Sunday 12 July 2015

อีจิปต์ อู่ทองของเครื่องหอมในโลกโบราณ - Egypt, the cradle of perfumery

    ประวัติของ “น้ำหอม” เกี่ยวข้องกับประวัติมนุษยชาติอย่างแยกกันไม่ออก ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว คนเผาไม้หอมหรือยางไม้ เพื่อทำให้อาหารมีรสดีขึ้น  ในอารยธรรมโบราณทั้งหลาย คำ“น้ำหอม” หรือเครื่องหอมหรือสารหอมๆนั้น เป็นสารปฐมภูมิจากธรรมชาติ เช่นดอกไม้ พืชพรรณ สมุนไพร ยางสนหรือยางไม้ต่างๆ และจากสัตว์   เครื่องหอมอาจมีลักษณะเป็นของเหลวข้นๆแบบน้ำมัน หรือสารข้นๆแบบครีม ขี้ผึ้ง ยาหม่อง หรือเป็นผงๆ เป็นก้อนอัดแห้งเช่นกำยาน (Kamyan ดังภาพข้างล่างนี้)
            เนื่องจากเป็นของหายาก  เครื่องหอมจึงเหมือนสมบัติส่วนตัวของเทพเจ้า เป็นภาพลักษณ์หนึ่งของเทพเจ้า  คนรู้จักประหยัดใช้สารหอมๆทั้งหลาย และสงวนใช้สำหรับการเซ่นไหว้เทพเจ้า  ด้วยความหวังว่า กลิ่นหอมที่น่าพีงใจอาจช่วยทำให้เทพเจ้าใจอ่อน ใจดีและตอบแทนพวกเขาตามที่เขาขอ ส่วนในการเซ่นไหว้เทพแห่งความตาย มนุษย์คิดตามประสาซื่อว่า ความหอมของร่างคนตายอาจทำให้เทพเจ้าเข้าใจว่าคนตายนั้นเป็นหนึ่งในหมู่เทพ ท่านก็จะนำวิญญาณผู้ตายไปสู่สุขคติ   เมื่อนำเคื่องหอมไปมอบให้ใคร ก็เป็นการแสดงคารวะหรือความจงรักภักดีสูงสุดต่อผู้นั้น ซึ่งมักเป็นหัวหน้าเผ่า เจ้าผู้ครองหรือผู้ที่คนเคารพเยี่ยงเทพเจ้า (เช่นกรณีสามกษัตริย์นำเครื่องหอมมามอบแด่พระเยซูองค์น้อยเป็นต้น)  หรือใช้ในประเพณีชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ตามความเชื่อของชนเผ่าต่างๆเป็นต้น  เครื่องหอมจึงมีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของมันในพิธีกรรมของความเชื่อต่างๆ  
            ตัวอย่างที่รู้จักกันดีในอารยธรรมอีจิปต์ที่เล่าจารึกเป็นอักษรภาพบนกำแพงที่วัด Edfu  ระบุตำราการทำ kyphi ที่เป็นสารหอมหวานของดอกไม้  เพราะว่าภายในอาณาบริเวณของวัดที่นั่น เคยเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น โดยมีเหล่านักบวชเป็นผู้รู้วิธีและผู้ทำ kyphi. การผลิตเครื่องหอมในอารยธรรมอีจิปต์นั้นจึงเกี่ยวข้องใกล้ชิดหรือมิอาจแยกออกจากบริบทศาสนาได้   พิธีการทำศพของชาวอีจิปต์โบราณยิ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงความสำคัญของเครื่องหอม  เครื่องหอมที่ทาและชโลมร่างผู้ตายตามกระบวนการที่ละเอียดซับซ้อน ทำให้ร่างผู้ตายมีกลิ่นหอมกลบกลิ่นเหม็นจากการเน่าเปื่อยลงไปได้  เท่ากับการแปลงร่างผู้ตายให้เป็นร่างที่หอม ให้เป็นเทพเจ้า (ในเมื่อเทพเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่ตาย ร่างจึงไม่เน่าเปื่อย ความหอมเป็นคุณสมบัติของเทพเจ้า หลายกระแสความเชื่อมักกล่าวไว้ว่า เทพเจ้ามาปรากฏในรูปของควันหอมเป็นต้น)  เมื่อร่างคนถูกอบให้หอม ก็เหมือนยกฐานะของคนตายขึ้นสู่ระดับของเทพ  เหมือนจะล่อหลอมใจเทพเจ้าให้มาช่วยพาคนตายไปสู่สวรรค์   นอกจากนี้ สารหอม kyphi  ยังมีสรรพคุณในการช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย  ชาวอีจิปต์นำไปใช้เป็นยาในคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคปอดหรือโรคตับ  เครื่องหอมจึงมีบทบาทสำคัญในระบบสุขอนามัยและโดยเฉพาะในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
            ความสำคัญของเครื่องหอมในอารยธรรมอีจิปต์นั้นเห็นได้ชัดเจนจากจารึกการเดินทางไปค้นหาพืชพันธุ์“หอมๆ”จากต่างแดน  เหตุการณ์ที่เลื่องลือกันมากที่สุดและที่มีจารึกโบราณเป็นหลักฐานครั้งแรก เกิดขึ้นในรัชสมัยของ pharaoh Hatshepsut [แฟโร ฮัตเฉ็บสู้ต] ผู้มีชีวิตในศตวรรษที่ 15 BCE  เป็นแฟโรที่ครองราชย์ยาวนานมาก  เป็นราชวงศ์ที่18 ของอีจิปต์โบราณ  รัชสมัยของพระนางมีความเจริญรุ่งเรืองมาก บ้านเมืองสงบสุข ดังที่นักประวัติศาสตร์สรุปไว้จากการศึกษาโครงการก่อสร้างต่างๆในยุคของพระนาง  มีการส่งขบวนค้าขายไปในแดนไกล ที่ไม่เคยมีกษัตริย์องค์ใดทำได้เสมอเหมือน  นักประวัติศาสตร์ยังถือว่าพระนางเป็นผู้วางรากฐานของการเพาะปลูกพืชพรรณ  เพราะในปีที่ 10 หลังจากที่พระนางขึ้นครองราชย์  มีการส่งกองเรือออกสำรวจเส้นทางไปจนถึงเมือง Punt (ที่เชื่อกันว่าคือประเทศโซมาเรียในปัจจุบัน)  ขบวนเรือของพระนางประกอบด้วยเรือ ๕ ลำ แต่ละลำยาว 70 ฟิต เรือแต่ละลำบรรทุกคนได้ถึง 210 คนที่มีทั้งลูกเรือและฝีพาย 30 คน  ขบวนสำรวจของพระนางจากอีจิปต์ไปนานสองปี เลียบชายฝั่งทะเลแอฟริกา    ที่น่าจดจำไว้คือ ขบวนเรือสำรวจนี้ มิใช่เพื่อการค้าทาสหรือสงคราม แต่เพื่อไปสำรวจสัตว์ป่าและค้นหาวัตถุมีค่าต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ไปเก็บต้นไม้พืชพรรณแปลกๆใหม่ๆนำกลับมายังอีจิปต์[1] รวมทั้งให้ไปตามหาต้นกำยาน (frankincense) และต้น myrrh (ต้นไม้กลุ่มกำยาน ยางของมันใช้ทำน้ำหอม) ซึ่งเป็นเครื่องหอมหายากที่สุดในโลกโบราณ).  เครื่องหอมสองชนิดนี้ จำเป็นมากสำหรับพิธีกรรมศาสนาของอีจิปต์และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการอบมัมมี่
         เมื่อขบวนเรือกลับคืนสู่อีจิปต์ ได้บรรทุกผลิตภัณฑ์ต่างๆมาเต็มเรือทั้งห้าลำ (ข้อมูลบางแห่งบอกว่ากองเรือนี้กลับคืนสู่อีจิปต์ห้าเดือนต่อมา บางแห่งเจาะจงว่านานถึงสองปี)  ผลิตภัณฑ์มีค่าต่างๆเช่นงาช้าง รวมทั้งไม้เนื้อดีราคาแพง เช่นไม้ ebony [เอ๊เบอะหนิ] ยางไม้ที่มีกลิ่นหอมและกำยาน   สิ่งที่มีค่าที่สุดคือต้นกำยาน 31 ต้นที่ยังมีชีวิต  ชาวอีจิปต์ได้ขุดดินจากถิ่นเดิมของต้นกำยาน  ขุดเอาดินมากับต้น เป็นกลุ่มดินก้อนใหญ่และกลมๆที่ห่อหุ้มโคนต้นและรากของต้นไม้ไว้ได้ครบเป็นอย่างดี แล้วใช้สายหนังรัดไว้ทั้งรากทั้งดินให้ติดกันตลอดเวลา  เช่นนี้ทำให้ต้นไม้ยังมีชีวิตต่อมาตลอดระยะเดินทางอันยาวนาน  เมื่อมาถึงอีจิปต์ พระนางฮัตเฉ็บสู้ตได้สั่งให้ปลูกต้นไม้ทั้งหมดที่สวนภายในวังที่ Deir el Bahari  (เป็นสวนสุสาน)   ต้นไม้เหล่านั้น กลายเป็นต้นไม้จากต่างแดนต้นแรกๆในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ถูกนำไปปลูกนอกถิ่นกำเนิดของมัน.  กองเรือสำรวจนี้เป็นเหตุการณ์สุดยอดในรัชสมัยของพระนางฮัตเฉ็บสู้ต และเป็นผลงานที่พระนางต้องการให้โลกจดจำไว้  จึงมีการจำหลักนูนเล่าเรื่องกองเรือไปสำรวจและค้นหาไม้พันธุ์ใหม่ๆจากต่างแดน จารึกลงบนกำแพงในวัดที่ Deir el-Bahri.  การขุดต้นไม้ที่ได้รวมรากรวมดินรอบๆต้นและรากมาด้วยนี้ ได้สืบทอดต่อมา เป็นกรรมวิธีที่ดีที่สุดในการขนย้ายพืชพรรณ (ดูภาพต้นไม้ซีกซ้ายในภาพข้างล่างนี้ เหมือนอยู่ในตระกร้ายกขึ้น คนแรกหันหน้าไปทางต้นไม้เพื่อบ่งบอกว่าได้ดูแลขนย้ายต้นไม้มา  อีกหลายคนที่อยู่ถัดไป หันหน้าไปทางขวา เพื่อเล่าว่านำมาปลูกลง ให้สังเกตว่าต้นไม้ซีกขวาปลูกลงดินแล้วและเติบโตงดงาม (ดูรายละเอียดเรื่องการเดินเรือนี้ที่นี่ http://awatrees.blogspot.com/2012/06/hatshepsut-worlds-first-arboriculturist.html )
ในทศวรรษที่1890 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้เริ่มขุดหาหลักฐานทางโบราณคดีในอีจิปต์และได้ค้นพบสมบัติล้ำค่าต่างๆ  นอกจากนี้ยังได้ค้นพบที่ Djeser-Djeseru รากต้นกำยานจำนวนหลายราก  รากต้นไม้ที่ในปัจจุบันยังคงเห็นอยู่หนึ่งต้นหน้าวัด  เชื่อกันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่พระนางฮัตเฉ็บสู้ตนำมาปลูกจากแดน Punt  ซึ่งก็สอดคล้องกับเรื่องที่จารึกไว้บนกำแพงในวัด 
 

 
          ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยที่เมื่อ3500ปีกว่า การสามารถขนย้ายต้นไม้แล้วนำไปปลูกลงบนดินแดนต่างถิ่น และเติบโตขึ้นได้ 31 ต้นในดินฟ้ากาศที่รุนแรงบนแผ่นดินอีจิปต์  นับเป็นความสำเร็จด้านพฤกษศาสตร์ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ  พระนางฮัตเฉ็บสู้ตและข้าราชสำนัก น่าจะมีความรู้ด้านพืชพรรณดีมาก ตั้งแต่การรู้จักเลือกต้นไม้ที่ต้องการ(ต้นกำยาน)ได้ถูกต้อง  การขนย้านต้นไม้ใหญ่เหล่านั้น  การนำมาปลูกลงดินในอีจิปต์และการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้เหล่านั้นให้เติบโต แสดงให้รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น มีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับต้นไม้ ทั้งธรรมชาติของต้นไม้และระบบนิเวศที่ต้นไม้นั้นเติบโต  การเจริญของราก การแผ่กระจายของราก วิธีการปลูกที่มีสมรรถภาพและกระบวนการดูแลรักษาภายหลังที่นำปลูกลงดินในอีจิปต์แล้ว. หากพระนางฮัตเฉ็บสู้ตเข้าใจเรื่องพืชพรรณไม่เพียงพอ กองเรือสำรวจของพระนางคงจบลงด้วยความล้มเหลวและชื่อเสียงของพระนางในประวัติศาสตร์คงแตกต่างออกไปมาก.   แม้ในโลกปัจจุบัน สถิติการนำพืชพรรณจากถิ่นอื่นไปปลูกในอีกถิ่นหนึ่งนั้น ยังไม่สำเร็จทุกครั้ง(และเรามักเชื่อว่าคนปัจจุบันมีความรู้ทางวิทยาการมากกว่ายุคอีจิปต์)  แต่ประมาณร้อยละ 50 ของพืชพรรณส่วนใหญ่มักตายลงในปีแรกหลังจากที่นำลงปลูกบนดินแล้ว  ถือว่าเป็นความสูญเสียและความล้มเหลวอย่างยิ่ง  นักเพาะเลี้ยงพืชพรรณยุคปัจจุบัน อาจต้องกลับไปพินิจพิจารณาความรู้เรื่องเดียวกันนี้จากยุคโบราณและนำมาใช้ให้ได้ผลมากที่สุด 

ภาพจากวัดของ Tuthmoses III (Karnak)โดยเฉพาะจากสวนพฤกษศาสตร์ ผู้ศึกษาได้เขียนเจาะจงประเภทนกว่าเป็นนก rock dove, turtle dove, wild goose, bustard เพราะหากคนที่ไม่ชำนาญก็อาจแยกแยะไม่ออกเมื่อเห็นภาพนกทั้งหมด อาจคิดว่าเป็นนกประเภทเดียวกัน เจาะจงพืชพรรณ สัตว์และนกที่ปรากฏจำหลักไว้บนกำแพงในสวนพฤกษศาสตร์ Egyptian cuckoo, gull, lapwing, partridge, sea eagle, plover, พืชพรรณเช่น blue lily, dracunculus, chrysanthemum(?)  การเจาะจงภาพต่างๆที่จำหลักไว้ ต้องใช้ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์การอ่านภาพจารึกสมัยต่างๆของอีอิปต์และความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาในอีจิปต์ยุคนั้นเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ทำกันได้ตามลำพังความเข้าใจของคนๆหนึ่งคนเดียว เป็นความร่วมมือของผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านธรรมชาติวิทยา ฯลฯ


สองภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมจำหลักนูนบนกำแพงที่ Karnak ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของพืชพรรณและสัตว์ในอารยธรรมอีจิปต์โบราณ 

พืชพรรณสองต้นที่สำคัญที่สุดในเชิงสัญลักษณ์สำหรับอีจิปต์  คือต้นปาปีรุซ ทางซ้ายของภาพ  และต้นบัวสีฟ้าทางขวา. ปาปีรุซเป็นสัญลักษณ์ของ Lower Egypt (บนแผนที่คือภาคเหนือของประเทศบริเวณลุ่มน้ำบนที่ราบเดลต้าของแม่น้ำไนล)  และดอกบัวสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของ Upper Egypt (บนแผนที่คือภาคใต้ประเทศที่เป็นที่ราบสูงกว่า) ในราว 3000 ปีกว่าก่อนคริสต์กาล แฟโรคนที่หนึ่งรวมอีจิปต์ทั้งสองภาคเข้าด้วยกันเป็นประเทศหนึ่งเดียวกัน 
 Hapi เทพแห่งปลาและนก เทพแห่งน้ำหลากประจำปีของแม่น้ำไนล การท่วมทำให้น้ำนำปุ๋ยมาทับถมบนแผ่นดินทุกปีๆ  พอน้ำลดลง แผ่นดินเหมาะกับการเพาะปลูก จึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวอีจิปต์ ทำให้มีอาหารอุดมสมบูรณ์  ในภาพนี้ฮาปี้มีสองภาคเหนือและใต้ของอีจิปต์เข้าเป็นประเทศเดียวกัน  เทพฮาปี้ผูกต้นบัวทางซ้ายกับต้นปาปีรุซทางขวาเข้าด้วยกัน  สีกายน้ำเงินเข้มของเทพฮาปี้หมายถึงน้ำไนลที่เลี้ยงดูชีวิตคน (ภาพนี้ของ Jeff Dahl ทำไว้เมื่อวันที่ 11เดือนมกราคม ปี 2008 ปรากฏในวิกิพีเดียในหัวข้อ Hapi)
           พืชพรรณที่รู้จักและเจาะจงกันได้จากโลกอีจิปต์โบราณเช่น Cyperus papyrus  หรือต้นปาปีรุซซึ่งเป็นพืชที่นำมาใช้ทำกระดาษ  แต่ปาปีรุซยังใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง  เช่นนำมาทำเชือก เสื่อ ตะกร้า รองเท้าแตะและเก้าอี้.  เยื่อต้นปาปีรุซยังนำมาห่อดอกไม้ทำเป็นช่อดอกไม้ และยังนำมากินเป็นอาหารอีกด้วย 
         Safflower (Carthamus tinctorius) ดอกคำฝอย (มีหลายชนิดในสกุลนี้) มีสีเหลือง สีส้มและสีแดง มักนำมาสกัดเพื่อเอาสีไปใช้ย้อมผ้า  ผ้าห่อมัมมี่บางทีก็เป็นผ้าสีสวยงาม  คนพบเมล็ดของดอกไม้นี้ในหมู่ของที่นำไปเซ่นไหว้เทพเจ้า  ดอกคำฝอยถูกนำมาเย็บติดบนกระดาษปาปีรุซและผ้า แล้วใช้หุ้มห่อมัมมี หรือทำเป็นพวงมาลัยดอกคำฝอย ดังที่พบในสุสสานของแฟโร Tutankhamun  หรือนำมาย้อมผ้าสีๆ.  น้ำมันดอกคำฝอยนั้น ยังนำมาใช้ทาลดอาการบวมจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อยเช่นจากแมงป่อง 
           ในสุสานอีจิปต์มักพบตะกร้าบรรจุผลแบรรี (Juniperus communis)  ทั้งนี้เพราะในกระบวนการทำมัมมี่  ชาวอีจิปต์ใช้น้ำมันแบรรีมาทาตัวผู้ตาย  นอกจากนี้ยังนำมาผสมในการผลิตเครื่องสำอางหรือปรุงเป็นยาใช้รักษาโรคปวดศีรษะ โรคหืดหอบ โรคอาหารไม่ย่อยและโรคปวดเมื่อยตามข้อ
          ชาวอิจิปต์ใช้กระเทียม (Allium sativum) ทั้งในการปรุงอาหารและใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคปรสิต(parasites) โรคทางลมหายใจ โรคกระเพาะหรือรักษาความอ่อนเพลีย  กระเทียมปรากฏใช้ในอาหารหลายชนิดในครัวอีจิปต์  มีผู้คาดคะเนไว้ว่าชาวอีจิปต์ใช้กระเทียมเลี้ยงดูทาสและคนงานที่สร้างปิรามิดที่เมือง Giza นั้นประมาณ 680,000 กิโลกรัม  ดูเหมือนว่าชาวอีจิปต์เห็นคุณค่าของมันมากจนจำหลักไว้เป็นหลักฐานในสุสานหลายแห่งรวมทั้งในสุสานของแฟโร Tutankhamun
            ดอกป๊อบปี้ Papaver somniferum (opium poppy)  เคยเป็นยาแก้ปวดประเภทแรกของคนและยังใช้ในครัว เช่นผสมลงในแป้งทำขนมปังให้รสแปลกไปอีกแบบ  ส่วนเมล็ดละหุ่งนั้น ชาวอีจิปต์นำมาสกัดเป็นน้ำมันละหุ่ง ใช้จุดไฟตะเกียงหรือทาตัวและรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร อาการท้องผูก โรคผิวหนัง ใช้กำจัดเหาและช่วยปรับสภาพผมให้ดีขึ้น  ในจารึกการแพทย์ Ebers Papyrus ได้กล่าวถึงเมล็ดละหุ่ง สารสกัดจากเมล็ดและโดยเฉพาะน้ำมันละหุ่ง 
            บนตัวมัมมี่ที่ห่อหุ้มด้วยเครื่องหอมที่เกี่ยวติดกันเป็นพวงเป็นผืนคลุมทั้งตัว มีดอกไม้หลายชนิดที่ยังไม่มีใครเจาะจงได้ว่าเป็นดอกไม้อะไรบ้าง
            ดอกไม้ที่ดูเหมือนจะสำคัญที่สุดที่ปรากฏเสมอทั้งที่จำหลักไว้บนกำแพงหรือที่วาดไว้บนจารึกปาปีรุซควบคู่ไปกับภาพผู้หญิงส่วนใหญ่ คือดอก blue water lily (ที่สรุปกันง่ายๆว่าคือ Blue lotus หรือดอกบัวสีฟ้า บางทีก็เรียกว่า Lady lily of the Nile มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea caerulea) เป็นดอกไม้ประจำของเทพ Nefertem ผู้เป็นเทพแห่งเครื่องหอม  อีจิปต์โบราณยกดอกบัวสีฟ้าเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์  นอกจากจะมีกลิ่นหอมชื่นใจแล้ว ยังถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล ของความอุดมสมบูรณ์และของเพศสัมพันธ์ ในที่สุดได้กลายเป็นสิ่งเร้าความต้องการทางเพศอย่างหนึ่ง (aphrodisiac)  หลายคนหลายตำรากล่าวถึงคุณสมบัติพิเศษของดอกบัวสีฟ้านี้ ว่ามีฤทธิ์ต่อระบบประสาท  สาร apomorphine, สาร aporphine กับสาร nuciferine ที่มีในดอกบัวสีฟ้า ช่วยหยุดอาการชักเกรงหรือกระตุก (antispasmodic) ช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้ม และช่วยให้นอนหลับ  เขียนกันมาว่า หากเอาดอกบัวไปแช่ในไวน์ หลังจากกระบวนการหมักเสร็จสิ้นลง ก็ดื่มไวน์นั้นได้ เหมือนยาคลายเครียด ที่อาจทำให้เกิดความมึนเมาหรือเคลิบเคลิ้มได้  อย่างไรก็ดี ไม่มีงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน จึงยังคงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานและความศรัทธาในสรรพคุณของมันเท่านั้น นอกจากนี้มีการสกัดเป็นผงดอกบัว ที่ละลายได้ทันทีในแอลกอฮอลและในน้ำกลั่นหรือน้ำบริสุทธิ์ หรือนำดอกไม้นี้มาสกัดเป็นน้ำมันระเหย  ผงดอกบัวและน้ำมันระเหยจากดอกไม้นี้ยังคงทำกันอยู่ แต่จะนำไปบริโภคเป็นยาได้ผลหรือไม่นั้น ไม่มีหลักฐานยืนยัน  สำรวจจากอินเตอเน็ต ดูเหมือนว่ามีการทำขายอย่างต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ 
ภาพดอกบัวสีฟ้าจากลุ่มน้ำไนล 


และภาพวาดของดอกบัวสีฟ้าดังกล่าว (From Hubhomedesign.com)

ในภาพบนนี้เทพ Nefertem มอบดอกบัวสีฟ้าให้แก่เทพ Thoth (เทพแห่งความรู้) เพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยของร่างกายที่กำลังวังชาถดถอยลงไปเรื่อยๆเพราะวัยชราแล้ว  (ชวนให้คำนึงถึงความจริงของสังคมปัจจุบันที่มักคิดว่า ความรู้ของคนแก่นั้นยังใช้การได้หรือไม่ คนแก่ตามทันเทคโนโลยีใหม่ๆได้หรือไม่ฯลฯ)  การดมกลิ่นดอกบัวอาจช่วยผ่อนคลายได้บ้าง  เทพที่อยู่ขวาสุดคือ เทพสตรี Isis เทพสตรีแห่งท้องฟ้า ราชินีในหมู่ดาว (ภาพจาก http://ancientstandard.com/2013/03/22/getting-high-in-ancient-egypt-blue-lotus/ )
ภาพข้างบนนี้ดูเหมือนจะยืนยันความชอบของชาวอีจิปต์โบราณ  สตรีทุกคนมีโคนสูงบนกลางกระหม่อม  บางคนเสียบดอกบัวเข้าไปในโคนนั้นด้วย  เช่นผู้หญิงที่ดูสูงศักดิ์ด้านซ้าย นำดอกบัวสีฟ้าเสียบเป็นช่อดอกไม้มวยผมบนศีรษะ ทางขวาของภาพ ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังดมดอกบัว อีกคนหนึ่งส่งห่อเครื่องหอม (ลักษณะเป็นก้อนกลมๆ ที่ทำให้นึกถึงถุงผ้าห่อเครื่องสมุนไพรที่ใช้กันในกระบวนการนวดตัวตามสปาของไทย) ให้คนริมสุดดม  คนนี้ก็มีดอกบัวปักบนมวยตรงกลางกระหม่อม  มืออีกข้างของเธอยื่นห่อเครื่องหอมต่อไปให้คนที่นั่งข้างๆเธอไปทางขวา(ออกนอกภาพ) 
         โคนที่เหมือนมวยผมนั้น (เราจะเรียกว่า โคนหอม) หลายคนบอกว่า สิ่งประดิษฐ์รูปโคนภายในบรรจุเครื่องหอม  ทำจาก wax หรือไขมันสัตว์ เอามาติดบนกลางกระหม่อม  คิดกันว่าเป็นของใช้ประจำตัวผู้หญิงในยุคนั้นและก็มิได้เป็นของใช้พิเศษสำหรับชนชั้นสูง เพราะหญิงสามัญชนก็มีเช่นกัน ติดบนกระหม่อมผู้ชายก็มีเช่นกัน


ในภาพบนนี้ มีโคนหอมบนกลางกระหม่อมทุกคน คนที่สวมเสื้อมีแขนเป็นผู้ชาย
แต่ไม่มีหลักฐานเอกสารใดอธิบายชัดเจนว่าคืออะไรแน่  ติดไปบนกลางกระหม่อมได้อย่างไร โดนความร้อน wax หรือไขมันก็ละลาย  แล้วมันจะตั้งอยู่ได้หรือเมื่อเคลื่อนไหว (อ่านการทดลองทำโคนหอมได้ที่ www.egyking.info )   อีกหลายคนคิดว่า ภาพทั้งหลายที่เห็นซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นภาพวาดหรือภาพจำหลักบนกำแพงภายในสุสานเกือบทั้งสิ้น อาจเป็นเครื่องหมายบอกว่า คนนั้น “หอม” หรือ “มีเครื่องหอม”  หรือบอกว่า “คนนั้นตายแล้ว” ก็ได้  ถ้าพิจารณาจากภาพครอบครัวที่วาดไว้บนแผ่นปาปีรุซ ดังภาพข้างล่างนี้  จะเห็นว่า ไม่มีใครมีโคนหอมติดบนกระหม่อมเลย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  จึงอาจเป็นข้อมูลของฝ่ายที่คิดว่า โคนหอมอาจเป็นสัญลักษณ์ของการเจาะจงว่า คนนั้นตายแล้ว

ภาพบนนี้ คนที่สองจากขวายืนตรงทื่อ หุ้มห่อด้วยผ้าขาว น่าจะเป็นคนตาย มีโคนหอมกลางกระหม่อม มีดอกบัวสีฟ้าเสียบไปบนโคนหอมนั้น  ผู้หญิงสองคนเหมือนกำลังตีอกชกหัวตัวเอง แสดงความเสร้าเสียใจ สามคนทางซ้าย กำลังเตรียมเครื่องหอมเพื่อชโลมตัว เห็นโต๊ะด้านซ้ายภาพ มีถ้วยบรรจุอะไรเต็ม  ส่วนเทพ Anubis (เทพผู้คุ้มครองคนตายและเป็นผู้อบศพให้หอม) ทางขวามือกำลังทำหน้าที่ห่อศพในกระบวนทำมัมมี่  แผ่นสูงตั้งปลายบนโค้ง น่าจะจารึกเหตุการณ์ในชีวิตของผู้ตาย  ถ้าอ่านภาพบนนี้ถูกต้อง โคนหอมน่าจะเป็นสัญลักษณ์ในภาษาภาพของอีจิปต์โบราณเพื่อสื่อว่าผู้นั้นตายแล้ว
ชาวอีจิปต์โบราณใช้ดอกบัวสีฟ้าในทุกโอกาส ด้านขวาของภาพดูเหมือนว่าผู้หญิงมีโคนหอมเหนือศีรษะ ห่มขาวกำลังเทอะไรลงในกระปุกที่เห็นเรียงรายอยู่ มีช่อดอกบัวช่อใหญ่  มีห่อเครื่องหอมกลมๆอยู่ด้วย ถ้าเธอตายแล้วก็คงไม่ทำพิธีอะไรแล้ว หรือจัดการแยกแยะเครื่องหอมลงในกระปุกดังภาพ


ภาพบนนี้เห็นคนโทหรือเหยือกขนาดใหญ่ท่ามกลางมวลใบไม้  ทุกคนมีโคนหอมกลางกระหม่อม ผู้หญิงคนซ้ายสุดมือขวาถือดอกบัวสีฟ้า มือซ้ายถือพวงมาลัยดอกไม้ (ดอกคำฝอยหรือเปล่า?)  ดูเหมือนว่า ทุกคนมีพวงมาลัยดอกไม้สวมบนศีรษะ ทั้งสามเป็นคนตายแล้วหรือ?  เรื่องโคนหอมที่กล่าวมานั้น จึงยังเป็นเรื่องที่สันนิษฐานกันเท่านั้น
ภาพบนนี้เห็นบนโต๊ะ เต็มไปด้วยกระปุก ขวดหรือโถใส่เครื่องหอม ที่นำไปเซ่นไหว้เทพสตรี Isis
รูปแบบดอกบัวสีฟ้าที่คุ้นเคยกันในศิลปะอีจิปต์โบราณ

            คนอีจิปต์นำสารหอมเหล่านี้มาใช้อย่างไร?  มีสองวิธีคือ การเผาหรือรมควัน และการเอามาทาหรือชโลมตัว  วิธีการแรกคือการนำไม้  พืชสมุนไพร ผลไม้หรือยางไม้ มาวางบนกองไฟ (หรือเครื่องทำความร้อนแบบเตา) ให้ความร้อนกระตุ้นสารเหล่านั้นให้คลายกลิ่นออกมา  วิธีการเผาเอาควันหอมแบบนี้ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป  วัดวิหารก็อนุญาตให้ทำได้ภายในบริเวณวัดหรือในวัดเลย  การเผาเอาควันหอมนี้ ทวีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อสารที่ต้องการสกัดกลิ่น เพิ่มประเภทและจำนวนขึ้นที่รวมถึงสารสกัดจากสัตว์ ดังที่จารึกไว้บนกำแพงที่วัดเมือง Edfu หรือที่วัดเมือง Philae  ส่วนการทาครีมหรือชโลมตัวด้วยน้ำมันระเหยนั้น ก็ทาลงบนผิวหนังที่สะอาดหรือตรงบริเวณบาดแผล แล้วแต่ว่าใช้เพื่อประทินผิวหรือเพื่อรักษาแผล  สารหอมๆบางชนิดอาจมาจากการผสมกับสารอื่นๆที่ถูกบดปนลงไป หรือถูกมัดต้มมาด้วยกันเป็นเวลานานกว่าจะเป็นสารหอมขั้นสุดท้าย  
            ในยุคนั้นชาวอีจิปต์(และชาวโลกในยุคนั้น) ยังไม่รู้จักการกลั่น จึงยังไม่รู้จักแอลกอฮอลบริสุทธิ์ และใช้ไขมันจากพืชหรือจากสัตว์แทน  เพราะไขมันซึมซับกลิ่นต่างๆได้ดี แล้วจึงสกัดกลิ่นจากไขมันอีกทีหนึ่ง  หลังจากนั้นก็อาจเติมสีหรือสารอื่นเพื่อเพิ่มสรรพคุณในการรักษาเยียวยา (ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการผลิตเครื่องหอมนั้น)  สารสกัดอาจเป็นน้ำมัน น้ำมันระเหย น้ำมันหอม หรือเป็นเหล้าหมักจากผลไม้หรือจากสมุนไพร  เป็นแบบสีผึ้งหรือยาหม่อง  เป็นครีม เป็นกำยาน เป็นต้น.  สารหอมที่เป็นครีมถูกเก็บไว้อย่างดีในกระปุกหรือในแจกันก้นบานคอแคบเล็ก ที่ทำมาจากหินอลาบาสเตอร์ (alabaster/ albâtre, เศวตศิลา)  บางทีก็ทำมาจากหินอื่นหรือเซรามิคหรือดินเผา  รูปลักษณะของขวดหรือกระปุกมีต่างๆกัน เป็นรูปสัตว์ก็มี 
            ภาพตัวอย่างที่นำมาให้ดู นำมาจากเว็ปของ google search ในหัวข้อของ ancient Egyptian perfume bottles นอกจากที่ระบุเจาะจงเป็นอย่างอื่น (บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องหอมหรือเหล้ายังคงยึดรูปแบบอิสระในการออกแบบ เป็นรูปสัตว์หรือรูปลักษณ์แบบต่างๆ แล้วแต่ผู้คิดทำ)  หลังจากนั้นก็เป็นยุคของเครื่องแก้วที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้  สรุปได้คร่าวๆว่า ชาวอีจิปต์น่าจะเป็นชนชาติแรกที่รู้จักใช้เครื่องหอมอย่างเป็นพิธีรีตองหรืออย่างรู้วิชา (จนกว่าจะค้นพบข้อมูลที่เก่าแก่กว่ายุคอีจิปต์)   อีจิปต์จึงเป็นอู่เครื่องหอมของโลกโบราณ ส่งเครื่องหอมออกไปยังดินแดนอื่นแล้วตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง

ขวดหรือกระปุกสวยหรูในภาพขวามือนั้น ระบุไว้ว่าเป็นกระปุกน้ำหอมของแฟโร Tutankhamun
ทำจากหิน alabaster
กล่องรวมกระปุกน้ำหอม
และกระปุกเครื่องหอม เครื่องประทินผิว(เครื่องสำอาง)แบบต่างๆในภาพข้างล่างนี้
ทำจากหิน alabaster 
ผง Kohl สำหรับทาตาของชาวอีจิปต์ก็บรรจุลงในกระปุกแบบนี้

Kohl [โคลฺ] ทำมาจากการบดผง stibnite (ที่มีสูตรว่า Sb2S3) ซึ่งเป็นส่วนผสมของเกลือแร่หลายชนิด ใช้ทารอบๆตาเหมือน eyeliner และหรือ mascara เพิ่มความคมเข้มให้แก่ดวงตา  เราคงคุ้นเคยกับภาพของดวงตาดำยาวแบบอีจิปต์ ที่เหมือนเครื่องขลังแบบหนึ่ง ป้องกันตาร้ายของมารร้าย (the evil eye) การทา kohl หวังกันว่าเพิ่มพลังให้สายตา อำนาจในการเห็น(และหยั่งรู้ความจริงจากสิ่งที่เห็น)  การแต่งตาไม่ใช่เพียงเพื่อความงาม แต่เป็นสิ่งจำเป็นเลยทีเดียว เพราะแสงแดดที่จ้ามาก แถมยังบนพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายหรือแห้งแล้งมากด้วย.   Kohl ใช้กันแพร่หลายในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันตกเป็นต้น  ในอินเดียแม่มักทา kohl บนตาลูกน้อยหลังจากเกิดเลยทีเดียว  
          ดวงตาสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะในอารยธรรมอีจิปต์  ดูภาพข้างล่างนี้ ที่เป็นแบบฉบับที่เรียกกันว่า Eye of Horus หรือ All seeing eye จากชื่อในภาษาอีจิปต์ว่า Wadjet หรือ Ujat ที่แปลว่า “Whole One”  เชื่อกันว่า ตาของเทพ Horus คือดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  ต่อมาถูกโยงไปข้างดวงอาทิตย์มากกว่า จึงมีชื่อเรียกตาแบบนี้ว่าเป็น Eye of Ra ไปด้วย ในที่สุด ภาพลักษณ์ของดวงตายังโยงไปถึงเทพอื่นๆอีกหลายองค์ในเทพปกรณัมอีจิปต์  รายละเอียดเกี่ยวกับดวงตาอีจิปต์นี้ อ่านได้ใน http://www.ancientegyptonline.co.uk/eye.html
ถ้าอ่านตามคำเฉลยความหมายของลายเส้นที่ประกอบกันเป็นตาอีจิปต์นี้ เท่ากับรวมประสาทสัมผัสทั้งห้าและสติปัญญาเข้าไปด้วย นับว่า“ครอบจักรวาล” เลย ภาพจาก depositphotos.com ลิขสิทธิ์ของ Vextor by Eiream
ถ้วยเล็กๆปั้นจากดินดำให้มีคอคอดเล็กๆมุมหนึ่ง ใช้บรรจุน้ำมันหอม
มีไส้โผล่ออกตรงปลายให้จุดไฟ ความร้อนทำให้กลิ่นหอมกระจายออก

กลุ่มคนเป็นขบวน ถือ แบก หรือยกสิ่งต่างๆไปที่หนึ่ง ไปร่วมพิธีอะไรพิธีหนึ่ง
คนแรกดูเหมือนมีขวดสีฟ้าสวยสองขวด มีรองเท้าสานห้อยอยู่ใต้โต๊ะเล็กที่เขายกอยู่
คนที่สองยกขวดเครื่องหอมสี่ขวด คนที่สามยกเก้าอี้และคนอื่นๆข้างหลังยกหีบสมบัติ(?) ทูนบนศีรษะ
ภาพจำหลักบนกำแพง เห็นคนยกขวดเครื่องหอมรูปทรงแบบแจกันดอกไม้ 
ตอนบนของแจกันมีภาพดอกบัวสีฟ้าวางอยู่ด้วย
Temple of  Horus, Edfu
ตัวอย่างจากภาพจารึกของอีจิปต์โบราณ คงจะพอทำให้เราเห็นความสำคัญและบทบาทของดอกบัวสีฟ้า และหากดูต่อมาถึงยุคปัจจุบันในโลกของการผลิตน้ำหอมแล้ว ก็ยังมีน้ำหอมที่เน้นหรือโยงไปถึงดอกบัวสีฟ้าอยู่เสมอ ที่รู้จักกันดีคือน้ำหอมแบรนด์ที่ชื่อว่า  Parfums Edouardo (ที่ Franz Prochaska สถาปนาขึ้นที่กรุง Prague และต่อมาย้ายไปตั้งที่กรุงเวียนนาในปี 1847 ลงทะเบียนชื่อเป็นผู้ผลิตน้ำหอมในปี 1927)

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอีจิปต์โบราณต่อไปได้ที่

ขวดน้ำหอม ผลิตโดย Parfums Edouardo ในปี 1927
ทำจากคริสตัล Baccarat [บั๊กการา] เนื้อใสชั้นดีพร้อมแบบดีไซนและแต่งสีฟ้า
เลียนแบบขวดน้ำหอมจากอีจิปต์ในสมัยก่อน 
จุกขวดเจาะจงชัดเจนว่าเป็นดอกบัวสีฟ้าอันลือชื่อจากลุ่มแม่น้ำไนลในอีจิปต์
(ภาพถ่ายจาก Rago Arts)

อีกตัวอย่างหนึ่งจากผลิตภัณฑ์น้ำหอมชื่อ Nuit Divine and Lilas de Paques (ค่ำคืนอันดื่มด่ำเหมือนอยู่ในแดนสวรรค์กับดอก lilac [ไลเลิค] ในเทศกาลอีสเตอร์)  ผลิตโดย Parfums Edouardo ในปี 1928 ทำจากคริสตัล Baccarat และตกแต่งด้วยดอกบัวเช่นกัน (ภาพของ Lombrail-Teucquam)  เพราะฉะนั้นต้นศตวรรษที่ 20  ค่านิยมเกี่ยวกับน้ำหอมและเครื่องหอมจากอารยธรรมอีจิปต์ยังคงติดตลาดอยู่เสมอ 
 
         เมื่อจักรวรรดิโรมัน (Octavianus Augustus, 63 BCE-14AD., จักรพรรดิผู้ก่อตั้งจักรววรดิโรมัน) ผนึกอีจิปต์เข้าเป็นดินแดนในอาณานิคม  ชาวโรมันได้ยึดเส้นทางค้าขายในตะวันออกกลางด้วย ทำให้กรุงโรมมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากมาย ที่กระตุ้นให้คนใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย ตามที่เล่ากันมาว่า ในงานเลี้ยงต่างๆ (banquets) ของจักรพรรดิเนโร  มีอาหารดีๆเต็มจนล้นโต๊ะ เหนือขึ้นไปบนเพดาน มีละอองสารหอมวิเศษที่โปรยปรายลงมาอบอวลไปทั่วห้อง  มีนกพิราบที่ปีกอบเครื่องหอมไว้ โบยบินไปมาเหนือผู้ร่วมวงในงานเลี้ยงนั้นพร้อมกลิ่นหอมสดชื่นที่แผ่ไปทั่วทั้งบริเวณ (การขุดค้นทางโบราณคดีได้ค้นพบห้องโถงที่เคยใช้จัดงานเลี้ยงของเนโร เป็นอาคารที่เรียกว่า Domus Aurea (Maison Dorée) ที่ตั้งอยู่บนเขา Palatin ตามที่เล่าลือกันมาว่า จากห้องโถงในวังที่นั่น มองเห็นภูเขาลูกอื่นๆที่ล้อมรอบกรุงโรมได้  เชื่อกันว่าเป็นห้องที่สามารถหมุนไปรอบๆตัวมัน (cenatio rotunda) 360 องศา หมุนตามการหมุนของโลกทั้งกลางวันและกลางคืน  ในศตวรรษที่ 1 ยุคเนโรนั้น นับเป็นนวตกรรมสุดยอดของวิศวกรชาวโรมัน  คณะนักโบราณคดีเพิ่งค้นพบเมื่อปี 2009 นี่เอง



เครื่องปั้นดินเผาในรูปของหัวคน เป็นกระปุกน้ำหอม พบในสุสาน Kamiros ที่ Rhodes แถบ
ตะวันออกของกรีซน่าจะมีอายุอยู่ในราว 640-630 ปีก่อนคริสตกาล (ที่มาจาก British Museum) 

ตัวอย่างกระปุกน้ำมันหอมสำหรับชโลมและนวดตัวนักกีฬาในกรีซโบราณ (Corinthian aryballos) 
ภาพจาก AncientPoint.com

            ชาวกรีกนำเครื่องหอมแบบใหม่ๆกลับจากการเดินเรือสำรวจด้วยเสมอ  ชาวโรมันก็รับค่านิยมเรื่องเครื่องหอมจากอีจิปต์มาเต็มที่ เชื่อและยืนยันว่าน้ำหอมหรือเครื่องหอมต่างๆนั้นมีสรรพคุณในการเยียวยารักษาโรค   การรุกรานของชนเผ่าอนารยธรรม (Babarian invasions เป็นคำที่นักประวัติศาสตร์ใช้  คำนี้มิได้หมายถึงชนเผ่าป่าเถื่อน บ้าเลือดแต่อย่างไร แต่หมายถึงชนเผ่าที่ยังมีวิถีชีวิตที่ขาดความประณีตละเอียดอ่อนในศิลปะ และใช้ภาษาที่พวกโรมันไม่เข้าใจ คำ barbarian จึงใช้เกินความเป็นจริงไปมาก) ที่เข้ารุกรานจักรวรรดิโรมันในต้นคริสตกาลนั้นเช่น ชาว Francs (ชาวฟร็องค์ เป็นบรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศส), ชาว Goths (ชนเผ่าเยอเมนิกที่แบ่งเป็นพวก Visigoths และพวก Ostrogoths), ชาว Saxons (ก็เป็นอีกชนเผ่าเยอเมนิกที่อาศัยอยู่แถบฝั่งทะเล Baltic-บอลติก), ชาว Alamans (หรือ Alamanni หรือ Swabians ชนเผ่าเยอเมนิกที่อาศัยอยู่แถบตอนบนของแม่น้ำไรน) เป็นต้น  ทั้งหมดนี้เข้าสู่จักรวรรดิโรมันแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่สาม  จักรพรรดิโรมันก็มิได้รังเกียจเดียดฉันท์และยังจ้างไว้เป็นทหารในกองทัพ เพราะชาวโรมันเองเบื่อสงครามและไม่อยากเป็นทหาร แต่ก็ยังต่อสู้กับกองกำลังทหารต่างชาติอื่นๆที่เข้ารุกรานจักรวรรดิโรมันมากขึ้นๆ ทำให้โรมต้องปล่อยดินแดนไปให้พวกชนเผ่าเยอเมนิค  ชนเผ่าเยอเมนิคเข้มแข็งผนึกกำลัง ตั้งตนเป็นอาณาจักรอิสระของพวกเขาเองภายในจักรวรรดิโรมัน และมีส่วนเร่งความล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน  การรุกรานและการแข็งขืนต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา มีส่วนเร่งการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน 

          เมื่อโลกอีจิปต์โบราณเสื่อมลง ผู้ที่มารับช่วงในเรื่องน้ำหอมนั้น คือโลกอิสลามมากกว่าชนชาติอื่นใด  ชาวอาหรับและชาวเปอเชียได้พัฒนาความรู้เรื่องเครื่องหอมอย่างมากมาย  พวกเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชสมุนไพร เครื่องเทศต่างๆ และสิ่งประดิษฐ์สุดยอดที่นำการผลิตเครื่องหอมก้าวกระโดดออกไปไกล คือการเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องกลั่น alembic (หรือ alembic หรือ alambique)และพัฒนาระบบการกลั่นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  ปัจจุบันนี้การสร้างสรรค์และการผลิตเครื่องหอมนั้น กลายเป็นศิลปะประเภทหนึ่งเลยทีเดียว  โลกตะวันตกจะไม่รู้เรื่องน้ำหอมอะไรเลยหากไม่มีพวกอาหรับมาเป็นผู้สืบทอดและเป็นสะพานเชื่อมโลกโบราณกับโลกสมัยใหม่  น้ำหอมเป็นขวดๆในบริบทที่เรานึกถึงทันทีนั้น จึงเริ่มต้นในตะวันออกกลางก่อนที่ใดในยุโรป 


alembic (จากคำเดิมในภาษาอาหรับ) รุ่นแรกดังปรากฏในจิตรกรรมน้อยยุคกลาง
ภาพข้างบนนี้ เห็นรูปแบบของ alembic ที่พัฒนาต่อๆมา 

ภาพจากหนังสือเคมีในปี 1606 (ภาพจากวิกิพีเดียในหัวข้อเรื่อง alembic)


ภาพสเก็ตช์กระบวนการกลั่นหรือสกัดน้ำหอม
 
ภาพเครื่องกลั่นขนาดใหญ่ที่ Chalvignac Prulho Distillation
ในจังหวัด Charente ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส

บันทึกความทึ่งจากการไปสัมผัสอีจิปต์ ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็อกวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘.



สนใจอยากรู้เรื่องอื่นๆ เชิญเข้าไปเลือกอ่านได้ที่นี่ >>     


[1]  สามสิบศตวรรษต่อมาจากยุคของแฟโร Hatshepsut, Sir Joseph Bank (1743-1820) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้ออกเดินทางไปกับ Captain James Cook ครั้งแรกระหว่างปี 1768-1771 ด้วยจุดประสงค์ที่คล้ายกันคือการไปสำรวจพืชพรรณในดินแดนอื่นๆของโลก ที่ทำให้โลกตะวันตกตื่นตัวเกี่ยวกับความไพศาลและอุดมสมบูรณ์ของดินแดนต่างๆบนโลกเรานี้ ที่(น่าเศร้าใจว่า)นำไปสู่การล่าอาณานิคมในเวลาต่อมา เพราะเห็นประโยชน์และคุณค่าทางการค้าของพืชพรรณและสัตว์ต่างๆ  แม้ว่าด้านหนึ่งได้ไปส่งเสริมการเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยาอย่างกว้างขวางก็ตาม

1 comment:

  1. AnonymousJuly 14, 2015

    I did not know much about the ancient Egyptian culture beyond the famous King Tut (and the mummies). I never knew that blue lilies can be traced back to the Egyptian era and that these flowers played significant roles in their life. I had seen them in pictures of ancient stone carvings and paintings but always wondered what those flowers were. Now I know!

    By the way the juniper berries that you mentioned are still widely used in drinks today (gin) and also as a spice in cooking. I did not know that it was used in perfume. That's a new knowledge to me too. Thank you, Cho, for another very interesting and informative article.

    Paew

    ReplyDelete