Friday, 3 April 2015

รู้จักน้ำ เข้าใจชีวิต รักชีวิต ถนอมน้ำ - Know water

วันนี้วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เป็นวันมหามงคลของชาวไทยใจรักชาติ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนม์ ๖๐ พรรษา  นึกถึงพระองค์และโครงการต่างๆที่พระองค์ทรงปฏิบัติสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่ทรงพระเยาว์   มิมีเวลาสนุกสนานเยี่ยงสามัญชนทั่วไป  มิมีเวลาเพลิดเพลินเฉิดฉายลอยฟ้าดั่งเจ้าหญิงในนิทาน   ชีวิตพระองค์เป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน  น้ำพระทัยของพระองค์ดั่งผืนน้ำอันกว้างใหญ่   พระองค์ทรงเป็น “แม่น้ำ” สายสำคัญเพื่อหล่อเลี้ยงปวงประชา   ข้าพเจ้าอดตื้นตันใจไม่ได้  ทำให้นึกถึงเรื่อง “น้ำ” ขึ้นมา  ในเดือนแห่งสงกรานต์ เดือนที่ร้อนแห้งแล้ง ทวยราษฎร์มีน้ำพระทัยที่เหมือนฝนนำความชุ่มชื่นใจ ทำให้ทุกข์ร้อนใดพลันมลายหายวับไป  ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน  ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  รวบรวมข้อมูลเป็นบทความนี้ด้วยความรักน้ำ  และนำลงบล็อกในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เพื่อเทิดไท้องค์มหาจักรีสิรินธร

                                                                             
          จนถึงวันนี้ โลกเป็นดาวพระเคราะห์ดวงเดียวที่มีน้ำ  เมื่อมองจากอวกาศโลกจะมีสีน้ำเงินสลับสีขาว  สีน้ำเงินคือสีของน้ำบนโลก(เป็นที่มาของชื่อThe Blue Planet ที่ใช้เรียกโลกในหมู่ดาวพระเคราะห์)  ส่วนสีขาวๆคือสีของไอน้ำเมฆหมอกที่ปกคลุมโลก  เพราะโลกมีน้ำจึงมีสิ่งมีชีวิต(คน สัตว์และพืช)  ชีวิตทุกชีวิตเริ่มขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่เป็นน้ำ และจะต้องพึ่งพาน้ำตลอดไปโดยไม่มีทางเลือกอื่นใดเพื่อการยังชีพ  ความสำนึกนี้เป็นสัญชาตญาณของคนตั้งแต่เกิดและเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อกับอารยธรรมและวิวัฒนาการของมนุษย์  ชุมชนใดมีน้ำดื่มน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ย่อมมีวิถีชีวิต มีผลผลิตและงานสร้างสรรค์ต่างกับชุมชนที่ขาดน้ำ  น้ำจึงเป็นเหมือนเจ้าเหนือหัวที่บงการแนวการครองชีวิตของชนกลุ่มต่างๆมาแต่โบราณกาล  บทเขียนนี้ต้องการเสนอข้อมูลสำคัญๆเพื่อกระชับจิตสำนึกเกี่ยวกับน้ำกับสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของความอยู่รอดของมนุษยชาติทั้งมวล

มวลน้ำในโลกของเรา

          71 % ของพื้นที่โลกมีมวลน้ำปกคลุม  ตื้นลึกต่างๆกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ  บางแห่งประมาณกันว่าเป็นหลุมกว้างและลึกลงไปถึง 11.3 กม. (เช่นหลุมในมหาสมุทรปาซิฟิค ที่เรียกกันว่า หลุมทะเลมารีอานา-Mariana Trench)  หรือพื้นที่น้ำแข็ง(ทั้งที่เป็นแม่น้ำ ทะเล ทุ่ง เนินหรือภูเขาน้ำแข็ง) ในขั้วโลกเหนือบางแห่งหนาถึง 3000 เมตร (ใน Groënland)   ปริมาณน้ำทั้งหมดของโลกประมาณกันว่าเท่ากับ 1360 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร  ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับส่วนประกอบอื่นๆของโลก  ถ้าเราลดขนาดของโลกให้เหลือเท่าขนาดของส้มลูกหนึ่ง  จำนวนน้ำทั้งหมดของโลกรวมกันจะเป็นเพียงหยดน้ำหยดเดียว  ที่น่ารู้ยิ่งกว่านี้คือ 97 % ของมวลน้ำทั้งหมดเป็นน้ำเค็ม โลกมีน้ำจืดเพียง 3% เท่านั้น  และในจำนวน 3% นี้  ¾ อยู่ในสภาพของน้ำแข็งที่สองขั้วโลก (น้ำในรูปแข็งตัวนี้อาจแข็งตัวอยู่ได้นานหนึ่งชั่วโมง หลายเดือนหรือเป็นล้านๆปี  คนจึงคิดจะพึ่งน้ำจืดจากแหล่งน้ำแข็งขั้วโลกไม่ได้นัก)  น้ำบนผิวโลกที่เปิดสู่ท้องฟ้ามีประมาณ 0.61%   ทะเลสาปน้ำจืดอีกประมาณ 0.01%  ในที่สุดโลกมีน้ำจืดเหลือเพียง 8 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตรเมตรสำหรับประชากรโลกทั้งโลก (Leray, 25). (สถิติล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติว่า โลกมีประชากรทั้งหมด 6 พันล้านคนในปีคศ.1998 และจะเพิ่มเป็นประมาณ 9 พันล้านคนในปีคศ. 2050(1)  คนหนึ่งคนใช้น้ำประมาณวันละ200-300 ลิตร  เมื่อคิดคำนวณดูแล้วโลกไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูมนุษย์แล้ว 

          ชาวรัสเซียควรได้รับการยกย่องในฐานะที่ได้พยายามศึกษาหารายละเอียดเกี่ยวกับปริมาตรของมวลน้ำทั้งหมดที่มีในโลกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว  ดังตารางที่นำมาแสดงข้างล่างนี้ จากข้อมูลของ World Resources 1990-1991. ในช่องตัวเลขที่เกี่ยวกับเวลา อธิบายเวลาเฉลี่ยที่โมเลกุลน้ำหนึ่งโมเลกุลหยุดอยู่ในพื้นที่หนึ่ง ก่อนผันแปรเข้าสู่ขั้นถัดไปในวัฏจักรน้ำ

แหล่งน้ำ              ปริมาตรที่กักไว้         เทียบเป็น%ของปริมาตร    เวลาที่จะคงอยู่ที่แหล่งน้ำนั้น

                       (ลูกบาศก์กิโลเมตร)             ทั้งหมด

มหาสมุทร              1 350 000 000               97,410                           2500 ปี

ภูเขาน้ำแข็ง                  27 500 000                 1,984                     ระหว่าง 1600-9700ปี
ใต้บาดาล                        8 200 000                 0,592                           1400 ปี
ทะเลภายใน                       105 000             0,00758                            ยังไม่อาจรู้ได้
ทะเลสาปน้ำจืด                 100 000             0,00722                             17 ปี
ความชื้นของดิน                   70 000             0,00505                              1 ปี
ความชื้นของอากาศ             13 000              0,00094                             8 วัน
แม่น้ำ                                  1 700              0,00012                            16 วัน
น้ำในเซลล์ที่มีชีวิต                 1 100              0,00008                          2-3 ชั่วโมง
รวมทั้งหมด            1 385 990 800                 100
(จาก Marsily, p.14)

          ถ้าเราเกลี่ยพื้นที่ผิวของโลกทั้งโลกให้เป็นพื้นราบเรียบเสมอกัน  ปริมาตรน้ำทั้งหมดที่โลกมีรวมกันเป็นระดับสูงเหนือผิวราบเรียบดังกล่าวเพียงสามกิโลเมตร  (ในดาวศุกร์มีระดับสูงประมาณ 300 เมตร และในดาวอังคาร 20 เซนติเมตร  ดาวพุธยังมีน้ำแข็งอยู่เพียงนิดหน่อยเท่านั้น)  จำนวนน้ำในตารางข้างบนเป็นมวลน้ำที่อยู่ในผิวรอบนอกของโลก (crust)(2)  คือลึกลงไปใต้ผิวโลกประมาณ 20-30 กิโลเมตร (ข้อมูลบางแห่งให้ไว้กว้างๆว่าอยู่ระหว่าง 19-64 กม.)  ลึกลงไปจากนี้ เป็นชั้นของโลกที่เรียกกันว่าชั้นเสื้อคลุมโลก(mantle) ที่ประกอบด้วยสารแร่โลหะที่ข้นเหลวและร้อนระอุ (เช่น ซิลิกา, เหล็ก, แม็กนีเซียมและแร่ธาตุอื่นที่มีโลหะเจือปน)  ในสารโลหะนี้ยังมีส่วนประกอบของน้ำประมาณ 0.3%.  ปริมาตรนี้คาดกันว่าเป็น 1-2 เท่าของปริมาตรน้ำในมหาสมุทรทั้งหมดบนโลก  ชั้นเสื้อคลุมโลกนี้ประมาณกันว่าหนาลึกลงไป 2900 กิโลเมตร  ลึกลงไปอีกจะเป็นเขตที่เรียกว่าใจกลางโลก(core) อันประกอบด้วยธาตุเหล็กเหลวมีนิกเก็ล(nickel)ปนเล็กน้อย ใจกลางส่วนนอกหนาประมาณ 2253กม.  เป็นมวลเหลวเข้มข้นในขณะที่แกนกลางโลกแข็งและหนาประมาณ 1287 กม.  ใจกลางโลกมีอุณหภูมิประมาณ 4000-5000°C หรือเกือบเท่าความร้อนของผิวดวงอาทิตย์
          ตัวเลขที่เกี่ยวกับน้ำใต้บาดาลยากที่เจาะจงได้อย่างแน่นอน  จึงเป็นตัวเลขที่นักวิทยาศาสตร์กะโดยประมาณเท่านั้น ในระหว่าง 7 ล้านถึง 330 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร  น้ำบาดาลนี้มาจากไหน?  ใต้พื้นดินตั้งแต่ 10 กิโลเมตรลงไป (ก่อนถึง ชั้นของเสื้อคลุมโลก หรือชั้นของโลหะเหลว) มีมวลหินคลุมเสริมความมั่นคงของพื้นดินอยู่ชั้นหนึ่ง ขอให้นึกถึงเวลาเราปลูกต้นไม้ลงกระถาง, ก่อนจะใส่ดินเราจัดก้อนหินเล็กๆวางปิดเป็นฐานก้นกระถางก่อน เพื่อไม่ให้ดินร่วงหลุดออกไปทางรูที่ก้นกระถางเวลาเรารดน้ำ (และกันรากไม่ให้งอกออกไปนอกกระถางด้วย)  ชั้นหินใต้ดินของโลกก็ทำหน้าที่แบบเดียวกันหินเหล่านี้ไม่ได้เรียงติดแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน แต่มีช่องห่างระหว่างมัน  ช่องว่างนี้นับตั้งแต่ช่องระหว่างเ็ดทราย ระหว่างกรวดหิน โพรงหรือรูภายในเนื้อหินขนาดตาเปล่าคนมองไม่เห็น ตลอดจนแนวร้าวในเนื้อหิน (แนวร้าวของหินเกิดจากการที่เปลือกนอกของโลกเคลื่อนไหวตลอดเวลา  ทำให้มีการชนการกระแทกระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาล้านๆปี  และทำให้หินเนื้อแข็งเช่นหินแกรนิตร้าวได้) (3)  ช่องว่างต่างๆนี่แหละเป็นที่กักน้ำบาดาล
          ในเขตที่ภูมิอากาศพอเหมาะไม่หนาวไม่ร้อนไม่ชื้นไม่แห้งจนเกินไปนั้น  ฤดูหนาว ฝนหรือหิมะที่ตกจะดิ่งลงผ่านชั้นดินไปถึงชั้นหิน ไปป้อนปริมาณของน้ำบาดาล  น้ำบาดาลจะไหลช้าๆ (ระดับน้ำขึ้นลงไม่เกินหนึ่งเมตรต่อวัน  ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของแรงถ่วงของโลกและแรงกดดันของพื้นดินที่ทับอยู่ข้างบน) และแทรกเข้าสู่แม่น้ำ หรือเข้าตามบ่อน้ำลึกที่คนขุดเจาะลงไป  น้ำและระดับน้ำในบ่อคือน้ำและระดับของน้ำที่ไปจากชั้นหิน  ฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน ความร้อนไปเร่งการระเหยของน้ำบนผิวดินจึงไม่ค่อยมีเหลือแทรกลงไปถึงชั้นหิน  บางทีทำให้น้ำในชั้นหินแห้งเหือดไปเลย  น้ำบาดาลที่อยู่ลึกๆลงไปมากก็ไม่อาจไหลขึ้นไปสู่แม่น้ำหรือบ่อต่างๆได้ทัน
          ในเขตแห้งแล้งเช่นในทวีปแอฟริกาตอนเหนือหรือในถิ่นที่มีจำนวนน้ำฝนต่อปีไม่เกิน 5 ซม.จำนวนน้ำฝนที่พื้นดินกักไว้นั้นน้อยเกินไปอยู่แล้ว  แทบจะไม่เพียงพอสำหรับทดแทนจำนวนน้ำที่พืชพันธุ์คายออกตามขบวนการสังเคราะห์แสง (ลมหายใจออกของสิ่งมีชีวิตเป็นไอน้ำ  แต่ละวันคนสูญเสียน้ำที่ออกมากับลมหายใจเฉลี่ยประมาณครึ่งลิตร  คนหายใจประมาณ 15 ครั้งต่อนาที และประมาณ 400 ล้านครั้งในชั่วชีวิตหนึ่ง (4))  ฝนที่ตกลงจึงถูกต้นไม้ดูดไปเกือบหมด  ไม่มีเหลือลงไปถึงชั้นหิน แต่ในเขตแห้งแล้งแบบนี้ก็อาจมีธารน้ำได้ เป็นหย่อมๆแบบโอเอซิส (oasis) ในทะเลทราย  ทำไมจึงมีได้? เพราะความแห้งแล้งมักยังผลให้น้ำที่กักเก็บไว้ในผิวดินในฤดูหนาว ไหลเร็วลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าและไปรวมกันเป็นแอ่ง ที่เรียกกันว่าเป็นธารน้ำชั่วคราว (เรียกว่า oued ในแอฟริกา)  กระแสน้ำที่อยู่ข้างล่างของแอ่งน้ำนี้เคลื่อนตัวเร็วและไหลแทรกซึมออกลงสู่ชั้นหิน (ตรงกันข้ามกับในเขตอากาศที่ไม่หนาวไม่ร้อนเกินไปดังกล่าวข้างบน  นั่นคือน้ำจากชั้นหินไหลแทรกเข้าสู่แม่น้ำ) (5)
          น้ำบาดาลในเขตแห้งแล้งอยู่ลึกลงไปมากกว่าในเขตอบอุ่น และใต้ฐานธารน้ำชั่วคราวลงไปอีก มันจะพยายามไหลลงสู่พื้นที่ต่ำกว่าหรือสู่ทะเลเช่นเดียวกับธารน้ำชั่วคราว แต่มักไปไม่ถึงทะเลเพราะแรงกดดันที่ทับมันอยู่  ความร้อนทำให้ธารน้ำชั่วคราวระเหยเหือดแห้งไปได้  เหลือเพียงคราบเกร็ดเกลือบนพื้นดิน เช่นเดียวกันน้ำบาดาลก็แทรกซึมขึ้นสู่ผิวดินอย่างช้าๆและจะระเหยแห้งลงไปเรื่อยๆ  พึงทราบว่าน้ำบาดาลในแถบกันดารนั้นอาจมี น้ำแก่ ปนอยู่ (ดูคำอธิบายเกี่ยวกับน้ำอ่อน-น้ำแก่ต่อไปข้างล่างนี้ในชั้นเสื้อคลุมโลก) เป็นน้ำที่มีอายุมาหกพันปีกว่า เป็นน้ำในยุคที่ยุโรปตอนเหนือยังปกคลุมด้วยน้ำแข็งและทะเลทรายซาฮารา(Saharaในทวีปแอฟริกา) ยังเป็นแดนเขียวชะอุ่มและอุดมสมบูรณ์  ยูเนสโกได้ร่วมมือกับรัฐบาลลีเบียทำโครงการ แม่น้ำเขียวเพื่อนำส่ง น้ำแก่จากบาดาลมาใช้บนดิน(6)  สรุปแล้วปริมาณน้ำบาดาลมาจากการเก็บกักฝนในฤดูหนาว พอเข้าฤดูร้อนภูมิอากาศของแต่ละเขตทำให้น้ำบาดาลลดน้อยลงหรือแห้งเหือดไปเลย  ปริมาณของน้ำตามแม่น้ำลำคลองบนผิวชั้นนอกของโลกก็ลดลงในฤดูร้อนเช่นกัน  เหลือเพียงน้ำ ก้นบึงที่ทั้งคนสัตว์และพืชต้องอาศัย  ซ้ำร้ายน้ำที่เหลือนี้ยังเป็นน้ำเลวและกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่มากับน้ำ โครงการขุดบ่อลึกๆในเขตแห้งแล้ง จึงมุ่งที่จะเจาะผิวโลกลงไปให้ถึงชั้นบาดาลเพื่อนำน้ำที่ไร้มลพิษมาบริโภค
          ยังมีน้ำบาดาลอีกพวกหนึ่งที่อยู่ลึกลงไปมากตั้งแต่หนึ่งถึงสองกิโลเมตรในดิน เป็นน้ำบาดาลที่อยู่ลึกใต้ที่ราบลุ่มลงไปอีก  สภาพดินแถบนี้เป็นแบบดินเหนียวที่ทำหน้าที่คล้ายผนังท่อน้ำกั้นสายน้ำบาดาลไม่ให้ซึมออกไปได้ง่ายนัก และเนื่องจากมันอยู่ลึกลงไปมากด้วย  ทำให้น้ำบาดาลในแถบนี้ไม่ลดน้อยลงไป  สายน้ำบาดาลแบบนี้ไหลช้าลงไปอีกเพราะแรงถ่วงของโลกและแรงกดดันของชั้นดินที่ทับอยู่ข้างบน แต่การเคลื่อนไหวของมันภายใต้พื้นดิน(เหมือนภายในท่อ) ก็ทำให้มันมีแรงดันเพิ่มขึ้นๆด้วย  ฉะนั้นถ้าเผอิญมีการเจาะบ่อน้ำลงไปถึงสายน้ำบาดาลนี้  ความดันภายในมวลน้ำมันเองจะดันน้ำให้พุ่งออกมาถึงผิวโลกชั้นนอกได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำใดๆ (เรียกว่าเป็นบ่อน้ำอาร์ทีเซียน-artesian well หรือ nappe artésienne มาจากคำว่า Artois ซึ่งเป็นชื่อเมืองเก่าเมืองหนึ่งในตอนเหนือของฝรั่งเศสมณฑล Pas-de-Calais ปัจจุบัน เข้าใจว่าเป็นที่ที่คนพบน้ำบาดาลพุ่งขึ้นเองแบบนี้เป็นแห่งแรก)  พอน้ำพุ่งออกมากๆและนานๆ หรือมีการขุดบ่อไปยังสายน้ำบาดาลแบบนี้มากแห่งเข้า ความดันของสายน้ำก็ลดลงและทำให้คนต้องใช้เครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเพื่อดูดน้ำบาดาลขึ้นมา(บ่อนั้นก็หยุดเป็นบ่ออาร์ทีเซียนไป)  และเมื่อยิ่งสูบน้ำขึ้นมามากเท่าไร ก็ต้องยิ่งขุดลึกลงไปเท่านั้นเพื่อสูบให้ได้น้ำ เป็นลูกโซ่กันเช่นนี้  ปัจจุบันนี้พื้นโลกกักน้ำสู่ใต้บาดาลไม่ทันแล้วเพราะคนสูบน้ำขึ้นมาใช้เรื่อยๆไม่หยุด ทำให้พื้นดินแห้งหดตัวและทรุดลงๆเรื่อยๆ(7)  นี่ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปในโลก  การสูบน้ำไม่หยุดแบบนี้ยังมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นด้วยเพราะความชื้นภายใต้พื้นโลกลดลง  หรืออาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดบ่อยขึ้นๆด้วย
          ลึกลงไปในชั้นเสื้อคลุมโลกซึ่งก็มีน้ำกักอยู่  น้ำนี้ถูกคายออกสู่ผิวชั้นนอกของโลกอย่างช้าๆ เรียกน้ำนี้ว่าเป็น น้ำอ่อน(วัย)” เมื่อเทียบกับ น้ำแก่ ที่ไหลและแปรสภาพไปตามวัฏจักรน้ำบนผิวโลก น้ำอ่อนที่ออกมาใหม่นี้มีจำนวนน้อยมาก และคงไม่กลายเป็นแหล่งน้ำของมนุษย์ได้  อีกประการหนึ่ง น้ำอ่อนนี้แทรกเข้าสู่ผิวชั้นนอกของโลกตามแอ่งลึกบนสันหลังโลกใต้ทะเลลึก ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกันกับที่ลาวา(หินเหลว)ของภูเขาไฟใต้ทะเลทะลักออกมาจากใต้พื้นโลก  น้ำอ่อนยังออกมาทางภูเขาไฟที่ยังร้อนระอุอยู่  เช่นภูเขาไฟต่างๆในหมู่เกาะฮาวาย  ในทำนองเดียวกัน น้ำแก่ ที่โลกมีอยู่ ก็จะกลับคืนเข้าสู่ชั้นเสื้อคลุมโลกด้วย เมื่อผิวโลกใต้ทะเลยุบตัวเป็นแอ่งลึกจมหายลงใต้ทวีปต่างๆ
          นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อประมาณสามสี่พันล้านปีก่อน บนดาวอังคารมีมวลน้ำปกคลุมแบบเดียวกับโลก และน้ำนี้ก็หายสาบสูญไปตามกาลเวลา  มันหายไปไหนได้อย่างไรนั้น ไม่มีใครให้คำตอบที่แน่นอนได้ แต่คาดกันว่า น้ำคงระเหยหายไปในอวกาศระหว่างดวงดาวต่างๆ  เช่นเดียวกับที่ดาวพุธ ซึ่งยังคงมีน้ำแข็งอยู่ แต่น้ำแข็งน้อยนิดนี้ซ่อนอยู่ลึกลงไปในหลุมอุกกาบาต หนีจากแสงอาทิตย์ไปได้ จึงระเหยอย่างช้าๆ  โลกจะแห้งสนิทอย่างดาวอังคารไหม?  สภาพภูมิอากาศโลกภายในระบบสุริยะ ยังเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาวิเคราะห์กันอยู่  มวลน้ำในโลกเรานี้หุ้มห่อโลกได้เพราะแรงศูนย์ถ่วงของโลกดึงไว้อยู่  ในขณะเดียวกัน บนบรรยากาศชั้นสูงๆขึ้นไป แสงอัลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ก็ทำให้โมเลกุลน้ำแยกตัวออกเป็นก๊าซไฮโดรเจน(H) กับก๊าซออกซิเจน(O)  ก๊าซไฮโดรเจนซึ่งเบาเหมือนก๊าซฮีเลียม(He)จะลอยหายไปจากบรรยากาศโลก แต่ก๊าซออกซิเจนยังคงอยู่ แสงอัลตราไวโอเล็ตจึงทำให้โลกสูญเสียน้ำ แม้จะเ็นจำนวนน้อย และพอจะเทียบได้กับจำนวนน้ำอ่อนที่ผิวโลกชั้นนอกได้มาชดเชย  นักวิทยาศาสตร์ได้สรุปว่ากาลเวลาล้านๆปีที่ผ่านไปนั้น ปริมาตรของมวลมหาสมุทรของโลกดูเหมือนว่าจะคงที่หรือเปลี่ยนแปรไปน้อยมาก  คาดกันว่าโลกได้สูญเสียมวลน้ำไปตั้งแต่กำเนิดของโลกประมาณเป็นระดับสูงของน้ำได้สามเมตร เมื่อเทียบกับระดับน้ำที่เหลือสามกิโลเมตรในโลกขณะนี้(ดังอธิบายมาข้างต้น)
          การค้นคว้าทางธรณีวิทยาบอกให้รู้ว่าโลกในยุคก่อนๆ มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์เขียวชะอุ่มเกือบทั่วไป  ความเขียวชะอุ่มหมดไปพร้อมๆกับสรรพสัตว์และพืชมากมายที่สูญพันธุ์ไป ทิ้งร่องรอยไว้เหมือนจะประท้วงและยืนยันสิทธิของการมีชีวิต  เช่นเมื่อหลายพันปีก่อน ทะเลทรายซาฮารา(Sahara) เคยเป็นดินแดนที่ปกคลุมด้วยผลหมากรากไม้นานาพันธุ์ ปัจจุบันพื้นที่ทะเลทรายขยายออกไปประมาณหกล้านเฮกเตอร์ทุกๆปี  อะไรเป็นเหตุให้เกิดทะเลทรายและอะไรทำให้มันแผ่อาณาเขตกว้างออกไปไม่หยุด แม่น้ำลำคลองมากมายกี่สายบนโลกหรือแม้แต่ทะเลภายในก็แห้งเหือดลงไปเรื่อยๆหรือกลายเป็นแหล่งขยะมูลฝอยของคน  จะโทษฟ้าดินไม่ได้แล้วเพราะเดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่าดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากความเห็นแก่ตัวกับความเบาปัญญาของมนุษย์เองที่นึกแค่ประโยชน์เฉพาะหน้าและได้ทำลายแหล่งน้ำสำคัญๆไปอย่างไม่มีวันได้กลับคืนมา (8)

          วันหนึ่งๆเราใช้น้ำเป็นจำนวนมาก(9) เช่น เราใช้น้ำจำนวน 3-10 ลิตรในการประกอบอาหาร  40ลิตรในการซักล้างเสื้อผ้า  50 ลิตรในการล้างถ้วยชาม  25-30 ลิตรเมื่ออาบน้ำฝักบัวแต่ละครั้ง 150-200 ลิตรเมื่ออาบในอ่างอาบน้ำ 10 ลิตรเมื่อชักโครกล้างส้วม 190 ลิตรเมื่อล้างรถ เป็นต้น  จะเห็นว่าในแต่ละวันจำนวนน้ำที่คนใช้อยู่ระหว่าง 200-300 ลิตร  นอกจากน้ำที่คนใช้โดยตรงยังมีน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรและในกิจการงานเกือบทุกชนิด  เช่น
*  ต้องใช้น้ำ 22.7 ลิตรหรือ6 แกลลอนเพื่อผลิตน้ำมันรถยนต์หนึ่งแกลลอน 
*  ต้องใช้น้ำถึง 1400 แกลลอนในขบวนการผลิตเพื่อให้ได้อาหารจานด่วนหนึ่งที่ ที่ประกอบด้วยแฮมเบอเกอร์ ¼ ปอนด์ มันฝรั่งทอดหนึ่งส่วนและน้ำอัดลมอีกหนึ่งกระป๋อง
*  ใช้น้ำถึง 2607 แกลลอนกว่าจะได้เนื้อสเต้กหนึ่งชิ้นมาวางกินตรงหน้าเรา 
*  วัวนมดื่มน้ำวันละ 37 แกลลอน
*  ไก่ร้อยตัวดื่มน้ำวันละ 6 แกลลอน(10)  
ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นปริมาณน้ำที่หมดลงทุกวันๆโดยที่คนลืมไปว่าบนโลกเรานี้ จะไม่มีน้ำใหม่มาเพิ่มเลย (น้ำที่เราใช้ไปจะผ่านขบวนการฟอกหรือเข้าสู่วัฏจักรน้ำแล้วกลับมาให้เราใช้อีก วนไปเวียนมาเหมือนกงกำกงเกวียน)  วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปมากพร้อมๆกับการใช้น้ำอย่างไม่รู้จักอดออม  ระบบนิเวศน์บนโลกถูกทำลายตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ส่งอิทธิพลต่อภูมิอากาศรอบโลกและกระทบกระเทือนวัฏจักรน้ำ  การขาดน้ำดื่มน้ำใช้นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและจะทวีความเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ  ถ้าประชากรเป็นไปตามสถิติ(คือจะมีถึง 9 พันล้านคนในปี 2050) คนไม่เพียงแต่จะขาดน้ำ แต่ยังขาดปัจจัยสำคัญในการเนรมิตสิ่งก่อสร้างที่สามารถนำน้ำจากแห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่ง  ซึ่งไม่ใช่เพียงการส่งน้ำข้ามเมืองหรือข้ามประเทศแต่ยังต้องข้ามทวีปด้วย รวมทั้งการควบคุมคุณภาพของน้ำให้คงที่ไว้ให้ได้ในระหว่างการเดินทางนี้  แหล่งน้ำจืดของโลกกระจายไปในดินแดนต่างๆไม่เท่ากัน(11)  ลุ่มแม่น้ำใหญ่ๆครอบพื้นที่เหนือพรมแดนของหลายประเทศ (ยกเว้นกรณีลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีนซึ่งครอบพื้นที่ทั้งหมด 1,722,000 ตารางกิโลเมตรโดยที่มีประชากรหนาแน่นเป็น 223.7 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร)  จะเห็นได้ว่า การนี้อยู่เหนือกรอบของผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือของแต่ละประเทศ  วิทยาการจัดการน้ำจืดที่มีประสิทธิภาพจะหยุดอยู่ที่ท้องถิ่นใดท้องถิ่นเดียวไม่ได้ ต้องครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดและในที่สุดเข้าสู่กรอบของมนุษยชาติทั้งมวล   การเลี้ยงดูประชากรจำนวนมหาศาลของโลกจึงเป็นประเด็นสำคัญประเด็นแรก(12)  จะทำได้ก็ต้องมีการพัฒนาการชลประทานอย่างกว้างขวางเป็นระบบขยายไปทั่วทุกดินแดนของโลก  ต้องมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องมาตรการการประหยัดน้ำและการพัฒนาด้านพันธุกรรมของพืชพันธุ์ธัญญาหารอย่างเร่งด่วน  บางทีแทนการนำส่งน้ำข้ามทวีป อาจเพิ่มผลผลิตด้านพืชพันธุ์ธัญญาหารในดินแดนที่มีน้ำหล่อเลี้ยงและที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเร่งการผลิตให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อสงเคราะห์ประชาชนในเขตที่เพาะปลูกไม่ได้   ถ้าทำอย่างนี้ผลที่ตามมาประการหนึ่ง คือการแบ่งสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผลิตหรือผู้ให้และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับ (แน่นอนสร้างปัญหา ความเครียดและความขัดแย้งในจิตใจคน)  หรือบางทีให้ประเทศที่มีดินแดนเอื้ออำนวยต่อการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารและยังมีประชากรน้อยหรือยังมีพื้นที่กว้างพอ  รับผู้คนจากถิ่นกันดารหรือในแดนที่มีประชากรหนาแน่นมากเกินไป ให้อพยพเข้าไปอยู่ได้  จุดสำคัญที่เป็นที่ยอมรับกันแล้ว คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเดียวที่สามารถหยุดยั้งและลดจำนวนคนเกิดใหม่ที่มากเกินกว่าที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกจะเลี้ยงดูไหว (แต่ก็ใช่จะไม่มีผลกระทบต่อโลกต่อสังคมในมิติอื่นๆ)
          นอกจากปัญหาระดับโลก ยังมีปัญหาในแต่ละท้องถิ่นในแต่ละประเทศ  รัฐบาลแต่ละประเทศต้องมีเจตจำนงอย่างแรงกล้าที่จะช่วยพัฒนาชุมชนที่ด้อยโอกาสเพราะด้อยเงินตราทั้งในด้านการบริการน้ำดื่มที่สะอาด การระบายและการกำจัดน้ำเสีย  การสังเคราะห์น้ำฝนหรือน้ำแหล่งต่างๆ(13) ให้เป็นน้ำใช้และน้ำดื่มที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยไม่ว่าจะแพงอย่างไรก็ตาม   การส่งเสริมอนามัยและการให้การศึกษา เช่นออกมาตรการห้ามใช้สิ่งปฏิกูลคนไปรดพืชผักและผลไม้ ซึ่งเป็นมูลเหตุหนึ่งของการแพร่เชื้อโรค (เช่นไทฟอยด์,อหิวาห์, เฮะเพอไททิซ เป็นต้น)  เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่มากับน้ำและอากาศให้ชาวบ้านเข้าใจเป็นต้น   ปัญหาหนักที่สุดอยู่ที่ทวีปเอเชียและแอฟริกาเพราะประชากรมากที่สุด และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง   ปีคศ.2050 อินเดียจะมีประชากรถึงพันห้าร้อยล้านคน ชนะประเทศจีน!
          จงดูตัวอย่างประเทศจีนซึ่งกำลังเผชิญปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและน้ำอย่างรุนแรงและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต   สหประชาชาติมีข้อมูลอย่างละเอียดแสดงเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกประเทศ (14)  ปัญหาทุกชนิดในประเทศจีนสืบเนื่องมาจากจำนวนประชากรซึ่งสถิติปี 1998-99  ระบุว่ามีถึงพันสองร้อยห้าสิบห้าล้านหกแสนเก้าหมื่นแปดพันคน  ประเทศจีนมีแหล่งน้ำรวมเป็นปริมาตรมากเป็นที่สี่ของโลก แต่เมื่อนับปริมาณน้ำต่อคนจีนหนึ่งคนแล้ว  พบว่าน้อยเป็นอันดับรองสุดท้ายของโลก  ในปี ค.. 2000  จีนขาดน้ำถึง 2 หมื่น 9 พันล้านลูกบาศก์เมตรและจะเพิ่มจำนวนเป็น 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรในปีคศ. 2050  เมื่อประชากรจีนเพิ่มเป็นพันสี่ร้อยเจ็ดสิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนสามหมื่นคน  80% ของน้ำที่มีใช้ในจีนหมดไปกับการเกษตร และเกือบครึ่งหนึ่งของน้ำนี้ก็สูญเสียไปกับการระเหยหรือรั่วไหลอย่างเปล่าประโยชน์   นอกจากนี้มวลน้ำทั้งหมดที่ใช้ในประเทศจีน ยังมีมลพิษเจือปนอยู่ไม่มากก็น้อย  มลพิษในน้ำมาจากสิ่งปฏิกูลของคนกับกากสารพิษสมัยใหม่ที่อุตสาหกรรมทั้งหลายขับทิ้งลง   การกำจัดน้ำโสโครกไม่เพียงพอ   เพียง 5 % ของน้ำโสโครกจากครัวเรือนและ 17 % ของน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมผ่านขบวนการกำจัดน้ำเสียนิดๆหน่อยๆเท่านั้น   น้ำบริโภคในจีนจึงมีมลพิษเจือปนในระดับสูงและทำให้ประชาชนตายเพราะการติดเชื้อโรคท้องร่วงกับเชื้อไวรัส-เฮะเพอไททิซ (viral hepatitis)   น้ำจึงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในจีน  รวมทั้งการเป็นมะเร็งในตับและในกระเพาะอาหาร(ในชนบทมากเป็น 3-7 เท่ากว่าในเมือง) ที่เป็นสถิติสูงสุดในโลก   นอกจากนี้เขตอุตสาหกรรมใหญ่ๆมีผู้ป่วยเป็นโรคปอดมากเป็น 5 เท่าของเขตอื่นๆในจีน  และเมืองใหญ่ที่สุดหกเมืองแรกของจีน(อันมีเมือง Beijing, Shenyang, Chongqing, Shanghai, Xian, และ Guangzhou) ก็เป็นเมืองที่มีมลภาวะเลวร้ายที่สุดในโลกด้วย (15)
         การแก้ปัญหาคนขาดน้ำอยู่ที่ความพร้อมของประชาโลกผู้โชคดีกว่า ที่อยู่ในเขตที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ว่าจะยินยอมแบ่งปันน้ำไปสู่แหล่งขาดแคลนอื่นๆไหม?  มนุษย์จะมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาไหม?  จะรู้จักจัดการน้ำอย่างเฉลียวฉลาดเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นหน้าไหม?  และผู้โชคดีจะยินดีช่วยผู้เคราะห์ร้ายได้ทันท่วงทีไหม?

คุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ของน้ำที่ทำให้น้ำเป็นสุดยอดของของเหลว


          น้ำเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง  โมเลกุล(อณู)ของน้ำหนึ่งโมเลกุลเกิดจากการรวมตัวของอะตอม(หรือปรมาณู) ก๊าซไฮโดรเจนประจุบวกสองอะตอม กับอะตอมก๊าซออกซิเจนประจุลบหนึ่งอะตอม  มีสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์เป็น H2O  ซึ่งดูแล้วเข้าใจง่ายและชัดเจน  แต่ความจริงแล้วโครงสร้างของน้ำค่อนข้างสลับซับซ้อนแต่คงที่  นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า การรวมตัวกันของอะตอมไฮโดรเจนกับออกซิเจนเป็นโมเลกุลน้ำนั้น มีต่างกันถึง 36 แบบ  และน้อยนักที่จะพบน้ำในธรรมชาติ ที่มีโมเลกุลเป็นไปตามสูตร H2O นี้   จะมีก็เฉพาะน้ำกลั่นบริสุทธิ์ในห้องทดลองเท่านั้น (น้ำในธรรมชาติมีเกลือแร่จากสภาพแวดล้อมประกอบอยู่ด้วยเสมอ)  ในชั่วเวลาเพียงหนึ่งวินาที อะตอมไฮโดรเจนกับออกซิเจนรวมตัวกันแล้วแยกสลายลงหลายล้านครั้ง  และแต่ละครั้งที่มารวมตัวกันใหม่ก็เป็นแบบเป็นแนวอย่างเฉพาะเจาะจงด้วย  (Ryrie, ให้ภาพสเก็ตช์ง่ายๆว่า อะตอมไฮโดรเจนซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอะตอมออกซิเจนมาก เข้าเกาะอะตอมออกซิเจนสองจุดแยกกันเหมือนเป็นสองหูของมิกกี้เมาส์  ทำมุม104,5° กับแกนกลางของอะตอมออกซิเจนเสมอ(16)   ในโมเลกุลน้ำ อะตอมไฮโดรเจนเป็นขอเกี่ยวเป็นจุดเกี่ยวกับอะตอมไฮโดรเจนของอีกโมเลกุลหนึ่ง  นั่นคือเกี่ยวกันตรงหู. p.46-47)   การค้นพบข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างไฮโดรเจนกับออกซิเจนในน้ำ (17) จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมต่างๆของน้ำ
          ในสภาพเหลว ทุกโมเลกุลของน้ำจะหมุนเวียนวนไปเป็นเส้นโค้งไม่หยุดนิ่ง และจะเกาะกลุ่มไปกับโมเลกุลน้ำอื่นๆอย่างไม่เป็นระเบียบไม่หยุดหย่อน  ในขณะที่โครงสร้างภายในของโมเลกุลของมันค่อนข้างจะคงที่  และนี่อธิบายความหนาแน่นของน้ำที่ไม่มีสารอื่นใดเหมือน  กฎฟิสิคส์ทั่วไปบอกว่าของแข็งมีความหนาแน่นมากกว่าของเหลว เพราะฉะนั้นของแข็งจึงจมลงในของเหลว   แต่น้ำไม่เป็นเช่นนั้น  น้ำจะหดตัวเมื่ออุณหภูมิลดลงดังเช่นสารเหลวทุกชนิด  แต่พอถึงอุณหภูมิ 4°C ความหนาแน่นของมันจะถึงที่สุดแล้ว  นั่นคือปริมาตรน้ำจะไม่น้อยลงไปกว่านั้นอีกแล้ว  โมเลกุลน้ำตอนนี้จะเกาะกระชับกันมาก (ในรูปสามมิติแบบแก้วปริซึม)   คุณสมบัตินี้เองที่ทำให้น้ำในทะเลสาบเริ่มแข็งตัวจากผิวน้ำข้างบนลงไป  ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้น น้ำจะเริ่มขยายปริมาตรออก  นั่นคือความหนาแน่นจะลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้นเหมือนสารเหลวที่แข็งตัวอื่นๆ และเมื่อน้ำเริ่มแข็งตัวจนในที่สุดเป็นน้ำแข็งนั้น มันจะมีปริมาตรเพิ่มขึ้นจากปริมาตรเดิม 9%  แต่น้ำหนักจะลดลงจากเดิม  โครงสร้างของน้ำแข็งจะหลวมขึ้นเพราะจำนวนโมเลกุลเดิมกระจายออกไปบนเนื้อที่ที่ขยายออก(นั่นคือปริมาตรเพิ่มขึ้น) แทนที่จะกระชับแน่นดั่งของเหลวที่แข็งตัวอื่นๆ  โมเลกุลน้ำจะเกาะกันเป็นแผงผลึกทรงสูง (เรียกว่าเทร้-ลิส trellis) โครงสร้างภายในเช่นนี้ของโมเลกุลจึงทำให้มันพร้อมที่จะรวมตัวกับโมเลกุลอื่นๆ เพราะน้ำหนักที่ลดลงและโครงสร้างที่ห่างกระจายออกจึงทำให้น้ำแข็งลอยเหนือน้ำ  แต่การที่โมเลกุลน้ำเกาะกันเป็นแผงอย่างมีระเบียบนี้ก็ทำให้มันมีแรงต้านสูงและทนต่อการสลายตัว   การจะทำลายสายเชื่อมของอะตอมไฮโดรเจนแบบนี้หรือพูดง่ายๆการจะละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำเหลวได้นั้น จึงต้องใช้พลังงานสูงมาก  ถ้าเราต้องทำลายสายเชื่อมของอะตอมไฮโดรเจนทุกอะตอม  เราจะต้องใช้พลังงานมากขึ้นอีก แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าในโครงสร้างของน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งนั้น สายไยไฮโดรเจนไม่ได้แยกขาดออกจากกันทั้งหมด  น้ำละลายนี้ยังมีลักษณะบางประการของผลึกน้ำแข็ง  ทำให้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ที่สุดยังคงมี ความทรงจำ(18) ของยุคน้ำแข็งที่มันเคยเป็นส่วนหนึ่งมาก่อน  และน้ำที่บริสุทธิ์ที่สุดที่พบในโลกเรานี้ เป็นน้ำจากยุคน้ำแข็งเมื่อหลายล้านปีก่อน (เชื่อกันว่าคือน้ำที่ชาว Hunzas ดื่มในแดนปากีสถานติดพรมแดนอัฟกานิสถาน  ประชาชนในแถบนี้มีอายุยืนและสุขภาพแข็งแรงมากแม้เมื่ออายุร้อยปีล่วงไปแล้ว  ทั้งยังไม่ปรากฏว่าชนแถบนี้มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเลย นักวิทยาศาสตร์ต่างสนใจศึกษากันมาก ทั้งในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกินและระบบนิเวศน์เพื่อค้นหากุญแจแห่งสุขภาพที่ไม่รู้โรยรา!!!)

          น้ำมีคุณสมบัติด้านเคมีที่พิเศษยิ่งเพราะมันอยู่ได้ในสามสถานะ คือเป็นของแข็ง ของเหลวและเป็นไอ  อุณหภูมิภายนอกของน้ำในสามสถานะนี้นับว่าไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับสสารอื่น  แต่ความร้อนภายในโครงสร้างของน้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนสถานะหนึ่งสู่สถานะหนึ่งนั้นสูงมาก  เช่นเมื่อน้ำแข็งละลายเป็นน้ำเหลว หรือเมื่อน้ำระเหยเป็นไอ  น้ำจึงมีความสามารถในการกักความร้อนภายในตัวสูง  คุณสมบัตินี้ทำให้น้ำมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและต่อการรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่สม่ำเสมอ  ดาวเคราะห์ที่ไม่มีน้ำห่อหุ้มมีอุณหภูมิต่างกันมากระหว่างกลางวันกับกลางคืน  เช่นบนดวงจันทร์ซึ่งไม่มีน้ำความแตกต่างของอุณหภูมิสูงถึง 250°C  มวลน้ำในโลกจึงเปรียบได้กับเป็นเครื่องปรับอากาศที่เป็นทั้งเครื่องทำความร้อนในเวลากลางคืนและเครื่องทำความเย็นในเวลากลางวัน  นักวิทยาศาสตร์พบว่า จำนวนความร้อนที่ได้จากกระแสน้ำในมหาสมุทรที่มีขนาดกว้าง 160 กิโลเมตรในหนึ่งชั่วโมงเทียบได้กับจำนวนความร้อนที่ได้เมื่อเผาถ่านหิน 200 ล้านตัน ไอร้อนที่น้ำทะเลคายออกนี้ในยามกลางวันก็ยังช่วยลดรังสีที่รุนแรงเกินไปของแสงอาทิตย์   ไอน้ำจึงทำหน้าที่ส่งความร้อนจากทะเลมหาสมุทรสู่ทวีป  เมืองชายฝั่งทั้งหลายจึงมีลมเย็นในหน้าร้อนและลมหนาวที่อุ่นในหน้าหนาว  ในขณะเดียวกันกระแสน้ำเย็นหรือกระแสน้ำอุ่นที่ไหลเรียบฝั่งทวีปใดก็ทำให้อุณหภูมิของเขตนั้นเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของกระแสน้ำอุ่นหรือเย็นนั้นด้วย

          ความร้อนต่ำสุดภายในโครงสร้างของน้ำคือ 37°C.  นี่หมายความว่าปริมาณความร้อนหรือความเย็นที่สามารถทำให้อุณหภูมิภายในของน้ำเปลี่ยนไปอยู่ที่ 37°C.  นั่นคือน้ำมีความต้านสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในสเกล(มาตราส่วน)ที่กว้างมาก  อุณหภูมินี้ต่ำกว่าอุณหภูมิของเลือดที่หมุนเวียนภายในร่างกายคน(ที่มีสุขภาพดี)เพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง  เนื่องจากคุณสมบัติอันพิเศษสุดของน้ำนี้ที่ทำให้คนก็สามารถทนทานอากาศในอุณหภูมิสูงต่ำได้ ทั้งนี้เพราะเลือดคนมีน้ำผสมเป็นสำคัญ (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำในเลือดที่เชิงอรรถ 23)   ถ้าอุณหภูมิของเลือดในร่างกายเราต่ำกว่าอุณหภูมิของน้ำมาก ร่างกายเราจะเย็นลงและร้อนจัดขึ้นอย่างรวดเร็ว  อันจะมีผลทำให้เราแข็ง(ตาย) เร็วกว่านี้ในที่ที่อุณหภูมิต่ำมากเช่นขั้วโลก หรือสลายตัวแหลกลงในที่ที่อุณหภูมิสูงมากเช่นในทะเลทราย  แต่เพราะว่าเลือดของเรามีน้ำประกอบเป็นสำคัญและเราจึงได้คุณสมบัติด้านเคมีของน้ำที่ช่วยสร้างความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศรอบตัวเรา   จุดเดือดของน้ำก็สูงกว่าจุดเดือดของของเหลวอื่นเกือบทุกชนิด นั่นคือต้องใช้ปริมาณพลังงานสูงมากเพื่อทำลายสายเชื่อมของอะตอมไฮโดรเจน หรือทำให้ไฮโดรเจนบางส่วนกลายเป็นไอ.

          ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วว่า โมเลกุลน้ำมีโครงสร้างเป็นสามมิติ จึงสามารถเข้าล้อมโมเลกุลมวลสารอื่นและละลายมวลสารนั้นลง  ถ้าโครงสร้างโมเลกุลน้ำราบเป็นแนวเรียบหรือเป็นเส้นตรง  น้ำจะไม่สามารถละลายสารอื่นได้  การรู้โครงสร้างของโมเลกุลน้ำจึงทำให้เราเข้าใจว่าโมเลกุลน้ำแต่ละโมเลกุลมีอิทธิพลเหนือโมเลกุลของมวลสารอื่นที่น้ำไปสัมผัสอย่างไร   นั่นคือมันจะไปเปลี่ยนโครงสร้างของโมเลกุลอื่นๆนั้น ในขณะเดียวกันมันก็ปรับรับอะตอมของโมเลกุลเหล่านั้นเข้าด้วยพร้อมกัน (อะตอมไฮโดรเจนของน้ำซึ่งเป็นขั้วบวกจะเข้ารวมกับอะตอมขั้วลบอื่นทันที  เช่นเดียวกับที่อะตอมออกซิเจนซึ่งเป็นขั้วลบจะเข้ารวมกับอะตอมขั้วบวกของสารอื่นที่มาสัมผัสมัน)  น้ำจึงเป็นตัวละลายสารอื่น  ความจริงนี้ดูเหมือนเราจะไม่เคยให้ความสำคัญเท่าไร  เพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน โดยไม่เคยคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ลองนึกจินตนาการดูว่า เมื่อน้ำหยดหนึ่งสัมผัสผลึกเกลือผลึกหนึ่ง  ผลึกเกลือนั้นละลายลงทันที  คราวนี้ลองหาทางละลายผลึกเกลือนั้นโดยไม่ใช้น้ำเลย  นักวิทยาศาสตร์พบว่า จะต้องเผาเตาให้ร้อนจนถึงอุณหภูมิ 800°C จึงจะทำให้ผลึกเกลือนั้นละลาย  ทำไมเกลือจึงละลายยากเช่นนี้เพราะส่วนประกอบคลอไรด์ในเกลือ (เกลือมีสัญลักษณ์วิทยาศาสตร์เป็น NaCl  เรียกว่า โซเดียมคลอไรด์) มีประจุไฟฟ้าลบและจะไปชดเชยส่วนประกอบโซเดียมที่มีประจุไฟฟ้าบวก  ประจุทั้งสองจึงเกาะกันแน่น และเมื่อถูกแยกไปสัมผัสสารอื่น  มันก็ต้องรีบเข้าหาขั้วตรงข้ามกับมันเพื่อรักษาความสมดุลในตัวมันให้ได้  เมื่อไปสัมผัสกับน้ำประจุของทั้งสองจะถูกล้อมแยกออกจากกัน  ประจุของคลอไรด์ที่เป็นขั้วลบจะเข้ารวมกับไฮโดรเจนที่มีประจุขั้วบวก ส่วนประจุบวกของโซเดียมก็จะเข้าหาออกซิเจนที่มีประจุไฟฟ้าเป็นขั้วลบ  เพราะเหตุนี้เองที่เมื่อเกลือละลาย มีฟองฟู่เพราะเกิดประจุไฟฟ้า  และนั่นก็อธิบายว่าทำไมน้ำเค็มจึงเป็นสื่อไฟฟ้าด้วย (โซเดียมและคลอไรด์เมื่อแยกกัน ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า)

          การที่น้ำเป็นตัวละลายยังหมายถึงว่า น้ำเป็นตัวกัดกร่อนด้วย  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเช่น เขตที่ราบสูงที่เป็นแนวหินปูน(karst) ใน Postojna ประเทศสโลเวเนีย (Slovenia - ส่วนหนึ่งของประเทศยูโกสโลเวียเดิม)  พื้นดินที่เป็นหินปูนแถบนี้ เป็นตัวอย่างของการร้าวจนกลายเป็นการสึกกร่อนอย่างมากมายของเนื้อหิน เพราะอำนาจของน้ำกัดเซาะ  ทำไมน้ำจึงสามารถกัดกร่อนพื้นดินและหินได้ถึงขนาดนั้น?   คำตอบคือ น้ำฝนเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศลงมา ได้รับเอาส่วนประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์รวมเข้าไปในตัวมัน รวมทั้งจากพื้นดินชั้นนอกของโลก  เมื่อน้ำฝนนี้ลงลึกถึงชั้นหิน กรดคาร์บอนิคในน้ำนี้แหละที่ไปกัดเซาะหินปูนเรื่อยๆมาเป็นเวลาพันๆปี จนกลายเป็นหลุมโพรงลึกขนาดใหญ่แบบถ้ำใหญ่ใต้ดินความสามารถในการละลายของน้ำนี้  ทำให้น้ำเป็นเสมือนผู้ขนย้ายและแจกจ่ายมวลแร่ธาตุไปสู่พื้นผิวของโลก  การที่น้ำทะเลมีความเค็มสูงจึงเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่า น้ำได้หอบและละลายเกลือแร่จากดินแดนต่างๆมานานมากน้อยเพียงใดแล้ว.

          น้ำสะอาดในโลกของเรานี้ เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน  สร้างตัวขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาด้วยการรับและถ่ายทอดก๊าซออกซิเจน ไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ  รวมทั้งแร่ธาตุเช่นแคลเซียม โปตัสเซียม แมงกานีส โซเดียมและเกลือแร่อื่นๆที่มันพบบนเส้นทาง  การเป็นตัวละลายเท่ากับว่าน้ำเป็นศูนย์รวมข้อมูลใหม่ๆ (ดังที่อธิบายข้างต้นไว้ว่า การละลายอะไรน้ำต้องเข้าถึงโครงสร้างของตัวที่ถูกละลาย เท่ากับมันรับรู้โครงสร้างใหม่ทุกครั้งที่มันไปสัมผัสสารใหม่) และมันก็จะสื่อถ่ายทอดต่อไปกับสิ่งที่มันสัมผัสอื่นๆ  น้ำจึงเป็นจุดนัดพบและจุดเปลี่ยนแปลงของมวลสารในโลก และในที่สุดน้ำเป็นผู้จัดระบบธรรมชาติของโลก  การวิเคราะห์น้ำจึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกลึกลงไปถึงใต้พื้นได้  เมื่อเราดื่มน้ำใสบริสุทธิ์จากแหล่งน้ำในภูเขา  เราจะได้รสของเกลือแร่ที่มาจากส่วนลึกภายในโลกที่สายน้ำนั้นไหลผ่านมา กว่าจะออกมาสู่โลกภายนอก เท่ากับว่าเรากำลังดื่มพลังงานของน้ำที่สะสมอยู่ภายในโครงสร้างของน้ำนั้นมานานหลายหมื่นปี  น้ำใสสะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติจึงถือกันว่า เป็นน้ำที่เสริมสร้างพลังงานและช่วยฟื้นฟูระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายเราที่ดีที่สุด 
          จักรวาลและโลกเป็นศูนย์รวมคลื่นความสั่นเป็นความถี่มากน้อยหลากหลายชนิด  สสารที่เป็นตัวนำก็มีวิธีจับคลื่นจากสภาพแวดล้อมมากน้อยไม่เหมือนกัน  น้ำเป็นของเหลวและของไหลจึงไม่หยุดนิ่ง  การไม่นิ่งนี้หมายความว่า อณูทุกอณูของน้ำสั่นระริกไหวตลอดเวลา  ความสั่นนี้จึงทำให้น้ำเหมือนวิทยุที่สามารถจับคลื่นความสั่นความถี่รอบข้างและจะถ่ายทอดต่อไปยังตัวนำอื่นได้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย  พึงรู้ว่าน้ำบริสุทธิ์มีโครงสร้างภายในแต่ละโมเลกุลเป็นสามมิติ  โครงสร้างของน้ำนี้แหละที่กักรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากสภาพแวดล้อมตัวมันและส่งต่อไปยังน้ำมวลอื่น  เมื่อน้ำรักษาโครงสร้างภายในของมันไว้ได้คงที่  มันก็เป็นตัวนำและตัวส่งคลื่นความสั่นความถี่ได้เช่นเดียวกับเครื่องรับวิทยุ (แต่ถ้าน้ำอยู่ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 70° C หรือเข้าไปใกล้สนามแม่เหล็ก  สองกรณีนี้จะทำให้โครงสร้างภายในของน้ำถูกรบกวนยุ่งเหยิง  น้ำนั้นจึงหมดสมรรถภาพที่จะเป็นตัวสื่อความถี่ต่อไปได้)  นักวิทยาศาสตร์รัสเซีย (Vitold Bakhir) ได้พิสูจน์ว่า ถ้ารินน้ำที่มีสารเกลือ(NaCl) เจือปนลงในหลอดแก้วหนึ่ง และน้ำเปล่าบริสุทธิ์ในหลอดแก้วที่สอง แล้ววางหลอดแก้วทั้งสองลงในกล่องสุญญากาศ โดยมีกระจกแก้วคั่นกลาง วันรุ่งขึ้นนำน้ำในหลอดที่สองไปแช่แข็งแล้ววิเคราะห์เกร็ดน้ำแข็งดู จะพบว่ามีเกร็ดเกลือผสมอยู่   นอกจากนี้น้ำยังเป็นตัวดูดกลิ่นด้วย ถ้าเราวางขวดน้ำหรือแก้วน้ำไว้ข้างๆเมล็อน(melon)ที่สุกงอมในตู้เย็นสัก 24 ชั่วโมง  หลังจากนั้นรินน้ำนั้นให้เพื่อนคนหนึ่งดื่มดู(โดยไม่บอกอะไร) และถามว่าเขารู้สึกว่าน้ำมีรสชาติอะไรไหม  น้ำนั้นจะมีรสเมล็อน(Ryrie, p.66) คุณสมบัติการเป็นตัวนำนี้มีเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นน้ำภายในเซลล์และระหว่างเซลล์ของร่างกายคน  ในน้ำดื่มหรือน้ำธรรมชาติ  เซลล์ที่แข็งแรงในร่างกายเราจะมีความถี่ของการสั่นคงที่สม่ำเสมอและเข้ากลมกลืนกับความสั่นของน้ำสะอาดที่เข้าสู่ร่างกายคนได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ(แบบประสานเสียงเป็นปี่เป็นขลุ่ยกันอย่างไพเราะ) รวมทั้งยังสามารถรับทอดข้อมูลพลังงานจากน้ำสะอาดนั้นด้วย  ถ้าการสืบทอดพลังงานดังกล่าวขลุกขลัก ก็มีผลทำให้เรารู้สึกไม่สบาย  ความสมดุลและความสามารถในการสืบทอดพลังงานของน้ำภายในร่างกายคนนั้น ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว อุณหภูมิกับความถี่ในการแลกเปลี่ยนพลังงานอีเล็กทรอนิคระหว่างโมเลกุลของมันและระหว่างมันกับสภาพแวดล้อม   เพราะฉะนั้นน้ำที่มีคุณภาพดี (หมายถึงน้ำที่มีโครงสร้างภายในคงที่และกักประจุพลังงานไว้ภายในตัวมันอย่างเพียงพอ) จะสามารถรักษาและผดุงสุขภาพของเราได้ดียิ่งกว่าสิ่งอื่นใด  ชีวิตมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับน้ำทุกแง่ทุกมุม

          ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่20 มาแล้ว มีผู้ให้ข้อสังเกตว่าน้ำเคลื่อนไหวเหมือนกับไอน้ำที่ลอยขึ้นจากถ้วยกาแฟร้อนหรือลมหายใจออกของทั้งพืชและสัตว์(19)   นั่นคือมันหมุนวนออกไปภายในโครงสร้างของมันเอง หาได้ไหลไปเป็นเส้นตรงไม่  กรณีเดียวที่น้ำไหลเป็นเส้นตรงในธรรมชาติ คือเมื่อมันจะเข้าละลายสารอื่นหรือจะดูดซึมสารอื่น(20)  โดยธรรมชาติน้ำจะพยายามกลับเข้าสู่รูปร่างกลมของมันเสมอ(ขอให้นึกถึงหยดน้ำก็จะเข้าใจทันที)  ถ้าสังเกตสรรพสิ่งรอบข้างเรา ก็จะเห็นว่าลักษณะเวียนและวนออก  เป็นวิธีวิวัฒน์ของสรรพชีวิต  อันหมายถึงขบวนการพัฒนาพลังงานภายในตามธรรมชาติ  บนเปลือกหอยเห็นแนวเส้นโค้งมนเวียนไปเป็นวงๆ  โครงสร้างดีเอ็นเอของคนก็เช่นกัน (ดูเชิงอรรถหมายเลข 24) ข้อสังเกตนี้ไปกระทบกับเทคโนโลยีในวงการอุตสาหกรรมและแน่นอนรวมทั้งที่เกี่ยวกับการผลิต การวางท่อและการนำส่งน้ำในโลก  เพราะ ท่อน้ำทั้งหลายสร้างเป็นท่อตรงและกลวง เท่ากับจำกัดให้น้ำอยู่ในสภาวะของตัวละลายหรือตัวดูดซึมมากกว่าจะรักษาสรรพคุณของน้ำในแง่ที่เป็นตัวสร้างพลังงานไว้ (ซึ่งเราจะได้ถ้านำส่งน้ำในแบบที่เลียนการไหลตามธรรมชาติของมัน น่าเสียดายจริงๆ)  ความคิดนี้จึงไม่สบอารมณ์ฝ่ายอุตสาหกรรมนัก  ยิ่งระบบการวางท่อน้ำนั้นแผ่กระจายไปบนพื้นที่นับเป็นสิบๆถึงร้อยๆกิโลเมตรด้วยแล้ว  สรรพคุณน้ำถูกทำลายลงไปมาก  และแม้ว่าประชาชนจะได้ผลประโยชน์มากมายจากการมีน้ำใช้ไปทั้งประเทศเพียงใดก็ตาม  ก็ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่า คุณสมบัติและเอกลักษณ์ที่สำคัญของน้ำสูญเสียไปกับการส่งน้ำ  เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการเคลื่อนไหวของน้ำอย่างแน่นอนแล้วว่า น้ำในธารน้ำธรรมชาติทั้งหลายไหลวนจากภายในลงสู่พื้นน้ำแล้วเวียนผ่านขึ้นสู่ผิวน้ำเป็นเกลียวโซ่ต่อกันไป โดยที่เกลียวตรงกลางมวลน้ำจะเป็นเกลียวถี่แน่นกว่าเกลียวรอบๆมวลน้ำซึ่งหมายถึงความเร็วในการหมุนตัวของโมเลกุลภายในน้ำไม่เหมือนกันด้วย  นอกจากนี้ความเร็วในการหมุนตัวของน้ำยังขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านด้วย   เช่นมวลน้ำที่อยู่ชิดฝั่งจะไหลช้ากว่ามวลน้ำที่อยู่ตรงกลาง  แต่ในที่สุดก็จะเวียนเข้าสู่มวลน้ำส่วนอื่น เกาะเกี่ยวเข้าไปสู่จังหวะการไหลของมวลน้ำส่วนนั้น 

          นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถอธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดคลื่นในน้ำว่า  เมื่อมวลน้ำสองกระแสไหลมาบรรจบกัน จะทำให้เกิดเป็นระลอกคลื่นในสี่กรณีต่อไปนี้ คือ
* เมื่อน้ำสองกระแสมีความหนาแน่นต่างกัน เช่นน้ำจากแม่น้ำไหลมาบรรจบกับน้ำทะเลหรือน้ำโคลนไหลไปบรรจบกับธารน้ำใสสะอาดกว่า
* เมื่อน้ำที่มาบรรจบกันมีอุณหภูมิต่างกัน
* เมื่อน้ำที่มาบรรจบกันนั้นมีความเร็วต่างกัน และ
* เมื่อน้ำไหลไปเจอสิ่งกีดขวางเช่นก้อนหินหรือท่อนไม้ซุงเป็นต้น
ในสี่กรณีดังกล่าวน้ำทั้งสองกระแสจะเข้าประสานกันเพื่อปรับเป็นมวลน้ำมวลใหม่มวลเดียวในสภาพแวดล้อมใหม่  การปรับประสานกันนี่แหละที่ทำให้เกิดเป็นระลอกคลื่นขึ้น 
          เทคโนโลยีน้ำในปัจจุบันได้ศึกษาและพัฒนาจากความรู้พื้นฐานนี้สู่วิทยาการจัดการน้ำทุกด้าน เช่นในการกำจัดน้ำเสีย  (ที่ฝรั่งเศสเราไปดูตัวอย่างได้ที่ปารีส  เครื่องกรองน้ำเสียขั้นหนึ่งเป็นเกลียวเหล็กขนาดยักษ์ เหมือนตะปูควงขนาดมหึมาวางนอนลงและหมุนอยู่ตลอดเวลา  สิ่งปฏิกูลในน้ำเสียเมื่อผ่านเข้าไปในเกลียวเหล็กขนาดยักษ์ จะถูกเหวี่ยงออกไป),   ในการติดตั้งระบบน้ำฝักบัวในห้องน้ำ เพื่อให้น้ำที่พุ่งออกมามีจังหวะอันจะช่วยผ่อนคลายความรู้สึกของคนอาบ,  ในการจัดฉีดและรดน้ำต้นไม้ในสวน ด้วยการทำท่อฉีดน้ำแบบหมุนเพื่อให้น้ำที่ไหลออกจากท่อตรงกลาง หมุนเกลียวออกมาตามธรรมชาติเดิมของมัน ซึ่งเท่ากับไปฟื้นฟูพลังของมันให้กลับคืนแล้วส่งต่อไปยังต้นไม้,  แพทย์ทางวารีบำบัดก็นำความรู้เกี่ยวกับการหมุนเวียนของน้ำไปช่วยการบำบัดร่างกาย   ศาสตร์เกี่ยวกับน้ำกลายเป็นศาสตร์ที่สำคัญมากที่สุด เพราะหมายถึงความอยู่รอดของประชาโลกทั้งหมด

น้ำกับร่างกายคน

          เลือดเนื้อที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตมนุษย์นั้น คือน้ำก่อนอื่นใด  60-75%  ของน้ำหนักตัวของคนคือน้ำหนักของน้ำ(ประมาณได้เป็น 38 ลิตร)(21)   คนในวัยฉกรรจ์มีถึง 75% และจะลดลงไปเรื่อยๆจนถึงประมาณ 65-60% เมื่ออยู่ในวัยชรา  ทารกในครรภ์มารดามีน้ำถึง 94% และจะเพิ่มเป็น 97% เมื่อแรกเกิด(สถิติของ Ryrie,p 12)   น้ำแทรกอยู่ในทุกอณูของร่างกาย ในสัดส่วนต่างๆกัน เช่น ในหัวใจ, ปอด และเลือด มีน้ำอยู่ 79%,  ในกล้ามเนื้อมี76 %,  ในสมองมี75%,  ในตับมี70%, ในกระดูกมี 22 %, ในฟัน(ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งที่สุดของร่างกายมนุษย์)ก็ยังมี 2-10 %.  แต่พึงรู้ว่าร่างกายเราสูญเสียน้ำหรือขับน้ำออกในรูปต่างๆตลอดเวลาเหมือนกัน เช่น ทุกครั้งที่เราหายใจเรากักตุนอากาศเข้าไว้ในปอดครั้งละครึ่งลิตร(22)   แต่เมื่อเราหายใจออก ลมหายใจเป็นน้ำในสภาพของไอน้ำ  เราจึงสูญเสียน้ำจากภายในไปกับการหายใจออกเฉลี่ยประมาณครึ่งลิตรต่อวัน  ต่อมน้ำลายสามคู่ที่อยู่ใต้ลิ้นจะพ่นน้ำลายออกหล่อเลี้ยงปากวันละหนึ่งลิตร  ตั้งแต่เกิดจนอายุขวบหนึ่งทารกมีน้ำลายไหลฟูมออกมาแล้วไม่น้อยกว่า 38.5 แกลลอน  เส้นโลหิตฝอยพันๆเส้นภายในลำไส้จะดูดซึมน้ำวันละ 5 ลิตร  2/3 ของมวลสารอาหารที่ย่อยเรียบร้อยแล้วจากกระเพาะและลำไส้เล็กเป็นน้ำ   น้ำนี้เซลล์ในผนังลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่กรองออก  น้ำที่ลำไส้ใหญ่กรองออกมานี้ไปอยู่ตามผิวหนัง  ออกมาเป็นเหงื่อเมื่อเราออกกำลังหรือเมื่ออากาศร้อน  การที่ร่างกายขับเหงื่อออกก็เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกายเรา  เราจะรู้สึกเย็นสบายขึ้น แต่เท่ากับเราสูญเสียน้ำในร่างกายเราไปอีกโดยเฉลี่ยหนึ่งลิตรต่อวันโดยไม่รู้ตัว สารอาหารและน้ำจะออกจากลำไส้เพื่อเข้าสู่เส้นเลือด  เป็น เลือดใหม่เลือดใหม่นี้จะผ่านเข้าไปในม้ามที่ทำหน้าที่กรองและเก็บเม็ดเลือดแดงส่วนหนึ่งไว้สำหรับยามต้องการใช้ และกำจัดเซลล์ที่เสียๆออกรวมทั้งเม็ดเลือดแดงเก่าๆและเม็ดเพล็ตเต็ท   ส่วนไตก็ทำหน้าที่ฟอกโลหิตเช่นกัน  ระบบการย่อยอาหารและการหมุนเวียนของโลหิตในร่างกาย ทำให้เกิดเศษเซลล์เสียๆ ซึ่งถ้าร่างกายไม่มีทางกำจัดออกก็จะเป็นอันตรายได้  ไตเป็นโรงงานกำจัดน้ำเสียของคน เป็นอวัยวะที่ควบคุมความสมดุลของน้ำในร่างกายและกรองสิ่งสกปรกในเลือด (23)  เสร็จแล้วจึงส่งออกมา  ถ้าไตทำงานล้มเหลว ร่างกายคนจะอ่อนแอเพราะเชื้อโรคต่างๆจะแข็งแรงขึ้นและลุกลามไปยังเนื้อเยื่ออื่นทั่วร่างกาย  ในกรณีอย่างนี้จึงมีการล้างไตโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่เข้าไปทำหน้าที่กรองและกำจัดของเสียในเลือดทั้งร่างกาย.   99%ของน้ำที่ฟอกเสร็จแล้วนี้จะกลับเข้าสู่เลือด  ส่วนที่เหลือ ร่างกายจะขับออกเป็นปัสสาวะ  ประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน แล้วแต่ปริมาณน้ำที่ดื่มและปริมาณเหงื่อของแต่ละคน

          ตัวเลขและข้อมูลเหล่านี้อธิบายให้เข้าใจว่า ถ้าร่างกายเราสูญเสียน้ำมากกว่า 15 % ของจำนวนน้ำในอวัยวะต่างๆ(ในสัดส่วนดังที่กล่าวมาข้างต้น) ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ถ้าตับเสียน้ำไป 15% จากจำนวนน้ำ 70% ที่มีในตับคน คนนั้นก็ตาย (Leray, 14)  หรือหากจำนวนน้ำที่หล่อเลี้ยงอยู่ระหว่างเซลล์ในร่างกายคนลดลงไปเพียง 2%  คนจะเสียพลังงาน(หรือหมดแรง)ลงไป 20%   ผู้ที่ท้องร่วงจึงต้องดื่มน้ำมากๆ  เรารู้กันแล้วว่า คนยังสามารถมีชีวิตรอดได้แม้จะอดอาหารหลายสัปดาห์ แต่หากอดน้ำเขาจะตายภายในสองสามวัน  ทั้งนี้เพราะน้ำในร่างกายแห้งลงๆ หรือถูกขับออกไปเรื่อยๆ (ในลมหายใจออก, เหงื่อ,น้ำตา, น้ำมูก, ปัสสาวะ, อุจจาระ, การขากถ่ม ฯลฯ)  หากไม่มีการเติมเข้าอย่างสม่ำเสมอ เราจะแห้งลงๆแบบเดียวกับที่ต้นไม้เหี่ยว เฉาและร่วงเมื่อขาดน้ำ  น้ำจึงเป็นปัจจัยอันดับสองรองจากก๊าซออกซิเจนที่ทำให้คนคงชีวิตไว้ได้

          ยี่สิบกว่าปีก่อน(เมื่อปีค..1970 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) นายแพทย์นักวิทยาศาสตร์ในสหภาพโซเวียตชื่ออีกอร์ ตีอาร์กอฟสกี (Igor Tiarkovski) เป็นผู้เริ่มต้นให้ผู้หญิงคลอดลูกในน้ำ  ตอนนั้นถือเป็นความคิดที่แหวกแนวชวนให้หวาดหวั่นกันมาก  เดี๋ยวนี้การคลอดในน้ำเป็นที่นิยมกันแพร่หลายในโลก  การที่ให้ทารกแรกเกิดได้สัมผัสน้ำทันทีนั้น เป็นวิถีธรรมชาติที่แท้จริง  ทารกจะไม่มีปฏิกิริยากลัวหรือต่อต้านใดๆเลย  ในเมื่อชีวิตอุบัติขึ้นในน้ำ ทารกปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็คือในน้ำภายในตัวของมารดา จึงเป็นการดีที่ทารกออกจากครรภ์มาสู่น้ำ  ทำให้ประสาทสัมผัสต่างๆไม่กระทบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เช่นเมื่อทารกออกมาสู่ความแข็งและแห้งของที่นอนแม้จะอ่อนนุ่มอย่างไรก็ตาม (ทารกที่คลอดออกมาในน้ำ จะรู้สึกสดชื่นเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ หรือเหมือนปลาที่พบน่านน้ำกว้างใหญ่กว่าที่เคยอยู่) นายแพทย์อีกอร์กล่าวสรุปว่า เด็กที่เกิดในน้ำจะพัฒนาปรับตัวเองได้ดีกว่า และจะมีกล้ามเนื้อและทักษะในการรักษาการทรงตัวได้ดีกว่าด้วย (Leray, p.83)

          คนต้องดื่มน้ำที่กรองบริสุทธิ์วันละ2 ถึง2 ลิตรครึ่ง (หรือประมาณน้ำ 8 แก้ว ปัจจุบันเพิ่มปริมาณขึ้นอีก)  แต่การมีน้ำบริสุทธิ์ดื่มนั้น นับวันจะยากขึ้นทุกที   ชา กาแฟหรือเครื่องดื่มผสมอัลกอฮอล์เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ขับปัสสาวะซึ่งเท่ากับการลดระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย  ผู้ที่ชอบดื่มชา กาแฟหรือเครื่องดื่มผสมอัลกอฮอล์ จึงต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกัน   ชากับกาแฟจะช่วยการขับถ่ายด้วย  แต่สำหรับบางคน ชากลับทำให้ท้องผูก  โครงสร้างภายในร่างกายของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกันทุกอณูเพราะยีน(24) อันเป็นลักษณะทางกรรมพันธุ์ที่รับทอดจากพ่อแม่ตอนปฏิสนธินั้นไม่เหมือนกัน  ระบบภูมิต้านทานและภูมิฟื้นฟูของร่างกายทำงานแบบเดียวกันก็จริง แต่มีประสิทธิภาพไม่เท่ากันร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป 

          เราดื่มน้ำได้ทุกเมื่อ นอกจากนั้นยังควรดื่มน้ำเมื่อตื่นนอน, ก่อนนอน, และครึ่งชั่วโมงก่อนอาหาร. ไม่ควรดื่มน้ำระหว่างอาหาร เพราะไปรบกวนระบบย่อยอาหาร   การดื่มน้ำก่อนอาหารจะช่วยสร้างความลื่นไหลภายในระบบย่อยอาหาร อันทำให้การย่อยสะดวกดีขึ้นอีก  และยังช่วยลดโอกาสของการเกาะปิดผนังเซลล์ของคอเลสเตอรอยส์  ซึ่งทำให้น้ำแทรกซึมเข้าออกไม่ได้   แพทย์ทางเลือก(Alternative Medecine) และแพทย์ทางวารีบำบัด (Hydrotherapy)  แนะนำว่ายามใดที่เรารู้สึกไม่ค่อยสบาย  ปวดศรีษะ เหนื่อยหรืออ่อนกำลังลง  เมื่อกระเพาะมีกรดมากเกินไป ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ ประจำเดือนไม่เป็นปกติ แพ้ท้องในยามเช้า เครียดเป็นต้น  สิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยได้ทันทีคือดื่มน้ำเพิ่มขึ้น  เพราะต้นเหตุอย่างหนึ่งมาจากการที่ระดับน้ำภายในร่างกายลดลง ซึ่งยังผลไปถึงการทำงานของสมองด้วย  ในที่สุดการดื่มน้ำมากๆ ยังทำให้ผอมลงได้ 

          เมื่อใดที่โชคอำนวยให้ไปถึงต้นน้ำในธรรมชาติ อย่าละเลยโอกาสที่จะให้ประสาททั้งห้าได้สัมผัสน้ำนั้นไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง (ลงแช่,อาบ,ล้าง,เดินลุย,พรมหน้า,ดื่มหรือรองใส่ขวดเอากลับบ้าน ฯลฯ) เพราะน้ำจากต้นน้ำธรรมชาติเป็นน้ำชนิดเดียวที่มีสรรพคุณทุกชนิดพร้อมในตัว  นั่นคือนอกจากมีสารเกลือแร่เจือปนอยู่มาก  ยังเป็นน้ำที่มีพลังมากกว่าน้ำจากแหล่งอื่นๆ  ธารน้ำที่ไหลเชี่ยวอย่างอิสระเสรีในธรรมชาติ  ไม่มีสิ่งสกปรกปะปนเข้าไป  เพราะเท่ากับมันปั่นตัวทำความสะอาดตัวมันเองอยู่เสมอ และถ้าสังเกต จะเห็นว่า ไม่มีพืชพันธุ์สาหร่ายใดๆในธารน้ำนั้น  เทียบได้กับอวัยวะของร่างกายที่แข็งแรงจะควบคุม ทำลายแบ็คทีเรียและฟื้นฟูสมรรถภาพของมันเองได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องอาศัยยาใดๆ  ในขณะที่น้ำนิ่งในบ่อเป็นที่เกิดของแบ็คทีเรียชนิดต่างๆ   ถ้าเราเพิ่มน้ำพุเข้าไปในบ่อน้ำนิ่งนั้น น้ำในบ่อนั้นจะสะอาดขึ้น ดูมีชีวิตชีวาและมีพลังในตัวพร้อมที่จะเข้าต่อสู้กับสิ่งปฏิกูลในน้ำเพื่อรักษาความสมดุลของมันให้ดีที่สุด  เช่นเดียวกันกับน้ำสะอาดที่เข้าสู่ร่างกาย  ร่างกายจะดูดซึมเอาไปใช้ได้ง่ายกว่าและทันที เพื่อหล่อเลี้ยงและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง  ผู้ใหญ่จึงมักสอนเด็กๆว่าอย่าดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่นิ่งไม่มีการหมุนเวียน ให้ดื่มน้ำที่ไหลออกจากร่องหินในภูเขาหรือน้ำพุเป็นต้น(25)  น้ำที่นิ่งเป็นน้ำที่ตายแล้ว เพราะชีวิตคือการเคลื่อนไหว มีจังหวะจะโคลน  นี่เป็นความจริงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทะเลมหาสมุทร แม่น้ำ ลำธารหรือการหมุนเวียนของโลหิตในร่างกาย ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของมวลดวงดาวในจักรวาล  อะไรก็ตามที่เข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีธรรมชาตินี้ เท่ากับไปปรับเปลี่ยนชีวิตให้ผิดไป

          ถ้าเราพิจารณาดูเทคนิคการโฆษณาขายน้ำแร่ น้ำกลั่น น้ำดื่มบริสุทธิ์ตราต่างๆในตลาดต่างประเทศและในเมืองไทย  โดยเฉพาะในฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก  น้ำดื่มตราต่างๆแข่งขันกันหนักมากในตลาดโลก  เป็นเหมือนสงครามแย่งดินแดน  วิธีการโฆษณาสื่อให้เห็นวิวัฒนาการของจิตสำนึกเกี่ยวกับคุณภาพและประสิทธิภาพที่น้ำมีต่อร่างกายเรา  ช่วงทศวรรษปี 1970  การผลิตน้ำดื่ม(บริสุทธิ์) เป็นขวดขายนั้นเกี่ยวโดยตรงกับการรักษาโรค  ในขณะที่ปัจจุบันนี้ น้ำเป็นปัจจัยของความสมดุลทางกายภาพ ของพละกำลัง ของความเปล่งปลั่ง ของชีวิตที่จะเบิกบานเต็มศักยภาพ  อันนำไปสู่ความเบิกบานในด้านสติปัญญาความคิดอ่าน  การบริโภคน้ำดื่มบริสุทธิ์ที่ขายเป็นขวดๆนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยชาวยุโรปหนึ่งคนดื่มปีละ 45 ลิตร  ชาวฝรั่งเศสหนึ่งคนดื่มปีละ 85 ลิตร  สถิติปีค..1990  บอกว่าตลาดขายน้ำในฝรั่งเศสขายไปทั้งหมด 4500 ล้านขวด  เพิ่มจากเมื่อปีค..1950  เป็นจำนวนถึง 4400 ล้านขวด  ฝรั่งเศสจึงเป็นทั้งประเทศที่ผลิตน้ำดื่มขายเป็นอันดับหนึ่งและเป็นผู้บริโภคน้ำดื่มมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย  ตามมาคือประเทศเยอรมันนีและประเทศอิตาลี ซึ่งประชาชนหนึ่งคนดื่มน้ำโดยเฉลี่ยปีละ 75 ลิตร  เช่นเดียวกันกับในสหรัฐอเมริกา  การดื่มน้ำเปล่าที่ผลิตขายเป็นขวดๆนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 5 ลิตรต่อคนต่อปีในปีค..1974 เป็น 25 ลิตรในปีค..1989  การบริโภคน้ำเปล่าใสสะอาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง  ทิ้งแถวเครื่องดื่มชนิดอื่นๆไกลอยู่เบื้องหลัง เพราะความสำเหนียกอย่างสิ้นข้อกังขาถึงประสิทธิภาพของน้ำดื่ม   การแข่งขันในตลาดขายน้ำ เป็นสงครามธุรกิจที่ดุเดือดแน่นอน (Leray, p.88)

          เดี๋ยวนี้คนจึงซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดกันมากขึ้นๆ ด้วยความเชื่อเต็มที่ว่าน้ำดื่มนั้นดีกว่าน้ำก๊อก  กรณีของประเทศไทยคงจะจริงที่สุด (ตามโรงแรมก็มักจะเขียนเตือนว่าอย่าดื่มน้ำก๊อก คงไม่ใช่เพราะหวังขายน้ำเท่านั้นหรอก)  แต่ในกรณีประเทศที่เจริญพัฒนาแล้วทั้งหลาย  น้ำดื่มที่บรรจุขวดขายนั้นไม่ดีกว่าน้ำก๊อกเสมอไป  จริงอยู่ว่าน้ำดื่มขวดๆนั้นสะดวกต่อชีวิตมากโดยเฉพาะในระหว่างเดินทาง แต่มีข้อพึงระวังหลายประการเหมือนกัน  เช่น น้ำดื่มนั้นเป็นน้ำแร่ธรรมชาติที่ขึ้นมาจากใต้ดินลึกๆจริงๆไหม?  เป็นน้ำที่ปราศจากเชื้อแบ๊คทีเรียตัวร้ายๆจริงๆไหม?  ทั้งนี้เพราะน้ำดื่มหลายชนิดมีปริมาณเชื้อแบ๊คทีเรียสูงเนื่องจากการบรรจุขวดปลาสติคและการเก็บตุนในโรงงานที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ   ขอให้นึกถึงเดือนถึงปีที่ผ่านไปตั้งแต่เริ่มขบวนการนำส่งน้ำแร่จากต้นน้ำสู่โรงงานผลิตน้ำ การบรรจุขวด การเก็บตุนในโรงงาน จนถึงการจัดส่งออกจำหน่าย  น้ำขวดเหล่านี้ยังไปคอยอยู่ในร้านขายนานเท่าไรแล้ว กว่าคนจะไปซื้อมาและเปิดขวดดื่ม  ในขบวนการดังกล่าวถ้าน้ำขวดเหล่านั้นต้องตกอยู่ในที่อุณหภูมิสูง  เชื้อแบ๊คทีเรียก็ทวีตัวขึ้นด้วย  เพราะฉะนั้นคุณภาพของน้ำดื่มขวด จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะเวลา เพราะแม้เดิมจะเป็นน้ำแร่ที่มีคุณภาพดีพร้อม แต่การกักเก็บนิ่งอยู่กับที่นานๆในขวดปลาสติค ย่อมทำให้สรรพคุณของน้ำเสื่อมลง  ปลาสติคที่ใช้ทำขวดก็ยังเป็นวัสดุที่ไม่ปลอดภัยปลอดพิษเลยทีเดียว  มีผู้พบว่าการทำน้ำดื่มอัดลมแบบน้ำโซดา จะช่วยลดการแพร่พันธุ์ของแบ๊คทีเรียในน้ำลงได้ดีกว่าน้ำดื่มเปล่าๆ  และมีคำแนะนำว่าหากเปิดขวดน้ำดื่มแล้วควรบริโภคให้หมดทันที อย่าเก็บไว้สำหรับภายหลังเพราะเชื้อแบ๊คทีเรียจะเริ่มแพร่พันธุ์ทันทีในน้ำนั้น

           ในที่สุดน้ำที่ดีต่อระบบร่างกายคนควรจะเป็นอย่างไร?  น้ำที่ดีควรมีเกลือแร่และธาตุโลหะ(26) ผสมปนอยู่หลายชนิดในสัดส่วนที่พอเหมาะ  น้ำดังกล่าวจะกักศักยภาพเต็มภายในตัวของมันและเมื่อเข้าสู่ร่างกายก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี เท่ากับไปกระตุ้น ฟื้นฟูและธำรงความสมดุลของแร่ธาตุที่ประกอบเป็นร่างกายคน(ดูเชิงอรรถข้อ 2 เพิ่มเติม)   น้ำที่ไม่มีเกลือแร่เจือปนเลยหรือมีสารโลหะที่ร่างกายไม่ต้องการปนอยู่มากเกินไป  ในทั้งสองกรณี น้ำนั้นไม่ดีต่อร่างกาย  นักวิทยาการน้ำได้ระบุน้ำหกชนิดแรกที่คนใช้อุปโภคบริโภคมากที่สุดดังนี้ น้ำกลั่น น้ำฝน น้ำใต้บาดาล น้ำที่อยู่เหนือพื้นดิน น้ำจากบ่อและน้ำจากต้นน้ำธรรมชาติ (แต่มลภาวะที่เพิ่มขึ้นในโลก ก็อาจทำให้น้ำหกชนิดนี้มีคุณสมบัติด้อบลงไปเรื่อยๆ)   ส่วนน้ำทะเลที่มีเป็นจำนวนถึง 97% ของมวลน้ำบนโลกนั้นไม่อาจนำมาใช้โดยตรงได้ แม้จะมีโรงงานสกัดเกลือออกจากน้ำทะเลแล้วในประเทศที่ขาดแคลนน้ำจืดก็ตาม(27) เพราะวิธีนี้สิ้นค่าใช้จ่ายสูงมากซึ่งนักวิทยาการน้ำต่างเห็นพ้องกันว่าจะเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อไม่ทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ  คนจึงยังไม่อาจนับน้ำทะเลเป็นแหล่งน้ำจืดได้  บัดนี้ในปี 2015 ถึงเวลาที่สุดของมนุษย์แล้ว ที่ทำให้ต้องเพิ่มการใช้น้ำทะเลมาแปรให้เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ไม่ว่าจะแพงเพียงใด สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีกไหม อยู่ที่ความร่วมมือและความตระหนักรู้ของชาวโลกร่วมกัน

          น้ำกลั่นเป็นน้ำบริสุทธิ์ของนักวิทยาศาสตร์  เป็นน้ำที่ไม่มีสารเกลือแร่ใดผสมอยู่เลย  จึงเป็นน้ำที่ใช้ในห้องทดลองหรือเพื่อการสร้างและประกอบยารักษาโรค  ไม่มีน้ำกลั่นที่ใดในธรรมชาติ  ความบริสุทธิ์ของน้ำกลั่นหมายความว่ามันพร้อมที่จะดูดซึมเกลือแร่อื่นทุกอย่างที่เข้ามาใกล้  ในแง่นี้น้ำกลั่นจึงไม่ดีต่อร่างกายในระยะยาว เพราะมันไปดูดเกลือแร่จากร่างกายเข้าสู่ตัวมัน  แต่ในกรณีที่ร่างกายมีสารพิษแปลกปลอมอยู่เกินขีดที่จะรับมือได้(อันทำให้คนนั้นป่วย)  น้ำกลั่นจะช่วยกำจัดและลดปริมาณสารพิษนั้นลง  นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกน้ำกลั่นว่าเป็น น้ำที่อ่อนหัดเพราะความบริสุทธิ์ของมัน นั่นคือมันไม่เคยมีประวัติ  ไม่มี ความทรงจำ เกี่ยวกับสภาพที่มันเคยเป็นมาก่อนในยุคน้ำแข็ง  เมื่อมันอยู่ใต้บาดาล หรือเมื่อมันแทรกซึมผ่านชั้นหินต่างๆบนโลก หรือเมื่อมันอยู่ในแสงแดดเป็นต้น  น้ำกลั่นไม่มีองค์ประกอบของ สิ่งเหล่านี้รวมกันเป็นปัจจัยและพลังพิเศษของน้ำ ของ สุขภาพน้ำที่แท้จริง  น้ำที่ดีที่สุด (หรือที่พอจะเรียกว่าเป็นน้ำอมฤทธิได้) จึงเป็นน้ำที่มีอายุมากที่สุด เป็นน้ำที่มีประสบการณ์หลากหลายที่สุด เช่นน้ำล้านปีที่ซึมผ่านภูเขาน้ำแข็งออกมา (28)

          น้ำฝนก็นับว่าเป็นน้ำที่ยังอ่อนหัดอีกชนิดหนึ่ง จึงไม่ค่อยเหมาะกับร่างกาย  ถ้าดื่มติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่เช่นโปตัสเซียม และทำให้ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ  แต่การดื่มน้ำฝนยังดีกว่าดื่มน้ำกลั่นนิดหน่อย เพราะขณะที่ละอองน้ำตกลงสู่พื้นโลกมันได้ดูดซึมอณูสารต่างๆและเกลือแร่ในบรรยากาศเข้าไว้แล้ว แต่เมื่อฝนตกลงในบนพื้นที่แห้งแล้งไร้ชีวิต  มันก็ไหลและซึมลงใต้พื้นดินบริเวณนั้น  ขณะที่ไหลลงผ่านชั้นกรวดหินต่างๆทำให้โครงสร้างภายในเริ่มเกาะตัวและหมุนวนและเวียน  ยิ่งลงไปลึกเท่าไรก็จะยิ่งเข้าสู่เขตอุณหภูมิที่สูงขึ้นๆ แล้วน้ำจะไหลวนขึ้นสู่เบื้องบน(ตามที่รู้กันแล้วว่า น้ำไหลไปสู่ที่เย็นเสมอ)   พลังงานในตัวจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับในขณะเดียวกันก็ปั่นเอาสารเกลือแร่ตามทางติดตัวไปกับมันสู่แสงสว่างเหนือพื้นดิน  อย่างไรก็ตามน้ำฝนสมัยใหม่นี้ก็เป็นอันตรายต่อระบบชีวิตมากขึ้นด้วย   อุตสาหกรรมสมัยใหม่ใช้น้ำมันและถ่านหินมาก  การเผาน้ำมันและถ่านทำให้เกิดก๊าซพิษชนิดหนึ่งเป็นไดออกไซด์ของกำมะถันลอยขึ้นสู่เบื้องบน  ละอองน้ำเมฆหมอกหรือปุยหิมะจะผนวกเอาก๊าซพิษนี้เข้าไปด้วยทำให้มันกลายเป็นกรดกำมะกันและตกเป็น ฝนกรด สู่พื้นโลก แผ่กรดนี้ไปทุกแห่ง   บางทีไปไกลถึงพันๆกิโลเมตรจากแหล่งเดิม  ในบริเวณที่ได้รับฝนกรด ต้นไม้ป่าไม้จะเหลืองและแห้งลง  พื้นดินก็เช่นกัน จะใช้เพาะปลูกอะไรไม่ได้อีกเลย  สัตว์ก็ตายลงจนสูญพันธุ์ได้  อย่างไรก็ตามการขาดน้ำทำให้มีปัญหาที่สำคัญกว่า คือ ทำอย่างไรที่จะให้น้ำฝนกลายเป็นแหล่งน้ำจืดที่มีคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์?  ทำอย่างไรที่จะทำให้น้ำฝนมีปัจจัยชีวิตและพลังงานเพียงพอ?   ปัจจุบันเริ่มการเก็บกักน้ำฝนเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำจืดอย่างจริงจัง  ใช้ขบวนการฟอกน้ำเพื่อให้ได้น้ำฝนที่ปราศจากพิษภัย (29)

          น้ำบนดินและน้ำฝนบางเขตมีโอกาสไหลลึกลงไปใต้พื้นโลกมาก  เมื่อไปพบกับความร้อนภายในโลกข้างล่าง ทำให้น้ำนั้นร้อนขึ้นๆแล้วไหลกลับขึ้นสู่ผิวดิน  ตามทางถ้าพื้นที่เป็นแอ่งหรือโพรง น้ำจะเข้าไปกักอยู่ โดยเฉพาะถ้าเป็นเขตที่มีแร่หินภูเขาไฟที่เรียกว่าไรโยไลท์ (rhyolite)   หินแบบนี้มีส่วนผสมของซิลิกาสูงมาก จึงทำให้มันเหมือนกาวอุดผนังโพรงหินใต้ดินและกักน้ำร้อนๆที่ไหลขึ้นมาจากชั้นลึกใต้ดินไว้ภายใน   เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงเกินจุดเดือด เท่ากับว่าความดันภายในโพรงหรือแอ่งหินนั้นเพิ่มขึ้นๆ (เหมือนเมื่อเราทำอาหารด้วยหม้อตุ๋นไอน้ำ เมื่อความดันอัดเต็มภายในหม้อ เกลียวปากท่อเล็กๆบนฝาจะเริ่มหมุนและไอน้ำจะพุ่งออกมา)  ในที่สุดความดันมากเกินปริมาตรภายในโพรงหิน จึงต้องหาทางออก จะดันน้ำพุ่งขึ้นจากผิวดินจนเมื่อภายในโพรงหินมีที่ว่างขึ้นใหม่  น้ำพุร้อนจึงสงบลงแล้วจะเริ่มวงจรใหม่ จะพุ่งออกมาอีกเป็นระยะๆ    เมื่อวิเคราะห์น้ำและตามวงจรดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์จะบอกได้ว่า น้ำนั้นเดินทางมานาน 500 ปีแล้ว  น้ำพุร้อนที่พุ่งขึ้นแบบนี้เรียกว่า กีเซอร์-geyser  นับว่าเป็นน้ำบาดาลชนิดหนึ่ง (30)  ในแง่ประโยชน์ของน้ำชนิดนี้ต่อร่างกาย ยังไม่นับว่าเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีพอ  ปกติคนไม่บริโภคน้ำจากกีเซอร์ แต่ใช้พลังงานความร้อนแบบภูเขาไฟใต้พื้นกับพลังงานน้ำร้อนของกีเซอร์ไปในการผลิตไฟฟ้า  แต่การทำเช่นนี้ทำให้วงจรการพุ่งออกของน้ำร้อนจากใต้ดินหยุดชะงักไป  เท่ากับกีเซอร์ถูกทำลาย  บนโลกเรานี้มีน้ำพุร้อนกีเซอร์เพียง 700 แห่งเท่านั้น(31)  ทั้งหมดอยู่ในเขตที่มีหินภูเขาไฟไรโยไลท ที่มีแหล่งน้ำใต้พื้นและอยู่ใกล้แหล่งความร้อนสูงใต้ดินแบบเดียวกับเขตภูเขาไฟ

          น้ำที่อยู่เหนือพื้นดินคือมวลน้ำที่เปิดสู่ท้องฟ้าและที่ได้มาจากวัฏจักรน้ำในธรรมชาติแล้วถูกกักตุนไว้ตามเขื่อนกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  จริงๆแล้วน้ำที่ได้จากวัฏจักรตามธรรมชาติของน้ำจะเป็นน้ำที่ดีพอเพราะมันมีเวลาไหลลงสู่ชั้นพื้นดินตื้นลึกต่างๆ ผ่านเขตอุณหภูมิต่างๆในพื้นโลก แล้วไหลขึ้นมากับต้นไม้ป่าไม้ คายออกซิเจนหรือไหลเซาะดินตามทางผ่านลงสู่ทะเล  คำนวณกันว่ามีปริมาตรน้ำที่ไหลวนจากแม่น้ำลำคลองและธารน้ำใหญ่เล็กทั้งหลายรวมกัน ลงทะเลและกลับขึ้นไปเป็นฝนตามวัฏจักรแบบนี้ ประมาณ 9000 ปริมาตรลูกบาศก์กิโลเมตร  แต่วัฏจักรดังกล่าวถูกรบกวนมากขึ้นทุกทีเพราะการขุดถางทำลายป่าเพื่อสร้างชุมชนใหม่ๆ   ความจริงตามวัฏจักรนี้ น้ำได้ผนวกเอาสารเกลือแร่ทั้งจากดินและจากบรรยากาศเอาไว้  แต่ ความที่ระบบกักน้ำเป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ เป็นที่เปิดโล่งและมีกำแพงขอบกั้น จึงเท่ากับไปหยุดน้ำให้อยู่กับที่ใต้แสงแดด  โดยเฉพาะในเขตร้อน 25%ของน้ำดังกล่าวระเหยหายสูญไปในอากาศ   คุณภาพตามธรรมชาติของน้ำถูกทำลายไปเสีย  ส่วนหนึ่งของน้ำที่ไหลแจกไปตามก๊อกน้ำมาจากแหล่งนี้

          ปกติน้ำจากบ่อเป็นน้ำที่ดีเหมาะสำหรับดื่มเพราะไหลขึ้นมาจากชั้นใต้ดิน  มีโอกาสกวาดสารเกลือแร่ตามทางติดมาด้วย   อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้น้ำบ่อมักมีสารเคมีที่เป็นพิษปนมาด้วยเพราะเกษตรกรรม(และอุตสาหกรรม)สมัยใหม่  ใช้สารเคมีอย่างไม่ระวังและล้างลงสู่ดิน (32)
          น้ำจากต้นน้ำธรรมชาติตามหลักการเป็นน้ำที่ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมันไหลทะลักออกมาจากซอกเขา  น้ำจากต้นน้ำที่ดีที่สุดมีสีออกน้ำเงินและสั่นระริกไหวเป็นประกายในแสงแดด  แม้กระนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังต้องระวัง ต้องไต่ถามและตรวจสอบดูก่อนว่า  ไม่มีโรงงานในละแวกนั้น หรือน้ำนั้นได้รับการตรวจวิเคราะห์ดูสารที่เจือปนแล้วอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

          จะเห็นว่าการมีน้ำบริสุทธิ์สะอาดและถูกอนามัยดื่มนั้น นับวันจะยากขึ้นทุกที   ส่วนใหญ่ของน้ำใช้มาจากน้ำบ่อและจากน้ำใต้บาดาล  พึงรู้ว่าน้ำเสียที่เราระบายลงสู่ท่อจะถูกนำส่งไปฟอกโดยผ่านขบวนการขั้นตอนต่างๆจนกลับเป็นน้ำที่สะอาดอีก  แล้วนำส่งกลับมาให้เราใช้ใหม่วนเวียนกันอยู่เช่นนี้ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ไม่มี น้ำใหม่ที่ใดในโลกและจะไม่มีวันมีได้  พูดง่ายๆคือ เราใช้น้ำที่เราใช้ไปแล้วเอามาใช้ใหม่อยู่ตลอดเวลา  คุณสมบัติที่ดี(ถ้ามี)แต่ต้นจึงลดลงไปเรื่อยๆ  ได้มีการค้นพบเทคนิคต่างๆที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพน้ำให้กลับคืนมา  เช่น ปั่นให้น้ำหมุนวนตามเข็มนาฬิกา หรือปล่อยให้มันผ่านเข้าไปในเครื่องปั่น, หรืออัดความทรงจำดีๆให้, หรือใช้แม่เหล็กช่วย (33)  การทดลองพิสูจน์ตลอดสามสิบปีกว่าที่ผ่านมา ล้วนยืนยัน ความสัมพันธ์ที่เป็นคุณยิ่งระหว่างแม่เหล็กกับน้ำ  เพราะอำนาจแม่เหล็กเข้าไปเปลี่ยนระบบโครงสร้างภายในน้ำโดยทำให้น้ำนั้นพร้อมที่จะรับช่วงปฏิกิริยาทางเคมี  นั่นคือนำสรรพคุณเดิมของมันกลับคืนมา  นอกจากนี้ถ้านำน้ำเข้าไปใกล้แหล่งแม่เหล็กขั้วลบ  สารโลหะขั้วบวกที่ปนอยู่ในน้ำจะถูกดูด  สารที่ไม่บริสุทธิ์อื่นๆจะตกตะกอนและจะหายไปจากน้ำในที่สุด (Ryrie,p.93)  ส่วนการอัด ความทรงจำดีๆ ให้น้ำนั้น  นักธรรมชาติวิทยาชาวออสเตรีย(Hans Grandet) ได้ทดลองให้เห็นเช่นกันว่า  ถ้าให้น้ำที่มีสุขภาพไม่ดี (คือขาดพลังงานในตัวเหมือนเด็กขี้โรคง่วงซึม) ผ่านเข้าไปอยู่ในแวดล้อมของหลอดแก้วที่บรรจุน้ำที่มีสุขภาพดี (คือเต็มไปด้วยพลังในตัวมันเหมือนเด็กที่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง)  คุณสมบัติดีๆของน้ำในหลอดแก้วจะถ่ายทอดไปสู่น้ำที่ไหลเวียนอยู่โดยรอบ  น้ำที่มีสุขภาพไม่ดีจะกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่  นั่นคือจะเป็นประโยชน์ต่อระบบชีวิตทั้งในคนสัตว์และพืช นอกจากนี้ยังมีผู้แนะนำด้วยว่า การช่วยน้ำให้มีสุขภาพดีก่อนการอุปโภคบริโภคนั้น  ยังอาจทำได้ด้วยการแผ่พลังจิตของเราไปสู่น้ำ, ด้วยการสวดมนตร์, ด้วยเสียงดนตรี, ด้วยแก้วผลึกรูปปิรามิดเป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ไปกระตุ้นการสั่นสะเทือนภายในน้ำ
          การทำน้ำให้สะอาด  วิธีที่สามัญที่สุดคือการกรองหรือการกลั่น  การกลั่นทำให้ได้น้ำที่บริสุทธิ์ที่สุด  แต่ดังกล่าวแล้วว่าน้ำกลั่นไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนอกจากต่อผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้หรือเพราะพิษเข้าสู่ร่างกาย  น้ำกลั่นจะไปช่วยดูดสารพิษนี้  การกรองด้วยถ่านดูเหมือนว่าจะเป็นกรรมวิธีที่ง่ายที่สุด   ในเครื่องกรองใส่ชิ้นถ่านชิ้นเล็กๆ แต่ถ้าเป็นถ่านชิ้นโตๆจะได้ผลมากกว่า  ถ่านช่วยขจัดและดูดสารที่ไม่บริสุทธิ์ในน้ำเช่นคลอรีน และยังดูดรสและกลิ่นที่ไม่ดีทั้งหลายในน้ำด้วย  แต่ถ่านไม่สามารถกำจัดเชื้อแบ๊คทีเรียและเชื้อไวรัสในน้ำได้   มีเครื่องกรองเซรามิคที่ภายในเจาะเป็นรูเล็กๆ  เมื่อน้ำไหลผ่านจะกรองแบ๊คทีเรียไว้ได้  บางทีก็มีระบบแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าติดอยู่ด้วย ทำให้เครื่องกรองเซรามิคสามารถกักสารโลหะที่มากับน้ำไว้  นั่นคือทำให้น้ำมีรสอ่อนลง  ยังมีเครื่องกรองที่ใช้แผ่นเยื่อบางๆ(เรียกว่าเครื่องกรองแบบรีเวอสออซโมสิส-reverse osmosis)  ที่กรองสารที่เป็นพิษเป็นภัยในน้ำ กักมันไว้และส่งไปยังท่อรองรับของเสียข้างหนึ่ง  ส่วนน้ำสะอาดที่กรองแล้วจะไหลออกไปสู่อ่างเก็บน้ำอีกข้างหนึ่งพร้อมที่จะใช้ได้   ระบบนี้ถือว่าเป็นระบบกรองที่ดีที่สุดและใช้กันแพร่หลายในประเทศที่เจริญแล้ว ตามสถานรักษาพยาบาลเป็นต้น   ระบบกรองแบบรีเวอสออซโมสิสนี้ นอกจากจะกรองสารโลหะเช่นตะกั่ว,ปรอท,สารหนู(หรืออาซนิค-Asenic ซึ่งเป็นสารพิษเคมีที่รุนแรง), ลดปริมาณไนเตรดและสารพิษจากยาฆ่าวัชพืชและยาฆ่าแมลงที่ปนมากับน้ำแล้ว  ยังสามารถกรองได้ทั้งเชื้อแบ๊คทีเรียและเชื้อไวรัสในน้ำด้วย  ในปีหลังๆมานี้ ยังมีวิธีใหม่วิธีอื่นๆที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องน้ำเป็นเรื่องอันดับแรกของทุกชีวิต (ตัวอย่างการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ  หรือกระบวนการจัดระบบโมเลกุลน้ำเพื่อให้น้ำนั้นเหมาะกับการดื่ม)

          ปัจจุบันแพทย์ทางเลือกและแพทย์ทางวารีบำบัด ต่างเชื่อในสรรพคุณของน้ำ  ว่าสามารถบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพ  การอาบน้ำไม่ใช่เป็นเพียงการทำความสะอาดร่างกายเท่านั้น  แต่ยังเป็นการผ่อนคลายอารมณ์และความรู้สึกทำให้จิตใจสงบ-สงบภายในตัวเองและเป็นหนึ่งเดียวกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง  ความเชื่อในสรรพคุณของน้ำมีมาแต่โบราณกาลแล้ว  ตำราแพทย์แผนโบราณของจีนบอกว่า น้ำเป็นแกนกลางเป็นที่ยึดของ คี่ - t’chi - : ” (บางทีก็ถ่ายอักษรเป็น qi)  เกิดความไม่สมดุลขึ้นเมื่อไรในร่างกาย  คนนั้นก็เจ็บป่วย   ชาวฮินดูเชื่อตามพระเวทว่า น้ำมีวิญญาณ มีเทพประจำอยู่  การอาบน้ำจึงเป็นพิธีศาสนาอย่างหนึ่ง เป็นวิธีปรับสมดุลระหว่างร่างกาย จิตใจและวิญญาณ และยังเป็นวิธีสื่อสารกับเทพพิภพ  น้ำเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนกับจักรวาล  “prana-ปราณ  ที่มีในน้ำ(คืออะตอมก๊าซออกซิเจนในน้ำนั่นเอง) สามารถเปลี่ยนและแปรเป็นพลังงานที่เสริมสร้างพละกำลังแก่ร่างกาย   ชาวอีจิปต์โบราณถือว่าน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  มีการสร้างวัดเพื่อให้เป็นที่อาบที่แช่ของเหล่าพระนักบวช  พระเหล่านั้นยังดื่มน้ำที่มีเกลือแร่เจือปนในปริมาณสูงมาก   การใช้ระบบวารีบำบัดเป็นไปอย่างจริงจังนานมาแล้วในอีจิปต์โบราณและเห็นผลอย่างแท้จริง  ส่วนการอาบน้ำทะเลเป็นพฤติกรรมที่มีมาก่อนแล้วในหมู่ชาวซูเมเรียนและชาวบาบีโลเนียน   ส่วนในหมู่ชาวกรีก นายแพทย์ฮิปโปเครติซ(Hippocrates, มีชีวิตอยู่ถึงราวปี 430 ก่อนคริสตกาล) ก็แนะนำให้อาบน้ำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาสุขภาพและใช้ทฤษฎีวารีบำบัดช่วยรักษาโรคบางชนิด   ต่อมากลาดิอุซกาเลนุซ (Claudius Galenus, แพทย์ลูกครึ่งกรีกโรมันผู้มีชีวิตอยู่ในราวปี 131-201 ก่อนคริสตกาล) (34) ก็รับช่วงและพัฒนาความคิดเรื่องวารีบำบัดของฮิปโปเครติซ   การอาบน้ำมีความสำคัญยิ่งในสังคมโรมัน เพราะสุขภาพความสมบูรณ์ของร่างกายกับพลังแห่งคุณธรรมในจิตใจเป็นสองสิ่งที่แยกกันไม่ได้   ในโลกชาวอาหรับสถานอาบน้ำเติร์ก (ฮัมมัม-hammam หรือที่ต่อมาเรียกกันว่า Turkish Bath) มีมากมายแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา  แต่ขาดมิติลึกซึ้งแบบกรีกและโรมัน  ปัจจุบันเหลือชื่อในแง่ของอาบอบนวดมากกว่า   ปลายศตวรรษที่ 18 มีสถานอาบน้ำแร่แพร่หลายทั่วไปในยุโรป(โดยเฉพาะตอนเหนือ)และในสหรัฐอเมริกา   ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยวารีบำบัดที่เมืองกราเฟินแบร์ก (Grafenberg ในหุบเขาประเทศเชคโกสโลวาเกีย) ที่เกษตรกรคนหนึ่งชื่อ Vincent Preissnitz [วินเซ็นตฺ ไพรซฺนิตสึ] (ชาวซีเลเซีย-Slaska ในภาษาโปแลนด์ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศโปแลนด์) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น  เขาเป็นคนแรก(ในโลกตะวันตก) ที่ประกาศทฤษฎีธรรมชาติบำบัดในการรักษาสุขภาพ   นั่นคือใช้สรรพคุณของธาตุสี่อันมีดิน น้ำ อากาศและแสงแดดเป็นเครื่องมือสำคัญ  ผู้ป่วยที่ไปพักรักษาตัวที่นั่นจะรับประทานอาหารแบบง่ายๆในปริมาณพอควร  รับการบำบัดด้วยน้ำแบบต่างๆอย่างสม่ำเสมอรวมทั้งกายบริหาร, การนวดร่างกาย, การอาบน้ำ, การใช้น้ำฉีดพุ่งใส่ตัว, การแช่ในน้ำร้อนและน้ำเย็นและจะดื่มน้ำวันละถึงห้าลิตร  ทั้งหมดนี้เพื่อฟอกเลือดและไตให้บริสุทธิ์และทำให้การหมุนเวียนของโลหิตเป็นไปด้วยดี   คนถือว่าเขาเป็นบิดาของวารีบำบัดยุคใหม่ ที่พัฒนาต่อมาอย่างไม่หยุดยั้งจนถึงทุกวันนี้   พึงรู้ว่าความเจ็บป่วยที่คนไปรักษากันยุคนั้น ส่วนใหญ่สืบเนื่องกับโรคหลอดลมอักเสบ โรคหวัด โรคตัวเย็นเท้าเย็น โรคปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ  โรคโลหิตไหลติดขัดเป็นต้น  ต่อมาบาทหลวงโดมินิแกนผู้หนึ่งชื่อ Sebastian Kneipp [ซีบ๊าซเตียน คือไน้ปเผอะ]  ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปีคศ. 1821-1897) นำทฤษฎีของ Vincent Preissnitz  มาพัฒนาใช้ในการขจัดการไหลติดขัดของโลหิต เพราะเขาเชื่อว่านั่นคือสาเหตุสำคัญของความเจ็บป่วยของร่างกายคน  เขายังแน่ใจด้วยว่าร่างกายคนสามารถรักษาฟื้นฟูตัวเองได้ ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในกรรมวิธีการฟื้นฟูสุขภาพดังกล่าว  บาทหลวงยังใช้หญ้าหรือสมุนไพรมาผสมกับน้ำและใช้เป็นยารักษาแก้เชื้อได้หลายชนิด  วิธีการรักษาของบาทหลวงผู้นี้ ให้คนป่วยนั่งแช่ทั้งตัวในน้ำเย็นแล้วน้ำร้อนสลับกันไปแบบนี้   อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจากร้อนไปเย็นจากเย็นไปร้อน ย่อมไปกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต และในที่สุดบรรเทาความเจ็บป่วยไปได้   หรือเขาแนะนำให้ทุกคนเดินเท้าเปล่าไปบนสนามหญ้าที่ชุ่มน้ำค้าง (ชาวฮินดูเดินเท้าเปล่ามาแต่โบราณจนถึงวันนี้ )   วิธีวารีบำบัดยุคบุกเบิกนี้ได้ผลดีแต่ก็ทำให้ต้องทุกข์ทรมานกันมาก  วิธีการของวารีบำบัดยุคใหม่นอกจากจะฟื้นฟูสุขภาพ  ยังมุ่งให้ความสุขสบายแก่ร่างกายและผ่อนคลายจิตใจไปพร้อมๆกัน (35)   มนุษย์ยุคปัจจุบันไม่คิดวิตกเรื่องการเป็นหวัด การปวดเมื่อย และมีปัญหาสุขภาพแบบเดียวกับมนุษย์ในยุคก่อนๆ   แต่เรามีปัญหาที่สำคัญเหนือกว่านั้น  คือ ทำอย่างไรที่จะให้ร่างกายเราสามารถสู้และต่อต้านมลพิษจากสิ่งแวดล้อมได้

         น้ำคือชีวิต  ชีวิตชุมชนจะพัฒนาไปอย่างไร ขึ้นอยู่ที่ชุมชนนั้นมีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอหรือไม่เพียงไร  ราคาน้ำคือราคาชีวิต  น้ำจะกลายเป็นอาวุธการเมืองจนอาจเป็นสาเหตุของสงคราม  น้ำจะเป็นตัวบทกฎหมายในขณะเดียวกันผู้มีน้ำก็จะเป็นผู้นำ  ในที่สุดน้ำจะเป็นเครื่องมือสู่ชัยชนะทุกประเภทของมนุษย์  น้ำจะสร้างความไม่เสมอภาคในหมู่คน  ภราดรภาพเท่านั้นที่จะช่วยกู้มนุษยชาติได้  น้ำได้รับใช้หล่อเลี้ยงชีวิตคนเสมอมา  ต่อไปนี้คนต้องเลี้ยงดูรู้คุณน้ำ  มีผู้เขียนเตือนสติว่า 75% ในสมองคนประกอบด้วยน้ำ  คิดดูให้ดีและใช้สมองนั้นเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับน้ำ รักและห่วงใยชีวิตน้ำ

          ใครบ้างที่ไม่เคยชื่นใจเมื่อดื่มน้ำ ไม่เคยชอบผลไม้หวานฉ่ำ ไม่เคยติดใจน้ำแกงรสดี ไม่ชอบ ความรู้สึกสบายตัวเมื่ออาบน้ำ ไม่เคยประทับใจเมื่อเห็นสายธารที่ใสสะอาด ไม่เคยสัญจรไปมาเหนือน้ำ ไม่เคยตื่นตาตื่นใจกับน้ำตก ไม่เคยชื่นชอบน้ำพุที่พุ่งขึ้นลงและพลิ้วไปมาตามเสียงเพลง ไม่เคยนั่งชมแม่น้ำกับทะเลปล่อยความคิดคำนึงให้ล่องลอยไปกับกระแสน้ำไหล ไม่เคยได้คติข้อคิดจากภาพลักษณ์ของน้ำใครบ้างที่ไม่หวังพึ่งสายน้ำ เมื่อยามจากชีวิตนี้ไป ให้ช่วยพาอังคารตนไหลรวมตัวไปสู่คงคาสวรรค์...

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์  นำลงบล็อกในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘.

เชิงอรรถ
(1)  ฝ่ายประชากรของแผนกเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ได้ให้ตัวเลขของประชากรปี 1998 เป็น 5.9 พันล้านคน โดยมีอัตราการเพิ่มปีละ 1.33% หรือเท่ากับ 78 ล้านคนต่อปี  ประชากรโลกในกึ่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะอยู่ในระหว่าง 7.3 - 10 พันล้านคน และจะเป็นจำนวนถึง 8.9 พันล้านคนอย่างแน่นอนในปีคศ. 2050  (ดูรายละเอียดได้จากรายงานของฝ่าย Population Division, Department of Economic and Social Affairs, UN. จาก website นี้ : http://www.popin.org/pop1998/  หรือจากหนังสือ World Resources 1998-99, UN Publications, pp. 141-142)

(2)  99% ของผิวนอกของโลกประกอบด้วยธาตุเก้าชนิดเป็นสำคัญในอัตราส่วนเฉลี่ยดังนี้ : ก๊าซออกซิเจน 45.0%, ซิลิคอน 27.0%(กึ่งโลหะหรือกึ่งตัวนำ), อลูมีเนียม 8.0%,  เหล็ก 5.8%, คัลเซียม 5.1%,  แม็กนีเซียม 2.8%, โซเดียม 2.3%, โปตัสเซียม 1.7%, ไฮโดรเจน 1.5%. (cf. Science Desk Reference,p.376-9).  ที่น่าสนใจคือ ร่างกายคนก็มีส่วนประกอบจากธาตุเหล่านี้  แร่ธาตุก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกายซึ่งไปเสริมสร้างโมเลกุลสำคัญๆเช่นเหล็กเป็นส่วนสำคัญในเม็ดเลือดแดง  คัลเซียมจำเป็นต่อโครงกระดูก  ร่างกายต้องการแร่ธาตุอย่างน้อย 25 ชนิดเพื่อธำรงสุขภาพให้ดี  แร่ธาตุเหล่านี้ได้มาจากอาหาร  การรู้จักกินอาหารที่ถูกต้องกับความต้องการของร่างกายช่วยไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บ  เมื่อร่างกายขาดเกลือแร่ชนิดใด ก็ต้องกินอาหารเสริมหรือยาสกัดที่ให้ธาตุนั้น
     ความจริงในแง่วิทยาศาสตร์นี้จึงยืนยันคติที่ว่า คนเกิดจากดินเมื่อตายก็กลับคืนสู่ดิน  เราได้เห็นแล้วว่า  ดินคือแร่ธาตุทั้งเก้านั่นเอง  เมื่อร่างกายสลายลงจึงกลับคืนสู่สภาพของแร่ธาตุขั้นปฐมภูมิ หมดปฏิกริยาทางเคมีระหว่างแร่ธาตุเหล่านั้น  สำนวนอังกฤษที่ว่า “no chemistry” ที่หนุ่มสาวสมัยใหม่ใช้กันเมื่อไม่รู้สึกรักใคร่หรือถูกชะตากัน  จึงอาจโยงไปถึงกระบวนการสร้างชีวิตแบบนี้

(3)  ช่องว่างแบบต่างๆในชั้นหิน ส่วนใหญ่ขนาดเล็กมากอยู่ในสเกลมิลิเมตรเท่านั้น  น้อยนักที่จะห่างไปถึงขั้นเซนติเมตรหรือเป็นเมตร  แต่ก็มีปรากฏว่า แนวร้าวในหินนานๆเข้าก็ขยายใหญ่ขึ้นๆ เพราะอำนาจกัดกร่อนของกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกว่าปกติในบริเวณนั้น  (น้ำขึ้นลงในธารน้ำชั่วคราวนี้ เร็วได้ถึงหนึ่งเมตรในหนึ่งวินาที เมื่อเทียบกับระดับของน้ำบาดาลในเขตอบอุ่นที่ขึ้นได้ไม่เกินหนึ่งเมตรในหนึ่งวัน) จนทำให้แนวร้าวขยายออกเป็นช่องกว้างแล้วเป็นโพรงใหญ่คล้ายถ้ำใต้ดิน  และในที่สุดทำให้พื้นที่บริเวณนั้นทรุดยวบลง  บางทีการสึกกร่อนขยายขึ้นมาถึงพื้นผิวข้างบนก็มี (ตัวอย่างในประเทศสโลเวเนีย)

(4)  โดยเฉลี่ยหัวใจคนปรกติเต้นประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาที พร้อมกับปั๊มเลือดประมาณ 5.7 ลิตร หรือเท่ากับหัวใจเต้นประมาณหนึ่งแสนครั้งพร้อมกับการปั๊มเลือด 1,800 แกลลอนต่อวัน และยิ่งคนออกกำลังมาก หัวใจก็ยิ่งเต้นเร็วขึ้นอีกหลายเท่า

(5)  ประชาชนส่วนใหญ่มักเชื่อว่า น้ำบาดาลมาจากแม่น้ำใต้ดินหรือจากตาน้ำที่มีอยู่เป็นแห่งๆบนโลกและอยู่ประจำคงที่ตรงนั้น  ความคิดนี้ทำให้คนแสวงหาแหล่งน้ำใต้ดินในที่ต่างๆ   ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านานในยุโรป  คือก่อนที่จะขุดบ่อน้ำไม่ว่าจะเป็นบ่อของหมู่บ้านหรือบ่อในสวนหลังบ้านส่วนตัว  จะเชิญ หมอดูตาน้ำ มาเป็นผู้กำหนดจุดที่จะขุดเจาะลงในดิน   หมอดูตาน้ำ มีเครื่องมือเฉพาะ เป็นไม้เท้าทำจากกิ่งต้นนัท (baquette du coudrier du sourcier)  เขาเดินไปมาในบริเวณนั้นถือไม้เท้าชี้ลงสู่ดิน  ถ้าไม้เท้าสั่นหรือเหมือนถูกแรงดึงดูดจากใต้ดินตรงจุดใด  ก็เป็นจุดที่เขากำหนดให้ขุดลงเป็นบ่อลึก   ความจริงแล้วมวลน้ำใต้บาดาลมีอยู่ทั่วไปใต้พื้นดิน จะมากหรือน้อยเท่านั้นตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละถิ่นดังที่อธิบายมาข้างต้น

(6)  เป็นที่รู้กันว่าเขตทะเลทรายลีเบีย(ในแอฟริกา)ฝนตกน้อยกว่า 2 เซนติเมตรต่อปี  ทำให้ไม่มีพืชพันธุ์และดินก็ว่างเปล่าเปลือย  ถึงกระนั้นหากมีฝนตกลงหนึ่งครั้ง  รากหรือเหง้าพืชบางชนิดเช่นเหง้าองุ่นจะมีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ระหว่าง 2-3 ชั่วโมงแล้วกลับเข้าสู่ ความหลับใหล เหมือนเดิม  หากธารน้ำใดยังมีน้ำ พืชพันธุ์จะไปเกิดในน้ำนั้น  เมล็ดจะงอกและเติบโตจนถึงจุดสุดของมัน ดูดน้ำกับความชื้นจากดินจนหมด  ภายใน 3 อาทิตย์ ชีวิตมันก็จบลง  ส่วนในทะเลทรายอาเรเบีย ฝนตกปีละประมาณ 5 เซนติเมตร ไม่มีแม้แต่ธารน้ำชั่วคราว ไม่มีพืชพันธุ์ใดๆเลย

(7)  เรียกปรากฏการณ์แผ่นดินหดตัวและทรุดยวบลงว่า subsidence  เมืองหลายเมืองทั่วโลกจมลงทีละนิดๆทุกปี  ไม่เฉพาะเมืองเวนิสหรือเมืองปีซาในประเทศอิตาลี  สมุทรปราการ ธนบุรีหรือกรุงเทพมหานครก็เช่นกัน
(8)  กรณีของอ่าวนอกฝั่งเมืองเวนิสที่มีสารประกอบของไนเตรดจากขยะพืชสัตว์ที่ทิ้งจมลงปีละ 9000 ตันและฟอสเฟตอีก 2000 ตัน  ทำให้เกิดเป็นชั้นสิ่งปฏิกูลที่ลอยเหมือนแพสาหร่ายประมาณ 50 กิโลกรัมต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร  ชีวิตสัตว์น้ำถูกทำลาย รวมทั้งสุขภาพคนและศิลปะอันเป็นสมบัติล้ำค่าของเมือง
*  ศูนย์นิวเคลียที่ Tchernobyl ในสหภาพโซเวียตเดิมที่ระเบิดเมื่อเดือนเมษายนปีคศ.1985 ยังผลให้จำนวนเด็กเกิดให่ตายเพิ่มขึ้นและฝูงสัตว์ทุพทลภาพเช่นหมูตาบอดหรือลูกวัวสองหัวเป็นต้น
* ทะเลสาบน้ำจืด Baikal แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดและที่เคยบริสุทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในแดนURSS พอมีอุตสาหกรรมหนักเกิดขึ้นรอบๆ  น้ำอันมีค่านั้นถูกทำลายไป
* ส่วนทะเลเอรัล(Aral Sea) ในทวีปเอเชียตอนกลางในแดนของสหภาพโซเวียตเดิมเช่นกัน  เป็นทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกหดลง  ปัจจุบันตกอันดับลงไปอยู่ที่หกและยังคงตกอันดับลงอีกเรื่อยๆ
* กรุงเทพมหานครก็เช่นกัน การวิเคราะห์จำนวนสารตะกั่วที่เจือปนอยู่ในบรรยากาศเมื่อปี 1990 พบว่าเกินขีดสูงสุดแล้ว  คนกรุงเทพฯหายใจตะกั่วเข้าไปๆ  ตะกั่วทำลายเยื่อสมองโดยเฉพาะในตัวเด็ก  พิษของตะกั่วนี่เอง ที่ทำให้ท่อน้ำประปาต้องเปลี่ยนไปใช้สารอื่นเช่นเป็นสารผสมปลาสติคแทน แต่ก็ยังไม่แพร่หลายไปทุกมุมโลก จึงมีการเตือนว่าอย่าใช้น้ำก๊อก โดยเฉพาะจากก๊อกน้ำร้อนไปทำอาหารหรือชงนมให้เด็กทารก  ความร้อนช่วยละลายสารตะกั่วได้มากขึ้นอีก  น้ำก๊อกจึงไม่ปลอดภัย 
* ในรายงานของสหประชาชาติ(World Resources 1998-99, pp.159-160) ยังได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมฟาร์มปลาและกุ้งในประเทศไทย ที่ได้ทำลายพื้นที่และแหล่งน้ำไปอย่างมากมายรวมทั้งลดระดับน้ำบนผิวดินไปด้วยอย่างชัดเจนโดยเฉพาะบริเวณฝั่งน้ำ  เพียงแค่หกปี(1987-1993) 17%ของพื้นที่ป่าโกงกางถูกถางไปทำฟาร์มกุ้ง   การทำลายป่าโกงกางซึ่งเป็นป่าริมฝั่งน้ำทำให้ชายฝั่งถูกน้ำกัดเซาะมากขึ้น  น้ำท่วมง่ายขึ้นและกระบวนการขับหรือกักน้ำตามธรรมชาติของมันที่เคยมีถูกทำลายหรือหันเหไปสิ้น  (จากพื้นที่ป่าโกงกางที่เคยมีในปี 1961 จำนวน 4744 ตารางกิโลเมตร  เหลือเพียง 2451 ตารางกิโลเมตรในปี 1986 และลดลงไปเหลือประมาณ 2034 ตารางกิโลเมตรในปี 1993)
*  ตัวอย่างระบบนิเวศน์และแหล่งน้ำที่ถูกทำลายไปในโลกเพราะฝีมือมนุษย์ยังมีอีกมากนัก  ในออสเตรเลียมีดินแดนกว้างมหึมาที่กลายเป็นทะเลทราย เพราะน้ำบนผิวดินแห้งเหือดหายไป และน้ำใต้บาดาลเองไหลขึ้นสู่ผิวดินแล้วก็เหือดแห้งไปอีก เหลือให้เห็นเป็นเกล็ดเกลือแร่บนดิน  ดินแดนส่วนใหญ่นี้เคยปกคลุมด้วยต้นยูคาลิปตัส  ในทะเลทรายออสเตรเลีย ไม่มีต้นไม้พันธุ์กระบองเพชรเลย ผิดกับทะเลทรายในเขตอื่นของโลก  ปัจจุบันมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์พยายามเพาะต้นยูคาลิปตัสขึ้นแล้วนำกลับไปปลูกณดินแดนดังกล่าว  ต้นยูคาลิปตัสทนแดดทนความร้อนได้อย่างดีและก็เติบโตขึ้นได้  รากหยั่งลึกลงไปหาแหล่งน้ำ  ทำให้น้ำใต้บาดาลค่อยๆไหลขึ้นมาข้างบนผิวดิน  เมื่อดินอุ้มน้ำ หญ้าและพันธุ์ไม้ก็เริ่มขึ้น  วิธีการปลูกต้นยูคาลิปตัสในดินที่แห้งแล้งลง จึงเป็นหนทางช่วยกู้แดนสีเขียวให้กลับคืนมา  แต่ต้องใช้เวลานานมาก   ผู้คนอาจสงสัยคิดว่าทำไมจึงต้องลงทุนลงแรงกู้ชีวิตพืชพันธุ์ให้เติบโตแพร่พันธุ์ต่อไปไม่หยุด  คำตอบคือถ้าไม่มีต้นหมากรากไม้ในแดนใด  แดนนั้นจะแห้งสนิท  จะไม่มีความชื้นเหลือเลย ซึ่งยังผลต่อเป็นลูกโซ่ไปยังวัฏจักรชีวิตอื่นรวมทั้งความอยู่รอดของชนรุ่นต่อๆไป  การรณรงค์เพื่อช่วยกู้ดินแดนสีเขียวให้กลับคืนมา ใช้เวลานานมากซึ่งชนรุ่นเราต้องทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้โดยไม่ย่อท้อหรือหยุดหย่อน  ชีวิตพืชและสัตว์สะท้อนให้เห็นและสอนให้คนรู้ว่า โลกนี้จะรอดพ้นภัยพินาศได้อย่างไร

(9)  แผนภูมิ 1 และ 2 ต่อไปนี้สรุปจากข้อมูลตามสถิติปี 1995 (World Resources 98-99, p. 200-224) อันเป็นข้อมูลลายลักษณ์ทางการฉบับล่าสุดเกี่ยวกับปริมาตรน้ำจืดที่มีและที่ใช้ไปในทวีปต่างๆ  ข้าพเจ้าได้แทรกสถิติจำนวนประชากรปี 1998 และปี 2050 (World Resources 98-99, p. 245) เข้าไปด้วยเพราะปริมาตรน้ำพร้อมใช้ ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรผู้ใช้น้ำนั้นร่วมกัน (แม้ในความเป็นจริง คนใช้น้ำไม่เท่าเทียมกัน)

แผนภูมิ 1 : สถิติปี 1995.

                        ปริมาตรน้ำจืดที่มีพร้อมใช้ในหนึ่งปี


                        (คำนวณจากปริมาตรแม่น้ำและจากน้ำ                                                             

  ชื่อทวีป          บนผิวดินที่วนกลับมาตามวัฏจักรน้ำ )                   ปริมาตรน้ำที่ใช้หมดไป                 เปอร์เซ็นต์พื้นที่ที่มีการชลประทาน

                        ปริมาตรทั้งหมด     ปริมาตรต่อคน               ลูกบาศก์กิโลเมตร  ลูกบาศก์เมตร        

                       ลูกบาศก์กิโลเมตร    ลูกบาศก์เมตร                       ต่อปี                  ต่อคน

  อัฟริกา                    3996                   5554                                    145                 202                                           6.0

  เอเชีย                     13207                   3841                                  1634                 542                                         25.1

  ยุโรป                       6234                    8561                                    455                625                                          8.7

  อเมริกาเหนือ          5309                  17896                                     512              1798                                         7.4         

  อเมริกากลาง           1057                    8558                                      96                916                                        16.3

  อเมริกาใต้                9526                  30005                                    106                335                                         7.7

  ออสเตรเลีย              1614                  57031                                     17                 591                                        4.8

  และหมู่เกาะ 

แผนภูมิ 2 : เปอร์เซ็นต์แสดงปริมาณน้ำใช้ในวงกิจกรรมคนในแต่ละทวีปตามสถิติปี 1995 โดยมีจำนวนประชากรให้เปรียบเทียบ.

               ทวีป                                                                                                                                                                            ออสเตรเลีย

  วงกิจกรรม                      อัฟริกา                   เอเชีย                 ยุโรป         อเมริกาเหนือ      อเมริกากลาง       อเมริกาใต้        และหมู่เกาะ

  วงเกษตรกรรม                   88.0                      85.0                   31.0               39.0                    86.0                     59.0                  64.0

  (การเพาะปลูก

  และเลี้ยงสัตว์)

  วงอุตสาหกรรม                    5.0                        9.0                   55.0                  48.0                    8.0                   23.0                    2.0

  วงชีวิตประจำวัน*                7.0                        6.0                   14.0                  13.0                    6.0                   18.0                   64.0

จำนวนประชากรปี 1998       778,484,000   3,588,877,000   729,406,000    304,078,000     130,710,000      331,889,000       29,460,000

จำนวนประชากรปี 2050     2,046,401,000   5,442,567,000   637,585,000    384,054,000     230,425,000      523,778,000       45,684,000

จำนวนประชากรโลก ปี 1998    5929 ล้าน 8 แสน 3 หมื่น 9 พันคน         จำนวนในประเทศพัฒนาแล้ว 1181 ล้าน 5 แสน 3 หมื่นคน

                                                                                      จำนวนในประเทศกำลังพัฒนา 4748 ล้าน 3 แสน 1 หมื่นคน      

 จำนวนประชากรโลกปี 2050     9366 ล้าน 7 แสน 2 หมื่น 4 พันคน         จำนวนในประเทศพัฒนาแล้ว 1161 ล้าน 7 แสน 4 หมื่น 1 พันคน

                                                                                      จำนวนในประเทศกำลังพัฒนา 8204 ล้าน 9 แสน 8 หมื่น 3 พันคน

* น้ำใช้ในวงชีวิตประจำวันรวมน้ำอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ในส่วนธุรกิจการค้า ในองค์กรสาธารณประโยชน์เช่นโรงพยาบาลและในส่วนเทศบาล
** จำนวนประชากรไทยในปี 1998 คือ 59 ล้าน 6 แสน 1 หมื่น 2 พันคน และจะเป็น 72 ล้าน 9 แสน 6 หมื่น 9 พันคนในปี  2050

(10)  จากสถิติตัวเลข เห็นชัดเจนน่าตกใจเกี่ยวกับการใช้น้ำยังมีตัวอย่างอีกมาก  เป็นสถิติจาก Water Hero 1996 ของอเมริกา แจกแจงไว้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการใช้น้ำตามที่สำรวจในอเมริกา  สถิตินี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า กว่าที่เมล็ดหรือพืชต้นหนึ่ง จะกลายมาเป็นอาหารเพียงหนึ่งส่วนของคนๆหนึ่งบนโต๊ะอาหารได้นั้น ใช้น้ำหมดไปแล้วเท่าไร  ทั้งเตือนทั้งสอนให้คอยเช้คจุดน้ำต่างๆภายในและภายนอกบ้านเพื่อปลูกฝังนิสัยการใช้น้ำอย่างมีสติในทุกนาทีของชีวิต  ดังตัวอย่างของแบบเตือนที่นำมาให้ดูย่อๆข้างล่างนี้ :
ปล่อยน้ำไหลขณะแปรงฟันหรือโกนหนวดหรือเปล่า?  อาบน้ำแบบใช้อ่างอาบน้ำไหม?  อาบน้ำฝักบัวเกินห้านาทีไหม?  รดน้ำต้นไม้หรือสนามหญ้าตอนกลางวันแสกๆไหม?  ใช้เครื่องซักผ้าหรือเครื่องล้างถ้วยชามเพื่อล้างสองสามชิ้นเท่านั้นไหม?  ใช้ปุ๋ยมากเกินไปไหม?  ล้างรถทุกวันไหม?  ปล่อยให้ท่อน้ำรั่วหรือเปล่า?  เทน้ำมันเครื่องเก่าลงในท่อไหม? ฯลฯ หยุดทำเสียที….

(11)  แคนาดาเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลก  ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ๆในแคนาดารวมกันเป็นพื้นที่ถึง 245.000 ตารางกิโลเมตร  น้ำนี้เลี้ยงดู 1/3 ของประชากรชาวแคนาดา (Leray, p.120)
* แม่น้ำอะเมซอน (Amazon)ไหลผ่าน 7 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ครอบพื้นที่ทั้งหมด 6,144,000 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรหนาแน่นเป็น 4.3 คนต่อพื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร
* แม่น้ำไนล์(Nile) ไหลผ่าน 10 ประเทศในทวีปแอฟริกาครอบพื้นที่ทั้งหมด 3,255,000 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรหนาแน่นเป็น 42.7 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร 
* แม่น้ำดานูบ(Danube) ไหลผ่าน 13 ประเทศในทวีปยุโรปครอบพื้นที่ทั้งหมด 796,000 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรหนาแน่นเป็น 103.5 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร 
* แม่น้ำมิสซิสซิปี(Missisipi) ไหลผ่าน 2 ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือครอบพื้นที่ทั้งหมด 3,202,000 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรหนาแน่นเป็น 21.5 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร 
* แม่น้ำแม่โขง(Mekong) ไหลผ่าน 6 ประเทศในทวีปเอเชียครอบพื้นที่ทั้งหมด 806,000 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรหนาแน่นเป็น 77.6 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร 
* ดูรายละเอียดเกี่ยวกับลุ่มน้ำใหญ่ๆ 82 แห่งในโลกพร้อมจำนวนเปอร์เซนต์ที่เป็นป่าและเขตเพาะปลูกรวมทั้งข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้จาก World Resources 1998-1999, หน้า 303-312.

(12)  ในปี 1977 สหประชาชาติได้ออกประกาศว่า ชาวโลกทุกคน ไม่ว่าจะมาจากถิ่นฐานใด จากสังคม เศรษฐกิจและการเมืองแบบใด มีสิทธิ์ที่จะมีน้ำดื่มทั้งปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอกับความต้องการพื้นฐาน. (The United Nations Water Conference, 1977).  สองทศวรรตผ่านไป สถิติยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า 1.4 พันล้านคนในโลกยังไม่มีน้ำสะอาดดื่ม.  2.9 พันล้านคนที่ยังไม่มีการอนามัยที่เพียงพอ.  การปรับปรุงพัฒนาคุณภาพน้ำและการอนามัยนอกจากจะช่วยลดภาระอันหนักของการอนามัยโลก ที่ต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่สืบเนื่องกับน้ำจำนวนมากแล้ว  ยังเท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยตรงด้วย  รวมทั้งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า (เช่นการที่ปล่อยให้คน-โดยมากผู้หญิง-ใช้ชีวิตวันๆไปในการออกหาน้ำ ขนส่งน้ำเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือนจากที่ไกลๆ  เท่ากับไม่ช่วยส่งเสริมชีวิตสตรีให้มีบทบาทอื่นๆในสังคมแทนการเป็นเพียงผู้ออกหาน้ำดื่ม).

(13)  ในเขตฝั่งทะเลหรือในหุบเขาสูงที่มีหมอกปกคลุมเป็นประจำ  หมอกนั้นก็คือแหล่งน้ำด้วยเหมือนกัน  การเก็บเกี่ยวหมอก (Fog collection) จึงเป็นการสร้างแหล่งน้ำไว้ชดเชยโดยเฉพาะในเขตที่แห้งแล้ง  ข้อมูลและความร่วมมือจากนักอุตุนิยมวิทยา นักไมโครฟิสิคส์ นักเคมีน้ำและบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ทำให้รู้ลักษณะการตกของเม็ดฝนหรือละอองไอน้ำในความเร็วของลม  และทำให้คนสามารถสร้างเครื่องเก็บละอองหมอกได้สำเร็จ (ซึ่งประกอบด้วยแผ่นรองรับละอองที่เป็นแนวยาวคล้ายตาข่ายตั้งตรงขึ้นต่อกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ)   โครงการแบบนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมปีคศ.1992 และสามารถกักหมอกเป็นน้ำใช้ได้ประมาณ 11,000 ลิตรต่อวัน เลี้ยงดูหมู่บ้านขนาด 330 ครัวเรือนในตอนเหนือของประเทศชิลี  หมอกจึงกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญแหล่งหนึ่งที่คนจะพึ่งได้.
การศึกษาพิจารณารูปลักษณะตลอดจนสัณชาตญาณของพืชพันธุ์ไม้ต่างๆในทะเลทราย (โดยอาศัยการถ่ายภาพแบบเร่งความเร็ว-high speed photography ซึ่งให้ข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลีบ ใบตลอดถึงขนบนกิ่งหรือใบตลอด24ชั่วโมง) เผยให้เห็นความสามารถปรับตัวของพืชพันธุ์ชนิดต่างๆอย่างน่าอัศจรรย์ใจ และให้ข้อคิดแก่นักวิทยาศาสตร์มากมาย รวมทั้งสอนให้เรารู้จักเก็บกักน้ำด้วย  เดี๋ยวนี้นอกจากหมอก คนยังต้องเก็บกักน้ำค้างที่ตกในยามค่ำคืนไว้ด้วย เพราะนั่นคือแหล่งน้ำของคนอีกแหล่งหนึ่ง.

(14)  ดูรายละเอียดได้จากรายงานของสหประชาชาติเรื่อง China’s Health and Environment: Water Scarcity, Water Pollution, and Health, World Resources 1998-99, pp.115-6. และเรื่อง Tackling the Problems of Poverty, Environment, and Health: Expanding Water and Sanitation Coverage, World Resources 1998-99, pp. 75-93.

(15)  สารพิษสำคัญๆในอากาศเช่นพวกคาร์บอนมอน็อกไซด์(จากการเผาไหม้ไม้และหินฟอสซิล), ไฮโดรคาร์บอนส์ (จาการเผาไหม้ที่ไม่หมดสมบูรณ์), ไนโตรเจนอ็อกไซด์(จากการสันดาปในอุณหภูมิสูงมาก), ซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์(จากเตาเผาแรงสูงในอุตสาหกรรม, การเผาหรือกลั่นน้ำมันและถ่านหิน,โรงงานสารเคมีเป็นต้น), แอมโมเนีย(จากกระบวนการกำจัดสิ่งปฏิกูลจากพืชและสัตว์), ตะกั่ว(จากอุตสาหกรรมและน้ำมันรถยนตร์), และยังมีอนุกุลอื่นๆอีกที่เป็นผลจากการเผาขยะ การสร้างถนนและการทำเหมือง.  สารพิษเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่แล้วในระบบธรรมชาติหรือเป็นผลสืบเนื่องจากภัยธรรมชาติเช่นไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟระเบิด การกัดกร่อนของลม เป็นต้น.  แต่คนและวิถีชีวิตแนวใหม่ของคนได้ไปเร่งและเพิ่มปริมาณสารพิษเหล่านี้จนเกินขีดที่จะขจัดมันได้.

(16)  อะตอมไฮโดรเจนเป็นอะตอมที่มีขนาดเล็กที่สุดในมวลธาตุทั้งหมด. ใจกลางอะตอมคือโปรตอนประจุบวกหนึ่งโปรตอน และมีโปรตอนประจุลบหนึ่งโปรตอน หมุนวนอยู่รอบๆเป็นสามมิติ. อะตอมไฮโดรเจนเบามาก จึงไม่มั่นคงและเคลื่อนไหวตลอดเวลา.
ส่วนอะตอมออกซิเจนนั้นหนักกว่ามากเพราะใจกลางของมันมีโปรตอนแปดโปรตอนและยังมีโปรตอนอีกแปดโปรตอนที่หมุนวนรอบๆใจกลางเป็นสองวงล้อม  วงล้อมในที่สุดมีโปรตอนสองโปรตอนและวงล้อมนอกมีอีกหกโปรตอน. (ขอให้นึกจินตนาการง่ายๆว่าเหมือนระบบดาวพระเคราะห์ที่หมุนรอบดวงอาทิตย์).

(17)  การที่น้ำประกอบด้วยออกซิเจน จึงทำให้ปลามีชีวิตอยู่ในน้ำได้  อวัยวะของปลาสกัดออกซิเจนจากน้ำ  แต่ออกซิเจนในน้ำมีน้อยกว่าออกซิเจนในอากาศถึง 60 เท่า.  เมื่อเราหายใจอากาศเข้าสู่ปอด เลือดจะดูดเอาออกซิเจนจากอากาศนี้ และนำส่งไปสู่เซลล์ทั้งร่างกาย(ซึ่งมีประมาณ 6 หมื่นล้านเซลล์)

(18)  บนเส้นทางที่น้ำไหลจากใต้พื้นโลกมาสู่เรา  น้ำได้พบและเผชิญกับมวลแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งน้ำจะรับเข้ารวมไว้ในตัวมันด้วยตลอดเวลา   กระบวนการดังกล่าวทำให้น้ำไม่อยู่นิ่ง จะสั่นกระเพื่อมระริกเป็นจังหวะ เป็นคลื่นล้านๆครั้งในหนึ่งวินาที  คุณสมบัติในการกักข้อมูลและเกลือแร่ของน้ำทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเจาะจงได้ว่า น้ำนั้นมาจากความลึกขนาดไหน  จากโลกส่วนไหน  หรือมีอายุเท่าไร  นั่นคือเดินทางมานานเท่าไรแล้ว  นี่แหละที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า น้ำมี ความทรงจำ   มีตัวอย่างประกอบให้เห็นจริงง่ายๆ คือ ปุยหิมะหนึ่งปุยประกอบด้วยโมเลกุลน้ำล้านๆโมเลกุล เรียงกันเป็นโครงสร้างที่เฉพาะและมั่นคง  แต่เราจะไม่มีวันพบปุยหิมะที่มีรูปลักษณ์ภายในของโมเลกุลเองแบบเดียวกันทุกประการ  ถ้าเรานำปุยหิมะปุยหนึ่ง ถ่ายรูปร่างของมันไว้ แล้วนำมาละลายเป็นน้ำ  จากนั้นทำให้มันแข็งตัวขึ้นใหม่เป็นปุยหิมะในสภาพแวดล้อมที่เหมือนเดิมทุกประการ  เราจะได้ปุยหิมะที่มีรูปร่างเรขาคณิตเหมือนเดิมทุกประการ   นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าปุยหิมะนั้นจำรูปร่างเดิมของมันได้และแสดงออกมาให้เห็นอย่างละเอียด   (แต่รูปลักษณ์การรวมตัวภายในเป็นโมเลกุลน้ำนั้น ไม่มีวันจะเหมือนเดิมได้ เพราะความรวดเร็วของการรวมตัวและสลายตัวลงของโมเลกุลน้ำ เกิดขึ้นใหม่และสลายลงเป็นล้านๆครั้งต่อหนึ่งวินาที  และเนื่องจากการรวมตัวของโมเลกุลน้ำเป็นไปอย่างไม่เป็นระเบียบ  การจะพบรูปลักษณ์โมเลกุลน้ำแบบเดียวกันนั้น  จึงเป็นไปไม่ได้และไม่มีประโยชน์   ความหลากหลายวิธีในกระบวนการรวมตัวของโมเลกุลน้ำนี้  คงจะมีส่วนทำให้พฤติกรรมและคุณสมบัติของน้ำพิเศษผิดไปจากสารเหลวอื่นๆ)

(19)  เลือดในร่างกายคนก็เช่นกัน ไม่ได้ไหลเป็นเส้นตรงแต่ไหลวน เหมือนแนวเส้นในตัวเลข 8 ไปตามเส้นเลือดใหญ่น้อยซึ่งวนไปมาทั่วร่าง โดยมีการเต้นของหัวใจเหมือนเครื่องยนต์ที่ผลักให้เลือดไหลไปไม่หยุดยั้ง

(20)  Viktor Schauberger ชาวออสเตรีย ทำงานให้กับกรมการป่าไม้ของออสเตรีย  เป็นคนช่างสังเกตและเข้าใจธรรมชาติของน้ำเหนือคนร่วมยุคเดียวกัน  แต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของน้ำแบบวนขดเป็นเกลียวไปดังกล่าวและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดินและน้ำของเขา ไปกระทบและพลิกเทคนิคที่ปฏิบัติกันมา  จึงไปขัดกับผลประโยชน์ของการอุตสาหกรรมที่วางรากฐานกันมาแล้ว  น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟฉันใด  ความคิดอันถูกต้องของเขาจึงเป็นเพียงข้อเสนอแนะที่คนพยายามลืม   อย่างไรก็ตามนับได้ว่าเขาเป็นผู้กรุยทางสู่เทคโนโลยีพลังน้ำสมัยใหม่

(21)  เช่นเดียวกัน น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของพืชผักทั้งหลาย  เช่น 95% ของน้ำหนักของผักกาดหอมที่สดและงามหนึ่งต้น คือน้ำหนักของน้ำ  ในผักอาร์ติโชค์ (artichoke) มีน้ำอยู่ 93%,  ในมะเขือเทศหนึ่งลูกมี 91%,  ในผักกาดแก้วหนึ่งหัวมี 90%,  ในแคร็อทหนึ่งหัวมี 89%,  ในมันฝรั่งหนึ่งหัวมี 78%,  ในหัวหอมใหญ่หนึ่งหัวมี 75%  เป็นต้น (Leray, 15)

     ในฤดูร้อน ต้นหลิวธรรมดาๆจะดูดและคายน้ำประมาณ 2272 ลิตรในหนึ่งวัน   ในหนึ่งปีมีปริมาตรน้ำประมาณ 25.000 ลูกบาศก์กิโลเมตร ที่ผ่านเข้าออกระหว่างพืชพันธุ์ทั้งมวลสู่โลก.  จำนวนนี้พอจะเทียบได้คร่าวๆกับจำนวนน้ำทั้งหมดที่ไหลจากแม่น้ำทุกสายบนโลกสู่ทะเล.

(22)  ในหนึ่งนาทีคนปกติหายใจ15 ครั้ง หรือ 400 ล้านครั้งในหนึ่งชั่วชีวิต  ซึ่งจะมีอากาศผ่านเข้าสู่ปอดเราประมาณ370,000ลูกบาศก์เมตร.  ปอดสามารถกักอากาศไว้ภายในหน้าอกเราประมาณ 5 ลิตร. นักว่ายน้ำแชมเปี้ยนโลกทั้งหลาย จะฝึกฝนการหายใจเพื่อกักอากาศไว้ให้ได้มากที่สุด (มีสถิติระบุไว้ว่ากักอากาศไว้ได้ถึง 6.5 ลิตร).  ยิ่งเขาสามารถกักอากาศไว้ได้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เขาว่ายน้ำได้เร็วขึ้นเพราะเขาจะกลั้นหายใจได้นานขึ้น.  ปอดจะกักอากาศ 1 ลิตรไว้เป็นประจำคงที่เสมอ (ลมปริมาตรนี้เรียกกันว่าเป็น the dead volume = ลมปราณ) และจะไม่ปล่อยออกจากตัวจนนาทีที่คนสิ้นลม”.  การที่หมอให้คนไข้เข้าอบในตู้ออกซิเจนเป็นความพยายามที่จะอัดออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย  ผยุงปริมาณต่ำสุดของอากาศภายใน เพื่อที่เลือดจะได้ดูดออกซิเจนส่งไปยังปอด หัวใจ สมอง ทำให้มีกระบวนการผดุงชีวิตต่อไปในร่างกาย   ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว คนรู้ว่าภายในร่างกายเรามีลมที่หมายถึงการมีชีวิต และแม้เมื่อคนนั้นหยุดหายใจแล้วขณะที่ร่างยังอุ่นๆอยู่  ก็ยังมีความคิดที่จะรักษาลมปราณที่ยังเหลืออยู่ในร่างกายโดยการอุดทวารทั้งเก้าของร่างกาย ด้วยความหวังว่าลมที่มีนี้แหละที่จะทำให้คนนั้นกลับมีชีวิตใหม่ได้.  
ในวิสัยทัศน์ของชาวจีน  เมื่อคนเกิดจะได้รับส่วนแบ่งหนึ่งส่วนของลมแห่งชีวิตที่ครอบจักรวาลเราอยู่ และเขาจะตายเมื่อใช้ลมส่วนนี้หมดไป   นั่นคือ แต่ละคนมีส่วนปันจำกัดของลมแห่งชีวิจส่วนหนึ่งของตน  จึงจำเป็นต้องพยายามเก็บรักษาลมส่วนนี้ของตน ไม่ปล่อยให้มันสูญเสียไปเปล่าๆ   ด้วยเหตุนี้ผู้ที่หวังจะมีชีวิตยืนนาน  หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ทำให้เรอและผายลม   นอกจากต้องคอยพยุงรักษาลมแห่งชีวิต ไว้ในร่างกายแล้ว  ยังต้องรักษาน้ำแห่งชีวิต” (น้ำอสุจิ) ไว้ให้ดีด้วย   โดยเฉพาะเมื่อผู้นั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้หวังจะชนะความตาย  นอกเหนือจากการมีบุตรสืบราชบัลลังก์  การมีนางสนมจำนวนมากมายนั้น ก็เป็นพฤติกรรมการเสริมสร้างพลังชีวิตที่สำคัญ  แต่ในการร่วมประเวณีมากครั้งอย่างไรก็ตาม  เขารู้ว่าต้องไม่ปล่อยให้ถึงจุดขับน้ำอสุจิออกมา เพื่ออนุรักษ์น้ำแห่งชีวิตไว้  ซึ่งหมายถึงการยืดชีวิตตนเองออกไปอีกนั่นเอง  ผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆจึงมักพูดว่า สามีภรรยาที่รักกันมาก สามีจะอายุสั้น (โดยที่ไม่เคยเจาะจงหรืออธิบายว่าทำไม  นั่นคือเขาไม่ถนอมน้ำแห่งชีวิตของเขา  เขาจะตัวซีดเซียวอ่อนเพลียลงเรื่อยๆทั้งๆที่ไม่มีโรคมีภัยใดๆมาก่อน)   เมื่อมาคิดๆดู  คติของ ลมและน้ำแห่งชีวิตนี้คือระบบ ฮวงจุ้ย” (ฮวงคือลม และจุ้ยคือน้ำ) ในร่างกายคนนั่นเอง  การรักษาแบบฝังเข็มของคนจีนก็คือการเข้าไปจัดระบบฮวงจุ้ยในร่างกายให้สมพงศ์สมดุลกันที่สุด  ศิลปะการป้องกันตัวของจีนที่ใช้กำลังภายในเป็นอาวุธสำคัญนั้น  ก็คือศิลปะการควบคุมการหมุนเวียนของลมภายในร่างกาย  ลมนี้ในภาษาจีนเรียกว่า       หรือ qi หรือ /คี่/ หรือ /ขี้/   ไทยรับคำนี้มาใช้โดยใช้อักษร ข-ไข่ ถ่ายเสียงจึงทำให้ไปพ้องรูปและเสียงกับคำ ขี้ที่แปลว่ามูล  คำ ขี้-qi” เป็นที่มาของคำประสมหลายคำในภาษาไทยที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่นในสำนวน ขี้โมโห, ขี้กลัว, ขี้คุย ฯลฯ ความที่ภาษาไทยใช้คำ ขี้ที่หมายถึงสิ่งสกปรก  เมื่อจะใช้คำ ขี้กับอารมณ์ความรู้สึก จึงมักใช้บอกอารมณ์ในแง่ลบมากกว่า
       สัญชาตญาณของชาวจีนเกี่ยวกับชีวิตดังกล่าว ดูไม่ผิดไปจากจิตสำนึกชาวตะวันตกเกี่ยวกับกำเหนิดชีวิตนัก  ดังที่ปรากฏในตอนพระเจ้าเนรมิตมนุษย์ในคัมภีร์ไบเบิลเก่าว่า  พระเจ้าสร้างคนด้วยการเอาดินผสมกับน้ำมาปั้นเป็นรูปร่างคน  แล้วพระองค์ก็เป่าลมเข้าไปทำให้ร่างนั้นมีชีวิตขึ้นมา  ดินคือแร่ธาตุเก้าชนิด (ดูเชิงอรรถหมายเลข 2)  มีน้ำกับลมมาช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีขึ้นระหว่างแร่ธาตุเหล่านี้  ชีวิตจึงอุบัติขึ้น  กรรมวิธีการอธิบายดังกล่าวจึงเหมือนกันในแง่ขององค์ประกอบพื้นฐาน
      การขุดพบซากโบราณสถานและโดยเฉพาะสุสานใต้ดินในจีน ให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับโลกทัศน์ความเชื่อ ความเป็นอยู่และศิลปวิทยาของชาวจีนในสมัยก่อน ที่ทำให้ชาวโลกตกตะลึง   กรณีการขุดพบที่มหัศจรรย์ที่สุดคือ การค้นพบสุสานขนาดมหึมา(mausoleum) ที่เป็นเสมือนเมืองใต้ดินทั้งเมืองที่มีภูเขาทั้งลูกกลบทับอยู่ข้างบน  ที่เมือง Xianyang -  /    แถบลุ่มแม่น้ำ Wei -  渭河   เป็นเมืองสุสานของพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิคนแรกของจีน (Qin-Shi Huangdi -    259 BC – 210 BC. )   นักโบราณคดีคาดกันว่า มีพื้นที่กว้างกว่าพื้นที่ของปิรามิดใดๆในอีจิปต์   ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความหวังที่จะอยู่ค้ำฟ้าของพระองค์ด้วยวิธีการต่างๆ   ภายในเมืองสุสานนี้มีพระราชวัง Epang -  阿房  มีบัลลังก์ตั้งในท้องพระโรงใหญ่  แท่นที่ตั้งบัลลังก์นี้มองไปยังยอดเขาสูง Zhongnanshan - 終南山 (ยอดเขานี้เป็น Tianzhu - 天柱山  คือจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกกับสวรรค์)  การขุดสำรวจเมืองสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้นี้ ยังคงทำอยู่ในเขตรอบๆพระราชฐานเท่านั้น  รัฐบาลจีนบอกว่า ยังไม่พร้อมที่จะเจาะเข้าไปถึงสุสานแท้ๆขององค์จักรพรรดิ   ถึงกระนั้นโลกทั้งโลกต่างตกตะลึงแม้เพียงได้เห็นเฉพาะเขตตะวันออกของเมืองสุสานใต้ดินนี้  ทางทิศนี้มีที่ตั้งของกองทหารราบและทหารม้าทำด้วยดินเผาขนาดเท่าคนจริงพร้อมอาวุธดาบหอกที่เป็นเหล็กและทองเหลืองที่มีวิธีอนุรักษ์ไว้มิให้สึกกร่อน  แสดงถึงวิทยาการที่ก้าวหน้าแล้วเหนือชนชาติอื่นใดในโลกยุคเดียวกัน  (เมื่อสองพันสองร้อยปีก่อนคริสตกาล)   รูปปั้นทหารทุกคนมีกิริยาสีหน้าไม่เหมือนกันเลยทีเดียว  แต่มีท่าทางพร้อมสู้หรือออกรบ(กับผีสางใดๆ) เพื่อกรุยทางสู่สวรรค์แด่องค์พระจักรพรรดิ.  ข้อมูลที่ได้จากศพของจักรพรรดิองค์หลังๆทำให้นักโบราณคดีทั้งจีนและอังกฤษ  สามารถจินตนาการความยิ่งใหญ่ของพระราชฐานใต้ดินและการเก็บรักษาพระวรกายของพระเจ้าจิ๋นซีได้  (ดูข้อมูลภาษาอังกฤษได้จาก British Museum หรือจากเอกสารวีดิทัศน์เรื่อง Qin-Shi Huangdi : the Dream of Immortality ของ BBC).   เราได้รู้ว่า เมื่อองค์จักรพรรดิสิ้นพระชนม์  มีการอุดทวารทั้งเก้าด้วยแท่งหรือชิ้นหยก  นอกจากนี้ชุดที่สวมพระวรกายเป็นแผ่นหยกสี่เหลี่ยมบางๆสีเขียวสดใสจำนวนถึง 2498 ชิ้น ต่อกันด้วยเส้นทองเป็นเสื้อทั้งชุด.  ชุดนี้คลุมตลอดร่างตั้งแต่หัวจรดเท้าปิดหน้าตาและทุกส่วนมิดหมด (คาดว่าต้องใช้เวลาเนรมิตชุดนี้ 10 ปี )

ชาวจีนมีความเชื่อในสรรพคุณของหยกเหนือกว่าหินหรือแร่ใดๆ  การใช้เสื้อชุดหยกนี้จึงเป็นความหวังว่าหยกจะถ่ายทอดสรรพคุณที่วิเศษทั้งหลายสู่ร่างทั้งร่าง และทำให้ร่างนั้นไม่ผุพังและคืนชีวิตได้สามวันต่อมา.  ยาอายุวัฒนะในตำราจีน ก็มีส่วนผสมของผงหยกที่บดละเอียด เอาไปตุ๋นสะกัดเอาเชื้อแล้วปนกับน้ำสกัดจากผงทอง, ผงจากรากโสมแห้งรวมทั้งผงจากปรอท, กำมะถัน ฯลฯ  และยังมีเห็ดกับพันธุ์หญ้าอื่นๆอีกหลายอย่าง.  นักวิจัยชาวอังกฤษได้กล่าวว่าเพียงการศึกษาดูสรรพสิ่งที่ทำจากหยกในโลกของชาวจีน  ปูพื้นฐานที่มั่นคงและเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับจิตสำนึกและโลกทัศนวิสัยของชาวจีนอย่างมากมายและถูกต้อง  (มีหนังสือวิจัยเกี่ยวกับหยกที่พิมพ์ออกมาในประเทศอังกฤษหลายเล่ม  เช่นงานของ S.C.Nott เรื่อง Chinese Jade Throughout the Ages.  หรือของ Smith เรื่อง  Contribution toward the Materia Medica and Natural History of China : Jade.

(23)  เลือดเป็นเนื้อเยื่อ (tissue  เนื้อเยื่อคือเซลล์ที่เหมือนกันมารวมกันเพื่อประกอบหน้าที่หนึ่ง. เนื้อเยื่อหลายเนื้อเยื่อรวมกันเป็นอวัยวะ).  เลือดเป็นเนื้อเยื่อชนิดเดียวในร่างกายที่เป็นสารเหลวและไหลจึงทำหน้าที่เป็นผู้รับและนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆในร่างกาย  นำสารอาหารที่ย่อยแล้วไปหล่อเลี้ยงร่างกาย  รวมทั้งทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ  เลือดมีความหนาแน่นกว่าน้ำในอุณหภูมิเดียวกัน 4.5-5.5 เท่า.  มีรสออกเค็มและมีกลิ่นโลหะ.  เลือดทั้งหมดในร่างกายเราไหลเข้าสู่ไตทุก 5 นาที คราวละมากๆ (หรือเท่ากับ1500ลิตรต่อวัน  และประมาณ38 ล้านลิตรในชั่วชีวิตคนๆหนึ่ง).  60%ของเลือดประกอบด้วยเม็ดน้ำเหลืองหรือปลาซมา-plasma ซึ่งเป็นสารเหลวใสและสีออกเหลือง (90%ที่ประกอบเป็นปลาสมาคือน้ำ)   อีก40% ที่เหลือประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว กับเพล็ตเล็ต (platelets). เม็ดเลือดแดงไม่มีโครงสร้างภายใน ไม่มีแกนกลาง, เป็นตัวนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆของร่างกาย.  ในร่างกายคนมีเม็ดเลือดแดงเฉลี่ยประมาณ 25 พันพันล้านเม็ด(trillion 1012  ).  ผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิงนิดหน่อย. ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงโดยเฉลี่ยวินาทีละ 2 ล้านเม็ด  ในขณะเดียวกันเม็ดเลือดแดงจำนวนเท่ากัน ก็ถูกตับกับม้าม(spleen)ทำลายลงเช่นกัน   เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงสมบูรณ์มีชีวิตได้นานเฉลี่ย 120 วัน. เม็ดเลือดแดงที่มีอายุมากวันกว่า จะมีโปรตีน (เรียกว่า hemoglobin ซึ่งมีสีออกแดงจึงทำให้เลือดมีสีแดง) และมีธาตุเหล็กที่เสริมสร้างร่างกายมากกว่าเม็ดที่มีอายุน้อยวัน.  ในเม็ดเลือดแดงเพียงเม็ดเดียวมีโมเลกุลโปรตีนถึง 280 ล้านโมเลกุล. โดยเฉลี่ยจะมีเม็ดเลือดขาวเพียง1-2 เม็ดต่อจำนวนเม็ดเลือดแดง1000 เม็ด.  เม็ดเลือดขาวเป็นตัวต่อสู้กับเชื้อโรค สู้กับไวรัสหรือแบ็คทีเรียที่เล็ดลอดเข้าไปในร่างกาย.  ในกรณีที่ร่างกายมีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ  ปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาวนี้จะเป็นตัวชี้ขาดว่า ร่างกายจะรับอวัยวะใหม่นั้นหรือไม่  เซลล์ในเม็ดเลือดขาว (ที่เรียกว่า T-lymphocytes) มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวคน  ผู้ที่มีไม่เพียงพอ มีโอกาสติดเชื้อเอดส์-Aids ง่ายขึ้น.  เม็ดเลือดขาวมีชีวิตได้นานประมาณ 1 ปี.  ส่วนเพล็ตเล็ต (platelets) เป็นเซลล์ที่เล็กที่สุดในเม็ดเลือด, ขนาดครึ่งหนึ่งของเม็ดเลือดแดง,  รูปร่างกลมไม่มีสี. เพล็ตเท็ตเป็นเซลล์ที่ควบคุมการเกาะตัว, การหยุดเลือดของบาดแผลและช่วยซ่อมกับฟื้นฟูเส้นโลหิตฝอยที่ถูกทำลาย.  ร่างกายสร้างเม็ดเพล็ตเล็ตในเลือดเร็วกว่าสร้างเม็ดเลือดแดง. ็ดเพล็ตเล็ตมีอายุได้นานเพียง 10 วัน. (ประมาณกันว่าร่างกายคนมีเซลล์ระหว่าง 50-75 พันพันล้านเซลล์. เซลล์แต่ละชนิดมีอายุของมัน. เมื่อมันตายลง พร้อมๆกันนั้นก็มีเซลล์แบบเดียวกันเกิดขึ้นใหม่.  เช่น เซลล์กระดูกมีอายุนาน 3 เดือน. เซลล์ในลำไส้ใหญ่มีอายุ 4 วัน, ในตับ 6 อาทิตย์, ในกระเพาะ 5 วัน.  เซลล์ผิวหนังอยู่ได้นาน 1 เดือน และเซลล์ในน้ำอสุจิอยู่นานเพียง 3 วัน. นี่เป็นข้อสนับสนุนคติที่ว่าร่างกายคนตายและเกิดอยู่ตลอดเวลา  สุดยอดของเซลล์ที่พิเศษเหนือเซลล์อื่นทั้งหมด คือ เซลล์สมองที่มีอายุได้มากกว่า 90 ปี นั่นคือชั่วอายุคนๆหนึ่ง

(24)  สิ่งมีชีวิตคือมวลสารเคมี(หรือมวลแร่ธาตุ)ที่มารวมกัน โดยเริ่มจากที่สารโปรตีนมารวมกันเป็นสายโครโมโซมเล็กๆ เป็นคู่ๆที่เกาะเกี่ยวกัน.  คนมีโครโมโซม 23 คู่.  โครโมโซมที่มารวมกันเป็นโครโมโซมปฐมภูมิของลูก เท่ากับครึ่งหนึ่งของโครโมโซมของพ่อกับครึ่งหนึ่งของแม่  ผสมผสานกันจนครบ 23 คู่เพื่อสร้างเป็นตัวของลูก.  ภายในโครโมโซมแต่ละโครโมโซม มียีนซึ่งเป็นลักษณะทางกรรมพันธุ์ของพ่อกับของแม่.  ลูกรับยีนหนึ่งคู่จากพ่อและอีกหนึ่งคู่จากแม่.  ส่วนของโครโมโซมที่มียีนนี้เป็นโมเลกุลใหญ่หนึ่งโมเลกุล.  เรียกโมเลกุลนี้ว่า ดีเอ็นเอ - DNA (deoxyribonuleic acid) ส่วนที่เหลือในโครโมโซมเดียวกันที่ไม่มียีนจะเป็นสารโปรตีน ที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและช่วยให้การทำงานของโครโมโซมเป็นไปอย่างเรียบร้อย. (โมเลกุล DNA ขดเป็นเกลียววนขึ้นไปเหมือนบันไดเวียน  เป็นบันไดเวียนสองบันไดประกบกัน)  ทฤษฎีที่ยอมรับกันทั่วไปคือ  ยีนหนึ่งยีนคือหน่วยโปรตีนหนึ่งโปรตีน (โปรตีนคือองค์ประกอบของสารอินทรีย์  นั่นคือเป็นที่รวมของอะตอมออกซิเจน คาร์บอน ไนโตรเจน ไฮโดรเจนและบางทีก็มีกำมะถันด้วย  ภาษาวิทยาศาสตร์กล่าวว่าโปรตีนเกิดจากการรวมตัวของกรดอามีโนแอสิด-amino acids ถึง 20 ชนิด  ร่างกายคนสามารถสร้างกรดอามีโนได้ 9 ชนิดที่เหลือต้องได้จากอาหารการกิน.  เซลล์ในร่างกายทำหน้าที่ของมันได้ดีต้องอาศัยโปรตีน. โปรตีนจึงเป็นเหมือนวัสดุก่อสร้างพื้นฐานของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆภายใน รวมทั้งสร้างผมและเล็บคน. โปรตีนบางตัวยังทำงานร่วมมือกับอณูอื่นในร่างกาย).  ยีนจะพัฒนาปรับปรุงและวิวัฒนาขึ้นไปตามสารเคมีอื่นๆในร่างกาย  คนหนึ่งคนมียีนโดยเฉลี่ยประมาณ 100,000 ยีน.  ทั้งหมดทำงานร่วมมือกันเพื่อสร้างและธำรงโครงสร้างกับกระบวนการทำงานของเซลล์ทั้งหมดในร่างกายคน   ยีนหนึ่งยีนอาจเป็นตัวสร้างลักษณะแบบหนึ่งของคน  หรือยีนหลายยีนอาจรวมกันเพื่อสร้างลักษณะรูปร่างอีกแบบหนึ่งก็ได้  เช่นความสูงของคนไม่ได้มาจากยีนเพียงหนึ่งยีน. นอกจากนี้ยังอาจมีสภาพแวดล้อมอื่นๆที่มีอิทธิพลต่อการสร้างแบบๆหนึ่ง  เช่นนี้ลูกจะมีแบบรูปร่างหน้าตาที่เหมือนพ่อบ้างเหมือนแม่บ้าง  ในขณะเดียวกันก็อาจมีอะไรบางอย่างที่พ่อแม่ไม่มีก็ได้ ในเมื่อสภาพแวดล้อม(อากาศ,อาหาร,อารมณ์ ฯลฯ) ที่ลูกเกิดและเติบโตทั้งภายในครรภ์และนอกครรภ์ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว  แต่ละชีวิตมีระบบ DNA ต่างกัน  แม้พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกันก็ยังมี DNA ไม่เหมือนกัน  ตามสถิติโอกาสที่คนสองคนจะมี DNA ที่เหมือนกันทุกประการนั้น  เป็นหนึ่งในสามล้านคน.  มีกรณีพิเศษกรณีเดียวเท่านั้นคือในสองพี่น้องฝาแฝด ผู้จะมี DNA ที่ตรงกันทุกประการ  ทั้งนี้เพราะเด็กแฝดเกิดจากไข่ฟองเดียวกันที่ผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อของพ่อในมดลูกของแม่   ข้อมูลเกี่ยวกับ DNA จึงช่วยให้สามารถสืบหาตัวหรือเจาะจงตัวบุคคลได้อย่างไม่ผิดพลาด  ทำให้ข้อมูล DNA เหมือนลายนิ้วมือที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละคน (เป็นลายนิ้วมือยีน”- genetic fingerprint)   ข้อมูลนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งขึ้นทุกทีในสภาพสังคมปัจจุบันที่ซับซ้อนหลากหลายด้วยวิทยาการใหม่ๆ (ที่ทำให้อาชญากรรมพลอยยุ่งยากมากขึ้นด้วย)  สังคมจึงกำลังวินิจฉัยกันว่า  ควรจะระบุไว้ในใบเกิดของแต่ละคนด้วยดีไหม อย่างไรและจะมีผลกระทบอะไรบ้างไหม  (ข้อมูลจาก The New York Public Library Science Desk Reference. A Stonesong Press Book, Macmillan, USA., pp.178-183)

(25)  ในกรณีที่ไม่มีโอกาสไปถึงต้นน้ำธรรมชาติ ทางหนึ่งที่ช่วยได้เมื่อต้องดื่มน้ำก๊อก (ปรกติน้ำก๊อกในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นน้ำที่ดื่มได้โดยไม่เป็นพิษเป็นภัย  ถือว่าเป็นน้ำที่ผ่านการกรองฆ่าเชื้อโรคแล้ว  น้ำในเมืองไทยมีคุณภาพดีพอที่เราจะวางใจดื่มได้โดยตรงไหมนะ?)   คือเอาตะเกียบลงไปคนเป็นวงหลายๆครั้งก่อน เพื่อให้น้ำนั้นเกิดพลังขึ้น  หรือรองน้ำใส่ภาชนะทิ้งไว้ในที่ร่มและเย็นสักพักหนึ่งก่อนดื่ม หรือนำไปใช้ในการปรุงอาหาร  ก็จะช่วยฟื้นฟูพลังให้กับน้ำนั้นได้บ้าง   อีกวิธีหนึ่งคือให้เติมวิตามินซีชนิดผงหนึ่งช้อนชา ลงผสมกับน้ำหนึ่งลิตรแล้วดื่ม  การทำอย่างนี้ช่วยรักษาให้น้ำนั้นมีระดับของกรดด่าง (pH) เพียงพอที่จะทำให้แทรกซึมเข้าในอวัยวะต่างๆได้ง่าย  เครื่องดื่มอื่นๆไม่ให้ผลที่ดีแบบเดียวกัน

(26)  ธาตุโลหะที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่มากับน้ำคือ ธาตุโคบ็อลท์ ทองแดง เหล็ก ฟลูออร์ ไอโอดีน แมงกานีส โมดิบดีน(modybdene) และสังกะสี

(27)  ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการสกัดน้ำเค็ม (รวมไปถึงน้ำเสีย)ให้เป็นน้ำจืด โปรดดู Saltwater Desalination ของ Bennett Thomas & Michael Cuccinello แห่งสถาบัน Enviromental Information Management Civil Engineering Dept., Virginia Tech. หรือดูใน The Water Encyclopedia. Lewis Publisher,Inc. 1990. หรือในอินเทอเน็ตที่ http://www.ce.vt.edu  
สถิติที่ปรากฏใน World Resources 98-99, pp.306-7  ระบุว่าในปี 1990 ประเทศซาอุดีอาเรเบียได้ผลิตน้ำดื่มน้ำใช้จากการสะกัดน้ำทะเลได้เป็นปริมตร 714 ล้านลูกบาศก์เมตร (มากกว่าประเทศใดในโลก),  ยูไนเต็ดอาหรับเอมีเรต ผลิตได้ 385 ล้านลูกบาศก์เมตร,  คูเวตผลิตได้ 231 ล้านลูกบาศก์เมตร, โอมันผลิตได้ 34 ล้านฯ,  กับอีจิปต์ได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร.  ในอัฟริกามีประเทศอัลยีเรียผลิตได้ 30 ล้านและประเทศแอฟริกาใต้ผลิตได้ 17.5 ล้านลูกบาศก์เมตร.  ส่วนในยุโรป ทวีปอเมริกา(ทั้งเหนือ-กลางและใต้) ในหมู่เกาะทะเลใต้และออสเตรเลีย ยังไม่ปรากฏว่ามีการสะกัดน้ำทะเล (สถิติปี 1999)

(28)  เช่นน้ำจากทุ่งน้ำแข็ง Columbia Icefield ในเทือกเขาร็อคกีในประเทศแคนาดา เป็นต้น

(29)  การเก็บกักน้ำฝนใช้มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ. มีเครื่องเก็บเกี่ยวฝนที่มีประสิทธิภาพสูงในทะเลทราย Neguev (อยู่ตอนใต้ของประเทศอิสราเอล) เมื่อ 4000 ปีก่อนแล้ว  ต่อมาในยุคใหม่ก็มีการสกัดน้ำเค็มให้เป็นน้ำใช้ในการเกษตร ซึ่งยังผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างมากมาย.  ที่เกาะยิบรอลต้า(Gibraltar ดินแดนในอาณานิคมของประเทศอังกฤษ) มีระบบเก็บกักน้ำฝนที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน. ถ้ามีกระบวนการฟอกกำจัดสิ่งปฏิกูลที่มากับน้ำฝนอย่างถูกต้อง  น้ำฝนจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในครัวเรือนตลอดจนในการชลประทานทุกด้าน.

(30)  กีเซอร์กับน้ำบ่ออาร์ทีเซียนนั้นคล้ายกันตรงที่น้ำพุ่งออกจากใต้พื้น เพราะความดันภายใต้พื้นเอง. น้ำบ่ออาร์ทีเซียนเป็นน้ำที่ดื่มได้ มีอุณหภูมิปกติและไม่อยู่ในเขตหินภูเขาไฟ.

(31)  มีกีเซอร์มากกว่า 400 แห่งในอุทยานแห่งชาติเยลโลสโตน (Yellowstone National Park ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของสหรัฐอเมริ  มีพื้นที่กว้างออกไปในสามรัฐคือ รัฐWyoming, รัฐIdaho และรัฐMontana).  นอกนั้นพบที่ Umnak Island, รัฐ Alaska;  ที่ Beowave และที่ Steamboat Springs, ในรัฐ Nevada แต่ทั้งสองแห่งถูกทำลายไปเมื่อปีคศ.1950 และ1987 ตามลำดับ.  ที่ Valley of Geysers, Uzon Caldera บนแหลม Kamchatka ในไซบีเรีย. ในเกาะเหนือประเทศ New Zealand, ที่ El Tatio ในเทือกเขา Andesประเทศ Chile, และมีกระจายบนเกาะ Iceland. ดูรายละเอียดที่ตั้งได้จาก http://www2.wku.edu/www/geoweb/geyser/location.html  

(32)  สารที่เจือปนในน้ำและที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ถ้ามีปริมาณมากเกินไปเช่นอลูมีเนียม. อลูมีเนียมอาจมากับฝนกรด. อลูมีเนียมยังเป็นสารหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการฟอกน้ำให้สะอาดด้วย. ถ้าร่างกายมีแร่อลูมีเนียมมากเกินไป จะทำให้แก่เร็วและเป็นโรคความจำเสื่อมได้(Alzheimer).
     กากไนเตรดที่มากับปุ๋ยและติดมากับน้ำที่ปั้มขึ้นมาใช้กับพืชผักที่เรากิน เป็นสาเหตุของมะเร็งอย่างหนึ่ง. สารประกอบบางชนิดในยาฆ่าวัชพืขและยาฆ่าแมลงที่ปนมากับน้ำ  ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อวัยวะไม่สมประกอบในเด็กเกิดใหม่  (เช่นยาฆ่าวัชพืชพวกอะตราซีน-atrazine ถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาดในยุโรป).  คลอรีนที่ใช้แกว่งน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแบ๊คทีเรียในน้ำก็ไม่ดีต่อร่างกายคนนักเพราะเมื่อมันเข้าสู่ร่างกายคน มันก็ไปฆ่าเชื้อแบ๊คทีเรียในลำไส้คนด้วย  เผอิญเชื้อพวกนี้จำเป็นต่อร่างกายเรา เพราะมันธำรงสุขภาพเราให้แข็งแรง. (ดูรายละเอียดได้ใน Ryrie, หน้า 100-101). การชลประทาน(ซึ่งเริ่มมีในโลกเมื่อประมาณ 5000 ปีก่อนคริสตกาลในแดนซูเมเรียลุ่มแม่น้ำไนล์ในอีจิปต์ปัจจุบัน) ได้ช่วยให้ผลผลิตทางเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย.  สถิติของสหประชาชาติแสดงไว้ว่าจะมีพื้นที่พร้อมเพาะปลูกในโลก (ไม่รวมประเทศจีน) เพราะมีการชลประทานหนุนเสริมเป็นจำนวนถึง 146 ล้านเฮกเตอร์ในปีคศ. 2010 และโดยเฉพาะในประเทศอีจิปต์ เม็กซิโกและตุรกี. แต่การชลประทานก็ทำให้การแพร่เชื้อโรคขยายกว้างออกไปด้วยเช่นกัน.  มีเชื้อโรคกว่า 30 ชนิดที่สืบโยงเนื่องไปถึงระบบชลประทาน ไม่ว่าจะเป็นการชลประทานน้ำดื่มน้ำใช้ หรือการชลประทานน้ำโสโครก. (World Resources 1998-99, pp.47-50).

(33)  การใช้แม่เหล็กเป็นเครื่องมือรักษาโรคและความเจ็บปวดแบบต่างๆ มีปรากฏมาแล้วในสังคมยุคโบราณ. ในคัมภีร์พระเวทของอินเดียก็กล่าวถึงการรักษาโรคด้วยแม่เหล็กธรรมชาติ.

(34)  Galenus ศึกษาปรัชญาแล้วจึงศึกษาการแพทย์.  เขาเป็นคนแรกที่ผ่าตัดสัตว์และค้นพบระบบประสาทกับการทำงานของหัวใจ.  แพทย์สมัยใหม่รู้แล้วว่าทฤษฎีว่าด้วยสะรีรวิทยาของเขามีข้อคลาดเคลื่อนมาก  แต่อิทธิพลความคิดอ่านและการค้นพบของเขา มีมากเหลือคณาติดต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 17.   ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการแพทย์โบราณได้จาก The Internet Classics Archive by Daniel C.Stevenson, Web Atomics. หรือที่  http://classics.mit.edu  และโดยเฉพาะบทที่ว่าด้วย On Airs, Waters, and Places by Hippocrates.

(35)  ดูวิธีการอันหลากหลายของวารีบำบัดได้จากหนังสือของนายแพทย์บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล

บทความนี้เพิ่มและปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกันที่ปรากฏในวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 2544 หน้า 4-29. 


บรรณานุกรมที่น่าสนใจ :

1.     Charlie Ryrie, Les Prodigieux Bienfaits de l’Eau. Le Courrier du Livre, Paris. 1999.

2.     Ghislain de Marsily, L’EAU. Coll. Dominos, Flammarion, Paris. 1995.

3.     Guy Leray, Planète eau. Cité des Sciences et de l’Industrie, Presses Pocket, Coll. Explora. 1990.

4.     Jean-Pierre Goubert, La conquête de l’eau : l’avènement de la santé à l’âge industriel. Laffont, Paris. 1985.

5.     Le grand livre de l’eau. Collectif dirigé par M.-A.Bernadis et A.Nesteroff, Cité des Sciences et de l’Industrie – la Manufacture, Paris. 1990.

6.     Lucien Buisson, L’Usage Domestique de l’Eau. Coll. Histoire de, Publications de l’Ecole Moderne Française, Paris. 1991.

7.     The New York Public Library Science Desk Reference. A Stonesong Press Book, MacMillan, USA. 1995.

8.     The Water Encyclopedia, Lewis Publishers,Inc., USA. 1990

9.     World Resources 1998-1999. A Guide to the Global Environment. A joint publication by The World Resources Institute, The United Nations Environment Programme, The United Nations Development Programme, and The World Bank. Oxford University Press. New York – Oxford, 1998.

10.              นพ. บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล, วารีบำบัด อาณุภาพแห่งสายน้ำ สำนักพิมพ์รวมทรรศน์,

  ชุดธรรมชาติบำบัดและรักษาตนเอง. พิมพ์ครั้งที่สอง มีนาคม 2539.

------------------------------------------------------------------------

2 comments:

  1. โชมีความรู้มากจริงๆไม่ว่าจะเป็นทางด้านวัฒนธรรมหรือทางวิทยาศาสตร์ ขอบคุณที่โชเอาความรู้ที่มีค่าเหล่านี้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆ แป๋วเองได้ความรู้ใหม่ๆจากบลอกของโชมากมาย น่ายกย่องเป็นที่สุด ขอคารวะค่ะ
    แป๋ว

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณเพื่อนที่เขียนให้กำลังใจ ทั้งในเมล์ส่วนตัวด้วย เพราะเรายังใช้เนื้อที่ comment ตรงนี้ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไร ทำไมไม่ขึ้นก็ไม่รู้

    อายุปูนเรา สายตาแย่ลง รู้แน่ว่า พวกเราไม่เสียสายตนอ่านกันหรอก
    แต่ก็หวังว่า จะมีคนอ่านอยู่บ้าง รุ่นเยาว์กว่าเราเป็นต้น

    เหมือนน้ำ.ในสายธารเล็กๆ ที่หาทางไหลลงสู้แม่น้ำใหญ สู่ที่กว้างใหญ่กว่ามัน
    มันดีใจมากที่ไหลไปพบเพื่อนร่วมโลก กลมกลืนเคล้าเคลียกับคนอื่นๆแล้วไหลไปด้วยกัน

    เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีคนอ่าน เหมือนน้ำในสายธารนั้น ที่หงอยเหงาเพราะไม่มีที่ไหลไป ต้องจมติดอยู่กับที่และทำให้มันกลายเป็นน้ำขัง แล้วก็เน่าเหม็นในที่สุด หรือถูกแดดแผดเผาแห้งตายกับที่ตรงนั้น
    ชีวิตจะอยู่ได้ รักษาคุณสมบัติของมันได้ มันจึงต้องไหลต่อไป
    คนเปรียบไว้แบบนี้ ซึ่งจี้จุดใจกลางของเราเลย
    โชคดีมากมาย ที่มีคนเขียนเรื่องน้ำในทุกมิติ ที่ตรึงความคิดอ่านของโชมาโดยตลอด ไม่ใช่แค่เชิงวทยาศาสตร์ แต่ปรัชญา ศิลปะ วรรณกรรม
    ทั้งหมดได้อ่านตั้งแต่เรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส มันสอนให้รู้จักมอง "ลึก" เข้าไปจนถึง อณู
    และมองไกลออกไปใน interstella (ระหว่างดวงดาว)
    แต่โชก็รู้ขีดจำกัดของตัวเองและรู้ขีดจำกัดของเวลาที่มีด้วย จึงสรุปแต่เรื่องพื้นฐานที่เราละเลยไปในชีวิตไทยๆของเรา

    ที่ให้ชื่อว่า รู้จักน้ำ เข้าใจชีวิต
    มันเป็นจริงตามนั้นในเชิงวิทยาศาสตร์
    และชีวิตคือความพยายามในการปรับตัวอยู่รอดในทุกสถานะ คือการเคลื่อนไหวตั้งแต่อณูเล็กที่สุดไปจนถึงองค์รวมทั้งหมดของมัน
    นี่เป็นกฎถาวร ที่ไม่เปลี่ยนแปลงของชีวิต ทุกชีวิต ทุกสถานะและทุกรูปแบบ

    ขอบคุณที่บอกมาให้กำลังใจ และดีใจมากที่อ่าน แล้วก็นำไปสอนลูกสอนหลานต่อๆไป

    ReplyDelete