พรมดอกไม้ที่บรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม - Tapis de fleurs.
บรัสเซลเมืองหลวงของเบลเยี่ยม อยู่ในมณรัฐ Gent [เค้นท] หรือ Gand [ก็อง].
ภาพแผนที่ประเทศเบลเยี่ยมแสดงเขตการใช้ภาษา (from Wikipedia). ประเทศเบลเยี่ยมมีภาษาทางการสองภาษา
ใช้คู่กัน เป็นภาษาประจำชาติ. ในดินแดนทางเหนือ
(เขตสีเหลืองในภาพ) ใช้ภาษา Flemish [เฟลมมิฉ] ที่เป็นภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของภาษาดัตช์ (Dutch ที่ใช้ในประเทศเนเธอแลนด์). ส่วนในดินแดนทางใต้(เขตสีแดง) ใช้ภาษาฝรั่งเศส (เรียกกันว่าเป็น “ฝรั่งเศสเบ้ลจ์” Français belge ที่มีระบบคำ ความหมายที่ไม่เหมือนภาษาฝรั่งเศสเลยทีเดียว แต่การออกเสียงเกือบเหมือนกันทุกประการ). คำ Gent เขียนและอ่านในภาษาเฟลมมิช และ Gand เขียนและอ่านตามภาษาฝรั่งเศสที่ใช้ในเบลเยี่ยม
มีหลักฐานยืนยันตั้งแต่ปี 1860 แล้วว่า ชาวเมืองนิยมปลูกไม้ดอกที่เรียกกันสามัญว่า บิโกเนีย-begonias [บิโกเนีย] (ชื่อวิทยาศาสตร์คือ tuberosa grandiflora). บิโกเนีย เป็นไม้ดอก อยู่ได้หลายปี มีประมาณ 1,800 สายพันธุ์. ถิ่นดั้งเดิมของมันจากหมู่เกาะแอนติลลิส (Antilles) ในทะเลแคริบเบียน. ดอกสีสดใส ทั้งสีขาว แดง เหลือง ส้ม และสีโทนผสมระหว่างสีเหล่านี้. ชาวยุโรปชอบปลูกในกระถาง ประดับภายในที่พักอาศัย (ต้นไม้นี้ขึ้นในเขตอากาศร้อนและเขตใกล้โซนร้อน)
ตัวอย่างดอกบิโกเนีย
ประเทศเบลเยี่ยมปลูก บิโกเนีย เป็นอุตสาหกรรม พัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ ดอกใหญ่ กลีบหนา ทำให้อยู่ได้นานวัน. สถิติบอกว่า ผลิตหัวดอกบิโกเนียประมาณ 35 ล้านหัวต่อปี และตั้งแต่ปี
1860 ร้อยละ 80 ของดอกบิโกเนีย
ปลูกในปริมณฑลเมือง Gand เมืองบรัสเซลตั้งอยู่ในจังหวัดนี้
และส่วนใหญ่ส่งออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศเนเธอแลนด์ สหรัฐอเมริกา
สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมนี. ชาวสวนเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์บิโกเนียตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม เมื่อถึงฤดูร้อน ดอกบิโกเนียแสนๆดอกประดับดินแดนแถบนี้ เป็นภูมิทัศน์ที่ตระการตายิ่งนัก จึงเป็นธรรมดาที่พรมดอกไม้ของเบลเยี่ยม ใช้ดอกบิโกเนียมาประดับล้วนๆ ปูพื้นจัตุรัสกลางเมือง
เช่นที่เมือง Knokke, เมือง Audenarde, Saint-Nicolas และเมือง Lille
ตั้งแต่ปี 1952.
ส่วนการทำพรมดอกไม้ที่จัตุรัสกลางเมืองบรัสเซล (la Grand-Place) นั้นเพิ่งเริ่มในปี 1971 อาจมาจากความไม่พร้อมบางประการ เพราะเป็นเมืองหลวง จึงมีความจำเป็นและข้อจำกัดหลากหลายกว่า. โครงการทำพรมดอกไม้นั้น ใช้เวลาคิดและเตรียมการนานตลอดหนึ่งปีทีเดียว และตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ตกลงกันว่าจะให้มีการโชว์พรมดอกไม้ทุกสองปีณจัตุรัสใหญ่กลางเมืองบรัสเซล (la Grand-Place).
จัตุรัสใหญ่หรือ Grand-Place เมืองบรัสเซล. ภาพของ
Celuici, 17 June 2018. [CC BY-SA 4.0], from Wikimedia Commons.
จัตุรัส Grand-Place [กรองดฺปลาซ] นี้ เป็นที่ตั้งของตึกสวยๆงามๆจำนวนมากดังเห็นได้ในภาพข้างบนนี้
ทั้งอาคารแบบสถาปัตยกรรมกอติค หรืออาคารนีโอคลาซสิกในยุคศตวรรษที่ 16 หรือแบบบาร็อค. การก่อสร้างเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 15. บริเวณนี้เป็นที่ตั้งขององค์การและองค์กรสำคัญๆของเมือง รวมทั้งกลุ่มอาชีพที่เรียกว่าคอร์ปอเรชั่นและที่สำคัญที่สุดคืออาคารเทศบาลนครบรัสเซล
(ที่เรียกกันในภาษาฝรั่งเศสว่า
Hôtel de Ville คำนี้ไม่เกี่ยวกับโรงแรมตามที่หลายคนเข้าใจผิด) ที่มีหอคอยสูงถึง 96 เมตร. ยอดหอคอยประดับด้วยรูปปั้นของอัครเทวทูตไมเคิลผู้เหยียบบนตัวมาร(ในร่างของมังกร)
ที่สูงสามเมตร เป็นตราสัญลักษณ์และตราประจำเมืองบรัสเซล.
จัตุรัสนี้ถูกกองทัพนโปเลียนถล่มพังพินาศตลอดเวลาสามวันสามคืนในปี
1695 ทำลายอาคารบ้านเรือนไปกว่า 5000 หลัง แต่ภายในเวลาเพียงห้าปี ชาวเมืองกับกลุ่มคอร์ปอเรชั่นต่างๆ
ร่วมมือกันสร้างอาคารต่างๆขึ้นใหม่
และคงอยู่เป็นตัวอย่างสุดยอดของสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกันได้อย่างสมดุลและสง่างาม และที่ผนึกจิตวิญญาณของชาวบรัสเซลไว้อย่างไม่มีอะไรจะมาลบเลือนได้. การจัดแสดงพรมดอกไม้ที่นั่น
เป็นโอกาสให้ทุกคนได้ชื่นชมความงามและบรรยากาศของจัตุรัสใหญ่กลางเมืองบรัสเซลครั้งแล้วครั้งเล่า
และคงต้องยอมรับในที่สุดว่า นั่นเป็นพื้นที่ เป็นจัตุรัสที่น่าทึ่งที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป.
พื้นที่ทั้งบริเวณ
Grand-Place (ประมาณ 68 x 110 เมตร) ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกตั้งแต่ปี 1998. อาคารที่ตั้งของกลุ่มคอร์ปอเรชั่นนั้น สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 และบูรณะใหม่ในศตวรรษที่ 19. สถาปัตยกรรมเป็นแบบบาร็อคผสมผสานกับเสาสูงๆแบบกรีก
ที่มีทั้งแบบไอออนิค ดอริคและคอรินเธียน. มีรูปปั้นประดับยอดกำแพงด้านหน้าของแต่ละอาคาร
(ดั้งเดิมรูปปั้นเหล่านี้ เคลือบด้วยสีทอง เรายังเห็นร่องรอยของสีทองอยู่บางส่วนของรูปปั้น).
คอร์ปอเรชั่นในเบลเยี่ยม มีสถานะเหมือนสหพันธ์กลุ่มอาชีพ เช่น สหพันธ์ช่างทำขนมปัง ช่างทำถังไม้(ที่ใช้บรรจุเหล้าองุ่นเป็นต้น) ช่างทำธนู ชาวเรือ
ผู้ขายเครื่องเย็บปักถักร้อย คนขายเนื้อ คนทำเบียร์ เป็นต้น. ยังมีอาคารที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่ง รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ลูกไม้ถัก พิพิธภัณฑ์ช็อกโกแลต (ช็อกโกแลตเบลเยี่ยม
ก็ลือชื่อมากในโลกเช่นกัน) พิพิธภัณฑ์เบียร์ (เบียร์ มีความสำคัญต่อชาวเบลเยี่ยมมาก จนเป็นเครื่องดื่มประจำชาติไปแล้ว) และปัจจุบันยังมีธนาคาร ร้านค้าและร้านอาหาร.
ยามเมื่อไม่มีการแสดงพรมดอกไม้หรือการแสดงอันใด และเมื่ออากาศไม่หนาว ร้านอาหารและภัตตาคาร ได้รับสิทธิ์ให้ตั้งโต๊ะอาหารออกไปบนลานได้ส่วนหนึ่ง. แม้ว่าทุกร้านจะเอาโต๊ะเก้าอี้ออกไปตั้งกัน ก็ยังมีที่โล่งว่างสำหรับผู้คนเดินเล่นไปๆมาๆในจัตุรัสนี้. จัตุรัสนี้ห้ามรถใดๆผ่าน ความงามของอาคารในบริเวณนี้
ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้การดื่มการกินที่ร้านหนึ่งร้านใดในระแวกนี้ มีบรรยากาศพิเศษ
มีเสน่ห์ติดตรึงใจเพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าอาหารบางทีไม่เลิศนักก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อมีลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวเอเชียจำนวนมากขึ้นๆ
มีส่วนทำให้คุณภาพอาหารดีน้อยลง แต่ถ้าเป็นการดื่มล่ะก็ พอจะเชื่อได้ว่า คุณภาพเลิศตามคุณภาพของเหล้าหรือเบียร์ของประเทศเบลเยี่ยม ที่นักดื่มจากทั่วโลกยอมรับกันแล้ว.
สิบแปดปีก่อน
(ปี 2000) ข้าพเจ้าเดินทางไปชมพรมดอกไม้ที่เมืองบรัสเซลอย่างเฉพาะเจาะจง. ข้าพเจ้าไปก่อนวันเปิดงานสองวัน เห็นเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมงาน
ทุกคนกำลังตระเตรียมพื้นที่ จัดต่อโต๊ะหรือน่าจะเรียกว่าเวที (platform) ต่อๆกันเป็นแผ่นไม้ใหญ่ กว้าง 24 เมตรและยาว 75 เมตร ยกระดับขึ้นเหนือพื้นถนนเล็กน้อย
รวมเป็นพื้นที่จัดพรมดอกไม้ ทั้งหมด 1800 ตารางเมตร. พรมดอกไม้ทั้งผืนปีนั้น จึงมิได้วางลงบนพื้นถนนโดยตรง. การที่ต้องยกระดบขึ้นเหนือพื้นถนนนั้น เพราะใต้แผ่นไม้ที่เป็นฐานรองรับดอกไม้ มีท่อน้ำ ทรายและกลไกบางชนิดซ่อนอยู่. เช่นในปีที่จัดพรมเป็นสวนฝรั่งเศส ก็มีการจัดน้ำพุตรงกลางพรมด้วย. ในกรณีอื่นๆนั้น ดอกไม้วางลงบนพื้นถนนเลย อาจมีปลาสติกแผ่นใสเจาะเป็นรูๆทั้งผืน
ปูทั้งพื้นที่จัดทำพรม. พื้นถนนจริงๆที่นั่น คือหินที่เรียงต่อๆกัน ตามวิธีการสร้างถนนในศตวรรษก่อนๆ.
ปี 2000 นั้น เมืองบรัสเซล เสนอพรมดอกไม้ มีลวดลายของผ้าลูกไม้สีขาว มีสระน้ำพุจริงตรงกลางพรม มีตราสัญลักษณ์ประจำเมือง. เพราะมีน้ำพุนี่เองที่ทำให้ต้องมีระบบน้ำใต้พรม
และต้องยกพรมทั้งผืนขึ้นเหนือพื้นเล็กน้อย. พิธีเปิดงานเริ่มในคืนวันที่ 11 สิงหาคม มีการเล่นแสงสีและดนตรี
เป็นการฉลองและขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำพรมดอกไม้ทุกคน. พวกเขาทั้งหมดเป็นอภิสิทธิชน ขึ้นไปยืน มองชมผลงานของพวกเขาบนชั้นสองของอาคารเทศบาลนครบรัสเซล เป็นกลุ่มแรก. ประชาชนทั่วไปจะไปชมพรมดอกไม้ได้ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น ที่ตรงกับวันที่
12-15 สิงหาคม(ปี 2000). ผู้ที่สนใจอยากชมจากที่สูงๆ ก็ไปซื้อบัตร (ราคา 100 ฟรังค์เบลเยี่ยม หรือเท่ากับ
2-3 ดอลลาร์สหรัฐ ปีนั้นเบลเยี่ยมยังไม่ใช้เงินยูโร
ปัจจุบันราคาตั๋วเป็น 6 ยูโร) เพื่อขึ้นไปชั้นที่สองของอาคารเทศบาลนครบรัสเซล ที่เปิดเพื่อการนี้โดยเฉพาะตั้งแต่เวลา 9-22 นาฬิกา. เช่นนี้ทุกคนมีโอกาสเห็นลวดลายทั้งผืนของพรมดอกไม้. ดูจากระดับพื้น
ก็จะเห็นกลีบดอกไม้อย่างชัดเจน. ดอกไม้ที่นำมาทำพรม เด็ดมาแต่ตัวดอกเท่านั้น มิได้อยู่ในกระถาง (ที่ญี่ปุ่น ใช้ทั้งกระถางมาวางต่อๆกัน
ให้เป็นไปตามผังตามแบบที่เตรียมไว้ แผ่ไปทั่วพื้นที่ เช่นกระถางทิวลิปเป็นพันๆกระถาง
และจะเปลี่ยนกระถางเมื่อดอกไม้ดอกใดเหี่ยว เพื่อให้ทุกดอก สวยสดตลอดเวลา)
เจ้าหน้าที่กำลังขมักเขม้นจัดวางดอกบิโกเนีย
พวกเขาเริ่มต้นในตอนเช้าและต้องเสร็จภายในแปดชั่วโมงอย่างช้า.
พรมดอกไม้ปี 2000
การจัดพรมดอกไม้มีทุกสองปี
จัดช่วงกลางเดือนสิงหาคมและมักอยู่ในช่วงก่อนหรือทันทีหลังวันที่15 สิงหาคมเสมอ เพราะวันที่ 15 สิงหาคม เป็นวันสำคัญของชาวแคทอลิควันหนึ่ง คือเป็นวันรำลึกถึงพระแม่มารีขึ้นสวรรค์ –
the
Assumption และเป็นวันหยุดในยุโรป. ทางการพยายามเลือกให้มีวันสุดสัปดาห์ด้วย
เพื่อให้มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน สะดวกแก่การจัดงานและฝ่ายอาสาสมัคร. เป็นเดือนพักร้อนสำหรับชาวยุโรปส่วนใหญ่ด้วย. ผู้คนออกเดินทางไปในที่ต่างๆ หรือไปเที่ยวชมเมืองอื่นๆ.
ผลพลอยได้จากการไปชมดอกไม้ในช่วงเทศกาลฤดูร้อนในเบลเยี่ยมนั้น
ทำให้ได้เห็นกิจกรรมชุมชนอีกชนิดหนึ่งที่เป็นงานฝีมือเช่นกัน. เฉกเช่นงานหัตถกรรมประเภทต่างๆในประเทศยุโรปเขตหนาวและเขตอบอุ่น
เริ่มมาจากการใช้เวลาว่างระหว่างฤดูหนาว เมื่อกิจกรรมงานเพาะปลูกยุติลง
เป็นช่วงเวลาอยู่กับบ้านและใช้เวลาว่างหลายเดือนในฤดูหนาว
สร้างสรรค์งานประดิษฐ์งานประดับแบบต่างๆ. การถักลูกไม้ก็คงเป็นเช่นนั้น
หลายคนได้พัฒนาฝีมือและทักษะจนทำเป็นอาชีพ. ลูกไม้ถักมือของชาวเบลเยี่ยม เป็นงานประณีต เป็นที่รู้จักชื่นชมกันทั่วไป
และราคาแพงทีเดียว. พรมดอกไม้ปี 2000 นั้นเสนองานลูกไม้ถักมือที่นำมาประดับบนโต๊ะยาวในครอบครัว.
ประเทศเบลเยี่ยม และโดยเฉพาะเมืองบรัสเซลกับเมืองบรู๊จ (Brugge) มีชื่อเสียงในการทำลูกไม้ถักมือ (lace making) ถักกันเป็นผืนๆ ใช้คลุมโต๊ะ เครื่องเรือนหรือเตียงนอน
หรือเป็นแถบยาวๆ สำหรับนำไปติดเสื้อ เป็นลูกไม้ระบายเสื้อสตรีหรือประดับสิ่งทออย่างอื่น. ชาวเมืองยังคงรักษาศิลปะการทำลูกไม้ถักมือและถ่ายทอด สอนอนุชนรุ่นหลัง เช่นที่เมืองบรู๊จ ในระหว่างฤดูร้อนและในวันสุดสัปดาห์ ณ จัตุรัสเล็กกลางเมือง ชาวบ้านรวมกันจัดตลาดนัด นอกจากการซื้อขายผลิตภัณฑ์การเกษตรจากสวนครัวหรือจากไร่นาของพวกเขาเอง
ยังมีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพื้นบ้าน รวมถึงการนำผลงานลูกไม้ถักมือมาแสดงหรือขายด้วย. อีกมุมหนึ่งรวมกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ทั้งสาวและแก่ (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ก็มีเด็กผู้ชายด้วย) ทุกคนไปนั่งถักลูกไม้ เรียงโต๊ะกันไปบนถนนเป็นแถว. บางคนมีผืนลูกไม้ที่ถักเสร็จแล้ววางโชว์อยู่ข้างๆ
จะขอซื้อก็คงได้. ตลาดนัดที่นั่น กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวไปด้วย. นับว่าเป็นการส่งเสริมงานฝีมือที่ละเอียดประณีตให้คงอยู่ต่อไป ทั้งยังสอนให้เยาวชนรู้จักใช้เวลาระหว่างปิดภาคฤดูร้อนให้เป็นประโยชน์ เป็นกิจกรรมเสริมทั้งทักษะและอบรมบ่มนิสัยให้มีความอดทน ความพยายามและความตั้งใจ. ดังสองภาพข้างล่างนี้ที่ข้าพเจ้าไปถ่ายมาเองในปี 2000. ปีหลังๆ
เมื่อผ่านเข้าไปในเบลเยี่ยม ไม่เคยได้เห็นอีกเลย คิดอยู่ว่าเครือข่ายไอทีมีพลังดึงดูดเหนือกว่า
ได้ยึดเวลาว่างของเด็กๆและหนุ่มสาวไปหมดแล้วกระมัง.
ภาพน่ารักของชุมชนหลายรุ่น นั่งถักลูกไม้กันที่เมืองบรู๊จ
กลับมายังเรื่องราวของพรมดอกไม้… ดอกไม้ที่ใช้ ดังกล่าวแล้ว
คือดอกบิโกเนียเหมือนกันทุกปี บนพื้นที่ยาว 75 เมตร กว้าง 24 เมตร. พรมที่เนรมิตขึ้นในแต่ละครั้ง มีลวดลายแตกต่างกัน. เป็นไปตามหัวข้อที่เลือกมาเป็นเนื้อหาของพรมดอกไม้(ตามความคิด ตามสมัยและตามสถานการณ์โลกด้วย). ใช้ดอกบิโกเนีย
ทั้งหมดประมาณ หกแสนถึงแปดแสนดอก. ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว ระบุว่า บนเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ต้องใช้ดอกไม้มากกว่า 300 ดอก. เขาตัดเอาแต่ดอกมาเท่านั้น ดอกไม้ไม่อยู่ในกระถาง
ไม่มีใบไม่มีกิ่งใดๆ. นอกจากเป็นดอกที่ตัดมาสดๆแล้ว
ดอกที่ต้องการ ยังต้องมีสีเหลือบแก่อ่อนเพียงพอให้เลือกใช้ เพื่อให้ได้ลายที่ต้องการ. โชคดีอีกเช่นกันที่ดอกบิโกเนีย
มีตั้งแต่สีแดงเข้ม แล้วสีอ่อนลงๆ
เรื่อยไปจนถึงสีขาว รวมทั้งกลุ่มสีส้ม-สีทอง-สีเหลือง.
พรมแต่ละผืน ต้องสั่งจองดอกบิโกเนียล่งหน้าเป็นปีเลย.
คณะกรรมการเพื่อการทำพรมดอกไม้
รวมผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพหลายแขนงทั้งนักวาดเขียน นักออกแบบกราฟฟิก นักภูมิสถาปัตย์
ทั้งหมดร่วมกันจินตนาการรูปแบบพรมที่จะสร้างสรรค์ขึ้น.
เนื้อหานั้นเลือกตามเหตุการณ์สำคัญๆของประเทศเบลเยี่ยมเอง(ในปีแรกๆของการจัดทำ)
และต่อมาขยายเนื้อหาออกไปสู่ชุมชนโลก สู่ทวีปอื่น ประเทศอื่น
หรือเพื่อสื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบลเยี่ยมกับประเทศอื่นเป็นต้น. เมื่อเลือกเนื้อหาของพรมที่จะทอขึ้น
ก็จัดการทำรูปจำลอง คำนวณจำนวนดอกไม้สีใดเท่าใด. ต้องมีการสั่งจองดอกบิโกเนียตัดสดๆเป็นแสนๆดอกนานล่วงหน้าก่อนการจัดจริง. สองสามวันก่อนวันจัดแสดงจริง
จะมีภาพวาดแสดงลวดลายพรมขนาดเท่าพรมจริงที่จะทำ วางแผ่ลงบนพื้นที่จัตุรัสใหญ่กลางเมืองบรัสเซล.
ภาพวาดลวดลายนี้ทำมาจากแผ่นปลาสติกที่เจาะเป็นรูเล็กๆทั้งผืน เมื่อวางลายนี้ลงบนพื้นจัตุรัสแล้ว
งานเรียงดอกไม้จึงเริ่มขึ้น.
ใครเป็นผู้ทำพรมดอกไม้นั้น
ข้อมูลดั้งเดิมระบุว่าเป็นช่างทอผ้า (และไม่ใช่นักจัดดอกไม้-fleurist). ข้อมูลปัจจุบันเขียนใหม่ว่าเป็นคนสวนอาสาสมัครจำนวนร้อยกว่าคน ที่มารวมกันทำ ตามวันที่กำหนด และให้สำเร็จตรงตามวันที่กำหนด. ข้อมูลปีนี้ (2018)เจาะจงว่า ทั้งหมดภายในเวลาแปดชั่วโมง(ภายในหนึ่งวัน) พรมบางปีใช้เวลาน้อยกว่านั้น. พรมดอกไม้ เป็นสิ่งเปราะบางและจะอยู่เป็นพรมได้นานเท่าที่ดอกไม้จะทนการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้เท่านั้น. จากภาพในอดีตที่ถ่ายกันมา
เป็นช่วงครึ้มฟ้าครึ้นฝน ฝนตกเลยก็มี แต่ปีหลังๆมา เป็นความร้อนระอุแทน
ที่ยากจะทนกว่าฝน เช่นนี้ทำให้การจัดโชว์พรมดอกไม้บนพื้นที่จัตุรัสกลางเมืองนั้น ต้องมีกำหนดเวลาแสดง กี่วันอย่างเฉพาะเจาะจง. วันก่อนเปิดงาน
เขานำสนามหญ้าเป็นม้วนๆมาเติมช่องว่างระหว่างลวดลาย. ดอกไม้จัดวางติดๆกันอย่างแน่นหนา
จึงไม่เสี่ยงต่อการปลิวว่อนออกจากที่. เมื่อดอกต่างๆรวมกันบนพื้นที่นั้น
สร้างสภาพอากาศพิเศษเหนือบริเวณพรมทั้งผืน มีกลิ่นอายอ่อนๆ. หากมีการใช้สนามหญ้าม้วนมาแทรก
จะมีการรดน้ำเมื่ออากาศร้อนแห้งเกินไป เพื่อกันไม่ให้หญ้าหดเหี่ยวลง. หากอากาศชื้นเกินไป
หญ้าอาจสูงขึ้นได้ 4-5 เซ็นติเมตรในเวลาสามวัน. เขาคิดวางมาตรการต่างๆเพื่อให้ดอกไม้สดและสีเปล่งปลั่งตามธรรมชาติของมันได้ตลอดเวลาสี่วัน.
นอกจากเดินชมระดับพื้นแล้ว
ยังเป็นโอกาสให้ซื้อตั๋วเข้าไปในอาคารเทศบาลนคร ขึ้นไปดูพรมดอกไม้ทั้งผืน
จากระเบียงชั้นสองให้เต็มตา และติดตามชมนิทรรศการพรมทอจริง ที่มีค่ามหาศาล ทอลวดลายดอกไม้อีกสิบกว่าผืนที่จัดแสดงไว้ภายในห้องโถงงามหรูหราของเทศบาล. (อาจรวมถึงนิทรรศการภาพถ่ายพรมผืนต่างๆที่เคยทำกันมาในอดีต). การเข้าไปชมในอาคารเทศบาลนั้น
เปิดทุกวันตลอดระยะการจัดแสดงพรมตั้งแต่เช้าเก้านาฬิกาถึงยี่สิบสามนาฬิกาเลยทีเดียว. เพราะในคืนวันเปิดงาน
มีวงดนตรีนำโดยวาทยกรมีชื่อ
นำดนตรีมาบริการในแสงสีตระการตา. ดนตรีที่มาแสดงในวันเปิดงานนั้น
จะถูกบันทึกไว้และเปิดให้ได้ฟังกันอีกทุกคืนตลอดระยะเวลาจัดงาน.
ลวดลายของพรมไม่เหมือนกันดังกล่าวมาแล้ว เนื้อหาที่นำมาเสนอในอดีตนั้น
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งกรุงบรัสเซลได้รวบรวมข้อมูลไว้ ตั้งแต่ปีเริ่มต้นเลย
(1971). ในทศวรรษที่ 1970 นั้น การจัดมิได้ต่อเนื่อง
เพราะมีเหตุขัดข้องบางประการ แต่ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา การจัดแสดงพรมดอกไม้ มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกสองปี
เนื้อหาของพรมที่ทำกันมาจนถึงปี 2018 นี้เป็นดังนี้
เล่ากันว่า ในปี 1971 สองเทศมนตรีเมืองบรัสเซล (M. De Rons และ Mme Van Den Heuvel) ไปเห็นพรมดอกไม้ที่จัตุรัสเมือง
Oudenaarde (ในเบลเยี่ยม) ประทับใจในความงามที่ได้เห็น
ตัดสินใจให้มีการจัดทำพรมดอกไม้ที่เมืองบรัสเซล. สุดสัปดาห์วันที่ 15 สิงหาคมปีนั้น ชาวเมืองบรัสเซล
ได้เห็นพรมดอกไม้เป็นครั้งแรก.
ภาพพรมดอกไม้จากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองบรัสเซล
ที่ข้าพเจ้าได้มาในปี 2000. ภาพถ่ายพรมทั้งหลายตั้งแต่ปีแรกจนถึงปี
2000 นั้น
คุณภาพไม่ดีพอ จึงไม่เห็นลายละเอียดมากนัก ประกอบกับไม่มีคำอธิบายใดๆเลย.
ภาพถ่ายพรมดอกไม้ที่นำมาลงต่อไปข้างล่างนี้
จากเว็ปไซต์ทางการขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองบรัสเซล
ซึ่งติดตามเข้าไปดูได้ที่นี่ >> http://www.flowercarpet.brussels/
พรมดอกไม้ผืนแรก
ปี 1971.
พรมที่สองที่จัดห้าปีต่อมา (1976) เนื้อหาของพรมไม่ต่างไปจากพรมผืนแรกนัก ภาพเกี่ยวกับพาร์คและสวน
ปีนั้นเป็นปีฉลองภูมิทัศน์.
Etienne Stautemas (1927-1998) นักภูมิสถาปัตย์เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์พรมดอกไม้ในทศวรรษที่
1950. เริ่มจากพรมดอกไม้ผืนเล็กๆ แบบง่ายๆ
เขาใช้ดอกบิโกเนียที่เขาชอบและใช้ดอกไม้นี้เรื่อยมาในงานสร้างสรรค์ของเขา. หลังจากมีประสบการณ์ทั้งด้านคำนวญปริมาณดอกไม้ที่ต้องใช้และการทดลองประดิษฐ์พรมลวดลายที่สลับซับซ้อนมากขึ้นๆ ทีมงานของเขาร่วมกับนักออกแบบ Mark Schautteet โดดเด่นขึ้นในฐานะผู้เชี่ยวชาญการรังสรรค์พรมดอกไม้ผืนใหญ่มหึมา
ที่มีหลากสีและลวดลายละเอียด. ทีมงานของเขา มีผลงานสร้างพรมดอกไม้ไม่ต่ำกว่า 180 แบบ ได้ไปทำแสดงตามที่ต่างๆเช่นที่เมืองก็อง
(Gand), เมืองบรู๊จ (Brugge), เมืองโคโลญในเยอรมนี, ปารีส, ลอนดอน, อัมสเตอร์ดัม, เมืองเฮก, เวียนนา, เมืองบาเล็นเซียในสเปน, หรือเมืองบูเอโนซ-แอเรสและเมืองโคลัมบัสในมลรัฐโอไฮโอสหรัฐฯ. ดูเหมือนว่า Etienne Stautemas เป็นผู้ออกแบบพรมดอกไม้ของบรัสเซลต่อมาอีกจนถึงแก่กรรมในเดือนตุลาคม ปี 1998. Mark Schautteet เป็นผู้รับช่วงงานออกแบบต่อมา.
ปี 1979 พรมดอกไม้พรมที่สาม
เป็นปีแห่งการฉลองครบรอบสหัสวรรษของเมืองบรัสเซล (ที่สถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี 979 นามเดิมเขียนเป็นภาษาละตินว่า Bruoscella) พรมเป็นรูปนักบุญอุปถัมภ์ของเมือง นั่นคืออัครเทวทูตไมเคิลเหยียบบนตัวมาร และกำกับปี 979-1979.
(ภาพจากปีนั้น
ไม่ชัดเลย)
ปี 1980 ประเทศเบลเยี่ยมฉลองครบรอบร้อยห้าสิบปีการก่อตั้งประเทศ. พรมดอกไม้เสนอคำขวัญ “พลังอำนาจ
มาจากความสามัคคีร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว” (L’Union fait la force) โยงนัยไปถึงการร่วมมือเพื่อกอบกู้ความเป็นไทให้แก่ประเทศ
เนื่องจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของจักรวรรดิปรัสเซีย ฝรั่งเศส
ของกลุ่มสหพันธุ์ที่ต่อมารวมกันเป็นประเทศเนเธอแลนด์.
หลังจากปีนั้น การทำพรมดอกไม้หยุดชะงักไปจนถึงปี 1986 และตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา การจัดพรมดอกไม้ มีสม่ำเสมอเรื่อยมาจนถึงปีปัจจุบัน เพราะได้รับความร่วมมืออย่างเป็นทางการจากกรมการเมืองบรัสเซลและจากจังหวัด
Brabant กับสมาคมพ่อค้า Franc-Bourgeois ของเมืองบรัสเซล. มีการเจาะจงยืนยันหลักการว่า การจัดพรมดอกไม้จะมีขึ้นทุกสองปี
ในระยะสามสี่วันช่วงสุดสัปดาห์ของวันที่ 15 สิงหาคม รวมทั้งอาจเพิ่มการแสดงเสียงและแสงสี
การแสดงดอกไม้ไฟ การแสดงคอนเสิร์ตที่อาจเป็นวงดนตรีแจ๊สหรือการแสดงพื้นบ้าน. ปีนั้น พรมดอกไม้ใช้ตราประจำเมืองบรัสเซล คืออัครเทวทูตไมเคิลสยบมาร
และมีรูปลักษณ์ใบไม้ช่อรวงข้าวประดับรอบๆข้อความภาษาละตินว่า “Bruxella Civitatis Brabantiae” ที่สื่อความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวระหว่างบรัสเซลกับจังหวัดบราบ็อง (Brabant)
ภาพไม่ชัดเจน
ปี 1988 Stautmas ได้ออกแบบพรมตามใจปรารถนาของเขา เขารังสรรค์พรมดอกไม้ให้เป็นพรมจีนจากเมืองซินเกียง. แบบพรมปีนั้นเขาโปรดปรานที่สุด
เขามีโอกาสแสดงรูปลักษณ์รูปประดับแบบต่างๆตามที่เขาต้องการ เขารังสรรค์พรมที่สีสดเตะตา
พร้อมรูปลักษณ์และลายเส้นเป็นเกลียวขมวดไปมาอย่างงดงาม.
ปี 1990 พรมปีนั้นเทิดเกียรติโมสาร์ทนักประพันธ์และคีตกวี
เจาะจงไว้ด้วยว่ามีการจำลองลายเซ็นของโมสาร์ท
(เห็นลายเซ็นโมสาร์ทชัดเท่านั้น)
พรมที่แปดในปี 1992 เป็นปีที่เมืองบรัสเซลได้รับเกียรติให้เป็น
“เมืองหลวงของยุโรป” และเป็นศูนย์บริหารขับเคลื่อนนโยบายทั้งหลายทั้งปวงของสหภาพยุโรป. พรมปีนั้นจึงต้องการยืนยันความร่วมมือที่รัฐบาลเบลเยี่ยมทุ่มให้เต็มที่กับการก่อตั้งสหภาพยุโรป.
มีตราประจำเมืองบรัสเซลตรงกลางวงกลม ล้อมรอบด้วยดาวสิบสองดวงเป็นเส้นรอบวงใหญ่ ที่หมายถึงสิบสองประเทศ
ผู้ริเริ่มและสานกระบวนการก่อตั้งสหภาพยุโรป. เนื่องจากดวงดาวทั้งหลายอยู่ในท้องฟ้า
เกิดความจำเป็นในการเปลี่ยนสีดอกบิโกเนียเพื่อสื่อท้องฟ้า.
นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการพ่นสีฟ้าไปบนดอกบิโกเนียสีขาว. ปี 1992 เป็นปีครบรอบห้าร้อยปีที่คริสโตเฟอร์
โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกาด้วย. พรมปีนั้นจึงร่วมฉลองให้นักเดินเรือคนสำคัญของโลกตะวันตก ด้วยการทำเข็มทิศขนาดมหึมา
ภายในวงกลมใหญ่ตรงกลางพรม
ให้เป็นสัญลักษณ์เล่าถึงการเดินเรือเพื่อค้นหาแผ่นดินใหม่ในยุคนั้น ที่นำการเปลี่ยนแปลงอย่างหาที่สุดมิได้
ต่อวิถีชีวิต วิถีการเมืองและวิถีศาสนา. มีกรอบยาวตามความยาวของพรมที่ประดับด้วยธงชาติของสิบสองประเทศ.
ภาพไม่ชัดเจน
ปี 1994 เนื้อหาของพรมร่วมรำลึกถึงความเป็นไทของเมืองบรัสเซล ปีนั้นฉลองครบรอบห้าสิบปี
(เมืองบรัสเซลมีประวัติการถูกยึดครองจากประเทศต่างๆรอบข้างเสมอมาจนถึงปี
1830). พรมผืนที่เก้าที่ออกมาในปีนั้น
มีอะไรพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือการจัดทำน้ำพุสามแห่ง กลางพรม เรียงเป็นแนวเส้นตรงตามความยาว. เป็นน้ำพุที่เล่นแสงสีด้วย
โดยเฉพาะสระน้ำพุตรงกลางที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เมตร ส่งสายน้ำเป็นสีรุ้ง พุ่งขึ้นในอากาศไกลห้าเมตร. พิเศษปีนั้น
ยังมีการทำพรมดอกไม้ขนาดเล็กสองผืนบนสนามหญ้าในสวนสาธารณะ (Parc de Bruxelles) ในวันที่ 10 สิงหาคมปีนั้น ให้เด็กๆได้เข้าร่วมเล่มฉากในภาพยนต์การ์ตูน Aristochats ของดิสนีย์สตูดิโอ.
ปี 1996 พรมดอกไม้เป็นภาพลักษณ์ของสวนแบบฝรั่งเศส
ลวดลายจากศิลปะเรอแนสซ็องส์ฟลาม็องด์.
ปี 1998 นักภูมิสถาปัตย์ Stautemas (ผู้ริเริ่มคิดทำพรมดอกไม้ประดับเมืองบรัสเซล
นี่เป็นผลงานพรมดอกไม้ชิ้นสุดท้ายของเขา) ได้ออกแบบพรมดอกไม้ตามแนวพรมของชนเผ่าเร่ร่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของตุรกี.
ปี 2000 นี้ Mark Schautteet ผู้ออกแบบพรมดอกไม้ให้เมืองบรัสเซลต่อหลังจากที่ Stautemas ผู้ถึงแก่กรรม เสนอภาพของโต๊ะไม้ยาวที่เป็นเครื่องเรือนแบบโบราณที่ชาวยุโรปคุ้นเคย
หน้าโต๊ะปูด้วยผ้าลูกไม้ถักบรัสเซลสีขาว (พร้อมด้วยตราประจำเมืองบรัสเซล) มีสระน้ำพุตรงกลางพรม.
ปี 2002 พรมเนื้อหาของสวนแบบฝรั่งเศส
ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่คุ้นตาชาวยุโรป เช่นแนวเส้น การแบ่งครึ่งพื้นที่และจัดพื้นที่เหมือนกันสองข้าง
รูปลักษณ์เรขาคณิตทั้งเส้นตรง เส้นโค้งหรือวงกลม สระน้ำพุเป็นต้น.
ปี 2004 นั้น เมืองบรัสเซลฉลองศิลปะ
“อาร์นูโว” ที่เป็นแบบประดับแบบหนึ่งของสถาปัตยกรรมของเมืองบรัสเซล. พรมปีนั้นจัดเป็นบานหน้าต่างกระจกสี
ประดับลวดลายอาร์นูโว.
ปี 2006 พรมประกอบด้วยวงกลมที่เรียกกันว่าวงกลมดอกกุหลาบหลากสี. ที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา คือ
พรมทั้งผืนวางอยู่บนฐานที่หมุนไปได้ (คงไม่รอบตัวครบวงกลม) อย่างช้าๆ
สร้างมิติของความลึกลับเมื่อชมดอกไม้บนพรม. ทำให้หวนรำลึกถึงยุคกลาง ยุคของอัลเคมี ยุคของการเล่นกับพลังลึกลับที่แฝงในตัวของสสาร. มองดูภาพพรมปีนั้น ยังนึกไม่ออกว่า มันจะหมุนแบบไหน? อาจจะขยับขึ้นลง…
ปี 2008 พรมดอกไม้ ยกย่องศิลปะการทำพรมของฝรั่งเศส
ของโรงงานหลวงที่ผลิตพรมทอแห่งแรกของฝรั่งเศสชื่อ La Manufacture de la Savonnerie ที่กรุงปารีสและที่เมือง Lodève. พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสามทรงให้ตั้งขึ้นในราวปี
1627-28 โรงงานย้ายเข้าไปตั้งในอาคารในเขต Chaillot [ชัยโย่] ที่เรียกว่า La Savonnerie ที่มีชื่อนี้เพราะที่นั่นเคยเป็นโรงงานทำสบู่
(savon แปลว่า สบู่). ต่อมาพระนาง Marie de Médicis [มารี เดอ เมดิซิส] เปลี่ยนโรงงานสบู่ให้เป็นศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้า. อัตราค่าจ้างแรงงานเด็กกำพร้าเหล่านั้น
ทำให้ช่างทอคนสำคัญยุคนั้น (Pierre Dupont กับ Simon Lourdet) สนใจ จึงได้ย้ายโรงงานทอพรมเข้าไปตั้งในนั้น. ทั้งสองมีฝีมือและได้เรียนรู้เทคนิคการทอพรมจากตุรกี
พัฒนาการทอพรมอย่างประณีตงดงาม เป็นที่เลื่องลือไปทั่วราชสำนักอื่นๆในยุโรป
ในทำนองว่ายุโรปไม่ต้องพึ่งชาวตุรกีเรื่องพรมอีกต่อไป. โรงงานแห่งแรกนี้
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานขนาดใหญ่กว่าที่พัฒนาตามกันขึ้นมา และเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งยุโรปคือ
Manufacture des
Gobelins [ก็อบแล็ง]. ผลผลิตจากโรงงานหลวงเหล่านี้ สำหรับใช้ในราชสำนักของฝรั่งเศส
(ประดับผนังกำแพงในวังเป็นต้น)
และอาจเป็นของขวัญพระราชทานแก่กษัตริย์หรือขุนนางชั้นสูงผู้ใด. อธิบายกันมาว่า
ยิ่งมีจำนวนปมด้าย(ไหมหรือวูล)ที่ผูก ต่อหนึ่งตารางเซ็นติเมตร ยิ่งทำให้พรมนุ่มมือดั่งผ้ากำมะหยี่เลยทีเดียว. พรมดอกไม้ที่บรัสเซลปีนั้น ทำอย่างวิจิตรประณีตไม่แพ้กัน
กลายเป็นพรมมาตรฐานสูงจากโรงงานหลวงที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย.
ปี 2010 พรมปีนั้น
ฉลองการที่ประเทศเบลเยี่ยมได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานของสหภาพยุโรป
เมืองบรัสเซลซึ่งก็ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงของยุโรปมาแล้วตั้งแต่ปี 1992
จึงเป็นธรรมดาที่ชาวเมืองภูมิใจและเสนอเอกลักษณ์ของเมือง
นั่นคือตราประจำเมืองกับดอกไอริสสีเหลืองและสีฟ้าที่เป็นดอกไม้ประจำถิ่นนี้. ลายประตูอาร์คครึ่งวงกลม
ยังสะท้อนสถาปัตยกรรมงามสง่าของอาคารรอบๆจัตุรัสใหญ่เมืองบรัสเซล.
ดอกไม้สีเหลืองในมุมล่างซ้าย
คือภาพลักษณ์ของดอกไอริส ส่วนในมุมล่างขวา เดาได้กันแน่นอนว่าคือ
อัครเทวทูตไมเคิลสยบมาร(ร่างมังกร)ไว้ใต้เท้า.
ปี 2012 พรมปีนั้นนำเสนอศิลปวัฒนธรรมของทวีปแอฟริกา
การติดต่อข้ามทวีปข้ามน้ำข้ามทะเล เปิดโลกทัศน์ของชาวยุโรปเกี่ยวกับทวีปแอฟริกา
ที่เราจะเพิกเฉยไม่ไยดีไม่ได้แล้ว. ชาวยุโรปสนใจทวีปแอฟริกาไม่น้อยเลย. ความแตกต่างทางวัฒนธรรม
คือสมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติ ของความเป็นมนุษย์. นี่อาจสะท้อนเตือนใจให้คนยอมรับความแตกต่างทั้งทางผิวพันธุ์
ชาติ ศาสนา ครรลองชีวิตฯลฯ ซึ่งกลายเป็นจุดยืนมั่นคงของสหภาพยุโรป.
ปี 2014 พรมดอกไม้ของบรัสเซล จำลองลายทอเรขาคณิตของพรมคีลิม (kilim) ตุรกี
ให้เป็นอนุสรณ์ห้าสิบปีที่ชาวตุรกีอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเบลเยี่ยม.
ปี 2016 พรมดอกไม้ปีนั้นเป็นพรมผืนที่ 20 ของบรัสเซล
และเป็นปีครบรอบร้อยห้าสิบปีของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบลเยี่ยมกับประเทศญี่ปุ่น. พรมปีนั้นเสนอเอกลักษณ์ต่างๆของความเป็นญี่ปุ่น
ที่ปรากฏแพร่หลายจนเป็นที่คุ้นเคยของชาวโลก. พรมได้รวมภาพดอกซากุระ ดอกเบญจมาศ ต้นสน ต้นไผ่ ใบโอ๊ค ภูเขา คลื่นทะเล ปลาคาร์ป นกกระเรียน
ดวงอาทิตย์ รวมทั้งลวดลายเส้น แบบฉบับที่เป็นลายของเสื้อที่สามัญชนใช้
ที่เรียกว่า yukata- 浴衣 [อยู่ก๊ะตะ] นับเป็นการออกแบบที่ครบสมบูรณ์ทีเดียว.
กุลีกุจอกัน
ใกล้จะเสร็จแล้ว จัดซี่เพรียวๆของกลีบดอกเบญจมาศพันธุ์หนึ่ง
พรมผืนล่าสุดปี 2018 นี้ เป็นปีที่เมืองบรัสเซลฉลองครบรอบยี่สิบปีที่จัตุรัสใหญ่
(la Grand-Place) ได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลก. พรมปีนี้เสนอภาพจากดินแดนถิ่น Guanajuato ในประเทศเม็กซิโก ที่นอกจากมีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนที่ใดแล้ว
ยังมีเทศกาลที่พิเศษที่ต้องจริตชาวเมืองบรัสเซล.
ภาพส่งต่อมาจากลายน์
ภาพของ Gaston Bastistini, light design by
@studioartfex, pictures by @swdfotografie
นั่นคือ ที่เมือง Uriangato ที่อยู่ตอนใต้ของถิ่นนั้น
มีเทศกาลที่เรียกว่า “La Octava Noche” (แปลว่า “คืนวันที่แปด”). ชาวเมืองทำพรมขี้เลื่อย(ที่แต่งแต้มหลากสีและลวดลายต่างๆ)
ไปตามถนนยาวหลายกิโลเมตร เพื่อรำลึกถึงนักบุญผู้อุปถัมภ์เมืองนั้น
ผู้คือนักบุญไมเคิล (เหมือนที่ชาวบรัสเซลถือว่านักบุญไมเคิลเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเมือง). ขนบการทำเช่นนี้นั้น สืบสาวไปได้ในยุคอาณานิคมเมื่อชาวสเปนเข้าไปตั้งรกรากในเม็กซิโก
แต่การทำพรมขี้เลื่อยสีๆนั้น เริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1966. เทศกาลนานแปดวัน และวันที่แปด
(ที่ใช้เป็นชื่อเรียกเทศกาลด้วย) จะมีขบวนพาเหรดเดินไปบนพรมขี้เลื่อยหลากสีนั้น เท่ากับลบภาพทั้งหลายทิ้งไป. เทศกาลนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับ
“ศิลปะชั่วข้ามคืน” ในแบบเดียวกับที่ชาวเมืองบรัสเซลจัดทำพรมดอกไม้. เมือง Uriangato ยังเคยจัดการประชุมนานาชาติ
ได้เชิญศิลปินผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำพรมดอกไม้มาแล้วสองครั้ง. และมีสองเมืองที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก
มีหมู่บ้านอัศจรรย์ห้าหมู่บ้าน (magic villages) และโบราณสถานต่างๆ. พรมดอกไม้ที่บรัสเซลปีนี้นั้น
นักออกแบบกร๊าฟฟิคชาวเมือง Uriangato ชื่อ Ana Rosa
Aguilar Aguado เป็นผู้ต้นคิด และ Mark Schautteet เป็นผู้ถ่ายทอดออกมาให้เป็นพรมดอกไม้ขนาดใหญ่ (75 x 24 เมตร หรือ เป็นพื้นที่ 1800 ตารางเมตร ตามที่จัดทำกันมาทุกๆสองปี). ในโอกาสนี้
มีนายช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญเรื่องพรมเม็กซิโกและจากประเทศอื่น
ได้มาร่วมในทีมอาสาสมัครด้วยเช่นกัน.
ภาพการทำพรมปีนี้ Laboriver เจ้าของภาพ เห็นชัดว่า นำวัสดุอื่นๆเข้าไปใช้ด้วย
พิเศษปีนี้ เนื่องในวาระครบรอบยี่สิบปีที่จัตุรัสใหญ่
(la Grand-Place de
Bruxelles) ได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกโลกดังกล่าวมา คณะกรรมการพรมดอกไม้เมืองบรัสเซล
ได้เชิญศิลปินดอกไม้จากประเทศสเปน อิตาลี เยอรมนี มัลต้า ญี่ปุ่นและเม็กซิโก มาจัดนิทรรศการดอกไม้ในหัวข้อ
“อนุสาวรีย์ยูเนสโก” ด้วยการใช้ดอกไม้รังสรรค์อนุสาวรีย์ในแต่ละประเทศ
โดยนิทรรศการนี้จัดบริเวณด้านหน้าของอาคารตลาดหลักทรัพย์ของบรัสเซล (Bourse de Bruxelles). เช่นนี้ จึงมีคณะผู้แทนจากชาติดังกล่าว
มาจัดพรมผืนเล็กเสนอภาพหรือเอกลักษณ์จากอนุสาวรีย์แห่งใดในประเทศ ที่ได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกแล้ว. นับเป็นโอกาสพิเศษที่ได้เห็นวิธีและเทคนิคการจัดทำของคณะศิลปินผู้แทนจากประเทศดังกล่าว. นอกจากดอกไม้แล้ว
พวกเขาใช้วัสดุธรรมชาติอื่นๆเข้าช่วยได้. นิทรรศการอนุสาวรีย์ยูเนสโกนี้
เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่เช้าวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม จนถึงค่ำวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2018.
อาคารที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เมืองบรัสเซล
(Bourse
de Bruxelles หรือชื่อย่อว่า BSE) สถาปนาขึ้นในปี 1801 ตามพระราชกฤษฎีกาของนโปเลียน. อาคารงามสง่าดูยิ่งใหญ่
ตามแบบสถาปัตยกรรมนีโอเรอแนสซ็องส์และยุคนโปเลียนที่นิยมกันต่อมาถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ. ภาพของ Laboriver.
อนุสาวรีย์ยูเนสโกจากประเทศต่างๆแปดประเทศ
(ญี่ปุ่น เม็กซิโก
เยอรมนี กาตาโลเนีย สเปน อิตาลี มัลต้าและเบลเยี่ยม)
แต่ละประเทศเลือกเอกลักษณ์หนึ่งของสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว มาแสดงไว้บนพรมดอกไม้ขนาดเล็ก
หน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งบรัสเซล (Bourse de Bruxelles) ภาพของ Laboriver.
ภาพกร๊าฟฟิกเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ยูเนสโก
ดูจากซ้ายไปขวา ข้อมูลระบุว่า
๑. Catalonia (กาตาโลเนีย) เสนอหน้าต่างกระจกสีบานสูงใหญ่จากมหาวิหาร
La Sagrada Família ที่เมืองบาร์เซโลนา ผลงานของ Antoni Gaudí.
๒. ญี่ปุ่น เสนอภาพของนายทวารบาล
จากวัดหลวงพ่อโต Todaiji 東大寺 เมืองนารา.
๓. เยอรมนีเสนอภาพของโบสถ์ใหญ่เมือง
Speyer.
๔. สเปน เสนอภาพของวัดที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหกแห่งรวมกัน
จากแถวบนลงแถวล่าง และด้านซ้ายไปขวา ตามลำดับดังนี้ วัด Santa María del Naranco มุมบนซ้าย, มหาวิหาร Santiago de Compostela มุมบนขวา, วัด San Pedro de Teruel ภาพกลางซ้าย, หอคอยศิลปะมูเดฆาร์(mudejar) > La Torre de San Pedro de Teruel ภาพกลางขวา, สะพานส่งน้ำที่เมืองเซโกเวีย
Acueducto de Segovia ล่างซ้าย, ป้อมปราการที่เมืองโตเลโด
Alcázar de Toledo ที่มุมล่างขวา.
๕. แบบเสาคอรินเธียน (Corinthian) จากการออกแบบของอิตาลี
สืบเนื่องกับเทศกาลทำพรมดอกไม้ตามถนนสายเล็กๆในเขตเมืองเก่าในอิตาลี ที่แพร่หลายออกไปหลายเมือง
รวมศิลปินจากหลายแขนงมารังสรรค์พรมดอกไม้ปูเป็นทางยาวในเมือง (cf. Infiorata).
๖.
วัดในยุคก่อนประวัติศาสตร์และวัดสมัยใหม่บนหมู่เกาะประเทศมัลตา.
๗. เทศกาลถนนประดับขี้เลื่อยหลากสีหลายรูปลักษณ์
La Octava Noche ที่ตกแต่งบนถนนอย่างสวยงามของชาวถิ่น
Uriangato ประเทศเม็กซิโก.
๘. ประเทศเบลเยี่ยม
สร้างภาพของเทศบาลนครเมืองบรัสเซล (ในภาพข้างบนไม่มีของประเทศบรัสเซล
อาจเป็นเพราะพื้นที่แสดงจำกัด และเพราะเป็นเจ้าภาพด้วย จึงอาจไปจัดแสดงพรมผืนเล็กที่เด็กๆชาวเมืองช่วยกันทำ
ในที่อื่นแทน เช่นใน Galerie St
Hubert ที่เป็นแกลลอรีร้านค้าหรูหราและร้านอาหารมีชื่อของเมืองบรัสเซล).
พรมดอกไม้ผืนต่อไปคือเดือนสิงหาคมปี 2020 ผู้สนใจเตรียมคิดแผนไว้แต่เนิ่นๆได้ตั้งแต่บัดนี้. จากสรุปรายงานที่เล่ามาข้างต้น
เห็นชัดเจนว่า ในเรื่องการเก็บภาพถ่ายของพรมดอกไม้ในสิบปีแรกนั้น ยังไม่ดีพอ กล้องถ่ายภาพอาจยังไม่ดีเท่ากล้องสมัยปัจจุบัน ความสนใจบันทึกเป็นข้อมูลยังน้อยอยู่ ขาดเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำในครั้งแรกๆ
หรือไม่มีผู้เขียนบันทึกไว้เป็นต้น.
เมื่อเทียบกับข้อมูลที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองบรัสเซล
รวบรวมในปีหลังๆ ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา มีเนื้อหาละเอียดกว่าและภาพก็สวยชัดเจน ตรงตามคำบรรยาย. เนื้อหาของพรมดอกไม้ในสิบกว่าปีแรก
มักวนเวียนเกี่ยวข้องกับประเทศเบลเยี่ยมโดยตรง
เน้นการมีตราสัญลักษณ์ประจำเมืองบรัสเซล
ซึ่งคือภาพอัครเทวทูตไมเคิลสยบมารไว้ใต้เท้า. ดอกไอริสที่เป็นดอกไม้ประจำเมืองบรัสเซลก็ปรากฏแทรกไว้ในพรมเสมอ. และสุดท้ายเราเห็นได้ชัดเจนว่า
ความสลับซับซ้อนและความละเอียดของลวดลายเพิ่มขึ้นๆ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และความชำนาญ.
ข้อมูลสำหรับปี 2018 มีรายละเอียดอธิบายละเอียดยิบ
เก็บเป็นข้อมูลวัฒนธรรมของชาติได้เป็นอย่างดี. ในที่นี้ นำภาพให้ดูพอเป็นไอเดียเท่านั้น
(ขี้เกียจแล้ว). ผู้สนใจติดตามไปอ่านได้ในเน็ตตามลิงค์นี้ เป็นเอกสารพีดีเอฟ
ภาษาฝรั่งเศส ยาวยี่สิบสามหน้า.
พรมดอกไม้เป็นศิลปะอายุสั้น
ชั่วข้ามคืน มองในแง่ของสัจธรรม เหมือนทุกชีวิตที่ก็มีเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งบนโลกใบนี้เช่นกัน. ดอกบิโกเนียแบ่งบานนำความปลื้มปิติแก่ผู้ได้สัมผัสและจากไปอย่างเงียบๆ
กลายเป็นปุ๋ย เป็นดิน กลับคืนสู่โลก…
ข้าพเจ้าอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ขณะมีชีวิต
ได้นำความปลื้มปิติแก่ใครบ้างไหม
ได้ใช้ชีวิต
มอบส่วนที่งามที่สุดของตนเอง เป็นของกำนัลแก่โลกบ้างหรือเปล่า…
นึกถึงข้อความตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่เคยจำมาแต่วัยเด็ก
(ดูเหมือนว่ายังคงเป็นบทอาขยานบทหลัก ในหนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เล่มที่ ๑)
ใจความว่า วัว ควายหรือช้าง
เมื่อตายลงยังเหลือหนัง เขา หรืองาไว้
มนุษย์เมื่อสิ้นชีวิตลง
มอดมลายสิ้นไปทั้งร่าง เหลือไว้แต่ความดีหรือความเลว
ที่คนสรรเสริญหรือด่าทอ.
พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรี
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
โชติรส รายงาน ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๑.
ประเทศเบลเยี่ยมมีอะไรดีหลายอย่าง มีสวนงามหลายแห่งตามต่างจังหวัด ขึ้นชื่อเรื่องเบียร์ ช็อกโกแล็ต ลูกไม้ถักมือฯลฯ นอกจากด้านอาหารการกินที่มีวัฒนธรรมการกินประณีต ค่อนไปทางอาหารแบบฝรั่งเศส โดยเฉพาะเรื่องอาหารทะเล หอยนางรม หอยแมลงภู่อบไวน์ขาว อบเบียร์ชนิดต่างๆตามแต่ต้องการ อบอร่อยจริงๆ.
ReplyDeleteหลายปีมานี้ ลืมติดตามเรื่องที่เคยติดใจ คือพรมดอกไม้ที่เมืองบรัสเซล ผ่านเข้าไปหลายครั้ง แต่ไม่ตรงกับเทศกาลพรมดอกไม้ ปีนี้พลาดโอกาสเช่นกัน แต่นำขึ้นมาพูดต่อ เพราะอยู่ในจริตเรื่องสวนเรื่องดอกไม้
ภาพพรมดอกไม้ที่นำมาลง ตั้งปีปีแรกคือ 1971 เป็นขององค์การท่องเที่ยวแห่งเมืองบรัสเซล ขนาดภาพก็เต็มที่แล้วตามต้นตอ จะเห็นว่า ภาพไม่ชัดเจนนัก มีสองสามปีหลังๆเท่านั้น ที่ได้มาตรฐานไอทียุคปัจจุบัน แต่ดูกันพอให้เข้าใจสาระแก่นแท้ของการจัดทำก็แล้วกัน
หวังจะเป็นประโยชน์
ใครสนใจจะไปดูสักครั้ง ก็ปี 2020 ครั้งหน้านะคะ ไปทำความรู้จักกับประเทศเบลเยี่ยมด้วยเลย ผู้คนพูดฝรั่งเศสที่บรัสเซล แต่ทุกแห่งภาษาอังกฤษใช้สื่อสารได้.