Sanspareil ไม่เหมือนอะไร และไม่มีอะไรเหมือน
ปราสาท Sanspareil
[ซ็อง ปาแรยฺ] เป็นหนึ่งในปราสาทน้อยแห่งในเยอรมนี ที่ยังไปไม่ถึงเพราะไม่มีรถสาธารณะพาไป
ทั้งยังอยู่ไกลเขตชุมชนคนมาก (Sanspareil
34, 96197 Wonsees
(0 92 74) 80 89 09-11, fax (0 92 74) 80 89 09-15) ออกไปจากเมือง Bayreuth [บัยฮ่อยตฺ] (ตัว r ในภาษาเยอรมัน ออกเสียงค่อนไปทางเสียง ฮอ นกฮูก
แต่หากออกเสียงเป็น ร เรือ ก็พอจะเข้าใจกันได้อยู่) ราว 40 กิโลเมตร จนถึงศตวรรษที่ 18 ปราสาทนี้ใช้ชื่อว่า Zwernitz ความที่ปราสาทนี้และอาคารต่างๆที่เคยมีที่นั่น
ดูแตกต่างจากวังหรือตำหนักอื่นใดที่เคยมีในเยอรมนี เจ้าหญิง Wilhelmine of Prussia (1709-1758) พระขนิษฐาในพระเจ้าเฟรเดริคมหาราช (Margraf
Friedrich, หรือ Friedrich
II, 1712-1786)
เมื่อได้ไปเห็น อุทานออกมาในทำนองว่า
“นี่ไม่เหมือนอะไรที่เคยเห็นมาก่อน เป็นสวนที่แปลกไม่มีอะไรเหมือน” จึงได้นำคำพูดนี้มาเป็นชื่อว่า Sanspareil [ซ็อง ปาแรยฺ]
ปีนี้ตั้งใจจะไปดูให้ได้ว่า ที่มันชื่อ Sanspareil ที่แปลว่า “ไม่มีอะไรเหมือน” แบบ
“ไร้เทียมทาน” นั้น มันเป็นอย่างไร
เมื่อตั้งใจเช่นนั้น จึงต้องลงทุนเช่าแท็กซี่ไปส่งแล้วนัดให้เขาไปรับตอนเย็นสี่โมงกว่า โรงแรมติดต่อให้ ตกลงราคากัน แล้วเขาก็มารับและถึงเวลาก็ไปรับกลับ เขาต้องตีรถว่างกลับไปที่ฐานเมือง Bayreuth สองเที่ยว ไม่ได้ให้คอยที่นั่น
มันหลายชั่วโมง เส้นทางที่ไปผ่านท้องทุ่งท้องนาและไร่ที่กว้างไกลสุดลูกตา
ไม่เห็นบ้านเรือนใครเลย และก็ไม่มีรถสัญจรไปมาบนเส้นทางนี้นัก นึกเห็นใจว่า คนขับต้องขับกลับไปกลับมา
ตีรถเปล่าสองครั้ง การไปด้วยรถเช่าอย่างนี้และไปคนเดียว
ไปในที่ที่ไม่รู้จักสี่สิบกิโลเมตร
มันเสี่ยงเหมือนกัน เพราะหากเขามุ่งร้ายกับลูกค้า มันทำได้ง่ายมาก ไม่มีใครรู้เห็น จะจี้เอาเงินแล้วโยนเราลงข้างทางที่ไหน
ก็ทำได้ เราก็คงต้องก้มหน้ารับกรรมไปตามนั้น สิ่งที่จะช่วยได้นิดหน่อย คือให้โรงแรมติดต่อ
เท่ากับให้มีคนรับรู้การไปการมาของเรา
หากหายตัวไปไม่กลับ ตำรวจติดตามได้(แม้ว่าอาจเป็นศพไปแล้วอะไรอย่างนั้น) แต่โชคดีที่การเดินทางเป็นไปอย่างเรียบร้อย ปลอดภัยกลับมาถึงโรงแรม คนที่กินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานทำเป็นหลักแหล่งและพอใจในงานของเขา ในประเทศที่มีประกันสังคมดี เขาย่อมไม่จิตวิปริต ไม่คิดทำเรื่องเลวๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะคิดลักเล็กขโมยน้อย
การทำสิ่งไม่ดี โดยธรรมชาติไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย หากไม่ใช่เพราะสถานการณ์บังคับเพื่อการเอาตัวรอด หรือเพราะไม่มีทางออกอื่นใด หรือเพราะจิตวิปลาส เพราะความขี้เกียจ ความมักง่ายชั่วแล่น
สอนให้เป็นคนดี อาจต้องเริ่มด้วยการให้เขามีกิน มีใช้ มีที่อยู่ มีงานทำ จนในที่สุดเขารู้จักคุณค่าของการมีชีวิต และมีจิตสำนึกที่ดีต่อชุมชน นี่เป็นหน้าที่อันดับหนึ่งของประเทศและของรัฐบาล รวมทั้งของเพื่อนร่วมชาติเดียวกันทุกคน เพราะแม้เราจะสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงไม่ได้ เราก็ต้องเคารพการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างประเทศตามความถนัดของแต่ละคน
นโยบายสังคมที่ออกมาจากหัวของคนที่มีอันจะกิน นั่งๆนอนๆในห้องเย็น อยู่บ้านใหญ่โต แวดล้อมด้วยคนรับใช้ ยิ่งคนที่ไม่เคยต้องลำบากอดมื้อกินมื้อ ยิ่งไม่เข้าถึงจิตสำนึกและวิญญาณของคนยากจน สภาพจิตของคนที่ต้องขอทานหรือขโมย ฯลฯ จึงมิได้ใส่ใจพัฒนาชีวิตของชนระดับล่าง นโยบายออกมาที่ฟังดี แต่ขาดการติดต่อผลักดันอย่างต่อเนื่อง ก็ถูกปล่อยปละละเลยหรือถูกความโลภของผู้เกี่ยวข้องทำลายลงไปอย่างไม่มีร่องรอย ในประเทศที่เจิญแล้ว ที่กฎหมายอยู่เหนือทุกคนจริงหรือมากกว่าไทยอย่างเปรียบกันมิได้ ผู้มีอิทธิพลและมีอำนาจผลักดันมากที่สุด กลับเป็นพวกนักเขียน นักคิดหรือนักปราชญ์ ที่สามารถเขียนเจาะลึกปัญหาขั้นตอนอย่างมีเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ตั้งแต่รากเหง้าของปัญหา ไปจนถึงจุดยืนของประเทศและต่อไปยังปรัชญาของการมีชีวิต ปรัชญาสังคม ด้วยสติปัญญาและความเพียรบวกความคล่องในการใช้ภาษาของหัวกะทิของชาติเหล่านี้ ที่ได้เผยประเด็นต่างๆที่กะเทาะเปลือกสังคม ที่นำออกตีแผ่ได้อย่างเผ็ดร้อนและโดนใจ เสริมด้วยพลังปลายปากกาที่มีอรรถรสทางวัจนะลีลาที่จับจิตสำนึกของผู้อ่าน อุดมการณ์ของนักเขียนเหล่านี้ จักไปช่วยกระตุ้นให้ชนชั้นปัญญาชน เกิดจิตสาธารณะ ตรงตามสำนวนที่ว่า “ปากกามีอำนาจมากกว่าดาบ” ถ้าเป็นเช่นนั้น เป็นโชคมหันต์ของประเทศนั้น เพราะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อระบอบสังคมที่ดีกว่า เช่นนักเขียนฝรั่งเศสในแต่ละยุค ทำให้ระบบสังคมพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ก้าวหน้ากว่าชนชาติใด (เช่นระบบประกันสังคมฝรั่งเศส ที่เป็นแบบให้แก่ประเทศอื่นๆ) ทั้งยังทำให้มีการสถาปนาองค์กรการกุศลแบบต่างๆ ที่ทำเพื่ออุดมการณ์อย่างแท้จริง เช่นองค์กร Les Médecins Sans Frontière (องค์กรแพทย์อาสา “ไร้พรมแดน”) (คำว่า sans นั่น… sans นี่…เลยพาให้โยงไปถึงเรื่องอื่นๆ คำนี้ใช้กันแพร่หลายติดปากชาวฝรั่งเศส)
ผ่านไปในประเทศต่างๆ ฟังข่าว ฟังการอภิปรายเรื่องต่างๆที่มีอยู่ไม่เว้นแต่ละวันในแต่ละสังคม ฟังแล้วก็ทำให้คิดว่า นักการเมืองของประเทศที่เจริญในยุโรปตะวันตก ส่วนใหญ่แข่งกันทำดี ประกาศผลงานที่ทำไปที่ทุกคนเห็นผลและสืบสาวราวเรื่องได้อย่างชัดเจน เอาผลงานดีๆที่เห็นชัดๆ ผูกใจประชาชนเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าพรรคนั้นๆ พูดจริงทำจริง และไว้ใจเลือกพรรคนั้นบริหารประเทศต่อไป พวกเขาแข่งกันทำดี (ผู้ที่ทำอะไรไม่ดีไว้เบื้องหลัง ไม่ช้าก็เร็วก็จะถูกเปิดโปงต่อสาธารณชน กฎหมายคุ้มครองความถูกต้องเสมอ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย) ในเอเชียนักการเมืองหลายประเทศ แข่งกันกอบโกยและปกปิดซ่อนเร้นด้วยการอุดปากผู้รู้เห็นเรื่องผิดๆด้วยวิธีการต่างๆ จนกลายเป็นการสมรู้ร่วมคิดต่อกันไปเป็นลูกโซ่ที่เป็นเหล็กกล้าหนาและหนักยากที่จะหลุดจากกัน
ไปเที่ยวสวนต่อดีกว่า เจ้าหน้าที่สวนทุกแห่งมักพูดกันว่า เจ้านายในอาณาจักร Bavaria (ภาตใต้ของเยอรมนี) ต่างแข่งขันกันสร้างปราสาท ต่างคนต่างต้องการสร้างปราสาทที่สวยกว่า ใหญ่กว่าหรือแปลกว่า ทำให้ภาคใต้ของเยอรมนี มีปราสาทใหญ่ๆไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง มีสวนหรืออุทยานอีก 17 แห่งและทะเลสาบอีก 17 แห่ง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.schloesser.bayern.de/englisch/palace/index.htm)
ปัจจุบันทั้งหมดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชนต่างถิ่น และเป็นสถานที่พักผ่อนของชนในถิ่น เป็นโชคมหันต์สำหรับชาวเมืองที่มีที่ไปพักผ่อนหย่อนใจงามๆทั้งนั้น ภาษีรัฐบาลส่วนหนึ่งนำมาใช้ดูแลรักษาพระราชวังเหล่านี้ ให้เป็นสาธารณะประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นที่จัดนิทรรศการ การแสดงดนตรีหรือกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ หลายแห่งได้รับการยกระดับขึ้นเป็นมรดกโลกด้วย เมื่อพระเจ้าเฟรเดริคทรงให้สร้างพระราชอุทยาน Sanssouci [ซ็องซูซี] (ไร้กังวล คือ ไกลกังวล) ณ Potsdam ไปทางเหนือของกรุงแบร์ลิน (ระหว่างปี 1745-1747) เพื่อเป็นที่ประทับระหว่างฤดูร้อน ก็ได้ทรงให้สร้างปราสาท Sanspareil เพื่อเป็นที่ล่าสัตว์ด้วยในปริมณฑลของจังหวัด Bayreuth-Wonsees ที่มีป่าหินกับต้นไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 1744
ภาพพิมพ์แสดงพื้นที่และปราสาท Sanspareil
ที่เดิมใช้ชื่อว่า Zwernitz จนถึงศตวรรษที่ 18
แผนผังพื้นที่ภายในปราสาท Zwernitz ในสมัยศตวรรษที่ 18
แต่กลุ่มปราสาท Zwernitz ได้ทรุดโทรมลงเหลือเพียงหอคอยสังเกตการณ์ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมาของปราสาทและนิทรรศการเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในศตวรรษที่
18 ที่เป็นวิถีชีวิตของชนชั้นสูงในเยอรมนีและในยุโรป
ภาพถ่ายจากบนหอคอย เห็นพื้นที่การเกษตรโดยรอบ
รถเทียมม้าพาตระเวนไปในทุ่งแถบนี้ด้วย
หรือที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=7BdiUFhdtz0
ห้องใต้หลังคา ตอนนี้โล่งว่าง ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้เห็น
ภาพพิมพ์แสดงการล่าสัตว์ การตั้งค่ายต้อนฝูงสัตว์ให้เข้าไป
ตัวอย่างจิตรกรรมเนื้อหาการล่าสัตว์ภาพหนึ่ง สุนัขล่าเนื้อเป็นผู้ช่วยสำคัญ
และนี่ก็คงเป็นเขากวางที่พระเจ้าเฟรเดริคเป็นผู้ล่ามาได้
นอกจากอาคารที่ประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งของปราสาท
Zwernitz แล้ว
ยังเหลือส่วนหนึ่งของอาคารที่เคยเป็นที่ตั้งครัวของปราสาท ที่เรียกว่า Küchenbau ดังภาพพิมพ์ในปี 1793 ข้างล่างนี้
ตึกที่ขนาบสองข้างครัวในภาพพิมพ์นั้นเคยใช้เป็นที่พักของข้าราชสำนัก
เมื่อตามเสด็จพระเจ้าเฟรเดริคหรือเจ้าหญิง Wilhelmine มาล่าสัตว์ในบริเวณป่าแถบนี้
หน้าอาคารที่ปัจจุบันเป็นที่ขายอาหารจานด่วนเพื่อนักท่องเที่ยวที่ไปชม
Sanspareil (และเป็นจุดขายอาหารและน้ำจุดเดียวสำหรับแถบนั้น คนส่วนใหญ่ไปนั่งดื่มนั่งทานไอศกรีมกัน รายการอาหารไม่มีให้เลือกมาก
ก็ต้องสั่งไส้กรอกมาทานเป็นส่วนใหญ่) ตึกเล็กที่ขนาบสองข้างครัวไม่มีแล้วในปัจจุบัน แต่ทางการได้ให้เนรมิตแปลงดอกไม้ขึ้นใหม่ในปี 1984 เป็นแบบ sunken parterre ที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน โดยทำตามแบบจากภาพพิมพ์ที่เหลือมาให้เห็นในศตวรรษที่ 18 ดังในภาพข้างล่างนี้
ภาพถ่ายบริเวณอาคารครัวและแปลงดอกไม้ ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ตรงข้ามอาคารครัว เป็นที่ตั้งของอาคารที่เรียกว่า Morgenländischer Bau
และที่แปลไว้อย่างเจาะจงว่า The Oriental Building
ดูไม่มีอะไรที่เป็น
“ตะวันออก” เลย และค่อนจะเหมือนอาคารตามแบบสถาปัตยกรรมของ grotto
ที่นิยมกันในยุคนั้น
ใช้หินก้อนๆขนาดไล่เลี่ยกัน ก่อประกบเข้ากับกำแพงโครงสร้างของอาคารทั้งหลัง
(ภายในบางส่วนก็ทำแบบเดียวกัน) แต่ในเอกสารเก่า ระบุว่าที่ใช้ชื่อเช่นนั้น
เพราะอาคารนี้ เคยมีหลังคาแบบจีน จึงยังคงชื่อไว้เพื่อเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ภายในกว้างทีเดียว
จัดแบ่งห้องหับตามผังข้างล่างนี้
มีต้นไม้ใหญ่อายุมากหนึ่งต้น (ต้น beech) กลางคอร์ตภายใน ที่เปิดโล่งสู่ท้องฟ้า
อาคารอื่นๆที่เคยมีที่ Sanspareil นี้ ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้
ซึ่งต่อมาเมื่ออาคารเสื่อมโทรมลง
มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและนำไม้นั้นออกขายทอดตลอดในศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันจึงไม่เห็นอาคารอื่นใดอีกเลยในป่า Sanspareil แต่ภายในป่า มีจุดน่าทึ่งหลายแห่ง เพราะพื้นที่ในป่า
มีหินก้อนใหญ่ที่โผล่ขึ้นเป็นหย่อมๆ กระจายอยู่เต็มป่า
หินบางแห่งขนาดใหญ่โตมากเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา(ใต้ดิน)ที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเพียงเท่านั้น เหตุนี้จึงเรียกสวนบริเวณนี้ว่าเป็น
“สวนหิน” สถาปนิกประจำราชสำนักของพระเจ้าเฟรเดริค
ชื่อ Joseph Saint-Pierre (เป็นชาวบาวาเรีย เริ่มก่อสร้างกลุ่มปราสาท Sanspareil ในปี1745) ได้สร้างอาคารต่างๆตามจุดที่มีหินสวยโดดเด่นเป็นพิเศษ
โดยให้ธรรมชาติที่มีในแต่ละจุดเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่สร้างด้วย
เช่นนี้ลักษณะหินและโขดหินใหญ่ๆในป่านี้จึงยังคงเป็นไปตามที่มันเคยเป็นมาตั้งแต่แรก(เมื่อหลายสิบล้านปีก่อน) จุดชมสวนที่น่าสนใจที่อยู่ลึกเข้าไปในป่านั้น
เช่น ที่ Gespaltener Fels (ช่องโหว่ลึกในหินขนาดมหึมา
ที่อาจเป็นทางลับไปสู่อีกโลกหนึ่งที่มองไม่เห็น ที่อาจเป็นโลกของปีศาจหรืออมุษย์ใด) ดังปรากฏในภาพพิมพ์ยุคนั้น
และที่เรายังคงเห็นใกล้เคียงกันมากในปัจจุบัน
หรือมุมนี้ที่เรียกว่า Fels der Liebe und Pansitz (โขดหินเปิดเป็นช่องทางผ่านเข้าไปในแดนรักแดนอารมณ์หรือไม่นะ) ดังภาพพิมพ์ข้างล่างนี้
เทียบกับภาพถ่ายในปัจจุบัน
ลักษณะของหินขนาดมหึมาที่มีช่องโหว่ เหมือนทางเข้าถ้ำ ทางที่อาจนำไปถึงโลกลึกลับที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง โลกของอมุษย์ หรือโลกของความรัก เช่น ถ้ำของคาลิปโซ่ (Grotte der Calypso) เป็นไปตามจิตนาการที่สถาปนิกถ่ายทอดมาจากนวนิยายฝรั่งเศสแนวอบรมสั่งสอนธรรมจริยาที่เจ้าอาวาส Fénelon ประพันธ์ขึ้นในปลายศตวรรษที่ 17 เพื่ออบรมบ่มสอน Duc de Bourgogne ตอนนั้นมีพระชนม์เจ็ดชันษา โดยผูกเรื่องเป็นการผจญภัยของเตเลม้าก (ลูกชายของยูลิซิส) ผู้ออกติดตามหาบิดาไปในที่ต่างๆ และเขาต้องถามว้าวุ่นอยู่ในใจ ชั่งใจว่าจะเข้าไป จะตามไปไหม จะสู้ต่อไปข้างหน้าหรือถอยหลังกลับไป (Les Aventures de Télémaque, cf. Ulysses หรือ Odyssey ของ Homer)
อาคารชมวิวที่สำคัญ เรียกว่าอาคาร Belvedere [เบ้ลเวอเดีย] (อ่านตามภาษาเยอรมัน มาจากคำในภาษาอิตาเลียนว่า สวย + คำว่า ดู/มอง) เป็นอาคารประดับสวน เป็นองค์ประกอบของสวนขนาดใหญ่ทุกแห่ง มักตั้งอยู่ในพื้นที่สูงสุดของสวน เพื่อให้มองกวาดสายตาชมทัศนียภาพไปได้กว้างและไกล แต่ปัจจุบันไม่เหลือซากของอาคารบนเนินสูงนี้เสียแล้ว นอกจากบันไดขึ้นลงเท่านั้น ดังในภาพที่ถ่ายมาปีนี้
อาคาร Belvedere
แต่อาคารที่สำคัญมากที่สุดและที่เลื่องลือกันมากที่สุดที่ Sanspareil คือ โรงละครหิน(Naturtheater) ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Ruinentheater คือซากปรักหักพังของโรงละคร
เมื่อเทียบภาพพิมพ์ยุคนั้น กับที่เห็นในปี 2014 นี้ นับว่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากเพียงพอทีเดียว
ทางการยังคงบูรณะอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันใช้โรงละครในธรรมชาติแห่งนี้สำหรับการแสดงเป็นครั้งเป็นคราวด้วย
หลุมลึกลงหน้าเวทีสำหรับวงดนตรีหรือผู้กำกับการแสดงเป็นต้น
ภาพต่างๆที่นำมาให้ชม เพื่อนำจินตนาการว่า
ป่าหินของเยอรมนีนั้นเป็นเช่นใด ไม่เหมือนป่าหินในจีน
หรือสวนหินในญี่ปุ่นหรือป่าหินงามในไทยเลย
โรงละครหินที่กล่าวถึงข้างบนเป็นเอกลักษณ์เด่นที่สุดของป่าหิน Sanspareil และที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือที่ตั้งของ Sanspareil เป็นป่าต้นบีชเกือบทั้งป่า ต้นบีชในภาษาอังกฤษคือ beech อยู่ในสกุล Fagus (วงศ์ Fagaceae) ดังภาพข้างล่างต่อไปนี้ ฤดูใบไม้ร่วงทั้งป่าคงจะสวยมาก แต่ป่าเขียวใสแบบในภาพระหว่างฤดูร้อน
ก็สบายตาสบายใจมาก ใบที่ร่วงลง สีน้ำตาลๆ
ยังคงปกคลุมพื้นป่าต่อไปหลังจากได้เดินเข้าป่าตามไปดูที่ต่างๆ เห็นความผิดธรรมดาของสวนนี้ ที่ทางการอุทยานแห่งชาติเจาะจงเรียกว่า สวนหิน สวนหินนี้ผิดไปจากสิ่งที่เราชาวเอเชียจินตนาการไว้ด้วยความคุ้นเคยจากภาพถ่ายผ่านสื่อที่ออกมาสู่สาธารณชนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
มณฑลยูนนาน (云南省) ประเทศจีน
สวนหินในป่า Sanspareil ของเยอรมนี
ไม่มีอะไรเหมือนป่าหินในจีนที่เป็นเหมือนแนวภูเขาหินล้วนๆโล้นๆ สูงชันที่โผล่ขึ้นจากใต้แผ่นดิน จากหลักฐานโบราณคดีศึกษา เจาะจงว่า โผล่ขึ้นจากทะเล
(ที่ปัจจุบันกลายเป็นแผ่นดินไปแล้ว) และมีอายุราว 270
ล้านปี ตรงนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อน และเราจะเทียบ Sanspareil กับสวนหินญี่ปุ่นไม่ได้เลย ทั้งขนาดของหิน ของสวน ของที่ตั้ง เหมือนเทียบตึกระฟ้ากับกระท่อมปลายนา สวนหินหรือสวนเซนในญี่ปุ่นเลือกและนำหินจากที่ต่างๆขนาดต่างๆ เข้าไปประดับตกแต่งสวน ภายในบริเวณคฤหาสน์ ภายในวัด ในบริเวณจำกัด แล้วเนรมิตเกาะ สมมุติให้เป็นสวรรค์บนดิน ด้วยก้อนหินเหล่านั้น และใช้ทรายหรือกรวดจัดเป็นภูมิทัศน์ของทะเล ที่มีคลื่นลูกใหญ่ลูกเล็ก มีน้ำวน รวมกันเป็นสวนหินญี่ปุ่น ที่สื่อภาพลักษณ์ของเกาะสวรรค์ ของโลกหรือของจักรวาล ให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีโอกาสได้เห็น สัมผัสโลกกว้าง นำจินตนาการของชาวญี่ปุ่น(ที่ปิดตัวเองมานานหลายสิบศตวรรษ) ออกไปสู่โลกกว้างใหญ่ ทั้งๆที่ยังคงอยู่ในกรอบ
สวนหินที่ Ryoanji [เรี้ยวอันจิ] กรุงเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
จึงถ่ายภาพจำลองที่เขาทำไว้ในถาด
เพื่อให้เห็นภาพรวมของสวนหินที่ลือชื่อมากสวนนี้
ที่อยู่ภายในบริเวณวัด Ryoanji
Sanspareil ใช้ประโยชน์จากหินที่มีบนพื้นที่
แล้วจัดพื้นที่รอบข้างให้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบหนึ่ง โดยมีหินก้อนใหญ่ๆก้อนเด่นๆเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของการจัดสรรพื้นที่ตรงนั้น และเมื่อนึกถึงอุทยานแห่งชาติป่าหินงามบนพื้นที่ 112 ตารางกิโลเมตรที่จังหวัดชัยภูมิ ในประเทศไทยเรา สวนหิน Sanspareil สู้ของเราไม่ได้เลย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรนำภาพไปเผยแพร่ในต่างแดนเกี่ยวกับถิ่นนี้ให้มากขึ้น รับรองชาวตะวันตกจะตื่นตาตื่นใจ ระหว่างนี้ ขอให้ทางการอุทยานแห่งชาติดูแลรักษาป่า ต้นไม้ พรรณไม้ต่างๆอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง จัดระบบบริการและสวัสดิการต่างๆให้ได้มาตรฐานสากล โดยเน้นความสะอาดและความปลอดภัย ตลอดจนที่พักค้างแรม ห้องน้ำและห้องสุขาทั้งหลายภายในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ต้องไม่มีที่ติ ต้องให้มีคุณภาพดีในความเรียบง่ายเพื่อรักษาบรรยากาศของธรรมชาติที่นั่นไว้ให้มากที่สุด
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ
Stone forest at Chaiyaphum, Thailand
และภาพข้างล่าง มอหินขาว (our Thai
Stonehenge)
ข้าพเจ้ามาคิดๆดู เห็นว่า ความสำคัญของสวนหิน Sanspareil มิได้อยู่ที่การมีหินโผล่ขึ้นจากดินจำนวนมาก(ซึ่งที่อื่นๆในโลกก็มีเช่นกัน
มากกว่าและยิ่งใหญ่กว่าด้วย) แต่อยู่ที่การแปลงพื้นที่ธรรมชาติป่าหิน
ให้กลายเป็นพื้นที่วัฒนธรรม ตอบสนองจินตนาการฝันของชนชั้นสูงในตะวันตก จนบัดนี้
เมื่อพูดถึง Sanspareil สิ่งที่โผล่ขึ้นสิ่งแรกในความคิดของคนตะวันตกผู้รู้จัก
Sanspareil
คือโรงละครหินของที่นั่นดังภาพที่นำมาให้ดูข้างบน นึกถึงโรงละคร ย่อมนึกถึงละคร
นึกถึงละครคือการสำเหนียกถึงการมีชีวิตในสังคม ในที่สุดพูดได้สั้นๆว่า ละครคือชีวิต และชีวิตคือละคร ดังที่พูดติดปากกันมาหลายพันปีแล้ว การคิดตามนี้
นำให้เข้าใจขนบและศิลปะในการจัดสวน ในการสร้างสรรค์องค์ประกอบสวนแบบต่างๆ เพราะในที่สุด สวนคืออะไร
หากมิใช่ภาพลักษณ์ของชีวิต และชีวิตที่ผกผันเปลี่ยนไป วนไปเวียนมา ก็เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในสวนที่รวมภาพของการหมุนเวียนเปลี่ยนไปของกาลเวลาที่คนเห็นและสัมผัสได้อย่างแท้จริงจากมวลพืชพรรณทั้งหลายในสวน
คนตระหนักอย่างไม่มีข้อสงสัยถึงอิทธิพลของดินน้ำลมไฟ ความไม่ยั่งยืนของสรรพชีวิตในสวน
สะท้อนให้เห็นความไม่ยั่งยืนของชีวิตคน ของสังคม โรงละครในที่สุดเป็นองค์ประกอบที่สรุป
“ทุกนัยยะของสวน” ไว้ด้วยนั่นเอง สวนหรืออุทยานขนาดใหญ่
จึงเนรมิตโรงละครขึ้น(บางทีก็เป็นเพียงซากปรักหักพังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงละคร)
โดยที่จุดหมายดั้งเดิมมิใช่เพื่อจัดการแสดงละครที่นั่น แต่ให้เป็นสิ่งเตือนใจเกี่ยวกับความไม่ยั่งยืนของชีวิต
ว่าชีวิตคือละคร ว่าโลกนี้คือละคร และปลูกฝังมรณานุสติไว้ในจิตใจคน
เพื่อนำทางคนไปสู่การพัฒนาคุณธรรมในสังคมเป็นเป้าหมายสุดท้าย (มองในแง่นี้
การสร้างสรรค์สวนมีความหมายลึกล้ำที่มี a noble
cause (ดังที่คนอังกฤษชอบพูดกัน)
และเราไม่ควรหลงลืมหรือพอใจอยู่เพียงความสวยงามหลากสีสันของดอกไม้ต้นไม้เท่านั้น)
อีกหนึ่งประเด็นที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง คือสวนหิน Sanspareil ตั้งอยู่ในป่าต้นบีชที่ขึ้นเต็มป่าอย่างโดดเด่น มีต้นไม้ใหญ่พันธุ์อื่นๆน้อยมาก(ถ้ามีก็จะเป็นต้นโอ๊คหรือต้นสน-spruce เท่านั้นที่จะอยู่ร่วมกันได้
แต่ก็นับว่ามีจำนวนน้อยมาก) ต้นบีชเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้านึกไปถึงชีวิตของต้นไม้นี้ในโลกทัศน์ของชาวตะวันตก
เราผู้ไม่มีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิดต้นไม้ทั้งหลายในเขตอบอุ่น
หากรู้จักไว้สักต้นก็คงดีไม่น้อย และนี่เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะแนะนำต้นบีชแก่คนไทย
ชนชาวเคลต์ตั้งแท่นบูชาอุทิศแด่เทพเจ้าชื่อ Fagus (ที่แปลว่า
Beech tree) การเชื่อมโยงต้นไม้กับเทพองค์ใดองค์หนึ่งนั้น
มิใช่มีแต่เฉพาะชาวเคลต์เท่านั้น เช่นเทพบดี Jupiter ของชาวโรมัน เป็นเทพประจำต้นโอ๊ค (oak
tree) ก็จริง แต่ชาวโรมันตั้งแท่นบูชาเทพบดีองค์นี้ในป่าต้นบีช
บนเขาชื่อ Esquiline (Esquilino ในภาษาอิตาเลียน) ที่เป็นหนึ่งในภูเขาเจ็ดลูกที่ล้อมรอบกรุงโรม
และขนานนามของเทพ Jupiter ว่า Jupiter Fagutalis และที่ทำให้เขาลูกนี้กลายเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ไป
หรือป่าต้นบีชที่จัดเป็นที่สักการะเทพสตรี
Diana ที่ Tusculum (ชื่อเมืองในอิตาลีบนเนินเขา Alban Hills เคยเป็นเมืองโรมันที่สำคัญเมืองหนึ่ง
มีซากปรักหักพังที่เหลือมาให้เห็นจากยุคโรมัน) ในฐานะที่เทพเธอเป็นเจ้าแห่งป่าด้วยในยุคเหล็กในยุโรป (the Iron Age, 1200BC-1BC การสิ้นสุดลงของยุคเหล็กในทวีปและในแถบต่างๆของโลกไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของสังคมแต่ละแห่งบนโลก เช่นยุคเหล็กในจีนเริ่มระหว่างปี 600BC-200BC) ชนเผ่าเยอเมนิค (ได้แก่ชาวเยอรมัน ดัตช์ อังกฤษและชาวสแกนดิเนเวียน) เมื่อทำนายเรื่องอะไร ก็จารึกลงบนกิ่งไม้หรือไม้เท้า หรือบนแป้นแท็บเล็ตแผ่นบางๆ ด้วยอักษรรูน (runes อักษรเยอรมันยุคเริ่มแรก ถือกันว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์) อย่างไรก็ตามแท็บเล็ตคำทำนายที่เหลือมาถึงยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ทำจากไม้ต้นยู (Yew tree สกุล Taxus) แผ่นกระดาษหรือแผ่นแท็บเล็ตในสมัยโบราณนั้น ทำจากไม้หลายชนิด ต้นบีชก็เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่คนใช้ทำแผ่นจารึกคำทำนาย การเลือกใช้ต้นไม้ต้นใดนั้น ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศป่าไม้ของแต่ละถิ่น ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของผู้ทำหน้าที่อ่านคำทำนาย และยังขึ้นอยู่กับคำถามที่ถามแต่ละคำถาม ที่ทำให้ต้องเลือกจารึกลงบนแผ่นไม้ที่ต่างกันเป็นต้น ในศตวรรษที่ 8 (หรือก่อนหน้านั้น) มีการสร้างระบบตัวอักษรสมบูรณ์ (alphabets) ขึ้นใช้แทนอักษรรูน และเรียกอักษรแต่ละตัวว่า letter ที่มาจากคำละตินว่า littera คำนี้ในภาษาเยอรมันว่า Buchstaben ที่แปลว่า กิ่งต้นบีช ยุคนั้นแผ่นแท็บเล็ตบางๆที่ทำจากต้นบีช มักถูกนำมามัดด้วยกันให้คลี่ออกได้ติดต่อกันไปเหมือนม้วนกระดาษ และกลายเป็นการรวมเล่มที่มาเป็นคำ book นั่นเอง book จึงเป็นการสะสมและเก็บรักษาความรู้ คำต่างๆที่เกี่ยวกับหนังสือจึงเป็นคำที่แตกออกจากชื่อต้นบีชในภาษาต่างๆนั่นเอง เช่นในภาษาแองโกลแซ็กซอน (Anglo-Saxon) มีคำ bok ที่แปลว่าต้นบีช และคำ bec ที่แปลว่าหนังสือ ในภาษาเยอรมันปัจจุบัน Buche [บู๊เข่อะ] หมายถึงต้นบีชและ Buch [บู้ฆฺ] หมายถึงหนังสือ หรือในภาษาสวีดิช (Swedish) คำ bok คำเดียวกันนี้ มีสองความหมาย คือต้นบีชและหนังสือ เพราะฉะนั้นต้นบีชเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับวิวัฒนาการการจารึกและการเขียนในยุโรป การจารึก บันทึกหรือเขียน จึงเป็นการเผยแพร่ความรู้ ทำให้มนุษยชาติมีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้อย่างเจาะลึกและง่ายขึ้นมาก เมื่อรู้ที่มาที่ไปดังกล่าวมา ก็ชอบใจมากเพราะทำให้จำชื่อต้นไม้นี้ได้ไม่ลืมอีกเลย
เล่ากันว่า Johannes Gutenberg ผู้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์หนังสือในราวปี 1450 เป็นแท่นที่ผู้พิมพ์อาจนำตัวอักษรเคลื่อนย้ายที่ไปมาได้เมื่อต้องการพิมพ์คำใหม่บนแท่นพิมพ์ เขาได้ความคิดเริ่มต้นเรื่องตัวอักษรพิมพ์ จากตัวอักษรที่เขาแกะสลักลงบนเปลือกต้นบีช แล้วห่อด้วยกระดาษเก็บไว้ เมื่อมาแกะดูในภายหลัง พบว่าตัวอักษรที่แกะไว้ ได้ทิ้งรอยประทับลงบนกระดาษที่เขาห่อเปลือกไม้แผ่นนั้น
บีชอยู่ในวงศ์ Fagaceae เป็นวงศ์เล็ก มีเพียงประมาณสิบชนิด เติบโตในเขตอบอุ่นซีกเหนือของโลก ลำต้นเรียบ สีขาวเงินปนเทาหรือเขียวอ่อนๆ ดังตัวอย่างส่วนต่างๆของต้นบีชข้างล่างนี้
Keukenhof ในประเทศเนเธอแลนด์ ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นอุทยานทิวลิปอันดับหนึ่งของโลก มีต้นบีชขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ด้วย และทำให้ในเดือนฤดูร้อน อากาศสดชื่นร่มรื่นมาก ต้นบีชปกป้องต้นไม้ดอกที่สูงเพียงดินนิดหน่อยจากแดดกล้า
ลักษณะใบ สีเขียวเข้มเป็นเงางามและเปลี่ยนเป็นสีทองแดงปนน้ำตาลๆ ผลที่มีขนบนเปลือก ขนไม่แน่นติดกันนัก เมื่อแก่จะปลิออก มีผลนัทภายใน เป็นอาหารคนและสัตว์ นำมาบดผสมผลไม้สีแดงๆเหลืองๆอย่างอื่นเข้าด้วยกัน เป็นอาหารที่ดีเยี่ยมสำหรับทารกและสำหรับทุกคน
ต้นบีชสูงได้ถึงราว 24 เมตร บางสายพันธุ์เช่นพันธุ์ตะวันออกสูงถึง 32 เมตรก็มี ขึ้นงามในป่าลึกที่ดินระบายน้ำดี เช่นดินบนเกาะอังกฤษ ต้นบีชช่วยให้ดินที่มันอยู่ มีระบบการหมุนเวียนของอากาศภายในดินดีและช่วยทำให้ดินมีคุณภาพและสุขภาพดี บีชชอบอากาศเย็นชื้นแต่ไม่หนาวจัดเกินไปของภาคกลางในยุโรปตะวันตก ปกติมีอายุได้ถึง 200-300 ปี บางสายพันธุ์มีอายุถึง 500 กว่าปี แต่หลังจากที่อายุร้อยปีขึ้นไป มักเกิดปัญหาแกนไม้เน่า เนื่องจากบีชผลิตกรดแทนนิน (tannin) หรือยางไม้(resin) ที่ช่วยการธำรงสภาพคล่องภายในลำต้นไม่ได้ (ต้นโอ๊คอายุมากก็ยังผลิตสารแทนนินได้ในตัวมันเอง ไม้จำพวกสน-conifers ก็ยังผลิตยางไม้ของมันได้) อย่างไรก็ดีเมื่อศึกษาการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ต่างๆ สกุลบีชยังนับว่าเติบโตดีมากและแพร่พันธุ์ออกไปทั่วยุโรปในเขตอากาศอบอุ่น เนื้อไม้บีชหนักและแข็ง ที่บอกให้รู้ว่าต้นบีชมีความทนทานสูงและอดทนเป็นเยี่ยม คนโบราณจึงเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ช่วยให้คนที่อยู่ใกล้ๆมัน มีความเห็นอกเห็นใจและยอมรับความเห็นต่างในหมู่คนมากขึ้นด้วยการพยายามเข้าใจผู้อื่นและลดความใจแคบลง
จนถึงยุคเหล็ก มนุษย์ได้อาศัยผลนัทจากต้นบีชเป็นอาหาร หลักฐานในภาษายังยืนยันเช่นนั้น เช่นคำในภาษากรีกโบราณ เทพ Phagein (คือ Fagus) รวมนัยยะของคำว่า “กิน” (คือคำ phago) เข้าไปด้วย ดอกตูมๆและใบอ่อนๆ กินได้เลย หรือนำไปใส่ปรุงรวมไปในสลัดหรือซุป ก็เป็นอาหารสุขภาพมานานแล้ว ใบบีชตากแห้งชงดื่มเป็นชาสมุนไพร หรือนำมาบีบอัดแปะลงบนผิวหนังที่เป็นผดผื่นคัน ก็ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ ผลนัทเมื่อแกะลอกเยื่อบางๆที่หุ้มออก นำไปคั่วแล้วใส่ผสมในแป้งทำขนมปัง หรือนำมาชงเหมือนกาแฟก็เคยนิยมกันมา ในแถบหนาวตอนเหนือของเทือกเขาแอล์ปที่ปลูกต้นโอลีฟไม่ขี้น มีการนำผลนัทบีชมาบีบสะกัดทำน้ำมันใช้แทนน้ำมันมะกอกได้อย่างดี น้ำมันบีชมีโปรตีนสูงถึงเกือบร้อยละ 50 จึงเป็นแหล่งโปรตีนของคนอีกแหล่งหนึ่งด้วย ใบบีชที่ร่วงหล่นลงเคยเป็นอาหารสัตว์ เหมือนฟางหรือหญ้าแห้งที่สัตว์กินเป็นอาหาร ในศตวรรษที่ 20 เท่านั้น ที่มีการผลิตฟางหรือหญ้าแห้งเทียมหรืออาหารปรุงแต่งแบบอื่นๆที่สะดวกทั้งการผลิตและการให้สัตว์กิน (อันเป็นผลที่ตามมาจากการเลี้ยงสัตว์เป็นอุตสาหกรรม ทำให้อาหาร-หญ้าหรือฟางแห้ง-ที่อร่อยกว่าและอุดมแร่ธาตุตามธรรมชาติ ถูกยกเลิกไปเพราะสะดวกกว่าที่จะให้อาหารที่คนผลิตเพื่อสัตว์ ไปป้อนให้ในคอก ให้ยืนเรียงกินกันไปเลย ความสุขเล็กๆน้อยๆในชีวิตสัตว์ ถูกริดรอนไปหมดสิ้น)
ประเด็นที่ทำให้ต้นบีชสำคัญยิ่งในชีวิตคนตั้งแต่โบราณมาจนถึงยุคกลางนั้น อยู่ที่ผลนัทที่มีคุณค่าอาหารสูงมาก บีชจึงเป็นต้นไม้หนึ่งในสามชนิดที่สำคัญต่อชีวิตของคน เพราะคนนำผลนัทมาเป็นอาหารทั้งของคนและโดยเฉพาะใช้เลี้ยงสัตว์ (ที่เรียกว่า mast) หมูเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของคนมาแต่โบราณกาล(มากกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดใด) มีจิตรกรรมและประติมากรรมที่แสดงภาพฝูงหมูถูกต้อนไปกินอาหารในป่าต้นบีช ต้นโอ๊คหรือต้นเกาลัด ที่เป็นหลักฐานยืนยันความสำคัญของต้นไม้สามชนิดนี้ ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Fagaceae
ที่ประดับหนังสือสวดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์การทำหนังสือ
ชื่อ Les Très Riches
Heures du Duc de Barry
(คือท่านดยุ๊ค Jean Ier, 1340-1416)
ผลงานของพี่น้องตระกูล
Limbourg (เนรมิตขึ้นในราวปี1411-1416)
ปัจจุบันอยู่ที่ Musée Condé, เมือง Chantilly
ประเทศฝรั่งเศส
นอกจากคุณค่าทางอาหารที่สูงมาก คนโบราณรู้จักนำส่วนต่างๆของต้นบีชไปใช้
เช่นเปลือก,ไม้,ใบและเมล็ดบีช เพราะมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อและป้องกันโรคได้ด้วย เปลือกต้นบีชนำไปต้มดื่มลดอาการไข้ และยังเชื่อว่า
การไปนั่งใต้ต้นบีช ก็ทำให้หัวสมองผ่อนคลาย ความเครียดลดลง ช่วยให้สมองใส
ทำให้สดชื่นและกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนดีๆ
อย่างไรก็ดี คนในยุคปัจจุบันหยุดใช้ต้นบีชในวงการแพทย์ทางเลือกใดๆแล้วเราอาจสรุปได้ว่า ต้นบีชรวมคุณสมบัติของการเป็นต้นไม้แห่งชีวิต(เลี้ยงดูชีวิต) และเป็นต้นไม้แห่งความรู้ (หล่อเลี้ยงสติปัญญา)
(รายละเอียดข้อมูลเรื่องต้นบีช รวบรวมเรียบเรียงมาจากหนังสือ The Meaning of Trees หน้า 86-89 และหนังสือ The Spirit of Trees หน้า 155-160 ทั้งสองเล่มจากผู้แต่งคนเดียวกัน ชื่อ Fred Hageneder เป็นชาวเยอรมันปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ข้าพเจ้าขอคารวะผู้เขียนคนนี้ที่ได้เปิดโลกทัศน์เรื่องธรรมชาติต้นไม้แก่ข้าพเจ้า และนำทางให้ข้าพเจ้าศึกษาหาความรู้และอยากเข้าใกล้ชิดอิงแอบต้นไม้ เพื่อนผู้สงบปากสงบคำ คนนี้เป็นที่สุด)
เมื่อเดินเที่ยวสวนหินจนพอใจแล้ว ข้าพเจ้ามานั่งใต้ต้นบีช นั่งอยู่อย่างนั้น สูดอากาศ มองไปมองมา คนก็ไม่ค่อยจะมีให้ดู ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่การแสดงม้าฝั่งตรงข้ามเสียหมด เห็นม้านั่งยาวอีกตัวที่อยู่ตรงข้ามตัวที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ และใกล้สวนประดับหลากสี มีหญิงสูงวัยคนหนึ่ง คงขี้เกียจเดินไปไกล จึงนั่งรอคนอื่นๆใต้ต้นไม้ และหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอย่างตั้งใจ แต่ข้าพเจ้าไม่มีหนังสือสักเล่มติดตัวไป อยากมีกระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ต้นบีชสักแผ่นจะได้บันทึกการมาเยือน Sanspareil เสียเลย
ม้านั่งใต้ต้น Linden / Lime tree ซึ่งก็เป็นต้นไม้ที่เพียบด้วยนัยความหมาย
สำหรับชาวเยอรมันเป็นความผูกพัน
เป็นสายใยเชื่อมคนในชุมชนเดียวกัน
ถนนที่เทียบว่าเป็น Champs-Élysées [ช็องเซลีเซ] ของเยอรมนี
ชื่อ Unter den Linden (Under the Linden trees) ที่อยู่กลางกรุงแบร์ลิน
ม้านั่งใต้ต้นบีช
หรือ Buche ในภาษาเยอรมัน
มีกระเป๋าใส่ของสีน้ำเงินของข้าพเจ้าวางอยู่
นั่งคิดนั่นคิดนี้ไป
จนเคลิ้มๆผลอยหลับไปในสายลม ลืมตาขึ้นดูนาฬิกาเมื่อมีกลุ่มคนมารอกันอยู่ไม่ไกลจากที่ข้าพเจ้านั่ง
เขากำลังรอเจ้าหน้าที่ผู้จะนำเข้าชมอาคาร Oriental Building (อาคารนี้ไม่เปิดให้เข้าไปตามลำพัง
ต้องเข้าไปเป็นกลุ่มกับเจ้าหน้าที่ผู้จะอธิบายและนำชมห้องหับในอาคารนั้น
มิได้มีภาพรายละเอียดภายในให้ชม เพราะเขาห้ามถ่ายภาพ แต่จริงๆแล้ว ภายในว่างเปล่าเสียส่วนมาก ไม่มีสมบัติมีค่าอะไรเหลืออยู่ในนั้น
ถูกนำไปเก็บตามพิพิธภัณฑ์แล้ว)
หญิงสูงวัยกลับไปแล้ว ไม่ได้ยินว่าไปเมื่อไร
คนเยอรมันเป็นคนสงบไม่กระโตกกระตาก แต่ใจดี เห็นเงียบๆ
แต่ถ้าพูดด้วยก็ดีใจที่จะโต้ตอบกับข้าพเจ้า บางทีก็คุยกันได้นานเลย ตอนนั้นเองรถแท็กซี่ที่ข้าพเจ้านั่งไป
กลับมารับตามเวลา รถคันใหญ่ สีขาวแปดที่นั่ง
เคลื่อนมาจอดตรงใกล้อาคาร Oriental Building คนขับลงเปิดประตูรถข้างหลังยืนรออยู่ ในขณะที่ข้าพเจ้าลุกจากที่นั่งใต้ต้นบีชต้นใหญ่ เดินไปขึ้นรถ
คนทั้งกลุ่มหันมามองข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายิ้มเขินๆ เกือบจะโบกมืออำลาทุกคน
เดินขึ้นนั่งอย่างเรียบร้อย คนเดียวในรถคันใหญ่นั้น แล้วรถก็เคลื่อนออกไป พวกเขาได้เห็น Chotiros
sans pareille (โชผู้ไม่เหมือนใคร) และแน่นอนพวกเขาคิดว่าข้าพเจ้าเป็นคนญี่ปุ่น
บันทึกเดินทางของโชติรส
โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗.
ดูความงามของต้นบีชที่ปลูกสองแถว ร่มรื่นนัก
ในพระราชอุทยาน Sanssouci ที่เมือง Potsdam
ทางเหนือของกรุงแบร์ลิน
ประเทศเยอรมนี
ต้นบีชสีม่วงหรือสีแดงคล้ำๆ เรียกกันว่า Fagus purpurea หรือ copper beech ในภาษาอังกฤษ ใบอ่อนยามต้นฤดูใบไม้ผลิเป็นสีแดงใสเหมือนสีทับทิม สีจะเข้มขึ้นๆจนเป็นสีม่วงคล้ำในกลางและปลายฤดูร้อน แล้วค่อยๆกลายเป็นสีแดงแห้งๆก่อนร่วงลงสู่พื้นดิน นิยมกันมากในสวน เพราะสีใบไม้แดงๆตัดกับสีเขียวๆของใบไม้ต้นอื่นๆ เหมือนแป้นสีของจิตรกรที่สีสันตัดกันได้อย่างสวยงาม ภาพนี้จากพระราชอุทยาน Residenz เมือง Würzburg ประเทศเยอรมนี
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับเรื่องราวและแง่คิดดีๆ ภาพสวยๆ แถมได้ความรู้เพิ่มเติมอีกด้วย
ReplyDeleteเรื่องน่าอ่าน รูปก็สวย ประทับใจกับความรู้โดยละเอียดเกี่ยวกับทุกประเด็นที่โชพูดถึง ทําให้เพื่อนๆมีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะ
ReplyDeleteเพราะมีคนเก่งคนรู้จริงเขียนให้ความรู้ เลยพลอยยินดีและสรุปมาเล่าสู่กันฟังน่ะ ขอบคุณนักปราชญ์นักคิดชาวยุโรปที่ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้เรา
Delete