Wednesday, 3 September 2014

Selfie หรือการหลงตัว ย้อนรอยตำนานดอกนาร์ซิสซัส

ภาพลิง Baboon จากอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง  วันหนึ่งเจ้าหน้าที่สังเกตเห็นว่า พี่ลิงเก็บแผ่นกระจกบิ่นๆได้ และนั่งมองดูตัวเองในกระจกนั้นนานเป็นชั่วโมงอย่างตั้งใจ ครุ่นคิด ไม่ขยับเขยื้อน  สมองคงทำงานหนัก คิดหนักกับภาพที่เห็น เห็นตนเอง แล้วคิดอย่างไรเกี่ยวกับตนเอง...
เจ้าหน้าที่คอยสังเกตอย่างไม่ลดละเช่นกัน  เป็นโอกาสทองที่ได้เห็นพฤติกรรมแบบนั้น จึงบันทึกภาพไว้ตลอดเวลา และยังเห็นว่า พี่ลิงยังมองเจ้าหน้าที่อุทยานในกระจกด้วย และก็นั่งมองอยู่อย่างนั้น.... 
(23 September 2013)

กระแส Selfie ที่ระบาดไปทั่วโลก อาจโยงไปถึงตำนานเรื่องนาร์ซิสซัส ที่เราคุ้นเคยและเข้าใจว่าคือการหลงรูปหลงเงาของตนเอง  
       ความใสของน้ำที่ทำหน้าที่ดั่งกระจกเงา  มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง  แต่ไหนแต่ไรมาในวัฒนธรรมทุกชาติ มีเรื่องเล่าเป็นโศกนาฏกรรมที่มีสาเหตุมาจากกระจก  เหมือนกับยืนยันถึงผลร้ายมากกว่าผลดีของการได้เห็นภาพตนเอง  ในคริสต์ศิลป์  กระจกเป็นสัญลักษณ์ของการหลงตัวเอง ความหยิ่งผยองรวมทั้งความมักมากใฝ่ตัณหาราคะ จึงสื่อไปถึงสิ่งไม่ดีเสียเกือบทุกกรณี  เมื่อคิดใคร่ครวญดู ทำไมการส่องมองดูตนเองจึงสื่อไปยังสิ่งเลวร้ายเสียหมด  ปราชญ์ชาวตะวันตกสรุปว่า การเห็นภาพตนเองมิใช่เพียงแค่เห็นเนื้อหนังมังสา แต่เห็นเนื้อแท้ของธรรมชาติหลายระดับที่มีในตัวเรา และนี่เองที่เขย่าขวัญจนอาจทำให้เตลิดเปิดเปิงไป
 
           ดอกนาร์ซิสซัส เป็นพืชประเภทหัวหรือเหง้า (ชื่อสามัญที่รู้จักกันคือ daffodils) แต่เดิมพบในยุโรปแถบเมดิเตอเรเนียนและในเอเชียตะวันตก สีเหลืองสดใสหรือสีขาวบริสุทธิ์ สวยงามต้องตา จึงนิยมเพาะพันธุ์ใหม่ๆเพื่อนำไปปลูกประดับสวน ประมาณกันว่ามี 60 ชนิด ชื่อนาร์ซิสซัสมาจากคำ นาร์เก (narké ที่มีรากศัพท์เดียวกับคำ narcose, narcotic ที่หมายถึงสารประเภทที่ทำลายประสาทให้ชาหรือมึนซึม ทำให้หลับใหลและไร้ความรู้สึก)  ความหมายจากรากศัพท์ช่วยให้เข้าใจว่า ทำไมดอกไม้ชนิดนี้มักมีส่วนเกี่ยวกับพิธีความเชื่อแบบต่างๆในสังคมยุโรปสมัยก่อน ทั้งยังเคยปลูกกันใกล้หลุมศพเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความตาย แต่ก็อาจแนะให้เข้าใจพร้อมกันไปด้วยว่าความตายคือการนอนหลับไปเท่านั้น
ตัวอย่างภาพดอกนาร์ซิสซัส ทั้งสองภาพนี้ถ่ายจากสวนพฤกษศาสตร์หลวงกรุงมาดริด
ประเทศสเปน(Real Jardín Botático de Madrid) 
เป็นสองประเภทในตระกูลเดียวกัน

         สมัยโบราณ คนนิยมทำพวงมาลัยดอกนาร์ซิสซัสไปมอบแก่เหล่านางไม้ในป่า ด้วยความหวังว่าดอกไม้พวงนั้นจะช่วยตรึงสิ่งไม่ดีทั้งหลายไว้ที่นั่น  ดอกนาร์ซิสซัสโผล่ขึ้นในที่ชื้นแฉะต้นฤดูใบไม้ผลิ  คนจึงโยงไปถึงสัญลักษณ์ของน้ำ ของกาลเวลาที่หมุนเวียนเและในที่สุดรวมความหมายของการแพร่พันธุ์  นัยความหมายสองแง่สองมุมชัดเจน คือสื่อความตายที่เป็นการนอนหลับและการเกิดใหม่  ในคัมภีร์ไบเบิล ดอกนาร์ซิสซัสเหมือนดอกลิลลีเป็นสัญลักษณ์บอกการมาของพระคริสต์ เนื่องจากดอกไม้นี้เตือนให้นึกถึงตำนานกรีกของเทพนาร์ซิสซัสที่หลงใหลภาพของตนเองในน้ำ   คริสต์ศาสนาจึงใช้เป็นสัญลักษณ์สอนศีลธรรม ชี้ให้เห็นภัยของความทะนง การสนใจแต่ตนเอง ความรัก ความพอใจในตนเอง

       ตำนานกรีกเรื่องของเทพนาร์ซิสซัสนั้น ปรากฏเล่าไว้ในงานเขียนของโอวีดีอุซ  (Ovidius, กวีปราชญ์ละติน มีชีวิตอยู่ในราว43 ปีก่อนคริสตกาล) ชื่อเมตามอร์โฟเซอิส (Metamorphoseis แปลว่า การปลอมแปลงตน)  ว่าเขาเป็นลูกของเทพเซฟีซุส(Cephisus เทพประจำแม่น้ำกับนางไม้ร่างสีฟ้าชื่อเลอีรีโยป(Leiriope) หมอดูบอกนางว่าลูกชายนางจะมีชีวิตยืนยาวไปถึงวัยชราหากเขาไม่รู้จักตนเอง  นาร์ซิสซัสหน้าตาหล่อคมคายตั้งแต่วัยเด็กและเติบโตเป็นหนุ่มรูปงามหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้  ทั้งหญิงและชายหลงใหลรักเขาแต่เขาไม่สนใจและค่อนข้างหยิ่งในรูปโฉมของตนที่เขาเองไม่เคยเห็น แต่รู้จากความคลั่งไคล้ลุ่มหลงของคนอื่นที่เห็นเขา  เขาชอบออกป่าล่าสัตว์  เหล่านางไม้หลงใหลรักใคร่เขาโดยเฉพาะนางไม้ที่ชื่อเอโฆ(Echo ที่แปลว่า เสียงก้อง) ผู้แอบติดตามเขา  แต่นาร์ซิสซัสปฏิเสธเธอเสมอ อาเมยนีอุซ(Ameinius เทพประจำแม่น้ำชื่อเดียวกันก็หลงใหลนาร์ซิสซัสเช่นกันและในที่สุดไปฆ่าตัวตายใกล้ที่อยู่ของนาร์ซิสซัสโดยไม่ลืมร้องขอให้เทพเจ้าอื่นๆช่วยแก้แค้นให้เขา เมื่อไม่สมหวังในความรัก  เอโฆ ก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปเช่นกัน บางตำราบอกว่าเธอสิ้นลมเหลือเพียงเสียงก้องดังสะท้อนไปมาในป่า นางไม้เอโฆเคยร้องวิงวอนขอให้เทพเนเมซิส(Némésis เทพในตำนานพื้นบ้านของกรีซอีกผูหนึ่ง ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการถูกสบประมาท ของการแก้แค้น”) ช่วยเธอและแก้แค้นแทนเธอ 
        ในอีกด้านหนึ่งอาร์ทีมิส(Artemis หรือ Diana เทพสตรีแห่งการล่าสัตว์) ได้ยินคำวิงวอนของอาเมยนีอุซจึงดลบันดาลให้นาร์ซิสซัสเดินไปยังริมธารน้ำที่ใสและเงาเหมือนเงิน  ธารน้ำนั้นนิ่งและราบเรียบเหมือนกระจก ยังไม่เคยมีสัตว์แวะเวียนไปดื่มน้ำเลย แม้แต่ใบไม้ใดก็ไม่เคยตกลงต้องผิวน้ำนั้น  นาร์ซิสซัสเห็นเงาตัวเอง เขาตกตะลึงแน่นิ่งเหมือนต้องมนต์สะกดเมื่อเห็นเงาของเขาเองในน้ำ  เขาคิดว่าเป็นเงาของคนอื่น เขาหลงใหลจนมิอาจถอนสายตาจากภาพนั้นได้ ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ยิ่งมองก็ยิ่งหลงรักเงานั้นจนสุดจะอดกลั้นไว้ได้ เขาเอื้อมมือจะไปยึดเงานั้น แต่พอน้ำกระเพื่อมเงานั้นหายวับไป  นาร์ซิสซัสเศร้าสลดใจยิ่งนัก มีแต่ต้นไม้ในป่าที่เป็นพยานความรักอันโศกสลดของเขา เขาร่ำไห้ไปพลางคิดใคร่ครวญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนสำนึกอย่างถ่องแท้ว่า เขาหลงรักตัวเขาเอง ว่าเขาไม่มีวันแตะต้องภาพลักษณ์ที่เขาหลงใหลนั้นได้  เขาอยากแยกและขจัดภาพนั้นออกจากตัวเขาแต่ก็ทำไม่ได้  ภาพนั้นยังคงติดตาหลอกหลอนเขาอยู่เรื่อยไป  เขาทุบอกชกหัวตัวเองจนเลือดตกด้วยความว้าวุ่นใจ  เสียงร้องคร่ำครวญของนาร์ซิสซัสในที่สุดมีนางไม้เอโฆเป็นผู้รับรู้และส่งกระจายเป็นเสียงก้องกังวานออกไปทุกสาระทิศ  หลังจากสั่งลาธารน้ำใสที่กลายเป็นกระจกแห่งความวิปโยค นาร์ซิสซัสล้มลงสิ้นใจ (บางตำราบอกว่าแทงตัวตาย) นอนแผ่บนพื้นหญ้าข้างธารน้ำนั้นเอง  บรรดาเหล่านางไม้ผู้เป็นพี่หรือน้องสาวของเขา(Naiades และ Dryades) รู้เรื่องเข้าก็พากันร่ำไห้ ตัดผมตัดเผ้าทิ้ง เป็นการไว้ทุกข์และจะใช้ผมนั้นเผาศพของนาร์ซิสซัสตามขนบ แต่พบในตอนนั้นเองว่า ศพของนาร์ซิสซัสได้กลายเป็นดอกไม้ไปเสียแล้ว เป็นดอกสีขาวสะอาด ใจกลางสีแดงสด
นิโกลา ปุสแซ็ง(Nicolas Poussin, 1594-1665 ชาวฝรั่งเศสเสนอภาพนารซิสซัสตามเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ Metamorphoseis ของ Ovidius  เก็บความรักความหลงใหลของนางไม้เอโฆ(Echo) ไว้  ภาพของคิวปิด เทวดาองค์น้อยถือคบเพลิงที่เปลวไฟกำลังลุกโพลง สื่อความรุนแรงของความรักที่เผาไหม้จิตใจจนนางไม้เอโฆตรอมใจตาย และของนาร์ซิสซัสผู้หลงใหลภาพของเขาเองในธารน้ำ  การจัดภาพของเอโฆในภาพนี้ยังบอกให้รู้ว่า นางไม้เอโฆได้รู้เห็นเป็นพยานของความโศกสลดของนาร์ซิสซัสผู้สิ้นใจอยู่ณริมธารน้ำ  ใกล้ศีรษะของนาร์ซิสซัส มีกลุ่มดอกไม้เล็กๆเพื่อโยงไปถึงดอกนาร์ซิสซัส  จิตรกรนิโกลา ปุสแซ็งมีชื่อเสียงในการสร้างสรรค์จิตรกรรมขนาดใหญ่เนื้อหาประวัติศาสตร์ศาสนาและเทพตำนาน  
          ตำนานเรื่องนาร์ซิสซัสไปจับจินตนาการและจิตสำนึกทั้งของจิตรกร นักปราชญ์รวมทั้งนักเขียน  ต่างพัฒนาเนื้อเรื่องออกไปตามวิสัยทัศน์ของเขา  บ้างเน้นว่าน้ำเป็นกระจกที่ทำให้ส่องเห็นตนเอง เป็นกระจกที่เปิดไปสู่ก้นบึ้งของอัตตา (le moi [เลอ มัว]) นำคนให้หันมายึดอัตตาแห่งตนเป็นอุดมการณ์  เกิดเป็นแนวโน้มใหม่ที่เรียกกันว่า นาร์ซิสซีซึม (narcissism)
ภาพผลงานของ ซัลวาดอร ดาลิ (Salvador Dalí, 1904-1989 ชาวสเปนจิตรกรมีวิธีเสนอเนื้อหาของนารซิสซัสที่ไม่เหมือนผู้ใด ในครึ่งซ้ายจองภาพ นาร์ซิสซัสนั่งชันเข่า ก้มหัวลงมองดูเงาในน้ำ   น้ำใสเหมือนเนื้อกระจกชั้นดี  ด้านหลังของเขา เห็นกลุ่มคนไกลๆ ที่ดูไม่ชัดเจนว่าอะไร อาจเล่าถึงอาดัมกับอีฟขณะถูกไล่ออกจากสวนอเดน ออกมาผจญชีวิตระหกระเหินและยังชีพด้วยลำแข้งตนเองในภูมิประเทศที่ค่อนข้างแห้งแล้งของหุบเขา  ด้านซ้ายของภาพเห็นนิ้วมือโดดเด่น นิ้วชี้สู่เบื้องบนในแบบคุ้นเคยเมื่อต้องการโยงไปถึงสวรรค์หรือพระเจ้าเบื้องบน  นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วที่สามประคองไข่ฟองหนึ่งที่มีรอยร้าวและมีดอกนาร์ซิสซัสดอกหนึ่งโผล่ออกมา ดาลิอาจต้องการสื่อการเกิดใหม่  ในแง่นี้  ดาลิได้สร้างสรรค์ภาพด้วยจินตนาการและภูมิหลังวัฒนธรรมของเขา  เหมือนโยงไปถึงคติคริสต์ศาสนามากกว่า และเมื่อพิจารณาพื้นหลังของภาพด้านขวา ก็เห็นพื้นที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆสีขาวสลับสีดำ ที่โยงไปทันทีถึงกระดานหมากรุก ถึงการพนันและความไม่ยั่งยืน  บางครั้งโชคดีมีโชคลาภมีเกียรติยศ ที่อาจเปรียบได้กับการได้ขึ้นไปอยู่ในที่สูงสง่าโดดเด่นเหมือนรูปปั้นกรีกที่เห็นไกลออกไป  การผนวกภาพลักษณ์ของกระดานหมากรุกและรูปปั้นกรีก ทำให้ภาพเนื้อหาเทพตำนานกรีกมีมิติของความหลงและความตายในคริสต์ศาสนา
           ตำนานเรื่องนาร์ซิสซัสยังเป็นเนื้อหาของบทละครร้องโอเปราและบทละครอีกมากมาย เป็นเนื้อหาสำคัญในงานเขียนเรื่อง Traité du Narcisse [เทร็ดเต้ ดู นารซีส] (1891) ของอ็องเดร จี๊ด(André Gide นักเขียนชาวฝรั่งเศส, 1869-1951) ในหนังสือเล่มนั้น เขาเน้นการผจญภัย(การค้นหา)ของจิตวิญญาณที่มุ่งสู่ความสำนึกขั้นสูงขึ้นๆ  และบนเส้นทางค้นหาดังกล่าว จิตพบอัตตาหรือธาตุแท้แห่งตน เริ่มกังขากังวลว่าจะยอมรับความจริงที่พบไหม อย่างไร  นักเขียนผู้นี้กล่าวเปรียบไว้ว่า บทบาทของปราชญ์และกวีคือการตีกะเทาะเกราะหุ้มภายนอกให้หลุดออกและมองให้เห็นความจริงในแต่ละสถานะอย่างชัดเจน ไม่ว่าความจริงนั้นจะเลวทรามน่าเกลียดหรือน่าชังเพียงใด  เขากล่าวว่าบาปเดียวของนาร์ซิสซัสคือการ(เลือก)ชอบตนเอง  การที่นาร์ซิสซัสได้เห็นตนเองและเกิดมีจิตสำนึกเกี่ยวกับตนนั้นเปรียบเหมือนได้เห็น “ สวรรค์” (สวรรค์ในความหมายของชาวตะวันตกคือสวนอีเดนอันเป็นดินแดนที่สรรพสิ่งเคยเป็นจริงตรงตามรูปลักษณ์มันโดยไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์  สวรรค์ดังกล่าวมลายหายสูญไปแล้ว เพราะความขึ้นลงภายในจิตใจของมนุษย์คู่แรกที่เกิดเบื่อหน่ายความสุขที่คงเส้นคงวา ในที่สุดผละตนออกจาก ความไม่ต่าง” สู่ “ ความลุ่มๆดอนๆ ของชีวิตบนโลก)  นาร์ซิสซัสพบทรัพย์ที่มีค่าเหนือกว่าความงามของใบหน้าตนเอง คือนโมทัศน์ของความเป็นตนอันบริสุทธิ์สดสวย แต่แทนที่จะยึดสมบัติอันล้ำค่านี้ เขากลับหลงรักรูปลักษณ์ภายนอก อยากแตะต้องรวบไว้ อยากเป็นเจ้าของ  เขาพบแต่ลำแขนของตน ริมฝีปากของตนที่เป็นเพียงภาพหลอนและหายวับไปในน้ำที่กระเพื่อม หาใช่ความจริงแห่งตนหรือความจริงของโลกไม่
 
สองภาพนี้จากสวนในพระตำหนัก Cecilianhof ที่เมือง Potsdam
ไม่ไกลจากกรุงแบร์ลิน ประเทศเยอรมนี
 
กลุ่มประติมากรรมพร้อมน้ำตก ที่ประดับในพระราชอุทยานเฮ็ตโล (Het Loo)
ในประเทศเนเธอร์แลนด์  สร้างสรรค์ตามเนื้อหาของนาร์ซิสซัสผู้ก้มหน้าลงเห็นเงาของตนเองในน้ำ  เป็นการประกอบเนื้อหาแบบเรียบง่ายแต่ชัดเจน 
และภาพใกล้แสดงรายละเอียดของรูปปั้นนาร์ซิสซัสหนุ่มรูปหล่อ
 ปอล วาเลรี (Paul Valéry, 1871-1945 กวีฝรั่งเศส) ก็แสดงปรัชญาในทำนองเดียวกัน ในนิพนธ์เรื่องนาร์ซิสรำพึง (Narcisse parle, 1891) หรือในเรื่องเสน่หา(Charmes -1922)   ในคำพร่ำรำพันของนาร์ซิสซัส ก่อนสิ้นใจกวีแต่งเติมให้นาร์ซิสซัสรู้ตระหนักถึงความเคราะห์ร้ายที่ตัวเองเป็นความงามอันอัศจรรย์นั้น เป็นความงามที่ทั้งรัดรึงใจและเชือดเฉือนใจ  นาร์ซิสซัสรู้สำนึกถึงธาตุแท้ของคนที่ต้องการรักตนเอง ปรารถนาที่จะยึดอัตตาแห่งตนซึ่งคือความทะนงที่ไร้อำนาจใดๆ
         
ตัวอย่างที่ยกมา ทำให้เราตระหนักว่าเนื้อหาเรื่องนาร์ซิสซัสมิได้หยุดอยู่ที่การหลงรักรูปโฉมของตนเอง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นอยู่ที่การมีจิตสำนึกเกี่ยวกับตนเอง  ชาวตะวันตกดูจะเป็นชนกลุ่มแรกที่เห็นความสำคัญของอัตตา และพยายามหาวิธีคุ้มครองให้สิ่งนั้นคงอยู่ในแต่ละคน ให้แต่ละคนใช้ชีวิตตามอัตตาแห่งตน สามารถพัฒนาให้เป็นไปในทางที่เสริมสร้างคุณภาพแห่งตน ในขณะเดียวกันก็เคารพอัตตาของคนอื่น จึงตรงข้ามกับชาวตะวันออกโดยเฉพาะใต้อิทธิพลพุทธปรัชญา หาทางที่จะให้แต่ละคนตัดการยึดมั่นในอัตตา  ซึ่งคนไทยมักสรุปสั้นๆว่า “ นี่ตัวกู ของกู” พร้อมกับโยงไปถึงความต้องการเป็นตัวของตัวเองในเชิงไม่อยากให้ใครมายุ่งหรือบังคับใจตน  จิตสำนึกเกี่ยวกับตัวเองในโลกตะวันตกไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น และก็ไม่ได้มีคู่กับคนมาทุกยุคทุกสมัยดังที่เราคิดกัน แต่เป็นสิ่งที่คนต่อสู้ดื้อดึงช่วงชิงมาเป็นสมบัติจนสำเร็จ(อย่างเป็นทางการและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก)เมื่อไม่นานมานี้เองหากเทียบกับระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
         
เมื่อชาวตะวันตกเริ่มสำเหนียกและเรียกร้องสิทธิของการเป็นตัวของตัวเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิดังกล่าวกลายเป็นกุญแจสำคัญที่สุดดอกหนึ่งที่เปิดสู่การปรับเปลี่ยนและพัฒนาสังคมในทุกด้าน  โดยเฉพาะในสังคมฝรั่งเศสที่เป็นตัวอย่างของ "การหลงตัวอย่างสร้างสรรค์"   ฝรั่งเศสได้กลายเป็นผู้นำในด้านนี้และเป็นผู้ริเริ่มบัญญัติกฎหมาย ระเบียบหรือระบบที่กว้างและละเอียดเพียงพอที่จะคุ้มครอง บุคคล” โดยไม่จำกัดสถานภาพในสังคม ศาสนา หรือผิวพันธุ์  ปูทางสู่กฎหมายนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่18 เป็นต้นมา
 
(เนื้อหาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้แก้ไขและปรับปรุงจากบทความเรื่อง จากตำนานนาร์ซิสซัส สู่การกระชับจิตสำนึกแห่งตน ที่ลงพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครินทรวิโรฒ ฉบับ 2547/2004 หน้า 44-64 )
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  บันทึกไว้ณวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๗.
 

 

No comments:

Post a Comment