ไหนๆก็ได้ไปมา
จึงนำภาพหลากมุมมองของ Fujisan มาลงเป็นหลักฐาน สำหรับเปรียบเทียบกับที่คนอื่นๆเขาไปเห็นกันมา
ฐานข้อมูลที่ควรรู้ คือ 富士山 Fujisan [ฝื้อจิซัง] สูง 3,776 เมตร อยู่บนเกาะ 本州 Honshu [ฮ่นฉู่] ที่แปลว่า เกาะสำคัญ/เกาะหลัก เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่น
เป็นภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ (เรียกว่า active stratovolcano) ระเบิดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1707-08 อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร. 40 ล้าน
คนมองเห็นฟูจิซังได้ เมื่อสภาพธรรมชาติอำนวย จากที่ที่เขาอยู่
หรือจากมุมพิเศษต่างๆ(ที่ต้องสืบเสาะด้นดั้นและรู้จักมองสำรวจท้องฟ้าฝ่าเมฆ
และบรรยากาศไปถึงเธอ)
ตั้งแต่โตเกียวเลียบไปบนดินแดนฝั่งตะวันออกของเกาะ Honshu ไปยังจังหวัด Yamanashi, Shizuoka, จากบางจุดของ Nagoya ไปยังฝั่งทะเลของจังหวัด Mie ไกลไปถึงบางจุดริมฝั่งทะเลของจังหวัด Wakayama.
รอบทะเลสาบคาวากุจิโกะ หน้าโรงแรมที่เราพักกัน
วันเวลาต่างๆกันไม่เช้าตรู่ก่อนทานอาหารเช้า ก็พลบค่ำเมื่อกลับจากการตระเวนในแต่ละวัน.
วันเวลาต่างๆกันไม่เช้าตรู่ก่อนทานอาหารเช้า ก็พลบค่ำเมื่อกลับจากการตระเวนในแต่ละวัน.
ภาพข้างล่างนี้ Fujisan จากหมู่บ้านตัวอย่างของวิถีชีวิตชุมชนญี่ปุ่นในสมัยก่อนและที่ยังมีสืบต่อกันมาตามชนบทในประเทศญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง
ที่รัฐบาลและชุมชนยังคงต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้
โดยได้รับการสนับสนุนและอุดหนุนโครงการจากฝ่ายบริหารในแต่ละจังหวัดด้วย
เพราะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบหนึ่ง
หมู่บ้านนี้ที่อยู่ในแดนคาวากุจิโกะทางทิศตะวันตกเรียกว่า 西湖いやしの里根場 Saiko Iyashino-Sato Nenba [เซ่ยโกะ
อิยาชิโน ซาโต้ เน็มบะ] ในภาษาอังกฤษเขาเรียกให้ง่ายๆว่าเป็นหมู่บ้านหลังคามุงฟาง(ข้าว)
(thatched
roofed houses) เหมือน Folk
Village จึงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เกือบทุกบ้านเปิดให้เข้าไปชมได้ แต่คนเฝ้าบ้านอาจไม่ใช่เจ้าของบ้าน
อาจเป็นเจ้าหน้าที่ที่รับอาสาเฝ้าบ้านให้ เพื่อการเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวเท่านั้น บางบ้านเป็นที่จัดแสดงงานหัตถกรรมแบบต่างๆ เช่นการจักสาน การแกะสลักน้ำเต้าเป็นต้น บางบ้านจัดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว
ไอสกรีมหรือเครื่องดื่มเพื่อบริการนักท่องเที่ยว
บางบ้านใช้เป็นที่ขายผลิตภัณฑ์จากสวน ทุ่งนาหรือภูเขาในบริเวณนั้น
เพราะฉะนั้นผลไม้ตากแห้ง(แบบแดดเดียว)ของที่นั่น น่าสนใจซื้อทีเดียว
อร่อยและใหม่ๆจากที่นั่นตามฤดูกาลนั้น
เนื่องจากมีไม่มากพอสำหรับจัดขายเป็นอุตสาหกรรม จึงเป็นการขายของชาวนาชาวไร่ของถิ่นนั้นเท่านั้น หมู่บ้านนี้ยังเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง
เป็นศูนย์ศึกษาที่โรงเรียนพานักเรียนสมัยใหม่ที่อยู่ตามเมืองใหญ่ให้ไปสัมผัสวิถีชีวิตชนบท บางทีจึงมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อกลุ่มนักเรียนดังกล่าว
อาจเป็นการเรียนการเพาะปลูกพืชผัก การทำหัตถกรรมสิ่งประดิษฐ์จากธรรมชาติเป็นต้น. พบวิดีโอคลิปนี้ จึงนำมาให้ชม สวยกว่าที่ไปเห็นมาเอง https://www.youtube.com/watch?v=dPXCLP4EkGQ
ภาพต่อไปข้างล่างนี้ จากบริเวณ 忍野八海
Oshino Hakkai [โอชิโน่ ฮักกัย] เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนดินแดนทะเลสาบห้าแห่งของ Fujisan
ระหว่างคาวากุจิโกะ กับทะเลสาบ Yamanakako
[ยามานากะโกะ] หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากทีเดียว
เพราะเป็นที่รวมของสระน้ำแปดสระ น้ำในสระมาจากหิมะที่ละลายและที่ไหลลงมาจาก Fujisan
ผ่านชั้นหินลาวาลงมา ปีแล้วปีเล่า มาถึงสระน้ำในหมู่บ้านนี้ เรียกได้ว่าเป็นน้ำ “โบราณ”
ที่มีสรรพคุณวิเศษสุด เพราะน้ำที่มีในสระได้ผ่านการกลั่นกรองจากชั้นหิน จากลาวาของ
Fujisan มาแล้ว
จึงเป็นน้ำที่ใสสะอาดยิ่งนักที่ชาวบ้านถือเสมือนว่าน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์ สระแต่ละสระลึกทีเดียว ลึกเท่าใดนั้น
ยังไม่มีผู้ใดหยั่งไปถึงก้นบึ้งของสระได้เลย
ทั้งๆที่บางทีดูเหมือนตื้นๆ
พืชที่ขึ้นในสระตลอดจนสัตว์น้ำจืดที่อาศัยอยู่ในสระเหล่านั้นก็น่าสนใจ.
อ่านรายละเอียดเกียวกับการเกิดสระน้ำแปดแห่งที่นั่นได้จากเพจนี้
วันเวลาผ่านไป เมื่อหมู่บ้านกลายเป็นแหล่งรวมนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นๆ ความเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ก็อาจลดน้อยลงไป เพราะเกิดการพัฒนาการค้าขายตามมา ต้องมีการพัฒนาที่กินที่ขายอาหาร
โดยเฉพาะเมื่อชาวจีนหลั่งไหลไปเป็นร้อยเป็นพันคนต่อวัน
ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศน์และวิถีชุมชนที่เคยอยู่อย่างสงบที่ไม่เคยมีการแข่งขันกัน น่าเสียดายแทนคนญี่ปุ่น (ไทยต้องคิดใหม่ให้ลึกเกี่ยวกับการพัฒนาท่องเที่ยว
ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างความหวังด้านเศรษฐกิจเฉพาะหน้า
กับความฝันในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ )
สองภาพข้างล่างนี้ถ่ายจากภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ชุมชน 榛の木林 Hannoki Bayashi ที่เปิดบ้านฟาร์มใหญ่ให้คนเจ้าไปดูภายในบ้าน รวมทั้งชั้นใต้หลังคาที่เป็นเหมือนยุ้งฉางเก็บอาหารแห้งของครอบครัว แสดงการจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร รวมถึงมีดพร้า ธนูและเกราะซามูไรเป็นต้น เปิดให้จินตนาการวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน ที่กิน ที่หลับนอน เตาไฟของบ้านในห้องใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมสมาชิกทุกคน มากินอาหารกันรอบๆเตาที่ขุดลงเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส สำหรับเป็นที่ก่อกองไฟ สำหรับหุงต้มอาหาร รวมทั้งการเตรียมชา ในบริเวณยังมีกังหันน้ำที่ให้พลังงานสะอาดและยั่งยืนสำหรับบดเมล็ดข้าวให้เป็นแป้งเพื่อนำไปประกอบอาหารต่อไป
ปี 2015 นี้ที่ไปเยือน น้ำในสระยังคงใสยิ่งกว่ากระจก ทำให้นึกถึงความพยายามสุดๆของชุมชนที่นั่น
สระน้ำในสี่รูปข้างล่างนี้ คือสระน้ำ 湧池 Waku-Ike
(หรือ Spring Pond) ได้รับการจัดเข้าเป็นสมบัติแห่งชาติในวันที่ 1 พฤษภาคมปี 1934 เป็นสระที่มีน้ำไหลทะลักออกมาจากใต้ดินเป็นปริมาณมากที่สุดในบรรดาสระแปดแห่งของหมู่บ้านนี้
น้ำในสระนี้ถือว่าบริสุทธิ์สะอาดที่ชาวบ้านนำไปบริโภค(และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวนำไปบริโภคด้วย) ทุกปีวันที่ 19 กันยายน
ชาวบ้านจัดพิธีเฉลิมฉลองให้กับเทพธิดาแห่งสระน้ำ
ถือกันว่าคือเทพธิดาจาก Fujisan ลงมาสถิตณสระน้ำนั้น
พื้นที่สระโดยประมาณคือ 152 ตารางเมตร มีปริมาณน้ำที่ไหลออกประมาณ 2.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของน้ำในสระประมาณที่ 13 องศาเซ็นติเกรด
มีความหนาแน่นของประจุไฮโดรเจนไอออนที่ 7.1
โชคดียิ่งหากได้เห็นภาพ Fujisan
ที่สะท้อนในสระน้ำนั้น
ทุกคนได้ลองแช่มือในน้ำศักดิ์สิทธิ์
เล่ากันว่าเมื่อสองร้อยปีกว่ามาแล้ว
สระน้ำแห่งนี้เป็นสระน้ำที่ชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางมาที่หมู่บ้านเพื่อมาชำระล้างตัวให้บริสุทธิ์ด้วยน้ำในสระที่นั่น ปัจจุบันนี้ห้ามใครลงไปใช้น้ำในสระ
แต่มีท่อน้ำที่ต่อไว้ให้สำหรับไปล้างมือด้วยการจุ่มมือลงแช่ 30 วินาทีในสระซีเมนต์เล็กๆที่กักน้ำเก็บไว้ให้เพื่อการนี้
จัดให้เป็นการชำระล้างแบบรวบรัดที่อนุญาตให้ทำที่นั่น
น้ำที่ไหลออกจากท่อนี้ยังอนุญาตให้คนมารองไปบริโภคได้ พวกเราเลยจัดการเทน้ำในขวดที่มีติดตัวไป
แล้วรองน้ำ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้นมาดื่มแทน ชื่นใจที่สุด รสดีมากด้วย มีคนหัวใส
เอาน้ำขวดหรือน้ำกระป๋องชนิดต่างๆมาแช่น้ำเย็นๆของน้ำพุนี้ พร้อมขายให้เลย
ไม่ต้องใช้ตู้เย็น ติดขายน้ำประเภทน้ำหวานขวดแก้วรสต่างๆในราคาขวดละ 250 เยน เบียร์กระป๋องละ 350 เยนและน้ำโซดาขวดละ 200 เยน ดูเหมือนจะขายขวดน้ำปลาสติกเปล่าๆที่ใช้แล้ว คงล้างให้ด้วยแล้ว
มาวางรวมไว้ในถังสำหรับขายด้วย เผื่อใครต้องการรองน้ำเอาติดตัวกลับไปบ้าน
บ้านหลังนี้เอาข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวมาได้วางเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวเต็มผนังกำแพงบ้านสองด้านดังที่เห็นในภาพ ทั้งนี้เพื่อตากให้น้ำภายในระเหยออกไปบ้าง
(แบบตากแดดเดียว) ชาวญี่ปุ่นชอบกินข้าวโพดย่างไฟ ข้าวโพดของพวกเขารสหวานมาก
รสดีเกินกว่าจะให้เป็นอาหารสัตว์
เก็บเม็ดข้าวโพดที่ตากแห้งไว้ทำอาหารต่อไป
Fujisan อีกภาพ ก่อนอำลาหมู่บ้านนั้น
ปากท่อน้ำในแดนคาวากุจิโกะ มีฝาปิดเป็นเหล็กตันหนักที่ทำเฉพาะสำหรับแถบนั้นดังตัวอย่างสองภาพนี้
แบบง่ายๆสุดๆ มีเพียงรูป Fujisan ตรงกลาง
และแบบซับซ้อนกว่าที่ต้องการสื่อความอุดมสมบูรณ์ว่าในทะเลสาบมีปลาชุกชุม
เราเห็นคนไปตกปลากันตามจุดต่างๆ
ขยันเท่านั้น ก็มีปลาอร่อยๆกิน
ส่วนที่หมู่บ้าน Oshino Hakkai เห็นในภาพข้างล่างนี้ เน้นธรรมชาติป่าเขา ดอกไม้ น้ำใต้ดินในหมู่บ้าน บ้านพร้อมกังหันน้ำ ที่เป็นพลังงานสะอาดที่ชาวบ้านใช้กันเรื่อยมาแต่โบราณเพราะได้สระน้ำพุใต้ดินมาช่วย
อีกแบบหนึ่งจากเมือง 静岡 Shizuoka [ฉิดซื้อโอกะ] แต่งเติมสีไว้อย่างสวยงาม เป็นแบบที่เพิ่งทำขึ้นใช้ในปี
2015 นี้เนื่องในวาระครบรอบสี่ร้อยปีอสัญกรรมของโชกุน 徳川 家康 Tokugawa
Ieyasu [โตะกื๊องาวะ
อิเอ๊หยะสึ] ที่เขียนจารึกลงบนแผ่นเหล็กด้วยเลย นอกจาก Fujisan ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการของจังหวัด Shizuoka ยังมีสัญลักษณ์รูปใบไม้อยู่ทางขอบขวามือ ส่วนด้านซ้ายเป็นอาคาร 拝殿 Haiden [ไฮเด็น] เป็นสถานประกอบพิธีกราบไหว้บูชาและสวดมนต์ตามแบบสถาปัตยกรรมชินโต
ในศาลเจ้าใหญ่ชื่อ 久能山東照宮 Kunō-zan Tōshō-gū [ คือโน่ซัง โทโช้กือ ] บนยอดเขา (เรียกพื้นที่ราบสูงบนภูเขานี้ว่า 日本平 Nihondaira เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของ Shizuoka) ยอดเขานี้โดดเด่นเหนือเมือง Shizuoka เป็นที่ประดิษฐานสุสานของโชกุนคนนี้
เขาเป็นผู้รวมประเทศญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นในปลายศตวรรษที่16
ยุติการปกครองแบบศักดินาที่แบ่งแยกประเทศออกเป็นก๊กเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่เสมอ.
สองภาพข้างล่างนี้จากสวนญี่ปุ่น ( 紅葉山庭園 Momiji Yama Teien [โม้หมิจิ หย่ามะ เทเย็ง] ต้องเจาะจงให้ความหมายของชื่อว่า อักษรตัวแรกแปลว่า แดง, ตัวที่สองแปลว่า ใบไม้ , ตัวที่สามแปลว่า ภูเขา , ตัวที่สี่แปลว่า ลานหน้าบ้าน , ตัวที่ห้าแปลว่า สวน รวมกันแล้วบ่งบอกความต้องการของผู้สร้างสวนให้เป็นที่ชมใบไม้เปลี่ยนสี เพราะฉะนั้นไปชมเดือนพฤศจิกายน คงจะชัดเจนที่สุด) สวนนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณปราสาทและวัง 駿府城 Sumpu Castle [ซุมปู้โจ่] (1589) เมือง Shizuoka พื้นที่สวนไม่ใหญ่นัก แต่การจัดสวนทำให้รวมสัญลักษณ์ญี่ปุ่นและรูปแบบของสวนภูมิทัศน์ไว้ได้อย่างเหมาะเจาะงดงาม จำลอง Fujisan ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง Shizuoka มาไว้ในสวนนี้ด้วยเลย มีแนวพุ่มไม้ที่ปลูกล้อม Fujisan ลดหลั่นกันไปรอบเชิงเขา ที่ต้องการให้เป็นภาพสะท้อนของดินแดนเพาะปลูกชาตามไหล่เขาในจังหวัด Shizuoka ที่ขึ้นชื่อลือนามว่าเป็นชาคุณภาพสูง แนวพุ่มไม้นี้ในความเป็นจริงคือพุ่มดอก azalea ซึ่งจะออกดอกสีชมพูเข้มงามเจิดจ้าในเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน
ภาพโปสเตอร์ที่ทำขึ้นปีนี้และที่ติดเผยแพร่ทั่วไป
ในวาระฉลองสี่ร้อยปีอสัญกรรมของโชกุน 徳川 家康 Tokugawa Ieyasu [โตะกื๊องาวะ
อิเอ๊หยะสึ]
ตอนบนสุดเป็นตราประจำตระกูลเรียกว่า
紋 mon [มน] หรือ 家紋 [คามน] (โดยที่คำว่า คา แปลว่า บ้าน
หมายถึงตระกูลหรือการสืบทอดเชื้อสายในตระกูลหนึ่ง) เป็นใบไม้สามใบเชื่อมกันไว้ในวงกลม
ในภาษาญี่ปุ่นกำกับชื่อใบไม้ว่า 三ツ葉葵 หรือ mitsu-aoi [มิดซึ-อ่าโอ้อิ] ที่แปลกันไว้ในภาษาอังกฤษว่าเป็นใบ hollyhock (แต่ดูเหมือนว่ามีคนท้วงว่าเป็นใบจากพืชตระกูล
birthwort มากกว่า
ได้ตามไปเปิดดูใบ hollyhocks ไม่เหมือนใบ mitsu-aoi เลย) ถัดลงมาเป็น Fujisan สัญลักษณ์ของเมือง 静岡 Shizuoka [ฉิดซื้อโอกะ] เมืองที่เขาอยู่นานกว่าที่ใดในวัยเด็ก
วัยฉกรรจ์และในบั้นปลายชีวิต เป็นเมืองโปรดของเขาด้วยว่างั้น ถัดลงจากซ้ายไปขวา
เป็นกิ่งดอกไม้พร้อมใบดูไม่ชัดเจนว่าดอกอะไร. มีกระปุกชาที่บ่งบอกการเพาะปลูกชาในจังหวัด
Shizuoka. เห็นอาคารสุสาน Mausoleum ของโชกุนคนนี้ที่ตั้งอยู่บนเขา 久能山東照宮 Kunō-zan Tōshō-gū [ คือโน่ซัง โทโช้กือ ] ทางขวาเห็นใบไม้อีกหลายใบที่ใช้ในตราประจำตระกูล. ใต้ลงมาเป็นศีรษะเหมือนของโชกุน. (ภาพโปสเตอร์นี้เป็นผลงานของ Risa Fukui,
2015 ผู้เจาะจงว่า
ต้องการเสนอภาพของสันติสุขในยุคของโชกุนคนนี้
ให้ข้อความกำกับเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออธิบายการเสนอภาพดังกล่าวนี้ แต่มิได้ให้คำอธิบายองค์ประกอบใดๆที่ใช้
ขอบอกว่า เธอเขียนหรือใครก็ตามที่เขียน เป็นภาษาอังกฤษที่ผิดและไม่รู้เรื่องเลย
แม้เราจะเดาความหมายได้ แต่วิธีการเขียนวกวน ไม่กระจ่าง นี่ยังเป็นปัญหาสำหรับคนญี่ปุ่นอีกจำนวนมาก
เมื่อต้องการขึ้นสู่ระดับอินเตอ มันต้องพูดให้คนเข้าใจเป็นเรื่องเป็นราว
มิใช่นำคำมาปะติดปะต่อ กระโดดจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ไม่เป็น “วากยสัมพันธ์”
ที่ได้ความ ดูจากภาษาอังกฤษที่ลงเผยแพร่ในเน็ต
ทำให้เดาได้ว่า ในความคิดดั้งเดิมที่เขียนไว้เป็นภาษาญี่ปุ่นเอง ก็ไม่ชัดเจนหรือต่อเนื่องกันเลย)
ผู้ที่คุ้นเคยกับภาพวาดแบบญี่ปุ่น อาจเคยเห็นภาพหน้าตาคนนี้
เขาคนนี้แหละคือ โชกุน Tokugawa
Ieyasu
และนี่คือรูปปั้นที่ประดับอยู่บนลาน ตรงหน้าสถานีรถไฟเมือง Shizuoka
นอกจากนี้ก็มีรูปปั้นของเขา
มีเหยี่ยวเกาะบนมือขวาในสวนภายในบริเวณปราสาท Sumpu
Castle ด้วย
อีกสองตัวอย่างของแผ่นเหล็กปิดปากท่อที่เมือง
Shizuoka สองแบบนี้เป็นสี่เหลี่ยม
บนถนนคนเดินไม่ไกลจากสถานีรถไฟ Shizuoka มีเสาสวยๆหินแกรนิต
พร้อมเอกลักษณ์ต่างๆของเมืองและหรือของญี่ปุ่นประดับ แต่ดูเหมือนว่า ชาวเมืองเองไม่สู้สนใจนัก
และใช้เสา(ศิลป์บนถนน)ให้เกิดประโยชน์ส่วนตัว
เช่นตรึงรถจักรยานให้อยู่กับที่ตรงนั้นเลย
ภาพจากเสาที่ถ่ายมาเป็นตัวอย่างนี้ เป็นภาพลอกมาจากภาพพิมพ์ชุด 東海道五十三次 Tōkaidō
Gojūsan-tsugi [โทกั้ยโด่
โกจู่ซัง ซือกิ] (1832)
แปลได้ว่า ห้าสิบสามสถานีบนเส้นทางเลียบฝั่งทะเลตะวันออก. ผลงานของ 歌川 広重 Utagawa Hiroshige [อุต๊ะกาวา หิโรชิเหงะ] (1797-1858). เฉพาะภาพที่เห็นบนเสานี้คือภาพจากเมือง Yui [ยู้อิ]ชานเมือง Shizuoka. เมือง Yui เป็นสถานีที่ 16 อยู่บนเส้นทางดังกล่าวบนเกาะฮอนชู
จากเมือง Edo
(Tokyo ในปัจจุบัน) มุ่งไปสู่กรุงเกียวโตที่เป็นเมืองหลวงและที่ประทับของจักรพรรดิของญี่ปุ่นในยุคนั้น ทำให้เส้นทางนี้มีชื่อเรียกมาโดยตลอดว่าเป็น 東海道 Tōkaidō หรือ Eastern Sea Road. เส้นทางนี้มี 53 สถานี หมายความว่า มีศูนย์กลางการเดินทาง การติดต่อสื่อสารกับสถานีอื่นๆ มีที่พัก โรงเตี๊ยม
ร้านอาหารสำหรับผู้เดินทางผ่าน. Hiroshige ได้บรรจงเก็บภาพจากสถานที่ที่เขาเห็นในแต่ละจุดที่เขาผ่าน
รวมจุดเริ่มต้นที่เมือง Edo
และจุดหมายปลายทางที่กรุงเกียวโต ภาพชุดนี้จึงมีทั้งหมด 55 ภาพ.
ภาพแสดงเส้นทางที่เป็นช่องแคบ เนินผาและโขดหินแถบเมือง Yui
เป็นเส้นทางส่วนที่ลำบากกว่าส่วนอื่นด้วย
จึงเป็นธรรมดาที่ฝ่ายบริหารส่วนกลางของเมือง Shizuoka
นำมาเน้นไว้ตามถนนให้ชาวเมืองจดจำและภูมิใจ
โชคอนันต์ที่ภาพชุด ห้าสิบสามสถานีบนเส้นทางเลียบฝั่งทะเลตะวันออก นี้มีผู้รวบรวมไว้ให้เห็นในวิกิพีเดีย
ชมได้ที่นี่
Hiroshige ยังมีผลงานชุดอื่นๆของเขาอีกที่เป็นที่รู้จักชื่นชม ไม่เพียงแต่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่แพร่หลายไปถึงยุโรปด้วย. จิตรกรทั้ง Monet, Van Gogh หรือ Frank Lloyd Wright ต่างก็ได้หาซื้อภาพพิมพ์ของเขาไปติดบ้านจำนวนมากเลยทีเดียว รวมทั้งได้ให้ความคิดใหม่ๆในเรื่องเทคนิคของจิตรกรรมแก่จิตรกรตะวันตกด้วย. พิพิธภัณฑ์ 東海道広重美術館 Tokaido Hiroshige Art Museum ที่เมือง Yui เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งแรกในญี่ปุ่นที่รวบรวมผลงานของศิลปิน Hiroshige ไว้มากที่สุด มีภาพพิมพ์จากแผ่นไม้แกะเป็นภูมิทัศน์กว่า 1400 ชิ้น ที่รวมชุดที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีภาพชุด 木曾街道六十九次 Kiso Kaidō Rokujūkyū-tsugi [กีโส่ คัยโด หรกคือจู่คิว ซือกิ] หรือ Sisty-Nine Stations of the Kisokaido และชุด 名所江戸百景 Meisho Edo Hyakkei [เมโช เอโด้ หิอั๊กเกอิ] หรือ One hundred famous views of Edo.
Hiroshige เข้าสู่วงการเนรมิตภาพพิมพ์จากแผ่นไม้แกะสลักเป็นภูมิประเทศ (woodblock prints) เรียกเป็นสไตล์ 浮世絵
ukiyo-e [อูกิโย้เอะ]
(ที่ญี่ปุ่นแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า pictures
of the floating world ) ในยุคเดียวกับที่ 葛飾 北斎
Katsushika Hokusai [ขัดซื้อฉิกะ ฮก(กือ)ซัย] (1760-1849, ดูรายละเอียดชีวิตและผลงานของเขาได้ที่นี่ http://www.katsushikahokusai.org/ ) นำผลงานภาพพิมพ์ชุด 富嶽三十六景 Fugaku
Sanjūrokkei หรือ Thirty-six
views of Mount Fuji ออกสู่ตลาด
(ในราวปี 1831). ผลงานของ Hokusai
มีส่วนกระชับความตั้งใจและให้แรงบันดาลใจต่องานสร้างสรรค์ของ
Hiroshige และลูกศิษย์ของเขาต่อมา.
ทั้ง Hokusai และ Hiroshige
ได้ช่วยกระตุ้นความสนใจและความนิยมในการเสนอภาพพิมพ์แบบ 浮世絵
ukiyo-e [อูกิโย้เอะ]
ให้แพร่หลายกว้างขวางออกไปทั้งญี่ปุ่น. ศิลปะภาพแบบนี้ยืนหยัดมั่นคงต่อมาในญี่ปุ่น
จนกลายเป็นเอกลักษณ์เด่นอีกหนึ่งของญี่ปุ่น. ชมภาพสามสิบหกทิวทัศน์ของภูเขาฟูจิของ Hokusai ได้ที่นี่
ต่อมา Hokusai
ได้ขยายภาพชุดนี้ออกไปเป็นร้อยภูมิทัศน์. ภาพพิมพ์สองภาพที่นำมาเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้
เป็นผลงานที่ชาวโลกคุ้นเคยมากที่สุด และเป็นที่เลื่องลือกันมากที่สุดของ Hokusai
เป็นภาพของ Fujisan ที่ติดตาติดใจผู้คนที่รู้จักญี่ปุ่น และเป็นแรงดลใจให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางไป
“สัมผัส” ญี่ปุ่นด้วยกายและใจตามวิถีของแต่ละคน
Hokusai กำกับชื่อภาพนี้ไว้ว่า 神奈川沖浪裏 Kanagawa oki nami-ura
หรือ The
great wave at Kanagawa
(คลื่นลูกใหญ่ที่อาจทำให้นึกถึงคลื่นสึนามิ
เรือสามลำที่กำลังโต้และต้านคลื่นสุดกำลัง)
Hokusai
กำกับชื่อภาพนี้ว่า
凱風快晴 Gaifū kaisei หรือ South wind, clear sky.
(ภาพฟูจิซังในฤดูร้อน)
ลูกศิษย์และลูกบุญธรรมของ
Hiroshige (ผู้ใช้ชื่อว่า Hiroshige
II คือ Ando Hiroshige) ต่อมาก็เนรมิตภาพชุดสามสิบหกภูมิทัศน์ของเขาฟูจิเช่นกัน
ชุดหนึ่งออกมาในปี 1852 ที่เน้นด้านภูมิประเทศอีกชุดหนึ่งที่ไม่เหมือนกันเลยทีเดียวออกมาในปี
1858 เน้นด้านบุคลิก
หน้าตาของผู้คนในภาพมากกว่า. ดูรายละเอียดและภาพทั้งสองชุดของเขาได้ที่นี่ https://en.wikipedia.org/wiki/Thirty-six_Views_of_Mount_Fuji_%28Hiroshige%29
คงพูดได้ว่า
เพราะภาพพิมพ์เนื้อหาและแบบ 浮世絵 ukiyo-e
โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับภูมิประเทศ และเกี่ยวกับฟูจิซังแล้ว ได้ทำให้ชาวญี่ปุ่นตื่นตัวเกี่ยวภูมิทัศน์อันงดงามของเกาะญี่ปุ่น
กระตุ้นการออกเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆที่ศิลปินได้บรรจงบันทึกมา เกิดการพัฒนาเส้นทางเชื่อมเป็นเครือข่ายออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
ซึ่งหมายถึงการพัฒนาการค้าขายและการผนึกวัฒนธรรมประจำชาติให้เป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้น
สร้างความภูมิใจในมรดกของชาติ
กระชับจิตสำนึกของชาตินิยมแล้วร่วมกันทุกวิถีทางยกประเทศขึ้นสู่แนวหน้าของนานาประเทศในที่สุด
เรื่อง Fujisan ยังมีอีกมากในแนวลึก ในฐานะของสัญลักษณ์ที่รวมจิตวิญาณของชาวญี่ปุ่น มีผู้ศึกษาอย่างละเอียด มีผู้ถ่ายรูปเป็นแสนๆใบไว้ ด้านหลังของธนบัตรใบหนึ่งพันเยน ก็มีรูปที่แกะมาจากภาพถ่ายเลื่องชื่อของ 岡田紅陽 Okada Koyo (1895-1972) ที่เป็นหนึ่งในภาพถ่ายจำนวนสามแสนแปดพันรูปที่เขาติดตามถ่ายตลอดชีวิตเขา ภาพที่ได้รับเลือกให้ปรากฏบนด้านหลังของธนบัตรหนึ่งพันเยนนั้นเป็นภาพที่เขาถ่ายเมื่ออายุ 76 ปี. ฟูจิซังเป็น “คนรัก” ของชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก.
ขอจบลงตรงนี้ ภาพธรรมดาๆทั้งหมดของข้าพเจ้าที่นำมาลงในบันทึกเดินทางนี้ มีถึง 36 ใบเหมือนกัน (เข้าสูตรของมาสเตอร์ Hokusai) พอจะรวมกันเป็น สามสิบหกวิวของฟูจิซังจากโชโกะ หรือ
36 views of Fuji from Cho Ko album.
(เพื่อให้เข้าบรรยากาศญี่ปุ่น
จึงย่อและปรับชื่อข้าพเจ้าให้มีหน้าตาญี่ปุ่นเป็น ちょう こ [โชโกะ] พร้อมขอกำกับอักษรจีนที่เลือกตามใจตัวเองเป็น 長子 (อักษรจีนตัวแรกแปลว่า ยาว, ผู้นำ, เติบโต
คำที่สองแปลว่า ลูก, ผล, เด็ก, ในภาษาญี่ปุ่นใช้เป็นคำลงท้ายชื่อคนเพศหญิง )
ฮะ หะ ฮา เพลิดเพลินใจ !!!
บันทึกเดินทางของ
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ นำลงบล็อกเมื่อวันที่
๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘.
ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าที่เปี่ยมสาระ และภาพงามๆเหล่านี้นะคะ
ReplyDeleteชอบใจ โชโกะ เลย
Deleteได้ความรู้รอบตัวโดยไม่ต้องไปค้นควาวิจัยด้วยตัวเอง นักวิชาการในสายเลือด ขอบคุณค่ะโช
ReplyDeleteขอบคุณค่ะที่ติดตาม
Delete