Tuesday 2 September 2014

ศิลปะประดับความตาย 5 - อนุสรณ์สถาน


เมื่อไม่มีโอกาสนำร่างผู้ตายมาฝังไว้ณที่ต้องการ  ชาวยุโรปสร้างอนุสรณ์สถานแทนเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้จากไป   การจัดทำสิ่งอนุสรณ์ (memorial) อาจเริ่มด้วยการจารึกชื่อผู้ตายบนแผ่นหินแล้วนำไปไว้ที่วัด  สำหรับตระกูลผู้ดี แผ่นหินจารึกชื่อผู้ตายในตระกูล มีตราประจำตระกูลจำหลักลงไปด้วย (เรียกแผ่นหินพร้อมตราสัญลักษณ์ของตระกูลแบบนี้ว่า hatchment ในภาษาอังกฤษ)  แผ่นหินนี้จะติดอยู่ที่บ้านผู้ตายชั่วระยะเวลาหนึ่ง (ระยะไว้ทุกข์ที่ครอบครัวกำหนดขึ้นตามความสะดวก)  แล้วจึงปลดออก นำไปติดที่วัดในถิ่นที่อยู่นั้น

               ชุมชนอาจสร้างรูปปั้นเหมือนของผู้มีคุณงามความดีต่อชุมชนนั้น  หรือรูปปั้นนักเขียน นักปราชญ์ที่โดดเด่นในแต่ละยุคสมัย  เป็นวิธีการแสดงคารวะบุคคลนั้น เตือนความทรงจำของอนุชนรุ่นหลัง  อาจไปตั้งประดับไว้ในสวน หรือตามจุดต่างๆที่เหมาะสมและกลายเป็นประติมากรรมประดับเมือง  สวนลุกซ็องบูร์ก(le Jardin du Luxembourg) ที่กรุงปารีสและสวนอื่นๆขนาดใหญ่หรือเล็กในเมือง มักมีรูปปั้นหรือประติมากรรมประดับพร้อมคำอุทิศอย่างเฉพาะเจาะจง  บางทีชื่อบุคคลนั้นกลายเป็นชื่อเรียกบริเวณนั้นไปด้วย  เพราะฉะนั้นชื่อสถานที่ต่างๆในยุโรปรวมทั้งชื่อถนนหนทาง จึงเป็นชื่อบุคคลที่ได้สร้างประวัติความเป็นมาแก่สถานที่นั้น แก่ชุมชนนั้นหรือแก่ประเทศนั้น  นาม นั้นสำคัญมากในจิตสำนึกของชาวตะวันตก ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่อาจไม่ตาย ในเมื่อร่างคนต้องเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา  ชื่อเสียงดีจึงอาจยืดชีวิตของคนๆหนึ่งไปนอกกรอบเวลาอันจำกัดของชีวิตหนึ่งได้  การใช้ชื่อคนหนึ่งเรียกสิ่งอื่นๆหรือเรียกสถานที่หนึ่ง จึงเป็นวิธียืดชีวิตของชื่อนั้นต่อไปในสังคมนั้น[1] 
               ทุกประเทศสร้างอนุสรณ์สถาน สร้างอนุสาวรีย์ ยืนยันความมีตัวตน จุดยืน เกียรติภูมิและอัตลักษณ์ของประเทศ   แต่ละประเทศมีสุสานสำหรับวีรชนผู้สละชีพเพื่อชาติ  อาจเป็นสุสานทหารอย่างเฉพาะเจาะจง  หรือเป็นอนุสาวรีย์ที่อุทิศให้แก่ผู้ตาย หรือเป็นแผ่นหินจำหลักชื่อผู้ตายทั้งหมดในสงครามใดสงครามหนึ่ง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกประเทศมีสุสานทหารนิรนาม ที่เป็นตัวแทนของผู้ตายทั้งหมดที่มิอาจเจาะจงชื่อหรือถิ่นที่อยู่ได้ถูกต้อง เพื่อยืนยันว่าประเทศคารวะและสรรเสริญผู้ที่สละชีพเพื่อชาติ   สถาปัตยกรรมประตูชัยที่ประดับเมืองใหญ่ทั่วไปนั้น ไม่เพียงแต่จารึกชัยชนะไว้บนหินบนแผ่นดิน แต่ตอกย้ำความตายของคนจำนวนมากเพื่อแลกกับชัยชนะนั้น  จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่สะเทือนอารมณ์และความรู้สึกของคนอย่างยิ่ง
               จากแผ่นหินอนุสรณ์สำหรับหมู่คน ไปเป็นอาคารอนุสรณ์สำหรับผู้ตายคนเดียวหรือหลายคน  รูปแบบของอาคารอนุสรณ์อาจเป็นแบบบรรจุศพแต่ไม่มีอัฐิใดๆเก็บไว้ภายใน (เรียกว่า cenotaph)  หรือเป็นแบบอื่นใดก็ได้ตามจินตนาการและตามยุคสมัย  ดังตัวอย่างต่างๆที่นำมาให้ชมต่อไปข้างล่างนี้
แผ่นหินอนุสรณ์ความทรงจำแด่ผู้เสียชีวิตไปในระหว่างสงคราม จากวัดนักบุญยาค็อบ (Sint Jaconskerk)  เมืองอ็องต์แวร์เพิน (Antwerpen) ประเทศเบลเยี่ยม  แผ่นหินจารึกรายชื่อแบบนี้ เรียกว่า cenotaph ในภาษาอังกฤษ
กลุ่มประติมากรรมอนุสรณ์เสนอรูปปั้นเหมือนของพระเจ้าหลุยส์ที่16 กับพระนางมารีอ็องตัวแน็ต (Marie-Antoinette)ที่ประดิษฐานอยู่ภายในมหาวิหารแซ็งเดอนีส์ (Basilique de Saint-Denis) ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส   เมื่อถูกคณะปฏิวัติตัดสินประหารชีวิตด้วยกีโยติน(ในวันที่21 มกราคม 1793 และในวันที่16 ตุลาคมปีเดียวกันตามลำดับ)  ศพทั้งสองถูกนำไปทิ้งลงในหลุมศพรวม พร้อมผู้ถูกประหารคนอื่นๆที่สุสานวัดมาดเดอแลนในปารีส (cimetière de la Madeleine ปัจจุบันคือที่ตั้งของสี่แยกชื่อ Square Louis-XVI) โดยไม่มีใครเหลียวแลอีกเลย  ยี่สิบสองปีต่อมาในรัชสมัยของนโปเลียนโบนาปาร์ตเท่านั้น  ทรงมีพระราชโองการให้กลับไปขุดหาพระบรมอัฐิ และทรงให้จัดพิธีฌาปนกิจ ฝังพระอัฐิสองสามชิ้นและอังคารเพียงเล็กน้อยที่ได้มา โดยให้ฝังลงในพื้นดินตรงหัวโบสถ์ชั้นล่าง(crypt) ของมหาวิหารแซ็งต์เดอนีส์ในปี 1815 
     ประติมากรรมที่เห็นในภาพนี้ เป็นอนุสาวรีย์อนุสรณ์ถึงสองพระองค์ มิได้บรรจุอัฐิหรืออังคารของทั้งสองพระองค์  รูปปั้นของทั้งสองพระองค์ในเครื่องแบบเต็มยศของกษัตริย์และพระราชินี พร้อมมงกุฎ ท่าคุกเข่าพนมมือและสำรวมต่อพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน รวมทั้งประติมากรรมจำหลักนูนที่ประดับอนุสาวรีย์นี้   ทั้งหมดเป็นผลงานของเอดเหมอะ โกลล์ (Edme Gaulle) และเปียร์ เปอติโย (Pierre Petiot) สร้างแล้วเสร็จในปี 1816 (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ภาพถ่ายฝีมือของ Eric Pouhier เมื่อปี 2006)

อีกตัวอย่างหนึ่งจากมหาวิหารซันปิเยโตร ที่กรุงวาติกันประเทศอิตาลี เป็นอนุสาวรีย์โลงศพของสันตะปาปาปีอุสที่เจ็ด (Pius VII เป็นสันตะปาปาระหว่างวันที่ 14 มีนาคม ปี1800 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม ปี 1823) อนุสาวรีย์โลงศพนี้ไม่มีอัฐิหรืออังคารเก็บอยู่ภายใน เป็น cenothaph  อีกแบบหนึ่ง  เป็นผลงานของแบร์เตล ทอร์วัลด์เซิน (Bertel Thorvaldsen) ระหว่างปี 1824-25    ศิลปินเสนอภาพของสันตะปาปากำลังประทานพร  เห็นเทวทูตน้อยสององค์ที่จำหลักไว้เหนือประตู (ในเชิงสัญลักษณ์ ประตูเพื่อบอกทางผ่านสู่ภพหน้า) เป็นเทวทูตแทนเวลาและประวัติศาสตร์ ตามที่ศิลปินเจาะจงไว้  และมีรูปปั้นสตรีขนาดใหญ่ขนาบสองข้าง รูปปั้นทางซ้ายเป็นภาพลักษณ์ของพละกำลัง (เห็นผืนหนังสัตว์ห่มไว้บนไหล่ โยงไปถึงกำลังที่สยบสัตว์ใหญ่เช่นสิงโต เหมือนเฮอคิวลิสในตำนานกรีก) และรูปปั้นทางขวาเป็นภาพลักษณ์ของสติปัญญา (จากการอ่านหนังสือและการคิดตรึกตรอง) และยังมีรูปปั้นเทวทูตนั่งขนาบสองข้างบัลลังก์ของสันตะปาปา  องค์หนึ่งถือแผ่นจารึก(อาจหมายถึงคุณงามความดีของสันตะปาปาคนนี้)  อีกองค์หนึ่งถือหัวใจในมือ เหมือนถ่ายทอดอุดมการณ์ของสันตะปาปาว่าทำงานอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจแด่พระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น (ภาพถ่ายนี้ของ Gunnar Bach Pedersen ถ่ายไว้ในเดือนมิถุนายน ปี 2005)
 
              อนุสรณ์แห่งความทรงจำในศตวรรษที่ 18 จะเปลี่ยนไปมาก ตามค่านิยมยุคใหม่ ที่เบนห่างจากจิตสำนึกของความตายตามขนบคริสต์ศาสนา  กรณีตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันตก คือ เกาะอนุสรณ์แก่ฌ็อง- ฌ้ากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau, 1712-1778  ผู้เป็นนักเขียนและนักปราชญ์ฝรั่งเศส เกิดที่เมืองเจนีวา ในประเทศสวิสเซอแลนด์ปัจจุบั) ชื่อลีล เด เปอ-ปลีเย่ (l’île des Peupliers) ที่เมือง แอรเมอนงวีล(Ermenonville)ในฝรั่งเศส  เป็นที่ประดิษฐานโลงศพหินของรุสโซ[2]  เกาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณส่วนตัวของ เรอเน่ ลุย เดอ จีราร์แด็ง (René Louis de Girardin) ผู้เป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของรุสโซ[3]  ในยุคนั้นมีผู้เดินทางไปคารวะรุสโซณเกาะสุสานนั้นเป็นจำนวนมากที่รวมถึงบุคคลสำคัญๆเช่นพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต (Marie-Antoinette) เบนจามิน แฟร็งกลิน(Benjamin Franklin)  โรเบซปีแยร์(Robespierre)  ด็องตง (Danton)  แซ็งต์จุสต์ (Saint-Just) เป็นต้น   สิบหกปีต่อมาเท่านั้น ที่รัฐบาลมีมติรับรุสโซเข้าเป็นหนึ่งในวีรบุรุษของชาติ จึงสั่งย้ายอัฐิอังคารของรุสโซเข้าไปประดิษฐานอยู่ในป็องเต-อง (Panthéon)ที่กรุงปารีสในปี 1794  ที่นั่นโลงศพของรุสโซ วางตรงข้ามและตรงหน้ากับโลงศพของวอลแตร(Voltaire) นักเขียนและนักปราชญ์ร่วมยุคอีกคนหนึ่งของฝรั่งเศส ในห้องเก็บโลงศพใต้ระดับพื้นของวิหารป็องเต-อง (ที่รวมโลงศพของวีรชนของชาติในแขนงต่างๆ)    ต่อมาในปี 1834 รัฐบาลเมืองเจนีวา ได้สร้างรูปปั้นเหมือนของรุสโซขึ้นประดับบนเกาะที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่รุสโซว่า เกาะรุสโซ (L’île Rousseau ในทะเลสาบเจนีวา) และในปี 2002 รัฐบาลสวิสเซอแลนด์ ได้ตั้งชื่อพื้นที่เป็นเกียรติแก่รุสโซอีกแห่งหนึ่ง ให้ชื่อว่า พื้นที่รุสโซ - Espace Rousseau ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายใหญ่ของเมืองเจนีวา (ที่เลขที่ 40 Grand’Rue) เพราะณตรงนั้น เป็นบ้านเกิดของรุสโซ  เพราะฉะนั้น การสร้างอนุสรณ์แก่บุคคลดีเด่น อาจทำด้วยการใช้ชื่อบุคคลนั้นมาตั้งชื่อสถานที่  หรือสถาบันหนึ่ง ก็ได้เช่นกัน  ฝรั่งเศสโดยเฉพาะใช้ชื่อบุคคลเรียกสถานที่ ถนนหนทาง รวมทั้งกฎหมาย หลักเกณฑ์วิทยาศาสตร์ มากกว่าที่ใดในยุโรป ยืนยันจุดยืนของประเทศฝรั่งเศสที่ต้องการสรรเสริญและเชิดชูชื่อของคนเก่ง คนดีของประเทศในทุกๆแขนงให้สืบทอดต่อไปชั่วนิรันดร

เกาะลีล เด เปอ-ปลี-เย่ (L’île des Peupliers) ที่ตั้งโลงศพหินของฌ็อง-ฌ้ากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นอกจากโลงหินที่ตั้งโดดเด่น  เอกลักษณ์สำคัญของเกาะนี้ คือพื้นที่สนามราบเรียบมีแนวต้น Peupliers (ในภาษาฝรั่งเศส หรือต้น Poplars ในภาษาอังกฤษ เป็นต้นไม้ในสกุล Populus) ปลูกเป็นวงล้อมโลงหิน ตั้งอยู่ที่เมืองแอร์เมอนงวีล (Ermenonville)
       การเลือกปลูกต้นไม้นี้อย่างเฉพาะเจาะจง เพราะตามขนบโบราณในยุโรป  ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ของโลกภพอื่น เป็นภาพลักษณ์ของความทรงจำ วัฏจักรของวิญญาณ  เน้นนัยความเศร้าสลดเพราะการตายจากไป  เชื่อกันอีกว่าต้นไม้นี้เก็บความทรงจำของอดีตที่ผ่านไปและจะเก็บความทรงจำของอนาคตที่กำลังมา  ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ต้นไม้นี้เป็นผู้นำความหวัง และสัญญาของการฟื้นตัวใหม่  เมื่อพิจารณาดูรูปลักษณ์ธรรมชาติของต้นไม้นี้ เห็นว่าสูงเด่นเป็นลำสู่เบื้องบน สามารถสูงได้ถึงยี่สิบเมตร  ใบไม้สั่นระริกเสมอในสายลมแม้ในสายลมอ่อนๆ  เช่นนี้ในสายลมแสดงแดดใบที่สั่นไหวของมันสะท้อนแสงระยิบระยับแวววาวอยู่เสมอ  เพราะสีเข้มบนใบตรงข้ามกับสีเกือบขาวของด้านล่างใบ  เสียงลมที่พัดผ่านใบไม้ยังฟังดูเหมือนเสียงลมหายใจแผ่วๆ ที่ยืนยันว่าชีวิตยังคงดำเนินต่อไป  ชาวบ้านเรียกต้นไม้นี้ในทำนองว่า the shivering tree หรือ ต้นไม้ที่สั่นเทิ้ม  
           การสร้างเกาะเล็กๆให้เป็นสุสาน สร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้ไปพบเห็น และเป็นภูมิทัศน์ที่สะเทือนอารมณ์สุนทรีย์ จึงเป็นแบบสุสานที่นิยมกันต่อมาในยุโรป และในที่สุดได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างสวนภูมิทัศน์   ดังตัวอย่างที่เวอลิต์ส (Wörlitz) และที่บรานิต์ส (Branitz) ในเยอรมนี  
           เจ้าชายลีโอปอลที่สาม (Prinz Leopold III,  1740-1817)[4] ได้ขึ้นครองดินแดนเล็กๆบนฝั่งแม่น้ำเอล์เบอะ (Elbe) และแม่น้ำมุลเดอะ (Mulde)[5] ตอนนั้นเจ้าชายเพิ่งมีอายุ 18 ปี  ห้าปีต่อมาพระองค์และพระสหายได้เสด็จไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษ และต่อมาไปอิตาลี ฝรั่งเศสแล้วกลับไปอังกฤษอีก เช่นนี้ตั้งแต่ปี 1765 เป็นต้นมา ทรงเริ่มปรับเปลี่ยนภูมิประเทศชนบทบนดินแดนของพระองค์ให้สวยงาม และที่เป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุดคืออุทยานที่เวอลิต์ส ที่ได้กลายเป็นสวนภูมิทัศน์แห่งแรกบนภาคพื้นยุโรป  ระหว่างปี 1769-1773 ให้ทรงสร้างพระตำหนักขึ้นที่เวอลิต์ส(Schloss Wörlitz) ที่ได้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมนีโอคลาซสิกแห่งแรกของเยอรมนี  ตามด้วยการสร้างอาคารสถาปัตยกรรมกอติคขนาดย่อมตั้งชื่อว่าบ้านกอติค (Gotische Haus สร้างระหว่างปี 1773-1813) และเส้นทางเดินเส้นสำคัญๆและทางเดินลัดเลาะที่ตัดต่อเป็นเครือข่ายภายในบริเวณอุทยานหรือเลียบตลิ่งสูง รวมทั้งการสร้างมุมมองทิวทัศน์ตามจุดต่างๆบนทางเดิน(vistas) และยังมีการก่อสร้างอาคารอื่นๆอีกตามๆกันมาบนดินแดนของพระองค์  ตั้งแต่ยุคนั้นแล้วที่ชาวเมืองเรียกอุทยานเวอลิต์สว่าเป็น อาณาจักรสวน-Garden Kingdom เพราะขนาดอันกว้างใหญ่ที่ไม่มีที่ใดในยุโรปเสมอเหมือน[6] 
               การบูรณะอุทยานในยุคปัจจุบันเริ่มขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ราวปี 1925 เป็นต้นมา  เจ้าชายยังได้สร้างเกาะรุสโซ(Rousseauinsel) เลียนแบบเกาะสุสานรุสโซ (L’île des Peupliers) ที่เมืองแอร์เมอนงวีลในฝรั่งเศส  เน้นให้เข้าใจว่า สถาปนิกและเจ้าชายมีอุดมการณ์ร่วมกันในความรักธรรมชาติและการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามแนวการครองชีวิตของรุสโซ  เกาะรุสโซที่เยอรมนีมิได้เก็บอัฐิอังคารของรุสโซเลย เป็นเพียงอนุสรณ์สถาน  อาณาจักรสวนเด็สเซา-เวอลิต์ส ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปี 2000 ที่ประกาศว่า ในฐานะที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการนำหลักปรัชญาในยุคแห่งแสงสว่างมาปรับใช้กับการออกแบบภูมิประเทศ ที่ในที่สุดผนึกศิลปะ การศึกษาและเศรษฐกิจเข้ารวมเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์และสมดุลที่นั่น
ภาพภูมิทัศน์ที่ตั้งของเกาะรุสโซ (Rousseauinsel) ภายในอาณาจักรสวนเด็สเซา-เวอลิส์ต (Das Gartenreich Dessau-Wörlitz)
 
            ตัวอย่างอีกแห่งหนึ่งที่น่ารู้คือ อาณาเขตอันกว้างใหญ่ของบรานิต์ส (Branitz) ตกเป็นมรดกของเคานต์แห่ง พลุกแกลร์ (Pückler) ตั้งแต่ปี 1696 แต่ตระกูลนี้ยังมิได้เข้าไปอยู่ที่นั่นจนถึงปี 1784 เมื่อทั้งตระกูลย้ายจากถิ่นฐานเดิมที่เมืองมอสเกา (Muskau) มาอยู่ที่บรานิต์ส  ท่านเคานต์แฮมัน ฟูสต์ ว็อน พลุกแกลร์-มอสเกา (Hermann Fürst von Pückler-Muskau, 1785-1871) ได้ขายที่ดินที่ม้อสเกาทั้งหมดในปี 1845 และตั้งแต่ปี 1811 เขาเริ่มสร้างสวนภูมิทัศน์ (ในส่วนของพื้นที่100 เฮกตาร์ ที่เรียกว่าสวนภายใน กับบริเวณป่าไม้และสวนฟาร์มรอบนอกอีก 600 เฮกตาร์) และพัฒนาพื้นที่อาณาบริเวณอันกว้างใหญ่อย่างต่อเนื่อง  สวนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงชีวิตของ ไฮนริช กราฟ ว็อน พลุกแกลร์ (Heinrich Graf von Pückler, 1835-97) ผู้เป็นทายาทสืบตระกูลต่อ  สวนภูมิทัศน์ที่นั่นมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เพราะท่านเคานต์ตระกูลนี้ เป็นผู้มีวิสัยทัศนกว้างไกล มีรสนิยมสูงและได้เดินทางไปในมุมต่างๆของโลก ทั้งยังเป็นนักเขียนและนักออกแบบสวนชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 19  สวนที่สร้างขึ้นสำคัญกว่าปราสาทที่อยู่อาศัยของตระกูลหลายร้อยหลายพันเท่า ในปัจจุบันปราสาทได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ฟูสต์-พลุกแกลร์ (Fürst-Pückler-Museum) ที่น่าสนใจยิ่งแห่งหนึ่งที่รวมวัตถุสะสมจากการเดินทางไปในที่ต่างๆของท่านเคานต์ รวมทั้งจิตรกรรมและสรรพสิ่งร่วมยุคที่เป็นข้อมูลชีวิตความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์ของคนในยุคศตวรรษที่ 19  ส่วนสวนนั้นยิ่งใหญ่และร่มรื่นยิ่งนัก  ต้นไม้สูงใหญ่แผ่กิ่งก้านปกคลุมไปบนเส้นทางเดินไปสู่ทุกมุมทุกทิศ  ต้นไม้ใหญ่ๆทั้งหลายเป็นความงามความอัศจรรย์ใจในตัวเองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้เดินชมสวนต้องหยุด เงยหน้าชื่นชมเกือบทุกย่างก้าว  ดังกล่าวแล้วข้างต้นว่า อุทยานที่นั่นเป็นหนึ่งในสวนภูมิทัศน์ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเยอรมนีและของโลก  ปัจจุบันยังมีการเปิดให้ใช้เป็นสถานที่จัดการแสดงดนตรีหรือศิลปะในระหว่างฤดูร้อน  (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับสวนได้ที่ www.cottbus.de หรือที่เว็ปไวต์ของที่นั่นโดยตรงที่ www.pueckler-museum.de  ที่ตั้งคือ Fürst-Pückler-Museum Park und Schloss Brantiz, Robinienweg 5, D-03042 Cottbus)
ภาพเกาะสุสานของตระกูลพลุกแกลร์-มอสเกา (Pückler-Muskau)ในทะเลสาบ เป็นเกาะสุสานเล็กๆที่เห็นในแนวหน้าของภาพบนนี้ มีหินรูปสามเหลี่ยมปิรามิดขนาดย่อม จำหลักชื่อผู้ตาย มีไม้กางเขนปักฝังลงบนยอด  ต้นไม้ที่เห็นก็เป็นต้น poplars  เมื่อเห็นเกาะสุสานแบบนี้ ชาวตะวันตกนึกโยงไปได้ทันทีถึงเกาะสุสานที่ตั้งโลงศพหินของรุสโซที่แอรเมอนงวีล   เยื้องไปข้างหลัง  เจ้าของสวนสร้างเนินเขาคลุมหญ้ารูปสามเหลี่ยมปิรามิดบนพื้นน้ำ (ที่เห็นเป็นสีแดงส้มๆ เพราะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง เมื่อหญ้าเขียวแห้งเฉาเปลี่ยนสี) ประกอบกันเป็นภูมิทัศน์ที่เด่นชัดและสะท้อนเป็นเงาระริกลงในทะเลสาบ  นับเป็นความสำเร็จของสถาปนิกสวนซึ่งคือเจ้าของบ้านเองด้วย ที่ได้เนรมิตภูมิประเทศที่เน้นการหมุนเวียนผ่านไปของชีวิต  ความไม่มีแก่นสารเหมือนเงาที่จับต้องมิได้ในทะเลสาบ  สถาปนิกรู้จักใช้รูปลักษณ์โบราณมาสื่อการสืบทอดของวัฒนธรรมและแสดงความสนใจของเขาที่มีต่ออารยธรรมโบราณ  ได้สร้างเป็นสวนภูมิทัศน์ที่เร้าความรู้สึกและสะเทือนจิตสำนึกของคนตามแนวสุนทรีย์ตะวันตก
ดังที่เห็นในภาพนี้ เนินสูงหญ้าปรกรูปสามเหลี่ยมปิรามิดยังมีอีกแห่งหนึ่งตั้งบนบก ที่จัดให้มีทางเดินขึ้นไปจนถึงยอด  สร้างเป็นจุดชมวิวที่วิเศษด้วย เราคงจจินตนาการได้ว่าอุทยานนี้จะสวยน่าประทับใจอย่างไรในแต่ละฤดูกาล
               ในยุคปัจจุบัน การสร้างอนุสรณ์สถานยิ่งพลิกขนบโบราณที่เคยมีมา  ดังตัวอย่างของอนุสรณ์สถานเจ้าหญิงไดแอนนา (สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุรถยนต์ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 31สิงหาคม 1997  สวนน้ำพุอนุสรณ์ - Diana Memorial Fountain สร้างขึ้นและเปิดปฐมฤกษ์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2004 เกือบเจ็ดปีต่อมา) ที่เป็นส่วนหนึ่งในบริเวณ Hyde Park [ฮ้ายดฺ พ้ารฺก] บนฝั่งทิศใต้ของทะเลสาบ Serpentine lake  สร้างขึ้นด้วยหินแกรนิตจากมณฑลคอร์นวอล(Cornwall, Cornish granite) จำนวน 545 แผ่น มาต่อเรียงกันเป็นพื้นและฐานของประติมากรรมธารน้ำไหลที่ทอดยาวเป็นรูปวงรี อันเป็นแบบแปลนบนพื้น 
               ธารน้ำอนุสรณ์นี้เป็นผลงานของนักออกแบบภูมิทัศน์ชาวอเมริกันชื่อแคธรีน กุสตาฟสัน (Kathryn Gustafson) ใช้เงินสร้างทั้งหมด 3,6 ล้านปอนด์  เธอระบุว่า ต้องการให้เป็นประติมากรรมน้ำพุแบบหนึ่งที่ทุกคนสามารถเข้าไปใกล้ๆเดินเล่นในธารน้ำ และหวังว่ารูปแบบของอนุสรณ์สถานนี้จักสอดคล้องกับธรรมชาตินิสัยอันน่าทึ่งของเจ้าหญิง  แบบแปลนบนพื้นของอนุสรณ์สถานนี้ จริงๆแล้วไม่เหมือนน้ำพุตามคำความหมายที่คุ้นเคยของคำ fountain ในภาษาอังกฤษ เพราะเป็นแนวน้ำไหลเรี่ยๆไปบนทางน้ำไหลหรือ ลำคลอง  ตื้นๆ ที่ขุดลงบนพื้นสนามหญ้าสีเขียว แนวลำคลองวนไปรอบๆเป็นวงกลมรี  มีสะพานเล็กๆข้ามธารน้ำไหลสามสะพาน ที่คนอาจข้ามเข้าไปจนถึงจุดใจกลางของพื้นที่ได้  ทั้งโครงสร้างตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียงน้อยๆ  มีน้ำที่ปั๊มขึ้นไปอยู่บนยอดสูงสุดของโครงสร้างลำคลองนี้  แล้วไหลลงมาสองข้างตามเส้นทางที่จัดไว้  ด้านหนึ่ง น้ำไหลลงอย่างเอื่อยๆ ช้าแต่คงที่ ไหลไปบนพื้นท้องน้ำที่เกือบจะเรียบสม่ำเสมอ ลงไปสู่ที่ต่ำ  ส่วนอีกด้านหนึ่งหินที่ปูพื้นท้องน้ำมีรูปลักษณะต่างๆกัน เป็นขั้นๆบ้าง เป็นตะปุ่มตะป่ำบ้าง เป็นแอ่งลึกลงตรงกลาง หรือเป็นทางโค้งเว้าเป็นต้น  เช่นนี้ทำให้กระแสน้ำที่ไหลผ่านมีปฏิกิริยาและรูปลักษณะของการไหลของน้ำเปลี่ยนไปตามพื้นท้องน้ำที่มันสัมผัส  สายน้ำพุ่งออก เป็นปุดเป็นฟองทั้งใหญ่และเล็ก  หรือไหลเอื่อยๆ แล้วเร่งเร็วขึ้นฯลฯ  น้ำทั้งหมดที่ไหลในน้ำพุอนุสรณ์นี้เป็นน้ำที่ได้รับการปรับใหม่ตลอดเวลา มิใช่น้ำขังนิ่งอยู่กับที่ เป็นน้ำที่ไหลจากแหล่งน้ำใต้ดินของกรุงลอนดอน  เช่นนี้ การไหลของน้ำจึงเป็นเอกลักษณ์พิเศษของอนุสรณ์สถานนี้   น้ำทั้งสองสายไหลลงไปสู่สระใหญ่บนพื้นระดับต่ำกว่า  สถาปนิกต้องการเน้นว่าสองลักษณะของสองสายน้ำสื่อชีวิตสองแบบสองลักษณะของเจ้าหญิง ช่วงแห่งความสุข และช่วงแห่งความอลหม่านสับสนในชีวิตของพระองค์ ทั้งยังบอกเล่าถึงคุณงามความดีและการมีใจเปิดกว้างของเจ้าหญิงไดแอนนา




มุมมองต่างๆจาก ธารน้ำอนุสรณ์ไดแอนนา หรือ Diana Memorial Fountain
               นอกจากธารน้ำอนุสรณ์นี้แล้ว ยังมีการสร้างเส้นทางเดินเล่นภายในสวนหลายสวนที่อยู่ใกล้ๆกัน โดยรอบพระราชวังและพระตำหนักต่างๆ  เรียกว่าเส้นทางเดินอนุสรณ์ไดแอนนาเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales, Memorial Walk)  เส้นทางเดินนี้ผ่านเข้าไปในสวนสาธารณะที่สวยที่สุดสี่แห่งของกรุงลอนดอน(และของโลก) คือเข้าไปใน St James’s Park, Green Park, Hyde Park และ Kensington Gardens  ทั้งหมดรวมกันเป็นเส้นทาง 7 ไมล์ หรือ11 กิโลเมตร  มีแผ่นอลูมีเนียมกลมแกะสลักชี้ทางทั้งสิ้น 90 แผ่น ที่ฝังลงบนพื้นถนนในสวนเลย  เว้นระยะห่างกันพอประมาณ  พาผู้เดินไปยังมุมและสถานที่มีชื่อเสียง ที่มีส่วนเกี่ยวกับชีวิตของเจ้าหญิง  บนเส้นทางนี้ คนเดินจะได้เห็นพระราชวังสามแห่ง และคฤหาสน์อีกสองหลังที่เจ้าหญิงเคยประทับ อันมี Kensington Palace, Buckingham Palace, Clarence House, St James’s Palace และ Spencer House (ที่เคยเป็นคฤหาสน์ของตระกูลสเป็นเซอ- Spencer ของเจ้าหญิงไดแอนนาในกรุงลอนดอน)

แผ่นโลหะจำหลักบอกทิศทางบนเส้นทางเดินอนุสรณ์ไดแอนนาเจ้าหญิงแห่งเวลส์
แผ่นโลหะจำหลักบอกทิศทางนั้น เป็นงานออกแบบของอเล็ก พีวา (Alec Peever) เป็นแผ่นโลหะทรงกลมเหมือนโล่ ตรงกลางเป็นดอกกุหลาบที่แกะสลักลงบนแผ่นอลูมิเนียมสีเงิน ทำให้มองดูวาวเหมือนโลหะมีค่าสูง  กุหลาบนั้นทำเหมือนดอกกุหลาบที่เป็นตราประจำตระกูลที่โยงไปถึงขนบธรรมเนียมเก่าของอังกฤษในขณะเดียวกันก็สื่อภาพลักษณ์ของความงามที่ฝังแน่นในความทรงจำที่คนส่วนใหญ่มีเกี่ยวกับเจ้าหญิงไดแอนนา  แผ่นโลหะกลมนี้เมื่อเดินไปในสวน จะเห็นได้ทันทีบนเส้นทางเดินอนุสรณ์ดังกล่าวมา   นายกรัฐมนตรีอังกฤษในปีนั้น(Gordon Brown ผู้เป็นประธานคณะกรรมการสร้างอนุสรณ์สถานไดแอนนาเจ้าหญิงแห่งเวลส์) กล่าวว่า เป็นเส้นทางเดินสวนสาธารณะในเมืองที่วิเศษที่สุดในโลก
               เส้นทางเดินเล่นนี้เป็นหนึ่งในสองโครงการที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนปี 2000  ก่อนวันเกิดปีที่ 39 ของเจ้าหญิง  ส่วนอีกโครงการคือ สนามเด็กเล่นที่ตั้งชื่อตามชื่อของเจ้าหญิงว่า สนามเล่นอนุสรณ์ไดแอนนาเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales, Memorial Playground ที่ตั้งอยู่ในสวน Kensington Gardens)  ทั้งสองโครงการเตือนให้รำลึกถึงเจ้าหญิงที่เคยชื่นชอบที่โล่ง พื้นที่กลางแจ้งที่อยู่รอบๆตำหนักเค็นซิงตันที่พักของพระองค์ และความรักเด็กของพระองค์ (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับสวนและอุทยานในกรุงลอนดอนได้ที่ www.royalparks.org.uk )
 
               ตัวอย่างสุดยอดอีกตัวอย่างหนึ่งที่ให้แง่คิดใหม่ในการสร้างอนุสรณ์สถาน เปิดมุมมองไปยังอีกมิติหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ  คืออนุสรณ์สถานที่รัฐบาลสเปนได้สร้างสรรค์ขึ้นอุทิศแก่ผู้เสียชีวิต 191 คนในเหตุวางระเบิดรถไฟที่เข้าสู่สถานีรถไฟอโตชา (Atocha) กรุงมาดริด ที่เป็นการกระทำของคณะผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงต่างชาติ[7] เมื่อวันที่ 11 มีนาคมปี 2004   หนึ่งปีหลังจากเหตุวินาศกรรมนั้น รัฐบาลได้สร้างสวนอนุสรณ์ขึ้นใกล้สถานีรถไฟ เรียกชื่อสวนอนุสรณ์นี้ว่าบ้อสเก้ เด โลส เอาเซ้นเต็ส(Bosque de los Ausentes) (ที่แปลตามตัวว่า ป่าแห่งผู้จากไป) ภายในสวนสาธารณะป๊าร์เก้ เด็ล บูเอน เรตีโร (Parque del Buen Retiro) ที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟอโตชา  สวนอนุสรณ์นี้ทางการให้ปลูกต้นโอลีฟ(Olive) และต้นไซเพรส(Cypress) รวมทั้งหมด 191 ต้น หนึ่งต้นแทนผู้เสียชีวิตหนึ่งคน  ความคิดในการปลูกต้นไม้แทนการสร้างรูปปั้นหรืออะไรอื่นนั้น น่าสนใจเป็นพิเศษ ต้นโอลีฟหรือต้นไซเพรสเป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีชีวิตยืนยาวมากเป็นพันปี  ใช้สื่อความหวังของชีวิตที่มิได้สิ้นสุดลงกับความเปราะบางของชีวิตคนที่ถูกลิดรอนไปเหมือนใบไม้ที่ร่วงหล่นไปในฤดูหนาว แต่ต้นไม้นั้นยังคงอยู่นานกว่าชนรุ่นนี้ที่จะจากไปตามวาระ  ต้นไม้เหล่านั้นจะยังยืนเด่นเพื่อบอกเล่าให้ชนรุ่นหลังรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เตือนใจและสอนวิถีการอยู่ร่วมกันในสังคมโลก  ต้นไม้ช่วยต่อชีวิตของคนที่ยังอยู่ ด้วยการมอบอ็อกซิเจนและช่วยลดมลพิษในอากาศ  เช่นนี้ผู้ที่จากไปได้ต่อชีวิตของผู้ที่ยังอยู่  ในภาวะการณ์ปัจจุบัน รูปปั้นหรือประติมากรรมกลางแจ้งถูกมลภาวะทำลายไปมาก นอกจากนี้บรรดานกยังปล่อยมูลลงบนรูปปั้น ทำลายความงามของประติมากรรมเสียสิ้น  สวนอนุสรณ์จึงเป็นสถานที่วิเศษที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย และเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรสืบทอดต่อไป



[1] ในตะวันออก เพิ่งในยุคปัจจุบันนี่เอง ที่มีการใช้ชื่อบุคคลเป็นชื่อเรียกสถานที่ เช่นถนนวิภาวดีรังสิต  เขื่อนภูมิพล ฯลฯ  แต่โบราณมาชื่อสถานที่เป็นคำที่อธิบายเมืองหรือประเทศนั้น เช่นกรุงเทพฯ  หรืออาจบอกที่ตั้ง บอกลักษณะของพื้นที่ หรือตำแหน่งของสถานที่  หรือบ่งบอกจุดยืนของชนชาติ นั้น หรือนำชื่อจากวรรณคดีมาตั้งเพื่อสื่อความยิ่งใหญ่เป็นต้น เช่นกรุงศรีอยุธยา  ตัวอย่างที่เห็นชัดเช่นประเทศจีนเรียกตนเองว่า    แปลว่า ประเทศที่อยู่ตรงกลางเป็นศูนย์กลาง  และใช้ชื่อนี้มาจนทุกวันนี้  แต่ชาวต่างประเทศที่เรียกประเทศจีนกลับโยงไปถึงราชวงศ์จิ๋น ที่ผนึกเอกภาพของชุมชนมาเป็นประเทศหนึ่งเดียวกัน
[2] เกาะอนุสรณ์แก่รุสโซเป็นผลงานออกแบบของ Hubert Robert (1733-1808)  เขายังออกแบบโลงศพของรุสโซด้วย ที่สร้างในรูปแบบของวัดชาวบ้านแบบเรียบ ประดับด้วยประติมากรรมจำหลักนูนต่ำที่เป็นภาพของแขนที่ยื่นออกมา ถือคบเพลิงแห่งเสรีภาพ เพื่อสื่อความรักธรรมชาติของรุสโซและความชื่นชมในวัฒนธรรมคลาซสิก  
[3] René Louis de Girardin ได้รับที่ดินเป็นมรดกตกทอดในปี 1763 และได้ออกแบบพื้นที่ให้เป็นสวนภูมิทัศน์ จัดฝั่งน้ำให้ลดเลี้ยวตามแบบที่ได้เห็นมาในประเทศอังกฤษ(Serpentine style)  ประกอบด้วยทะเลสาบ ป่า ซากปรักหักพังของวัด ถ้ำหรือกร็อตโตะ เกาะสุสานรุสโซและวัดแห่งปรัชญาที่สร้างค้างไว้เพื่อเน้นนัยของความไม่สมบูรณ์ของความรู้ของคน  ทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของสวนภูมิทัศน์ที่อังกฤษพัฒนาขึ้น  สวนที่นั่นได้ชื่อว่าเป็นสวนภูมิทัศน์แห่งแรกของฝรั่งเศส
[4] ชื่อเต็มว่า Prinz Leopold III , Friedrich Franz von Anhalt-Dessau (1740-1817)
[5] ในภาษาเยอรมันเรียกว่า Fürstentum an Elbe und Mulde
[6] ในที่สุดมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า อาณาจักรสวนเด็สเซา-เวอลิต์ส (Das Gartenreich Dessau-Wörlitz หรือในภาษาอังกฤษว่า The Garden Kingdom of Dessau-Wörlitz ตั้งอยู่ที่เมือง Dessau-Rosslau, 06846 ประเทศเยอรมนี

[7] เป็นกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนบาส์ก หรือ ETA ในภาษาบาส์กคือ Euskadi Ta Askatasuna หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Basque Homeland and Freedom ตั้งขึ้นในปี 1959

No comments:

Post a Comment