อีกหัวข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับภาพเฟรสโก้ในบัลเกเรีย
(ที่โรเมเนียไม่เห็นแบบนี้นะ) คือภาพกงจักรชีวิตดังภาพนี้ที่ Rila
Monastery
กงล้อชีวิตที่ Rila Monastery ประเทศบัลเกเรีย (ขอแทรกตรงนี้ว่า เฟรสโก้ที่นั่น ดูสดสวยหลากสีสันเพราะเป็นผลงานบูรณะใหม่ในศตวรรษที่
19 ในขณะที่วัดอารามที่เห็นในโรเมเนียนั้นเป็นเฟรสโก้เก่าตั้งแต่ยุคกลาง
และไม่เกินยุคศตวรรษที่ 16) ตามปกติในศิลปะ
กงล้อหมุนจากซ้ายไปขวาแบบทวนเข็มนาฬิกา ใจกลางภาพเป็นรูปผู้หญิง
คือราชินีแห่งโชคลาภ เรียกกันว่า Queen of Fortune (Fortuna)
รายละเอียดในภาพล่างนี้ เห็นชัดว่า มีเชือกติดกงล้อ ด้านซ้ายมีเทวทูตทำปีกเหมือนพัดให้เชือกม้วนตัวเข้าเป็นวง
เห็นคนตัวเล็กบนกงล้อที่ปีนขึ้นไปตามล้อ มีเลข10กำกับอายุเหนือหัวคนที่สอง และเลข 20 กำกับคนที่สาม เมื่อขึ้นถึงจุดสูงสุดกึ่งกลางวงล้อ คนนั้นมีอายุกำกับไว้ว่า
30 แล้วก็คลานลงสู่อายุ
40 มีเทวทูตทำปีกปัดให้ล้อหมุนลง คนบนล้ออายุ 50
แล้ว เชือกบนล้อตกลงเป็นขดๆลงไปข้างล่าง
เห็นร่างตัวดำๆเอาแท่งยาวๆจี้ไปที่ล้อให้หมุนต่อไป คนบนล้อหัวทิ่มลง มีเลขกำกับไว้ว่า 60 กำลังลงสู่โลงเปล่าที่วางคอยอยู่.
วงกลมที่ล้อมรอบราชีนีแห่งโชคลาภแบ่งเป็นสี่ส่วน
แสดงสี่ฤดู ฤดูทั้งสี่จัดทวนเข็มนาฬิกา
จากขวาไปซ้ายและจากบนไปล่าง จึงต้องอ่านจากมุมบนขวาที่เป็นฤดูใบไม้ผลิ
ภาพต้นไม้ใหญ่มีดอกไม้สีขาวๆแผ่เต็มทุกกิ่ง (ทำให้นึกถึงต้น acacia ที่มีมากในภูมิประเทศแถบนั้น) ต่อไปทางซ้ายคือฤดูร้อน เห็นทุ่งนาข้าวสีทอง ลงไปมุมซ้ายล่างเป็นฤดูใบไม้ร่วง คนสวมเสื้อคลุมตัวใหญ่มีหมวกปิดกันลม
มือถือไม้ท่อนเล็กและยาว เห็นฝูงสัตว์อยู่ข้างหลัง มีม้าทางซ้ายหนึ่งตัว นั่นคือภารกิจของชาวนาชาวไร่ยุคนั้น
ที่ต้องต้อนฝูงสัตว์ออกไปหากินในป่าในทุ่งให้เต็มที่ เป็นฤดูที่ผลนัททั้งหลายร่วงหล่น
เป็นอาหารอย่างดีของสัตว์ สัตว์จะกินจนอ้วน ปลายฤดูก็จะถูกฆ่า(ไม่ทุกตัว) หมักเกลือ
ตากแห้งเป็นอาหารตลอดฤดูหนาว (เช่นขาแฮม ขาแกะ) ภาพทางขวาล่างคือภาพฤดูหนาว
ภาพวาดไว้ชัดเจนว่าหิมะตกหนัก คนหนึ่งนั่งสวมหมวกหนา
มือยื่นไปข้างหน้ากองไฟเพื่อความอบอุ่น เป็นอันว่าจบวงจรชีวิตในหนึ่งปี
คอยฤดูใบไม้ผลิปีถัดไป เนื่องจากภาพนี้ติดขอบเพดานเลย
ภาพคนบนกงล้อ นอนราบไปตามกงล้อ
ข้างล่างนี้เป็นภาพกงล้อชีวิตที่ได้เห็นมาอีกแห่งหนึ่ง มีรายละเอียดมากกว่าภาพจาก Rila
Monastery อยู่ที่วัด the
church of the Presentation of Virgin Mary (ตั้งอยู่ในเขตชุมชนเก่าของหมู่บ้าน Varosha ที่เมือง Blagoegrad ประเทศบัลเกเรีย)
ตอนบนของภาพ(ดูข้างล่างนี้) มีรูปคนหนึ่งนั่งบนบัลลังก์ สวมมงกุฎ
เพื่อบอกว่าชีวิตมาถึงจุดสูงสุดแล้ว มีทั้งอำนาจและเงินทอง
ดวงอาทิตย์ประดับอยู่ในมุมซ้ายและดวงจันทร์อยู่ในมุมขวา
บนพื้นหลังสีฟ้า
ที่สรุปนัยยะของจักรวาลหรือของโลกในมุมมองของคนบนดิน
ด้านซ้ายของกงล้อ
มีคนคอยดึงเชือกเพื่อให้ล้อหมุนไป (ไม่มีเจาะจงไว้ทางด้านขวา)
ตรงกลางกงล้อคือภาพราชินีแห่งโชคลาภ วงล้อมรอบแรกที่ใกล้ตัวเธอที่สุด
เสนอภาพของฤดูทั้งสี่ ที่ต้องอ่านจากซ้ายไปขวา ในวงล้อมที่สองติดกันนั้น
เสนอสัญลักษณ์ของดาวจักรราศี หรือกลุ่มดาวสิบสองนักษัตร คั่นด้วยนาฬิกาที่เข็มสั้นหยุดบอกชั่วโมง
นอกจากสื่อการหมุนไปของเวลาในแต่ละวันแล้ว
ยังสอดคล้องกับเวลาในช่วงชีวิตของคนๆหนึ่งด้วย
ว่าวัยแรกเหมือนยามแรกของวันเช่นนี้ไปจนถึงวัยแก่ที่อยู่ในช่วงค่ำคืน
ดูรายละเอียดให้เป็นตัวอย่างของการอ่านภาพในคริสต์ศิลป์ดังต่อไปนี้
(การอ่านภาพต้องอ่านจากซ้ายไปขวา) ฤดูใบไม้ผลิ คือการเกิดใหม่ของสรรพชีวิต
เข็มสั้นของนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข I ชีวิตยามเริ่มต้นเหมือนธรรมชาติที่ผลิใหม่ เห็นสัญลักษณ์ของราศีเมษ (กลุ่มดาวแกะ Aries, เดือน 3-4) , ตามด้วยราศีพฤษภ
(กลุ่มดาววัว Taurus,
เดือน 4-5) , และราศีมิถุน (กลุ่มดาวคนคู่ Gemini, เดือน 5-6) ถัดเข้าไปในวงรี คนหนึ่งนั่งเล่นเครื่องดนตรีประเภทสาย
ใบหน้ายิ้มแย้ม มีความสุขที่ธรรมชาติผลิดอกและใบ อากาศดีอีกครั้งหนึ่ง
ฤดูร้อน เข็มสั้นนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข VI เห็นสัญลักษณ์ของราศีกรกฎ (กลุ่มดาวปู Cancer, เดือน 6-7), สัญลักษณ์ของราศีสิงห์ (กลุ่มดาวสิงโต Leo, เดือน 7-8)
, และสัญลักษณ์ของราศีกันย์ (กลุ่มดาวหญิงพรหมจารีย์ Virgo, เดือน 8-9) ใต้ลงไปในวงรี ภาพในทุ่งนา
มีผู้หญิง(โพกผม)อยู่ทางซ้ายของภาพ (ในท้องนา ผู้หญิงก็ช่วยงานด้วย
และหาอาหารกับน้ำดื่มไว้บริการ) ถือถ้วยในมือ
คนถัดไปรวบรวมรวงข้าวเป็นมัด คนกลางเกี่ยวเคียวไว้ที่เอว หยุดพักดื่มน้ำ
บอกให้รู้ว่าอากาศร้อน คนทางขวา ถือเคียวในมือทำหน้าที่เกี่ยวข้าวต่อไปให้เสร็จๆ
ภาพฤดูใบไม้ร่วง
เข็มสั้นนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข IX
ในวงกลมรอบนอกมีสัญลักษณ์ของราศีตุล
(กลุ่มดาวคันชั่ง Libra, เดือน 9-10) , สัญลักษณ์ของราศีพฤศจิก (กลุ่มดาวแมงป่อง Scorpio, เดือน 10-11) , และสัญลักษณ์ของราศีธนู
(กลุ่มดาวคนถือธนู Sagittarius,
เดือน 11-12) เมื่อฤดูเกี่ยวข้าวสิ้นสุดลง เป็นฤดูเก็บผลไม้ ในวงรีทางซ้าย
เห็นบันไดพาดบนต้นไม้ที่มีผลไม้เต็มต้น (น่าจะเป็นต้นแอปเปิล) คนหนึ่งยืนอยู่บนบันได อีกคนหนึ่งยืนอยู่ข้างตะกร้าที่มีผลไม้เต็มแล้ว
เธอถือไม้ด้ามยาวในมือ อาจใช้เพื่อช่วยเกี่ยวผลไม้ให้หลุดจากกิ่ง
ฤดูหนาว เข็มสั้นนาฬิกาหยุดอยู่ที่เลข XII ในวงกลมรอบนอกมีสัญลักษณ์ของราศีมกร (กลุ่มดาวมังกร Capricorn, เดือน 12-1) , สัญลักษณ์ของราศีกุมภ์ (กลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำ Aquarius, เดือน 1-2) , และสัญลักษณ์ของราศีมีน
(กลุ่มดาวปลา Pisces,
เดือน 2-3). ฤดูหนาวไม่มีกิจการงานในท้องทุ่งนา อากาศหนาวจัด ต้องก่อกองไฟให้ความอบอุ่น ชายสูงอายุ มีไม้เท้าคู่กาย นั่งเอามืออังไฟ ผู้หญิงที่ดูยังสาวนั่งอยู่อีกข้างของกองไฟ มือหนึ่งถือกงม้วนด้าย
อีกมือหนึ่งถือกรอด้าย เพื่อบอกว่า
ฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาทำงานเย็บปักถักร้อย
กรอด้ายจากขนแกะ เพื่อนำมาถักเป็นเสื้อผ้าสำหรับทุกคนในครอบครัว ตรงตามหน้าที่ที่พระเจ้าบอกว่าผู้หญิงจะต้องเลี้ยงลูกและทอผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย
ส่วนผู้ชายก็ต้องทำไร่ไถนาเพื่อหาเลี้ยงชีพ
วงจรชีวิตของชาวนาในแต่ละปี
เป็นไปตามการหมุนเวียนของเดือนและตะวัน ของฤดูกาล และฤดูกาลก็หมุนไปตามการหมุนของโลก
เห็นกลุ่มดาวต่างๆในท้องฟ้า
จากชั่วโมงเป็นวัน เป็นเดือน เป็นฤดู เป็นปี เป็นวงจรเช่นนี้ไปไม่สิ้นสุด กงล้อวิถีชีวิตของคน
รวมอยู่ภายในของกงล้อรอบใหญ่ที่กำหนดหนึ่งชั่วชีวิต เน้นการเติบโตจนถึงขีดสูงสุด
แล้วก็ต้องเหี่ยวเฉาและตายลงไปในที่สุด
ภาพเฟรสโก้รูปนี้ จึงอาจมองต่อไปได้ในเชิงคริสต์ศาสนาว่า เพื่อที่คนจะเกิดใหม่อีก เฉกเช่นธรรมชาติพืชพรรณนั้น คนอาจต้องมีศรัทธาในพระเจ้า
เพื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว ก็อาจฟื้นคืนชีวิตใหม่ได้ในอาณาจักรของพระเจ้า
การปฏิบัติหน้าที่ของตนบนโลกด้วยความหมั่นเพียรไม่ท้อถอย เป็นการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่ง
เพื่อให้พระเจ้าพิจารณารับตนเข้าไปในสวรรค์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับสามัญชน
ไม่มีอะไรที่จะตรึงใจพวกเขาและปลุกจิตศรัทธาได้เท่ากับที่วัดเห็นความสำคัญของกิจการงานของพวกเขา
ยกย่องเชิดชูขึ้นประดับบนกำแพงวัด อารามหรือโบสถ์
แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คริสต์สาสนาสรรเสริญการทำงาน
การลงมือทำงานตามหน้าที่ของแต่ละคน และสอนให้รู้จักเคารพในงานทุกชนิด
ไม่ดูถูกเหยียดหยามชนชั้นแรงงานฯลฯ ยุโรปพัฒนาประเทศขึ้นมาด้วยอุดมการณ์นี้ และประเทศเยอรมนีเป็นตัวอย่างสุดยอดของความสำเร็จ
สิบกว่าปีมาแล้ว ครั้งหนึ่งเดินชมเมืองนิวยอร์ค
ไปหยุดอยู่ที่แผ่นหิน อ่านข้อความที่จำหลักไว้ว่า
I believe
in the supreme worth of the individual and in his right to life, liberty, and
the pursuit of happiness.
I believe
that every right implies a responsibility; every opportunity, an obligation;
every possession, a duty.
I believe
that the law was made for man and not man for the law; that government is the
servant of the people and not their master.
I believe
in the dignity of labor, whether with head or hand; that the world owes no man a living but that it owes every man an opportunity to make a
living…etc
อ่านไม่ทันจบ
ต้องไปยืนสะอึกสะอื้นใต้ต้นไม้ เช็ดน้ำมูกน้ำตาแล้วก็กลับโรงแรม วันรุ่งขึ้นออกไปที่ Rockefeller Center นั้นใหม่
และไปยืนจดทุกคำพูดมาจนครบ (จดเสร็จแล้วจึงรู้ภายหลังว่า
ปีนั้นเขาพิมพ์คำพูดและข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับประติมากรรมด้านหน้าของศูนย์นี้ พร้อมแจกให้ทุกคนที่สนใจเลย)
รู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ได้ดลใจ John
D. Rockefeller และปลูกฝังจิตสำนึกนี้ในตัวเขาที่มหาเศรษฐีทุกคนควรเอาเยี่ยงอย่าง
ในบริบทของประเทศเรา
คงไม่มีใครอีกแล้วที่จะถูกเหยียบย่ำ ถูกคดโกงเอารัดเอาเปรียบไปยิ่งกว่าชาวนา แทนการสำนึกบุญคุณของคนที่ปลูกข้าวให้เรากิน
ดังที่กวี จิตร ภูมิศักดิ์
เขียนไว้เมื่อปี 2508 ว่า “ เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน...”
ภาพกงล้อชีวิตหรือกงล้อแห่งโชคลาภนั้น ที่แปลกไปจากแบบที่กล่าวมาข้างต้น เช่นแบบข้างล่างนี้
เป็นภาพวาดในหนังสือจารึกโบราณ รู้รายละเอียดเพียงว่าชื่อภาพ Fortuna ไม่มีคนคลานบนกงล้อ นอกจากอัศวินคนหนึ่งพร้อมหอกยาวปลายแหลมในมือ
อยู่เกือบสูงสุดบนกงล้อ ความจริงมีรายละเอียดอธิบายคนแต่ละคนที่เรียงรายอยู่ข้างซ้ายและขวาของกงล้อ
แต่เนื่องจากภาพเล็ก มิอาจแกะข้อความที่เขียนกำกับไว้ได้
อีกทั้งเดาว่าเป็นภาษาละตินด้วย
เมื่อพิจารณารูปคนทั้งหมด
จึงคิดว่าน่าจะหมายถึงเจ็ดขั้นตอนของชีวิตคน จึงต้องโยงไปถึง Shakespeare ที่กล่าวถึง seven stages of a man’s life ในบทละครเรื่อง AsYou Like it (Act II Scene VII) มหากวีเช็คสเปียร์เริ่มด้วยการเจาะจงว่า
“โลกทั้งโลกเป็นเพียงเวทีละคร
ชายและหญิงทั้งหลายเป็นเพียงคนแสดง
พวกเขามีบทบาทเข้าๆออกๆ และในชั่วชีวิตของคนๆหนึ่ง
เขาอาจต้องเล่นหลายบท เป็นเจ็ดบทบาทของชีวิต”
ชีวิตเจ็ดขั้นของคนที่เช้คสเปียร์กล่าวถึงนั้นมีดังนี้
๑. วัยทารก (infant) ๒. วัยนักเรียน (schoolboy) ๓. วัยนักรัก (lover) ๔. วัยทหาร (soldier)
๕. วัยที่ใฝ่หาความยุติธรรม (justice) ๖. วัยร้ายและโง่ (pantaloon คำของเช้คสเปียร์เอง) และ๗. วัยติดเตียงคอยความตาย (the old
age facing imminent death) ให้สังเกตว่า ใต้กงล้อเป็นเทวดากางปีกเหมือนเพิ่งบินลงมาจากเบื้องบน
มือสองข้างถือม้วนกระดาษที่คลี่ออกมีคำจารึกไว้ เหมือนเตือนให้คนดูระลึกไว้ ภาพจากซ้ายของเทวดา
เห็นทารกห่อหุ้มอย่างอบอุ่นนอนอยู่บนเตียง
ขึ้นไปเห็นเด็กมีสุนัขเต้นอยู่ข้างๆเหมือนอยากเล่นด้วย เด็กชี้นิ้วไปทางขวาเหมือนบอกทิศทางว่าต้องไปโรงเรียนแล้ว เหนือขึ้นไปเป็นหนุ่มมีนกเกาะที่มือ
อีกมือหนึ่งถืออะไรไว้ น่าจะสรุปได้ว่า
เขียนจดหมายรักและจะให้นกนำสารรักไปส่ง
เหนือขึ้นไปอัศวินท่าแข็งขันพร้อมหอกด้ามยาวในท่าพร้อมที่จะโยนพุ่งไปยังศัตรู ถัดมาในด้านขวาของภาพ ตอนบน
คนนั่งบนโต๊ะหนังสือ เหมือนกำลังพิจารณาคดี
ใต้ลงไปคนหลังค่อมถือไม้เท้า ค่อยๆพยุงตัวเดินไป ใต้ลงมาเห็นคนหนึ่งนอนแผ่อยู่บนเตียง
ผ่ายผอมจนเห็นซี่โครง คอยวันตาย
กงล้อพร้อมวงจรชีวิตตามอายุ มีคนเป็นจุดใจกลางของกงล้อ
มิได้โยงไปถึงโชคลาภอะไรเป็นประเด็นเด่น แม้ภาพนี้มีชื่อกำกับว่า Fortuna แต่หากคิดอีกที โชคลาภของคนคงมิได้อยู่ที่การมียศฐาบันดาศักดิ์เท่านั้น การผ่านชีวิตตามวัยต่างๆมาได้
น่าจะเป็นโชคเป็นลาภแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่ว่า ณจุดสุดท้ายของชีวิต
แต่ละคนนึกถึงชีวิตที่ผ่านมา แล้วรู้สึกเห็นค่าของชีวิตที่ได้ใช้ไปไหม หรือยังคงไม่รู้อยู่นั่นแหละว่าเกิดมาทำไม ยังคงเสียดายอะไรอีกไหม
หรือเสียใจที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า คิดตามแนวคริสต์หรือแนวพุทธ ชีวิตที่เกิดมาเป็นคน
เป็นโชคมหันต์แล้ว ชีวิตนี้สั้นนัก
อย่าปล่อยให้ชีวิตผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
ภาพกงล้อแห่งโชคลาภเป็นหนึ่งในภาพยอดนิยมที่ประดับไพ่แทโร (Tarot) ซึ่งศิลปะร่วมสมัยได้ประดับไว้อย่างหลากหลายน่าสนใจดู
แม้เนื้อหาจะไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือความไม่แน่นอนคงเส้นคงวาของโชคลาภ ยิ่งใช้ประดับไพ่ที่ทำนายทายทักอดีตและอนาคตอย่างไพ่แทโรนี้
ตัวอย่างภาพประดับไพ่แทโรจาก
www.donfarrell.deviantart.com กงล้อนี้มีดวงตาที่แฝงอยู่ด้านหลังกรอบวงกลมที่สวยเหมือนเหล็กดัด
เป็นดวงตาดวงใหญ่สีฟ้า เหมือนแอบมองพฤติกรรมของทุกคนอยู่ มีผู้หญิงด้านซ้ายเป็นผู้หมุนกงล้อ
ด้านขวามีมารทะเล เรือลำหนึ่งจมอยู่ก้นทะเลแล้ว อีกลำหนึ่งขนาดใหญ่กว่า
ยังโลดแล่นไปบนน่านน้ำ ดูแล้วทำให้เห็นชัดเจนว่า
ชีวิตคนก็อาจเหมือนเรือที่อยู่กลางทะเล
ลมดีคลื่นสงบก็ไปได้ฉุย
แต่พายุเมฆฝนก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ตามที่คนเขาเตือนไว้ คืบก็ทะเล
ศอกก็ทะเล ในภาพนี้ เมฆดำแผ่ทะมึนตอนบนของภาพหลังฝั่งทะเลที่เห็นไกลออกไป
คงมาถึงตรงหน้าในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เรือจะไปถึงฝั่งก่อนไหม ชีวิตคือการตัดสินใจในแต่ละนาที
มาถึงจุดนี้ของบทความ
ต้องย้อนกลับไปเอาเรื่อง “แผ่นดินกระเทือน
อารมณ์สะเทือน” ที่อยู่ในบล็อกมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2014 ที่เป็นประสบการณ์ตรงและสดๆจากญี่ปุ่น ในที่สุดนำมาผนวกไว้ต่อไปข้างล่างนี้ รวมกันไปเป็นเรื่องเดียวกันเลย
บันทึกเดินทางของโชติรส
โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็อกวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘..
แผ่นดินกระเทือน อารมณ์สะเทือน
การคุ้นเคยกับอะไรๆตามวิถีญี่ปุ่น
มีข้อดีที่ ช่วยให้รู้จักพอเพียงในสถานะของตัวเอง
การไปอยู่ในห้องคับแคบของโรงแรมในญี่ปุ่นเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ทำให้รู้ว่า
จริงๆแล้วคนเราไม่จำต้องมีพื้นที่มากมายเพื่อดำรงชีวิตในแต่ละวัน
พื้นที่เล็กๆแคบๆ
สอนให้รู้จักจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ ให้เข้ามุม เข้าใต้โต๊ะ อะไรจะไว้ตรงไหน
อะไรใช้ไม่ใช้ อะไรควรเก็บ ไปญี่ปุ่นบ่อยๆ
อาจ ช่วยให้ปล่อยวางอะไรต่ออะไรออกไปได้ง่ายขึ้นอีก
โดยเฉพาะเมื่อมีประสบการณ์กับแผ่นดินไหวบ่อยเข้าๆ
เมื่อข่าวจบลง
รายการที่ปรากฏมาบนจอช่องที่ข้าพเจ้าเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่เดินเข้าไปในห้องโรงแรม
เป็นการถ่ายทอดการแสดงคอนเสริตของวงซิมโฟนีออเครสต้าของ NHK ไม่รู้ว่าเขาจะแสดงดนตรีอะไร นั่งฟังขณะคอย aftershock
บนเตียง ทันใดนั้นดนตรีโหมโรงดังกระหึ่มขึ้น ใจสั่นหัวใจเต้นถี่ขึ้นฉับพลันนั้นเลย
เสียงประสานของนักร้องกลุ่มใหญ่และดนตรีที่กระหึ่มดังขึ้นพร้อมกับคำว่า
O Fortuna! แล้วค่อยๆเบาลงๆ เหมือนความลังเลใจ เหมือนกำลังคลำทาง เหมือนความหวังที่แอบซุกอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ ความหวังในความสุข ในโชคลาภ
และแล้วก็เหมือนความเอือมระอา ความเบื่อหน่ายในความซ้ำซาก
ความละเหี่ยใจกับความไม่แน่นอนของชีวิต
แล้วดนตรีก็กระหึ่มขึ้นอีก ดังขึ้นไล่ติดต่อไม่ลดละ ยืนยันชัดเจนว่า
ท่านเอ่ย อย่าประมาทไป อย่าทรนงไป
ความสุขสนุกนั้นมันจะจบลง ทุกอย่างจบลง เหมือนกงล้อที่หมุน
มีขึ้นแล้วก็มีลง
จิตประหวัดไปถึงครั้งแรกที่ได้ยินดนตรีชุดนี้ที่ปารีส
ตอนนั้น(หรือตอนนี้)ยังไม่มีความรู้ใดๆเกี่ยวกับดนตรีคลาซสิก ไปกับพี่คนหนึ่ง ตั๋วนักเรียนที่เขาขายให้นั้น อยู่แถวบนๆเกือบสุดท้าย ติดกำแพงโรงละคร ที่นั่งเป็นอัฒจันทร์ใหญ่ นั่งมองดูฝูงคน ยังไม่รู้หรอกว่า
ดนตรีที่เขาจะแสดงมันเรื่องอะไร
พอนักร้องประสานเปล่งคำแรกพร้อมกันว่า O Fortuna! (โอ้โอ๋
โชคลาภ!) อย่างฉับพลันไม่มีปี่มีขลุ่ย
ควบคู่ไปกับเสียงกระหึ่มของดนตรีที่รัวตามติดมา ใจสั่นน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว มันสะเทือนใจอย่างไรไม่รู้
ทั้งๆที่แน่นอนตอนนั้นจับเนื้อหาของคำร้องไม่ได้หรอก
เขาร้องเป็นภาษาละตินด้วย
มันบอกไม่ถูกจริงๆ
ตั้งแต่นาทีนั้นข้าพเจ้านั่งนิ่งฟัง ตัวตั้งตรงไม่ขยับเลยไปจนจบ ฉับพลันนั้นที่เกิดจิตสำนึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ตั้งแต่เกิดถึงอายุยี่สิบต้นๆ
พวกเราส่วนใหญ่เบิกบานฝันหวานตามวัยสาว ไม่มีเวลาหรือโอกาสที่จะคิดเรื่องอื่นใดนอกจากเรื่องเรียนและเรื่องสวย วัยสาวหรือจะนึกถึงความตาย นึกเพียงเรื่องแฟนเรื่องรัก วันนั้นนับเป็นจุดผกผันจุดสำคัญในเส้นทางชีวิตภายในของข้าพเจ้า เหมือนสังหรณ์ใจว่า
เส้นทางชีวิตข้างหน้าจะเผชิญความขึ้นๆลงๆ
ตระหนักถึงหนทางที่ทอดอยู่ข้างหน้าบนถนนในปารีส เหนื่อย
หอบกับการขึ้นลงรถไฟใต้ดิน กินไม่อร่อย ทำเองก็ไม่เป็น นึกว่าต้องอดทน
ต้องพากเพียรเรียนให้สำเร็จ ต้องมิให้ความผันแปรในกระแสชีวิต
เปลี่ยนความตั้งใจในการจะเป็นครูที่ดี
(ตอนนั้นรู้แต่ว่า จะกลับมาสอนฝรั่งเศสที่จุฬาฯ ตามที่ท่านอาจารย์จินตนา
ยศสุนทรได้บอกเราไว้) ตั้งแต่นั้นมา
ดนตรีชุด Carmina Burana กลายเป็นสิ่งเตือนใจที่ดีที่สุด
ที่ได้สื่อทั้งความตระหนก ความจำนน ความกล้า ความหยิ่งจนถึงการสังเวชตัวเอง
ดนตรีที่ข้าพเจ้าพูดถึงนี้คือ
Carmina Burana ของ Carl
Orff และประโยคแรกเริ่มต้นทันทีคือ O Fortuna! บทโหมโรงเป็นบทส่งท้ายด้วย ดนตรีม้วนตัวกลับตามกงล้อแห่งอนิจจา What a coincident! เพราะขณะที่ฟังดนตรี แผ่นดินยังไหวกระเทือน
ข้าพเจ้าอาจตายลงไปกับแผ่นดินที่กำลังโกรธกระทืบเท้าข่มขู่อยู่ ประสานเสียงฉาบเสียงกลองเสียงแตรที่ดังกระหึ่มระทึกใจทุกนาที
คืนนั้นหลับไปพร้อมจิตสำนึกในความหมายของคำที่พระท่านเคยสอนไว้ว่า วันพรุ่งนี้หรือความตาย ใครจะมาถึงเราก่อน
ฟังตัวอย่างบทโหมโรง
โดยคลิ้กข้างล่างนี้ วาทยากรคือ André Rieuความยาว 5 นาที version นี้เน้น
theatrical effect http://www.youtube.com/watch?v=GD3VsesSBsw
เทียบกับวงดนตรีของญี่ปุ่น
ที่มี Seiji Isawa เป็นวาทยากร เป็นดนตรีเต็มชุด ให้ฟังอย่างน้อย 15 นาทีของบทโหมโรง
http://www.youtube.com/watch?v=n-DgS75lfmw
ส่วนลิงค์ข้างล่างนี้
มีเนื้อร้องให้เป็นภาษาละติน และบทแปลเป็นภาษาอังกฤษ เป็นดนตรีเต็มชุดเช่นกัน ไม่เห็นนักร้องนักดนตรี
ฟังตอนต้นเบื่อก็ให้เร่งไปเปิดฟังตั้งแต่นาทีที่ 53 เป็นต้นไปจนจบ
สุดยอดของความรู้สึกต่างๆผนึกเข้าไว้ในนั้น http://www.youtube.com/watch?v=AO8tZXvFF94
ลิงค์นี้รู้สึกน่าสนใจมาก
การถ่ายทอดเนื้อหาเพลงไม่เหมือนกันเลยทีเดียว
ถ้าฟังไปเรื่อยๆ นักร้องเดี่ยวๆเสียงผู้ชาย สุดยอดเลย
ใส๊ใสเหมือนจะทะลุหัวจิตหัวใจถึงความคิดยอกย้อยที่ซ่อนอยู่ ถ้าเข้าใจถูก เป็นวงดนตรีของประเทศเบลเยี่ยม(ใช้ภาษา
Flemish) แสดงที่เมือง Antwerpen
ในเบลเยี่ยม เปิดไปฟังตั้งแต่นาทีที่ 50 เป็นต้นไป Outstanding! http://www.youtube.com/watch?v=MPjy55Y6hWU
เนื้อเพลงของบทโหมโรง
O
Fortuna! จาก Carmina Burana
(ภาษาละตินและภาษาอังกฤษ)
O Fortuna
velut luna statu variabilis, semper crescis aut decrescis; vita detestabilis nunc obdurat et tunc curat ludo mentis aciem, egestatem, potestatem dissolvit ut glaciem. Sors immanis et inanis, rota tu volubilis, status malus, vana salus semper dissolubilis, obumbrata et velata michi quoque niteris; nunc per ludum dorsum nudum fero tui sceleris. Sors salutis et virtutis michi nunc contraria, est affectus et defectus semper in angaria. Hac in hora sine mora corde pulsum tangite; quod per sortem sternit fortem, mecum omnes plangite! like the moon you are changeable, ever waxing and waning; hateful life first oppresses and then soothes as the sharp mind takes it; poverty and power it melts them like ice. Fate – monstrous and empty, you whirling wheel, you are malevolent, well-being is vain and always fades to nothing, shadowed and veiled you plague me too; now through the game I bring my bare back to your villainy. Fate – in health and virtue – is against me, driven on and weighted down, always enslaved. So at this hour without delay pluck the vibrating strings; since Fate strikes down the strong man, everyone weep with me! |
ที่มาและเนื้อหา
ชื่อ Carmina
Burana ใช้เรียกจารึกบทกวี
254 บทกับบทละครที่แต่งขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 บางส่วนมาจากศตวรรษที่ 13 เนื้อหาของจารึกเล่มนี้ อาจแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มคร่าวๆ อันมี
๑. บทกวีเชิงศีลธรรม เน้น human conditions
และบทกวีเย้ยหยันเสียดสีความฉ้อฉลต่างๆที่เกิดขึ้นในวงการศาสนา (55 บท)
๒.
บทกวีเกี่ยวกับความรัก และบทเพลงสดุดีฤดูใบไม้ผลิ (131 บท)
๓.
บทเพลงชาวบ้านที่มักร้องกันในยามกิน ยามดื่มหรือยามพนัน (40 บท)
๔. บทละครเรื่องยาวเชิงจิตวิญญาณ (2 บท)
ที่สรุปรวมอยู่ในคำเด่นสองคำคือ
ชะตากรรม และโชคลาภ
บทกวีในจารึกเล่มนี้ แต่งขึ้นเพื่อใช้ร้อง และมีเครื่องหมายดนตรี(แบบสมัยกลาง)กำกับเจาะจงอยู่ด้วย แต่ Carl Orff มิได้ใช้หรือยึดตาม จารึกนี้ใช้ภาษาละตินเป็นภาษาหลัก มีคำเยอรมันแทรกบ้าง และมีคำประสมละตินเยอรมันหรือละตินฝรั่งเศสปนอยู่ด้วย บทกวีทั้งหมดไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เนื้อหาโดยรวมยังสะท้อนให้เห็นลักษณะสังคมในยุคกลางที่ปัญญาชน(ผู้ที่อ่านและใช้ภาษาละติน) เดินทางไปทั่วยุโรป ไปเข้าศึกษาในสถาบัน ไปเข้าฟังวิชาที่เขาสนใจในมหาวิทยาลัยต่างถิ่นต่างแดน กลุ่มปัญญาชนนี้มักไม่ค่อยลงรอยกับชาวท้องถิ่นนั้นๆ เพราะความสนใจที่ต่างกัน ปัญญาชนต่างถิ่นทั้งหลายจึงมักรวมกัน กลายเป็นกลุ่ม “นักศึกษาพเนจร” (Ordo Vagarum หรือ Wandering scholars) ชนกลุ่มนี้แหละที่เป็นผู้แต่ง ผู้ขับร้องบทกวีต่างๆ (ที่ต่อมารวมกันเป็นจารึก Carmina Burana) และเป็นผู้เผยแพร่เองเพราะการเดินทางไปตามสถาบันการเรียนการสอนต่างๆในยุโรป
ยุคนั้นพวกเขายังมิได้ใฝ่หายศฐาบันดาศักดิ์
เพียงแต่สนุกกับการเล่นคำ เล่นลิ้น เรียนและเล่น กอบโกยประสบการณ์กับแง่คิด
จากสังคม จากผู้คนที่พบเห็น โดยทำตัวตามสบาย ไม่เดินตามกฏตามธรรมเนียม เห็นอะไร คิดอย่างไรก็แสดงออกเป็นบทกวี เป็นคำพูดที่ตรงไปตรงมา
ตรงประเด็นทันท่วงที และถูกต้องตามจังหวะเพื่อใช้ร้องใช้แสดงด้วย ถ่ายทอดทัศนวิสัย การประชดแดกดันหรือการล้อเลียนคนหรือสถาบันที่พวกเขาไม่ชอบ
บทกวีเป็นภาษาละตินใช้คำกริยาในปัจจุบันกาลทั้งหมด
ที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกตรงนั้นเดี๋ยวนั้นได้สมจริง ภาษาละตินเป็นภาษาของการเรียนการสอน
การอ่านการเขียนในยุคกลางนั้นปัญญาชนใช้ภาษาละตินเป็นภาษาหลัก
Carl Orff
(1895-1982 นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมัน) ได้เลือกบทกวีจากจารึกเล่มนี้ 24 บท มา เชื่อมโยงเป็นเนื้อหาให้ต่อเนื่องกัน (เป็น libretto สำหรับใช้ร้อง โดยมีปกเป็นภาพกงล้อ ดูภาพข้างล่างนี้) แล้วประพันธ์ดนตรีประกอบ
ประพันธ์ขึ้นในระหว่างปี 1935-36 บทโหมโรงและบทส่งท้ายมีชื่อว่า Fortuna
Imperatrix Mundi (แปลว่า
เทพแห่งโชคลาภผู้เป็นจักรพรรดินีของโลก)
ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในทันที
กลายเป็นหนึ่งในดนตรีคลาซสิกที่แพร่หลายที่สุดในโลกตะวันตก (มีสถิติระบุว่า
เป็นดนตรีคลาซสิกที่ใช้บันเลงมากที่สุดตลอด 75 ปีที่ผ่านมาในสหราชอาณาจักร) และถูกนำไปใช้แทรกเข้าในภาพยนต์จอใหญ่หรือจอเล็ก
รวมทั้งใช้ประกอบภาพยนต์โฆษณาด้วย
การทำความรู้จักกับดนตรีชุดนี้
เป็นหนึ่งในความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านในยุโรป ที่เปิดประตูอารมณ์รุนแรงต่างๆของคน ไปสู่การยอมตนต่อชะตากรรมในที่สุด
บันทึกประสบการณ์ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณวันที่ 28 พฤษภาคม 2014.
It is fascinating that those philosophical narratives of life of hundreds of years ago, that life is like perpetual cycles of the seasons, still prevail nowadays. Thank you, Cho, for sharing with us the beautiful photos of the old paintings portraying those beliefs and for your detailed descriptions of all of them. Thanks for the efforts and time you put in to create such wonderful journals like this one and many others. We all have learned a lot from you.
ReplyDeleteI also laughed out loud to myself reading about what you did in the hotel room in Tokyo right after the earthquake hit. I would probably have done the same, by the way!!
Paew