สวนแขวน ที่ไทยใช้แทนคำ hanging garden โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงสวนในโลกโบราณที่กรุงบาบิโลน (The Hanging Garden of Babylon ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ) ทำให้เรามโนว่า สวนนี้มันแขวนต่องแต๋งลงมาจากฟ้าหรืออย่างไร ความจริงแล้ว สิ่งที่มีลักษณะที่พอจะเฉียดนัยยะของคำว่า “แขวน” คือต้นไม้ กิ่งไม้หรือใบไม้เลื้อยที่ห้อยลงมาจากพื้นที่มั่นคง(ที่มิได้ล่องลอยไม่มีจุดยืนในอากาศ) คนที่มองจากระดับพื้นบนดินขึ้นไป จึงเห็นกิ่งไม้ใบไม้ห้อยระย้า ทิ้งตัวลงมาจากเบื้องบน และหากมีพืชพรรณขึ้นเขียวชอุ่ม ก็อาจบดบังตัวอาคารไปได้เกือบมิด จึงทำให้มโนไปได้ว่า เบื้องบนนั้นคือแดนสวรรค์บนฟากฟ้าสุราลัย
ภาพจากวิกิพีเดีย uploaded by Rex on 25th February 2005. ภาพอยู่ใน Public Domain.
ภาพพิมพ์ลงสีนี้ เชื่อว่าทำขึ้นในศตวรรษที่
19 หลังจากที่มีการขุดพบหัวบัวของเสาในยุคอัสซีเรียเป็นครั้งแรก
เป็นภาพที่เสนอแนะรูปลักษณะของ “สวนแขวนแห่งบาบีโลน” ที่เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์เจ็ดสิ่งของโลกยุคโบราณ
ไกลไปทางซ้ายของภาพ คือ หอคอยบาเบล (Towel of Babel ที่เล่าไว้ในคัมภีร์เก่า
ว่าด้วยต้นกำเนิดของการมีภาษาแตกต่างกันมากมายในหมู่คน) ยึดสืบต่อกันมาว่า สวนนี้มิได้มีลักษณะแขวนเลย แต่เพราะขึ้นบนหลังคาและ/หรือบนเทอเรสของพระราชวังในกรุงบาบิโลน
เล่ากันมาว่า เมื่อราว 600 ปีก่อนคริสต์กาล
กษัตริย์ชาวคัลเดียนชื่อ Nebuchadnezza II ต้องการสร้างสวน
เพื่อปลอบใจมเหสีชาวมีเดียนที่คิดถึงธรรมชาติของบ้านเกิดเมืองนอนของแม่นางเมื่อต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่กรุงบาบิโลน
ในอิตาลี สภาพภูมิประเทศที่แคบ ยาวมากกว่ากว้าง และพื้นที่ต่างระดับกันมาก เอื้อต่อการสร้างสถาปัตยกรรมไล่ระดับเป็นชั้นๆ และต่อการทำสวนเป็นขั้นบันได ตัวอย่างหนึ่งที่ลือเลื่องมากที่สุดในโลกคือที่เกาะ Isola Bella [อีซอละ เบลล่ะ] ที่ตั้งอยู่ในทะเลสาบ Lago Maggiore [ล้าโก๊ะ มัดจิออเหร่]
สำหรับผู้นิยมชมชื่นอิตาลี และหากยังไม่เคยไปเยือนเมืองริมฝั่งทะเลสาบของอิตาลี มีอะไรที่น่าสนใจและที่พวกเราในวัยเรายังไปได้ เพราะไม่ลำบากปีนป่ายนัก ไม่ยากเข็ญเท่าฝั่งชายทะเลสูงชันแถบ Liguria ที่ Le Cinque Terre [เล ชิ้นเกว้ เตเหร่] การไปเยี่ยมชมดินแดนแถบทะเลสาบนี้สะดวก เพราะมีเรือแล่นพาไปแวะเมืองต่างๆ เป็นเส้นทางคมนาคมปกติของชนชาวพื้นเมืองที่นั่นมานานนับศตวรรษ ที่ยังเชื่อมเมืองบนฝั่งทะเลสาบนี้ในพรมแดนของประเทศสวิสเซอแลนด์ด้วย (จากสวิสฯไปจากเมือง Locarno [โลก๊ารฺโหนะ] ก็สะดวกเช่นกัน) รอบทะเลสาบ Lago Maggiore ภูมิทัศน์สวยงาม ไม่ว่าจะไปในทิศทางใด ทะเลอยู่ในสายตาเสมอ สูดหายใจโอโซนใต้ฟ้าใส แล้วแวะขึ้นไปชมหมู่บ้านหรือวิลลาต่างๆ
หมู่บ้านหรือจุดที่น่าสนใจคือที่ขีดเส้นใต้ไว้บนแผนที่
ทางเหนือคือเมือง Locarno ในประเทศสวิสเซอแลนด์
ใต้ลงมาเป็นดินแดนของประเทศอิตาลี
เมืองที่สะดวกแก่การตระเวนชมวิลลางามๆบนทะเลสาบนี้คือเมือง
Stresa [สึ-เตฺร-ศะ] เมืองเล็กน่ารัก
และเป็นชุมทางเดินเรือเพื่อไปยังจุดอื่นๆบนทะเลสาบนี้ เช่นไปเที่ยวเกาะ Isola
Bella [อีซอละ เบลล่ะ],
Isola Madre [อีซอละ ม้าเดร่], หรือไปชม Villa Taranto [วี่ละ
ต๊ารันโตะ] แล้วข้ามไปเที่ยวอารามคริสต์ศาสนาเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ Santa
Caterina [ซันตะ กะเตรี้หนะ] เป็นต้น
เมือง Stresa มองจากทะเลสาบ
พื้นที่ส่วนใหญ่ริมฝั่งทะเลสาบ
Lago Maggiore นั้น ตกเป็นสมบัติของตระกูล
Borromeo [บ้อรอเมโอ] ในศตวรรษที่ 15 ครอบครัวนี้ได้ทะยอยซื้อเกาะเล็กเกาะน้อยในแถบนี้
ที่รวมกันเป็นกลุ่มเกาะ Isole Borromee [อิซ้อเละ บอรอเม้เอ] ที่ประกอบด้วยเกาะสามเกาะอันมี
Isola Bella (6.4 เฮกตาร์),
Isola Madre (7.8 เฮกตาร์),
Isola dei Pescatori (3.4 เฮกตาร์), เกาะเล็กๆอีกหนึ่งเกาะชื่อ Isolino
di San Giovanni (0.4 เฮกตาร์) และเกาะหินโล้นที่ไม่มีผู้คนอาศัยอีกหนึ่งเกาะชื่อ Scoglio
di Malghera (0.02 เฮกตาร์) รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 18 เฮกตาร์
ทั้งหมดขึ้นอยู่ในประชาคมเดียวกันคือ Comune Stresa ดังภาพข้างล่างนี้
แผนที่ทะเลสาบ
Lago Maggiore ตอนเหนืออยู่ในประเทศสวิสเซอแลนด์
ภาพจากวิกิพีเดีย ระบุไว้ว่าผู้จัดทำคือ Pinpin เมื่อวันที่ 24 September 2007 และระบุต่อด้วยว่าเป็น
“travail
personnel, made with Inkscape from Image : Karte Langensee.png” (cited as is
indicated เพราะใช้หลายภาษาพร้อมกันในวรรคนี้)
เกาะ Isola Bella อยู่ในทะเลสาบ Lago
Maggiore มองดูเหมือนเรือลำยาวที่ทอดสมออยู่ในภูมิประเทศที่งดงามยิ่งนัก
ชาวตะวันตกมโนทันทีว่าปานประหนึ่งสวรรค์ที่คนได้สูญเสียไป(เพราะถูกพระเจ้าขับไล่ออกมา)
พื้นที่สองในสามของเกาะเป็นสวนบาร็อค
อาคารวังและหมู่บ้านชาวประมงบนเกาะเกือบจะมีพื้นที่ขนาดเดียวกัน
ที่แทรกเข้าไปในพื้นที่หนึ่งส่วนสามที่เหลือของเกาะ เริ่มใช้ชื่อเรียกเกาะนี้ในปี 1636
ว่า Isola
Bella (โดยที่คำ Isola
แปลว่า เกาะ และคำ Bella
แปลว่า สวย,งาม สองเสียงรวมกันเป็น [อีซอละ เบลล่ะ] ที่ฟังดูเหมือนเสียงที่กร่อนมาจากคำ
Isabella [อีซาเบลล่ะ] ที่เป็นพระนามพระมเหสีของพระเจ้า
Charles II (1586-1652) แต่ชื่อที่สำคัญยิ่งกว่า คือชื่อตระกูล Borromeo
[บ้อรอเมโอ] ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมจากเมืองฟลอเรนซ์ ตระกูลนี้เป็นเจ้าของเกาะนี้ ตระกูลนี้อพยพออกจากเมืองฟลอเรนซ์ตั้งแต่ปี 1370 เป็นตระกูลนายธนาคารในเมืองมิลานและเวนิสที่คนร่วมสมัยรู้จักดีในช่วงปลายศตวรรษที่สิบสี่และศตวรรษที่สิบห้า เพราะตระกูลนี้เป็นคู่แข่งของตระกูลเมดีชี (Medici) สถานภาพทางการเงินที่มั่นคงและความมั่งคั่ง ทำให้ตระกูลนี้เข้าควบคุมดินแดนกว้างใหญ่ที่เรียกกันในตอนนั้นว่า รัฐ Borromeo ในแคว้น Lombardy เมื่อต้องแข่งขันกับตระกูล Sforza ผู้ครองเมืองมิลานในเวลานั้น กับความหวั่นเกรงภัยที่อาจเกิดขึ้นเมื่อราชวงศ์ฮับสบูร์กในยุโรปแผ่อิทธิพลไปครอบครองดินแดนสเปนในศตวรรษที่ 16 ทำให้ตระกูล Borromeo ตัดสินใจตัดตนออกจากวงการธนาคารและการเงิน และพอใจกับการใช้ชีวิตเยี่ยงชนชั้นสูงที่ปกครองรัฐอิสระรัฐใหญ่รัฐหนึ่ง
สมาชิกสองคนของตระกูลนี้เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของลัทธิโรมันคาทอลิกในช่วงที่มีการปฏิรูปศาสนาข้างเคียง (the Counter-Reformation) ได้แก่ Carlo Borromeo [ก๊ารฺโล บ้อรอเมโอ] (1538-1584) ที่ต่อมาคริสต์จักรได้ยกย่องให้เป็นนักบุญด้วย และลูกพี่ลูกน้องของเขาอีกคนหนึ่งชื่อ Federico Borromeo [เฟเด่ริโก๊ะ บ้อรอเมโอ] (1564-1631) ทั้งสองเป็นนักปฏิรูปอย่างแท้จริงเมื่อได้ขึ้นเป็น Archbishop of Milan ตระกูลนี้มีคำขวัญประจำตระกูลว่า Humilitas (ความถ่อมตน) San Carlo Borromeo เป็นที่เคารพชื่นชมกันมากในหมู่ชาวคาทอลิกยุคนั้น โดยเฉพาะความกล้าหาญกล้ายืนหยัดสู้ภัยพิบัติที่กระหน่ำชุมชนแถบทะเลสาบนี้เมื่อโรคระบาด(peste) แพร่ไปถึงที่นั่นในปี 1576 ในชุมชนแถบทะเลสาบ Maggiore เขาน่าจะเป็นนักบุญที่มีภาพบันทึกไว้บนจิตรกรรมเฟรสโก้มากกว่าผู้ใดและปรากฏเป็นภาพประดับวัดเล็กวัดน้อยที่สร้างขึ้นเพื่อขอบคุณพระเจ้าและแก้บนเมื่อโรคระบาดยุติลง
เกาะ Isola Bella เป็นเกาะพื้นที่หินส่วนใหญ่ที่มีชาวประมงเข้าไปตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่ราวปี 1630 ตระกูล Borromeo เริ่มกวาดซื้อที่ดิน และซื้อบ้านหลังใหญ่ที่อยู่ด้านเหนือสุดของเกาะและพยายามซื้อหมู่บ้านชาวประมงที่นั่น แต่ชาวบ้านมิได้ยินยอมทุกครัวเรือน ตระกูลนี้ได้แปลงบ้านหลังนั้นให้เป็นปราสาท และตามกระแสนิยมแห่งยุคในหมู่ชนชั้นสูงและคหบดีผู้ร่ำรวยทั้งหลาย ตระกูล Borromeo เป็นตระกูลผู้สร้างสวนด้วยตระกูลหนึ่งในอิตาลี และได้คิดแบบแปลนที่เหมาะกับพื้นที่ (ที่มีเจ้าของร่วมเป็นชาวประมงอยู่ด้วย แต่โดยรวมแล้ว ดูเหมือนว่าทุกอย่างปรองดองกันได้ลงตัว) หลังจากที่ได้ถางพื้นที่ที่เคยเป็นที่เพาะปลูกพืชผักหรือสวนครัวออกไปเสียเกือบหมด ตระกูล Borromeo ได้วางแผนสร้างสวนขนาดใหญ่โอบล้อมอาคารที่พักไว้ตรงกลาง แต่แผนดังกล่าวถูกยกเลิกไป รู้กันมาเพียงว่ามีสถาปนิก Angelo Crivelli (ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคนนี้) เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนจัดวางแผนสร้างสวนที่เป็นแบบดังที่เห็นในปัจจุบัน
สวนบนเกาะ จัดเป็นลานระเบียง terraces ซ้อนๆกันสิบชั้นสูงขึ้นไป 120 ฟุต ตั้งเหมือนเนินเขาย่อมๆหรือไหล่เขา เหนือระดับน้ำในทะเลสาบ การออกแบบดังกล่าวได้เชื่อมพื้นที่ระดับต่างๆเข้ากับอาคารวัง สวนและวังดูเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่อกันไปได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยังทำให้เกิดจุดชมวิวจุดต่างๆ จากมุมต่างๆได้ทุกมุม ที่เป็นทั้งจุดชมสภาพเกาะ Isola Bella เอง หรือชมทัศนียภาพของเกาะโดยรอบรวมทั้งภูมิประเทศที่ไกลออกไป เช่นแนวเทือกเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมในฤดูหนาวและหมู่บ้านต่างๆที่กระจายเหมือนฝังเข้าไปในผืนป่าตามไหล่เขาทุกทิศทางที่มองไป
เทอเรสสิบชั้นนี้ แต่ละชั้นจัดตามแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน แต่สร้างให้เชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์และสมดุล รวมเข้าเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกับองค์ประกอบหลักของสวนบนเกาะนี้ ที่เรียกกันว่า เวทีละครเวทีใหญ่ การละครเป็นขนบนิยมในสมัยนั้นที่สืบทอดมาจากอารยธรรมกรีกโบราณ การเข้าถึงตัวละคร เข้าถึงความคิดซับซ้อนในใจคน มีส่วนช่วยยกระดับจิตวิญญาณของคนและนำไปสู่การเป็นคนที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์
ตระกูล Borromeo ได้สร้างคฤหาสน์ใหญ่โตบนเกาะตามแนวศิลปะบาร็อคตั้งแต่ราวปี 1632 ขนาดและความอลังการไม่แพ้พระราชวังใดเลย การก่อสร้างดำเนินติดต่อมาหลายศตวรรษเช่นกัน มีห้องโถงใหญ่ๆที่ใช้ในวาระต่างๆ พระราชวังทั้งหลายเป็นแหล่งรวมสมบัติมีค่าต่างๆที่ข้าพเจ้าไม่สนใจจะชมนัก จึงมิได้อ้อยอิ่งตามถ่ายภาพภายในพระราชวังที่นั่น นอกจากห้องที่จัดทำให้เหมือนถ้ำตามอุดมการณ์การสร้างสวนของชาวอิตาเลียนที่เรียกว่า grotto (ดูภาพข้างล่าง) สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นพิเศษคือการดูธรรมชาติรอบข้างเกาะ และพิจารณาแบบแปลนการเนรมิตสวนบนเกาะนั้น ที่พิเศษผิดสวนอิตาเลียนอื่นๆ หรือสวนอื่นใดในโลกนี้อย่างไร ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากประมวลภาพที่ถ่ายมาเมื่อคราวไปเยือนที่นั่น (เดือนสิงหาคม ปี 2005)
Isola Bella เมื่อมองจากทะเล
มุมมองด้านคฤหาสน์
ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ชาวประมงบนเกาะได้หันมาทำร้านอาหารและขายของที่ระลึกด้วย
เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
การชมวังและสวนของตระกูล Borromeo ต้องผ่านเข้าไปในวังก่อน
และออกจากอาคารวังโดยผ่านห้องโถงใหญ่ที่แสดงพรมประดับผนัง ตลอดเส้นทางที่เดินเข้าไปในวัง
ผู้ชมเห็นความอลังการของสมบัติที่เป็นทั้งศิลปวัตถุหรือความเหมาะเจาะสมดุลของสถาปัตยศิลป์ในด้านหนึ่ง
และในอีกด้านหนึ่ง ก็เห็นความงามน่าทึ่งของธรรมชาติทะเลสาบภายนอก
จากหน้าต่างทุกบานที่เปิดออกเป็นมุมมองที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง
เป็นสองขั้วสองด้านที่ดึงความสนใจของผู้ชมตลอดเวลา
ประตูทางเข้าวัง
ห้องนี้เป็นห้องพรมประดับผนัง
มีพรมทอขนาดใหญ่ประดับเรียงรายปิดไปตลอดกำแพงเลย
ห้องโถงใหญ่และยาวแบบนี้มีหลายห้องทีเดียว
ตัวอย่างพรมทอภาพธรรมชาติ
ห้องแบบนี้อีกจำนวนมาก สมบัติล้ำค่าของชาวตะวันตกส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรม โคมไฟระย้า
เครื่องเรือน เครื่องประดับเช่นถ้วยโถโอชาม นาฬิกา ฯลฯ
ห้องที่พิเศษสุดของวังนี้ (ตามค่านิยมชาวตะวันตกยุคนั้น) คือ ห้องโถงใหญ่หลายห้องชั้นล่างสุดของวัง ที่จัดเป็นแบบ grotto ทั้งหมด นั่นคือ ใช้กรวดสีอ่อนประดับทั้งผนัง เพดานและเสาและมีเปลือกหอยจากทะเลลึกรูปลักษณ์หลากหลายมาใช้ประกอบเป็นลวดลายต่างๆด้วย สร้างบรรยากาศของถ้ำ ความลึกลับ อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของความเป็นโรแมนติค สื่อความกระหายประสบการณ์ใหม่ๆ การผจญภัย ความอยากรู้อยากเห็น อยากหยั่งรู้สรรพสิ่งฯลฯ
เนื่องจากพระราชวังได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้เกือบทุกวันตลอดทั้งปี
มีการนำแบบจำลองของพื้นที่ทั้งหมดบนเกาะนี้ มาแสดงที่ห้องโถง
grotto ด้วย
รวมทั้งเป็นที่แสดงอานม้าสะสมของตระกูลที่หรูหราแบบเครื่องอานของกษัตริย์เลยทีเดียว
เมื่อออกจากวังผ่านไปบนลานเล็กๆที่มีสระน้ำพร้อมรูปปั้นประดับอยู่ติดกำแพง
และมีช่องบันไดขึ้นไปสองข้าง เลียบและวนขึ้นไปตามกำแพงที่มีใบไม้ปกคลุมมิดเกือบทั้งหมด เหลือเพียงขอบบนๆของกำแพงที่ทำให้รู้ว่า ใบไม้ที่เป็นดั่งพรมปิดผนังกำแพงผืนยาวและใหญ่เกาะเต็มกำแพงช่องบันได
และเมื่อขึ้นไปถึงขั้นสุดท้ายห้อมล้อมด้วยสีเขียวอันร่มเย็น เราก้าวออกไปสู่แสงสว่างของพื้นที่โล่งกว้างและยาว
ที่จัดเป็นสนามหญ้าผืนใหญ่สองข้างทางเดินตรงกลาง
นำสายตาไปยังสิ่งที่ตั้งเด่นอยู่สุดสนามทิศเหนือนั้น มองดูเหมือนเนินหินสีดำสูงตระหง่านนับได้สามระดับ
มีแนวหินปูนสีขาวๆประกอบ เน้นลวดลายของสถาปัตยกรรมเวทีละครนั้น มองรวมกันเช่นนั้น ทำให้รู้สึกว่า เวทีละครนั้นเหมือนศูนย์รวมพลังอำนาจของธรรมชาติ
ประติมากรรมและเสาโอเบลิซก์ที่จัดวางอย่างสมดุลยิ่ง เพิ่มความตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น
เวทีในแต่ละระดับยังประดับด้วยแอ่งน้ำเล็กๆหน้าซุ้มที่มีรูปปั้นประดับในแต่ละซุ้ม ทั้งหมดประดับด้วยประติมากรรมและเปลือกหอยเชลล์ขนาดยักษ์ บนยอดเนินหรือเหนือสุดของเวทีละครนี้ มีรูปปั้นขนาดใหญ่ที่สุด(ขนาดเกินมาตราส่วนปกติ)
ของคนบนหลังยูนิคอร์น เป็นรูปลักษณ์ที่ต้องการสื่อนัยยะของ “Humilitas”
ในความหมายของเกียรติยศย่อมมาจากการรู้จักถ่อมตน” ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูล
Borromeo นอกจากรูปปั้นต่างๆยังมีเสาโอเบลิซก์ที่จัดประดับอยู่อย่างเหมาะสม
ขนาบสองข้างด้วยรูปปั้นในท่านั่ง
ที่เป็นรูปลักษณ์แทนความหมายของ “ศิลปวิทยา” ทางซ้ายและของ “ธรรมชาติ” ทางขวา
และนี่คือกลุ่มสถาปัตยกรรมที่เรียกกันที่นั่นว่า เวทีละครเวทีใหญ่
ที่เป็นศูนย์กลางโดดเด่นที่สุดของสวน
นกยูงสีขาวที่นั่น
เป็นพันธุ์ที่นำไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เทอเรสสามชั้นแรก(ที่เป็นองค์ประกอบของเวทีละครเวทีใหญ่)
สร้างขึ้นในปี 1632 เพื่อให้เป็นที่สำเริงสำราญอิริยาบถของผู้เป็นเจ้าของ
นั่นคือ พระเจ้า Charles III แต่เนื่องจากไม่มีน้ำบาดาลใช้บนเกาะ ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักไปนาน
15 ปี จนในที่สุดต้องสร้างอาคารปั๊มน้ำทรงแปดเหลี่ยมขึ้นเพื่อนำน้ำจากแผ่นดินใหญ่(อิตาลี)
มาหล่อเลี้ยงสวน Vitaliano
VI และสถาปนิกของเขาชื่อ Francesco
Castelli (1620-1691) ได้แปลงปราสาทให้เป็นพระราชวังที่สวยงามพร้อมสวนที่วิเศษที่ไม่มีอะไรเทียบได้เลย ทั้งสองดำเนินการก่อสร้างอย่างไม่ลดละ
และทำให้องค์ประกอบสำคัญๆของสวนสำเร็จลุล่วงไปได้ นั่นคือ โรงละครโรงใหญ่ สร้างสัญลักษณ์ขนาดยักษ์ของตระกูลบนยอดสวนด้านเหนือ สร้างซุ้มโค้งลึกเข้าไปในกำแพงเป็นแนวยาวซ้อนกันสามระดับ Castelli
ชอบนำประติมากรรมกับเสาโอเบลิซก์
ไปเรียงรายประดับบนราวระเบียงลูกกรงเป็นแนวยาว Andrea Biffi สถาปนิกคนต่อมาก็ทำตามด้วย ประติมากรรมส่วนใหญ่เป็นผลงานของ
Carlo Simonetta (1662-1695) ทำให้แบบสวนมีเอกภาพตลอดระยะเวลายาวนานของการก่อสร้าง
รูปปั้นยูนีคอร์นมองจากหลังเวทีละคร
ลานใหญ่หลังเวทีละคร
ชะโงกหน้าจากระเบียงลูกกรงบนยอดเนินด้านหลังเวทีละครเวทีใหญ่
เบื้องหลังสถาปัตยกรรมเวทีละครที่กล่าวมา
มีบันไดทอดลงไปยังเทอเรสชั้นบนขึ้นไปอีก
จากบนนั้นมองลงไปเห็นสวนหย่อมที่เนรมิตขึ้นให้เป็น “สวนรัก”
ที่อยู่เทอเรสใต้ลงไปห้าชั้น
ประดับด้วยแปลงปาร์แตร์ (parterres) รอบๆสระน้ำทรงกลม
ตามขนบนิยม เป็นวิธีการยืดและขยายสัดส่วนของแบบแปลนออกไป แปลงดอกไม้ยั่วยวนตาให้ตามลงไป
หรือเมื่อลงไปถึงระดับล่างตรงสระบัวทรงกลมของ “สวนรัก”
เงยหน้าขึ้นไปดูระเบียงลูกกรงบนยอดเนิน
แปลงปาร์แตร์ (parterre) ล้อมรอบสระบัวสี่แปลง มีดอกไม้สีสวยๆสลับแทรกอยู่ในลายปารแตร์ด้วย
บันไดส่วนตัวของเจ้าของวัง
ที่ลงไปยังเทอเรสระดับล่างอีกสามระดับ
จากเทอเรสแต่ละระดับ มีเส้นทางเดินลงหรือเดินขึ้น เป็นจุดชมทิวทัศน์อีกหลายมุมมอง
มุมมองจากเทอเรสแต่ละชั้น
เหมือนถูกจัดวางให้อยู่ในกรอบของกลุ่มประติมากรรมและหรือเสาโอเบลิซก์ นอกจากนี้เทอเรสแต่ละชั้นเป็นที่รวมพรรณไม้และต้นไม้ที่เจาะจงเลือกเอารูปลักษณ์ที่เข้าไปเสริมสภาพแวดล้อมของทิวทัศน์เฉพาะของเทอเรสแต่ละชั้น
เมื่อเดินไปในแต่ละชั้น ทิวทัศน์เปิดใหม่ให้เห็นไปบนเส้นทางเดินเป็นระยะๆเป็นขั้นเป็นตอน
เหมือนการค้นพบสิ่งแปลกใหม่ในแต่ละช่วงในการเล่มเกมส์เป็นต้น เช่นนี้เทอเรสจึงรวมความหลากหลายของทิวทัศน์ทั้งมองจากบนยอดเนินและมองจากระดับเชิงเนิน โปรดติดตามดูภาพต่างๆที่นำมาลงต่อไปนี้
มุมหนึ่งด้านทิศใต้ก็มีเรือนกระจกขนาดเล็กสำหรับพันธุ์ไม้เรี่ยดินขนาดเล็กๆเป็นต้น
เทอเรสอีกด้านหนึ่ง เป็นที่ตั้งของกรงเลี้ยงนกขนาดใหญ่
ทัศนียภาพแตกต่างกันไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมองจากมุมใด จนอาจพูดได้ว่า หนึ่งเทอเรส หนึ่งทิวทัศน์
ที่นั่นนิยมนำกระถางต้นมะนาวมาวางเรียงบนขอบกำแพงเตี้ยๆ เมื่อมาคิดดู ประเทศสเปนดูจะชอบผลส้มมากเป็นพิเศษ มีปลูกกันทั่วไปทั้งประเทศ ส่วนประเทศอิตาลีกลับสนใจปลูกมะนาวพันธุ์ต่างๆ บางแห่งเป็นคลังสะสมพันธุ์มะนาวมากกว่าสองสามร้อยสายพันธุ์เลย เช่น Villa di Castello นอกเมืองฟลอเรนซ์เป็นต้น (เคยไปถามคนสวนว่าแล้วมีพันธุ์มะนาวจากไทยบ้างไหม เขาบอกว่ายังไม่มี วันหนึ่งอาจเอาไปให้ทดลองปลูกที่นั่น) Limonaia [ลี้โม้หนะเหนี่ย] เป็นคำอิตาเลียนที่ใช้เรียกบริเวณที่เพาะปลูกมะนาว(พันธุ์ citrus) และบริเวณจัดวางโชว์ต้นมะนาว ในฤดูอากาศอบอุ่น พื้นที่สวนมะนาวแบบนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในแบบสวนและภูมิทัศน์อิตาเลียน
มีอาคารเหมือนหอคอยทรงแปดเหลี่ยมสองหออยู่สองข้างพื้นที่สวน
เป็นที่ติดตั้งและจัดวางระบบเครื่องกลไกในการบริหารจัดการน้ำ
ที่ต้องนำเข้าไปยังเกาะจากแผ่นดินใหญ่(อิตาลี)
เทอเรสทั้งสิบชั้นบนเกาะ
Isola Bella มีชื่อเสียงเลื่องลือไกลด้านประติมากรรมและพืชพรรณ เป็นที่รวมพันธุ์ไม้ต่างๆเช่น roses,
azalea, พุ่ม rhododendron
รวมทั้งไม้ผลต่างๆเช่นต้นมะนาว ต้นส้ม
ต้นพันธุ์ส้มโอขนาดเล็กเป็นต้น ยังไม่นับถึงต้นไม้เนื้อแน่นขนาดใหญ่ๆเช่นพันธุ์สนทั้งที่พบในอิตาลีและพันธุ์จากต่างแดน
พันธุ์ไม้สนซีดาร์ ไม้สกุล Taxus ฯลฯ
ที่น่ารู้คือตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ ชนชั้นสูง คหบดีผู้มั่งคั่งทั้งหลาย ต่างแข่งกันสะสมต้นไม้พันธุ์แปลกพันธุ์ใหม่จากแดนไกล จากประเทศเอเชียตะวันออกไกลเช่นจีน ญี่ปุ่น และจากทวีปออสเตรเลีย นำมาเลี้ยงดูฟูมฟักกันในยุโรป ซื้อที่ดินที่เหมาะกับพันธุ์ไม้ต่างแดนหรือสร้างเรือนกระจกอภิบาลดูแลต้นไม้อย่างจริงจัง แต่ละคนภาคภูมิใจยิ่งนักหากสามารถเพาะเลี้ยงต้นไม้จากต่างแดนได้งามและเติบใหญ่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ต้นไม้เป็นสมบัติล้ำค่า ที่คนสะสมเหมือนสะสมเพชรนิลจินดา การขนย้ายพืชพรรณทำกันมากขึ้นๆในศตวรรษที่ 19. มาถึงสมัยปัจจุบันค่านิยมนี้ลดลงไปแล้ว น่าที่เราจะกลับมาส่งเสริมความรักต้นไม้กันใหม่และอย่างจริงจัง เพราะความจริงคือต้นไม้มีค่ากว่าทรัพย์สินที่เป็นวัตถุอื่นใด เพราะนอกจากจะให้ร่มเงา ให้ไม้อันมีค่าแล้ว ต้นไม้ยังให้อ๊อกซิเจนแก่เรา ชุบชีวิตเราให้สดชื่น สมองปลอดโปร่ง น่าเสียดายที่คนจำนวนมาก ไม่เคยนึกถึงต้นไม้หรือรู้คุณต้นไม้เลย ถ้าเพียงแต่ละคนปลูกต้นไม้สักต้นในแต่ละปี...
ด้านหลังของเวทีละคร
มองที่มุม จากต่างมุม
มองตามแนวกว้าง จากทะเล
และจบลงด้วยภาพถ่ายจากมุมสูง ภาพจากวิกิพีเดีย
จากเมือง Stresa
บนฝั่งทะเลสาบ Lago
Maggiore ข้าพเจ้าได้แวะไปชมเกาะ Isola
Madre และ Villa Taranto ด้วย (ดูในแผนที่ต้นเรื่อง) ซึ่งก็ประทับใจไม่น้อยกว่ากัน
เจ้าหน้าที่บอกแนะว่าให้กลับไปอีกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
เพราะเกาะทั้งหลายจะยิ่งเฉิดฉายสว่างจ้า ไปด้วยดอกไม้สีชมพูๆของ azalea
และดอก Rhododendrons.
ทะเลสาบ
Lago Maggiore ได้ให้แรงบันดาลใจแก่นักเขียน
กวีคนแล้วคนเล่า ทั้งชาวอิตาเลียนและชาวยุโรป
ผู้ที่เคยไปที่นั่น มักเก็บความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ บรรยากาศ สายลม
แสงแดดและสายน้ำจากที่นั่นติดตัวไปชั่วชีวิต.
John Ruskin นักวิจารณ์และนักสุนทรียศาสตร์ชาวอังกฤษเจาะจงเรียกที่นั่นว่า
“คือสวรรค์บนดิน
เป็นสวนอีเด็นอิตาเลียน”. Stendhal นักเขียนชาวฝรั่งเศส ได้เทียบหมู่เกาะ Borromeo ว่ามีความขลังความยิ่งใหญ่เหมือนกรุงวาติกัน มีศาสตร์และศิลป์เหมือนเมืองฟลอเรนซ์
หรือเป็นความระทึกใจดุจเมื่อไปยืนอยู่เบื้องหน้าภูเขาไฟวีซูเวียส. Hemingway นักเขียนชาวอเมริกันต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากสหรัฐอเมริกา
ไปยังอ่าว Borromeo และฝั่งทะเลสาบสวิสเซอแลนด์ เพื่อจัดฉากสุดท้ายในนวนิยายเรื่อง
A Farewell to Arms.
ที่นั่นหรือที่นี่ ตอนนั้นหรือตอนนี้ ภูมิทัศน์ของความฝันของข้าพเจ้ามีภูเขาและทะเลเป็นองค์ประกอบเสมอ
ข้าพเจ้ามองชีวิตผ่านทัศนมิตินี้ ที่ยังคงโดนใจและดลใจไม่เสื่อมคลาย…
ขอบคุณฟ้าดิน
There and here, then and now, hill and sea are always present in the landscape of my dream. They always move me. They always inspire me. They are parts of me.
Thank World...
ข้าพเจ้ามองชีวิตผ่านทัศนมิตินี้ ที่ยังคงโดนใจและดลใจไม่เสื่อมคลาย…
ขอบคุณฟ้าดิน
There and here, then and now, hill and sea are always present in the landscape of my dream. They always move me. They always inspire me. They are parts of me.
Thank World...
บันทึกเดินทางเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ๒๐๐๕
ของโชติรส
โกวิทวัฒนพงศ์
นำลงบล็อกณวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๗.
--------------------------------------------------ไม่ไกลจาก Lago Maggiore มี Lago di Como [ล้าโก๊ะ ดิ โกโหมะ] ซึ่งก็เป็นทะเลสาบสวยงาม มีวิลลางามๆริมฝั่งน้ำอีกหลายแห่งที่อาจไปตั้งหลักเที่ยวได้ณสามเมืองนี้คือ Menaggio[เมนาด-จิโอ], Bellagio[เบ้ลหล่า-จิโอ], หรือที่ Lecco[เล็ก-โกะ] ข้าพเจ้าได้ด้นดั้นไป และอยากแนะให้ไปชมวิลลาในแถบนั้น เช่น Villa Carlotta, Villa Melzi d’Eril, สวนและเมือง Bellagio ที่ลือชื่อ เนื่องจากต่อมามีการสร้างโรงแรมขนาดมหึมาที่ Las Vegas พร้อมสระน้ำขนาดใหญ่หน้าโรงแรม ที่นั่นทุกคืนมีการแสดงดนตรีหรือระบำน้ำ เมื่อสายน้ำเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามคลื่นเสียงของดนตรีแต่ละเพลง สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ยังเตือนให้นึกถึงกลเม็ดเด็ดพรายของน้ำในสวนอิตาเลียนที่สร้างในยุคเรอแนสซ็องส์ อิตาลียังครองความเป็นหนึ่งในกุศโลบายเรื่องน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ
แผนที่ทะเลสาบ
Lago di Como
ขอบคุณ ข้อมูลดีๆครับ ข้อมูลดีมากๆ
ReplyDeleteดีใจที่ชอบค่ะ
Delete