Monday, 16 June 2014
Marianne North - Botanical Painter, from Plants to Art Nouveau
การวาดภาพพืชพรรณใหม่ๆที่พบในต่างแดนเป็นกิจกรรมสำคัญของการไปสำรวจ
ควบคู่กับการทำสมุดพืชพรรณตากแห้ง กิจกรรมทั้งสองรวมกันเป็นเอกสารข้อมูลที่สำคัญที่สุด ที่เป็นพยานของการค้นพบ
และเป็นคู่มือสำหรับการจัดจำแนกแยกแยะออกเป็นชุดเป็นระบบรายการพืชพรรณ ภาพวาดสีดีกว่าใบไม้ดอกไม้จริงที่ตากแห้งในแง่ที่สีบนภาพทนทานนานกว่าสีธรรมชาติจากดอกและใบที่เลือนลางหรือเปลี่ยนไป ในยุคที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป
การวาดภาพพฤกษชาติได้พัฒนาขึ้นเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง
อาจจัดเข้าในแบบจิตรกรรมชีวิตนิ่งแบบหนึ่ง (still life)
แต่ก็มีผู้ประท้วงว่าภาพพฤกษชาติเหล่านั้นเป็นเพียงภาพประกอบความเข้าใจ
มิอาจนับเป็นศิลปะในตัวมันเองได้
ความจริงแล้วซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เพราะนอกจากต้องมีรายละเอียดที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องจับเอกลักษณ์ของพืชแต่ละอย่างไว้ให้ได้ ศิลปินจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณด้วย ภาพพฤกษชาติที่เป็นภาพศิลป์
เป็นเหมือนบทกลอนหรือทำนองเสนาะที่เชื่อมระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ มีจิตรกรน้อยคนที่บรรลุถึงขั้นนั้น และภาพศิลป์ประเภทนี้ก็ยังคงสอน ให้ข้อมูล
และบันดาลใจได้เรื่อยมา
จิตรกรพฤกษชาติที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในศตวรรษที่สิบเก้าคือ
Marianne North (1830-1890) เป็นเอกสตรีที่ไม่มีใครเทียบเท่า เธอเรียนฝึกฝนจิตรกรรมสีน้ำด้วยตนเอง
ออกเดินทางสำรวจไปสี่มุมโลกเพื่อหาเนื้อหาสำหรับภาพของเธอ เขียนอัตชีวประวัติและบันทึกการผจญภัยของเธอ
Marianne North เกิดในตระกูลคหบดีผู้ร่ำรวยทั้งเงินทองและฐานะ
(บิดาเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่ง
Hastings)
เธอสนใจจิตรกรรมและการเขียนอันเป็นงานอดิเรกของสตรีผู้ดีแบบฉบับยุควิคธอเรีย
แต่คงไม่มีสตรีใดที่นำงานอดิเรกมาเป็นงานอาชีพหลักของตนเองอย่างเธอ บิดาของเธอเดินทางบ่อยๆไปทั่วยุโรปและตะวันออกกลางเพื่อธุรกิจและความบันเทิงส่วนตัว Marianne ลูกสาวคนโตมักติดตามไปด้วยเสมอ ระหว่างนี้ก็พัฒนาความชำนาญในการวาดภาพ
กระชับวิญญาณสำนึกของการเป็นศิลปินในตัวเธอมากขึ้นตามลำดับ เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรม เธอรู้สึกเหมือนถูกลอยแพ
ไขว่หาจุดยืนของตนเอง
ในที่สุดตัดสินใจใช้มรดกที่บิดาทิ้งไว้ให้เธอเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เธอตั้งไว้
คือการวาดภาพดอกไม้ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติของมัน
การเดินทางไกลคนเดียวครั้งแรกของเธอเริ่มในปี
1871 ไปอเมริกาและแคนาดาโดยผ่านไปทาง Jamaica
เธอนำติดตัวจดหมายแนะนำจากคนสำคัญๆที่เกี่ยวข้องและรู้จักเธอ เช่นนี้ทำให้เธอได้รับความสะดวกสบายพอควรทีเดียว
ซึ่งได้เป็นเช่นนี้ตลอดชีวิตเธอ นับว่าเป็นคนโชคดีมากที่ชะตาชีวิตส่งเสริมให้เธอได้เป็นอย่างที่เธอต้องการทุกประการ แต่เธอก็เป็นคนที่มีใจถึงและอดทนมากด้วย ผู้ฟันผ่าต่อสู้กับสภาพพื้นที่เลวร้ายต่างๆ
ขนาดต้องนอนกลางดินกินกลางทรายเธอก็ทำ เพื่อไปให้ถึงจุดภูมิประเทศและพืชพรรณที่เธอต้องการวาดให้ได้
ครั้งที่สอง
เธอไปในป่าทึบของบราซิลและอยู่ที่นั่นแปดเดือน
วาดภาพทั้งหมดหนึ่งร้อยภาพ ในปี 1875 เธอเดินทางข้ามทวีปอเมริกาเพื่อไปยังญี่ปุ่น เกาะซาราวัค ชวา ซีลอน
แล้วจึงวกกลับเข้าอังกฤษ ไม่ทันได้หยุดพัก
ก็เตรียมพร้อมที่จะเดินทางต่อไปอินเดีย และไปนานถึง 15 เดือน ได้วาดภาพพืชพรรณต่างๆไว้ 200 ภาพ
ที่รวมภาพอาคารสถาปัตยกรรมอินเดียที่เธอชอบด้วย
เมื่อกลับเข้าอังกฤษ เธอจัดนิทรรศการภาพวาดของเธอที่ Conduit Street ได้รับการต้อนรับอย่างดี ทำให้เธอไปจัดแสดงที่สวน Kew อีก ในปี 1879 เธอเขียนจดหมายถึง Sir
Joseph Hooker ผู้อำนวยการสวน Kew ในตอนนั้น แสดงความปรารถนาที่จะมอบผลงานทั้งหมดของเธอ
กับอาคารที่จะเป็นหอศิลป์แสดงผลงานเหล่านั้นให้เป็นสมบัติของสวน Kew โดยมีข้อแม้ว่า หอศิลป์นี้ต้องเปิดให้ประชาชนเข้าชมหรือเข้าไปนั่งพักได้ แน่นอนสวน Kew รับไว้ทันทีตามเงื่อนไขของเธอ James Fergusson เพื่อนของเธอผู้เป็นนักประวัติศาสตร์สถาปัตยศิลป์
เป็นผู้ออกแบบหอศิลป์ตามโครงสร้างสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมที่เธอเคยเห็นและชื่นชอบในอินเดีย เมื่อหอศิลป์สร้างเสร็จ
เธอเองเป็นผู้จัดภาพวาดของเธอทั้งหมดโดยเรียงตามที่ตั้งภูมิศาสตร์
นอกจากนี้เธอยังได้ประดับตกแต่งภายในด้วยแบบดีไซนของเธอเอง
แผ่นป้ายที่ติดเหนือหน้าบันของอาคาร
Marianne North
Gallery
แต่ก่อนที่หอศิลป์จะเสร็จ (หอศิลป์เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 เดือนมิถุนายน ปี1882) เธอเตรียมตัวออกเดินทางไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ระหว่างการเดินทางสำรวจภายในออสเตรเลีย
ได้พบกับ Marian Ellis Rowan สตรีสาวผู้เป็นศิลปินธรรมชาติวิทยา Rowan สอนให้ North ใช้สีน้ำมัน
ซึ่งเธอก็เรียนได้เร็วและเริ่มสร้างสรรค์ภาพสีน้ำมันตั้งแต่นั้น ในบรรดาผลงานของ North มีภาพพืชพันธุ์ใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครเห็นหรือรู้จัก
และได้รับการตั้งชื่อต่อมาเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ เช่น ต้น Northea seychellana (จากเกาะ
Seychelles) หรือพืชกินแมลงที่มีกระเปาะทรงคนโทหรือกรวยสำหรับดักแมลงที่เธอค้นพบในบอรเนียว
เรียกว่า Nepenthes northiana ส่วน Areca northiana เป็นต้นปาล์มที่มีขนเหมือนปีกนกประเภทเดียวกับหมาก และต้น Kniphofia northiana พันธุ์ว่านหางจระเข้จากแอฟริกาใต้เป็นต้น
ประตูทางเข้า
ทั้งหมดประดับเรียงติดต่อกันอย่างเป็นระเบียบ
ตลอดกำแพงทุกด้าน
ติดเป็นแถวข้างล่าง
หรือภาพนี้จากเกาะชวา
ภาพหินขนาดใหญ่
กระท่อมชาวประมงและต้นไม้ที่มีพืชพรรณหนึ่งห้อยลง
ที่เธอเรียกว่าเป็นพืชในอากาศ ที่ Paquita ประเทศบราซิล
แบบประดับต่างๆระหว่างภาพ
แผนที่โลก ดอกไม้
ดูตัวอย่างพืชพรรณต่างๆที่เธอบรรจงถ่ายทอดมาจากสภาพแวดล้อมในธรรมชาติจริงของแต่ละต้น
นอกจากการวาดภาพพฤกษชาติ
ยังมีการแกะบนแผ่นโลหะที่ทำให้สามารถพิมพ์ภาพออกมาเป็นจำนวนมาก
ชาวอังกฤษสะสมภาพเหล่านี้ด้วยควบคู่กับการสะสมพืชพรรณไม้จริงๆ การวาดภาพพฤกษชาติจะน้อยลงไปเรื่อยๆเมื่อกล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายภาพยนต์พัฒนาขึ้นที่รวมไปถึงเทคนิคการถ่ายภาพแบบเร่งความเร็วและการถ่ายภาพแบบยืดเวลาให้ช้าลงไปมาก ยิ่งทำให้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวจนถึงการงอกเงยของพืชพรรณที่สร้างความพิศวงไม่รู้วาย
ภาพพืชพรรณเป็นเหมือนฉากหลังของทุกชีวิตในอังกฤษ เป็นแบบประดับของเกือบทุกอย่างในบ้าน
ตั้งแต่กระดาษปิดฝาผนัง ลายบนกระจกหน้าต่างหรือประตู ม่าน ผ้าคลุมหรือผ้าปูเตียง
ผ้าบุเก้าอี้หรือเครื่องเรือน พรมและสิ่งทอประดับผนัง แบบเตียง
เครื่องเรือนไปจนถึงลายประดับถ้วยโถโอชาม
และในที่สุดลวดลายและสีสันของเสื้อผ้า
มิใช่เรื่องบังเอิญที่ William Morris (1834-1896 ชาวลอนดอน) ใช้ภาพเฟิร์น ดอกไม้ กิ่งไม้ และสัตว์
เป็นแบบของงานสร้างสรรค์ทุกอย่างของเขา
หรือการที่เขารณรงค์เพื่อยกระดับนายช่างฝีมือว่าเทียบเท่าช่างศิลป์อื่นๆ
หรือการที่เขากระตุ้นให้ชาวอังกฤษเห็นความน่าเกลียดของสังคมที่เอาเปรียบคนงาน
ที่ฉกฉวยความงามที่ชีวิตมีให้ทุกคนจากพวกเขา
Morris มิได้เป็นเพียงศิลปิน แต่เป็นนักเขียนด้วยและในที่สุดเป็นผู้นำกระแสสังคมนิยมในอังกฤษ
ประท้วงสังคมอุตสาหกรรมที่ผิดธรรมชาติ ที่อยุติธรรมต่อชนชั้นคนงาน
เชิญชมภาพตัวอย่างผลงานของ
William Morris ข้างล่างนี้
ทอโดยบริษัท
Morris & Co.
ภาพดอก
Hyacinth ใน Wallpaper Sample Book 1,
page 29:
Hyacinth,
pattern 480 (Wikipedia, William Morris)
ภาพพิมพ์บนผ้าฝ้าย รายนี้เรียกว่า Snakeshead (Wikipedia)
ร้านน้ำชากาแฟและขนม
เครื่องเรือน ทุกชิ้น รวมทั้งช้อนส้อมมีด
Charles Rennie Mackintosh เป็นผู้ออกแบบ
มิใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่ Arthur Lasenby Liberty (1843-1917)
เปิดร้านขายเครื่องตกแต่งบ้าน พรม ผ้าและศิลปวัตถุจากญี่ปุ่นและจากตะวันออก
และในที่สุดผลิตผ้าพิมพ์แบบตะวันออกสำหรับใช้ตัดเสื้อผ้าและสำหรับใช้บุเครื่องเรือนหรือตกแต่งบ้าน ต่อมาสั่งเข้าผ้าทอสำเร็จจากชวา อินเดีย
อินโดจีนและเปอเชียมาพิมพ์ลายในอังกฤษ เรียก “Liberty Art Fabrics”
และสร้างสรรค์แฟชั่นผ้าฝ้ายพิมพ์ดอกไม้ใบไม้ตามกระแสของศิลปะแนวใหม่ เริ่มด้วยผ้าฝ้าย ต่อมามีผ้าไหม ผ้ากำมะหยี่
ผ้าวูลและผ้าใยสังเคราะห์ ในศตวรรษที่19 แบบเสื้อผ้าในสไตลของลิเบอตี้ต้องการสื่อความรักความฝัน
การใช้ชีวิตในธรรมชาติ วิญญาณอิสระ
ชีวิตที่พ้นกรอบรัดหรือหลุดออกจากความฉาบฉวยของสังคมในเมืองใหญ่
แบบเสื้อและผ้าของลิเบอตี้ไม่ใช่แบบที่ชาวเมืองใส่ไปงานสังคมชั้นสูง เป็นแบบเรียบง่าย เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อฮาวาย
กระโปรงรูดรอบตัวเป็นต้น (ผ้าลิเบอตี้ในยุคปัจจุบันยังคงเป็นลวดลายดอกไม้
แต่ก็มีลายและแบบทันสมัยตามกระแสนิยมยุคใหม่และสีสันแห่งยุค) แนวการสร้างสรรค์ของลิเบอตี้เคยสื่อค่านิยมของชาวอังกฤษ
ที่สะท้อนรับกับความฝันอยากมีบ้านและสวนของตนเองนอกเมือง สวรรค์ของชาวอังกฤษ จึงไม่ใช่สถานที่หรูหรา
ไม่ใช่วิมานที่มีปราสาทหอคอยหลังคาทอแสงเป็นประกายระยิบระยับ
หรือการได้เสพอาหารทิพย์
เป็นเจ้าของเครื่องทองและเพชรนิลจินดาฯลฯ
ดั่งค่านิยมเกี่ยวกับสวรรค์และชีวิตหลังความตายของคนไทยส่วนใหญ่ แต่ เป็นสนามหญ้าเขียวชอุ่มผืนใหญ่
มีดอกไม้ประดับสองข้างทางเดิน
มีโต๊ะน้ำชาพร้อมที่นั่งอันสบายสำหรับนั่งๆนอนๆพักผ่อนในความอบอุ่นของแสงแดด
บันทึกครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2013
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
This comment has been removed by the author.
ReplyDelete