ในที่นี้ จะนำภาพนาฬิกายักษ์รุ่นเก่ามาให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อความเข้าใจว่าในสมัยก่อนชาวตะวันตกมองเรื่องเวลากันอย่างไร
นาฬิกาบอกเวลาหลายระบบที่
Master
Hanuṧ ประดิษฐ์ขึ้นในปี 1410 ประดับบนกำแพงทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด (Town Hall) ที่กรุงปร้าก (Prague) สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) มีเรื่องเล่ากันมาว่าสภาที่ปรึกษาแห่งชาติต่างพออกพอใจกับงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้มาก
และเกิดความกังวลปนความอิจฉาว่าในอนาคตเมืองอื่นๆในยุโรปอาจมีนาฬิกาแบบเดียวกันนี้ จึงรวมกันทำร้ายผู้ประดิษฐ์ให้ตาบอดไปเสีย
เป็นการกำจัดความกังวลให้หมดไป เพราะนักประดิษฐ์ผู้นั้นกลายเป็นคนตาบอดไปตลอดชีพ (ถ้าเรื่องเป็นเช่นนี้จริง
นาฬิกานี้ไม่น่าจะเป็นความภูมิใจของชาวเช็ก เพราะประจานจิตใจที่ดำมืดของพวกเขามากกว่าสิ่งอื่นใด)
นาฬิกากลไกกลุ่มนี้
ประกอบด้วย นาฬิกาดาราศาสตร์
(astronomical clock)
คือหน้าปัดวงกลมที่อยู่บน และใต้ลงไปเป็นหน้าปัดนาฬิกาปฏิทิน (calendar clock)
กลไกของนาฬิกากลุ่มนี้ บอกวันอะไรในสัปดาห์ เดือนไหนและปีไหนด้วย และบอกเวลาของยุโรปภาคกลาง เวลาของบาบีโลนและเวลาระหว่างดวงดาว ชาวเช็กถือว่าเป็นนาฬิกาเรือนเดียวในโลกและเป็นเรือนสุดท้ายที่เจาะจงเวลาได้ละเอียดและกว้างไปถึงเวลาในจักรวาล นอกจากนี้ยังระบุตำแหน่งของดวงดาวในท้องฟ้าได้อีกด้วย ส่วนนาฬิกาปฏิทินที่อยู่ใต้นาฬิกาดาราศาตร์ ประดับด้วยภาพผลงานของจิตรกรชื่อ Josef Mánes เกี่ยวกับสัญลักษณ์ของจักรราศี ที่เจาะจงว่าณวันหนึ่งวันใดที่เรามองดูนาฬิกานั้น เราก็จะเห็นด้วยว่าวันนั้นอยู่ในจักรราศีใด
นาฬิกาดาราศาสตร์(2) ประดิษฐ์ขึ้นในปี1410 หน้าปัดสร้างตามแบบเครื่องมือดาราศาสตร์โบราณ(astrolabe) ที่มีทั้งหน้าปัดวงเล็กซ้อนเหนือหน้าปัดวงใหญ่ หน้าปัดเล็กนี้ประกอบด้วยสัญลักษณ์จักรราศีสิบสองราศี พร้อมเข็มนาฬิกาที่มีรูปดวงดาวสีทองประดับที่บอกตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ส่วนเข็มสีดำมีลูกกลมเล็กๆนั้นบอกตำแหน่งของดวงจันทร์ วงกลมที่เห็นนี้จะเคลื่อนหมุนรอบตัวมันเองบอกลักษณะของดวงจันทร์ (เดือนหงาย เดือนคว่ำ เดือนมืด เดือนเพ็ญ) นาฬิกาดาราศาสตร์แบบนี้เป็นเครื่องมือดาราศาสตร์แบบแรกๆของมนุษย์ที่ใช้หาตำแหน่งของดวงดาวในสมัยก่อน และมีวิธีการอ่านอย่างเฉพาะเจาะจงน่าสนใจยิ่งนัก รายละเอียดเกี่ยวกับวงกลม เส้น และสีที่ต่างๆกันในส่วนต่างๆบนหน้าปัดนาฬิกาดาราศาสตร์นี้นั้น ดูคำอธิบายรายละเอียดได้จากภาพข้างล่างนี้ (ผู้สนใจติดตามศึกษาต่อเองได้ เอามาเสนอให้ดูเป็นไอเดียกว้างๆ)
สิ่งหนึ่งที่ต้องจำคือ ดาราศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 15 นั้น ยังคงเป็นทฤษฎีดาราศาสตร์ของปโตเลมี (Klaudios Ptolemaios ในภาษากรีก มีชีวิตอยู่ระหว่างราวปีคศ. 90-168 เขาเป็นชาวกรีกเชื้อสายอีจิปต์ อยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย รู้จักกันว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และนักภูมิศาสตร์ มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง ที่ปราชญ์ชาวอิสลามและชาวยุโรป รับไปศึกษาและพัฒนาต่อ) กล่าวสรุปอย่างสั้นๆคือ โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและนิ่งอยู่กับที่ มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆหมุนรอบโลก แผนผังข้างบนหรือหน้าปัดดาราศาสตร์ของกลุ่มกลไกนาฬิกานี้ จึงมีโลกเป็นศูนย์กลาง ต่อมา โกแปร์นิกุซ ได้ค้นพบว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีโลกและดวงดาวต่างๆหมุนรอบดวงอาทิตย์พร้อมๆกับที่หมุนรอบตัวเอง (เขาเขียนทฤษฎีดาราศาสตร์ขึ้นใหม่ในปี 1530 แต่พิมพ์ออกสู่ตลาดในปี 1543 เท่านั้น)
ตรงมุมบนขวาของหน้าปัดนาฬิกาดาราศาสตร์ มีโครงกระดูกที่ถือกระดิ่งเล็กๆในมือขวาและนาฬิกาทรายในมือซ้าย(4) รูปปั้นความตาย(และรูปปั้นทั้งหมด) เคลื่อนไหวได้ ทำหน้าที่สั่นกระดิ่งบอกเวลาทุกชั่วโมง ตั้งข้างรูปปั้นคนที่โพกศีรษะ(ชาวเตอร์ก)ที่ถือเครื่องดนตรีในมือสื่อนัยของความสนุกสนานบันเทิงใจที่ขับกล่อมให้คนหลงใหลเคลิบเคลิ้ม
ส่วนรูปปั้นเล็กที่ประดับมุมบนซ้ายของนาฬิกาดาราศาสตร์(ภาพ 3) มีรูปปั้นหนึ่งถือกระจกในมือสื่อความหลงตัว ความหยิ่งผยอง รูปปั้นอีกรูปหนึ่งใบหน้าของคนแก่มือถือไม้เท้า มืออีกข้างหนึ่งกำถุงทองไว้แน่น ชี้ถึงความละโมบและความตระหนี่ถี่เหนียวในนิสัย รวมทั้งบ่งบอกความหมกมุ่นของคนในการเก็บเงินสร้างฐานะ ทันทีที่โครงกระดูกสั่นกระดิ่งบอกเวลา รูปปั้นทั้งหมดส่ายหัวไปมาเพื่อบอกว่า ยังไม่พร้อมที่จะไป ยังอยากอ้อยอิ่งอยู่กับนาทีปัจจุบัน
กล่าวโดยรวมคือ เมื่อตรงชั่วโมง จะได้ยินเสียงระฆังดังขึ้น ตีบอกเวลาว่าเป็นชั่วโมงที่เท่าไร ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ คือ โครงกระดูกที่ยืนอยู่ทางขวาติดหน้าปัดนาฬิกาดาราศาสตร์นี้ มือขวาถือระฆังเล็กๆและมือซ้ายถือนาฬิกาทราย ในแต่ละชั่วโมง โครงกระดูกสั่นระฆังในมือตามจำนวนชั่วโมง เมื่อนั้นหน้าต่างสองบานเหนือนาฬิกาดาราศาสตร์จะเปิดออกกว้าง มีรูปปั้นของเหล่าอัครสาวก(7, ซึ่งเดินเป็นวงกลม) มาชะโงกหน้าที่หน้าต่างด้านซ้ายครั้งหนึ่งแล้วเดินมาชะโงกหน้าที่หน้าต่างด้านขวาอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นในแต่ละชั่วโมงเมื่อระฆังดังขึ้น จะเห็นอัครสาวกทั้งสิบสองคนออกมาเดินชะโงกหน้าต่างเหมือนกันทุกชั่วโมง เมื่อระฆังและการเดินของอัครสาวกจบลงแล้ว ไก่ทองตรงมุมแหลมของกำแพงเหนือหน้าต่างสองบานนั้น(8) จะส่งเสียงขันดังกังวาล เป็นอันจบ เชื่อกันว่า เมื่อไก่ขันในเวลาตีหนึ่งของแต่ละวันนั้น ทำให้ผีและมารทั้งหลายตกใจและหนีออกไปจากกรุงปร้าก
ส่วนนาฬิกาปฏิทิน(5) พร้อมภาพในวงกลมวงเล็กสิบสองวง บนหน้าปัด แสดงกิจกรรมในชีวิตของชาวเมืองในแต่ละเดือน และใกล้ศูนย์กลางของหน้าปัด มีวงกลมวงเล็กอีกสิบสองวงที่เป็นรูปสัญลักษณ์ของสิบสองจักรราศี ตรงใจกลางมีภาพอาคารประกอบด้วยหอคอยสูงสามหอ ซึ่งหมายถึงเมืองปร้ากนั่นเอง มีรูปปั้นเทวทูตถือดาบและโล่ประดับด้านซ้ายของหน้าปัด (6) ยืนชูดาบขึ้นสูงเหมือนจะกำหราบผู้คนให้ระวังตัวกลัวภัย และรูปปั้นของชาวเมืองยุคนั้นในสถานภาพต่างๆประดับทั้งด้านซ้ายและด้านขวา.
ให้สังเกตว่า ทุกคนแต่งกายคล้ายกัน มีผ้าโพกศีรษะตามแบบอาหรับ เราไม่ลืมว่าอารยธรรมอาหรับนั้น โดดเด่นและเป็นตัวเชื่อมอารยธรรมโบราณกับอารยธรรมยุคใหม่ในยุโรป เครื่องมือดาราศาสตร์ทั้งหลายที่ประดิษฐ์ขึ้นในโลกจนถึงยุคศตวรรษที่ 19 นั้น มีอักษรจารึกเป็นภาษาอาหรับกำกับเสมอ ชาวยุโรปต้องยอมรับความจริงว่า อารยธรรมอาหรับนั้นเจริญขึ้นก่อนอารยธรรมยุโรป(หรืออารยธรรมตะวันตก)
หน้าปัดปฏิทินนี้สร้างเพิ่มเข้าไปติดกำแพงในปี 1870 เท่านั้น ระบบรูปปั้นของอัครสาวกสิบสองคนเหนือหน้าปัดนาฬิกาดาราศาสตร์(2) ดังกล่าวมาข้างต้น ก็เช่นกัน เพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19 เท่านั้น เป็นความพยายามของชาวยุโรปที่จะลดอิทธิพลของอารยธรรมอาหรับให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการแทรกหัวข้อหรือรูปลักษณ์ที่โยงไปถึงคริสต์ศาสนาเข้าไปในงานยุคก่อนๆ
ระบบนาฬิกาซับซ้อนแบบที่นี่นั้น นิยมกันมากในยุโรป นาฬิกาดาราศาสตร์ที่กรุงปร้ากนี้นับว่าเก่าแก่เป็นที่สามของโลก และเป็นนาฬิกาดาราศาสตร์ที่เก่าที่สุดที่ยังคงเดินและบอกเวลามาจนถึงปัจจุบัน นานกว่าหกร้อยปีแล้ว ระหว่างฤดูร้อนทางศาลากลางยังจัดการแสดงภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆของเมืองหรือของประเทศ ด้วยการฉายภาพเหตุการณ์นั้นๆลงบนกำแพงอาคารนาฬิกานี้ (ข้อมูลจาก http://www.czechtourism.com/c/prague-astronomical-clock/ )
ในวาระครบรอบหกร้อยปีของการประดิษฐ์นาฬิกาชุดนี้ประดับกรุงปร้าก ทางการได้จัดสร้างวีดีโอขึ้น ได้อาศัยเทคนิดของแสงเลเซอร์มาเล่าความเป็นมาของนาฬิกาชุดนี้ ผ่านเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เช่นสงครามที่เคยทำให้นาฬิกาชุดนี้และอาคารเทศบาลเสื่อมโทรมลง แต่ได้รับการบูรณะขี้นใหม่ จนถึงปัจจุบันก็ยังเดินได้ตามปกติ บอกเวลาและเตือนสติมนุษย์ ว่า เวลาในที่สุดคืออะไร... ดูวีดีโอคลิปได้ที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=QjWJHEmFfPA
แถมภาพข้อมูลเกี่ยวกับปโตเลมี
ในภาพนี้ ปโตเลมี มีมงกุฎสวมบนศีรษะ เพื่อบ่งบอกสติปัญญาอันเฉียบแหลม มิใช่เพื่อชี้ว่า เขาเป็นกษัตริย์แต่อย่างไร ความรู้ตลอดจนผลงานของเขาเป็นพื้นฐานของความรู้มาจนถึงศตวรรษที่ 16 เมื่อโกแปร์นิกุซ เสนอทฤษฎีใหม่ว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะดังได้กล่าวมาข้างต้น ในภาพนี้ เทพธิดาแห่งดาราศาสตร์(Urania)ยืนเยื้องไปด้านหลังเหมือนเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจและสนับสนุน มือหนึ่งยกขึ้นชี้ไปที่กลุ่มดาวบนท้องฟ้า เหมือนแนะให้ปโตเลมีมองสำรวจดวงดาวในทิศทางนั้น บนพื้นมุมซ้าย มีเครื่องมือที่ใช้คำนวณตำแหน่งดวงดาวเรียกว่า astrolabe ภาพพิมพ์นี้จากหนังสือเรื่อง Margarita Philosophica ของ Gregor Reisch (1508)
ที่โบสถ์ Notre Dame de Strasbourg เมืองสตร๊าสบูร์ก ในประเทศฝรั่งเศส มุมหนึ่งทางทิศใต้ภายในโบสถ์ เป็นที่ตั้งของนาฬิกาดาราศาสตร์เรือนยักษ์ที่เนรมิตขึ้นในศตวรรษที่ 16 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสาวรีย์ประวัติศาสตร์ของชาติในวันที่ 15 เมษายน ปี 1987
นาฬิกาดาราศาสตร์ที่นั่นตั้งอยู่ในวัดด้านทิศใต้ ในบริเวณเดียวกันนี้ มีเสาสูงเกือบจรดเพดาประกอบด้วยรูปปั้นหลายรูปที่มารวมกัน เพื่อเจาะจงเล่าถึงวันพิพากษาสุดท้าย รูปปั้นที่อยู่ล่างที่สุดเป็นกลุ่มอัครสาวกผู้แต่งคัมภีร์ใหม่สี่คน เหนือขึ้นไปเป็นอัครเทวทูตกำลังเป่าแตรทรัมเป็ต เหนือขึ้นไปเป็นกลุ่มคนตายที่ฟื้นคืนชีวิต พระเยซูคริวต์นั่งบนบัลลังก์สูงสุดบนยอดเสา ห้อมล้อมด้วยเหล่าเทวทูตผู้ถือเครื่องหมายต่างๆที่เน้นให้เข้าใจว่า พระเยซูคริสต์คนนี้คือคนเดียวกับที่ถูกตรึงไม้กางเขนจนตายแล้วฟื้นคืนชีพ ถือกันว่า เป็นศิลปะจำหลักบนหินที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การนำมาอยู่ด้วยกันในพื้นที่เดียวกันนี้ ก็เพื่อเน้นชีวิตคนที่มีเวลาจำกัดไว้เสมอ มีเวลาเป็นเครื่องพันธนาการ และมีเวลาเป็นนาย
นาฬิกาเรือนที่เห็นในปัจจุบันเป็นเรือนที่สาม ที่ซ่อมแซมแก้ไขและปรับปรุงจากเรือนแรกที่สร้างขึ้นในปีระหว่างปี 1352-1354 (ชิ้นส่วนจากนาฬิกาเรือนแรก เป็นตัวไก่ที่ขยับปีกและส่งเสียงขันได้ ยังคงเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ Musée des Arts décoratifs de Strasbourg นับเป็นสิ่งจากกลไกอัตโนมัติที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป) เรือนที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลงานของ Jean-Baptiste Schwilgué (1776-1856) ผู้ซ่อมและปรับปรุงระบบอัตโนมัติของเรือนเก่ารุ่นที่หนึ่งและสองไว้ได้ ทั้งได้เพิ่มขบวนพาเรด ของอัครสาวก ให้เดินผ่านหน้าพระเยซูคริสต์ผู้ยกมือในท่าประทานพร หุ่นทั้งหลายจะขยับเคลื่อนไหวอัตโนมัติทุกสิบห้านาที ทุกครึ่งชั่วโมง ทุกชั่วโมง และโดยเฉพาะเมื่อเวลาเที่ยงตรง (นาฬิกานี้เจาะจงเวลาเฉพาะถิ่นของเมืองสตร๊าสบูร์กซึ่งต่างจากเวลาปกติทางการที่ใช้ในยุโรปประมาณสามสิบนาที เวลาของสตร๊าสบูร์กดังกล่าวเป็นเวลาเฉลี่ยของถิ่นนั้นในฤดูหนาว และเป็นเวลาเฉลี่ย บวกเข้าไปหนึ่งชั่วโมงในฤดูร้อน เพราะยุโรปปรับเวลาเพิ่มขึ้นลดลงตามฤดูร้อนและฤดูหนาวเพื่อประหยัดพลังงาน)
ความพิเศษของนาฬิกานี้คือ ทุกสิบห้านาที เทวทูตองค์น้อยซ้ายมือจะตีระฆังดังขึ้นหนึ่งครั้ง เทวทูตองค์น้อยด้านขวาผู้ถือนาฬิกาทรายในมือ จะพลิกนาฬิกาขึ้นใหม่ (นาฬิกาทรายไหลลงหมดในสิบห้านาที ต้องกลับหัวตั้งขึ้นใหม่) ในภาพบนนี้ เทวทูตองค์น้อยสององค์นั่งขนาบสองข้างหน้าปัดนาฬิกาแบบสมัยปัจจุบัน โดยมีหน้าปัดใหญ่ที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นหน้าปัดปฏิทิน มีรูปลักษณ์ของจักรราศีประดับขอบบนหน้าปัด เหนือขึ้นไปเห็นโลกแบ่งครึ่งซีกกลางวันและกลางคืนในจักรวาลที่มีดวงดาวดารดาษ
หนึ่งในรูปปั้นสี่รูปจะเดินผ่านมาตรงหน้าโครงกระดูก(สัญลักษณ์ของความตาย) เมื่อเวลาบอกสิบห้านาทีของทุกชั่วโมง เป็นรูปปั้นเด็ก (ในภาพมุมล่างขวา รูปปั้นเด็กกำลังเดินออกมา) เมื่อเวลาบอกสามสิบนาทีเป็นรูปปั้นชายหนุ่ม เมื่อเวลาบอกสี่สิบห้านาทีเป็นรูปปั้นของชายฉกรรจ์(วัยกลางคน) และเมื่อนาฬิกาตีบอกชั่วโมงเป็นรูปปั้นของคนแก่ รูปปั้นทั้งสี่จึงเป็นภาพลักษณ์ของวัยต่างๆในชีวิตคน
สิ่งที่นาฬิกานี้ยังคงทำได้ตรงตามที่เนรมิตไว้คือ วันละครั้งเมื่อถึงเที่ยงตรงตามเวลาท้องถิ่นของเมืองสตร๊าสบูร์ก (ซึ่งจะเป็นเที่ยงสามสิบนาทีในฤดูหนาว) ชั้นบนสุดของนาฬิกา เหล่าอัครสาวกสิบสองคน จะเดินออกมาคำนับพระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ยกมือขวาขึ้นในท่าประทานพร เมื่ออัครสาวกคนที่ 4 ผ่านมายืนตรงหน้าพระเยซูคริสต์ ไก่(ที่อยู่ทางซ้าย ในภาพบนกำกับไว้ด้วยคำ coq ในภาษาฝรั่งเศส) จะขยับกระพือปีก 3 ครั้ง แล้วขันเสียงดังครั้งที่หนึ่ง เมื่ออัครสาวกคนที่ 8 ผ่านมายืนตรงหน้าพระเยซูคริสต์ ไก่จะขยับกระพือปีก 3 ครั้ง แล้วขันเสียงดังครั้งที่สอง และเมื่ออัครสาวกคนที่ 12 ผ่านมายืนตรงหน้าพระเยซูคริสต์ ไก่จะขยับกระพือปีก 3 ครั้ง แล้วขันเสียงดังเป็นครั้งที่สามซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย
นาฬิกาเรือนนี้นอกจากจะบอกเวลาของท้องถิ่นนั้นแล้ว ยังเจาะจงวันของสัปดาห์เป็นวันจันทร์หรือวันใดโดยมีรูปลักษณ์ของเทพประจำแต่ละวันที่มาจากเทพตำนานกรีกโรมันเป็นเครื่องชี้บอก
ขบวนเทพเจ้าประจำวันตามเทพตำนานกรีกโรมัน วันนั้นเป็นวันศุกร์ ตรงกับเทพวีนัส
เห็นจารึกเจาะจงไว้ที่ล้อรถว่า Venus และ Vendredi (คำนี้แปลว่าวันศุกร์)
และยังเจาะจงว่าเป็นเดือนอะไร
ปีอะไร ตรงกับราศีอะไร ดวงจันทร์มีลักษณะอย่างไร
ตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ในระบบสุริยะ(ที่มีถึงดาวพระเสาร์ ตามความรู้ด้านดาราศาสตร์ในยุคนั้น)หน้าปัดใหญ่ข้างล่างมีตัวเลขโรมันกำกับสิบสองชั่วโมงในซีกซ้ายเริ่มจากข้างล่างหน้าปัดขึ้นไปถึงตำแหน่งเที่ยงวัน และในซีกขวาอีกสิบสองชั่วโมงเริ่มจากตำแหน่งเที่ยงวันลงไปที่ตำแหน่งเที่ยงคืนข้างล่างของหน้าปัด โดยที่ซีกซ้ายบอกเวลากลางวัน มีรูปปั้นผู้หญิงมีรัศมีเหมือนแสงอาทิตย์ออกจากหลังศีรษะเพื่อบอกว่าเธอคือกลางวัน มือหนึ่งถือคันธนู อีกมือหนึ่งถือลูกศรและชี้ไปยังหน้าปัด ส่วนซีกขวามือ รูปปั้นผู้หญิงในเสื้อชุดสีดำประดับด้วยดวงดาวระยิบระยับ มือกำลูกศรไว้แต่มิได้ชี้ไปที่หน้าปัด (เพราะภาพนี้ถ่ายในเวลากลางวัน) ศีรษะประดับด้วยสัญลักษณ์ดวงจันทร์เสี้ยว ขอบของหน้าปัดวงใหญ่นี้ ยังจารึกชื่อนักบุญต่างๆติดกันถี่ยิบบนเส้นรอบวงทั้งหมด (ยืนยันค่านิยมของชาวคริสต์ว่ามีนักบุญประจำทุกวันทุกนาทีทุกชั่วโมง)
สองข้างหน้าปัดตอนล่าง เห็นภาพวาดบนกำแพง ชายหนุ่มในมุมล่างซ้ายมีแผ่นกระดาษที่ประดับด้วยสัตว์สี่หัวเหมือนเสือดาว มีอักษรกำกับไว้ว่า Graecia (หมายถึงประเทศกรีซ)
ในมุมล่างขวามือ เป็นทหารโรมัน บนโล่เขียนไว้ว่า Roma มีรูปสัตว์ประดับด้วย (ดูไม่ออกว่าตัวอะไร) การกำกับชื่อกรีซและโรมานั้น อาจบ่งบอกการสืบทอดขนบเกี่ยวกับกาลเวลาจากทั้งสองอารยธรรมโบราณก็เป็นได้
การเจาะจงรายละเอียดต่างๆนี้ ปรากฏอยู่บนหน้าปัดจำนวนมากที่ประกอบขึ้น เมื่อมองดูห่างๆจึงยากที่จะนำมาให้เห็นได้ณที่นี่
ตรงพื้นเบื้องหน้าหน้าปัดใหญ่นี้ มีลูกกลมของจักรวาลพร้อมตำแหน่งดวงดาวต่างๆ ตั้งอยู่ด้วย แผ่นกระจกใต้ลูกกลมของท้องฟ้า ส่องให้เห็นว่าภายในมีกลไกที่สลับซับซ้อน และที่น่าจะเกี่ยวกับการเดินของนาฬิกาเรือนใหญ่ด้วย ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับกลไกการทำงานของนาฬิกานี้ สิ่งที่เขาอธิบายกันจึงเป็นเพียงข้อมูลทั่วไปอย่างย่อๆดังที่ข้าพเจ้าเขียนเล่ามา ผู้รู้จริงๆอาจตายไปแล้ว หรือไม่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะมายืนอธิบายให้นักท่องเที่ยวฟัง เพราะคงต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักดาราศาสตร์ ไม่ใช่ไกด์สามัญชนที่รู้เพียงงูๆปลาๆพอแก้ขัดเท่านั้น
มีรายละเอียดอื่นๆที่น่าสนใจที่ไกด์ไม่พูดถึง (ข้าพเจ้าไปยืนดูที่นั่นนานเป็นชั่วโมง และไปดูอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าได้เห็นรายละเอียดปลีกย่อยมากเท่าที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนจะเข้าใจตลอดหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็น เพราะมิได้เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักดาราศาสตร์ ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่มีไกด์พาไป ไปหยุดดูที่นั่นไม่เกินสิบห้านาที) เช่นซีกซ้ายของนาฬิกา ที่จัดเป็นส่วนสถาปัตยกรรมสามตอนซ้อนกัน ดังรูปข้างล่างนี้
เมื่อขยายใหญ่เพื่อดูว่าเขาวาดภาพใครไว้นั้น
ก็พบว่า ในภาพบนสุด เสนอภาพของ Urania (เทพแห่งดาราศาสตร์) กำกับไว้เช่นนั้นเลย ประคองลูกกลมในมือ เป็นท้องฟ้าหรือจักรวาล
อีกมือหนึ่งจับวงเวียนที่วางลงบนลูกกลมนั้น เหมือนบอกว่ากำลังกำหนดที่ตั้งหรือเส้นทางโคจรของดวงดาว บนกำแพงด้านหลังทางซ้าย มีคำเขียนไว้ชัดเจนว่า Geometria (เรขาคณิต) ส่วนบนกำแพงด้านขวามีคำ Architectura ซึ่งเท่ากับยืนยันความสำคัญของเทพธิดาองค์นี้ว่า
เป็นผู้กำหนดเส้นทางและตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้า
โดยปริยายจึงเป็นผู้ดลใจนักดาราศาสตร์ทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือปโตเลมีดังกล่าวมาข้างต้น
และโดยเฉพาะโกแปร์นิกุซ (1473-1543) ผู้วางรากฐานของดาราศาสตร์สมัยใหม่
ไม่ใช่เรื่องบังอิญที่ใต้ภาพลักษณ์ของเทพธิดา Urania คือภาพของโกแปร์นิกุซนั่นเอง
ส่วนภาพในสี่เหลี่ยมตอนล่างก็น่าจะเป็นนักดาราศาสตร์ต้นยุคของโลกสมัยใหม่ต่อจากโกแปร์นิกุซ
เพราะไม่มีชื่อใดกำกับไว้หรือเพราะชื่อเลือนลางไปแล้ว จึงทำให้คิดไปได้ว่าอาจเป็น Kepler (นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1571-1603)
ประเด็นสำคัญอยู่ที่อัจฉริยะของผู้สร้างสรรค์ระบบกลไกอัตโนมัติได้อย่างวิเศษและแม่นยำได้ถึงเพียงนั้นในยุคต้นศตวรรษที่
14 ยุคที่ยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยเลย
ชาวยุโรปต่างพยายามเนรมิตนาฬิกาดาราศาสตร์ประดับเมืองของพวกเขา
เป็นความหลงใหล ความกระหายอยากรู้อยากเรียนเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและวิทยาการทุกชนิดสืบมา ถึงกระนั้นคนยุคนั้นก็มิได้หลงระเริงจนลืมตัว
เห็นได้จากการแทรกคติเตือนใจเป็นมรณานุสติไว้ในการเนรมิตนาฬิกาด้วยเสมอ เน้นอย่างไม่ลดละถึงการล่วงลับไปของวันเวลา
มีโครงกระดูกเตือนให้นึกถึงความตายที่รออยู่ข้างหน้า ในมุมซอกเล็กๆซอกหนึ่งด้านขวาของนาฬิกาดาราศาสตร์
ยังมีรูปปั้นของเด็กเล็กคนหนึ่งนอนเอามือวางบนหัวกะโหลก เหมือนจะบอกว่า ตั้งแต่เกิด
คนต้องหัดอยู่กับความตายหรือมีความตายเป็นเพื่อนข้างกายแล้วดูตัวอย่างการเดินของนาฬิกาดาราศาสตร์ที่เมืองสตร๊าสบูร์กได้ที่นี่
http://www.youtube.com/watch?v=hSv8dZF-vo8
สวนอังกฤษเกือบทุกแห่งก็ว่าได้ ต้องมีนาฬิกาแบบใดแบบหนึ่ง เพราะไม่มีที่ใดที่การเปลี่ยนแปลงของเวลาจะทิ้งรอยไว้ให้เห็นและแตะต้องได้เหมือนในสวน สวนอังกฤษมีนาฬิกาแดด (sundial) ประดับอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
นาฬิกาแดดแบบเรียบง่ายบนขาตั้งอย่างในภาพนี้ จากอุทยาน Harlow Carr ประเทศอังกฤษ
บางทีก็มีรูปปั้นของ
Father Time ด้วยที่มักเป็นรูปคนแก่มีปีกถือเคียวด้ามยาว
เน้นว่าเวลามาเก็บเกี่ยวทุกอย่างไปรวมทั้งชีวิตพืชพรรณ สัตว์และคน สวนฝรั่งเศสนั้นไม่มีนาฬิกาแดด
อาจมีรูปปั้นแสดงช่วงต่างๆของวันเช่นที่พระราชอุทยานแวร์ซายส์ที่มีประติมากรรมชื่ออรุณรุ่ง
(โอกาสหน้าจะนำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง)
สวนอิตาเลียนก็มักมีประติมากรรมเกี่ยวกับเวลาตั้งประดับในสวนด้วย
ประติมากรรมเนื้อหาเวลามีรูปลักษณ์ต่างๆกันไป อาจเป็นรูปปั้นของ Father
Time ติดปีก
บ่งบอกว่าเวลาบินหนีเราไปทุกเสี้ยววินาที เช่นในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งที่เมือง Palermo
ตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลี
มีรูปปั้นของเด็กชายผมหยักศก (หรือ putto ในภาษาศิลปะ) แบก “เวลา” ที่แสดงด้วยรูปลักษณ์เรขาคณิตที่มี
๑๒ หน้า ๓๐ มุม (dodecahedron) แต่ละหน้าเป็นนาฬิกาแดดแบบหนึ่งดังภาพข้างล่างนี้
หรือเป็นรูปของ Father Time ติดปีกแบกนาฬิกาแดด อีกมือหนึ่งจับนาฬิกาทราย เช่นในภาพข้างล่างนี้
อีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนที่ใดจากอุทยาน Veitshöchheim
ชานเมือง Würzburg ประเทศเยอรมนี
เสนอเป็นภาพของ Father
Time กำลังตัดปีกของเทวทูตองค์น้อยที่ร้องประท้วงไม่ยอม
ให้ความรู้สึกว่า
แม้แต่เทวทูตก็มีชีวิตที่ถูกกำหนดไว้แล้วเช่นกัน
บนพื้นมีคันธนูและกระบอกลูกธนู ทำให้นึกถึง Cupid นอกจากนี้ก็มีนาฬิกาทรายทิ้งไว้
เทวทูตองค์น้อยกำลังร้องที่ถูกตัดปีก
สำนึกเกี่ยวกับเวลาในหมู่ชาวตะวันตกเมื่อมองผ่านสิ่งประดิษฐ์หรือศิลปะของพวกเขา จึงคือสำนึกเกี่ยวกับความจำกัดของชีวิตคน
มิได้หยุดอยู่เพียงการนัดหมาย หมายกำหนดการว่าต้องทำอะไรเวลานั้นเวลานี้ หรือการประกอบภารกิจประจำวันเท่านั้น
แต่ตอกย้ำมรณานุสติ และเน้นความไพศาลของจักรวาลเมื่อคนแหงนหน้ามองดูดวงดาวในท้องฟ้าอันไม่มีขอบเขต
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน
๒๕๕๗.
ได้ทั้งความรู้และแง่คิด ขอบคุณ โช ค่ะ
ReplyDelete