Tuesday, 14 July 2015

ฝรั่งเศสบนเส้นทางสู่เอกราชและประชาธิปไตย - Vive la Résistance

เช้าวันนี้ (18 June 2015) กำลังเพลินๆกับความงามของสรรพชีวิตในโลกตามที่ได้เห็นจากคลิปภาพถ่ายของช่างภาพนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส หูแว่วได้ยินเสียงดนตรีจากคอมพิวเตอร์ที่เปิดทิ้งไว้ เป็นรายการ Télématin.  เสียงดนตรีและวิธีการร้องมีจังหวะกระตุกใจ มันทำให้หวั่นๆกลัวๆขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก เหมือนกำลังฟังประกาศคณะปฏิวัติ หรือฟังข่าวในสถานการณ์วิกฤตยังไงยังงั้น 
เอ มันดนตรีอะไรนะ เลยต้องหยุดทุกอย่างเพื่อหาให้เจอว่า เพลงจังหวะดังกล่าวนั้นคืออะไร
            ได้ความว่า วันนี้ วันที่ 18 มิถุนายน เป็นวันรำลึกถึงนายพลเดอโกล (Charles de Gaulle) กับหน่วยนักสู้ผู้กล้าตายชาวฝรั่งเศสที่รวมกำลังกันเป็นกองกำลังต่อต้านกองทัพเยอรมนีที่เข้ายึดประเทศฝรั่งเศสและกรุงปารีสในสงครามโลกครั้งที่สอง  รัฐบาลฝรั่งเศสของ Pétain [เปแต็ง] (ที่หลายคนประนามว่าเป็นทรราช)  ไปตั้งศูนย์บัญชาการที่เมือง Vichy [วิชี] และเจรจาต่อลองด้วยการให้ความร่วมมือกับฝ่ายเยอรมนีที่ตั้งศูนย์บัญชาการที่กรุงปารีสแล้ว เพื่อยุติการต่อสู้ เพื่อยุติสงครามบนแผ่นดินฝรั่งเศส  ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการยอมจำนนต่อเยอรมนี หลายคนลี้ภัยไปอยู่บนเกาะอังกฤษเช่นนายพลเดอโกล และไปตั้งรวมกำลังกันที่นั่น
            วันที่ 18 มิถุนายนปี 1940 เดอโกลได้อาศัยการสื่อสารทางวิทยุจากสถานี BBC ที่กรุงลอนดอน ติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เชิญชวนนายทหารและพลทหารฝรั่งเศสที่อยู่บนเกาะอังกฤษหรือที่กำลังจะข้ามไปเกาะอังกฤษ ให้นำอาวุธติดตัวไปหรือหากไม่มีอาวุธก็ไม่เป็นไร เดอโกลยังเจาะจงเชิญชวนวิศวกร นายช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญในการผลิตอาวุธสงครามที่อยู่บนเกาะอังกฤษหรือที่กำลังจะไปเกาะอังกฤษ ทั้งหมดขอให้ไปติดต่อกับเดอโกลให้เร็วที่สุด เพื่อวางแผนการกู้ประเทศต่อไป  ถ้อยแถลงของนายพลเดอโกลจบลงด้วยประโยคที่ว่า
« Quoiqu’il arrive, la flame de la Résistance française ne doit pas s’éteindre, et ne s’éteindra pas¨ »
“ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เปลวไฟที่ลุกโชนของขบวนการต่อต้านของชาวฝรั่งเศสจะต้องไม่ดับและจะไม่มีวันดับ ”  Charles de Gaulle 18 Juin 1940
            ถ้อยแถลงของเดอโกลฉบับนี้ออกอากาศเมื่อเวลา 22 นาฬิกาวันที่ 18 มิถุนายนปี 1940  และนำออกอากาศอีกครั้งหนึ่งในเช้าวันรุ่งขึ้นเวลา 16 นาฬิกา  ณวันเวลานั้น ยังไม่มีใครฟังถ้อยแถลงของเดอโกลฉบับนี้มากนัก  จึงมีการนำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต่างๆที่ยังเป็นอิสระอยู่(ไม่ถูกฝ่ายเยอรมนีสั่งปิด) ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของฝรั่งเศส ในกรุงลอนดอน ก็มีการพิมพ์เป็นใบปลิวติดตามที่ต่างๆบนถนนทุกสาย  ในที่สุดถ้อยแถลงของเดอโกลฉบับนี้วันนั้น ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน  สิบวันต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน นายกรัฐมนตรี Winston Churchill แห่งสหราชอาณาจักรประกาศยอมรับเดอโกลว่าเป็นหัวหน้าของชาวฝรั่งเศสเสรี (chef des Français libres)  มีผู้หลบหนีออกไปอังกฤษเพื่อไปร่วมกับเดอโกลจำนวนมากขึ้นๆ  ซึ่งมิใช่เพียงชาวเมืองแต่มีทั้งทหาร ปัญญาชน นายช่าง คนงานทั้งหลายด้วย  เดอโกลได้อาศัยสถานีวิทยุของ BBC ติดต่อกับชาวฝรั่งเศสทั้งในอังกฤษและในฝรั่งเศสอีกบ่อยๆอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสทั้งหลายในเวลานั้น ตั้งอกตั้งใจฟังข่าวจากวิทยุ และเรียนรู้รหัสความหมายของสำนวนต่างๆที่ใช้เพื่อระบุให้ปฏิบัติการรุก การก่อการร้ายใต้ดินแบบต่างๆ เมื่อไร ที่ไหนเป็นต้น
            ปรากฏว่า ชาวอังกฤษและรัฐบาลพลัดถิ่นหลายชาติได้ส่งสายลับและช่างวิทยุกลับไปยังประเทศเดิมเพื่อเกณฑ์อาสาสมัครและฝึกพวกเขาให้ใช้วิทยุและเครื่องกลไกการสื่อสารให้เป็น  แม้ว่ามีผู้ถูกจับไปจำนวนมาก แต่ปฏิบัติการนี้ทำต่อเนื่องกันมา และมีส่วนกระจายข่าวสารสำคัญๆ เป็นเครือข่ายข้อมูล วันเวลาการปฏิบัติการที่ช่วยในการวางแผนยุทธศาสตร์และการต่อต้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงอย่างเหลือเชื่อในยามนั้นและทำกันอย่างต่อเนื่องไปจนสงครามยุติลง เพราะนอกจากเครือข่ายการก่อการร้ายแก่ฝ่ายศัตรูแล้ว ยังมีเครือข่ายสายสืบ เครือข่ายการจัดพาคนหนีภัย  (โดยเฉพาะนักบินที่เครื่องบินไปตกในแดนศัตรูเป็นต้น)
            วิทยุได้กลายเป็นอาวุธสำคัญเต็มพิกัดแบบหนึ่งในการต่อสู้  เป็นธรรมดาที่ในยามสงครามแบบนั้น  ประชาชนจิตตก หวั่นวิตกและเกรงกลัวกับการขู่เข็ญของฝ่ายศัตรู จำเป็นที่จะต้องมีวิธีบำรุงขวัญของประชาชน ประคับประคองและกระชับความกล้าหาญเพื่อต่อสู้ต่อไปในแต่ละวัน  การส่งข่าวด้วยระบบไร้สายของฝรั่งเศส (TSF ที่ย่อมาจาก Transmission sans fil ในแบบโทรเลข) เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในสงครามจิตวิทยาช่วงนั้น  ส่วนสถานีวิทยุ BBC ของอังกฤษ ก็เป็นสถานีที่มีผู้ฟังมากที่สุดในทุกประเทศในยุโรป รายการวิทยุต่างๆของประเทศสวิสเซอแลนด์ที่ประกาศตนเป็นกลางนั้น ก็มีคนติดตามกันมากเช่นกันเพราะไว้ใจในความเป็นกลางของประเทศ   และแม้ว่าฝ่ายศัตรูได้พยายามก่อกวนและรบกวนระบบคลื่นเสียงคลื่นไฟฟ้าในรายการต่างๆของ BBC อย่างไม่ลดละ รายการของ BBC ที่ออกเป็นทุกภาษาในยุโรปรวมทั้งภาษาเยอรมันและอิตาเลียน  มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะมีคำพูดเป็นรหัสลับและคำสั่งที่บ่งบอกให้ปฏิบัติการแก่ผู้ฟังจำนวนมาก แก่เครือข่ายกลุ่มต่อต้านทุกกลุ่ม  เป็นสารที่ฟังปกติไม่เข้าใจถึงเนื้อหาที่แฝงไว้ ต้องรู้จักถอดรหัสข้อมูลให้ออก ซึ่งฝ่ายศัตรูนั้นทำไม่ได้เสมอไป เป็นที่ปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ทหารเยอรมันกันมาก (ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสออกอากาศเป็นบทกลอนภาษาฝรั่งเศสบทหนึ่ง ทหารเยอรมันนอกจากจะไม่เข้าใจภาษาฝรั่งเศสแล้ว ยังไม่เข้าใจบทกลอนนั้นด้วย ซึ่งชาวฝรั่งเศสผู้รับสารที่รู้เคล็ด รู้จักเลือกอักษรของคำนั้นคำนี้ในบทกลอน มาประกอบกันสาร หรือเสียงคล้ายของคำใดในกลอน มาโยงไปถึงชื่อเมืองใดเป็นต้น  แล้วรวมกันเป็นเนื้อหาที่แฝงมากับกลอนบทนั้น ที่บอกให้ปฏิบัติการเรื่องนั้นเรื่องนี้  (ขอบอกว่าชื่นชมความคิดนี้มาก!)  ต้องบอกว่านายพลเดอโกลเป็นหนี้บุญคุณ BBC และชาวอังกฤษที่ได้ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูนกันในยามยาก จนนำไปสู่การกู้อิสรภาพคืนได้ในที่สุด  พูดกันตามความเป็นจริงแล้ว มีชาวฝรั่งเศสกี่คนที่รู้จักเดอโกล ที่เข้าถึงกลุ่มกู้ชาติของเขาอย่างแท้จริงแบบเคยสัมผัส เคยเห็น เคยทึ่งในบุคลิกภาพของเดอโกล  ก็เปล่าหรือมีน้อยมาก ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่รู้จักเขาจากเสียงที่ได้ยินจากวิทยุเท่านั้น เหมือนกับว่า ตัวตนของเดอโกลเองเป็นเพียงคลื่นเสียง  แต่ในยามคับขัน เหตุและปัจจัยทั้งหมดรวมกันเป็นปาฏิหาริย์ที่นำทางประชาชาติฝรั่งเศสไปสู่การหลุดพ้นจากศัตรูได้ในที่สุด  เกร็ดประวัติศาสตร์ยุคนี้ยังมีอีกมาก ผู้เขียนมิได้คิดจะเขียนเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ จึงขอจบแค่สั้นๆแบบนี้ ผู้สนใจอาจตามไปอ่านรายละเอียดอีกมากใน...            


ภาพนายพลเดอโกลอ่านถ้อยแถลงฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 1940
ที่สถานีวิทยุ BBC กรุงลอนดอน

สัญลักษณ์ที่ใช้เป็นเครื่องหมายของการต่อสู้ต่อต้านทหารเยอรมันในฝรั่งเศส คือไม้กางเขนที่มีแขนขวางสองชั้นซ้อนกัน แขนบนสั้นกว่า  ไม้กางเขนนี้มีชื่อเรียกกันว่า la Croix de Lorraine (Lorraine [ลอแรน] เป็นชื่อมณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ติดพรมแดนประเทศเยอรมนี)  ภาพไม้กางเขนแบบนี้ เชื่อกันว่าน่าจะมาจากภาพของพระเยซูบนไม้กางเขน และมีผู้ต้องการเยาะเย้ยถากถางพระเยซู ได้นำไม้อีกแผ่นไปตอกติดเหนือศีรษะพระเยซูพร้อมตัวอักษร INRI  ที่เป็นอักษรย่อของประโยคในภาษาละตินว่า  Iesva Nazarenvs Rex Iudaeorvm  ตรงกับประโยคในภาษาอังกฤษว่า Jesus of Nazareth, the King of the Jews เหมือนประชดว่า นี่หรือคือพระเยซูกษัตริย์ชาวยิว คนที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนแบบนี้หรือที่คนนับถือว่าเป็นกษัตริย์  


ในคริสต์ศิลป์จึงมีการนำไปเป็นแบบของไม้กางเขนด้วย และเป็นที่นิยมกันในตะวันออกกลาง  โดยเฉพาะเมื่อนักรบผู้ไปสงครามครูเสดมีเครื่องหมายไม้กางเขนแบบนี้ประดับและประทับลงบนโล่หรือเกราะ
ไม้กางเขนแบบนี้ปรากฏเข้ามาใช้ในฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 13 มาเป็นสัญลักษณ์รูปหนึ่งของราชตระกูลอ็องฌู  ฝรั่งเศสจึงเรียกว่าเป็นไม้กางเขนแบบอ็องฌู (la Croix d’Anjou)  ท่านดยุ๊คแห่งอ็องฌู (Duc d’Anjou, หลานพระเจ้าหลุยส์ที่สอง) ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นดยุ๊คแห่งลอแรนด้วย เพราะฉะนั้นไม้กางเขนอ็องฌูก็เปลี่ยนไปเรียกเป็นไม้กางเขนลอแรนด้วย 
          ข้ามศตวรรษผ่านมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เดอโกล (Charles de Gaulle) จัดผนึกกองกำลังกู้เอกราชของชาติเพื่อขับไล่ทหารเยอรมันออกจากแผ่นดินฝรั่งเศส  เดอโกลตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอน และเรียกประเทศฝรั่งเศสว่า  la France Libre  (ในความหมายของ “ฝรั่งเศสที่เป็นอิสระ หรือฝรั่งเศสเสรี” ให้ตรงข้ามกับฝรั่งเศสรัฐบาลของ Vichy [วิชี] ที่ไปร่วมมือกับฝ่ายเยอรมนีผู้เข้าไปรุกรานเอกราชของฝรั่งเศส) การประกาศตั้งกองกำลังกู้อิสรภาพของเดอโกลประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ มีทั้งชาวเมือง ชาวนาชาวไร่ นักศึกษา ปัญญาชนและนายทหารต่างๆเข้าไปร่วมอุดมการณ์อย่างลับๆ โดยยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มิได้ย้ายตามเดอโกลไปอยู่ที่อังกฤษหมด เพื่อปฏิบัติการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ให้ฝ่ายเยอรมนีเสียหายให้ได้มากที่สุด  
            เมื่อถึงขั้นนั้น  เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีธงสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสของกลุ่มกู้ชาติเพื่อแยกแยะกองทหารกองเรือของฝรั่งเศสฝ่ายนี้ ให้แตกต่างไปจากธงชาติสามสีที่รัฐบาล ทรราช ฝรั่งเศสใช้  ในที่สุดได้เลือกสัญลักษณ์ไม้กางเขนลอแรน และประกบติดลงบนแถบสีขาวบนธงชาติฝรั่งเศส (ดูภาพข้างบน) กลายเป็นธงของ la France Combattante (ประเทศฝรั่งเศสผู้ลุกขึ้นสู้ ที่รวมการต่อสู้กู้ชาติทั้งจากภายนอกประเทศและจากภายในประเทศ) เล่ากันว่าผู้ที่เสนอให้ใช้ไม้กางเขนลอแรนนั้นคือพลเรือโท le vice-admiral Emile Muselier (ผู้ได้รับแต่งตั้งจากเดอโกลให้เป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังทางน้ำและทางอากาศ) ครอบครัวเขามาจากแดนลอแรนอยู่แล้ว และเดอโกลเองในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็เคยมีเกียรติประวัติทางทหารในฐานะผู้บัญชาการกองทหารรถถังประจัญบานที่ 507 และประจำการอยู่แถวเมือง Metz ซึ่งก็เป็นเมืองหนึ่งในแดนลอแรนด้วย  ชื่อลอแรนจึงถูกใจรัฐบุรุษทั้งสอง  อีกประการหนึ่งเหมือนเป็นเคล็ดต้านกำลังของสัญลักษณ์สวัสดิกะ (swastika, la Croix Gammée) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายไปในมือของฮิตเลอร์  ไม้กางเขนลอแรนจึงเป็นการเลือกที่ดีที่สุด
            เมื่อมีการสร้างอนุสรณ์สถานเป็นเกียรติแก่นายพลเดอโกลที่ทุ่งเมือง Colombey-les-Deux-Églises  ในบริเวณอันกว้างใหญ่ เคยมีมุมหนึ่งที่เป็นที่พักอาศัยของเดอโกลในช่วงปี 1934  ต่อมามีสุสานของท่าน  มีอาคารยาวใหญ่ พื้นที่กว่า 1600 ตารางเมตรที่ใช้เป็นที่แสดงนิทรรศการเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 โดยมองผ่านชีวิตและผลงานของนายพลเดอโกล  อนุสรณ์สถานนี้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนปี 1972  วันนั้นได้มีการยกตั้งไม้กางเขนลอแรนขนาดยักษ์ไว้บนเนินที่นั่นด้วย  ไม้กางเขนนั้นสูงถึง 44,30 เมตร (ดูในภาพ) 
ใต้พื้นข้างล่างไม้กางเขน ขุดเป็นอุโมงค์ใช้เป็นสุสานใต้ดินเก็บศพ 17 ที่สำหรับบุคคลใกล้ชิดของเดอโกลที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในการต่อสู้กู้ชาติมาด้วยกัน (ปัจจุบันยังมีว่างอยู่หนึ่งที่คือที่ตั้งศพหมายเลข 9 คอยผู้ที่ยังมีชีวิตคนสุดท้ายของศตวรรษ)  ทั้งหมดอยู่บนเนินเขาที่มองเห็นภูมิประเทศไปโดยรอบ และด้วยมติเอกฉันท์ สถานที่และอาณาบริเวณทั้งหมด ได้รับการขึ้นเป็นสถานที่สำคัญของประเทศเมื่อวันที่ 27 มีนาคมปี 1974.  ที่น่าประทับใจคือ เมื่อการทำนุบำรุงและการก่อสร้างต้องหยุดชะงักเพราะขาดเงินนั้น (ในยุคของประธานาธิบดี George Pompidou)  มีการขอเรี่ยไรเงินอุดหนุนจากประชาชนและในที่สุดขยายวงออกไปถึงนานาประเทศด้วย  มีประเทศที่ตอบรับสนองศรัทธาทั้งหมด 67 ประเทศ และที่น่ายินดียิ่ง นอกจากเงินที่ส่งไปช่วยในการก่อสร้างและจัดทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ยุคศตวรรษที่ 20 แล้ว ประเทศเลบานอน (Lebanon / Liban) ยังได้ส่งต้น cedar of Lebanon สำหรับมาปลูกบนพื้นที่จำนวนถึง 1000 ต้น (ข่าวบอกว่า 350 ต้น?)  ต้นไม้นี้มีค่ามหาศาล มีอายุได้หลายร้อยปี จึงเป็นสื่อความทรงจำที่จะยั่งยืนไปอีกหลายชั่วคน

เพลงและดนตรีที่ได้ยินจากรายการข่าวฝรั่งเศสในวันนี้ และที่ตรึงข้าพเจ้าอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่าเรื่องข้างต้นมานี้นั้น กล่าวถึง กองกำลังชาวบ้านที่รวมกันเป็น partisans  ในความหมายของผู้เข้าร่วมสมคบคิด ร่วมอุดมการณ์การต่อสู่เพื่อกู้อิสรภาพของประเทศ  เนื้อหาในเพลงปลุกใจนี้จึงเข้มข้นคุกกรุ่น ดนตรีก็พรั่นพรึงไม่น้อย  ฟังอีกสักครั้งเมื่อเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์แล้ว
คำร้องและคำถอดความดังนี้ 
Le chant des partisans  (1943)
Paroles de Maurice Druon, Joseph Kessel. Musique : Ann Marly.

Oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh..
Oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh..

Ami, entends-tu le vol noir des corbeaux sur nos plaines?
Ami, entends-tu ces cris sourds du pays qu'on enchaîne?
Ohé! Partisans, ouvriers et paysans, c'est l'alarme.
Ce soir, l'ennemi connaîtra le prix du sang et des larmes.

Montez de la mine, descendez des collines, camarades!
Sortez de la paille les fusils, la mitraille, les grenades.
Ohé! Les tueurs à la balle et au couteau, tirez vite!
Ohé! Saboteur, attention à ton fardeau, dynamite!

C'est nous qui brisons les barreaux des prisons pour nos frères!
La haine à nos trousses et la faim qui nous pousse, la misère!
Il y a des pays où les gens aux creux des lits font des rêves!
Ici, nous, vois-tu, nous on marche, nous on tue, nous on crève.

Ici chacun sait ce qu'il veut, ce qu'il fait quand il passe.
Ami si tu tombes, un ami sort de l'ombre à ta place.
Demain du sang noir séchera au grand soleil sur les routes.
Chantez, compagnons, dans la nuit la Liberté vous écoute.

Ami, entends-tu les cris sourds du pays qu'on enchaîne?
Ami, entends-tu le vol noir des corbeaux sur nos plaines?
Oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh...
Oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh oh...

ถอดใจความได้ว่า

เพื่อนเอ๋ย แกได้ยินเสียงกระพือปีกของเหล่าอีกาดำเหนือท้องทุ่งของเราไหม ?
เพื่อนเอ๋ย แกได้ยินเสียงต่ำแหบแห้งของชาติที่ถูกล่ามโซ่จองจำไหม ?
โอ้เอ่ย เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่มีทั้งคนงานและชาวนาชาวไร่ นี่เป็นสัญญาณเตือนภัย
คืนนี้ ไอ้ศัตรูจะได้รู้ราคาค่าของเลือดและของน้ำตา

ขึ้นมาจากเหมืองเถิด ลงมาจากภูเขา เพื่อนยากเอ่ย
นำกระบอกปืน ปืนกล ระเบิดมือของพวกเจ้าออกมาจากที่ซ่อนในกองฟาง
โอ้เอ่ย  มือสังหารผู้ชำนาญปืนและการใช้มีด ยิงไปเร็วๆทันที
โอ้เอ่ย  มือวางแผนก่อการร้าย ระวังสัมภาระที่แบกมานะ มันเป็นระเบิดไดนาไมท์

เราเองที่จะแหวกกรงเหล็กของคุกเข้าไปช่วยพี่น้องเรา
ความเกลียดในกระเป๋าเราและความหิวที่ผลักเราไปข้างหน้า เป็นความลำเค็ญสุดๆ
มีบางประเทศที่ผู้คนเขาหลับอย่างเป็นสุขซุกตัวในที่นอนและฝันหวาน
ในขณะที่ที่นี่ พวกเรา แกเห็นไหม พวกเราเดิน พวกเราฆ่า พวกเราตาย


ที่นี่แต่ละคนรู้ว่าเขาต้องการอะไร ต้องทำอะไร ก่อนจากไป
เพื่อนเอ่ย ถ้าเจ้าล้มลง เพื่อนอีกคนจะออกจากเงามืดมาเข้าแทนที่เจ้า
พรุ่งนี้ เมื่อแดดร้อนแรง เลือดสีดำๆคล้ำๆจะแห้งเหือดไปบนถนน
ร้องเพลงเถิด เพื่อนเอ่ย ค่ำคืนนี้ เทพแห่งอิสรภาพจะฟังเรา

เพื่อนเอ่ย เจ้าได้ยินเสียงต่ำแหบแห้งของชาติที่ถูกล่ามโซ่จองจำไหม ?
เพื่อนเอ่ย เจ้าได้ยินเสียงกระพือปีกของเหล่าอีกาเหนือท้องทุ่งเราไหม ?
โอ้ โอ๋ โอ้ โอ๋ โอ้ โอ๋............................
โอ้ โอ๋ โอ้ โอ๋ โอ้ โอ๋............................

เพลงจบลงด้วยคำพูดว่า ขอคารวะและเทิดทูนศักดิ์ศรีของชายและหญิงในขบวนการต่อต้าน(เยอรมนีนาซี)  พวกเขาทั้งหลายได้ใช้ชีวิตของพวกเขาปูเป็นทางสู่อิสรภาพของพวกเรา
เพลง Le Chant des Partisans ยังคงใช้ร้องกันในวาระต่างๆ เช่นในวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรครีพับลิกันหรือฝ่ายขวา ซึ่งมีความผูกพันกันในอดีตในยามศึกสงครามและได้เข้าร่วมกู้ชาติเป็นฝรั่งเศสเสรีกับนายพลเดอโกล วงดุริยางค์ของกองทัพบกจะขับร้องเพลงนี้ด้วยเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของผู้คน ทั้งชายและหญิงในการกอบกู้ชาติกลับคืนมาจากมือฮิตเลอร์ เพราะฉะนั้นในยุคของประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy จึงมีการร้องเพลง Le Chant des Partisans ก่อน ตามด้วยเพลงชาติ La Marseillaise. ในพิธีรำลึกถึงผู้คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ก่อการร้ายในฝรั่งเศส ก็ใช้เพลงนี้ร้องเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย      
           เมื่อพิจารณาบริบทของการต่อสู้กู้แผ่นดินของชาวฝรั่งเศสเสรียุคนั้นแล้ว ต้องสรุปว่า ทั้งหมดเป็นความหัศจรรย์  เป็นปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง  นึกถึงบริบทแวดล้อม ความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์ที่ด้อยกว่าฝ่ายเยอรมนี กำลังนักรบ ทหารตัวจริงๆที่ลุกขึ้นจับอาวุธก็มีไม่มาก แต่เดอโกลและชาวฝรั่งเศสผู้รักเสรีทั้งหลายสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่างด้วยความข้นแค้นและลำเค็ญ ด้วยหัวใจนักสู้ที่อยู่เหนือทุกสิ่ง ทุกสถานการณ์ และด้วยความร่วมมือของทุกชาติพันธมิตร  จนในที่สุดขับไล่ทหารนาซีออกไปจากแผ่นดินฝรั่งเศสได้สำเร็จ…. แผ่นดินใคร ใครก็หวง  
            ความฮึกเหิม ความกล้าหาญของชาวฝรั่งเศสในยุคนั้น ทำให้นึกถึงคำพูดที่จารึกไว้บนกำแพงประกอบอนุสาวรียอนุสรณ์ความทรงจำแก่ทหารสก็อตที่ไปช่วยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914)  มุมหนึ่งบนทางเดินหลักของสวนสาธารณะใจกลางกรุงเอดินเบิร์ก สก็อตแลนด์ ที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็นและยืนอ่านด้วยความรู้สึกทั้งชื่นชมและเจ็บปวด  คำพูดนั้นฝังใจไม่รู้เลือน  คำพูดที่แสดงให้เห็นจิตวิญญาณของชาวสก็อต 

“ หากคือชีวิตที่รอข้าอยู่ข้างหน้า ข้าก็จักอยู่ตลอดไปอย่างคนที่ไม่เคยแพ้
หากคือความตาย ข้าก็จะตาย  แกร่งในศักดิ์ศรีและเป็นไท... ไปถึงที่สุด ”

" If it be life that waits I shall live forever unconquered.
 If death I shall die at last strong in my pride and free."
.
   
บันทึกความทรงจำของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘...

(๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘)
จะไม่กล่าวถึงรัฐบาลฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเลย ก็ดูจะเหมือนการฟังข้างเดียว  จึงสรุปพฤติกรรมและสภาพการณ์ทั่วไปในยุครัฐบาลของนายพล Maréchal Philippe Pétain [ฟิลิป เปแต็ง](1856-1951) โดยเฉพาะในช่วงที่ทหารนาซีเข้ารุกรานประเทศฝรั่งเศส  ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้จากเน็ตในสารานุกรมลารูซ

หนุ่มฉกรรจ์เปแต็งคลั่งการเป็นทหารตั้งแต่วัยเด็ก ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายทหาร Saint-Cyr [แซ็งซีรฺ] (Napoléon Bonaparte เป็นผู้สถาปนาสถาบันการทหารพิเศษในนามว่า l’École Spéciale Militaire de Saint-Cyr, ESM, ในปี 1802 ที่เมืองแซ็งซีร์ใกล้เมืองแวร์ซายส์ ทางทิศตะวันตกชานเมืองกรุงปารีส  ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ Coëtquidan เมือง Guer จังหวัด Morbihan.  จึงมีชื่อเต็มๆว่า Les écoles de Saint-Cyr Coëtquidan.  ตลอด 150 ปีที่ผ่านมา สถาบันนี้ได้ฝึกนักศึกษาผู้กลายเป็นนายทหารชั้นหัวกะทิของชาติ  เป็นเครือข่ายสถาบันการเรียนการสอนนั้นรวมกันเป็นสถาบันการทหารขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่สอนการบังคับบัญชาเพื่อสร้างผู้นำที่สามารถบังคับบัญชาได้ในทุกสถานการณ์  ให้ผู้เรียนพัฒนาคุณสมบัติพื้นฐาน รู้จักแยกแยะแกะรอยความซับซ้อนของทุกสถานการณ์ด้วยสติปัญญาอันชาญฉลาด รู้จักการตัดสินใจในสภาพการณ์ด้วยพลังจิตและบุคลิกที่รู้จักยอมรับการเสี่ยงหลังจากที่ได้คำนวญความเป็นไปได้ในทุกมิติแล้ว และสามารถปฏิบัติการในสภาพการณ์เลวร้ายทุกประเภทที่นำไปสู่การกระตุ้นพฤติกรรมส่วนรวมให้เข้าร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ   เครือข่ายสถาบันนี้ได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนที่เฉพาะอย่างเอกเทศ  กวดขันในการสอนที่ครอบคลุมและสอดคล้องกันในทุกมิติระหว่างการเรียนการวิจัย มนุษยวิสัยและการเป็นทหาร  คำขวัญของสถาบันที่ว่า “พวกเขาเรียนเพื่อเอาชนะ” (Ils s’instruisent pour vaincre.) อาจทำให้เข้าใจนัยยะทั้งในแนวกว้างและในแนวลึกได้  ในสารานุกรมลารุซระบุไว้ว่า เมื่อเปแต็งออกจากโรงเรียนนายทหารแซ็งซีร์ เขาเป็นหนุ่มที่ขยันขันแข็ง การศึกษาอบรมที่เขาผ่านมาในชีวิตร่วมกับนักศึกษาคนอื่นๆมากกว่าสิบปีนั้น ได้ทำให้เขาติดกับฝักใฝ่ในการซุ่มคิดลึกๆลับๆของตนเอง ทำให้เขามีนิสัยชอบถากถางประชดประชัน  อาชีพนายทหารของเขาในประเทศ ผ่านไปเรื่อยๆในฝรั่งเศสโดยไม่มีอะไรโดดเด่น  เปแต็งเป็นทหารราบผู้หลงใหลในอาวุธ ใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตทหารในกองทหารที่เขาประจำอยู่  ยกเว้นสี่ปีที่เขาถูกส่งไปประจำการในหน่วยบัญชาการของนายพลชั้นสูง  ความฝักใฝ่ทางการทหารแสดงออกอย่างชัดเจนมากขึ้นๆตามทฤษฎีส่วนตัวของเขาว่า อาวุธนั้นมีอำนาจเหนือกว่าสิ่งใด  อันเป็นความคิดที่แย้งกับทฤษฎีทางการแบบฉบับของฝ่ายทหารที่ยึดการต่อต้านมากกว่าการบุกโจมตี ที่สอนกันมาในโรงเรียนทหาร  เปแต็งกลับเห็นว่าในทุกกรณี ต้องใช้ความพร้อมของยุทโธปกรณ์ทหารราบเพื่อปราบข้าศึกและต้องธำรงความพร้อมในการปฏิบัติการอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง  ความเข้มงวดทางการทหารและความคิดที่อิสระไม่คล้อยตามใครของเขา เป็นที่ชื่นชองของฝ่ายการเมืองไม่น้อย
          ในปี 1912 ร้อยโทเดอโกลผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษาทหารจาก Saint-Cyr ได้เข้าไปอยู่ในกองทหารหน่วยที่ 33 ใต้บังคับบัญชาของเปแต็งผู้มียศพันเอกในตอนนั้น  สงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยเฉพาะระหว่างปี 1914-1915 เป็นโอกาสทองในชีวิตของเปแต็งผู้ได้นำกองทหารในบังคับบัญชาของเขาฝ่าวิกฤตการณ์และมีชัยชนะเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของเขา  ต่อมาในสงครามที่ Verdun [แวรฺเดิง] เมื่อกองกำลังฝรั่งเศสแตกกระจัดกระจายย่ำแย่  เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดในการรบ  เขาเป็นผู้ชุบชีวิตและกู้ความหวังของชาติกลับคืนมา และสามารถทำลายแนวรบของฝ่ายเยอรมันได้สำเร็จ  คำพูดที่เป็นที่จดจำของเขาที่ประกาศแก่กองทหารของเขาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมปี 1917 ว่า  « Soyez patients et obstinés, écrit-il à ses troupes le 30 décembre 1917, si le plus pressé réclame la paix, c'est le plus persévérant qui en fixe les conditions. »  ขอให้อดทนและรันทุรังไปก่อน  หากเรื่องรีบด่วนในขณะนี้คือการเรียกร้องสันติภาพ   มันอยู่ที่ว่า  ผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้จักเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ 
            เปแต็งกลายเป็นวีรบุรุษคนสำคัญของชาติเมื่อเขาสามารถนำกองทหารฝรั่งเศสเข้าทำลายแนวรบของเยอรมนีได้สำเร็จในสมรภูมิที่ Verdun ระหว่างการต่อสู้วันที่ 27พฤษภาคมถึงวันที่ 15 กรกฎาคมปี 1918.   เปแต็งได้รับเกียรติยศสูงสุดในวงการทหาร คือรับตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของประเทศฝรั่งเศส  ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากยังคงโยงใยชื่อของเปแต็งกับคุณสมบัติดีเลิศในฐานะผู้นำและกับความสามารถในการควบคุมและสยบสถานการณ์รุนแรงที่คุกกรุ่นของประเทศลงได้  เกียรติประวัติอีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อประธานาธิบดี Painlevé [แป็งเลอเว่] ขอให้เปแต็งไปจัดการปราบปรามความวุ่นวายที่ประเทศมอร็อคโค (la reddition d’Abd el-Krim, 1925) ในเวลาสองเดือนที่เขาไปบัญชาการอยู่ที่นั่น ได้ยังผลให้การลุกฮือต่อต้านฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในมอร็อคโคยุติลงด้วยการยอมจำนนต่อฝรั่งเศสในปีต่อมา  ตลอดระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายพลเปแต็งเป็นเสมือนหมวกของเหล่านายพลทั้งหลายของกองทัพฝรั่งเศส ความฝักใฝ่และการบริหารกองทัพตามระบบเปแต็งนั้นครอบคลุมระบบการทหารฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยไปจนถึงปี 1913. ร้อยเอกเดอโกลก็อยู่ใต้บังคับบัญชาของเปแต็งระหว่างปี 1925-1927 ในหมู่ผู้ร่วมมือของเขาและทั้งหมดรวมกันวางแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อการปกป้องประเทศ  แม้ในปี 1931 นายพลเปแต๊งได้มอบอำนาจให้แก่นายพล Weygand เป็นผู้บังคับบัญชากองทัพต่อจากเขา เพราะเขามีอายุตอนนั้น 75 ปีแล้ว ในความเป็นจริงกองทัพฝรั่งเศสมิได้เปลี่ยนแปลงเลยไม่ว่าจะด้านนโยบายหรือโครงสร้าง เหมือนเดิมทุกประการมาตั้งแต่ปี 1918.  เปแต็งยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ตรวจการการป้องกันประเทศทางอากาศ ยังคงมีสิทธิพิเศษไม่เพียงแต่เหนือกองทัพอากาศ แต่รวมถึงเครือข่ายกองทัพในการป้องกันประเทศทุกด้าน  เปแต็งยังคงเป็นสมาชิกที่มีเอกสิทธิ์ในระบบการวางแผนและการป้องกันแห่งชาติ 
           วันที่ 9 กุมภาพันธ์ปี 1934 ประวัติชีวิตของนายพลเปแต็งพลิกไปยังหน้าใหม่หน้าหนึ่ง  ประธานาธิบดี Gaston Doumerque [กัซตง ดูแมรฺก] (1934-1937 หัวหน้ารัฐบาลคนที่ 112 ของฝรั่งเศศ) ได้แต่งตั้งเปแต็งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม  ต่อมาในปี 1939 ถูกส่งไปเป็นทูตที่ประเทศสเปนเพื่อช่วยฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน แต่การยังไม่สำเร็จลุล่วงนักก็ถูกเรียกตัวกลับ  เพราะกองทหารเยอรมันได้เข้าทำลายด่านหน้าของกองกำลังทหารฝรั่งเศสประจำชายแดนแถบลุ่มแม่น้ำ Meuse.  เขาถูกส่งไปรับมือการศึกกับเยอรมนีที่เข้ารุกรานพรมแดนฝรั่งเศส สถานการณ์ย่ำแย่ส่อให้เห็นว่าฝรั่งเศสกำลังพ่ายแพ้แก่ข้าศึก  ตอนนั้นเปแต็งยืนหยัดขอสงบศึกกับเยอรมนีตามความเห็นชอบของนายพลหลายคนในกองทัพฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 12 และ13 เดือนมิถุนายนปี 1940  แต่มีนายพลอีกหลายคนที่ปฏิเสธการวางอาวุธและลาออก  ทำให้เปแต็งจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ทันที  (เราไม่ลืมว่า วันที่ 18 มิถุนายน 1940 เดอโกลออกถ้อยแถลงแก่ฝรั่งเศสเสรี ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการกู้ชาติตั้งแต่นั้น)
            วันที่ 17 มิถุนายน 1940 เปแต็งออกแถลงการในวิทยุกระจายเสียงดังนี้
“ เราต้องยุติการรบพุ่ง.  ฝรั่งเศส  ตามคำเรียกร้องของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ วันนี้ข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งบัญชาการรัฐบาลฝรั่งเศส  ข้าพเจ้ามั่นใจในความรักของกองทัพที่น่าสรรเสริญของเรา ที่ได้ต่อสู้ด้วยวิญญาณวีรชนอย่างสมศักดิ์ศรีตามขนบทหารที่ยืนยาวมานานปีเพื่อต่อต้านศัตรูที่มีทั้งกำลังทหารและกำลังยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า  ข้าพเจ้ามั่นใจว่ากองทัพของเราจะยืนหยัดต่อสู้ต่อต้านข้าศึกได้อย่างน่าชื่นชม เหมือนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพันธมิตร  ข้าพเจ้ามั่นใจในการหนุนหลังของเพื่อนร่วมรบของข้าพเจ้าในอดีตที่ได้นำความภาคภูมิใจแก่ข้าพเจ้ามาแล้วยิ่งนักในฐานะผู้บัญชาการ  ข้าพเจ้ามั่นใจในความไว้วางใจของชาวฝรั่งเศสทั้งชาติ  ข้าพเจ้าขอสละชีวิตของข้าพเจ้ามอบแก่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อลดความทุกข์ของประเทศ  ในชั่วโมงอันทุกข์ทรมานระยะนี้ ข้าพเจ้าคิดถึงคนลี้ภัยสงครามผู้น่าสงสารทั้งหลาย ในสภาพยากไร้ที่เร่ร่อนไปบนถนน  ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นใจด้วยอย่างแท้จริงและขอวิงวอนทุกท่าน ด้วยหัวใจที่ถูกบีบคั้นกดดันจากความเศร้าสลด ข้าพเจ้าขอบอกแก่ท่านทั้งหลายขอให้ยุติการต่อสู้เถิด  ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับฝ่ายข้าศึกเมื่อคืนนี้เพื่อถามว่าฝ่ายเขาพร้อมที่จะร่วมมือกับข้าพเจ้า แบบทหารกับทหาร หลังจากการต่อสู้กันในสนามสงครามด้วยเกียรติต่อเกียรติแล้ว เพื่อหาทางหยุดความรุนแรงต่างๆลง 
          ขอให้ชาวฝรั่งเศสรวมตัวกันกับรัฐบาลที่ข้าพเจ้าเป็นผู้นำอยู่ในวิกฤตการณ์ขณะนี้ และช่วยกันยุติความหวาดกังวล  ขอให้ฟังแต่เสียงแห่งศรัทธาที่มีในชะตากรรมของประเทศบ้านเกิดเถิด”    


ฝรั่งเศส! พวกคุณไม่ได้ถูกขาย ถูกทรยศหรือถูกทอดทิ้ง จงมาหาข้าพเจ้าด้วยความมั่นใจ"  


           วันที่ 22 มิถุนายน 1940 ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้เซ็นสัญญาสงบศึกที่เมือง Rethondes [เรอต๊งเดอะ] (armistice de Rethondes) ในเวลาเพียงไม่กี่วัน สงครามเหมือนยุติลง แต่ไม่ถึงเดือน ประเทศฝรั่งเศสตกอยู่ในความสับสนสุดๆและกำลังหาหัวหน้าที่จะเป็นผู้พิทักษ์ประเทศ   สถาบันต่างๆของชาติถูกกลืนหายไปด้วยกลยุทธ์ของ Pierre Laval (ในคณะรัฐบาลของเปแต็ง) ที่ได้หว่านล้อมสมัชชาแห่งชาติที่ไปรวมกันที่เมือง Vichy [วิชี] ให้ลงมติด้วยการออกเสียงมอบอำนาจเต็มแก่รัฐบาลของเปแต็งโดยมีเปแต็งเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการสั่งการทุกอย่าง ด้วยคะแนน 566 เสียง มีเพียง 80 เสียงค้านและไม่ออกเสียงอีก 17 คน  ต่อมาตามด้วยประกาศราชกิจจานุเบกษาสามฉบับในวันที่ 11 เดือนกรกฎาคม 1940 ที่ทำให้นายพลเปแต็งกลายเป็นผู้นำประเทศที่มีอำนาจทั้งนิติบัญญัติและอำนาจบริหารสูงสุด โดยไม่จำเป็นต้องคอยการยินยอมจากสมัชชาแห่งชาติยกเว้นกรณีประกาศสงครามเท่านั้น แม้ในเรื่องของงบประมาณแผ่นดินและการเก็บภาษีก็อยู่ในมือของเปแต็ง  และต่อมาประกาศฉบับที่สี่ให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการแต่งตั้งผู้นำคนต่อไปแก่เปแต็งด้วย (และผู้นำรัฐบาลคนต่อจากเปแต็งก็คือ Pierre Laval นั่นเองระหว่างปี 1942-1944).  Wladimir d’Ormesson เขียนไว้ว่า “(นายพลเปแต็ง) เป็นคนๆเดียวที่สามารถรวมกำลังดีๆของชาติไว้ได้ ”  และทุกคนพูดติดปากว่า  “Pétain, c’est la France et la France, c’est Pétain ” (เปแต็งคือฝรั่งเศสและฝรั่งเศสคือเปแต็ง)  ความเป็นคนมีชื่อเสียงในอดีต (วีรบุรุษของชาติระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) มีส่วนกดดันฝ่ายข้าศึกและชักจูงใจชาวเมือง อุดมการณ์สาธารรรัฐนิยมของเขาที่ชัดเจน หรือการต่อต้านความรุนแรงของเปแต็งทำให้สมาชิกฝ่ายซ้ายไว้วางใจเขา  ภูมิหลังทางทหาร การยึดกฎระเบียบทำให้เปแต็งสามารถรวมฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายไว้ได้ รวมทั้งฝ่ายที่เป็นกลาง  เปแต็งเองได้กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนที่ห้อมล้อมเขาได้ช่วยกันสร้างภาพพจน์ด้วยกลไกกลลวงสูง แผ่ไปในถิ่นที่ปลอดการควบคุมจากนาซีและที่เปแต็งเดินทางไปมาอย่างสม่ำเสมอ 


โปสเตอร์เชิญชวนและชวนเชื่อที่มุ่งบอกแก่ประชาชาติฝรั่งเศสว่า รัฐบาลที่วิชีที่มีนายพลเปแต็งเป็นผู้นำนั้นยึดอุดมการณ์ของการให้ทุกคนมีงานทำ (บนแถบสีน้ำเงินของธงชาติ) มีชีวิตครอบครัวที่ดี(บนแถบสีขาว) และมีจิตสำนึกเกี่ยวกับชาติบ้านเกิด(บนแถบสีแดง)
ภาพโปสเตอร์ขององค์กร Secours national (ที่เป็นหน่วยบรรเทาทุกข์ของนายพลเปแต็ง) ทำขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 1914 เพื่อช่วยชาวฝรั่งเศสเหยื่อของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  ระบุข้อความไว้ว่า ขอบคุณท่านนายพล เด็กๆหลายพันคนได้มีโอกาสไปเที่ยวพักร้อน   องค์กรบรรเทาทุกข์ได้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งในปี 1939 ภายใต้อำนาจและความรับผิดชอบของนายพลเปแต็งอีกเช่นกัน   โปสเตอร์นี้ได้กลายเป็นเครื่องมือเด็ดขาดของการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเปแต็งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในปี 1940 ระบุว่าเป็นพันธะสัญญาในระบบการทำงาน
ที่เชื่อมพนักงานหรือคนงานกับนายช่างเทคนิคและเจ้าของกิจการหรือบริษัท
การร่วมมือกับนาซีนั้น เริ่มด้วยการพบปะระหว่างเปแต็งกับฮิตเลอร์ที่ Montoire-sur-le-Loir ในวันที่ 24 ตุลาคมปี 1940 ที่นำไปสู่นโยบาย ฟร็องโก-อัลมองด์ร่วมกัน (collaboration franco-allemande)  และแน่นอนถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากกลุ่มฝรั่งเศสเสรี เปแต็งจัดการปฏิวัติระดับชาติ (la révolution nationale) เปลี่ยนแปลงสถาบันต่างๆและกำหนดค่านิยมใหม่ๆขึ้นเพื่อกระตุ้นคุณธรรมของการทำงานที่จะช่วยกู้ชาติ กู้แผ่นดิน กู้งานช่างฝีมือทั้งหลาย  ในบริบทของการปฏิวัติแห่งชาตินี้ รัฐบาลเปแต็งประนามลัทธิทุนนิยมและการฝักใฝ่อุดมการบอลเชอวิสซึม (bolchevisme) ตั้งคำขวัญขึ้นใหม่ว่า งาน ครอบครัว ชาติและตอกย้ำบุคลิกภาพของผู้นำของประเทศ  ประนามรัฐสภาประชาธิปไตยที่ถูกตัดสินว่าไร้สมรรถภาพที่ทำให้ประเทศล้มเหลว รวมทั้งขับไล่ชาวยิวออกไปจากชุมชนต่างๆของชาติด้วย  การปฏิรูปนี้เจาะจงว่าต้องยกเลิกการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารที่ได้รับการแต่งตั้ง(จากเปแต็ง) เข้าไปทำหน้าที่บริหารในทุกภาคส่วน ปิดสถาบันการศึกษาจำนวนมาก  ยกเลิกศูนย์สหภาพแรงงาน ฯลฯ ตั้งสมาคมทหารผ่านศึกที่มีหน้าที่ปกป้องนายพลเปแต็ง  ปัญญาชนและข้าราชการจำนวนมากถูกปลดออก ชาวยิวถูกข่มเหงกีดกัน องค์กรลับต่างๆถูกกวาดล้างและปราบปราม  ชาวยิวและชาวสเปนรีพับลิแกนผู้มาลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสจำนวนสี่หมื่นคน ถูกคุมตัวและต่อมาถูกเนรเทศด้วยการส่งตัวต่อให้ทหารนาซีที่เข้ายึดดินแดนภาคใต้ของฝรั่งเศสในปลายปี 1942 ไปจัดการ(ฆ่าแกง)   เมื่อถูกโจมตีจากฝรั่งเศสเสรีที่รวมกำลังกันที่อังกฤษ อายุ 85 ปีของนายพลเปแต็งทำให้เขาดำเนินนโยบายการเมืองอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือต่อเนื่องและยังต้องจำยอมต่อฝ่ายเยอรมนีที่รุกเร้าฝรั่งเศสมากขึ้นๆ  ในที่สุดเขาสละอำนาจและมอบให้ Pierre Laval เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาลต่อจากเขา  ในความตั้งใจหรือเพราะการเปลี่ยนใจของเปแต็งที่ต้องการออกถ้อยแถลงในวันที่ 13 พฤศจิกายน 1943 ว่า ในกรณีที่เขาถึงแก่กรรม อำนาจที่เขามีมาตั้งแต่ปี 1940 นั้นให้เป็นของรัฐสภา (มิใช่ให้ Pierre Laval) แต่ทหารนาซีห้ามเขาอ่านถ้อยแถลงนี้  ถึงกระนั้นมีนายพลหลายคนที่พยายามไกล่เกลี่ยกับเดอโกลเพื่อช่วยเปแต็งไว้ ว่าเปแต็งยินดีมอบอำนาจให้เดอโกลเพื่อให้เขากู้เอกภาพของฝรั่งเศสไว้  แต่เดอโกลปฏิเสธและตอบว่า เขาไม่เคยยอมรับว่า รัฐบาลของเปแต็งที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมปี 1940 นั้น เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ทุกอย่างจึงล้มเหลว  เปแต็งถูกทหารนาซีจับไปเป็นตัวประกันในเช้าวันที่ 20 สิงหาคมปี 1944 และถูกพาตัวไปเยอรมนีและอยู่ที่นั่นจนถึงปี 1945.  การจับตัวเปแต็งไปนั้นมิได้ช่วยเยอรมนีแต่อย่างไร เพราะฝรั่งเศสเสรีไม่สนใจเขาอยู่แล้วและประกาศว่าเขาเป็นผู้ต้องคดีบ่อนทำลายชาติ   เปแต็งได้มาปรากฏตัวเพื่อสู้คดีในศาลชั้นสูง (23 กรกฎาคมถึงวันที่ 15 สิงหาคมปี 1945) แต่เขาไม่ปรารถนาจะพูดอะไรทั้งสิ้นตลอดเวลาการพิพากษาคดีของเขา และถูกตัดสินประหารชีวิตและทรัพย์สินทั้งหมดถูกยึดเป็นของรัฐ ด้วยคะแนนเสียง 14 ต่อ 13 เสียง  แต่เพราะความชราภาพของเปแต็ง  ศาลชั้นสูงได้ขอให้ไว้ชีวิตเขา  เดอโกลจึงขอให้เปลี่ยนเป็นการถูกจองจำตลอดชีวิต  เปแต็งถึงแก่กรรมในเรือนจำเดือนกรกฎาคมปี 1951 ในห้องขังที่ Port-Joinville [ปอรฺ-จวงวิล] บนเกาะ l’île d’Yeu [ลิล ดิเออะ]
         นี่คือชีวิตที่สรุปมาสั้นๆของนายพลเปแต็ง ผู้เคยเป็นวีรบุรุษของชาติในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและกลายเป็นผู้ต้องหาบ่อนทำลายชาติในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  ในระหว่างที่เปแต็งกุมอำนาจสูงสุดของประเทศไว้  มีการประพันธ์เพลงปลุกใจในยุคนั้นด้วย ชื่อว่า  Maréchal, nous voilà  (สำนวนตอบรับเมื่อถูกเรียกและเมื่อผู้เรียกเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของประเทศ  ในความหมายว่า  ผมอยู่นี่แล้ว ผมมาตามที่ท่านเรียกแล้ว อะไรทำนองนี้)  หากพิจารณาเนื้อเพลงนี้ รวมทั้งภาพโปสเตอร์ต่างๆที่ประกอบกันเป็นฉากหลังของเพลงนี้  เห็นชัดเจนถึงการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบระเบียบและคลุมทุกมิติในชีวิตของชาวเมือง รวมทั้งการแสดงบทบาทความร่วมมือที่จักเป็นผลพลอยได้สำหรับฝรั่งเศส ตามอุดมการณ์ฝันของเปแต็ง  เพลงนี้ André Dassary เป็นผู้ขับร้อง เนื้อเพลงปลุกใจและสรรเสริญเปแต็งเฉกวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่  ฟังเพลงได้ที่นี่

 
มีข้อความกำกับตอนบนของโปสเตอร์นี้ว่า Le Serment de la France à son Chef
(คำปฏิญญาของฝรั่งเศสต่อผู้นำของประเทศ)
เพลงนี้ถือเป็นเพลงประจำรัฐบาลที่วิชี ที่ใช้ขับร้องต่อจากเพลงชาติ “ลามาร์เซยแยซ”  นักเรียนทุกคนทุกโรงเรียนถูกบังคับให้ท่องและร้องเพลงนี้เป็นประจำ  เนื้อเพลงของ A. Montagard, ทำนองดนตรีของ A. Montagard กับ C. Courtioux.  ความจริงแล้วดนตรีนี้ลอกเลียนมาจากบทประพันธ์ของ Casimir Oberfeld ชาวยิวผู้ถูกจับไปขังและทรมานจนตายที่เมืองAuschwitz  ในปี1915.  ส่วนเนื้อเพลงมีใจความว่า
เปลวเพลงศักดิ์สิทธิ์
ลุกโพลงขึ้นจากแผ่นดินเกิด
ทั้งประเทศดื่มด่ำเคลิบเคลิ้ม
ลุกขึ้นคำนับท่านนายพล
ลูกหลานผู้รักท่าน
คารวะความสูงวัยของท่าน
เมื่อท่านเรียกสุดกำลัง
ต่างตอบรับ ครับผม
บทสร้อย
ท่านนายพล พวกเราอยู่นี่แล้ว !
มาอยู่ตรงหน้าท่านผู้กู้ชาติ
เราสาบาน เราคนของท่าน
จะรับใช้และเดินตามรอยเท้าท่าน
ท่านนายพล พวกเราอยู่นี่แล้ว !
ท่านได้ให้ความหวังแก่เราอีกครั้ง.
แผ่นดินเราจะเกิดใหม่ !
ท่านนายพล ท่านนายพล พวกเราอยู่นี่แล้ว !
ท่านได้ต่อสู้มาโดยตลอด
เพื่อช่วยให้ชาติพ้นภัย
ทุกคนพูดถึงด้วยความรักและชื่นชม
พูดถึงวีรบุรุษแห่งแวร์เดิง
ท่านได้ให้ชีวิตท่านแก่เรา
(ด้วย)อัจฉริยะของท่านและศรัทธาของท่าน
ท่านได้กู้แผ่นดินเกิด
เป็นครั้งที่สอง  + บทสร้อย
(ในเพลงที่นำมาให้ฟัง บทสร้อยตรงนี้ ร้องซ้ำสองครั้งเป็นอันว่าจบเพลง
แต่ในบทประพันธ์ ยังมีอีกสองบทที่มีความหมายสำคัญ เทิดทูนเปแต็งอย่างสูงสุด)
เมื่อเสียงท่านย้ำกับพวกเรา
เพื่อให้เราร่วมใจกัน
“ฝรั่งเศสเอ่ย ผงกศีรษะขึ้น
มองไกลไปถึงอนาคต!
พวกเราโบกสะบัดผืนธง
ธงอมตะ
ในแสงทองจากดวงดาวของท่าน
(ที่)พวกเราเห็นส่องสว่างในท้องฟ้า + บทสร้อย
สงครามนั้นไร้มนุษยธรรม
หุ่นไล่กาที่แสนเศร้า !
เราอย่าฟังเสียงที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง
เราต้องกระชับความมุ่งมั่นในการงาน
และถนอมรักษ์ความไว้วางใจ
ในชะตากรรมใหม่นี้
เพราะเปแต็งคือฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสคือเปแต็ง  + บทสร้อย

คำร้องในภาษาฝรั่งเศส
Une flame sacrée
Monte du sol natal
Et la France enivrée
Te salue Maréchal!
Tous tes enfants qui t'aiment
Et vénèrent tes ans
A ton appel suprême
Ont répondu "Présent"
REFRAIN:
Maréchal nous voilà!
Devant toi, le sauveur de la France
Nous jurons, nous, tes gars
De servir et de suivre tes pas
Maréchal nous voilà!
Tu nous as redonné l'espérance
La Patrie renaîtra!
Maréchal, Maréchal, nous voilà!

Tu as lutté sans cesse
Pour le salut commun
On parle avec tendresse
Du héros de Verdun
En nous donnant ta vie
Ton génie et ta foi
Tu sauves la Patrie
Une seconde fois
REFRAIN
Quand ta voix nous répète
Afin de nous unir:
"Français levons la tête,
Regardons l'avenir!"
Nous, brandissant la toile
Du drapeau immortel,
Dans l'or de tes étoiles,
Nous voyons luire un ciel
REFRAIN
La guerre est inhumaine
Quel triste épouvantail!
N'écoutons plus la haine
Exaltons le travail
Et gardons confiance
Dans un nouveau destin
Car Pétain, c'est la France,
La France, c'est Pétain!

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำมาเล่าสู่กันฟังให้เป็นอุทาหรณ์...
ณวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘..

วันนี้วันที่ 14 กรกฎาคม เป็นวันสำคัญสำหรับข้าพเจ้าวันหนึ่ง  ถ้าอ่านอยู่ในใจเป็นภาษาไทยว่า สิบสี่กรกฎาคม อาจจะงงๆ  แต่ถ้าอ่านเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า  กาต๊อรฺเสอะ ฌูอีเย่  ก็จะร้อง อ๋อ! วันชาติฝรั่งเศสนั่นเอง แล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉันคนไทยล่ะ  สำหรับคนอื่นคงผ่านๆไปเหมือนวันธรรมดาๆวันหนึ่ง  แต่กับตัวเอง ความหมายของวันนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของข้าพเจ้ามานานนับสิบๆปีแล้ว
            ประวัติการต่อสู้ของชนชาติฝรั่งเศส ฝังรากลึกในใจ  โดยเฉพาะตั้งแต่ได้ฟังเพลงปลุกใจของเหล่าฝรั่งเศสเสรีร่วมอุดมการณ์กับนายพลเดอโกล (le chant des Partisans, 1943) ประชันกับเพลงโฆษณาชวนเชื่อของนายพลเปแต็ง (Maréchal, nous voilà) ดังที่ได้เสนอรายละเอียดมาข้างต้นนี้ 
           สิ่งที่ติดคาใจไม่รู้เลือน คือ ชาวฝรั่งเศสสู้ สู้ไม่ถอย และเขาก็เอาชนะได้  หกล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ ฮึกเหิมกว่าเก่า  ตั้งประเทศ พัฒนาประเทศ  ใช้ความผิดพลาด ความอ่อนแอที่ผ่านมา สร้างสังคมที่ดีกว่า ที่ยุติธรรมกว่า ที่มั่นคงกว่า แม้จะยังมิได้บรรลุความสำเร็จขั้นสูงสุดก็ตาม  พวกเขาก็ทำต่อเนื่องกันมาอย่างไม่หยุดยั้ง  ระบบพรรคการเมืองยังมีประสิทธิภาพดีพอที่จะตรวจสอบซักไซ้ไล่ต้อนให้เข้ามุมหากมีอะไรไม่โปร่งใส  ยังไม่ปรากฏว่าคนดีคนเที่ยงธรรมจะถูกเก็บหรือหายสาบสูญไปเฉยๆ  คอรัปชั่นเขาปราบกันได้เด็ดขาดกว่า
         นี่แหละที่คาใจ น้ำตาร่วงทุกครั้งที่ได้ยินเพลงชาติ มาร์เซยแยซ  ที่กระตุ้นให้นึกถึงความยุติธรรม ความพยายามของนักการเมืองที่ต้องยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในชาติให้เสมอกันให้มากที่สุด(ซึ่งแม้จะยังทำไม่ได้)  ความพยายามของทุกฝ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมาย ในการเคารพสิทธิของประชาชนพร้อมๆไปกับการปลูกฝังความรับผิดชอบร่วมกันที่มีต่อชาติ ชาติที่ให้เขาเกิด ชาติที่ให้เขาเติบโต ให้เขามีตัวมีตน มีสถานะในสังคม  ไม่ใช่รัฐบาลเท่านั้นแต่ทุกสถาบันทุกองค์กรและองค์การรัฐหรือเอกชน ต่างมีอุดมการณ์เหมือนกัน(แต่อาจมีวิธีการต่างกันได้)  ทำให้สามารถผลักดันชาติให้ก้าวต่อไปได้ และแก้ปัญหาด้วยกันไปด้วยเหตุผลและความเพียร  ไม่ว่าใครจะใหญ่โตแค่ไหน ทุกคนมีจิตสำนึกแน่ชัดว่า ถ้าใครพลาดเพราะความโลภ มุ่งใช้อำนาจหน้าที่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือทำคอรัปชั่นเมื่อไหร่ กฎหมายตามล่าตามจับมาขึ้นศาลแน่นอน  ประเด็นความเสมอภาคเบื้องหน้าความยุติธรรมนั้นชัดเจน  ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย
        ทำไม๊ ทำไม ทำไม...บ้านเราชาติเราจึงไปถึงจุดนั้นไม่ได้
วันนี้ฟัง มาร์เซยแยซ ในพิธีวันชาติของฝรั่งเศสจากโทรทัศน์ฝรั่งเศส  เกิดความต้องการฟังเพลงปลุกใจของบ้านเราเหลือเกิน  นึกถึงเพลงนี้ขึ้นมาจับจิต เลยต้องนำมาทบทวนกันว่า
เราเผ่าไทย ต่างคนจากแดนไกล
ต่างมารวมใจ สามัคคีทุกหมู่เหล่า พวกเราพร้อมพรั่ง
งามถิ่นเรา ถิ่นไทย ในแดนทอง แหล่งดีคนปอง
ไทยเข้าครองต้องรวมกัน ผูกพันรักเผ่า
โบราณนานมาชาติไทยแกร่งเกรียงไกรกล้า
ฝ่าฟันมาทุกเวลาไม่หวั่น พรั่นพรึงอันตราย
ผ่านความลำเค็ญ ร้อนเย็นมิหน่าย ทอดกายเป็นชาติพลี
*ตื่นเถิดไทย มาพร้อมใจน้องพี่
เราเลือดไทยเสรี ปฐพีรักยิ่ง
ตื่นเถิดไทย จงพร้อมใจทุกฝ่าย
เรามิยอมแพ้พ่าย ศัตรูร้ายมุ่ง
โบราณนานมา ชาติไทยแกร่งเกรียงไกรกล้า
ฝ่าฟันมาทุกเวลาไม่หวั่น พรั่นพรึงอันตราย
ผ่านความลำเค็ญ ร้อนเย็นมิหน่าย ทอดกายเป็นชาติพลี
เพลง ตื่นเถิดไทย เรียบเรียงเสียงประสานโดย หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช  ตามไปฟังดูที่นี่ 
บ้านเรา ถิ่นไทยในแดนทอง แหล่งดีคนปอง    ...ตื่นเถิดไทย !!!

ศัตรูของชาติในยุคปัจจุบันคือใคร  เราต้องวิเคราะห์เจาะลึกลงไป 
ศัตรูทางการเมือง  ศัตรูทางเศรษฐกิจ  ศัตรูจากอาวุธชีวเคมี
ศัตรูที่แฝงมาในความขี้เกียจ ในความมักง่าย ในความโลภ  
ศัตรูจากนิสัยสันดานภายในตัวเราเอง
ศัตรูจากการปิดตา หันหลังให้กับความอยุติธรรม 
ศัตรูเหล่านี้มีพลังไม่สิ้นสุด   สงครามจิตวิทยาไม่มีนาทีพักรบ ...
แผ่นดินนี้ของเราหรือของใครแล้ว 
เราจะยึดค่านิยม อุดมการณ์ดีๆของความเป็นมนุษย์ไว้ได้นานเพียงใด...
หรือจะปล่อยวางทุกสิ่ง...

เพลงชาติฝรั่งเศสกระหึ่มขึ้น   ตื่นเถิดไทย !!!

บันทึกความทรงจำของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ ณวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘..




4 comments:

  1. ในพิธีวันชาติปีนี้ (14 July 2015) กองดุริยางค์ของกองทัพฝรั่งเศสก็ขับร้องเพลง Le Chant des Partisans ด้วยเช่นกัน ก่อนเพลงชาติ มาร์เซยแย้ซด้วย นักดนตรีและนักร้องต่างยืนเข้าแถวเป็นรูปไมเกางเขนลอแรน และกองเครื่องบินลาดตระเวนจำนวน ๑๒ ลำ(ปีก่อนๆนั้นใช้เพียงแปดลำ) บินเหนือปารีส และโดยเฉพาะเหนือเส้นทางยาวสุดสวยของถนน Champs-Elysées เหนือประตูชัย Arc de Triomphe ปล่อยควันสีธงชาติ แล้วยังจัดแนวตำแหน่งเครื่องบินให้เป็นรูปสัญลักษณ์ไม้กางเขนลอแรน (โฆากรายการบอกว่าอย่างนั้น เราเองมองไม่เห็นหรอก และไม่น่าจะเห็นได้ชัดเจน เพราะยืนมองต่างมุม ก็เห็นคนละรูปแบบไปเลยก็ได้) เพื่อรำลึกถึงการที่ฝรั่งเศสและยุโรปร่วมกันต่อสู้หลุดจากการยึดครองของทหารเยอรมันนาซี โดยที่มีนายพลเดอโกลเป็นผู้นำตามที่เล่าไว้ข้างต้น ดูเหมือนว่าชาติและพลเมืองฝรั่งเศสยังคงจดจำและเทิดทูนการเสียสละของทหานและชาวฝรั่งเศสทั้งชายและหญิงที่ได้สละชีวิตไปในการต่อต้านเยอรมนีเพื่อเสรีภาพของประเทศที่พวกเขาหวงแหนยิ่งกว่าสิ่งใด ในยามสงบ สปิริตของการต่อต้านจึงมุ่งไปสู่การต่อต้านการโกง การคอรัปชั่น การก่อการร้าย และความไม่ถูกต้องทุกอย่าง สปิริตนี้ที่ต้องมีไปตลอดกาล หากสนใจอ่านเกี่ยวกับเพลงชาติ มาร์เซยแย้ซ ก็ตามไปอ่านได้ในบล็อกนี้ http://www.chotirosk.blogspot.com/2015/01 /la-marseillaise.html (ลงวันที่ 14 มกราคม 2015)

    ReplyDelete
  2. ดูการจุดดอกไม้ไฟที่ปารีสได้ที่นี่ http://www.francetvinfo.fr/france/14-juillet/video-14-juillet-revivez-le-final-du-feu-d-artifice-de-paris_999205.html#xtor=EPR-502-[newslettervideo]-20150715-[video1]

    ReplyDelete
  3. ประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติมีสิ่งที่ดีงามและน่าภาคภูมิใจ การเรียนรู้เรื่องราวและประวัติศาสตร์ของชาวฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกที่ประสบความยากลำบาก จะช่วยให้เราเข้าใจชาวฝรั่งเศสมากขึ้น ช่วยให้เราลดอคติต่อกัน และที่สำคัญทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของการรวมพลังเพื่อดำรงให้ชาติตั้งมั่นอยู่ได้อย่างสถาพร ตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ไม่มีล้าสมัย ถ้าเราฉลาดพอที่จะเลือกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถึงเวลาที่คนไทยต้องศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ของเรากันเองเสียทีแล้ว

    ReplyDelete
  4. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete