Saturday 8 November 2014

ชวนกันไปเดินในเขาวงกต - Labyrinth

ประสบการณ์ในการเดินเขาวงกต

9th June 2013.
          นานแล้ว เคยเห็นในสวนหนึ่งในเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในเยอรมนี (Garmisch-Partenkirchen [การฺมิช พารฺเถิ่นกีรฺเขิ่น])  เขาทำทางเดินบนสนามหญ้า เป็นเส้นยาวลดเลี้ยวสักร้อยเมตรกระมัง  บนทางเดินนี้ เขาโรยทราย กรวดเล็กๆ กรวดขนาดใหญ่ขึ้นๆ เป็นตอนๆไป และติดป้ายเชิญชวนให้คนถอดรองเท้าเดินไปบนทางนั้น  แบบ bare foot in the park  ให้เดินเหยียบไปบนส่วนที่เป็นทราย  เป็นกรวดก้อนเล็กๆ  กรวดก้อนใหญ่ขึ้นๆ ตามลำดับ  


ข้าพเจ้าชื่นชมในความคิดนั้น  จุดมุ่งหมายคือการสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ  ให้เท้าได้สัมผัสความแตกต่าง เพิ่มความสนใจ (ความสนุกด้วย) และผลักดันให้คิดถึงแก่นของมวลสสารที่สัมผัสอยู่  เป็นการฝึกสติในแต่ละก้าวได้เช่นกัน  เมืองไทยมีศิลปินที่เริ่มหันมาสร้างงานศิลป์บนแผ่นดิน (land art) ที่เริ่มขึ้นเพื่อเทิดพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว ในตะวันตกเริ่มมานานกว่ากึ่งศตวรรษแล้ว  ดังตัวอย่างนี้ Spiral Jetty ผลงานของ Robert Smithson (1970) ที่ Great Salt Lake มลรัฐ Utah ในสหรัฐฯ
หรือภาพข้างล่างนี้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ National Galleries of Scotland เมืองเอดินเบิร์กในสก็อตแลนด์  ผลงานของ Charles Jencks (2001)  ที่นั่นก็น่าจะเป็นที่เดินปฏิบัติธรรมได้  ข้าพเจ้าไปเดินมาก็พอใจมากและชื่นชมความคิดสร้างสรรค์ของประติมากรผู้เนรมิต landform ขนาดใหญ่นั้น  ตะวันตก(โดยเฉพาะอังกฤษ) ให้ความสนใจแก่การอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติอย่างมาก  และสร้างสรรค์ความงามบนพื้นที่ที่กระตุ้นความรักความสนใจที่มีต่อแผ่นดินสู่มวลชน  เขารู้จักใช้ภาษีประชาชนเพื่อสร้างความสุขคืนสู่ประชาชนมากกว่าคนไทย 
 ใครมีโอกาสผ่านไปที่ Edinburgh ควรไปดูว่ามันสวยงามจรรโลงใจเพียงใด 
แผ่นดินนี้มีค่าสุดประมาณ
10 June 2013
ภาพนี้(จากเน็ต) ที่วัด Benediktushof ในประเทศเยอรมนี วัดนี้เป็นวัดปฏิบัติธรรมตามวิถีเซน สถาปนาขึ้นในปี 2007 โดย Willigis Jäger ใช้วิถีการปฏิบัติธรรม การอยู่และร่วมมือกันในทุกเรื่อง เช่นการเพาะปลูก การทำอาหาร การทำงานหัตถกรรมอื่นๆ และตลอดเวลาที่ไปร่วม retreat นั้น ต้องเก็บวาจา นั่งสมาธิ  เดินจงกรม ฯลฯ   วิธีการปฏิบัติกรรมฐาน กำลังแพร่ออกไปในตะวันตก

           สวนวงกต (labyrinth) ในขนบกรีซโบราณ ได้ถูกนำมาใช้ในการค้นหาตนเองเรื่อยมาในสมัยคริสตกาลจนถึงในปัจจุบัน นัยดั้งเดิมยังคงอยู่เสมอ คือการค้นหาตน ในแบบเข้าใจตน เข้าใจชีวิต  ข้าพเจ้าเคยเห็นชาวคริสต์เดินด้วยเข่าไปบนพื้นหินที่เป็นรูปลักษณ์แบบสวนวงกต เป็นหญิงสาวน้ำตาไหลพรากเลย คงเจ็บเข่า เพราะเลือดไหลซิบๆเลย มีแม่เดินคุมไป  แม่คงให้เธอแก้บาปด้วยการทำทุกกรกิริยาดังกล่าว  เคยเห็นในหลายประเทศ (ปอรตุกัล  สเปน  แคนาดา)  ตามมหาวิหารที่ผู้คนเดินทางจาริกไปตั้งแต่ยุคกลาง  ไม่ใช่ง่ายเลย นี่ไม่ใช่เรื่องเจ็บตัวเท่านั้น  แต่การประจานตัวเองนี่สิ ยากยิ่งกว่ามากนัก  พระเจ้าเห็นใจคนที่รู้สำนึกผิด  แม้ในนาทีสุดท้ายของชีวิต

15th June 2013.
         เคยคิดว่า ชาวกรีกเป็นผู้เริ่มทำ แลเบอะรินธ์ (labyrinth)โดยโยงไปถึงเรื่องของมินอตอร์ในเทพปกรณัมกรีก  แต่ในประวัติศาสตร์ ปรากฏว่ามีมาก่อนนั้นอีก แม้จะเป็นแบบง่ายๆ แต่จุดหมายของการทำเส้นทางเดินแบบวกวนนั้น ดูจะเหมือนๆกัน คือการเดิน(จาริก) เข้าสู่จุดใจกลาง ซึ่งตามอุดมการณ์ของแต่ละชนชาติ เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าถึงพระเจ้า หรือถึงสัจธรรม หรือของการตระหนักรู้อะไรสักอย่างเป็นต้น  และทำให้คิดว่าการเดินประทักษิณก็อาจเป็นต้นแบบของการเดินภิกขาจาร  
           การเดินเข้าไปในสวนวงกต ชาวคริสต์ได้นำมาเปรียบกับเส้นทางของจิตวิญญาณที่ใฝ่หาพระเจ้า  หรือเป็นเส้นทางฉบับย่อของชาวคริสต์ที่มุ่งสู่กรุงเยรูซาเล็ม (เพราะตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7 ชาวเปอเชียและต่อมาพวกมุสลิมได้แผ่ศาสนาและอิทธิพลเหนือดินแดนตะวันออกกลางทั้งหมด ทำให้เส้นทางจากยุโรปสู่เยรูซาเล็มถูกปิดและอันตรายมากขึ้นๆ (ที่ต่อมายังผลให้เกิดการเดินทางไปกู้ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามครูเสด)   คริสต์ศาสนาได้นำแนวคิดของสวนวงกตมาใช้เป็นรูปแบบของการเดินจาริก  ด้วยการปูพื้นโบสถ์ใหญ่ๆทั้งหลายให้มีส่วนหนึ่งเป็นพื้น labyrinth  
            ตั้งแต่ยุคกลาง แลเบอะรินธ์ เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมศาสนา   หลายแห่งถูกทำลายไปกับกาลเวลา แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งที่ยังคงรักษาไว้ หรือบูรณะขึ้นใหม่ในศตวรรษหลังๆ  แลเบอะรินธ์ ในโบสถ์ที่รู้จักกันดีที่สุดในโลก เช่น โบสถ์เมือง Chartres และที่เมือง Amiens ในฝรั่งเศส  ทั้งสองแห่งยังคงเปิดโอกาสให้คนไปเดิน (ที่จัดให้เห็นชัดด้วยการปูแผ่นหินอ่อนสลับสองสี เข้มและอ่อน) เช่นที่เมืองชาร์เตรอะส์ - Chartres  ทุกวันศุกร์ระหว่าง 10 – 17 นาฬิกา  เจ้าหน้าที่จะนำเก้าอี้ทั้งหลายที่ปกติวางเต็มพื้นที่ออก เปิดให้คนที่ต้องการไปเดินเขาวงกตฉบับย่อบนพื้นโบสถ์ทำได้ตามความตั้งใจ ส่วนคนอื่นๆก็พลอยได้เห็นพื้นที่ แลเบอะรินธ์ เต็มตาด้วย
 ใจกลางของแลเบอะรินธ์ที่โบสถ์เมือง Chartres นั้น เป็นภาพย่อส่วนของ Rose Window
(มีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับการจัดทำหน้าต่างกระจกสีที่เรียกกันเป็นหน้าต่างดอกกุหลาบ)
ภาพสเก็ตช์โบสถ์เมือง Chartres จาก Wikipedia
         ส่วนที่เมืองอาเมียงส์ -Amiens ทุกปีวันที่ ๒๔ มิถุนายน (ซึ่งเป็นวันฉลองนักบุญจอห์นแบ็พไทสต์  โบสถ์เมืองนี้เก็บสารีริกธาตุ-กะโหลกศีรษะของนักบุญมาตั้งแต่ปี 1206 )  และเพราะวันนั้น ซึ่ง(ปกติ) ตรงกับวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในฤดูร้อน (summer solstice) ที่นั่น ตอนเช้าแสงอาทิตย์ลำแสงหนึ่ง ส่องผ่านบานกระจกสูงของโบสถ์ทางทิศตะวันออก ผ่านเข้าสู่ลำตัวโบสถ์ และหยุดอยู่ที่จุดตรงกลางของแลเบอะรินธ์ ของโบสถ์  เป็นเช่นนี้ทุกปี  ทำให้เห็นอัจฉริยะของผู้สร้างโบสถ์ในศตวรรษที่ 12-15 ว่าได้เข้าถึงธรรมชาติของพื้นที่ทั้งบนดิน ใต้ดินและเหนือพื้นดิน  แล้วนำมาพิจารณาจัดวางแผนผังโบสถ์อย่างละเอียดลออเพียงไร  (มีวิหารใหญ่ๆหนึ่งในกรุงโรม -ชื่อนั้น ข้าพเจ้าลืมไปแล้วแต่หากค้นดูจากภาพที่ไปถ่ายมาคงจะระบุได้ - ที่ณวันหนึ่ง ลำแสงอาทิตย์จะตกลงบนพื้นโบสถ์ที่จำหลักเป็นจักรราศีทั้งสิบสองแบบบนพื้น  แสงที่ตกลงก็เป็นไปตามวันเวลาของแต่ละจักรราศี  ฝรั่งเขาถึงพูดว่า สถาปนิกจับแสงอาทิตย์ไว้ได้และนำมาไว้ในโบสถ์)   โบสถ์และมหาวิหารใหญ่ๆ จึงเป็นความมหัศจรรย์ของปัญญาคน ไม่ว่าเราจะนับถือคริสต์ศาสนาหรือไม่ก็ตาม 
ใจกลางของแลเบอะรินธ์ที่นี่ เป็นแผ่นหินอ่อนแปดเหลี่ยม จำหลักหรือฝังภาพลักษณ์ของสถาปนิกสามคนผู้สร้างโบสถ์และเจ้าอาวาสผู้นำในการก่อสร้างโบสถ์ (หินนี้จารึกปีที่การก่อสร้างสิ้นสุดลงคือปี 1288)  ปัจจุบันแผ่นที่เห็นเป็นแผ่นจำลอง  แผ่นจริงถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ Musée de Picardie [มูเซ่ เดอ ปิการฺดี] เมืองอาเมียงส์ 
ภาพแสดงการปูพื้นในโบสถ์เมืองอาเมียงส์ด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวสลับดำ
มีแลเบอะรินธ์และลวดลายอื่นๆรวมกันหลายสิบแบบทีเดียว พิเศษสุดแห่งเดียวในโลก
       ในสมัยกลางนั้น ชาวคริสต์เดินเข่าไปตามเส้นทางในแลเบอะรินธ์ จนถึงจุดใจกลาง เชื่อกันว่า ความเพียรความตั้งใจในการกระทำดังกล่าว สามารถไถ่บาปทั้งหมดของเขา  กลายเป็นคนบริสุทธิ์ในสายตาพระเจ้า นอกจากเดินเข่าเข้าไปจนถึงจุดใจกลางวงแล้วยังต้องเดินกลับออกมาด้วย  ต่อมาถือกันว่า หากมิได้มีโอกาสจาริกไปเมืองเยรูซาเล็ม ก็ให้ไปเดินใน แลเบอะรินธ์ ในโบสถ์แทน  ความตั้งใจและ    ความเชื่อว่าจะได้รับการไถ่บาปหรือไม่นั้น อาจลบเลือนไปจากจิตใจคนยุคปัจจุบันแล้ว  แต่ยังมีคนจำนวนมากชอบไปเดินเท้าในแลเบอะรินธ์ ด้วยความตั้งใจ/ความปรารถนาส่วนตัว หรือเป็นการฝึกสติ (ไม่เดินเข่ากันแล้ว เพราะทรมานและทำให้หนังถลอกเลือดออกตลอดทางเลย เคยเห็นมากับตาในประเทศโปรตุเกส สเปน แคนาดา ซึ่งทำให้แปลกใจมาก คงมีไม่มากราย เผอิญไปเห็นในวันนั้นพอดี)   และตั้งแต่ยุคเรอแนสซ็องส์   แลเบอะรินธ์ เป็นองค์ประกอบสำคัญแบบหนึ่งในสถาปัตยกรรมสวน แทนการใช้แผ่นกระเบื้องหรือหินอ่อน  หันมาใช้พุ่มไม้แทน และตอนบนตัดเรียบเสมอกัน สูงเท่ากัน  ในสมัยก่อน อาจสูงถึงสองเมตร แต่ความสูงลดลงๆ มาในสมัยใหม่   พุ่มไม้สูงแบบนั้นต้องใช้คนสวนดูแลหลายคน   เป็นงานหนักและกินเวลามาก (คนสวนเล่าให้ฟังว่า บางทีใช้เวลาเตรียมสองเดือนกว่าก่อนจะถึงฤดูใบไม้ผลิเมื่อคนไปเที่ยวสวนมากขึ้นๆ)   แลเบอะรินธ์ ในสวนมักเปลี่ยนไปใช้คำว่า maze แทน ซึ่งตรงกับคำ “สวนวงกต” ที่ไทยแปลไว้มากกว่า   เพราะทำด้วยพุ่มไม้วนไปมาในป่าในสวน  (เหมือนเขาวงกตในป่าหิมพานต์)  อีกประการหนึ่งเน้นความหมายของความพิศวงในเชิงความสนุกสนานมากกว่าด้วย (amazing)   สวนวงกตในอิตาลี ในฝรั่งเศส หรือในประเทศอื่นๆ ถูกปรับเปลี่ยนหรือพลิกผืนดิน แปลงไปเป็นสวนดอกไม้แบบอื่นไปเกือบหมด เพราะค่าดูแลรักษาสูงมากนั่นเอง   แต่ในอังกฤษยังคงรักษาไว้หลายสวนทีเดียว  (ส่วนแลเบอะรินธ์ ในโบสถ์นั้น ยังคงพยายามรักษาไว้เป็นมรดกสวยงามของโบสถ์) เช่นที่โบสถ์เมือง Ely  ดูขนาดและรูปลักษณ์ที่ง่ายกว่ากันมาก เทียบกับที่มีในฝรั่งเศสไม่ได้เลย

Mike Higton ได้วาดรูป Labyrinth of Life โดยใช้รูปแบบของแลเบอะริน์บนพื้นโบสถ์เมือง Ely ด้านทิศตะวันตก ดังภาพข้างล่างนี้ที่ถ่ายมาจากโปสเตอร์ข้อมูลที่โบสถ์เมือง Ely ณวันที่ 23 เดือนกันยายน ปี 2004.
          ส่วนวัดที่มีพื้นที่ไม่พอ ยังไม่ลืมที่จะแทรกรูปลักษณ์ของแลเบอะรินธ์ ให้เป็นสิ่งประดับเป็นปมเพดาน เช่นภาพนี้จากวัด Saint Mary Redcliffe เมือง Bristol ในอังกฤษ

(ภาพจาก http://stmaryredcliffe.co.uk/)
วัดนี้เป็นวัดเล็กๆ แต่สวยมากวัดหนึ่งในอังกฤษ  โดยเฉพาะขึ้นชื่อเรื่อง ปมเพดาน สารพัดรูปลักษณ์  เขามีรถเข็นเหมือนรถเข็นอาหารในบ้าน โดยมีพื้นหน้าของรถเป็นกระจกส่องหน้า ตั้งยกเอียงๆขึ้นประมาณ 30 - 40° เช่นนี้คนดูเดินเข็นรถกระจกนี้ไปตามลำตัวโบสถ์ แล้วชื่นชมปมเพดานได้โดยไม่ต้องแหงนหรือเงยจนคอเคล็ด 

           สวนวงกตแห่งแรกที่ข้าพเจ้าเข้าไปเดิน อยู่ที่พระราชวังและอุทยาน Hampton Court ชานกรุงลอนดอน  ตอนนั้นไม่คิดอะไร คิดแต่ว่าเราเดินได้ ไม่น่าจะยาก และไม่มีมโนสำนึกของการค้นหาตนหรือการล้างบาปหรือค้นหาพระเจ้า  เพียงแต่อยากเดินให้รู้ว่าเป็นอย่างไร  เผอิญเมื่อเดินไปถึงสวนวงกตของวังนั้น ก็ตกเย็นแล้ว เพราะวังนั้นกว้างใหญ่มากและมีอะไรให้ชมมากมายทั้งในแง่ของพิพิธภัณฑ์และการจัดสรรพื้นที่สวนเป็นแบบต่างๆ  เมื่อเดินเข้าไป ก็ตั้งใจเพียงว่า ต้องเดินชิดขวาไปเรื่อยๆ ตามที่มีคนเคยแนะไว้  เดินเข้าไประหว่างพุ่มไม้สูงสองข้างที่สูงปิดหัวคน มองไปข้างๆก็ไม่เห็นอะไรเพราะพุ่มไม้หนาเป็นแนวยิ่งกว่ากำแพงอิฐ ไม่มีทางจะสอดตัวผ่านพุ่มไม้ได้เลยทีเดียว  ชิดขวาไปเรื่อยๆแต่ก็เจอทางปิดตันกั้นตรงหน้า  อ้าว! ทำไงล่ะ  (ใน แลเบอะรินธ์ ของโบสถ์ไม่มีทางตัน)  หมุนเดินกลับวนต่อไป เดินไปเดินไป แน่นอนจำไม่ได้หรอกว่า เส้นทางนั้นผ่านมาแล้วหรือยัง  แล้วก็เจอทางตันอีกชักงง  พอดีได้ยินเสียงแม่คนหนึ่งร้องตะโกนหาลูกว่าอยู่ไหนๆ สวนจะปิดแล้ว  เสียงนั้นตระหนกและตื่นกลัวมาก เพราะเธอคงรู้ว่า เข้าไปในสวนตามลูกไม่มีทางเจอแน่นอน   เท่านั้นแหละข้าพเจ้าหัวใจเต้นรัวขึ้นมาเลย  ความคิดแล่นขึ้นมาเตือนว่า ถ้าติดอยู่ในสวนวงกตนั้น หาทางเดินวนไปมาออกไม่ได้ จะทำอย่างไร จะร้องให้ใครช่วย ไม่มีใครมองเห็นเราว่าอยู่ที่ไหน เห็นได้จากเบื้องบนเท่านั้น และไม่มีอะไรเหนือสวนวงกตนั้นนอกจากท้องฟ้า   สวนเขาก็จะปิดแล้ว  เสียงแม่ที่ร้องตะโกนตามตัวลูกนั้นทำให้ความกลัวขึ้นจับหัวใจ  และเมื่อเกิดกลัวขึ้นมา สติจมลงทันที  ยืนสั่นอยู่ว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดตัดสินใจว่า ต้องหาทางกลับออกไปทันทีเพราะยังคงไม่ได้เข้าไปลึกนัก  มิฉะนั้น อาจติดค้างในนั้นทั้งคืน  ตอนนั้นกลัวขนาดร้องขอให้หลวงพ่อช่วยด้วยในใจ  แล้วงมทางจนหลุดออกมาตรงทางเข้าที่เข้าไป หัวใจยังเต้นรัวเร็ว เดินจ้ำออกไปทางประตูใหญ่ของเขตพระราชวัง  ผู้คนหายไปหมดแล้ว  นั่นเป็นประสบการณ์แรกของการเดินสวนวงกต  ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในจิตใต้สำนึก เพราะภายหลังได้กลับไปที่นั่นอีก ก็ยังขยาดไม่กล้าเข้าไป  มาเห็นทีหลังว่า เขาเขียนเตือนไว้แล้ว
          สวนวงกตที่นั่นขนาดใหญ่มาก บนพื้นที่หนึ่งส่วนสามเอเครอ  เคยปรากฏว่ามีผู้ติดอยู่ในนั้นสามสี่ชั่วโมงหาทางออกไม่ได้  นับว่าโชคข้าพเจ้ายังดีที่ตัดสินใจไม่เดินต่อแต่ย้อนทางออกมา ไม่งั้นคืนนั้น คงติดอยู่ในนั้นแน่นอน  ในปีหลังๆ มีการจัดรูปแบบการเชิญชวนให้คนเดินเข้าไป  มีการติดตั้งระบบเสียงที่จะดังขึ้นไปบนทางเดินจุดนั้นจุดนี้  ข้าพเจ้าไม่ขอเข้าไปที่นั่นอีกแน่นอน (สวนวงกตที่นั่นนอกจากเป็นสวนวงกตที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ทำขึ้นในราวปี 1700  ยังมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก  เพราะในยุคที่สร้างสวนนั้น มีความตั้งใจให้เป็นที่สำเริงสำราญของเหล่าพระราชวงศ์ในเกมเล่นเกมรัก  ต่อมาในสมัยใหม่ ยังถูกใช้เป็นสถานที่ก่ออาชญากรรมในหนังนักสืบหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องด้วย)              
         หากรวมเส้นทางที่วกวนไปมาเป็นเส้นตรง เส้นทางภายในนั้นอาจยาวเป็นสองสามกิโลเมตรทีเดียว  ความแคบของทางเดิน  ความยาวที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุดและการถูกขนาบสองข้างตัว  เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อกวนสมาธิและสติของคน 
         หลังจากนั้น ข้าพเจ้าเคยไปเดินสวนวงกตในสวนอื่นๆ โดยเลือกสวนวงกตที่มีกำแพงต้นไม้เตี้ยลงพอเห็นหน้าตาคนอื่นบ้าง  ทุกครั้งก็ยังมีความหวั่นๆอยู่ ไม่ว่าจะตั้งสติอย่างไร  สวนแห่งหนึ่งในอิตาลีลุงผู้เฝ้าสวนมอบผังของสวนวงกตให้ด้วย บอกเส้นทางให้เสร็จว่า ให้เดินไปตามทางที่เขาขีดเป็นรอยดินสอไว้ ไม่หลงหรอก  ข้าพเจ้ารับมาแต่เข้าไปแค่ขอบๆเพื่อเก็บรูปเท่านั้น  คำนวณระยะทางและเวลาที่เหลือก่อนสวนปิด กลัวจะออกมาไม่ทัน 
ยิ่งเห็นเส้นทางแน่นหลายรอบ  มีคนเดินอยู่สามสี่คน (Giardino Valsanzibio, นอกเมือง Padova อิตาลี)  วันนั้น (9 สิงหาคม 2005) มีคนไปชมสวนไม่ถึงหกคน  ชาวอิตาเลียนหมด เขาขับรถไปกัน เห็นแว็บๆ แล้วก็ออกกันไปหมด  เราออกมาจากสวนเป็นคนสุดท้าย  ลุงคนเฝ้าถามว่าจะกลับอย่างไร ในที่สุดเลยติดรถลุงไปลงสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง บอกว่าจากที่นั่นมีรถกลับเข้าเมือง  ตอนไปเราไม่ได้ไปรถไฟ  รถเมล์เที่ยวสุดท้ายของวันนั้นก็ไปเสียแล้วเพราะมัวคุยกับลุงอยู่   ในที่สุดได้ติดรถลุงไปสถานีรถไฟ(ชื่ออะไรก็จำไม่ได้แล้ว)  ตอนไปซื้อตั๋ว เขาบอกว่า สามยูโรครึ่ง  เอ๊ะไม่แพง  เขาบอกว่ารถไฟเที่ยวหน้ากำลังจะเทียบชานชาลาในไม่กี่นาที   รีบจ้ำไปขึ้นชานชาลาที่เขาบอก  รถไฟขบวนหนึ่งเข้าเทียบในนาทีถัดมา  เห็นมีตู้ชั้นสอง คิดว่าตั๋วเราคงต้องเป็นชั้นสอง  รีบก้าวขึ้นเลย  เปิดประตูเข้าไป  ลมเย็นมากระทบ โอ้โฮ ชั้นสองก็มีแอร์ด้วย  มีคนไม่มาก ที่ว่างเยอะ เลยนั่งสบายๆ  นั่งชื่นชมว่า รถไฟขบวนนี้ดีเกินคาด ไม่เคยเห็นรถไฟอิตาเลียนสะอาดเรียบร้อยหมดจดถึงแบบนั้น  เมืองปาโดวาที่เราจะลงเป็นสถานีแรกที่รถไฟจะจอด  ในเวลาเพียงสิบนาที  นี่มันใกล้ขนาดนี้นี่เอง ราคาตั๋วจึงถูก  ห้าหกนาทีผ่านไป ผู้ตรวจตั๋วเป็นหญิงสาว (จึงเรียกนายตรวจไม่ได้) เข้ามาในตู้ชั้นสอง เพื่อตรวจตั๋วคนขึ้นใหม่  เมื่อเห็นตั๋วรถไฟของข้าพเจ้า บอกว่าเราต้องเสียค่าปรับเพราะตั๋วที่มีนั้น เป็นตั๋วรถไฟหวานเย็น  ขบวนนั้นเป็นรถไฟนานาชาติมาจากสวิสฯเป็นรถไฟความเร็วสูงขบวนพิเศษ  ส่วนขบวนหวานเย็นเป็นขบวนที่ตามหลังขบวนนี้  เราเลยถึงบางอ้อ  จ่ายเงินค่าปรับสิบยูโรไปโดยดี  เสียค่าเรียน ไม่เสียดายหรือเสียใจ
         สวนวงกตน่ากลัวกว่า แลเบอะรินธ์ ในวัดวิหารเพราะแทรกทางตันไว้  ส่วนในวัดเดินไปเรื่อยๆเหมือนเดินจงกรม  เดินไปๆก็นำจิตใจให้คิดทบทวนเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา เห็นทุกข์เห็นสุข ความขึ้นๆลงๆ  ใจค่อยๆปลงไป                  
เมื่อเทียบกัน เส้นทางเดินในสวนวงกตแห่งนี้ (ที่ Leeds Castle, England) ยังกว้างกว่าแต่ก็นับว่าสูงกว่าขนาดความสูงเฉลี่ยของชาวยุโรป
         สวนวงกตในสมัยหลังๆมักทำแบบไม่สูงมาก ไม่เกินหนึ่งเมตร  หลายแห่งทำเป็นแบบราบแนบพื้นไปเลย  เป็นสวนวงกตแบบสนามหญ้า ที่ปล่อยให้เด็กเล็กเดินเล่นได้ พ่อแม่เห็นได้ ผู้ใหญ่ก็เดินได้  สวนพฤกศาสตร์บางแห่ง(ในอังกฤษ) ใช้ต้นหญ้ามาปลูกเป็นกอๆ ให้เรียงกันไปตามเส้นทางเดิน ซึ่งอาจใช้กระถางต้นไม้เรียงแทนก็ได้เช่นกัน  ในที่สุดเราอาจดัดแปลงใช้วัสดุใดทำก็ได้  บนพื้นที่กว้างมากน้อยเท่าไรก็ได้  ยิ่งพื้นที่มากก็เท่ากับยืดเวลาการเดินจงกรม   
         ข้าพเจ้าเคยเห็นที่หน้าสวนวงกตในเขตพระราชวังเชินบรูนน์กรุงเวียนนา  มีแท่นหินที่จำหลักรูปลักษณ์ของสวนวงกตขนาดย่อส่วน  เป็นสวนวงกตจำลองมาจากโบสถ์เมือง Chartres ที่กล่าวถึงข้างต้น  สำหรับให้คนตาบอดคลำเส้นทางได้  ในที่สุดทำให้เกิดความคิดว่า สามารถจำลองรูปแบบสวนวงกตย่อลงบนแผ่นกระดาษ แล้วให้คนใช้ดินสอลากไปตามเส้น เหมือนกำลังเดิน ก็อาจเป็นการฝึกสมาธิได้แบบหนึ่ง
สวนวงกตแบบสนามหญ้า ราบเรียบติดพื้น มองเห็นเส้นทางเดินชัดเจน  สำหรับเด็กๆ ที่บางทีก็ก้าวหรือเหยียบข้ามส่วนที่ปลูกหญ้า เพื่อเข้าไปถึงใจกลางที่สร้างเหมือนปราสาทให้ปีนป่ายเล่น  ภาพจาก Leeds Castle  ประเทศอังกฤษ  (แบบนี้ ข้าพเจ้าค่อยเดินด้วยความสบายใจ  แน่นอน ข้าพเจ้าสูงกว่าปราสาทตรงกลางสวนวงกตนี้)
แต่พอพื้นสวนราบๆ  จะไม่ให้โกงด้วยการเดินข้าม ก็ยากอยู่นะ  เด็กๆกระโดดข้ามไปเลย  ภาพนี้จากสวนสาธารณะที่เมือง Garmisch-Partenkirchen ในเยอรมนี  เมืองนี้ก็น่ารักมาก  หน้าร้อน ในสวนมีการแสดงดนตรีเกือบทุกวัน  เข้าออกฟรี  นี่คือความใจกว้างของคนเยอรมัน  ทุกอย่างที่ทำขึ้นเพื่อแบ่งปันควาสุขแก่กันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองและการบริการประชาชน

 สวนวงกตที่นี่ (Scone Palace ในสก็อตแลนด์)  มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเลย
ทำเป็นรูปดาว และเล่นสองสี ใช้ต้นไม้พันธุ์เดียวกัน (beech ที่มีสองสี เขียวและแดงม่วงๆ)
ปลูกสลับกันเป็นรูปดาวได้อย่างเหมาะเจาะ เหมือนลายผ้าสก็อตที่ชายอกสามศอกชาวสก็อตสวมใส่
(ที่เป็นกระโปรงพอดีหัวเข่า) เป็นเอกลักษณ์สำคัญพอๆกับปี่และเสี่ยงปี่สก็อตเลยทีเดียว
ภาพจากแผ่นป้ายที่ติดไว้ตรงทางเข้า 
สวนวงกตนี้ ได้เดินเข้าไป  พอดีมีกลุ่มหนุ่มสาวชาวอิตาเลียนเข้าไป เลยได้เดินตามๆกันไป  มีหนึ่งคนปีนขึ้นไปบนสะพานสูง และคอยบอกเพื่อนๆว่า ให้เดินเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา  เช่นนี้ ทั้งกลุ่มเดินกึ่งวิ่งแบบพรวดเดียวในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง  มิได้เดินอย่างครุ่นคิดใดๆ สนุกๆกันเท่านั้นแล้วก็ออกมา
       ภาพสุดท้ายข้างล่างนี้ ถ่ายจากสวนวงกตที่ Glendurgan Garden ในภาคตะวันตกของอังกฤษ  มีชื่อเสียงมากอีกแห่งหนึ่งเพราะความซับซ้อนของแบบสวน และเป็นสวนวงกตแห่งเดียวที่ใช้ต้นลอเร็ล (laurel) ทั้งหมด  สูงประมาณหนึ่งเมตร  ตรงกลางสวนเป็นทำศาลามุงฟางต้นข้าว เรียบง่าย  วันนั้นกำลังเดินๆอยู่ เห็นหญิงคนหนึ่งเดินเข้าไปในสวนนี้ แต่เพียงพริบตาเดียว เข้าไปนั่งอยู่ใต้หลังคาศาลานั้นแล้ว  ไม่เห็นเดินเกินสองสามนาที  สงสัยว่าเข้าไปได้อย่างไร หรือรู้ทางลัด เพราะท่าทางคุ้นเคยกับสถานที่ เข้าไปเหมือนต้องการไปจับจองที่นั่งในศาลา  เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ๆ  เห็นกำลังทานขนมข้าวต้มที่นำติดตัวไปในตะกร้าเธออย่างสบายใจ  คงเป็นที่พักทานกลางวันของเธอหลายครั้งแล้ว จึงรู้ทางลัดโดยไม่ต้องเดินทั้งสวน  มันไม่แฟร์นะ  (ภาพนี้ถ่ายจากบนเนินเขาอีกลูกหนึ่งที่มองลงไปเห็นที่ตั้งของสวนวงกตนี้อย่างงดงาม  เป็นภาพสวนวงกตสวนเดียวที่เก็บภาพได้เกือบเต็มด้วยกล้องของเราเอง)
         ใน Cornwall มีสวนวงกตที่เป็นก้อนหินจัดเรียงกันในแบบของ Stonehenge แต่ขนาดของหินที่วางเรียงๆกันนั้น ไม่สูงตั้งตระหง่าน เป็นเพียงก้อนหินใหญ่ๆว่างั้น  ไม่มีข้อมูลว่า เกิดขึ้นหรือใครมาทำไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่   สวนวงกตนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้แล้ว ไปปี 2009)  เมื่อข้าพเจ้าไปเที่ยวอุทยานนั้น ก่อนกลับคิดว่าน่าจะเดินไปดูว่า สวนวงกตหินนั้นเป็นอย่างไร   ถามป้าที่กระท่อมรับรอง(ที่เป็นที่ขายตั๋วเข้าชมอุทยาน ขายผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ น้ำดื่ม ขนมหรือแยมที่แม่บ้านมาฝากขาย และหนังสือเกี่ยวกับสวนบ้างนิดหน่อย)  ป้าบอกว่า สวนวงกตหินนั้น มิได้อยู่บนพื้นที่ฝั่งเดียวกับอุทยาน แต่อยู่บนเนินเขาอีกฝั่งหนึ่ง  ป้าชี้ทางให้  เรามองตามทิศทางที่ป้าชี้ จากหน้าต่างกระท่อมเห็นเนินเขายาวเหยียด  เป็นผืนหญ้าเขียวชะอุ่ม  ป้าบอกว่า หลังเนินเขาลูกนั้น คือที่ตั้งของสวนวงกตหิน  เราตัดสินใจไปดูให้เห็นกับตา  เดินออกจากกระท่อมรับรองไปตามทางแคบๆปลายเนิน   
         เนินเขาลูกนี้ มีรั้วเหล็กกั้นเป็นตอนๆ รั้วเป็นแนวตัดลงจากยอดเนินลงมาถึงปลายเนิน  เดินบนทางแคบๆปลายเนินไปสัก ๓๐๐ เมตร เห็นรั้วคั่นแบ่งพื้นที่รั้วที่หนึ่ง  ต้องเดินขึ้นไปตรงกลางเนินเพราะมีประตูที่มีกลอนพาดไว้ให้ปิดเปิด   เรายกเหล็กสั้นที่พาดประตูขึ้น เสียงเอี๊ยดๆ เพราะมีสนิมนิดหน่อย  เดินเข้าไปบนเนินที่สอง ปิดสลักประตู  แล้วเดินลงไปปลายเนินเพื่อเดินต่อไป
         เข้าใจแล้วว่าทำไมวัวและแกะต้องมีเท้าเป็นกีบ  เพราะเนินหญ้าที่ดูเรียบๆสวยงามนั้น ในความเป็นจริงพื้นใต้ผืนหญ้านั้น มิได้เป็นพื้นราบเรียบ แต่ขรุขระเป็นลอนๆ  แถมยังที่ดินเอียงลาด  เดินขึ้นลงพอทำได้ แต่เดินขนานตามแนวนอนนั้น  เท้าจะพลิกเสียหลัก เหมือนเสียศูนย์  เคยคิดตั้งแต่ไปอังกฤษครั้งแรกในปี 1969 ว่า  วัวหรือแกะทำไมยืนกินหญ้าบนเนินลาดได้ตลอดเวลา  หรือพวกนี้มีขาที่หดสั้นหรือยืดยาวได้   วันนั้นเดินเนินหญ้าที่นั่นแล้วก็เข้าใจ
         เดินจากเนินตอนที่หนึ่งข้ามรั้วไปตอนที่สอง ออกจากกระท่อมรับรองมาแล้วกว่า ๖๐๐ เมตร เจอรั้วคั่นอีกเพื่อเข้าไปผืนที่สาม  สวนวงกตคงอยู่ไม่ไกลจากผืนที่สาม  มือยังอยู่ที่กลอนเหล็กที่พาดรั้ว  ทันทที่ยกขึ้น เสียงดังเอี๊ยดอีก  ยังไม่ทันจะก้าวเข้าไปในผืนที่สาม  จู่ๆเห็นฝูงวัวมาล้อมฉับพลันเหมือนปรากฏการณ์   โอ๊ะโอ! มาจากไหนนี่  เราวางกลอนกลับลงในที่มัน  ยืนมองฝูงวัวที่มาออตรงหน้า  ยี่สิบสามสิบตัวได้มั้ง  ห่างกันแค่ศอก  ตามองตา  ถ่ายรูปวัวมั้ย  กล้องพร้อมห้อยอยู่ที่คอ  อย่าดีกว่า เสียงชัตเตอร์ วัวอาจตื่นได้  พวกมันจะข้ามไปผืนที่สามหรือ  กวาดตามองดูวัวทั้งหลายที่มาล้อมเราอยู่ตรงรั้ว  เพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นว่า วัวสูงกว่าเรามาก  แล้วนี่จะทำยังไง  เปิดสลักกลอนให้ฝูงวัวผ่านไปในผืนที่สามมั้ย   พวกมันจะเบียดตัวเราบี้ไปเลยมั้ย  นึกถึงหนังคาวบอยที่เขาต้อนฝูงวัวเข้าคอก  ท่าทางจะไม่รอดถ้ายืนอยู่ตรงนั้น  รีบยืนหลังแนบรั้วไว้ก่อน เผื่อวัวจะเบียดข้ามรั้วไป  มองไปยังพื้นที่ข้างหน้า  ไม่มีวี่แววคนเลย  มองไปไกลๆที่ประตูแรกที่ออกมาจากอุทยาน  เห็นคนเล็กๆสองคนกำลังเดินมา คงอยากมาดูสวนวงกตหินด้วย  จะตะโกนให้เขาช่วยดีมั้ย  ไกลอย่างนั้น เขาไม่ได้ยินหรอก  ดีไม่ดีวัวตกใจ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร  เดาใจวัวไม่ได้  สองคนที่เห็นไกลๆ เดินมาได้ไม่กี่ก้าว  เห็นฝูงวัวที่อออยู่ตรงรั้วที่สอง  ไม่เห็นเราแน่นอน  ทั้งสองหันหลังเดินกลับเข้าไปในอุทยาน  เราค่อยๆเลื่อนหลังแนบชิดรั้วแล้วก้าวขาซ้ายไปข้างตัว ขาขวาตามไป  ลงสู่ปลายเนิน (โชคดีที่ไม่ใช่รั้วลวดหนาม เป็นรั้วราวเหล็ก)  หน้ายังเผชิญฝูงวัวอยู่  ทั้งฝูงเดินตามเราลงไป They still follow me! Follow me wherever I may go!  พอถึงปลายเนิน  ตัดสินใจหันหลังให้วัวแล้วเดินจ้ำไปในทิศทางของประตูอุทยาน  ประโยคเดียวที่ร้องลั่นอยู่ในใจ  Mon Ange, aidez-moi. Mon Ange! Mon Ange!  ตอนนี้ไม่เหลียวหลังไปดูแล้ว  เดินเอาชีวิต  ได้ยินเสียงร้อง มอ...ม้อ...มอ...มอ   เอ! ปกติวัวร้องเป็นพยางค์เดียวยาวๆนี่นะ  เท้ายังจ้ำต่อไป  ลองหันไปดูซิ  ยังตามหลังเราอยู่มั้ย   อ้าว! หายไปไหนกันหมด  มาเร็วไปเร็ว  เงียบและฉับพลัน  Surreal จริงๆ  มองขึ้นไปบนเนิน เห็นก้นวัวตัวสุดท้ายกำลังจะลับหายไป  พึมพำได้เพียงว่า Merci! Merci! Merci!  เท้าเดินต่อไป ข้ามกลับจากผืนที่สองสู่ผืนที่หนึ่ง  เดินมุ่งไปสู่ประตูอุทยานถึงกระท่อมรับรองของอุทยาน  เรียกว่าหอบฮักๆ หายใจไม่ทันเลย   เห็นหน้าคุณป้าคนเฝ้ากระท่อมเท่านั้นแหละ  There’s a whole herd of cows out there! They encircled me!  ป้ายิ้มๆ ไม่ตื่นเต้นไปกับเรา บอกว่า They won’t hurt you.  แล้วฉันจะรู้ได้ยังไง  No way I could have imagined such an encounter (of the third kind! à คน เทพ และสัตว์)  ป้ายังบอกว่า พวกนี้เป็นวัว แต่อีกฝั่งหนึ่งเป็นวัวกระทิง  พวกนั้นสิ ต้องระวัง…Oh my God!   ยืนอกสั่นขวัญแขวนอยู่กับป้าตรงนั้น  มีสตรีสองคนเข้าไปในกระท่อม รู้จักและทักทายป้า  พวกเขากำลังจะกลับเพราะห้าโมงเย็นแล้ว  ป้าเลยขอให้พวกเขาไปส่งเราที่ถนนใหญ่  มีป้ายรถเมล์ที่เราจะจับรถกลับเข้าเมืองได้  และเราก็ไปยืนคิดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเผชิญมาต่อที่ป้ายรถเมล์นั้น  
          ตอนมาที่อุทยานนั้น เราลงรถเมล์ฝั่งตรงข้ามแล้วเดินเข้าประตูใหญ่ของ domain นี้  ต้องเดินเข้าไปอีกหนึ่งกิโลเมตรเป็นอย่างน้อย กว่าจะถึงทางเข้าอุทยานจริงๆที่กระท่อมรับรองตั้งอยู่   ถ้ามองจากประตู domain เราไม่เห็นอะไรเลยของอุทยานนอกจากถนนสายยาว มีต้นไม้ใหญ่ปลูกเป็นแนวสองข้าง  สวนอังกฤษหรืออุทยานในอังกฤษเป็นแบบนี้  ถ้าไม่ไปรถยนต์ ก็ต้องเดินลูกเดียว  ไปเที่ยวสวนใดแต่ละวันได้สวนเดียว  ต้องเดินไม่ต่ำกว่า ๕-๖ กิโลเมตร ก็ยังไม่ครอบพื้นที่ทั้งหมด   ถ้าเดินไปทุกมุมล่ะก็ ไม่ต่ำกว่า ๑๐ กิโลเมตร  เดินแบบนี้ สุขภาพดีแน่นอน  English breakfast ต้องกินเต็มที่ทุกอย่าง  ไม่งั้นไม่มีแรงพอ และก็ไม่ต้องกลัวว่า เบค็อนมันเกินไป อาหารหนักเกินไป เพราะหากเดินทั้งวัน ร่างกายย่อยเอาพลังงานไปใช้หมดไปวันๆเลย  กินได้ดี ย่อยดีตลอด  ไปสวนแบบนี้  ไม่มีเวลากินอะไรที่สวนหรอก เพราะมันกว้างมาก  เดินไปยังจุดชมวิวจุดต่างๆ  หิวขึ้นมา ต้องเดินกลับมาที่จุดเริ่มต้น  ภายในสวนเองไม่มีอะไรขาย  นอกจากสวนขนาดใหญ่ๆ ที่มีร้านกาแฟ ร้านอาหารตั้งหนึ่งหรือสองแห่ง ห่างกันไกลคนละมุมสุดพรมแดน เช่นที่สวนคิว (Kew) เป็นต้น  ถ้าต้องกินมื้อเที่ยงต้องเอาของกินติดตัวไปเอง  ข้าพเจ้าขี้เกียจแบก กล้องก็หนักพอแล้ว  อย่างมากมีกล้วยหนึ่งใบ ท็อฟฟี่นิดหน่อยเพื่อเพิ่มพลัง แต่จริงๆแล้ว กินหวานๆ ทำให้หิวมากขึ้น  จงหลีกเลี่ยง  กินผลไม้หรือน้ำดีกว่า  ไม่ต้องห่วงเรื่องดื่มน้ำแล้วต้องเข้าห้องน้ำ เพราะไม่มีการปวดปัสสาวะ เนื่องจากเดินๆแบบนี้ เหงื่อออกมาแทนแล้ว
        เป็นอันว่า สวนวงกตหิน เราก็ไม่ได้เห็นในที่สุด  ไปดู Stonehenge ง่ายกว่ามาก  ไม่ต้องครวญ  
ตามองตา สายตาเราจ้องมองกัน รู้สึกเสียวซ่านหัวใจ รักฉันก็ไม่รัก หลงฉันก็ไม่หลง....
        การสบตากับอะไรที่ต่าง species กันนั้น  ถ้ามีสติ ก็ดูเหมือนจะ “คุย” กันได้   นึกถึงครั้งหนึ่งไปเดินในป่าแห่งหนึ่งที่ฟินแลนด์  ข้าพเจ้าผู้ไม่ขับรถ ไม่ค่อยมี sense of direction นัก  เดินหลงอยู่ในป่า  เห็นต้นไม้ต้นสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา สง่าและภูมิฐานมาก  เมื่อเดินไปถึงพื้นที่วงกลมเล็กๆ  แสงแดดส่องสว่างตรงวงกลมนั้น  เลยหยุดยืนกลางพื้นที่วงกลมนั้น เงยหน้าชื่นชมต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้รอบๆ และฟังเสียงลมที่พัดผ่านต้นไม้  สบายใจจริงๆ  แหงนหน้านิ่งอยู่กับที่นานพอสมควร   รู้สึกมีอะไรมาแตะนิดๆเบาๆตรงหน้าอก  ข้าพเจ้าเลื่อนสายตาโดยไม่ขยับตัวลงมามองบนหน้าอก  ตาเจอตา  ต่างฝ่ายต่างจ้องกัน  สบตากับกระรอกสีน้ำตาลแดงตัวใหญ่  นี่เขาคิดว่าเราเป็นตอไม้หรือไง  ขยับตัวนิดเดียว  เจ้ากระรอกวิ่งปรู๊ดลงพื้นไป  เราเห็นเต็มตาว่า มันตัวโตมาก  ขนาด ๓๐ เซนติเมตรได้  ยังมีหางเป็นพู่ยาว เหมือนดอกไม้ช่อใหญ่สวยงามมาก  เราเปล่งเสียงพูดในบัดดลว่า  Attends! (Wait!) เจ้ากระรอกหยุดหันหน้ามามอง  ข้าพเจ้ารีบค้นหาขนมในกระเป๋ากางเกง  เจอแต่ท็อฟฟี่ เลยแกะกระดาษแล้วยื่นมือออกไปให้  Tiens, voilà! (นี่แน่ะ!) กระรอกวิ่งเข้ามาใกล้  สองมือมาคว้าท็อฟฟี่  แล้ววิ่งออกไปห่างๆ  เอาท็อฟฟี่เข้าปาก ชิมดู เอียงคอเล็กน้อย  Désolée, je n’ai pas de noisettes! (Sorry! I don’t have nuts.) กระรอกมิได้ทิ้งท็อฟฟี่  เอาไปด้วย แล้ววิ่งหายไปในพุ่มไม้   ข้าพเจ้ายังยืนพิศวงใจอยู่ที่นั่น  กระรอกตัวใหญ่ขนาดนั้น  ตัวเบ๊าเบา  ไต่ตามความสูงหนึ่งร้อยเจ็ดสิบโดยที่ข้าพเจ้าแทบไม่รู้สึกเลย  
         พวกเราต่างพูดคุยกับน้องหมาน้องแมวเป็นประจำอยู่แล้ว  การคุยกันต่างสายพันธุ์เป็นไปได้ เพราะจริงๆแล้วคือชีวิตเหมือนกัน มีความรู้สึก รู้รักรู้กลัวเหมือนๆกัน  นึกถึงเซ็นต์ฟรานซิสที่เจรจากับเหล่าสรรพสัตว์   นึกถึง Rex Harrison ที่เป็น Dr. Dolittle หนังเด็กที่เราเคยดูกัน (Dr. Dolittle is a 1967 American musical film  directed by Richard Fleischer and starring Rex Harrison… อ่านต่อเองใน Wikipedia) ในที่สุดก็ไม่ เพ้อเจ้อนักหรอก   มาคิดดู ภาษา สำคัญในการสื่อสารข้อมูลความรู้ระหว่างคน(ที่ใช้ภาษาเดียวกันหรือเข้าใจภาษาเดียวกัน)  แต่ หัวใจ ต่างหากที่สื่อสารถึงความรู้สึกทุกประเภทระหว่างคน ระหว่างสิ่งมีชีวิตแม้จะต่างสายพันธุ์กัน  ถ้าหัวใจเปิดกว้างรับรู้ทุกอย่างอย่างที่มันเป็นโดยไม่มีอคติ   สรรพชีวิตจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกันตามวิถีธรรมชาติ  in perfect harmony.
Appreciate life as it is, let it be the way it is, which is, instinctively, the best way it can be....

บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็อก ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗.

No comments:

Post a Comment