Sunday, 24 August 2014

เกาะบุปผาชาติ - Blumeninsel Mainau


Insel Mainau, Constanz

สรุปประวัติสั้นๆได้ว่า ปราสาทบนเกาะ Mainau [มั้ยเนา] สร้างเสร็จในราวปี 1746 ต่อมาปี 1827 เจ้าชายฮังกาเรียน Nikolaus III Esterhazy ได้ซื้อเกาะนี้ และนำต้นไม้หายากไปปลูกที่นั่น  หลังจากนั้น เกาะนี้ตกไปเป็นสมบัติของท่านดยุ้ค Friedrich I แห่ง Baden ในปี 1853   ท่านเป็นผู้ชอบเดินทาง ไปไหนมาไหน ต้องนำต้นไม้จากทุกถิ่นกลับมาปลูกที่เกาะ Mainau  และบริหารจัดการปรับพื้นที่ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม  เท่ากับว่าท่านเป็นผู้วางแปลนการปลูกการพัฒนาเกาะคนแรก  แปลนที่จะสืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้  ในต้นศต.ที่ 20 เกาะนี้ตกไปเป็นสมบัติของราชวงศ์สวีเดน  เมื่อท่านเคาต์ Lennart Bernadotte สมรสกับหญิงสามัญชน ชื่อ Karin Nisswandt  ทำให้หมดสิทธิ์ที่จะสืบราชบัลลังก์สวีเดน ได้พากันย้ายไปอยู่บนเกาะ Mainau ในปี 1932 และตั้งแต่นั้นมาเกาะนั้นกลายเป็นบ้านแห่งความสุขของทั้งสอง  ทั้งสองได้เปลี่ยนโฉมหน้าและภูมิทัศน์ของเกาะ จนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน  ทายาทคนปัจุบันสืบตระกูล Bernadotte และยังคงอยู่ต่อที่นั่น แต่ก็เปิดเกาะนี้ให้ประชาชนเข้าไปชมได้เกือบตลอดทั้งปี   

           ในข้อมูลโฆษณานำเที่ยวเกาะนี้  เรียกเกาะว่า เป็นเกาะบุปผาชาติ (Blumeninsel Mainau [บลู้เมิ่นอินเซ็ล มั้ยเนา])  ซึ่งไม่เกินความจริง  นอกจากดอกไม้ที่ดารดาษในแต่ละฤดู สำหรับข้าพเจ้า สิ่งที่เหนือกว่าดอกไม้ คือต้นไม้ขนาดยักษ์จำนวนมากบนเกาะ  เกาะนี้จึงไม่เป็นเพียงเกาะรวมดอกไม้นานาพันธุ์ ยังรวมต้นไม้หายากขนาดยักษ์เป็นจำนวนมากด้วย  เมื่ออุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณ  จึงได้เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาประเภท จนในที่สุด เกาะนี้นอกจากจะเป็นอุทยานดอกไม้ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ ยังเป็นสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอีกด้วย   ข้าพเจ้าเคยไปแล้วสองครั้ง ใช้เวลาทั้งวัน จึงจะเดินรอบ แต่ก็ยังดูไม่ครบ เพราะมีอะไรให้ดูให้ชมอยู่ทุกมุม  ปีนี้ไปจากเมือง Romanshorn [โร้มั่นสฺฮอน] ในสวิสเซอแลนด์ ซึ่งไกลจากเกาะ จึงมีเวลาน้อยสำหรับจะสำรวจหรือถ่ายภาพทุกมุม  ครั้งก่อนๆก็ได้ถ่ายไว้เช่นกัน จำได้ว่า ประทับใจที่ได้เห็นนกฮูกสีขาว ตัวใหญ่สามสี่ตัว เกาะนิ่งหลับตา แล้วเปิดตาข้างหนึ่งเหลือบดูคน (เหมือนในหนังการ์ตูนที่เคยดูในวัยเด็ก)    ปกติมักไม่อ้อยอิ่งอยู่กับสัตว์นัก เพราะสนใจต้นไม้ใหญ่ๆมากกว่า   เที่ยวนี้ก็มัวแต่ถ่ายภาพต้นไม้สูงมหึมา  ถ่ายเปลือกต้นไม้ ต้นต่างๆ  จนถ่านหมด(สองก้อนในสี่ชั่วโมง ซึ่งปกติใช้ได้หกชั่วโมง)  

           ภาพที่นำมาให้ชม เป็นภาพจากการไปเยือนปีนี้ เลือกมาเฉพาะภาพวิวมุมกว้างที่มีสีสันของดอกไม้ (เพื่อล่อใจเพื่อน)   อีกสิ่งหนึ่งที่มิอาจตามไปถ่ายมาให้ครบ คือประติมากรรมแบบต่างๆที่ประดับทั้งเกาะ  ทั้งแบบคลาซสิก แบบนิวลุค แบบโลหะหนักที่อ่อนโยนลงด้วยมือของศิลปินที่คลึงเคล้าด้วยความพิศมัย   ชอบประติมากรรมในธรรมชาติ เสียดายถ่านหมดซะก่อน แต่ก็ได้มาหลายใบที่ดูประทับใจ    ธรรมชาติแท้ๆนั้นงามสะดุดตาและสยบหัวใจคน  งามยิ่งขึ้น ประทับใจยิ่งขึ้นเมื่อมีมือคนเข้าไปขัดเกลาให้คลายความกระด้างลง และเมื่อดวงตาคนได้สัมผัสอย่างรู้ค่าและรู้คุณ   ภาพที่นำมาให้ชมนี้  ไม่ต้องมีคำบรรยาย  ดอกไม้ ใบไม้ ต้นไม้ แข่งกันโอ้อวดโชว์ตัว   เราทำได้ก็เพียงโอบรับความงามและซึมซับพลังจากเพื่อนร่วมโลกผู้ให้อ๊อกซิเจนแก่ปอดเรา


 

ที่ตั้งของเกาะ Blumeninsel Mainau บนฝั่งทะเลสาบ Bodensee
คำ blumen แปลว่าดอกไม้และคำ insel แปลว่า เกาะ
บนเส้นทางจาก Romanshorn  เรือแวะหลายเมืองเช่นที่นี่ ท่า Bottighofen


ชอบที่มีต้นไม้ขึ้นติดฝั่งเลย กันลมกันฝนให้แกพื้นที่ชายฝั่งไปด้วย

ท่าเรือเมือง Kreuzlingen เมืองสวิสฯที่ใหญ่ที่สุดบนฝั่งทะเลสาบนี้ 
เมืองเล็กที่น่าสนใจอีกหนึ่งคือเมือง Uhldingen ดังที่เห็นในภาพ มีบ้านแบบกระท่อมหรือเรือนแพอยู่นอกฝั่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งชื่อ Pfahlbauten บริเวณแถบนี้ ขุดพบเหรียญกษาปณ์ที่มีอายุจากยุคคริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง และเชื่อกันว่าเคยมีคนอาศัยอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ยุค Neolithic และ/หรือยุคทองสัมฤทธิ์กันแล้ว บนเส้นทางโรมันนี้ที่เชื่อม Meersburg, Salem และเกาะ Reichenau  
ภาพข้างล่างเป็นสะพานเทียบเรือเมื่อถึงเกาะ Mainau
 
ดูแผนผังของเกาะที่มีพื้นที่ประมาณ 0.447 ตารางกิโลเมตร 
มีสะพานเชื่อมทางบกกับแผ่นดิน ตรงที่เห็นเป็นที่จอดรถด้านซ้ายของภาพ

เมื่อซื้อตั๋วเดินเข้าไปในสวน ซ้ายมือ(และขวามือ) เป็นร้านอาหารและขายของที่ระลึก หนังสือ  ด้านซ้ายที่เห็นในภาพนี้ มีต้นจามจุรีเกือบสิบต้น ยังเป็นต้นอายุน้อย แต่ดูแข็งแรงแล้ว  ต้นริมทางขวาของภาพมีดอกสีชมพูบานงาม  ต้นไม้เหมือนคน ที่นำมาเพาะมาฟูมฟัก แม้ในอากาศที่ผิดไปจากถิ่นกำเนิด ก็อาจเจริญเติบโตและแข็งแรง ทานลมทานหนาวของอากาศแถบนั้นได้ในที่สุด  เหมือนเด็กผิวดำจากแอฟริกา ก็สามารถมีชีวิตที่แบ่งบานได้ในต่างทวีปในแดนอากาศหนาวจัด  ทุกอย่างต้องใช้เวลา ธรรมชาติจัดสรรให้ได้  ปรับตัวให้เคยชินกับสภาพใหม่ได้ในที่สุด  นี่คือความมหัศจรรย์ของชีวิตแท้ๆ
สวนกุหลาบที่อยู่ติดด้านหนึ่งของปราสาท และมีเรือนกระจก อภิบาลพืชพรรณต่างๆในช่วงหนาวจัด  เดือนกรกฎาคม กุหลาบยังบานอยู่บ้าง  คนสวนที่ไปพูดด้วย บอกให้ไปหน้าใบไม้ผลิ เพราะทั้งเกาะมีดอกทิวลิปเต็มไปหมด  นี่เป็นอีกหนึ่งจุดในยุโรปสำหรับผู้ชอบไปเดินในทุ่งทิวลิป  หากไป Keukenhof ในเนเธอแลนด์แล้ว Mainau น่าจะเป็นอีกแห่งหนึ่งที่จะประทับใจทุกคน  ดูภาพตัวอย่างสวนดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ ตอนท้ายของบทนี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 หนามตำ
ประติมากรรมคลาซสิกยอดนิยมแบบหนึ่ง ที่มักพบประดับตามสวน อุทยานหรือวังในยุโรป
 
ความงามตระหง่านของต้นไม้ทั้งมวล ประติมากรรมโลหะหนักก็ดูอ่อนช้อยไม่น้อย
ต้น Linden /Lime tree ที่พระราชินีวิคตอเรียทรงพระราชทาน
แด่ Friedrich I แห่ง Baden ไปปลูกไว้ที่นั่นในปี 1862

 
 


ตัวอาคารปราสาท ตำหนักใหญ่ ชั้นล่างเป็นห้องจัดนิทรรศการ
มีมุมขายอาหารว่างและเครื่องดื่มรวมทั้งหนังสือ การ์ดต่างๆ

แปลงดอกไม้ "แบกะดิน" แบบนี้ ก็มีทั่วไปในสวน
 เผชิญหน้า ตัวต่อตัว ตาต่อตา
ตากะยาย หลบเข้าในเงาไม้ 
 ผลประโยชน์ทับซ้อน
ตาเบิ่ง หูฟัง เก็บวาจา 
น้ำไหลลงเป็นเส้นตรงเพะๆ จากบนเนินสู่ทะเลสาบ 
 ถ้าเพียงแต่คนเดินตรงบนทางสายกลาง..
ไต่เต้าบนบันไดสู่ความงาม 

 ตรงไปสู่จุดหมายปลายทาง
 เหลืองๆทองๆ
 เหลืองแดงแสง "ธรรมะ" วิไล ปกแผ่ไปในทุกทาง
ดูนั่น ดูนี่ เอี้ยวไป เอี้ยวมา 
ใต้ร่มรุกขราชา
 

มีผู้นำภาพจำนวนมากมารวมไว้บนเน็ต สะพรั่ง ตระการตา เชิญตามเข้าไปชมในเว็ปของวิกิมีเดีย ที่นี่
โอกาสหน้าจะพานั่งเรือเหาะนามกระเดื่องโลก Zeppelin [เซ็ปเปอะลีน]
บินวนเวียนเหนือทะเลสาบ Bodensee
 
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเกาะ Mainauได้ที่นี่ http://www.mainau.de/home.html
และดูกิจกรรม นิทรรศการหรือการแสดงดนตรี สารพัดจะมีจัดกันที่นั่น
คลิ้กเข้าไปดูปฏิทินได้ที่นี่
 
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
เมื่อไปเยือนวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗
 
 

 


2 comments:

  1. สวยจัง ทั้งสวนและงานประติมากรรม

    ReplyDelete
  2. สวยมากค่ะโช ชอบต้นไม้ใหญ่ที่เขาตัดแต่งกิ่งก้านให้เป็นระเบียบไม่เกะกะกันเอง ชอบความเขียวสดที่ทำให้รู้สึกชุ่มชื่น สวนอย่างนี้จะหาไม่ได้เลยทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาเพราะปัญหาเรื่องการขาดแคลนนํ้า ชอบศิลปะหล่อโลหะด้วย ขอบคุณค่ะที่เอารูปมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ

    ReplyDelete