของเดนมาร์ก   ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้โบสถ์นี้ได้ขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งหนึ่งในปี 1995 และ ตั้งแต่ปี 1987 โบสถ์ได้เป็นศูนย์ของวงนักร้องเด็กผู้ชาย(Roskilde Cathedral Boy’s Choir) การจัดตั้งวงนักร้องเด็กผู้ชายนี้เป็นกุญแจสำคัญของทางการศาสนาเพื่อผลักดันเยาวชนของชาติไปในทางที่ดี  เด็กในวงนักร้องของโบสถ์นั้นเรียนหนังสือตามปกติ แต่พบกันสัปดาห์ละสองถึงสามครั้งเพื่อซ้อมร้องเพลง  ทุกสองปีคณะนักร้องวงนี้จะเดินทางไปแสดงต่างประเทศเช่นไปอังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย กรีนแลนด์เป็นต้น

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เคยเสด็จไปเยือนโบสถ์นี้ และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ก็ได้เสด็จไปที่นั่น  รวมทั้งสมเด็จพระเทพฯ   ภายในลำตัวโบสถ์ด้านขวา(ใน Chapel of the Magi ที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระเจ้าคริสเตียนที่หนึ่ง)  มีเสาๆหนึ่งที่มีรอยขีดยาวสลักลงเป็นเส้นขวางบนเสาหินและทาด้วยสีแดงเพื่อให้เห็นชัดเจน  แต่ละขีดมีชื่อกำกับไว้ด้วย แต่ละขีดบอกความสูงของบุคคลแต่ละคน  ที่นั่นจึงได้จารึกส่วนสูงของรัชกาลที่ห้า รัชกาลที่เก้าและของสมเด็จพระเทพฯ ด้วยเสาใหญ่เสาหนึ่งที่มีรอยขีดขวางสีแดงจารึกส่วนสูงของกษัตริย์และเจ้าชายหลายพระองค์ที่เคยไปเยี่ยมโบสถ์รอสกิลด์ รวมทั้งพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ (ในส่วนที่เรียกว่า Chapel of the Magi  ภายในโบสถ์รอสกิลด์)
 แผ่นหินจารึกเจาะจงว่า ใต้ลงไปเป็นที่ฝังศพของพระนักบวชชื่อฟิลิป โจลี (Philippe Joly) ผู้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 เดือนกุมภาพันธ์ ปี1706  แผ่นหินจารึกบอกตำแหน่งของที่ฝังศพใต้พื้นแบบนี้ มีกระจายไปทั่ว  ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง มิได้ติดๆกันไปเพราะการนำเข้าไปฝังไว้ใต้พื้นโบสถ์นั้น แต่ละรายในวันเวลาต่างกัน  พื้นหินปูสลับแผ่นหินอ่อนสีขาวกับสีดำเป็นตาหมากรุก เป็นส่วนหนึ่งของพื้นโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองอาเมียง์ ที่มีพื้นที่รวมทั้งหมดกว้างที่สุดในฝรั่งเศส  และพื้นปูด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวสลับสีดำ เป็นลวดลายต่างๆกันหลายแบบหลายลายที่ไม่มีที่ใดเหมือนตลอดความยาวของลำตัวโบสถ์  รวมทั้งลาบีรินต์ขนาดใหญ่ตรงกลางลำตัวของโบสถ์
ในภาพนี้ก็เช่นกัน มีแผ่นหินสีขาวตรงล่างของภาพที่มีคำจารึกเกี่ยวกับผู้ตายที่ฝังไว้ใต้พื้นตรงจุดนั้น  และมีอีกบนเส้นทางนี้ที่เป็นลำตัวโบสถ์จากประตูด้านทิศตะวันตกเป็นเส้นตรงไปถึงจุดใจกลางที่มีแท่นบูชาเอกตั้งอยู่ และที่เป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของโบสถ์  เพราะฉะนั้นผู้ที่มีร่างฝังไว้บนเส้นทางนี้จึงเป็นอภิสิทธิ์ชนอย่งแท้จริง 
               นอกจากการวางแผ่นหินนอนราบไปบนพื้น  ยังอาจจัดเป็นแบบตั้งยืนบนส่วนหัวของหลุมศพ วิธีการจัดพื้นที่เหนือหลุมศพ  เห็นได้จากภาพสเก็ตช์ข้างล่างนี้ (ภาพ 3.22) เป็นแบบเรียบร้อย ที่ใช้กันทั่วไป  เห็นได้ชัดว่ามีแผ่นหินจัดให้เป็นฐาน(1และ2)  แผ่นหินตั้งเหมือนหัวเตียงไม่สูงมาก(no.3)  สำหรับจารึกข้อความหรือสิ่งประดับรูปลักษณ์แบบหนึ่งแบบใดแล้วแต่ต้องการ  และมีแผ่นหินสำหรับวางราบปิดพื้นที่เหนือหลุมศพ(no.4)
หินตั้งเหนือหลุมศพ(no.3)
บางทีก็ทำเป็นแบบเสาสูงยอดแหลมเล็กลงนิดหน่อยแบบเสาโอเบลิซค์ (obelisk) แต่ไม่สูงเท่าเสาโอเบลิสก์ที่ตั้งประดับกลางเมืองเช่นที่ปล๊าซ เดอ ลา กงก๊อร์ด (Place de la Concorde) กรุงปารีส   ส่วนใหญ่มักประดับหลุมศพที่สร้างอุทิศแด่กลุ่มทหารหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่เสียชีวิตพร้อมกันในสงครามหรือในเหตุการณ์หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง  เมื่อสังคมพัฒนามากขึ้น ความก้าวหน้าในศิลปวิทยาทำให้รูปลักษณ์ที่ประดับหลุมศพหรือสุสาน วิจิตรพิสดารและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น
ตัวอย่างจากสุสานส่วนหนึ่งของอารามซันมีเนียโตะ เมืองฟลอเรนส์ ประเทศอิตาลี  (Monasterio di San Miniato, Firenze)  ตรงนั้นเป็นจุดชมวิวที่สวยมากจุดหนึ่งของเมืองฟลอเรนส์ เพราะสายตาโอบทิวทัศน์ของเมืองได้เกือบทั้งหมด และมองเห็นโดมและหอคอยสูงใหญ่ของสถานที่สำคัญๆในเมืองฟลอเรนส์ (เช่น La Cattedrale (Il Duomo), Il Battistero di San Giovanni, Il campanile de Giotto, Palazzo Vecchio, il edificio degli Uffizi และยังอาจมองเห็นแม่น้ำ Arno และอาคารบ้านเมืองสองฝั่ง เป็นต้น)
หินตั้งทรงสูงแบบเสาโอเบลิซ์ก แต่ไม่สูงมาก  เป็นอนุสรณ์สำหรับการตายหมู่ในเหตุการณ์เฉพาะเหตุการณ์หนึ่ง ภาพนี้จากสุสานแปร์ลาแช้ส ปารีส (Cimetière du Père-Lachaise, Paris)
ภาพจากสุสานกลางของกรุงเวียนนา (Zentralfriedhof, Wien สถาปนาขึ้นในปี 1847) เป็นถนนสายหนึ่งภายในสุสานกลางที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สองของยุโรป (ลองจากสุสานออลสดอร์ฟที่เมืองฮัมบูร์ก- Friedhof Ohlsdorf  ที่มีพื้นที่รวมทั้งหมดกว่าสี่ตารางกิโลเมตร)  แต่ถ้านับจำนวนคนตายที่ฝังในสุสานแล้ว  สุสานกลางที่เวียนนาได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก ในฐานะที่มีจำนวนผู้ตายที่ฝังไว้ที่นั่นแล้วประมาณสามล้านราย บนพื้นที่ 2.4 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ชานเมืองเวียนนา  ความกว้างใหญ่ของพื้นที่ ทำให้มีการจัดเส้นทางเดินรถจากมุมต่างๆของเมืองไปยังสุสานนี้  และภายในสุสานเองก็มีรถเมล์บริการรับส่งสม่ำเสมอ ตามจุดต่างๆภายในสุสานที่เป็นสวนสุสานขนาดใหญ่  สุสานกลางของกรุงเวียนนานี้ ยังได้จัดพื้นที่เฉพาะให้ผู้ตายในศาสนาต่างๆเช่น จูดาอิซึมของชาวยิว อิสลาม พุทธศาสนาและคติความเชื่ออื่นๆ   การบริหารจัดการสุสานที่นั่นเป็นความพยายามของประเทศออสเตรียที่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนทุกเผ่าพันธุ์ทุกศาสนาได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันให้มากที่สุดแม้ในความตาย
               แบบที่เรียบกว่า ง่ายกว่าและคงจะถูกกว่า ก็ดูงามขรึมได้ โดยเฉพาะเมื่อญาตินำดอกไม้มาประดับหรือหมั่นดูแลพื้นที่เหนือหลุมศพแปลงน้อยๆแต่ละแปลงนั้น  ทั้งยังให้ความรู้สึกอบอุ่นอ่อนโยนเหมือนแปลงดอกไม้แปลงหนึ่ง    วัดหรือสุสานส่วนใหญ่มีบริการดูแลรักษาหลุมศพและกำจัดวัชพืชหรือตกแต่งประดับให้สวยงาม  เป็นบริการที่ต้องเสียเงิน
สุสานเล็กติดวัดที่เมืองไรเชอเนา (อยู่บนเกาะเล็กๆชื่อเดียวกัน- Insel Reichenu  นอกเมือง ค็อนสตันส์ -Constanz) ประเทศเยอรมนี หลุมศพแต่ละหลุมมีแผ่นหินขนาดพอเหมาะ กว้างมากกว่าสูง ดูเรียบร้อย สงบเสงี่ยม และสวยงาม ทั้งยังให้กำลังใจแก่ผู้ผ่านไป เพราะดอกไม้ทั้งหลายเพิ่มชีวิตและกลบความตาย  หลุมศพแต่ละหลุมเป็นแปลงดอกไม้แปลงหนึ่ง
ภาพหลุมศพแห่งหนึ่งจากสุสานติดวัดที่เกาะไฮ้เชอเนา (Insel Reichenu  นอกเมืองค็อนสตันส์ - Constanz) ในเยอรมนี  ให้สังเกตวิธีการจำหลักแผ่นหินที่ตั้งประดับหลุมศพ เป็นแบบเรียบง่ายและคงทนถาวร  
               อนุสรณ์สถานล่าสุดที่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ยุคปัจจุบันคือ อนุสรณ์สถานชาวยิวยุโรปที่ถูกพวกนาซีฆ่าตาย (โดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่สอง) ที่ตั้งอยู่ที่กรุงแบร์ลิน (มีชื่อเต็มในภาษาเยอรมันว่า Denkmal für die ermordeten Juden Europas หรือเรียกกันสั้นๆว่าHolocaust Mahnmal ในภาษาอังกฤษใช้สั้นๆว่า Berlin Holocaust Memorial)[1]  อนุสรณ์สถานนี้เป็นลงานออกแบบของปีเตอร์ ไอเซินมัน (Peter Eisenman สถาปนิกชาวนิวยอร์ค เขาเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ใต้ระดับพื้นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานนี้ด้วย) [2] สถาปนิกนำแผ่นหินสีดำ ตัดเรียบและทุกด้านว่างเปล่าไม่มีคำจารึกใดๆ ทั้งหมดประมาณ 2700 แผ่นแต่ละแผ่นกว้าง 0.95 เมตรและยาว 2.38 เมตร ส่วนความสูงนั้นอยู่ระหว่าง 0.2 ถึง 4.8  เมตร  พื้นที่ตั้งอนุสรณ์สถานนั้น มิได้ราบเรียบเสมอกันแต่เป็นทางลาดนิดๆ  หินถูกเรียงต่อๆกันเป็นตาราง(grid pattern) คลุมพื้นที่กว่า 19,000 ตารางเมตร  ผู้ชมสามารถเดินเข้าออกบริเวณอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่นี้ได้จากทุกๆด้าน และไม่มีเส้นทางเจาะจงกำหนดไว้  เจตจำนงของสถาปนิก คือต้องการให้พื้นที่อนุสรณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ผู้คนอาจเดินตัดผ่านเข้าออกอนุสรณ์สถานนี้  ใช้เป็นทางลัดไปสู่อาคารที่ตั้งร้านค้าและที่พักที่อยู่รอบๆได้  สถาปนิกมิได้สร้างให้เป็นพื้นที่ศาสนา มิได้ต้องการให้เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์แต่เป็นพื้นที่สาธารณชน  แม้จะเป็นสนามรำลึกถึงความตาย แต่ก็ให้ความหวังว่าความทรงจำเกี่ยวกับความผิดพลาดและความโหดร้าย(ของฮิตเลอร์) ที่ได้สั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในยุโรป  กลายเป็นสิ่งเตือนสติคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันปกป้องมนุษยชาติ อย่าให้เกิดการฆ่าล้างทำลายแบบนั้นอีกเลย

 

ภาพแสดงที่ตั้งของอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำอุทิศแด่ชาวยิวในยุโรปที่ถูกฆ่าสังหาร (Denkmal für die ermordeten Juden Europas หรือเรียกกันสั้นๆว่าHolocaust Mahnmal ในภาษาอังกฤษใช้สั้นๆว่า Berlin Holocaust Memorial)  ภาพของผู้เขียนเอง ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2007 เวลา17:56 น.และ 18:16 น.
ในยุคกรีกโบราณหรือยุคโรมัน คนนิยมให้มีประติมากรรมจำหลักนูนบนแผ่นหินสำหรับตั้งประดับเหนือหลุมศพ ทำให้ประติมากรรมนูนต่ำพัฒนาแพร่หลายและเหลือมาให้เราได้ชื่นชมในยุคปัจจุบัน  การจำหลักมักจัดให้อยู่ตอนบนของแผ่นหินที่สูงมากกว่ากว้าง  แต่อาจเต็มตลอดความกว้างความสูงของหินทั้งแผ่นก็ได้ โดยเฉพาะสำหรับชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจและเงินทอง  หินที่ใช้หากเลือกได้ ก็ใช้หินอ่อนเป็นส่วนใหญ่   เนื้อหานั้นมักสื่อการอำลาจากครอบครัวหรือมิตรสหาย  การเลี้ยงฉลอง หรืออาหารมื้อสุดท้ายกับสมาชิกครอบครัว  กิจกรรมที่ผู้ตายเคยทำเสมอในชีวิต หรือเหตุการณ์สุดยอดในชีวิตของผู้ตายเป็นต้น
แผ่นหินจำหลัก แสดงผู้ตายในครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตากับภรรยาและลูก  ในศิลปะกรีกโรมันสมัยก่อนนิยมจำหลักภาพภายในครอบครัวบนแผ่นหิน  ผู้ตายหรือหัวหน้าครอบครัวมักอยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน มือถือถ้วยเหล้าองุ่น  สมัยนั้นวิธีการกินอาหารภายในครอบครัวหรือในหมู่มิตรสหาย นั่งครึ่งนอนครึ่งบนเตียง(แบบตั่ง)
หินตั้งขนาดใหญ่สำหรับประดับหลุมศพของผู้มีอันจะกิน มักมีประติมากรรมจำหลักเต็มตลอดความกว้างและความสูงของแผ่นหิน  ภาพนี้ก็เสนอภาพผู้ตายในบ้าน มีภรรยานั่งครุ่นคิดอยู่ด้านใน  มีคนมาเยี่ยมเหมือนมาบอกลา ทั้งสองจับมือกัน อำลากัน  ฉากแบบนี้เห็นทั่วไปในพิพิธภัณฑ์ศิลปะกรีกโรมันยุคโบราณ  ภาพนี้จากพิพิธภัณฑ์ Pergamon Museum แผนกโบราณวัตถุ - Antikensammlung Berlin กรุงแบร์ลิน บุคคลในภาพคือ Thrasea & Euandria เป็นหินอ่อน มีอายุอยู่ในราว 375-350 BC. ปีก่อนคริสตกาล (ภาพถ่ายของ Marcus Cyron เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2007 ปรากฏในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
ประติมากรรมจำหลักประดับหินตั้งตรงหัวหลุมศพ มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้นๆในเวลาต่อมา  เนื้อหาก็ค่อยๆเบนจากความอาลัยไปเป็นการบันทึกความดีหรือความเด่นของผู้ตาย เช่นในภาพข้างล่างนี้ เป็นหลุมศพของฟรันซ์ ชูเบอร์ต(Franz Schubert) นักประพันธ์ดนตรี ที่สุสานกลางของกรุงเวียนนา  สุสานกลางนี้เป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ในฐานะที่มีจำนวนผู้ตายที่ฝังไว้ที่นั่นแล้วประมาณสามล้านราย บนพื้นที่ 2.4 ตารางกิโลเมตร[3]  ที่นั่น มีพื้นที่ที่จัดให้เป็นที่ฝังศพของนักดนตรีโดยเฉพาะ  ทางการให้ย้ายศพจากที่ฝังเดิมมารวมไว้ที่นั่น(เมื่อทำได้) และเมื่อทำไม่ได้ ก็สร้างเป็นอนุสาวรีย์เหมือนสำหรับเก็บศพ(แต่ไม่มีอัฐิอังคารของผู้ตาย เรียกว่าcenotaph) ขึ้นให้เป็นอนุสรณ์แด่ผู้นั้น เช่นกรณีของโมสาร์ตเป็นต้น[4] นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่รวมหลุมศพของประธานาธิบดีของประเทศ และพื้นที่รวมบุคคลเด่นคนดังทั้งหลายที่ถึงแก่อนิจกรรมในออสเตรีย  ทั้งนี้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้คนทั่วไปให้ไปเยือนสุสาน เหมือนไปชมพิพิธภัณฑ์หรือไปเยือนอุทยานแห่งความทรงจำ  นโยบายนี้นำมาจากการจัดการบริหารสวนสุสานแปร์ลาแช้ส(Cimetière du Père-Lachaise, สร้างขึ้นในปี 1804)ในกรุงปารีสที่เป็นต้นแบบของการสร้างสวนสุสานขนาดใหญ่ๆตามชานเมืองไกลออกจากใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์ธุรกิจการค้าหรือไกลจากเขตที่พักอาศัยของชาวเมือง
หลุมศพของฟรันซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert, 1797-1828) นักประพันธ์ดนตรี ที่สุสานกลาง ณ ชานเมืองเวียนนา ( Zentralfriedhof, Wien)  บนแผ่นหินตั้ง มีรูปปั้นครึ่งตัวของชูเบอร์ต บนแท่นสูง (รูปปั้นครึ่งตัวบนแท่นที่เป็นฐานแบบนี้เรียกว่า term หรือ herm)  เทพธิดาองค์หนึ่ง (Muse)[5] มือถือพิณ กำลังจะสวมมงกุฎใบไม้ (laurel wreath พวงหรีดขนาดเล็กทำจากใบลอเร็ล) ให้แก่ชูเบอร์ต เหมือนจะบอกว่า เขาได้รับเข้าในหมู่ทวยเทพแห่งดนตรี  บนพื้นที่ตอนล่างของรูปปั้นของชูเบอร์ต มีเทวทูตองค์น้อยพร้อมตะกร้าดอกไม้ สื่อการสรรเสริญ 

               การเนรมิตประติมากรรมจำหลักนูนประดับบนแผ่นหินตั้งยัง็็ทำกันอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน  แต่เพิ่มทางเลือกใหม่ด้วยการเนรมิตข้อความและรูปลักษณ์ใดหลอมลงบนแผ่นโลหะแล้วนำไปติดลงบนแผ่นหินประดับหลุมศพ ง่ายกว่า เร็วกว่าหรือถูกกว่า   
               ระหว่างศตวรรษที่ 13-16 ในหมู่ชนชั้นพ่อค้าและเจ้าของที่ดิน คนนิยมทำแผ่นทองสัมฤทธิ์ที่จำหลักภาพเหมือนของผู้ตายเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก  มักมีคำจารึกและรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมประกอบ บางทีทำจากเหล็กหล่อเหล็กหลอมหลากหลายรูปลักษณ์  แผ่นทองสัมฤทธิ์แบบนี้ครอบครัวจะนำไปประดับที่วัด บนพื้นทางเดินหรือบนกำแพงของวัด(หลังจากที่ได้ขออนุญาตจากทางวัดแล้ว)   ตั้งแต่ปลายยุคกลาง เกิดความอยากจัดขบวนแห่จากบ้านผู้ตายไปสู่หลุมศพโดยเฉพาะเมื่อผู้ตายเป็นบุคคลสำคัญของชุมชนนั้น   ความนิยมนี้สืบทอดต่อมาจนถึงศตวรรษที่สิบแปด  แผ่นทองสัมฤทธิ์หรือแผ่นเหล็กหล่อที่ประดับโลงศพผู้ตายนั้น ถูกยกออกเมื่อนำลงฝังใต้ดินแล้ว และนำไปประดับที่วัดต่อไป  หากไม่ทำเป็นแผ่นทองสัมฤทธิ์จำหลักภาพเหมือนของผู้ตาย  ก็ใช้หน้ากากเหมือนของผู้ตายแทน  แผ่นหินที่ประดับด้วยประติมากรรมจำหลักนูนสำหรับประดับเหนือหลุมศพ อาจเปลี่ยนไปเป็นรูปปั้นยืนอิสระก็มีมากเช่นกัน


[1] อนุสรณ์สถานนี้ตั้งอยู่บนหัวมุมถนน Eberstrasse และ Behrenstrasse ในเขต Mitte กรุงแบร์ลิน  อยู่ไม่ไกลจาก Reichtag (ที่ตั้งรัฐสภา) และใกล้สถานีใต้ดิน S-Bahn : Unter den Linden  ติดตามอ่านรายละเอียดได้ที่ www.holocaust-mahnmal.de และที่ www.stiftung-denkmal.de
[2] เริ่มสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2003 และแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2004 และทางการประกาศให้อนุสรณ์สถานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองหกสิบปีของวันแห่งชัยชนะของยุโรป เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2005   และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 12 เดือนพฤษภาคม 2005 เป็นต้นมา   วันแห่งชัยชนะของยุโรป คือวัน Victory in Europe Day หรือใช้เพียงสั้นๆว่า V-E Day ซึ่งตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม 1945และมีการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1945 เมื่อทหารพันธมิตรสามารถเอาชนะและสยบกองทหารนาซีได้ในที่สุด   การเฉลิมฉลองเหตุการณ์นี้ได้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันทั้งในยุโรปและอังกฤษ รวมทั้งเมืองต่างๆในยุโรปที่เคยถูกทหารเยอรมันเข้าไปยึดครองในระหว่างสงคราม  มีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปี 1945 อีกมากที่อาจติดตามอ่านได้ที่ www.history.com ตามด้วย V-E Day
[3] อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ www.vienna4u.at หรือที่ www.visitingvienna.com 
[4] นักประพันธ์ดนตรีและนักดนตรีที่มีอนุสรณ์สถานที่สุสานกลางกรุงเวียนนา (Zentralfriedhof, Wien) เช่น Ludwig van Beethoven, Mozart, Johannes Brahms, Johann Strauss  jr., Johann Nestroy, Antonio Salieri, Arnold Schönberg, etc.
[5] วัฒนธรรมกรีกโบราณ(Hellenism) จัดว่า แรงบันดาลใจ เกิดขึ้นเพราะมีเทพมาดลใจ อาจเป็นเทพ Apollo เทพเจ้าแห่งดนตรี หรือเทพ Dionysus เทพเจ้าแห่งไวน์และการร้องรำทำเพลง  มิฉะนั้นก็อาจมาจากเทพธิดาหรือ มิวซ์ - muse ในขนบกรีก มี มิวซ์เก้าองค์  ที่ดลใจให้สร้างสรรค์งานศิลป์แขนงต่างๆ คำ museum พิพิธภัณฑ์ ก็มาจากคำมิวซ์ คำแรงบันดาลใจ ในภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆในยุโรปใช้คำเดียวกันคือ inspiration ที่มาจากคำละติน inspirare ที่แปลว่า หายใจเข้าไป  เทพธิดาแห่งดนตรีชื่อว่าเออแต้ร์ป (Euterpe) ปกติในภาพของเทพธิดาองค์นี้ ถือขลุ่ยในมือ  ส่วนเทพธิดาที่ถือพิณชื่อเอร้าโต (Erato) เป็นเทพแห่งกาพย์กลอน
 
 
 
 
 

1 comment:

  1. ได้ความรู้ใหม่ๆอีกตามเคย แต่ก่อนไม่เคยทราบว่า cenotaph หรือ ossuary หมายถึงอะไร ขอบคุณค่ะโช

    ReplyDelete