บทความนี้ปรากฏในวารสารยุโรปศึกษา ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2013/2556. หน้า 122-165.
สุสานเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของทุกชนชาติ เป็นพยานแห่งกาลเวลา เป็นคลังเก็บประวัติศาสตร์และความทรงจำของมนุษยชาติ จนถึงศตวรรษที่สิบแปด กรุงปารีสมีสุสานใหญ่กลางเมืองชื่อว่า
ซิมตีแยร์ เดซีนอซ็องส์ (Cimetière des
Innocents) ตั้งอยู่ในเขต1ของปารีส เป็นสุสานที่ใช้ติดต่อกันมาเกือบสิบศตวรรษ ทำให้เขต 1
ที่เคยเป็นศูนย์การเมืองและการปกครอง
ศูนย์ธุรกิจและการค้า กลายเป็นที่สั่งสมเชื้อโรค กลิ่นอับกลิ่นเหม็น
เกิดมลภาวะที่ไม่เอื้อต่อสุขอนามัยของประชาชน
ชาวปารีสได้รวมกันประท้วงหลายครั้งเพื่อเรียกร้องคุณภาพอากาศ
คุณภาพชีวิตที่ถูกสุขลักษณะกว่า
ความกังวลเกี่ยวกับสุขอนามัยเป็นผลมาจากกระบวนการคิดการวินิจฉัยสรรพความรู้ที่วิวัฒน์ขึ้นในศตวรรษที่สิบแปดที่ยุโรปเรียกว่าเป็นยุคแห่งแสงสว่าง พวกเขาเริ่มตระหนักถึงความบกพร่องในวิถีการครองชีวิต
และต้องการเปลี่ยนสังคมในทุกๆด้านรวมถึงการปฏิรูปผังเมือง ปูพื้นฐานการพัฒนาสถาปัตยกรรมของเมืองและนำอุดมการณ์ใหม่ๆมาใช้ในการพัฒนาสังคม ฝรั่งเศสกลายเป็นผู้นำในการปฏิรูปเกือบทุกด้าน
เป็นแบบอย่างของการบริหารจัดการสำหรับประเทศอื่นๆในยุโรป
ในที่สุดรัฐบาลได้สั่งปิดสุสานซิมตีแยร์ เดซีนอซ็องส์ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนปี 1785 และสั่งให้ขนย้ายโครงกระดูกทั้งหมดที่ฝังที่นั่นออกจากสุสาน ทางการเริ่มจัดสรรพื้นที่โพรงลึกใต้ดินสำหรับเก็บโครงกระดูกของชาวปารีส (เรียกสุสานใต้ดินแบบนี้ว่า กะตะก๊มบส์ - les catacombes)
โพรงลึกใต้ดินที่มีอยู่ใต้พื้นกรุงปารีสนั้น
เดิมเคยเป็นแหล่งสกัดหินสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนหนทาง เริ่มจากโพรงหินใต้ดินที่ ต๊มบิ้สซัวร์ (Tombe-Issoire) แล้วขุดสร้างเป็นห้องเป็นแกเลอรีเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย
เป็นเมืองสุสานใต้พื้นกรุงปารีส [1]
การขนย้ายโครงกระดูกจากซิมตีแยร์เดซีนอซ็องส์ไปยังสุสานใต้ดินทำติดต่อกันในระหว่างปี
1786-1788 หลังจากนั้นก็ยังใช้เป็นที่รองรับโครงกระดูกของชาวปารีสผู้เสียชีวิตในยุคต่อๆมา
หรือเก็บโครงกระดูกที่ขนย้ายออกจากสุสานอื่นๆอย่างต่อเนื่องมาจนถึงกลางศตวรรษที่สิบเก้า อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายโครงกระดูกออกจากสุสานเก่าๆในปารีสนั้น
ได้ยกเว้นสุสานสามแห่ง คือสุสาน ซิมตีแยร์ เดอ
มงต์มาร์เตรอะ (Cimetière de Montmartre),
ซิมตีแยร์ มงต์ปาร์น้าส (Cimetière
Montparnasse) และ
ซิมตีแยร์ ดู แปร์ลาแช้ส (Cimetière du Père Lachaise) ทั้งนี้เพราะสุสานทั้งสามแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานที่เป็นแบบสถาปัตยกรรมสุสานที่น่าสนใจ และโดยเฉพาะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงปารีส เพราะเคยเป็นสนามรบในเหตุการณ์ต่างๆในอดีต เช่นเมื่อมีรัฐประหารหรือเมื่อมีกองทหารต่างชาติเข้ามาจู่โจมกรุงปารีส เนื่องจากสุสานทั้งสามตั้งบนเนินสูงจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการตั้งรับศัตรู ทั้งศัตรูจากภายนอกประเทศหรือศัตรูจากความแตกแยกทางการเมืองการปกครองภายในเมืองหลวงเอง ในสุสานสามแห่งนั้นจึงมีอนุสาวรีย์เป็นอนุสรณ์สำหรับผู้เสียชีวิตไปในการรบแต่ละครั้ง ฝรั่งเศสให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงและของประเทศ และต้องการอนุรักษ์ความทรงจำในอดีตให้ปรากฏแก่อนุชนรุ่นหลัง ให้เป็นทั้งสิ่งเตือนใจและบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่นนี้จึงทำให้ไม่มีการขุดย้ายโครงกระดูกออกจากสุสานทั้งสาม และสุสานทั้งสามยังคงใช้เป็นที่ฝังศพของชาวปารีสต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีกฎบัญญัติต่างๆคอยควบคุมการใช้สุสานอย่างละเอียด เนื่องจากพื้นที่สำหรับรองรับศพใหม่ๆเหลือน้อยลงๆ ส่วนการขนย้ายโครงกระดูกผู้ตายสิ้นสุดลงในปลายศตวรรษที่ 19 และนโยบายการขนย้ายโครงกระดูกออกไปจากเมืองหลวงถูกยกเลิกไป เทศบาลนครปารีสเปลี่ยนไปพัฒนาระบบบริหารจัดการสุสานและการฌาปนกิจ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนสำหรับการฝังศพ
ซิมตีแยร์ ดู แปร์ลาแช้ส (Cimetière du Père Lachaise) ทั้งนี้เพราะสุสานทั้งสามแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานที่เป็นแบบสถาปัตยกรรมสุสานที่น่าสนใจ และโดยเฉพาะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงปารีส เพราะเคยเป็นสนามรบในเหตุการณ์ต่างๆในอดีต เช่นเมื่อมีรัฐประหารหรือเมื่อมีกองทหารต่างชาติเข้ามาจู่โจมกรุงปารีส เนื่องจากสุสานทั้งสามตั้งบนเนินสูงจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการตั้งรับศัตรู ทั้งศัตรูจากภายนอกประเทศหรือศัตรูจากความแตกแยกทางการเมืองการปกครองภายในเมืองหลวงเอง ในสุสานสามแห่งนั้นจึงมีอนุสาวรีย์เป็นอนุสรณ์สำหรับผู้เสียชีวิตไปในการรบแต่ละครั้ง ฝรั่งเศสให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงและของประเทศ และต้องการอนุรักษ์ความทรงจำในอดีตให้ปรากฏแก่อนุชนรุ่นหลัง ให้เป็นทั้งสิ่งเตือนใจและบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่นนี้จึงทำให้ไม่มีการขุดย้ายโครงกระดูกออกจากสุสานทั้งสาม และสุสานทั้งสามยังคงใช้เป็นที่ฝังศพของชาวปารีสต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีกฎบัญญัติต่างๆคอยควบคุมการใช้สุสานอย่างละเอียด เนื่องจากพื้นที่สำหรับรองรับศพใหม่ๆเหลือน้อยลงๆ ส่วนการขนย้ายโครงกระดูกผู้ตายสิ้นสุดลงในปลายศตวรรษที่ 19 และนโยบายการขนย้ายโครงกระดูกออกไปจากเมืองหลวงถูกยกเลิกไป เทศบาลนครปารีสเปลี่ยนไปพัฒนาระบบบริหารจัดการสุสานและการฌาปนกิจ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนสำหรับการฝังศพ
ต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์
ปี1801
ฝรั่งเศสออกกฎหมายประกาศห้ามการฝังศพภายในตัวเมืองปารีส
ไม่ว่าที่ใดทั้งสิ้นแม้ภายในบริเวณวัดหรือใต้พื้นวัด (ยกเว้นในสุสามสามแห่งดังกล่าว) ให้ยกเลิกประเพณีฌาปนกิจตลอดจนการฝังหรือการเผาศพที่เคยปฏิบัติกันมาภายในตัวเมืองตลอดระยะเวลาพันกว่าปีที่ผ่านมา ให้ยกเลิกการสร้างสุสานล้อมรอบวัด และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้
ทางเทศบาลนครปารีสเริ่มจัดสรรพื้นที่สำหรับสุสานโดยเลือกพื้นที่บนเนินเขาสี่ทิศที่โอบล้อมกรุงปารีส
และพื้นที่นอกกำแพงเมืองด้วย สำหรับหัวเมืองและชุมชนหรือหมู่บ้านอื่นๆ
หากไม่มีเนินเขา ให้ใช้พื้นที่นอกเมืองบนเส้นทางเข้าสู่ตัวเมือง ตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมาในฝรั่งเศส
สุสานเป็นจุดเริ่มต้นบอกปริมณฑลของชุมชนหรือของเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อขับรถออกไปต่างจังหวัด หากเห็นสุสานก็หมายความว่าถึงเมืองหนึ่งแล้ว
ในที่สุด
ปารีสมีสุสานเพื่อประชาชนชาวเมืองยี่สิบแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของเทศบาล สุสานที่อยู่ภายในกำแพงเมืองมีสิบสี่แห่งในสี่มุมของปริมณฑลกรุงปารีส
และสุสานที่อยู่นอกกำแพงอีกหกแห่ง[2] สุสานเกือบทั้งหมดเปิดบริการตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบเก้า
อันเป็นยุคที่ปารีสพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และการสาธารณสุขอย่างจริงจังที่เป็นแบบอย่างการพัฒนาประเทศในยุโรปทั้งทวีป
ฝรั่งเศสเป็นบทอ้างอิงของทุกประเทศในยุโรปในเกือบทุกแขนง
นอกจากสุสานดังกล่าว
ปารีสยังมีอนุสรณ์สถานสำคัญๆอื่นๆที่ใช้เป็นที่ฝังศพบุคคลพิเศษสุดของประเทศ
เช่น ป็องเต-อง (Panthéon คำนี้มาจากภาษากรีกที่แปลว่า “เทพเจ้าทุกองค์”) พระเจ้าาหลุยส์ที่สิบห้าได้ให้ทรงสร้างขึ้นตามคำบนบานไว้ในปี 1744 ว่าหากพระองค์หายประชวรจากโรค จะให้สร้างอาคารที่ยิ่งใหญ่และเหมาะสมอุทิศแด่นักบุญผู้อุปถัมภ์ของกรุงปารีส (คือนักบุญสตรีแซ็งเตอะ
เจินวีแอ๊ฟ - sainte Geneviève มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 422-502)
พระองค์ทรงหายประชวรและในปี 1757การก่อสร้างเริ่มขึ้น
ป็องเต-องจึงเริ่มมาจากการแก้บน ในที่สุดการใช้อาคารนี้สอดคล้องกับความตั้งใจดั้งเดิมของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า นั่นคือใช้เป็นสุสานที่พักแห่งสุดท้าย ที่เก็บโลงศพของบุคคลสำคัญๆที่เป็นอริยะบุคคลของฝรั่งเศส
ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติในด้านต่างๆรวมทั้งในด้านจิตสำนึก
เสมอเหมือนนักบุญผู้ได้ปกป้องปารีสเสมอมาในวาระวิกฤตต่างๆเมื่อโรคระบาดรุนแรงแพร่เข้าไปถึงฝรั่งเศส
ข้อความที่ปรากฏจำหลักไว้อย่างชัดเจนใต้หน้าบันสามเหลี่ยมของด้านหน้า ว่า Aux grands hommes, la patrie reconnaissante ที่แปลได้ว่า “แด่คนเก่ง
ชาติรู้คุณ” ในทำนองว่า
ประเทศรู้คุณคนเก่งๆ(ปัญญาชนหัวกะทิ) ที่ได้สร้างและนำประเทศไปสู่ความเจริญ สู่ความเป็นหนึ่งในทุกด้าน
ภาพอาคารป็อง-เต-อง
(Panthéon คำนี้มาจากภาษากรีกที่แปลว่า “เทพเจ้าทุกองค์”) เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาซสิกรุ่นแรกๆ มีแปลนบนพื้นตามสัดส่วนของไม้กางเขนกรีก(ที่มีแขนทั้งสี่เท่ากัน เหมือนเครื่องหมาย +) โดยมีด้านหน้าอาคารสร้างตามแบบของ ปานเต-อน(Panteon [ป้าน-เต-อน] ที่กรุงโรม) บวกโดมสูง สถาปนิกผู้ออกแบบ (Jacques-Germain Soufflot [ฌ๊าก-แฌรฺแม็ง สู๊ฟโฟล])
ได้รวมปัจจัยด้านความเบาและความสว่างจากสถาปัตยกรรมกอติค
เข้ากับหลักการสถาปัตยกรรมคลาซสิก
เนื่องจากอาคารนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอาคารสุสาน
จึงตัดองค์ประกอบของหน้าต่างกระจกสีออก และทำหน้าต่างทึบแทน อาคารป็องเต-อง นี้ตั้งอยู่ในเขตห้ากรุงปารีส (ที่เรียกว่า Quartier Latin [ก้ารฺตีเย่ ลาแต็ง]) ประติมากรรมจำหลักนูนสูงบนหน้าบัน เสนอเนื้อหาของ
แม่ของแผ่นดินมอบพวงหรีดเป็นมงกุฎแห่งคุณงามความดีแต่คนเก่งทุกคนในแขนงต่างๆ โลงศพแรกที่ได้นำเข้าไปประดิษฐานในอาคารอันทรงเกียรตินี้เมื่อวันที่ 4 เมษายนปี 1791 คือโลงศพของ มิราโบ (Mirabeau, 1749-1791 นักเขียน นักการทูต นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองชาวฝรั่งเศส เขาสนับสนุนให้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้กฎหมายตามแนวการปกครองของอังกฤษ
จึงเป็นผู้ปฏิวัติคนหนึ่งในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
และได้พยายามเป็นตัวกลางระหว่างราชวงศ์กับฝ่ายปฏิวัติ)
ส่วน โอเต็ล เดแซ็งวาลีดส์ (Hôtel des Invalides)
ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่เพื่อให้เป็นสถานรักษาของเหล่าทหารบาดเจ็บจากสงคราม เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าทหารที่เกษียณอายุ
และเป็นสุสานของเหล่าทหารที่เสียชีวิต รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิและอังคารของนโปเลียนที่หนึ่งและของนโปเลียนที่สอง
และยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์การทหารที่รวบรวมข้อมูลทุกรูปแบบเกี่ยวกับศิลปะการทหารและประวัติการทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่นั่นยังเป็นที่ซ่อน ที่หลบภัยและที่เตรียมการของกลุ่มทหารและชาวฝรั่งเศส
ผู้รวมตัวกันอย่างลับๆด้วยความตั้งใจที่จะปลดแอกกรุงปารีสจากการยึดครองของฮิตเลอร์
โอเต็ลเดแซ็งวาลีดส์ เป็นสถานสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่สิบเก้า
สุสานทหารนิรนาม (la tombe du Soldat inconnu [ลา ต๊มบฺ ดู ซอลด้า แอ็งก็อนนู]) เป็นหลุมศพทำด้วยหินแกรนิต ฝังอยู่ใต้ ประตูชัย (Arc de Triomphe [อ๊ารฺก เดอ ทรีอ๊มฟฺ]) สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1920 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเซ็นสัญญาสงบศึกภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
(ถือเป็นวันหยุดราชการของประเทศฝรั่งเศส และของทุกประเทศในยุโรปด้วย วันที่ 11 พฤศจิกายนกลายเป็นวันแห่งการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในสงคราม) ภายในหลุมศพนั้น บรรจุร่างของทหารฝรั่งเศสนิรนามผู้หนึ่ง
เป็นตัวแทนของทหารทั้งหมดที่เสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 1923 เป็นต้นมา
มีการเพิ่มองค์ประกอบเหนือหลุมศพให้สามารถจุดเปลวไฟส่องสว่างได้ ทุกเย็นเวลาสิบแปดนาฬิกาสามสิบนาที
มีพิธีจุดไฟให้เปลวเพลิงลุกโพลงขึ้นอีก ต่ออายุของแสงไฟมิให้มีวันดับ
และโดยปริยายสานต่อความเคารพนับถือและความรู้คุณแก่ผู้ที่สละชีพเพื่อชาติ
มีทหารนายหนึ่งเปลี่ยนเวรกันมายืนรักษาการณ์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ภาพประตูชัยแห่งกรุงปารีส (เรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า Arc de Triomphe [อ๊ารฺก เดอ ทรี-อ๊งฟฺ] คำนี้ใช้เรียกประตูชัยของทุกประเทศในที่สุด) เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาซสิก จักรพรรดินโปเลียนที่หนึ่งให้ทรงสร้างขึ้นในระหว่างปี 1806-1836 ตั้งอยู่ตรงจุดใจกลางของ ปล๊าซ-เดอ-เลตัวล์(Place de l’Etoile - พื้นที่แห่งดวงดาว) สุดถนนด้านทิศตะวันตกของถนนช็องส์-เซลีเซ่ส์ (avenue des Champs-Elysées [อาเวอนู เด ช็องเซลีเซ่]) จากจุดตรงนั้น มีถนนใหญ่ๆ(แบบอาเวอนู คือถนนกว้างมากและมีต้นไม้ปลูกสองข้างถนน) 12 เส้นตัดเป็นแนวกระจายไปทุกทิศเหมือนความสุกปลั่งของดวงดาว ส่วนประติมากรรมจำหลักนูนสูงทั้งหมด เป็นผลงานอันยอดเยี่ยมของสถาปนิกฝรั่งเศส ตามศิลปะแห่งต้นศตวรรษที่สิบเก้า ประตูชัยนี้สร้างเป็นเกียรติแก่ทุกคนที่ได้ต่อสู้ปกป้องประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะผู้ที่ได้ไปรบในรัชสมัยของนโปเลียนที่หนึ่ง มีรายชื่อนายพลทุกคนจำหลักไว้ด้านในกำแพงของประตูชัยและบนเพดานโค้ง และยังมีชื่อจำหลักไว้บนพื้นใต้เพดานโค้ง บนพื้นใต้ประตูโค้งเป็นที่ตั้งของหลุมศพทหารนิรนามจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เช่นนี้ ประตูชัยจึงมิได้เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะเท่านั้นแต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือความรักชาติ
สุสานอนุสรณ์ทหารนิรนาม ที่อยู่ใต้ประตูชัยของกรุงปารีส(Arc de Triomphe [อ๊ารฺก เดอ ทรีอ๊มฟฺ]) มีพิธีจุดไฟเวลาสิบแปดนาฬิกาสามสิบนาทีทุกวันตลอดทั้งปีและทุกปีในทุกสถานการณ์ พิธีนี้ยังไม่เคยหยุดชะงักเลย ทั้งนี้เพื่อรักษาให้เปลวไฟลุกอยู่เสมอไม่มีวันดับ การจุดไฟทุกเย็นทุกปีนั้นเป็นหน้าที่ของกองทหารผ่านศึกที่มีจำนวนประมาณ900คนจากสมาคมทหารผ่านศึกของฝรั่งเศสเก้าสมาคมที่รวมกันเป็นหน่วยจุดไฟ เมื่อกรุงปารีสหลุดออกจากการยึดครองของกองทหารเยอรมันในวันที่ 26 สิงหาคมปี 1944 เวลาบ่ายสามนาฬิกา ก่อนมีพิธีเฉลิมฉลองเสรีภาพ นายพลชาลส์เดอโกล (General Charles de Gaulle) เลือกที่จะไปที่หลุมศพทหารนิรนามใต้ประตูชัยและวางพวงหรีดเหนือหลุมศพนั้น ให้ทำพวงหรีดเป็นรูปไม้กางเขนแบบลอแรน สีขาวประดับด้วยดอกไม้ ตั้งแต่นั้นมาประตูชัยกลายเป็นที่ประกอบพิธีเฉลิมฉลองระดับชาติเสมอมาและโดยเฉพาะในวันที่ 11พฤศจิกายน(วันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายชัยชนะปี 1918 และถือเป็นวันหยุดสำคัญในยุโรป), วันที่ 8 พฤษภาคม(วันV-E Day หรือ Victory in Europe Day เป็นวันสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป ปี 1945 และต่อมาก็เป็นวันหยุดเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้) และแน่นอนในวันชาติฝรั่งเศสวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี
นอกจากนี้ยังมีวัดหลายแห่งในกรุงปารีสที่เก็บโลงศพของบุคลสำคัญๆคนก่อนๆไว้ เช่นเดียวกับสถาบันปาสเตอร์
ก็มีวัดใต้พื้นที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานหลุมศพของนายแพทย์หลุยส์ ปาสเตอร์ หรือที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne) ก็มีวัดเล็กภายในที่เก็บศพของริเชอรีเยอ (Richelieu, 1585-1642 รัฐบุรุษผู้มีอำนาจเต็มรองจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม)
ในกรุงปารีสยังมีสุสานอีกสามสี่แห่งที่มิได้อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลกรุงปารีส
I. กฎระเบียบว่าด้วยการใช้สุสาน
ตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา การบริหารจัดการสุสานทั้งหมดของนครปารีส ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพื้นที่เขียวและสิ่งแวดล้อม (Direction des Espaces et de
l’Environnement) ที่ประกอบด้วยกรรมการผู้ดำเนินธุรกรรมทั้งหมด
4000 คน คณะกรรมการนี้มีหน้าที่บริหารจัดการและรับผิดชอบสุสาน
สวนสาธารณะ สวนจัตุรัสภายในกลุ่มอาคารใหญ่
สวนดอกไม้และป่าไม้ในปริมณฑลของกรุงปารีส
ตามนโยบายใหม่แห่งยุคของการอนุรักษ์พื้นที่เขียว
ทำให้ต้องปรับปรุง พัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่สาธารณะให้งดงาม และให้เป็นที่รวมของมรดกด้านพืชพรรณของชาติด้วย การอนุรักษ์สุสานให้เป็นพื้นที่เขียว พัฒนาให้เป็นภูมิทัศน์ที่หลากหลายไปด้วยพันธุ์ไม้ดอก
พุ่มไม้และต้นไม้ มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของชาวเมืองปารีสมาก
เพราะนอกจากการเป็นสวนแห่งความทรงจำแล้ว
ยังเป็นพื้นที่สำหรับการเดินเล่น
การสงบอารมณ์
การสำรวมและการตรึกตรอง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
เทศบาลนครปารีสได้วางกฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ระบุระเบียบการเข้าออกสุสาน
การใช้สุสาน การประกอบพิธีฌาปนกิจและการให้สัมปทานแปลงดินทำหลุมศพในสุสาน กฎเหล่านี้บังคับใช้กับสุสานทั้งยี่สิบแห่งของปารีส [3]1. ใครบ้างมีสิทธิ์ใช้สุสานของปารีส?
กฎหมายทั่วไปสำหรับพื้นที่ส่วนรวมได้เจาะจงไว้ว่า เจ้าหน้าที่สุสานในนามของรัฐบาลต้องรับศพผู้ตายโดยไม่เลือกว่าผู้ตายนับถือศาสนาอะไร ตามหลักการต่อไปนี้คือ
1) คนนั้นเสียชีวิตในขณะที่อาศัยอยู่ในปารีส ไม่ว่าเขามีถิ่นที่อยู่ทางการ ณ ที่อื่นใด
2) คนนั้นมีถิ่นที่อยู่ทางการในปารีส ไม่ว่าเขาไปเสียชีวิตณที่อื่นใด
3) คนนั้นเป็นเจ้าของโดยตรง หรือมีสิทธิ์(จากการสืบทอดมรดก)ใช้พื้นที่หลุมศพในสุสานหนึ่งของชุมชนนั้น
(ผู้ที่มีสิทธิ์จากการได้สัมปทานแปลงดินหนึ่งในสุสานนั้น อาจนำศพของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกของครอบครัวไปฝังในพื้นที่นั้นได้ เพราะบุคคลนั้นมีความผูกพันเป็นพิเศษ มีความรักหรือมีบุญคุณเป็นพิเศษต่อผู้ซื้อสัมปทานแปลงดินนั้น ในกรณีดังกล่าว ผู้ซื้อควรเขียนระบุความต้องการเป็นรายลักษณ์อักษรและนำเสนอเพื่อทราบต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสุสาน หากมิได้ทำเรื่องไว้ และเมื่อผู้ซื้อถึงแก่กรรม การนำศพบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกโดยตรงของครอบครัวเข้าไปฝังในพื้นที่ของครอบครัว ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากทายาททุกคนก่อน)
2. สัมปทานแบบต่างๆ
คนที่ขอสัมปทานที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อให้เป็นที่ฝังศพของตนเองหรือของทุกสมาชิกในครอบครัว ต้องระบุกำหนดเวลาที่มีให้เลือกดังนี้ 1) ระหว่าง 5
ถึง15 ปี 2) 30 ปี
3)
50 ปี
และ4)
แบบถาวรไม่มีกำหนด (เคยมีการให้สัมปทานนานร้อยปี
แต่ถูกยกเลิกไปแล้วในปี 1959) เมื่อเลือกกำหนดเวลาของสัมปทานแล้ว ก็นำเสนอต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนมักเป็นประเด็นที่นำไปสู่การงดให้สัมปทานแบบถาวร จนถึงปี 2003 สุสานภายในกำแพงเมืองปารีสให้สัมปทานถาวรเท่านั้น ส่วนสุสานนอกกำแพงเมืองเปิดให้เลือกได้สี่ระยะดังกล่าว ในปี 2003
เทศบาลนครปารีสเปลี่ยนระบบการให้สัมปทานที่ดินในสุสานปารีสทุกแห่ง(ทั้งในและนอกกำแพง)โดยเปิดให้เลือกได้สี่ระยะเวลาคือ 10ปี 30ปี 50ปี และสัมปทานถาวร หากมีที่ดินว่างเมื่อขอไป มิฉะนั้นทางการก็จะจดความต้องการซื้อไว้คอยโอกาสในอนาคตเรียงตามลำดับวันที่ยื่นขอ การซื้อและการใช้สิทธิ์จากสัมปทานระยะสั้นไม่เกินสิบปี
เริ่มขึ้นเมื่อมีผู้ตายคอยการฌาปนกิจทันที
ส่วนสัมปทานระยะตั้งแต่สามสิบปีขึ้นไปนั้น สามารถซื้อไว้ล่วงหน้าได้
แต่การใช้สิทธิ์บนที่ดินเริ่มขึ้นเมื่อมีผู้ตายคอยพิธีฌาปนกิจ(ที่อาจเป็นญาติหรือผู้ซื้อสัมปทานเองเป็นต้น) ที่ดินที่ทางการอนุมัติสัมปทานแต่ละแปลงต้องว่างเปล่าทั้งรูปแบบอนุสรณ์หรือแบบสถาปัตยกรรมใดๆบนดินและลึกลงไปใต้ดินก็ต้องไม่มีร่างผู้ตาย
โครงกระดูกหรืออัฐิอังคารที่ยังหลงเหลืออยู่ในดิน มีกรณีพิเศษเหมือนกันที่เทศบาลนครปารีสให้สัมปทานแปลงดินที่ยังคงมีอนุสาวรีย์
มีอาคารเก็บศพ หรือมีแผ่นหินตั้งที่เป็นพยานหลักฐานของประวัติศาสตร์ของชุมชนนั้น (แต่ไม่มีร่างผู้ตายฝังอยู่ใต้ดินแล้ว) เนื่องจากสุสานแปร์ลาแช้สเป็นสุสานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกประวัติศาสตร์ของปารีส
ทางการจึงพยายามอนุรักษ์อนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานเหล่านั้นไว้ให้เป็นมรดกของชาติ
เป็นข้อมูลสำหรับคนรุ่นหลัง
แทนการทำลายทิ้งตามระเบียบการให้สัมปทานแปลงดินในสุสาน
จึงเปิดโอกาสให้ชาวเมืองปารีสซื้อสัมปทานที่ดินแปลงประวัติศาสตร์บางแปลงได้
โดยมีข้อแม้บางประการ ผู้ซื้อสัมปทานต้องร่วมมือกับฝ่ายสถาปนิกของเทศบาลในการอนุรักษ์อนุสาวรีย์หรือสิ่งที่มีมาก่อนบนที่ดินแปลงนั้นให้อยู่ในสภาพที่ดีเพื่อเป็นตัวอย่างของสุสานศิลป์ของปารีสต่อไป
3. อัตราค่าธรรมเนียม
อัตราค่าธรรมเนียมในการขอสัมปทานนั้นแตกต่างกันระหว่างสุสานที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองปารีส
และสุสานที่อยู่นอกกำแพงเมืองปารีส
การซื้อสิทธิ์ใช้สุสานในเมืองปารีสแพงกว่า
สัมปทานถาวรในสุสานภายในกรุงปารีสย่อมแพงที่สุด คือ 13.430 ยูโรต่อพื้นที่สองตารางเมตรเป็นต้นและเสียเพิ่มอีก13.430
ยูโรต่อทุกหนึ่งตารางเมตรที่เพิ่มขึ้น สัมปทานช่องเก็บอังคารในอาคารโกล็อมบารีอ็อม
(Columbarium)
นั้นมีระยะเวลากำหนดไม่เกิน 50 ปี ตัวอย่างกรณีสัมปทานพื้นที่ 0,15 ตารางเมตรต่อหนึ่งช่อง ในสุสานแปร์ลาแช้ส เริ่มตั้งแต่ 1.725
ยูโรสำหรับ 50 ปี 1.105 ยูโรสำหรับ 30 ปี และ 365 ยูโรสำหรับ10 ปี เป็นต้น ทั้งสัมปทานแปลงดินในสุสานและสัมปทานช่องเก็บอังคารในอาคารโกล็อมบารีอ็อม
มีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมเป็นสัดส่วนตามขนาดของพื้นที่
ระยะเวลา และที่ตั้งของสุสาน (ดูข้อมูลจากเอกสารทางการของเทศบาลนครปารีสได้ตามรายละเอียดที่ระบุไว้แล้วในเชิงอรรถ
3) นอกจากค่าธรรมเนียมในการซื้อสัมปทานแปลงดินในสุสานปารีส ยังมีค่าการเก็บค่าเช่าหรือค่าบริการอื่นๆอีกเช่น ค่าเก็บโลงศพไว้ชั่วคราวในหลุมศพของเทศบาลนครในสุสานทุกแห่ง คือ 60 ยูโรในเดือนแรก หลังจากนั้นคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มวันละ 2 ยูโร หรือค่าบริการการจัดแต่งโลงศพให้ดูเรียบร้อยเมื่อมีการขุดโลงที่ฝังไว้ชั่วคราวขึ้นมา แล้วย้ายไปฝังในอีกพื้นที่หนึ่งคือ 19 ยูโรต่อครั้ง ส่วนค่าบริการในการบรรจุอัฐิอังคารลงในภาชนะหรือโกศ ที่รวมรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตาย วันที่ขุดศพขึ้น การขนย้าย การนำไปเก็บ ตลอดจนค่าบรรจุภัณฑ์ เหมือนกันในทุกสุสานคือ 300 ยูโร ยังมีภาษีที่เทศบาลเรียกเก็บเมื่อมีการบรรจุศพ การฝัง หรือการเก็บอังคารใส่โกศ ในสุสานทุกแห่ง คือ 32 ยูโร ไม่ว่าโลงศพหรือโกศจะมาจากที่ใดในปารีสหรือไม่ ภาษีนี้ไม่เกี่ยวกับการฝังศพทหารที่โอแตล เด แซ็งวาลีดส์ (Hôtel des Invalides) ขอให้ทางเทศบาลช่วยบริการ ไม่เกี่ยวกับบุคคลที่ไม่มีรายได้ (เทศบาลจัดทำให้ฟรี - convois gratuits) หรือบุคคลที่มีรายได้น้อย(เทศบาลจัดทำให้ฟรี- convois sociaux) หรือการย้ายจากที่เก็บโลงหรือโกศชั่วคราว ไปยังที่ฝังศพหรือที่เก็บอังคารภายในสุสานเดียวกัน กรณีเหล่านี้ มิต้องเสียภาษี [4]
ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2012เป็นต้นมา เทศบาลนครปารีส (SFVP - Services funéraires de la Ville de Paris) จัดเสนอบริการฌาปนกิจในราคาประหยัดเป็นครั้งแรก ที่ชาวปารีสอาจเลือกใช้ได้อย่างสะดวก โดยเข้าไปศึกษาเปรียบเทียบและพิจารณา แล้วอาจตัดสินใจเลือกใช้บริการออนไลน์ได้ทันที พร้อมทั้งกำหนดวันและพิธีการรวมทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ผ่านอินเตอเน็ตของเทศบาลที่ www.revolution-obseques.fr เทศบาลได้เสนอเรื่องราคาและการบริการที่เสียค่าธรรมเนียมพื้นฐานเป็นจำนวนเงิน 789 ยูโร รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ต้องเสียภาษีท้องถิ่น การบริการมีดังนี้คือ จัดหาโลงบรรจุศพที่ทำจากไม้โอ๊คพร้อมแผ่นจารึกชื่อวันเกิดและวันตาย จัดหารถพร้อมคนขับ ย้ายโลงไปยังที่เผาศพหรือที่ฝังศพ ค่าบริการดังกล่าวไม่รวมการย้ายศพจากที่อยู่อาศัยของผู้ตาย ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเผาหรือการฝังที่ครอบครัวผู้ตายต้องจ่ายเพิ่มอีก
4. แปลงดินที่ได้สัมปทานมานั้น
ใช้ฝังผู้ตายได้กี่คน? มีขนาดพื้นที่เท่าไร?
เมื่อได้สัมปทานแปงดินสำหรับฝังศพแล้ว ผู้ขอสัมปทานต้องไปจัดการพื้นที่ภายในเวลา 3-6 เดือนขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ขอซื้อสัมปทานมา ทำกรอบหรือรั้วให้ชัดเจน เตรียมพื้นที่สำหรับการฝัง ขุดดินลึกลงไปสองเมตร ปูพื้นล่างของหลุมให้เรียบร้อย
ทางการมีแบบเป็นตัวอย่างให้เลือก การก่อสร้างใดบนแปลงดินนั้นเป็นความรับผิดชอบของผู้ซื้อ ทันทีที่มีการฝังโลงศพในหลุม
พื้นที่หลุมนั้นจะถูกปกคลุมด้วยดินจำนวนมากอย่างแน่นหนาจนถึงระดับเดียวกับพื้นสวน
และปิดพื้นผิวหน้าด้วยแผ่นหินแข็งหรือแผ่นเหล็กหนาและหนักลงเหนือหลุมศพนั้น
แล้วปิดอย่างแน่นหนาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลุมศพปกติที่จัดให้ในสัมปทานนั้นมีพื้นที่สองตารางเมตร
(ยาว 2
เมตร x กว้าง
1 เมตร) แต่ละหลุมห่างกันตรงบริเวณหัวระหว่าง 30-40 เซนติเมตรและอย่างน้อย 1 เมตรบริเวณเท้า กฎหมายยังระบุรายละเอียดเกี่ยวกับหลุมศพว่า
ความลึกหนึ่งเมตรแรกที่วัดลงจากผิวพื้นเป็น หนึ่งเมตรอนามัย (mètre sanitaire) พื้นที่ส่วนนี้ต้องไม่ใช้ฝัง จากระดับหนึ่งเมตรลงไปทุกห้าสิบเซนติเมตร
ให้ฝังโลงศพได้หนึ่งโลง
เช่นนี้แปลงดินหนึ่งฝังโลงศพขนาดใหญ่ได้สองโลงและโกศบรรจุอังคารได้หลายโกศ
ทั้งยังอาจฝังกล่องบรรจุกระดูกอื่นๆลงไปได้ด้วยแล้วแต่ขนาดของโกศและของกล่อง สุสานบางแห่งมีแปลงดินที่ใหญ่กว่า ความกว้างของแปลงดินขยายออกตามแนวนอน มากกว่าในแนวตั้งหรือแนวลึก จำนวนโลงที่จะนำลงฝังเป็นไปตามที่กฎหมายระบุไว้ และไม่เกี่ยวกับระยะเวลาของสัมปทานที่ได้มา บางคนอาจสร้างอาคารเหนือแปลงดิน(caveau)เหมือนป้อมยามแบบตันๆขนาดใหญ่นั้น หรือให้เป็นแบบสถาปัตยกรรมคลาซสิกหรือแบบอื่นใดบนแปลงดินนั้น จำนวนศพที่ฝังเก็บในดินแปลงนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่ภายในและใต้พื้นของอาคารแบบนั้น ไม่ว่าจะจัดการวางโลงศพหรือโกศด้วยวิธีใดและจำนวนเท่าใด ต้องไม่มีอะไรในความลึกหนึ่งเมตรอนามัย ดังกล่าวมาข้างต้น อาจจัดพื้นที่ใต้ดินเป็นช่องๆ หนึ่งช่องทุกห้าสิบเซนติเมตร แต่ละช่องให้ไว้โลงได้เพียงโลงเดียว หากอาคารฝังศพแบบนี้มีความลึก 4 เมตร เท่ากับว่า ฝังโลงศพลงไปได้ 6 โลงซ้อนๆกัน(ในความลึกสามเมตร+ความลึกหนึ่งเมตรอนามัย) หากมีพื้นที่กว้างมากกว่าลึก อาจแบ่งวางสองโลงเรียงกันในแต่ละระดับ เป็นต้น เมื่อพื้นที่ภายในเต็มหมดแล้ว เจ้าของยังอาจทำเรื่องไปที่กรมตำรวจเพื่อขอให้อนุมัติการลดจำนวนโลงศพลง เช่นด้วยการรวมกระดูกหรืออัฐิจากโลงสองสามโลงเข้าด้วยกัน หรือด้วยการรวบรวมกระดูกในโลงหนึ่งแล้วย้ายไปบรรจุลงในโลงที่มีขนาดเล็กลง หรือนำไปบรรจุลงในภาชนะรูปลักษณ์อื่นที่เล็กลง เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับฝังโลงใหม่ลงไปได้
ในพิธีฌาปนกิจ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร รายละเอียดของ “สิ่งบรรจุศพ” ที่ต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่เทศบาลกำหนดไว้ นั่นคือสิ่งบรรจุศพนั้นต้องปิดแน่นหนาและทำจากวัสดุที่ไม่มีวันเสื่อมสลาย(เพื่อสุขอนามัยและเพื่อความสะดวกเมื่อจำเป็นต้องขุดศพขึ้นมาตรวจและฝังคืนลงไปอีกครั้งเป็นต้น) เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกฎข้อบังคับแล้วเท่านั้น จึงเริ่มพิธีฝังศพ หากมีอะไรที่ผิดจากกฎข้อบังคับ ก็ต้องเลื่อนพิธีออกไป ในกรณีนี้ ศพจะถูกนำไปเก็บในห้องเก็บชั่วคราวก่อน ญาติผู้ตายต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฝากเก็บด้วย
5. การต่ออายุสัมปทาน
ตามหลักการ
ผู้ซื้อสัมปทานหรือทายาทของเขาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขอต่ออายุสัมปทาน เมื่อใกล้สิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานที่ทำไว้ ฝ่ายบริการสุสานจะมีจดหมายบอกไปยังเจ้าของสัมปทาน แต่โดยทั่วไปผู้ซื้อมักถึงแก่กรรมไปแล้ว
เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของครอบครัวที่ต้องไปสอบถามให้ชัดเจนว่าสัมปทานที่ได้
สิ้นสุดลงเมื่อไรอย่างเฉพาะเจาะจง
ทายาทของผู้ซื้อสัมปทานต้องนำเอกสารยืนยันตัวต่อเจ้าหน้าที่สุสาน[5] การต่ออายุสัมปทานอาจต่อตามระยะเวลาเท่าเดิม
น้อยกว่าหรือมากกว่าก็ได้
ทายาทหรือครอบครัวมีเวลาสองปีเพื่อต่ออายุ และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว
ทางการจะประกาศติดไว้ที่เทศบาลในแต่ละเขตของกรุงปารีส หากไม่มีผู้ใดมาต่ออายุ เพราะผู้ซื้อสัมปทานไม่มีญาติ หรือเพราะครอบครัวผู้ซื้อไม่ต้องการรับผิดชอบต่อ และหากแปลงดินนั้นไม่มีใครมาดูแลรักษา ถูกปล่อยให้เสื่อมโทรมจนอาจเป็นอันตรายต่อคนหรือหักพังลงจนไปกระทบความมั่นคงของหลุมศพหรือของอาคารเก็บศพที่อยู่ข้างๆ ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย จะดำเนินเรื่องเพื่อให้ผู้ซื้อสัมปทาน ทายาทหรือผู้มีสิทธิ์ ทำการบูรณะแปลงดินและสถาปัตยกรรมบนที่ดินแปลงนั้น กระบวนการนี้ให้โอกาสดำเนินการนานถึงสี่ปี หลังจากนั้นหากยังไม่มีอะไรคืบหน้า ที่ดินแปลงนั้นจะกลับคืนเป็นสมบัติของฝ่ายบริหารสุสาน ทางการจะรื้อถอน ทุบหรือทำลายสิ่งใดที่อยู่บนแปลงดินนั้น รวมทั้งขุดโครงกระดูกผู้ตายที่ฝังอยู่ใต้ดินออกมา ใส่กล่องและนำไปเก็บพร้อมบันทึกชื่อปีเกิดปีตายแล้วไปไว้ในอาคารเก็บกระดูกและอังคารที่ทางการจัดให้ หรือถูกฝังลงในดินภายในอาคารเก็บกระดูกนั้นทันที หรือนายกเทศมนตรีอาจเลือกทำพิธีเผากระดูกเหล่านั้นก็ได้เช่นกัน ในทุกกรณี กระดูกอัฐิหรืออังคารผู้ตายได้รับการเก็บรักษาดูแลตามจรรยาบรรณศีลธรรมอันดี หลังจากนั้นก็จัดเตรียมพื้นที่แปลงนั้นให้พร้อมสำหรับขายต่อให้ผู้ที่มาขอซื้อสัมปทาน การบริหารแนวนี้ทำให้มีพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้นเพื่อฝังศพรายใหม่ๆในปัจจุบัน
คำตัดสินจากศาลยุติธรรมเจาะจงว่าที่ดินในสุสานอยู่นอกระบบการค้าทุกประเภท ผู้มีสิทธิ์สามารถเพียงโอนแปลงดินหนึ่งให้ทายาท มีใบรับรองที่ลงตราอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือบริจาคเป็นการกุศลแก่บุคคลอื่นที่มิใช่เป็นสมาชิกของครอบครัวนั้น(มีเงื่อนไขจำกัด) หรือมอบคืนแก่ชุมชน ในกรณีนี้ผู้ซื้อหรือทายาทอาจได้เงินคืนจำนวนหนึ่ง การให้สัมปทานแปลงดินใดในสุสาน แปลงดินนั้นต้องไม่มีร่างผู้ตายหรือไม่มีรูปแบบอนุสรณ์หรือสิ่งก่อสร้างใดบนแปลงดินนั้น
6. สิทธิและหน้าที่ของผู้ได้สัมปทานที่ดินในสุสาน
สัมปทานแปลงดินในสุสานเป็นสัญญาทางการระหว่างชุมชนกับผู้ขอซื้อ
ที่อนุมัติให้ผู้ซื้อเข้าใช้พื้นที่สาธารณะ
สุสานเป็นพื้นที่สาธารณะ
ส่วนโลงศพที่ผู้ซื้อนำเข้าไปฝังในแปลงดินเป็นสมบัติส่วนตัว แปลงดินในสุสานเหมือนอสังหาริมทรัพย์อื่นใด
เจ้าของมีสิทธิ์ใช้ได้ตามที่เขาเห็นควร แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบและต้องเคารพกฎกติกาของการใช้ทรัพย์สินสาธารณะ หากทำการใดที่ทำให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมสลายลง ก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย ทายาทของผู้ซื้อได้รับสิทธิ์การใช้สุสานเป็นมรดกสืบทอดจากผู้ซื้อควบคู่กับการยอมรับหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อแปลงดินนั้น โดยทั่วไปทายาทผู้รับมรดกสัมปทานในสุสาน มักลืมหรือไม่รู้ว่ามรดกแบบนี้นั้นมีข้อบังคับและความรับผิดชอบที่เขาต้องยึดถือและปฏิบัติตาม
หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ถือสัมปทานแปลงดินในสุสาน ที่สำคัญๆ เช่น
ภายในสามเดือนหลังจากที่ได้สัมปทานแล้ว ผู้ซื้อต้องจัดสร้างที่ฝังศพใต้ดินบนแปลงดินของเขาและปิดด้วยแผ่นหินระบุชื่ออย่างถูกต้อง หรือบริหารจัดการและกำหนดขอบเขตของพื้นที่และสร้างอนุสาวรีย์(หรือไม่ก็ได้) เหนือพื้นที่ฝังศพ
ผู้ซื้อหรือทายาทต้องดูแลแปลงดินที่ได้สัมปทานมา คือทำความสะอาดบริเวณอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อให้สภาพของแปลงดินนั้นสะท้อนความเป็นระเบียบและภาพลักษณ์อันงามสง่าของสุสาน และตรวจตราว่าวัสดุประดับตกแต่งเหนือหลุมศพบนแปลงดินของเขาไม่ก่ออันตรายใดๆแก่ผู้คนที่ผ่านไปมา เช่นอนุสาวรีย์ที่ทรุดลง วัสดุที่เป็นโลหะแหลมคมจนเกินไป หรือแผ่นหินที่ปูเหนือหลุมศพแตกร้าวเป็นขั้นที่อาจทำให้คนเดินผ่านไปสะดุดหกล้ม ผู้ได้สัมปทานต้องบูรณะปรับปรุงสิ่งก่อสร้างใดที่อยู่เหนือแปลงดินนั้นให้เรียบร้อยถูกต้องเสมอ หากเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุแก่ใครหรือทำให้สิ่งก่อสร้างบนแปลงดินที่ตั้งอยู่ติดกันเสียหาย เจ้าของสัมปทานแปลงดินนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหาย ตามคำวินิจฉัยของศาลแพ่งและหรือศาลอาญา
ผู้ซื้อหรือทายาทมีหน้าที่รายงานที่อยู่ การเปลี่ยนหรือการย้ายที่อยู่อย่างต่อเนื่องแก่สำนักงานสุสาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อรายงานเกี่ยวกับสภาพของแปลงดินที่เขาถือสัมปทานอยู่ว่าต้องแก้ไขซ่อมแซมอะไรไหมเพราะอะไร ฝ่ายบริหารจัดการของเทศบาลไม่มีหน้าที่ติดตามหาที่อยู่ของผู้ซื้อที่อาจย้ายหรือเปลี่ยนที่อยู่โดยมิได้แจ้งให้ทางสุสานรับรู้ และก็ไม่มีหน้าที่ติดตามหาทายาทของผู้ซื้อหากเขามิได้ไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสุสาน
ทายาท(ทุกคน) ของผู้ซื้อสัมปทาน ต้องไปแสดงตนที่สำนักงานของสุสานพร้อมหลักฐานยืนยันการเป็นทายาท มิฉะนั้นพวกเขาจะไม่มีสิทธิ์ใช้หลุมศพ ในความเป็นจริง เป็นการยุ่งยากมากที่ทายาทจะสามารถรวบรวมใบสำคัญๆต่างๆให้ได้ทันทีเมื่อผู้ซื้อถึงแก่กรรม เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ของเขาเหนือหลุมศพนั้น ทางการจึงแนะนำให้ทายาทเตรียมเอกสารทั้งหลายไว้ให้พร้อมล่วงหน้านานๆ ทายาทอาจติดต่อขอทราบระเบียบการและข้อมูลรายละเอียดต่างๆได้จากสำนักงานสัมปทานที่เป็นส่วนหนึ่งของงานบริการของสุสาน(ณที่ทำการเดียวกับที่ระบุไว้ในเชิงอรรถข้อ6)
7. ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
1) ใครจะนำศพไปฝังในสุสานไม่ได้
ถ้าไม่มีเอกสารจากนายแพทย์รับรองการตายของศพนั้น
หลังจากที่แพทย์ได้ทำการชันสูตรศพและรับรองการตายอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์การแพทย์และที่ยืนยันการตายตามกฎหมาย และหลังจาก 24 ชั่วโมงผ่านไปแล้วเท่านั้น ญาติผู้ตายจึงดำเนินเรื่องการฝังหรือเผาศพได้ ญาติผู้ตายมีเวลาจัดการฌาปนกิจภายในเวลา 6 วันหลังจากวันตาย
(วันอาทิตย์และวันหยุดไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของหกวัน) การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้โอกาสญาติตระเตรียมพิธีฌาปนกิจ ให้พิจารณาความต้องการของผู้ตาย(หากมี)
ให้ตรวจสอบว่าผู้ตายได้ทำสัญญาฌาปนกิจกับบริษัทใดหรือไม่ พิจารณาการจัดการกับร่างผู้ตาย ความต้องการส่วนตัวของผู้ตาย การตัดสินใจของครอบครัวจะให้ฝังหรือเผา
จะบริจาคร่างหรืออวัยวะไหม ในที่สุดครอบครัวผู้ตายเลือกใช้บริการของสมาคมหรือบริษัทที่จัดการฌาปนกิจ ตกลงกันในเรื่องราคา รูปแบบของการจัดหลุมศพเป็นต้น
กรมตำรวจมีรายชื่อบริษัทผู้บริการเรื่องการฌาปนกิจที่ชาวปารีสไปตรวจสอบและติดต่อได้ เทศบาลนครปารีสได้จัดเอกสารให้ข้อมูลอย่างละเอียดในเอกสารชื่อ
Les obsèques à 2) สุสานปารีสเป็นที่รวมและที่ทำงานของบุคลากรหลายประเภทตลอดทั้งปี มีข้าราชการประมาณ 500 คน มีหัวหน้าฝ่ายบริหาร(conservateur [กงแซรฺวาเตอรฺ]) เป็นผู้ดูแลสุสานหนึ่งแห่ง(หรือหลายแห่ง) มีเจ้าหน้าที่เป็นบุคคลในอาชีพต่างๆอยู่ในสังกัดประมาณ 40-90 คนแล้วแต่ขนาดและเครือข่ายของงานที่เขารับผิดชอบ ทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับและบริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการ การให้สัมปทานแปลงดินในสุสาน รวมถึงการจัดเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสุสาน มีเจ้าหน้าที่ประจำตรงทางเข้าสุสานเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งของหลุมศพคนใดคนหนึ่ง(เป็นเอกสารที่ฝรั่งเศสใช้คำย่อว่า AAS)
มีเจ้าหน้าที่บริหารการเข้าออกของขบวนแห่ศพ การฝังศพ การขุดรื้อโลงศพ ในนามของข้าราชการชั้นสูงผู้เป็นตัวแทนรัฐบาลในแต่ละเมือง ตามกฎหมายฝรั่งเศสเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ผ่านการอบรมความรู้ พิธีการและพิธีกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับสุสานมาแล้วตลอดระยะเวลาตั้งแต่ 18 ถึง 190 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับหน้าที่ในตำแหน่งของแต่ละคน
มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและความปลอดภัย ดูแลปกป้องสถานที่และทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆเช่น ไม้กางเขน โกศ สิ่งประดับอื่นใด และต้นไม้พืชพรรณที่อยู่ภายในสุสาน รักษาความปลอดภัยแก่คนที่เข้าไปในสุสาน คอยตรวจตระเวนสุสานในยามค่ำคืนพร้อมทั้งสุนัขที่ได้รับการฝึกสำหรับตรวจจับบุคคลผู้ต้องสงสัยประเภทต่างๆที่อาจแอบซ่อนอยู่ในสุสาน (ดังเคยปรากฏมาแล้วในประวัติศาสตร์การต่อสู้ ต่อต้านในยุคปฏิวัติและหลังการปฏิวัติ ที่มีการซ่องสุมผู้คนภายในสุสานเพื่อหนีจากการถูกจับฆ่าทิ้งเป็นต้น)
เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคหรือผู้ดูแลสวนในสุสานซึ่งมักมีจำนวนคนไม่เพียงพอ เช่นที่สุสานแปร์ลาแช้ส มีคนสวนประจำ 6 คนที่ทำงานทุกวัน เป็นผู้ดูแลตกแต่งดอกไม้ตามจุดต่างๆกว่า 100 แห่งภายในสุสาน และเก็บกวาดใบไม้แห้ง ตัดเล็มหรือดายหญ้า ซ่อมแซมม้านั่ง แผ่นป้ายประกาศ เป็นต้น คนสวนทำงานหนักมาก เช่นนี้เทศบาลจึงจัดจ้าง บริษัทภายนอกให้เข้าไปทำงานตามวาระต่างๆ เช่น ตัดกิ่งหรือต้นไม้ที่ตายแล้วทิ้ง หรือโค่นต้นไม้บางต้นเป็นต้น
สัปเหร่อเป็นผู้ทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับการขุดหลุมศพ การฝังหรือการขุดย้ายศพออก เขามีหน้าที่เข้าร่วมงานพิธีฌาปนกิจในหมู่ญาติมิตรของผู้ตายด้วยในท่าทีสงบและสำรวม เขารับคำสั่งโดยตรงจากหัวหน้าผู้บริหารสุสานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมีการขุดรื้อหลุมศพและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างใดที่ครอบเหนือหลุมศพที่ไม่มีญาติและไม่มีผู้ใดดูแลต่อเนื่องมาเป็นเวลานานเกินสี่ปี หลุมศพนั้นจะตกคืนเป็นทรัพย์สินของเทศบาล สัปเหร่อจะเตรียมพื้นที่หลุมนั้นให้พร้อมสำหรับให้สัมปทานแก่บุคคลรายอื่นต่อไป ในปัจจุบันมีบัญชีรายชื่อผู้ต้องการขอสัมปทานแปลงดินในสุสานจำนวนมากที่ยังรอคอยโอกาสอยู่
3) เทศบาลนครปารีสจัดการแสดงปาฐกถาสม่ำเสมอในแต่ละปี โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในแขนงต่างๆที่เกี่ยวข้อง มาบริการด้านความรู้ข้อมูลแก่ประชาชน รวมทั้งการจัดกลุ่มนำชมสุสานใหญ่ๆของกรุงปารีส ในหัวข้อเฉพาะที่ตั้งขึ้น เช่น นำเดินชมหลุมศพของนักเขียนต่างๆในสุสานแปร์ลาแช้ส เป็นต้น
4) สุสานของปารีสเปิดทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายนตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกาถึง 18 นาฬิกา และระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายนถึงวันที่ 15 มีนาคมตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกาถึง 17 นาฬิกา 30 นาที ส่วนวันเสาร์ตลอดปี เปิดตั้งแต่เวลา 8นาฬิกา 30นาที วันอาทิตย์และวันหยุดตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา
ในกรณีฉุกเฉินเช่นกรณีภัยพิบัติจากธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัยเทศบาลมีสิทธิ์สั่งปิดสุสาน หรือสั่งให้ผู้ที่เข้าไปในสุสานออกจากสุสานทันทีทันใด บางครั้งนอกเหนือเวลาปิดเปิดของสุสาน หัวหน้าผู้บริหารสุสานอนุญาตให้เจ้าหน้าที่พิเศษผู้แทนจากเทศบาลเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจนอกเวลาทำการได้
5) ห้ามนำสัตว์ทุกชนิดเข้าไปในสุสาน ยกเว้นสุนัขที่ทำหน้าที่นำทางผู้พิการทางการเห็น และต้องมีใบรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็นบุคคลพิการตามกฎหมาย
6) ภายในสุสานห้ามใช้พาหนะทุกชนิด หรือแม้นำเข้าไปจอดไว้ในสุสาน ยกเว้นกรณีเฉพาะกิจเท่านั้นและต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนล่วงหน้า
7) พื้นที่ภายในสุสานแต่ละแปลงนั้น เป็นพื้นที่ส่วนตัวของผู้ขอสัมปทานแต่ละราย พื้นที่อื่นใดนอกนั้นเป็นพื้นที่สาธารณรัฐ เป็นทรัพย์สินของเมือง จะถูกใช้เป็นที่จอดรถหรือเก็บกองวัสดุส่วนตัวอื่นใดไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากนายกเทศมนตรีเท่านั้น
8) นอกจากพิธีฌาปนกิจ ห้ามใช้สุสานเป็นที่จัดงานชุมนุมใดๆ และในทุกกรณีต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการล่วงหน้าก่อน
9) ห้ามใช้สุสานเป็นที่โฆษณาธุรกิจการค้าใดๆทั้งสิ้น ในกรณีที่จัดนำชมสุสานหรือจัดปาฐกถาที่รวมถึงการเข้าชมสุสาน ต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการ การเข้าไปใช้สุสานเป็นที่รับเงินบริจาคใดๆนั้นต้องได้รับอนุญาตจากนายกเทศมนตรี และในทุกกรณีการกระทำดังกล่าวต้องไม่ก่อกวนความสงบของสถานที่ และไม่ทำให้การสัญจรหรือระเบียบภายในสุสานสับสนวุ่นวาย ไม่ว่ากรณีใดไม่มีการแจกเงินให้เบี้ยเลี้ยงแบบใดๆทั้งสิ้นภายในสุสาน
10) นอกจากแผ่นประกาศทางการที่มีตู้ติดให้ประชาชนได้อ่านและเห็นอย่างชัดเจนแล้ว ห้ามปิดประกาศอื่นใดหรือใบปลิวโฆษณาแบบใดทั้งสิ้น ทั้งบนกำแพงภายในและภายนอกสุสาน การจัดทำแผ่นป้ายหรือเครื่องกำบังกั้นพื้นที่ในกรณีที่มีการขุดหรือซ่อมหลุมศพใดภายในสุสาน ต้องได้รับอนุญาตจากทางการล่วงหน้าเช่นกัน
11) นายกเทศมนตรีแห่งกรุงปารีส เป็นผู้รับผิดชอบและให้บังคับใช้กฎบัญญัติต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ กฎบัญญัตินี้อยู่ในเอกสาร Règlement général des cimetières parisiens จัดทำโดยเทศบาลนครปารีส (Marie de Paris) ที่ Bertrand Delanoë [แบรฺทร็อง เดอลาโนเอ] นายกเทศมนตรีในเวลานั้น ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2005 กฎบัญญัตินี้ได้พิมพ์เผยแพร่สู่ประชาชนด้วยสื่อทุกชนิด รวมทั้งการติดประกาศไว้ภายในสุสานแต่ละแห่งด้วย และอาจติดตามดูรายละเอียดได้จากอินเตอเน็ตที่ www.paris.fr
II. สุสานแปร์ลาแช้ส ต้นแบบสวนสุสานในยุโรป
สุสานแปร์ลาแช้ส (cimetière du Père-Lachaise) ตั้งอยู่บนเนินเขา มงต์หลุยส์ (Montlouis) ในเขต 20 ของกรุงปารีส
ในศตวรรษที่ 12 เนินเขาบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่เพาะปลูก
เจ้าอาวาสประจำกรุงปารีสให้ปลูกไร่องุ่นบนเนินเขานั้นและมีโรงบีบคั้นน้ำองุ่นเพื่อทำไวน์ด้วย
ชาวบ้านเรียกกันว่าทุ่งเจ้าอาวาส ต่อมาในปี
1430
เนินเขานี้ตกไปเป็นของพ่อค้าเครื่องเทศผู้ร่ำรวยคนหนึ่ง(ชื่อ Régnault de Wandonne[เร้โญ เดอ ว็องดอน]) ในปี 1626
คณะบาทหลวงเยซูอิตได้ซื้อที่ดินผืนนั้น เพื่อสร้างเป็นสถานพำนักของคณะนักบวช เดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่(ตอนนั้นมีพระชนมายุเพียง14ปี)ได้เสด็จไปประทับและสังเกตการณ์อยู่ที่นั่น
เมื่อชาวเมืองปารีสก่อการจลาจลขึ้นเพราะไม่พอใจระบบการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีพระเจ้าหลุยส์เป็นประมุข
(la Fronde) การจลาจลขยายเป็นวงกว้างออกไป
แต่รัฐบาลสามารถปราบกลุ่มกบฎได้ในที่สุดและทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ต้องการรวบอำนาจการปกครองและการบริหารทั้งหมดไว้ในมือของพระองค์เท่านั้น เพราะไม่ไว้ใจแม้แต่สมาชิกในราชสำนักของพระองค์เอง เนื่องจากมีหลายคนที่ได้ไปเข้ากลุ่มก่อจลาจลด้วย การเสด็จไปประทับที่เนินเขานั้น ทำให้เรียกชื่อเนินเขาว่า
มงต์หลุยส์ นักบวชคนสำคัญที่อยู่ในความทรงจำของชาวเมืองปารีสเมื่อนึกถึงเนินเขามงต์หลุยส์ คือบาทหลวง ฟร็องซัว เดอ ลา แช้ส (François de La Chaise, 1624-1709) เขาเป็นบาทหลวงประจำองค์พระเจ้าหลุยส์ที่14 ในตำแหน่งของผู้รับฟังคำสารภาพบาปส่วนตัวของพระองค์ (confesseur) พระเจ้าหลุยส์จึงมีส่วนกระตุ้นการสร้างและการพัฒนาสำนักนักบวชเยซูอิตที่นั่น ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1682 ต่อมาในปี 1763 เหล่านักบวชถูกขับไล่ออกจากที่นั่น[6] พื้นที่ตกไปอยู่ในมือของพ่อค้าเงินกู้ชื่อกราแต็ง(Gratin) เขาขายต่อให้ตระกูลบารง (Baron) ยุคการปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้บารงล้มละลายในปี 1803 จึงตัดสินใจขายที่ดินผืนนั้นแก่กรุงปารีส นโปเลียนที่หนึ่งได้ขอซื้อที่ดินนั้นในปี 1804 และให้สถาปนิก อเล็กซองดร์ เตโอดอร์ บรงญิอารต์ (Alexandre-Théodore Brongniart, 1739-1813) ออกแบบแปลนเนรมิตพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นสุสานสำหรับชาวเมืองปารีสอีกแห่งหนึ่ง ชาวเมืองในพื้นที่เรียกสุสานนั้นตามชื่อของบาทหลวง แปร์ลาแช้ส (Cimetière du Père-Lachaise)ในขณะที่ชื่อทางการเป็น สุสานทิศตะวันออก (Cimetière de l’Est)
เนินเขา แปร์ลาแช้ส ครอบพื้นที่กว้างใหญ่ ประมาณ 440,000 ตารางเมตร เป็นสุสานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในปารีส เมื่อพิจารณาแผนผังที่ดินและการบริหารจัดการพื้นที่ การสร้างเส้นทางภายในที่ตัดเชื่อมต่อกันไปอย่างเป็นแบบแผน พื้นที่และสิ่งก่อสร้างทั้งหมดรวมกันเหมือนเมืองเล็กๆเมืองหนึ่ง อาคารใช้สอยต่างๆ การปลูกและอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ๆสองข้างเส้นทางเดินภายในให้เป็นถนนแบบอาเวอนู(avenue)[7] การบริหารจัดการสุสานยึดหลักสามประการ คือการจัดวางตำแหน่งหลุมศพหนึ่ง การปลูกต้นไม้พืชพรรณหนึ่งและการสืบทอดมรดกของชาติหนึ่ง (มรดกของชาติในที่นี้หมายถึง ผู้ตายโดยเฉพาะบุคคลสำคัญของประเทศผู้เป็นพยานหลักฐานของประวัติศาสตร์ของสังคมนั้น เหมือนซากโบราณวัตถุที่เผยความลับต่างๆในอดีต) กระบวนการพัฒนาสุสานตามหลักสามประเด็นนี้เองที่ทำให้สุสานแปร์ลาแช้ส เป็นทั้งอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ เป็นปอดของชุมชนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นเส้นทางวัฒนธรรม สุสานแปร์ลาแช้ส ได้รวมคุณค่าทั้งสามไว้ครบบริบูรณ์มากกว่าสุสานใดในโลก เพราะปารีสเคยเป็นและยังเป็นศูนย์รวมปัญญาชน รวมจิตสำนึก รวมศาสตร์วิชามากมายหลายแขนงที่ปัญญาชนจากทุกชาติต้องไปเรียน ไปสอน ไปอยู่ ไปเสพความหลากหลายต่างๆ อย่างน้อยตั้งแต่ต้นศตวรรษที่10 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ บวกกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสุสานแปร์ลาแช้สในยุคต่อๆมา ทำให้สุสานแปร์ลาแช้ส เหมือนหนังสือประวัติศาสตร์กรุงปารีสเล่มหนึ่ง และยังเป็นหนังสือรวมรูปแบบสุสานศิลป์ไว้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย
ข้อมูลจากเทศบาลนครปารีส ระบุว่าในสุสานแปร์ลาแช้ส มีต้นไม้ทั้งหมด 5300 ต้น มีพันธุ์ไม้ยืนต้นที่นำเข้าไปปลูกจากถิ่นอื่นๆในฝรั่งเศส และจากต่างประเทศเช่นจีน แคนาดาเป็นต้น และมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามที่มีอายุหลายร้อยปีแล้ว เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าต้นไม้เป็นทรัพย์ในดินที่ยั่งยืนถาวรกว่าสิ่งใด นอกจากนี้สุสานแปร์ลาแช้ส ยังเป็นที่อยู่อาศัยของนก แมว กระรอก กิ้งก่าเป็นต้น รวมทั้งมีรวงผึ้งใหญ่ๆด้วย ทั้งหมดนี้ยืนยันคุณภาพของอากาศและบรรยากาศภายในสุสานเป็นอย่างดี ดียิ่งต่อชุมชนชาวเมืองปารีสเหมือนมีป่าอยู่ในละแวกที่พักอาศัย สอดคล้องกับอุดมการณ์การพัฒนาเมืองที่ดีที่สุด ปารีสเมื่อราวยี่สิบปีก่อนมีมลภาวะสูงอันเป็นผลจากความหนาแน่นของประชากรและความแออัดของเครือข่ายคมนาคม รัฐบาลฝรั่งเศสได้พยายามฟื้นฟูคุณภาพของอากาศและคุณภาพของชีวิตของชาวปารีสอย่างจริงจัง ที่รวมถึงการสร้างสวน การปลูกต้นไม้ การปลูกสวนบนหลังคาอาคารต่างๆ การปลูกสวนติดกำแพงในแนวตั้ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการดูแลสุสาน ซึ่งให้ผลเป็นที่น่าพอใจมากขึ้นๆ ข้อเท็จจริงนี้ทำให้สุสานแปร์ลาแช้สกับสุสานปารีสอื่นๆเป็นพื้นที่เขียว เป็นปอดของเมือง พื้นที่ทั้งหมดของสุสานปารีสรวมกันเท่ากับ 400 เฮกตาร์หรือ 4 ตารางกิโลเมตร นับว่าสำคัญต่อชาวปารีสมาก ระบบการควบคุมดูแลสุสานที่พัฒนาขึ้นตามวิถีชีวภาพตั้งแต่ปี 1998 ถึงปี 2011 ได้ลดการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีในสุสานทั้งหมดลงไปได้ถึงร้อยละ87 เทศบาลนครปารีสจึงยืนยันว่า สุสานปารีสเป็นสุสานที่เอื้ออำนวยต่อการมีสุขอนามัยที่ดีของชาวเมือง
แผนผังแสดงพื้นที่ของสุสานแปร์ลาแช้ส แสดงการตัดเส้นทางเดินภายใน
เหมือนผังเมืองๆหนึ่ง
ภาพประตูใหญ่ทางเข้าสุสานแปร์ลาแช้ส สร้างขึ้นในปี 1825
ผลงานของสถาปนิกชื่อ เอเตียน-อิปโปลิต ก๊อดด์ (Etienne-Hippolyte Godde,
1781-1869)
1781-1869)
ภาพตัวอย่างเส้นทางถนนภายในสุสานแปร์ลาแช้ส
สถาปนิกได้นำเอกลักษณ์บางอย่างของสวนฝรั่งเศสที่มีระเบียบเคร่งครัด มาผสมผสานกับหลักการการเนรมิตสวนอังกฤษเพื่อสร้างสุสานให้เป็นทั้งสวนและสถานแห่งความทรงจำ เขาคิดว่าสุสานมิใช่เพื่อคนตายเท่านั้น แต่เพื่อชาวเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย สุสานควรเป็นที่สำหรับผู้ใฝ่หาความสงบ สำหรับการรำลึกถึงผู้ตาย สำหรับการภาวนาตรึกตรอง สำหรับการเข้าไปเดินเล่นผ่อนคลาย การเป็นเนินเขาที่ มีพื้นที่ต่างระดับกัน ก็มีส่วนช่วยลดความเศร้าสลดใจของผู้เข้าไปมากด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นอุดมการณ์ของสถาปนิก ในการแปรความเศร้าโศกให้เป็นการยอมรับความจริงของชีวิตและอยู่กับความจริงนั้นอย่างไม่หวั่นไหว ในบริบทสังคมของปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 นับว่าเขาเป็นผู้มองการณ์ไกลเกินยุคสมัยของเขา สุสานแปร์ลาแช้สกสายเป็นแบบภูมิสถาปัตยกรรมแนวหน้าที่ยังไม่เคยมีที่ใดทำมาก่อนในโลกตะวันตก และเป็นต้นแบบของการรังสรรค์สวนสุสานขนาดใหญ่ๆต่อมาในยุโรปและในอเมริกา [8] แม้ทุกวันนี้ สุสานแปร์ลาแช้สยังเป็นพื้นที่เขียวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของนครหลวง
เมื่อเดินผ่านประตูใหญ่ที่ตั่งอยู่บนถนนเมนีลมงต็อง (Boulevard de Ménilmontant [บูลวารฺ เดอ เมนีลฺมงต็อง] อยู่ติดขอบล่างของภาพ4) แล้วเดินตรงไปบนถนนสายหลักภายในสุสาน จะเห็นอาคารประดับด้วยกลุ่มประติมากรรม ที่กำกับชื่อไว้ว่า Monument aux morts [โมนูม็อง โอ มอรฺ] หมายถึงอนุสาวรีย์แก่ผู้ตาย เป็นผลงานของปอล-อัลแบรต์ บาร์โตโลเม่ (Paul-Albert Bartholomé, 1848-1928 สถาปนิกผู้มีผลงานปรากฏในสุสานของปารีสหลายแห่ง) มีคำกำกับจารึกลงบนทับหลังเหนือประตูเปิดที่เห็นในภาพ ว่า Aux Morts ([โอ มอรฺ] แด่ผู้จากไป) ประติมากรรมหินอ่อนกลุ่มนี้นอกจากจะกระตุ้มความรู้สึกแล้ว ยังทำหน้าที่เหมือนหน้าบ้านของอาคารส่วนที่อยู่ด้านหลังที่เป็นอาคารเก็บโครงกระดูกหรืออัฐิ(ไร้ญาติ)ของสุสานแปร์ลาแช้ส ประติมากรรมกลุ่มนี้สร้างแล้วเสร็จในปี 1899 บนอนุสาวรีย์นี้เห็นรูปแบบประตูที่เปิดโล่ง เห็นหลังของชายหญิงคู่หนึ่งนั้น ลึกเข้าไปเป็นที่เก็บกระดูก กลุ่มรูปปั้นเปลือยสองข้างบนกำแพง มีทั้งชายและหญิง ให้ความหมายของคนตายผู้กำลังจะเดินเข้าประตูไปสู่อีกภพหนึ่ง ทั้งหมดเปลือยหรือมีผ้าห่อศพคลุมไว้หลวมๆเพื่อบอกว่าออกจากโลงศพหรือเพิ่งตาย ความเปลือยคือสภาพที่แท้จริงของคนเมื่อเกิดและเมื่อตายไปแล้ว เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามรวมทั้งเสื้อผ้าก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ในตอนล่างของกลุ่มประติมากรรมนี้ มีกลุ่มประติมากรรมอีกกลุ่มหนึ่ง ชายหญิงคู่หนึ่งและเด็กนอนบนพื้นเหมือนนอนเหนือหลุมศพ เหนือขึ้นไปเป็นรูปปั้นหญิงสาวร่างเปลือย มีผ้าห่อศพพันหลวมๆบนตัว นั่งย่อตัวลง มือกางออกสองข้าง ให้ความหมายว่าวิญญาณหนึ่ง(หญิงสาวนั้น) มาต้อนรับดวงวิญญาณของครอบครัวพ่อแม่ลูกที่เพิ่งเสียชีวิต ในทำนองปลอบใจว่าโลกของความตายที่คนคิดว่ามืดมนอนธการนั้น ยังมีแสงสว่าง อย่าได้กลัวไปเลย ตามข้อความที่จารึกลงบนกำแพงข้างหลังรูปปั้นหญิงสาวว่า Sur ceux qui habitent le pays de l’ombre de la mort une lumière resplendit. (แสงหนึ่งส่องประกายแจ่มจรัส แก่ผู้ที่อยู่ในแดนมืดของความตาย) แสงสว่างในบริบทนี้ หากมองจากคติคริสต์ศาสนา อาจหมายถึงความหวังของชาวคริสต์ที่จะสามารถเดินทางผ่านความมืดไปสู่แสงสว่างในอาณาจักรของพระเจ้า แต่เมื่อพิจารณาประติมากรรมโดยรวมแล้วไม่มีองค์ประกอบใดที่อาจโยงไปถึงคริสต์ศาสนาได้ทันทีและชัดเจน
ภาพอนุสาวรีย์แด่ผู้จากไป ที่ตั้งโดดเด่นภายในสุสานแปร์ลาแช้ส ผลงานของ ปอล-อัลแบร์ บารโตโลเม่ (Paul-Albert Bartholomé, 1848-1928 สถาปนิกผู้มีผลงานปรากฏในสุสานของปารีสหลายแห่ง)
สุสานแปร์ลาแช้ส เปิดใช้เป็นครั้งแรกในวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม ปี1804 ศพแรกที่ถูกนำเข้าไปฝังในสุสานคือ ศพของเด็กหญิงอายุห้าขวบชื่อ อาเดลาอี๊ด ปัยลียารด์ เดอ วีลเนอฟ (Adélaïde Pailliard de Villeneuve เป็นลูกสาวของคนเฝ้าประตูของ โฟบูร์ก แซ็งต็องตวน - Faubourg St Antoine) นับเป็นก้าวสำคัญในวิวัฒนาการสังคมฝรั่งเศส ที่เป็นไปตามนโยบายของ นโปเลียนโบนาป๊าร์ต (Napoléon Bonaparte, 1769-1821) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลของฝรั่งเศสในตอนนั้น เขาประกาศว่า “ ชาวเมืองทุกคนเมื่อตายแล้ว ญาติมีสิทธิ์นำศพเข้าไปฝังในสุสานแปร์ลาแช้ส อย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าผู้นั้นมีเชื้อชาติผิวพันธุ์ใดหรือนับถือศาสนาใด” คำประกาศดังกล่าวเท่ากับยืนยันเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาของชาวฝรั่งเศสทุกคน ว่าการเมืองของประเทศแยกออกจากการศาสนาอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น สุสานทุกแห่งของชาติเปิดสำหรับประชาราษฎร์ทุกคนอย่างเสมอภาคกัน
เมื่อเริ่มเปิดให้ใช้สุสานนี้ (1804) ชาวเมืองต่างเห็นว่าสุสานนี้ห่างไกลจากตัวเมืองเกินไป จึงไม่มีครอบครัวของผู้ตายไปใช้สุสาน ชาวคริสต์ผู้เคร่งครัดรู้สึกไม่สบายใจที่จะนำศพญาติมิตรไปฝังในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่วัด เช่นนี้ทำให้ฝ่ายบริหารจัดการสุสานต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ด้วยการย้ายอัฐิของบุคคลสำคัญๆเข้าไปฝังไว้ในสุสานแปร์ลาแช้ส ดังนั้นในปี 1817 ทางการได้จัดขบวนแห่อย่างใหญ่โตควบคู่กับพิธีย้ายอัฐิอังคารของ จ็องเดอลาฟงแตน (Jean de la Fontaine, 1621-1695 นักประพันธ์ กวีและนักเล่านิทานชาวฝรั่งเศส) และของ จ็องบาติ๊ส โมลีแยร์ (Jean-Baptiste Molière, 1622-1673 นักแต่งบทละครและนักแสดง เทียบได้ว่าเป็นเช้คสเปียร์ของฝรั่งเศส) ศิลปาธรด้านวรรณกรรมทั้งสองท่านไปฝังในสุสานแปร์ลาแช้ส ไม่นานต่อมาในปีเดียวกันนั้น ก็มีพิธีแห่ยิ่งใหญ่แบบเดียวกันอีกเมื่อย้ายอัฐิอังคารของเปียร์อาเบลาร์ด์ (Pierre Abélard) กับ เอโลอี๊ส (Héloïse) [9] การย้ายครั้งนี้ได้ย้ายทั้งชิ้นส่วนหินของหลุมศพเดิมมาจากโนฌ็อง-ซูร์-แซน (Nogent-sur-Seine) ไปที่สุสานแปร์ลาแช้ส ด้วย
นโยบายใหม่นี้ได้ผลดี ชาวเมืองเริ่มสนใจอยากมีหลุมศพของพวกเขาเองในหมู่คนดังคนเด่นของสังคม ไม่ช้าไม่นาน เกิดค่านิยมในหมู่ชาวปารีสโดยเฉพาะชนชั้นผู้ดี คนเก่ง คนดังและคนรวยต่างพากันมาจับจองซื้อที่เพื่อเป็นหลุมฝังศพของตน ของตระกูล จนกลายเป็นการแข่งประชันกันในทางอ้อมว่า หลุมศพใดสวยกว่า งามกว่า น่าทึ่งกว่าฯลฯ ศิลปะจึงตามไปรับใช้เพื่อสร้างความงามให้กับความตาย สถิติระบุไว้ว่า ในปี 1804 มีหลุมศพเพียง 13 แห่ง, ปี 1805 มี 44 แห่ง, ปี 1806 มี 49 แห่ง, ปี 1807 มี 62 แห่งและปี 1812 มี 833 แห่ง หลังจากนั้นและโดยเฉพาะในปี 1824, 1829, 1832, 1842 และ1850 จำนวนหลุมศพเพิ่มขึ้นห้าเท่าตัว ทางการสุสานได้ให้สัมปทานถาวรแก่ชาวเมืองจำนวนหมื่นกว่ารายที่ขอซื้อลิขสิทธิ์พื้นที่สำหรับฝังศพของครอบครัวหรือของตระกูล
ในปี 1823 มีการสร้างวัดเพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจขึ้นบนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของสำนักบาทหลวงเยซูอิต โดยสถาปนิกชื่อ เอเตียน-อิปโปลิต ก๊อดด์ (Etienne-Hippolyte Godde,1781-1869) ในปี 1825 เขาก็ได้ออกแบบสร้างประตูใหญ่ทางเข้า สุสานแปร์ลาแช้ส ด้วย
วัดและอาคารเผาศพ อยู่ด้านหลังในสุสานแปร์ลาแช้ส
อาคารวัดภายในสุสานแปร์ลาแช้ส
ในปี 1894 มีการสร้างอาคารโกล็อมบารีอ็อม (Columbarium) ตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอไบแซนไทนของ จ็อง กามีล ฟอร์มีเจ (Jean Camille Formigé, 1845-1926)
เป็นอาคารเก็บอังคารที่จัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ
(เหมือนคอนโดของผู้ตาย)
ภาพแสดงรูปร่างลักษณะอาคารเก็บอังคารที่ทำสูงสองชั้นภายในสุสานแปร์ลาแช้ส
ที่นั่นเรียกว่า อาคารโกล็อมบารีอ็อม (Columbarium) แผ่นหินสี่เหลี่ยมสีดำๆหรือสีขาวบ้าง
จารึกชื่อและวันเดือนปีเกิดกับปีตายของผู้ตายแต่ละคน และอาจมีข้อความอื่นสั้นๆเพิ่มเข้าไป มีกรวยเล็กๆติดบนแผ่นหินแต่ละแผ่นเพื่อให้เป็นที่ปักดอกไม้ช่อเล็กๆ
ตั้งแต่วันที่
1เมษายน
ปี 1986
เป็นต้นมา
ทางการยังได้จัดพื้นที่สนามขึ้นแปลงหนึ่งมีพุ่มไม้ล้อมรอบที่ขนานไปกับกำแพงด้านทิศเหนือ(rue des Rondeaux [รู
เด รงโด]
ใกล้ทางเข้าประตู Porte
Gambetta [ป๊อรฺเตอะ ก็องเบ็ตตะ]) ให้ชื่อว่า สวนแห่งความทรงจำ (Jardin du souvenir [ฌาร์แด็ง
ดู ซูเวอนีรฺ]) พื้นที่สนามนี้ให้เป็นที่โปรยอังคารของผู้ตายหลังการเผาศพแล้วและญาติมิได้ปรารถนาจะเก็บอังคารไว้ พื้นที่สำหรับโปรยอังคารนี้
จัดและกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในสุสานแปร์ลาแช้ส และสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของทางการ
ที่สนับสนุนให้ญาติผู้ตายเลือกการเผาศพแทนการฝังศพ เช่นนี้ตั้งแต่ปี 1992 สุสานปารีสที่ตีแยส์ (Thiais) และที่ป็องแต็ง(Pantin)
ก็ได้จัดมุมสวนสำหรับโปรยอังคารโดยเฉพาะ
(เรียกพื้นที่แบบนี้ว่า
jardin cinéraire
[จารฺแด็ง ซีเนแรรฺ]) และตั้งแต่ปี 1996 สุสานที่ตีแยส์ ได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งในแบบสวนภูมิทัศน์ที่น่าอภิรมย์ให้เป็นที่ตั้งของโกศบรรจุอังคารขนาดใหญ่(urns) หลังจากพิธีเผาศพ ในปัจจุบันครอบครัวฝรั่งเศสเลือกพิธีเผาศพมากขึ้น
ปัจจุบันมีศพฝังในสุสานแปร์ลาแช้ส มากกว่าหนึ่งล้านราย จำนวนนี้ยังมิได้รวมจำนวนผู้ตายที่เผาไป และเก็บอังคารบางส่วนไปไว้เป็นช่องๆในอาคารโกล็อมบารีอ็อม (จะไม่เก็บอังคารไว้เลยก็ได้เช่นกัน) ตลอดสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา หลุมศพในสุสานแปร์ลาแช้ส เป็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศ ตั้งแต่ประธานาธิบดี
นายพล รัฐมนตรี กวี จิตรกร นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักแสดง นักดนตรี
สามัญชนก็มีมากเช่นกันแต่ไม่มีผู้สนใจนัก
เพราะผู้ที่เข้าไปชมสุสานแปร์ลาแช้ส ไปเพื่อชมสุสานของคนเด่นคนดังเป็นสำคัญ เป็นความอยากรู้อยากเห็นที่อาจรวมความเคารพต่อบุคคลนั้นหรือความผูกพันทางจิตวิญญาณต่ออุดมการณ์ที่บุคคลนั้นได้โดนใจเขา คำจารึกต่างๆบนแผ่นหินเหนือหลุมศพหากติดตามอ่าน
จะเห็นว่าบ้างเป็นคำพูดธรรมดาๆ
บ้างเป็นบทกวี บ้างเป็นความหวัง บ้างเป็นความต้องการเป็นต้น คำพูดเหล่านี้บ้างโดนใจ บ้างปลอบใจผู้อ่านหรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น Mourir c’est
quitter l’ombre pour entrer dans la lumière. (การตายคือการจากเงามืดเพื่อเข้าสู่แสงสว่าง) หรือคำพูดของ จูลส์ มิเชอเลต์ (Jules Michelet, 1798-1874 นักเขียนและนักประวัติศาสตร์) ที่จารึกไว้บนแผ่นหินเหนือหลุมศพของเขาว่า Que Dieu
reçoive mon âme reconnaisante de tant de bien de tant d’années laborieuses de
tant d’amitiés. (ขอให้พระผู้เป็นเจ้ารับวิญญาณข้าพเจ้าไป วิญญาณที่รู้สำนึกบุญคุณอันมากมายของพระองค์ วิญญาณที่ได้ใช้ชีวิตขยันหมั่นเพียรมานานปี วิญญาณที่ได้มีมิตรสนิทเพื่อนสหายมากมาย) หรือข้อคิดปรัชญาที่จารึกไว้บนทับหลังและฐานหินเหนือหลุมศพของ
อล๊อง การ์เด๊ก (Allan Kardec นักปราชญ์ผู้วางรากฐานการศึกษาเรื่องจิตวิญญาณ) เช่นบนแผ่นหินทับหลังว่า :
Naître mourir renaître encore Et
progresser sans cesse. Telle
est la loi. (เกิด ตาย เกิดใหม่อีก ก้าวไปข้างหน้ามิรู้หยุด นี่คือกฎ)
และบนฐานหินที่ตั้งรูปปั้นครึ่งตัวของผู้ตายว่า
Fondateur
de la philosophie spirite (ผู้วางรากฐานจิตปรัชญา) Tout effort a une cause (ความพยายามทุกชนิดเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง) Tout effet
intelligent a une cause intelligente (ผลลัพธ์ที่วิเศษ เกิดจากเหตุอันชาญฉลาด) La puissance de la
cause est en raison de la grandeur de l'effet.(พลังของเหตุมากเพียงใดก็ยิ่งทำให้เกิดผลที่มีพลังมากเพียงนั้น)[10] หรือโคลงของ
อัลเฟรด เดอ มูเซ่ (Alfred de Musset, 1810-1857 กวีและนักแต่งบทละคร) ผู้ได้ขอให้ปลูกต้นหลิวไว้ข้างสุสาน และมีการนำโคลงบทนี้จารึกลงบนแผ่นหินเหนือหลุมศพว่า Mes
amis quand je mourrai Plantez
un saule au cimetière J'aime
son feuillage éploré La pâleur m'en est douce et chère Et son ombre sera légère A la terre où je dormirai (เพื่อนเอ่ย ถ้าผมตายลง ขอให้ปลูกต้นหลิวไว้ข้างหลุมศพ ผมชอบใบยาวเรียวลู่ลม สีเขียวจางๆช่างอ่อนโยน ให้ร่มไม้ระริกระรื่นไหว บนดินที่ผมจะนอน) นอกจากข้อความจารึกต่างๆ ประติมากรรมประดับเหนือหลุมศพ ก็มีหลากหลายแบบ ทั้งรูปปั้นนอน หรือรูปปั้นยืนตั้ง หรือประติมากรรมจำหลักนูนแบบต่างๆ ประติมากรรมที่เด่นที่สุดรูปหนึ่งในสุสานแปร์ลาแช้ส ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ รูปประติมากรรม “ความเงียบ”
ประติมากรรมประดับเหนือหลุมศพภาพนี้ มีชื่อเจาะจงว่า Le Silence (ความเงียบ) เป็นประติมากรรมที่ดึงดูดความสนใจผู้คนที่ผ่านเข้าไปในสุสานแปร์ลาแช้ส ความเงียบ ในความหมายของ การไม่พูดมาก ในค่านิยมตะวันตกถือเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ชาวตะวันตกถูกฝึกให้พูดให้แสดงความคิดเห็นตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าอะไรต้องขอพูดแสดงความคิดเห็น (ความคิดเห็นที่แสดงออกมาถูกหรือไม่ นั่นเป็นคนละประเด็นกัน) เช่นนี้ทำให้การนิ่งฟังโดยไม่พูดกลายเป็นคุณสมบัติ เป็นสิ่งที่สวนกระแสความเคยชินในหมู่ชาวตะวันตก อีกประการหนึ่ง คนช่างพูด ฟังคนอื่นน้อยลง สังเกตสิ่งรอบข้างน้อยลงด้วย ภาพความเงียบนี้ อาจให้ข้อคิดว่า ในโลกของความตาย โลกที่ไม่มี “กาย” มีแต่ดวงวิญญาณ จึงน่าจะเป็นโลกของความเงียบ เข้าใจกันโดยไม่ต้องพูด ต่างฝ่ายต่างมองทะลุความคิดของกันและกัน
ในสุสานแปร์ลาแช้ส ยังมีอนุสาวรีย์ที่เป็นอนุสรณ์สถานอีกจำนวนมาก เช่นอนุสาวรีย์ที่อุทิศแด่ทหารผู้เสียชีวิตไปในการต่อสู้ป้องกันการรุกรานของรัสเซียในปี
1814 หรืออนุสรณ์สถาน มูร์เดเฟเดเรส์ (Mur des Fédérés) ตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือของสุสาน อุทิศแก่ผู้เสียชีวิตไปในรัฐประหารปี
1871 (ที่ประวัติศาสตร์กรุงปารีสจารึกชื่อไว้ว่า ลากอมมูนเดอปารีส - la Commune de Paris, 1871)[11] รวมทั้งมีอนุสรณ์สถานสำหรับผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, อนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่
เอ๊าฉวิตส์-บีร์เกอเนา Auschwitz-Birkenau , อนุสาวรีย์ที่อุทิศแด่ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการปฏิวัติฝรั่งเศส,
อนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงทหารจากชาติต่างๆที่มาเสียชีวิตในฝรั่งเศส
เช่น ทหารจากเบลเยี่ยม หรือทหารอาร์เมเนียนในกองทัพฝรั่งเศสเป็นต้น
สุสานแปร์ลาแช้ส ได้เป็นฉากหลังของพิธีฌาปนกิจของบุคคลสำคัญๆมากกว่าผู้ใด
ในสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่หนึ่งและนโปเลียนที่สามและของกษัตริย์ฝรั่งเศสอีกสามสมัยระหว่างปี 1872-1914 ฝรั่งเศสกำลังเรียนรู้และสร้างประเทศตามระบอบสาธารณรัฐให้ถาวรมั่นคง
หลังจากที่มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาตลอด 19 ศตวรรษ หลังจากความผกผันทางการเมือง
สุสานแปร์ลาแช้ส กลายเป็นสุสานของชนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นใด เมื่อชนชั้นกลางร่ำรวยมากขึ้น
จึงมีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองและความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ ชนชั้นกลางอีกเช่นกันที่นำประเทศเข้าสู่ยุคของความงามแบบหรูฟู่ที่เรียกกันว่า ลาแบลเลป๊อก (la Belle époque) ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนในสถาปัตยกรรมของวิหารซาเคร่เกอร์ (Basilique du Sacré-Coeur สร้างขึ้นระหว่างปี 1876-1910)
และนำการพัฒนาทุกรูปแบบในสังคมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม
วิทยาการและวิถีการดำเนินชีวิต คำประกาศของนโปเลียนโบนาป๊าร์ตที่ว่าชาวปารีสทุกคนมีสิทธิ์ใช้สุสานแปร์ลาแช้ส อย่างเสมอภาคกัน
ความเสมอภาคที่กล่าวถึงนั้นในความเป็นจริง
เป็นเพียงอุดมการณ์เสมือนความฝันหนึ่ง
สามัญชนหรือชนชั้นกรรมกรยังคงต้องดิ้นรนเพื่อใช้สิทธิเสรีภาพนั้น
จนถึงทุกวันนี้ สุสานแปร์ลาแช้ส [12]เป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากทุกมุมโลก เนื่องจากเป็นที่รวมหลุมศพของบุคคลสำคัญๆของยุโรปตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา บนเส้นทางภายในสุสาน
มีหลุมศพคนดังคนเด่นให้เห็นอยู่แทบทุกย่างก้าว (สุสานแปร์ลาแช้ส มิได้กำหนดพื้นที่แบ่งประเภทผู้ตายให้อยู่รวมกลุ่มกัน
ดังที่ทำกันในสวนสุสานในประเทศอื่นๆที่สร้างขึ้นทีหลังตามแบบสวนสสุสานแปร์ลาแช้ส)
จึงทำให้การเข้าไปในสุสานเหมือนการเดินจาริกแสวงงหาจุดยืนบนเส้นทางประวัติศาสตร์
สำหรับนักประวัติศาสตร์หรือปัญญาชนชาวปารีส
ชื่อแต่ละชื่อนำเขาหวนกลับไปรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต
ถึงค่านิยมในสังคมแต่ละยุคที่วิวัฒน์เปลี่ยนไปตามกาลเวลา สุสานแปร์ลาแช้ส
จึงเป็นหนังสือประวัติศาสตร์กรุงปารีสแบบหนึ่ง ทั้งรวมประวัติศาสตร์การเมือง
การดนตรี การละคร ศิลปะวิทยาการ นักปราชญ์ นักเขียน กวีและนักแสดงเป็นต้น
ผู้สนใจจึงอาจติดตามไปชมหลุมศพของนักดนตรีเอกของโลกหลายคนที่นั่น เช่น โชแป็ง (Frédéric Chopin, 1810-1849 นักเปียโนและนักประพันธ์ดนตรีจากโปแลนด์), รอสซี้นี (Gioacchino
Rossini, 1792-1868 นักประพันธ์ดนตรีโดยเฉพาะดนตรีสำหรับการแสดงและร้องอุปรากรชาวอิตาเลียน),
เบ็ลลี่นี (Vincenzo Bellini, 1801-1835 นักประพันธ์ดนตรีและอุปรากรชาวอิตาเลียน), บีเซ่ต์
(Georges
Bizet, 1838-1875 นักประพันธ์ดนตรีอุปรากรชาวฝรั่งเศส) หรือ
มาเรีย กัลลัส (Maria
Callas, 1923-1977 นักร้องอุปรากรเสียงโซปราโน
ชาวอเมริกัน-กรีก), ซาราห์ แบร์นาร์ต (Sarah Bernhardt, 1844-1923 นักแสดงชาวฝรั่งเศส ผู้เล่นทั้งละครและภาพยนตร์) เดอลาครัวส์ (Delacroix,
1798-1863 จิตรกรชาวฝรั่งเศส) เป็นต้น รวมทั้ง บรงญิอารต์ สถาปนิกผู้ออกแบบแปลนสร้างสุสานแปร์ลาแช้ส (Alexandre Brongniart, 1739-1813) ยังมีหลุมศพคนเด่นคนดังทั้งชาวฝรั่งเศสและชาวต่างชาติในสุสานแปร์ลาแช้ส อีกจำนวนมาก ผู้สนใจอาจติดตามหารายละเอียดเกี่ยวกับหลุมศพของแต่ละคนได้ผ่านอินเตอเน็ตที่วิกิพีเดีย
สารานุกรมเสรี ในหัวเรื่อง Père Lachaise เป็นต้น
หรือเมื่อไปถึงสุสาน ก็อาจซื้อเอกสารแผ่นพับที่อธิบายและระบุที่ตั้งของหลุมศพแต่ละรายอย่างละเอียด เป็นเอกสารข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เทศบาลนครปารีสเป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่
เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น
จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสุสานให้ตอบรับและสอดคล้องกับสภาพการณ์ใหม่ๆที่ตามมา อุดมการณ์ของสังคมแต่ละยุคก็มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของสุสานด้วย
เช่น การยกเลิก รื้อและล้างหลุมศพรวมที่ฝังศพจำนวนมากไว้ด้วยกันในหลุมเดียว การยกเลิกการแบ่งเขตเฉพาะสำหรับสุสานชาวยิว
เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัญญัติของสุสานฝรั่งเศสที่ระบุอย่างชัดเจนว่า
สุสานฝรั่งเศสเปิดสำหรับชนทุกชาติทุกศาสนา
ไม่มีพรมแดนขีดคั่นระหว่างผู้ตายไม่ว่ามาจากศาสนาใดและหรือมีชาติกำเนิดดั้งเดิมจากประเทศใด
หากอยู่ภายในข้อกำหนดของสุสานฝรั่งเศส[13]
ในปัจจุบัน
เทศบาลสนับสนุนให้เผาศพมากกว่าการฝังศพ
ได้สร้างอาคารเก็บรักษาโกศทั้งหมด 80 แห่งในสุสานสามแห่งในปารีส[14] เพื่อแก้ปัญหาขาดพื้นที่สำหรับฝังศพ ปัญหานี้เกิดขึ้นในทุกมุมโลก เพราะแต่ละชุมชนต้องคิดจัดพื้นที่และสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย
ต้องการให้ สุสานเป็นทางผ่านจากความเปราะบางของชีวิตสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด เช่นนี้แต่ละชุมชนต้องเลือกวิถีที่สอดคล้องกับศรัทธาและความเชื่อในลัทธิศาสนาของพวกเขา
ในขณะเดียวกันก็มีจิตสำนึกเกี่ยวกับระบบนิเวศและการอนุรักษ์ภูมิทัศน์ของแผ่นดินของพวกเขา เราเห็นอัจฉริยะในการออกแบบสุสานศิลป์ที่หลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละทวีป
แต่สิ่งหนึ่งที่คงที่และเหมือนกันคือความพยายามอนุรักษ์บรรยากาศที่สงบและสง่างามในสุสานไว้ให้มากที่สุด
ดังนั้นความเป็นระเบียบและการมีเอกภาพจึงเป็นเอกลักษณ์เด่นของแต่ละสุสาน
สภาพของสุสานในชุมชนหนึ่ง ดูเหมือนจะสะท้อนวิถีการครองชีวิตของคนในชุมชนนั้น โลกยุคโลกาภิวัตน์ได้รวมนานาประเทศเข้าด้วยกัน
แต่ยังมิอาจรวมสุสานทั้งหลายในโลกเข้าในกระบวนเดียวกันได้เพราะประเพณีเก่าที่ยังแน่นแฟ้นอยู่มากในบางภูมิภาคของโลก
ดังนั้น การกำหนดให้ทุกคนในโลกเลือกการเผาศพแทนการฝังศพ
ยังอาจต้องใช้เวลาอีกนานสถิติของเทศบาลนครปารีสระบุว่า ในปี 2010 ระหว่างเทศกาลตุสแซ็งต์ (les fêtes de la Toussaint วันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี) มีคนเข้าไปเยี่ยมชมสุสานแปร์ลาแช้ส ทั้งหมด 128 000 คนในช่วงห้าวันหยุดที่ตรงกับวันสุดสัปดาห์ด้วย และในช่วงระหว่างวันที่ 22 ตุลาคมถึงวันที่6 พฤศจิกายนมีผู้ไปสุสานแปร์ลาแช้สทั้งหมด 430 000 คน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยังมีคนจำนวนมากที่อยากไปสุสานในช่วงเทศกาลดังกล่าว อาจเพื่อรำลึกถึงผู้จากไปซึ่งรวมถึงการนำดอกไม้ไปวางบนหลุมศพและทำความสะอาดเล็กๆน้อยๆรอบบริเวณหลุมศพของครอบครัวเหมือนที่ชาวจีนทำกันในวันเช็งเม้ง สถิติยังระบุว่า กระถางต้นดอกเบญจมาศขายดีเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ ทางการเทศบาลนครปารีสจัดกระถางดอกเบญจมาศไปประดับณอนุสาวรีย์ทหารและบนหลุมศพของทหารผ่านศึก (ใช้กระถางดอกเบญมาศทั้งหมด 12 000 กระถาง) รวมทั้งหลุมศพนิรนามที่ไร้ญาติหรือขาดทุนทรัพย์ ก็ได้รับความสนใจไม่น้อยกว่ากัน เพราะทางการใช้กระถางดอกไม้ประดับทั้งหมด 3000 กระถาง) สุสานบางแห่งยังจัดบริการรถเล็กแล่นภายในเพื่อความสะดวกสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเดินเช่นผู้สูงวัยเป็นต้น ข้อมูลนี้แนะให้คิดว่า ชาวฝรั่งเศสยังมีนิสัยไปสุสานและโดยเฉพาะเมื่อเป็นวันครบรอบวันตายของญาติใกล้ชิด
สุสานแปรลาแช้สได้เป็นต้นแบบในการสร้างสวนสุสานขนาดใหญ่ๆในยุโรปเช่นที่เมืองฮัมบูร์ก(Hamburg สุสานฟรีดฮ็อฟ-Friedhof) ในเยอรมนี ที่กรุงเวียนนา (สุสานกลาง-Zentralfreidhof) ในออสเตรีย เป็นต้น
วิธีการสร้างสวนสุสานเป็นแบบอย่างที่สังคมไทยน่าจะเอาเป็นตัวอย่างได้ แปลงสุสานหรือป่าช้าแบบไทยๆที่รวมแต่ภาพน่ากลัว
ภาพโศกสลดแบบต่างๆ อีกทั้งเรื่องเล่าเขย่าขวัญอีกนับไม่ถ้วน ให้เป็นความสงบ ความร่มรื่น
ให้สุสานเป็นสถานที่พักพิงของจิตใจแทน
สุสานเหมือนเขาวงกตที่แฝงความลึกลับซับซ้อน เป็นที่เก็บคำถามต่างๆที่คนเราอยากรู้เกี่ยวกับสภาพหลังความตาย
เกี่ยวกับคนตาย เกี่ยวกับการตายที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนเสมอมา ท่ามกลางความโกลาหนของเมืองใหญ่ๆ
ชาวตะวันตกที่ไปเดินเล่นในสุสานยังมีโอกาสได้ชมดอกไม้ใบไม้ที่เปลี่ยนสีไปในแต่ละฤดู
เตือนให้นึกถึงวัยต่างๆของคน คงมีไม่กี่คนที่จะไม่ยินดียินร้ายหรือไม่หวั่นไหวไปกับความงามของพรรณไม้ดอกในสวน
สุสานยังอาจเป็นที่ฝึกทักษะและความชำนาญของหูคนได้เป็นอย่างดีด้วย
เพราะสุสานมอบความเงียบสงัด ปราศจากมลภาวะทางเสียง มีแต่เสียงธรรมชาติของสัตว์ นก
หรือเสียงลมพัดผ่านใบไม้ในลักษณะต่างๆ และในที่สุดสุสานก็อาจเป็นที่ที่เราหยุดฟังเสียงภายในของเราเอง ในมุมมองทำนองนี้ สุสานจึงเป็นสถานที่เร้าอารมณ์สุนทรีย์
ปลุกอารมณ์กวีและเปิดรับความอ่อนไหวสำหรับชาวตะวันตก
สุสานควรเป็นแบบหนึ่งของการพัฒนาชุมชนทั้งด้านคุณภาพและศักดิ์ศรีของผู้ตายและผู้อยู่
ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาคุณธรรมในสังคม ถึงเวลาแล้วที่เราควรแปลงความคิดแง่ลบ แปรเปลี่ยนความโศกเศร้าให้กลายเป็นความทรงจำในสิ่งดีๆของผู้จากไป เปลี่ยนความกลัวตายให้เป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต เปลี่ยนการต่อสู้กับความตายให้เป็นความสงบด้วยปัญญาที่แจ่มกระจ่าง
ที่ยอมรับความตายเป็นเพื่อนร่วมทางไปจนสุดทางเดินของแต่ละคน
เมื่อทุกคนหันไปโอบกอดเพื่อนร่วมทางผู้นั้นและรวมตัวกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวอย่างกันเองและอบอุ่นใจ
เว็บไซต์ต่อไปนี้
ให้ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้
บ้างพร้อมภาพประกอบที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์แก่การค้นคว้าต่อไป
www.armorial.free.fr เกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ที่ใช้ในยุโรปwww.arthistoryclub.com ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะแขนงต่างๆรวมทั้งที่เกี่ยวกับความตายและการฌาปนกิจในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและในอาณาจักรโรมัน
www.catacombes-de-paris.fr เป็นเว็บไซต์ทางการของเทศบาลนครปารีส ที่เกี่ยวข้องกับสุสานใต้ดินโดยเฉพาะ
www.galileo.rice.edu เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับกาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์และบุคคลสำคัญในคริสต์ศาสนาร่วมยุคของกาลิเลโอ
www.paris.fr เป็นเว็บไซต์ทางการของเทศบาลนครกรุงปารีส ที่ให้รายละเอียดทุกแง่มุมเกี่ยวกับกรุงปารีส รวมบัญญัติกฎหมายต่างๆที่ประกาศใช้ (เช่นในหัวข้อ Débats et délibérations du Conseil)
www.pere-lachaise.com ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุสานแปร์ลาแช้ส ที่ตั้งของหลุมศพบุคคลสำคัญๆทั้งหมด
www.pewforum.org ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนากับชีวิตชุมชน
www.revolution-obseques.fr เป็นเว็บไซต์ทางการที่ให้ข้อมูลรายละเอียดทุกขั้นตอนของการฌาปนกิจ
www.saint-denis.monuments-nationaux.fr เว็บไซต์ทางการเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประจำชาติฝรั่งเศส และโดยเฉพาะเกี่ยวกับมหาวิหารแซ็งเดอนีส์ ที่รวมโลงศพของกษัตริย์ฝรั่งเศส
Ariès, Philippe. L’Homme devant la mort. Paris : Seuil. 1977.
Ariès, Philippe & Patricia Ranum. Western Attitudes towards Death : From the Middle Ages to the Present. The John Hopkins Symposia in Comparative History. Kindle Edition. 1975.
Krammer, Kenneth Paul. The Sacred Art of Dying.
Moiroux, Jules. Le cimetière du Père-Lachaise. Guide illustré. 1908.
Stannard, David E. The
[1] สุสานใต้ดินที่จัดสร้างขึ้น ได้กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของชาวเมืองและชาวยุโรป และตั้งแต่ปี 1787 เจ้านาย ชนชั้นสูงรวมทั้งกษัตริย์ ได้เข้าไปเดินชมสุสานใต้ดินด้วยความสนใจยิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังมีนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเดินทางไปชมสุสานใต้ดินที่กรุงปารีสอย่างไม่ขาดสาย เป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว เหมือนการลงไปศึกษาประวัติกรุงปารีสจากอีกมุมมองหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการสำรวจสภาวะความเป็นมนุษย์ ไปดูให้ตระหนักถึงจุดจบของทุกชีวิต ทั้งยังได้รู้ได้เห็นสัญลักษณ์และศิลปะที่เกี่ยวกับความตายเป็นต้น สถิติระบุว่าในปัจจุบันมีโครงกระดูกรวมอยู่ในสุสานใต้ดินเป็นจำนวนถึงหกล้านราย การเข้าชมสุสานใต้ดินของปารีสนั้นต้องไปที่ถนนในเขต 14 ตามที่อยู่นี้ Catacombes de Paris, 1 Avenue du Colonel Henri Rol-Tanguy, 75014 Paris. อยู่ใกล้สถานีรถใต้ดิน Denfert-Rochereau ผู้สนใจเปิดดูข้อมูลเกี่ยวกับสุสานใต้ดินได้ที่ www.catacombes-de-paris.fr
[2] สุสานภายในกำแพงเมืองปารีส
(intra-muros) ทั้งหมด 14 แห่ง และ ที่อยู่นอกกำแพงเมือง (extra-muros)
6 แห่ง
สุสานภายในกำแพงเมืองคือ 1) cimetière
de Bercy ในเขต12
2) cimetière du Montparnasse
(หรือ cimetière du sud, 1824) ในเขต 14
3) cimetière de Vaugirard และ 4) cimetière de Grenelle ในเขต 15
5) cimetière de Passy และ 6) cimetière d’Auteuil ในเขต 16
7) cimetière des Batignolles ในเขต 17
8) cimetière du Calvaire 9) cimetière de Montmartre
(หรือ cimetière du nord, 1825) และ
10) cimetière de Saint
Vincent ทั้งสามแห่งอยู่ในเขต 18
11) cimetière de la Villette เขต 19
12) cimetière du Père-Lachaise (หรือ cimetière de l’est)
กับ 13) cimetière de Belleville
และ
14) cimetière de Charonne ทั้งสามแห่งอยู่ในเขต
20
สุสานปารีสที่อยู่นอกกำแพงเมือง
(extra-muros) มี 6 แห่งดังนี้
15) cimetière de Bagneux ในแขวง 92
16) cimetière parisien de Saint-Ouen กับ 17) cimetière parisien de la Chapelle และ
18) cimetière parisien de Pantin ทั้งสามแห่งอยู่ในแขวง 93
19) cimetière parisien d’Ivry และ 20) cimetière parisien de de Thiais ทั้งสองแห่งอยู่ในแขวง
94
[3] จากเอกสารทางการของ Conseil de Paris -
Conseil Municipal, Séances des 12, 13 et 14 décembre 2011. La délibération 2005 DPJEV 94. Mme
Fabienne GIBOUDEAUX rapporteure. ดูรายละเอียดได้จาก www.paris.fr ดูแผนก Débats
et délibérations du Conseil
[4] ผู้ตายที่มิได้มีหลุมศพเฉพาะที่ได้จากสัมปทานเช่าซื้อของสุสานใดในปารีส
จะได้รับการฝังไว้ในสุสานเดอตีแยส์ (Cimetière parisien de
Thiais) เป็นระยะเวลา 5 ปี ในหลุมศพเดี่ยวบนพื้นที่ส่วนรวมที่เป็นทรัพย์สินของเมืองปารีส
เป็นบริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
เมื่อผู้ตายที่ยากไร้ได้รับการเผา
อัฐิอังคารจะเก็บในโกศที่เจ้าหน้าที่อาจมอบให้แก่ครอบครัว
หรือเก็บไว้ในอาคารเก็บอังคาร 5 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
อังคารอาจถูกนำไปโปรยในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อการนี้ก็ได้ ในกรณีทั้งสองที่กล่าวมานั้น โครงกระดูก อัฐิและอังคารจะถูกเก็บไว้ไม่เกิน 5 ปี
[5] ณที่ทำการ Bureau des Concessions du Service des Cimetières, 71 rue des Rondeaux,
75020 Paris .
Phone : 01 40 33 85 89
[6] เหตุผลที่คณะนักบวชเยซูอิตถูกขับออกจากพื้นที่นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Robert François Damiens, 1715-1757 รู้จักกันว่า เขาได้พยายามสังหารพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า แม้ไม่สำเร็จก็ตาม
แต่ความที่เขาเคยเป็นพนักงานในวิทยาลัยหลุยส์-เลอ-กร็องด์ (Lycée Louis le Grand)
วิทยาลัยการเรียนการสอนตามคติของคณะเยซูอิตที่ปารีส ต่อมาเขาได้ลาออกเพื่อแต่งงาน
และได้ไปเป็นคนรับใช้ที่ปรึกษารัฐสภาหลายคน ได้มีส่วนรับรู้ว่าภายในรัฐสภา
มีสมาชิกหลายคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์ เขาติดอยู่ในกับดักของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์และฝ่ายการเมือง
จึงสรุปกันว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาคิดสังหารพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า
เขาเป็นนักโทษคนสุดท้ายที่ถูกลงโทษด้วยการถูกฉีกถูกดึงแขนขาออกไปสี่ทิศ เรื่องนี้ทำให้คณะนักบวชเยซูอิตถูกประณามและในที่สุดถูกขับไล่ออกจากราชอาณาจักร ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น
ชาวฝรั่งเศสไม่มีจิตสำนึกเกี่ยวกับศาสนามากนัก
ความจริงศรัทธาในศาสนาเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้ว ฝรั่งเศสและยุโรปเข้าสู่ยุคของเหตุผล ของมานุษยนิยม
และผู้คนต้องการแยกการศาสนาออกจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง
[7] ถนนอาเวอนู (avenue) หมายถึงถนนกว้างที่มีต้นไม้ใหญ่ปลูกเป็นแนวตลอดสองฝั่งถนน เช่น อาเวอนู
เดช็องเซลีเซ่ส์ - avenue des Champs Elysées กลางนครปารีส
ที่ถือกันว่าเป็นถนนสายงามที่สุดในโลกถนนหนึ่ง
[8]
ข้อมูลเปรียบเทียบสวนสุสานขนาดใหญ่ในยุโรปที่พัฒนาขึ้นตามแบบของสุสานแปร์ลาแช้สที่ปารีส
(ที่เปิดใช้ในปี 1804 มีพื้นที่ 0.44 ตารางกิโลเมตรหรือ 440,000 ตารางเมตร
มีศพฝังไว้แล้วมากกว่าหนึ่งล้านคน) สุสานZentralfriedhof ที่กรุงเวียนนา
เปิดใช้ในปี 1874 มีพื้นที่ 2.5 ตารางกิโลเมตร
มีศพฝังอยู่แล้วสามล้านศพ และสุสาน Friedhof Ohlsdorf ที่เมือง Hamburg เปิดใช้ในปี 1877 มีพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร มีศพฝังที่นั่นแล้วหนึ่งล้านห้าแสนราย จะเห็นว่าสุสานใหญ่ๆที่สร้างในครึ่งหลังของศตวรรษที่
19นั้น
มีพื้นที่ใหญ่กว่ามากและพื้นที่ก็มีการบริหารจัดการที่ดีกว่า
ทั้งสองแห่งที่ยกตัวอย่างมานี้ ตั้งอยู่ชานเมือง
ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติเขียว เป็นสวนสุสานที่แท้จริง
[9] เปียร์อาเบลาด์ (Pierre Abélard)
เดินทางมาเรียนเทววิทยาที่ปารีส และต่อมาเป็นผู้สอนทั้งเทววิทยากับตรรกะวิทยา ระหว่างนี้เขาหลงรักหลานสาวชื่อเอโลอี๊ซ
(Héloïse) ของนักบวชฟุลแบร์ (Fulbert) เพราะเขาพักอยู่ที่บ้านของนักบวช นักบวชรู้เข้าโกรธมากและสั่งตอนอาเบลาด์
ตั้งแต่นั้นอาเบลาด์เร่ร่อนจากอารามหนึ่งไปยังอีกอารามหนึ่ง
แต่ก็ยังคงสอนอยู่บ้าง ในขณะที่เอโลอี๊ส เข้าบวชเป็นชีในคอนแวนต์ที่อาร์ฌ็องเตยล์
(Argenteuil)
และต่อมาได้ไปเป็นแม่อธิการของคอนแวนต์ที่ปาราเกล้ (Paraclet)ใกล้เมืองโนฌ็อง-ซูร์-แซน
(Nogent-sur-Seine)
ระหว่างนี้ทั้งสองมีจดหมายติดต่อกัน
จดหมายของทั้งสองบอกให้รู้ถึงความลุ่มลึกของความรู้สึกในใจของทั้งสอง
อ่านแล้วสะเทือนความรู้สึกอย่างยิ่ง เมื่อเอโลอี๊ซถึงแก่กรรม
ร่างของคนทั้งสองในที่สุดได้มาอยู่ด้วยกัน
ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการขุดหาอัฐิของทั้งสอง และตกไปอยู่ในมือของ
อเล็กซ็องดร์ เลอนัวร์ (Alexandre Lenoir,
1761-1839) ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนักบวชเปอติ-โซกุสแต็งส์ (Petits-Augustins ปัจจุบันคือสถาบันวิจิตรศิลป์ -Ecole des Beaux-Arts) เลอนัวร์รวบรวมอัฐิของทั้งสองและย้ายไปฝังที่สุสานแปร์ลาแช้สที่ปารีสในปี 1817 ก่อนหน้านั้นเลอนัวร์คนเดียวกันนี้ก็ได้ให้ขุดย้ายอัฐิของโมลีแยร์(Molière) และของลาฟงแตน (La
Fontaine) เพื่อนำไปฝังไว้ในสุสานแปร์ลาแช้ส แล้ว
ความเอาใจใส่ในการเก็บอัฐิอังคารของบุคคลต่างๆดังกล่าว
เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้รู้ว่า ชาวตะวันตกมิได้รังเกียจกระดูกคนตาย
กลับพยายามเก็บรักษาไว้ เป็นการแสดงความเคารพต่อบุคคลที่จากไป โดยเฉพาะบุคคลต่างๆที่กล่าวถึงมาข้างต้น
ที่เป็นคนเก่ง เป็นหัวกะทิของประเทศในยุคนั้น
ความชื่นชมในสติปัญญาของบุคคลทั้งหลาย
อยู่นอกเหนือความพลาดพลั้งหรือความแปลกต่างในวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขา ปัญญาชนชาวตะวันตกแยกแยะ “ความเป็นเหนือมนุษย์ ” ออกจากความเป็นมนุษย์ที่โดยธรรมชาติย่อมอ่อนแอ มีอารมณ์รักใคร่ มีความรู้สึก
มีโลภ รัก โกรธ หลงเป็นต้น
[10] หลุมศพนี้ตามสถิติของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสุสานแปร์ลาแช้ส
บันทึกไว้ เป็นหลุมศพที่มีผู้นำกระถางดอกไม้ไปคารวะอยู่เสมอ
จึงเป็นหลุมศพที่มีดอกไม้ประดับมากที่สุดในสุสานแปร์ลาแช้ส และดูเหมือนว่า มีผู้ไปบนบาน “ขออะไร”
จากท่านด้วย และก็ได้รับตามที่บนไว้
[11] อนุสรณ์สถานนี้มีความสำคัญมากในเชิงการเมือง
เพราะผนึกความทรงจำของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง
มากกว่ามาจากการแต่งตั้งภายในรัฐสภา
ชาวปารีสได้ร่วมกันต่อต้านอย่างกล้าหาญ
รัฐบาลยุคนั้นต้องย้ายไปตั้งที่แวร์ซายส์ และในที่สุดใช้กำลังทหารเข้ามาล้อมปารีส
ปิดเส้นทางลำเลียงอาหารเพื่อบีบชาวปารีสให้จำนน และใช้กำลังเข้าจู่โจม
ได้สังหารกลุ่มผู้ก่อรัฐประหารผู้เข้าไปหลบซ่อนและรวมตัวกันภายในสุสานแปร์ลาแช้ส
เกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือดโดยมีหลุมศพเป็นที่กำบัง
กำลังทหารที่ฝ่ายรัฐบาลนำมาใช้แฝงตัวเข้าไปในสุสานแปร์ลาแช้ส ในคืนวันที่ 27 พฤษภาคมปี 1871 และได้ฆ่าชาวปารีสฝ่ายรัฐประหารในคืนนั้น วันรุ่งขึ้นพบผู้รอดตายอีก 147 คน
ก็ยังถูกต้อนไปยิงทิ้งอย่างโหดเหี้ยมที่กำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสุสาน
ตรงกำแพงนั้นเองที่ต่อมารัฐบาลให้ขุดหลุมขนาดใหญ่ฝังคนตายทั้งหมดไว้ด้วยกันใต้กำแพง รู้จักกันในนามว่า กำแพงของพวกก่อการรัฐประหาร (Mur des Insurgés) ต่อมาตั้งชื่อใหม่ว่า มูร์เดเฟเดเรส์ (Mur des Fédérés ในความหมายของกำแพงของกลุ่มรัฐประหารปี
1871) ในยุคหลังๆ
นักการเมืองส่วนมากมักวนเวียนไปที่อนุสาวรีย์นั้นเพื่อแสดงคารวะต่อผู้เสียชีวิต และแสดงจุดยืนให้ประจักษ์ว่า
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลนั้นเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของประชาราษฎร์
ที่รัฐบาลต้องพยายามหาทางไกล่เกลี่ยด้วยสันติวิธี
อนุสาวรีย์แห่งนั้นจึงยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและศรัทธาต่ออุดมการณ์สาธารณรัฐของชาวเมืองและต่ออนาคตของประเทศ
[12] สุสานแปร์ลาแช้ส
ตั้งอยู่บนถนนบูลวารด์ เดอ เมนีลมงต็อง (Boulevard de
Ménilmontant) ใช้รถไฟใต้ดินสายที่ 2 ลงที่สถานี ฟิลิป โอกุซต์ ( Philippe Auguste) ซึ่งอยู่ใกล้ประตูใหญ่ทางเข้าสุสาน ถ้าใช้รถไฟใต้ดินสายที่ 3 ไปลงที่สถานีแปร์ลาแช็ส
(Père Lachaise) ชื่อเดียวกับสุสาน
แล้วเดินต่ออีกประมาณ 500 เมตรจึงถึงทางเข้าสุสานด้านข้าง
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลายคนมักเลือกไปลงที่สถานี ก็องเบ็ตตะ (Gambetta) บนเส้นทางรถไฟใต้ดินสายที่ 3 เพราะเมื่อเข้าไปในสุสาน จะถึงหลุมศพของ ออสการ์ไวลด์
(Oscar Wilde นักเขียนชาวอังกฤษ) จากที่นั่นก็เดินชมหลุมศพอื่นๆได้สะดวก
[14] สุสานสามแห่ง คือสุสาน ซิมตีแยร์
เดอ มงต์มาร์เตรอะ (Cimetière de Montmartre), ซิมตีแยร์
มงต์ปาร์น้าส (Cimetière Montparnasse) และ ซิมตีแยร์ ดู แปร์ลาแช้ส (Cimetière du Père Lachaise) ทั้งนี้เพราะสุสานทั้งสามแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานที่เป็นแบบสถาปัตยกรรมสุสานที่น่าสนใจ
และโดยเฉพาะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงปารีส
เพราะเคยเป็นสนามรบในเหตุการณ์ต่างๆในอดีต สุสานทั้งสามจึงยังคงใช้เป็นที่ฝังศพของชาวปารีสต่อมาจนถึงทุกวันนี้
โดยมีกฎบัญญัติต่างๆคอยควบคุมการใช้สุสานอย่างละเอียด
เนื่องจากพื้นที่สำหรับรองรับศพใหม่ๆเหลือน้อยลงมาก
มรณานุสติ
ReplyDelete