นรกกับสวรรค์อยู่ที่ใดในความเชื่อของชนหลายชาติหลายศาสนา (อย่างน้อยก็ชาวยิว, ชาวคริสต์และชาวอิสลาม) อยู่ที่ไหน คนคงสนใจน้อยลงไปแล้ว แต่ก็ยังมีการนำไปต่อยอด ไปยังความมหัศจรรย์ที่เร้าจินตนาการและความตื่นเต้นในแนวบันเทิงเชิงปลุกใจมากขึ้น.
นรกกับสวรรค์เข้าไป เป็นองค์ประกอบสำคัญในฉากพิพากษาสุดท้าย (The Last Judgement) ในคริสต์ศิลป์. ฉากนี้ปรากฏจำหลักเป็นประติมากรรมที่ละเอียดและสำคัญที่สุด ที่ประดับบนหน้าบันของประตูใหญ่ทางทิศตะวันตกของโบสถ์และมหาวิหารใหญ่ๆ. ประติมากรรมบนหน้าบันที่โดดเด่นที่สุด อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ที่เป็นศูนย์รวมคริสต์ศิลป์โรมันเนสก์และกอติคที่สำคัญที่สุดในยุโรป. ด้านหน้าด้านทิศตะวันตกของโบสถ์ใหญ่ๆ มักจะมีสามถึงห้าประตู โดยมีประตูตรงกลางเป็นประตูใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด. เป็นประตูหลัก ที่ทอดเป็นเส้นตรงไปจนถึงหน้าแท่นบูชา แล้วตรงต่อไปจบลงที่กำแพงส่วนหัวของโบสถ์ ที่ตรงกับทิศตะวันออก. เส้นทางตะวันตก-ตะวันออกนี้ คือแกนหลักของวัด โบสถ์ วิหารทั้งหลาย. การที่ด้านหน้าของโบสถ์บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตก เพราะเป็นทิศที่ตั้งของเมืองเยรูซาเล็มนั่นเอง (จากจุดยืนในยุโรป เมืองเยรูซาเล็มอยู่ทางทิศตะวันตก) และเพราะตลอดชีวิตของพระเยซู อยู่ที่นั่น, เยรูซาเล็มจึงสำคัญมากที่สุด. ชื่อนี้ยังไปใช้เรียกเมืองสวรรค์ ว่า เมือง เยรูซาเล็มสวรรค์ (Celestial Jerusalem).
เมื่อโอกาสพาไปหยุดยืนหน้าโบสถ์หลังใหญ่ๆหรือมหาวิหารในยุโรป
อย่าลืมดูหน้าบันและพิจารณาประติมากรรมบนด้านทิศตะวันตก ที่เป็นด้านหน้าของวัด
โบสถ์และวิหาร เพราะที่นั่น
A. สรุปเรื่องราวในคัมภีร์เก่าและคัมภีร์ใหม่
ที่เห็นได้จากประติมากรรม เพราะฉะนั้นการเข้าใจประติมากรรมจึงสำคัญมาก. ในสมัยก่อน ผู้คนอาจเข้าใจดีกว่าคนยุคปัจจุบัน
แม้ว่าคนในสมัยก่อนอ่านและเขียนไม่ได้ แต่พวกเขาไปวัด ไปฟังพระเทศน์บ่อยๆอย่างน้อยทุกวันอาทิตย์.
การเทศน์ของพระในวัด คือการยกเนื้อเรื่องจากคัมภีร์เก่า คัมภีร์ใหม่มาเล่าให้ฟัง แล้วโยงถึงเหตุการณ์หรือพฤติกรรมในชีวิตจริงของชุมชน. เช่นนี้เท่ากับได้รับรู้เรื่องราวจากคัมภีร์อยู่บ่อยๆ
จึงเข้าใจประติมากรรมที่เกี่ยวข้องได้ง่ายกว่าคนในยุคปัจจุบัน ผู้ไม่เคยไปวัดและแม้จะอ่านออกเขียนได้ก็ไม่อ่าน
Bible. การจำหลักประติมากรรมที่สำคัญที่สุด คือการเน้นประวัติชีวิตของพระเยซู, ประวัตินักบุญ, นอกจากอัครสาวกคนดังๆทั้งหลาย และโดยเฉพาะนักบุญปีเตอร์กับนักบุญปอล
ผู้ที่เป็นสองเสาหลักของคริสต์ศาสนา,
ยังมีนักบูญที่แต่ละถิ่นสักการะบูชาเป็นพิเศษ, หรืออาจมีนักบุญพื้นบ้านด้วย
(โดยเฉพาะพระนักบวชผู้เป็นหมอยาของชาวบ้าน). รูปปั้นนักบุญที่ยืนเรียงรายอยู่หน้าโบสถ์
ต้องการบอกว่า บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น เป็นพยานของการมีตัวมีตนจริงของพระเยซู. รูปปั้นนักบุญแต่ละรูป เล่าเรื่องที่นักบุญคนนั้นได้พบพระเยซูหรือได้สังเวยชีวิตเพื่อความเชื่อในพระเยซูผู้เป็นพระคริสต์เมื่อชีวิตบนโลกสิ้นสุดลง
และเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา. B. ประติมากรรมด้านทิศตะวันตก ยังระบุบทลงโทษคนไม่ดีประเภทต่างๆ ในแบบต่างๆอย่างย่อๆ. นักเขียน เช่นดั๊นเต้ สามารถเจาะจงพรรณนารายละเอียดของโทษของบาปได้ละเอียดมาก. แต่ประติมากรรมบนพื้นที่จำกัด ด้วยเทคนิคที่จำกัด จึงทำได้เพียงแนะให้คิดและเข้าใจเท่านั้น. แต่ก็โดดเด่นและชัดเจนมาก เพราะฝีมือและจิตสำนึกของนายช่างผู้จำหลัก ที่เป็นพยานความเชื่อและศรัทธาของพวกเขาต่อคริสต์ศาสนา.
C. ประติมากรรมด้านทิศตะวันตก ยังเจาะจงรางวัลที่คนดีจะได้รับในสวรรค์ เช่นได้รับเข้าไปในสวรรค์ ผ่านประตูสวรรค์ เข้าสู่อ้อมอกของอับราฮัมบรรพบุรุษของมนุษยชาติ.
D. ประติมากรรมด้านทิศตะวันตก ยังระบุคุณธรรมต่างๆที่ศาสนิกชนพึงฝึกฝนปฏิบัติ โดยให้ภาพลักษณ์ของคุณธรรม และภาพลักษณ์ของอธรรม(บาป) ควบคู่กันไปอย่างชัดเจน ว่าต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างนั้น เป็นต้น.
E. ประติมากรรมด้านทิศตะวันตก ยังรวมปฏิทินบอกเดือนต่างๆในรอบปี ควบคู่ไปกับการทำงานของชาวนาชาวไร่ในแต่ละเดือนด้วย, ซึ่งเท่ากับสรรเสริญการทำงานของชาวนาชาวไร่ อันเป็นอาชีพหลักที่พระเจ้าได้กำหนดไว้สำหรับมนุษย์บนโลก, เป็นการเกษตรเพื่อการยังชีพ. ศาสนาไม่ลืมยกย่องอาชีพที่สุจริต. ประสบการณ์การทำงาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ทำให้คนเรียนรู้ทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน, กระชับจิตสำนึกเกี่ยวกับคุณธรรมในการดำรงชีวิต. การทำงานจึงคือการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่ง. ศาสนามิได้ยกย่องชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครอง และปลอบใจชาวบ้านสามัญชนทั้งหลายว่า เบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้า ทุกคนเสมอภาคกันในความดีและความเลว.
อาจมีเนื้อหาอื่นๆอีกแทรกเข้าไปในประติมากรรม
“ชุดใหญ่ที่สุดและที่สำคัญที่สุด” บนด้านหน้าโบสถ์. ในฉากการพิพากษาสุดท้าย อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แทรกเข้าไปมากน้อยต่างกัน แล้วแต่พื้นที่. ในที่นี้ ได้นำประติมากรรมการพิพากษาสุดท้ายจากโบสถ์เมืองอาเมียงส์ (Amiens) ในฝรั่งเศสมาให้ดูเป็นตัวอย่าง, เพราะมีรายละเอียดมากและจัดระเบียบเนื้อหาต่างๆไว้ได้ชัดเจนที่สุด, ที่ยังคงเห็นเช่นนั้นมาจนทุกวันนี้. เมื่อเข้าใจรายละเอียดแบบนี้แล้ว
ก็จะเข้าใจภาพชุด “การพิพากษาสุดท้าย” ได้โดยตลอด, ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมหรือจิตรกรรม. เกี่ยวกับภาพชุดนี้ ประติมากรรมโดดเด่นกว่าที่แสดงไว้ด้วยศิลปะแบบอื่นๆ. ภาพชุดนี้บนหน้าบันที่โบสถ์น็อตเตรอดามกรุงปารีสก็สวยงามมากเช่นกัน แต่รายละเอียดน้อยกว่ากันนิดหน่อย (ดูภาพที่ 7 และ 8)
การพิพากษาสุดท้าย (Le Jugement Dernier)
ศิลปะไบแซนไทน
ศิลปะโรมันเนสก์ตามด้วยศิลปะกอติค ต่างได้บรรจงจารึกเนื้อหาของ การพิพากษาสุดท้าย เป็นจิตรกรรมโมเสก และจิตรกรรมฝาผนัง
ประดับโดมหรือกำแพงภายในวัดวิหารหรืออาราม, แต่ที่เด่นที่สุด คงต้องยกให้ประติมากรรมโรมันเนสก์และกอติคในฝรั่งเศส ชุดวันพิพากษาสุดท้าย
ที่ประดับบนหน้าบันด้านทิศตะวันตก ที่เป็นประตูใหญ่เข้าสู่วัดวิหารหรือโบสถ์
(ประตูนี้ปกติปิดมิให้เข้าออก ให้เข้าทางประตูที่ติดกันข้างๆ). ศิลปินยุคกลางเสนอเนื้อหาของการพิพากษาสุดท้ายเป็นห้าฉาก โดยมีการปรากฏตัวของอัศวินสี่คนที่กล่าวไว้ใน
อโปกาลิปส์ (Apocalypse), เป็นฉากที่หนึ่ง
เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการพิพากษา. เนื้อหาการทำลายล้างหรือชะตากรรมของโลกมนุษย์นั้น ซับซ้อนหลายระดับเกินกว่าจะนำมาจำหลักไว้บนหน้าบันพร้อมฉากอื่นๆใน
การพิพากษาสุดท้าย (แต่ก็มีโบสถ์บางแห่งที่จำหลักแนะไว้อย่างย่อๆ คือจำหลักคนขี่ม้าสี่คน
เพื่อสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอโปกาลิปส์
โปรดติดตามเนื้อหาอโปกาลิปส์ในบล็อก). ประติมากรรมชุดนี้จึงเริ่มด้วยการแสดงว่า ใครคือผู้พิพากษา
หนึ่ง, การพิพากษาเริ่มขึ้นอย่างไร หนึ่ง, ใครถูกพิพากษา พวกเขามาจากไหน มาอย่างไร หนึ่ง, และ ผลของการพิพากษา อีกหนึ่ง.ประติมากรรมบนหน้าบันเหนือประตูเข้าบานใหญ่ตรงกลางด้านหน้าของโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองอาเมียงส์ (Cathédrale Notre-Dame d’Amiens สร้างในระหว่างศตวรรษที่สิบสาม, อยู่ที่เมืองอาเมียงส์ในประเทศฝรั่งเศส. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1981 มีพื้นที่ 13,700 ตารางเมตร. เป็นหนึ่งในโบสถ์กอติคขนาดใหญ่ที่สุด). เป็นโบสถ์กอติคที่งามสมบูรณ์ เพียบด้วยรูปลักษณ์และสัญลักษณ์ในระบบความหมายของลัทธิศาสนา. การอ่านภาพประติมากรรมจำหลักชุดการพิพากษาสุดท้ายนี้ อ่านจากภาพแถวล่างขึ้นไปแถวบนสุด.
1. ฉาก ใครคือผู้พิพากษา นั้น ประติมากรรมเสนอภาพของพระเยซูคริสต์ ประทับบนบัลลังก์ จำหลักในมุมแหลมสูงสุดของหน้าบันสามเหลี่ยม. เป็นพระเยซูคริสต์ในรูปร่างคน. สองมือยกขึ้น ฝ่ามือแผ่ออก เห็นรอยแผลที่ถูกตอกตะปูเมื่อถูกตรึงบนไม้กางเขน. เสื้อคลุมหลวมๆยังเผยให้เห็นบาดแผลบนสีข้างขวาที่ถูกหอกแทง. ปากเม้มปิด. สองข้างบัลลังก์มีเทวทูตสี่องค์ (ถ้ามีพื้นที่น้อย เหลือเพียงสององค์ที่ทำหน้าที่ของสี่องค์). ในที่นี้เห็นเทวทูตองค์หนึ่งด้านซ้าย, ยืน ถือไม้กางเขนและมงกุฎหนาม. มีเทวทูตอีกองค์คุกเข่าพนมมือในท่าเคารพบูชา. ด้านขวาเทวทูตองค์หนึ่ง, ยืน ถือหอกด้ามยาวในมือหนึ่ง, อีกมือหนึ่งกำตะปูสามดอก. เทวทูตอีกองค์หนึ่งคุกเข่าลงตรงมุมในท่าเคารพเทิดทูน. สี่สิ่งนี้เคยเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตของพระเยซู (ตะปูที่ตอกลงบนร่างกายที่ยังมีชีวิต, ไม้กางเขนที่พระเยซูถูกตรึง, มงกุฎหนามที่ทหารโรมันนำไปสวมไว้บนศีรษะของพระเยซู เย้ยหยันและประชดประชันว่าเป็นกษัตริย์ของโลกที่มีเพียงมงกุฎหนาม, หอกด้ามยาวที่มีทหารขว้างไปปักตรงใต้หน้าอก เพื่อให้พระเยซูสิ้นใจ เพื่อยุติความทรมาน) นำมาแสดงไว้บนหน้าบันเพื่อยืนยันและพิสูจน์ว่า พระคริสต์บนบัลลังก์ในสวรรค์นี้ คือคนเดียวกับพระเยซูที่ถูกตรึง, ตอกย้ำให้ชาวโลกรู้ว่า เรื่องราวในคัมภีร์ใหม่เป็นความจริง และพระเยซูได้ฟื้นคืนชีพ มีชัยชนะเหนือความตาย. ในฐานะที่เคยสั่งสอน ยอมสละชีวิตไถ่บาปให้คน จึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรม ในการเป็นผู้พิพากษาสูงสุด. พื้นที่บริเวณนี้ บางทีก็มีรูปปั้นขนาดเล็กของพระแม่มารีจำหลักไว้ด้านขวามือของพระคริสต์ในฐานะของมารดา และรูปปั้นของจอห์นในฐานะศิษย์คนโปรดอยู่ด้านซ้ายมือ (ดังที่เห็นในภาพข้างบนนี้). ทั้งสองเหมือนพยานในชีวิตของพระเยซูบนโลก, กระชับความมั่นใจในจิตสำนึกของชาวคริสต์ ว่าพระแม่มารีและจอห์นผู้ได้รับอภิสิทธิ์ให้ขึ้นไปอยู่ข้างพระคริสต์ (ผู้เป็นพระเจ้า)ในสวรรค์, อาจเป็นตัวกลาง เป็นทนายแก้ต่างให้ชาวคริสต์ เมื่อจะถูกตัดสินโทษที่เคยทำบนโลก. ชาวคริสต์จึงเชื่อและศรัทธาในพระแม่มารีและจอห์นมาก. ทั้งสองจึงเหมือนแสงสว่างแห่งความหวังสุดท้ายของชาวคริสต์ ผู้เคยหลงผิดและรู้สำนึกกลัวบาปแล้ว. รูปจำหลักของพระแม่มารีและของจอห์นอยู่ในท่าคุกเข่าพนมมือ, ตามองตรงไปที่พระคริสต์, กำลังชื่นชมพระราศีอันบรรเจิดจ้า, พร้อมทั้งขอร้องอ้อนวอนให้พระองค์ ยอมลดหย่อนผ่อนโทษให้คนรู้สึกผิดบ้าง.
2.a. เหนือรูปปั้นพระเยซูคริสต์ขึ้นไป ตรงมุมแหลม พระเจ้า(ในภาคของพระบิดา) มือยกขึ้น ถือดาบทั้งสองมือ, ปลายดาบชี้ไปยังปาก เพื่อสื่อนัยของการลั่นวาจาประกาศิต, การมีอำนาจสูงสุด และการตัดสินทุกคนทุกอย่าง. รูปปั้นกลุ่มนี้ อยู่เหนือแนวสถาปัตยกรรมที่มีหลังคาทรงโค้ง ประดับเป็นระยะๆเพื่อสื่อว่ามีเมืองสวยงามในสวรรค์, คือเมืองเยรูซาเล็มสวรรค์ ที่เล่าไว้ในพระคัมภีร์. พระเจ้าลอยอยู่เหนือเมืองนี้ มีเทวทูตสององค์คุกเข่า, องค์หนึ่งด้านซ้ายของภาพ ยกรูปลักษณ์ของดวงอาทิตย์ขึ้นสูงระดับไหล่, อีกองค์หนึ่งด้านขวาของภาพ ยกรูปลักษณ์ของดวงจันทร์. เทวทูตทั้งสองบอกให้รู้ว่า พระผู้เป็นเจ้าอยู่เหนือระบบจักรวาล เพราะพระองค์เป็นผู้เนรมิตดวงอาทิตย์และดวงจันทร์(และโลก).
2.b. เหนือขึ้นไปในมุมแหลมสามเหลี่ยม ยังมีรูปปั้นเล็กๆ มีใบหน้าและมีปีก. ถ้าเป็นไปตามภาษาประติมากรรมยุคกลาง, รูปปั้นนี้(ที่ดูเหมือนเทวทูต) แทนพระจิต. นั่นคือมีพระบุตร(พระเยซูคริสต์) พระบิดาที่อยู่เหนือขึ้นไป และพระจิตที่อยู่ที่สูงสุดในกลุ่มประติมากรรมนี้ (ตำแหน่งของพระจิต อยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่าพระบิดานั้น, ไม่ใช่ประเด็น เพราะทั้งสามภาค คือพระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งองค์เดียวกัน. ในมุมมองของเทคนิคการจำหลัก, ตรงยอดมุมแหลม พื้นที่เล็กมาก จึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของพระจิต. ปกติในจิตรกรรมศาสนา พระจิตปรากฏในรูปของนกสีขาวที่บินอยู่บนท้องฟ้า เหนือสรรพชีวิตและเหตุการณ์.
3. ฉาก การพิพากษาเริ่มขึ้นอย่างไร นั้น อ่านได้จากประติมากรรมบนหน้าบันแถวล่างสุด. เห็นเทวทูตสี่องค์กำลังเป่าแตร. สององค์ตรงกลางภาพ อีกองค์หนึ่งอยู่ข้างขวาและอีกองค์หนึ่งอยู่ข้างซ้าย. วิญญาณคนตาย ลุกขึ้นจากโลงศพเหมือนถูกปลุกให้ตื่นขึ้น.
ทั้งหมดผ่านการตรวจสอบ, ชั่งความดีความชั่วที่ได้ทำมาในชีวิต, แล้วถูกพิพากษาตามผลแห่งการกระทำของแต่ละคน. ตรงกลางแถวล่างเดียวกันนี้ มีรูปปั้นจำหลักของเทวทูตองค์หนึ่งถือคันชั่งในมือ. ตามคัมภีร์ อัครเทวทูตไมเคิลเป็นผู้ชั่งความดีความชั่วของแต่ละคน เพื่อแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มวิญญาณคนดีกับกลุ่มวิญญาณคนชั่ว.
4. ภาพรายละเอียดเล่าตอนอัครเทวทูตไมเคิล ชั่งดวงวิญญาณดวงหนึ่ง ว่ามีความดีความชั่วมากน้อยเพียงใด. เจ้าของดวงวิญญาณที่ไมเคิลกำลังชั่งอยู่นั้น นั่งอยู่ใต้คันชั่ง, มือถือแผ่นกระดาษที่จดพฤติกรรมต่างๆที่ผ่านมาในชีวิตของเขา.
จานด้านซ้ายในภาพ มีรูปแกะบนจาน. แกะเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี ของความบริสุทธิ์และการเสียสละ (บางทีเป็นรูปคนกำลังพนมมือแสดงความนบนอบเชื่อฟังต่อพระเจ้า). ส่วนจานด้านขวามีหัวมารอัปลักษณ์ตัวหนึ่ง แทนความชั่วที่เขาเคยทำ. เห็นชัดว่า ดวงวิญญาณนี้ มีความดีมากกว่าความชั่ว. แต่นายช่างจำหลักหิน ยังได้แทรกให้เห็นว่า แม้ในนาทีสุดท้ายนั้น มารตัวหนึ่ง ยังพยายามดึงจานความชั่วให้ต่ำลงมา เพื่อเอาดวงวิญญาณดวงนั้นไปเพิ่มในนรก.
ประติมากรรมแถวที่สอง(จากล่าง) ใต้บัลลังก์ของพระคริสต์ แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนตายได้ยินเสียงทรัมเป็ตของเหล่าเทวทูต, วิญญาณฟื้นคืนชีพลุกออกจากโลง และเมื่อผ่านการชั่งความดีความชั่วของแต่ละคนแล้ว, มีการแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มวิญญาณคนดีและกลุ่มวิญญาณคนชั่ว. ประติมากรรมแถวนี้
ก็แบ่งออกเป็นสองซีก ซ้าย (5) และขวา (6)
5. ภาพด้านซ้าย(ขวามือของพระคริสต์) เป็นแถววิญญาณคนดีที่เทวทูตดันคนท้ายแถวให้เดินตามไปสู่ทางเข้าประตูสวรรค์ ที่จำหลักไว้สุดมุมขวาแถวกลางนี้ โดยมีอัครสาวกปีเตอร์ยืนอยู่ข้างประตู มือถือกุญแจ. เขาเป็นผู้ปิดเปิดประตูสวรรค์ เขาทำมือชี้ไปยังทางเข้า บอกอนุญาตให้เข้าไป. ตรงทางเข้ามีเทวทูตองค์หนึ่งกำลังสวมมงกุฎแห่งคุณงามความดี ให้วิญญาณที่กำลังเดินเข้าไป. เทวทูตอื่นๆที่ลอยอยู่เหนือวิญญาณคนดี ก็มีมงกุฎในมือ พร้อมที่จะมอบให้เป็นรางวัลแก่ทุกคน.
6. ส่วนภาพด้านขวา
เห็นตัวมารมาผลักแถววิญญาณคนบาปไปสู่ทางลงนรก ที่อยู่ปลายมุมขวาสุดของภาพ, จำหลักเป็นรูปหัวสัตว์กำลังอ้าปากกว้าง เหมือนปากฉลามยักษ์หรือปากปลาวาฬ ตรงกับคำบรรยายว่า ปากทางนรกมีปีศาจทะเลตัวหนึ่งเป็นคนเฝ้า ชื่อ Leviathan
ในภาษาฮีบรูสมัยใหม่แปลว่า ปลาวาฬ . เห็นมารตัวหนึ่งข้างในปาก ยื่นมือมาโอบลากวิญญาณชั่วลงไป. เหนือแถวดวงวิญญาณคนชั่ว
มีเทวทูตบินเรียงราย มือถือดาบพร้อมจะฟาดฟันผู้ที่คิดหนี.
เพราะฉะนั้นแถวล่างและแถวที่สองเหนือขึ้นไปของประติมากรรมชุดการพิพากษาสุดท้าย
ตอบคำถามเกี่ยวกับการพิพากษาไว้หมด. ประติมากรรมชุดนี้ ให้สภาพบรรยากาศที่สมจริงในศาล. ใบหน้าของผู้พิพากษาสงบและเคร่งขรึม. ความยุติธรรมสุดยอดที่ชาวคริสต์เข้าใจได้ทันที เมื่อเห็นหน้าบันแบบนี้. ภาพความตายและการถูกลากตัวไปลงนรกนั้น, ฝังในจิตสำนึกของชาวคริสต์ เตือนให้ประพฤติดีประพฤติชอบและรีบกลับตัวกลับใจ. ในขณะเดียวกัน ก็แฝงความหวังไว้ด้วย ว่าจะได้รางวัลเมื่อผ่านประตูเข้าไปในสวรรค์เป็นต้น. หน้าบันเรื่องการพิพากษาสุดท้าย มีรูปปั้นเล็กๆประดับบนแนวหินที่ครอบหรือล้อมประติมากรรมบทที่ได้อธิบายมา, เช่นเห็นแถวเทวทูตสองแถวที่เรียงรายจากยอดแหลมลงไปสองข้าง, ทำท่าพนมมือ หรือท่าทางอื่น เพราะรอบๆบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้า มีวงล้อมของเหล่าเทวทูตจำนวนมากถึงเก้าชั้น. เทวทูตทั้งหมดเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่และภารกิจต่างๆตามพระบัญชาของพระองค์. ส่วนรูปปั้นในแนวรอบนอก คือปราชญ์ผู้ทรงความรู้และคุณธรรมสูง มีจำนวน 24 องค์ (ที่พระผู้เป็นเจ้าเนรมิตขึ้นก่อนเนรมิตโลก เหมือนคอยเป็นผู้ช่วยพระองค์ในกิจการบนสวรรค์. ปราชญ์ยี่สิบสี่องค์นี้ ในคัมภีร์เรียกว่า ผู้เฒ่ายี่สิบสี่ท่าน. บางแห่งเสนอภาพของผู้เฒ่าเหล่านี้ กำลังบรรเลงดนตรีในสวรรค์. ดนตรีสรรเสริญพระเจ้าและถ่ายทอดความปลื้มปิติในสวรรค์ชั้นฟ้า. ผู้เฒ่าที่จำหลักและที่สวยงามมากเป็นพิเศษในคริสต์ศิลป์ คือที่จำหลักลงบนหน้าบันมหาวิหาร Santiago de Compostela [สั่นติอ๊าโก๊ เด ก่มโปสเต๊ลา ] ประเทศสเปน).
เนื้อหาของบทการพิพากษาสุดท้ายนี้
เป็นบทสรุปและรวมหัวใจของลัทธิศาสนาไว้ทั้งหมด, ยืนยันให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ตั้งแต่ด้านหน้าของโบสถ์, เจาะจงบัญญัติของพระเจ้า, ควบคุมจัดระเบียบของสังคม, วางระบบสิ่งตอบแทน และขู่ให้กลัวบาปด้วยภาพของนรก. คนจะเลือกไปทางไหนนั้น อยู่ที่เขาเองแล้ว.
ข้อมูลศิลปวัฒนธรรมที่เป็นภูมิหลังของปัญญาชนชาวตะวันตกที่กล่าวมาข้างต้น
ได้เสนอภาพลักษณ์ และปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับความตายไว้อย่างชัดเจนว่า การตายดีกับการตายชั่วนั้นต่างกันมากเพียงใด ที่ผลักดันให้คนทำความดีละเว้นความชั่ว
หรือกลับตัวกลับใจ.
ศิลปวัฒนธรรม อาจกระตุ้นความกลัวตายของชาวยุโรปในยุคก่อนๆ และทำให้ชาวยุโรปคุ้นเคยกับการเห็นโครงกระดูกหรือคนตาย
จนถึงกับใช้โครงกระดูกมาเป็นสิ่งประดับในบริบทชีวิตประจำวันเพื่อเตือนใจ เพื่อกระตุ้นให้ตรึกตรอง หรือดลใจให้สร้างสรรค์งานศิลป์ ทั้งด้านวรรณกรรม ดนตรี
ประติมากรรม, หรือเพื่อการเรียนรู้สรีร
ศาสตร์ของคนเป็นต้น. ความกลัวตาย ได้ค่อยๆเบนไปสู่ความสนใจเกี่ยวกับความตายและการตายมากขึ้นๆ, ไปสู่การใฝ่รู้ ใฝ่ตรอง, หาปรัชญาและเจาะลึกไปถึงแก่นแท้ของชีวิต, ในขณะเดียวกันก็ยังหล่อเลี้ยงความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตนิรันดร์, จะด้วยความเชื่อศรัทธาในศาสนา
หรือด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถหยุดกาลเวลา และหยุดความเสื่อมโทรมเน่าเปื่อยของเซลล์ชีวิต....
เมื่อเข้าใจภาพชุดการพิพากษาสุดท้าย ตามที่เสนอไว้ข้างบนนี้แล้ว จะเข้าใจประติมากรรมชุดนี้ที่ประดับบนหน้าบันประตูใหญ่ของมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงปารีส ได้ทันทีดังภาพที่นำมาให้ดูณที่นี้ด้วย
7. และ 8. หน้าบันใหญ่เหนือประตูใหญ่ทิศตะวันตก (ด้านหน้า) ของมหาวิหารน็อตเตรอดามที่กรุงปารีส (Cathédrale Notre-Dame
de Paris)
ภาพข้างล่าง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง จากมหาวิหารน็อตเตรอดามกรุงสตร๊าสบูร์ก
9. ประตูใหญ่และหน้าบันทิศตะวันตก
Cathédrale Notre-Dame de Strasbourg, France.
10. ประติมากรรมบนหน้าบันใหญ่ที่สุดของที่นั่น
เนื้อหาชีวิตช่วงสุดท้ายของพระเยซู
รายละเอียดต้องอ่านจากแถวล่างขึ้นแถวบน
และจากด้านซ้ายของภาพไปทางด้านขวาของภาพ ดังนี้ 1) ฉากพระเยซูขี่ลาเดินทางเข้าสู่เมืองเยรูซาเล็ม. ตรงกับวันอาทิตย์ ตลอดเส้นทาง ผู้คนออกมาต้อนรับ โบกกิ่งไม้ใบไม้ต้อนรับพระองค์. บางคนปีนขึ้นไปดูพระเยซูบนต้นไม้, บางคนก้มลงอยู่ที่พื้น ปูทางที่ลาจะเดินด้วยใบไม้ แสดงการต้อนรับและความเคารพ.
2) ฉากอาหารค่ำมื้อสุดท้าย. เห็นอัครสาวกจอห์น หลับอยู่บนตักพระเยซู และจูดาผู้นั่งอยู่หน้าโต๊ะยาวคนเดียว. อัครทูตอื่นๆอยู่ซีกเดียวกับพระเยซู. หลายคนยังถือแก้วเหล้าองุ่นในมือ. เล่าพิธี Eucharistia – ยูการิทเธีย หรือพิธีปลุกเสกขนมปังและเหล้าองุ่นที่พระเยซูได้ตั้งขึ้นในวาระนั้น เพื่อให้เหล่าคริสต์ศาสนิกชน รำลึกถึงพระองค์และเข้าถึงพระองค์ได้ ด้วยการดื่มเหล้าองุ่นและขนมปังที่ปลุกเสกแล้ว (เหมือนได้กินเนื้อหนังมังสาและเลือดของพระองค์)
3) ถัดไปเป็นฉากจูบของจูดา. จูดาใช้วิธีเข้าสวมกอดพระเยซูเพื่อบอกใบ้ให้ทหารโรมันรู้ ว่าคนไหนคือพระเยซู. พระเยซูจึงถูกทหารรวบตัวไป.
4)
พระเยซูถูกสบประมาท ถูกมัดกับเสา ถูกเฆี่ยนถูกโบย.
แถวที่สอง เล่าเหตุการณ์ต่อมาจากแถวที่หนึ่ง คือ
5)
มีผู้นำมงกุฎหนามมาสวมบนศีรษะพระเยซู แบบเยาะเย้ยประชดประชันในทำนองว่า
ได้ยินว่าเป็นกษัตริย์เหนือมนุษย์ทุกคน, เอานี่ไง มงกุฎกษัตริย์. 6) พระเยซูต้องแบกไม้กางเขนที่พระองค์จะถูกตรึง เดินขึ้นเขา Golgotha. พระแม่มารียืนมองอย่างสุดสลดใจ.
7) พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน บนพื้นใต้ที่ตั้งของไม้กางเขน มีโครงกระดูกนอนราบอยู่ อาจเพื่อสื่อว่า บนเนินเขา Golgotha นั้น, เป็นที่ฝังศพและที่ตายของคนจำนวนมากมาแล้ว. (การมีโครงกระดูกมาตั้งอยู่ตรงนี้ในภาพนี้ นับว่าผิดแปลกจากที่อื่นๆ เพราะที่อื่น(หรือในภาพจิตรกรรม) จะเป็นแค่หัวกะโหลกหนึ่งหัวเท่านั้น, เพื่อสื่อสภาพที่ตั้งของเนินเขาที่พระเยซูถูกตรึง. ด้านซ้ายติดพระเยซูบนไม้กางเขน เห็นสตรีมีมงกุฎสวมบนศีรษะ มือหนึ่งถือไม้ตระบองยาวเป็นรูปตัว T มีผ้าติดห้อยลง. ภาพแบบนี้ เป็นสัญลักษณ์ของโบสถ์คริสต์, ไม้คานยาวที่ถือในมือ หมายถึงธงแห่งชัยชนะ มีนัยว่า พระคริสต์มีชัยชนะเหนือความตาย, คนที่เชื่อในพระคริสต์ก็จะไม่ตาย. สตรีผู้นี้ยังถือถ้วยทรงสูง เข้าไปใกล้ตัวพระเยซู เพื่อรองรับเลือดที่หลั่งไหลออกจากร่างพระเยซู (ถ้วยนี้จึงกลายเป็นถ้วยศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า The Grail เป็นถ้วยเหล้าใบเดียวกับที่พระเยซูรินเหล้าองุ่นแล้วแจกจ่ายให้เหล่าอัครสาวกดื่มจากถ้วยใบเดียวกัน ในโอกาสที่ร่วมอาหารมื้อสุดท้าย. หลังจากนั้น ถ้วยนี้ได้หายวับไป และเป็นจุดมุ่งหมายของการติดตามหาถ้วยศักดิ์สิทธิ์นี้ ดังที่เล่าไว้ในวรรณกรรมอัศวินโต๊ะกลม ที่ต่างออกเดินทางติดตามค้นหาหาถ้วยใบนี้). สตรีอีกคนหนึ่ง ยืนติดอยู่ด้านขวาของไม้กางเขน, มีอะไรปิดตา (ลักษณะอาจเป็นผ้ามาผูกตา ขมวดไปไว้ด้านหลังศีรษะ). นางก้มศีรษะลงต่ำ มือหนึ่งถือธงด้ามยาว (ปกติในภาพลักษณ์แบบนี้ ธงนั้นจะแสดงไว้ว่า กำลังหักลง). สตรีคนนี้ เป็นสัญลักษณ์ของวัดนอกรีต (ซีเนอก๊อก Synagogue) ทั้งหลายที่เดินไปในความมืด, ตาถูกปิด, มองไม่เห็นแสงสว่าง คือไร้สติปัญญา เข้าไม่ถึงพระเจ้า. ถัดไปทางขวา เห็นอัครทูตจอห์น หน้าเกลี้ยงยังไม่มีหนวดเครา แสดงว่ายังเป็นหนุ่ม มีอายุน้อยกว่าเหล่าอัครสาวกคนอื่นๆ. จอห์นก้มหน้าในท่าครุ่นคิด ที่รู้ว่าเป็นจอห์นเพราะในมือหนึ่งถือหนังสือเล่มหนึ่ง เพื่อบอกว่า ต่อไปเป็นผู้เขียนคัมภีร์ใหม่คนหนึ่ง. คัมภีร์ของจอห์น เป็นเล่มเดียวที่เล่าถึงอโปกาลิปส์ ตามบัญชาของพระเจ้า.
8) ประติมากรรมกลุ่มถัดไป เป็นเหตุการณ์ที่ Joseph Arimathea ขอทหารโรมันให้เขาขึ้นไปปลดร่างพระเยซูลงจากไม้กางเขนเพื่อนำไปใส่โลง. คัมภีร์ใหม่ทุกเล่ม เล่าตรงกันว่า เขาอุทิศโลงศพหินที่เขาเตรียมไว้สำหรับตัวเอง ให้บรรจุร่างของพระเยซูแทน. เจ้าหน้าที่โรมันจึงยอมตกลง. เห็นคนหนึ่งกำลังใช้คีมดึงตะปูออกจากมือพระเยซูที่ถูกตรึงไว้. พระแม่มารีอุ้มศีรษะพระเยซูไว้ หน้าเศร้าสลด.
9) เห็นโลงศพสวยงามที่ตั้งยกขึ้นสูง มีทหารโรมันนอนระเกะระกะอยู่ข้างใต้โลง. ภาพนี้เล่าว่า มียามเฝ้าโลงศพตลอดคืนจนรุ่งสาง ยามหลับไหลไป. บนโลงมุมขวามีเทวทูตนั่งอยู่ มือแตะที่กระปุกกลมๆ. เล่าเหตุการณ์ว่า รุ่งสาง เหล่าสตรีสามนางผู้มีคุณธรรมและผู้ติดตามพระเยซู ได้มาและนำกระปุกน้ำมันและเครื่องหอมเพื่อจะมาชะโลมเหมือนอาบน้ำศพให้. เทวทูตชี้ให้นางทั้งสามคนดูว่า ในโลงไม่มีร่างของพระเยซูแล้ว พระเยซูขึ้นสวรรค์ไปแล้ว.
แถวที่สาม เล่าเหตุการณ์ในชีวิตพระเยซูต่อ
10) มุมซ้ายสุด
เห็นแพะตัวหนึ่ง กำลังโดดตัวขึ้นข้างๆคนหนึ่งที่ห้อยโต่งเต่ง
คือจูดาที่หลังจากทรยศพระเยซู รู้สึกสำนึกในบาป เกิดอาการคลุ้มคลั่งจนในที่สุดไปแขวนคอตาย.11) ประติมากรรมถัดไปทางขวา เห็นปากและลิ้นของตัวมาร Leviathan ตรงหน้ามีมารตัวอื่นๆ มารตัวหนึ่งยิ้มแฉ่ง. กลุ่มนี้เล่าว่า พระเยซูผู้ฟื้นคืนชีพ ได้ลงไปในนรก และช่วยวิญญาณคนดีที่พลาดลงไปอยู่นรก, หรือลงไปโปรดสัตว์ในนรก เพื่อคลายทุกข์ทรมาน. มีสองสามคนที่ตามพระเยซูขึ้นจากนรกมาได้ (การแสดงเรื่องนี้ ไม่ปรากฏจำหลักไว้ณโบสถ์อื่นใด). เห็นพระเยซูคริสต์มือหนึ่งประคองไม้กางเขน อีกมือหนึ่งดึงมือคนข้างหลัง ที่ก็ดึงมือสตรีข้างหลังให้ตามขึ้นมาจากปากนรก.
12) ฉากต่อไป เห็นสตรีคนหนึ่ง คุกเข่ายกมือไหว้พระเยซูคริสต์ผู้ถือไม้กางเขนในมือ. เธอคือ นางมารีมัดเดอแลน ผู้วิงวอนขอให้พระเยซูคริสต์อยู่ก่อน อย่าเพิ่งจากไปเลย. พระเยซูคริสต์หันไปมองนาง บอกว่า Noli me tangere ในความหมายว่า อย่าได้ยึดพระองค์ไว้อีกต่อไปเลย (พระองค์มิได้เป็นคนเดินดินอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นพระคริสต์และต้องกลับสู่สวรรค์).
13) ฉากสุดท้ายบนแถวสองนี้ พระเยซูคริสต์มาปรากฏตัวในอาคารที่ที่เหล่าอัครสาวกมาชุมนุมอยู่ เพื่อแสดงตนต่อเหล่าอัครสาว, ให้พวกเขาเห็นกับตาว่า พระองค์ผู้ตายไปแล้วและกลับฟื้นคืนชีวิตมาแล้ว. อัครสาวกโทมัส ยังไม่อยากเชื่อว่าเป็นคนเดียวกัน. พระองค์จึงเปิดเสื้อคลุมให้เห็นรอยหอกที่เจาะเข้าซี่โครงข้างขวาของพระองค์ และทำให้พระองค์สิ้นใจ. โทมัสขอเอามือไปจิ้มดูที่บาดแผลตรงซี่โครงนั้น. ในภาพนี้ สาวกคนอื่นๆก็อยากเข้าไปแตะต้องตัวพระเยซูคริสต์ด้วย. นอกอาคารทางขวามือสุด เห็นน้องหมาถูกจัดให้อยู่นอกประตู ทำท่าเหมือนเงี่ยหูฟัง.
แถวบนสุดใต้สามเหลี่ยมของหน้าบัน
14) เล่าอัครสาวกนั่งอยู่ บ้างพนมมือ
บ้างมีท่าอื่นๆที่แสดงความอัศจรรย์ใจ. พระแม่มารียืนอยู่ข้างซ้าย มองขึ้นเบื้องบน, ท่าทางของมือแสดงความปลาบปลื้มที่ได้เห็นพระเยซูคริสต์เ สด็จลอยขึ้นสู่เบื้องบน. ส่วนพระเยซูคริสต์ยกมือทั้งสองขึ้นสูง
ใบหน้าเงยขึ้น เพื่อเจาะจงว่าทิศทางที่จะไป คือสวรรค์บนท้องฟ้า. มีเทวทูตตามเสด็จสององค์. ทางด้านขวา มีอัครทูตจอห์น ยืนอยู่คนเดียว
มือทั้งสองตกลง บอกความอาลัยอาวรณ์.
นี่คือรายละเอียดประติมากรรมบนหน้าบันใหญ่ของโบสถ์น็อตเตรอดามเมืองสตร๊าสบูร์ก
ที่เน้นเหตุการณ์ในช่วงสุดท้ายของชีวิตพระเยซู (เหตุการณ์ชุดนี้ ชาวคริสต์เรียกว่า
The Passion (หรือ The Passion of the Christ) ใช้อักษร P ตัวใหญ่ที่มีความหมายเจาะจงดังที่อธิบายมา). ที่นั่น ฉากพิพากษาสุดท้าย ไปอยู่บนหน้าบันของประตูข้าง ที่ยังคงเป็นประตูหนึ่งบนทิศตะวันตก
และที่เป็นประตูเข้าออก (ดูภาพข้างล่างนี้)
เพราะประตูใหญ่ที่มีหน้าบันใหญ่นั้น (ทุกโบสถ์ขนาดใหญ่หรือมหาวิหาร) ปิดไว้เสมอ นอกจากกรณีพิเศษสุดจริงๆ. ในสมัยก่อน จะเปิดเมื่อมีกษัตริย์เสด็จไป
หรือเมื่อมีงานพิธีศพของคนใหญ่คนโตในวงการศาสนาหรือในราชวงศ์.
บนหน้าบันเหนือประตูข้าง อีกประตูหนึ่ง
(ยังอยู่ด้านทิศตะวันตก)
จำหลักภาพการพิพากษาสุดท้าย
แต่เจาะจงเฉพาะที่เกี่ยวกับวิญญาณคนชั่วเท่านั้น
ดังรายละเอียดในภาพข้างล่างนี้
ขอบคุณนะคะ ได้ความรู้มากๆ เลยค่ะ :)
ReplyDelete