Wednesday 1 April 2015

แอบดูคนอาบน้ำ - History of Cleanliness


น้ำ - ประวัติความสะอาดในยุโรป(1)

        การอาบน้ำอย่างเป็นกิจจะลักษณะในยุโรปนั้นเริ่มขึ้นในประเทศกรีซและอิตาลีก่อน เมื่อประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล โสคราติซได้พูดถึงเรื่องการอาบน้ำแล้วว่าทำให้ร่างกายและจิตใจสะอาดบริสุทธิ์  สำหรับประเทศในยุโรปภาคเหนือเช่นฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน  เอกสารสารลายลักษณ์ที่พูดถึงการอาบน้ำนั้น เริ่มตั้งแต่ยุคกลางและเจาะจงว่าเป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากสงครามครูเสด(2) นั่นคือผู้ที่ไปสงครามในตะวันออกกลางเป็นผู้นำมาเผยแพร่ 
        ประวัติความสะอาด สะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการของสังคมในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา  จากแบบประชาคมตามคติอัศวินนิยม แล้วสืบต่อมาเป็นสังคมแบบศักดินา ก่อนที่จะเป็นระบบกษัตริย์(หรือจักรพรรดิ)และจบลงด้วยการเป็นประเทศสาธารณรัฐตามระบอบประชาธิปไตย  ในณะเดียวกันตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ มีสถาบันคริสต์ศาสนาที่เจริญพัฒนาและเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับระบอบการปกครองของยุโรปแบบต่างๆด้วย  ในบทความนี้ใช้ประวัติความสะอาดของประเทศฝรั่งเศสเป็นกรณีศึกษาและตัวอย่าง  การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องน้ำและการอาบน้ำของชาวฝรั่งเศสเรื่องเดียวนี้ให้ข้อมูลมากมายน่าทึ่งและทำให้เรารู้ว่าน้ำหยดเดียวก็นำไปสู่การปฏิวัติได้   

เรื่องเล่าจากคัมภีร์ บทบาทของคริสต์ศาสนา 
        ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับยุโรปตั้งแต่ต้นคริสตกาลเป็นต้นมาจนถึงศตวรรษที่19 ย่อมอยู่ใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนา  คัมภีร์เก่าและใหม่เป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญที่นำไปสู่แนวการพัฒนาสังคมและศิลปวิทยาการทั้งปวง  แม้ว่ามีแนวโน้มที่แยกการเมืองออกจากศาสนาและสลัดความผูกพันกับศาสนาออกไปมากขึ้นๆ แต่ในส่วนลึกก็ยังต้องคำนึงถึงอยู่  คติหรือศีลธรรมศาสนาอาจแทรกเข้าเป็นนัยพื้นหลังดังที่ปรากฏในงานจิตรกรรมเป็นต้น  ทำให้เข้าใจได้ว่าในจิตใต้สำนึกของชาวยุโรปยังมีอุดมการณ์การครองชีวิตอย่างมีสติโดยไม่ลืมว่าทุกอย่างไม่ยั่งยืน  เราจึงเริ่มด้วยการอ้างอิงไปถึงเรื่องการอาบน้ำที่ปรากฏเล่าไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในคัมภีร์เก่า  มีอยู่สองเรื่องเด่นๆดังต่อไปนี้  
        เรื่องแรกเป็นเหตุการณ์ในชีวิตของกษัตริย์เดวิด(II Sam. 11: 2-17) เล่าไว้ในคัมภีร์เก่าว่า ษัตริย์เดวิด(3) ได้เห็นนางบาธชีบา (Bath-Sheba เป็นชื่อในภาษาฮีบรู ในจิตรกรรมยุโรปมักใช้ชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Bethsabee[เบ็ทซาเบ]) เปลือยกายอาบน้ำ  บาธชีบาเป็นคนสวยและเป็นภรรยาของยูรีชาวฮิตไทต(Urie the Hittite ชื่อนี้บางทีก็เขียนเป็น Uriah)นายทหารเอกของเดวิด  เป็นทหารคนสำคัญเพราะเขามีที่อยู่ส่วนตัวภายในเขตพระราชวังของกษัตริย์เดวิดด้วย และเพราะอยู่ภายในเขตพระราชฐาน ทำให้กษัตริย์เดวิดได้เห็นนางบาธชีบาโดยที่นางไม่รู้ตัว 
จิตรกรรมฝีมือของ Lucas Cranach der Altere [ลูคัซ ครานาฆฺ] (คือลูกัส ครานาฆ ผู้พ่อ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1472-1553 เป็นจิตรกรชาวเยอรมันยุคเนอแนสซ็องส์) เนรมิตขึ้นในปี 1526 อยู่ที่หอศิลป์ เมืองแบร์ลิน (Gemäldegalerie [เกแม้ลฺเดอกัลลารี]) ประเทศเยอรมนี  ผู้ชายบนระเบียง คนที่มีพิณในมือคือกษัตริย์เดวิด (พิณในภาพเจาะจงให้รู้ว่าคนไหนคือเดวิด ตามตำนานที่เล่าว่าเขาเป็นผู้มีฝีมือด้านดนตรีสูงมาก ทำให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม คลายทุกข์คลายกังวล  พิณจึงเหมือนสัญลักษณ์ที่จิตรกรใช้เป็นเครื่องชี้บอกว่าใครเป็นใคร ตามระบบการเจาะจงความหมายในยุคกลาง)  เขามิได้กำลังดีดพิณ  บาธชีบานั่งให้สาวใช้เช็ดนวดเท้าอยู่ใต้กำแพง โดยไม่รู้ว่ากษัตริย์เดวิดลอบสังเกตเธออยู่ 
        เล่ากันว่าเดวิดเห็นนางจากระเบียงชั้นบนของปราสาท  กษัตริย์เดวิดหลงรักนาง ส่ง สารให้นางไปหา  ตอนนั้นยูรีสามีของนางถูกส่งไปรบ นางต้องเข้าวังไปและในที่สุดตกเป็นของกษัตริย์เดวิด  นางตั้งครรภ์  เดวิดรู้เข้าก็ไม่ยินดีนัก เรียกตัวยูรีกลับมาให้นอนกับภรรยา เพื่อกลบเกลื่อนความจริงว่าเขาเป็นบิดาของเด็กในท้องบาธชีบา  แต่ยูรีไม่ยอมทิ้งเพื่อนทหารด้วยกันเพื่อกลับมาหาภรรยาเพียงผู้เดียว  เดวิดจึงสั่งให้ส่งยูรีไปรบยังแนวหน้าและให้กองทัพปล่อยเขาไว้คนเดียวกับข้าศึกเพื่อให้ตายในสงคราม  ในที่สุดยูรีถูกฆ่าตายในสนามรบตามความต้องการของเดวิด  เดวิดรับนางบาธชีบาไปเป็นภรรยาอย่างเปิดเผย  เรื่องชู้สาวอื้อฉาวแบบนี้ทำให้ยาเวพระเจ้าไม่ทรงโปรด สั่งให้เนธัน(Nathan ศาสดาพยากรณ์ในคัมภัร์เก่า) ไปแจ้งแก่เดวิดว่าจักถูกพระเจ้าลงโทษหลายแบบเช่นในครอบครัวมีการเข่นฆ่ากันอยู่เสมอและโดยเฉพาะลูกชายที่เกิดจากนางบาธชีบาต้องตาย  เดวิดเสียใจรู้สำนึกผิดและบำเพ็ญภาวนาอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืนขอให้พระเจ้ายกโทษให้  แต่เมื่อถึงวันที่เจ็ดลูกชายก็สิ้นใจ  อย่างไรก็ดี เดวิดกับนางบาธชีบามีลูกชายต่อมาอีกหลายคน ต่างแก่งแย่งเข่นฆ่ากันชิงความเป็นใหญ่  แต่เดวิดในที่สุดประกาศแต่งตั้งให้โซโลม็อน(Solomon ราวปี 972-932 ก่อนคริสตกาล) ลูกชายอีกคนหนึ่งที่เกิดกับนางบาธชีบาเป็นผู้ครองอิสราเอลต่อไป และเจาะจงให้เชื้อสายของโซโลม็อนครองอิสราเอลต่อไปในอนาคตด้วย  ยุคของโซโลม็อนเป็นยุคที่ชาวอิสราเอลมีอำนาจและเจริญรุ่งเรืองที่สุด โดยมีเมืองเยรูซาเล็มเป็นศูนย์รวมจิตสำนึกของชาวยิว  
จิตรกรรมภาพนางบาธชีบากำลังอาบน้ำ ฝีมือของเร็มบร็องท์ (Rembrandt, 1606-1669) เนรมิตขึ้นในปี1654 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์Le Louvre [เลอลูเวรอะ] กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  เร็มบร็องท์เสนอภาพของนางถือจดหมายจากกษัตริย์เดวิดในมือ นางคงได้อ่านแล้วและเข้าใจว่ากษัตริย์เดวิดขอให้นางไปพบ นางมีท่าครุ่นคิด ใบหน้าเศร้าๆ เพราะคงสังหรณ์ใจว่า จะเกิดสิ่งไม่ดีงาม แต่การจะปฏิเสธกษัตริย์เดวิดนั้นก็ทำไม่ได้ ในฐานะที่เป็นหญิงแต่งงานแล้วและสามีก็ไปรบศึก นางจึงหวาดหวั่นใจมาก
        เรื่องราวของนางบาธชีบานี้  ฝ่ายคริสตจักรจดจำเป็นคำเตือนและคำสอนว่าเพราะ นางบาธชีบาเปลือยกาย และกษัตริย์เดวิดได้เห็นเรือนร่างของนาง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวไร้ศีลธรรมไปได้ถึงเพียงนั้น  เป็นการดีที่ชาวคริสต์ต้องหลีกเลี่ยงการอาบน้ำและการเปลือยกายในที่สาธารณะ  ในอีกมุมมองหนึ่ง เรื่องชู้สาวมีปรากฏแทรกอยู่ในคัมภีร์เก่าหลายเรื่อง คัมภีร์คริสต์ศาสนาจึงมิได้มีแต่คำสอนว่าจงทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ หรือมีแต่เรื่องราวของผู้วิเศษ ผู้เคร่งศาสนา ของนักบุญผู้สมบูรณ์แบบหรือปาฏิหาริย์แบบต่างๆ  แต่รวมเรื่องราวชีวิตของคนผู้มีเลือดเนื้อวิญญาณ มีกิเลส ตัณหาและราคะ มีความโลภ ความเลวสารพัดชนิดตามธรรมชาตินิสัยของคนที่ยังลุ่มหลงและอ่อนแอ และจบลงด้วยการถูกพระเจ้าลงโทษตามกรรมที่ตนกระทำเสมอ  เช่นนี้คนเดินดินธรรมดาๆอาจเห็นภาพสะท้อนของตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และทำให้เขาตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนของความสุขบนโลกนี้ หรือเตือนให้เขาสำนึกผิดกลับตัวกลับใจเป็นต้น
        เรื่องที่สองเป็นเหตุการณ์ในชีวิตของซูซาน  ชื่อซูซานเป็นชื่อตัวของสตรี มาจากคำในภาษาฮีบรู ว่า โชชานาห์ (Shoshannah ที่แปลว่า ดอกลิลลี บางทีก็แปลว่า ดอกกุหลาบ  ปรากฏจารึกไว้ในเรื่องราวของศาสดาพยากรณ์ดาเนียล - Le Livre de Daniel, 13 ในคัมภีร์เก่า) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในนามว่าซูซาน  เรื่องราวของซูซาน เป็นเนื้อหาที่นิยมแพร่หลายที่สุดเนื้อหาหนึ่งในจิตรกรรมตะวันตก(4) เล่าไว้ว่าในดินแดนบาบีโลเนีย มีสตรีสูงศักดิ์ ชื่อซูซาน เป็นคนดี มีคุณธรรม เคร่งศาสนา อีกทั้งรูปงามและเป็นมารดาที่ดีของครอบครัว  ผู้เฒ่าสองคนที่ชาวบ้านเคารพนับถือในฐานะผู้อาวุโสและผู้ตัดสินคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน มีโอกาสเข้าๆออกๆบ้านของโจอาคิมคหบดีผู้มั่งคั่งสามีของซูซาน ได้เห็นนางบ่อยๆและเกิดความปรารถนารักใคร่นาง  วันหนึ่งขณะที่คหบดีไม่อยู่ ผู้เฒ่าทั้งสองเข้าไปในสวนและไปแอบดูซูซานกำลังอาบน้ำร่างเปล่าเปลือยอยู่  ก็เข้าไปลวนลาม แต่ซูซานร้องตะโกนให้คนช่วยในขณะที่พยายามขับไล่ไสส่งทั้งสองผู้เฒ่าที่เข้ารุมล้อมเธอ  ผู้คนในบ้านพากันออกมา  สองผู้เฒ่าเห็นการไม่ดี กลัวเรื่องอื้อฉาว จึงเปลี่ยนสถานการณ์ด้วยการใส่ร้ายซูซานว่าคบชู้เริงรักกับหนุ่มคนหนึ่งในสวนและทั้งสองไปเห็นเข้า  เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ซูซานถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ดาเนียลศาสดาพยากรณ์(Daniel มีชีวิตอยู่ในราวปี 587-538 ก่อนคริสตกาล) เอ่ยขอให้ที่ประชุมซักไซ้ไล่เลียงผู้เฒ่าแต่ละคนแยกกันว่าได้เห็นอะไรในสวน  สองผู้เฒ่ามิได้เตรียมการเรื่องนี้มาก่อนจึงตอบไม่ตรงกัน  ดาเนียลได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคำกล่าวหานั้นไม่มีมูล และผู้เฒ่าทั้งสองโป้ปดมดเท็จ ในที่สุดถูกตัดสินว่าทำผิดศีลธรรมและถูกชาวบ้านทำประชาทัณฑ์จนตาย  ซูซานพ้นจากการถูกประณาม  คริสต์ศาสนานำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างได้อีกเช่นกันว่า ร่างเปล่าเปลือยของสตรีเป็นต้นเหตุของตัณหาราคะเสมอ
จิตรกรรมภาพนี้ฝีมือของ Jacopo Comin Tintoretto [ย้าโกโป๊ะ โกมีน ตี๊นตอเร็ตโตะ] (1518-1594) ในภาพนี้ซูซานเพิ่งถอดเสื้อผ้าออกหมดแล้ว นั่งแช่เท้าในน้ำ  เราเห็นเสื้อรัดหน้าอกที่ผู้หญิงใส่กันในยุโรปยุคศตวรรษที่16วางอยู่บนพื้น  เธอถอดสร้อยไข่มุกและแหวนสองวงออก  ชายชราสองคนแแอบดูอยู่หลังพุ่มไม้ต้นกาเมเลีย(camellia)อยู่คนละมุม (ตรงหน้าและไกลออกไป) เหมือนจะล้อมนางไว้ ในสระน้ำ เป็ดว่ายอยู่สามสี่ตัว เป็นสวนใหญ่ที่มีต้นไม้ดอกร่มรื่น  มีนกบินมาในสวน ตัวหนึ่งเกาะอยู่บนกิ่งเหนือศีรษะของซูซาน  เราเห็นรั้วด้วย ตรงมุมเหลี่ยมของรั้วมีประติมากรรมศิลาจำหลักแบบอีจิปต์ เพื่อนำเหตุการณ์เรื่องซูซานไปสู่ยุคของชาวยิวในคัมภีร์เก่า (ภาพนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Kunsthistorisches Museum ในกรุงเวียนนา)


จิตรกรรมผลงานของ Albrecht Altdorfer [อั๊ลเบร็ชตฺ  อ๊าลทฺด่อเฟอ] (ราวปี 1480-1538 ชาวเยอรมัน) ภาพนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตในวัง แม้ว่าในยุคคัมภีร์เก่านั้น ไม่ปรากฏมีสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่แบบนี้ แต่ให้จินตนาการคร่าวๆได้ว่า วิถีชีวิตชาววัง เมื่อจะอาบน้ำนั้น จะไปอยู่ส่วนใดของวัง  ในภาพสตรีผู้ดีคนหนึ่งนั่งให้เหล่าหญิงรับใช้ล้างเท้า สางผม ในสวนที่อยู่ติดวัง  เพราะฉะนั้นจึงง่ายที่จะมีผู้เดินผ่านไปเห็น ภาพนี้จิตรกรให้คำอธิบายว่าเป็นภาพของซูซานสรงน้ำ เนรมิตขึ้นในปี1526  อยู่ที่หอศิลป์เก่า (Alte Pinakothek) เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี
        การที่ผู้ชายแอบดูผู้หญิงอาบน้ำมีมาทุกยุคทุกสมัย(5)  ร่างเปล่าเปลือยของผู้หญิงมีอิทธิพลต่อจิตวิทยาของคนอย่างมหันต์  คริสต์ศาสนาจึงต้องการตัดไฟเสียแต่ต้นลม ด้วยการห้ามเปลือยกายอาบน้ำ แถมยังประณามการอาบน้ำด้วยว่าเป็นบ่อเกิดของกิเลสตัณหาทุกชนิด  ถึงกระนั้นก็มิอาจลบความสุขความพอใจที่ได้อาบน้ำลงไปได้  ในอีกแง่หนึ่ง มีภาพจิตรกรรมที่ตกทอดมาเกี่ยวกับการไปอาบไปแช่ในสระน้ำอายุวัฒนะ(6)  เท่ากับว่าเน้นถึงศรัทธาความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำ ซึ่งอาจโยงไปถึงสายน้ำสี่สายที่ไหลลงจากสวรรค์ไปสี่ทิศดังที่พรรณนาไว้ในตอนพระเจ้าสร้างโลกในคัมภีร์เก่า  เช่นนี้การอาบน้ำแช่น้ำโดยปริยายจึงยังคงอยู่ในบริบทของศาสนา  คัมภีร์ของอัครทูตจอห์นเล่าไว้ว่าพระเยซูได้รักษาคนป่วยคนหนึ่งข้างบ่อน้ำหนึ่งในกรุงเยรูซาเล็ม(Pool of Bethesda)   น้ำพุแห่งอายุวัฒนะหรือน้ำแห่งชีวิตจึงอาจตีความได้ว่า คือความเมตตาอันล้ำเลิศของพระผู้เป็นเจ้า เพราะน้ำแห่งชีวิตที่แท้จริงคือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า   
        ภาพข้างล่างนี้ ทั้งชายและหญิง แก่ หนุ่ม สาวหรือเด็กปะปนรวมอยู่ในสระน้ำด้วยกันอย่างเปิดเผย เป็นไปอย่างธรรมชาติ ทุกคนดูสุขสนุกสนานเหมือนได้ชำระล้างในสรวงสวรรค์อีเด็นที่จักทำให้พวกเขามีชีวิตชีวา แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนเมื่อแรกที่อาดัมกับอีฟถูกเนรมิตขึ้น  ทั้งคู่เปลือยกาย ไม่มีความรู้สึกละอายใดๆ จนเมื่ออีฟได้ชิมผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว จึงเกิดความละอายขึ้นมาและนำใบไม้มาปกปิดอวัยวะเพศ  เช่นเดียวกับอุดมการณ์ในศิลปะกรีกที่เสนอรูปปั้นของเหล่าทวยเทพเปลือยทั้งหมด  ทำให้มองได้ว่าความงามของร่างกายที่พระเจ้าสร้างขึ้นมานั้นสมบูรณ์สมสัดส่วนเพียงใดและน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ชื่นชมสรรเสริญพระเจ้ายิ่งขึ้นอีก  แต่เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นยังอ่อนแอ จึงขาดสติได้ง่ายและตกหลุมพรางของสิ่งที่ตาเห็นโดยมิได้มองลึกถึงแก่นแท้ของสิ่งที่เห็น  ความสุขในการอาบน้ำถูกห้ามตั้งแต่ศตวรรษที่15 แล้วเริ่มขึ้นใหม่ในศตวรรษที่19 เมื่อเกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับกาฬโรคและปัญหาสุขอนามัย
ภาพ Der Jungbrunnen (น้ำพุแห่งอายุวัฒนะ หรือ Fountain of Youth)  ผลงานปี 1546 ของลูกัซ ครานาฆ ผู้ลูก-1515-1586 ชาวเยอรมัน) ในภาพนี้มีน้ำพุอยู่ในสระ ทำให้นึกไปถึงน้ำพุวิเศษซึ่งหากผู้ใดได้ดื่ม เหมือนได้ชุบชีวิตใหม่ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่ในวัยเยาว์ชั่วนิรันดร์  หญิงชราคนหนึ่งนั่งอยู่ขอบสระด้านซ้าย อีกคนหนึ่งอยู่ในสระแล้ว มาจูงให้ลงน้ำ  คนนี้มีร่างอิ่มอวบแล้วเพราะได้ลงแช่ในน้ำแห่งอายุวัฒนะแล้ว จึงเกลี้ยกล่อมให้หญิงชราลงแช่น้ำจะได้มีรูปร่างอิ่มอวบของวัยสาว  ด้านซ้ายนี้ยังมีคนป่วย คนเจ็บที่ถูกแบกถูกหามมาหรือนั่งรถม้ามาเพื่อแช่น้ำวิเศษในสระน้ำนี้  ด้านขวาผู้หญิงที่เดินขึ้นจากสระเป็นสาวสวยร่างงาม  เหมือนธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิที่มีดอกไม้ใบไม้ใหม่ๆผลิงามสะพรั่ง  ในด้านขวานี้ ผู้คนทั้งหญิงและชายกำลังนุกสนานกันหลังจากขึ้นจากน้ำแล้ว บางคนเต้นรำ หรือกำลังทานอาหารฉลองกัน  แต่ละคนดูสดสวย  ไกลออกไปที่ขอบฟ้า มีหมู่สถาปัตยกรรมบอกที่ตั้งของเมืองของปราสาท  พวกเขาเหล่านี้เดินทางมาไกลเพื่อมาหาแหล่งน้ำแห่งอายุวัฒนะนี้ และก็พอใจที่ได้ชุบชีวิตใหม่เป็นหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง  จิตรกรได้ให้รายละเอียดต่างๆที่เป็นความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโลกทัศน์ของชาวตะวันตกในยุคศตวรรษที่16  ครึ่งหลังของศตวรรษเดียวกันนี้ ไม่ปรากฏการลงอาบน้ำหมู่อีก ภาพนี้อยู่ที่หอศิลป์(Gemäldegalerie)กรุงแบร์ลิน ประเทศเยอรมนี
        หากพิจารณาภาพเปลือยในจิตรกรรมตะวันตก  เราเห็นว่า จนถึงปลายยุคกลางภาพสตรีเปลือยในศิลปะล้วนเกี่ยวกับทวยเทพในตำนานกรีกโรมัน และในยุคโบราณนิยมเสนอภาพชายเปลือยมากกว่าภาพผู้หญิงเปลือย การเสนอภาพเปลือยเป็นวัฒนธรรมที่สถาปนาฝังรากลึกมานานแล้วและเป็นที่คุ้นเคยและเข้าใจอย่างถูกต้องในหมู่ชาวยุโรป นั่นคือภาพเปลือยเหล่านั้นไม่ว่าในจิตรกรรมหรือในประติมากรรมไม่มีนัยของการยั่วยุอารมณ์เพศ  ของความลุ่มหลงในเนื้อหนังมังสา  เป็นงานศิลป์ที่ไร้อคติใดๆ ไร้ความรู้สึกส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางสังคมของบุคคลใด   ศิลปินเสนอร่างเปลือยเหมือนเสนอภูมิทัศน์แบบหนึ่ง  เช่นนี้การนำรูปปั้นเปลือยหรือภาพเปลือยประดับอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  มิได้ผิดศีลธรรมแต่ประการใด และชาวยุโรปมองทะลุภาพเปลือยเหล่านั้นไปถึงแก่นแท้ของเทพตำนานกรีกโรมัน  เมื่อคริสต์ศาสนาเข้าครอบงำยุโรป  ได้สั่งห้ามรูปปั้นทวยเทพกรีกทั้งหลาย หรือสั่งให้ศิลปินปกปิดอวัยวะเพศด้วยใบไม้  แต่ในที่สุดก็หันกลับมาใช้รูปปั้นเปลือยเหล่านั้นเพื่อสื่อคุณธรรมหรืออธรรมในศาสนาแทน ซึ่งอาจรวมถึงการกระชับจิตสำนึกของความเสมอภาค ร่างที่ไร้เสื้อผ้าเครื่องประดับตกแต่งที่อำพรางกาย อาจเน้นว่าทุกผู้ทุกนามไม่ว่ากษัตริย์ บาทหลวงหรือชาวบ้าน ทุกคนเท่าเทียมกันเบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้า  คริสต์จักรจึงอนุญาตให้มีภาพเปลือยชายหญิงในฉากพระเจ้าสร้างโลกหรือในฉากการพิพากษาสุดท้ายเป็นต้น  เพราะฉะนั้นจนถึงศตวรรษที่15 ยังคงมีภาพเปลือยในงานศิลป์ที่ได้รับการยกย่องทั่วไปในยุโรป  เช่นในผลงานประติมากรรม เดวิดของ มิเกลอันเจโล(Michelangelo, 1475-1564) ที่เนรมิตขึ้นในราวปี1501-1504 หรือในจิตรกรรมกำเนิดของวีนัส ของ Botticelli ([บ้ตติเชลลี] 1445-1510) ที่เนรมิตขึ้นในราวปี1485 เสนอภาพของวีนัสที่มีใบหน้าเรียวงาม สง่าเรียบร้อย เศร้านิดๆเหมือนใบหน้าของพระแม่มารี ความงามและราศีบนใบหน้า กลบความเปลือยของร่างเทพสตรีกรีกหมดสิ้น  ด้วยกระบวนการคิดดังกล่าว ศิลปินและจิตรกรรมในยุคนั้นล้วนเป็นเครื่องมือรับใช้คริสต์ศาสนาเป็นสำคัญ  สรุปได้ว่าภาพหญิงเปลือยในยุคนั้นหากมิใช่ภาพของทวยเทพกรีกโรมัน(ที่รวมทั้งเทพครึ่งคนครึ่งสัตว์และเหล่านางฟ้านางไม้)  ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หรือของเนื้อหาวีรกรรมแบบใดแบบหนึ่ง ทั้งสามกรณีนี้ถือว่าเป็นเนื้อหา สูง มีคุณค่า  ส่วนความงามของชายหญิงชาวโลกนั้น ยังไม่เป็นผู้ดีพอที่จะเป็นเนื้อหาของศิลปะ  เช่นนี้ภาพหญิงเปลือยอื่นใดหากไม่มีการเจาะจงไว้  ถือกันว่าเป็นภาพของเทพีวีนัสทั้งหมดตามขนบแบบแผนที่ถือปฏิบัติกันมา และกลายเป็นกฎในวงการศิลปะตะวันตกจนถึงศตวรรษที่19 

ประวัติการอาบน้ำในยุโรป
        ชาวโรมันมีชื่อเสียงในเรื่องอาบและแช่น้ำแร่ ภายในคาบสมุทรอิตาลีเอง วิลลาส่วนตัวในสมัยโรมันมีอาคารสรงน้ำรวมอยู่ด้วยเสมอ  สถานอาบน้ำสาธารณะก็มีมากที่ประชาราษฎร์ไปใช้กันได้ เสียค่าใช้บริการไม่แพง  สถาปัตยกรรมสถานอาบน้ำพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แห่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดรวมห้องอาบน้ำเย็น ห้องน้ำร้อน ห้องพักระหว่างห้องน้ำเย็นกับห้องน้ำร้อนที่ปรับอุณหภูมิอุ่นพอเหมาะเพื่อเตรียมร่างกายจากอุณหภูมิรุนแรงเย็นสุดสู่อุณหภูมิร้อนสุด  ภายในห้องนี้ยังอาจมีบริการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการอาบน้ำโดยตรง เช่นอาหาร ไวน์ การบริหารร่างกาย หรือการบริการเฉพาะที่แต่ละคนต้องการอย่างเจาะจง  เนื่องจากทุกคนไปพบกันที่สถานอาบน้ำ ทำให้กลายเป็นศูนย์กิจกรรมสังคมประจำวันไปด้วยโดยปริยาย  สถานอาบน้ำสาธารณะบางทีแบ่งวันใช้หรือแบ่งเวลาการไปใช้สำหรับผู้ชายและผู้หญิงแยกกัน แต่บางแห่งก็เปิดให้ใช้ร่วมกันทุกวันทุกเวลา 
ภาพจิตรกรรมฝีมือของอูแบร์ โรแบร์ (Hubert Robert 1733-1808 ชาวฝรั่งเศส)
เสนอให้เห็นสถาปัตยกรรมโบราณขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นที่อาบน้ำสาธารณะ

โบราณสถานที่ยังเหลืออยู่จากยุคโรมันเป็นหลักฐานยืนยันว่า ที่ใดที่จักรวรรดิโรมันแผ่อำนาจไปถึง โดยเฉพาะณตำแหน่งที่มีตาน้ำไหลลึกๆและที่น้ำมีเกลือแร่เจือปนมาก เช่นบนเกาะอังกฤษที่เมืองบาธ(Bath) ที่นั่นชาวโรมันสร้างสถานอาบน้ำและยิมเนเซียม วัด โรงละคร

ภาพแสดงส่วนหนึ่งของสถานสรงน้ำโรมันที่สร้างขึ้นในราวคริสต์ศต.ที่หนึ่ง นักโบราณคดีขุดค้นพบซากสถานสรงน้ำในปี 1755  และได้บูรณะขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด  เปิดให้เข้าชมได้เกือบทั้งบริเวณที่รวมทั้งห้องน้ำเย็น ห้องน้ำร้อน ห้องอุ่น ห้องออกกำลังกายเป็นต้น อยู่ที่เมืองบาธ (Bath) ประเทศอังกฤษ ภาพนี้มาจาก www.visitbath.co.uk เป็นภาพลิขสิทธิ์ของ Bath Tourism Plus ปรากฏในเว็ปไซต์ของ http://whc.unesco.org/en/list/428/gallery/

เช่นนี้ทำให้เมืองบาธกลายเป็นเมืองรีสอร์ทที่มีน้ำพุร้อนแห่งแรกของอังกฤษ จากการศึกษาค้นคว้าของนักโบราณคดี เราได้ข้อมูลน่าสนใจมากมายทั้งด้านวัฒนธรรมสังคม สถาปัตยกรรมและด้านธรณีวิทยา และเมื่อวิเคราะห์จากองค์ประกอบเกลือแร่ของน้ำพุร้อนที่นั่น ทำให้รู้ว่าน้ำพุร้อนนี้ไหลผ่านชั้นดินและหินมาหลายชนิดมาก และเป็นน้ำฝนที่ตกลงบนที่ราบแถบลุ่มแม่น้ำเอเวิน(River Avon)เมื่อหมื่นปีก่อน(!) น้ำนี้ไหลซึมลงใต้พื้นโลกผ่านชั้นดินชั้นหินต่างๆตลอดความลึกประมาณ2700-4300 เมตร จึงร้อนขึ้นๆตามธรรมชาติเมื่อเข้าใกล้ใจกลางโลก ทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงระหว่าง64-96 องศาเซนติเกรด  น้ำนี้พยายามหาทางออกโดยแทรกซึมไปตามเนื้อดินและหิน จนพบทางออกที่เมืองบาธนี้  มีฟองอากาศผุดปุดๆตามออกมาด้วยตลอดเวลา จนทุกวันนี้น้ำพุร้อนที่พุ่งออกมาเฉลี่ยประมาณ13ลิตรต่อวินาทีหรือ1,106,400 ลิตร(ประมาณสองแสนห้าหมื่นแกลลอน)ต่อวัน อุณหภูมิของน้ำโดยเฉลี่ยราว46องศาเซนติเกรด  น้ำนี้ประกอบด้วยแร่ธาตุทั้งหมด43 ชนิด มีคัลเซียม,กำมะถัน,โซเดียมและคลอไรด์ในอัตราส่วนสูง. เป็นน้ำที่ไม่มีสีแต่เมื่อไปยืนดูน้ำที่นั่น เห็นออกสีเขียวๆเพราะการสะท้อนของแสงและเพราะมีตะไคร่น้ำจับ  น้ำนั้นไม่ละลายโลหะแต่ทำให้เกิดคราบสีส้มๆจับบนเหล็ก  เป็นที่ยืนยันว่าดื่มได้ไม่เป็นพิษเป็นภัย  สรรพคุณของน้ำเมืองบาธเริ่มเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่ปี1562 เมื่อนายแพทย์William Turner เขียนหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งน้ำแร่ในยุโรปและกระตุ้นชาวอังกฤษที่มีปัญหาสุขภาพให้เดินทางไปพักรักษาตัวที่เมืองบาธ  Queen Anne of Denmark พระราชินีในพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งก็ได้เสด็จไปสองครั้งและทำให้เมืองบาธกลายเป็นเมืองยอดนิยมทันที เพราะเมื่อเจ้านายเสด็จไปไหนชนชั้งสูงย่อมต้องตามไป 
ภาพวาดของThomas Johnson,1675, แสดงให้เห็นว่าการลงอาบน้ำแร่นั้น มีชาวบ้านชาวเมืองมาดูมุงดูกันบนระเบียง เหมือนดูมหรสพอย่างหนึ่ง อาคารสูงทางขวาของภาพถูกรื้อในปี1704-6 และเปลี่ยนเป็นอาคารห้องโถงใหญ่ สำหรับเป็นที่พักและดื่มน้ำแร่ ก่อนจะเดินลงไประดับล่างที่Pump Room เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าและลงไปแช่ในน้ำ
ภาพล้อจากปี1931ของ H.M.Bateman เมื่อมีคนเดินไปสั่งวิสกี้ double scotch ใน Grand Pump Room ตามนิสัยการดื่มของชาวอังกฤษ แบบลืมไปถนัดว่าคนไปบาธเพื่อดื่มน้ำแร่นี้เท่านั้น ภาพล้อนี้ให้รายละเอียดของPump Roomได้ดีเพราะยังคงเป็นแบบนี้ ดังภาพตัวอย่างที่ไปถ่ายมา



มีมุมดื่มน้ำแร่ที่ยังคงเหมือนในสมัยต้นศตวรรษที่20ที่ชาวอังกฤษแห่กันไปที่เมืองบาธ น้ำตรงนั้นมาจากน้ำพุร้อนใต้ดินโดยตรง มีคนคอยรองน้ำให้ดื่มตามจำนวนแก้ว กี่แก้วตามที่หมอสั่งไว้สำหรับแต่ละคน(ไม่เท่ากัน) ตั้งแต่สมัยนั้นแล้วที่มีการจัดวงดนตรีมาบรรเลงเพลงกล่อมผู้คนในห้องPump Room นั้นระหว่างรอเวลาอาหารเช้า
ในปัจจุบัน ทางการเมืองบาธก็ยังจัดทุกอย่างตามแบบสมัยต้นศตววรษที่20 เช่นให้แต่งกายตามสมัยนิยมยุคนั้น ส่วนดนตรีก็ยังมีอยู่ ขับกล่อมผู้คน ห้องนั้นได้กลายเป็นภัตตาคาร เสนออาหารเช้า อาหารกลางวันหรือขนมน้ำชาไปจนเย็น (ต้องรอคิวนานทีเดียว)
การไปอาบน้ำพุร้อนที่เมืองบาธเป็นที่นิยมกันมากตั้งแต่ศตวรรษที่18 และโดยเฉพาะในทศวรรษที่1780 จนต้องขยับขยายห้องPump Room ใหม่รวมทั้งวางแผนพัฒนาเมืองทั้งเมือง ต่อมาในปี1793 อังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศส ทำให้แผนพัฒนาต้องหยุดชะงักลง  Bath ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแฟชั่นชั้นสูง เป็นเมืองผู้ดี ยุคนั้นในราชสำนักอังกฤษ มีตำแหน่งผู้จัดและดำเนินพิธีการต่างๆเรียกว่าMaster of Ceremonies คนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองบาธ รู้จักกันในนามว่า Richard Beau Nash (นาชผู้งามสง่า, มีชีวิตอยู่ระหว่าง1673-1762)  เขาเป็นคนกำหนดโปรแกรมประจำวัน ตั้งแต่การอาบน้ำแร่ในตอนเช้าไปจนถึงการสังสรรค์รื่นเริงในตอนเย็นถึงค่ำ จัดทั้งดนตรี เต้นรำ เล่นไพ่หรือการพนันแบบอื่น เขาสั่งให้มีการจุดไฟตามถนนในเมืองให้สว่างไสว (นับเป็นเมืองที่สองในประเทศอังกฤษต่อจากกรุงลอนดอนที่มีไฟตามถนน) เขาสั่งห้ามการพกดาบในเมือง(องค์ประกอบหนึ่งในแฟชั่นผู้ดียุคนั้น) ควบคุมค่าบริการเก้าอี้หาม(ดูในภาพ) ออกระเบียบความประพฤติและกิริยามารยาทในสังคมเป็นต้น ผู้ที่ไปเมืองบาธต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เขาวางไว้ (เช่นห้ามสูบบุหรี่ในห้องส่วนรวมด้วยการเจาะจงว่าเป็นการรบกวนสุภาพสตรีและเป็นการแสดงความไม่ยำเกรงต่อคุณเธอทั้งหลาย)  สังคมที่เมืองนี้จึงเป็นภาพลักษณ์ของสังคมผู้ดีชั้นสูงที่มีกิริยามารยาทเป็นเลิศ  ระเบียบต่างๆที่นาชเป็นผู้เริ่มไว้ กลายเป็นบันทัดฐานสำหรับการฝึกและอบรมมารยาทในสังคมอังกฤษยุคนั้น
ในภาพข้างบนนี้ คำบรรยายประกอบภาพยืนยันว่าเมืองบาธคือประเทศอังกฤษ ให้ความหมายว่าที่นี่รวมทุกอย่างที่ดีเลิศของประเทศสำหรับชาวอังกฤษ เมืองบาธนี้แหละที่มีชื่อเสียงมาตลอดหลายร้อยปี ให้สังเกตเก้าอี้หามมีหลังคาสวยงามทางขวา  คำ G.W.R. เข้าใจว่าย่อมาจาก The Great Western Railway คือทางรถไฟสายตะวันตกของลอนดอน เพื่อเน้นความสะดวกในการเดินทางสู่เมืองบาธ
        การพัฒนาสร้างและขยายเมืองบาธอย่างมีระบบระเบียบตามแนวสถาปัตยกรรมGeorgian (เป็นแบบสถาปัตยกรรมที่สถาปนิก Palladio,1508-1580, เป็นผู้ริเริ่มขึ้น และแพร่หลายในทุกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษระหว่างปี1720-1830 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของราชวงศ์ House of Hanover อันมีพระเจ้าGeorgeที่1ถึงที่4, ครองราชบ์ระหว่างปี1714-1830. แบบสถาปัตยกรรมนี้ได้หวนกลับมาเป็นที่นิยมอีกในสหรัฐอเมริกาและในเครือจักรวรรดิอังกฤษในต้นศตวรรษที่20) ที่สถาปนิกรุ่นใหม่รับมาใช้กับเมืองบาธได้อย่างลงตัวสมบูรณ์และสมดุลกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศภายในหุบเขา ทำให้เมืองบาธมีภูมิทัศน์ที่งดงาม ร่มรื่น เป็นเมืองอุทยานขนาดใหญ่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละจำนวนมากมาจนถึงทุกวันนี้  ในปี1987 เมืองบาธ(พื้นที่เมืองรวมทั้งหมด2,900เฮกตาร์)ได้รับการขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลก

        (กลับมายังบริบทการทำความสะอาดในยุคโบราณ) ในคัมภีร์เก่าเจาะจงการล้างมือ ล้างหน้าและล้างเท้ามากกว่าการอาบน้ำทั้งตัว โดยเฉพาะก่อนเข้าไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือก่อนเข้าร่วมพิธีในศาสนา ก่อนลงมือปฏิบัติหน้าที่สำคัญซึ่งหากไม่ทำตามอาจถึงตายได้(7) ทำไมไม่มีการเอ่ยถึงการอาบน้ำเลยนั้นเพราะผู้คนในยุคก่อนคริสตกาลจนถึงต้นยุคกลางนั้นมิได้อยู่กับที่แต่เร่ร่อนเลี้ยงสัตว์จากแหล่งน้ำหนึ่ง(Oasis-โอเอซิส)ไปยังอีกแหล่งน้ำหนึ่ง นอกจากนี้เรื่องราวในคัมภีร์เกิดขึ้นในบริเวณแห้งแล้งในทะเลทรายแถบเอเชียตะวันออกกลาง เมื่อไม่มีน้ำอาบน้ำล้างพวกเขาอาจใช้ทรายแทน ใช้ลูบไล้หน้า แขนขาและตัว จนถึงปัจจุบันนี้การล้างมือ หน้าและเท้าก่อนเข้าวัดเป็นสิ่งที่ชาวยิวและชาวมุสลิมทั้งหลายต้องทำ ในวรรณกรรมอัศวินยุคกลางกล่าวไว้ว่า การเสนอน้ำให้ใครล้างมือก็ถือว่าเป็นมารยาทผู้ดีอย่างหนึ่ง ที่แสดงมิตรจิตมิตรใจต่อผู้นั้น(Vigarello, 56)  องค์การศาสนาก็ระบุให้เป็นระเบียบความประพฤติอย่างหนึ่งเช่นกัน  
        ในเหตุการณ์ อาหารมื้อสุดท้าย พระเยซูได้กำหนดพิธีศีลมหาสนิท(หรือ ยูการิสเทีย- Eucharistia ในภาษาละติน) และสั่งให้เหล่าสาวกถือปฏิบัติกันต่อๆไป  หลังอาหารพระเยซูยังนำอ่างน้ำ คุกเข่าลงตรงหน้าสาวกแต่ละคนและล้างเท้าให้ทีละคนๆแล้วสอนว่า นี่คือวิธีที่เหล่าสาวกพึงปฏิบัติต่อกันและต่อผู้อื่น  พระเยซูสอนให้รู้จักถ่อมตนและแสดงความรักฉันพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนโดยไม่มีอคติ  ให้ขจัดความรังเกียจเดียดฉันท์ในใจออกให้ได้  ธรรมเนียมการล้างเท้าให้ผู้อื่นนั้นยังทำกันอยู่บ้างในยุคกลาง โดยเฉพาะเล่ากันว่าพระเจ้าแซ็งต์หลุยส์(Saint Louis กษัตริย์นักบุญชาวฝรั่งเศสผู้มีพระชนม์อยู่ในช่วงปีคศ.1214-1270)และพระราชินีได้ทรงก้มลงล้างเท้าของคนจนในวันพฤหัสบดีก่อนวันอีสเตเหมือนกับที่พระเยซูเคยปฏิบัติต่อเหล่าสาวก
จิตรกรรมบนแผ่นไม้พื้นทองในภาพข้างบนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมแผ่นไม้ที่เคยตั้งประดับบนแท่นบูชาใหญ่ที่วัดนักบุญSt.Michaelis[มิช่าอีลิซ] เมืองLüneburg [ลู้เนอบูรฺก] เป็นฝีมือจิตรกรรมเยอรมันยุคปี1418 ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์Niedersachsische Landesgalerie เมืองHannover[ฮันโน้วา]ในประเทศเยอรมน  ในภาพพระเยซูนั่งคุกเข่าอยู่ตรงหน้าอัครสาวกคนหนึ่ง กำลังเช็ดเท้าหลังจากที่ได้ล้างให้แล้วในอ่างน้ำ  มีคนโทน้ำวางอยู่ข้างๆ  เหล่าสาวกต่างจ้องมองการกระทำของพระเยซูด้วยความสนใจ ลักษณะของมืบอกให้รู้ว่าพวกเขามีความรู้สึกต่างๆกัน เช่น คนที่พระเยซูล้างให้คนแรกนี้ยกมือขึ้นไขว้กันบนหน้าอกแสดงความรู้สึกว่าซาบซึ้งในการกระทำของพระองค์  มือของคนที่นั่งถัดจากเขาไปแสดงท่าบอกว่าไม่ค่อยเห็นด้วยที่พระศาสดาอย่างพระองค์คุกเข่าล้างเท้าให้สาวก เขาคืออัครทูตจอห์นผู้มีอาวุโสน้อยที่สุดในกลุ่ม สังเกตได้จากการที่เขายังไม่มีหนวดเคราเหมือนคนอื่นๆ  คนที่นั่งติดกับเขา มือขวายกขึ้นประทับบนหัวใจ แสดงความเคารพยกย่อง  คนริมขวาสุดในภาพ นั่งมือไขว้กันบนหน้าตัก แสดงความสำรวมเป็นต้น  หลังศีรษะแต่ละคนมีวงกลมประดับแบบวงรัศมีเรือนแก้ว สัญลักษณ์ของความเป็นนักบุญ  มีชื่อเขียนกำกับอยู่ด้วย  พึงรู้ว่าในศิลปศาสนายุคกลางนั้นเท้าคนมักจะห่อหุ้มหรือปิดอยู่ใต้ร่มผ้าเพราะถือว่าเป็นส่วนที่ต่ำ(ที่น่าจะสกปรกกว่าส่วนอื่น)  นอกจากพระเยซู พระแม่มารีกับอัครสาวกเท่านั้นที่ศิลปินปล่อยให้เห็นเท้าเปล่าเปลือย เพราะถือว่าเป็นพระเจ้าหรือเป็นผู้มีบุญสูง เหตุการณ์นี้เกิดหลังจากการร่วมทานอาหาร(มื้อสุดท้าย)กับอัครสาวกแล้ว  ตามปฏิทินศาสนา ถือว่าเป็นวันพฤหัสบดี  วันรุ่งขึ้นพระเยซูถูกจับและถูกตรึงไม้กางเขนจนสิ้นชีวิต
        ต้นคริสตกาล เมื่อคริสต์ศาสนาเข้าครอบงำยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 และที่ 5  เหล่าหัวหน้านักบวชบิดาของศาสนาเช่นนักบุญเจโรม(Jerome หรือ Hieronymous, 347-420) โจมตีผู้ที่ไปใช้สถานอาบน้ำสาธารณะรวมทั้งการเข้าสนุกในสถานเริงรมณ์ต่างๆ ในยุคนั้นชายหญิงใช้สระน้ำเดียวกัน  เจโรมยังเจาะจงด้วยว่า สาวพรหมจารีควรอาบน้ำแยกตัวออกจากผู้หญิงอื่นๆและต้องไม่เปลือยกายอาบน้ำ เพราะร่างเปล่าเปลือยดึงดูดเพศตรงข้ามและนำไปสู่การทำบาป  ในความเป็นจริงแล้วกฎบัญญัติทางศาสนากำหนดขึ้นเพื่อป้องกันเรื่องอื้อฉาว  การไปอาบน้ำต้องไม่เป็นข้ออ้างสำหรับความสำเริงสำราญที่ผิดศีลธรรมจรรยา ศาสนามิได้ห้ามการอาบน้ำหรือห้ามทำความสะอาดร่างกาย  สันปะปาปาเกรเกอรีที่หนึ่ง (Gregorius I หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่าGregory the Great,c.540-640) ผู้ประณามการอาบน้ำด้วยผู้หนึ่ง ยังได้อนุญาตให้อาบน้ำในวันอาทิตย์แต่ต้องอาบให้เสร็จโดยเร็วไม่ให้เสียเวลากับการขัดถูลูบคลำร่างกายมาก  ต่อมาในศตวรรษที่11-12 สำนักศาสนาที่กลูนี(Cluny) เจาะจงให้นักบวชอาบน้ำอย่างหมดจดตั้งแต่หัวจรดเท้าปีละสองครั้ง ในเทศกาลวันคริสต์มาสครั้งหนึ่ง และในเทศกาลวันอีสเตอร์อีกครั้งหนึ่งโดยต้องปกปิดอวัยวะเพศให้มิดชิด
        สถานอาบน้ำแบบโรมันยังใช้การได้เรื่อยมา หรือมีการสร้างใหม่อย่างต่อเนื่องบนดินแดนอิสลามตลอดยุคกลางและยุคเรอแนสซ็องส์ และที่ชาวมุสลิมเรียกว่า ฮัมมัม(Hammam ในปัจจุบันเรียกกันว่าTurkish Bath)  ฮัมมัมเป็นเอกลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมอิสลาม แม้จะเป็นสถานอาบน้ำแร่แบบโรมัน แต่มีข้อแตกต่างสำคัญตรงที่ สถานอาบน้ำแร่ของชาวโรมันเป็นที่สอนที่เรียนและที่ฝึกกีฬากับการบริหารร่างกาย ตามอุดมการณ์โรมันที่ว่าการพัฒนาศักยภาพของคนๆหนึ่งต้องควบคู่ไปกับการปลูกฝังการรักการเรียนรู้ การมีคุณธรรมและการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรว ระบบฮัมมัมของชาวอาหรับไม่มีวิสัยทัศน์ไกลเกินกว่าเรื่องการผ่อนคลาย การนวดร่างกายและการชำระล้างร่างกายในสะอาดหมดจด ที่อาจแฝงความหวังว่า ร่างกายที่สะอาดย่อมเอื้อต่อการมีจิตใจที่สุจริต ซื่อตรงและเข้าถึงคำสอนของอิสลาม

ภาพวาดจากตุรกี เสนอภาพสตรีในห้องอาบน้ำใหญ่ ที่ผู้หญิงไปอาบน้ำรมกันรวมทั้งพาลูกเล็กเข้าไปอาบน้ำล้างตัวให้ด้วย ดังเห็นได้ชัดในภาพนี้  สามคนที่อยู่ลึกเข้าไปใกล้อ่างน้ำใหญ่ กำลังทำความสะอาด  ทุกคนถอดเสื้อผ้าออกหมด มีผ้าผืนหนึ่งคลุมท่อนล่างที่อาจใช้เช็ดด้วย  ผู้ที่อาบเสร็จ นั่งพักบนแท่น  ให้สังเกตรองเท้าแตะแบบเกี๊ยะไม้จีนที่ยกสูงทั้งหน้าและหลัง  สตรีที่ยังมีเสื้อผ้าปกปิดมิดชิด อาจเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลสถานที่อาบน้ำนั้น สวมรองเท้าไม้ที่สูงเป็นพิเศษ เพื่อกันมิให้เสื้อผ้าเปียก
จิตรกรรมภาพภายในสถานอาบน้ำเติร์ก(1862) ผลงานของ Jean-Auguste Dominique Ingres [ฌ็อง-ออกุซตฺ โดมินิก แอ็งกรฺ] (1780-1867 ชาวฝรั่งเศส)  ตลอดชีวิตจิตรกรสนใจและพัฒนาเทคนิคการนำเสนอร่างกายอวบ น่าพิศของอิสตรีในอิริยาบถต่างๆ  ถือกันว่าเขาได้เนรมิตภาพ(โดยเฉพาะมองจากหลังของสตรี)สตรีเปลือยที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของจิตรกรรมตะวันตก ที่เขาเรียกว่า Odalisque [โอดะลิซกฺ] ศัพท์คำนี้มาจากภาษาเติร์ก ที่แปลว่าเด็กสาวต้นห้อง เมื่อเข้ามาใช้ในภาษาฝรั่งเศส ความหมายได้กลายไปเป็นทาสสาวหรือนางสนมของในฮาเร็มของสุลต่านยุคอ็อตโตมันและในจิตสำนึกของชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะ เน้นนัยของหญิงงามเมืองที่น่ารักน่าใคร่  ในชีวิตจริงจิตรกรมิเคยเดินทางไปถึงตุรกี ภาพสถานอาบน้ำของเขาเกิดจากจินตนาการและการได้รู้ได้ฟังและได้เห็นภาพวาดลายเส้นจากตุรกีเกี่ยวกับการอาบน้ำในตะวันออกกลาง เขามีภาพชุดสตรีในสถานอาบน้ำเติร์กเป็นชุด นักวิจารณ์ศิลป์ยกย่องว่า เขาเป็นผู้เสนอภาพสตรีโดยเฉพาะหลังเปล่าเปลือยของผู้หญิงได้งามที่สุดที่หาผู้ใดเสมอมิได้เลย (ดูภาพสตรีที่นั่งหันหลังตรงกลางภาพข้างบนนี้เป็นตัวอย่าง) ภาพนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Le Louvre กรุงปารีส
        การอาบน้ำตามแบบอิสลามมาจากธรรมเนียมการชำระล้างร่างกายเพื่อความสะอาดก่อนเข้าไปในสุเหร่า  ส่วนการแช่ตัวในน้ำและการสังสรรค์กับผู้อื่นในสถานอาบน้ำนั้น มิใช่ประเด็นที่วัฒนธรรมอิสลามเน้นแต่อย่างไร  ศาสนาอิสลามมีกฎบังคับเรื่องการชำระล้างบ่อยครั้งในแต่ละวัน ทำให้มีอุปกรณ์เกี่ยวกับการอาบน้ำและการซักล้างที่พัฒนาขึ้น ที่เอื้ออำนวยให้มวลชนชาวมุสลิมอาบน้ำล้างตัวเป็นนิสัย  นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าการอาบน้ำในความหมายที่เข้าใจในปัจจุบันมาจากตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรปตะวันตกเมื่อทหารชาวคริสต์ไปทำสงครามครูเสด  ในยุโรปภาคกลางตอนนั้นมิได้มีระบบท่อน้ำประปาที่มีประสิทธิภาพดีอย่างระบบของชาวโรมันหรือชาวมุสลิม ทำให้พวกเขาอาบน้ำล้างตัวกันน้อย อาจกระทำกันตามธารน้ำใหญ่น้อยและในฤดูที่อากาศอบอุ่นเพียงพอเท่านั้น  แต่นั่นมิได้หมายความว่า พวกเขาไม่ชอบอาบน้ำหรือไม่เคยรู้สึกสนุกสนานในน้ำ
จิตรกรรมฝีมือของLucas Cranach der Altere [ลูกัซ ครานาฆฺ] (ผู้พ่อ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี1472-1553 เป็นจิตรกรชาวเยอรมันยุคเนอแนสซ็องส์) แสดงให้เห็นความสุขสนุกสนานในการอาบน้ำ เล่นน้ำในธารน้ำท่ามกลางธรรมชาติในวันที่อากาศอบอุ่น
        นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า จนถึงศตวรรษที่11ไม่ปรากฏมีเอกสารลายลักษณ์ยืนยันชัดเจนเรื่องการอาบน้ำ(8) จนเมื่อเกิดสงครามครูเสด ชาวคริสต์ในยุโรปผู้ที่ไปร่วมทำสงครามต้องเดินทางไปถึงดินแดนตะวันออกกลาง จึงได้รู้ได้เห็นและมีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับการอาบน้ำชะล้างร่างกายของชาวมุสลิมภายในอาคารไม่ใช่ในธรรมชาติ  ว่านอกจากจะเป็นการทำความสะอาดร่างกายได้อย่างหมดจดแล้วยังเป็นความสุขสำราญอย่างหนึ่งด้วย  เมื่อกลับมาถึงยุโรปจึงนำความคิดเรื่องการสร้างสถานอาบน้ำร้อนสาธารณะตามแบบที่ได้พบเห็นในตะวันออกกลางมาเผยแพร่ เป็นการยุให้ผู้คนสนใจการลงแช่อาบน้ำทั้งตัวในอ่างน้ำหรือในสระน้ำ (สระน้ำยุคนั้นยังเป็นแบบตื้นๆและไม่มีขนาดหรือความลึกเท่าอ่างอาบน้ำหรือเป็นสระว่ายน้ำมาตรฐานแบบปัจจุบัน)
        จอจส์ ดูบี(Georges Duby, 1919-1996)(9)ให้ข้อมูลไว้ว่า ความสะอาดมีคุณค่าสูงในหมู่ชนชั้นปกครอง  ในศตวรรษที่11-12 บ้านพักชนชั้นสูงและอารามนักบวชคติกลูนี แบ่งพื้นที่สำหรับการอาบน้ำโดยเฉพาะ  ในยุคนั้นงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการในห้องโถงยาวใหญ่ของคฤหาสน์ใดหรือของอารามนักบวช เมื่อมีแขกมาร่วมรับประทานอาหารเป็นจำนวนมาก  ต้องมีการส่งต่อเหยือกน้ำปากกว้างที่เตรียมไว้ให้ผู้มาร่วมรับประทานอาหารได้ล้างมือก่อน และในวรรณกรรมเริงรมณ์ของชาวบ้าน เมื่ออัศวินพเนจรไปในถิ่นใดและขอเข้าพักในบ้านผู้ใด  ลูกสาวเจ้าของบ้านมักจับตัวอัศวินไปอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณ สระผม หวีผมและแต่งตัวให้อย่างเรียบร้อยที่ธารน้ำพุหรือในโรงอบไอน้ำ การชำระล้างร่างกายของตัวเองและล้างให้ผู้อื่น ดูเหมือนจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ของนายสาวเจ้าของสถานอาบน้ำ ไม่ว่าจะอาบล้างกันในบ้านหรือในธรรมชาติ  ยุคนั้นเช่นกันชายหญิงต้องอาบน้ำร้อนก่อนมีเพศสัมพันธ์ดังปรากฏพรรณนาไว้ในนิทานหรือตำนานยุคกลาง 
        ผลพลอยได้จากสงครามครูเสดทำให้ที่กรุงปารีสในปี1292 มีสถานอาบน้ำร้อนใหญ่ๆถึง26 แห่งแล้ว เป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานอาบน้ำร้อนแต่ละแห่งส่งคนออกไปร้องประกาศเชิญชวนให้ไปอาบน้ำ แบบเดียวกับที่พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ที่ร้องขายของไปตามถนนตรอกซอกซอยในเมือง ผู้คนเคยชินกับเสียงโฆษณาเชิญชวนให้ไปอาบน้ำร้อน ที่น่าสนใจคือในยุคนั้นการเชิญใครไปอาบน้ำร้อนถือเป็นการเลี้ยงขอบคุณแบบหนึ่ง เหมือนรางวัลแก่ผู้มีความดีความชอบที่เจ้านายในยุคศตวรรษที่13ให้เป็นการตอบแทน ผู้ไปสถานอาบน้ำจะได้นอนแช่ตัวในอ่างน้ำร้อนจนพอใจ  แล้วจึงขัดสีฉวีวรรณจนสะอาดผุดผ่อง ก่อนไปนอนพักผ่อนบนเตียงที่จัดไว้ให้  มีผู้คอยดูแลเอาใจใส่พร้อมกับบริการอาหารและไวน์  สถานอาบน้ำร้อนยุคนั้นมีบริเวณอาบน้ำ บริเวณแช่น้ำร้อนที่เป็นสระหรืออ่างน้ำและห้องอบไอน้ำ  ไอน้ำร้อนมาจากการเผาฟืนหรือไม้เพื่ออุ่นน้ำให้เดือด ให้ไอน้ำกระจายออกเต็มห้องทำให้ห้องอบอุ่นพอ  คนถอดเสื้อผ้าออกหมด นอนเล่นอยู่ภายในห้องนั้นให้เหงื่อออก การอาบน้ำจึงเป็นกระบวนสมาคมสังสรรค์มากกว่าเพื่อสุขอนามัย เช่นในงานเลี้ยงอาหารและงานฉลองการแต่งงานที่จบลงด้วยการอาบน้ำเสมอ  มีภาพวาดยุคศตวรรษที่14-15 ที่แสดงให้เห็นว่าสถานอาบน้ำร้อนบางแห่งหรูหรามาก 
        ข้อมูลจากบทความตอนหนึ่งของแบร์นาร์ด รูด๊อฟสกี (Bernard Rudofsky, 1905-1988 นักประวัติศาสตร์สังคมยุคปัจจุบัน)(10) ยืนยันในทำนองเดียวกันว่า ยุคกลางที่ประวัติศาสตร์ประณามว่าเป็นยุคมืด ยุคสกปรก กลับเป็นยุคที่ผู้ชายผู้หญิงอาบน้ำด้วยกัน  คนอาบน้ำยังคงแช่อยู่ในน้ำแม้ในเวลาอาหาร  อาหารถูกเสริฟบนโต๊ะที่ลอยน้ำ  เพราะฉะนั้นไม่นานต่อมากลายเป็นธรรมเนียมที่คนชอบจัดงานเลี้ยงในสระอาบน้ำ มีวงดนตรีและนักร้องขับกล่อมด้วย โดยที่นักดนตรีเหล่านั้นก็นั่งอยู่ในน้ำ  ผู้ชายยังคงสวมหมวกและผู้หญิงก็มีเครื่องแต่งกายที่จัดทำเป็นพิเศษเพื่อการแช่น้ำในงานเลี้ยง  ได้มีการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับโอกาสนี้ โดยเฉพาะส่วนที่อยู่เหนือแนวสะดือขึ้นไป มีความประณีตหมดจดเป็นพิเศษ  เช่นมีคอปกเสื้อตั้งสูงประดับด้วยสร้อยคอ มีผ้าโพกผมและเครื่องประดับศีรษะ ผมก็เป็นทรงสูงมาก  ผ้าคลุมหน้าเป็นเครื่องหมายบอกว่าผู้หญิงคนไหนแต่งงานแล้ว (ส่วนที่อยู่ใต้ระดับน้ำสวมชุดบางๆเท่านั้น) กล่าวโดยรวมได้ว่า นอกจากกรณีความประพฤติที่นอกลู่นอกทางสุดๆ  ศาสนายินยอมให้การอาบน้ำที่ผนวกการกินเลี้ยงเพื่อการสังสรรค์ในแบบที่กล่าวมาพอสมควร   อารามวัดบางแห่งยังผนวกการอบไอน้ำร้อนเพื่อรักษาสุขอนามัย  แต่ก็มีอารามหลายแห่งที่กลับห้ามการอาบน้ำอย่างเด็ดขาดยกเว้นในวันคริสต์มาสกับวันอีสเตอร์เท่านั้น  นอกจากนี้สถานอาบน้ำแร่ที่เหลือมาจากยุคโรมัน แทนที่จะทำลายอาคารเหล่านั้น  สถาบันนักบวชกลับบูรณะและใช้เป็นวัด  อ่างอาบน้ำหินอ่อนหลายหลังถูกเปลี่ยนเป็นอ่างประกอบพิธีศีลจุ่ม  เก้าอี้นั่งอาบน้ำก็เปลี่ยนเป็นธรรมาสน์ และธารน้ำที่ใช้เล่นใช้อาบก็ถูกปลุกเสกให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในพิธีต่างๆ 
        ฉากอาบน้ำที่ทอเป็นพรมในศิลปะกอติคเป็นหลักฐานยืนยันอย่างสิ้นสงสัยว่า การอาบน้ำนำความสุขความพอใจให้ทุกผู้ทุกนามไม่ว่าชนชั้นใด  ปกติในตอนเช้าเมื่อสถานอาบน้ำสาธารณะเปิดให้บริการ มีการเป่าแตรและรัวกลองประกาศให้รู้ทั้งชุมชน เพื่อป้องกันการขโมยเสื้อผ้าหรือทรัพย์สินใดที่นำติดตัวไปในสถานอาบน้ำ  ชาวเมืองเดินไปสถานอาบน้ำโดยไม่มีเสื้อผ้าใดปกปิดร่างกาย  สำหรับผู้ที่เช่าอ่างอาบน้ำมาใช้ส่วนตัวในบ้าน ก็มีผู้นำอ่างน้ำเป็นถังไม้เปิดกว้างขนาดใหญ่ไปวางให้ในห้องนอนและเติมน้ำร้อนในอ่างนั้นไว้ให้  หากเชื่อตามบันทึกจดหมายเหตุ เหล่าคนรวยมีอ่างอาบน้ำส่วนตัวที่ติดตั้งพร้อมท่อน้ำร้อนทำจากทองคำหรือเงิน ในฤดูใบไม้ผลิงานเลี้ยงอาบน้ำมักย้ายไปอยู่ในสระน้ำนอกอาคารหรือในอ่างน้ำประดับขนาดใหญ่ ท่ามกลางหมู่รูปปั้นหินอ่อนและใต้ร่มเงาของดอกไม้ผลิใหม่ที่ห้อยระย้า   รูด๊อฟสกีประชดว่า สภาพสังคมแบบนั้นถูกประณามว่าเป็นยุคมืดยุคสกปรกได้อย่างไร
        นอกจากสถานอาบน้ำร้อนสาธารณะ ในศตวรรษที่13 ยังเริ่มจัดระบบห้องอาบน้ำส่วนตัวตามคฤหาสน์ใหญ่ๆของเหล่าเจ้านายชั้นสูง ในแง่นี้น้ำกลายเป็นสัญลักษณะบอกระดับชนชั้น เป็นเครื่องหมายของคนรวย  สำหรับชนชั้นสูงการมีน้ำใช้ มีน้ำร้อนอาบในคฤหาสน์ส่วนตัว เป็นโอกาสให้จัดงานเลี้ยงเชิญชวนเจ้านายด้วยกันมาร่วมอาบน้ำ กินและดื่ม ในยุคนั้นการอาบน้ำเป็นความสำราญ เป็นการเล่นอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับการทำความสะอาดร่างกายโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่เสริมสร้างหน้าตาของเจ้าของบ้าน ห้องที่ใช้เป็นที่อาบน้ำจึงกว้างใหญ่โอ่โถงเพราะเป็นห้องรับแขกด้วย เจ้านายทั้งหลายก็พอใจที่จะแช่ตัวในน้ำอุ่นๆเป็นเวลานานๆ กิน ดื่มและรับแขกไปด้วยพร้อมกัน  อ่างน้ำของใครเดินทางติดตามเจ้าของไปด้วยทุกแห่ง เช่นเมื่อราชสำนักย้ายที่ประทับพักแรมในฤดูต่างๆเป็นต้น ต่อมาในศตวรรษที่16-17 ราคาน้ำใช้สูงขึ้นมาก การอาบการแช่น้ำยุติลงเพราะความกลัวกาฬโรคด้วย  อ่างน้ำส่วนตัวของเจ้านายก็ถูกนำไปใช้ปลูกต้นไม้ดอกและกลายเป็นสิ่งแปลกหูแปลกตาเหมือนสมบัติพิสดารที่คนมุงดูกัน
ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของพรมทอผืนใหญ่ แสดงให้เห็นการอาบน้ำของสตรีสูงศักดิ์ ที่มีผู้คอยอำนวยความสะดวก เช่นนำกล่องมาเก็บเครื่องประดับที่สตรีผู้สูงศักดิ์ถอดออกก่อนจะลงในอ่าง  อีกผู้หนึ่งถือถาดผลไม้หรือขนมหวานพร้อมบริการ รวมทั้งมีนักดนตรีประจำราชสำนักมาขับกล่อมให้รื่นเริงใจด้วย  อ่างน้ำในสมัยแรกๆนั้น เป็นอ่างสี่เหลี่ยมไม่ลึก  อาจตัดจากหินก้อนใหญ่ จำหลักด้านนอกอย่างงดงาม  ฉากอาบน้ำนี้เกิดขึ้นในธรรมชาติแวดล้อมที่มีต้นไม้ดอกนานาพันธุ์ สื่อให้เข้าใจว่าอากาศอบอุ่นขึ้นมากแล้ว 

ผลกระทบจากกาฬโรค
        เป็นที่รู้กันว่าสิ่งที่ประชาชนยุคกลางถึงต้นยุคเรอแนสซ็องส์หวั่นกลัวมากที่สุดคือกาฬโรค(11) เนื่องจากไม่เข้าใจต้นเหตุและการแพร่เชื้อ กาฬโรคที่ระบาดแต่ละครั้งในประวัติศาสตร์โลก ครอบระยะเวลาหลายสิบปี และยังผลให้มีผู้คนตายไปหลายสิบล้านคน กาฬโรคครั้งที่รุนแรงที่สุดสำหรับทวีปยุโรปทั้งทวีปมีชื่อเรียกกันว่า กาฬโรคดำ (The Black Death) เกิดขึ้นในปี1346-1353 หยุดชะงักไป แล้วกลับระบาดขึ้นใหม่อีกในศตวรรษที่16 และ17  เมืองที่มีโรคระบาดถูกตัดขาดจากเมืองอื่นๆ ไม่มีการส่งเสบียง งดการติดต่อค้าขายโดยสิ้นเชิง  ผู้คนในเมืองที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็พยายามหนีโรคด้วยการหนีออกนอกเมือง แต่ก็ถูกชาวบ้านเมืองอื่นขับไสไล่ส่งและทำร้าย จนในที่สุดต้องกระเสือกกระสนกลับไป(ตายในเมืองของตน(Vigarello,15) ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะความกลัวเชื้อกาฬโรคและการติดต่อกับใครคือความเสี่ยงติดเชื้อ  
        การอาบน้ำรวมกันชายและหญิงน้อยลงๆตั้งแต่ศตวรรษที่14 เมื่อเกิดกาฬโรคระบาด ในวังมีระเบียบการวางตัวใหม่ ให้มีการรักษาระยะห่างระหว่างกันในสังคม มีกฎเกณฑ์ใหม่ๆสำหรับสถานอาบน้ำด้วย  ในศตวรรษที่15 สถานอาบน้ำแยกให้ใช้บริการสำหรับชายและหญิง หรือไม่ก็แยกห้องเป็นสัดเป็นส่วนออกไป  บางแห่งห้ามผู้ชายที่แต่งงานแล้วเข้าไปใช้บริการ  ในศตวรรษที่16 เมืองอาบน้ำแร่น้ำร้อนทั่วไปในยุโรปถูกปิดเกือบหมด เหลือไว้เพียงไม่กี่แห่ง ที่กลายเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่แพทย์เจาะจงให้ใช้น้ำร้อนและไอน้ำร้อนเพื่อทำให้ผู้ป่วยเหงื่อออกมากที่สุด เป็นการขับสารเสียออกจากร่างกาย(hydrotherapy) หรือไม่ก็กลายเป็นโรงแรมเพื่อความสำเริงสำราญลับตาคนสำหรับคนกลุ่มเล็กๆ  หญิงชาวชนบทที่เข้าไปทำมาหากินในเมือง มักตกที่นั่งลำบากต้องขายบริการในที่สุด  หญิงผู้ขายบริการเหล่านี้กินอยู่กับบ้านที่เปิดเป็นสถานอาบน้ำร้อนในเมือง ในที่สุดสถานอาบน้ำร้อนหลายแห่งจึงกลายเป็นแหล่งโสเภณี   สถานการณ์บางแห่งเลวร้ายลงจนกลายเป็นแหล่งอาชญากรรมไปด้วย  ที่กรุงลอนดอนพระเจ้าเฮนรีที่ห้า ทรงสั่งปิดสถานอาบน้ำร้อนทั้งหมดในปี1411
        เล่ากันว่าชีวิตในอารามของเหล่านักบวชยุคนั้น เกือบไม่มีการอาบน้ำล้างตัวเลย  เหล่านักบวชอาบแห้งและใช้น้ำเย็นเท่านั้น คือเช็ดตัว ล้างหน้า มือและเท้า จึงไม่น่าแปลกใจที่ คริสตจักรประณามและห้ามการแช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ศตวรรษที่16 เป็นต้นมา  ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกตัดออกจากความคุ้มครองของศาสนา(excommunication) ที่เป็นการลงโทษขั้นสุดท้ายที่สาหัสที่สุดสำหรับชาวคริสต์ เพราะหมายความว่าเขาไม่มีสิทธิ์เข้าวัด ไปมิซซา ไปแก้บาป ก่อนสิ้นใจก็ไม่ได้รับการเจิมน้ำมันจากพระ(Extreme unction) เมื่อตายลงก็ไม่มีพระทำพิธีสวดให้พระเจ้ามารับดวงวิญญาณไปและญาติพี่น้องก็ไม่มีสิทธิ์นำศพไปฝังไม่ว่าที่ใดในคริสตจักรเป็นต้น  ความกลัวโทษรุนแรงเช่นนี้จึงไปกลบความอยากอาบน้ำแช่น้ำเสียสิ้น  ทำให้การอาบน้ำหยุดชะงักไปทั้งยุโรป จนกลายเป็นความละอาย อายการแก้ผ้า อายการเปิดเผยเรือนร่างของตนเองสู่สายตาคนอื่นๆ  ในที่สุดยุโรปทั้งทวีปจึงอาบน้ำกันน้อยครั้งมากในชีวิต ประกอบกับที่ยุโรปเกิดขาดแคลนน้ำ บทบาทของคริสต์ศาสนาที่เกี่ยวกับการอาบน้ำยุติลงเมื่อการแพทย์และการอนามัยสมัยใหม่พัฒนาขึ้นในศตวรรษที่19  การค้นพบทางการแพทย์บวกกับเทคโนโลยีได้ช่วยส่งเสริมให้เข้าใจเรื่องสุขอนามัยอย่างถึงแก่น เพราะการอนามัยมิได้จำเป็นสำหรับบุคคลคนใดคนเดียวแต่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดของประชาโลกทั้งหมด
        กาฬโรคจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายบริหารประเทศเริ่มหันมามองเรื่องอนามัยของประชาชนในเมือง  การติดต่อกันในสังคมลดลงไปตามลำดับ  สถานที่บางแห่งถูกปิด คนป่วยถูกแยกออกจากสังคม โรงเรียนถูกสั่งงดและปิดบ่อยๆ  ผู้คนงดไปวัด งดไปอาบน้ำในสถานอาบน้ำสาธารณะ  ความจริงแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่15 เหล่านายแพทย์ไม่เคยเห็นด้วยกับการที่คนไปอาบน้ำในสถานอาบน้ำร้อนสาธารณะ ทั้งยังประณามว่าเป็นสถานที่แพร่เชื้อที่เลวร้ายที่สุด เพราะทุกคนในนั้นเปลือยกายอาบน้ำ ถูกเนื้อต้องตัวกันและร่างกายต้องลมและเชื้อโรคในอากาศ  องค์การแพทย์ยุคนั้นยืนยันถึงความจำเป็นที่คนต้องปกปิดร่างกายให้มิดชิดตลอดเวลา เหมือนปิดประตูบ้านและหน้าต่างมิให้เชื้อผ่านเข้าออกได้  เพราะน้ำร้อนและความร้อนในสถานที่เหล่านั้นทำให้รูขุมขนเปิดออกกว้าง ร่างกายคนอ่อนปวกเปียก เชื้อโรคจึงเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมาก  การลงแช่และอาบน้ำร้อนจึงเป็นต้นเหตุของความตายและโรคภัย  ซ้ำร้ายกว่านี้ในศตวรรษที่16และ17 ยังเชื่อด้วยว่าผู้หญิงอาจตั้งครรภ์ได้ถ้าลงแช่ในน้ำที่ผู้ชายลงไปแช่ก่อน หรือไม่ก็ติดเชื้อซิฟิลิส ทั้งยังเน้นว่าถ้ารูขุมขนเปิด อวัยวะภายในร่างกายจะถูกกระทบกระเทือนจนทำงานล้มเหลวได้  น้ำอาจเข้าไปทำลายทารกในครรภ์อ่อน พลังชีวิตและความคิดอ่านก็อาจหนีออกมาตามรูขุมขนเพราะไอน้ำร้อนทำให้หัวมึนงงแบบสติเสื่อม สรุปได้ว่าการลงแช่อาบน้ำร้อนเป็นภัยต่อร่างกายและทำให้ประสาทเสื่อม  ยุคนั้นมีการออกแบบเสื้อผ้าและเนื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับสวมใส่ในยามที่กาฬโรคระบาด  นั่นคือใช้ผ้าเนื้อแน่นและลื่นมันตัดเข้ารูปพอดีตัว(12) ชนิดที่ลมพัดทะลุเนื้อผ้าเข้าไปถึงเนื้อตัวไม่ได้ และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าที่ดูดซึมได้ดีเช่นผ้าฝ้ายและผ้าขนสัตว์หรือผ้าที่มีขนใดๆเพราะขนผ้ากักเก็บเชื้อโรคที่มีในอากาศ
        เอกสารลายลักษณ์ที่ตกทอดมาจากกลางศตวรรษที่16ฉบับหนึ่ง เล่าถึงชีวิตของนักมานุษยวิทยาชาวสวิสชื่อโทมัส ปลัตแตร์(Thomas Platter,1499-1582)(13) ทำให้เรารู้ว่าการทำความสะอาดเมื่อไม่มีการอาบน้ำกันเลยนั้น นอกจากเช็ดด้วยผ้าขาวสะอาดแล้ว ยังต้องกำจัดเหาให้หมดไปจากตัว ดูเหมือนว่าทุกคนไม่ว่าเจ้านายหรือไพร่มีเหาติดตัวเป็นสมบัติ  เหาเป็นสิ่งที่พวกเขาก้มหน้ารับเหมือนยอมจำนนต่อวิบากกรรมของตน หรือก้มหัวรับโทษจากพระผู้เป็นเจ้า  มีปรากฏเล่าเจาะจงไว้ด้วยว่า ในยุคนั้น(ศตวรรษที่14-16) การหาเหาให้กันเป็นกิริยาที่แสดงความรักใคร่เอ็นดูต่อกัน หรือเป็นการแสดงความเคารพต่อกันด้วย  ผู้หญิงช่วยจับเหาออกจากตัวสามีหรือคนรัก สาวใช้ช่วยเจ้านาย ลูกช่วยแม่และแม่ยายช่วยลูกเขย บางคนเชี่ยวชาญมากจนกลายเป็นมือจับเหาอาชีพ  วิธีกำจัดเหาดังที่บันทึกไว้ในยุคนั้นคือ การอัดเสื้อผ้าทุกชิ้นกับผ้าห่มนอนลงในหีบไม้ขนาดใหญ่ให้แน่นที่สุด เพื่อให้เหาหมดอากาศหายใจและตายลง  วงการแพทย์ยุคนั้นคิดว่าเหาเกิดจากเหงื่อไคลคนที่อบติดอยู่กับเสื้อผ้า เช่นจากเศษเลือดประจำเดือนของผู้หญิง หรือจากน้ำนมที่ค้างติดอยู่ในตัวของแม่นม ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นกลายเป็นเห็บเป็นเหา  วิธีแก้สมัยนั้นคือเปลี่ยนเสื้อผ้าให้บ่อยที่สุด ซักเสื้อผ้าให้สะอาดอยู่เสมอ เปลี่ยนแม่นมของลูกหรือเปลี่ยนอาหารการกินของแม่นมโดยให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ ชื้น เกินไป อาหารที่ย่อยยากทั้งหลาย อาหารที่เป็นกรดมากเกินไป เพราะไปเร่งให้เหงื่อออกเป็นต้น  หมอสมัยนั้นเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่า อาหารที่กินเป็นต้นเหตุให้ร่างกายสร้างน้ำเหลืองที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดของเหล่าสัตว์กาฝาก  แพทย์ยุคนั้นจึงแนะให้คนระมัดระวังในเรื่องอาหารการกินเป็นสำคัญ  การที่เชื่อว่าเหาเกิดจากร่างกายของคนก็ยิ่งไปปลุกความกลัวตายในจิตใจ  ยิ่งทำให้เห็นจริงจังว่า ภายในร่างกายคนประกอบด้วยหนอนยั้วเยี้ยที่คอยออกมาดูดเลือดบั่นทอนชีวิตคน  จนถึงศตวรรษที่17 มาตรการการกำจัดเหาเป็นไปตามแนวที่เล่ามา ไม่มีใครคิดถึงเรื่องการทำความสะอาดร่างกายที่แท้จริง ว่าอาจเป็นวิธีเดียวที่กำจัดเหาที่ได้ผลที่สุด 
        ในยุคศตวรรษที่ 16นั้น นายแพทย์สั่งให้ไปอาบและแช่น้ำแร่ร้อนในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วจริงๆ เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เพราะเชื่อว่าน้ำร้อนจะช่วยฟื้นฟูและบรรเทาผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ   หรือผู้ที่ซูบผอมมากเป็นต้น แต่กว่าจะได้ลงไปแช่น้ำจริงๆก็ต้องเตรียมการและระมัดระวังกันอย่างที่สุด เช่นน้ำที่ผู้ป่วยจะลงไปแช่นั้น ต้องประกอบด้วยสารที่คล้ายคลึงกับสารที่มีในตัวผู้ป่วย เพื่อว่าหากน้ำทำลายสารบางส่วนจากร่างกายผู้ป่วยไป ก็จะได้รับสารนั้นเพิ่มจากน้ำที่เขาลงไปแช่เป็นการชดเชยและฟื้นฟูสภาพร่างกายไม่ให้ทรุดลง(14)  เช่นนี้ทำให้สรุปได้ว่า การอาบน้ำที่ถูกต้องตามคติดังกล่าวนั้นแทบเป็นสิ่งสุดวิสัย ใครที่ต้องลงแช่น้ำทั้งตัวในอ่างยุคนั้น คงรู้สึกกลัวเหมือนกำลังเดินลงโลง  ความเห็นดังกล่าวและมาตรการการป้องกันเชื้อกาฬโรคในยุคนั้น ได้สร้างภาพพจน์ที่น่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับการอาบน้ำในหมู่ประชาชนและผลักดันให้ทางการฝรั่งเศสสั่งปิดสถานอาบน้ำเกือบทั้งหมดในศตวรรษที่16  

วิธีทำความสะอาดร่างกาย
        คริสต์ศาสนาคิดว่าน้ำร้อนทำให้ร่างกายอ่อนปวกเปียก จึงตั้งระเบียบใหม่สำหรับทารกแรกเกิดที่ต้องรับการล้างบาปกำเนิดและรับศีลจุ่ม  มีเอกสารระบุเกี่ยวกับการอาบน้ำทารกแรกเกิดว่า นอกจากล้างรอยเลือดและเมือกที่ติดออกมาจากครรภ์มารดาให้หมดแล้ว หมอตำแยยังต้องคอยนวดคลึงส่วนต่างๆของร่างทารกไปด้วย  เป็นโอกาสให้ดึงและปั้นรูปร่างทารกให้เข้าที่เหมาะเจาะและสวยสมบูรณ์ที่สุด เพราะความร้อนของน้ำที่แช่ตัวทารกลงไป เอื้ออำนวยต่อการปั้นแต่งรูปร่างดังกล่าว  หมอตำแยยังต้องทาชโลมตัวทารกด้วยสารที่ผสมมาจากผงบดละเอียดของเปลือกหอยแมลงภู่หรือของเขาลูกวัว คลุกเคล้ากับเหล้าองุ่น เกลือ น้ำมันและสีผึ้งเป็นต้น  การทาตัวด้วยสารผสมนี้ก็เพื่อปิดรูขุมขนของทารก เท่ากับป้องกันเชื้อโรคเข้าตัว ทารกยังถูกห่อหุ้มอย่างมิดชิดเปิดให้เห็นหน้าตาเท่านั้น(ในจิตรกรรมสมัยนั้นภาพทารกแรกเกิดถูกพันปิดทั้งตัวมองดูเหมือนมัมมีขนาดจิ๋ว)  นั่นคือการอาบน้ำครั้งแรกสุดของชาวตะวันตกในพิธีล้างบาปกำเนิดและรับศีลจุ่มนี้
        เอกสารที่น่าสนใจยิ่งอีกฉบับหนึ่งเล่าถึงพระเจ้าหลุยส์ที่13 กษัตริย์ฝรั่งเศส(1601- 1643) เมื่อทรงประสูติและทรงรับการล้างบาปและรับศีลจุ่มแล้ว  มีผู้เริ่มล้างพระบาทให้พระองค์ก็เมื่อพระชนม์ได้ 6 พรรษาเท่านั้น และไม่เคยลงสรงน้ำเลยจนเมื่อพระองค์มีพระชนม์ได้7พรรษา  ความกลัวการลงแช่ในน้ำยังคงมีต่อมาในจิตสำนึกของชาวยุโรปในศตวรรษที่17  ครั้งเดียวที่พระเจ้าหลุยส์ที่14(1638-1715) ทรงสรงน้ำในห้องประทับในพระราชวังแวร์ซายส์ คือเมื่อปี1655  กลิ่นตัวของพระองค์รุนแรงขนาดผู้จงรักภักดีที่สุดของพระองค์ พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าเฝ้า และแม้ว่าแพทย์หลวงได้ทูลแนะนำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ตลอดชีวิตของพระองค์ทรงพอพระทัยกับการให้เช็ดพระพักตร์และโกนหนวดเคราสองวันครั้ง ด้วยการใช้สำลีจุ่มลงในแอลกอฮอลเช็ดเท่านั้น ไม่มีห้องอาบน้ำหรือห้องส้วมในพระราชวังแวร์ซายส์  ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่16 (1774-1791) จึงเริ่มมีการจัดทำห้องส้วมจริงๆหนึ่งห้อง แยกออกจากห้องอื่นๆ  รายละเอียดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่มีในพระราชฐาน คือมีเก้าอี้นั่งอุจจาระทั้งหมด 274ตัว เก้าอี้นี้เจาะเป็นรูใหญ่ตรงกลางแผ่นที่นั่ง นี่เป็นโถส้วมแบบแรก  เมื่อจะทำธุระก็วางกระโถนรองรับไว้ใต้ที่นั่งตรงรูนั้น  ในห้องส้วมมีผ้ากองมหึมาที่ใช้สำหรับเช็ดตัวเช็ดก้น  สมัยนั้นยังไม่มีกระดาษชำระใช้  มีผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับผ้าเช็ดก้นที่ใช้กันในฝรั่งเศสยุคนั้นว่า มีคุณภาพต่างๆแล้วแต่ความพอใจของแต่ละคน  เช่นของริเชอลีเยอ(Richelieu, 1585-1642 เป็นหัวหน้านักบวชและเลื่อนตำแหน่งขึ้นในศาสนาจนถึงตำแหน่งสูงสุดคือการ์ดินัลในปี1622 และเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในปี 1624)ใช้ผ้าป่าน  ส่วนก๊งแต๊ซ ดู บาร์รี(Comtesse du Barry, 1743-1793 พระสนมแต่งตั้งคนสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15) ใช้ผ้าลูกไม้เนื้อดีเป็นต้น  สำหรับชาวบ้านทั่วๆไปใช้หญ้าหรือก้อนกรวดแบบที่ชาวกรีกโบราณใช้กัน และชนชั้นกลางใช้เศษด้ายเนื้หยาบเป็นต้น
        วรรณกรรมฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่17(15)ให้ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับความสะอาดและทำให้เราเข้าใจว่า ในยุคนั้นความสนใจอยู่ที่ มองดูสะอาด  มีกลิ่นสะอาด  การเปลี่ยนเสื้อผ้าและความขาวของเสื้อผ้าคือประเด็นเด่นและเกือบจะเป็นประเด็นเดียวของความสะอาด  มารยาทสังคมเน้นความสำคัญของส่วนและสิ่งที่ตาเห็น ส่วนที่อยู่ใต้ร่มผ้านั้นไม่สำคัญ เพราะฉะนั้นความสะอาดคือการมีเสื้อผ้าสะอาดก่อนอื่นใด  มีหนังสือสุขศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนที่ระบุว่าทันทีที่ตื่นนอนต้องทำความสะอาดหน้า ตาและมือ  "การใช้ผ้าขาวสะอาดบรรจงเช็ดหน้าและตา เป็นการขจัดคราบสกปรกและรักษาน้ำนวลของผิวพรรณตามธรรมชาติไว้  การใช้น้ำล้างจะทำลายสายตา ทำให้ปวดฟัน เป็นหวัด หน้าซีด ผิวพรรณไม่อาจทานลมหนาวหรือสู้แดดในฤดูร้อนด้"ื(Vigarello,26 และ Perrot,17)  เพราะฉะนั้นการทำความสะอาดคือการเช็ด เป็นการอาบแห้ง ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเลย  หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดศีรษะด้วยการใช้ผ้าหรือฟองน้ำขยี้ผมให้ทั่วทั้งหัวแล้วหวีจากด้านหน้าไปยังด้านหลังถึงต้นคอ ให้หวีนานๆจนผมหมดกลิ่น  ระหว่างนี้อาจเดินไปมาได้เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อแขนขา  ต่อไปจึงเป็นการทำความสะอาดหูและฟัน ใช้น้ำสำหรับล้างมือและบ้วนปาก บางทีเพียงแต่พรมๆน้ำใส่มือหรือเข้าปากเท่านั้นเอง  น้ำที่ใช้ก็ต้องมีส่วนผสมของเหล้าองุ่นหรือน้ำส้มสายชูเพื่อให้น้ำมีลักษณะเป็นกรดมากขึ้นสำหรับฆ่าเชื้อโรค  การทำความสะอาดดังที่อธิบายมาข้างต้นเป็นบทบัญญัติสำหรับเด็กนักเรียนทั้งประเทศฝรั่งเศส  มีแตกต่างกันไปเพียงเล็กน้อย เช่นบางแห่งระบุว่าเด็กๆต้องตัดเล็บทุกแปดวัน บางแห่งเน้นการสระแห้ง ด้วยการโรยแป้งฝุ่นแล้วหวีนานๆให้ผมหายมันเป็นต้น แต่ที่หมือนกันทั้งหมดคือ บทบาทของน้ำในเรื่องความสะอาดนั้นแทบไม่มีเลย  สรุปได้สั้นๆว่า การเช็ดหน้าด้วยผ้าขาวและการใช้น้ำล้างมือ เป็นวิธีทำความสะอาดพื้นฐานของประเทศในยุโรป ใบหน้าและมือเป็นอวัยวะสองอย่างที่จำเป็นที่สุด เพราะไม่มีอะไรปกปิดให้พ้นสายตาของคนอื่น ในแง่นี้ความสะอาดของใบหน้าและมือ ถือเป็นมารยาทสังคมที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่ง
   
     การอาบน้ำทั้งตัวในสถานอาบน้ำสาธารณะหรือในคฤหาสน์ส่วนตัวถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงระหว่างศตวรรษที่16-17 เพราะความกลัวการติดเชื้อกาฬโรคดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น  การยกเลิกใช้น้ำทำความสะอาดทั่วทั้งร่างกายในช่วงศตวรรษที่16-17 ยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในขบวนการแต่งกายและแต่งหน้า รวมทั้งการใส่วิกผมเพื่อคลุมความสกปรกและการขาดอนามัยของร่างกาย ในสภาพการณ์นี้เองที่ฝรั่งเศสเริ่มผลิตเครื่องสำอาง น้ำหอมและเครื่องประทินผิวชนิดต่างๆมากกว่ายุคใดๆ โดยสะกัดจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีกลิ่นรุนแรงเพื่อกลบกลิ่นสาบและปิดบังขี้ไคลที่สะสมบนตัว  ความจริงแล้วเครื่องสำอางเหล่านี้ไปเพิ่มขี้ไคลให้หนาขึ้นอีก  ส่วนกลิ่นตัวก็ไม่ได้ถูกกลบหายไปพียงแต่แปรเป็นกลิ่นฉุนรุนแรงอีกกลิ่นหนึ่งเท่านั้นเอง  สิ่งเหล่านี้เข้ามาทำหน้าที่แทนน้ำ คือเข้ามาทำให้ร่างกายมองดูสวยสะอาดอยู่เสมอและมีกลิ่นดีกว่า  เป็นกลิ่นอื่นที่ไม่ใช่กลิ่นขี้ไคลหรือกลิ่นตัว โดยเฉพาะการฉีดน้ำหอมได้ช่วยความรู้สึกของคนยุคนั้นมากทีเดียว ทำให้มีการฉีดไปทั่วทุกหนทุกแห่งทั้งในบ้านส่วนตัวและตามที่สาธารณะ  ความรู้เรื่องการอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณเกือบหายสาบสูญไป ความที่ไม่มีโอกาสได้ทำ  ผู้คนเคยชินกับการอยู่โดยไม่มีน้ำใช้เพียงพอ รวมทั้งเคยชินกับการสูดกลิ่นสาบของกันและกัน
        อีกประการหนึ่งความสกปรกและกลิ่นเหม็นที่ปรากฏสั่งสมมาตลอดระยะเวลาสองศตวรรษ(ศต.16-17) ถึงจุดสุดยอดของมันแล้ว เพราะเหม็นไปทั้งประเทศ  ความเหม็นนี้ยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในมารยาทสังคม  ผู้คนต่างหลีกเลี่ยงถอยห่างจากกันเพื่อจะได้ไม่ต้องสูดกลิ่นตัวของกัน  การถูกเนื้อต้องตัวลดน้อยลง  มีการรักษาช่วงห่างระหว่างตัวคน ไม่มีการไปมาหาสู่กันทุกเวลาเช่นที่เคยเป็น แม้ในหมู่ญาติสกุลเดียวกันหรือในหมู่เพื่อนสนิทมิตรสหาย เริ่มมีการเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ในรั้วรอบขอบชิดของที่อยู่ตน ซึ่งพัฒนากลายเป็นอุปนิสัยประจำชนชาติยุโรป  นั่นคือสิทธิของการมีชีวิตส่วนตัว ห้อมล้อมปกป้องตนเองจากความอยากรู้อยากเห็นของคนอื่น ปลอดภัยอยู่ภายในกรอบของห้อง ของบ้านและของรั้ว  อิทธิพลงานเขียนของรุสโซได้กระตุ้นให้คนหันกลับเข้าหาน้ำ  เรียกร้องให้มีระบบการวางท่อส่งน้ำจากแม่น้ำแซน(la Seine)สู่เขตชุมชนด้วย ไม่ใช่เพื่อพระราชวังแวร์ซายส์หรือคฤหาสน์ของชนชั้นผู้ดีเท่านั้น  แต่ความหวังในการมีน้ำใช้นี้ยังเป็นไปไม่ได้สำหรับประชาชนทั่วไป แม้จะมีการสร้างโรงอาบน้ำสาธารณะขึ้นบนสองฝั่งแม่น้ำแซนในกรุงปารีส  ส่วนใหญ่เป็นโรงอาบน้ำเย็นคิดค่าบริการถูกจึงมีประชาชนไปอาบน้ำกันมาก  ถึงกระนั้นก็ยังมีชาวบ้านและคนงานอีกจำนวนมากที่ไม่มีเงินพอจ่ายค่าอาบน้ำ(16) จึงพากันไปเช็ดล้างตัวกันที่ริมฝั่งแม่น้ำแซนแถวเชิงสะพานหรือริมทางที่เลียบฝั่งแม่น้ำใกล้ๆสะพานโดยไม่เข้าไปในโรงอาบน้ำ  เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่20  แม้ว่ามีกฎหมายออกมาตั้งแต่วันที่30 เมษายน1840 ระบุห้ามคนอาบน้ำริมแม่น้ำหรือในแม่น้ำนอกจากในโรงอาบน้ำของทางการที่มีฝากั้นมีหลังคาปิดกันอุจาดสายตาเท่านั้น  ในยุคนั้นภาพพิมพ์ที่เป็นภาพล้อฝีมือของโดมีเย ได้บันทึกภาพผู้หญิงคนงานกำลังเช็ดตัวกันอย่างอุตลุดในขณะที่ผู้ดีแต่งตัวงามทั้งชายและหญิงเดินผ่านไปมาบนฝั่ง (Daumier,1808-1879 ภาพดังกล่าวออกพิมพ์ในวารสารเลอชารีวารี - Le Charivari ฉบับวันที่ 3 สิงหาคมปี1842)  ส่วนโรงอาบน้ำร้อนในปารีสช่วงกึ่งศตวรรษที่18นั้น  มีเพียงสิบกว่าแห่งเท่านั้นและคิดค่าบริการแพงกว่ามาก  ในที่สุดโรงอาบน้ำร้อนจึงกลายเป็นสถานพบปะสังสรรค์ของพวกผู้ดีมีสกุลและชนชั้นกลางที่ร่ำรวยเท่านั้น(17)   สถานอาบน้ำร้อนที่โด่งดังมากที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งขึ้นในปี1783 บนริมฝั่งแม่น้ำแซน รู้จักกันในชื่อ Aux Bains du sieur Albert. เจ้าของได้ทำท่อน้ำเจาะรูให้กระแสน้ำพุ่งขึ้นและลงไปหลายทิศทางเพื่อให้น้ำกระจายไปถูกทั่วทั้งร่างกายคนอาบ  นอกจากนี้ยังเป็นสถานแห่งแรกและแห่งเดียวในยุโรปที่มีการจัดทำท่อน้ำให้พุ่งขึ้นจากใต้แผ่นที่นั่งของเก้าอี้อุจจาระ  ความเร็วของน้ำที่พุ่งขึ้นทะลุทะลวงเข้าทำความสะอาดก้นและช่องคลอด  นับเป็นรูปแบบแรกของบีเดท์ยุโรป (le bidet-โถส้วมปัสสาวะและใช้นั่งเพื่อล้างก้น)  ตอนนั้นบีเดท์ทำจากวัสดุประเภทต่างๆและมีแบบที่เหมาะกับการขนย้ายติดตามเจ้าของไปทุกแห่ง  บีเดท์นับเป็นสัมภาระเดินทางที่ขาดไม่ได้ชิ้นหนึ่งของสตรียุคนั้น

น้ำ - ภาพลักษณ์ของอำนาจและอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง
        เหตุการณ์สำคัญยิ่งเหตุการณ์หนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 17-18 คือการสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1624ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แล้วมีการขยับขยายเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่14, ที่15และที่16.  สิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดอย่างหนึ่งของพระราชวังแวร์ซายส์คือสถาปัตยกรรมสวน พระราชอุทยานแวร์ซายส์นี้มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณหนึ่งร้อยเฮกเตอร์(1,000,000 ตารางเมตร) การจัดสร้างสระน้ำ ทางเดิน ประติมากรรมตลอดจนการจัดการปลูก โค่นหรือย้ายต้นไม้  ทุกอย่างเป็นไปอย่างเหมาะเจาะและเป็นระเบียบสมดุลบนพื้นที่ซ้ายและขวาตลอดแนวแกนหลักของสวน ตรงตามที่สถาปนิกออกแบบไว้(18)  พระราชอุทยานแวร์ซายส์ได้กลายเป็นแบบฉบับของสวนฝรั่งเศส และเป็นแม่พิมพ์ของสวนอื่นๆในยุโรป 
จิตรกรรมผลงานของ Pierre Patel [ปิแยรฺ ปาเต็ล] (1605-1676 ชาวฝรั่งเศส จิตรกรในยุคบาร็อค) แสดงอาณาบริเวณกว้างใหญ่ของพระราชวังแวร์ซายส์พร้อมอุทยานที่ทอดออกไปไกลสุดสายตาในตอนบนของภาพ  เป็นครั้งแรกที่มีการถางป่า ปราบพื้นที่ขนาดมหึมาเช่นนี้ เพื่อเนรมิตให้เป็นเหมือนสวรรค์บนดิน  ภาพนี้เนรมิตขึ้นในปี 1668 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แวร์ซายส์  ภาพนี้ยังมิได้รวมบริเวณพระราชอุทยานแวร์ซายส์ทั้งหมด นั่นคือพระราชวัง Le Grand Trianon [เลอ กร็อง ตรียานง] (และ Le Petit Trianon [เลอ เปอติ๊ ตรียานง]) ที่เริ่มสร้างในปี1670 จึงไม่รวมอยู่ในภาพนี้  
        ผืนน้ำขนาดมหึมาที่เป็นแนวลำคลองใหญ่ในพระราชวังแวร์ซายส์ (เรียกกันที่นั่นว่า Le Grand Canal) เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่สุดยอดของสถาปนิกอ็องเดร เลอ โน๊ตร์(André Le Nôtre,1613-1700) ผู้พลิกโฉมหน้าของพื้นที่ตั้งแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นเส้นทางยาวสว่างไปสุดลูกหูลูกตา  การก่อสร้างแนวลำคลองใหญ่สายนี้ใช้เวลานานถึง 11ปี ตั้งแต่ปี1668-1679 ยาวทั้งสิ้น1670 เมตร บนลำคลองสายนี้เคยใช้เป็นที่ล่องเรือสำราญในวาระงานเฉลิมฉลองต่างๆนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งนี้เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่14 ได้สั่งเข้าเรือขนาดเล็กจำนวนมากมาใช้ในลำคลองใหญ่นี้  และในปี1674 สาธารณรัฐแห่งเวนิส(ตอนนั้นเวนิสเป็นรัฐอิสระ) ได้ส่งเรือกนโดลา(gondola เป็นเรือพายท้องแบนที่ใช้ที่เมืองเวนิสในอิตาลี)สองลำพร้อมนายพายเรือสี่คนมารับใช้พระองค์  ทีมนักพายเรือชาวอิตาเลียนทั้งสี่พักอาศัยอยู่ในอาคารตรงหัวมุมด้านขวาของลำคลอง ซึ่งตั้งแต่นั้นเรียกชื่อกลุ่มอาคารตรงนั้นว่า Petite Venise ([เปอตี๊ดตฺ เวอนีซ] หรือเวนิสน้อย กลุ่มอาคารตรงนี้ปัจจุบันเป็นภัตตาคาร  ใกล้ๆกันเป็นท่าเทียบเรือ มีเรือให้เช่าพายเล่นบนลำคลองใหญ่)  เพราะฉะนั้นตลอดฤดูร้อน พระเจ้าแผ่นดินและข้าราชบริพารลงเรือสำราญบนลำคลองใหญ่นี้  ส่วนในฤดูหนาว เมื่อน้ำเป็นน้ำแข็งก็เป็นที่เล่นสเก็ตและรถเลื่อนบนหิมะ  ยิ่งกว่าสถาปัตยกรรมสวน ดอกไม้และพุ่มไม้ต่างๆโดดเด่นมิมีที่ใดเหมือน แต่สิ่งที่เหนือกว่าคือน้ำในทุกรูปแบบที่นำมาประดับสวนและเป็นเอกลักษณ์เด่นที่สุดของสวนฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก น้ำพุ น้ำสงบนิ่งราบเรียบผืนใหญ่ที่เป็นดั่งกระจกเงาเนื้อดีสะท้อนท้องฟ้าและแสงสว่าง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่หาดูที่ใดเสมอเหมือนมิได้ในยุโรปยุคนั้นและแม้แต่ยุคนี้เองก็ยังหาที่ใดมาเทียบกันได้ยาก 
        เมื่อมองดูสภาพการณ์และความมเหาฬารของพระราชวังแวร์ซายส์ในยุคนั้น  สรุปได้ว่าเป็นยุคที่น้ำเข้าครอบครองแผ่นดินอย่างมีศิลป์และเต็มศักยภาพ  พระราชวังแวร์ซายส์มีสระน้ำขนาดใหญ่(bassin) ทั้งหมด12แห่ง มีละเมาะไม้พร้อมประติมากรรมน้ำพุหรือน้ำตกอีก15แห่ง(bosquet)  มีปาร์แตร์น้ำ(Parterre d’Eau) ที่เป็นสระน้ำตื้นแต่กว้างเหมือนแปลงสนามหญ้าสี่เหลี่ยมใหญ่ๆสองแปลงที่ขนาบสองข้างทางเดินสายสำคัญของสวน และตั้งขนานไปกับอาคารพระราชวังด้านสวน จนเกือบจะพูดได้ว่าเป็นส่วนต่อขยายของวัง เพราะแสงสว่างที่สะท้อนจากสระน้ำปาร์แตร์ทั้งสองแห่ง ส่องระยิบระยับไปยังห้องกระจก(Galerie des Glaces) ภายในอาคารพระราชวังที่ตั้งตรงกัน  ถ้านับจำนวนน้ำพุน้ำตกและสระน้ำเล็กๆใหญ่ๆแล้ว มีถึง1300แห่ง ประมาณกันว่าปริมาณน้ำที่ใช้ในพระราชวังแวร์ซายส์เพียงแห่งเดียวแต่ละวันเกือบเท่ากับปริมาณน้ำที่ใช้สำหรับชาวเมืองทั้งหมดในกรุงปารีสในแต่ละวัน  นอกจากห้องสวน ผืนน้ำ ยังมีพื้นที่จัดเหมือนห้องโถงกลางแจ้งหรือห้องรับแขกนอกชายคาสำหรับงานเลี้ยงน้ำชา ฟังดนตรีหรืองานเต้นรำในยามที่อากาศดีแสงแดดอบอุ่น  ทุกแห่งมีประติมากรรม แจกันขนาดใหญ่ หรือน้ำพุเล็กๆประดับอีกจำนวนมาก และตามสองฝั่งของทางเดินภายในสวนทุกสาย(les allées) ในปัจจุบันสวนบางหย่อมเช่นสวนวงกตที่เคยมีในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่14 ถูกทำลายไปแล้ว 
        พระราชอุทยานแวร์ซายส์นับเป็นสวนเนรมิตที่ผนึกรวมเข้าไปในธรรมชาติแวดล้อม ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดที่ไม่มีที่ใดเหมือนในยุโรป แสดงถึงอัจฉริยภาพของสถาปนิกชาวฝรั่งเศสหลายๆคนที่ทำงานต่อเนื่องกันมาในยุคต่างๆโดยสามารถรักษาความกลมกลืนและจรรโลงเอกภาพของศิลปะสวนฝรั่งเศสไว้ได้อย่างวิเศษ  ภาพของน้ำจำนวนมหาศาลที่นำมาประดับพระราชอุทยานแวร์ายส์ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจ ทั้งประทับใจและข่มขวัญไปพร้อมๆกันในหมู่ข้าราชบริพารและข้าแผ่นดินรวมทั้งชาวยุโรปทั้งทวีป  ทำให้ทุกคนสำนึกถึงความยิ่งใหญ่และอำนาจของผู้เป็นเจ้าของพระราชอุทยาน  น้ำได้ไปเสริมสร้างบุญญาธิการของกษัตริย์ฝรั่งเศสโดยเฉพาะของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ได้วิเศษเหนือสิ่งอื่นใด เพราะแม้แต่ธรรมชาติก็สยบใต้คำบัญชาใต้พระประสงค์ของพระองค์  ภายในอาคารพระราชวังมีการจัดห้องเพื่อวางอ่างอาบน้ำทั้งของพระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระสนมต่างๆ  ส่วนใหญ่เพื่อการตั้งโชว์เป็นสำคัญ  การลงอาบจริงๆยังน้อยครั้ง เพราะน้ำที่ส่งจากแม่น้ำแซนที่ปารีสเข้าไปถึงพระราชวังแวร์ซายส์น้อยลงๆ  ฝรั่งเศสได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและทำระบบท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในจังหวัดในปริมณฑลของพระราชวังทั้งหมด รวมทั้งสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่อีกหลายแห่งเพื่อรองรับน้ำไว้ใช้สำหรับน้ำพุน้ำตกทุกแห่งในพระราชอุทยานโดยเฉพาะในยามที่พระเจ้าหลุยส์เสด็จออก  และในระหว่างปี 1681-1682 มีการประดิษฐ์เครื่องปั่นเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ (la machine de Marly) ที่ทดและสูบน้ำจากแม่น้ำแซนที่ปารีสส่วนที่อยู่ใกล้พระราชวังที่สุดก็ประมาณ10-15 กิโลเมตร และพื้นที่ก็ต่างระดับกันอีกด้วย  มีการนำส่งน้ำเป็นระยะๆผ่านสะพานส่งน้ำที่เมืองมาร์ลี (Aqueduc de Marly) เข้าสู่เขตพระราชวังแวร์ซายส์  
ภาพถ่ายให้เห็นทัศนมิติของพระราชวังแวร์ซายส์ จากบันไดหน้าอาคารพระราชวัง  เป็นแนวตรงออกไปสุดสายตา  แกนหลักนี้เป็นผืนน้ำขนาดมหึมาต่อๆกันไปกว่าสิบกิโลเมตร 
ภาพแสดงที่ตั้งของเครื่องปั่นน้ำ (La Machine de Marly) ที่วิศวกรประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทดน้ำจากแม่น้ำแซน(la Seine) ที่ปารีสและนำส่งต่อๆขึ้นไปผ่านสะพานส่งน้ำที่เมืองมาร์ลี (Aqueduc de Marly)ไปยังพื้นที่เขตพระราชวังแวร์ซายส์ที่อยู่ไกลออกไปประมาณ15 กิโลเมตร เครื่องกลจักรนี้ประกอบด้วยกงล้อแบบกังหันน้ำขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง12 เมตรทั้งหมดรวมถึง14 ล้อ  วิศวกรรมประดิษฐ์เครื่องกลจักรนี้มีประสิทธิภาพเต็มพิกัดนับเป็นนวัตกรรมแนวหน้าที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุโรป  ภาพนี้เป็นผลงานในปี 1723 ของเปียร์- เดอนีส์ มาร์แต็ง(Pierre-Denis Martin)  (ภาพจาก wikipedia.org)
        นานหลายศตวรรษทีเดียว กว่าสังคมยุโรปจะหันกลับมาใช้น้ำเพื่อรักษาความสะอาดทั้งเรือนร่าง มิใช่เพียงเพื่อเช็ดหน้าและล้างมือเท่านั้นแต่เพื่อการมีอนามัยที่ดี  อย่างไรก็ตามการมีน้ำใช้เพื่อความสะอาดก็ยังคงเป็นอภิสิทธิ์ของเหล่าผู้ดีมีเงิน  ผู้ที่สะอาดได้มากเท่าไรหมายความว่าผู้นั้นมีบารมี  มีเงินสำหรับซื้อความสะอาดในทุกสิ่ง ไม่จำกัดอยู่เพียงร่างกาย  แต่รวมไปถึงที่อยู่อาศัยที่สะอาด  มีน้ำใช้อุดมสมบูรณ์  มีสวนน้ำพุหรือธารน้ำใส  มีเครื่องใช้ถ้วยโถโอชาม เครื่องแก้วหรือเครื่องเงินที่ขัดล้างเช็ดจนเป็นเงาวาววับ  ความสะอาดกลายเป็นบรรทัดฐาน เป็นประกาศนียบัตรที่แท้จริงของความเป็นผู้ดี  และการอาบน้ำก็ได้พัฒนากลายเป็นการเสพสุขประเภทหนึ่ง  ในศตวรรษที่18 ชนกลุ่มนี้เท่านั้นที่สามารถมีอ่างน้ำส่วนตัวสำหรับลงแช่และอาบน้ำได้เต็มตัวตามความพอใจในวัง คฤหาสน์หรือบ้านพักส่วนตัวของเขา  การอาบน้ำในยุคนี้ยังผลให้เกิดความสัมพันธ์แนวใหม่ระหว่างเจ้านายกับผู้รับใช้  เหล่าบริวารหรือคนรับใช้ได้เข้าใกล้ชิดเจ้านายมากขึ้น เพราะเข้าไปช่วยและดูแลอยู่ในห้องอาบน้ำด้วย จึงมีโอกาสได้เห็นร่างเปล่าเปลือยของเจ้านาย ไม่ว่าเป็นเจ้านายผู้หญิงหรือผู้ชาย  เหล่าคนรับใช้ก็มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายแล้วแต่ใครทำหน้าที่อะไร  ผู้ชายเป็นคนยกถังน้ำเทน้ำเติมลงในอ่าง  ส่วนผู้หญิงอาจช่วยอาบช่วยถูตัวเช็ดตัวเป็นต้น  บางทียังมีนักดนตรีเข้าไปดีดสีตีเป่าให้ความบันเทิงแก่ผู้กำลังอาบน้ำเพิ่มขึ้นอีก
จิตรกรรมภาพนี้(1729) ฝีมือของฌ็อง มาร์ก นาตีเย (Jean Marc Nattier, 1685-1766) ทำให้เรานึกจินตนาการการอาบน้ำของเจ้านายในสมัยศตวรรษที่18 ที่มีบริวารคอยรับใช้หลายคน มีชาวผิวดำด้วยแน่นอน  เป็นยุคที่มีการนำชาวอฟริกามาเป็นคนรับใช้ในยุโรป บนพื้นมีพรมปูผืนใหญ่ อันเป็นหนึ่งในสมบัติมีค่าของยุคนั้น(เข้าสู่ยุโรปกับพวกเติร์ก)  บุคคลในภาพคือ Marie-Anne de Bourbon-Condé (หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า มัดมัวแซล เดอ แกลร์มงต์ Mademoiselle de Clermont ผู้เป็นหลานสาวของพระเจ้าหลุยส์ที่14 กับ Madame de Montespan) ภาพจาก Musée Condé ที่เมือง Chantilly ประเทศฝรั่งเศส
        ห้องที่ใช้เป็นที่อาบน้ำสมัยนั้นต้องเป็นห้องใหญ่มาก ใหญ่พอสำหรับให้คนอย่างน้อยห้าหกคนเดินเข้าออกหรือสวนไปมาได้สบายๆ  การอาบน้ำดังกล่าวทำให้เกิดแนวการตกแต่งภายในอาคารแบบใหม่ มีการออกแบบสร้างอ่างอาบน้ำแบบต่างๆตั้งแต่แบบนอนเหมือนเตียง แบบเก้าอี้นวม แบบโซฟาเป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีเตียงหรือเก้าอี้ยาวสำหรับนอนพักหลังขึ้นจากน้ำ ซึ่งมักต่อด้วยการกิน มีสาวใช้หลายคนคอยเช็ดคอยนวดตามตัวด้วยเครื่องประทินผิว ช่วยแต่งตัวและบริการอาหาร  การเปลือยกายให้เหล่าข้าทาสบริวารเห็นในตอนอาบน้ำและแต่งตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคศตวรรษที่18  การอาบน้ำก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแล้ว กลายเป็นเรื่องธรรมดา  อย่างไรก็ตาม ความคิดเกี่ยวกับการอาบน้ำยังเกี่ยวพันอยู่กับความต้องการอวดตัว อวดสถานที่และอวดรวย  ค่านิยมในตอนนั้นคือทุกอย่างต้องตระการตาตระการใจ  คฤหาสน์หรือวังเป็นฉากของชีวิตแต่ละขณะ และชีวิตแต่ละขณะคือศิลปะการสร้างภาพพจน์ให้วิเศษที่สุดที่ทำได้ ซึ่งย่อมหมายรวมไปถึงการซ่อนสิ่งที่แย่ๆด้วย  ทั้งหมดนี้เป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ส่งผลสืบต่อไปทุกด้านทั้งการกินอยู่ การแต่งกาย การแพทย์ การสาธารณสุขและการปกครอง  สำหรับผู้ที่ไม่มีเงินสร้างห้องน้ำส่วนตัว ก็มีบริการให้เช่าอ่างอาบน้ำพร้อมด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนตามต้องการ  เมื่อคนอาบน้ำกันมากขึ้นๆ ประสาทรับรู้กลิ่นของคนยิ่งทนกลิ่นสกปรกต่างๆไม่ไหว จมูกยิ่งไวต่อทุกกลิ่น  ในยุคนี้ มีการศึกษาวิเคราะห์กลิ่นตัวจากส่วนต่างๆของร่างกายอย่างละเอียดลออ  เพื่อหาทางกำจัดกลิ่นไม่ดีต่างๆอย่างเด็ดขาด  มีการคิดหาสูตรผสมใหม่ๆ เป็นน้ำส้มสายชู  อัลกอฮอล์หรือน้ำยาอื่นๆ หรือผลิตสบู่จากสารที่สกัดจากพืชบางชนิดออกใช้ โดยเล็งหาประสิทธิภาพในการกำจัดกลิ่นที่เกิดจากส่วนนั้นส่วนนี้ของร่างกายอย่างจำเพาะเจาะจง  ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแนวหน้าในด้านนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
        เมื่อพิจารณาจิตรกรรมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่18 เป็นต้นมา  ในยุคที่การเปลือยกายกลายเป็นเรื่องธรรมดาและการอาบน้ำก็เป็นเรื่องการโชว์ตัว  จะเห็นว่าภาพเปลือยกลับเข้ามาในวงศิลปะ เช่นรูเบินส์ (Peter Paul Rubens, 1577-1640 ชาวเฟลมมิช) ผู้มักวาดภาพเนื้อหาจากคัมภีร์หรือเนื้อหาประวัติศาสตร์ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้เสนอภาพของวีนัส(The Feast of Venus)  ของสามเทพสตรีกรีกผู้เลื่อชื่อลือนามในด้านความงาม(The Three Graces)  หรือภาพปารีสตัดสินความงามของเทพสตรีสามคน(The Judgment of Paris) สตรีในภาพเหล่านี้เปลือยทุกคนตามอุดมการณ์กรีกโบราณ  ภาพเปลือยของรูเบินส์ จึงยังวนเวียนอยู่ในกรอบของขนบ ความเป็นคลาซสิก” (บุคคลในภาพมาจากเทพตำนาน) 
จิตรกรรมภาพสามความงามเลิศพิสุทธิ์ (Les Trois Grâces [เล ทรัว กร๊าซ]) ฝีมือของ Peter Paul Rubens ผลงานในปี 1636/1638 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอ็ลปราโด (Museo del Prado [มูเซ่โอ เด็ล ปราโด]) กรุงมาดริด ประเทศสเปน (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
       ต่อมาโกยา (Francisco Goya, 1746-1828 ชาวสเปน) ได้วาดภาพ มาฆาเปลือย” (La Maja desnuda ผลงานในราวปี1798-1800 ชื่อมาฆาเองก็เจาะจงอย่างแน่ชัดว่ามิใช่ภาพวีนัสตามขนบเก่า  คำนี้ใช้เรียกหญิงสามัญชนที่พัฒนาตนเองเลียนแบบสตรีในชนชั้นสูงและใช้ชีวิตตามแบบพวกผู้ดี) เป็นภาพสตรีเปลือยทั้งตัว นอนพิงหมอนบนเตียง แขนทั้งสองยกขึ้นวางหลังศีรษะ  เป็นภาพสตรีในโลกของความเป็นจริง  ตามองตรงมายังผู้ดู ทั้งสีหน้าและท่าทางแสดงความสุข ความพอใจ ไม่มีท่าเอียงอาย กลับภูมิใจในร่างงามของเธอ ในความเป็นผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อและวิญญาณ  มิใช่เทพสตรีในตำนานที่สวยสมส่วนไร้ที่ติแต่ให้ความรู้สึกเหินห่าง  โกยา ยังได้บรรจงวาดเส้นขนเล็กๆเหนือเนินอวัยวะเพศ  ซึ่งเพิ่มมิติของความเป็นเป็นจริงเข้าไปอีก และทำให้ภาพเปลือยของโกยา เป็นภาพหญิงเปลือยจริงๆภาพแรกในโลกตะวันตก ที่มิได้เป็นเทพสตรีกรีก  ภาพเปลือยนี้เขย่าวงการศิลปะอย่างรุนแรงและเป็นที่วิพากษณ์วิจารณ์กันมาก(โดยเฉพาะจากองค์การศาสนา)  ภาพถูกเก็บไว้ในห้องลับภายในหอศิลป์ซันเฟร์นันโด(San Fernando) จนถึงปี1901เท่านั้นที่ภาพของโกยาภาพนี้ได้เข้าไปประดับในพิพิธภัณฑ์เอ็ลปราโด(Museo del Prado)กรุงมาดริด จิตรกรรมนี้ยังได้โดนใจให้มาเนต์เสนอภาพหญิงเปลือยในท่านอนแบบเดียวกัน(แต่กลับข้าง) ในจิตรกรรมชื่อ โอแล็งเปีย(L’Olympia)ของเขา
จิตรกรรมภาพเปลือยของโกยา ภาพนี้ได้ชื่อว่าเป็นภาพแรกที่แสดงขนอ่อนของสตรีในจิตรกรรมขนาดใหญ่ออกสูสายตาสาธารณะ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอ็ล ปราโด (Museo del Prado [มูเซ่โอ เด็ล ปราโด]) กรุงมาดริด ประเทศสเปน (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
จิตรกรรมภาพฝีมือของ มาเนต์ (Edouard Manet, 1832-1883 ชาวฝรั่งเศส) ชื่อว่า โอแล็งเปีย - L’Olympia เนรมิตขึ้นในปี1863 ตามแบบภาพ มาฆาเปลือย” (La Maja desnuda) ของ โกยา(Francisco Goya)  ตาของผู้หญิงมองตรงมาที่ผู้ดู ไม่อาย ไม่ได้ท้าทายหรือเชิญชวน มีทาสสาวผิวดำนำช่อดอกไม้มาให้เธอ ซึ่งอาจจะทำให้คิดได้ว่า มีผู้หลงใหลเธอ(ที่อาจทำให้คิดว่าเธอเป็นสตรีผู้ชายบริการหรือเปล่า) ภาพนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของ อ็อกเซย์ (Musée d’Orsay [มูเซ่ ด็อกเซ่]) กรุงปารีส (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
       มาเนต์ (Edouard Manet, 1832-1883 ชาวฝรั่งเศส) ยังได้เสนอภาพจิตรกรรมปิคนิกบนสนามหญ้าในธรรมชาติ(Le Déjeuner sur l’herbe ราวปี 1863) มีภาพสตรีเปลือยทั้งร่างนั่งชันเข่าขึ้นข้างหนึ่งบนพื้นสนามหญ้ากับหนุ่มสำอางค์สองคนที่แต่งตัวเต็มตามยุคสมัย สตรีอีกผู้หนึ่งในฉากหลังมีเสื้อขาวบางคลุมไว้หลวมๆ กำลังล้างเนื้อล้างตัวในลำธาร  ภาพนี้ของเขาถูกคณะกรรมการของซาลง(19) (Salon หรือ Salon de Paris ปี1863)  ตัดสิทธิ์มิให้ร่วมในงานนิทรรศการวิจิตรศิลป์ปีนั้น  ระบุว่าเนื้อหาไม่ต้องทำนองคลองธรรมของสังคม  ภาพสตรีเปลือยของมาเนต์อยู่นอกขนบแบบแผนของบัณฑิตยสภาแห่งวิจิตรศิลป์  สตรีนั้นมิได้เป็นหนึ่งในหมู่ทวยเทพกรีก เป็นสตรีสามัญชน ไม่มีฉากหลังที่อาจโยงไปถึงขนบยุคคลาซสิกเลย คณะลูกขุนจึงไม่ยอมรับ ต่อมาเซซานน์(Paul Cézanne, 1839-1906 ชาวฝรั่งเศส) ได้เสนอภาพกลุ่มผู้หญิงเปลือยริมธารน้ำในอิริยาบถต่างๆ  เช่นเดียวกับโกยา และมาเนต์ ผู้หญิงเหล่านั้นเป็นผู้หญิงชาวโลกมิใช่เทพธิดาหรือนางฟ้าใดๆ   ประติมากรโรแด็ง(Auguste Rodin,1840-1917 ชาวฝรั่งเศส) ก็เสนอผลงานจำนวนมากที่เป็นร่างเปลือยของชายและหญิง  เช่นนี้ตั้งแต่จิตรกรโกยาเป็นต้นมา  ภาพเปลือยหลุดจากกรอบบังคับของ ความเป็นคลาซสิก  มาเป็นการแสดงออกอย่างอิสรเสรีของศิลปินตามอุดมการณ์ความงามของศิลปินเอง
จิตรกรรม ปิคนิกบนสนามหญ้า ของ Edouard Manet [เอดัวรฺ มาเน่] (1832-1883) เนรมิตขึ้นในปี1863 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของออร์เซย์ (Musée d’Orsay) กรุงปารีส  (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
จิตรกรรมภาพสตรีสรงสนานกันริมฝั่งน้ำ (Les Grandes Baigneuses) ผลงานของ ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) เนรมิตขึ้นในปี1906  เซซานน์ได้เนรมิตภาพชุดผู้หญิงอาบน้ำหลายภาพเป็นชุดเลย  น่าสนใจติดตามดูวิวัฒนาการการเสนอภาพของเขา  ทุกภาพล้วนสื่อความสุขสงบ ความสบายตัวสบายกายของผู้หญิงริมฝั่งน้ำในธรรมชาติร่มรื่นของฤดูร้อน  ภาพนี้อยู่ที่หอศิลป์เมืองฟิลลาเดลเฟีย (Philadelphia Museum of Art) สหรัฐอเมริกา  (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี) 

ด้านหน้าสถานอาบน้ำแร่ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ชื่อ Széchenyi Gyógyfürdő
สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอบาร็อค ดูสง่าภูมิฐานจนอาจเรียกเป็นวังน้ำได้เลย
ภาพนี้เป็นของ Pierre Bona ถ่ายไว้เมื่อวันที่29 กรกฎาคม 2010 ลงในวิกิพีเดีย
ในยุคใหม่ มีการสร้างสถานอาบน้ำแร่ขนาดมหึมาบนดินแดนที่อุดมด้วยน้ำแร่ธรรมชาติ ที่มากที่สุดคือในประเทศฮังการี และสถานอาบน้ำแร่ที่น่าทึ่งที่สุดคงต้องไปดูที่เมืองBudapest อาคารภายนอกดูสง่าภูมิฐานมาก ตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอบาร็อค มีชื่อเรียกกันว่า Széchenyi Gyógyfürdő  สร้างขึ้นในปี1909 บนพื้นที่ราว6,220ตารางเมตร และเปิดบริการประชาชนตั้งแต่วันที่16 มิถุนายน1913  ผู้คนนิยมกันมาก จนเป็นนิสัยที่ต้องแวะเข้าไปแช่น้ำอาบน้ำแร่กันก่อนกลับบ้าน(เกือบ)ประจำวัน  จนต้องมีการขยับขยายในปี1927 การขุดเพื่อสร้างระบบทางเดินของน้ำไปยังสระใหม่ ทำให้ได้พบตาน้ำลึกใต้ดินอีกแห่งหนึ่งในบริเวณ อยู่ลึกลงไปใต้ดิน1256 เมตร มีปริมาณน้ำแร่พุออกจากใต้พื้นโลกประมาณ6ล้านลิตรทุกวัน น้ำแร่ที่นั่นมีอุณหภูมิคงที่ณ74ºC (น้ำจากตาน้ำแห่งแรก) และ77ºC(จากตาน้ำแห่งที่สอง) เจาะจงไว้ว่ามีเกลือแร่ที่ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูโรคที่เกี่ยวเนื่องกับกระดูกและข้อ อาการอักเสบเรื้อรังของกระดูกและข้อเป็นต้น ที่นั่นมีสระน้ำแร่ภายในอาคารถึง15สระ มีสระใหญ่กลางแจ้ง3สระ(ดูภาพข้างล่างนี้) แต่ละสระมีอุณหภูมิต่างกัน มีส่วนประกอบของเกลือแร่ในน้ำต่างกันด้วย นอกจากสระน้ำยังมีห้องอาบน้ำด้วยระบบท่อน้ำที่ฉีดไปรอบตัว หรือแบบฝักบัว หรือแบบนั่งให้น้ำนวดตัว(jacussi) มีห้องอบไอน้ำและบริการนวดตัวอย่างครบวงจร สระน้ำมีทั้งสระรวมและสระน้ำเฉพาะเพศหรือสระน้ำส่วนตัว ได้มีการศึกษาวิจัยคุณภาพของน้ำพุร้อนที่นั่น พบว่ามีส่วนประกอบของซัลเฟต คัลเซียม แมกนีเซียม ไบคาร์บอเนต และมีปริมาณกรดฟลูโอไรด์และกรดเมตาบอริคอย่างมีนัยยะสำคัญ สถานอาบน้ำแร่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดพยาบาลที่การแพทย์และระบบประกันสุขภาพของประเทศยอมรับ ประชาชนจึงเสียค่าเข้าไปใช้บริการน้อยมาก เป็นโชคอนันต์สำหรับพลเมือง เพื่อนชาวฮังการีบอกว่า ตั้งแต่เล็กๆแล้ว คุ้นเคยกับการไปอาบน้ำแร่ที่นั่นเป็นประจำหลังเลิกเรียน ไม่มีการปิดไม่ว่าวันใดสัปดาห์ใดฤดูใด จงดูตัวอย่างภาพข้างล่างนี้ ที่ถ่ายมาได้เฉพาะภายนอก (ผู้คนที่ไปใช้สถานอาบน้ำแร่นี้ นอกจากห้องแช่ส่วนตัว ทั้งหมดสวมชุดอาบน้ำ)    

ตรงบันไดมีมุมเล่นหมากรุก คนแช่น้ำแร่ไปเล่นหมากรุกไปด้วย
มีทั้งคนเล่นและคนเชียร์ เปิดไปดูภาพคนเล่นหมากรุกได้จากที่นี่
ประเทศฮังการีเป็นที่รวมตาน้ำใต้ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เมืองหลวงBudapest มีตาน้ำไม่ต่ำกว่า100 แห่ง จึงทำให้มีการสร้างสถานอาบน้ำแร่ทั่วไปในเมือง น้ำแร่ก็มีคุณภาพดีที่ช่วยการเยียวยารักษาโรคได้หลายประเภท ทั้งโรคกระดูกและข้อ โรคผิวหนังฯลฯ ผู้คนคุ้นเคยกับการไปอาบน้ำแร่ตามสถานที่เหล่านั้น เฉพาะที่กรุงBudapest มีสถานอาบน้ำแร่ที่เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่สง่างาม ไม่ต่ำกว่า10แห่ง เกือบทั้งหมดขึ้นบัญชีเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตรืประจำชาติ  Budapestเป็นเมืองหลวงแห่งเดียวในโลกที่มีน้ำพุร้อนอยู่ใต้พื้นกลางตัวเมืองเลย ดังตัวอย่างที่นำมาให้ชมจากวังน้ำแร่ขนาดใหญ่ที่สุดของฮังการีและของโลก (ดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานอาบน้ำแร่ที่เมืองBudapest ได้ที่นี่ http://visitbudapest.travel/activities/budapest-baths/ )
ภาพมุมสูงนี้เป็นลิชสิทธิ์ดังระบุไว้ในวิกิพีเดียดังนี้ 
This picture is © copyright Civertan Grafikai Stúdió (Civertan Bt.), 1997-2006.;
ลงเผยแพร่วันที่28พฤศจิกายน2008 ดูที่ http://www.civertan.hu/

สโซ ผู้ปฏิวัติจิตสำนึกของยุโรป
        บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการเบนชีวิตความเป็นอยู่และความนึกคิดของชาวยุโรปทั้งทวีปตลอดทั้งศตวรรษที่18 คือ รุสโซ(Jean-Jacques Rousseau, 1712-1778)   รุสโซเป็นนักเขียนและนักปราชญ์เกิดที่เมืองเจนีวาประเทศสวิสเซอแลนด์  บทเขียนของเขาเช่น Discours sur l'origine de l'inégalité (1755) เกี่ยวกับรากเหง้าของความไม่เสมอภาคที่ปูทางสู่การปฏิวัติทางการเมืองและสังคมในปี1789.เรื่อง Julie, ou La Nouvelle Héloïse (1761) เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของการดำเนินชีวิตที่คล้อยตามวิถีแห่งธรรมชาติ ปูทางไปสู่กระแสโรแมนทีซิซึมหรือจินตนิยมในวรรณกรรม.  เรื่อง Contrat social ควบคู่กับเรื่อง Emile ที่สอนให้รู้จักคิดทบทวนเกี่ยวกับค่านิยมที่ผิดๆที่คริสต์ศาสนาได้กำหนดให้ชาวคริสต์ยึดถือและปฏิบัติ รวมทั้งกระตุ้นให้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน ทั้งสองเล่มปูทางไปสู่พัฒนาการความคิดด้านการเมืองและสังคมสมัยใหม่ ถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นต้น  วงการศาสนาประณามงานเขียนของเขาอย่างรุนแรง เขาต้องหลบลี้หนีภัยเร่ร่อนออกไปจากวงสังคมระหว่างปี1765-1770.  รุสโซ ยังได้เขียนหนังสือเรื่อง Les Confessions (บทสารภาพ) แสดงข้อคิดและเจตนารมณ์ในสิ่งที่เขาเรียกร้องในสังคมเพื่อดึงคนออกสู่ธรรมชาติ เข้าใกล้ธรรมชาติและเรียนรู้วิถีแห่งธรรมชาติ นับเป็นนักเขียนผู้นำแนวหน้าที่เข้าถึงและรณรงค์ให้สำเหนียกถึงความเอื้ออำนวยของธรรมชาติในการอนุรักษ์ชีวิตคนให้คงอยู่ในความสุนทรีย์และด้วยความสงบสุขโดยถ้วนหน้า  หนังสือเล่มนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นบทเขียนที่เยี่ยมยอดที่ทะลุทะลวงไปถึงแก่นในจิตวิทยาของมนุษย์ด้วย และเป็นหนังสือที่ได้รวมบทรำลึกความทรงจำที่สวยงามต่างๆในชีวิตของรุสโซ  เป็นวิธีการเขียนที่นำไปสู่การเขียนอัตชีวประวัติสมัยใหม่  (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นหลังจากที่ รุสโซถึงแก่กรรมแล้วเท่านั้นและโดยเฉพาะในระหว่างปี1776  รุสโซได้ประพันธ์ Les rêveries du promeneur solitaire (ความฝันใฝ่ของคนเดินดินผู้อ้างว้างเป็นอัตชีวประวัติที่เน้นการพินิจพิเคราะห์สรรพสิ่ง ตามเนื้อผ้า  ผู้อ่านสามารถติดตามเข้าไปในกระบวนการตรึกตรองใคร่ครวญเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างของรุสโซอย่างใกล้ชิด  กระบวนการมองและการคิดของรุสโซกลายเป็นเอกลักษณ์ของสังคมยุคใหม่     
       การที่ต้องแจกแจงงานเขียนของ รุสโซสามสี่เล่มดังกล่าว ก็เพราะว่างานเขียนของเขาเป็นที่ติดตามกล่าวขวัญกันอย่างแพร่หลายไปทั่วทั้งยุโรป  ความคิดของรุสโซได้ไปเจาะจิตสำนึกและบีบหัวใจของปัญญาชนชาวยุโรปซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสปี1789ในที่สุด  ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่เป็นเพียงด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่ครอบไปทุกๆด้านทั้งสังคม เศรษฐกิจ วิทยาการ ศิลปะ ความคิดอ่านและความเป็นอยู่ เช่นในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของน้ำกับความสะอาด  รุสโซก็โจมตีคำสอนผิดๆของคริสต์ศาสนาที่ห้ามการอาบน้ำจนกลายเป็นการห้ามรักสวยรักงาม เพราะศาสนาเกรงว่าจะเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมที่เสื่อมทรามและตรึงคนให้หลงใหลกับรูปรสกลิ่นเสียงเป็นต้น   รุสโซประณามความสกปรกโสโครกในชีวิตประจำวัน สนับสนุนให้คนอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายและที่พักอาศัย เพื่อสร้างแนวโน้มให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์เป็นต้น

ระบบระบายและบำบัดน้ำเสียของกรุงปารีส
       ตั้งแต่ศตวรรษที่18 เป็นต้นมา ผู้มีเงินซื้อความสะอาดได้เต็มที่ และเริ่มเรียกร้องสิทธิการมีอากาศที่บริสุทธิ์ ถนนที่สะอาดไร้ขยะมูลฝอยหรือที่ไม่มีน้ำโสโครก น้ำเน่า น้ำเสีย น้ำขัง พวกเขาประท้วงการปล่อยน้ำเสียที่ไปท่วมนองบนพื้นถนน  ฝรั่งเศสต้องเริ่มปรับปรุงและวางระบบท่อระบายน้ำเสีย  กรณีที่ปารีส ได้ชื่อว่าเป็นระบบเครือข่ายที่กว้างที่สุดและสมบูรณ์เหมาะสมที่สุดกับความจำเป็นด้านสุขอนามัย  มีการขุดอุโมงค์ให้เป็นที่ติดตั้งระบบท่อระบายน้ำ ที่กระจายออกไปเป็นเครือข่ายต่อเนื่องกันอยู่ใต้พื้น เหมือนผังเมืองที่สองของกรุงปารีส  ทำหน้าที่สูบสิ่งโสโครกและน้ำเสียจากพื้นถนน และจากอาคารทั้งหลาย  อุโมงค์เครือข่ายเหล่านี้ วิวัฒน์และพัฒนาสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆและมีศักยภาพมากขึ้นๆ   ในปัจจุบันนอกจากทำหน้าที่สูบ ระบายและบำบัดน้ำเสีย  ยังเป็นที่ตั้งของท่อลำเลียงน้ำใช้  ท่อระบายอากาศ  ท่อชุมสายโทรเลขและโทรศัพท์เป็นต้น(20)  อุโมงค์เครือข่ายทั้งหมดของกรุงปารีสจึงเป็นที่ตั้งเครือข่ายงานบริการสาธารณะและงานบริการเฉพาะกิจอื่นๆ   
        ประวัติการระบายสิ่งโสโครกและบำบัดน้ำเสีย เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยการขุดคลองหรือทางน้ำที่เปิดโล่งในธรรมชาติเพื่อระบายน้ำเสียไปลงแม่น้ำ  ส่วนการสร้างและพัฒนาเป็นอุโมงค์เครือข่ายใต้ดินนั้นเป็นไปอย่างช้าๆติดต่อกันหลายศตวรรษ และในกลางศตวรรษที่19 เท่านั้นที่มีการศึกษาวิจัยเข้มร่วมกันระหว่างวิศวกรและนักอนามัย ที่รวมกันเป็นกลุ่มผู้บริหารจัดการโครงการเพื่อกำจัดและระบายสิ่งโสโครกและบำบัดน้ำเสียจนสำเร็จลุล่วงและใช้การมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพนี้กำกับว่าอยู่ในปี1858 เผยให้เห็นวิธีการสร้างอุโมงค์สำหรับการระบายน้ำเสียใต้พื้นของกรุงปารีสบริเวณถนนรัวยัล(Rue Royale)  จากปากท่อระบายน้ำริมทางเท้าลงสู่ท่อที่ติดตั้งขนานไปกับกำแพงอุโมงค์  พื้นที่ตรงกลางบางช่วงเป็นถนนทางเดินภายในอุโมงค์  บางช่วงเป็นลำคลองที่นำไปสู่แม่น้ำแซนหรือแม่น้ำสาขา  ส่วนบนถนนบริเวณถนนรัวยัลนี้  มีอาคารสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาซสิกที่เด่นสง่า(ตรงกลางภาพ) ซึ่งคือวัดมัดเดอแลน(Eglise de la Madeleine) เห็นเสาสูงแบบคอรินเธียนด้านหน้าอาคารและเรียงรายไปโดยรอบวัดทั้งหมด52 เสาแต่ละเสาสูง20 เมตร
        เอกสารทางการระบุไว้ว่า ในราวปี1200  พระเจ้าฟิลิปโอกุซต์ (Philippe Auguste, 1165-1223) ให้ปูพื้นถนนกรุงปารีสด้วยหิน และจัดทำร่องระบายน้ำไว้ตรงกลางพื้นถนน  ในราวปี1350 เริ่มขุดสร้างลำคลองระบายน้ำเสียสายแรกๆของปารีสเชื่อมไปลงที่แม่น้ำและขุดทำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี1618 ที่รวมถึงคลองระบายน้ำเสียวงแหวนล้อมรอบกรุงปารีส จึงเชื่อมลำคลองเล็กอื่นๆที่ไหลตรงจากกลางเมือง  ต่อมามีการสร้างซุ้มหลังคาทรงกลมคลุมเหนือลำคลองระบายน้ำเสียบางสาย และในปี1740 เท่านั้นที่ตูร์โกต์(Turgot หัวหน้าและผู้จัดการระบบท่อระบายน้ำเสียในตอนนั้น)ให้สร้างกำแพงกั้นสองฝั่งคลองระบายน้ำเสียวงแหวนของกรุงปารีส และต่อมาสร้างหลังคาทรงกลมคลุมปิดโดยตลอด  ระบบลำคลองและท่อระบายน้ำตลอดหลายศตวรรษนั้น ยังมิได้แก้ปัญหาด้านการอนามัยส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ  ในราวปี1772 สถาปนิกคนหนึ่งชื่อ ป๊าตต์(Patte) เสนอให้สร้างระบบลำคลองใต้พื้นแทนการขุดลำคลองหรือสร้างท่อระบายน้ำบนดิน แต่รัฐขาดงบประมาณและวัสดุก่อสร้างที่จำเป็น ทำให้ข้อเสนอของเขาถูกเก็บพับไป  การสร้างเครือข่ายระบายน้ำเสียจึงทำตามแบบเดิมต่อมาเรื่อยๆ 
        อีกประการหนึ่ง นโยบายที่ชาวฝรั่งเศสถือปฏิบัติเรื่อยมาตลอดหลายศตวรรษคือ ให้ทิ้งทุกอย่างลงในท่อระบายน้ำ (Tout à l’égout!)  ไม่เคยมีการขุดลอกหรือชะล้างทำความสะอาดลำคลองหรือท่อระบายน้ำกันเลย  เศษปฏิกูลทั้งหลายทั้งปวงสะสมจนกลายเป็นคันกั้นน้ำในลำคลองหรือในท่อ ไปหยุดหรือชะลอการไหลของน้ำเสีย บางทีทำให้เครือข่ายบางตอนอุดตัน  สิ่งโสโครกที่ทับถมกันย่อมเน่าบูดส่งกลิ่นเหม็นและเพิ่มมลพิษในอากาศ  จนถึงกลางศตวรรษที่19 น้ำจากพื้นถนนในเมืองและจากอาคารทั้งหลายนั้นไหลไปตามธรรมชาติ คือไหลลงที่ต่ำกว่า สู่ลำคลองหรือท่อระบายน้ำ  และเมื่อคลองหรือท่อตัน ฝนตกแม้เพียงครั้งเดียว น้ำเสียก็ท่วมล้นเจิ่งนองบนถนน พื้นถนนเสียหายมาก สภาพเมืองก็ทรุดโทรม  จนถึงราวปี1830 ถนนทางรถวิ่งเจาะเป็นร่องยาวไปตลอดพื้นตรงกลางถนนสำหรับรองรับน้ำเสียหรือน้ำฝน  หากมีน้ำเจิ่งนอง พาหนะแบบต่างๆที่สัญจรไปมาบนถนนเช่นรถม้าและรถยนต์ ทำให้น้ำเสียกระเด็นออกไปทุกทาง ไปถูกคนเดินเท้า ถูกร้านค้าทั้งหลายที่ตั้งอยู่ริมถนน เป็นที่เบื่อหน่ายโกรธเคืองกันไปทั่ว  ไม่ว่าใครในยุคนั้นต่างเคยรู้สึกโมโหอารมณ์เสียเพราะถูกน้ำเสียกระเด็นใส่ตัวหรือเสื้อผ้าขณะเดินไปมาบนถนนในปารีส ทำให้สกปรกมอมแมม ต้องกลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า  
        วิศวกรเอ็มม์รี(Emmery) เป็นคนแรกที่เข้าใจว่าจำเป็นต้องมีการทำปากท่อระบายน้ำเสียริมทางเท้า และปิดร่องน้ำเสียตรงกลางถนนแล้วปรับเปลี่ยนให้พื้นถนนลาดลงสองข้าง  เช่นนี้น้ำก็ไหลลงไปสู่ปากท่อระบายน้ำริมทางเท้าไปยังท่อระบายน้ำเสียที่วิศวกรดูโล(Duleau)และจีรารด์(Girard) สร้างขึ้นรองรับเพื่อนำน้ำเสียจากถนนในเมืองตรงไปลงแม่น้ำแซน
        ตั้งแต่ปี1850 เท่านั้นที่เครือข่ายท่อระบายและบำบัดน้ำเสียของปารีสพัฒนารุดหน้า เป็นยุคที่บารงโอซมานน์(Baron Haussmann) เข้าเป็นผู้บริหารเมืองปารีส และวิศวกรเออแจน เบ็ลกร็อง(Eugène Belgrand) เข้ารับหน้าที่บริหารจัดการระบบระบายน้ำเสีย  เบ็ลกร็องให้ความสำคัญแก่การอนุรักษ์ทางระบายน้ำเสียที่มีอยู่ก่อน ด้วยการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นแทนการปิดท่อเก่าเหล่านั้นลง  ในยุคโอซมานน์ การบริหารจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้มาสู่ปารีสก็มีประสิทธิผลมากขึ้นตามลำดับด้วย  เกิดเครือข่ายคู่ขนานสำหรับการกระจายน้ำไปทั่วปารีส สายหนึ่งเป็นเครือข่ายของน้ำที่ดื่มได้ และอีกสายหนึ่งเป็นเครือข่ายของน้ำที่ดื่มไม่ได้ 
        ในปี1851 วิศวกรมีลล์(Mille) แทนการใช้ท่อน้ำทรงกลม ได้นำท่อน้ำทรงรีแบบไข่จากอังกฤษมาใช้ และใช้ต่อมาทั่วไปในฝรั่งเศส  ทางการพยายามคัดค้านเพราะความหนาของท่อไม่มากนักทำให้มีข้อกังขาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการสร้างและการใช้  แต่ไม่ช้าต่อมาก็ต้องยอมรับ  ความจริงแล้วท่อรูปทรงรีนี้ให้พื้นที่ภายในท่อกว้างกว่าท่อสี่เหลี่ยมและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น วิศวกรคนอื่นๆก็ใช้อย่างต่อเนื่องสืบมา  นวัตกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เริ่มขึ้นในยุคนี้ คือการประดิษฐ์ระบบขัดถูอัตโนมัติ (curage automatique) เพื่อล้างท่อระบายน้ำเสีย  เบ็ลกร็องได้ให้สร้างตู้ทำความสะอาด(wagons-vannes)แบบขับเคลื่อนไปมาบนรางและทำหน้าที่ขัดล้างไปตามเส้นทางย่อยๆภายในอุโมงค์ระบายน้ำ  และให้สร้างเรือขัดล้าง(bateaux-vannes)สำหรับใช้บนเส้นทางลำเลียงน้ำเสียสายใหญ่หลักๆ  
        กฎระเบียบฉบับลงวันที่26 เดือนมีนาคม1852 บทที่6  ระบุว่า สิ่งก่อสร้างใหม่ใดก็ตามที่สร้างขึ้นบนถนนสายใดที่มีระบบท่อระบายน้ำเสียแล้ว ต้องติดตั้งระบบระบายน้ำเสียใต้พื้นด้วย สำหรับอาคารเก่าที่มีอยู่ก่อน ก็ต้องบูรณะติดตั้งระบบท่อระบายน้ำเสียให้แล้วเสร็จภายใน10ปี   อีกฉบับหนึ่งลงวันที่19 ธันวาคม 1854 ระบุว่า เจ้าของที่ดินเจ้าของอาคารทุกแห่ง ต้องสร้างระบบท่อระบายน้ำเสียเป็นเครือข่ายใต้พื้นเพื่อนำส่งน้ำเสียบนพื้นที่ส่วนตัวไปยังท่อระบายน้ำเสียสาธารณะ เพื่อให้ทุกอย่างสอดคล้องกันตามนโยบายรวมของการบริหารจัดการเรื่องน้ำเสีย  เบ็ลกร็องให้สร้างระบบสูบน้ำขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะเมื่อมีการรวมดินแดนรอบนอกที่เป็นชนบทของปารีสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงปารีสในปี1860 น้ำเสียของชานเมืองจึงไหลมารวมในเครือข่ายน้ำเสียของปารีสและทั้งหมดไหลลงสู่แม่น้ำแซน 
        นอกจากเรื่องการระบายและบำบัดน้ำเสีย เบ็ลกร็องยังได้รับมอบหมายให้ค้นหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้นอกเหนือปริมณฑลของเขตหินยิปซัมที่ล้อมรอบกรุงปารีส  ให้หาแหล่งน้ำจากที่สูงกว่าและที่มีมากเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของชาวกรุงปารีส  อนุสนธิจากการค้นหาแหล่งน้ำดังกล่าว ในปี1865 น้ำจากแดนดุยส์(Dhuys) จึงถูกลำเลียงเข้าไปใช้ในปารีส เป็นจำนวนถึง20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน  สิบปีต่อมา มีการนำส่งน้ำจากวานน์(Vanne) เข้ามาใช้ในปารีสอีกเป็นปริมาณ120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เช่นนี้ทำให้ปารีสมีน้ำดื่มน้ำใช้เพิ่มเป็น350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และในปี1913 ปารีสมีน้ำดื่มน้ำใช้โดยเฉลี่ย990,636 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 
        จนถึงปี1881 ภายในท่อระบายน้ำหลายแห่งที่ไม่มีแนวลาดชัน ทรายหรือสิ่งปฏิกูลทับถมกันเป็นคันสูงกั้นน้ำไว้  ตอนนั้นเจ้าหน้าที่จะกักน้ำเสียไว้ใกล้ที่ตรงนั้นและวันหนึ่งก็ปล่อยปริมาณน้ำที่กักไว้ออกอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดแรงผลักดันสูง ดันสิ่งโสโครกที่กักกั้นไว้ออกไปได้  แต่การทำเช่นนี้มีผลข้างเคียงที่ไม่สะดวกนัก คือมีอันตรายได้และทำให้การหมุนเวียนของน้ำภายในท่อหยุดชะงัก เนื่องจากท่อถูกน้ำที่ปล่อยให้ไหลออกฉับพลันนั้นกลบมิด  ทำให้เกิดเชื้อโรคระบาดได้เพราะน้ำเสียถูกกักขังไว้ณที่นั้นนานวัน ทั้งยังอาจทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ใต้พื้นได้ด้วย  เพื่อแก้ไขความไม่สะดวกต่างๆที่อาจเกิดตามมา ฝ่ายบริหารจัดการได้สร้างอ่างเก็บน้ำสะอาดตั้งอยู่บนส่วนสูงของท่อระบายน้ำเสีย  อ่างเก็บน้ำนี้มีเครื่องปล่อยน้ำอัตโนมัติให้ไหลออกวันละหลายๆครั้ง  เช่นนี้เท่ากับได้ใช้น้ำสะอาดนั้นชะล้างภายในระบบท่อระบายน้ำเสียไปด้วย  น้ำสะอาดนี้ให้ประโยชน์อื่นอีก เช่นช่วยขับอากาศภายในท่อระบายน้ำเสียออกและเปลี่ยนอากาศภายในให้ดีขึ้น  ปลายปี1889 มีอ่างเก็บน้ำสะอาดดังกล่าวจำนวน892แห่งที่ใช้งานได้ดี 
        สำหรับท่อระบายน้ำเสียที่ปกติมีทรายปนเป็นจำนวนมาก ให้ติดตั้งภาชนะพิเศษขนาดใหญ่ใต้ทางน้ำเสีย  ภาชนะใหญ่เหล่านี้ทำหน้าที่กรองกากและสิ่งปฏิกูลต่างๆจากน้ำเสีย  คนงานจะยกภาชนะกรองสิ่งโสโครกแบบนี้ออกหลายครั้งในหนึ่งสัปดาห์  การกรองน้ำเสียแบบนี้ทำต่อไปจนถึงปลายปี1889 
        ในระหว่างปี1890-1897 มีการสร้างและบูรณะเครือข่ายระบายน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง  และยกเลิกการปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างลงสู่แม่น้ำแซน ไม่ว่าจะภายในตัวเมืองหรือทางเหนือนอกชานเมืองก็ห้ามทำ  รายละเอียดและที่ตั้งของระบบท่อระบายน้ำที่รวมกันเป็นกลุ่มๆในเขตต่างๆของกรุงปารีสนั้น  สามารถอ่านได้ในอินเตอเน็ตที่ http://www.egouts.tenebres.eu/historique-01.php (เป็นภาษาฝรั่งเศส)  ส่วนเครือข่ายอุโมงค์ระบายน้ำใต้พื้นกรุงปารีสนั้น เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นตัวอย่างได้บางส่วนที่กรุงปารีส ตรงสะพานอัลมา มาร์โซ(Alma-Marceau) เรียกกันว่า Les égouts de Paris [เลเซกูต์ เดอ ปารีส์]  ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในแง่ของวิศวกรรมการก่อสร้าง  มีเจ้าหน้าที่นำทางและอธิบายวันละหลายรอบ   
        ในยุคนี้อีกเหมือนกันที่มีการปฏิรูปผังเมืองซึ่งเป็นตัวอย่างและแบบฉบับของประเทศอื่นๆในยุโรปตั้งแต่นั้น  นั่นคือมีการขุดย้ายทรากศพ ย้ายสุสาน งดการฝังศพภายในบริเวณวัดหรือใต้พื้นโบสถ์  ยกเลิกประเพณีาปนกิจตลอดจนการฝังศพที่เคยปฏิบัติกันมาภายในตัวเมืองร่วมพันกว่าปี(21)  เหตุผลที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ว่าสุสานเป็นแหล่งกระจายกลิ่นที่ไม่ดีแหล่งหนึ่ง  มีการจัดตั้งสุสานใหม่นอกเมือง นอกปริมณฑลของที่อยู่อาศัย สำหรับหัวเมืองและหมู่บ้านอื่นๆให้ใช้พื้นที่นอกเมืองบนฝั่งถนนก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเป็นต้น  ตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมาในฝรั่งเศส สุสานเป็นจุดเริ่มต้นของปริมณฑลของชุมชนหรือของเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อขับรถออกไปต่างจังหวัด  หากเห็นสุสานก็หมายความว่าถึงเมืองหนึ่งแล้ว
      ประวัติการอาบน้ำในฝรั่งเศสไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะแม้ในเรื่องความสะอาดและการมีน้ำอาบน้ำใช้ก็เป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง  ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเท่านั้นแต่เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคและเสรีภาพทางการเมือง ศาสนา ความเป็นอยู่ เพื่อขอความเป็นธรรมในการมีปัจจัยชีวิตพื้นฐานฯลฯ   ถ้าเรารวบรวมเอกสารด้านการอนามัย ด้านเครื่องสำอาง ดูรายละเอียดสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชนชั้นผู้ดีมีเงิน วิเคราะห์ดูวรรณคดี จิตรกรรมหรือแบบสถาปัตยกรรมแห่งยุค เราจะได้บรรณานุกรมที่สมบูรณ์ที่สุดที่สะท้อนให้เห็นชีวิต ค่านิยมและวิสัยทัศน์ของชนชาวฝรั่งเศส และเผยให้เห็นความกดดัน ความทุกข์ทรมานของประชาชาติส่วนใหญ่ที่เป็นเสมือนผืนผ้าสีมอๆดำๆ เนื้อหนาและหยาบกระด้าง ที่อยู่ข้างหลังฉากตระการตาบนเวทีละครแห่งชีวิตยุคนั้น ในบริบทนี้การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นในศตวรรษที่18  เป็นจุดระเบิดที่ไม่มีอะไรรั้งไว้อยู่.  

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็กเมื่อวันที่  ๒ เมษายน ๒๕๕๘.


สนใจอยากรู้เรื่องอื่นๆ เชิญเข้าไปเลือกอ่านได้ที่นี่ >>     
http://chotirosk.blogspot.com/2016/01/link-to-my-two-blogs.html

เชิงอรรถ

(1) บทความนี้ได้นำบางตอนจากบทความชื่อ  จากน้ำสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ลงพิมพ์ในวารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครินทรวิโรฒ ฉบับปี 2542/1999  หน้า12-23

(2) เราอาจสรุปสั้นๆเกี่ยวกับสงครามครูเสดว่า เป็นสงครามศาสนา การใช้ชื่อ ครูเสด เพราะทหารฝ่ายคริสต์มีเครื่องหมายกากบาทปักบนเสื้อคลุมตัวนอกทุกคน อันเป็นสัญลักษณ์ของไม้กางเขน ของการที่พระเยซูถูกตรึงจนตายบนไม้นั้น ไม้กางเขนในภาษาละตินคือ crux, crucis ซึ่งออกเสียงว่า ครูซิส 
    สงครามครูเสดเริ่มขึ้นในปีคศ.1095 เมื่อสันตะปาปาอุรแบ็งที่สอง (Urbain II) ประกาศเชิญชวนชาวคริสต์จากทุกดินแดนให้มาร่วมกันเพื่อไปกู้ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แหล่งเนิดของศาสนา  จุดหมายของการไปสงครามครูเสดครั้งที่หนึ่ง คือการไปกู้ดินแดนที่เคยเป็นสุสานของพระเยซูที่เมืองเยรูซาเล็มที่ตกไปอยู่ใต้การควบคุมของพวกอิสลามชาวเติร์กเผ่าเซ็ลด์จูกิดส์ (Seldjoukides) ตั้งแต่ปีคศ.1076  กองทหารอาสาสมัครชาวคริสต์ได้เดินทางไปปราบปรามและขับไล่ชาวอิสลามออกจากเมืองเยรูซาเล็มจนได้ในปีคศ.1099 หลังจากที่กองทหารอาสาชาวคริสต์กลับมาในยุโรป  มีการรวมกำลังเพื่อไปสงครามครูเสดอีกต่อมาจนถึงปีคศ.1291 รวมทั้งสิ้นเก้าครั้งสำคัญๆ กองทหารฝ่ายคริสต์มิได้เป็นผู้ชนะเสมอไป

(3) เดวิดมีชีวิตอยู่ในราวปี1000-972 ก่อนคริสตกาล เล่าไว้ในคัมภีร์เก่าในเล่ม I Samuel, XVI - I Rois, II  เป็นเด็กเลี้ยงแกะ ลูกชายของแจสซี (Jesse หรือ Jessé ชาวเมืองเบ็ธเลเฮ็ม  แจสซีปรากฏในจิตรกรรมตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่12 ในเนื้อหาของ Tree of Jesse หรือ Arbre de Jessé  คือต้นไม้แสดงตระกูลและเชื้อสายของพระเยซู และที่ต่อมาเป็นต้นแบบของ family tree ในต้นไม้ของแจสซีนี้ ที่ฐานหรือโคนต้นไม้คือแจสซี แตกเป็นกิ่งก้านขึ้นไปถึงกษัตริย์เดวิด กษัตริย์โซโลม็อน จนถึงพระเยซู  ต้นไม้ของแจสซีนี้เป็นเนื้อหาสำคัญเนื้อหาหนึ่งในคริสต์ศิลป์ เพื่อแสดงให้เห็นว่า บรรพบุรุษของพระเยซูเป็นกษัตริย์ชาวอิสราเอลมาแล้ว)  กษัตริย์เดวิดรู้จักกันว่าเป็นผู้ดีดพิณได้ไพเราะเพราะพริ้ง เสียงดนตรีที่เดวิดเล่นเคยคลายความคลุ้มคลั่งของกษัตริย์ซาอุล(Saül) ผู้เป็นกษัตริย์องค์แรกของชาวอิสราเอล  ภาพลักษณ์ของกษัตริย์เดวิดจึงมักถือพิณในมือหรือมีพิณเป็นองค์ประกอบด้วยเสมอ  นอกจากนี้ในตำนานยังเล่าถึงว่า เดวิดฆ่ายักษ์โกไลแอธ(Goliath) ผู้ล่ำสันเก่งกล้าจากแดนฟิลิซไตน(Philistine เป็นดินแดนส่วนหนึ่งในปาเลสไตนยุคโบราณ) ที่มารุกรานชาวอิสราเอล แต่ไม่มีใครสามารถเอาชนะยักษ์ตนนี้ได้  เดวิดรับอาสาไปฆ่าโกไลแอธ  เขาใช้หนังสติ๊กยิงก้อนหินตรงเข้าปะทะหน้าผากของยักษ์ ยักษ์ล้มลงหมดสติ เดวิดรี่เข้าไปปีนขึ้นตัวยักษ์และเฉือนคอยักษ์ได้  เดวิดได้แต่งงานกับลูกสาวของกษัตริย์ซาอุลชื่อมิชอล(Michol) เดวิดประสบความสำเร็จมากในชุมชนชาวอิสราเอลและมีชัยชนะในสงครามระหว่างชนเผ่าทุกครั้ง จนกษัตริย์ซาอุลเกิดอิจฉาริษยาและกลัวเขาขึ้นมาในใจ จึงหาทางกำจัดเดวิดแต่ลูกชายของซาอุลผู้รักใคร่ชอบพอเดวิดแอบบอกแผนฆ่าของพ่อ  เดวิดจึงหนีออกไปเร่ร่อนในทะเลทราย มีกลุ่มผู้ติดตามเขาไปด้วย ผจญภัยประเภทต่างๆ มีชื่อเสียงและผู้คนเข้าไปร่วมกลุ่มมากขึ้นๆ  เช่นสู้กับสิงโต สามารถเอาชนะสิงโตได้ (ในจิตรกรรมมีภาพแสดงเดวิดกำลังง้างปากสิงโต กระชากกรามสิงโตออกจากตัว) ต่อมาเมื่อกษัตริย์ซาอุลและลูกชายถูกฆ่าในสงคราม ชาวอิสราเอลเลือกเดวิดให้เป็นกษัตริย์ของชาวจูดาและต่อมาเป็นกษัตริย์ของชาวอิสราเอลทั้งหมด  เดวิดสถาปนาเมืองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง

(4) จิตรกรหลายคนเสนอภาพบาธชีบาสรงน้ำ เช่น ราฟาเอล(Raphael จิตรกรอิตาเลียน) หรือเร็มบร็องท์(Rembrandt จิตรกรฮอลแลนด์)เป็นต้น  และอีกหลายคนเสนอภาพซูซานสรงน้ำ(Suzanne) เช่นตินตอเร็ตโต (Tintoretto จิตรกรอิตาเลียน) หรือเร็มบร็องท์เป็นต้น 

(5) ในเทพตำนานกรีกก็มีกรณีที่รู้จักกันดีคือ อัคเทโอน(Aktaiôn) พรานจากเมืองธีบซ์(Thebes หรือ Thêbai ในภาษากรีก) ได้แอบเห็นเทพอาร์ทีมิส(Artemis)อาบน้ำเปลือยกาย  ถูกเทพท้าวเธอจับได้และถูกแปลงร่างเป็นกวาง ในที่สุด อัคเทโอนถูกสุนัขล่าเนื้อของเขาเองรุมกัดจนตาย 

(6) ตำนานเกี่ยวกับสระน้ำหรือน้ำพุแห่งชีวิตหรือน้ำพุอายุวัฒนะ มีปรากฏในทุกยุคทุกสมัยในทุกชุมชนตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาที่ใฝ่หายาอายุวัฒนะที่ช่วยให้พวกเขาพ้นการเกิดแก่เจ็บตาย  เช่นในงานประพันธ์ของเฮโรโดตุซ(Herodotus, Book III : 22-24  เขามีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่5ก่อนคริสตกาล เป็นนักประวัติศาสตร์กรีก ถือว่าเป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกของโลก)  เขาเล่าถึงน้ำพุวิเศษสุดบนดินแดนของชาวเอธิโอเปีย ที่ทำให้ชาวเมืองมีอายุยืนนานเกินอายุขัยปกติ   เรื่อง น้ำแห่งชีวิต นี้ปรากฏเล่าไว้ในฉบับของเปอเชียเรื่อง Alexander Romance (นิยายผจญภัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช) ที่เล่าว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชพร้อมคนนำทางคนหนึ่งชื่ออัลคีดร์(Al-Khidr ผู้รู้และปราชญ์ชาวเปอเชีย)เพื่อค้นหาน้ำพุวิเศษ  ได้ออกเดินทางข้ามดินแดนแห่งความมืดเบื้องหลังจุดตกของดวงอาทิตย์ในน่านน้ำตะวันตก  อีกตำนานหนึ่งระบุว่าดินแดนแห่งความมืดมีแม่น้ำแห่งชีวิตไหลหล่อเลี้ยง ต้นน้ำอยู่ในภาคเหนือใต้ดาวเหนือ  ทั้งสองไปถึงทางสองแพ่งและแยกออกไปคนละทาง อัลคีดร์พบแม่น้ำแห่งชีวิตโดยบังเอิญเมื่อหยุดพักกินข้าว ปลาเค็มที่เขานำติดตัวไปเป็นอาหาร ตกลงในแม่น้ำและกลับมีชีวิตว่ายน้ำไป ทำให้เขารู้ว่าเขาพบแม่น้ำวิเศษและดื่มน้ำจากแม่น้ำนั้น จึงกลายเป็นผู้ไม่รู้ตาย  ส่วนอเล็กซานเดอร์เดินทางไปด้วยความมุ่งมั่นปรารถนาแต่ไม่พบ ได้เก็บหินจากเส้นทางบนดินแดนแห่งความมืด ต่อมาพบว่าหินก้อนที่เก็บมานั้นเป็นเพชรพลอยมีค่า  มีคำพูดกล่าวไว้ว่า อเล็กซานเดอร์ค้นหาและไม่พบสิ่งที่เขาต้องการยิ่ง แต่อัลกีดร์ได้พบสิ่งวิเศษโดยที่เขามิได้ค้นหา  แม่น้ำแห่งชีวิตอาจตีความได้ว่าเป็นความเมตตาล้ำเลิศของพระผู้เป็นเจ้าแบบหนึ่ง เพราะแม่น้ำแห่งชีวิตที่แท้จริงคือความรู้ความเข้าถึงในพระผู้เป็นเจ้า ในคำสอนของพระองค์    นิยายผจญภัยของอเล็กซานเดอร์เป็นที่รู้จักกันดีในสเปนในยุคที่ชาวอาหรับมัวร์เข้ายึดครองสเปน เนื้อหาของแม่น้ำแห่งชีวิตผนึกแน่นในจินตนาการของผู้สำรวจโลกใหม่ด้วย ทำให้มีการค้นหาน้ำวิเศษเมื่อไปในโลกใหม่(ทวีปอเมริกา)  ตัวอย่างหนึ่งที่เมืองเซ็นต์ออกัสติน(St. Augustin) ในมลรัฐฟลอริดา นักสำรวจชาวสเปนชื่อเปโดร เมเน็นเดธ เด อาวีเลซ (Pedro Menendez de Aviles) เขาได้ตั้งอาณานิคมยุโรปแห่งแรกในทวีปอเมริกาในปี 1565 และกลายเป็นนิคมที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วย ที่รู้จักกันในนามของ Fountain of Youth Archaeological Park (สวนโบราณคดีแห่งน้ำพุอายุวัฒนะ)  ในอินเดียก็มีตำนานที่เล่าถึงน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พบที่เชิงเขานอกเมืองKollam.  ในประเทศอื่นๆก็เช่นกัน เช่นในหมู่เกาะ Bahamas [เบอฮ้าเมิส] นอกฝั่งประเทศคิวบาในมหาสมุทรแอตลันติกเหนือ นักมายากลชาวอเมริกันเดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ (David Copperfield) ได้ซื้อเกาะ11 เกาะในกลุ่มเกาะเอ๊กซูมา(Exuma ที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Bahamas)ในปี 2006 เขาได้ค้นพบแหล่งน้ำที่มีคุณสมบัติพิเศษมาก และได้จ้างนักวิทยาศาสตร์ทำวิจัยเกี่ยวกับน้ำที่นั่น

(7) เช่นกรณีที่ยาเวพระเจ้าสั่งให้โมเสสหล่ออ่างน้ำทองสัมฤทธิ์พร้อมฐาน ให้บรรจุน้ำและนำไปตั้งระหว่างกระโจมของยาเว(เป็นกระโจมศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบพิธีบูชายาเวและยาเวมาปรากฏตัวภายในกระโจมนี้) กับแท่นบูชาของอารง(Aaron) (พี่ชายของโมเสส เป็นพระองค์แรกของชาวฮีบรู)  ผู้ที่มีโอกาสเข้าไปพบยาเวในกระโจมศักดิ์สิทธิ์ต้องล้างมือและเท้าที่อ่างน้ำทองสัมฤทธิ์นั้นก่อน มิฉะนั้นจะถูกเผาเป็นจุณทันทีที่แหวกกระโจมเข้าไป(Exode 30,17) เพราะเหมือนเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า สู่วงรัศมีของพระองค์  สามัญชนผู้ไม่บริสุทธิ์ย่อมทานอานุภาพของยาเวไม่ได้ 

(8) ในบทกวีนิพนธ์ฝรั่งเศสยุคกลางเรื่องม็องเดอลาโรส(Roman de la Rose  แต่งขึ้นในราวปี1237) เนื้อหาสานเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างศรัทธาในศาสนา  อุดมการณ์อัศวิน  สวนและอารมณ์รักใคร่  หนังสือเล่มนี้กระตุ้นจินตนาการเกี่ยวกับขุมทรัพย์ที่ปิดซ่อนอยู่ภายในกำแพงเมืองและภายในรั้วสวน   ผู้รู้จักอ่านได้รู้วิธีเกี้ยวพาราสีและวิธีครองใจสตรี ในสำนวน เด็ดดอกกุหลาบ-plucking the rose” ที่ใช้ในเรื่องนี้  ในยุคกลางสัญลักษณ์ศาสนาสิงและอิงแอบอยู่ในรูปลักษณ์ที่สื่อความรักความใคร่  ศาสนาและอารมณ์รักใคร่ดูจะควบคู่กลมกลืนกันดี  เปรียบได้กับความงามของดอกไม้ที่เข้าจับจิตวิญญาณได้ลึกซึ้งกว่า  นักวิจารณ์ต่างเห็นตรงกันว่า หนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนยุคกลางอย่างมิมีอะไรเทียบได้ ยุคนั้นสภาพการณ์สังคมมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการสร้าง สวนรัก ดังกล่าว ซึ่งมักอยู่ใกล้ปราสาท ในเมืองหรือตามอารามนักบวช) มีบทพรรณนาหลายตอนเกี่ยวกับความสุขสนุกสนานของชายหญิงที่ลงอาบน้ำด้วยกันในอ่างน้ำใหญ่ แล้วขึ้นมานอนพักและทานอาหาร ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงค่านิยมในยุคศตวรรษที่13 ซึ่งผนวกการอาบน้ำกับการกินเลี้ยงและความรักที่เป็นการสมาคมแบบหนึ่งอย่างเปิดเผย  ภาพวาดจากยุคนั้นแสดงให้เห็นว่าทั้งชายและหญิง แก่ หนุ่ม สาวหรือเด็กปะปนรวมอยู่ในฉาก อาบน้ำด้วยกันโดยไม่ตะขิดตะขวางใจ   ค่านิยมดังกล่าวเหมือนถ่ายทอดจินตนาการเกี่ยวกับความสุขสนุกสนานในสรวงสวรรค์อีเด็น  ในยุคเดียวกันนี้คณะบาทหลวงก็ให้จำหลักประติกรรมนูนต่ำเป็นฉากสรงสนานประดับโบสถ์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความลุ่มหลงในสิ่งยั่วยวนชนิดต่างๆ  ให้เป็นข้อคิดแก่เหล่านักบวชและคริสต์ศาสนิกชน  ทัศนคตินี้ยังเป็นเนื้อหาสำคัญในจิตรกรรมยุคศตวรรษที่15 ถึงต้นศตวรรษที่16  เช่นจิตรกรรมชื่อดังของบ้อสช์ (Hieronymus Bosch, 1450-1516 ชาวดัชต์) ได้นำเสนอ The Garden of Earthly Delights (สวนโลกีย์พิรมณ์) พร้อมฉากชายหญิงอาบน้ำสรงสนานกันในสระอายุวัฒนะ(Fountain of Youth)  ภาพของเขาเป็นที่รู้จักกันดีมากในวงการจิตรกรรมยุโรป  ปัจจุบันภาพดังกล่าวอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ มูเซโอ เดล ปราโด ในกรุงมาดริดประเทศสเปน (Museo del Prado, Madrid) 

(9) จอจส์ ดูบี (Georges Duby) เขียนไว้ในบทความเรื่องUne Histoire de la vie privée (ประวัติและพัฒนาการของชีวิตส่วนตัวของเอกบุคคล)  ดูบี เป็นนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญยุคกลาง ได้นำความรู้จากการวิจัยค้นคว้าของเขาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคกลางในยุโรปเพิ่มเป็นข้อมูลความรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวางสำหรับยุคกลางที่เคยถูกจำกัดความว่าเป็นยุคมืด ยุคล้าหลังเป็นต้น อันเป็นความเข้าใจที่ผิด

(10) รูดอฟสกี (Bernard Rudofsky, 1905-1988) ชาวอเมริกันเชื้อสายมอราเบีย  เป็นนักเขียน สถาปนิก นักสะสม อาจารย์ นักออกแบบและนักประวัติศาสตร์สังคม  ได้เขียนประวัติศาสตร์สังคมยุคกลางไว้ในบทความของเขาเรื่อง Interior Design (การออกแบบภายใน)

(11) กาฬโรคเคยระบาดแล้วในโลกโบราณ ดังเล่าไว้ในมหากาพย์อีเลียดและโอดิสเซของโฮเมอร์ และในคัมภีร์เก่า แต่นักประวัติศาสตร์ถือคริสตกาลเป็นจุดยืน จึงบันทึกว่าตั้งแต่คริสตกาลมีกาฬโรคระบาดสามครั้งใหญ่ๆ 
ครั้งแรกเกิดขึ้นในศตวรรษที่6 และที่เรียกกันว่าเป็นกาฬโรคจุสติเนียน  ครั้งแรกนั้นระบาดไปในคาบสมุทรเมดิเตอเรเนียน  ประชาชนยุคนั้นตายเกือบทั้งหมด 
ครั้งที่สองอยู่ระหว่างปีคศ.1246-1353 เรียกกันว่าเป็น กาฬโรคดำ ครั้งนั้นเริ่มต้นที่ประเทศอินเดียแล้วแแพร่กระจายออกไปทั่วยุโรป  สถิติระบุว่าประชาชนล้มตายไปประมาณ 25ล้านคน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในยุคนั้น   หลังจากครั้งที่สอง ยังเกิดโรคระบาดอีกกระเซ็นกระสายเป็นแห่งๆที่นั่นที่นี่ในทวีปยุโรป เช่นที่เมืองเวนิสในอิตาลีระหว่างปี 1575-1577, ที่เมืองลียงในฝรั่งเศส (Lyon)ในปี1628, ที่เมืองนีเมเก็น (Nimeguen) ประเทศฮอลแลนด์ในปี1635, ที่กรุงลอนดอนในปี1665, ที่เมืองมารแซย (Marseille) ในฝรั่งเศสปี1720, ที่เมืองคอนสแตนตินโนเปิลในตุรกีในปี1839 และที่อีจิปต์ในปี1844 จึงได้ยุติลง
และครั้งที่สาม กาฬโรคปะทุขึ้นที่ฮ่องกงในปี1894 ที่นั่นเองที่นายแพทย์ A.Yersin ได้ค้นพบแหล่งกำเนิดของเชื้อโรค  สี่ปีต่อมานายแพทย์ P.L.Simond ได้อธิบายวิธีการแพร่เชื้อกาฬโรค ว่ามาจากหมัดและหนูที่อยู่ในเรือกำปั่นสมัยนั้นและเดินทางมากับเรือ นำเชื้อโรคไปยังเมืองท่าต่างๆบนเส้นทาง ทำให้เชื้อโรคขยายออกไปวงกว้าง จากฮ่องกงไปยังบอมเบย์ในอินเดียในปี1896 แล้วต่อไปถึงเมืองสุเอซ(Suez)ในปี1897 ถึงมาดากัสการ์ในปี1898 แล้ววกกลับมาที่เมืองอเล็กซานเดรียในอีจิปต์ และข้ามไปถึงเกาะญี่ปุ่น แอฟริกาตะวันออกและปอรตุกัลในปี1899  หลังจากปีนั้นก็ยังมีกาฬโรคระบาดต่ออีกที่เมืองมะนิลาในฟิลิปปินส์  เมืองซิดนีย์ในออสเตรเลีย  เมืองกลาสโกวบนเกาะอังกฤษ  เมืองซานฟรานซิสโกในปี1900 เงียบสงบไปหลายปีแล้วก็ปะทุขึ้นใหม่ในเมืองฮอนอลูลูในปี1908ที่เกาะชวาในปี1911 ที่เกาะลังกาในปี1914 และที่เมืองมาร์แซยในปี1920   
กว่าโลกจะรู้จักและเข้าใจต้นกำเนิดและการแพร่เชื้อของกาฬโรคนั้น เวลาผ่านไปสองพันปีกว่า  เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจนั่นเองที่ทำให้คนหวาดกลัวและสรุปว่ามันคือการลงโทษจากพระเจ้าเบื้องบน  สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งบนเส้นทางการระบาดของกาฬโรค คือทำให้เราได้รู้เส้นทางเดินเรือและการติดต่อระหว่างชนชาติต่างๆ (Britannica, vol.12. La peste. pp.846-8)    

(12) สามัญชนใช้ผ้าฝ้ายที่เคลือบเป็นมัน  ส่วนในหมู่ชนชั้นสูง ใช้ผ้าแท้ฟฟีเทอ (taffeta หรือ ตัฟตาส์ tatfetas ในภาษาฝรั่งเศส) เป็นผ้าบางแต่เนื้อแน่นและเงาเป็นมัน อันเป็นผลจากเทคนิคการทอผ้าไหมในประเทศจีน  จีนรู้จักการทอผ้าไหมมานานหลายพันปีก่อนคริสตกาลแล้ว  ชาวยุโรปได้เห็นผ้าแท้ฟฟีเทอจากตะวันออกกลางเมื่อไปสงครามครูเสด

(13) โทมัส แพล็ตเทอร์ (Thomas Platter the Younger, c. 24 July 1574-4 December 1628)  เป็นชาวสวิสโดยกำเนิด นักฟิสิกส์ นักเดินทางและผู้เขียนอนุทิน  บันทึกที่สำคัญที่สุดของชีวิตเขาคืออนุทินที่เขาเขียนอย่างต่อเนื่อง เป็นภาษาเยอรมันในระหว่างปี1596-1600  ที่ให้ข้อมูลว่าเขาเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เมือง มงเปลีเย่ (Montpellier)ในฝรั่งเศส และต่อมาได้เดินทางไปทั่วฝรั่งเศส สเปน แฟลนเดอร์และอังกฤษ  อนุทินของเขาให้รายละเอียดหลายแง่หลายมุมในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมปลายศตวรรษที่16 เช่น แพทย์ศาสตร์ที่รวมถึงการผ่าตัด ถนนหนทางและงานการ์นิวัลที่เมืองบาร์เซโลนาในสเปน โรงละครในยุโรปและการค้าขายทาสเป็นต้น 
บันทึกบทที่เด่นที่สุดเป็นตอนที่เขาเล่าถึงการไปลอนดอนในปี1599 กับพี่ชายต่างมารดาของเขา(Félix Platter) มีโอกาสได้เห็นชีวิตชาวเมือง ค่านิยม ความวุ่นวาย การตัดสินคดี ฯลฯในลอนดอน  เขาได้มีโอกาสไปดูละครที่โกล๊บเธียร์เตอร์ (Globe Theatre) ของเช็คสเปียร์  ได้บันทึกการไปชมการแสดงเรื่องจูเลียสซีซาร์(Julius Caesar) บันทึกเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ศึกษาเช็คสเปียร์ได้หลักฐานยืนยันและกำหนดวันเวลาที่เช้คสเปียร์แต่งบทละครเรื่องนี้

(14) ดู Francis Bacon, History of Life and Death. London, 1st Edition. 1623.

(15) เช่นบทละครล้อเสียดสีสังคมของปอล สการ์รน(Paul Scarron, 1610-1660) เรื่องเลอ โรม็อง โกมิค (Le Roman comique, 1651) พูดถึงการใช้น้ำทำความสะอาดของปากและฟันเพียงหนึ่งประโยค ในขณะที่ความสะอาดที่ผู้แต่งเน้นพรรณนาอย่างละเอียดลอออยู่ที่เสื้อผ้าที่สวมใส่ว่า ขาวที่สุดและหอมที่สุด

(16) ตัวอย่างค่าอาบน้ำในปี1787 ที่สถานอาบน้ำชื่อ เชส์-อัลแบร์(Chez Albert) ราคา 2 livres 8 sous (ลีวร์ -livre เป็นหน่วยชั่งน้ำหนักที่มีค่าเท่ากับน้ำหนักเงินหนึ่งปอนด์  และปอนด์เป็นเงินตราที่ใช้ในฝรั่งเศสสมัยนั้น  หนึ่งปอนด์ตอนนั้นเท่ากับ 20 ซูส์-sous ในทำนองที่หนึ่งเหรียญสหรัฐมีร้อยเซ็นต์)  ราคาค่าอาบน้ำที่ เชส์-เกญารด์ (Chez Gaignard) ราคา 3 livres 12 sous อัตรานี้เกือบเป็นสามถึงห้าเท่าของเงินค่าจ้างรายวันของคนงาน  อัตราที่ถูกที่สุดอยู่ที่ 20 sous ที่สถานอาบน้ำ เชส์-ตูรแก็ง (Chez Turquin) ถึงกระนั้นค่าอาบน้ำต่ำสุดก็ยังแพงเกือบสองเท่าของค่าแรงรายวัน (cf. Vigarello, p.171)  

(17) ตั้งแต่ศตวรรษที่19 ชนชั้นเศรษฐีมุ่งไปอาบน้ำทะเลกันเพื่อให้ร่างกายได้สัมผัสน้ำเค็ม  เป็นยุคที่แพทย์อนามัยค้นพบผลดีของการอาบน้ำทะเลและน้ำเย็น  ว่าช่วยรักษาบรรเทาโรค เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อและอวัยวะทุกส่วนทั้งภายในและภายนอก  การไปทะเลกลายเป็นกระแสนิยมในหมู่คนรวย  ส่วนในเมืองมีผู้บันทึกเล่าว่า กลางศตวรรษที่19 ครูพานักเรียนไปว่ายน้ำตามสถานอาบน้ำริมฝั่งแม่น้ำแซนในฤดูร้อนระหว่างเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม  ครูส่งเสริมให้เด็กว่ายน้ำมากกว่าการไปแช่น้ำเฉยๆ

(18) สถาปนิกผู้ออกแบบพระราชอุทยานแวร์ซายส์คือ อ็องเดร เลอโน๊ตร์ (André Le Nôtre, 1613-1700) ระหว่างปี1661-1668.

(19) ซาลงหรือ Salon เป็นนิทรรศการวิจิตรศิลป์ที่บัณฑิตยสภาสาขาวิจิตรศิลป์เป็นผู้จัดขึ้นในปี1725เป็นครั้งแรกและมีสืบต่อกันมาจนถึงปี1890  ในตอนแรกจัดทุกปี ต่อมาเปลี่ยนเป็นทุกสองปีโดยให้ตรงกับปีเลขคี่เป็นสำคัญ  นิทรรศการแบบนี้สำคัญต่อชีวิตและความสำเร็จของศิลปินทุกคน คณะกรรมการหรือลูกขุนผู้คัดเลือกงานที่จะนำออกแสดงประกอบด้วยศิลปินผู้เคยได้รับรางวัลมาแล้วในนิทรรศการดังกล่าว  อิทธิพลและคำตัดสินของคณะกรรมการเหมือนประกาศิตที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อวงการศิลปะในฝรั่งเศสและในโลกตะวันตกทั้งหมด เพราะตั้งแต่ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส นิทรรศการนี้เปิดโอกาสให้ศิลปินต่างชาตินำผลงานมาเข้ารับการพิจารณนาได้ เช่นกรณีของWhistler จิตรกรอังกฤษที่ถูกคณะลูกขุนปฏิเสธไม่ให้แสดงผลงานภาพชื่อ Symphony in White, no.1 : The White Girl  ปีเดียวกับที่ภาพปิคนิกบนสนามหญ้าของมาเนต์ถูกปฏิเสธ   จักรพรรดินโปเลียนที่สามเห็นว่าเพื่อแสดงจิตประชาธิปไตย ได้อนุญาตให้จัดตั้งนิทรรศการสำหรับผลงานทั้งหลายที่ถูก ซาลง ปฏิเสธ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้พิจารณนาวินิจฉัยเองว่า ผลงานที่ถูกปฏิเสธเหล่านั้นเป็นเช่นไร  จึงเกิดเป็น ซาลง เดส์ เรอฟูเซ่ส์ (Salon des Refusés) มีผู้คนเบียดเสียดกันไปดูซาลงหลังนี้แน่นขนัด  ลงานของศิลปินทั้งหลายที่นำไปแสดงในที่สุดได้กลายเป็น ผลงาน อาว็อง-ก๊าร์ด (avant-garde) ที่แปลกแหวกแนวจากขนบแบบแผนและที่นำไปสู่การรังสรรค์ศิลปะในแนวแปลกแนวใหม่ต่อๆมา รวมทั้งจิตรกรรมกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสซึมที่มีจิตรกรโมเนต์(Monet) เป็นผู้นำ

(20) ยกเว้นท่อส่งก๊าซ ท่อไฟฟ้าที่ส่งพลังงานและแสงสว่างที่มักติดตั้งเป็นส่วนๆใต้พื้นถนนหรือใต้พื้นทางเท้า

(21) ในปารีสยังมีสุสานอีกหลายแห่งที่ไม่ได้เคลื่อนย้ายศพออก เช่นที่สุสาน ซิมเมอตีแยร์ เดอ มงม้าตร์ (Cimetière de Montmartre), ซิมเมอตีแยร์ มงปาร์นาส (Cimetière Montparnasse), ซิมเมอตีแยร์ ดู แปร์ลาแช้ส(Cimetière du Père Lachaise)  เพราะสุสานทั้งสามแห่งนี้ถูกจัดในหมวดอนุสรณ์สถานและเป็นแบบสถาปัตยกรรมสุสานที่น่าสนใจเป็นข้อมูลของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นสวนร่มรื่นที่เปิดให้ชาวเมืองไปเดินเล่นและพักผ่อน จึงยังคงอยู่ภายในปริมณฑลของกรุงปารีส ดูรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุสานในกรุงปารีสได้ที่นี่ http://www.chotirosk.blogspot.com/2014/06/blog-post_17.html 
ส่วนสุสาน ป็องเต-อง (Panthéon) เป็นสุสานที่พักสุดท้ายของวีรบุรุษและบุคคลสำคัญๆของชาติในแขนงต่างๆ และโอเต็ล เดส์ แซ็งวาลีด (Hôtel des Invalides) ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่14เพื่อให้เป็นที่พักรักษาตัวของเหล่าทหารที่บาดเจ็บจากสงครามและกลายเป็นที่ประดิษฐานหีบศพของจักรพรรดินโปเลียนและมีพิพิธภัณฑ์ทหารที่รวบรวมแบบศิลปะการทหารและประวัติการทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

บรรณานุกรมที่น่าสนใจ

1.  Georges Bechmann. Distribution d’eau et assinissement. Tome second. Paris. Editions Baudry et Cie. 1899.

2. J. Mackenzie. Histoire de la santé ou de l’art de la conserver. La Haye. 1764, p. 172.

3. Philipe Perrot. Le travail des apparences : Le corps féminin XVIIe - XIXe siècle. Paris, Editions du Seuil, Mai 1984. Collection Histoire, H141.

4. C.A. Vandermonde. Essai sur la manière de perfectionner l’espèce humaine. Paris. 1756. t.II.

5. Georges Vigarello. Le propre et le sale : L’hygiène du corps depuis le Moyen Age. Paris, Editions du Seuil. Février 1985. Collection Histoire, H92.

6. ดูรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอุโมงค์ระบายและบำบัดน้ำเสียของปารีสได้ที่เว็ปไซต์ข้างล่างนี้ เนื้อหาย่อและปรับปรุงมาจากหนังสือ Assainissement des villes et égouts de Paris  ที่ A.Daverton เป็นผู้ประพันธ์ขึ้น หนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่ปารีส สำนักพิมพ์ Dunod ปี 1922. อ่านข้อมูลจากอินเตอเน็ตที่เกี่ยวข้องกันที่ http://www.egouts.tenebres.eu/historique-01.php

2 comments:

  1. เป็นบทความที่บูรณาการความรู้เกี่ยวกับเรื่องการอาบน้ำ การรักษาความสะอาด ที่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนชาวฝรั่งเศสแต่ละชนชั้นได้อย่างน่าสนใจ มาก บทความนี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้หลายเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ยังทำให้สนุกที่รู้อีกด้วยค่ะ

    ReplyDelete
  2. พิ่งมีเวลานั่งอ่าน ขอบคุณโชที่ขยันเขียนเล่าเรื่องที่น่าสนใจเหล่านี้ให้พวกเราได้อ่าน
    ทั้งภาพประกอบสวยๆและรายละเอียดของภาพด้วย
    ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากโชตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือจนถึงปัจจุบันนี้เลนะคะ

    ขอบคุณในความอุตสาหะที่หลังขดหลังแข็งเขียนให้ได้อ่านกันนะคะ

    ReplyDelete