(La Reggia e il parco di Caserta [ลา เร็จเจีย เอ อิล ป๊ารฺโกะ ดี ก๊ะแซรฺตะ])
Caserta
[ก๊ะแซรฺตะ] เป็นเมืองเล็กเมืองหนึ่ง อยู่ตอนเหนือของเมืองเนเปิล (Napoli [น่าโป่หลิ] ในภาษาอิตาเลียน) ภาคใต้ของคาบสมุทรอิตาลี Caserta มีพลเมือง 62,000
คน
สถาปัตยกรรมบาร็อคอันโอฬารและอลังการของพระราชวังและพระราชอุทยานในเมืองเล็กๆขนาดนั้น
น่าแปลกใจและน่าติดตามว่าทำไมจึงได้เลือกเมือง Caserta เป็นที่ตั้ง แต่เมื่อมาคิดดู พื้นที่กว้างและยาวที่ไม่มีอะไรมาขวางมุมมองเลยนั้น
หาไม่ได้ง่ายๆและเป็นหนึ่งในน้อยเมืองบนคาบสมุทรอิตาลีทีเดียว สภาพภูมิประเทศทำให้แบบแปลนวัง วิลลา
สวนหรืออุทยานตั้งบนพื้นที่ต่างระดับกันเสมอ
และก็มิอาจมองเป็นทิวทัศน์ที่ติดกันหรือต่อเนื่องกันไปอย่างเช่นที่ Caserta นี้ได้
Luigi Vanvitelli [ลุยจิ วั้นวิเตลหลิ]
สถาปนิกชาวเมืองเนเปิลผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดสถาปนิกแห่งศตวรรษที่18 เป็นผู้ออกแบบทั้งพระราชวังและพระราชอุทยานตั้งแต่ต้น
ตามพระบัญชาของพระเจ้า Charles
of Bourbon (1716-1788, หรือ
Charles III เป็นพระราชโอรสของพระเจ้า Philip V กับพระนางเจ้า Elizabeth Farnese) Charles ได้เสด็จไปยังอาณาจักรเนเปิลในปี
1734 อากาศอันบริสุทธิ์และความอุดมสมบูรณ์ของที่นั่น
รวมกับที่ตั้งของเมือง Caserta
ที่อยู่ลึกเข้าไปในคาบสมุทรมากกว่าเมืองเนเปิลที่ตั้งบนฝั่งทะเล(จึงปลอดภัยจากวิถีกระสุนปืนใหญ่ในกรณีที่เกิดสงครามทางทะเล)
เหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้พระเจ้า Charles ต้องการใช้เมือง Caserta เป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศของพระองค์
พระองค์จึงตั้งความหวังไว้ว่าพระราชวังที่ Caserta ต้องยิ่งใหญ่มเหาฬารดังพระราชวังแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ชานเมืองปารีส
หรือเทียบได้กับพระราชวังหลวง El Escorial ที่ประทับของกษัตริยสเปนชานเมืองมาดริดในสเปน การก่อสร้างพระราชวังและพระราชอุทยานเริ่มขึ้นในปี 1752 และทำติดต่อกันไปจนถึงปี 1759 ปีนั้นพระเจ้า Charles ที่สามต้องผละจากอาณาจักรเนเปิลไปสืบราชบัลลังก์สเปน
ทำให้การก่อสร้างชะลอตัวลงและยิ่งช้าลงไปอีกมากเมื่อสถาปนิก
Luigi Vanvitelli ถึงแก่กรรมในปี 1773 แม้ว่า Carlo Vanvitelli ลูกชายของเขาได้มารับงานก่อสร้างต่อให้ลุล่วงตามโครงการก็ตาม พระราชอุทยานที่นั่นมีพื้นที่มากกว่า 111 เฮกตาร์ เฉพาะอาคารพระราชวังมีพื้นที่เท่ากับ 45,000 ตารางเมตร นับว่าเป็นอาคารพระราชวังที่ใหญ่มหึมาที่สุดในยุโรปศตวรรษที่สิบแปด เป็นตึกสูงห้าชั้นหรือสามสิบหกเมตร ภายในมี 1200 ห้อง โรงละครหลวงหนึ่งโรง โบสถ์หนึ่งหลัง หอศิลป์ หอสมุดและห้องอื่นๆอีกรวมทั้งท้องพระโรงฯลฯ มีบันไดขนาดใหญ่ๆ 34 แห่งเป็นต้น ในปลายศตวรรษที่สิบแปด พระราชินี Maria Carolina ทรงสั่งให้สร้างสวนอังกฤษ (il giardino ingleses) ภายในบริเวณอุทยานให้เป็นที่เลี้ยงดูและอนุบาลพืชพรรณหายากต่างๆ ตามกระแสนิยมในยุคนั้นที่เริ่มสะสมพืชพรรณจากทั่วโลก สถาปนิกก็ได้สร้างสรรค์ให้ตามพระราชประสงค์ สวนอังกฤษตั้งคู่ขนานอยู่ด้านขวากับอุทยานใหญ่ที่ตั้งคร่อมบนแกนกลางของพื้นที่ มี John Andrew Graefer เป็นหัวหน้าคนสวน อย่างไรก็ตาม พระราชวังที่ Caserta มิได้เป็นศูนย์กลางการบริหารของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์บูร์บงแต่อย่างใดตามที่กำหนดไว้เมื่อแรกเริ่มก่อสร้าง ถึงกระนั้นทั้งพระราชวังและพระราชอุทยานเป็นที่ประทับของเหล่าราชนิกูลที่นิยมแปรพระราชฐานไปประทับที่นั่นบ่อยๆในแต่ละฤดูกาล
เมื่อสิ้นสุดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระราชวังกลายเป็นที่ตั้งของสถาบันตรวจสอบ ติดตามและควบคุมอาชญากรรมทางการเงินหรือการลักลอบฟอกเงิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของแผนกประวัติศาสตร์ที่เปิดบริการประชาชน และเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์และวิทยาลัยการบินทหาร รวมทั้งเปิดห้องจำนวนมากให้ประชาชนเข้าชม จัดเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด
พระราชวัง Caserta พร้อมทั้งพระราชอุทยาน, สะพานส่งน้ำ (Acquedotto di Vanvitelli ที่ยาว 38 เมตรที่นำน้ำจากแหล่งน้ำพุใต้ดินที่ Fizo มายังยอดเนิน Montebriano ลงสู่อุทยานและยังนำส่งน้ำไปถึงชุมชนที่ Casertavecchia) และหมู่บ้านศูนย์กลางโรงงานผลิตผ้าไหม San Leucio (Complesso di San Leucio) ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 1778 ทั้งหมดอยู่ในเมือง Caserta รวมกันเป็นกลุ่มพื้นที่วัฒนธรรมที่สมควรแก่การยกระดับขึ้นเป็นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติในปี 1997 ดูรายละเอียดได้ที่ http://whc.unesco.org/en/list/549/
ปี 2005 เมื่อข้าพเจ้าไปพักที่เมืองนั้น เขากำลังบูรณะพระราชวังและเขตพระราชอุทยานทั้งหมด เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดให้กลับไปสู่ความมเหาฬารในอดีต เห็นได้ชัดเจนว่า แผนผังของพื้นที่ที่เคยมีอยู่ตรงนั้นเป็นเช่นใด (โครงการดังกล่าวดำเนินไปถึงไหนแล้ว ไม่มีข้อมูล เงียบหายไปเลย)
ด้านหน้าของอาคารพระราชวัง ด้านนี้มีหน้าต่างทั้งหมด 143 บาน
ทางเข้าแห่งหนึ่งเพื่อขึ้นไปชมพระราชวัง
บันไดที่ลือเลื่องกันมากของที่นี่ มีทั้งหมด 34 แห่งภายในอาคารพระราชวัง
ท้องพระโรง บัลลังก์ตั้งอยู่ตรงกลางกำแพงที่มีประตูเข้าออกสองข้าง
ภาพตัวอย่างของห้องอื่นๆสองสามห้อง เป็นห้องนั่งเล่นส่วนพระองค์
ห้องบิลเลียดเป็นต้น
ภาพจิตรกรรมเฟรสโก้เนื้อหาเรื่องโลกและจักรวาล บนเพดานในห้องสมุดเห็นดวงดาวในจักรราศีต่างๆ
ผลงานสร้างสรรค์ของ Carlo
Vanvitelli และ Filippo
Pascale
(ครึ่งหลังของศต.ที่ 18)
จากที่ตั้งอาคารพระราชวังด้านหลัง(ด้านสวน) แบบแปลนของอุทยานนำสายตาตรงไปที่น้ำตกบนเขาสูง (la Grande
cascata) ที่เห็นลางๆไกลลิบๆนั้น (Montebriano) ดูเหมือนว่ามองจากที่ใดในเมืองก็จะเห็นที่ตั้งน้ำตกนั้นได้ชัดเจน
เส้นแกนกลางอุทยานนี้ยาว 3.2 กิโลเมตรทอดบนทิศเหนือ-ใต้
รวมพื้นที่ทั้งอุทยานอยู่ที่ 120 เฮกตาร์ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินที่ตัดขวางเส้นแกนกลางของพื้นที่
เส้นทางเดินแนวขวางนั้นตัดลึกเข้าไปในดงต้นไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น มีสระน้ำพุประดับด้วยรูปปั้นทวยเทพ
มีสระเลี้ยงปลาและทะเลสาบเลี้ยงหงส์
สรุปได้ว่า อุทยานสร้างขึ้นตามสไตล์อิตาเลียนทั้งหมด
ที่มีรูปลักษณ์สมสัดส่วนแบบเรขาคณิต สร้างขึ้นด้วยความรู้ วิทยาการและเทคนิคของยุคสมัยใหม่อย่างแท้จริง
แบบแปลนมิได้สะท้อนความเพ้อฝันหรือจินตนาการส่วนตัวของศิลปิน
เส้นแกนกลางของแปลนอุทยานนี้
แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองข้าง จัดเป็นสนามหญ้าผืนกว้างใหญ่ แถมด้วยสนามทรงกลมที่ปลูกต้นไม้และจัดให้เหมือนสวนวงกตบนสนาม ไกลออกไปเป็นแนวป่าหนาแน่น ประกอบด้วยต้น lime trees (tilleuil
/ linden), hornbeam และ ilex เป็นสำคัญ
ปลูกเป็นแนวครึ่งวงกลม โอบล้อมสนามหญ้าผืนใหญ่นั้นไว้ ตามรสนิยมการทำสวนอิตาเลียน (Giardino
all’italiana) พื้นที่สนามขนาดมหึมาเช่นนี้
หาดูได้ยากบนคาบสมุทรอิตาลี
สนามหญ้ายิ่งกว้างเท่าใด เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและฐานะ
เพราะการดูแลสนามนั้นในยุคศตวรรษที่สิบแปดนั้นต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่าร้อยคน ยิ่งกว้างยิ่งต้องมี “กองทัพคนสวน” เลยทีเดียวเพื่อตัดหรือดายหญ้าให้เรียบสวยงามอยู่เสมอ
และยังหมายถึงปริมาณน้ำที่จำเป็นเพื่อการหล่อเลี้ยงสนาม เพราะเหตุนี้
จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานส่งน้ำมาที่อุทยานแห่งนี้ (àAcquedotto de Vanvitelli ที่ยืนยันอัจฉริยภาพของชาวโรมันที่ยังคงสืบต่อมาในหมู่วิศวกรชาวอิตาเลียนยุคนั้น)
มีรูปปั้นหินอ่อน(ที่เห็นเป็นสีขาวๆ)
ประดับเป็นระยะๆแทรกเข้าในความเขียวเข้มของแนวต้นไม้ที่ขึ้นแน่นทึบในครึ่งวงกลมนั้น ตัวอย่างรูปปั้นนี้เสมอภาพของ Flora - หญิงสาวกับดอกไม้
เมื่อเดินผ่านแนวป่าทึบครึ่งวงกลมไปตามเส้นแกนใหญ่
ทัศนียภาพเปิดกว้างออกๆ และองค์ประกอบสวนตั้งแต่บริเวณนี้ไปจนถึงน้ำตกใหญ่บนเนินเขา
เป็นทัศนมิติแนวยาว ทอดไปตามแกนกลางของอุทยาน
เมื่อดูจากภาพบนนี้ อาจทำให้คิดว่า น้ำตกสุดทางที่เราจะเดินไปดูนั้น
อยู่ไม่ไกลนัก นั่นเป็นภาพลวงตา เพราะกว่าจะเดินไปถึงตรงหน้าน้ำตก
ยังต้องผ่านกลุ่มน้ำพุน้ำตกอีกหกแห่ง บนเส้นทาง 3 กิโลเมตร รูปปั้นที่ประดับในอุทยานนี้ เป็นสไตล์คลาซสิก Gaetano Salomone เป็นผู้หล่อรูปปั้นเหล่านี้ขึ้นแล้วให้โรงงานช่างฝีมือผลิตออกมา
สระน้ำพุแห่งแรก เรียกชื่อว่า La Fontana Margherita เป็นสระน้ำพุทรงกลม มีแปลงดอกไม้เรี่ยดินประดับ มีทางลาดขึ้นลงเหมือนสะพานสองข้างพื้นที่สระน้ำทรงกลมนี้ สระน้ำพุนี้เป็นจุดเริ่มต้นของระบบลำคลองที่จะเชื่อมต่อกันไปทั้งบนดินและใต้พื้น เป็นระบบยาวเหยียดไปถึงต้นน้ำตรงผาน้ำตกบนเขา Montebriano ที่เห็นไกลลิบในภาพ ภาพรวมของสวนอิตาเลียนเป็นสีเขียว ไม่หลากสีสันเหมือนสวนอังกฤษ
หันหลังกลับไปดูพระราชวังจุดเริ่มต้นของการเดินสวนของเรา
จะเห็นว่าไม่ใช่ใกล้ๆเลยที่เดินมาแล้ว
ทางเดินสองข้างที่นำขึ้นไปเนินย่อมๆบริเวณนี้ มีรูปปั้นหินอ่อนประดับเป็นระยะๆเช่นกัน
ทางเดินสองข้างที่นำขึ้นไปเนินย่อมๆบริเวณนี้ มีรูปปั้นหินอ่อนประดับเป็นระยะๆเช่นกัน
เมื่อเดินลงจากบริเวณสระน้ำพุทรงกลม
เป็นลานกว้างใหญ่ มีแนวอิฐสีแดงเป็นเส้นตรง เป็นแนวอ้างอิงของการพัฒนาสวนสองข้างความยาวของพื้นที่ แนวลำคลองเริ่มขึ้นณตรงนี้ต่อไปจนถึงเนินเขาไกลลิบโน่น
บนเส้นทางเลียบฝั่งลำคลองสายยาวเหยียดนี้ มีกลุ่มประติมากรรมประดับพร้อมน้ำพุน้ำตกเตี้ยๆ
ขวางกลางลำคลองเป็นระยะๆ สระน้ำพุที่สองเป็นสระน้ำปลาโลมาสามตัว
(la Fontana dei tre delfini, 1773-80) ผลงานของ Gaetano Salomone
(1779) สระน้ำปลาโลมานี้ยาว 470 เมตรกว้าง 27 เมตรและลึก 3 เมตร
รูปลักษณ์ปลาโลมานั้นไม่น่ารักเท่าปลาโลมาตัวเป็นๆจริงๆ
เจตนาสร้างให้ดูใหญ่เหมือนยักษ์(ในลักษณะที่เรียกว่า grotesque ในภาษาศิลปะ) น้ำพุพุ่งออกปากปลาที่อ้ากว้างสุดๆ
บริเวณสระน้ำพุปลาโลมา
ภาพบนนี้เป็นภาพถ่ายจากวิกีพีเดีย ของ
Twice25&Rinina25
ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2007.
ปลาโลมาดูเกรี้ยวกราด
พ่นน้ำออกมาอย่างรุนแรง (เกินธรรมชาติที่แท้จริง)
จากสระน้ำพุปลาโลมา
ยังมีสนามหญ้าผืนใหญ่และยาวทอดต่อไป มุ่งสู่เนินเขาที่เห็นไกลลิบๆโน่น ไม่มีทางอื่นใดต้องเดินต่อไป ให้สังเกตแนวสายน้ำที่ลดเหลือทางร่องน้ำเล็กๆบนสนามหญ้าเขียวชอุ่ม
สระน้ำพุขนาดใหญ่ที่มาขวางเป็นสระน้ำที่สามคือ la Fontana di Eolo(Aeolus ชื่อในภาษาอังกฤษ) ผลงานของประติมากรหลายคน (Salomone, Brunelli, Violani, Persico e Scolari) สร้างเหมือนฉากตั้งสูงทรงครึ่งวงกลมขวางกลางสนามหญ้า ตามแบบสถาปัตยกรรมโรมัน พร้อมซุ้มโค้งสลับซุ้มสี่เหลี่ยม (porticos) เจาะเข้าไปในความความลึกเพื่อให้ภาพลักษณ์ของถ้ำ (grotto) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญแบบหนึ่งของสวนอิตาเลียน มีรูปปั้นหินอ่อนประดับบนทางเดินเหมือนสะพานขึ้นลงสองข้าง ส่วนในสระน้ำพุนั้น กลุ่มประติมากรรมรวมทั้งประติมากรรมจำหลักนูนบนกำแพง เล่าเทพตำนานกรีกเช่นเรื่องของ Aeolus เจ้าแห่งลมผู้ควบคุมลมทั้งหมดที่พัดอยู่บนโลก (เจาะจงในบริบทนี้ว่าเทพแห่งลมนี้เป็นลูกชายของ Hippotes ดังที่เล่าไว้ในมหากาพย์ Odyssey เล่ม 10) ภาพของเทพบดี Zeus ในหมู่เทพธิดา, งานแต่งงานระหว่าง Thetis และ Peleus, เรื่องของ Pâris ที่ต้องกลายเป็นผู้ตัดสินความงามของเทพธิดากรีกสามองค์(Aphrodite, Hera และ Athena ) และฉากแต่งงานของ Pâris น่าเสียดายที่ประติมากรรมบริเวณนี้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก แต่ในภาพรวมก็ยังทำให้จินตนาการได้ว่า เดิมนั้นมันยิ่งใหญ่เพียงใด
ภาพบนนี้เป็นภาพถ่ายจากวิกีพีเดีย ของ Twice25&Rinina25
ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2007.
จากสระน้ำเจ้าแห่งลม Eolo เดินขึ้นไปบนสะพานข้างใดข้างหนึ่ง
ที่ประดับด้วยโถ พาน หรือชามขนาดใหญ่ที่กว้างมากกว่าสูง
สลับกับรูปปั้นของชายสองคนแบกเปลือกหอยขนาดยักษ์
เมื่อขึ้นไปถึงกลางอาคารที่เป็นฉากครึ่งวงกลม
มองกลับไปบนเส้นทางที่เราเดินมาจากพระราชวังที่อยู่ลิบๆลงไปนั้น เราประมาณเส้นทางยาวที่เชื่อมระหว่างสระน้ำพุที่สองและที่สามบนเส้นแกนอุทยานได้ไม่ยากเลย
และนี่เป็นเพียงครึ่งทางเท่านั้น
สระน้ำที่สี่ เป็นสระน้ำเซอเรซเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์ (la Fontana de Cerere) ผลงานของ
Gaetano
Salomone เป็นทางลาดสูงขึ้นๆ จัดเป็นน้ำตกที่ไหลลงเป็นขั้นบันได
มีบันไดให้คนเดินเลียบไปกับสระน้ำสองข้างด้วย กลุ่มประติมากรรมประกอบด้วยปลาโลมา, เทพครึ่งมนุษย์ครึ่งปลา
(เรียกว่า Tritons ลูกของเทพ Poseidon), เทพธิดาสมุทร (Nereid ที่มักอยู่ล้อมรอบตัว Poseidon เจ้าสมุทร) และรูปปั้นแทนสัญลักษณ์ของแม่น้ำ
Oreto
และ Simeto ผู้ถือคนโทขนาดใหญ่ทำท่าเทน้ำลงในสระน้ำ
ให้สังเกตรายละเอียดของบันไดน้ำ ที่ทำช่องทางเดินเท้าให้ด้วย
และนี่คือสระน้ำเซอเรซ Ceres
ชื่ออังกฤษของเทพธิดาโรมัน Cerere [เช้เรเร] (เทียบได้กับเทพกรีก Demeter หรือพระแม่โพสพของไทย) ที่อยู่ตรงกลางกลุ่มประติมากรรมกลุ่มนี้ เซอเรซเป็นเทพธิดาแห่งการเกษตร โดยปริยายจึงสื่อความอุดมสมบูรณ์
เทพเธอประคองโล่ทรงกลมที่มีสัญลักษณ์ Trinacria [ตรี๊นาเครีย] (รูปลักษณ์เด่นที่ประดับบนธงประจำของอาณาจักรซิซิลี
ในภาษาอิตาเลียนว่า Bandiera siciliana ธงนี้ใช้ครั้งแรกในปี 1282 ในปัจจุบันยังคงปรากฎตรงกลางของธงที่มีพื้นสีเหลือแดงดังภาพ สีแดงแทนเขตเทศบาลจังหวัด Palermo ส่วนสีเหลืองแทนเขต
Corleone
ที่เคยเป็นเมืองกสิกรรมที่สำคัญที่สุดในยุคกลาง
ทั้งสองรัฐรวมกันเป็นสมาพันธรัฐต่อต้านกฎหมายของจักรวรรดิ Angevin (The House
of Plantagenet ในศตวรรษที่ 12, 13) ได้สำเร็จ
Bandiera della Regione Sicilia ภาพธงประจำสมาพันธรัฐซิซิลี จากวิกิพีเดีย
ภาพของ Myriam Thyes/Klone123 ณวันที่ 31 สิงหาคม 2009
เปิดให้สิทธิ์ใช้แก่สาธารณชน
Trinacria มีหัวของเมดูซา
(Medusa)
มีช่อข้าวสาลีสามช่อเสียบบริเวณหัวออกเป็นสามมุม
มีรูปขางอสามขาเรียงเป็นสามมุมในระยะห่างเท่ากัน
ที่คิดกันว่าหมายถึงมุมทั้งสามของลักษณะภูมิศาสตร์ของเกาะซิซิลี
ธงนี้ใช้เป็นธงทางการของเขตปกครองอิสระของซิซิลี (Regione
Siciliana, autonoma a statuto special) ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2000 เป็นต้นมา และกฎหมายได้อนุมัติให้ใช้ประดับตามอาคาร
โรงเรียน ศาลาเทศบาลและสถานที่อื่นใดที่มีผู้แทนจากเขตปกครองซิซิลีเข้าไปประจำอยู่ด้วย
จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า trinacria เป็นสัญลักษณ์ของซิซิลี Trinacria เคยเป็นชื่อที่ใช้เรียกเกาะซิซิลีในสมัยโบราณ รูปลักษณ์ trinacria ถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน
เช่นที่เยอรมนี ถ้าพูดอย่างชาวบ้าน รูปลักษณ์แบบนี้อาจสื่อความคล่องตัว
มีเทวดาองค์น้อยๆขนาบสองข้างเทพเซอเรซ สองข้างฐานที่ตั้งของรูปปั้นเซอเรซ
มีนางไม้(nymph) ใต้ลงมาจากตำแหน่งของเทพเซอเรซ
มีรูปปั้นนั่งสองรูปสองข้าง รูปปั้นชายมีเคราทางซ้ายมือกำลังทำท่าเทน้ำลงในสระคือรูปลักษณ์แทนแม่น้ำ
Simeto อีกรูปปั้นหนึ่งทางขวามือเป็นชายหนุ่มคือรูปลักษณ์แทนแม่น้ำ
Oreto
แม่น้ำทั้งสองสายอยู่ในเกาะซิซิลี
ในสระน้ำขนาดใหญ่ตรงนี้ เบื้องหน้าเทพเซอเรซ
มีเทพครึ่งมนุษย์ครึ่งปลา (เรียกว่า Tritons ลูกของเทพ Poseidon) กำลังเป่าหอยสังข์ขนาดยักษ์ ไกลออกมามีปลาโลมา(สองตัว) กำลังแหวกว่ายในน้ำ
เมื่อมองผ่านจากประติมากรรมกลุ่มเทพเซอเรซไปยังจุดเริ่มต้นทางเดิน
ตรงพระราชวังที่เลือนลางห่างไกลใต้ระดับสายตา
ภาพบนนี้ เห็นวิธีการจัดทางแบบขั้นบันได
สองข้างเส้นแกนของอุทยาน ทางเดินแบบขั้นบันไดนี้ยังคงมีต่อไปจนถึงสระน้ำพุที่ห้า เวลาเดินขึ้น
ทางลาดน้อยๆทำให้ไม่รู้สึกความแตกต่างของพื้นที่นัก แต่ถ้ามองจากที่สูงลงไป จะเห็นชัดว่า
พื้นที่เป็นทางชันไม่น้อยเลย และอาคารพระราชวังอยู่ปลายเนินจริงๆ เมื่อเดินขึ้นต่อไป ผ่านสนามหญ้าผืนใหญ่อีก
จนถึงสระน้ำใหญ่ที่ห้า ที่เป็นสระน้ำวีนัสกับอโดนิส (la Fontana di Venere e Adone สร้างในระหว่างปี
1770-80)
วีนัสก้มตัวคุกเข่าอ้อนวอนอโดนิสว่าอย่าออกไปล่าสัตว์เลย
ประติมากรรมกลุ่มนี้เก็บนาทีระทึกใจ
ความกังวลใจของวีนัส ผู้รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับอโดนิสคนรักของเทพเธอ (Adonis) เทพเธอพยายามหว่านล้อมให้อโดนิสอยู่กับที่
อย่าออกไปล่าสัตว์เลย เพราะรู้ว่า
อโดนิสจะเจ็บตัวหากออกไปล่าสัตว์วันนั้น แต่ไม่ได้ผล
อีกหนึ่งมุมมอง ภาพจากวิกิพีเดีย Twice25&Rinina25
ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 มกราคม
2007.
เหล่าเทวดาองค์น้อยๆที่อยู่รอบข้างก็เตรียมพร้อมจะออกไปล่าสัตว์พร้อมสุนัขล่าเนื้อ รูปปั้นหมูป่าที่ประดับอยู่ในกลุ่มนี้ เจาะจงโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้นว่า
อโดนิสจะถูกหมูป่าเข้าถาโถมและบาดเจ็บจนเสียชีวิต
รูปปั้นทั้งกลุ่มไม่ว่าจะเป็นอะไร
แสดงอาการเคลื่อนไหวแบบตื่นตัวพร้อมจะออกเดินป่า ทั้งนางไม้ เทวดาองค์น้อยๆ
ฝูงสุนัข
มองจากมุมต่างๆบริเวณสระน้ำวีนัสและอโดนิส
แกนกลางของอุทยานที่ทอดจากพระราชวังบนปลายเนิน
ให้สังเกตด้วยว่า สองฝั่งพื้นที่เป็นป่าทึบ
มีต้นไม้ปลูกเป็นแนวยาวที่ตัดและเล็มเสมอกันเป็นแนวหน้า
ในระดับความสูงที่ต่ำกว่าต้นไม้ในป่าที่อยู่ลึกเข้าไปสองข้าง
ใต้แนวต้นไม้ที่ตัดเล็มนี้ จัดเป็นเส้นทางเดินและพักผ่อน มีม้านั่งตั้งเป็นระยะๆ
ขนานไปกับแนวป่าทึบ ให้ร่มไม้ที่เย็นสบายสำหรับคนเดินสวน
มองดูเส้นทางที่เราได้เดินกันมา ประมาณ 3กิโลเมตรแล้ว ก่อนหันไปชื่นชมประติมากรรมกลุ่มสุดท้ายที่ประดับสระน้ำใหญ่สระที่หก
เรียกว่าสระน้ำสระน้ำไดแอนนากับอัคเท-อน (la Fontana di Diana e Atteone) ที่ก็ยังมีสนามหญ้าครึ่งวงกลม พร้อมราวระเบียงประดับลูกกรงและรูปปั้นบนราวนั้นอย่างสวยงาม
เมื่อเข้าไปใกล้ๆ มองจากระดับสระน้ำไดแอนนาแล้ว
ดูเหมือนว่า น้ำตกและหน้าผาก็ไม่สูงมากนักเลย ความจริงสูง 150 เมตร
ปากทางต้นน้ำตกบนเขา Montebbriano
ภาพจากวิกิพีเดีย ระบุข้อมูลไว้ดังนี้ Twice25&Rinina25
ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2007.
ภูเขา Montebriano และน้ำตกจากยอดเขาลงมา
เป็นฉากหลังของประติมากรรมเรื่องเทพตำนานไดแอนนาได้อย่างวิเศษสุด ฝีมือประติมากรรมก็โดดเด่นตรึงนาทีระทึกใจของเทพตำนานเรื่องนี้ไว้ไปชั่วกาลนาน ชวนให้ครุ่นคิดถึงธรรมชาติดิบหรือสัญชาตญาณของคนในบริบทของธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาลที่ครอบคลุมสรรพชีวิตอยู่ ต่างสะท้อนซึ่งกันและกันได้ดียิ่ง
ประติมากรรมที่ประดับสระน้ำสุดท้ายนี้
แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน ผลงานของ Paolo Persico,
Tommaso Solari และ Angelo Brunelli.
กลุ่มทางขวา
เทพไดแอนนาในหมู่นางฟ้านางไม้ กำลังสรงสนานในลำธาร Acteon ได้เข้าไปแอบดู นางไม้ทั้งหลายทั้งที่อยู่ด้านขวาและด้านซ้าย
ท่าตระหนกตกใจ ต่างดึงผ้ามาปิดร่างกาย เทพไดแอนนาโกรธจัด
ให้สังเกตมือซ้ายของไดแอนนายกขึ้นปกปิดหน้าอกไว้ตามประสาสตรี นางฟ้าคนอื่นนำผ้าผืนใหญ่มาห่มให้ แขนขวาของไดแอนนากางออกและชี้ไปยัง Acteon (ผู้นั่งบนโขดหินตรงหน้า เท้าข้างหนึ่งอยู่ในน้ำ
ใบหน้าเงยขึ้นไปดูไดแอนนา) และนั่นเป็นเหมือนหมายสั่งประหาร
Acteon
ในกลุ่มซ้ายดังภาพบนนี้ Acteon ที่กลายร่างเป็นกวางแล้ว
หลังจากที่อาจหาญไปแอบดูเทพไดแอนนาสรงสนานในลำธารกลางป่า ในที่นี้เพื่อให้เข้าใจชัดเจนถึงการกลายร่าง
จึงปั้นเป็นร่างผู้ชายหัวกวางมีเขา (stag) และกำลังถูกฝูงสุนัขล่าเนื้อของเขาเองรุมทำร้าย ในเมื่อสุนัขล่าเนื้อถูกฝึกให้ออกล่าสัตว์เช่นกวางเป็นต้น Acteon ต้องตายเพราะความประมาทและไม่เจียมตน
อุทยานที่ Caserta ดูเหมือนจะเป็นอุทยานแห่งเดียว(เท่าที่จำความได้
ในบรรดาสวนกว่าร้อยแห่งที่ได้ไปมาในยุโรป)
ที่เราสามารถเดินใต้ร่มไม้ได้เป็นเส้นทางไกลๆ
ในขณะเดียวกันก็สามารถมองเห็นทัศนมิติของทั้งอุทยานตลอดเวลา ทัศนมิติแบบนี้มีน้อยแห่งมากในอิตาลีเพราะภูมิประเทศไม่อำนวยให้มีที่โล่งกว้างผืนใหญ่เท่านี้ ในแง่นี้ พระราชวังและอุทยานที่ Caserta (วางศิลาฤกษ์ในปี
1752
และเปิดใช้ปี 1780 บนพื้นที่ 87-111 ha) จึงสร้างเลียนแบบและเทียบเคียงกับความอลังการของพระราชวังแวร์ซายส์
(สร้างในปี 1682 บนพื้นที่ 1,070 ha) ทั้งสองสวนอยู่ในยุคบาร็อคดังได้เห็นมาทุกขั้นตอนบนเส้นแกนกลางของอุทยานนี้ จากพระราชวังปลายเนินถึงน้ำตกบนเนินเขาสูง เป็นเส้นทางเดินที่ใช้เวลาและกำลังพอสมควรทีเดียว ที่นั่นมีรถเทียมม้าให้เช่านั่งได้ หรือรถใช้เท้าถีบแบบจักรยาน แต่มีสี่ล้อและสี่ที่นั่ง ให้คนนั่งช่วยกันถีบ
ขาลงจากเขาก็ดูเพลิดเพลินกันดี แต่ขาขึ้นนี่สิ ผู้ชายที่ไปด้วย ต้องตกที่นั่งลำบาก
ปีนั้นอุทยานได้อนุญาตให้รถทัวร์ตรงเข้าไปถึงระดับสูงสุดตรงหน้าน้ำตกเลย
และปล่อยให้เดินเล่น ถ่ายรูปกันในบริเวณนั้นราวสามสิบนาที
แล้วก็พากันขึ้นรถออกไปจากอุทยานและจากเมือง Caserta
นักท่องเที่ยวแบบนี้ไม่ต้องลำบากเดินขึ้นมาเช่นข้าพเจ้า
ซึ่งใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพราะค่อยๆเดินขึ้นไป
หยุดถ่ายรูปพิจารณารายละเอียดอีกนานในแต่ละจุด ไปจนสุดทาง แล้วยังต้องเดินลงบนเส้นทางเดียวกัน
ลงไปถึงพระราชวัง แล้วเดินออกจากพื้นที่กลับไปยังโรงแรม เล่นเอาวันนั้นปวดเมื่อยไปทั้งตัว
แต่ก็พอใจกับบรรยากาศและรูปปั้นสวยงามที่ได้เห็น เดินใต้ร่มไม้เย็นสบายดี เหนื่อยก็นั่งพัก ไปเที่ยวสวนหรืออุทยานอย่างคนตะวันตก
คือไปพักผ่อนที่นั่นทั้งวัน
มิใช่ไปถ่ายรูป ไปเซลฟีเท่านั้น จะเห็นว่า
ตลอดเส้นทางไม่มีพ่อค้าแม่ขายใดๆเลย
พื้นที่สะอาด อากาศดี บนระดับสูงสุด มีรถเข็นเล็กๆขายน้ำดื่มเท่านั้น ได้ซื้อน้ำดื่มอีกขวดหลังจากที่ดื่มขวดที่เอาติดตัวไปเมื่อกินกล้วยหอมหนึ่งใบไปแล้ว
นั่นเป็นอาหารเที่ยงเลยแหละ
อุทยานหรือสวนในอิตาลีไม่มีบริการเรื่องอาหารเป็นส่วนมาก
จึงต้องเตรียมน้ำและของขบเคี้ยวไปเอง กว่าจะเดินขึ้นเดินลง เดินเข้าไปชมพระราชวังก็เลยเวลาอาหารกลางวันไปนานแล้ว
ยังต้องเดินกลับไปยังโรมแรม ได้เวลาเริ่มมื้อเย็นเลย (Jolly Hotel
โรงแรมกลุ่มนี้มีภัตตาคารอาหารด้วย มีสาขาตามเมืองใหญ่ๆเกือบทุกเมือง เป็นที่รู้กันว่าโรงแรมกลุ่มนี้จ้างเชฟฝีมือดี
ทานอาหารในโรงแรมนี้ดีที่สุด และเพราะเป็นลูกค้าของโรงแรม ก่อนจะเสริฟอาหารตามที่สั่งไป เขาบริการ
homemade antipasta สองสามอย่าง ให้แกล้มกับแชมเปญหนึ่งแก้ว อร๊อยอร่อย ฟรีด้วยนะ
ยิ่งเป็นผู้หญิงคนเดียว เชฟออกมาจับมือพูดคุยด้วย และปรุงอาหารให้ถูกปาก
Asian
palate เลยคือไม่เลี่ยนเกินไป และไม่ให้มากเกินไป) ยังมีอาณาบริเวณอื่นที่มิได้เดินไปดู เช่นสวนขนาดใหญ่อีกแห่งที่อยู่ตลอดด้ายซ้ายของอาคารพระราชวัง ที่นั่น สถาปนิกสวนได้สร้างหนองน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเกาะเล็กๆกลางน้ำด้วย (la Peschiera Vecchia สร้างขึ้นในปี 1769) ใช้สำหรับเล่นเรือใบเล็ก (ไม่ได้เห็นด้วยตาตนเอง จึงพูดมากไม่ได้)
จากระดับสูงสุด บริเวณด้านขวามือ
มีทางเชื่อมเปิดเข้าสู่สวนอังกฤษ
ภาพถ่ายข้างบนแสดงพื้นที่บริเวณที่สร้างให้เป็นสวนอังกฤษ
(Giardino
all’inglese ในทัศนะของสถาปนิกบางคนกล่าวไว้ว่า สวนอังกฤษ เป็น a “gardenless”
form of landscape) ที่ขนานอยู่ด้านขวากับอุทยานหลักที่เล่ามาข้างบน
ทอดลงไปถึงระดับสระน้ำพุที่สาม
เดินเข้าไปจากลานตำแหน่งของสระน้ำสุดท้าย(สระน้ำไดแอนนา) ข้าพเจ้าได้เข้าไปเดินด้วยความหวังว่าจะพบทางเดินออกไปจากอุทยานอีกด้านหนึ่ง
แต่ไม่มีทางออกใดๆ ประตูที่ไปพบปิดล็อคไปเลย คงเป็นเพราะไม่มีใครเดินเข้าไปบ่อยนัก
ในปีนั้นสวนอังกฤษที่นั่นไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร
ไม่มีเอกลักษณ์ที่ดึงดูดสายตาอย่างที่ชาวอังกฤษชอบใช้คำว่า eye-catching
features เหลือเพียงลักษณะของความไม่มีรูปแบบหรือกรอบใดๆไปจำกัดพื้นที่ในสวน
กับความจงใจปล่อยให้สวนไม่เป็นระเบียบตามธรรมชาติ
เห็นต้นหญ้าต้นไม้ระเกะระกะ ใบแห้งเหี่ยวเพราะอากาศร้อนแดดแรง ตัวเราจะเฉาตามไปด้วย ไม่โดนใจ ไม่เหมือนสวนในบรรยากาศครึ้มๆในท้องทุ่งบนเกาะอังกฤษ ในความเป็นจริง มีอาคารสถาปัตยกรรมแบบ Folly ประดับสวนอยู่เหมือนกัน แต่ดูทรุดโทรมไปมาก
หากดูห่างๆก็พอให้บรรยากาศหรือสร้างอารมณ์สะเทือนได้บ้างเหมือนกัน(ตามแนวค่านิยมอังกฤษ) เช่น อาคารแบบวิหารดอริคขนาดย่อส่วน
สระน้ำของวีนัส หนองน้ำจำลองเป็นต้น องค์ประกอบสวนเหล่านี้เป็นสิ่งที่สถาปนิกสวนชาวอังกฤษเนรมิตขึ้น(พร้อมที่นั่งให้ด้วย)
ตั้งแยกย้ายกันไปตามจุดชมวิวต่างๆภายในอาณาบริเวณสวน ดังภาพข้างล่างนี้
วิหารแบบ
Doric (ดอริค)
วิหารกรีกแบบ
Corinthian (คอรินเธียน)
จำลองและย่อส่วน
ลักษณะอาคารแบบนี้
ในภาษาสถาปัตยกรรมอิตาเลียนเรียกว่า Il criptoportico
รูปปั้นที่ฝังท่อน้ำพุไว้ภายในเช่นรูปปั้นนี้ที่สายน้ำไหลออกจากลำตัวขลุ่ย
รูปปั้นวีนัสในท่านี้จะตั้งใกล้ฝั่งน้ำ
เป็นที่นิยมทั่วไป มีในสวนอุทยานใหญ่ๆทั่วยุโรป
เรียกการจัดฉากรูปลักษณ์นี้ว่า
“ฉากวีนัสสรงสนาน” (il bagno di Venere)
บันทึกเดินทางของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๘.
No comments:
Post a Comment