แทบเท้าเธอฟูจิซัง (ตอนที่หนึ่ง)
เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่น
ชาวต่างชาติย่อมนึกเห็นดอกซากุระและภูเขาไฟฟูจิที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Fujisan
[ฝื้อจิซัง] ที่มาจากคำ 富士山 (คำแรกมีความหมายว่า
อุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย คำที่สองคือ ผู้มีวุฒิภาวะสูง เช่นปราชญ์ นักวิจัย หรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงในกองทัพ ในสังคม
และคำที่สามแปลว่า ภูเขา
รวมกันเป็นอักษรจีนที่กำกับเป็นชื่อทางการของภูเขาไฟลูกนี้ (ส่วนดอก wisteria ที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า
[ฟือจิ้] ฟังเหมือนพ้องเสียงกัน แต่ในความเป็นจริง
การออกเสียงชื่อภูเขา เน้นที่พยางค์แรก ส่วนการอ่านชื่อดอกไม้เน้นพยางค์ที่สอง
และที่สำคัญใช้คำจีนต่างกันชัดเจน ชื่อดอก wisteria มาจากคำๆเดียวคือ 藤 บางทีเพื่อมิให้สับสนก็เติมคำ 花 [หะนะ] ที่แปลว่าดอกไม้ต่อท้ายเข้าไปเป็น
[ฟือจิ๊หะหนะ] การเรียนภาษาญี่ปุ่น จะเอาแต่ท่องศัพท์ จำเสียงเท่านั้นไม่ได้
ต้องรู้ด้วยว่าเขียนอย่างไร ด้วยอักษรจีนตัวไหนอย่างเฉพาะเจาะจง ) สรุปแล้ว ซากุระกับภูเขาฟูจิ อย่างน้อยสองอย่างนี้
เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย
สำหรับผู้คุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่น ย่อมมีสิ่งประทับใจอื่นๆที่อาจเป็นชา อาหาร
ของใช้ เครื่องเย็บปักถักร้อย บางคนนึกถึงภูมิทัศน์ที่เคยเห็นมาหรือที่เห็นในสื่อแบบต่างๆ หลายคนนึกถึงประสบการณ์ด้านอื่นๆเช่นความสะอาด
ความเป็นระเบียบ ความปลอดภัย ความประณีตหรือความงามเป็นต้น ญี่ปุ่นสำหรับผู้ที่ได้สัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม
จึงหลากหลายไปตามความสนใจ วิถีการครองชีวิตและธรรมชาตินิสัยส่วนตัวของแต่ละคน
สำหรับเราคนไทย(บางคน) เมื่อไปญี่ปุ่น ก็อยากเห็น Fujisan [ฝื้อจิซัง] ไกลๆก็ยังดี เพราะการจะไปปีน Fujisan
ต้องมีความพร้อมหลายอย่างที่ผู้สูงวัยคนไทยอย่างเราไม่มีพอ ที่สำคัญต้องมีศรัทธาและความเคารพธรรมชาติในวิญญาณสำนึกด้วย. การเดินทางดั้นบถเดินปี 2015 นี้เนื่องจากอยู่ในเดือนกันยายน-ตุลาคมที่นักท่องเที่ยวยังน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายนที่เป็นเดือนชมใบไม้เปลี่ยนสี
(ที่เรียกกันว่า Momiji
โมมิจิ ) ทีมเล็กๆของเราจึงมีโอกาสไปพักแถบทะเลสาบที่มี Fujisan
สูงตระหง่านเหมือนอยู่ไม่ไกล เหนือทะเลสาบ
ในวันท้องฟ้าแจ่มใส เห็น Fujisan ได้อย่างชัดเจน ยิ่งในระหว่างฤดูหนาว เมื่อหิมะปกคลุม
ยิ่งเน้นแนวเส้นลาดเทของไหล่เขามากขึ้นอีก (โดยเฉพาะในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) ทะเลสาบแถบนี้มีห้าแห่งด้วยกัน
ข้อมูลในภาษาอังกฤษจึงมักเรียกแถบนี้ว่า Fuji five lakes. ส่วนที่สะดวกแก่การสัญจรท่องเที่ยวไปมาที่สุดคือแถบ 河口湖 Kawaguchiko
คาวากุจิโกะ (คำแรกหมายถึง แม่น้ำ ธารน้ำ คำที่สองคือ ปาก
คำที่สามคือ ทะเลสาบ) แต่การไปที่นั่น ก็ไม่มีใครยืนยันเช่นกันว่าจะได้เห็น Fujisan [ฝื้อจิซัง] ทุกอย่างขึ้นอยู่กับฟ้าดินนะคะ
ภาพจาก
Google map แสดงอาณาบริเวณ Fuji
Five lakes รวมที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์และจุดท่องเที่ยว
เหนือฟ้ามี Fujisan จะไปคอยจ้องมองหาตลอดเวลาก็ใช่ที่
เพราะแทบเท้าเธอ Fujisan มีสิ่งน่าสนใจอีกมาก ที่เสริมเอกลักษณ์อันโดดเด่น แปลกและน่าทึ่งแก่ดินแดนแถบนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์น่าสนใจหลายแห่งสำหรับรสนิยมและกลุ่มอายุต่างๆ
เช่น ป่าดนตรี (ที่เขาตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า Music
Forest ชื่อญี่ปุ่นคือ 河口湖オルゴールの森 (ซึ่งก็คือการใช้คำทับเสียงภาษาอังกฤษต่อท้ายชื่อถิ่นเป็น คาวากุจิโกะ
มูซิกเกอะ โหน่ โมหริ คำ โน แปลว่า of
/ ของ และ โมหริ
แปลว่า ป่า ) เรียกเป็นสวนดนตรีก็ฟังดูดีเหมือนกัน(เพราะไม่เหมือนป่าตามความเข้าใจของคนไทย)
สวนดนตรีเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องเสียง
แบบสมัยเก่าประเภทต่างๆที่ประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20.
เป็นเครื่องดนตรีที่จัดรวมๆเข้าในกลุ่ม automatophones
เช่น phonograph, gramophone, organ แบบต่างๆ เช่น orgue de barbarie (barrel
organ) ตั้งแต่แบบง่ายๆ
ขนาดเล็กเหมาะมือ จนถึงขนาดมหึมาที่ตั้งตระหว่านเหมือนฉากใหญ่ตลอดความกว้าง
ยาวและสูงของเวทีละคร สวนดนตรีที่นั่นนอกจากจะเห็นวิวทะเลสาบและ Fujisan
[ฝื้อจิซัง] (ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส)แล้ว
ยังเป็นที่จัดแสดงดนตรีน้ำ
ดนตรีในสวนหรือในห้องโถงใหญ่ มีการเชิญนักร้องโอเปร่า
มาแสดงประกอบเครื่องดนตรีสมัยเก่า และสาธิตหรืออธิบายเรื่องดนตรีแก่ประชาชนทั่วไป เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีสากล
เช่นนี้ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกับดนตรีตะวันตกมากกว่าคนไทยมากนักและตั้งแต่วัยเยาว์ ดนตรีเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในระบบการศึกษาของเด็กญี่ปุ่นจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเรียนในคณะต่างๆ
สถาปัตยกรรมที่นั่น
เลียนแบบตะวันตก ค่อนไปในรูปแบบของปราสาท และด้วยสัดส่วนที่เล็กลงมาก
ทำให้มีความรู้สึกเหมือนปราสาทในเทพนิทานตะวันตก เมื่อคิดไปมา ก็ดูเหมาะกับจุดประสงค์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้
และเหมาะกับเครื่องเสียงต่างๆในนิทรรศการถาวรที่นั่น ที่นำเราย้อนยุคไปในอดีตเหมือนเข้าไปในแดนฝันสมัยเด็กๆ
เมื่อได้เห็นกล่องดนตรี ขนาดเล็กขนาดใหญ่ พร้อมรูปลักษณ์คนขนาดย่อส่วน (แบบแรกๆของหุ่นยนต์หรือ
automaton) ที่ขยับได้ตามเสียงเพลง
มุมต่างๆภายในสวนดนตรี ทุกชั่วโมงมีหุ่นออกมา ทำหน้าที่เหมือนวาทยากร
(ตรงดอกจันบนหน้าต่างเหนือกำแพง) นำการแสดงดนตรีของสายน้ำในสระตรงหน้า
ที่มีระบบท่อน้ำพุกระจายอยู่เต็มในสระน้ำ (ดูบริเวณดอกจันในสระน้ำ)
กลางสวนมีต้นไม้ประดับด้วยคริสตัล
ซึ่งคงต้องการให้เกิดแสงระยิบระยับในยามต้องแสงแดด
วันที่ไป
ฝนตกพรำๆแต่ก็ยังเดินเล่นได้ในแสงและบรรยากาศครึ้มๆ มีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง
เครื่องดนตรีง่ายๆบางชนิด
ติดตั้งประดับสวนให้คนเล่นได้เลย
เช่นแนวท่อทองแดงที่เรียงไล่ระดับกัน ไปปัดๆดู ก็เกิดเสียงใสเพลิดเพลินใจดี
หากมองจากภายนอกสวนด้านทะเลสาบ
จะเห็นว่า บริเวณสวนติดฝั่งทะเลสาบเลย เพียงแต่มีรั้วปิดเป็นแนว
กำหนดบริเวณอย่างชัดเจนว่า ทางเข้านั้น เข้าจากทางเดินเลียบฝั่งทะเลสาบไม่ได้ เป็นกฎระเบียบของทุกสถานที่
เพื่อความปลอดภัยของสมบัติที่มีในพิพิธภัณฑ์และความถูกต้องในการใช้พื้นที่สวนเพราะแม้เปิดให้สาธารชน
พื้นที่นั้นไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ต้องเสียค่าผ่านประตู.
อาคารพิพิธภัณฑ์
สร้างและตกแต่งภายในอย่างสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมบาร็อคตะวันตก สำหรับเป็นที่ตั้งของเครื่องดนตรีแบบกล่องเสียงประเภทต่างๆที่มีค่าสูง
ที่ไปหาซื้อมาจากยุโรปแทบทั้งสิ้นในราคาแพงๆ.
ปี 2015 ที่ไปมา เห็นติดราคาเครื่องเสียงแต่ละชิ้นไว้ด้วย อาจมีคนขอซื้อ (นับวันคนยุคใหม่ไม่เห็นคุณค่าของเครื่องเสียงแบบโบราณพวกนี้แล้ว
นอกจากคนที่มีใจรักและมีความฝันแบบเด็กที่ยังหวงแหนไว้ในจิตวิญญาณ
ไม่ปล่อยให้ผ่านไปกับกาลเวลา)
ตัวอย่างกล่องดนตรีแบบต่างๆ
ซึ่งยังคงเล่นได้ แต่เขาไม่แสดงให้ดูทุกตัว บางวัน เลือกเปิดให้ฟังจากบางเครื่อง
พอเป็นตัวอย่าง ผู้จะเล่นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความระมัดระวังสูง
เสียไปคงหาทางแก้ไขลำบากมาก
จึงเป็นธรรมดาที่เขาห้ามแตะต้องเครื่องดนตรีที่วางโชว์อยู่ แค่อนุญาตให้ถ่ายรูปก็ดีโขแล้ว
บ้านแบบ chalet suisse ที่ทำเป็นกล่องดนตรี
โต๊ะขนาดใหญ่ตัวหนึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทที่จำลองปราสาท
Herrenchimsee หรือพระราชวังแวร์ซายส์ของเยอรมนีในแคว้น Bavaria มีองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆมากทั้งข้างนอกและข้างใน ภายในจัดเป็นห้องโถงยาวสำหรับงานเลี้ยง
เต้นวอลส์กันตามประเพณีนิยมของยุโรปโดยเฉพาะในเยอรมนีและออสเตรีย (ดูภาพข้างล่างนี้) ตุ๊กตาที่มีข้างใน เคลื่อนไหวได้ คือเต้นวอลส์ได้ด้วย
ตามจังหวะเพลงที่เปิด ต้องคารวะคนประดิษฐ์ศิลปะชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านี้ด้วยความรักและความตั้งใจเต็มที่
กล่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของพิพิธภัณฑ์
ตั้งตระหง่านบนเวทีใหญ่เหมือนฉากขนาดมหึมา เขาเปิดแสดงให้ดูทุกวันๆละสองสามรอบ
ตัวตุ๊กตาที่ประดับนั้น และทุกตัวบนกำแพงสองข้างในโรงละคร จะขยับทำท่าเล่นดนตรีที่ถืออยู่ในมือเช่นกลอง
แตร ระฆัง ฉิ่งฉาบเป็นต้น สอดคล้องกับเสียงเพลงที่ได้ยิน เป็นงานประดิษฐ์สร้างสรรค์จากฝรั่งเศส (กำกับไว้เลยว่า Marc FOURNER et Fils, Seyssuel)
ตุ๊กตาทุกตัวในห้องละครนั้น
ล้วนเคลื่อนไหวได้ทั้งสิ้นและดีดสีตีเป่าตามจังหวะด้วยดนตรีที่มีอยู่ในมือ แต่ละตัวยังคงสดสวยในสีสันงดงาม หน้าตาดี บนกำแพงคั่นตุ๊กตาดนตรีแต่ละตัว ยังมีจิตรกรรมบนแผ่นไม้
เสนอภาพสถานที่สำตัญๆในฝรั่งเศสและในยุโรป
ห้องแสดงดนตรีนี้บ่งบอกความรักความทุ่มเทของผู้ที่เป็นเจ้าของ
อีกตัวอย่างหนึ่งของเครื่อง
orgue de barbarie ขนาดเล็กลงก็คือเครื่องเสียงที่หมุนด้วยมือ ที่ยังคงเห็นได้ในประเทศเนเธอแลนด์และโดยเฉพาะที่กรุงอัมสเตอดัม
พิพิธภัณฑ์ยังมีห้องแสดงดนตรี
เวทีประดับด้วยเครื่องดนตรีแบบกล่องเสียงขนาดใหญ่ๆ
ที่ยังใช้การได้จนทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่เปิดให้ฟังด้วย
พร้อมอธิบายดนตรีที่ให้ฟังซึ่งเป็นดนตรีคลาซสิกตะวันตกทั้งหมด บางทีก็เชิญนักร้องโอเปร่ามาร้องประกอบพร้อมๆไปกับดนตรีจากเครื่องเสียงต่างๆที่เห็น
มีเปียโนใหญ่สองหลัง ห้องดนตรีนี้
คงใช้สำหรับการแสดงดนตรีในวาระเทศกาลต่างๆด้วย เพราะห้องจัดที่นั่งเป็นอัฒจันทร์สำหรับคนเข้าชม
แม้จะจุคนได้ไม่เกินร้อยคนก็ตาม
บันทึกเดินทางของ
โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
นำลงบล็อกเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘.
ชอบทั้งคำบรรยายและรูปภาพที่แสนสวยค่ะโช อ่านจบแล้วอยากไปเห็นด้วยตาของตัวเอง ขอบคุณอย่างเคยที่โชนำความรู้มาแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ Anyway, I hope I will get to see it with my own eyes in the near future! Thanks again kha Cho.
ReplyDeleteชอบมากเลยค่ะโช อยากหาโอกาสไปเห็นต้วยตาสักครั้ง
ReplyDeleteสนับสนุนเลย ไปพักผ่อนสบายๆได้เลยทั้งครอบครัว
Delete