นักเดินทางที่ดีเมื่อผ่านไปในท้องถิ่นใด แม้จะต่างชาติต่างภาษาก็ตาม ควรคำนับหรือคารวะ“เจ้าบ้าน” และ “เจ้าที่” จิตสำนึกแบบนี้ช่วยให้เราไม่ไป “ขัดหูขัดตา” เจ้าถิ่น และยอมรับการไป(แบบสอดรู้สอดเห็น) “ดู” ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ซึ่งแท้จริงมักเกินขีดความอยากรู้อยากเห็นธรรมดาๆ ยิ่งมีอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่เราคุ้นเคยมาก ก็ยิ่งกระตุ้นให้ “ตื่นที่” มากขึ้น (ด้วยการแอบถ่ายรูป ทั้งๆที่เขาห้ามไว้เป็นต้น มันอดไม่ได้จริงๆ ลืมคำนึงถึงสิทธิการมีชีวิตส่วนตัวของพวกเขาไปเลย )
ประเทศบัลเกเรียและโรเมเนียที่ไปมานั้น ธรรมชาติขุนเขา
ลำธารและป่าไม้นั้นเขียวชอุ่ม เพลิดเพลินตา แม้จะมีร่องรอยของการตัดโค่นต้นไม้เป็นแถบๆแล้วก็ตาม
แต่ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศยังมีครบเกือบเต็มร้อย. ในช่วงต้นฤดูร้อนที่ไปเยือนนั้น
สีขาวเป็นสีเด่นบนเส้นทาง เป็นสีของดอกแคฝรั่งเล็กๆ (acacia) ที่ออกดอกเป็นช่อห้อยลงพลิ้วไปมากับสายลม
และเป็นสีของดอก elderflower ที่ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ.
ต้นไม้อื่นๆที่มีดอกสีขาวๆก็ยังมีอีกมากชนิดรวมถึงดอกขาวอมชมพูของต้นเกาลัดด้วย
(ยังมีพันธุ์ดอกสีแดงๆด้วย) ที่ปลูกสองข้างถนนในเมือง
เพราะเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่ชาวเมือง, สวยในยามดอกไม้บานและในยามใบไม้เปลี่ยนสี. ดอกไม้สีอ่อนๆที่ประทับใจพวกเราทุกคนอีกประเภทหนึ่งคือ
ต้น lilac ดอกสีม่วงเข้ม สีม่วงอ่อนๆและสีขาว (สีชมพูอมม่วงก็มี). ดอกไม้สีสดๆสวยๆอื่นๆเช่นจำพวกพุ่มไม้
azalea หรือ rhododendron
หรือดอกไม้พันธุ์เหง้าเช่นดอก iris อย่างไรก็ดี สีขาวดูจะเป็นสีที่ประดับภูมิทัศน์ที่เราไปเห็นมา มากกว่าสีอื่นใด, มันเต็มทั้งเนินเขาหรือสองฝั่งถนนในชนบท
และนี่เป็นทรัพยากรมีค่าของทั้งสองประเทศเลยทีเดียว. ในโรเมเนียโดยเฉพาะ บนเส้นทางออกนอกเมือง
มีเพิงตั้งขายผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งกันเรียงราย
เป็นน้ำผึ้งจากดอกแคฝรั่งนั่นเอง. ในโรงแรมเขานำรวงผึ้งสดๆออกมาไว้ให้ตักกินเลย(หรือจะทาขนมปังหรือเอาไปปรุงอะไรก็ตาม). ส่วนดอก elderflower นั้นก็นำมาทำเป็นน้ำโซดาหอมชื่นใจ
(เหมือนที่เคยดื่มตามสวนในอังกฤษ หรือในสวิตเซอแลนด์เช่นที่เมือง Appenzell
เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น. ประเทศไทยเราก็มีดอกไม้หอมๆมากมาย
น่าจะลองนำมาทำน้ำโซดากลิ่นดอกไม้).
ทั่วไปบนโลกเรานี้ซ่อนความงามของธรรมชาติไว้
อยู่ห่างไกลความมักมากของคน. โดยปริยายคือห่างจากสิ่งก่อสร้างสูงระฟ้า, อาคารรวมห้างสรรพสินค้า, อาคารอาศัยที่แน่นติดๆกันเป็นรวงผึ้ง ฯลฯ. ธรรมชาติที่เขียวสดใส
สะอาดหมดจดนอกเมืองใหญ่ๆ จึงเป็นที่ตั้งของวัดและอารามนักบวชในบัลเกเรียและโรเมเนีย, เพราะสภาพแวดล้อมสำคัญยิ่งในวิถีชีวิตของนักบวช ที่มุ่งการเจริญสมาธิและปฏิบัติธรรม. ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว
ผู้ที่ฝักใฝ่ในพระเจ้า ต้องการเข้าถึงจิตวิญญาขั้นสูง, มักปลีกตัวออกห่างไกลจากชุมชน, ใช้ชีวิตในป่าเขาหรือทะเลทรายตามลำพัง, ผ่านร้อนผ่านหนาวจนพบความสมดุลของตัวเองท่ามกลางธรรมชาติ. วัดหรืออารามนักบวชที่โดดเด่นทั้งหลายในสองประเทศ มักตั้งอยู่ในหุบเขา. บรรยากาศที่สงบในธรรมชาติที่ร่มรื่น ทำให้จิตใจผ่อนคลายทันที. การไปชมศาสนสถานของทั้งสองประเทศ ถือเป็นการไปคารวะ
“เจ้าที่” อย่างหนึ่ง.
คริสต์ศาสนาถูกแบ่งแยกออกเป็นสองขั้วสองเขตในยุโรป
เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันมาว่า East-West Schism ที่อุบัติขึ้นในปี 1054 แบ่งแยกออกเป็น Eastern
Christianity และ และ
Western
Christianity.
คริสต์ศาสนาสายตะวันออก รวมประเทศในยุโรปตะวันออก, สหภาพโซเวียตและกรีซเป็นสำคัญ ที่ได้จรรโลงคริสต์ศาสนานิกาย orthodox มาได้อย่างมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้. ศิลปวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกับนิกายนี้
เห็นชัดเจนและโดดเด่นที่สุดในประเทศรัสเซียและกรีซ, ที่ได้กระตุ้นการเผยแผ่ขนบประเพณีและศิลปวัฒนธรรมไปยังประเทศอื่นๆในยุโรปตะวันออกด้วย. นิกาย Orthodox
ของแต่ละประเทศ แม้จะยึดหลักศาสนาและหลักการประพฤติปฏิบัติทั่วไปเหมือนๆกัน, แต่ก็ปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชนแต่ละแห่งด้วย. เช่นนี้แต่ละประเทศอาจเรียกลัทธิศาสนาของเขาอย่างเจาะจงว่าเป็น Russian orthodox, Greek orthodox, Bulgarian
orthodox, Romanian orthodox เป็นต้น. นิกาย orthodox ไม่มีสันตะปาปา
แต่มีกลุ่ม bishop ผู้เป็นหัวหน้าคณะนักบวชของแต่ละชุมชน, เป็นผู้ปกครองดูแลการศาสนา, ยึดหลักการที่เป็นแก่นศาสนาว่า “
one Lord, one faith, one baptism” - พระเจ้าองค์เดียว ศรัทธาเดียว ศีลจุ่มเดียว (ในความหมายว่าไม่ไปยุ่งกับพิธีกรรมของศาสนาอื่นใดอีก).
ส่วนคริสต์ศาสนาฝ่ายตะวันตกนั้น
รวมนิกายโรมันคาทอลิกกับโปรแตสแตนต์ ที่เป็นสองนิกายสำคัญและโดดเด่นที่สุดในตะวันตก
และที่แผ่อิทธิพลออกไปถึงทวีปอเมริกาเหนือและใต้ด้วย. ความแตกต่างระหว่างสองค่ายตะวันออก-ตะวันตกนั้น
เห็นได้ชัดเจนที่สุดในด้านศิลปศาสนา, ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจำนวนมากในด้านการจำกัดความเนื้อหาของศาสนา, บทบาทของนักบุญหรือของนักบวช, ความแตกต่างในพิธีกรรม, การปฏิบัติตนฯลฯ. ทั้งหมดเกินกว่าจะนำมากล่าวณที่นี่ได้
เราจึงเลือกยกตัวอย่างที่ง่ายและชัดเจนที่ตามองเห็นได้จากการไปยืนอยู่หน้าวัด orthodox
ที่ต่างกันมากเมื่อเราไปยืนอยู่หน้าโบสถ์โรมันคาทอลิกในฝรั่งเศสเป็นต้น.
โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมต่างกันอย่างชัดเจน. ในยุโรปตะวันออกอาคารวัดอารามดูทึบๆตันๆเพราะมีหน้าต่างน้อย. ทั้งหน้าต่างก็ไม่กว้างและไม่สูง. อาคารโบสถ์ในตะวันตก มีขนาดใหญ่และสูงท่วมท้น
(จากพื้นถึงเพดานเมื่อยืนอยู่ตรงกลางลำตัวของโบสถ์ ตั้งแต่ 22-48 เมตร. ข้อมูลจากโบสถ์ใหญ่ๆในฝรั่งเศส). วัด
orthodox ในรัสเซีย ก็มีขนาดใหญ่ที่เทียบเคียงกันได้
แต่เพราะโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ต่างกัน
ทำให้จุจำนวนคนได้น้อยกว่า และเส้นทางการเข้าและออก ซ้อนบนทางเดียวกัน
จึงแออัดเมื่อต้องเดินเข้าหรือออกในเวลาเดียวกันกับคนกลุ่มอื่น. วัดในยุโรปตะวันออก มีขนาดเล็กกว่า. วัดขนาดใหญ่ มีเพียงไม่กี่แห่ง(เท่าที่ได้รู้เห็นมา) เช่น อารามรีลาในบัลเกเรีย
(Rila Monastery, ในภาษาบัลเกเรียนเขียนดังนี้ Рилски манастир หรือถอดเป็นอักษรโรมันดังนี้ Rilski manastir). ตัวอาคารของวัดนั้น ไม่ใหญ่มาก
ภายในจุคนเป็นจำนวนนร้อย ก็จะแน่นมากแล้ว. ทุกคนต้องยืนเป็นส่วนใหญ่
แม้ในยามฟังสวด. ความกว้างใหญ่ของวัด มิได้อยู่ที่อาคารวัด
แต่อยู่ตรงบริเวณที่รวมกันเป็นพื้นที่ของอารามนั้น (วัดและอารามรีลามีพื้นที่รวมกันทั้งหมด 8,800 ตารางเมตร). เนื่องจากเป็นอารามศูนย์ภิกขาจารของบัลเกเรีย จึงมีอาคารอื่นๆในบริเวณ (ที่ปัจจุบันรวมพิพิธภัณฑ์ด้วย), เคยที่พักอาศัยของนักบวช นักเทวศาสตร์ นักเรียน นักวิชาการด้านภาษา
วรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ. อารามรีลา
จึงเป็นศูนย์ปัญญาชนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปตะวันออก. ตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว มีการติดต่อแลกเปลี่ยนศาสนกิจกับอารามหลายแห่งในประเทศกรีซ
(เช่นกับวิหารที่เมือง Athos) และกับองค์กรศาสนาในรัสเซียด้วย, และเพื่อปกป้องวัดอารามนี้ ได้มีการสร้างกำแพงล้อมรอบพื้นที่ ในแบบของกำแพงพร้อมป้อมปราการ, ซึ่งก็กลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของวัดอารามในบัลเกเรียและโรเมเนียที่ไปเห็นมา.
นักบุญจอห์นแห่งรีลา ในมือถือแผ่นกระดาษแผ่นใหญ่
เพื่อสื่อว่าเขาได้เขียนและรวบรวม
บทธรรมจริยาและธรรมะเพื่อการศึกษาไตร่ตรองสำหรับนักบวช
นักบุญจอห์นแห่งรีลา
(John of Rila, ชื่อ John ตรงกับ Ivan ในภาษาท้องถิ่นที่นั่น เขาเกิดในราวปี 876) ได้ไปเก็บตัวศึกษาและพัฒนาคุณธรรมบนภูเขารีลา
ยึดแนวคริสต์ศาสนาที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในบัลเกเรียในปี 865 เมื่อเจ้าชาย
Boris I ได้นำชาวบัลเกเรียเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา.
ตั้งแต่นั้นคุณธรรมของศาสนาคริสต์ ได้เป็นหลักและบทนำทางความประพฤติของชาวเมืองรวมทั้งเป็นรากฐานการปกครองประเทศด้วย. ตั้งแต่นั้นมา มีการตั้งอารามนักบวชขึ้นหลายแห่ง
เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณและกระชับคำสอนและหลักการของศาสนา. จอห์นแห่งรีลาเป็นหนึ่งในชาวคริสต์ที่มีศรัทธาแรงกล้าในพระเจ้า. เขาบวชตั้งแต่อายุ 25 และไม่กี่ปีต่อมาก็ปลีกตัวไปจำศีลและถือพรตในป่าสูงฟ้ากว้าง บนเทือกเขารีลา. เขาไปอาศัยอยู่ในถ้ำ ไม่มีสมบัติอะไรอื่น นอกจากหินที่เขาใช้เป็นหมอน
(มีผู้ระบุว่า ท้องฟ้าเป็นผ้าห่มของเขา). วิถีปฏิบัติธรรมของเขาเป็นที่เลื่องลือและสรรเสริญกันไปทั่ว. เขาใช้ชีวิตแบบนั้นสิบสองปี
สามารถข่มและสยบความยั่วยวนต่างๆได้สำเร็จด้วยศรัทธาแก่กล้าในพระเจ้า. จอห์นถึงแก่กรรมเมื่อวันที่
18 สิงหาคมปี 946.
เขาได้เขียนและรวบรวมความคิด คำสอนของเขาเพื่อให้นักบวชลูกศิษย์ของเขาได้อ่านและนำไปคิดไตร่ตรองและปฏิบัติตาม. เมื่อเขาถึงแก่อนิจกรรม มีการรวบรวมสารีริกธาตุบางส่วนของท่าน ที่ไม่เน่าเปื่อยหรือสลายเป็นผง. เกิดปาฏิหาริย์หลายครั้งว่า สารีริกธาตุของท่าน สามารถบรรเทาความเจ็บปวดและมีพลังอำนาจสูง. เมื่อมีการย้ายสารีริกธาตุของท่านไปยังวัดรีลาในปี
1469 ผู้คนจึงพากันเดินทางไปคารวะ, ไปอธิษฐานขอความช่วยเหลือเป็นต้น.
อารามที่รีลา กลายเป็นเยรูซาเล็มของบัลเกเรีย. พลังศรัทธาของชาวบัลเกเรีย ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณและผนึกความเป็นเอกภาพของชาติไว้ได้ โดยเฉพาะในระหว่างที่ชาวเตอร์กเข้าไปยึดครองบัลเกเรีย ระหว่างศตวรรษที่
14 จนถึงศตวรรษที่ 19. กฎบัญญัติต่างๆที่ยึดถือปฏิบัติกันในอารามรีลา
ก็เป็นกฎที่นำไปใช้ในสำนักนักบวชทุกแห่งในบัลเกเรียด้วย และกลายเป็นหลักการพื้นฐานของระบบการถือศีลและอยู่อย่างผู้ทรงพรตในสังคมบัลเกเรีย
(Bulgarian monasticism). ในศตวรรษที่ 17 และศตวรรษที่18 วัดและอารามที่รีลา กลายเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยของนักบวช
ครูหรือนักศึกษา และเป็นที่ฝึกและเรียนงานช่างฝีมือไปด้วย, เช่นการแกะสลัก
การลงสีภาพไอค็อนและงานช่างแขนงต่างๆ. ในปี 1833 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เผาผลาญวัดเสียหายมาก ทำให้ต้องสร้างใหม่และบูรณะขึ้นติดต่อกันมาเป็นเวลานานระหว่างปี
1834-1862. ได้ศรัทธา การบริจาคและความช่วยเหลือของชาวบัลเกเรียทั้งประเทศ.
มีสถาปนิก Alexi Rilets เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างทั้งหมด. เขาได้สร้างอาคารที่พักเพิ่มเข้าไปด้วยตั้งแต่ปี
1816. ต่อมา Neofit Rilski ผู้สืบทอดงานของเขา ได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นภายในอาราม. ในยุคนั้นอาราม ยังเป็นที่หลบซ่อนของพวกปฏิวัติด้วย. กลุ่มสถาปัตยกรรมวัดอารามที่รีลา ได้ฟื้นฟูและพัฒนาแบบฉบับของสถาปัตยกรรมเรอแนสซ็องส์ของบัลเกเรีย ให้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง (สถาปัตยกรรมแนวนี้จักสืบทอดต่อมาในระหว่างศตวรรษที่18 และ19) และกลายเป็นอนุสาวรีย์สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติในปี
1976. ในปี 1983 องค์การยูเนสโกก็ประกาศยกระดับกลุ่มสถาปัตยกรรมที่รีลานี้ ให้เป็นมรดกของมนุษยชาติ
ว่ากลุ่มสถาปัตยกรรมรีลา เป็นสัญลักษณ์ของความตระหนักรู้เกี่ยวกับอิทธิพลของวัฒนธรรมสลาฟ ที่ครอบงำบัลเกเรียติดต่อกันมาหลายศตวรรษ. ความสำคํญของวัดและอารามที่รีลายังคงไม่คลอนแคลนในศตวรรษที่
19 และศตวรรษที่ 20. (ดูรายละเอียดได้ตามลิงค์นี้ และที่เว็บเพจนี้)
ภาพนี้ ให้รายละเอียดของอาณาบริเวณของวัด
ที่มีกำแพงป้อมปราการล้อมรอบ. ตามประวัติศาสตร์ ป้อมกำแพงจำเป็นยิ่งเพื่อปกป้องภัยจากผู้รุกรานที่เข้าไปปกครองบัลเกเรียในศตวรรษต่างๆดังได้กล่าวถึงข้างต้น. ภาพยังแสดงให้เห็นว่า มีผู้คนไปวัด เข้าๆออกๆอยู่เสมอ. บางคนเดินทางมาจากแดนไกล, ต่างถิ่นต่างเมืองมา,
มีสัมภาระบรรจุเป็นถุงย่ามแบกบนไหล่. บนยอดเขาที่ไกลออกไปด้านหลัง
มีวัดเล็กๆที่สร้างขึ้น (เชื่อกันว่า) ณตรงนั้น นักบุญจอห์นได้ใช้ชีวิตในความสันโดษเพื่อเจริญสมาธิและศึกษาพิจารณาหลักธรรมของศาสนา.
แผนผังอาณาบริเวณของอารามรีลา จาก commons.wikipedia.org
ผู้ทำใช้ชื่อว่า Kandi นำลงเมื่อวันที่
31 มกราคม 2013. ข้าพเจ้านำมาลงรายละเอียด
อีกตัวอย่างหนึ่งของอาณาบริเวณวัดพร้อมกำแพงและป้อมแน่หนามั่นคงปป
นอกจากขนาดที่ต่างกันมากระหว่างวัดวิหารในยุโรปตะวันตก กับวัดและอารามนักบวชในตะวันออก, การสร้างและการตกแต่งวัดก็ผิดกัน. โบสถ์ในยุโรปตะวันตกที่สำคัญๆระดับชาตินั้น
เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และหรือสถาปัตยกรรมกอติค. เมื่อเทียบการก่อสร้างในยุโรปยุคเดียวกันแล้ว (คริสตศตวรรษที่ 11-14), สถาปัตยกรรมกอติคโดดเด่นมากที่สุด. สถาปัตยกรรมกอติคประกอบด้วยรูปปั้นจำนวนมาก ที่ยืนเรียงรายอยู่นอกโบสถ์. รูปปั้นเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงโบสถ์ด้วย เหมือนเสาค้ำกำแพง, จึงให้นัยของการค้ำจุนศาสนา. รูปปั้นทั้งหลายนั้น
มีตั้งแต่รูปปั้นของพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีและนักบุญต่างๆ รวมทั้งรูปปั้นเทวทูต.
วัดอารามในยุโรปตะวันออกไม่มีรูปปั้น. วัดสำคัญๆระดับชาติและระดับโลก (เพราะได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลก)
ในบัลเกเรียและโรเมเนีย สร้างในยุคกลางระหว่างศตวรรษที่ 11-16. กำแพงภายนอกและภายในของวัดอาราม ประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังเต็มเกือบทุกพื้นที่
(ยกเว้นฐานอาคาร), รวมถึงเพดาน บนเสาต่างๆ. น่าเสียดายว่า
วันเวลาได้ทำให้ภาพต่างๆเลือนลางลงไปเรื่อยๆ.
การบูรณะปฏิสังขรณ์นั้นเริ่มกันแล้ว, ต้องใช้เวลามากและเป็นงานฝีมือของนายช่างผู้ชำนาญเรื่องสี, เรื่องภาพและเรื่องวัสดุที่นำมาใช้ดูดซับความสกปรกที่ทับถมลงบนเฟรสโก้. ทั้งหมดนำมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น. ภาพที่ถ่ายมา จึงต้องผ่านการปรับแสงและสีเพื่อให้ชัดเจน และช่วยให้อ่านเนื้อหาได้. ก็ยังยากอยู่มากสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยกับระบบภาพลักษณ์และสัญลักษณ์ในคริสต์ศิลป์ตะวันออก. การเข้าใจเนื้อหาของเฟรสโก้ทั้งหมด จึงเป็นไปไม่ได้
โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวผู้รีบร้อน.
ส่วนอารามรีลาในบัลเกเรียนั้น จิตรกรรมยังอยู่ในสถาพที่ดีมาก, ทั้งสีสันก็สดสะอาด ดูใหม่ แต่เคยเสื่อมโทรมไปหลายระยะ
เมื่อบัลเกเรียตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทนในศตวรรษที่ 14 และในศตวรรษที่ 15 เมื่อจักรวรรดิอ็อตโตมันเข้ายึดครองบัลเกเรีย. ในแต่ละช่วง วัดและอารามรีลา ได้พยายามบูรณะและผลักดันศาสนกิจต่างๆให้ฟื้นคืนชีวิต. ทุกอย่างเป็นไปอย่างช้าๆ จนถึงปี 1566, สถานะของวัดและอารามจึงมั่นคงขึ้น.
มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับอารามนักบวชอื่นๆทั่วทั้งประเทศ, สร้างภราดรภาพในหมู่นักบวชทั้งหมด. ระหว่างศตวรรษที่ 17 และ 18 อารามรีลา เจริญรุ่งเรืองมากดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น.
เฟรสโก้ที่ประดับบนกำแพงภายนอกด้านหน้าของอาคารทั้งหมด
และกำแพงด้านข้างส่วนหน้า ที่มีเสาโค้งครึ่งวงกลมเรียงรายกันเป็นซุ้มทางเดินสองข้างวัดส่วนหน้านี้. นอกนั้นเป็นอาคารสีอิฐ(หรือกระเบื้อง) ส้มๆแดงๆ สลับกับแนวอิฐที่สีอ่อนกว่า
จึงทำให้เห็นเป็นลายริ้วขวางตามความยาวของอาคาร (และเป็นพยานของอิทธิพลสถาปัตยกรรมอาหรับของจักรวรรดิอ็อตโตมัน).
มุมมองจากประตูทางเข้า Dupnitsa Gate สู่ Rila Monastery,
Bulgaria.
อาคารสี่ชั้นเป็นแนวยาวล้อมรอบพื้นที่ (เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปี
1816) เคยเป็นที่อยู่ที่อาศัยของนักบวช นักศึกษาวิจัย ครู
นายช่างฝีมือทั้งหลาย. มีทั้งหมดสามร้อยห้อง. มีวัดเล็กๆให้สวดมนตร์สี่วัด. ห้องเจ้าอาวาส ครัว ห้องสมุด. ปัจจุบันมีส่วนหนึ่งที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ รวมภาพไอคอนและมีไม้กางเขนขนาด
81x43 ซม. ประดับด้วยภาพแกะสลักละเอียดยิบทั้งหมด 104 ฉากและบุคคลตัวเล็กๆอีก
650 ตัว. ระบุกันมาว่า ใช้เวลาสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 12 ปีและแล้วเสร็จในปี
1802. เมื่องานเสร็จ นักบวชผู้แกะสลัก ก็ตาบอด.
อาคารหอระฆัง (Hrelja’s
Tower)
ปัจจุบันชั้นล่างจัดเป็นร้านขายหนังสือและผลิตภัณฑ์ของวัดเพื่อวัด
ปัจจุบันชั้นล่างจัดเป็นร้านขายหนังสือและผลิตภัณฑ์ของวัดเพื่อวัด
ด้านทิศใต้ของวัด ใต้ต้น lilac ดอกสีม่วงที่กำลังบานเต็มต้น
มีแผ่นหินอนุสรณ์ความทรงจำ จำหลักชื่อบุคคลสำคัญหรือเจ้าอาวาสคนสำคัญๆของวัด
อ่างน้ำประกอบพิธีศีลจุ่มที่เคยใช้ในสมัยก่อนๆ
บนทางเดินข้างกำแพงด้านเหนือ
ภาพเฟรสโก้ประดับเต็มบนกำแพงและเพดาน
ส่วนวัดในโรเมเนียโดยเฉพาะในจังหวัด
Bucovina ภาพเฟรสโก้ประดับเต็มอาคารทั้งหลังเลย ตามความนิยมที่มีมาแต่ยุคกลาง
เช่นที่ Monastery Voronet,
Monastery Sucevita, Monastery Moldovita. อาจเป็นเพราะวัดที่นั่นมีขนาดเล็กกว่ามาก. ดูภาพประกอบข้างล่างต่อไปนี้
อาคารวัด Monastery
Sucevita, Romania
Monastery Voronet, Romania
Monastery Moldovita, Romania
Monastery Voronet, Romania
เนื้อหาส่วนใหญ่ของจิตรกรรมเฟรสโก้เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูคริสต์
พระแม่มารี ของนักบุญคนสำคัญๆและนักบุญท้องถิ่น. เหตุการณ์ในคัมภีน์เก่า ตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลก, ชีวิตของศาสดาพยากรณ์ คนเด่นๆที่คริสต์ศาสนาต้องการจรรโลงไว้ในใจคน. ตัวอย่างเฟรสโก้ที่นำมาให้ดูข้างล่างนี้จาก Rila
Monastery ในบัลเกเรีย.
เฟรสโก้ประดับเพดานทรงกลม ตรงใจกลางคือ
Christ Pantocrator
เป็นคำเรียกพระคริสต์ที่นิยมกันในนิกาย
orthodox และนิกายโรมันคาทอลิค ก็รับไปใช้บ้างในคริสต์ศิลป์ของอิตาลี, ใช้เฉพาะกับพระคริสต์เท่านั้น ในความหมายของ Christ the All-Mighty หรือพระคริสต์ผู้มีอำนาจเต็ม. วงกลมวงในสุดที่ล้อมรอบพระคริสต์
มีสัญลักษณ์จากระบบจักรราศี. วงถัดออกมา
เป็นวงที่สถิตของเหล่าเทวทูตที่ห้อมล้อมพระคริสต์เสมอ. มือจับกระดาษแผ่นยาวๆที่ต่อๆไปเป็นวงกลม ที่อาจตีความได้ว่า
เป็นบทจารึกคำพูดคำสอนของพระคริสต์.
ถัดลงมาดังที่เห็นในภาพข้างล่างนี้ น่าจะเป็นการระบุสภาพของโลก.ประกอบด้วยธาตุสี่ มีรายละเอียดบุคคลในกิริยาท่าทางต่างๆ(ที่ข้าพเจ้ามิอาจระบุได้) ล้อมรอบเป็นวงนอก. เห็นคำพูดที่กำกับไว้เป็นวงกลมวงนอกขนาดเล็กลง ตามปกติจะเจาะจงและอธิบายภาพที่เสนออยู่ตรงนั้น (ข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาศึกษาอักขรวิธีของภาษาบัลเกเรีย จึงมิอาจให้ข้อมูลอะไรได้)
ตอนล่างด้านขวาของภาพข้างบนนี้ พอจะเจาะจงได้ว่า คือโนเอ(หรือโนอา)
กับลูกชายกำลังปลูกองุ่น ตามคำสั่งของพระเจ้า ที่เห็นในครึ่งวงกลมมีเมฆล้อม ใต้เส้นแนวโค้งบนพื้นที่ส่วนเดียวกันนี้
เฟรสโก้บนเพดานทรงครึ่งวงกลมด้านซ้าย มีพระผู้เป็นเจ้าอยู่ตรงใจกลาง. ภาพบนเพดานส่วนนี้ วงถัดออกมา เห็นชัดว่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ชีวิตของพระเยซู เช่นตอนถูกตรึงไม้กางเขน และตอนฟื้นคืนชีวิต, ออกจากโลงศพ. พระบิดาปรากฏในวงกลมอยู่เหนือท้องฟ้าชั้นต่างๆ ที่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาว. พระบิดามีรูปสามเหลี่ยมประดับเหนือศีรษะ มีแสงสว่างเรืองรองจากด้านหลัง. รูปสามเหลี่ยมนั้น ในระบบสัญลักษณ์ที่สืบทอดมาจากยุคกลาง สามเหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้า. จุดบรรจบตรงมุมที่ชี้ขึ้นนั้น เป็นจุดสูงสุด ที่ผนึกความสมดุลสมบูรณ์ของพระเจ้า. สามด้านสื่อนัยของความจริงที่มองไม่เห็นสามประการคือ สติปัญญา จิตสำนึกและจิตวิญญาณ.
ภาพประดับเพดานทรงครึ่งวงกลมอีกลูกหนึ่ง ด้านขวา เล่ามโนทัศน์ของจอห์นที่ Patmos (ดูต่อข้างล่างนี้).
ภาพประดับเพดานทรงครึ่งวงกลมอีกลูกหนึ่ง ด้านขวา เล่ามโนทัศน์ของจอห์นที่ Patmos (ดูต่อข้างล่างนี้).
ภาพพระแม่มารีอุ้มพระเยซูองค์น้อย แวดล้อมด้วยเหล่านักบุญทั้งหลายรวม
32 คน
ตามขนบนิยมของนิกาย orthodox
ตะวันออก
ภาพส่วนนี้ เล่าเรื่องราวในพระคัมภีร์เก่า
เกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ชาวฮีบรูชื่อ Ézéchiel
(หรือ Ezekiel หนึ่งในสี่ศาสดาพยากรณ์ที่สำคัญที่สุดในระบบค่านิยมคริสต์ศาสนาทุกนิกาย). มีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่
6 ก่อนคริสต์กาล. เป็นพระ, ได้เห็นความล่มสลายของวิหารโซโลม็อน และวิหารที่สร้างให้พระเจ้ายาเว. เขาถูกฝ่ายนอกรีตชาวบาบีโลนจับไป. เป็นคนแรกที่เขียนพรรณนามโนทัศน์ของเขา, เล่าถึงสัตว์วิเศษสี่ตัว ที่ลากรถอยู่ในสวรรค์, ล้อเหมือนติดไฟลุกโพลงสว่างไสว, ท่ามกลางลมแรง, รถ เคลื่อนไปด้วยความเร็ว, โดยที่ทั้งม้าและรถม้าหยุดอยู่กับที่.
มโนทัศน์ของ Ezekiel ที่พระเจ้าดลบันดาลให้เขาเข้าใจ เพื่อให้ไปบอก ไปเตือนมนุษยชาติว่า
ความทุกข์แสนสาหัสคอยพวกเขาอยู่. คล้ายๆกับมโนทัศน์ของจอห์น ที่ได้เห็นเหตุการณ์ก่อนวันพิพากษาสุดท้าย จึงนำไปเขียนเป็นคัมภีร์เล่มอโปกาลิปส์. องค์การศาสนาตีความหมายของสัตว์(ม้าวิเศษ)สี่ตัวในมโนทัศน์ของ
Ezekiel ว่า คือการโยงไปถึงนักบุญผู้แต่งคัมภีร์สี่คน (4 evangelists อันมี Matthieu, Mark,
Luc, John) ที่จะมีบทบาทในคัมภีร์ใหม่. คัมภีร์เรียกข้อความตอนนี้ว่า tetramorph ที่หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่วิเศษสี่ตน. ดังที่รู้กันว่า ขนบศาสนาใช้สัญลักษณ์ของสัตว์จากสวรรค์
(คือมีปีก) แทนภาพเหมือนของนักบุญผู้แต่งคัมภีร์ใหม่ (evangelists) เช่น ใช้ร่างคนมีปีกแทน Matthieu, ใช้สิงโตมีปีกแทน Mark, ใช้วัวมีปีกแทน Luc
และใช้อินทรีย์ที่มีปีกอยู่แล้วแทน
John). ภาพเฟรสโก้ที่วัดรีลา มิได้แยกแยะสัตว์สี่ประเภท แต่เป็นรูปม้ามีปีกเหมือนกันทั้งสี่ตัว ที่มาปรากฏตัวและเข้าเทียมรถม้าพา Ezekiel พาทะยานขึ้นท้องฟ้าที่สว่างบรรเจิดสู่สวรรค์. (รายละเอียดเกี่ยว Ezekiel อ่านได้ในคัมภีรเก่าเล่ม Ezekiel)
รถเทียมม้าวิเศษสี่ตัว ในมโนทัศน์ของ Ezekiel
เฟรสโก้เล่ามโนมัศน์ของนักบุญจอห์นผู้แต่งคัมภีร์ใหม่เล่มหนึ่ง. วันหนึ่งที่ Patmos
พระผู้เป็นเจ้าได้ดลบันดาลให้เขาได้เห็นเหตุการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นก่อนวันพิพากษาสุดท้าย
และสั่งให้นำเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆที่ทำให้มนุษย์ต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน, มาบอกเล่าให้คนเกิดความขยาด
รักตัวกลัวตายและรีบกลับตัวกลับใจเป็นคนดี. จอห์นรวบรวมไว้ในคัมภีร์เล่มอโปกาลิปส์
(คัมภีร์ใหม่เล่มของจอห์น). ในภาพวงกลมใหญ่ที่ล้อมรอบจอห์นนั้น
แบ่งออกเป็นห้าส่วน ในแต่ละส่วน เห็นสัตว์ขนาดใหญ่ทั้งที่มีหัวเดียวหรือหลายหัว
ซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายแบบต่างๆ ที่จะมาสยบมนุษย์.
ส่วนหนึ่งในวงกลมข้างๆ มุมขวา เสนอเหตุการณ์ที่ก็รวมอยู่ในมโนทัศน์ของจอห์นด้วย
ดูภาพใกล้เข้าไปอีก ในภาพต่อไปข้างล่างนี้
จอห์นอยู่ใต้เส้นโค้งทางขวา
สิ่งที่เห็นแผ่กระจายออกไปทางซ้ายของภาพ. เริ่มตั้งแต่เทวทูตสามองค์ทำท่าชี้บอกทิศทางให้จอห์นดูไปทางซ้าย และจอห์นเห็นว่า บนยอดเขา Zion มีลูกแกะยืนเด่น, ขาหน้าข้างหนึ่งเกี่ยวตอนล่างของไม้กางเขนไว้. ใต้ลงไปเหล่าเทวทูตห้อมล้อมรอบภูเขา Zion. ในระบบสัญลักษณ์ของศาสนา
ลูกแกะหมายถึงพระเยซูคริสต์, พระองค์สละความเป็นพระเจ้าลงมาเกิดเป็นสามัญชนคนเดินดิน ผู้รู้เจ็บรู้ตาย, สละความสุขสบาย ออกสั่งสอนบอกทางให้คนไปสู่พระเจ้า, สละชีวิตเพื่อไถ่บาปและให้เป็นทางผ่านของคนเดินดิน ไปสู่พระผู้เป็นเจ้าในสวรรค์. พระเยซูคริสต์จึงเหมือนแกะที่สละขนห่อหุ้มความเปล่าเปลือยของคน, สละเนื้อเลี้ยงดูคน, และสละเลือดสังเวยพระเจ้าแทนคน.
ในศาสนศิลป์ของยุโรปตะวันตก ภาพ “แกะวิเศษ”
ที่เลื่องลือนามที่สุด เป็นผลงานของพี่น้องตระกูล Van
Eyck (ศตวรรษที่ 15, ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของฉากไม้สำหรับตั้งด้านหลังของแท่นบูชาในโบสถ์หรือวิหาร-retable พร้อมภาพจิตรกรรมเนื้อหาชีวิตพระคริสต์. ฉากไม้นี้เคยตั้งประดับที่โบสถ์เมือง Gand ในประเทศเบลเยี่ยม)
รายละเอียดอีกตอนหนึ่งในมโนทัศน์ของจอห์นคือ
อัศวินขี่ม้าสี่นายในอโปกาลิปส์ ผู้นำเชื้อโรค
ทุกข์ภัยต่างๆและความตายมาสู่คนบนโลก. ในภาพที่ตัดมาให้เห็นชัดๆข้างบนนี้ เห็นคนบนหลังม้า ทั้งหมดสี่คน (คนหนึ่งอยู่ในร่างของโครงกระดูก). ม้ามีสีต่างๆกันด้วย, คนบนม้าถืออาวุธพร้อมใช้ประหัตประหาร.
อีกภาพหนึ่งในวงจรเดียวกันนี้ คือ
หญิงงามเมืองแห่งบาบีโลน. นางสวมมงกุฎทองคำ, นั่งบนหลังมังกรเจ็ดหัว, แต่ละหัวหมายถึงความชั่วแบบหนึ่ง. นั่นคือ นางรวมความชั่วทั้งเจ็ดในตัวนาง. นางถือถ้วยเหล้าในมือ เชิญชวนให้คนดื่ม เพราะคนที่ดื่มจนมึนเมา
ตกเป็นเหยื่อของนางได้ง่าย และจะหลงมึนเมาในกามสุข (ดูรายละเอียดต่อไปข้างล่างนี้).
นอกจากเนื้อหาจากคัมภีร์เก่าและใหม่
สิ่งที่ขาดเสียมิได้ คือฉากการพิพากษาสุดท้าย อันเป็นหัวใจของคริสต์ศาสนา, เป็นบทสรุปทุกอย่างของชีวิตบนโลกและในสวรรค์.
ภาพเฟรสโก้มุมหนึ่ง เสนอบัลลังก์ของพระเจ้า
พระบุตรและพระจิต ในฉากวันพิพากษาสุดท้าย. ครึ่งซ้ายของภาพข้างบนนี้ มีกลุ่มคนดีและนักบุญรวมกันเต็มข้างหลังนักบุญปีเตอร์(ติดขอบล่างของภาพ ห่มผ้าสีเหลือง เสื้อตัวในสีฟ้า) ผู้ยื่นมือพร้อมกุญแจจะเปิดประตูสวรรค์ (สีแดง). ภาพภายใน เมื่อมองผ่านกำแพงเข้าไป
เห็นคนสามคนนั่งอยู่. คนแรกที่นั่งใกล้ประตู มีผ้าผืนใหญ่บนหน้าตัก ที่ใช้รองรับดวงวิญญาณคนดี. ในศาสนศิลป์ของยุโรปตะวันตก เสนอเพียงอับราฮัมคนเดียว
ให้เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษทั้งมวลของมนุษยชาติ, ในขนบศิลปะยุโรปตะวันออก เสนอบรรพบุรุษของพระเยซูสามคน คือ อับราฮัม ไอแซ็คและจาค็อป. นอกจากนี้ยังมีชายท่อนบนเปลือย นุ่งห่มแบบขาสั้น ยืนอยู่ใต้บัลลังก์ของคนทั้งสาม. เขาคือคนหนึ่งในโจรสองคน ที่ถูกตรึงไม้กางเขนวันเวลาเดียวกับพระเยซู. คนนี้ที่ได้เข้าไปอยู่ในสวรรค์ คือคนที่ได้พูดขึ้นด้วยความเห็นใจพระเยซู ที่ต้องถูกตรึงทั้งๆที่ไม่ได้ทำอะไรผิด. พระเยซูได้ยินจึงตอบเขาว่า วันนี้เขาจะได้ไปอยู่ในสวรรค์ เพราะเขารู้ผิดรู้ถูก แม้ในนาทีสุดท้ายของชีวิต. ธรรมเนียมในนิกาย orthodox มักรวมคนนี้เข้าไปด้วยเสมอโดยอยู่ใกล้ๆประตู เมื่อใครที่ผ่านตามเข้าไปแล้ว
เขาเห็นและอาจสนับอีกหนึ่งเสียง. ในศิลปะคาทอลิกไม่มีการกล่าวถึงคนนี้อีก.
ภาพนี้เห็นรายละเอียดดีกว่าภาพข้างบน หลังประตูสวรรค์
ที่นักบุญปีเตอร์กำลังจะเปิดให้เหล่าคนดีเข้าไปนั้น เห็นชายชราสามคนอุ้มดวงวิญญาณเป็นคนตัวเล็กๆบนตัก มีผ้าสีขาวผืนใหญ่รองรับ. ในยุโรปตะวันตกเรียกภาพแบบนี้ว่า “หน้าตักอับราฮัม” เพราะมักเป็นอับราฮัมคนเดียวที่ทำหน้าที่นี้.
ส่วนในยุโรปตะวันออก ยกย่องบรรพบุรุษคนสำคัญๆของชาวยิวสามคน ได้แก่
อับราฮัม ไอแซ็ค และจาค็อป. นิกาย orthodox
เน้นทั้งสามคนเสมอ. โจรที่ได้ขึ้นสวรรค์ ยืนเด่น มือประคองไม้กางเขนที่เขาถูกตรึง. ให้สังเกตว่า ใต้กำแพงสวรรค์
มีทางน้ำไหลลงสี่สาย คือแม่น้ำใหญ่สี่สายที่ไหลลงจากสวรรค์ไปทางทิศตะวันออก หล่อเลี้ยงโลกมนุษย์
อันมีแม่น้ำTigris, แม่น้ำ Euphrates, แม่น้ำ Pishon และแม่น้ำ Gihon.
(มีลิงค์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องแม่น้ำที่ไหลลงจากสวรรค์ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
ตัดครึ่งขวาของภาพบนมาที่นี่อีกครั้ง
เห็นบัลลังก์ชัดเจน
มีไม้กางเขนสีเข้มตั้งเด่นบนบัลลังก์. นกสีขาวสะอาดยืนกางปีกออกกว้างไปบนหนังสือ ที่วางทับลงบนผ้าผืนสีเข้มๆผืนหนึ่ง. ใต้ลงไปมีกลุ่มเมฆเพื่อบอกว่า ทั้งหมดนี้อยู่ในสวรรค์. ใต้กลุ่มเมฆ มีมือยื่นออกมา
มือกำและหิ้วคันชั่งไว้ (สีน้ำตาลอ่อนๆจึงไม่ชัดเจนเท่าที่ควร). มีคนในร่างขาวๆยืนอยู่ใกล้คันชั่งด้านหนึ่ง บนจานชั่งมีอะไรที่มัดไว้วางอยู่, ที่เก็บรายละเอียดคุณงามความดีที่ดวงวิญญาณนี้ได้ทำมา. เทวทูตองค์หนึ่งใช้อาวุธเหมือนหอกด้ามยาวปลายเป็นสามง่าม ทิ่มไปยังตัวมารสีเทาๆข้างจานชั่ง
(ดูรายละเอียดในภาพขยายข้างล่างนี้). ส่วนในจานชั่งอีกจานหนึ่งนั้น เห็นเป็นสีเหลืองทอง
เหมือนมารพยายามเอาทอง(มาล่อใจทั้งวิญญาณทั้งเทวทูต) มาเทใส่ลงในจานชั่งให้หนักและเต็ม เพื่อให้คันชั่งหนักไปในทางของมาร,ของความชั่ว. เทวทูตสององค์ช่วยกันต่อต้าน เอาอาวุธทิ่มแทงไปในทิศที่พวกมารอยู่. มือถือคันชั่งมีจานสองข้างตั้งตรงในสภาพสมดุล
ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอัครเทวทูตไมเคิล ผู้เป็นคนทำหน้าที่ชั่งดวงวิญญาณ. ไมเคิลเป็นพยานรับรู้การกระทำของทุกผู้ทุกนาม. ชื่อไมเคิลในภาษาฮีบรูแปลว่า
“ผู้ประดุจพระเจ้า”,
เป็นผู้ต่อสู้รับมือกับซาตาน และปกป้องคนจากมารทั้งหลาย. แต่คนเที่ยงธรรมเท่านั้นที่จะได้รับความคุ้มครองเช่นนั้น. หากเป็นคนไม่ดีจริง ก็จะถูกตัดสินอย่างเข้มงวด.
ส่วนภาพข้างล่างนี้
ต่อจากภาพข้างบนไปทางซ้ายของพระแม่มารี. เสนอเหมือนทางลาดลงไปสู่นรก. มีมารสองตัวพยายามดีงคนที่อยู่บนฝั่งให้ตกลงไป. หลายคนลงไปในห้วงเหวนั้นแล้ว. ลึกลงไปเหนือปากของพญามาร Leviathan, มีภาพผู้หญิงนั่งบนหลังสัตว์ตัวใหญ่, หัวสวมมงกุฎทองคำสุกปลั่ง, มารตัวหนึ่งนำกองทองคำมามอบให้.
บนฐานรอบๆวัดรีลา ยังมีภาพเฟรสโก้ที่บันทึกการยั่วยวนสารพัดชนิดที่มารทำแก่คน. เตือนชาวคริสต์ทุกวันว่า อย่าได้ขาดสติแม้แต่น้อย เพราะมารคอยจับจ้องติดตามทุกฝีก้าว. ภาพเกี่ยวกับนรก เกี่ยวกับคนชั่ว คนเลว
คนมักมากแบบต่างๆ, มีวาดไว้ละเอียดลออเกือบทุกอาชีพก็ว่าได้ บนฐานกำแพงที่อารามรีลา. การวาดไว้เตือนสติให้เห็นชัดๆแบบนี้
ยิ่งเห็นบ่อยเข้าๆในแต่ละวัน ก็ยิ่งกระชับความกลัวตกนรกมากขึ้น(กระมัง)
จึงขู่ชาวคริสต์ในอาชีพต่างๆ ว่าให้มีสัมมาอาชีพ ประพฤติดีประพฤติชอบ
ไม่เอารัดเอาเปรียบ มิฉะนั้นจะเจอโทษแสนสาหัสในนรก ดังภาพตัวอย่างข้างล่างนี้
เทวทูตผู้คุ้มครอง (guardian
angel) เผลอไม่ได้
เผลอแป๊บเดียว
มารมาแอบพูดกรอกใส่หูแล้ว แทบจะต้องระวังให้ทุกฝีก้าว
และยังต้องออกแรงสู้รบขับไล่มารตัวใหญ่ตัวน้อยประเภทต่างๆ
ภาพแสดงการฆ่าตัดหัวของนักบวช ผู้ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาไปกับพวกนอกรีต.
ภาพจาก Fineart.America
ภาพจาก Fineart.America
ส่วนสองภาพข้างล่างนี้ เป็นตัวอย่างของคนบาปที่ถูกต้อนลงไปในนรกแล้ว, ถูกล่ามโซ่, ถูกงูเลื้อยมารัดรึง ซึ่งอาจบ่งบอก โยงไปถึงวิถีชีวิตบนโลกว่า
ไม่รู้จักความพอเพียงในกามสุขเป็นต้น.
ภาพที่ตัดมาตอนนี้
เล่ากันว่า เป็นคนบาปที่เคยทำอาชีพเป็นคนขายผ้า ที่เคยแอบเอารัดเอาเปรียบลูกค้า ด้วยการตัดผ้าให้น้อยกว่าที่เขาซื้อ เพื่อเอากำไรนั่นเอง. มีภาพกรรไกรอยู่ใต้ท้องของวิญญาณที่ก้มโค้งอยู่ทางขวา. ส่วนวิญญาณอีกคนก็ถูกมารขี่คอ, ถูกล่าม, กำลังต่อล้อต่อเถียงกับมารตัวที่อยู่ตรงหน้า, เหมือนทำไม่รู้ไม่ชี้ ว่าไม่เคยไปกดขี่ผู้ใด เป็นต้น
ฉากวันพิพากษาสุดท้ายที่เด่นที่สุด(แต่เลือนลางไปมากแล้ว)
ไปเห็นในโรเมเนียที่วัด Monastery Voronert ดังภาพที่ไปถ่ายมาข้างล่างนี้. จิตรกรรม “วันพิพากษาสุดท้าย” ประดับเต็มกำแพงทิศตะวันตก, ให้รายละเอียดชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนดีกว่า. พระเจ้าผู้พิพากษาสูงสุดนั่งอยู่ในวงกลมที่เห็นเป็นสีขาวๆฟ้าๆ, บอกจักรวาลของพระองค์. จากใต้เท้าของพระองค์ มีแนวปื้นสีแดงๆไหลทอดลงไปทางขวา
และมีขนาดกว้างขึ้นตรงฐาน เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า นั่นเป็นทางหุบเหวสู่นรก. ใช้สีแดงๆแบบสีเลือด ยิ่งเน้นความน่ากลัวของนรก.
The Last Judgement at Monastery
Voronet
การแบ่งพื้นที่แสดงฉากแต่ละฉากทำได้ดีกว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ. ใต้เพดานที่เป็นทรงกลมของโดมเช่นที่วัดอารามรีลานั้น ลำบากแก่การนำเสนอ, การอ่านภาพก็ลำบากด้วย
เพราะต้องหมุนตัวไปตามภาพที่จัดอยู่บนเพดานครึ่งวงกลม (ทำให้ปวดศีรษะหรือมึนได้ง่าย เมื่อต้องยืนเงยหน้ามองเพดานสูงตลอดเวลา)
ฉากการชั่งปริมาณความดีความชั่วของแต่ละดวงวิญญาณ, ความอลหม่านที่ฝ่ายมารพยายามดึงดวงวิญญาณให้ไปทางข้างของตน. เทวทูตทำงานหนัก คอยกีดขวางมารพาลๆที่ไม่เคยหยุดทำชั่ว.
ด้านขวาของแนวเหวนรก เทวทูตกำลังเป่าแตร
มีฝูงสัตว์เดินไต่ขั้นบันไดขึ้นไป. ตอนล่างของพื้นที่นี้ เป็นทะเล เห็นเรือ
มีคนหนึ่งขี่บนหลังปลาตัวใหญ่, อาจโยงไปถึงการลงเรือข้ามแม่น้ำ Styx ที่คั่นโลกมนุษย์กับโลกใต้บาดาล.
ฝ่ายคนดีถูกนำไปทางซ้าย
ไปเข้าประตูสวรรค์ มีเหล่าเทวทูตจูงพาไปส่ง. มีนักบุญปีเตอร์เปิดประตูให้. บรรพบุรุษของมนุษยชาติ (Abraham,
Isaac และ Jacob สามคนหลักที่สำคัญที่สุดในคัมภีร์เก่า) นั่งอุ้มวิญญาณของคนดีที่ผ่านเข้าไป
ตามที่อธิบายมาข้างต้นแล้ว. ที่เพิ่มเข้าเป็นพิเศษคือ มีพระแม่มารีนั่งบนบัลลงก์ ใกล้ประตูที่สุด. เทวทูตขนาบซ้ายขวา, พนมมืออยู่ อาจเพื่อขอให้พระแม่ช่วยหรือตกลงให้ผ่านเข้าไปบนหน้าตักอับราฮัม.
ส่วนคนชั่วถูกมารมาดึง มาลากไปลงนรกทางขวามือ. ปากกว้างใหญ่ของยักษ์ Leviathan
อ้ารับ. นับเป็นภาพลักษณ์ฉบับย่อสุดของนรก. การลงไปในปากยักษ์
คือลงไปสู่ความมืดนิรันดร, สู่การทรมานที่ไม่สิ้นสุด. ลึกลงไปในเหวนรก เราเห็นภาพคนนั่งบนหลังมังกร ซึ่งน่าจะเป็น
“นางบาป” ที่เล่าไว้ในหนังสือเล่มอโปกาลิปส์. ในเฟรสโก้นี้ศิลปินเสนอให้เห็นว่า ลงไปอยู่ในนรกเหวลึกแล้ว. ในจารึกเก่าตะวันตก
มีภาพวาดของนางบาปหรือหญิงงามเมืองบนมังกรเจ็ดหัวปรากฏใน Encyclopedie d'Herrade de Landsberg (folio 258
Walter pl XLV) ที่นำมาจากหนังสือ Hortus deliciarum แห่งเมือง Hohenbourg-Mont Sainte-Odile
ในฝรั่งเศส. ภาพวาดศิลปะยุคกลางศตวรรษที่ 12
ชื่อภาพว่า Le Triomphe de la Prostituée de
Babylone หรือ “ชัยชนะ(ชั่วคราว)ของหญิงงามเมืองแห่งบาบีโลน”
มังกรเจ็ดหัว แต่ละหัวแทนบาปหนักชนิดหนึ่ง
(เป็นมารตัวที่อัครทูตจอห์นเล่าไว้ในอาโปกาลิปส์).
ผู้ที่นั่งบนตัวมาร คือผู้ที่มีบาปทุกประเภท. ในภาพตัวอย่างข้างล่างนี้ นางกำลังเชิญชวนผู้คนให้ดื่มเหล้า เพราะคนเมาย่อมหลงใหล ถูกจูงจมูกไปสู่ความเลวต่างๆได้ง่าย. ผู้คนทั้งหญิงและชาย ทั้งเจ้าแผ่นดิน บริวาร หรือแม้นักบวชเอง พากันโห่ร้องต้อนรับนาง. ความงามสง่าของนาง ทำให้ทุกคนเคลิ้มด้วยความปรารถนาความสุขในกามารมณ์. อัครทูตจอห์นเล่าต่อว่า เทวทูตต้องลงมาปราบนางเพื่อชี้ทางสู่คุณงามความดี ที่จะนำคนไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนกว่า... คือในความรักต่อพระเจ้า
หญิงงามเมืองแห่งบาบีโลน
ภาพวันพิพากษาสุดท้าย ที่ดูจะใหม่กว่าและชัดเจนกว่าภาพต่างๆที่นำมาให้ชมข้างบน
ไปเห็นที่ Monastery
Bachkovo ในบัลเกเรีย.
ภาพบนนี้
เป็นส่วนหนึ่งของฉากวันพิพากษาสุดท้ายบนกำแพงที่วัด Monastery Bachkovo ในบัลเกเรีย. พระเจ้านั่งเป็นประธาน, มือข้างขวาของพระเจ้าชี้ไปทางพระแม่มารีในท่าประทานพร, ส่วนด้านซ้ายมือ(ขวาในภาพ)
มีอัครทูตจอห์น. ท้องฟ้าล้อมเป็นวงกลมบุคคลทั้งสาม มีดวงอาทิตย์ ดวงดาวต่างๆ บอกให้รู้ว่า
นี่คือจักรวาลของพระเจ้า. ใต้ลงมาตรงกลาง
บนโต๊ะวางแผ่นหินสองแผ่นที่จำหลักบัญญัติสิบประการ หัวใจของคริสต์ศาสนา
มีเครื่องหมายไม้กางเขนที่แทนพระบุตรผู้สืบทอดหลักการของศาสนาต่อมา.
ภาพการชั่งดวงวิญญาณชุดนี้ชัดเจนดีกว่าที่ใด (Monastery Bachkovo, Bulgaria). ความขึ้โกงของเหล่ามาร ที่พยายามเอาก้อน(หิน) สีขาวๆโตๆไปใส่บนจานชั่ง, มารสองตัวช่วยกันดึงจานชั่งฝ่ายความชั่วให้ต่ำลง, ไม่หวั่นเกรงที่เทวทูตใช้หลาวทิ่มแทง.
มารอีกตัวกำลังกวัดแกว่งแส้ ไล่ต้อนดวงวิญญาณคนชั่วที่ได้มา ให้ลงไปในเหวนรก.
ด้านซ้ายปีเตอร์กำลังเปิดประตูสวรรค์ให้คนดีเข้าไป. วิธีการเล่าภาพ ที่เน้นความขี้โกงของฝ่ายมาร, นิยมเหมือนกันทั้งในยุโรปตะวันตกและตะวันออก.
นอกจากพระเยซูคริสต์และพระแม่มารี นักบุญคนสำคัญๆที่ยืนพื้นประจำในจิตรกรรมยุโรปตะวันออกคือนักบุญ John the Baptist และนักบุญอัศวิน saint George ผู้เหยียบเหนือซาตานมารร้ายสัญลักษณ์ของอธรรม. ยิ่งเป็นภาพไอคอน(ภาพอริยบุคคลบนพื้นหลังที่เป็นสีทองส่วนใหญ่
หรืออย่างน้อยก็มีรัศมีเรือนแก้ววงกลมสีทองอยู่รอบใบหน้าของอริยบุคคลเหล่านั้น)
ที่ประดับกำแพงศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด (เป็นกำแพงหรือฉากใหญ่ที่อยู่ลึกที่สุด
ที่ปิดตลอดแนวกว้างของวัด บางทีสูงถึงเพดานเลย, ติดและปิดตรงส่วนหัวของวัด), ที่เป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในวัด เรียกว่า เป็น The
Holy of the Holies.
กำแพงหรือฉากมหึมานี้เรียกว่า iconostasis มีรูปวาดแบบไอคอนของพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีอุ้มพระเยซูองค์น้อย นักบุญ และภาพอื่นๆ. นัยสัญลักษณ์ของฉาก iconostasis นี้ ถือว่าเป็นการเชื่อมระหว่างสวรรค์ (บริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็น the Holy of the Holies อยู่หลังฉากนี้). จุดใจกลางของฉากเป็นที่ตั้งของประตูศักดิ์สิทธิ์. ตรงและจากจุดใจกลางนี้ ทอดเป็นเส้นตรงไปตลอดความยาวของวัดหรือของลำตัวของอาคาร ไปถึงประตูใหญ่เข้าออกวัด. ฉากมหึมานี้ มีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือทำให้เสียงสวดของพระนักบวช ที่ยืนอยู่เบื้องหน้าฉาก
สะท้อนและดังก้องให้ศาสนิกชนในวัดได้ยินกันอย่างทั่วถึง. นอกจากนี้ มีภาพนักบุญที่ชุมชนนั้นเคารพนับถือ หรือผู้สถาปนาวัดนั้นๆ. เนื่องจากภาพเฟรสโก้เป็นภาพสองมิติ
บนพื้นที่ที่กว้างกว่าสำหรับการเล่าเนื้อหา
จึงมีรายละเอียดมากกว่าประติมากรรมเนื้อหาเดียวกันบนหน้าบันเหนือประตูใหญ่ของมหาวิหารในยุโรปตะวันตก.
ภาพไอคอนขนาดใหญ่ที่ประดับอยู่เต็มฉากศักดิ์สิทธิ์ (iconostasis)
นี้ ชาวคริสต์ที่เข้าไปเคารพบูชา
อาจมีภาพไอคอนที่ตนเองสนใจบูชาเป็นพิเศษ, เขาจะเดินไปตรงหน้าภาพเล็กตัวแทนของภาพไอคอนใหญ่ (ที่แตะต้องไม่ได้) เขาอาจก้มลงจุมพิตภาพรูปเล็กในกรอบแทน เพื่อแสดงความรักเคารพอย่างสูง. ดังเห็นในภาพนี้
มีภาพพระเยซูในกรอบเล็กวางไว้ตรงหน้าภาพไอคอนขนาดใหญ่ ที่อยู่บนกำแพง iconostasis. ข้างๆมีผ้าขาวบางผืนเล็กพาดอยู่ด้วย. คงทำกันมาเป็นธรรมเนียมนานแล้ว. จนมีการนำผ้าขนหนูหรือผ้าขาวบางผืนเล็ก
สีขาวสะอาด ไปบริจาคให้วัด.
นำไปวางข้างๆ ติดกับภาพ เพื่อให้ศาสนิกชนใช้เช็ดกรอบรูปนั้น ก่อนก้มลงจุมพิต.
ฉาก Iconostasis
และจิตรกรรมบนฝาผนังภายใน
Monastery Rila
ภายในวัดที่ Blagoevgrad
ประเทศบัลเกเรีย
ศาสนิกชน เข้าไปฟังเทศน์และสวดมนต์ ทั้งหมดยืน.
ภาพนี้ที่ Monastery Cozia, Romania.
ภาพนี้ที่ Monastery Cozia, Romania.
ภายในโบสถ์ใหญ่ประจำเมือง Bucharest, Romania
ตัวอย่างจิตรกรรมเฟรสโก้ประดับภายในวัด. หากเป็นวัด “หลวง”
ที่กษัตริย์หรือราชวงศ์เป็นผู้สร้าง, ตรงกลางลำตัว ก่อนถึงฉากศักดิ์สิทธิ์
จะมีปล่องสูงขึ้น ซึ่งคือหอคอยสูงที่ไปโผล่ขึ้นเหนือหลังคาวัด. เมื่อมีหอคอย
ภายในจึงประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังด้วยเช่นกัน.
ภาพเฟรสโก้ที่ประดับภายในวัด เต็มทุกพื้นที่
สีสันที่ยังสวยงาม และไม่มีการแต่งแต้มสีเพิ่มเติม, ทำให้คิดว่า อากาศของประเทศแถบนั้น ไร้มลภาวะ, เพราะหลายศตวรรษผ่านไป โดยที่ภาพแม้จะเลือนลางไปบ้าง
แต่ความสดของสียังเหมือนเดิม. ถามมาได้ความว่า
ทุกสีนั้นสกัดออกจากพืชพันธุ์ต่างๆในธรรมชาติ และเมื่อจะทำความสะอาด ก็ใช้ผักผลไม้ในธรรมชาติมาช่วยดูดซับความสกปรกออก
เช่นใช้หัวหอมใหญ่ห่อในผ้า แล้วค่อยๆวางแตะลงบนเฟรสโก้ ให้หัวหอมดูดซับความสกปรกออก. (เรื่องการใช้หัวหอมนั้น ยกมาเป็นตัวอย่าง, ไม่ยืนยันว่าจะดูดซับความสกปรกได้จริง. บางทีก็มีการผสมสมุนไพรหลายชนิดด้วยกัน, ห่อในผ้าเหมือนที่คนไทยห่อสมุนไพร, อบให้ร้อนแล้วใช้ประคบตัว. ส่วนผสมของสารธรรมชาติที่ใช้นั้น มีอะไรเท่าใดนั้น, มิอาจให้ข้อมูลได้)
ข้าพเจ้าได้นำเสนอศาสนศิลป์ในยุโรปตะวันตกมาแล้ว
โดยเฉพาะเรื่องการพิพากษาสุดท้ายซึ่งจำหลักเป็นบทเตือนใจแก่คริสต์ศาสนิกชน บนหน้าบันของโบสถ์มหาวิหารใหญ่ทั้งหลายในยุโรปตะวันตกและโดยเฉพาะในฝรั่งเศส ที่เคยเป็นศูนย์ศึกษาเทวศาสตร์ศูนย์สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป, เพื่อเปรียบเทียบกับศิลปศาสนาในอุดมการณ์และค่านิยมนิกาย orthodox ของยุโรปตะวันออก จึงได้เขียนสรุปเกี่ยวกับภาพเฟรสโก้ในยุโรปตะวันออกดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น. ผู้ที่สนใจอ่านและเปรียบเทียบกับประติมากรรมวันพิพากษาสุดท้ายในบล็อกของข้าพเจ้า บทอธิบายพร้อมภาพประกอบละเอียด, เชิญเข้าไปดูได้จากบล็อกดังกล่าวที่นี่
และอ่านเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับอโปกาลิปส์ได้ที่นี่
บันทึกการไปชมกำแพงเฟรสโก้ของวัดอารามในบัลเกเรียและโรเมเนีย...
ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคมถึงวันที่ ๒
มิถุนายน ปี ๒๕๕๘..
ขอบคุณโชที่ขยันเขียนอย่างละเอียดและมีภาพประกอบสวยงาม
ReplyDeleteเพื่อนอ่านเพลินได้ความรู้เพิ่มเติมเสมอ เป็นการเที่ยวที่คุ้มค่านะคะ
เพราะเหมือนเพื่อนได้ไปเที่ยวด้วย