Sunday, 3 May 2015

ไม้หลากหลายมิติ นิทรรศการที่สวนลุกซ็องบูร์ก กรุงปารีส

สวนลุกซ็องบูร์ก (le Jardin du Luxembourg) ใจกลางเมืองปารีส อยู่ในความดูแลของวุฒิสภา (Le Sénat ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.senat.fr/) สภานี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนลุกซ็องบูร์ก ที่เป็นสวนที่ใหญ่เป็นที่สองในกรุงปารีส รองจากสวน Les Tuileries [เล ตุยเลอรี] ดูเหมือนว่าจะเป็นสวนที่ชาวปารีสชอบมากที่สุดด้วย
(ประวัติสั้นๆเกี่ยวกับสวนนี้คือ เมื่อพระเจ้าเฮ็นรีที่สี่สิ้นพระชนม์, Henri IV 1553-1610, พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสามขึ้นครองราชย์สืบมา ในขณะนั้นมีพระชนม์เพียงเก้าชันษา พระนาง Marie de Medicis [มารี เดอ เมดีซีส] ผู้เป็นพระมารดาจึงเป็นผู้เป็นสำเร็จราชการแทนพระองค์  พระนางได้ย้ายพระราชฐานออกจากพระราชวัง le Louvre [เลอ ลูเวฺรอะ] และต้องการสร้างพระราชวังใหม่ตามสไตล์ของพระราชวังที่เมืองฟลอเรนซ์ประเทศอิตาลีอันเป็นบ้านเกิดของพระนาง และอยากให้มีสวนตามแบบสวน Boboli [บอโบ่หลิ](ที่เมืองฟลอเรนซ์) ด้วยความคิดถึงบรรยากาศและภูมิทัศน์อันอบอุ่นในแดน Toscana [โต๊ซก่าหนะ] ถิ่นกำเนิดของต้นตระกูลเมดีซีส (ตระกูลเมดีซิส ในภาษาอิตาเลียนเขียนว่า Medici อ่านว่า [เหม้ดิฉิ]
(ดูภาพแดน Toscana หรือTuscany ในอิตาลีได้ในอินเตอเน็ตที่นี่ https://www.google.co.th/search?q=Tuscany&rlz=1T4NDKB_enTH515TH515&tbm=isch&imgil=RmuKrscsnsSULM%253A%253Bhttps%253A%252F%252Fencrypted-tbn2.gstatic.com%252Fimages%253Fq%253Dtbn%253AANd9GcSW8Ube_TTU6-24fUP4wdnnk0-2F1JbXPg5KQFX6k03-LR1sfbS%253B600%253B397%253B9Jjs8mMK3CSmRM%253Bhttp%25253A%25252F%25252Fjaymebarrett.com%25252Fblog%25252F2013%25252F03%25252Fsept-2013-tuscany-rejuvenation-retreat-with-jayme-barrett%25252F&source=iu&usg=__P8Y6uYCIlqs5tg2sP-zRBTBb_Cg%3D&sa=X&ei=7ZenU_TQD460uASKpoKoCQ&ved=0CDkQ9QEwBA&biw=1039&bih=518#facrc=_&imgdii=_&imgrc=RmuKrscsnsSULM%253A%3B9Jjs8mMK3CSmRM%3Bhttp%253A%252F%252Fjaymebarrett.com%252Fblog%252Fwp-content%252Fuploads%252F2013%252F03%252Fsan-gimignano-best.jpg%3Bhttp%253A%252F%252Fjaymebarrett.com%252Fblog%252F2013%252F03%252Fsept-2013-tuscany-rejuvenation-retreat-with-jayme-barrett%252F%3B600%3B397)
 
ตั้งแต่ปี 1612 พระนางได้ลิขสิทธิ์ตำหนักของ François de Luxembourg ชื่อของเจ้านายผู้นี้ได้มาเป็นชื่อของสวน พระนาง Marie de Medicis เริ่มซื้อหรือสะสมพื้นที่รอบๆตำหนัก จนมีขนาดดั่งที่เห็นในปัจจุบัน พระนางให้เริ่มเนรมิตสวน การปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดของสวนลุกซ็องบูร์กได้ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของนโปเลียนที่สาม (le Second Empire, 1852-1870) ในยุคนโปเลียนที่สามได้ให้ Georges-Eugène Haussmann สร้างกรุงปารีสใหม่ตามแบบแปลนใหม่ นั่นคือสร้างเส้นทางสายใหญ่ๆที่ตัดผ่านกลางเมืองปารีสออกไปเชื่อมดินแดนตามหัวเมืองต่างๆ (เส้นทางสายใหญ่ๆเหล่านี้เรียกว่า boulevards [บูเลอวารฺ]เช่น le boulevard des Champs-Elysées หรือถนนฌ็องเซลีเซ่อันหรูหรา ที่จะเป็นแบบการพัฒนาผังเมืองของเมืองใหญ่ๆทั้งหลายในยุโรป) พระองค์ต้องการให้กรุงปารีสเป็นเมืองสวยงามน่าอยู่ มีถนนกว้างและยาว พร้อมต้นไม้ที่ปลูกประดับสองฝั่งถนน ซึ่งเท่ากับเอื้ออำนวยให้มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเทไปมาในเมืองได้อย่างสะดวก  มีสายลมแสดงแดดส่องสว่างเมืองหลวง  กระบวนการสร้างกรุงปารีสของ Haussmann มีส่วนเข้าไปขยายพื้นที่สวนลุกซ็องบูร์ก อย่างถาวรมาจนถึงทุกวันนี้  สวนลุกซ็องบร์กมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 23 เฮกเตอร์หรือ143.75ไร่.


 อาคารวุฒิสภา Le Sénat   
 บริเวณสวนลุกซ็องบูร์ก Le Jardin du Luxembourg






 มองจากสวนลุกซ็องบูร์กไปยังอนุสรณ์สถานป็องเต-อง Panthéon 
 สระน้ำพุภายในสวนลุกซ็องบูร์ก
สวนลุกซ็องบูร์ก ตั้งอยู่ในเขตหก เป็นส่วนหนึ่ง Quartier Latin [การฺตีเย่ ลาแต็ง] ที่รวมเขตห้าและเขตหก (5e & 6th arrondissements) บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ Seine[แซน]  ตั้งแต่ต้นยุคกลางเป็นต้นมาแล้ว Quartier Latin เป็นเขตศูนย์รวมปัญญาชนเพราะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Sorbonne [ซอรฺบอน] ตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว มีปัญญาชนจากทุกมุมในยุโรป เดินทางไปศึกษา ไปเรียนไปสอนที่นั่น ในยุคนั้นเป็นศูนย์ศึกษาเทวศาสตร์ แล้วจึงพัฒนาเป็นสถาบันการเรียนการสอนในสาขามนุษยศาสตร์ที่แตกแขนงออกเป็นแผนกวิชาต่างๆตามวิวัฒนาการของสังคมผ่านกาลเวลา  ปัจจุบันเขตนี้ยังเป็นศูนย์รวมสถาบันการศึกษาขั้นสูงของประเทศเช่น Ecole Normale Supérieure, Ecole Polytechnique และสถาบันอื่นๆอีกจำนวนมาก  ชื่อเขตลาตินนี้มาจากความจริงที่ว่า ในสมัยกลางนั้น ภาษาละตินเป็นภาษานานาชาติ เป็นภาษาของผู้ได้รับการศึกษา จึงเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารใช้เรียนใช้สอนกันในเขตมหาวิทยาลัยซอร์บอน 1896 (ส่วนชื่อมหาวิทยาลัยซอร์บอน มาจากชื่อของ Robert de Sorbon ผู้ก่อตั้งสถาบันการเรียนการสอนขึ้นที่นั่นในปี 1257 โดยตั้งอุดมการณ์ของการเรียนการสอนไว้ว่า Hic et ubique terrarum ในภาษาละตินที่แปลตรงตัวว่า ที่นี่และที่ไหนๆในโลก หมายถึงที่นี่มีความรู้ ให้ความรู้และความรู้ต้องแผ่กระจายออกไปทุกหนทุกแห่ง การกระจายความรู้คือการพัฒนามนุษยชาติ พัฒนาประเทศ พัฒนาคนฯลฯ)  ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเขตชุมชนนักศึกษาสำคัญที่สุด แม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยปารีสที่แตกแขนงออกไปเป็นมหาวิทยาลัยปารีสหนึ่ง สอง สาม สี่ไปจนถึงสิบสาม และที่ออกไปตั้งอยู่รอบนอกพื้นที่เขตลาตินแล้วเก้าแห่ง เนื่องจากเป็นเขตนักศึกษา(ที่ทำให้เกิดเครื่อข่ายบริการอุปโภคบริโภคอย่างครบวงจรตามมาด้วยอย่างเต็มพิกัด) ทำให้สวนลุกซ็องบูร์กเป็นที่รวมที่พักที่ถกวิพากษณ์วิจารณ์ของเหล่านักศึกษาทั้งหลายไปด้วย 
วุฒิสภาของฝรั่งเศส(Le Sénat)ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในส่วนของการบริหารจัดการสวนลุกซ็องบูร์ก จัดให้มีกิจกรรมต่างๆอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน นอกจากการแสดงดนตรี มีการจัดนิทรรศการต่างๆเสมอ

ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างนิทรรศการที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2001 เพื่อชี้ให้เห็นว่า จิตสำนึกของการอนุรักษ์ป่าไม้ของชาติ เริ่มกันมานานแล้วในยุโรป (และก่อนการจัดแสดงนิทรรศการนี้)  ปีนั้นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานทั้งหมดที่จะนำมาให้ดูข้างล่างนี้  ตั้งชื่อนิทรรศการว่า TRESORS INATTENDUS (ในความหมายว่า ขุมทรัพย์ที่เราคาดไม่ถึง) เป็นเรื่องของ ไม้ 
ข้าพเจ้าหวังว่า การนำเรื่องนี้และภาพทั้งหลายต่างๆที่ไปถ่ายมานั้น จะจุดประกายความคิด หรือเป็นตัวอย่างให้กับการสร้างสรรค์ด้วยไม้แก่คนไทย 

ในงานนี้ สถาบัน Institut Géographique National (สถาบันภูมิศาสตร์แห่งชาติที่รวมถึงการป่าไม้ของชาติเข้าไปด้วย) ได้เนรมิตแผนที่ประเทศฝรั่งเศสขนาดมหึมา นำมาวางลงบนเวทีขนาดใหญ่ ให้ผู้คนได้เห็นการแบ่งเขตแบ่งแคว้นของประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการแบ่งเขตป่าไม้ของฝรั่งเศสทั้งหมดด้วย แล้วก็เจาะจงต้นไม้เด่นๆของแต่ละถิ่นให้เห็นอย่างชัดเจน เปิดให้ประชาชนขึ้นไปเดินบนเวที บนแผนที่ฝรั่งเศสนั้น เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่สนใจ
 แผนที่แสดงถิ่นที่ตั้งของต้นไม้ขนาดใหญ่ๆที่น่าทึ่งยิ่งของชาติ
เพื่อเตือนมิให้ก่อมลภาวะในประเทศฝรั่งเศส
พร้อมคำขอบคุณว่าให้งดสูบหรี่และให้ถอดรองเท้าก่อนขึ้ออกเดินรอบประเทศฝรั่งเศส


ส่วน Lucien Bénière [ลูเซียง เบนีแยรฺ] ศิลปินชาวฝรั่งเศส ได้นำผลงานสร้างของเขาจากไม้ล้วนๆจัดแสดงเหมือนภาพในกรอบ แล้วยังมีกำแพงไม้จากการประกอบ ประสมประสานระหว่างไม้ในรูปแบบต่างๆที่ศิลปินจินตนาการขึ้นอีกจำนวนมาก รวมกันไม่ต่ำกว่า  95 ภาพมาเรียงต่อกันไปเป็น"กำแพงภาพ"จากไม้ เหมือนประติมากรรมจำหลักนูนสูง เพื่อให้ภาพไม้แต่ละภาพ โยงไปถึงต้นไม้และป่าไม้ ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้และป่า รวมทั้งแสดงวิสัยทัศน์ส่วนตัวของศิลปินที่มองไม้ เข้าใจไม้เป็นต้น มีประติมากรรมจากไม้มาตั้งแสดงอยู่ด้วยแต่ไม่มากนัก ทั้งหมดนี้ เป็นสารที่ชัดเจนว่า
จงอนุรักษ์ป่าไม้และถนอมป่าไม้ของเรา เพราะนั่นเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดของเรา
ศิลปินกระตุ้นและต้องการกระชับจิตสำนึกของผู้ร่วมชาติ ผู้ร่วมโลกเกี่ยวกับระบบนิเวศของเรา
เชิญชมตัวอย่างภาพไม้ที่ Lucien Bénière เนรมิตขึ้นจากจินตนาการและความรักไม้ของเขา ดังต่อไปนี้
 


















 กำแพงไม้หลากสีสันและรูปแบบ

 รายละเอียดที่ปรากฏบนกำแพงไม้












บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อครั้งไปเยือนวันที่ 9 สิงหาคม ปี 2001



4 comments:

  1. ภาพเก่าๆที่ถ่ายมา แต่เนื้อหาไม่มีวันตกยุค

    ReplyDelete
  2. รูปสวยทุกรูปเลย จ้ะ โช

    ReplyDelete
  3. ดีใจจัง ที่เข้ามาเขียนตรงนี้ได้แล้ว

    ReplyDelete
  4. เพิ่งได้ดูเรื่องนี้ ชอบภาพจากไม้มาก
    เมืองไทยน่าจะมีกิจกรรมแบบนี้ในสวนบ้าง

    ReplyDelete