เมื่อวันก่อน (๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘) ได้ยินข่าวเกี่ยวกับมูลนิธิโฟ-ลง (Fondation Folon [ฟงดาซียง โฟ-ลง]) จากทีวีฝรั่งเศส ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า คุ้นเคยกับผลงานของศิลปินคนนี้
ผู้มีชื่อเต็มว่า Jean-Michel Folon [ฌ็อง-มิเชล โฟ-ลง]
ชาวเบลเยี่ยมผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (March 1, 1934 –
October 20, 2005) คนที่รู้จักเขาหรือทำงานกับเขาต่างยืนยันว่าเป็นคนอารมณ์ดี มีอารมณ์ขันเสมอ มองโลกในแง่ดี
และไม่เคยท้อถอยในการโปรโหมตความรักสิ่งแวดล้อม
ความรักชีวิตและศิลปะการใช้ชีวิตในความเรียบง่ายอย่างตระหนักรู้ในคุณค่าของสรรพสิ่ง
ฯลฯ
ในปี 2000 โฟ-ลงเองได้จัดตั้งมูลนิธิโฟ-ลงขึ้น ตั้งอยู่บนพื้นที่นาของปราสาท
Château de la Hulpe [ชาโต
เดอ ลา อุ๊ลเปอะ] แถวเมือง Solvay [ซอลเว] ประเทศเบลเยี่ยม มูลนิธิโฟ-ลงได้จัดพิพิธภัณฑ์รวมผลงานตลอด
40 ปีในชีวิตสร้างสรรค์ของศิลปิน ทั้งหมดมากกว่า 500 ชิ้น มูลนิธินี้เป็นผู้บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์
กับดูแลอนุรักษ์และเผยแพร่ผลงานทั้งหมดของโฟ-ลงสู่สาธารณชน
ปีนี้เป็นปีครบรอบ 10 ปีที่โฟ-ลงถึงแก่กรรม (เมื่อเขาอายุ 71 ปี) และเป็นปีครบรอบ 15
ปีของการสถาปนามูลนิธิโฟ-ลง
ประเทศเบลเยี่ยมเห็นเป็นโอกาสดี
จึงจัดนิทรรศการครั้งใหญ่เพื่อรำลึกถึงศิลปินผู้เป็นที่รักของชาวเบลเยี่ยมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นิทรรศการปีนี้เปิดตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1
พฤศจิกายนปี 2015 ณที่ตั้งของมูลนิธิเลย คือที่ Château de
la Hulpe ในเบลเยี่ยม.
ในนิทรรศการนี้มีผลงานกว่าสองร้อยชิ้นที่ยังไม่เคยนำออกแสดงที่ใดมาก่อน
ตามรายงานข่าวเจาะจงว่า โฟ-ลง
เป็นศิลปินที่มีความสามารถหลากหลาย ตั้งแต่การเป็นนักวาดเขียน
เป็นนักออกแบบลายเส้น เคยวาดภาพประกอบหนังสือ ภาพปกให้วารสาร The NewYorker
และวารสาร Times ของอเมริกาแล้วหลายฉบับ
วาดภาพปกของวรรณกรรมหลายเล่มทั้งของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสเช่น Emile
Zola, Jacques Prévert, Boris
Vian และนักประพันธ์ต่างชาติเช่น
Kafka. ทั้งยังเป็นผู้วาดโปสเตอร์ของเทศกาลระดับโลกจำนวนมากเช่น
เทศกาลเมืองเวนิส เทศกาลภาพยนต์เมือง Cannes [กาน]
ของ Roland Garros, หรือโปสเตอร์ภาพยนต์หลายเรื่องของ Woody Allen เป็นต้น
นอกจากด้านวาดเขียนและจิตรกรรม เขายังมีผลงานประติมากรรมอีกจำนวนมาก
ปีที่ข้าพเจ้าไปชมนิทรรศการของเขานั้น
คือปี 2005 นิทรรศการจัดขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์
พอดีกับที่ข้าพเจ้าผ่านไปทัศนศึกษาที่อิตาลี จึงมีโอกาสได้ไป “สัมผัส”
งานสร้างสรรค์ของเขา
ที่จัดขึ้นภายในบริเวณกว้างใหญ่บนเนินสูงของเมืองฟลอเรนซ์ที่เป็นที่ตั้งของป้อม Forte
di Belvedere, พระราชวังและต่อไปถึงป้อม Fortezza da Basso ผลงานของเขาจัดตั้งกระจายไปทั่วทั้งพื้นที่
มีทิวทัศน์ของเมืองฟลอเรนซ์เป็นฉากตระการตาอยู่ข้างหลัง นิทรรศการปีนั้น ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม
ถึงวันที่ 15 กันยายน 2005. โฟ-ลงถึงแก่กรรมหนึ่งเดือนต่อมา
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมปีนั้นเอง เท่ากับว่า
นั่นเป็นนิทรรศการสุดท้ายที่เขาไปควบคุมและจัดเอง
เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน
ยังจำได้ว่าเดินชื่นชมประติมากรรมแต่ละชิ้นของเขาด้วยจิตเบิกบานและสงสัย (ดังที่ศิลปินชอบ
“เครื่องหมายคำถาม”ที่เขาใช้บ่อยๆ)
ดูเหมือนว่าแนวความคิดและจินตนาการของเขาเข้าจับจิตวิญญาณของผู้ไปชมได้ทันที สิบปีผ่านไปแล้ว
ผู้สร้างงานเหล่านั้นก็ผ่านไปแล้ว
เหลือความฝันและจินตนาการของเขาที่ยังคงหล่อเลี้ยงอนุชนรุ่นหลัง
หูเหมือนได้ยินเสียงของเขาที่เชิญชวนให้ออกเดินทาง สู่เสรีภาพ
ให้เริ่มเดินทางในวินาทีนี้เลย เพราะการเดินทางในที่สุดมิได้สำคัญตรงที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง
แต่คือการมีจิตวิญญาณของผู้รักอิสระ
รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ
และมองดูทุกอย่างรอบข้างอย่างเจาะลึกด้วยความรักชีวิต รักธรรมชาติ รักเพื่อนมนุษย์ โลกทั้งใบอยู่ในหัวเรา ในจินตนาการของเรา
เราไปเที่ยวรอบโลกได้อย่างเบิกบานใจด้วยจินตนาการที่ไร้พรมแดน
เคยนำเสนอนิทรรศการของเขาลงในบล็อกเมื่อปีที่แล้ว
เลยถือโอกาสนำกลับมาให้ดูกันใหม่ แน่ใจว่าไม่น่าเบื่อ
ทุกอย่างที่เขียนไว้ยังครบถ้อยกระทงความตามที่ข้าพเจ้าได้ไปสัมผัสมาเมื่อสิบปีก่อน ได้นั่งฟังศิลปินพูดถึงความคิด
การสร้างงานของเขา ชัดเจน เรียบง่ายและตรงประเด็น
ขอถือโอกาสคารวะและขอบคุณศิลปินมาณที่นี้
(๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘)
**********************************************
นำชมนิทรรศการชื่อ Folon Firenze [โฟ-ลง ฝิเร้นเศะ] ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงวันที่ 15 กันยายน ปี 2005 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี มีข้อความติดไว้เชิงแนะนำเกี่ยวกับนิทรรศการพิเศษนี้ ใจความย่อๆว่า
Folon Firenze เป็นมากกว่าการจัดแสดงนิทรรศการ เพราะเป็นการแสดงความรักของศิลปิน Folon ที่มีต่อเมืองฟลอเรนซ์ ที่เป็นเสมือนบ้านแห่งที่สองของเขา
เป็นเมืองที่มีมิติลึกล้ำหาที่เปรียบมิได้
ทั้งในด้านศิลปะและด้านประวัติศาสตร์
ศิลปินมาน้อมคารวะและชื่นชม
พร้อมกับยอมรับว่าการมาท้าแข่งกับเมืองที่งดงามถึงเพียงนั้นนั้น
เป็นเรื่องยากทีเดียว แต่ความกระตือตือร้นในการจัดนิทรรศการของเขาได้รับการตอบสนองและความร่วมมือจากชาวเมืองฟลอเรนซ์เป็นอย่างดี
ทั้งหมดกุลีกุจอช่วยกันจัดวางประติมากรรมบนทุกพื้นที่
ตรงโน้นบ้าง ตรงนั้นบ้างหรือตรงนี้บ้าง
ตั้งแต่บนยอดหอคอยของป้อม Forte di Belvedere ที่มีประติมากรรมสามสิบชิ้น
ที่แทรกตัวเข้าไปอยู่ในสวนและตามไหล่เขาที่ลดหลั่นกัน และยังเข้าไปยึดพื้นที่อีกสองชั้นของตำหนัก สำหรับจัดแสดงภาพสีน้ำ
สิ่งละอันพันละร้อยและประติมากรรม(ขนาดเล็กกว่า)
และรวบพื้นที่ของป้อม Fortezza da Basso สำหรับเป็นที่ประดิษฐานสระน้ำพร้อมประติมากรรม
L’homme de la
paix (ชายผู้รักสันติ) ที่ศิลปินจัดวางไว้ที่นั่นเป็นการถาวร
เนื่องจากเขาได้มอบประติมากรรมนั้นแก่เมืองเวนิส... และยังมีรูปปั้นอีกมากที่กระจายไปตั้งตามมุมตามสถานที่ตามสวนต่างๆของเมืองฟลอเรนซ์
ฯลฯ .... ฤดูร้อนปีนี้ที่เมืองฟลอเรนซ์ จึงเป็นฤดูกาลของ Folon โดยเฉพาะ นำชมนิทรรศการชื่อ Folon Firenze [โฟ-ลง ฝิเร้นเศะ] ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงวันที่ 15 กันยายน ปี 2005 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี มีข้อความติดไว้เชิงแนะนำเกี่ยวกับนิทรรศการพิเศษนี้ ใจความย่อๆว่า
ข้าพเจ้าเองก็เพิ่งได้รู้ได้เห็นเกี่ยวกับศิลปินผู้นี้เมื่อบังเอิญผ่านไปแวะที่เมืองฟลอเรนซ์ปีนั้น ชื่อเต็มของเขาคือ Jean-Michel Folon เป็นชาวเบลเยี่ยม เกิดในปี
1936 (Uccle, Belgium) เมื่ออายุ 20
เขาผละจากการศึกษาสถาปัตยกรรม หันไปทุ่มชีวิตจิตใจกับการวาดเขียน
(drawing) ต่อมาย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส นิทรรศการครั้งแรกของเขาไปจัดอยู่ที่กรุงนิวยอร์คในปี
1969 ที่หอศิลป์ Galleria Lefèbre และในปีถัดมาก็ไปแสดงที่
Biennale di Venezia ประเทศอิตาลี (ชื่อในภาษาอังกฤษว่า
Venice Biennal เป็นนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นในปัจจุบันที่เมืองเวนิส
จัดทุกสองปีในปีที่เป็นเลขคี่ เทศกาลภาพยนต์
- Venice Film Festival ก็เป็นส่วนหนึ่ง หรือนิทรรศการสถาปัตยกรรม - Venice Biennale of Architecture ที่จัดขึ้นที่นั่นทุกสองปีในปีที่เป็นเลขคู่
ก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน ตั้งแต่ปี 1999 มีเทศกาลเต้นรำนานาชาติ
- International Festival of Contemporary Dance รวมอยู่ในBiennale
di Venezia ด้วย นับเป็นมหกรรมการแสดงของเมืองเวนิสที่รู้จักกันในระดับโลก)
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา
เขาย้ายไปอยู่ที่เมือง La Hulpe ใกล้เมืองบรัสเซลในประเทศเบลเยี่ยม
เนื่องจากเป็นคนเบลเยี่ยมที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส เขาจึงตั้งชื่อผลงานของเขาทุกชิ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส นิทรรศการปีนั้นที่เมืองฟลอเรนซ์ มีการสัมภาษณ์ศิลปินก่อนที่เขาจะนำผลงานของเขามาจัดแสดงที่เมืองฟลอเรนซ์ ข้าพเจ้าได้ติดตามฟังจากวีดีทัศน์ที่มีให้ดู ณจุดนิทรรศการ จึงนำคำพูดของเขา มาถ่ายทอดลงไว้ณที่นี้ เพื่อให้เราเข้าใจศิลปินและผลงานของเขามากขึ้น ด้วยความหวังว่า จะเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ เปิดมุมมองวิถีชีวิต วิธีคิดแก่เรา แก่เยาวชนไทย
นามบัตรผมปรากฏชื่อ Jean-Michel
FOLON [ฌ็อง-มิเชล-โฟ-ลง] ใต้ชื่อมีข้อความว่า
Agence du voyage
imaginaire - เอเย่นท่องเที่ยวไปกับจินตนาการ ยี่สิบปีแล้วที่ผมมาใช้ที่นี่เป็นโรงงาน จากความว่างเปล่าของพื้นที่ร้างในตอนนั้น
มาจนบัดนี้ มีอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แต่ผมไม่นับวันเวลาที่ผ่านไป
ผมนับเพียงงานที่ผมสร้างสรรค์ขึ้นมา การสร้างสรรค์ทำให้ผมรู้สึกว่ามีชีวิตอยู่จริง atelier (สถานที่ทำงานผลิตงาน) คืออะไร
ถ้ามิใช่พื้นที่ในหัวผม เพราะทุกอย่างที่เห็นอยู่ที่นี่ เกิดจากความคิดในหัวผม ผมจึงดีใจที่ผลงานของผมมีที่อยู่ที่ตั้งของมันภายในพื้นที่โรงงานนี้ แต่นั่นแหละ
งานทั้งหมดนี้กำลังจะออกไปสูดอากาศข้างนอก ไปพักร้อน ณ
แดนมหัศจรรย์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่เมืองฟลอเรนซ์ งานเหล่านี้คงมีโอกาสสื่อสารกับใครต่อใครที่ผ่านเข้าไปในเมืองนั้น บางคนอาจแปลกใจในรูปลักษณ์ของงานแต่ละชิ้น แต่โดยทั่วไปทุกคนจะเข้าใจได้ทันที ซึ่งนับว่าโชคดีสำหรับผม
L’allée des pensées - ถนนความคิด สรุปเนื้อหาที่สำคัญที่สุดในงานสร้างสรรค์ของผม ผมเองก็ไม่เข้าใจอะไรมากนักว่าทำไมสร้างรูปปั้นแบบนั้นแบบนี้ อาจเป็นคนๆเดียวกันที่แต่ละวันคิดอะไรอื่นๆที่แปลกแยกออกไป หรือเป็นคนหลายคนที่คิดอะไรต่างๆกัน ผมเองก็บอกคุณไม่ได้ ผมสร้างแต่ละรูปตามความคิดที่ผุดขึ้นในหัว และอยากให้ความคิดนั้นมีตัวมีตนขึ้นมา ทั้งหมดที่เห็นในโรงงานนี้จะจากไปอยู่เมืองฟลอเรนซ์นานสี่เดือน ที่นี่จะว่างเปล่า อ้างว้างลงไปทันที ผมจะเหมือนลูกกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งนานถึงสี่เดือน เพราะขาดชีวิตที่เคยอยู่รอบๆตัวผม เพราะโรงงานของศิลปินคืออะไร ถ้ามิใช่ศูนย์รวมชีวิตจิตสำนึกของผู้นั้น ที่ Belvedere [เบ้ลเวเดเหระ] มีห้องหับหลายห้อง ผมต้องเติมห้องพวกนั้นให้เต็ม อาจนำช็อกโกแล็ตมาวางแจกเด็กๆ ของฝากเล็กๆน้อยๆ หรือบรรจุความฝันเข้าไปให้เต็มทั่วทุกห้อง
L’allée des pensées - ถนนความคิด สรุปเนื้อหาที่สำคัญที่สุดในงานสร้างสรรค์ของผม ผมเองก็ไม่เข้าใจอะไรมากนักว่าทำไมสร้างรูปปั้นแบบนั้นแบบนี้ อาจเป็นคนๆเดียวกันที่แต่ละวันคิดอะไรอื่นๆที่แปลกแยกออกไป หรือเป็นคนหลายคนที่คิดอะไรต่างๆกัน ผมเองก็บอกคุณไม่ได้ ผมสร้างแต่ละรูปตามความคิดที่ผุดขึ้นในหัว และอยากให้ความคิดนั้นมีตัวมีตนขึ้นมา ทั้งหมดที่เห็นในโรงงานนี้จะจากไปอยู่เมืองฟลอเรนซ์นานสี่เดือน ที่นี่จะว่างเปล่า อ้างว้างลงไปทันที ผมจะเหมือนลูกกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งนานถึงสี่เดือน เพราะขาดชีวิตที่เคยอยู่รอบๆตัวผม เพราะโรงงานของศิลปินคืออะไร ถ้ามิใช่ศูนย์รวมชีวิตจิตสำนึกของผู้นั้น ที่ Belvedere [เบ้ลเวเดเหระ] มีห้องหับหลายห้อง ผมต้องเติมห้องพวกนั้นให้เต็ม อาจนำช็อกโกแล็ตมาวางแจกเด็กๆ ของฝากเล็กๆน้อยๆ หรือบรรจุความฝันเข้าไปให้เต็มทั่วทุกห้อง
งานที่ผมทำต้องเกี่ยวข้องกับงานช่างฝีมือมากทีเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับนายช่างฝีมือนั้นเป็นความงามแบบหนึ่งในชีวิต
นายช่างฝีมือสามารถเข้าถึงวัสดุต่างๆได้ลึกซึ้งต่างจากศิลปิน นอกจากงานวาดเขียนผมยังทำเซรามิค
ทำจิตรกรรมกระจกสี ทำพรมทอเป็นรูปลักษณ์ลวดลายและหล่อทองสัมฤทธิ์ด้วย ในกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้
นายช่างฝีมือแขนงต่างๆได้ช่วยผมมาก พวกเขาเป็นทั้งเพื่อน ทั้งผู้สนับสนุน
ทั้งผู้แนะนำ ผมเป็นเหมือนหัวหน้าวงดนตรี หากไม่มีนักดนตรีก็ย่อมไม่มีผลงานอะไรออกมา เพราะฉะนั้นงานสร้างสรรค์ของผมนั้น เป็นผลงานของคนทั้งทีม
ผู้ที่ผมพบ ผู้ที่ผมพูดคุยด้วยในชีวิต มีส่วนในงานแต่ละชิ้นที่ออกมา เพราะฉะนั้น
ผมจึงไม่ชอบเมื่อจะต้องเซ็นชื่อผมคนเดียวลงบนผลงานแต่ละชิ้น ผมเป็นเพียงผู้ประดิษฐ์จากความคิดที่หลายๆคนช่วยสานขึ้นมา
เจ้าของงานที่แท้จริงคือ ชีวิต คือประสบการณ์ คือความประจวบเหมาะ(คือเหตุปัจจัย)ที่อำนวยให้เกิดการสร้างสรรค์งานชิ้นนั้นชิ้นนี้ ในที่สุดศิลปินคือคนที่รู้จักฟังชีวิต รู้จักมองชีวิตด้วยสายตาที่เป็นธรรมและซื่อตรงแล้วพยายามถ่ายทอดชีวิตนั้นออกมา
ก่อนหน้าที่ผมจะจับงานประติมากรรม กระดาษเป็นพื้นที่ของผมที่ผมใส่ความฝันและจินตนาการลงไปในแต่ละโอกาส วันหนึ่งลูกชายผมพูดขึ้นว่า "พ่อ พื้นที่น่ะ
มิได้อยู่ในท้องฟ้าเท่านั้น แต่อยู่ใกล้ตัว
รอบตัวเรา" ผมเกิดอยากปั้นอะไรขึ้นมา ประติมากรรมมิใช่ของง่ายเลย
ต้องมองดูน่าสนใจจากทุกด้านทุกมุมมอง มันไม่ง่ายเลยที่จะใส่ชีวิตลงไปในดินก้อนหนึ่ง ผมต้องปั้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนวันหนึ่งมันเกิดดูดีใช้ได้ขึ้นมา
ในโลกนี้มีอะไรต่ออะไรที่ไม่น่าอภิรมย์นัก
เหมือนฝันร้ายที่ย้อนกลับมาหาเราบ่อยๆ แต่เราต้องไม่ปล่อยความคิดเราไปในแง่ร้าย อย่ามัวเสียเวลากับความคิดแง่ลบทั้งหลาย เพราะในชีวิตยังมีอะไรอีกมากมายที่สวยงาม ขอให้ฝันร้ายทั้งหลายมาหาผมในยามกลางคืนเถิด
เพื่อที่ผมจะแต่งเติมสิ่งสวยๆงามๆเพิ่มความสุขให้กับกลางวัน
ปกติผมชอบไปเดินเล่นในตลาดขายของเก่าเพราะมีสิ่งของเครื่องใช้สารพัดในชีวิตประจำวัน ผมชอบไปจับไปดูของพวกนั้น มันไม่มีค่าอะไรหรอก นอกจากค่าทางใจ เหมือนผมไปรับรู้ส่วนหนึ่งของชีวิตของผู้ที่เคยใช้เคยรักของชิ้นนั้น บางทีทำให้ผมอยากจะทำให้มันกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ นำมาชุบชีวิตใหม่ให้มัน ผมคิดว่านี่เองที่เป็นจุดยืนของศิลปะปัจจุบัน และปีกัสโซ่ เป็นผู้ริเริ่มนำวัตถุหลากหลายในชีวิตประจำวันที่คนใช้แล้วทิ้ง มาชุบชีวิตให้มันใหม่ เพราะฉะนั้นบางทีเราเก็บสะสมอะไรที่เราชอบ
ที่เราเห็นว่าสวย แม้ในสายตาคนอื่นจะไม่มีค่าอะไรเลย เราแต่ละคนพยายามอยู่ในแวดล้อมของสิ่งสวยงาม
เพราะความงามช่วยให้ชีวิตเราน่าอยู่ขึ้น เช่นทุกเช้าผมมีความสุขทุกครั้งที่เห็นถ้วยกาแฟที่มีไอร้อนๆลอยขึ้น
มันเชิญชวนให้ผมลอยออกไปท่องโลก สิ่งเล็กสิ่งน้อยเหล่านี้เติมแต่งความงามแก่ชีวิต ผมมีภาพก๊อปปี้ของจิตรกรรมชั้นครูสองสามภาพแขวนอยู่ในห้องทำงาน เช่นของ Cezanne [เซซาน] ของ Turner [เทอเนอ] ของ Paul Klee [พาอุ๊ล คลี] เป็นต้น แม้เป็นเพียงภาพก๊อปปี้เพราะผมไม่มีเงินซื้อภาพจริง แต่มันมีค่าสำหรับผม ผมมองชื่นชมทุกวัน และรู้ว่าตลอดชีวิต ผมไม่มีปัญญาสร้างสรรค์งานที่งามเช่นนั้นได้ บางทีการได้เห็นงานฝีมือชั้นครูช่วยให้เราทำสิ่งสวยๆงามๆได้ง่ายขึ้น
หรือบางทีเมื่อฟังดนตรีบางประเภท ช่วยให้ผมทำงานได้ดีขึ้นก็มี
ผมขอเพียงสามารถแต่งเติมชีวิตให้กับความฝันแบบเด็กๆของเรา
แผนผังพื้นที่ของป้อม Forte del
Belvedere [ฟอรฺเตะ เดล เบ้ลเวเด้เหระ]ที่จัดนิทรรศการครั้งนั้น
ในบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของพระราชวัง
Palazzo Pitti ([ปะล้าซโสะ ปิ๊ดตี]
และอุทยานที่ทอดอยู่ด้านหลังที่เรียกกันว่า Giardino
di Boboli
[จีอารฺดี๊โน
ดิ บอโบ่หลิ]) งานทุกชิ้น
จะมีแผ่นป้ายเขียนกำกับชื่อที่ศิลปินตั้งไว้เองในภาษาฝรั่งเศส
ชิ้นนี้ In the
wonderland - ในแดนมหัศจรรย์
ยืนเขย่งบนปลายเท้า
พร้อมที่จะโผบินไป fly off
the traveler - นักเดินทาง
the big head - คนหัวโต
centaur - เซ็นทอรฺ ครึ่งม้าครึ่งคน
ประติมากรรมหินอ่อนสีขาว
รูปหนึ่งกำกับไว้ว่า งู อีกรูปหนึ่ง ผู้หญิง อีกรูปหนึ่ง คลั่งรัก ฯลฯ
the flying man - มนุษย์ติดปีก
เหม่อมองไปไกล - far....
เวลาที่เดินไปเรื่อยๆ - Time
เส้นทางความคิด - alley of thoughts
รูปปั้นทั้งหลายเน้นที่ศีรษะที่มีรูปลักษณ์ต่างๆกัน
สื่อความคิดต่างๆกัน คิดในลักษณะต่างๆกัน
คงอย่างที่เราพูดว่า
ครุ่นคิด คิดจนหัวปั่น หัวแหลม หัวทื่อ ฯลฯ
ความคิดบางเรื่องอาจทำให้หัวปั่นได้
ความคิดบางเรื่องอาจปะติดปะต่อ ขาดตอน
ไปให้ถึงจุดหมายลำบาก
ไปให้ถึงจุดหมายลำบาก
อาจมีดนตรีดังอยู่ในหัว
หญิงสาวคนหนึ่งกำลังพยายามเล็งถ่ายภาพที่อยู่ข้างในกระเป๋าเดินทางบนหัวคน เห็นถ่ายเล็งอยู่นาน จึงเข้าไปแนะให้ถ่ายด้วยวิธีใด ดังที่ข้าพเจ้าถ่ายมาให้ดูให้หายข้องใจ น่าสนใจทีเดียว... (หญิงสาวผู้นั้นมาจากประเทศโปแลนด์ เธอบอกว่าเธอเพิ่งซื้อกล้องและเริ่มใช้วันนั้น ยังใช้ไม่เป็นเลย)
กระเป๋าความคิด หรือกระเป๋าหัวสมอง
ดูให้เห็นใบหน้าของคนใส่หมวกในกระเป๋า
ดูให้เห็นใบหน้าของคนใส่หมวกในกระเป๋า
ใครน่ะ
นกหรือเปล่า ?
ในอีกมุมหนึ่งของสวน จัดเป็น สระปลา - fish fountain
ชายคนหนึ่งกอดปลา
12 ตัวไว้แนบอก
จะมีน้ำพุพุ่งออกจากปากปลาทั้งสิบสองตัว
กำกับไว้ว่า ชายสูงสี่เมตร ในสระน้ำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางแปดเมตร
กำกับไว้ว่า ชายสูงสี่เมตร ในสระน้ำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางแปดเมตร
(แต่ตอนที่เห็น
ไม่มีน้ำพุ่งออก น้ำอาจถูกตัดบางช่วงของวันเพื่อประหยัดน้ำ)
นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สื่อ
การผ่านไปของเวลา - the passing of time
และสิ่งที่เวลาทิ้งไว้ข้างหลัง
... คนขาดตอน!!!
take off - ออกเรือไปเลย
จากบน Belvedere มองไปโดยรอบ ทัศนียภาพงดงาม
ในยามที่แดดไม่ร้อนจัดเกินไปสำหรับคนไทย
น่าอภิรมย์ทีเดียว
เห็นบ้านส่วนตัวหรือวิลลาของชาวเมืองผู้โชคดีที่ฟลอเรนซ์
ไกลออกไปบนเนินเขาอีกฝั่งหนึ่ง
เห็นด้านหน้าของวัด
San Miniato al Monte [ซัน มิเนี่ยโตะ อัล โม้นเตะ]
ตามแบบสถาปัตยกรรมเรอแนสซ็องส์อิตาเลียน
ก่อนลงจาก Belvedere แวะไปดื่มอะให้ชื่นใจ
และกวาดตามองเก็บทิวทัศน์ที่งามประทับใจอีกครั้ง
และกวาดตามองเก็บทิวทัศน์ที่งามประทับใจอีกครั้ง
ลงจากเนินเขา
Belvedere ยังได้แวะไปชมผลงานอื่นๆอีกของ
Folon
ที่พระราชวัง Palazzo Vecchio [ปะล้าซโสะ เว็กกิโอ]
ที่มีภาพวาดสีน้ำและประติมากรรมใหญ่และเล็ก
ที่พระราชวัง Palazzo Vecchio [ปะล้าซโสะ เว็กกิโอ]
ที่มีภาพวาดสีน้ำและประติมากรรมใหญ่และเล็ก
ไปโดยไม่มีกระเป๋าเดินทาง
ความลับ
นิทรรศการปีนั้น ได้ขนผลงาน 240
ชิ้นจากหอศิลป์ของโฟ-ลงเองจากเมือง
Montecarlo
ข้าพเจ้าประทับใจในตัวศิลปินที่ทำให้เรามีโอกาสเพลินกับโลกสวยของเราเองบ้างที่เก็บอยู่ในหัวของเรา ที่อาจทำให้เราพยายามทำสิ่งรอบข้างให้สวยให้น่าอยู่ตามไปตามกำลัง ความงามของสิ่งหนึ่งเหมือนความดีของคนหนึ่ง
เป็นกระดานกระโดดต่อความงาม ต่อความดีหลากหลายออกไปได้ไม่รู้จบ
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
เมื่อครั้งไปเยือนเมืองฟลอเรนซ์วันที่ ๑๘-๑๙ สิงหาคมปี ๒๐๐๕...
เมื่อครั้งไปเยือนเมืองฟลอเรนซ์วันที่ ๑๘-๑๙ สิงหาคมปี ๒๐๐๕...
This comment has been removed by the author.
ReplyDeleteเป็นงานประติมากรรมร่วมสมัยที่น่าสนใจ และแปลกตามากเลยโช
ReplyDelete